แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา ในพุทธอุทานคาถาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในโอกาสเป็นพิเศษนี้ ปรารภการที่ท่านทั้งหลาย ได้อุตส่าห์มาถึงสถานที่นี้ด้วยความลำบาก ด้วยหวังว่าจักได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม หรือการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในสถานที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจซึ่งธรรม ข้อนี้ก็ไม่มีอะไรอื่นมากไปกว่าการที่จะทำความเข้าใจในเรื่องที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดความทุกข์ ท่านทั้งหลายจะต้องศึกษาธรรมะนี้ จากความรู้สึกที่มีอยู่ในจิตใจโดยตรง จึงจะเข้าใจธรรมะได้ การอ่านหนังสือหรือการฟังเทศน์นั้น เข้าใจได้น้อยมาก แต่ถ้าศึกษาจากภายในใจโดยตรงย่อมจะเข้าใจได้มาก และเป็นตัวธรรมะที่แท้จริง คือว่าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ก็ต้องศึกษาสิ่งนั้น ให้เข้าใจว่าเป็นอย่างไร เป็นไปเพื่อความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือเพื่อความรู้สึกที่ไม่เป็นทุกข์ ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ก็คือว่า เดี๋ยวนี้ กำลังมีจิตใจเป็นอย่างไร เวลานี้ ที่นี่ กำลังมีจิตใจเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ก็จะต้องรู้ได้ด้วยตนเองว่ามันเป็นเพราะเหตุอะไร อยู่ที่บ้านมีจิตใจเป็นอย่างไร อยู่ที่นี่เวลานี้มีจิตใจเป็นอย่างไร เมื่อมันมีความต่างกันแล้ว ก็คิดดูให้ดีว่า ที่บ้านมันมีอะไร และที่นี่มันมีอะไร เมื่ออยู่ที่บ้านก็มีความรู้สึกชนิดที่รบกวน คือแสดงอาการแห่งความทุกข์ เพราะว่าที่บ้านนั้นมีสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ว่านั่นเป็นตัวกู ว่านี่เป็นของกู มีความรับผิดชอบ และมีสิ่งที่มากระทบเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จนไม่อาจจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นให้ครบถ้วนได้
ส่วนในสถานที่นี้ในเวลานี้ ๆ สิ่งชนิดนั้นไม่มี สิ่งต่าง ๆ ที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู ดังนั้นจึงมีความรู้สึกที่ไม่เหมือนกับที่อยู่ที่บ้าน คือมีความรู้สึกไม่มีความทุกข์ ที่เรียกว่าไม่มีความทุกข์นี้เป็นการกล่าวตรง ๆ ตามสภาพที่เป็นจริง คือเรียกว่าไม่มีความทุกข์ แต่ใครจะเรียกว่ามีความสุขก็ได้ ไม่มีความทุกข์ ก็หมายความว่าไม่มีอะไรเป็นเหมือนกับโรคภัยที่เสียดแทงจิตใจ ก็เรียกว่าอยู่กันผาสุก ถ้าจะเรียกว่าความสุขก็ต้องเป็นความผาสุขชนิดที่ไม่มีอะไรเสียดแทงใจ ไม่ใช่ความสุขชนิดที่ว่ามีอะไรมาบำรุงบำเรอ ระวังให้ดี สิ่งที่เรียกว่าการบำรุงบำเรอนั้น โดยที่แท้จริงแล้วหาใช่ความสุขไม่ มันเป็นความทุกข์ที่เคลือบย้อม แล้วก็บังความจริง ซ่อนเร้นความจริงเป็นอย่างมากทีเดียว เมื่อความจริงถูกซ่อนเร้นแล้วก็เข้าใจไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ก็ทำไปตามความรู้สึกคิดนึกที่ผิด ๆ หรือที่หลงใหล นี่แหละคือข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อยํ โลโก สนฺตปชาโต สัตว์โลกนี้มีความเดือดร้อนเกิดอยู่แท้ ๆ ผสฺสปเรโต แต่ว่า มีผัสสะเป็นเครื่องบังเอาไว้ โรคํ วทติ อตฺตโต ก็เลยไปหลงกล่าวสิ่งที่เสียดแทงนั้นแหละว่าเป็นตัวตน
ขอให้ฟังให้ดี ให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า สัตว์โลกนี้มีความเดือดร้อนเกิดอยู่แล้วในใจ แต่มันมีผัสสะที่กระทบนั่นกระทบนี่บังเอาไว้ ไม่ให้รู้สึกความเดือดร้อนนั้น นี้ก็แปลว่าถูกลวง ครั้นถูกลวงดังนี้แล้ว ก็ไปเข้าใจว่าไอ้สิ่งที่เป็นทุกข์หรือเสียดแทงนั่นแหละ เป็นตัวตน เป็นตัวเอง เยน หิ มญฺญติ เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด ตโต ตํ โหติ อญฺญถา สิ่งนั้นก็มาเป็นไปโดยประการอื่น ข้อนี้หมายความว่า เขาอยากจะให้อะไรเป็นอย่างไร มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น แต่เขาก็ยังขืนที่จะสำคัญว่า เขาต้องการให้เป็นอย่างนั้น หรือความเป็นอย่างนั้นเป็นของเขา อญฺญถาภาวี ภวสตฺโต โลโก ดังนั้นสัตว์โลกนี้จึงติดข้องอยู่ในความเป็นอย่างนี้ ความเป็นอย่างนั้น ทั้งที่ความจริงมันเป็นโดยประการอื่นจากที่เขายึดถือ ภวปเรโต นี้เรียกว่ามีภพเป็นเครื่องบังหน้า ภวเมวาภินนฺทติ เขาจึงเพลิดเพลินในภพนั้น ยิ่งขึ้นไปอีก ยทภินนฺทติ (นาทีที่ 9:00) เขาเพลิดเพลินต่อสิ่งใด ตํ ภยํ สิ่งนั้นแหละเป็นภัย ยสฺส ภายติ สิ่งใดเป็นภัย ตํ ทุกฺขํ สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ ทั้งหมดนี้แสดงใจความสำคัญแต่สั้น ๆ ก็ว่าคนเราในโลกนี้ มีผัสสะคือการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้นกายใจ นี่แหละเป็นเครื่องบังเอาไว้ ไม่ให้รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง โดยที่แท้แล้ว มันมีความเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลง ความไม่ได้อย่างใจอยู่เป็นประจำ แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ มันมีอะไรมากระทบ มาสัมผัส เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนตา เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เรียกว่าหลอกลวงตัวเอง โดยการเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เข้ามากลบเกลื่อน นี่เป็นเหตุให้สำคัญผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือเห็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น โดยความเป็นตัวตน สิ่งใดมากระทบ ก็ยึดถือสิ่งนั้นว่าของตน จิตใจที่กระทบนั้น ก็ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นของใหม่ เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งไม่รู้ว่าโดยเนื้อแท้ หรือตามธรรมชาติอันแท้จริงนั้นมันเป็นความเผาลน ความที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามความต้องการของตนนั้น มันเป็นความเผาลนอยู่โดยเนื้อแท้ แต่สัตว์ทั้งหลายไม่รู้สึกว่าเป็นความเผาลน เพราะว่ามีผัสสะเสนอหน้าเข้ามาใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ไม่รู้จักสิ้นสุด เขามีตัวใหม่ ตนใหม่ ตัวเองใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของผัสสะนั้น ๆ อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ผสฺสปเรโต มีผัสสะเป็นเครื่องบังหน้า บังลูกตา ที่แท้ก็คือบังจิตใจ มีผัสสะเป็นเครื่องบังลูกตาต้องฟังให้ดีสักหน่อย สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้น ก็คือการกระทบตามธรรมดาที่มีอยู่เรื่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีผัสสะอยู่เรื่อย เข้ามาทีไรก็มาหลอกให้เข้าใจผิด นี่เรียกว่าบัง แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมาหลอกหรือมันเป็นการบัง กลับพอใจสิ่งที่เป็นการหลอกหรือการบังนั้น ว่าเป็นตัวฉัน และเป็นของฉัน ส่วนที่เป็นความรู้สึกในภายในเรียกว่า ตัวฉัน สิ่งที่เข้ามาทำความรู้สึกนั้นเรียกว่า ของฉัน ตัวฉัน ของฉัน ก็เกิดอยู่เรื่อยไปดังนี้ เพราะอำนาจของผัสสะนั้น
ถ้าพูดให้ละเอียด คือว่าเมื่อตากระทบรูป เป็นต้น ก็มีผัสสะข้างนอก ให้เกิดอารมมณ์ความรู้สึก อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเวทนาข้างใน จิตก็สัมผัสเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ด้วยอำนาจ ความโง่ ความหลง หรือเรียกว่า อวิชชา ผัสสะนี้เรียกว่าอวิชชาสัมผัส นี่แหละคือผัสสะที่เป็นเครื่องบัง สัตว์ทั้งหลายมีผัสสะเป็นเครื่องบังหน้า คือบังลูกตา คือบังสติปัญญา ไม่มองเห็นสิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้นตามที่เป็นจริง ข้อนี้เป็นต้นตอ แห่งความทุกข์ทรมาน นำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน แต่สัตว์ก็เห็นเป็นของที่ตรงกันข้าม คือเอาเป็นตัวฉันและเป็นของฉัน คือน่ารัก น่ายินดี คนในโลกนี้จึงได้แสวงหาผัสสะ ที่จะให้เกิดความรู้สึก หรืออารมณ์ที่ผิดแปลกแตกต่างออกไป อยากจะมีตึก อยากจะมีรถยนต์ อยากจะมีอะไร ๆ ที่เขาแสวงหากันใหม่ ๆ ซึ่งล้วนแต่เกินความจำเป็นนี้ คือ ไม่มีก็ยังได้ ไม่มีก็ยังสบายกว่านี้ ก็ยิ่งแสวงหาสิ่งเหล่านี้มา เพื่อให้เกิดผัสสะใหม่ ๆ นี่แหละคืออาการที่เรียกว่า ผสฺสปเรโต มีผัสสะเป็นเครื่องบังอยู่ข้างหน้า ถ้าอย่ามีอย่างนี้เสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนเราจะไม่มีความทุกข์ ยุ่งยากมากมาย สลับซับซ้อน เหมือนกับที่เป็นอยู่อย่างนี้ หาเงินมาให้มากทำไมกัน ก็เพื่อซื้อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ เพื่อให้แปลก ๆ ออกไป
สิ่งที่เราจำเป็นจริง ๆ ถ้าไม่มีแล้วจะต้องตายนั้น ไม่มีอยู่กี่สิ่ง เรียกว่าสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต แต่สิ่งที่เรากำลังแสวงหาเพื่อผัสสะนั้น มันมากมายกว่านั้น หลายร้อย หลายพันเท่า คิดดูให้ดี จะเห็นว่าเงินที่ใช้ไปนั้น ใช้เพื่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี้ มากกว่าใช้แก่ความจำเป็นแก่ชีวิตมากมาย หลายร้อยหลายพันเท่า ไปคิดดูให้ดี สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องซื้อต้องหามานั้น มันมีการซื้อการหามา มากมายหลายร้อยหลายพันเท่ากว่าสิ่งที่จำเป็น นี่ก็เพราะผัสสะมันหลอก ผัสสะเป็นเครื่องบังหน้า หลอกสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้เห็นว่าจำเป็น ช่วยจำกันไว้ให้ดี ๆ ว่า สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี้ บังหน้า แล้วหลอกให้คนมันโง่ ให้เห็นสิ่งที่ไม่จำเป็นว่าจำเป็น ก็เลยเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นไปเสียหมด อะไร ๆ ก็จำเป็น เครื่องประดับประดา ตบแต่ง สวยงาม หรูหรา เครื่องสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทางเนื้อ ทางหนัง เหล่านี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปเสียหมด อย่างนี้พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า ผสฺสปเรโต นี้ สัตว์โลกนี้มีผัสสะ ทางสัมผัส ทางเนื้อหนัง นี่แหละเป็นเครื่องปิดบัง เอร็ดอร่อยทางตาบ้าง เอร็ดอร่อยทางหูบ้าง เอร็ดอร่อยทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวกายบ้าง หรือทางในใจเองบ้าง ล้วนแต่เป็นผัสสะนานาชนิด มันมีมากมาย และมีแปลก ๆ กัน สำหรับจะปิดบังจิตใจของสัตว์ ทำให้สัตว์สำคัญความเป็นเช่นนั้น ว่าเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ อย่างนี้เรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
สิ่งที่เรียกว่าผัสสะ หลอกให้มีการแสวงหาเกินพอดี การแสวงหาเกินพอดีเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งตนและผู้อื่น และเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท เกิดการเบียดเบียน นี้เรียกว่าเป็นทางให้เกิดทุกข์ ให้เหนื่อยโดยไม่จำเป็นจะต้องเหนื่อย ให้ยุ่งยากลำบาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากลำบาก พอคิดดูให้ดีก็จะรู้สึกว่า ไม่รู้จะทำไปทำไมกัน แต่พอโง่ไปก็พูดว่ายังไม่พอ ยังจะต้องเพิ่มอย่างนั้น ยังจะต้องเพิ่มอย่างนี้ ล้วนแต่สิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ท่านตรัสว่า เขาเห็นโลกโดยความเป็นตน โลกในที่นี้คือความทุกข์ เขาเห็นความทุกข์เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และก็เป็นตน หรือเป็นของตน เห็นศัตรูเป็นมิตร เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จึงได้ยาก มีความยาก มีความลำบาก มีความทนทรมาน อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น อยู่ทั้งวัน ทั้งคืน ที่บ้านที่เรือน นี่ชีวิตที่บ้านที่เรือน มีลักษณะอย่างนี้ พอมาถึงที่นี่ มานั่งอยู่ที่นี่ กลางดินกลางทรายแท้ ๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้น คือไม่ถูกผัสสะ ปิดบังหรือหลอกลวง มากถึงอย่างนั้น จิตใจจึงสบาย ไม่มีความรู้สึกว่าต้องการอะไรเลย ถ้าอยู่ที่บ้านก็ต้องการไม่รู้จักกี่ร้อยอย่าง พันอย่าง แล้วก็ยังไม่พอ ลักษณะอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า สนฺตปชาโต สัตว์โลกนี้มีความเดือดร้อนแผดเผาอยู่โดยกำเนิด มันเกิดมาโง่ มันก็ถูกแผดเผา ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่โดยกำเนิด จนกระทั่งมีแต่จะขยายการแผดเผานั้นให้กว้างขวางออกไป ให้ลึกซึ้งออกไป
เมื่อท่านทั้งหลายมานั่งอยู่ที่นี่ ก็เปรียบเทียบกันดูกับเมื่อนั่งอยู่ที่บ้าน ที่เรือน ที่นี่เราแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไร เราก็มีความสบายใจได้อย่างนี้ นี่เริ่มเข้าใจความจริงกันเสียสักอย่างหนึ่งว่า ความไม่ทุกข์ หรือจะเรียกว่าความสุขก็ตามใจนั้น ถ้าเป็นของแท้ ของจริง แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไร ที่เข้าใจว่าต้องใช้เงินมากนั้น เป็นเรื่องของผัสสะบังหน้า เห็นกงจักรเป็นดอกบัวทั้งนั้น ยิ่งอยู่ในท่ามกลางทรัพย์สมบัติพัสถาน ที่บ้าน ที่เรือน ยิ่งรู้สึกว่าไม่อิ่ม ไม่พอ หิวกระหายอย่างยิ่ง พอมานั่งอยู่โคนไม้อย่างนี้ มันกลับอิ่มไปได้ ไม่รู้สึกว่าต้องการอะไร อย่างนี้เรียกว่าไม่ถูกผัสสะหลอกลวง ไม่ถูกผัสสะปิดตา ไม่ถูกผัสสะบังหน้า นี่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรานั่งที่กลางดิน ก็ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ท่านเกิดกลางดิน ในสวนที่เที่ยวเล่น ที่เรียกว่า สวนลุมพินี ในป่า พอถึงทีท่านตรัสรู้ ท่านก็ตรัสรู้กลางดิน ที่โคนต้นไม้ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง นั่งตรัสรู้กลางดิน ใต้ต้นโพธิ์ มีหญ้ารองบาง ๆ พอให้นั่งสะดวกเท่านั้น มันก็กลางดิน ทีนี้เมื่อท่านจะนิพพาน ท่านก็นิพพานในป่าสาละ ที่เที่ยวเล่นของพวกกษัตริย์แห่งหนึ่ง ก็ที่กลางดิน อย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านิพพาน บนตึก บนโรงพยาบาล หรืออะไรทำนองนั้น พูดภาษาชาวบ้าน ธรรมดา ธรรมดาหน่อยก็ว่า พระพุทธเจ้าเกิดกลางดิน ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็กลางดิน นิพพานคือดับชีวิต ก็กลางดิน เพราะการเป็นอยู่ส่วนมากทั่ว ๆ ไปของพระพุทธเจ้า ท่านก็อยู่กลางดิน เพราะว่ากุฏิของพระพุทธเจ้านั้นพื้นดิน ถ้าไปประเทศอินเดีย ก็เที่ยวไปดูเสียบ้าง ว่ากุฏิของพระพุทธเจ้าที่เชตวัน ที่เวฬุวัน ที่เขาคิชกูฏ หรือที่ไหนก็ตามนั้น มันล้วนแต่พื้นดิน ก็เรียกว่าท่านอยู่กลางดิน ท่านพูด ท่านเทศน์ ท่านสอนกันก็ไม่เคยขึ้นธรรมาสน์ ท่านพูด ท่านสอน อยู่กลางดิน บางทีก็เป็นเวลาที่กำลังเดินทาง แวะข้างทาง นั่งลง ก็พูดกันได้ เขาพูดกัน ก็คือการสั่งสอน มีพระสูตรเป็นอันมาก หลายสูตรเหมือนกัน ที่ตรัสสอนแก่สาวกในลักษณะอย่างนี้ คือแวะพักข้างทาง ในป่าแห่งใดแห่งหนึ่งก็สอนได้ นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร แล้วมันผิดกับพวกเราอย่างไร เรากำลังต้องการอะไร เรากำลังมีความต้องการที่ไม่มีขอบเขต นี่เพราะว่าถูกผัสสะมันปิดตา ถูกผัสสะมันจูงจมูกไป สัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้
แล้วที่น่าละอายอย่างยิ่ง ก็คือว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความถูกหลอก ให้ทนทุกข์ทรมานนี้ว่าเป็นของดี นี่คือปัญหาเฉพาะหน้า อาตมาเห็นว่าคนในโลกเวลานี้ กำลังเป็นอย่างนี้กันทั้งโลก เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสัตว์ในโลกนี้เร่าร้อนอยู่โดยกำเนิด โดยธรรมชาติเพราะถูกผัสสะบังหน้า ปิดตาทำให้หลง แล้วก็ประดิษฐ์ คิดค้น สิ่งที่จะมาสนองความต้องการของผัสสะนั้นให้ยิ่งขึ้นไป การศึกษา ค้นคว้า ประดิษฐ์นั่นนี่ขึ้นในโลกเวลานี้ต้องดูให้ดีว่ามันเพื่ออะไร ที่แท้มันก็เพื่อผัสสะของคนที่จะใช้สอย ของคนที่จะซื้อหามาใช้สอย เขาจะประดิษฐ์อะไรขึ้นมาในโลก เขาต้องประดิษฐ์ให้ตรงกับความประสงค์ของคนที่มีเงินที่จะซื้อมันมาใช้สอย เขาจึงคิดก้าวหน้าใหม่ ๆ ให้มันเกิดอะไรแปลก ๆ ขึ้นมา สำหรับจะกินจะใช้จะอาบจะทา จะทำอะไรซึ่งล้วนแต่เกินความจำเป็น มากกว่าที่มันจำเป็น นี่เราจึงได้รับปัญหายุ่งยาก ลำบากมากขึ้นทุกที มีรถยนต์ไม่พอ ก็ต้องมีรถไฟ มีรถไฟไม่พอ ก็ต้องมีเรือบิน เราต้องมีอะไรอีกมากต่อไปข้างหน้าเพราะความอยากมันไม่หยุด มันไม่ยอมหยุด เพราะว่าผัสสะมันบังหน้า ได้อะไรใหม่มามันก็สร้างผัสสะใหม่ ๆ ที่ตัวเข้าใจว่าเป็นสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยนั้น ผัสสะใหม่ ๆ นี้ก็บังหน้าเรื่อยไป คือทำให้โง่เรื่อยไป มันก็แสวงหาไกลออกไป ถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องหาต้องมียิ่ง ๆ ขึ้นทุกที นี่แหละคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ในโลก คือเจริญก้าวหน้าไปแต่ในทางโง่ ให้ผัสสะมันหลอกลวง ให้ความรู้สึกทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นนี่มันหลอกลวงมากขึ้นกว่าเดิม
สมัยโบราณ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ไม่ต้องมีอะไรมาก เหมือนลูกหลานสมัยนี้ แต่กลับมีความสุข สบายกว่า ไม่เป็นโรคจิต ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นบ้ามาก เหมือนลูกหลานสมัยนี้ ยังจะต้องสร้างโรงพยาบาลโรคจิต โรคประสาท หรือโรงพยาบาลบ้าขึ้นอีกมากมายสำหรับลูกหลานสมัยนี้ เพราะว่ามันถูกผัสสะปิดบัง มันถูกผัสสะบังหน้า มันถูกผัสสะหลอกลวงพาไป ให้หลงใหลอยู่ในเรื่องของผัสสะ มันน่าเวทนา มันน่าสงสารตรงที่ว่าเขาสำคัญสิ่งใดโดยประการใด สิ่งนั้นมันกลับเป็นไปโดยประการอื่น แต่เขาก็ยิ่งหลงรักสิ่งนั้น นี้เป็นสิ่งที่ต้องดูกันให้ดี ๆ ว่าเราอยากอย่างนี้ เราต้องการอย่างนี้ เราต้องการให้มีอย่างนี้ ให้ได้อย่างนี้ ให้กินอย่างนี้ ให้อะไรอย่างนี้ เพื่อจะมีความสุข แต่สิ่งนั้น ๆ มันย่อมเป็นไปโดยประการอื่น คือ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ท่านที่รู้สึก ก็กลับก้าวหน้าไปในทางที่จะมีความสำคัญมั่นหมายอย่างอื่นต่อไปอีก คือจะเอาให้ได้อย่างนั้น จะเอาให้ได้อย่างนี้ จะเอาให้ได้อย่างโน้น ไกลออกไปเพื่อจะมาแก้ไขปัญหาที่มันไม่ได้อย่างใจนิดเดียวทีแรก ความที่สำคัญอย่างใด แล้วไม่ได้อย่างนั้น แล้วมีความสำคัญอย่างอื่น ออกไปเรื่อยอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นผู้ติดข้องอยู่ในความเป็นอย่างนั้น ในความเป็นอย่างนี้ ความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนี้ กี่อย่าง กี่ร้อยอย่าง พันอย่างนี้ เขาเรียกว่า ภพ หรือ ภว นี้แปลว่าความเป็น เมื่อไม่ได้ เมื่อไม่พอใจในความเป็นอย่างนี้ แทนที่จะหยุดต้องการเสีย ก็ไปสร้างความพอใจในความเป็นอย่างอื่น มันก็ไม่ได้ตามที่ตัวต้องการ มันก็สร้างความพอใจในความเป็นอย่างอื่น อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเวียนว่ายอยู่ในภพ ในวัฏสงสาร ในชาตินี้ ในโลกนี้ ไม่ต้องพูดถึงตาย พอตายแล้ว ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในโลกนี้ มันก็ยังเวียนว่ายในภพ ในวัฏสงสาร ทั้งที่ว่าภพนั้นมันก็ไม่ได้ตามใจ มันเปลี่ยนไปโดยความเป็นประการอื่นเรื่อยไป วิ่งตามมันก็ไม่ทัน แต่ถึงอย่างนั้น ไอ้สัตว์ที่โง่เขลาเหล่านี้ก็ยังเพลิดเพลินอย่างยิ่งอยู่ในภพนั่นเอง ย่อมปรารถนาภพแปลก ๆ ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่มันกอดกองไฟ หรือว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เอามาใส่หัว
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สนฺตปชาโต นี่มันคือคนที่มีไฟอยู่ในจิตใจ มันสมัครกอดกองไฟ มันสร้างขึ้นด้วยภพ ซึ่งมีมูลมาจากผัสสะ มีลักษณะเป็น อญฺญถาภาวี คือเขาจะมีความเป็นอย่างอื่น เป็นที่พอใจอยู่เสมอไป เขาจะมีความเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ความเป็นอย่างนี้ จะมีความเป็นอย่างอื่น เป็นที่พอใจอยู่เสมอไป นี่คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา ที่ไม่มีทางที่จะอิ่มจะพอได้ เพราะว่ามันต้องการอย่างอื่นอยู่เรื่อยไป สิ่งนี้ยังไม่ทันจะได้จะมี มันก็ต้องการอย่างอื่นแล้ว นี่เรียกว่าเป็นทาสของตัณหา ดังนั้นจึงสร้างภพใหม่เรื่อยไป สำหรับว่ายเวียน เลยไม่ต้องพบกันกับความสงบเย็นเป็นสุขเหมือนกับอยู่ที่บ้าน แล้วมาเปรียบเทียบกันดู กับที่มานั่งที่นี่สักครู่เดียวเท่านั้น มันก็คงจะแตกต่างกันลิบ เพราะเดี๋ยวนี้กำลังไม่มีภพอย่างนั้น อย่างนี้ กำลังหยุดอยู่ กำลังหยุดเสีย ไม่ถูกผัสสะหลอกลวง ไม่มี อญฺญถาภาวี คือว่าไม่เป็นผู้ที่เล่นซ่อนหากันกับภพ อย่างที่ไม่อาจจะหาเจอะได้ เขาเพลิดเพลินในสิ่งใด ในภพใด ภพนั้นกลับเป็นภัย นี่สมน้ำหน้า ไอ้สิ่งที่เขารักมาก เพลินเพลินมากเท่าไร สิ่งนั้นกลับเป็นภัยมากเท่านั้น แต่คนเหล่านี้ไม่มองเห็นว่าเป็นภัย เมื่อใดมองเห็นว่าเป็นภัย เมื่อนั้นก็เป็นทุกข์อย่างหนัก เมื่อใดไม่เห็นว่าเป็นภัย ก็ยังไม่กลัวต่อสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นไอ้การกอดกองไฟนี่มันก็มีมากขึ้น หรือลึกไปทุกที ขอให้มองดูกันในแง่นี้
ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เขายิ่งเพลิดเพลินในสิ่งใด สิ่งนั้นยิ่งเป็นภัย เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นความทุกข์ เมื่อเขาไม่กลัวต่อสิ่งที่เป็นภัย เขาก็ไม่กลัวต่อความทุกข์ ทั้งที่มันเป็นความทุกข์ ยิ่งกว่าความทุกข์ ทั้งที่มันเป็นภัย ยิ่งกว่าที่จะเป็นภัย นี่โลกเราในเวลานี้เป็นกันอยู่อย่างนี้ คนคนหนึ่งแต่ละคน หรือตัวเราเอง มันก็เป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่า ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักหนทางที่จะดับทุกข์ เพราะมีของบังหน้าคือสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ นั้นต่อไปนี้ก็ขอให้ดูให้ดี ๆ ระวังสิ่งที่เรียกว่าผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางผิวหนัง ผัสสะในทางคิดฝัน ในจิตใจของใจมันเอง ระวังผัสสะ เมื่อตากระทบรูป ก็อย่าให้มันลวง สำหรับจะไปสร้างภพ เป็นนั่น เป็นนี่ เป็นกู เป็นของกู อย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งมันมีมาก เพราะว่าเราชอบสิ่งที่เห็นด้วยตา และให้แปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้ยั่วยวน เป็นอุปกรณ์ แห่งผัสสะทางผิวหนัง เรื่องทางเพศตรงกันข้าม ล้วนแต่ต้องการอุปกรณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เป็นต้น สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยระวัง ปล่อยไปตามอารมณ์ มันจึงเป็นมากถึงขนาดนี้ ไม่มีการพักผ่อนในทางจิตใจ เพราะว่ามันอยากเรื่อยไป จนเป็นโรคเส้นประสาท แม้จะเป็นโรคเส้นประสาทกันมากยิ่งขึ้นทุกที
มีลักษณะอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเปรียบเป็นอุปมาไว้อย่างหนึ่งว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ จำไว้ เพราะจะมีประโยชน์ นี่คือการไม่พักผ่อน กลางคืนอัดควัน ก็นอนคิด นอนนึก นอนวิตกกังวล นอนวิจารณ์ นอนใฝ่ฝันไปตามความหลอกลวงของสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ อย่างนี้เรียกว่าอัดควัน ไม่ได้นอนหลับสนิท นอนฝันร้าย นอนสะดุ้ง ตลอดคืน ตลอดเดือน ตลอดปี อย่างนี้เรียกว่า อัดควัน ถ้าใครเป็นอย่างนี้ก็ระวังเถอะว่ามันจะต้องเป็นโรคเส้นประสาท เป็นโรคจิต เป็นบ้า หรืออย่างน้อยมันก็เป็นบ้าชนิดหนึ่งอยู่ในตัวแล้ว เพราะว่ากลางคืนอัดควัน พอกลางวันก็เป็นไฟ หมายความว่า วิ่งว่อนไป ตามที่ความอยาก หรือความต้องการมันชักจูงให้ไปเป็นทาสของผัสสะ หรือของอารมณ์ พอค่ำลงก็มานอนอัดควันอีก รุ่งขึ้นก็เป็นไฟอีก อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นเปรต ไม่ใช่เป็นมนุษย์ แล้วไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท ระวังให้ดี อย่าให้มีเรื่องกลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ คือ รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ถูกต้องเพียงพอ ให้รู้จักปรารถนาในทางที่ถูกที่ควร เท่าที่ควรปรารถนา มีจิตใจหยุด สงบ พอถึงกลางคืนก็นอนหลับสบาย พอถึงรุ่งเช้าขึ้นก็ทำสิ่งที่ควรจะทำ เท่าที่ควรจะทำโดยไม่ต้องถึงกับเรียกว่าเป็นไฟ คือมีจิตใจที่สงบเย็น ทำอะไรด้วยจิตใจที่สงบเย็น จะทำอะไร อะไรก็ตาม ต้องรักษาจิตใจที่สงบเย็นไว้ให้ได้ ถ้าไปทำอะไรด้วยจิตใจที่ร้อนเสียแล้ว เรียกว่าฉิบหายหมด คือมันลงทุนมากเกินไป ไม่คุ้มค่าของสิ่งที่ได้มา ดังนั้นคนเราต้องถือว่าไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นไฟ หรือเพื่อทนทุกข์ ทรมาน เราต้องไม่มีความทุกข์ ทั้งกลางวัน และกลางคืน เราต้องไม่มีความทุกข์ เราไม่เป็นบ้า เพราะถูกผัสสะปิดบัง เพราะไม่ถูกความเอร็ดอร่อยทางเนื้อ ทางหนัง มาปิดบังมาชักจูง มีใจคอปกติ เวลานี้มีจิตใจเยือกเย็นอย่างไร ก็จะเยือกเย็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จะนอนก็นอน จะทำงานก็ทำงาน ไม่ต้องมีลักษณะที่ว่าอัดควันของกิเลส ตัณหาอยู่ พอถึงกลางวันก็เป็นทาส ของกิเลส ตัณหา เรียกว่าวิ่งว่อนไปตามอำนาจ ไปบีบบังคับของกิเลส ตัณหา อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ คือ ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าเกิดมาเพื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าเรียกให้ดีเขาก็เรียกว่า เป็นเปรต หมายความว่ามันมีความอยากมากเกินไป ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่าที่รู้สึกว่าอิ่มว่าพอ คือไม่มีเวลาพักผ่อนทางจิตใจนั่นเอง ถึงจะมีอายุยืนอยู่ตั้งร้อยปี มันก็มีแต่อาการอย่างนี้ ไม่เคยพบกับความหยุด หรือความเย็นของจิตใจเอาเสียเลย นี่คือความจริงของสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่า สนฺตปชาโต มีความเร่าร้อน เกิดแล้วเป็นประจำอยู่ตลอดเวลา
ทำไมเรานับถือพระพุทธศาสนา ของพระพุทธเจ้า เรานับถือศาสนา หรือถือธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เพื่อจะดับความร้อนอันนี้ ถ้าไม่เพื่อดับความร้อนอันนี้แล้วก็ป่วยการ เพราะว่าไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังพยายามอยู่นั้น มันเป็นความร้อน เมื่อเราต้องการอะไร จะมีอะไร จะต้องทำอะไร ก็ต้องทำโดยไม่ต้องร้อน ลำพังสติปัญญาของเรา เราทำไม่เป็น มันร้อน เราต้องพึ่งสติปัญญาของพระพุทธเจ้าเอามาใช้ เพื่ออย่าให้มันเกิดความร้อน เมื่ออยากได้ก็อย่าให้มันร้อน เมื่อแสวงหาก็อย่าให้มันร้อน เมื่อได้มาก็อย่าให้มันร้อน เมื่อเก็บไว้ก็อย่าให้มันร้อน เมื่อนึกอยากจะได้ก็อย่าให้มันร้อน นี่หมายความว่าอย่านึกอยากด้วยกิเลส หรืออวิชชา ต้องนึกอยากด้วยสติปัญญา ความมีเหตุผล ควรจะมีอะไร ควรจะทำอะไร อย่างนี้มันไม่ร้อน เพราะมันมีสติปัญญา และเมื่อแสวงหา ก็อย่าแสวงหาด้วยจิตใจ ที่กลุ้มไปด้วยกิเลส ให้มีจิตใจที่ว่างจากกิเลส ให้มันเป็นจิตใจที่เยือกเย็น และก็ทำการ ทำงานไป มันได้กำไรอยู่ในตัว คือมันเป็นความสุขอยู่ในการงานนั้น แล้วการงานนั้นก็ก้าวหน้าไปด้วยดี นี่เรียกว่าเมื่อทำการงานก็ไม่ร้อน เมื่อได้ผลมามันก็ไม่ร้อน คือไม่ไปบ้า ไปหลงรักไอ้ในสิ่งที่ได้มาตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ ไม่เกิดความยึดมั่น ถือมั่น หึงหวง ตระหนี่ หรือว่ามีความคิดล่วงหน้าว่า กูจะฆ่ามึง ถ้ามาลักของกู อย่างนี้เรียกว่า มันทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ สิ่งที่ยังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้นมา ที่ไม่ใช่มาเก็บรักษาไว้ ก็ไม่ต้องร้อน คิดเสียให้ดี ทำเสียให้ดี ก็มีการเก็บรักษาไว้ มันก็ไม่เสียหายไปไหน ก็ได้ใช้จ่ายไปในทางที่ถูกที่ควร ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งหมดนี้มันไม่ร้อนถ้าทำอย่างนี้ เพราะว่ามันลืมตา มันเห็นอย่างชัดเจน แจ่มใสไม่มีอะไรบังหน้าบังตา ขอให้จำไว้ให้ดีว่า สิ่งที่จะมาบังหน้าบังตา ทำให้หน้ามืดตามืดหลงใหลนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ หมายถึงการกระทบของจิตใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งแห่งการกระทบจนเกิดเป็นตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ ในตอนนี้เรียกว่า ภพ ในตอนแรกเรียกว่า ผัสสะ เมื่อผัสสะทำหน้าที่ไป ในที่สุดมันก็เกิดภพ เป็นตัวกูของกู ในชั้นแรกก็เรียกว่าผัสสะมันบัง ในชั้นหลังก็เรียกว่าภพมันบัง คนเราจึงมีอวิชชา มีความโง่เง่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มีจิตใจชนิดที่กอดกองไฟอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาเห็นความจริงข้อนี้ จึงได้กล่าวเป็นอุทานคาถา ออกมาว่าอย่างนี้ แล้วก็มาเล่าให้ฟัง มาเทศน์ให้ฟัง มาอธิบายให้ฟัง
หวังว่าการที่ท่านทั้งหลายอุตสาห์มาถึงที่นี่ ให้ได้เข้าใจข้อความนี้แล้วก็นับว่าเพียงพอแก่การที่ได้มาเหนื่อย มาด้วยความเหน็ดเหนื่อย เสียเวลา เสียเงิน เสียทรัพย์ ถ้าได้ความรู้เรื่องนี้เรียกว่าได้ผลเกินค่า ถ้าไม่ได้ความรู้เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องมาทัศนาจรตามธรรมดา จะได้อะไรคุ้มค่าหรือไม่ก็ไปคิดดูเอง แต่ถ้าได้ความรู้ข้อนี้จริง ๆ อย่างน้อยมาได้นั่งที่นี่ ได้ความรับความเย็นอก เย็นใจ แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ต่อเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู นั่นจะมีความสุข ไม่มีความร้อน ได้รับความรู้เท่านี้ก็ยังคุ้มค่า คือแม้ว่าอาตมาจะไม่ได้แสดงธรรม ไม่ได้พูดจาอะไร ถ้าใครเดินมาถึงตรงนี้ รู้สึกจิตใจปรกติ สงบลง เย็นสบาย ระลึกได้ว่า อ้าว,เพราะที่นี่ไม่มีอะไรเป็นของกู ไม่เหมือนที่บ้าน ได้ความรู้เท่านี้ก็พอแล้วคุ้มค่าแล้ว ที่มาด้วยความยากลำบากหมดเปลือง หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้คิดนึกในข้อนี้ให้มาก จะเดินไปในที่ไหนทั่ววัดนี้ ก็ให้ได้ความรู้สึกอย่างนี้ ให้ก้อนหินเป็นตัวอย่างว่า อย่าบ้าไปนัก อยู่นิ่ง ๆ กันบ้าง ให้ต้นไม้เป็นตัวอย่างบอกว่า อย่าวุ่นวายกันนัก อยู่นิ่ง ๆ กันบ้าง อยู่นิ่ง ๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่ปรุงให้เกิดตัวกู ของกู เป็นภพขึ้นมา เพราะถูกผัสสะหลอกลวง อย่าเป็นทาสของผัสสะ อย่าเป็นทาสของกิเลสตัณหาอีกต่อไปเลย หรือว่าเป็นให้มันน้อยลง ๆ เป็นทาสของกิเลสตัณหาน้อยลง ๆ จนในที่สุดไม่เป็นเอาเสียเลย
นี่แหละ คือการได้สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้เรา และการได้สิ่งที่เรามาถือพุทธศาสนา ก็เพราะว่าเพื่อจะได้ความดับทุกข์ที่แท้จริงที่ถูกต้อง คือความรู้ข้อนี้และการปฏิบัติอย่างนี้ หวังว่าท่านทั้งหลาย คงจะถือเอาได้ตามสมควร เรียนรู้ธรรมะนี้จากจิตใจ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ หรือฟังใครพูด ต้องเรียนจากจิตใจเท่านั้นจึงจะรู้ธรรมะจริง ฉะนั้นต้องคอยสังเกตจิตใจให้ดีว่าอยู่ที่นี่เป็นอย่างไร ออกไปจากนี้เป็นอย่างไร ไปถึงบ้านเป็นอย่างไร เมื่ออยู่ที่บ้านมันกระวนกระวายอย่างไร พอขึ้นรถ เริ่มออกมาจากบ้าน ความกระวนกระวายก็ค่อยจางไปเลือนไป ไม่ทันถึงครึ่งทาง ก็ไม่มีความกระวนกระวาย ด้วยความยึดมั่นถือมั่น พอมาถึงที่นี่มันก็หมดเลย ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น เพราะมันมีแต่ต้นไม้ มันมีแต่ก้อนหิน มันมีแต่ธรรมชาติ ซึ่งปรุงแต่งผลักไสไปในทางให้หยุด ให้เย็น ให้ยอม ให้หยุดปรารถนา ให้สงบเย็น ให้ยอมก็หมายความว่า แม้ว่าจะต้องตายก็ยอมตาย ไม่ยอมเป็นทุกข์ คือว่าจะยอมไปในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะยอม เราจะเอาแต่ในทางข้างสนุกสนาน ไม่เอาในทางข้างความสงบ เป็นคนเถียงธรรมะ ไม่รู้จักยอม อยู่อย่างนี้เสมอไป ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักเย็น ไม่รู้จักยอม มันก็ต้องเป็นทุกข์ไม่มีใครช่วยได้ รู้จักหยุด รู้จักเย็น รู้จักยอม มันก็ไม่มีทุกข์ และไม่ต้องลงทุนสักสตางค์เดียว พระพุทธเจ้าท่านว่านิพพานนี้เป็นของให้เปล่า ไม่เหมือนสวรรค์วิมาน ต้องซื้อเอาด้วยเงินด้วยของ จะต้องแลกเอามาด้วยเงินด้วยของ ถ้าเป็นเรื่องของไอ้ความหลอกลวงของผัสสะ ของสวรรค์ ของวิมาน นั้นต้องเสียสตางค์ แต่ส่วนเรื่องนิพพาน คือ เรื่องหยุด เรื่องเย็น เรื่องยอมนี้กลับไม่ต้องเสียสตางค์ ไม่ต้องใช้สตางค์ เพียงแต่รู้จักทำจิตใจให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์อันแท้จริงของธรรมชาติเท่านั้น คือ อย่าให้ผัสสะบังหน้า อย่าเป็นทาสของกิเลสตัณหา อย่ามีอุปาทานปรุงเป็นภพเป็นชาติ โดยนัยยะดังที่กล่าวมา นี้คือหัวใจของพุทธศาสนา ที่จะต้องรับเอาไปเพาะปลูกในจิตใจของท่านทั้งหลายให้เจริญงอกงามก้าวหน้า มีความสุขสมตามความมุ่งหมายในการที่เกิดเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ธรรมเทศนา สมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้