แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อไปนี้ก็ตั้งใจฟังให้ดีให้สำเร็จประโยชน์ โดยการที่จิตใจไปตามถ้อยคำที่ได้กล่าว และเธอก็ต้องเข้าใจถ้อยคำที่กล่าว แล้วก็มีจิตใจอย่างเดียวกับถ้อยคำที่กล่าว ที่ว่า เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง เป็นต้นนี้ เป็นการประกาศว่าเราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ถึงพระพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้วเป็นสรณะ กับทั้งพระธรรมด้วย กับทั้งกระสงฆ์ด้วย และใครจะบรรพชาที่ว่าอย่างนี้ ๓ ครั้ง ให้รู้เสียว่าได้ว่าอย่างนี้ เมื่อตะกี๊ก็ถ้าไม่ได้คิดว่าอย่างนี้ก็ต้องคิดกันเดี๋ยวนี้ ต่อมาก็ว่าอีก ๓ ครั้ง ว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ เป็นต้น นี่คือการขอบรรพชาโดยตรงว่าข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาแก่ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา เราต้องไม่ว่าอย่างนกแก้วนกขุนทอง เพราะว่าเราต้องรู้ว่าเราว่าอย่างนั้นและก็ ๓ ครั้ง ถ้าผื่อว่าไม่ได้นึกก็ต้องนึกกันเดี๋ยวนี้ให้มันถูกแต่เรื่อง เดี๋ยวนี้ก็ได้ขอบรรพชาแล้ว ในใจก็ต้องรู้ว่าเราขอบรรพชาแล้ว นี่ก็ควรจะรู้เรื่องบรรพชาที่ขอนั้นว่าอย่างไรบ้าง ให้พอสมควร ที่จริงก็อาจจะรู้ มาบ้างแล้วว่าบรรพชานี้เป็นอะไรบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง แต่เพื่อให้แน่นอน เพื่อให้เต็มตามที่ต้องการนี้บอกว่าบรรพชานี้คืออะไร บรรพชาแปลว่าไปหมดหรือเว้นหมด พูดอย่างไทยๆ ก็ว่าบวช “บ” ว่าหมด “วช” ว่าเว้นหรือไป คำว่าบวชก็แปลว่าไปหมดเว้นหมด คำว่าบรรพชาก็แปลว่าไปหมด เว้นหมดก็มาจากคำเดียวกัน นี่เธอก็ควรจะรู้ว่าไปหมดเว้นหมดนั้น เว้นจากอะไร ไปจากอะไร โดยส่วนใหญ่ก็คือไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส เราจะไม่มีอะไรอย่างฆราวาสอีกต่อไป นับตั้งแต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็ไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส และจะไม่กินอยู่พูดจา ปฏิกิริยาคิดนึกต้องการหรือใฝ่ฝันไอ้อย่างฆราวาสอีกต่อไปโดยสิ้นเชิงนี่ เรียกว่าไปหมด เว้นหมด จากฆราวาส นี่ยังมีต้องไปต้องเว้นจากสิกขาบท ตามสิกขาบทที่ได้บัญญัติขึ้นไว้ว่าให้เว้นอย่างไรอีกด้วย นี่เราก็เรียนทีหลังอย่างน้อยก็เรื่องสิกขาบท ๑๐ แล้วก็ยังมีอื่นๆอีกมาก นี่เรียกว่าตามตัวหนังสือของคำว่าบรรพชาคำว่าบวชคือไปหมดเว้นหมดจากเพศฆราวาสและจากสิ่งที่ควรเว้น
ทีนี้มาดูถึงตัวการบรรพชากันบ้าง ถ้าบรรพชาแล้วคือเว้นแล้วนี่มันเป็นอะไรต่อไปอีก มันก็เป็นการขูดเกลา เราไปเว้นอะไรเข้ามันก็เกิดการขูดเกลาจิตใจให้เกลี้ยงเกลาไปจากไอ้สิ่งนั้น โดยเฉพาะหรือว่ามันเกลี้ยงไปจากกิเลสต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งนั้น หรือว่าเนื่องกันอยู่จากสิ่งนั้น ดังนั้นเขาจึงถือว่าบรรพชานี้เป็นการขูดเกลา เป็นตามความหมายของคำว่าพรมจรรย์นี้เป็นการขูดเกลา จึงได้เรียกว่าพรหมจรรย์คือว่าประเสริฐความประพฤติที่ประเสริฐเพราะว่ามันเป็นการขูดเกลา ให้รู้ต่อไปเสียเลยว่าไอ้การขูดเกลานี้มันก็ต้องเจ็บปวดบ้างก็ต้องอดทนนี่เราก็รู้ว่ามันคงจะมีความเจ็บปวดบ้างแล้วจะต้องอดทน รู้เสียแต่เดี๋ยวนี้แล้วตั้งใจที่จะทน นี่จึงจะเป็นการรู้บริบูรณ์ว่าบรรพชานี้คืออะไร ถ้าจะพูดกันต่อไปอีกมันก็มีมากเอาเท่านี้ก็พอว่าบรรพชานี้ออกไปหมดเว้นไปหมดจากความเป็นฆราวาส และเว้นจากสิกขาบทที่ควรเว้นแล้วทั้งหมดนั้นเป็นการขูดเกลาให้มีความสะอาดมากขึ้นๆ นี่คือบรรพชาที่เราได้กล่าวคำขอว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ ขอบรรพชาได้รู้เสียบรรพชาที่ขอมันเป็นอย่างนี้ ถ้าจะเอาก็เอาถ้าไม่เอาจะบอกเลิกกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้ากลัวมันจะเจ็บปวดหรือจะต้องทน ว่าอย่างไรกันแน่เอาหรือไม่เอา เอาก็ให้เอาสิให้มันแน่สิ มาขอบรรพชานี่มันต้องอย่างนี้เดี๋ยวจะมาโทษกันทีหลังไม่ได้
ถ้าอย่างนั้นก็จะพูดถึงประโยชน์หรืออานิสงฆ์ของบรรพชาให้ฟัง ถ้าเราบรรพชากันจริงๆ บวชกันจริงๆ ก็จะได้ประโยชน์มากเหลือที่จะกล่าวได้ โดยรายละเอียดกล่าวไม่ไหวที่เขาว่าโดยคร่าว โดยประเภทจะใหญ่จะแยกออกได้เป็น ๓ ประเภท อานิสงฆ์ประเภทที่ ๑ ที่เธอผู้บวชจะได้เอง อานิสงฆ์ประเภทที่ ๒ ก็คืออานิสงส์ที่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้ด้วย อานิสงฆ์ประเภทที่ ๓ ก็คืออานิสงฆ์ที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในสากลจักรวาลหรือว่าในพระศาส พระศาสนานี้จะพลอยได้รับประโยชน์ด้วยเนื่องกันอยู่ ศาสนามีไว้สำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัตว์ทั้งปวงรอดตัวอยู่ได้เพราะศาสนา ถ้ามีศาสนาก็มีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอย่างนี้เลยไปเรียกรวมกันเสียว่าที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งศาสนาจะพลอยได้ด้วยเพราะการบวชของเรา นี่โดยรายละเอียดก็พอจะกล่าวได้ เช่นว่า อานิสงฆ์ที่ ๑ เราผู้บวชจะต้องได้เอง นี่หมายความว่าถ้าเราบวชกันจริงๆ ดังที่ได้กล่วมาแล้วว่าบรรพชาคืออะไรก็บวชให้จริง และก็เรียนให้จริง ปฏิบัติให้จริง ให้มันได้ผลกันมาจริงๆ นี่ก็เรียกว่าได้บรรพชา อานิสงฆ์ที่เราจะได้ก็คือว่าเราจะได้รู้ รู้สึกและเข้าถึงอะไรอีกหลายอย่าง ส่วนที่ฉลาดก็ฉลาดขึ้นอีกหลายอย่าง ส่วนที่เปลี่ยนแปลง ที่กายวาจาใจของเราก็จะมีเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้คนเขาไม่ได้บวชจริงกันโดยมากหรือบวชจริงแต่ปาก หรือบวชจริงอยู่ ๒-๓ วัน ๒-๓ เดือนแล้วมันไม่จริง ยิ่งอยู่ไปหลายปีมันยิ่งไม่จริง มันก็ไม่ได้คือไม่ได้ความฉลาด ไม่ได้ความรู้สึก ไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เกิดความความก้าวหน้าในทางจิตใจ
ดังนั้นตลอดเวลาที่บวชนี้จะเป็นกี่วัน กี่เดือนก็ตามใจ ขอให้มันจริง บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงให้ได้ผลจริงๆ แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเธอ เช่นว่า ก่อนนี้เราเป็นคนเหลวไหลมันแก้นิสัยเหลวไหลได้ ก่อนนี้เรานอนสาย นี่ยกตัวอย่างนะ มันก็จะไม่นอนสาย ไม่อดทนก็จะอดทน ทุกอย่างมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งว่ามีความสะอาดสว่างสงบเกิดขึ้นตามสมควรแก่การปฏิบัติของเรา เอาว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้รู้จักความเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้นไปกว่าที่ไม่ได้บวช ขอให้เธอทำทุกอย่างให้สุดความสามารถที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง แล้วจะรู้เองว่าได้ผลอย่างไร นี่พูดให้ฟังพอเป็นเครื่องหยั่งเห็นคาดคะเนถูกแล้วก็จะได้เกิดความพยายามความพากเพียรกล้าหาญในการที่จะทำจริง นี่มีการเปลี่ยนทางกาย ทางวาจา ทางจิตตามสมควรแก่การปฏิบัติของเราเป็นแน่นอน เว้นไว้แต่ว่าเรามันไม่เอาใจใส่ปล่อยไปตามเรื่องวันหนึ่ง ๆ ไม่ได้เอาใจใส่ที่จะทำเป็นบรรพชาอยู่ตลอดเวลา อยากทำอะไรก็ทำเดี๋ยวมันก็เสียไปทีละอย่างสองอย่างก็ไม่เป็นบรรพชา ก็เลยไม่ได้อะไรนี่อย่างนี้ก็โทษใครไม่ได้ ก็มีเหมือนกันไม่ใช่ไม่มี บวชเข้าแล้วไม่ได้อะไรนี่ก็มีเหมือนกัน
นี่เธอก็บวชด้วยความหวังว่าจะได้อะไรก็ขอให้มันได้ที่ตั้งใจมาแต่บ้านน่ะ จะบวช จะได้อะไรบ้าง ก็ขอให้มันได้จะเรียกว่าบุญเฉย ๆ มันก็ยังไม่ ไม่พอ มันต้องว่าคืออะไรด้วย คือดีขึ้น ต้องมีอะไรดีขึ้นถึงเรียกว่าบุญ มีการบังคับตัวเองได้ดีขึ้นวิเศษที่สุด ก็พรมจรรย์หรือบรรพชาล้วนแต่เป็นการบังคับตัวเองมีความอดกลั้นอดทน รักษาความถูกต้องไว้ให้ได้อย่าให้มีความผิดพลาด แล้วก็กลายเป็นคนที่มีความถูกต้องก็นับถือบูชาไอ้ความถูกต้องเป็นนิสัยขึ้นมา นี่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันมีอะไรที่ไม่เหมาะสมก่อนหน้านี้ มันจะค่อยหายไปๆ ที่โมโหโทโสก็จะหายไปหรือว่าอะไรต่าง ๆ ที่เรียกว่าไม่ ไม่เหมาะสมค่อย ๆ หายไป จะอยู่ในเหตุผลมากขึ้น นี่เรียกว่าเราได้การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง แม้จะบวชสักเดือนหนึ่งหรือสองเดือนก็สุดแท้ให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง มันตรงกับคำว่าขูดเกลา ขัดสี ถ้ามีอะไรที่จะต้องขัดออกไป ขูดออกไปก็ขัดกันในระหว่างบวชนี้ให้มากที่สุดจึงจะเรียกว่าบวช นี่อานิสงฆ์ที่เธอจะได้
นี้อานิสงฆ์ประเภทที่ ๒ ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะพลอยไปได้ นี่ก็เรียกว่าบวชให้พ่อแม่เป็นเรื่องบวชสนองคุณทดแทนคุณของบิดามารดา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราว่าบวชนี้เพื่อสนองคุณบิดามารดาด้วยส่วนหนึ่ง ก็หมายถึงว่าให้มันมีความรับรู้ในบุญคุณของบิดามารดาและมีความกตัญญูกตเวทีอยากจะสนองพระคุณของบิดามารดา แม้ว่าจะมีวิธีสนองคุณของบิดามารดาหลายอย่างหลายประการก็สู้เรื่องบวชในพระศาสนานี้ไม่ได้ ที่จะสนองคุณบิดามารดาให้บิดามารดาได้บุญหรือว่าให้บิดามารดาได้ความพอใจ หรือว่าให้บิดามารดาได้ใกล้ชิดพระศาสนายิ่งขึ้น มีสัมมาทิฐิยิ่งขึ้นมีศรัทธามากขึ้น ถ้าว่าเราบวชนะ ได้อย่างนี้เขาเรียกว่าได้สนองคุณบิดามารดาสูงสุด เราก็ต้องนึกถึงข้อนี้ด้วยเพราะว่าทุกคนมันเกิดจากบิดามารดาไม่มีใครเกิดได้เองนี่ ไม่มีใครเกิดจากโพรงไม้หรือเกิดจากอะไรที่ไหน มันเกิดจากบิดามารดาชีวิตนี้ออกมาจากบิดามารดา เรียกว่ามีบุญคุณหรือว่าเป็นเจ้าหนี้เราเป็นลูกหนี้ ก็ต้องเป็นลูกหนี้ที่ดี เพื่อจะทดแทนคุณ สนองคุณ เราวัดกันไม่ได้ ตวงกันไม่ได้เรื่องบุญคุณนี้แต่ต้องทำให้สุดความสามารถก็แล้วกัน ถ้าเราทำสุดความสามารถแล้วก็ไม่มีข้อที่จะตำหนิได้ไม่มีช่องที่จะตำหนิได้ สนองคุณบิดามารดาก็ทำให้บิดามารดาได้รับความพอใจได้รับบุญกุศลในรับอะไรที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เพิ่มจากที่เราจะเลี้ยงบิดามารดาด้วยร่างกายด้วยสิ่งของเงินทองนั้นมันก็มีต่อไปข้างหน้า แต่ถึงอย่างไรก็สู้เรื่องทางจิตใจไม่ได้ แต่นี้เอาเรื่องทางจิตใจกันไว้ก่อน
เมื่อตะกี้ก็ได้กล่าวคำขอขมาบิดามารดาก็คิดดูสิว่าทำทำไมทำไปทำไม เผื่อว่าเรามันเคยคิดนึกไปในทางที่ไม่รู้บุญคุณของพ่อแม่ ก็จะได้ จะได้ขอขมาเสีย แล้วก็ได้กราบแม่กราบยาย ตั้งแต่เกิดมาจำความได้เคยกราบแม่กี่คราว จำไม่ได้หรือไม่มีใช่ไหมเพิ่งวันนี้ใช่ไหม เท่าที่นึกได้สักกี่คราวประมาณ นี่แสดงว่ามันไม่ค่อยจะมีมันนึกไม่ได้ วันนี้มันมีแน่ได้กราบแม่ทีหนึ่งสมัยเมื่อฉันเป็นเด็กดูจะไม่เกิน ๒-๓ วันต้องกราบตีนแม่ ขอโทษพูดเร็วไปนิดหนึ่งก็ไม่ได้ถูกจับตัวให้มากราบตีนให้ขอโทษ หรือทำอะไรผิดไปหน่อยก็ไม่ได้เป็นกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสม ก็เกิดเป็นธรรมเนียมว่าเผื่อว่าขึ้นมาเลยไม่เกิน ๒-๓ วันต้องกราบตีนแม่ขอโทษจำได้ว่าไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งเลย นี่เด็ก ๆ สมัยนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำกันอย่างนั้น ดังนั้นจิตใจมันก็ไม่เหมือนกันไม่ได้กลัวไม่ได้เคารพ ไม่ได้รัก ไม่ได้กตัญญูต่อแม่และแม่ก็ดูไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาคิดบัญชีอย่างนี้กันด้วยมันก็พอดีกัน เอาละเป็นว่าเราจะต้องนึกถึงเสมอถึงบุญคุณของบิดามารดาให้ชีวิตมาคือให้ทั้งหมดออกมา จะต้องรู้คุณด้วยความกตัญญูกตเวที อะไรจะทำเป็นการสนองคุณได้ เป็นว่าทำสุดความสามารถ จะเคารพอย่างไรก็เคารพให้มันถึงที่สุดเลยไม่มีใครน่าเคารพ ทำความเคารพบ้าง ความรักบ้าง ความกตัญญูบ้าง ความซื่อตรงบ้าง ทุกอย่างมันไปอยู่สูงสุดที่บิดามารดา เพราะมันได้ชีวิตมาจากบิดามารดา
ดังนั้นวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่แสดงความเคารพขอขมาโทษแล้วเพื่อจะได้บรรพชา จะได้ทดแทนบุญคุณของมารดาของบิดาของปู่ย่า ทุกคนน่ะที่มีบุญคุณแก่เราและเนื่องกันกับเรามาตามลำดับ ๆ ฉะนั้นความล่วงเกินทั้งหลายถ้ามีก็หมดไป ไม่มีโทษเหลืออยู่เพราะเราสารภาพด้วยใจจริงๆ และตั้งหน้าอธิษฐานที่ว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก วันนี้ก็จะบวชเพื่อสนองคุณบิดามารดาในส่วนจิตใจที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเพิ่มมากขึ้นจากส่วนร่างกายหรือวัตถุที่ยังจะต้องทำต่อไป ยังจะต้องเลี้ยงบิดามารดาเมื่อแก่เฒ่าเป็นต้น หรึอว่าทำความสะดวกสะบายอย่างอื่นให้ แต่สำหรับวันนี้เป็นเรื่องทางจิตใจกตัญญูกตเวทีทำทุกอย่างที่ให้บิดามารดาได้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้นกว่าที่เราไม่บวช นี่สรุปความว่าอย่างนี้ เพราะเหตุที่เธอได้บวชนี่มันดึงอะไรกันมาผูกพันกันหลายอย่าง ที่ทำให้บิดามารดาเป็นต้นนี้ผูกพันกับศาสนาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น ดังนั้นก็ต้องมีศรัทธามากขึ้น มีสัมมาทิฐิมากขึ้น มีบุญกุศลมากขึ้นอยู่ที่ตรงนั้นเอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ นี่ว่าอานิสงฆ์แห่งการบวชของเราที่จะได้แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้นเพราะว่าเราบวชสนองคุณบิดามารดา
ยังเหลืออานิสงฆ์ที่ ๓ ที่ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ว่าศาสนาจะพึงได้ด้วย ข้อนี้เขาเรียกกันว่าเราบวชสืบอายุพระศาสนาไว้ บวชกี่วันก็สืบอายุพระศาสนาเท่านั้นวัน บวชกี่เดือนก็สืบอายุพระศาสนาเท่านั้นเดือน บวชหลายปีบวชจนตายมันก็สืบอายุพระศาสนาจนตาย หมายความว่าถ้าเราบวชเข้ามาแล้วต้องเป็นการสืบอายุพระศาสนา อย่าได้บวชเข้ามาเป็นการทำลายอายุพระศาสนาเลย ถ้าทำไม่ดีนี่ทำไม่ถูกก็เป็นการทำลาย ภิกษุสามเณรหรือนักบวชนี่ทำลายพระศาสนาได้มากกว่าใครเพราะมันอยู่ชิดตัวศาสนามากกว่าชาวบ้าน เป็นอันว่าการบวชของเรานี้จะให้มันเป็นการสืบอายุพระศาสนาสุดความสามารถทีเดียว และมันดีที่ว่ามันทำพร้อมกันไปได้กับที่จะบวชสนองคุณบิดามารดาหรือว่าบวชเพื่อให้ได้เราได้รับอานิสงฆ์ด้วย เพราะว่าศานาจะมีอยู่จะไม่สูญหายไป ก็เพราะว่าเราน่ะบวชจริงเรียนจริง ปฏิบัติจริงอีกนั่นเอง ศาสนามีอยู่ก็หมายความว่ามันมีคนเล่าเรียนมีคนปฏิบัติมีคนได้ผลของการปฏิบัติ ให้มีคนสั่งสอนกันต่อๆ ไป เพราะว่าเขาเป็นคนบวชจริงบวชจริงอย่างเดียวเป็นการสืบอายุพระศาสนา เราต้องขอบใจที่ว่าคนอื่นเขาได้สืบอายุพระศาสนาไว้เรื่อย ๆ กันมาจนถึงเรา ถ้าพูดอย่างพุทธศาสนาก็ต้องสองพันกว่าปีแล้วมันไม่หายไปมีคนสืบ ๆ ๆ ไว้จนมาถึงเรา นี้คนในยุคเราก็ต้องรับรู้ในข้อนี้ก็ต้องสืบไว้ให้คนต่อๆ ไปข้างหลังอีก มีการบวชมีการเรียน มีการปฏิบัติ มีการได้ผลของการปฏิบัติ มีการสอนกันต่อไป นี่เป็นเหมือนกับว่าการสืบอายุพระศาสนาไว้เหมือนกับเลี้ยงตนไว้อย่าให้มันตายเสีย นี้เมื่อศาสนามีอยู่ คนทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้พลอยได้รับประโยชน์
แต่เรื่องนี้ถ้าว่าไม่มองให้ดีก็ไม่ค่อยเห็นมันอยู่ลึก คือว่าถ้าไม่มีศาสนากันมาเลยตั้งแต่ทีแรกนี้คนมันก็ใจบาปหยาบช้าฆ่ากันตายหมดแล้ว นี้มันเหลืออยู่ในส่วนลึกของจิตใจที่ว่ามีความเมตตา กรุณา ทำชั่วไม่ค่อยจะได้ หรือว่ายังเห็นแก่ชีวิตผู้อื่นอยู่บ้างนี่ก็มันมีธรรมะอยู่ในจิตใจของคนมานานแล้ว มันอาจจะหมดไปก็ได้ ถ้าไม่มีใครช่วยกันทำซ้ำๆ ไว้ ให้มันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ว่ามันเสื่อมไปมากเหมือนกัน แต่มันก็ยังเหลืออยู่มาก คือว่าคนยังเป็นคนอยู่ ยังเป็นมนุษย์อยู่ มีธรรมะเหลืออยู่ ไม่หมดเลย ถ้าว่าทุกคนบวชแล้วก็เรียนจริงปฏิบัติจริง มันก็เปลี่ยน เปลี่ยนกันอีกทีหนึ่ง ถ้าให้คนหรือมนุษย์ ในโลกนี้มันดีขึ้นกว่าเก่าได้ ถ้าอย่างไรเราก็บวชเพื่อสืบอายุพระศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่คนต่อไปหลังจากเรา ก็ระยะมันยาวการที่คนจะมีนิสัยมีจิตใจดีต้องสืบๆ กันมานาน ไม่ใช่ว่าทำให้ดีได้เดี๋ยวนี้ต้องดูแลกันมานาน ต้องปฏิบัติต้องควบคุมกันมานานกว่าที่คนจะมีศีลธรรมเสื่อมทรามอย่างเดี๋ยวนี้ต้องใช้เวลามาสามสิบสี่สิบ ปีแล้ว มันเริ่มโง่ เริ่มทำผิด กันตั้งสามสี่สิบปีแล้ว แล้วคนปัจจุบันนี้ วันนี้ เดือนนี้ ยัง ยัง ยังเสื่อมทราม มันเป็นเรื่องยืดยาว ถ้าจะ จะให้ดีขึ้นอีกก็ต้องใช้เวลายืดยาว ดังนั้นเอาเป็นว่าทุกคนหวังไอ้ระยะยาวกันทั้งนั้น ก็บวช ก็เรียน ก็อยู่เป็นระยะยาวที่จะเหลืออยู่ในจิตใจของคนเราต่อไปข้างหน้า ขอให้เธอคิดอย่างนี้ แต่ระหว่างเราบวชก็ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าศาสนาอยู่ และก็ฝังอยู่ในโลกนี้ ให้มนุษย์มันมีที่พึ่งขึ้นชื่อว่าศาสนาแล้วมีประโยชน์ เรามันเป็นชาวพุทธก็บวช ก็ ก็ประพฤติไปตามกันในพุทธศาสนา ชื่อว่าศาสนามีอยู่ในโลก ทำให้ศาสนามีอยู่ในโลกเป็นการช่วยกันทำให้โลกมีศาสนา นี่ก็นับว่ามีประโยชน์มาก มีค่ามาก นี่เป็นอานิสงฆ์ที่ ๓
นี่พูดโดยหัวข้ออย่างนี้พอแล้ว เธอก็ได้มาก ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาก็ได้มาก ศาสนาหรือไอ้มนุษย์ที่ต้องอาศัยศาสนานี้ก็ต้องได้มาก ให้มันเป็นการแสดงว่าเราควรจะอดทนแล้ว ควรจะทนได้ ควรจะอดกลั้นอดทน ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ ถ้าเรานึกถึงข้อนี้อยู่เราจะมีความอดทนทนได้ และรักษาพรมจรรย์ให้บริสุทธิ์ได้ ทนจนน้ำตาไหล เขาเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา คือไม่ยอมให้ผิดมันเจ็บปวดหรือต้องทนหรือฝืนความรู้สึกอย่างไรก็ไม่ยอมทำ ไม่ยอมทำผิด ให้น้ำตาไหลลงไปก็ไม่ยอมทำผิด ในบางกรณีก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน นี่เรียกว่าอานิสงฆ์ของการบรรพชาจะขูดเกลาให้เราดีขึ้น แต่ผู้มีบุญคุณทั้งหลายได้รับการสนองพระคุณให้สัตว์ทั้งหลายได้รับประโยชน์เป็นการทั่วไป
ทีนี้เรื่องถัดไปอีกก็ว่าบรรพชานี้จะต้องมั่นคง เพราะว่าเรามีความมั่นคง ความมั่นคงนี้เรียกว่าวัตถุที่ตั้ง วัตถุที่ตั้งที่อาศัยเพื่อความมั่นคงของบรรพชานี้ก็คือพระรัตนตรัย เพราะว่าเราบวชนี้ก็อุทิศพระรัตนตรัย เพราะว่าเราพอใจในพระรัตนตรัยเราจึงบวช ฉะนั้นอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ที่ว่า เอสาหัง ภันเต เพราะเราพอใจในพระรัตนตรัย แล้วเราอุทิศเจาะจงพระรัตนตรัยเราจึงใคร่จะบวช และเราก็ขอบวชอุทิศพระรัตนตรัย ฉะนั้นพระรัตนตรัยนั่นหละจะเป็นหลักอันมั่นคงสำหรับยึดเหนี่ยว เรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะเป็นรากฐาน จะเป็นตัวเป็นตนจะเป็นยอดเป็นทุกอย่างน่ะ สำหรับบรรพชาจะได้มั่นคง ทุกอย่างมันมีเหตุมีปัจจัยมันต้องมีที่อาศัย เพราะว่าบรรพชานี้เขาก็จะอาศัยความหมายของพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านมีคุณ คือความที่มีความสะอาด สว่าง สงบ พระธรรมก็คือเรื่องของความสะอาด สว่าง สงบ พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ หัวใจของพระรัตนตรัยจึงมารวมอยู่ที่นี่ ดังนั้นเราต้องพยายามรักษาจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบตามรอยของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักยึดเหนี่ยวอันมั่นคงไม่เป็นที่สงสัยเคลือบแคลงอะไร แน่วแน่ หนักแน่น มั่นคง และจงนึกถึงความที่จิตใจมันสะอาด สว่าง สงบ มุ่งหมายเอาสิ่งนี้และพยายามทำในสิ่งนี้ ยึดเหนี่ยวสิ่งนี้ จะทำให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในจิตใจ เพื่อเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตใจหรือของบรรพชานั้น
สะอาดก็หมายความว่ามันไม่มีความผิด ไม่มีความชั่ว ไม่โกหก ไม่หลอกลวง ไม่ซ้อนเร้นอะไรที่เป็นความลับ สว่างก็คือไม่โง่ ความโง่นี้มัน มันไม่ต้องพูดกันแล้วมันก็ไม่ไหว และมันก็มักจะไม่ค่อยรู้สึกตัวด้วย สว่างก็คือรู้ว่าไอ้ที่พยายามจะทำลายกิเลสเสียนั่นแหละคือความถูกต้อง เอาทุกข์จะดับไป อย่าโง่ในเรื่องนี้เป็นอันขาด ถ้าโง่ในเรื่องนี้ มันก็จะรักกิเลส จะสะสมกิเลส จะสงวนเอากิเลสไว้ คนโง่จนเหลือที่จะกล่าวได้ว่ามันโง่ขนาดไหน เขาเรียกว่ามันเห็นกงจักรเป็นดอกบัวทำนองนี้ ต้องฉลาดในเรื่องที่ว่าจะต้องกำจัดไอ้ความเลวคือกิเลสนี้ออกไปเสียแล้วความทุกข์ก็จะหมดไป ฉลาดอย่างอื่นสว่างอย่างอื่นก็ไม่เท่าสิ่งนี้หรอก พระพุทธเจ้าท่านก็สว่างอย่างนี้ พระธรรมก็เป็นแสงสว่างในข้อนี้ พระสงฆ์ก็มีแสงสว่างในข้อนี้ นี่พอพูดถึงความสงบ ก็คือว่ามันไม่วุ่นวาย ไม่มีความทุกข์ ความสงบเย็นไม่ร้อน คนมันร้อนด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง วันหนึ่ง ๆ หลาย ๆ หน ก็อย่าให้มันร้อน ต้องกลัว ถ้าเกิดเป็นคนไม่กลัวเป็นคนหน้าด้านไม่ละอายไม่กลัวขึ้นมามันจะได้ร้อนเรื่อยไปแหละ ก็มีความละอาย มีความกลัวมันถอยหลังมันไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีกหรือมันถอยห่างไปเสีย เราจะต้องพยายามให้มี ความเย็น หยุด เย็น สงบเอาไว้แล้ว คือไม่ ไม่ ไม่เอาความทุกข์ ต้องอธิษฐานว่าถ้าเป็นทุกข์หรือเป็นร้อนหรือเป็นวุ่นวาย กูไม่เอากะมึงนี่ พูดให้มันเด็ดขาดไปอย่างนี้ ไม่รู้ไม่ชี้เรื่องอื่นก็ไม่รู้ไม่ชี้ แต่ว่าถ้ามันเป็นความร้อนความทุกข์ความวุ่นวายแล้วไม่เอาเป็นอันขาด นั่นคือหัวใจของความสงบ ความเป็นพระเป็นเณรมันอยู่ที่ความสะอาด สว่าง สงบ ความสว่าง สะอาด สว่าง สงบคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยความหมายอันแท้จริง โดยหัวใจอันแท้จริงเรามีสิ่งนี้ ทีนี้จิตใจของเราก็ มั่นคง บรรพชาก็มั่นคงก็เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ถ้าเปรียบก็เหมือนกับต้นไม้ พืชพันธ์ทั้งหลายถ้ามันได้สิ่งสนับสนุนดี ต้นไม้มันได้ดินดีได้น้ำดี ได้อากาศดี ได้แสงแดดดี ได้อะไรดี มันก็งอกงามน่าตกใจ นี่ขอให้บรรพชาของเรามันเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่า รู้จักวัตถุที่ตั้งที่อาศัยกับสิ่งที่เรียกว่าบรรพชา
เอาละดูจะพอแล้วสำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะบวช ข้อแรกรู้ว่าบรรพชานั้นคืออะไร คือการเว้นหมดไป หมดจากความเป็นฆราวาส มาอยู่ในระเบียบวินัยสิกขา เป็นการขูดเกลาจะต้องทน ในข้อที่ ๒ ว่าอานิสงฆ์ของบรรพชาคืออะไร ประโยชน์สูงสุดไม่มีอะไรจะสูงสุดเท่าที่เราเองจะได้รับ ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาจะได้รับ ที่สัตว์โลกทั้งปวงจะได้รับ ในเรื่องที่ ๓ ว่าบรรพชานี้มีวัตถุ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วัตถุ ๓ ที่มีความหมายเป็นความสะอาด สว่าง สงบ เป็นที่ตั้ง ขอจงพยายามฝักใฝ่ในสิ่งนี้ ยึดมั่นในสิ่งนี้ การบรรพชาก็จะเจริญงอกงามเป็นแน่นอน เอาละพูดแล้วว่าเธอต้องฟังให้ดี ๆ และต้องเข้าใจด้วย และต้องส่งจิตใจไปตามนั้น เรียกว่าจะเป็นการบรรพชาที่มีความหมาย
ทีนี้ต่อไปก็เป็นการทำอาการของการบรรพชาด้วยการให้นุ่งห่มผ้ากาสยะอย่างที่เธอก็ขอว่าจงทำการบรรพชาให้ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยความเมตตา ก็เป็นอันว่าเราจะต้องทำตนให้เหมาะสมกับผ้ากาสายะ อย่าทำเล่นกับผ้ากาสายะ เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ จะได้มาโดยวิธีใดก็ยังคงเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์ ฉะนั้นคนนั้นจะต้องมีจิตใจเหมาะสมแก่ผ้ากาสายะแล้วก่อนจึงจะสมควรนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ บัดนี้ถ้าหากว่าเธอได้กระทำไปตามถ้อยคำที่ได้กล่าวแล้วนั้น ก็จะมีจิตใจที่เปลี่ยนแปลงมาเหมาะสมแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ แต่ว่าเพื่อความแน่นอนท่านมีระเบียบวิธีให้บอกตจปัญจกกรรมฐาน กรรมฐาน ๕ ประการ มีหนังที่ ๕ คือผมขนเล็บฟันหนัง มีหนังที่ ๕ โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนยังคงหลงใหลในเรื่องสวยเรื่องงามเรื่องกิเลสที่ตั้งแห่งความกำหนัดแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะเหมาะสมกับผ้ากาสายะได้ นี่โดยมากคนหนุ่ม ๆ ก็เคยชินมาแต่เรื่องอย่างนี้ ก็จึงมีการซักฟอกกันอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ทำจิตใจให้ผ่องแผ้วให้เสียจากความโง่ความหลงในเรื่องสวยเรื่องงาม โดยเฉพาะเรื่องกามารมณ์ ให้พิจารณาสิ่งที่เราเคยโง่เคยหลงว่าสวยว่างาม คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สัก ๕ อย่างหนึ่งก็พอ เมื่อเราเคยหลงว่าผมงาม เดี๋ยวนี้ก็รู้ว่ามันไม่งาม พอจิตใจคอมันปกติเมื่ออยู่ในแห่งความโง่ก็ไปหลงผมว่างาม เดี๋ยวนี้หลีกออกมาได้ มาได้ยินได้ฟังมาได้พิจารณาไปตามก็จะรู้ว่าไม่งามเหมือนที่เขาสอนไว้ พระอาจารย์ทั้งหลายได้สอนไว้ในเรื่องความเป็นปฏิกูลคือไม่งามของสิ่งที่เรียกว่าผมและเส้นผมนี่โดยรูปร่างมันก็ไม่ไม่งาม มันเป็นเส้นยาว ๆ นี่ก็เรียกว่ารูปร่างมันไม่งาม และสีสันวรรณะของมันก็มันไม่เห็นว่างาม ผมดำก็ไม่งาม ผมหงอกก็ไม่งาม ผมเหลืองอะไรก็มัน มันก็ไม่งาม กลิ่นของมันก็ไม่งามคือกลิ่นเหม็น ที่เกิดที่งอกก็ไม่งาม หนังศรีษะที่ชุ่มไปด้วยไอ้เหงื่อไคล เลือด น้ำเหลือง ที่ยังหล่อเลี้ยงเส้นผม หน้าที่ของมันก็ไม่ไม่งาม คือว่าหน้าที่รับฝุ่นบนศรีษะคนนี้ ก็หน้าที่สกปรกนี่ไม่เคยคิดอย่างนี้นี่ ที่เคยหลงว่างาม เดี๋ยวนี้มันก็ควรจะคิดได้เพราะมันไม่ได้อยู่ในต่อหน้าสิ่งที่มันยั่วยวนหลอกหลวง ก็เห็นว่าผมที่เราเคยเห็นว่างามนั้นที่จริงมันไม่งามอย่างนี้ อย่างหนึ่งก่อน ก็ถัดไปอย่างที่สองเรียกว่าขนคือโลมานี่ก็อย่างเดียวกับผม เกือบไม่ต้องอธิบายอะไร อย่างที่สามก็เล็บ เขานิยมตกแต่งให้มันงาม คนโง่ก็เห็นว่างาม เราก็เคยเผลอโง่กับเขาด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็ให้เห็นว่ามันไม่งาม โดยธรรมชาติแล้วรูปร่างของเล็บนี้ก็ไม่เห็นว่างาม สีสันวรรณะที่คล้ายกระดูกนี้ก็ไม่งาม กลิ่นของเล็บโดยธรรมชาติก็ไม่งาม คือเป็นกลิ่นที่ไม่ดี ที่เกิดของเล็บก็ไม่งามเพราะมันเกิดปลายนิ้วมือที่มีอะไรอยู่ใต้นั้นเป็นของสกปรก หน้าที่ของมันก็สกปรกคือแกะเกาควักมันก็ควักของสกปรกก็เลิกเห็นว่าเล็บงามเหมือนที่เคยโง่มาแต่ก่อน นี้อันที่ ๔ ฟันในปากเรารักษากันให้สวยให้งาม สมัยก่อนโน้นเขาก็ไม่ได้มีอะไรนัก เดี๋ยวนี้ก็ใช้ยาถูฟันกันทั้งพระทั้งเณร ทั้งชาวบ้านคงจะเป็นเงินปีหนึ่งไม่รู้กี่ล้านบาท เฉพาะค่ายาถูฟันอย่างเดียว ก็เพื่อให้มันงาม เพื่อหลอกให้ อ้อ,มันงาม อย่างนี้ก็เรียกว่าความโง่อย่าเอามาไว้เลยในความเป็นผู้บวชนี้ ทำให้มันปกติ ก็แล้วกัน โดยไม่ต้องทำให้หอมให้สวยให้เงาให้วาวนี่ ดังนั้นระหว่างบวชนี้อย่าทำเลยจะได้มีจิตใจเหมาะสมกับผ้ากาสายะ ในที่สุดก็มาถึงหนัง ผิวหนังสิ่งที่ ๕ ที่เรียกว่าหนัง “ตโจ” นี้ ให้เห็นความไม่งาม รูปร่างของผิวหนังก็ไม่งาม สีสันวรรณะของผิวหนังก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกทั่วตัวนี้ก็ไม่งาม หน้าที่ของผิวหนังแล้วยิ่งสกปรก เป็นที่ถ่ายเข้าถ่ายออกของความร้อนความของเหงื่อของไคลของของสกปรก ที่รับฝุ่นไปละอองทั่วทั้งตัว นี้เราไปมุ่งหมายที่ว่าเขาฉาบทาตกแต่งประดับประดาให้หอม ให้นิ่ม ให้นวล ให้อะไรที่เรียกว่าสวยกันมันเป็นเรื่องเขาแกล้งทำมันต่างหากละ ตามธรรมชาติแล้วมันไม่งาม ถ้ามีจิตใจมองเห็นไอ้ความโง่แต่หนหลังแล้วก็สลดสังเวช ในเวลานี้ก็เรียกว่ามีจิตใจเหมาะสมแล้วที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ก็เลยต้องทำในใจเหมือนที่เราพูดมีจิตใจเปลี่ยนแปลงไปตามนี้ ก็ย่อมจะเกิดความเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ไม่มีบาป ไม่มีกรรมในการนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ แล้วก็จะมีบุญมีกุศลเกิดขึ้น ขอให้เธอมีจิตใจที่เปลี่ยนไปในลักษณะนี้ด้วย นี่เขาก็เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับซักฟอกจิตใจกันในเวลานี้ก็ถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดกาล ที่นี้ก็มีการบอกตจปัญจกกรรมฐาน อย่างที่เป็นภาษาบาลีกันอีกทีหนึ่ง แล้วเธอเข้ามาใกล้ๆ จงตั้งใจรับตจปัญจกกรรมฐานในรูปของภาษาบาลี ตามระเบียบวินัยต่อไป ตามที่ท่านได้วางไว้อย่างไรจงว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ นี่เขาเรียกว่า ว่าไปตามลำดับ ถ้าว่าทวนลำดับมาจากข้างปลายก็เรียกว่า ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา ถ้าจำได้ลองว่า ว่าอีกที อีกทีให้แน่นอนอีกที
ใช้ได้ที่ว่าอยากจะรู้ไปถึงว่าจำได้ด้วยนี่ก็อย่างหนึ่งแต่อยากจะรู้มากกว่านั้น คือว่าเธอมีใจคอปกติหรือเปล่าว่าเรียบร้อยแน่นอน แสดงว่าเรากำลังมีใจคอปกติไม่งกๆ เงิ่นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หดหู่ นี่ความประสงค์อย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่จะบรรพชาด้วยจิตใจที่สดชื่น แจ่มใส มีสติสัมปัชชัญญะ มีความสะอาด สว่าง สงบบ้างแล้ว พอสมควรแล้วที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ทีนี้เป็นการสมควรแล้วที่จะทำการบรรพชาให้เธอ เอ้า,เข้ามาหน่อย ก็ขอให้เธอมีความเจริญงอกงามในการบรรพชาของสมเด็จพระบรมพระศาสดาสมตามความมุ่งหมายทุกประการเทอญ
(นาที 50:53 – 53:40 บทสวด)
เดี๋ยวนี้จงรู้ว่าความเป็นสามเณรของเราถึงที่สุดแล้ว เดี๋ยวนี้เธอมีความเป็นสามเณรแล้ว เมื่อเวลา ๒๑.๐๘ นาที สำหรับสิขาบทสำหรับสามเณรนั้นก็ถือโอกาสรับเอาไปเสียเลย
(นาที 54:06-55:50 บทสวด)
กล่าวคำสมาทาน ๓ ครั้ง
(นาที 55:54-56:07 คำสมาทาน)
เดี๋ยวนี้เป็นอันว่ามีการบรรพชาที่ได้แล้ว โดยสมบูรณ์แล้ว ได้มีการศึกษาในสิขาบท ๑๐ ประการแล้ว เธอก็จะต้องมีสติสัมปัชชัญญะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ละเหี่ยละห้อย หรือไม่งกๆ เงิ่นๆ แต่ประการใด มีจิตใจปกติ นึกถึงการบรรพชา อานิสงฆ์การบรรพชาวัตถุที่ตั้งที่อาศัยของการบรรพชา มันก็มีความตั้งใจแน่วแน่กล้าหาญในการที่จะรักษาไว้ด้วยดี และให้เจริญไปตามลำดับ นี่พระสงฆ์ทั้งหลายก็จะอนุโมทนาในการกระทำนี้และอวยพรให้แก่เธอ
มีน้ำสำหรับกรวดไหม เตรียม มี เอามา ดึงเสื่อไปนิด กรวดไว้ในดินเลยเป็นเณรนี่หว่า เอ้านี่ดึงเสื่อมานิดหนึ่ง ให้มันตรงนี้มันว่างเป็นดินแล้วเธอกรวดลงไปในดิน เอ้า,มานั่งใกล้ ๆ ตรงนี้หน่อยสิแล้วก็ฟัง
เดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัทชาวไทยครั้งหนึ่งเรียกว่ากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำได้สูงสุดในวันนี้ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ตรงกับคำอนุโมทนาของพระสงฆ์ว่า ยถา วาริวหา เป็นต้น แปลว่าฝนตกลงมาในที่สูงมันก็ไหลไปที่ต่ำตามลำดับๆ นี่บุญที่เราได้กระทำในวันนี้ให้ถึงแก่ผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด มีบิดามารดาเป็นต้น บุคคลใดก็ตามที่ใกล้ชิดที่สุดที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ร่นเหลือไปยังบุคคลที่ห่างออกไป ๆ ๆ จนกระทั่งบุคคลที่มิใช่ญาติ แม้กระทั่งบุคคลที่เป็นศัตรู กระทั่งคนที่เป็นทั่วไปในสากลจักรวาลสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตที่รู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ได้ ขอให้รับส่วนกุศล นี้การที่จะอุทิศส่วนกุศลนี้ก็ต้องทำด้วยจิตเป็นสมาธิ แล้วก็ต้อง ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยการบังคับร่างกายให้ดีนิ้วมือให้ดี รินน้ำให้มันไหลเป็นเส้นเล็กๆ เอามือแตะไว้ที่ปากถ้วยแก้วด้วยจิตที่ตั้งใจไว้ปกติดีให้มันไหลลงเป็นเส้นเล็กๆไม่ให้พรวดพราด ไม่ให้เป็นหยดๆ ดังนั้นเขาถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการที่จิตมันมีสมาธิและอุทิศส่วนกุศลด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้นมันดีกว่าจิตที่ฟุ้งซ่านหรือเส้นประสาทกำลังหวั่นไหว และก็ต้องทำเมื่อพระได้กล่าว ยถา วาริวหา ที่เรียกว่าอนุโมทนา เมื่อเขาขึ้นว่า สัพพีติโย เราก็เทพรวดเดียวหมด พนมมือรับพร
(นาที 1:00:24 - 1:02:03 บทสวด)
ที่นี้จะให้พรเธอผู้บวชแล้วนี้โดยตรง
(นาที1:02:11 – 1:03:03 บทสวด)
นี่ก็จะให้พรทายก ทายิกาทั้งหลายบ้าง
(นาที 1:03:11 – 1: 05;26 บทสวด)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตว่าเมื่อให้อุปสมบทแล้วพึงบอกนิสัย ๔ คือกริยา ๔ นิสัย ๔ นั้นข้อที่ ๑ คือ บอกให้ทราบว่าการบรรพชานี้อาศัยบิณฑบาตร คือก้อนข้าวที่ได้มาจากการบิณฑบาตร ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง ก้อนข้าวที่ได้มาจากลำแข็งการบิณบาตร เธอขวนขวายในอาหารบิณฑบาตรนั้นจนตลอดชีวิต
(บทสวด นาที 1:06:07 – 1:06:11)
ถ้าว่ามีดิเรก อดิเรกลาภเกิดขึ้นเช่นสังฆทานเป็นต้นก็พึงรับได้แต่ในฐานะเป็นอดิเรกลาภเถิด
(บทสวด 1:06:23 – 1:06:33)
ชีวิตบรรพชาอาศัยเครื่องนุ่งห่มคือผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ ให้ขวนขวายในผ้านุ่งห่มเห็นตามนั้นจนตลอดชีวิตบรรพชา แต่ถ้าว่ามีจีวรสำเร็จรูปอันคบดีถวายควรแก่สมณะบริโภคมีผ้าทำฝ้ายเป็นต้นก็ได้รับเหมือนกันในฐานะเป็นผ้าในอดิเรกลาภ
(บทสวด 1:07:00 – 1:07:12)
บรรพชาอาศัยที่อยู่คือโคนไม้ จงขวนขวายในเสนาสนะ เห็นปานนั้นจนตลอดชีวิตบรรพชา แต่ถ้าว่าอดิเรกลาภเกิดขึ้นมีวิหารกุฏิอันสมควรแก่สมณะก็รับได้เหมือนกันในฐานะเป็นเพียงอดิเรกลาภ
(นาทีที่ 1:07:30- 1:07:42 บทสวด)
บรรพชาอาศัยยาแก้โรคคือเภสัชที่ประกอบขึ้นโดยน้ำมูตร เป็นต้น เธอจงขวนขวายในเภสัชเห็นปานนั้นจนตลอดชีวิตบรรพชา แต่ถ้าอดิเรกลาภเกิดขึ้นมีเภสัชที่ประกอบขึ้นด้วยเนยใสเป็นต้นก็รับได้เหมือนกันในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
(1:08:03 – 1:08:29 บทสวด)
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงจะประกอบเมถุนธรรม แม้ที่สุดในสัตว์เดรัจฉาน ภิกขุประกอบมถุนธรรมแล้วย่อมไม่มีความเป็นภิกษุสมณะศากยปุตติยะอีกต่อไป ดังนั้นบุคคลผู้มีศรีษะขาดแล้วไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ด้วยร่างกายที่มีศรีษะขาดนั้นดังนั้นไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(1:08:53 – 1:09:22 บทสวด)
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แม้ที่สุดแต่หญ้ากำมือเดียว ภิกษุถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดีเทียบเท่ากับบาทหนึ่งก็ดีเกินกว่าบาทหนึ่งก็ดีย่อมไม่มีความเป็นสมณะศากยปุตติยะอีกต่อไปเหมือนใบไม้เขียวหล่ง หล่นลงจากต้นเป็นใบไม้เหลืองแล้วย่อมไม่สามารถที่จะกลับเป็นใบไม้เขียวได้อีก ดังนั้นไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิตของการบรรพชา
(1:09:58 - 1:10:30 บทสวด)
ภิกษุผู้ได้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเจตนาทำสัตว์มีชีวิตให้ตกร่วงแม้แต่ว่ามด แมลง มดดำ มดแดง ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตายแม้ที่สุดแต่มนุษย์ที่ยังอยู่ในครรภ์ย่อมไม่มีความเป็นภิกษุสมณะศากยปุตติยะอีกต่อไป ก็เหมือนหินก้อนหนึ่งเมื่อหักออกเป็นสองชิ้นแล้วย่อมไม่มีความเป็นหินก้อนเดียวดังเดิมอีก ภิกษุผู้ฆ่ามนุษย์ให้ตายแล้วย่อมไม่มีความเป็นภิกษุอีกต่อไปฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(1:11:11 – 1:11:50 บทสวด)
ภิกษุผู้ได้อุปสมบทแล้วไม่พึงอวดอุตริมนุสสธรรม แม้แต่จะอวดว่าเราเป็นผู้ยินในเสนาสนะอันสงัดแล้วดังนี้ก็ไม่ควร ภิกษุอาศัยกามปรารถนาอันเป็นบาป มีความใคร่ในลาภเป็นต้น อวดอุตริมนุสสธรรมด้วยฌานก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี วิโมกข์ก็ดี โดยมรรคก็ดี โดยผลก็ดี ย่อมไม่มีความเป็นภิกษุสมณะศากยปุตติยะอีกต่อไป เหมือนต้นตาลที่ถูกทำลายที่ขั้วแห่งยอดแล้วย่อมไม่เป็นต้นตาลที่งอกงามได้อีกฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(1:12:42 - 1:13:32 บทสวด)
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ ผู้เห็นได้ตรัสไว้เป็นเอนกปริยายเกี่ยวด้วยเรื่องศีล ด้วยเรื่องสมาธิ ด้วยเรื่องปัญญาเป็นอย่างดีแล้ว ให้ ๓ อย่างนั้นเมื่อศีลอบรมดีแล้วสมาธิย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงฆ์ใหญ่ เมื่อสมาธิอบรมดีแล้วปัญญาย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงฆ์ใหญ่ เมื่อปัญญาอบรมดีแล้วจิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง คือ กามาสวะ ภาวาสาวะ อวิชชาสาวะ นี่ทำกันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่จากไปแห่งความเมาเป็นต้น
เธอผู้ได้บวชแล้วในธรรมวินัยนี้จงเป็นผู้มีความเคารพหนักแน่นในศีลสิกขา ในจิตตสิกขา ในปัญญาสิกขา ถึงความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา สมตามความมุ่งหมายของการบรรพชาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าบรรพชานั้นคืออะไร มีวัตถุที่ตั้งอาศัยอย่างไรและจะประสบอานิสงฆ์ในที่สุดอย่างไร สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้จะสำเร็จได้โดยการที่เธอเป็นผู้บวชจริงเรียนจริง ปฏิบัติจริง จะได้รับประโยชน์ทั้งที่เป็นโดยตรงและโดยปริยายอีกมากมายทุกอย่าง ดังนั้นขอให้เป็นผู้ที่มีความจริง คือมีสัจ สัจจะ ความตั้งใจจริง มีธรรมะการบังคับตัวเองให้เป็นไปตามนั้น มีขันตีคือความอดกลั้นอดทนเมื่อจะต้องบังคับตัวเอง แล้วก็มีจาคะคือสิ่งใดที่จะทำให้เสียสัจจะเป็นต้นนั้นจะต้องจะสละออกไปโดยประการทั้งปวงแล้วเป็นผู้มีความเจริญงอกงามในพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา จนทุกทิพาราติกาลเทอญ
ระเบียบประเพณีนี้อยากจะรักษาไว้เขาเรียกว่ากรวดน้ำ มันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์คือว่าเมื่อเราได้บำเพ็ญกุศลอย่างสูงหรือว่าที่เรียกว่ากุศลตามความหมายแล้วก็จะนึกถึงผู้อื่นเสมอไป นี่ก็เป็นการฝึกฝนให้นึกถึงผู้อื่น ให้เห็นแก่ผู้อื่น ให้เผื่อแผ่สิ่งที่ควรจะเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ซึ่งทำให้คนไทยเรานี้มีนิสัยเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็เรียกเรียกว่าที่เป็นวัฒนธรรมก็เป็นส่วนที่ดี ทีนี้ที่เป็นเรื่องทางศาสนาก็ต้องอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอีกส่วนหนึ่งให้มันเป็นการได้บุญอีกส่วนหนึ่ง คือการให้ส่วนบุญ ดังนั้นเราจึงมีการทำอย่างนี้ ทีนี้มากไปกว่านั้นก็ให้เป็นการเจริญเมตตา แผ่ส่วนกุศลไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ ดังนั้นก็เลยอาศัยบทอนุโมทนาของภิกษุทั้งหลายที่สวดพร้อมๆ อนุโมทนานี้ที่ ยะถา วาริวะหา ปูรา ปริปูเรนติ สาคะรัง นี้ก็มีใจความว่าให้กุศลที่ทำแล้วในวันนี้จงสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วตามลำดับ คำว่าตามลำดับนี้หมายความว่าผู้ที่เป็น เป็นที่รักที่นับถือ ที่เจาะจงก่อนที่ใกล้ชิดก่อนได้รับก่อน แล้วจึงร่อนเหลือไหล ไปยังผู้ที่ไกลออกไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งว่ามิใช่ญาติ จนกระทั่งว่าเป็นศัตรู จนกระทั่งว่าเป็นสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ให้เหมือนกันกับว่าน้ำฝนตกลงมาจากฟ้าลงไปในที่สูง ลงบนที่สูงแล้วมันย่อมไหลไปในที่ต่ำ มันจึงเป็นไปตามลำดับจากยอดภูเขาลงมาตามลำดับที่ตีนเขา ที่ห้วย ที่ลำธาร ที่ลำคลอง ลงไปในแม่น้ำ ลงไปในทะเล ทำให้มหาสมุทรเต็ม นี่เขาทำคำเปรียบในใจอย่างนั้น อุปมาอย่างนั้น จิตใจมันก็จะได้คิดไปทางว่าแผ่ส่วนกุศลไปตามลำดับๆ นับตั้งแต่ผู้ใกล้ชิดที่สุดไกลออกไปถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีประมาณ นี่เธอต้องทำใจอย่างนี้ในเวลากรวดน้ำนี้ นี้ความประสงค์อีกอันหนึ่งก็คือว่าให้ทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ นี้เขาถือกันว่าให้รินน้ำด้วยความสังวรณ์ระวัง ให้น้ำนี้ไหลเป็นเส้นเล็กๆ ไม่ให้ ไม่ให้ขาดสาย คือไม่ให้เป็นลูกๆ หรือว่าเป็นหยด ๆ ติ๋งๆ ตั๋ง ๆ ให้มันเป็นไหลเล็กที่สุด เพราะถ้าทำได้อย่างนั้น เวลานั้นจิตต้องเป็นสมาธิมากถ้าทำให้น้ำไหลเป็นเส้นเล็กไม่ขาดสายจิตเป็นสมาธิมากกว่าที่จะพรวดพราดตุ๋มๆ ต๋ำๆ ก็อาศัยความที่จิตเป็นสมาธินั้นอุทิศส่วนกุศลย่อมสำเร็จประโยชน์กว่าที่ทำไปด้วยจิตฟุ้งซ่าน ดังนั้นเราจงสำรวมจิตรินน้ำให้เป็นเส้นเล็กลงไปด้วยจิตเป็นสมาธิแล้วอุทิศส่วนกุศลดังที่กล่าวมานั้นเถิด เมื่อว่ายถา วาริวะหา เธอก็ทำอย่างนั้น พอขึ้นสัพพี ติโย ก็เทพรวดเดียวแล้วก็พนมมือรับพร
(1:20-05 – 1:21:49 บทสวดกรวดน้ำ)
ต่อไปนี้ให้พรแก่เธอผู้บวชแล้ว
(1:21:53 – 1:22:47 บทสวดให้พรพระบวชใหม่)
นี้ให้พรทายกทายิกา
(12:22:50 – 12:25:04 บทสวดให้พรทายกทายิกา)