แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในโอกาสพิเศษวันนี้ ก็ต่อเนื่องจากธรรมเทศนาที่แล้วมา ในวันก่อนได้กล่าวถึงทางหรือคลองแห่งกรรม สำหรับบุคคลจะได้ดำเนินประพฤติปฏิบัติเพื่อเอาตัวให้ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่อีกต่อไป และได้แสดงถึงความละอายว่าเป็นสมุฏฐานอันสำคัญของการที่จะทำให้เราขะมักเขม้นในการศึกษาประพฤติปฏิบัติ
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงเครื่องมือซึ่งเป็นคุณธรรมอีกหมวดหนึ่ง ในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การกระทำนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ธรรมะที่เป็นเครื่องมือในวันนี้ มีหัวข้อที่จะต้องท่องจำไว้เพียง ๔ ข้อ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ
สัจจะ แปลว่าความจริง
ทมะ แปลว่าการบังคับตัวเอง
ขันติ แปลว่าความอดกลั้นอดทน
จาคะ แปลว่าสละสิ่งที่ต้องสละ
รวมกันเป็น ๔ ประการนี้ จัดไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือ แม้จะกล่าวโดยนัยอื่น เป็นธรรมะในตัวเองก็ได้ แต่ว่าในที่นี้หรือในวันนี้ จะได้กล่าวในฐานะเป็นเครื่องมือ คือว่าธรรมทั้ง ๔ ประการนี้จะเป็นเครื่องมือสำหรับทำความสำเร็จในสิ่งต่างๆ ที่เราจะทำ แม้ที่สุดแต่จะเป็นการทำมาหากินในทางโลกๆ เช่น ทำไร่ทำนาเป็นต้น ก็ยังต้องอาศัยธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ๔ อย่างนี้ การประพฤติธรรมะในพระศาสนาจะยิ่งต้องการเครื่องมือ ๔ อย่างนี้ ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ขอให้กำหนดจดจำไว้ให้เป็นอย่างดีด้วยกันทุกคน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือ จะต้องกำหนดจดจำหัวข้อทั้ง ๔ ไว้ให้แม่นยำว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ความจริง การบังคับตัวเอง การอดกลั้นอดทน และการสละสิ่งที่ต้องสละ
คำอธิบายโดยย่อมีว่า ในขั้นแรกจะต้องมีความจริง ซึ่งหมายถึงความจริงใจ จริงต่อตัวเอง จริงต่อผู้อื่น จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน แม้ที่สุดมันก็คือจริงต่อธรรมะ ให้เป็นคนจริงไปหมดดังนี้จึงจะเรียกว่ามีสัจจะ เมื่อมีสัจจะในสิ่งใดแล้ว ก็เป็นอันว่าเราจะต้องทำสิ่งนั้นด้วยความตั้งใจจริง
แต่ว่าสัจจะหรือความตั้งใจจริงนี้ พอล่วงมาหน่อย ก็มักจะกระสับกระส่ายหรือแกว่ง พยายามจะดิ้นรนออกไปสู่ความไม่จริง เราจะต้องมีทมะ คือการบังคับตัวเอง ให้มันยังคงจริงอยู่ในทำนองคลองธรรมเรื่อยไป ที่มันหันเหออกไปนอกทางนั้นเป็นเรื่องของกิเลสแทรกแซงเข้ามา จะต้องบังคับตัวของตัวให้ได้ ให้อยู่ตามแนวของสัจจะที่ตั้งไว้เดิมสืบต่อไปให้จนได้ อย่าให้หันเหออกนอกทาง
แต่ว่าการบังคับตัวเองนี้ ย่อมเกิดผลอีกอย่างหนึ่งแทรกแซงขึ้นมา คือความต้องอดกลั้นอดทน เพราะว่ามันทำให้เกิดการเจ็บปวด ไม่ได้อย่างใจ ไม่ได้ตามใจชอบ ไม่เป็นที่สบายกายสบายใจก็ได้ สำหรับการบังคับตัวเองย่อมจะเป็นอย่างนั้นเสมอ ถ้าไม่อดกลั้นอดทนแล้ว ก็เลิกการบังคับตัวเองกันเท่านั้นเอง เหมือนอย่างว่าเราจะบังคับเราตัวเรา ให้ทำนาหรือทำไร่หรือทำสวน เมื่อบังคับให้ทำไป ทำไป มันก็เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ความหิวกระหาย และอาการอันไม่พึงปรารถนาอย่างอื่น ซึ่งรวมเรียกว่าความเจ็บปวด ถ้าไม่มีความอดกลั้นอดทนแล้ว ก็ต้องเลิก ละทิ้งการงานนั้นอีกเป็นแน่ เราจึงต้องมีความอดกลั้นอดทน รอได้ คอยได้ ด้วยความอดกลั้นอดทนจนกว่าจะถึงที่สุด นี้เรียกว่าขันติ คือความอดกลั้นอดทน จะต้องมีเข้ามาเป็นช่วงที่ ๓
ช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ ๔ นั้น เรียกว่าจาคะ คือจะต้องสละสิ่งที่ต้องสละ หมายถึงสิ่งที่เป็นข้าศึกของความสำเร็จนั่นเอง สิ่งใดที่เป็นข้าศึกของความสำเร็จ เราจะต้องละมันตลอดเวลา เช่น ความขี้เกียจ หรือความรู้สึกที่เป็นไปในทางที่จะเป็นอันตรายแก่การงาน เหล่านี้จะต้องเสียสละให้ออกไปเสียจากจิตใจ ทำให้จิตใจไม่มีสิ่งที่ผิด หรือสิ่งที่เป็นพิษ หรือสิ่งที่เป็นโทษเหลืออยู่ในใจมากมายหรือเกินกว่าที่ควร ข้อนี้เป็นเหตุให้เราไม่ต้องทนมาก จึงพอทนได้
รวมความว่า เมื่อเครื่องมือทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นไปด้วยดี กลมเกลียวกันดีแล้ว การงานนั้นต้องสำเร็จ สัจจะคือ ความตั้งใจจริงๆ จะทำจริงๆ ทมะ คือการบังคับตัวเองให้ทำไปตามนั้นจริงๆ ขันติ มีความอดกลั้นอดทน เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้นเพราะการบังคับตัวเอง จาคะ คอยสละสิ่งที่จะทำให้กิจการเสียไปออกไปเสียจากจิตใจเรื่อยๆ ลองจำไปเป็นหลักสำหรับใช้ในการประพฤติปฏิบัติกิจการงานทั้งหลาย ไม่ว่ากิจการงานใด จะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ มันก็ต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่ว่าจะเลี้ยงสุนัขเลี้ยงแมว ก็ยังจะต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ แม้ที่สุดแต่จะปรุงอาหาร ถ้าทำให้ดี ก็ยังจะต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ แล้วเหตุไฉน การทำการงานที่เป็นชิ้นเป็นอันจะไม่ต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้
คนที่อยากจะทำมาค้าขาย ทำไร่ทำนา หรือจะทำราชการ เป็นทหารเป็นพลเรือน หรือเป็นอะไรในอาชีพไหนก็ตาม ลองคิดดูเถิดว่าธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้จะมีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร ถ้าคิดไม่เป็น มันก็ไม่เห็น ต้องคิดเป็น จึงจะเห็น ฉลาดคิดพิจารณาจึงจะเห็น และจะรู้จักเอาธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ให้จนได้
ทีนี้จะพิจารณากันถึงการปฏิบัติธรรมะในทางจิตทางใจหรือทางศีลธรรมบ้าง การที่คนเราเกิดไม่มีศีลธรรมกันขึ้นมานั้น ก็เพราะเหตุที่ขาดธรรมะ ๔ ข้อนี้ คือเขาไม่จริงใจในการที่จะมีศีลธรรมหรือประพฤติธรรม เขาไม่บังคับตัวเอง เขาไม่มีความอดกลั้นอดทน และเขาไม่สละสิ่งที่ควรสละออกไปจากใจหรือจากการกระทำของเขา
ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วนทุกผู้ทุกคนที่ไม่มีศีลธรรม ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะมีศีลธรรม ทั้งๆ ที่เห็นโทษของการไม่มีศีลธรรม ทั้งๆที่ปากก็พูดว่า สนับสนุนการมีศีลธรรม แต่แล้วเขาก็ยังมีศีลธรรมไม่ได้ ไม่มีความละอายเกิดขึ้นมาได้ จึงเป็นผู้ที่ทำตัวเองให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เราจะต้องมีธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ การปฏิบัติธรรมจึงจะเป็นไปได้สำเร็จ สัจจะ คือความจริง ในที่นี้ก็หมายถึงจะต้องศึกษาจริง มีความตั้งใจจริง เข้าใจในสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัตินั้นจริงๆ แล้วก็มี ทมะ คือการบังคับตัวเองให้ประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น ถ้ามันเหน็ดเหนื่อยหรือเจ็บปวดขึ้นมาเพราะการปฏิบัติศีลธรรมนั้นๆ ก็ต้องอดกลั้นอดทน ทำเรื่อยไป แต่พร้อมกันนั้น เพื่อไม่ให้ต้องทนจนทนไม่ไหว ก็ต้องระบายสิ่งที่ควรระบายออกไปเสียบ้าง ข้อนี้คือความรู้สึกที่ผิดหรือที่ชั่วร้ายรุนแรงต่างๆ ให้ออกไปเป็นประจำวัน เป็นความเกียจคร้าน ความขี้เหนียว ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกที่เป็นนิวรณ์ต่างๆ นานา ล้วนแต่จะต้องคอยระบายออกเป็นประจำวัน เราก็ไม่ต้องทนมาก กลับมีความสะดวกสบายในการปฏิบัติธรรม
รวมความว่าจะเป็นผู้ที่มีความละอายต่อบาปขึ้นมาได้ และเป็นผู้มีศีล มีสมาธิปัญญา หรือเดินไปตามคลองแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือในกรรมบถก็ตาม จะสำเร็จบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดีได้ ก็ต้องอาศัยเครื่องมือทั้ง ๔ ประการนี้ เมื่อมีเครื่องมือทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ก็เป็นการสะดวกดายในการประพฤติปฏิบัติ เหมือนอย่างว่าถ้าเราทำนา ไม่มีจอบ มันจะลำบากเท่าไหร่ หรือว่าทำนาไม่มีควายไม่มีไถ มันจะลำบากเท่าไหร่ นี่เพราะมันไม่มีเครื่องมือ มันจึงลำบากมาก ฉะนั้นลองไปคิดดูให้ดีๆ ว่า ถ้าขาดเครื่องมือเสียแล้ว มันทำอะไรได้ด้วยความยากลำบากเต็มที สมมติว่าในครัวไม่มีมีด ไม่มีเครื่องตำ ไม่มีเครื่องขูด ไม่มีเครื่องสำหรับจะใช้ต้มใช้หุง ไม่มีเครื่องมือเหล่านี้แล้ว เราจะทำครัวได้อย่างไร จะปรุงอาหารหรือจะหุงข้าวขึ้นมาได้อย่างไร การขาดเครื่องมือมันเท่ากับขาดความสำคัญส่วนหนึ่งทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูถูกส่วนที่เรียกว่าเครื่องมือ ถ้าขาดเครื่องมือแล้ว สิ่งที่เป็นเนื้อแท้เป็นสาระของเรื่องนั้นๆ ก็พลอยเป็นหมันไปด้วย
เหมือนอย่างว่าเรามีไม้ แต่ถ้าเราไม่มีเลื่อย ไม่มีขวาน ไม่มีสิ่ว ไม่มีกบเป็นต้น แล้วเราจะทำให้ไม้นั้นเป็นประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือเครื่องใช้ไม้สอยได้อย่างไร ไม้นั้นก็เป็นหมันเปล่า นี้เป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เป็นเครื่องมือ มันต้องมีคู่กันกับสิ่งที่เป็นตัวเนื้อหาของเรื่อง เช่นว่า มีข้าวสาร มีอาหารดิบ ก็ต้องมีเครื่องมือสำหรับที่จะตัด จะเฉือน จะปรุงต่างๆ จึงจะเป็นอาหารที่สำเร็จรูปบริโภคได้
ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะอีกพวกหนึ่งตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวเนื้อหา เช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้เรียกว่าเป็นธรรมะส่วนที่เป็นเนื้อหา เป็นของมีค่า หรือเป็นสิ่งที่จะยืนโรงอยู่เป็นหลัก แต่แล้วถ้าไม่มีธรรมะประเภทเครื่องมือ เช่นสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ หรือธรรมะที่เป็นเครื่องมือหมวดอื่นๆ ก็ตามแล้ว ก็ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมะที่เป็นเนื้อหานั้นให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างทันอกทันใจ หรือสะดวกดายได้ มันจะลำบากยุ่งยากเหมือนกับทำนาไม่มีจอบ ทำนาไม่มีควาย ไม่มีไถ เป็นต้นนั่นเอง ฉะนั้นจึงหวังว่า พุทธบริษัททุกคนจะได้มีความสนใจในธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือกันให้เพียงพอ ให้ถูกต้องและให้เข้ากับมือของตนด้วย เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่าเครื่องมือมีมากมาย แต่บางอย่างมันไม่เข้ามือ มันใช้ไม่ถูกกันกับมือ มันก็ใช้ไม่ค่อยจะได้ ใช้ได้ด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้นจึงต้องเลือกเครื่องมือให้ถูกกับมือ
ธรรมะที่เป็นเครื่องมือมีหลายหมวดนั้น หมายความว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแสดงธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือนี้ไว้ต่างๆ กัน ซึ่งเป็นอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ดังนี้ก็มี หรือแม้ที่สุดแต่เป็นพวกอินทรีย์ โพชฌงค์ ซึ่งเป็นธรรมะสำคัญ ธรรมะเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ต้องอยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือด้วยเหมือนกัน
เราจึงจำเป็นจะต้องเลือกคัดดูว่าอะไรจะเป็นธรรมะเครื่องมือที่เหมาะแก่เรา แต่สำหรับฆราวาสแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธรรมะ ๔ อย่าง คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่แหละ เป็นเครื่องมือได้ตลอดสาย เป็นเครื่องมือได้ตลอดเวลา ใช้ได้ทุกเรื่องทุกราว ถึงกับตรัสว่ามีธรรมะอะไรที่ไหนที่เหมาะสำหรับฆราวาสจะยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ และขันติ จาคะ และยังท้าว่า และยังทรงท้าว่า ถ้าไม่เชื่อ ก็ให้ไปถามสมณพราหมณ์ ครูบาอาจารย์พวกอื่นดูเถิด ว่ามีธรรมะอันไหนอีกบ้างที่เหมาะสำหรับฆราวาสยิ่งไปกว่าธรรมะทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เพราะฉะนั้น เป็นอันยุติได้ว่าธรรมะที่เป็นเครื่องมือสำหรับฆราวาสนั้น ไม่มีอะไรจะดีไปกว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ
ทีนี้เราก็มาสำรวจตัวเราเองว่าเรามีเครื่องมือทั้ง ๔ นี้แล้วหรือยัง?
วันหนึ่งเราคดโกงต่อผู้อื่นและคดโกงต่อตัวเองกี่ครั้งกี่หน ลองสำรวจดูที ว่าเราคดโกงต่อคนอื่น หรือคดโกงต่อตัวเองวันหนึ่งกี่ครั้งกี่หน คดโกงต่อผู้อื่นนั้นเป็นทีมาก อยู่ในฐานะที่ต่ำทรามมาก เพราะมันทำให้เขาเสียหาย หรือมันเป็นการลักล้วงเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตน แต่คดโกงต่อตัวเอง มันก็ไม่หยอกเหมือนกัน
การคดโกงต่อตัวเองนั้น บางคนอาจจะฟังยังไม่เข้าใจ คดโกงต่อตัวเองนี่ หมายความว่าเรารู้ดีอยู่ว่าอะไรควรจะทำอย่างไร อะไรเป็นความชั่ว อะไรเป็นความดี เราก็นึกอยากดี อยากจะทำดี แต่แล้วก็หาทำไม่ เถลไถลต่างๆ นานา จนไม่ได้ทำดี แก้ตัวให้แก่ตัวเอง คือแก้ตัวให้กิเลสของตัวเอง คือปลอบใจตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ว่า นั่น เลิกเถอะ ไม่ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันคดโกงต่อตัวเอง
หรือว่าเราปฏิญาณตนว่าเป็นสัตบุรุษพุทธบริษัท แล้วหาทำหน้าที่ของสัตบุรุษพุทธบริษัทไม่ ไม่มีความละอายบาป ไม่กลัวบาป อย่างนี้ชื่อว่าคดโกงต่อตัวเอง คือคดโกงต่อธรรมะหรือพระธรรมนั่นแหละ และยังแถมคดโกงต่อพระพุทธเจ้าด้วย ถ้าลงได้คดโกงต่อตัวเองแล้ว มันก็เป็นอันคดโกงต่อคนทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว เราลองพิจารณาดูว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง เรามีการคดโกงต่อตนเอง และคดโกงต่อบุคคลอื่นกี่มากน้อย แต่ในรายที่คดโกงต่อคนอื่นนั้น จะต้องถือว่าเป็นการคดโกงต่อตัวเองด้วย มันเป็นการคดโกงต่อคนอื่น เพราะตนไม่รักตน ไม่ซื่อตรงต่อตน ไม่ตั้งตนอยู่ในธรรมะ
ฉะนั้น ถ้าจะสรุปเหลือเพียงข้อเดียว มันก็คืออย่าคดโกงต่อตัวเองนั่นเอง อย่าคดโกงต่อพระธรรมนั่นเอง คนคดโกงต่อตัวเอง ก็คือคดโกงต่อพระธรรม รู้อยู่ว่าพระธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ตนก็ปฏิญาณว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แต่แล้วก็หาประพฤติตามธรรมไม่ ดูให้ดีเถิด แม้แต่การฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาหรืออะไรก็สุดแท้ ทุกอย่างที่เป็นการกระทำผิดกระทำชั่วแล้ว มันเป็นการคดโกงต่อตัวเองทั้งนั้น เช่น ไปเบียดเบียนเขา ไปฆ่าเขา มันเป็นการทำลายตัวเองให้เป็นคนชั่วคนเลว มันเป็นการทรยศขบถต่อตัวเองอยู่ในตัวแล้ว เพราะฉะนั้นการทำผิดๆ ทุกอย่างนั้น เป็นการคดโกงต่อตัวเองอยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น
นี่เราจะเห็นได้ว่าเราหนีไปไม่ค่อยรอดกับการเสียสัจจะ ตั้งใจไว้ว่าจะทำอะไร ก็เพียงแต่สักว่าตั้งใจ ประเดี๋ยวเดียวก็ลืม เพราะมีอะไรมายั่ว มาล่อ มาหมุนให้จิตใจหันเหไปในทิศทางอื่น ลืมความตั้งใจนั้นเสีย นี้มันก็เป็นการไม่ซื่อตรงต่อตัวเองส่วนหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งต้นแล้ว ทีนี้แม้นึกขึ้นมาได้ว่า เอ้า, อย่างนี้มันผิด เคยคิดว่าจะไม่ทำ แต่แล้วก็ฝืนทำลงไปได้ ทำผิดทั้งรู้ๆ นี้เป็นการคดโกงต่อตัวเองเต็มที่ ศีลเศิลอะไรต่างๆ ขาดไปหมด เพราะการคดโกงต่อตัวเองอย่างนี้ ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าการไม่ซื่อตรงต่อตัวเองนั่นแหละเป็นใจความสำคัญขั้นต้นขั้นแรกของความเสื่อมเสีย หรือความเสียหาย หรือความไม่เจริญรุ่งเรืองโดยประการทั้งปวง การผลัดเพี้ยนเวลาต่อการงาน ต่อหน้าที่การงาน การเหลวไหลต่อหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็เป็นการคดโกงต่อตัวเอง คือไม่ซื่อตรงต่อตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่ขี้เกียจ ผลัดเพี้ยน เพื่อนอนสายเป็นต้น หรือเพื่อรีรอๆ เรื่อยๆ ไป จนไม่ต้องทำ นั้นก็เป็นการคดโกงอย่างยิ่ง เราเคยเสียหายกันมาแล้วเพราะลักษณะแห่งการคดโกงต่อตัวเองเช่นนี้หรือหาไม่ ขอให้ไปลองคิดดู แม้ที่สุดแต่การปกครองกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย เช่น บิดามารดา ปกครองบุตรก็ดี ผู้บังคับบัญชา ปกครองคนใต้บังคับบัญชาก็ดี ถ้ามันมีการคดโกงทำนองนี้แทรกแซงเข้ามาแล้ว เป็นอันว่าเหลวหมด ปกครองไม่ได้ เพราะว่าผู้ที่ถูกปกครองนั้นย่อมเล่นตลก ย่อมทำหน้าไหว้หลังหลอกเพราะการคดโกงต่อตัวเอง ซื่อตรงแต่ต่อหน้า พอลับตาก็ทำในทางที่ตรงกันข้าม นี้คือความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป
ที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดก็คือเด็กๆ ของเราไม่ดีได้ตามที่เราต้องการ เริ่มเดินไปในทางผิดทางเสีย เพราะอาการที่คดโกงต่อตัวเอง ทำหน้าไหว้หลังหลอกต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ พึงเข้าใจไว้ว่าถ้าลงคดโกงต่อตัวเองแล้ว ก็ต้องทำหน้าไหว้หลังหลอกต่อคนอื่นอย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นเราจึงได้รับความลำบากกันมากมายในโลกนี้ เนื่องจากการบังคับบัญชาหรือสั่งสอนอบรมกันไม่ได้ตามที่เราปรารถนา เพราะว่าแต่ละคนๆ นั้น มันเต็มไปด้วยความคดหรือคดโกง และคดโกงต่อตัวเอง คือไม่รักตัวเองให้มันสมกับที่ควรจะรัก มันขบถต่อตัวเองได้อยู่เรื่อยไปดังนี้
เราไม่มีกุลบุตรกุลธิดาที่ดีที่เจริญที่รุ่งเรืองได้สมตามความปรารถนา ก็เพราะว่าเราพากันคดโกงต่อตัวเองอยู่เป็นส่วนใหญ่ ถ้าต้องการความเจริญโดยทั่วๆ ไปแล้ว ต้องนึกถึงความไม่คดโกงต่อตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุให้คดโกงต่อผู้อื่นนี้กันให้มาก ฉะนั้นท่านจึงแนะนำสั่งสอนตรัสไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ว่าจะต้องมีสัจจะ คือมีความจริง จริงต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อตัวเองก่อน แล้วก็จะเป็นการซื่อตรงต่อผู้อื่น ซื่อตรงต่อการงานหน้าที่ ซื่อตรงต่อเวลา ซื่อตรงต่อพระศาสนา ต่อพระธรรม หรือต่อทุกสิ่งก็แล้วกัน ถ้าหากว่ามีความซื่อตรงต่อตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะมีความซื่อตรงต่อทุกสิ่งได้โดยไม่ต้องสงสัย เราจะต้องฝึกฝนทุกอย่างทุกทาง ที่จะให้มีความซื่อตรงโดยทำนองนี้เกิดขึ้น โดยอาศัยการซื่อตรงต่อตัวเองเป็นหลัก แล้วก็จะตรงต่อเวลา ตรงต่อหน้าที่การงาน ตรงต่อเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ของตนได้ในที่สุด สัจจะ จึงเป็นธรรมะข้อแรก เป็นประเดิมเริ่มแรกในการที่จะให้การประพฤติหรือการกระทำที่ดีที่งามเป็นไปโดยลำดับ
จงได้ภาวนาอธิษฐานในการที่จะมีสัจจะ สิ่งใดที่ทำผิดทำพลาดไปแล้วแต่หนหลัง ก็สารภาพผิดนั้นด้วยตนเอง เป็นการแสดงอาบัติแก่ตนเองก็ได้ แต่ว่าให้จริง ให้จริง จริงๆ คือว่า สิ่งที่ทำผิดไปแล้วจะต้องไม่ทำอีกจริงๆ แล้วต่อไปข้างหน้าก็จะมีความแน่ใจจริงๆ ที่จะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสัจจะ มีสัจจะได้แล้ว ข้อนี้เป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง เป็นการกลับตัวเหมือนกับการเกิดใหม่ เกิดมาผิดแล้วก็เกิดเสียใหม่ให้ถูก เกิดมาไม่ดี เราก็เกิดเสียใหม่ให้ดี ด้วยอาศัยสัจจะข้อนี้เป็นบรรทัดฐาน
ทีนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะซึ่งเป็นข้อสองต่อไป ทมะ นี้ ตัว ท.ทหาร กับตัว ม.ม้า ๒ ตัว อ่านว่า ทะ-มะ แปลว่า การข่มหรือการบังคับ มันหมายถึงการข่มใจหรือบังคับใจ ถ้าเรียกอีกทีหนึ่งก็คือบังคับตัวเอง เพราะว่าคนเราเอาใจหรืออะไรที่เราเรียกกันว่าใจนี่แหละเป็นตัวเอง การบังคับใจของตัวเองก็คือการบังคับตัวเอง การบังคับตัวเองก็คือการบังคับใจของตัวเอง เราจะต้องสนใจในการที่จะบังคับตัวเองด้วยความระมัดระวัง ด้วยความเฉลียวฉลาด เพราะว่าคนโง่ๆ สะเพร่า อวดดีนั้น หาสามารถบังคับตัวเองได้ไม่ จะเป็นการล้มเหลว จะถูกกิเลสหรือความโง่ความหลง ของตนหลอกเอาจนตามไม่ทัน จึงไม่สามารถที่จะบังคับตัวเองได้
ผู้ที่มีสติปัญญาสามารถ หรือกระทำอย่างระมัดระวัง ไม่สะเพร่าเท่านั้น ที่จะสามารถบังคับกิเลสหรือจิตใจที่กลับกลอกว่องไวนี้ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ลำพังของจิต มันก็ว่องไวกลับกลอก รวดเร็ว เบาหวิว ยิ่งกว่าลิง ยิ่งกว่าลม มันบังคับยากอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งกิเลสเข้าไปผสมเข้าอีก มันก็ยิ่งโยกโคลงต่างๆ นานา มากขึ้นไปอีก มันจึงยิ่งบังคับยากมากยิ่งขึ้นไปอีก คือจิตที่เต็มไปด้วยกิเลสนั้น จะยิ่งบังคับได้ยากมากขึ้นไปอีก
ฉะนั้นคนจึงต้องฉลาด ถึงต้องมีความเฉลียวฉลาด ความระมัดระวัง ความไม่ประมาท จึงจะสามารถบังคับตัวเองได้ ในภาพเขียนที่เคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คือเขียนเป็นภาพงูที่อยู่ในโพรงไม้ คนที่จะเข้าไปจับงูเห่าในโพรงไม้นั้น ต้องฉลาด ถ้าไม่ฉลาดก็จะถูกงูกัดตาย โพรงไม้ก็เหมือนกับร่างกาย งูก็เหมือนกับจิต ถ้าเป็นงูพิษร้าย เช่น งูเห่า ก็คือจิตที่เต็มไปด้วยกิเลสอย่างแก่กล้า ถ้าเข้าไปเล่นงานมันไม่ถูกวิธี มันก็จะกัดเอาตาย ฉะนั้นเราจะต้องมีอุบายที่แยบคาย มีทั้งเครื่องล่อ มีทั้งเครื่องประหัตประหาร ในคราวที่ควรจะล่อ ก็ล่อ พอได้โอกาสก็ประหัตประหารมันเสียให้ตาย นี่หมายถึงการกำจัดกิเลส
การบังคับตัวเองก็คือการบังคับกิเลส ตัวเองที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของปุถุชนนั้น หมายถึงเต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยความหลอกลวงโลเล เต็มไปด้วยความคิดร้าย มีพิษร้ายต่างๆ นานา ฉะนั้นเราจะต้องมีความเฉลียวฉลาด ความสุขุมรอบคอบ จึงจะบังคับมันได้ หรืออีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบเหมือนกับว่า ช้างที่ตกน้ำมัน มันบังคับยาก ถ้าหมอควาญคนนั้นไม่ฉลาดจริงๆ แล้ว ก็ไม่สามารถจะบังคับช้างที่ตกน้ำมันได้ มีแต่จะถูกช้างทำอันตราย ตายไปเสียเอง แต่ถ้าเป็นหมอช้างที่มีความรู้ ความเฉลียวฉลาดรอบด้านรอบตัวแล้ว เขาก็สามารถบังคับช้างที่ตกน้ำมันนั้นได้ เพราะมีปัญญา เพราะมีความเฉลียวฉลาดนั่นเอง เขาจึงสามารถใช้ขอ ซึ่งเป็นเครื่องมือบังคับช้างได้ ฉะนั้นเราอย่าไปทำเล่นกับจิต อย่าไปทำเล่นกับกิเลส จะต้องระมัดระวังให้มาก เหมือนกับที่ระมัดระวังงูเห่าจะกัดเอาตาย เราจะต้องมีอุบายอันแยบคายที่จะเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน และมีอุบายอันแยบคายที่จะต่อสู้หรือควบคุมมันให้ได้ในที่สุด อย่างนี้เรียกว่าการบังคับตัวเอง
ถ้าคนเราบังคับตัวเองไม่ได้ สัจจะคือความตั้งใจที่จะทำให้ดีนั้น ก็สูญหายไปหมด ตั้งใจว่าจะทำให้ดีอย่างเต็มที่จริงๆ แต่พอมาพบอารมณ์ที่มีฤทธิ์เดชเข้าเพียงหน่อยเดียว จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสหรืออะไรก็ตาม การบังคับตัวเองก็เป็นไปไม่ได้ สัจจะก็เสียไปหมด เรื่องนิดเดียวเท่านั้นก็ทำให้เสียหายมากมายได้ ฉะนั้นเราจะต้องมีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ ที่จะไม่ให้ตกบ่อตกหลุมของกิเลส หรือของอารมณ์ของกิเลสที่มีมาสำหรับยั่วยวน มันซับซ้อนกันอยู่หลายชั้น เราเอาชนะกิเลสไม่ได้ ก็เพราะเราตกบ่อตกหลุมของอารมณ์ของกิเลสนั่นเอง เราจึงจะต้องระมัดระวังทั้งข้างนอกและข้างใน ข้างนอก ก็จะต้องระมัดระวังเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ยั่วยวนใจ ยั่วยวนตา ภายในก็จะต้องบังคับจิตใจให้เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ นึกคิดให้สุขุมรอบคอบว่าอะไรเป็นอะไรอยู่เสมอ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นผู้บังคับตัวเองหรือบังคับจิตทั้งจากข้างนอกและจากข้างใน มันจึงเป็นไปได้โดยสะดวก เพราะกระทำถูกวิธี
เราจะต้องจดจำคำว่าทำถูกวิธี ทำถูกเรื่องถูกราว อย่างที่สมัยนี้เขาเรียกกันว่าถูกเทคนิคของเรื่องนี่แหละให้มาก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันก็จะเป็นการกลิ้งครกขึ้นภูเขา แล้วก็จะท้อแท้ ถอยหลัง เลิกล้างความเพียรโดยประการทั้งปวง เราจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้เกิดความล้มละลายขึ้นมาในการประพฤติปฏิบัติของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือการบังคับตัวเอง เราเตรียมพร้อมที่จะอดกลั้นอดทน ถ้าอย่างเป็นบรรพชิต ก็จะต้องกล้ายึดมั่นในหลักที่ว่าแม้จะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ก็ต้องทำได้ คือว่าถ้าหากว่าการประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้เกิดการเจ็บปวดจนถึงขั้นน้ำตาตก เพราะการปฏิบัติได้โดยยาก หรือถ้าต้องทนมากหรืออะไรก็ตาม ก็ต้องทนได้ คนเขายังทนกันได้ในการทำไร่ทำนา ซึ่งเป็นเรื่องไม่สูงมากเหมือนกับการประพฤติพรหมจรรย์ บางคนก็ต้องเสียน้ำตาไปมากๆ เพื่อจะได้อะไรมาสักนิดหนึ่งเท่านั้น เพื่อมาหลอกตัวเองให้ชื่นอกชื่นใจ นิดเดียวเท่านั้น เขาก็ยังเสียน้ำตาไปได้มากๆ ด้วยความสมัครใจ ทีการประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ เพื่อมรรค ผล นิพพาน ทำไมจึงไม่ทำอย่างนั้นบ้าง นี่ก็เพราะไม่รู้เรื่องความอดกลั้นอดทนว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องสมัครใจทำ ในเมื่อถึงคราวที่จะต้องอดกลั้นอดทน จะต้องทนทำ เหมือนที่ทนทำนากลางแดดกลางฝน เหมือนคนชาวประมง ทนฟ้าทนฝนทนพายุกลางทะเล เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นความต้องทนทั้งนั้น ที่แท้ก็เพื่อให้ได้เงินบ้างสักจำนวนหนึ่งเท่านั้น บางทีก็ไปตายเสียก็มี แต่ที่จะได้ของประเสริฐเป็นมรรค ผล นิพพาน หาได้ใช้ความอดกลั้นอดทนกันมากเท่านั้นไม่
พวกที่เห็นๆ กันอยู่ใกล้ๆ นี่แหละ ลองคิดดูทีเถิดว่าเราอดกลั้นอดทน ศึกษาเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติพระศาสนาเท่ากับเราทำไร่ทำนา ทำสวนยาง ทำสวนกล้วย ทำสวนอะไรต่างๆ นั้นหรือเปล่า เราจะเห็นได้ว่าการอดทนในการศึกษาปฏิบัติพระศาสนานั้น ยังไม่มากเท่ากับที่เราอดทนทำการงาน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง นี้ก็เป็นเรื่องความเข้าใจที่ไขว้เขวกันอยู่ ที่แท้ควรจะมีความเข้าใจว่าสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่สูงสุด เราก็ควรจะอดทนให้มากกว่าเรื่องที่ไม่สู้จะประเสริฐ ไม่สู้จะสูงสุด มันจึงจะสมกัน มันจึงจะยุติธรรม
เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าต่อไปนี้เราจะต้องทนกันให้มากกว่าเดิม ในการที่จะศึกษาและการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้จิตใจของเรามีความสะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเป็นคุณอันประเสริฐยิ่งกว่าเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น เพราะว่านั่นไม่ได้ทำให้เย็น มีแต่ทำให้ร้อน ส่วนการปฏิบัติธรรมในทางจิตทางใจนี้มีแต่ทำให้เย็น เราควรจะรู้จักศาสนาสิ่งที่มีค่า หรือประเสริฐสูงสุดกันให้ได้ตามส่วน และให้เหมาะสมกัน คือว่าเรื่องปากเรื่องท้อง ก็อย่าให้เสียไป เรื่องทางวัตถุร่างกายเนื้อหนังนี้ ก็อย่าให้เสียไป และเรื่องทางจิตทางใจ เรื่องของธรรมะ เรื่องของศาสนาก็อย่าให้เสียไปด้วย มันจะได้มีความเจริญทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม มีความเจริญทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต มันก็เป็นความเจริญที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจงสมัครใจที่จะอดกลั้นอดทน ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ซึ่งเรียกว่ามีขันตี ทนได้ รอได้ คอยได้ ในการบากบั่นทำหน้าที่การงานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการบังคับตนให้เป็นไปตามทำนองของอริยมรรค หรือของกรรมบถฝ่ายที่เป็นกุศลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ทีนี้ก็มาถึงข้อสุดท้ายที่เรียกว่าจาคะ คำว่า จาคะ แปลว่า ความสละออกไป ข้อนี้หมายถึงสิ่งประเภทหนึ่งซึ่งถ้ามีแล้ว เป็นโทษเป็นทุกข์ ถ้าสละออกไปเสียแล้ว จะไม่มีโทษ จะไม่มีทุกข์
ฉะนั้นสิ่งที่พึงสละ จึงหมายถึงสิ่งที่ชั่วร้าย สิ่งที่เป็นอันตรายทั้งนั้น ฉะนั้นจะต้องมีความยุติธรรมในการที่จะวินิจฉัยลงไปว่าอะไรชั่วร้าย อะไรควรสละ อย่าให้กิเลสเล่นตลก เกิดความคิดที่เข้าข้างตัวเอง คือเข้าข้างกิเลส แล้วกลับผิดเป็นถูก กลับหน้าเป็นหลัง โดยไม่รู้สึกตัวก็มี อย่างที่เรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัวด้วยความสมัครใจ อย่างนี้มันไม่ยอมสละ แม้กงจักรแท้ๆ มันก็ไม่ยอมสละ แม้กงจักรที่พัดอยู่บนหัวให้เลือดไหลโซมอยู่ทั้งตัวมันก็ไม่ยอมสละกงจักรนั้น เพราะว่าเห็นกงจักรนั้นเป็นดอกบัว นี้คือ ลักษณะอาการของคนพาล คนโง่ คนเขลา คนหลง ที่เห็นผิดเป็นชอบ ไม่ยอมสละสิ่งที่ควรสละ เขาจะบอกจะสอนเท่าไหร่ก็ยังคงดื้อดึง เพราะความโง่ความเขลาของตนเองอยู่นั่นเอง
ข้อแรกหรือสิ่งแรกหรือพวกแรกที่จะต้องวินิจฉัยกันก่อน ก็คือความประพฤติงมงายต่างๆ นานา ลองคิดดูเถิดว่าพวกเรายังมีความงมงาย ยึดถืออย่างงมงาย ปฏิบัติอย่างงมงายในเรื่องอะไรกันบ้าง แล้วมันละได้ยาก ละได้ลำบากสักเท่าไหร่ ถ้าความโง่ ความหลง ความเขลา มันเต็มอัดอยู่ในใจแล้ว มันไม่ยอมเสียสละสิ่งที่แท้จริงควรจะสละ นี่แหละเป็นเหตุให้การประพฤติหรือการกระทำอย่างงมงายต่างๆ เหลืออยู่มาจนกระทั่งถึงบัดนี้ คือ ความโง่งมงายตั้งหลายพันปี หลายหมื่นปี หลายแสนปีมาแล้วครั้งกระโน้น ก็ยังเหลืออยู่มาได้จนถึงบัดนี้ ยังมีการประพฤติกระทำเหมือนกับคนโง่คนป่า สมัยเหล็กสมัยหิน กลัวฟ้า กลัวฝน กลัวเทวดา กลัวภูติผีปีศาจชนิดที่ไม่มีตัวตน ไหว้ได้แม้แต่จอมปลวกซึ่งปลวกตัวเล็กๆ สร้างขึ้น และกระทำสิ่งที่น่าหัวเราะ น่าเวทนาอีกต่างๆ นานา เกี่ยวกับจารีตหรือลัทธิต่างๆ ที่เห็นๆ กันอยู่
ควรจะเข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่ามันควรทำ ไม่ควรทำอย่างไร อะไรควรจะละกันได้เสียที เรื่องไหว้ภูติ ไหว้ผี ไหว้ศาล ไหว้เทพารักษ์ ไหว้เจ้าแม่ ไหว้นั่น ไหว้นี่ ที่ทำๆ กันอยู่นั้น เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่ามันชักจะค่อยคลายออกบ้าง เพราะว่าสนใจในความจริงหรือในศาสนากันขึ้นบ้าง จึงสละออกไปได้ตามส่วน แต่ว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ยอมสละ หรือว่ายอมสละแต่เพียงบางอย่าง บางอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยึดถือเรื่องนั่นเรื่องนี่ไปตามทิฏฐิ ความคิดความเห็นที่มันพ้นสมัยแล้ว ก็ยังเอามายึดถืออยู่ได้ ลัทธิต่างๆ เกี่ยวกับความสกปรกความสะอาด ความสูงความต่ำ ความดีความชั่ว อะไรเหล่านี้ยังเป็นความงมงาย หรือเป็นสีลัพพตปรามาส หรือเป็นสีลัพพตุปาทานอยู่ในที่ทั่วๆ ไป นี้มันเป็นสมบัติของปุถุชน สมบัติที่ปุถุชนอุตส่าห์หาบหิ้ว ขนเอามาตั้งแต่หลายหมื่นหลายแสนปีมาแล้ว ยังเหลืออยู่จนบัดนี้ ถ้ายังหอบหิ้วสมบัติของปุถุชนชนิดนี้อยู่แล้ว อย่าหวังเลยที่ว่าจะได้ก้าวเข้าไปในโลกของพระอริยเจ้า คือไม่สามารถที่จะเป็นได้แม้แต่เพียงพระโสดาบัน เพราะว่าพระโสดาบันนั้น จะต้องสละสีลัพพตปรามาสทำนองนี้สิ้นเชิง คือจะต้องลืมหูลืมตากันเสียก่อนว่าอะไรจริง อะไรเท็จ อะไรหลอก อะไรลวง อะไรเป็นความงมงาย อะไรเป็นความไม่งมงาย จะต้องเป็นผู้รู้เหตุรู้ผล เป็นผู้ตั้งอยู่ในอำนาจของเหตุผลเสียก่อน หมดความงมงายเสียก่อน จิตจึงจะบริสุทธิ์ถึงขนาดที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้แม้ในอันดับแรก นี่แหละท่านถึงได้จัดสีลัพพตปรามาสไว้เป็นข้อแรกในฐานะที่จะต้องละเพื่อความเป็นพระโสดาบัน มิฉะนั้นก็มีหวังแต่จะต้องก้มหน้าก้มตา เป็นปุถุชนที่หาบขนความงมงายเหล่านี้ติดตัวไปจนตลอดกาล
นี้เป็นตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็นว่า เขาไม่สละสิ่งที่ควรสละที่มีอยู่ในใจ หรือที่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่การกระทำ จงไปคิดดูเถิดว่า ลัทธิหรือสิ่งที่เรียกว่าลัทธินั่นลัทธินี่ต่างๆ นานา นั่นแหละ คือสิ่งที่ควรจะสละกันเสียที ละความเขลา ความโง่ ความหลง ให้หมดกันไปเสียที บางคนลอดราวตากผ้าไม่ได้ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความเสียหายอย่างยิ่ง อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าสีลัพพตปรามาสอันหนึ่ง แม้จะเล็กน้อยเพียงไร มันก็เรียกว่ายังโง่ ไม่รู้จักสละสิ่งที่โง่นี้ออกไปเสียให้พ้นได้สักที เมื่อไหร่จะละได้สักทีสิ่งที่ควรสละอันนี้ นี้เป็นเรื่องนอกๆ แท้ๆ
ส่วนเรื่องภายใน ซึ่งใหญ่โตไปกว่านั้น โดยเฉพาะคือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น มันจะละได้ยากยิ่งขึ้นไปอีกเพียงไร สำหรับคนที่แม้แต่จะละลัทธิเรื่องลอดราวผ้าไม่ได้นี้ก็ไม่ได้เสียแล้ว เราลองเอามาเปรียบเทียบกันดูว่าความโง่ ความหลง ความงมงายนี่ มันละได้ยากเพียงไร เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันไม่มีปัญญา มันไม่มีความรู้ มันจึงไม่รู้ว่าอะไรควรละ มันกลับเห็นเป็นสิ่งที่ควรยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
เพราะฉะนั้นจะต้องอาศัยปัญญาอีกอย่างเดียวกัน จาคะหรือการเสียสละนั้น จึงจะเป็นไปได้ มันไม่ใช่เรื่องให้ทานอย่างโง่ๆ ง่ายๆ แต่มันเป็นเรื่องสละกิเลส สละความเห็นแก่ตน หรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มันมากกว่า เราจะต้องสละความขี้เหนียว อันนี้ลองคิดดูว่ามันยากง่ายเท่าไหร่ การที่เราขี้เหนียว ก็เพราะเราเห็นแก่ตน เห็นแก่ของของตน ยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมเสียสละ มันจึงเสียสละไม่ได้ ต่อเมื่อเขามาหลอกว่าเสียสละออกไปสักนิดหนึ่งสิ แล้วก็จะได้วิมานสักหลังหนึ่ง อย่างนี้มันจึงยอมทำ ถ้าทำอย่างนี้ ไม่ใช่เรียกว่าเสียสละ มันเป็นเรื่องลงทุนค้าด้วยความโง่ของเขาเอง ฉะนั้นการที่จะตักบาตร ทำบุญสักช้อนหนึ่งแล้วเอาวิมานหลังหนึ่งนี้ เขาไม่เรียกว่าเป็นการเสียสละ แต่เรียกว่าเป็นการลงทุนค้าด้วยเอาความโง่ เป็นต้นทุน มันจะได้อะไรมาบ้าง มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก มันอาจจะได้ความพอใจ ความสบายใจ ความอิ่มอกอิ่มใจ ความแน่ใจว่าจะได้วิมานหลังหนึ่งก็ได้ แต่แล้วไม่เรียกว่าเป็นการเสียสละในที่นี้เลย
การเสียสละในที่นี้ หมายถึงเสียสละออกไปจริงๆ ไม่ใช่เพื่อแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เพื่อลงทุน เราเห็นชัดอยู่ว่าความขี้เหนียวนี้ เป็นอันตรายร้ายกาจ จะทำความเสื่อมเสียอย่างยิ่งให้แก่เราในอนาคต เพราะฉะนั้นเราก็สละมันออกไป เราขี้เหนียวหวงแหนอะไร เราก็สละสิ่งนั้นออกไป ถ้าเราขี้เหนียวเงิน เราก็สละเงินออกไป เพื่อจะแก้ไขความขี้เหนียว นี้เข้าใจได้ยากคนเป็นส่วนมากจึงไม่ยอมสละ เพราะเขาต้องการจะเอาอะไรมาเพิ่มเข้าให้มาก ไม่ต้องการจะสละให้มันน้อยลงไป นั่นแหละเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ ไม่ยอมเสียสละความสนุกสนาน สรวลเสเฮฮา มันก็รักษาศีลไว้ไม่ได้ เช่น ทำไมวันนี้จึงรักษาศีลอุโบสถไม่ได้ ก็เพราะยังเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่การประดับประดาตบแต่ง เห็นแก่การจะนั่งนอนให้สบายเท่านั้นเอง เมื่อสละสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันก็รักษาศีลอุโบสถไม่ได้ นั่นแหละเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้ว่ามันเนื่องอยู่กับการเสียสละหรือไม่สละ มันอยู่กับที่การมองเห็นหรือมองไม่เห็น ฉะนั้นถ้าเราจะเสียสละความเห็นแก่ตน มันก็ต้องเอาศีลเป็นหลัก ที่เป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตน
เรื่องทานก็อย่างนั้น เรื่องศีลก็อย่างนั้น เรื่องที่สูงขึ้นไปคือสมาธิและปัญญา ก็อย่างเดียวกันอีก ถ้าไม่ยอมเสียสละแล้ว ไม่สามารถจะปฏิบัติสมาธิหรือปัญญาให้ลุล่วงไปได้ เพราะมันยังเหนียวแน่นอยู่ด้วยสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกแก่กันและกัน ถ้าเรายังไม่ยอมสละความสุขในทางกามคุณ เราก็ไม่หวังที่จะหาความสุขจากวิเวกหรือจากสมาธิ เพราะไม่ยอมสละนั่นเอง ความสุขที่เกิดจากธรรมะจึงไม่ปรากฏแก่เรา เพราะเราไม่ยอมเสียสละความสุขที่เกิดขึ้นอย่างโลกๆ หรือจากโลก ถ้าเรายอมเสียสละความสุขที่เกิดขึ้นอย่างโลกๆ เราก็จะต้องได้ความสุขที่สูงขึ้นไปซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากธรรมะ หรือเกิดจากความสงบจากกิเลสดังนี้เป็นต้น เราไม่รู้จักชั่งน้ำหนัก เราไม่รู้จักเทียบเคียงว่าอะไรควรไม่ควรอย่างไร เราจึงคงหลงยึดเอาสิ่งที่มีค่าน้อย หรือถึงกับเป็นเครื่องทรมานใจนี้เอาไว้ ด้วยความเห็นกงจักรเป็นดอกบัวต่อไปตลอดกาล ไม่มีโอกาสที่จะพบกับความพักผ่อนหรือความมีจิตสะอาด สว่าง สงบได้เลย
การเสียสละนี้จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป และอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันกับความอดกลั้นอดทนนั้น เราเสียสละเพื่อไม่ให้ต้องอดกลั้นอดทนมากเกินไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ความขี้เหนียว มันแผดเผาจิตใจเรา ทรมานจิตใจเรา ถ้ามันมีมากเกินไปเราก็ทนไม่ได้ อาจจะเป็นบ้าวิกลจริตเพราะความขี้เหนียวนั้นก็ได้ ละอย่างไรๆ ก็ไม่ไหว แต่ถ้าเราหาวิธีสละออกไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขความขี้เหนียวของเราไปทีละสิ่ง ทีละอย่าง ทีละสตางค์ สองสตางค์ ก็ยังดี ถ้าเกิดขี้เหนียวขึ้นมา ก็ให้มันไปเพื่อสละความขี้เหนียวเสียบ้าง อย่างนี้เรียกว่าค่อยๆ ระบายออกไป ค่อยๆ ระบายออกไป ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจนั้นหมดไปจากใจ
ถ้าหากว่าเราไม่คิดที่จะสละเงินทองเป็นบาทเป็นสตางค์อย่างนั้น เราก็ยังมีทางที่จะสละเวลา สละเรี่ยวแรงหรือสละอย่างอื่นๆ ที่จะเป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตัวของเราได้ เราสละเวลาที่ทำประโยชน์หาใส่ปากใส่ท้องเราเสียบ้าง แล้วทำประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือแก่โลกเป็นส่วนรวมเสียบ้าง เรี่ยวแรงของเราก็เหมือนกัน อย่าใช้เพื่อเราคนเดียวเพื่อใส่ปากใส่ท้องเราคนเดียว แต่เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นเสียบ้าง เราบริจาคที่ดินทำถนนหนทาง ขุดคู ขุดคลอง หรือทำประโยชน์สาธารณะอันอื่นให้เกิดบ่อน้ำ ให้เกิดศาลา ให้เกิดเครื่องอำนวยความสะดวก ความผาสุกต่างๆ แก่ส่วนรวม นี้มันก็เพื่อขูดเกลาความขี้เหนียว ขูดเกลาสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจให้หมดไปจากใจด้วยกันทั้งนั้น
แต่แล้วเรากลับเห็นแก่ตัวหนักขึ้น ไม่มีใครยอมทำสิ่งเหล่านี้ด้วยบริสุทธิ์ใจ สู้บรรพบุรุษ ปู่ ตา ย่า ยาย ของเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงมีความสุขมากกว่าเรา เป็นผู้มีความสุขตามธรรมชาติ ตามธรรมดาอยู่อย่างสมบูรณ์ ส่วนคนทุกวันนี้ มีความสุขอย่างอกไหม้ไส้ขม ดูข้างนอกก็สะสวยดี เรียบร้อยดีอยู่ แต่ในภายในใจนั้นเต็มไปด้วยความเร่าร้อน ร้อนเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง หรืออะไรก็สุดแท้ แต่มันล้วนแต่เป็นของร้อนทั้งนั้น และมันจะร้อนมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม หรือกว่าปู่ ย่า ตา ยาย ของเราเสียอีก นี่ถ้าเรามีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไม่ยอมเสียสละ สิ่งเหล่านั้นมันก็แผดเผาเราอย่างเต็มที่จนเราทนไม่ไหว อดกลั้นไม่ไหว รักษาสัจจะความจริงไว้ไม่ได้ เลยสาระพาเฮโล เดินไปตามทางของมาร หรือสมัครที่จะเป็นสมุนลูกน้องของภูตผีปีศาจ แล้วก็จะต้องได้ล้างผลาญกันวินาศ เป็นการเบียดเบียนกันเองไม่มีที่สิ้นสุด
นี้จึงเห็นได้ว่า ธรรมะที่เป็นเครื่องมือนี้ มันเป็นเครื่องมือจริงๆ เป็นเครื่องมืออย่างวงกว้าง เครื่องมือทำโลกนี้ให้อยู่เป็นผาสุก ทำบุคคลให้อยู่เป็นผาสุก เป็นเครื่องมือทำให้ธรรมะที่เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน ดำเนินอย่างนี้ไว้ให้แม่นยำ เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ทุกกรณี ในเรื่องปากเรื่องท้อง ก็ใช้เครื่องมือนี้ ในเรื่องสวรรค์โลกหน้ามรรค ผล นิพพาน ก็ใช้ธรรมะนี้ มันเป็นเครื่องมือชนิดที่เรียกได้ว่าสารพัดนึก คือ ใช้ได้ทุกอย่างในการสร้างสรรค์ความเจริญ แล้วแต่เราจะเอาอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง เพียงไร สัจจะ ความจริงใจ ทมะ การบีบบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องรอย ขันตี ความอดกลั้นอดทนเมื่อเจ็บปวด และจาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจดังนี้ ในที่สุดเราก็จะมีความละอายบาป กลัวบาปอย่างยิ่ง เว้นสิ่งที่ควรเว้น ดำเนินไปในสิ่งที่ควรดำเนิน ประสบความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้าและเหนือโลกโดยประการทั้งปวง คือเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนใจในธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงท้าไว้ว่า ไม่มีธรรมะไหนจะเหมาะสมแก่ฆราวาสยิ่งไปกว่าธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ด้วยกันจงทุกๆ คนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา - เทศน์ในพรรษา ปี 2503 กัณฑ์ที่ 3 เรื่อง ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ 4 ประการ