แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้นับว่าเป็นธรรมเทศนาพิเศษ เหตุท่านทั้งหลายได้มาสู่สถานที่นี้ เพื่อจะประกอบกิจกรรมอันเป็นกุศลเป็นพิเศษนั่นเอง ท่านทั้งหลายเป็นพุทธบริษัท ควรจะทำอะไรให้ถูกต้องตามความหมายของความเป็นพุทธบริษัท คำว่าพุทธะ นั้นก็หมายความว่า เป็นผู้รู้อย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นผู้ตื่น และเป็นผู้เบิกบาน ถ้าผู้ใดไม่ได้ประพฤติตนให้มีผลเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้ว ก็ยังหาชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทไม่ อย่างดีก็ยังมีแต่เป็นพุทธบริษัทตามธรรมเนียม เป็นพุทธบริษัทพอเป็นพิธี อย่างนี้มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร หรือถ้าได้ก็ได้พอเป็นพิธีหรือตามธรรมเนียมเท่านั้นเอง ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงได้ตั้งอกตั้งใจในการที่จะ ปรับปรุงแก้ไขความเป็นพุทธบริษัทของตน ให้เต็มตามความหมายของคำ ๆ นั้น
พุทธบริษัทในส่วนที่แปลว่า บริษัทแห่งบุคคลผู้รู้ นี้ก็หมายถึง ผู้ที่ หมายถึงการรู้สิ่งที่ควรจะรู้ คนโดยมากก็รู้แต่ที่จะเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นสัญชาตญาณติดมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็รู้จักเห็นแก่ตัว เพราะมันเป็นความรู้ที่เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสิ่งที่เรียกว่าสัตว์มีชีวิต เดี๋ยวนี้คนบางคนก็มีความรู้แต่เพียงเห็นแก่ตัว ที่ทำอะไรนี้ก็ทำเพื่อตัว แม้แต่จะทำบุญ ก็ทำบุญเพื่อตัว ถ้าไม่ได้ประโยชน์แก่ตัวแล้วก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้น เรียกว่ายังไม่เป็นคนรู้สิ่งที่ควรจะรู้ให้มากออกไป รู้จักแต่ความเห็นแก่ตัว นี่ขอให้แก้ไขในส่วนนี้ให้ถูกต้องให้ดียิ่งขึ้นไป คือรู้จักสิ่งที่ควรรู้ และก็รู้อะไรที่มากไปยิ่งกว่าการเห็นแก่ตัว ทำบุญเห็นแก่ตัวนั้น ก็หมายความว่า ทำอะไรก็เพื่อจะให้ได้แก่ตัวเอง แล้วก็ให้ได้มากไปกว่าที่ลงทุนมากมาย หลายเท่า หรือหลายสิบเท่า หลายร้อยเท่าก็ได้ เหมือนกับว่าทำบุญบาทหนึ่ง จะได้ตายไปเกิดในสวรรค์ได้วิมาน อย่างนี้มันก็ได้กำไรมหาศาลมากมาย หลายร้อยหลายพันเท่า จิตที่เห็นแก่ตัวมันก็ทำอย่างนี้ มันก็คิดอย่างนี้ ดังนั้นการทำบุญชนิดนี้มันก็เป็นการทำด้วยความเห็นแก่ตัว มันไม่ล้างบาป เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นบุญ เพราะว่าทำแล้วมันยิ่งโลภมากขึ้น มันไม่ได้ล้างความโลภ ถ้าจะให้เป็นบุญจริง ๆ มันก็ต้องล้างบาป หรือล้างความโลภ เพราะคำว่าบุญนี้ แปลว่าเครื่องล้างบาป ถ้าทำบุญบาทหนึ่งได้วิมานหลังหนึ่ง มันก็เพิ่มความโลภมากขึ้นหลายร้อยหลายพันเท่า ก็ไปคิดเอาเองว่ามันได้บุญที่ตรงไหน คือมันล้างบาปกันที่ตรงไหน หรือมันล้างความโลภกันที่ตรงไหน ถ้ายังไม่เห็นว่ามันจะล้างบาปที่ตรงไหน ก็จงไปทำเสียใหม่ให้มันล้างบาปได้จริง ๆ
ถ้าไม่เข้าใจก็จะแนะพอเป็นตัวอย่างว่า จงทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น เราไม่เอาเลย อย่างว่าจะทำบุญบำรุงพระศาสนา ก็ให้พระศาสนานี้อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้ายังมีคนทำบุญชนิดนี้อยู่แล้ว เชื่อว่าศาสนาจะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะมีคนทำบุญเพื่อบำรุงศาสนา เพื่อบำรุงศาสนาไว้ ก็ได้ประโยชน์แก่คนอื่นทันทีมากมาย ทั่วไปทั้งหมด ที่เขาจะได้รับประโยชน์จากศาสนา แล้วก็ไม่เฉพาะแต่วันนี้ ปีนี้ มันก็อยู่ไปตลอดกาล หลายร้อยปี หลายพันปี ก็ได้ ถ้ามีความรู้อย่างนี้ทำบุญก็เป็นบุญชนิดที่ล้างบาป คือล้างความเห็นแก่ตัวหรือความโลภ ความโลภนี้เป็นสิ่งที่ต้องชะล้าง เพราะว่ามันเป็นบาป เป็นกิเลส เป็นมลทิน มีคำกล่าวไว้ว่า อติโลโภ หิ ปาปโก คนโลภเกินนั้น เป็นคนบาป คำว่า บาป แปลว่าลามก หรือชั่วช้า หรืออื่น ๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน อติโลโภ แปลว่า คนโลภเกิน ปาปโก นี่เป็นคนบาป คนก็มักจะมองไอ้คำว่า โลภ โลภ นี้ไปแต่ในทางอื่น คือไม่มองมายังตัวเองที่กำลังโลภ และโลภเกิน ดังนั้นขอให้คิดดูว่า ลงทุนบาทหนึ่งจะเอาสวรรค์ วิมานอย่างนี้ จะเรียกว่า โลภ หรือไม่โลภ จะเรียกว่า โลภเกิน หรือไม่โลภเกิน ก็ไปคิดดูเองก็แล้วกัน ถ้ามันเพิ่มความโลภ แล้วมันก็ไม่ล้างบาป ไม่เรียกว่าเป็น ผู้รู้ ในความหมายของคำว่าพุทธะ ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ คือมันทำไม่ถูก มันทำไม่ล้างบาป มันก็คือทำไม่ถูก เพราะมีความเห็นแก่ตัวติดมาแต่เดิมมากมายนัก ไม่ทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้าจะให้เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว ก็ต้องรู้จักเจียดออกไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เรียกว่า เจียดออกไป ไม่ใช่ดึงเข้ามา ไม่ใช่ลากเข้ามา ไม่ใช่รวบรวมเอาเข้ามา มีแต่ว่ามันต้องเจียดออกไป บริจาคออกไปเท่าไรมันก็จะละความโลภได้เท่านั้น ถ้าบริจาคกันจริง ๆ ถ้าบริจาคหลอกลวง มันก็เป็นเรื่องลงทุนค้า เหมือนที่เราเห็น ๆ กันอยู่ มีคนให้นั่น ให้นี่แก่กัน หรือบางทีก็ให้มากมายเป็นร้อยล้าน พันล้าน ประเทศนั้นให้แก่ประเทศนี้ เป็นร้อยล้าน พันล้าน อย่างนี้มันไม่ใช่ทำบุญ มันเป็นการลงทุนเพื่อการค้า เพื่อหากำไร อะไรต่อไปอย่างลึกซึ้ง ถ้าเป็นการทำบุญมันก็ต้องไม่ใช่เพื่ออย่างนั้น แต่เพื่อให้ความโลภของตัวนี้หมดไป ความโลภหมดไป ความอยากก็หมดไป เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าความโลภหมดไปแล้ว ความอยากหมดไปแล้ว ความรักก็หมดไปด้วย กิเลสที่เป็นเครือเดียวกัน ความโลภ ความอยาก ความกำหนัดเหล่านี้ มันเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าออกไปเสียได้เท่าไร ความโกรธ ความหลง ก็จะพลอยหมดไปเท่านั้นด้วย ยังมีกิเลสอื่น ๆ อีก ก็จะพลอยหมดตาม ๆ กันไปด้วย
ที่เราโกรธนั้นเพราะไม่ได้อย่างใจ เมื่อเราโลภอยากได้มาก เมื่อไม่ได้อย่างใจก็โกรธ หรือเมื่อมีใครมาขัดขวางการได้ของเรา เราก็โกรธ ถ้าเราไม่มีความอยากหรืออยากได้ ก็ไม่มีทางที่จะโกรธ คือไม่มีทางที่ใครจะมาทำขัดใจได้ ความรักก็เหมือนกัน เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวรัก มันก็โกรธ ความกลัวก็รวมอยู่ในนี้ ถ้าเราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่อยากอะไรมันก็ไม่กลัว ไม่กลัวแม้แต่ว่าจะต้องตายไป มันก็ไม่กลัว มันก็เลยไม่มีความกลัว นี่จะต้องถอนความอยาก ความโลภ ความรัก ความยึดมั่นถือมั่นนี้เสีย จึงจะไม่มีกิเลสอย่างอื่น ที่จะเกิดตามมาเพราะเหตุนั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนรู้ มีความรู้อย่างถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านรู้และสอนไว้ ใครรู้อย่างนี้ หรือปฏิบัติอย่างความรู้นี้ ก็ชื่อว่าผู้รู้และเป็นพุทธบริษัท
ทีนี้ความหมายที่สอง พุทธะ นี้แปลว่า ผู้ตื่น มันก็เนื่องมาจากความรู้นั่นเอง มันจึงมีลักษณะเหมือนกับผู้ตื่น ตื่นในที่นี้ หมายถึง ตื่นจากความหลับ กิเลสทั้งหลายโดยเฉพาะโมหะนี้เปรียบเหมือนกับความหลับ ยังหลับก็หมายความว่า ไม่ประสีประสา ไม่รู้เรื่องอะไรเสียเลย ทั้งที่มันเดินได้หรือมานั่งอยู่ที่นี่ บางคนก็หลับอยู่ก็มี หรือไม่เข้าใจว่าทำทำไม จะมาฟังให้รู้อะไร ไปสาละวนเรื่องจะเอาสตางค์ใส่บาตรเสียก็มี อย่างนี้มันก็ไม่ได้ยิน มันก็ไม่ได้เข้าใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าคนหลับ มันหลับเดินได้ เพราะคำว่าหลับ ในที่นี้หมายถึง หลับในทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ คือมันมีอาการเหมือนกับคนที่หลับอยู่ ไม่รู้ว่าความทุกข์เกิดมาจากอะไร จะดับความทุกข์จะทำอย่างไร หรือว่าที่ทำบุญนี้ ทำเพื่อประโยชน์อะไร ก็ไม่เข้าใจ นี้ความไม่รู้นี้มันยาวเกินไป นานเกินไป จึงเรียกว่าเหมือนกับคนหลับ คนหลับในทางร่างกาย ก็ไปดูเถอะว่ามันก็ไม่รู้อะไร เพราะมันกำลังหลับ จนกว่ามันจะตื่นขึ้นมา จึงจะลุกเดินไปนั่นมานี่ได้ หลับในทางจิตใจนี้ ก็อย่างเดียวกันอีก มันไม่รู้อะไรหมด มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าใครยังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันก็คือคนหลับ ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครรู้บ้างว่าตัวเองเกิดมาทำไม ถ้าไม่รู้มันก็คนหลับ รู้บ้างงู ๆ ปลา ๆ มันก็เป็นคนหลับ ๆ ตื่น ๆ ถ้ามันรู้ผิด ๆ มันก็เหมือนคนละเมอ
ฉะนั้นขอให้สนใจเป็นพิเศษที่จะต้องรู้เสียว่าเรานี้เกิดมาทำไม แม้ว่าเราจะไม่อยากเกิดมา เราไม่ได้เกิดมาเอง ทีแรกนั้นเราไม่ได้ต้องการจะเกิดมา แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องรับผิดชอบ มันหลีกไม่พ้น เพราะมันเกิดมาแล้ว มันต้องทำลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถูกต้องตามความมุ่งหมายของธรรมชาติ หรือของธรรมะก็ตามใจ ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ก็ควรจะทำเพื่อให้ได้สิ่งนั้น เมื่อถามว่าเกิดมาทำไม คำตอบที่ง่ายที่สุด ไม่มีทางที่จะผิดได้อย่างนั้นก็อยากจะตอบแทนเสียว่า เกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เกิดมาให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี้ขอให้จำกันไว้ให้แม่นยำทุกคน เสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วก็ค่อยดูต่อไปว่าอะไรเล่าที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี้มันก็ต่างกันเป็นชั้น ๆ แล้วแต่ว่าคนรู้หรือคนไม่รู้ คนหลับมากหรือคนหลับน้อย ไอ้พวกงกเงิน มันก็คิดว่าเกิดมาเพื่อหาเงิน มันก็หาเงินมาก ๆ ๆ จนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ก็ยังคิดว่าจะหาเงินอยู่นั่นเอง เพราะเขาเกิดมาเพื่อหาเงิน เกิดมาเพื่อรวย บางคนก็จะเกิดมาเพื่ออย่างอื่นก็ได้ เกิดมาเพื่อสวยก็ได้ เกิดมาเพื่อมีอำนาจวาสนาอะไรก็ได้ มันก็ขวนขวายกันไปตามนั้น เพราะเขาเข้าใจว่านั่น คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ยิ่งไปถามไอ้ลูกเด็ก ๆ เล็ก ๆ แล้วมันก็จะต้องรู้สึกว่า เกิดมาเพื่อกิน หรือเกิดมาเพื่อเล่น ง่วงเข้าก็นอน มันก็กิน ก็เล่น แล้วก็นอน มันก็กิน ก็เล่น แล้วก็นอน นี่ลูกเด็ก ๆ เขาเป็นอย่างนี้ จนกว่ามันจะรู้จักศาสนา เงิน ศาสนานั่นนี่ เป็นเด็กที่โตขึ้นมา เป็นคนวัยรุ่นขึ้นมา เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ในความรู้สึกที่ว่ามันเกิดมาทำไม
ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ ที่อายุตั้งหลายสิบปีก็มีอยู่มาก ลองถามตัวเองว่า เกิดมาทำไม เดี๋ยวนี่ก็อายุมากจวนจะแตกดับอยู่แล้ว ต้องรู้ว่าเกิดมาทำไมแล้วก็ทำให้มันได้เสีย หรือให้มันจวน ๆ จะได้ก็ยังดีกว่า ถ้าเป็นพุทธบริษัทเมื่อถูกถามว่า เกิดมาทำไม เขาจะตอบว่าอย่างไรก็ลองคิดดู พุทธบริษัทไม่งกเงิน คงจะไม่ตอบว่า เกิดมาเพื่อหาเงินเป็นแน่ ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้เกี่ยวกับเงิน ไม่ต้องใช้เงิน เพียงแต่ว่า มันไม่งกเงิน มันไม่บูชาเงิน มันมีทรัพย์สมบัติเพียงให้ชีวิตนี้มันรอดอยู่ได้ ครั้นชีวิตนี้รอดอยู่ได้แล้ว มันต้องการอะไร นั่นจึงจะไปทำที่นั่น เมื่อสบายดีแล้ว มีเงินใช้แล้ว มีอะไรในทางเนื้อหนัง ร่างกายนี้เสร็จแล้ว จะทำอะไรต่อไป พุทธบริษัทก็ต้องหมุนไปในทางที่ทำให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบานอีกนั่นแหละ ตามความหมายของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทจึงพยายามศึกษาทั้งข้างนอกและทั้งข้างใน และก็ปฏิบัติให้สูงขึ้นไปจนได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ศึกษาข้างนอกก็เช่นการอ่าน การฟัง เช่นนั่งฟังอยู่ที่นี่ ก็เรียกศึกษาข้างนอก ต่อเมื่อเอาไปคิดนึก พิจารณา น้อมเข้าไปข้างใน จึงจะเรียกว่าศึกษาข้างใน ครั้นรู้แจ้งในเรื่องราวของความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้นแล้ว ก็พยายามปฏิบัติเพื่อจะละความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้นเสีย ครั้นละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว มันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไรมันก็จะรู้ได้เฉพาะคนที่ละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้วนั่นเอง หรือว่าจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ชั่วขณะ ๆ ก็ยังดี มันก็ยังพอรู้ว่า เมื่อไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง นั้นมันเป็นอย่างไร ฉะนั้นเวลาใดที่เราไม่มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็รีบศึกษา สังเกตจิตใจของตนให้มาก ๆ ให้พบกันกับรสชาติของความว่างจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตรงนี้ก็อยากจะอธิบายกันเสียเลยว่า ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ ซึ่งเขาเรียกกันว่า สวนโมกข์ คนที่ยังหลับอยู่ก็มา เดิน ยืนอยู่แถวนี้ คือคนที่ไม่รู้ว่าสวนโมกข์นั้นคืออะไร มันก็ไม่ถึงสวนโมกข์โดยแท้จริง แม้จะมานั่งอยู่ที่นี่แล้ว มันก็ยังไม่ถึงสวนโมกข์โดยแท้จริง เพราะว่าจิตใจของคนนั้นมันไม่โมกข์ คำว่า โมกข์ นี้แปลว่า เกลี้ยง ถ้าจิตใจมันยังไม่เกลี้ยง มันก็ยังไม่โมกข์ ไอ้คนนั้นก็เลยไม่รู้ว่า โมกข์นั้นเป็นอย่างไร ถ้าใจของใครมันเกลี้ยง แม้เกลี้ยงชั่วขณะ เกลี้ยงจากความโลภ เกลี้ยงจากความโกรธ เกลี้ยงจากความหลงไปชั่วขณะนั้นก็ยังเรียกว่า โมกข์ ได้ชั่วขณะ ทั้งอาจจะรู้ได้ว่ารสชาติของ ความเกลี้ยงนั้นเป็นอย่างไร เหมือนเราเคยอาบน้ำชำระกายให้เกลี้ยงจากเหงื่อไคล แล้วเราก็รู้สึกสบายอย่างไร เราก็รู้อยู่ เพราะตัวเองอาบน้ำให้ผิว เนื้อตัวมันเกลี้ยง แล้วสบายอย่างไรก็รู้อยู่ ทางจิตใจก็ลองทำให้เป็นอย่างนั้นบ้าง บางเวลาก็ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ จิตใจก็เกลี้ยง เลยรู้รสของความเกลี้ยงทางจิตใจนั้นว่าเป็นอย่างไร เรารวมคำพูดเอาไว้สอง สามคำสำหรับช่วยความจำง่าย ๆ ว่าความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ถ้าจิตใจมันเกลี้ยงก็มีลักษณะ สะอาด บริสุทธิ์ ถ้ามีสว่างไสว ไม่มีไม่มืดมัว แล้วก็สงบ เย็น อย่างนี้เรียกว่าเป็นผลของการที่จิตใจมันเกลี้ยง ถ้าใครเคยมีจิตใจอย่างนี้ ย่อมรู้ได้ด้วยตนเองว่ามันมีรสชาติอย่างไร ถ้าใครไม่มีเคยมีจิตใจที่เกลี้ยงอย่างนี้เสียเลยมันก็รู้ไม่ได้ สมมติเหมือนอย่างว่าคน ๆหนึ่ง มันไม่เคยกินเกลือ หรือไม่เคยกินน้ำตาลเสียเลยเป็นต้น แม้ใครจะพูดว่าหวาน หรือเค็มนี้มันก็รู้ไม่ได้ เพราะคนนั้นมันไม่เคยชิมเกลือหรือน้ำตาลเสียเลย แต่ถ้ามันเคยชิมเกลือ ชิมน้ำตาลมาแล้ว พอพูดว่าหวาน ว่าเค็ม อย่างนี้มันก็รู้ได้ รู้สึกได้ เข้าใจได้
คำว่า ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าสามารถทำให้จิตใจมันสะอาด สว่าง สงบ ลงไปได้แม้ชั่วขณะ มันก็ยังได้ชิม แม้ว่าไม่ได้รับประทานเต็มที่ มันก็ยังได้ชิม ชิมมันก็ยังรู้รส เหมือนอย่างว่าชิมแกงสักจิบหนึ่งเท่านั้นมันก็ยังรู้ว่าแกงนั้นเป็นอย่างไร คนเราถ้าเป็นพุทธบริษัทจริง ไม่เป็นกันแต่ปาก แต่ธรรมเนียมแล้ว ก็ควรจะได้ชิมรสของพระนิพพานกันบ้าง เหมือนอย่างว่าชิมแกงชิมอะไรสักจิบหนึ่ง ชั่วปลายช้อน ก็ยังดีกว่าที่ไม่รู้จักเอาเสียเลย ขอให้พยายามให้มีจิตใจเกลี้ยง บางขณะ บางเวลา เขาก็จะรู้ว่ามันมีรสชาติอย่างไร นั่งอยู่ที่ตรงนี้มันเกลี้ยงยาก เพราะมันมีอะไรที่ผิดธรรมชาติมาก ถ้าไปนั่งกันแถวโคนไม้ ทางหินโค้ง ทางโน้น ตามธรรมชาติแล้วใจมันเกลี้ยงง่ายกว่า มันมีต้นไม้ ก้อนดิน ก้อนหินที่ช่วยให้จิตใจมันเกลี้ยงได้ง่ายกว่า เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ นี่วันหลัง เวลาหลังก็ลองดู
ทุกคนอย่าลืมว่า พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ถ้าใครไม่รู้เรื่องนี้ต้องแปลว่า ยังเต็มทีมาก ยังไม่สนใจเรื่องของพระพุทธเจ้าเสียเลย ว่าพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดินนี่ ที่สวนป่าแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า สวนลุมพินี แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้กลางดิน บางคนก็ยังนึกไม่ออก เพราะไม่สนใจเรื่องของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่ริมตลิ่ง ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งที่เรียกว่า แม่น้ำเนรัญชรา ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งที่ต่อมาเขาเรียกกันว่า ต้นโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านนิพพาน ก็กลางดิน ที่สวนป่าแห่งหนึ่งที่โคนต้นไม้สาละสองต้น ท่านเกิดกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านนิพพานกลางดิน นี่เรามันไม่ต้องการอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านเป็นอย่างนั้น ส่วนมากท่านก็อยู่กลางดิน เพราะว่ากุฏิของท่านนั้นเป็นพื้นดิน ไปดูที่ประเทศอินเดียจะรู้ได้ ว่ากุฏิที่พระพุทธเจ้าท่านประทับนั่นก็เป็นพื้นดิน โดยมากท่านก็อยู่กลางดิน พระธรรมคำสอนของท่านเป็นอันมาก สอนพระสาวกนั้นก็ที่กลางดิน ตามพื้นดิน เดินทางอยู่ก็สอนได้ นี่ก็หมายความว่าอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน ตายกลางดิน ไอ้เรามันอยากอยู่วิมาน ทำบุญสักบาทหนึ่งก็อยากได้วิมาน มันไม่อยากอยู่กลางดิน ใครคิดอย่างนี้ก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่า มันจะต่างกันอย่างไร ไม่เคยมีพระพุทธเจ้าองค์ไหนที่ตรัสรู้บนวิมาน แล้วก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนของศาสนาไหน ที่ตรัสรู้บนตึก บนวิมาน ศาสดาทุกศาสนา ก็ตรัสรู้ในป่า ในถ้ำ กลางดินทั้งนั้น พระเยซู พระโมหะหมัด อะไรก็ตาม เพราะว่าธรรมชาติมันช่วย ธรรมชาติช่วยให้ว่าง จากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู ถ้าไปอยู่ที่บ้านที่เรือน กับเงิน กับทอง กับของ ไอ้ความคิดก็ปรุงแต่งไปในทางเป็นตัวกู ของกู พอมานั่งกลางดินที่โคนไม้ในป่านี่มันไม่มีอะไรกระตุ้นให้คิดไปทางนั้น มันก็ว่าง ว่างจากตัวกูของกูไปพักหนึ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดไม่ได้ ไปพักหนึ่ง ตอนนี้เรียกว่าเกลี้ยง ถ้าใครมีจิตใจอย่างนี้ เมื่อมาที่นี่ ก็จะเรียกว่าคนนั้นมาถึงสวนโมกข์ ถ้ามาถึงที่นี่แล้วจิตใจยังไม่รู้จักเกลี้ยง อย่างนี้แม้แต่สักแวบหนึ่ง ก็ต้องถือว่าคนนั้นมาไม่ถึงสวนโมกข์ โดยจิตใจไม่ถึงสวนโมกข์ โดยร่างกายนั้นมันก็แล้วแต่จะเรียก ก็เรียกว่าถึงก็ได้ มานั่ง มานอน มาเดิน มายืนอยู่ในสวนโมกข์แต่จิตใจนั้นไม่ถึง อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ถึงนั่นแหละ ถึงแต่เปลือก หรือมันถึงแต่ข้างนอก จึงขอร้องว่าในระหว่างที่พักผ่อนอยู่ที่นี่ นั่ง เดิน ยืน นอน อยู่ที่นี่ จงพยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติ ต้นไม้ ก้อนหิน มด แมลง ดินทราย อะไรก็ตาม ก็อย่าให้จิตใจที่ว่า ตัวกู ของกูนั่น อย่าให้มันเกิดขึ้นมาได้เหมือนที่อยู่ที่บ้าน อย่างนี้ก็จะเรียกว่า มีจิตใจเกลี้ยง แล้วก็ถึงสวนโมกข์ คำว่า โมกข์ นี่ก็เป็นชื่อของพระนิพพาน คำว่าโมกข์นี้เป็นชื่อของสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างที่พระบาลีมีอยู่ว่า สัมพุทโธ โมกขะเทสะโก พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็น โมกขะเทสะโก แปลว่า เป็นผู้แสดง ซึ่ง โมกข โมกข ก็แปลว่าเกลี้ยง เกลี้ยงก็ว่างไปจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงให้สัตว์ทั้งหลายรู้จัก หรือเข้าถึง สิ่งที่เรียกว่า โมกข ซึ่งแปลว่า เกลี้ยง หรือแปลอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า พ้น หลุดพ้น เกลี้ยงหรือหลุดพ้น ความหมายอย่างเดียวกัน ถ้ามีอะไรมาติด มาบังอยู่มันก็เรียกว่าไม่เกลี้ยง อย่างเมื่อเป็นจันทรคราส จันทรคราส ราหูจับพระจันทร์อย่างนี้ ตามสมมติเรียกกัน ถ้าเงาดำนั้นหมดไป เขาก็เรียกโมกข์เหมือนกัน พระจันทร์โมกข์ คือ พระจันทร์หลุดพ้นจากราหู นี่ดูความหมายของคำว่า โมกข์ให้ดี ๆ มันแปลว่า เกลี้ยงก็ได้ แปลว่าหลุดพ้นก็ได้ นี่จิตใจของเรา ถ้ามีกิเลสเข้าจับอยู่ก็เหมือนราหูมันจับอยู่ อาจจะจับอยู่มากเกินไปเป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายสิบปีก็ได้ ไอ้เวลาที่โมกข์ หรือเกลี้ยงนั้นมันมีน้อยมาก จึงทำให้บางคนไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า โมกข์ ไม่รู้จักประโยชน์ ของสิ่งที่เรียกว่า โมกข์ ดังนั้นคนชนิดนั้นมันจึงไม่รู้ว่ามันเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าคนเราเกิดมาทำไม ถ้ามันรู้ มันก็ต้องรู้ว่าคนเราเกิดมาเพื่อโมกข์ เกิดมาเพื่อมีจิตใจเกลี้ยง ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย หลุดพ้นจากกิเลส นั้นเรียกว่านิพพานก็ได้ จึงควรจะถือว่า เกิดมาเพื่อโมกข์ เพื่อนิพพาน
นิพพานแปลว่าอะไร แปลว่า เย็น เย็นเพราะไม่มีร้อน ร้อนนั้นร้อนเพราะกิเลส เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่ร้อน เมื่อไม่ร้อน มันก็เย็น คำว่านิพพานนี้ เป็นคำชาวบ้านมันก็แปลว่า เย็น คือของร้อน ๆ มันดับลงไป มันเย็นลงไป ก็เรียกว่านิพพาน ทีแรกก็เป็นคำชาวบ้านพูด คนที่อยู่ในครัวก็พูดเป็น เช่นไฟมันดับ ก็เรียกไฟมันนิพพาน ข้าวมันร้อนยังกินไม่ได้ต้องรอให้มันนิพพานเสียก่อนจึงพอจะกินได้ นี่คำว่า นิพพานแปลว่า เย็น อย่างนี้เขาพูดกันมาแต่เดิม พอเป็นเรื่องทางจิตทางใจ ก็เอาคำว่านิพพานนี้มาใช้อีก สิ่งใดระงับความร้อนของกิเลสได้ก็เรียกว่านิพพานกันทั้งนั้น ถ้าระงับดับร้อนได้จริง ก็เรียกนิพพานจริง ถ้าดับร้อนได้ชั่วครู่ ชั่วยาม ก็เรียกว่านิพพานชั่วคราว ชั่วครู่ ชั่วยาม เช่นเข้าฌาน มีสมาบัติก็เย็นอยู่ชั่วเวลาเข้าฌาน หรือสมาบัติ ทั้งเข้าฌาน เข้าสมาบัตินี้ก็เป็นนิพพานชั่วคราวชั่วขณะ กิเลสยังเหลืออยู่ มันกลับร้อนใหม่อีก ต้องทำอย่างอื่นที่ดีกว่านั้น คือทำให้กิเลสหมดไป แล้วมันก็เย็นจริง ๆ แม้ว่ากิเลสยังจะไม่หมดไป โดยแท้จริง มันระงับไปชั่วคราว เราก็ยังพบความเย็นนั้นได้เหมือนกัน คือเมื่อไฟมันไม่ลุกขึ้นมา มันก็ไม่ร้อน มันก็รู้ความเย็นได้เหมือนกัน แต่มันชั่วขณะ มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่รู้เรื่องความเย็นเสียเลย ให้พุทธบริษัททั้งหลาย มีความรู้ มีความตื่นจากหลับชนิดนี้แล้วก็มีความเบิกบาน สดใส แจ่มใส เยือกเย็น เพราะไม่ร้อนนั่นเอง
ดังนั้นคนที่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ต้องเป็นคนที่ไม่ร้อนคือไม่ทุกข์ เพราะมีความสะอาดในจิตใจ มีความสว่างไสวในจิตใจ มีความสงบเย็นในจิตใจ นี่ก็อาจจะพูดได้เลยว่าคนเรานี่เกิดมาเพื่อให้ได้พบกันกับความสะอาด ความสว่าง ความสงบนั่นเอง ได้พบสักทีหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าที่จะไม่เคยพบกันกับความสะอาด สว่าง สงบ ดังนั้นอย่าไปมัวงกเงิน อย่าไปมัวงกอำนาจ วาสนา ชื่อเสียง เกียรติยศ อย่าไม่มัวงกกับมัน ก็มีมันได้ตามสมควรแก่การที่จะต้องมี เอาไว้เป็นเครื่องมือ เอาไว้ใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก หรือว่าเอาไว้ใช้เพื่อจะหล่อเลี้ยงชีวิตนี้อย่าให้มันแตกดับลงไป มีเงิน มีอำนาจ วาสนา ชื่อเสียง มีเกียรติยศ นี้มันก็เป็นอยู่ง่าย เป็นอยู่สะดวก ก็ดีเหมือนกัน แต่อย่าไปบูชามันเพราะว่า เราเกิดมาเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ พอไปบูชาสิ่งเหล่านั้น บูชาเงิน บูชาเกียรติยศ อำนาจ วาสนา เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สามอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าไม่เย็น หรือไม่สะอาด หรือไม่สว่าง หรือไม่สงบ เพราะมันโง่ ไปบูชาสิ่งเหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็เกี่ยวข้องบ้างตามสมควร แต่ไม่ใช่บูชาหรือหลงใหล เรื่องกินก็พออยู่ พอให้มันมีชีวิตอยู่ได้ เรื่องเกียรติ นี่ถ้าไปทำความดีเข้ามันก็มีมาเองแหละไม่ต้องไปงก ไม่ต้องไปบูชา เอาจิตใจให้ว่าง ให้เกลี้ยง จากสิ่งเหล่านี้ มีความสะอาด สว่าง สงบ ก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมา เรียกว่าเราไม่เสียทีที่เกิดมา เพราะว่าเกิดมาทีหนึ่งก็ได้พบกันกับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องที่เย็น แสนที่จะเย็น เพราะว่าจิตใจไม่มีกิเลสซึ่งเป็นไฟเผาให้ร้อน เรียกง่าย ๆ ก็ว่ามีความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ฉะนั้นขอให้ช่วยจำคำ ๓ คำนี้ไว้ให้ดี ๆ ว่าถ้าเกิดมาแล้วยังไม่ได้สิ่งทั้ง ๓ นี้ ก็ต้องเรียกว่ายังไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ และถ้าไม่รู้เรื่องนี้เสียเลย ก็ต้องถือว่าเป็นคนเสียชาติเกิด สุนัขและแมวก็ไม่รู้เรื่องนี้ คนบางคนก็ไม่รู้เรื่องนี้ เกิดมาแล้วตายไปเปล่า ไม่รู้เรื่องนี้มันก็เสียชาติเกิด มันคอยรู้เรื่องความสะอาด ความสว่าง ความสงบรู้ไปยังดี พยายามปฏิบัติอยู่ก็ยังดี แม้ยังไม่ได้มันก็ยังดี เพราะมันรู้ มันจะได้เป็นพุทธบริษัท ผู้รู้ รู้ว่า ความสะอาด สว่าง สงบ นี้เป็นอย่างไร เพราะความรู้นั่นแหละ จึงได้ตื่นจากหลับ คือกิเลส เพราะมันก็มีความร่าเริง แจ่มใส เบิกบาน เพราะรู้จักทำให้ทำกิเลสไม่เผา ให้ร้อนได้ ก็เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นความหมายของคำว่า พุทธะ
นี่เราก็เป็นพุทธบริษัท เพราะว่าอยู่กันมาก ๆ มันหลายคน จึงจะเรียกว่า บริษัท คำว่าบริษัท นี้ก็แปลว่า นั่งล้อมกันเป็นวงรอบ ๆ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนกับนั่งล้อมไพ่ นั่งเล่นไพ่นี้ก็เป็นบริษัทหนึ่ง เป็นบริษัทไพ่ มานั่งเล่นไพ่ มานั่งล้อมกันเป็นวง อย่างนี้ไม่ใช่พุทธบริษัท พุทธบริษัทต้องนั่งล้อมรอบ ๆ พระพุทธเจ้า จึงจะเรียกว่าพุทธบริษัท บริษัทแปลว่านั่งล้อมกันเป็นวงรอบ บริ แปลว่ารอบ ษัท แปลว่า นั่ง บริษัท แปลว่า นั่งเป็นวงรอบ พุทธบริษัท ก็แปลว่า นั่งเป็นวงรอบพระพุทธเจ้า คนที่ทำอย่างนี้ได้จึงจะเรียกว่า พุทธบริษัท ที่แท้จริง ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นพุทธบริษัทว่าเอาเอง สอนนกแก้ว นกขุนทอง ให้ร้อง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มันก็ร้องได้ มันว่าเอาเองได้ แล้วมันเป็นพุทธบริษัทหรือไม่ ก็ลองคิดดู เดี๋ยวนี้เราก็ร้องว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เมื่อตะกี้นี้ก็ร้องไปแล้ว มันเหมือนกับนกแก้ว นกขุนทองร้องไหม
ถ้าว่าจิตใจมันเข้าถึงความสะอาด สว่าง สงบ แล้วร้องออกมา มันก็ผิดจากนกแก้ว นกขุนทอง คือเป็นพุทธบริษัทจริง ๆ แต่ว่าจิตใจยังไม่ถึงนั่น แต่รู้เรื่องนั้น ต้องการจะเป็นอย่างนั้น เราก็ร้องหา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ออกมา อย่างนี้ก็ยังเป็น พุทธบริษัท ก็แปลว่าผู้นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธบริษัท ทีนี้คนหลับ มันก็ไม่รู้ว่าอีกว่าจะไปนั่งล้อมพระพุทธเจ้าที่ตรงไหนกัน พระพุทธเจ้าก็ว่า นิพพานไปเสียแล้ว จะไปนั่งล้อมพระพุทธเจ้าได้ที่ไหนกัน นี่คนหลับมันก็พูดอย่างนี้ คนหลับเดินได้นะ เดินได้ พูดได้ อะไรได้มันก็พูดอย่างนี้ แต่ถ้าคนที่ไม่หลับ คือเป็นพุทธบริษัทมันรู้ มันเข้าใจ มันก็ว่า เมื่อเราเอาพระพุทธเจ้าใส่เข้าไปในจิตใจของเราแล้ว จะไม่เรียกว่าเรานั่งล้อมพระพุทธเจ้าได้อย่างไร เราต้องทำให้มีความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นในใจของเรา พระพุทธเจ้าเข้าไปอยู่ในใจของเราแล้ว ทำไมเราจะนั่งล้อมพระพุทธเจ้าไม่ได้ ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า ธรรมนั้นคือตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต คือไม่ให้ถือเอาที่เนื้อหนังร่างกายของท่าน ว่าเป็นพระตถาคต แต่ให้ถือเอาธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจของท่านว่านั่นแหละ องค์ตถาคต เพราะท่านยังตรัสเมื่อจะนิพพานอยู่หยก ๆ แล้วนี่ว่า ธรรมะที่เราแสดงแล้ว วินัยที่เราบัญญัติแล้ว นั่นจักอยู่เป็นศาสดาสำหรับพวกเธอตลอดไป ในเมื่อสังขารร่างกายนี้มันล่วงลับไปแล้ว นี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่ ดังนั้นเราจึงอาจจะนั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าได้ เพราะท่านบอกว่าท่านจะอยู่กับพวกเราตลอดไป คือธรรมะวินัยนั้น ฉะนั้นเราต้องมีธรรมะวินัยนั้น แล้วก็นั่งล้อมรอบธรรมะวินัยนั้น ก็คือนั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นเราต้องปฏิบัติธรรมะวินัย เพื่อให้ธรรมะวินัยมันเกิดขึ้นและมีอยู่จริง ธรรมะวินัยมีไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ มันก็มีแต่ปาก มีแต่ตัวหนังสืออยู่ในกระดาษ แต่ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมะ ตามวินัย มันก็มีธรรมะจริง วินัยจริงเกิดขึ้น แล้วมันเกิดที่ไหน มันเกิดที่กาย วาจา ใจ ในที่สุดมันเกิดอยู่ในใจ ก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าเข้าไปอยู่ในใจของเราอีกแล้ว นี่เราจึงนั่งล้อมรอบ ๆ พระพุทธเจ้าได้ด้วยเหตุนี้
ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะและวินัย คือเครื่องกำจัดกิเลสให้เกลี้ยงไปจาก ขันธสันดาน ให้กาย วาจา ใจ เกลี้ยง จากบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ก็เรียกว่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเรา เรานั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริงก็เหตุนี้ นี่คือธรรมเทศนาที่ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความพากเพียร ส่งเสริม สติปัญญา ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้ คือให้เป็นพุทธบริษัทยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจ ก็คือถึงพระพุทธเจ้า ก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ในตน อยู่ในใจ ก็มีจิตใจ สะอาด สว่าง สงบ ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่จะพูดเล่น ๆ ว่า มาสวนโมกข์นี้ก็ถึงสวนโมกข์แล้ว อย่างน้อยก็รู้จักวิธีหนทาง ที่ว่าจิตใจนี้มันจะเกลี้ยงได้ หรือโมกขไปได้จากเรื่องเศร้าหมองทั้งหลาย จากกิเลสอันเป็นเครื่องเผาผลาญให้ร้อนรน ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนสามารถชำระชะล้างแก้ไขความเป็นพุทธบริษัทของตน ๆ ให้ก้าวหน้า ธรรมเทศนาเรื่องพุทธบริษัทกถา ก็สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้