แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
“นั่งพับเพียบ พนมมือ ตั้งใจฟัง นั่งให้สบายไม่ต้องปวดต้องเมื่อย
เธอ พยายามทำจิตใจดี ให้ปกติ ว่าบวชน่ะบวชด้วยจิตใจมากกว่าบวชด้วยร่างกาย การบวชจะสำเร็จประโยชน์ก็เพราะบวชด้วยจิตใจ ไม่ใช่บวชด้วยร่างกายหรือกิริยาท่าทางหรือเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นต้องทำจิตใจให้ถูกต้อง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเก้อ ไม่ต้องฟุ้งซ่านอย่างใดทั้งนั้น มีใจคอปกติมันจึงจะบวช นี่บวชด้วยความสมัครใจหรือใครบังคับ”
(ผู้บวช) “บวชด้วยความสมัครใจครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ชื่ออะไร”
(ผู้บวช) “สันติภาพ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “สันติภาพ นามสกุล?”
(ผู้บวช) “บุญชูช่วย”
(ท่านพุทธทาสฯ) “อายุเท่าไร”
(ผู้บวช) “๑๗ ปีครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “เป็นปีเป็นเดือน ได้กี่ปีเต็ม กี่เดือน”
(ผู้บวช) “๑๗ ปี ๒ เดือนครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “๑๗ ปี ๒ เดือนหรือว่า ๑๖ ปี ๒ เดือน”
(ผู้บวช) “๑๗ ปี ๒ เดือน”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ชาวบ้านเรียก เขาเรียกว่า ๑๘ ปี ถ้าพูดภาษาชาวบ้านๆ เขานับเป็นอายุ ๑๘ ปี ถ้าคนเราย่างเข้าปีที่ ๑๘ เขาเรียก ๑๘ ปี อายุย่างเข้า ๑๘ ปีนี่เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่”
(ผู้บวช) “ก็เป็นผู้ใหญ่แล้วครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เป็นเด็กก็ไม่ใช่เป็นเด็กอมมือ เป็นผู้ใหญ่ก็เรียกว่ายังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าย่างเข้าความเป็นผู้ใหญ่ ถ้ามีความรู้สึกสูงอย่างผู้ใหญ่ก็เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ได้ ถ้าไอคิวสูงคน ๑๗ ปีเป็นผู้ใหญ่ นี่หลายคนในประวัติศาสตร์ คนที่ชื่อ กฤษณมูรติ มีชื่อเสียงอยู่เวลานี้ อยู่ประเทศสวีเดน เป็นศาสดา อายุ ๑๗ ปีเขียนหนังสือเป็นเล่มๆ ได้ คนแก่หัวหงอกก็นับถือหนังสือเล่มนั้น ใช้เล่าเรียนกันอยู่จนทุกวันนี้ คนอายุ ๑๗ ปี ชื่อ กฤษณมูรติ เมื่ออายุ ๑๗ ปีเขียนหนังสือให้คนแก่หัวหงอกเรียนกันเป็นฝูงเลย นี่ ถ้าไอคิวมันสูง ๑๗ ปีมันยิ่งกว่าเป็นผู้ใหญ่นี่ เข้าใจไหม เราอายุ ๑๗ ปี เศษแล้วย่างเข้า ๑๘ มันต้องยอมรับว่าไม่ใช่เด็กนะ อย่างน้อย ถึงแม้ว่าจะมีไอคิวต่ำเขาก็ไม่ถือว่าเป็นเด็ก ตามปกติเขาถือว่าเริ่มเป็นผู้ใหญ่
เป็นผู้ใหญ่แล้วมันก็ต้องรับผิดชอบอย่างผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กอมมือก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อเป็นเด็กเล็กเกินไปก็ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำหรืออะไรของตัว แต่คนอายุ ๑๗ ปีขึ้นไปนี่ถึงขนาดจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัว
เราต้องมีความรู้สึกที่ถูกต้อง มีความเข้มแข็งสมกับที่ว่าเป็นมนุษย์ มีความเฉลียวฉลาดสมกับความเป็นมนุษย์ เธอยืนยันความเป็นมนุษย์ของตัวเองหรือเปล่า?”
(ผู้บวช) “ยืนยันครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ยืนยันว่าเราเป็นมนุษย์ ยืนยันว่าเรารับผิดชอบในความเป็นมนุษย์ของเรามันจึงจะได้ ถ้าไม่เช่นนั้นไม่รู้จะบวชไปทำไมกัน หรือว่าเมื่อไม่ยืนยันรับผิดชอบนี่แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร พูดกันเปล่าๆ สัญญากันเปล่าๆ ถ้าปฏิเสธไม่รับผิดชอบไม่ยืนยันในความเป็นมนุษย์แล้วก็ เราก็ไม่มีอะไรก็จะเรียกร้อง ต่อว่า เธอยืนยันในความเป็นมนุษย์ มีความรับผิดชอบตัวเอง ถ้าทำอะไรผิดไปแล้วมันก็ต้องต่อว่ากันได้ เรียกร้องให้ทำขึ้นใหม่ได้ นี่เราบวชด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ใครบังคับให้บวชแน่นะ? ดังนั้นถ้าเธอทำอะไรผิดลงไปเธอก็ต้องรับผิดชอบ จะไปโทษพ่อแม่ไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้บังคับให้บวช เพราะว่าเราบวชด้วยความสมัครใจ เรารับผิดชอบของเราเอง สิ่งใดที่ได้พูดไปแล้วสัญญาไปแล้วเธอรับผิดชอบของเธอหมด เธอรู้สึกว่ามีความเข้มแข็งพอที่จะบวช พอที่จะปฏิบัติกิจวัตรหน้าที่ของการบวช เธอมีกำลังและมีความเข้มแข็งพอ”
(ผู้บวช) “พอครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ปู่ของเธอชื่ออะไร”
(ผู้บวช) “ชื่อซ้อนครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ปู่ คุณซ้อน บุญชูช่วย ปู่ทวดเธอไม่เคยเห็น ใช่ไหม”
(ผู้บวช) “เคยครับ คุณปู่”
(ท่านพุทธทาสฯ) “เคยเห็นคุณปู่แต่ไม่เคยเห็นปู่ทวด ปู่ชวด”
(ผู้บวช) “ไม่เคยครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ก็มันเด็ก ไม่ทันเห็น เราทันเห็นและคุ้นเคยกันมากกับปู่ชวดของเธอ เมื่อก่อนเราบวชเราไปมาหาสู่เสมอ ทำไมเราจึงเอ่ยถึงปู่ชวดของเธอ มีเหตุผลนิดเดียวคือว่าเป็นคนเข้มแข็งที่สุด เธอเรียนหนังสือมอไหน?”
(ผู้บวช) “ม.ศ.๒ ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ม.ศ.๒ เท่ากับ ม.๕ สมัยก่อน คำว่า industrious แปลว่าอะไร? Industrious ไม่รู้?
(ผู้บวช) “ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“นี่ ความเข้มแข็ง ความอดทน ความเอาจริงเอาจัง มีมากที่สุดในปู่ชวดของเธอ serious ความเอาจริงเอาจัง industrious ความอุตสาหะวิริยะ มีมากที่สุดในปู่ชวดของเธอ เราเห็นติดตามันเลยติดใจเรามาด้วย
ทีนี้พ่อ เอ้ย ลูกของปู่ชวดของเธอ คือ ปู่ของเธอนี่ก็มีความจริงจังเข้มแข็ง เพราะเราเคยคุยกันหลายหน พอจะเอาตัวรอดได้ แต่ว่าปู่คนอื่นๆ ของเธอ ชื่อนายเลื่อน นายเชย นี่เข้มแข็งที่สุด โดยเฉพาะนายเชย เธอมาเกิดมาในตระกูลในสายเลือดที่บรรพบุรุษมีความเข้มแข็งที่สุด มีอุตสาหะวิริยะมีจริงจังที่สุด ถ้าเธอเกิดเหลวไหลโลเลอ่อนแอ เธอจะคิดว่าอย่างไร”
(ผู้บวช) “ผมว่าไม่ดีครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เธอมันทำผิด นะ ถ้าว่าเป็นอย่างนั้นมันทำผิดบรรพบุรุษ นั่นล่ะเราจะต้องนึกถึงและนึกถึงด้วยความรับผิดชอบ เมื่อเธอมาเกิดเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษชนิดนี้ก็ต้องรับผิดชอบในการที่ไม่ทำให้เสียชื่อของบรรพบุรุษเหล่านั้น เราจะต้องอุตสาหะวิริยะและเอาจริงเอาจัง รับผิดชอบ
เขาแจวเรืออาบเหงื่อต่างน้ำเลี้ยงลูกทุกคนจนมาจนรอดตัว เขาทำงานชนิดนั้นส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ นายเชยก็เป็นปู่ของเธอคนหนึ่งเหมือนกันนะ ไปเรียนปีนังตั้งแต่บิดาเขาต้องแจวเรือเหงื่อไหลไคลย้อย นั่นอานิสงส์ของความเข้มแข็ง ความเอาจริงเอาจัง เคยมาพักอยู่กับเรา ปู่เธอคนที่ชื่อนายเชยน่ะ มาพักกับเราเมื่อเรายังไม่ได้บวช ไปเที่ยวไหนต่อไหนกัน
เอาละเรื่องนี้มันยุติว่าเรามันเกิดมาในบรรพบุรุษที่เข้มแข็ง อดทน เรามันต้องเหลวไหลไม่ได้ เขาเรียกว่าบุตรซึ่งดีกว่าบิดามารดา บุตรซึ่งเสมอกับบิดามารดา บุตรซึ่งเลวกว่าบิดามารดา มี ๓ พวก บุตรซึ่งทำอะไรได้ดีกว่าบิดามารดา บุตรที่ทำได้พอเสมอกับบิดามารดา ที่ทำได้เลวกว่าบิดามารดา นี่ ๓ พวกนี้เราต้องระวัง อย่างน้อยก็ต้องทำให้ดี ไม่เสีย ไม่เลวกว่าที่บรรพบุรุษเคยทำมา เรารักเกียรติของบรรพบุรุษ เราเชื่อฟังพระพุทธเจ้า ก็เขาว่าไว้แบบนี้
นี่เรามันจะบวช เพราะการบวชนี่ต้องการความเข้มแข็งอดทนยิ่งกว่าอยู่กับบ้าน อยู่กับบ้านต้องเข้มแข็งอดทน ต้องจริงจังเหมือนกัน แต่บวชนี่ต้องการจริงจังกว่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นมันไม่เป็นบวช บวชเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์นั้นเธอของไม่ต้องการไม่ใช่หรือ เธอสมัครบวชนี่สมัครจะบวชเอาอะไรกัน?”
(ผู้บวช) “เพื่อศึกษาธรรมะและอบรมจิตใจ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ให้มันดี เราต้องรู้เรื่องการบวช ในข้อแรกว่ามันต้องการความเข้มแข็ง ความจริงจังมากพอ มันจึงจะทำได้ บวชนี่เขาแปลว่า ไปหมด หรือเว้นหมด เธอยังไม่เคยได้ยินไม่ใช่หรือ”
(ผู้บวช) “ยังครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ตัว ป. น่ะ ที่มาเป็นตัว บ. ในภาษาไทยนั่น แปลว่าหมดสิ้น ว. ช. นั่นแปลว่าไปหรือเว้น ป.ว.ช. บวช แปลว่าไปหมด เว้นหมด ไปหมดจากความเป็นฆราวาส เว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้น นี่เราต้องเลิกความเป็นฆราวาส ไปหมดจากความเป็นฆราวาส จะไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส จะไม่กินอยู่อย่างฆราวาส ไม่ทำอย่างฆราวาส ไม่พูดอย่างฆราวาส ไม่เล่นหัวอย่างฆราวาส แม้แต่นอนก็ไม่ฝันอย่างฆราวาส นี่ ไปหมดจากฆราวาส
เว้นหมด ข้อที่ควรเว้น นี่ก็ต้องศึกษาต่อไปว่ามันจะต้องเว้นอะไรบ้าง ก็ต้องเว้นให้หมดนะจึงจะเป็นบวช ดังนั้นจึงต้องการความเข้มแข็งอดทนมาก เมื่อเราต้องอดทนน่ะมันสนุกหรือไม่สนุก? เมื่อเราต้องมีความอดทน เวลานั้นมันสนุกหรือไม่สนุก”
(ผู้บวช) “ไม่สนุกครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ถ้าเธอเห็นแก่ความสนุก เธอบวชได้ไม่ใช่หรือ เราต้องอดทนมันไม่สนุกนี่ มันเจ็บปวด เหมือนเราอยากจะไปดูหนังเต็มที ทีนี้มันไม่ได้ไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องอดทน มันเจ็บปวดในใจสิ เมื่อเราต้องการจะทำตามเคย สะดวกสบายตามเคยเหมือนเมื่อเป็นฆราวาส บวชแล้วทำไม่ได้ นี่ ต้องอดทน มันเจ็บปวดก็ต้องอดทน เธอสมัครจะทน?”
(ผู้บวช) “ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ก็นั่นล่ะ มีความหวัง ให้มีหวังว่าจะเป็นไปได้ ถ้าเธอไม่สมัครจะทนก็เลิกไป ไม่ต้องบวช ถ้าไม่สมัครจะอดทนแล้วก็ไม่ต้องบวช ทำเพียงเท่านี้แล้วเลิกแล้ว ไปบ้านได้ มันต้องทนนี่ มันเป็นเรื่องที่ต้องอดทน
ศีลข้อที่ ๖ มีว่าอย่างไร?”
(ผู้บวช) “วิกาลโภชนา เวรมณี”
(ท่านพุทธทาสฯ) “นั่นแหละ ห้ามไม่ให้ทำอะไร”
(ผู้บวช) “ห้ามไม่ให้เที่ยว”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ไม่ให้กินอาหารในเวลาวิกาล ถูกไม่ถูก วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ไม่ใช่เที่ยว เป็นเณรไม่กินข้าวในเวลาวิกาลถึงหิว ถ้าหิวจะต้องทำอย่างไร ถ้าหิวขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร ข้อแรก ข้อแรกที่สุดจะต้องทำอย่างไร”
(ผู้บวช) “ถ้าไม่ได้บวชก็กินครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ถ้าไม่ได้บวชก็กิน ถ้าบวชล่ะ ถ้าบวชเสร็จแล้วหิวล่ะ จะทำอย่างไร”
(ผู้บวช) “อดทน”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“นั่นล่ะ คือ อดทน ตัวอย่าง นี่เป็นตัวอย่าง ตัวอดทน ที่เคยเล่นหัวกับเพื่อน ตอนนี้ก็ไม่มีเรื่องเล่นหัวกับเพื่อน นึกจะเล่นจะหัวมันก็ต้องอดทน ตามใจตัวเอง อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้ตามใจตัวเองก็ต้องทน ล้วนแต่ต้องทน ดังนั้นการบวชนั้นคือว่าสำเร็จด้วยการอดทน การบำเพ็ญตบะสำเร็จด้วยขันติ คือ ความอดทน
อดทนที่จะบวชแน่นะ? ถ้าอดทนนี่มันต้องเจ็บปวดแน่ๆนะ”
(ผู้บวช) “ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“มันต้องรู้ไว้เสียก่อน เดี๋ยวจะมาแก้ตัวว่าไม่รู้ไม่สมัคร นึกว่าไม่ต้องอดทนถึงขนาดนี้ นี่ต้องรู้ว่าต้องอดทนถึงขนาดนี้ เพราะบวชน่ะมันต้องอดทน บวชน่ะมันเป็นการขูดเกลาพรหมจรรย์ เป็นการขูดเกลา ขูดเกลาความเลว ความชั่ว ขูดเกลากิเลสนะ ถ้าขูดมันก็ต้องเจ็บไม่ใช่หรือ ขูดแผลหรือขูดอะไรมันก็ต้องเจ็บทั้งนั้นแหละ นี่ขูดจิตใจ ขูดความชั่วความเลวในจิตใจ มันก็เจ็บอีกประเภท เจ็บอย่างต้องทนขนาดน้ำตาไหลนั่นล่ะ พรหมจรรย์มันจึงจะอยู่ได้ เธอจะสมัครไหม ถ้าถึงขนาดจะต้องทนจนน้ำตาไหลนี่ จะสมัครหรือไม่สมัคร? เช่น หิวข้าวก็ไม่ให้กิน หิวจนน้ำตาไหลก็ต้องทน ไม่ไปขโมยกินข้าว นี่เป็นตัวอย่าง ยังมีอื่นๆ อีกมาก
ให้เข้าใจว่าพรหมจรรย์หรือบรรพชาหรือการบวชนั่นเต็มไปด้วยความอดทน ความอดทนนี่มันขูดเกลาความชั่ว ความชั่วค่อยๆ หมดไปจากนิสัยสันดาน รวมความว่าบวชนี่บวชเพื่ออดทน บวชเพื่อขูดเกลานิสัยสันดาน นั่นล่ะคือบวช ถ้าอย่างอื่นไม่ใช่บวช บวชก็คือความอดทน คือขูดเกลากิเลส ขูดเกลาความชั่ว ขูดเกลานิสัยสันดาน นี่คือบวช นี่ระเบียบของการบวชเป็นอย่างนี้ เมื่อสักครู่เธอว่า ปัพพัชชัง ยาจามิ ผมขอบรรพชา คือ ขอบวช เธอรู้เสียว่าเธอขอบวชคือขอระเบียบอันนี้ออกไป ขอระเบียบเพื่อที่จะไปขูดเกลาเธอให้อดทนนั่นแหละ นั่นแหละคือขอบรรพชา อย่าว่าแต่ปาก ไม่รู้ว่าอะไร ปัพพัชชัง ยาจามิ ผมขอบรรพชา ทีนี้บรรพชาก็คือระเบียบปฏิบัติก็จะเต็มไปด้วยการขูดเกลาเจ็บปวดที่สุดก็ต้องอดทน เวลานี้รู้แล้วว่าขอศีลก็ต้องทำให้อดทน ไม่ใช่สนุกเหมือนไปดูหนังหรือไปเที่ยวหรือไปทำ คุมพวกไปสนุกสนานอะไรกัน มันไกลกันเรื่อย จำไว้ว่าบรรพชาคือการประพฤติปฏิบัติซึ่งต้องทำให้เกิดความอดทน เจ็บปวดก็ทน ทนจนน้ำตาไหล เพื่อชะล้างสิ่งชั่วในจิตใจให้หมดสิ้น นี่เรียกว่าบรรพชา ข้อแรกก็ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ว่าแต่ปากก็เป็นนกแก้วนกขุนทองหมดเลย
นี่รู้แล้วนะว่าบรรพชาคืออะไร”
(ผู้บวช) “ทราบแล้วครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “แปลว่าอะไรบรรพชา”
(ผู้บวช) “บวชครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “คำว่าบวชแปลว่าอะไร”
(ผู้บวช) “ต้องอดทนครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ตัวหนังสือแปลว่าไปหมด เว้นหมด ป.ว.ช. แปลว่าไปหมด เว้นหมด เว้นจากสิ่งที่เราเคยสนุกสนาน เคยเล่นหัวเคยพอใจ ทีนี้มันเกิด ต้องเกิดความอดทน ระเบียบปฏิบัติซึ่งไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส นี่ก็ต้องมีความอดทนจึงจะรับปฏิบัติได้ ถ้าทนจนน้ำตาไหลก็จะต้องทนเพราะมันมีประโยชน์ ข้อแรกว่า บวชมันคือทำอย่างนี้
ทีนี้ข้อต่อไป เธอรู้ว่ามีประโยชน์อย่างไรล่ะ ถ้าเราบวช ทนจนน้ำตาไหลกันนี่มันมีประโยชน์อย่างไร”
(ผู้บวช) “เพื่อให้มีเราความอดทน”
(ท่านพุทธทาสฯ) “เมื่ออดทนได้แล้ว มันมีประโยชน์อย่างไร มีอานิสงส์อย่างไร การบวชนี่มีอานิสงส์อย่างไร
(ผู้บวช) “ให้ช่วยตัวเองได้ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เรื่องอานิสงส์ของการบวชนี่ควรจะรู้ไว้ มันมากมายเหลือเกิน แต่สรุปแล้วเขาสรุปไว้ ๓ ประการ คือให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั่นค่อยพูดกันว่าคืออะไร แต่ว่าด้วยการบวชนี่จะทำให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สิ่งที่ไม่สู้จะดีนั้นเราได้จากทางอื่นก็ได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ไม่มีทางอื่นนอกจากเราปฏิบัติด้วยการบวช เป็นการบวช ผู้บวช อานิสงส์ที่หนึ่ง ผู้บวชได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อานิสงส์ที่สอง บิดามารดาญาติโยมทั้งหลายจะได้รับประโยชน์จากการบวชของเรา อานิสงส์ที่สาม เพื่อนมนุษย์ทั้งโลกหรือศาสนาจะได้รับประโยชน์จากการบวชของเรา
นี่ถ้าเธออดทนจริง บวชจริง เรียนจริงเหมือนดังว่า เธอก็จะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนจิตใจได้สิ่งที่ดี นิสัยก็ดี ความประพฤติก็ดี กระทำก็ดี เธอก็ได้สิ่งที่ดีที่สุด นี่เราบวชเอาเรา เอาเราเอง
ทีนี้ข้อที่สอง เราบวชเพื่อแทนคุณบิดามารดา บิดามารดามีคุณหรือไม่มี?”
(ผู้บวช) “มีครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “มีตรงไหน?”
(ผู้บวช) “ให้นม ให้กำเนิดเรามา”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ให้ชีวิต ให้กำเนิดเรามา แล้วทำไมเด็กๆ จึงไม่เชื่อฟังบิดามารดา ในเมื่อบิดามารดาให้ชีวิตมาทั้งหมดนั่นน่ะ เหตุใดเด็กๆ จึงไม่เชื่อฟังบิดามารดา ยังดื้อ ยังทำให้บิดามารดาเสียใจ ร้อนใจอยู่บ่อยๆ เพราะเหตุอะไรกัน”
(ผู้บวช) “เพราะความอยากสนุกสนาน”
(ท่านพุทธทาสฯ) “มันมีความสนุกสนาน อยากสนุกสนานมากเกินไปจนลืมบิดามารดา เข้าใจไหม”
(ผู้บวช) “ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ถ้าเรานึกถึงบุญคุณของบิดามารดาอยู่ในใจแล้ว เราก็จะทำแบบนั้นได้ นี่เราลืมไปนี่ เราลืมว่าเราเกิดมาจากบิดามารดา บิดามารดาให้ชีวิตมาทั้งหมดเลย ชีวิตทั้งหมดได้มาจากบิดามารดา เราลืมไป เด็กๆ จึงไม่เชื่อฟังบิดามารดา บิดามารดาต้องร้อนใจเหมือนกับไฟเผา เหมือนกับตกนรก ในบางครั้ง บุตรบางคนได้กระทำนะ แต่ความจริงนั่นเขาไม่ได้มีบุตรเพื่อให้ร้อนใจ เขามีบุตรเพื่อให้ได้รับความเย็นใจ มีบุตรเพื่อช่วยให้บิดามารดาไม่มีความร้อนใจ ภาษาโบราณธรรมเนียมโบราณเขาว่ามีบุตรเพื่อช่วยยกบิดามารดาให้พ้นจากนรก นรกความทุกข์ ความร้อนใจ ไม่มีลูกก็ร้อนใจ ไม่มีผู้สืบสกุลก็ร้อนใจ ไม่ได้ลูกตามที่ต้องการก็ร้อนใจ พอได้มีลูกถึงได้สบายใจ มีลูกแทนที่จะทำให้บิดามารดาสบายใจ กลับทำให้ร้อนใจ เด็กบางคนลืมบุญคุณของบิดามารดา จับบิดามารดาใส่นรกให้ร้อนใจ เหลวไหลในการเล่าเรียน ใช้เงินเปลือง เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก เป็นอันธพาล เป็นจิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ เป็น...(นาทีที่ ๒๖.๔๕) นี่คนที่จับบิดามารดาใส่นรก เป็นผู้ไม่รู้บุญคุณของบิดามารดา ไม่ใช่บุตร นี่ไม่ใช่บุตร ถ้าเป็นบุตรจริงต้องยกบิดามารดาให้พ้นจากความร้อนใจ ที่เราบวชนี่เพื่อทดแทนคุณ สนองคุณบิดามารดาที่ได้ให้ชีวิตมา การสนองคุณบิดามารดา แทนบุญคุณบิดามารดานี่ไม่มีอะไรดีเท่าทำบิดามารดาให้สบายใจ จริงไม่จริง?”
(ผู้บวช) “จริงครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ดังนั้นเธอทำอะไรก็ตามใจ ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำได้ที่ให้บิดามารดาสบายใจ นั่นแหละคือแทนคุณ ทีนี่การแทนคุณสูงสุดคือทำให้บิดามารดาได้รับประโยชน์ในทางจิตใจ ให้บิดามารดาเป็นญาติในศาสนายิ่งขึ้น เมื่อเธอบวชก็บวชจริง เรียนจริงแล้วบิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น นั่นเขาใช้โวหารพูดแบบนี้ คือบิดามารดาจะชอบศาสนามากขึ้น ชอบธรรมะมากขึ้น มีศรัทธามากขึ้น มีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิมากขึ้น นั่นแหละคือบิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น
แต่ถ้าเธอบวชไม่จริงเรียนไม่จริง บวชเหลวไหล บิดามารดาก็ไม่ได้สิ่งเหล่านี้ ก็ได้ความผิดหวัง คือไม่ได้เป็นญาติในศาสนายิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะแทนคุณบิดามารดาก็ทำให้บิดามารดาได้รับความพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ ยินดีในศาสนายิ่งขึ้น เราก็แทนคุณบิดามารดา บิดามารดาพลอยได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์จากการบวชของเรา
ข้อที่ ๑ เราได้อานิสงส์เอง
ข้อที่ ๒ บิดามารดาเป็นต้น พลอยได้
ข้อที่ ๓ เพื่อนมนุษย์พลอยได้นี่เขาเรียกว่าบวชสืบอายุพระศาสนา ข้อนี้เราเชื่อแน่ว่าเธอไม่เคยคิดและไม่รู้ด้วย ว่าการบวชทุกคน ถ้าบวชจริง บวชจริงๆ มันสืบอายุพระศาสนา สืบอายุนี่หมายความว่ารับช่วง ทำกันต่อๆ มาอย่าให้สูญหายเสียได้ เธอบวช ๑ เดือน ก็สืบอายุให้ ๑ เดือน แล้วก็ยืดยื่นให้คนอื่นต่อไปอีก เธอบวช ๓ เดือน ถ้าเธอสึกก็เธอยื่นให้คนอื่นต่อไปอีก เธอบวชปีหนึ่ง สืบ ๑ ปี ยื่นให้คนอื่นต่อไปอีก บวช ๑๐ ปี ๒๐ ปี สืบตลอดเวลาที่บวช สึกแล้วก็ยื่นให้คนอื่นต่อไปอีก ให้ถือว่าบวชสืบอายุพระศาสนากันทุกคน แม้จะบวชกี่วันกี่เดือนกี่ปีก็ตามใจ
สืบอายุพระศาสนานั่นคือว่าทำให้ศาสนายังมีอยู่ อย่าให้สูญหายไป ศาสนายังมีนั่นเพราะมีคนเรียน ถ้ามีคนบวช แล้วมีคนเรียน แล้วมีคนปฏิบัติ ได้ผลของการปฏิบัติ แล้วสอนกันไปต่อๆ ไป นั่น บวชแล้วเรียน แล้วปฏิบัติได้ผลของการปฏิบัติ สอนกันไปต่อๆ ไป นั่นน่ะถือว่าพระศาสนายังมี ถ้าไม่มีคนเรียน ไม่มีคนบวช ปฏิบัติมันก็ไม่มี ศาสนาหมดแล้ว นี่เราก็ช่วยกันทำให้มี มีบวช มีเรียน มีปฏิบัติที่ได้ผล มีสอนต่อๆไป ศาสนาก็ยังมีอยู่ในโลก เธอก็จะขอบใจคนก่อนๆ ที่เขาบวชแล้วสืบอายุพระศาสนามาเรื่อยๆ จนเธอได้บวชนะ ถ้ามันหมด สูญหายไปเสียก่อนแล้ว เธอก็ไม่ได้บวชไม่ใช่หรือ? มันไม่มีอาจารย์ ไม่มีศาสนา ไม่มีอะไรเหลืออยู่เพื่อจะได้บวชกัน? ดังนั้นขอบใจคนที่แล้วๆ มาแต่หนหลัง เขาสืบมา สืบมา สืบมา จนมาถึงเรา จนเราได้บวช ศาสนายังมีอยู่ โลกนี้ก็ยังไม่ล่มจม คนทั้งโลกพลอยได้รับประโยชน์
ถ้าศาสนาไม่มีเพียงอย่างเดียวในโลกนี้ โลกนี้มันจะเป็นโลกร้ายกาจกว่าสัตว์ป่า เพราะคนมันมีปัญญา มีอำนาจอะไรยิ่งกว่าสัตว์ป่า พอมันไม่มีศาสนามันก็เบียดเบียนกันยิ่งกว่าสัตว์ป่า ไอ้โลกนี้มันก็หมด ฉิบหายหมด ทีนี้ศาสนามีอยู่ในโลก โลกก็เป็นโลกของมนุษย์ที่พอดูได้ มีความสุขกันอยู่ได้ ทุกคนได้รับประโยชน์เพราะมีศาสนาอยู่ในโลก ศาสนามีอยู่ในโลกเพราะเราช่วยกันสืบๆๆ สืบไว้ มีอานิสงส์พลอยได้แก่คนทั้งโลก เธอไม่เคยคิดใช่ไหม ว่าการบวชของเธอจะมีประโยชน์แก่คนทั้งโลก เพราะคิดไม่เห็นไม่ใช่หรือ ไม่รู้เรื่อง เธอมีปัญหาเฉพาะตัวเธอคนเดียวว่า ไม่ค่อยจะดีเสียแล้ว ต้องบวชสักทีแล้ว ก็เพื่อตัวคนเดียวทั้งนั้น แต่ความจริงถ้าบวชจริงเรียนจริง ได้ผลจริง มันทำให้โลกทั้งโลกมีของดีวิเศษคุ้มครองให้อยู่กันเป็นสุขทั้งโลก เราชอบข้อนี้ ถึงเสียสละทุกๆอย่างได้ เพื่อจะบวชอยู่ได้ เพื่อจะทำไปได้ เรื่อยๆ นี่อานิสงส์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายที่พลอยได้ แล้วศาสนาจะพลอยได้ คือไม่สูญหายไปเสีย อานิสงส์ ๓ อย่างนี้เธอมองเห็น เข้าใจแล้วนะ”
(ผู้บวช) “เข้าใจแล้วครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “อะไรบ้าง ๓ อย่าง?”
(ผู้บวช) “อันที่หนึ่ง เพื่อเป็นของตัวเราเอง อันที่สองทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ อันที่สามสืบศาสนาเรื่อยไปไม่ให้หมดสิ้น”
(ท่านพุทธทาสฯ) “มันเป็นอานิสงส์อย่างใหญ่หลวง ใช่ไม่ใช่”
(ผู้บวช) “ใช่ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ใหญ่หลวง สูงสุด ประเสริฐที่สุดนะ ใช่ไม่ใช่”
(ผู้บวช) “ใช่ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ดังนั้นการที่เราจะเสียสละความสนุกสนานบ้าๆ บอๆ สักที เพื่อประโยชน์ใหญ่หลวงนี่มันคุ้มหรือไม่คุ้มกันนะ”
(ผู้บวช) “คุ้มครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เราว่าเกินคุ้ม มันเกินกว่าจะคุ้ม ไม่ใช่แค่เพียงแต่คุ้มๆ ตัวเราคนเดียวละก็ไม่มีค่าอะไรนี่ เห็นแต่ความสนุกสนาน นี่ถ้าเราเสียสละได้ อดทนอยู่ได้ มันได้ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งโลก ทนแทนคุณพ่อแม่ เราก็ได้ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ดังนั้นเธอเห็นว่าจะต้องทนจนน้ำตาไหลก็ควรทนไม่ใช่หรือเพราะได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ประเสริฐ พิเศษเหลือเกิน นั่นแหละ อานิสสงส์ของการบวช อย่างน้อยเป็น ๓ ประเภท ตัวเราได้สิ่งที่ดีที่สุด บิดามารดาได้ความเป็นญาติในพระศาสนา ได้รับการทดแทนบุญคุณจากเรา เพื่อนมนุษย์พลอยได้อยู่เย็นเป็นสุขเพราะมีศาสนาอยู่ในโลก มันก็เลยคุ้มกันที่เราจะต้องอดกลั้นอดทนทุกอย่างทุกประการ แม้จะต้องทนจนน้ำตาไหล จะต้องสำรวมระวัง ไม่ปล่อยไปตามความสนุกสนานเหมือนเดิม นี่เขาเรียกว่าอานิสงส์ของการบวช
การบวชคืออะไรก็รู้แล้ว อานิสงส์ของการบวชก็รู้แล้ว ทีนี้ยังอีกสักข้อนึง บวชนี่มันจะบวชอยู่ได้โดยวิธีไหน เธอบวชนี่บวชอุทิศใคร”
(ผู้บวช) “พ่อแม่ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“อุทิศพ่อแม่ ก็ถูก ยิ่งกว่านั้นอีก อุทิศใคร อันนี้ไม่รู้ อุทิศพระศาสนานี่ถูก ถูกละ และถูกมาด้วย แต่ถ้าพูดให้ดีกว่านั้นก็พูดว่าบวชนี่อุทิศพระพุทธเจ้า ถ้าอุทิศพระพุทธเจ้าแล้วมันอุทิศพระธรรมอุทิศพระสงฆ์ไปในตัวเสร็จ ๓ อย่างนั้นมันแยกกันไม่ได้ เธอแค่ออกจากบ้านจากเรือนบวชนี่จิตใจมุ่งอุทิศต่อพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อสักครู่เธอพูดเองว่าเธอยังไม่รู้ เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ นี่ คำนี้นี่มันแปลว่า ข้าพเจ้าถือเอาถึงพระพุทธเจ้า แม้ปรินิพพานนานไปแล้ว ยังอยู่โดยพระคุณ นี่ ข้าพเจ้าขอบรรพชา ใคร่จะบรรพชาเพื่ออุทิศพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระพุทธ พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ ไม่ใช่ว่าเองนะ บวชนี่อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ว่าเราไม่เคยเรียนกันละเอียดละออว่ามีว่าไว้อย่างไร อธิบายให้ฟัง เรื่องบวชไม่ได้อุทิศ ไม่ได้อุทิศใคร ไม่ได้อุทิศสิ่งอื่นนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีจิตใจเจาะจงไปยังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้บวช เขาเรียกว่าบวชอุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มันอุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เรื่อยนะ การบวชนี่มันจะอยู่ได้ จะ เป็นไปได้
ถ้าล้มเหลวเมื่อไรมันก็เหลวเมื่อนั้นแหละ ถ้าไม่อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่มันก็ล้มเหลวเมื่อนั้น เราต้องทำอย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าทำความสะอาดสว่างสงบ พระธรรมก็ทำความสะอาดสว่างสงบ พระสงฆ์ก็ทำความสะอาดสว่างสงบ เหมือนกันหมด เราอุทิศความสะอาดสว่างสงบ แล้วก็นั่นแหละคืออุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สะอาดคือไม่มีชั่ว สว่างคือไม่โง่ สงบคือไม่เดือดร้อน เธอเคยมีความเดือดร้อนไหม?”
(ผู้บวช) “เคยครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“อืม เกี่ยวกับการเรียนก็ตาม เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติก็ตามนี่ มีอะไร เคยมีความเดือดร้อน เราถึงไม่เคยเห็นเราก็รู้ รุ่นๆ หนุ่มๆ ไม่มีความเดือดร้อน ด้วยเหตุหลายประการ ไอ้ความเดือดร้อนนี่ไปทำเข้านะ ไปทำให้เดือดร้อนนะมันโง่หรือฉลาด เธอว่า?”
(ผู้บวช) “โง่ครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เพราะความโง่จึงไปทำให้เดือดร้อน ให้ตัวเองเดือดร้อน เมื่อโง่แล้วมันก็ไม่สะอาด ไม่ต้องพูดแล้ว ถ้ามีความโง่แล้วมืดมัวเศร้าหมอง คือ ไม่สะอาด เวลานี้พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์นั้นมีความหมายเป็นความสะอาดถึงที่สุด สว่างคือฉลาดที่สุด สงบคือไม่มีความทุกข์เลย เยือกเย็นที่สุดนะ เราทำมุ่งหมายความสะอาดสว่างสงบ จึงเป็นความหมายของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ การบวชเป็นไปได้แหละ ถ้ายังไปอุทิศความสนุกสนาน บูชาความสนุกสนานอยู่เหมือนๆ เดิมแล้วมันก็ล้มละลายทันที นี่เป็นว่าเรามันสละไอ้สิ่งเหล่านั้น มีจิตใจหมายมั่นมุ่งตรงไปยังพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ มีความหมายถึงความสะอาดสว่างสงบ พยายามที่จะทำจิตใจให้สะอาดสว่างสงบเสมอไป ตลอดวันตลอดคืน บวชแล้วก็เป็นบวชทันที เอาแหละถ้าคนที่จะบวชรู้เรื่อง ๓ เรื่องนี้ก็ใช้ได้แหละ คนคิดจะบวชเข้ามานี่ถ้ารู้เรื่อง ๓ เรื่องนี้ก็ใช้ได้ ไม่ทำอย่างนกแก้วนกขุนทอง รู้ว่าบวชคืออะไร รู้ว่าบวชมีอานิสงส์อย่างไร ถ้ารู้ว่าบวชนี่มันจะเป็นไปได้โดยวิธีใด บวชคือปฏิบัติขูดเกลาความชั่ว เต็มไปด้วยความอดกลั้นอดทน เราบวชนี่ได้อานิสงส์ ๓ ประการ คือเราได้ พ่อแม่ได้ เพื่อนมนุษย์ได้ เราบวชนี่จะเป็นไปได้โดยวิธีที่เราอุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้จริงจัง ถวายชีวิตจิตใจแก่พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ทำความสะอาดสว่างสงบอยู่เสมอ นี่เธอเข้าใจนะ แล้วเราก็เชื่อว่าเธอเข้าใจเพราะเธอมันไม่โง่เกินไป ถ้าเราพูดนี่เธอต้องเข้าใจแน่ ถ้าเช่นนั้นมันก็พอจะบวชได้แหละถ้าเข้าใจ
ยังเหลือนิดเดียว เพราะว่าผู้บวชนี่มันต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ไอ้ผ้าเหลืองนี่เขาเรียกว่าผ้ากาสายะ ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ธงชาติที่ชักตามเสาหน้าโรงเรียนน่ะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ผ้าผืนนั้นเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แล้วผ้าเหล่านี้หลายๆ ผืนนี่เป็นสัญลักษณ์ของอะไรเธอว่า”
(ผู้บวช) “ศาสนา”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“ของศาสนา ในวงที่แคบเข้ามาเขาเรียกว่าสัญลักษณ์ของพระอรหันต์ ผ้าเหลืองนี่สัญลักษณ์ของพระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้ที่เลิศ ประเสริฐ หรือดีที่สุดของมนุษย์ เพราะมีความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด ผ้ากาสายะนี่คือสัญลักษณ์พระอรหันต์ คือมนุษย์ที่ดีที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ที่เธอจะมาห่มวันนี้เธอดีที่สุดแล้วยัง เธอเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดในมนุษย์ทั้งหลายหรือยัง”
(ผู้บวช) “ดีแล้ว”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ดีแล้ว เธอเชื่อว่าดีแล้ว ถ้าเธอเชื่อว่าดีแล้วนั่นก็ได้แหละ เธอเหมาะสมที่จะห่มผ้ากาสายะ แต่ทว่ายังไม่ดีจริง เพียงแต่เรานึกเอาเองนี่มันก็ยังไม่ได้ เพื่อให้มันแน่นอน เขาจะซักซ้อมถึงเรื่องที่ว่าเราสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะหรือยัง คนโง่ไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ จริงไม่จริง”
(ผู้บวช) “จริงครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “คนที่บ้ากามารมณ์ รักสวยรักงามนี่ไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ จริงไม่จริง”
(ผู้บวช) “จริงครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “ที่นี้เขากลัวว่าไอ้ความโง่หรือความรักสวยรักงามนี่จะยังไม่หมด ยังเหลือติดอยู่ในใจ เธอก็ไม่ได้บวช ชอบสวยชอบงาม แต่งเนื้อแต่งตัว จริงไม่จริง”
(ผู้บวช) “จริงครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“นั่นมันไม่ควรจะเหลืออยู่ในใจ ไอ้ความโง่ไปหลงความสวยความงามไม่ควรจะหลงอยู่ในใจ ไม่เหลืออยู่ในใจ ถ้าเหลือในใจไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ความเกเรนานาประการ ด้วยอำนาจความโง่นะ เกเรในการเล่าเรียน ในการประพฤติปฏิบัติ ในการอะไรต่างๆ ความโง่เหล่านั้นต้องไม่เหลืออยู่ในใจจึงจะสมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ เข้าใจ ถ้าไม่คิดสลัดไอ้ความชั่วความโง่ความอะไรออกไปให้หมดจากใจแล้วมันไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ทีนี้เธอปฏิญญาตัว เธอมีความสมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ ยืนยันปฏิญญา ก็หมายความว่าเธอไม่มีความโง่ความเลวความเหลวไหลความอันธพาลเหลืออยู่ในตัวนะ นั่นมันถึงจะสมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ทีนี้ในส่วนหยาบๆ นั่นเราก็จะเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่ในส่วนละเอียดนี่ยังสงสัย นั่นก็ต้องทำตามระเบียบ ให้ผู้ที่จะบวชเนี่ยพิจารณาถึงความโง่ของตัว หลงในเรื่องสวยเรื่องงาม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกันกับเพศตรงกันข้าม มันจะต้องพิจารณาว่าเราเคยโง่ อย่างน้อยเราเคยโง่ เคยหลงในความสวยความงาม ให้พิจารณาเสียว่าเราเคยหลง เคยหลงว่าสวยว่างาม คือ สัก ๕ เรื่องก็พอ คือเรื่องผมขนเล็บฟันหนัง เมื่อก่อนหวีผม หวีไม่หวี?”
(ผู้บวช) “หวีครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ) “แปรงผมไม่แปรง”
(ผู้บวช) “แปรงครับ”
(ท่านพุทธทาส ฯ)
“ตกแต่งด้วยเครื่องลูบทาเครื่องอบรูปอบกลิ่นอะไรต่ออะไรทุกอย่างนี่ มันอบทำให้ผมสวยผมงาม เธอว่าฉลาดแล้ว เพื่อให้คนเขาว่าดีว่าสวย ในทางศาสนาเขาถือว่ามันโง่ ไปทำสิ่งที่มันสกปรก ไปหลอกลวงคนอื่นให้เห็นว่าสวย หลอกลวงตัวเองให้เห็นว่าสวย หลอกลวงคนอื่นให้เห็นว่าสวย เป็นคนไม่จริง
ให้พิจารณาว่าผมนี่เป็นของที่ไม่ได้สวยงามเหมือนกับที่เราเคยเข้าใจ ผมนี่รูปร่างก็มันน่าเกลียด เป็นเส้นยาวๆ เล็กนี่ เขาเรียกว่ารูปร่างมันน่าเกลียด ถ้าเราเห็นเส้นผมน่ะเราจะรู้สึกน่าเกลียด ทีนี้สีสันวรรณะของมันคือสีดำ สีแดง สีหงอก สีอะไรก็ตามนี่ สีมันก็น่าเกลียด แล้วกลิ่นของมันตามธรรมชาติก็น่าเกลียด แล้วที่เกิดที่งอกบนหนังศีรษะ ที่เกิดที่งอกนั่นก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของมันอยู่บนศีรษะเพื่อรับฝุ่นละอองที่จะตกลงบนศีรษะนี่มันก็น่าเกลียด ความน่าเกลียดของผมอย่างน้อยมีอยู่ ๕ ประการ จริงไม่จริง”
(ผู้บวช) “จริงครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เธอมองให้เห็น แล้วเธอก็ว่าสวยว่างาม ตกแต่งหลอกตัวเอง หลอกผู้อื่น หลอกเพศตรงกันข้าม ล้วนแต่เป็นเรื่องหลอกทั้งหมด เป็นคนไม่ตรง เป็นคนโง่ ในความโง่ความไม่ตรงนี้จะต้องหมดเสียก่อนจึงจะนุ่งห่มผ้ากาสายะได้
นี่เรื่องขน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไอ้เรื่องขนนี่ก็ต้องพิจารณาอย่างเดียวกับผม รูปร่างน่าเกลียด สีสันน่าเกลียด กลิ่นน่าเกลียด ที่เกิดที่งอกน่าเกลียด หน้าที่การงานน่าเกลียด
ทีนี้เล็บ ปลายนิ้ว รูปร่างน่าเกลียด ลองปลดเล็บเอามาวางดูสักเล็บนึง จะขยะแขยงที่สุด นี่รูปร่างมันน่าเกลียด สีสันวรรณะของเล็บนี่มันก็น่าเกลียด กลิ่นของมันก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของมันก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับควักเกานี่มันก็น่าเกลียด แต่เราไม่ได้มองในข้อนี้ ไม่ใช่หรือ จะมองย้อมให้สวย จะทำให้สวย อะไรนี่คือความโง่และความหลอกลวง ต้องหมดไปจึงจะนุ่งห่มผ้ากาสายะได้
นี่ฟัน ฟันในปากนี่ เห็นได้ง่ายที่สุด รูปร่างของฟันแต่ละซี่ก็น่าเกลียด สีสันวรรณะเหมือนกระดูกนี่ก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของฟันนั้นก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับบดเคี้ยวอาหารนี่ก็น่าเกลียด ทีนี้เราจะทำให้สวยจะทำให้หอมไว้ยิ้มอวดกันนี่ คือความหลอกลวงหรือความโง่ ต้องหมดจึงจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ทีนี้ผิวหนัง ในที่สุดมาถึงผิวหนัง ไอ้นี่ลืมกันเก่ง ว่าผิวหนังนี่น่าเกลียด รูปร่างผิวหนังน่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นน่าเกลียด ที่เกิดน่าเกลียด หน้าที่การงานก็น่าเกลียด แต่เราก็อบแต่งขัดทา อบแต่งกันเป็นการใหญ่ นี่ทั้งโง่ทั้งหลอกลวง คนโง่บวชไม่ได้ คนโง่ห่มผ้ากาสายะไม่ได้ และสัมผัสทางผิวหนังนี่ทำให้เกิดกิเลสมาก เราต้องระวัง ต้องสำรวมต้องระวัง
นี่ เวลานี้เราเห็นความจริงของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเราเคยโง่ เคยหลง และเคยหลอกลวงกันในเรื่องนี้ ทีนี้จะมาพิจารณาให้เห็นว่ามันน่าเกลียด เมื่อของเราก็น่าเกลียด ของคนอื่นก็น่าเกลียด ของผู้หญิงก็น่าเกลียด ของผู้ชายก็น่าเกลียด นั่นแหละใจคอมันถึงจะอยู่ในลักษณะที่ว่าเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ นี่เธอพูดว่าเธอเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ เธอเข้าใจความเหมาะสมเสียให้เพียงพอ ว่าเธอมีจิตใจที่ไม่โง่และไม่หลอกลวงอีกต่อไปจึงจะสมควรนุ่งห่มผ้ากาสายะ เข้าใจไหม”
(ผู้บวช) “เข้าใจครับ”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“บวชนี่เพื่ออานิสงส์ คือตัวเองไม่เสียชาติเกิด ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ และตัวเองจะแทนคุณบิดามารดาอย่างสูงสุด ไม่เนรคุณ ตัวเองก็เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งโลก สืบศาสนาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งโลก ทั้งหมดนี้สำเร็จด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ไอ้จริงๆ นี่สำเร็จมาด้วยความอดทน เธอต้องอดทน ตามความหมายคำว่าบวช ได้เข้าใจพอสมควรแล้ว เป็นอันว่าเอาแน่ จะบวชแน่ ต้องการแน่ นั้นก็ได้แหละ ทีนี้ก็ทำพิธีรับกรรมฐาน ๕ ประการนี้ คุกเข่า เข้ามาใกล้ๆ ก้ม ก้มให้ลงมาอีกนิด เธอจงต้องใจรับสัจจะปัญจกรรมฐานโดยภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาของพระศาสนาโดยว่าตามเราดังต่อไปนี้
เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ นี่ก็ว่าตามลำดับ ทีนี้ก็ทวนลำดับ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา จำได้แล้วก็ลองพูดดู”
(ผู้บวช)
“เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา
เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา
เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เอาละ พอ นี่มันแสดงได้หลายอย่าง ที่เธอว่าตามลำดับและทวนลำดับ ถอยหน้าถอยหลังได้อย่างถูกต้อง ๓ รอบนี้ แสดงว่าเรามันมีใจคอปกติ อย่างน้อยมีใจคอปกติ ไม่ประหม่าไม่ฟั่นเฟือนไม่งกๆ เงิ่นๆ ไม่เคลิ้มๆ นี่ก็ดีแล้ว เธอก็จำได้แม่นยำด้วยภาษาบาลี แล้วก็เข้าใจได้ดีด้วยภาษาไทยก็เรียกว่าอธิบายให้ฟัง เธอก็มีความเหมาะสมอย่างน้อยในขั้นต้นที่จะทำการบรรพชา เรายังพอใจยินดีให้เธอบรรพชา ขอให้เธอได้รับประโยชน์จากการบรรพชา สมตามความมุ่งหมายของการบรรพชาในพุทธศาสนาทุกๆ ประการ
ทีนี้ก็ต้องไปผลัดผ้า ไปนุ่งผ้า ขอทางให้ไปทางนั้นที อย่ามานั่งขวางทาง เอ้าลง ลงข้างล่างแล้วเดินไปในห้องโน้น ไปนุ่งผ้า
ทำ มันเป็นประเพณีที่ดีที่ควรจะทำ รักษาไว้ ทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยการรินน้ำให้เล็กที่สุดนั่น เพราะจิตเป็นสมาธิด้วยการรินน้ำนั่นแหละ ทีนี้ก็อุทิศส่วนกุศลด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ว่าให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้ปู่ชวดย่าชวดอะไรก็ไปตามเรื่องเลย แล้วให้เต็มไปตามลำดับ ไปถึงญาติห่างๆ จนไม่ใช่ญาติจนเป็นศัตรูจนเป็นสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง นึกในใจแบบนั้นเวลารินน้ำ สอนแล้วยัง ให้รินน้ำให้เป็นสายเล็กจึงจะถูกต้อง อย่าเทพรวดพราดหรือว่าอย่าเป็นหยดติ๋งๆ เขาต้องการให้เป็นสายเล็ก ถ้าเป็นสายเล็กนี่มันต้องทำด้วยจิตที่แน่วแน่ มันจะรินน้ำให้เป็นสายเล็กได้ จะเป็นนิมิตเป็นอารมณ์ได้ ด้วยจิตชนิดนี้แหละ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เราถือว่าเป็นญาติใกล้ชิด แล้วก็ห่างออกไป ห่างออกไปจนไม่ใช่ญาติ จนเป็นศัตรูจะเป็นสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นสัตว์ทุกโลก ทุกโลกธาตุ ตอนพระว่า ยถา ทีนี้ก็พอว่า สัพพี แล้วก็เทน้ำหมดเลย เทน้ำหมดคือรับพร นั่งรับพร