แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ (เสียงท่านพุทธทาส) เอาหละ ติน (ไม่มั่นใจว่าท่านหมายถึงใครหรืออะไร) หลับแล้วแต่เช้า อาราธนาธรรมซะ (เสียงสวดมนต์) ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ ปรารภการที่ได้จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลนแห่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีในพระบรมราชูปถัมภ์ มีท่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประธานกรรมการ เพื่อส่งเสริมการศึกษาของชาติให้ไพศาลก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป การกระทำเห็นปานดังนี้เป็นการถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของพุทธบริษัทแห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่มากไปด้วยปัญญาและเมตตา ตามที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงบัญญัติไว้เป็นหลักสำคัญ เป็น ๒ ประการด้วยกันดังนี้ คนเราในโลกนี้ย่อมมีปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญในการที่จะขจัดปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ นานาให้หมดสิ้นไป แล้วมีความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่แม้กระนั้นก็ตาม เขาผู้นั้นยังจะต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยเมตตาเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งควบคู่กันไปด้วย ถ้าปราศจากเมตตาเสียแล้ว เขาก็จะเป็นคนเห็นแก่ตัว กลายเป็นคนที่ไม่น่าดู ไม่งดงามไปเสียอีก ดังพระบาลีพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ขุททกนิกาย ที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า อัตตัตถปัญญา อสุจี มนุสสา (นาทีที่ 04.01) แปลว่าผู้มีปัญญา แต่ในประโยชน์แห่งตนนั้น เป็นมนุษย์อสุจิ คือมนุษย์ไม่สะอาดหรือมนุษย์สกปรกดังนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ผู้มีปัญญาทุกคนจงได้ระลึกถึงการสงเคราะห์ผู้อื่นในฐานะเป็นหน้าที่อันจำเป็นที่จะต้องกระทำอีกอย่างหนึ่งด้วย คนทุกคนที่เกิดมาในโลกแล้วก็ต้องเป็นสมาชิกคนหนึ่งๆ ของสมาคมโลก และมีหน้าที่เกิดขึ้นแก่ตนเองโดย ๓ ทางด้วยกันเป็นอย่างน้อย คือ หน้าที่โดยธรรมชาติ หนึ่ง หน้าที่โดยธรรม หนึ่ง และหน้าที่โดยการผูกพันก็สัมพันธ์กันมากขึ้น หนึ่ง ดังนี้ หน้าที่เหล่านี้มีอยู่อย่างไม่มีทางที่ใครคนใดจะหลีกเลี่ยงได้ ผู้ใดหลีกเลี่ยงแล้ว ผู้นั้นย่อมจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิแห่งความเป็นสมาชิกของสมาคมโลกนั่นเองโดยไม่ต้องมีใครถอดถอน หากแต่กรรมของผู้นั้นเองจะเป็นผู้ถอด ถอดถอนเขาเอง แม้เขาจะมีชีวิตอยู่ก็จะเหมือนกับคนที่ตายแล้ว เพราะเขาเป็นผู้ประมาทอย่างหลับหูหลับตาสมดังพระพุทธภาษิตว่า เย ปะมัตตา ยะถามะตา (นาทีที่ 05.44) แปลว่า ชนเหล่าใดประมาทแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ตายแล้วดังนี้
บัดนี้จะได้กล่าวถึงหน้าที่ทั้ง ๓ อย่างนั้นเป็นลำดับไปทีละอย่าง สำหรับหน้าที่ประเภทที่ ๑ ที่เกิดขึ้นแก่เราโดยธรรมชาตินั้น ที่เห็นได้โดยง่าย เช่น เราจะต้องหาอาหารเลี้ยงชีวิต ต้องบริหารร่างกาย ต้องป้องกันแก้ไขความเจ็บไข้ ทั้งต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอีกมากมายเกี่ยวกับการนี้ ทำให้ทุกคนต้องมีการศึกษาฝึกฝนสติปัญญาความสามารถ แล้วพร้อมเพรียงกันในการช่วยเหลือกัน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นๆ ให้หมดไป แล้วอยู่กันเป็นสังคมที่มีความผาสุกและมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นเบื้องหน้า สมตามพระพุทธภาษิตว่า สมัคคานัง ตโป สุโข (นาทีที่06.53) แปลว่า ความพากเพียรของบุคคลผู้พร้อมเพรียงกันเป็นหมู่ ย่อมให้เกิดความสุขดังนี้ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ตามนี้ ในเบื้องต้นเราต้องช่วยเหลือกันและกันให้มีการศึกษา ให้เป็นโลกของมนุษย์ที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลายทั่วถึงด้วยการเสียสละของเรา ทั้งโดยกำลังกาย โดยกำลังทรัพย์ และโดยกำลังปัญญา และกำลังแห่งความสามัคคีดังกล่าวแล้วนั้นทุกประการ ถ้าผิดจากนี้ไปแล้ว ธรรมชาติจะลงโทษเราผู้เป็นมนุษย์ให้มีแต่ความทุกข์ยากลำบากอุตลุด ไม่น่าดู ไม่สมควรแก่นามว่ามนุษย์เลย ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่เกี่ยวกับทางวัตถุหรือทางกายเป็นส่วนใหญ่ นับว่าเป็นหน้าที่ประเภทต้นหรือประเภทแรก
สำหรับหน้าที่ประเภทที่ ๒ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมนั้น เป็นเรื่องทางจิตใจหรือทางวิญญาณเป็นส่วนสำคัญ ท่านทั้งหลายคิดดูให้ดีเถิด คนเรามิได้มีเพียงร่างกายแต่ส่วนเดียว ยังมีส่วนที่เป็นจิตใจอีกส่วนหนึ่งต่างหากด้วย แม้ร่างกายจะมีอาหารและ สิ่งอุปโภคอื่นๆ สมบูรณ์แล้ว แต่จิตใจยังเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ด้วยการขาดอาหารในทางวิญญาณ คือขาดอาหารแห่งความสะอาด ความสว่าง และความสงบของจิตนั่นเอง รูปร่างเนื้อตัวดูสะสวย ส่วนข้างในมีแต่ความสกปรก มืดมัว และเร่าร้อน เพราะความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเกิดมาจากความเห็นแก่ตัวหรือมีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวกูของกูมากเกินไปนั่นเอง แม้จะมีความร่ำรวย สะสวย หรืออำนาจวาสนาเพียงไรก็ย่อมมีอาการเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ในภายในจิต ไม่สร่างซา ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องมีการศึกษาให้ก้าวหน้าในทางธรรม มีสติปัญญาในทางธรรม มีความเคารพหนักแน่นในสัจธรรม มีความซื่อตรงต่อพระธรรม เห็นแก่พระธรรมยิ่งกว่าเห็นแก่ชีวิตหรือสิ่งใด ประพฤติหน้าที่ทุกๆ อย่างก็เห็นแก่ พระธรรมโดยมิได้เห็นแก่สิ่งใด สมตามพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า ธัมมัง สุจะริตัง จะเร(นาทีที่10.01) แปลว่า จงประพฤติธรรมให้สุจริตดังนี้แล้ว ย่อมทำลายความเห็นแก่ตัว แล้วก็อาจจะเห็นแก่ผู้อื่นได้โดยไม่ยากเลย และจะสามารถช่วยกันสร้างสรรค์ความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่นได้ เพราะคุณธรรมคือความไม่เห็นแก่ตัวนั้นเอง
สำหรับหน้าที่ประเภทที่ ๓ ที่เกิดขึ้นโดยความผูกพันแก่กันและกันในทางสังคมนั้น คือหน้าที่ทางการทดแทนบุญคุณซึ่งกันและกันเป็นส่วนใหญ่ ความผูกพันกันเพื่อร่วมมือกัน หาทางเอาเปรียบผู้อื่น ปล้นสะดมเอาประโยชน์ของฝ่ายอื่นมาแบ่งปันกันนั้น หาใช่หน้าที่ในที่นี้ไม่ หน้าที่อันแท้จริงในที่นี้เกิดมาจากจิตใจที่ ไม่เห็นแก่ตัว ผู้ที่มีจิตใจปรกติ ไม่โง่เขลางมงาย ย่อมจะยอมรับว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ ทุกคน ในโลกมีประโยชน์เกื้อกูลแก่กันและกัน มีบุญคุณแก่กันและกัน ไม่ว่าจะเป็นคนยากจนหรือคนมั่งมี ดังนั้นจะต้องรักใคร่สามัคคีและสงเคราะห์คนขาดแคลนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือเพื่อจะมีความสมดุลระหว่างบุคคล แล้วก็จะมีความสุขเสมอกันทั้งโลก ทำมนุษย์ทั้งโลกให้เป็นเหมือนบุคคลคนเดียวกัน นี่แหละคือหน้าที่ที่สมาชิกสังคมโลกหรือพลโลกทุกคนจะต้องกระทำ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีความเหมาะสมที่จะอยู่ในโลกต่อไปอีกเลย ขืนอยู่ไปก็รังแต่จะถูกบาปกรรมกระทำให้เหมือนหมกไหม้อยู่ในนรกภายใต้โลกนี้เท่านั้นเอง คนชนิดนี้เรียกกันว่า คนรกโลก ท่านสอนกันไว้ว่า น สิยา โลกวฑฺฒโน แปลว่า อย่าเป็นคนรกโลกดังนี้ ข้อนี้หมายความว่า ให้คนแต่ละคนมีหน้าที่ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่กันและกัน จนดูคล้ายกับว่าเป็นคนๆ เดียวกันเสมอไป
หน้าที่ทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้สรุปได้เป็น ๓ อย่าง คือ หน้าที่โดยธรรมชาติ หนึ่ง หน้าที่โดยธรรม หนึ่ง และหน้าที่โดยความผูกพันที่เกิดขึ้นใหม่ หนึ่ง ดังนี้ หน้าที่แต่ละอย่างละอย่างเหล่านี้จัดเป็นหน้าที่อันบุคคลจะพึงกระทำต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน ต่อประเทศชาติ และต่อโลกส่วนรวมเป็นที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็มิได้มีความหมายที่สูงไปกว่าหน้าที่อันจะพึงกระทำต่อบุคคลที่กำลังขาดแคลนหรือกำลังมีความทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าถ้ายังมีคนที่ขาดแคลนอยู่ ก็ย่อมหมายความว่ายัง ไม่มีความสมดุลในหมู่คนเหล่านั้น เมื่อยังไม่มีความสมดุล ก็หมายความว่าจะต้องมีความระส่ำระสายขึ้นเป็นหลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าจะเต็มไปด้วยความไม่สงบเรียบร้อยบ้าง ขัดขวางแก่กันและกันโดยไม่เจตนาบ้าง หรือเบียดเบียนกันโดยเจตนาบ้าง ด้วยอำนาจแห่งความไม่สมดุลนั้นโดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้ลัทธิการเมืองที่กำลังเป็นปัญหาของโลกในยุคปัจจุบันนี้ เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ก็ล้วนแต่เกิดมาจากความไม่สมดุลในหมู่มนุษย์ในลักษณะที่กล่าวแล้วนั่นเอง เมื่อคนยากจน ขาดแคลน ทนอยู่ไม่ได้ ก็ย่อมหาทางทำลายคนมั่งมี โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความไม่สมดุลอย่างอื่นๆ ติดตามมาอีก เช่น การทำสงครามยืดเยื้อกัน เป็นต้น ความเมตตาอารีสงเคราะห์กันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บุคคลที่กำลังขาดแคลนหรือกำลังมีความทุกข์เท่านั้นที่จะช่วยให้โลกเราเกิดความสงบสุข ส่วนความมีใจจืด ดูดาย ซึ่งกันและกันนั้น ย่อมทำให้โลกล่มจมไปทีละน้อยทีละน้อยอย่างชื่นตา สมดังบาลีมหาสมณภาษิตว่า อะระติ โลกะนาสิกา แปลว่า ความไม่ยินดีแก่กันและกัน เป็นเครื่องทำโลกให้ฉิบหายดังนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ควรสังวรณ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง
เกี่ยวกับข้อนี้เราควรจะระลึกถึงบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์คือผู้ที่ยอมเสียสละประโยชน์หรือความสุขส่วนตนที่ตนจะพึงได้หรือได้โดยเร็ว เพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์เสียก่อนแล้วจึงจะนึกถึงประโยชน์ตน หรืออาจจะไม่นึกถึงเสียเลยก็ได้ ในพุทธศาสนาอย่างนิกายมหายานมีหลักเกณฑ์ที่ถือกันอยู่ว่า พระโพธิสัตว์จะต้องสมาทานศีลมีใจความว่า จะตั้งหน้าตั้งตาช่วยมนุษย์ที่ตกอยู่ในกองทุกข์คนสุดท้ายเสียก่อน แล้วจึงจะยอมเข้าสู่พระนิพพาน พระโพธิสัตว์จะไม่ยอมเข้านิพพานในเมื่อยังมีสัตว์ที่ตกอยู่ในกองทุกข์เหลืออยู่ในโลกนี้แม้แต่เพียงคนเดียว ข้อนี้หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะยอมทนลำบากในการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่นึกถึงการนิพพานของตนนั่นเอง นี้คืออุดมคติสูงสุดของการช่วยเหลือผู้อื่น หรือช่วยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังขาดแคลนดังที่กำลังเป็นปัญหายุ่งยากของโลกในยุคปัจจุบัน ข้อนี้มีอรรถาธิบายอันลึกซึ้งลงไปอีกว่า พระโพธิสัตว์ได้ถือเอาการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเองเป็นความสุขหรือเป็นประโยชน์สุขอันสูงสุดของตน หาได้ละเลยประโยชน์ของตนแต่ประการใดไม่ ถ้าหากในโลกนี้มีแต่บุคคลที่มีจิตใจอย่างนี้แล้ว โลกก็จะมีความสงบสุขสักเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายอาจจะคำนวณดูได้โดยถูกต้องด้วยตนเองโดยไม่ยากเลย ผู้แสวงหาความสุขแก่ตนด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ซึ่งมักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัว สมดังพระบาลีที่มีอยู่ว่า สะตังธัมโม ทุรันวะโย (นาทีที่ 17.50) แปลว่า ธรรมะของสัตตบุรุษนั้น คนทั่วไปเข้าใจได้ยากดังนี้
การช่วยเหลือบุคคลผู้ขาดแคลนนับรวมอยู่ในธรรมของสัตตบุรุษข้อนี้ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้มองข้ามไปเสียเลย คนที่กำลังขาดแคลนนั่นแหละ คือบุคคลที่คนทุกคนในโลกควรจะให้ความสนใจและช่วยกันแก้ไขความขาดแคลนของเขา มิฉะนั้นแล้วโลกนี้จะระส่ำระสาย ไม่มีทางที่จะผาสุกสนุกสบายได้ เพราะว่าธรรมชาติหรือกฏของธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เอง หรือแม้จะกล่าวว่าพระเป็นเจ้าได้กำหนดไว้อย่างตายตัวเช่นนี้เองก็ยังได้ ความหมายก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกัน สำหรับความขาดแคลนนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ประหลาดอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งในข้อที่ว่า ทุกคนยังรู้สึกว่าตนยังต้องการอะไร หรือยังขาดแคลนอะไรอยู่อย่างหนึ่ง เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกว่าขาดแคลนความร่ำรวย แม้จะเป็นมหาเศรษฐีแล้วก็ยังรู้สึกว่าตนยัง ขาดแคลนความร่ำรวยอยู่นั่นเองอยู่เป็นนิจ สมตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในมารสังยุตต์ สังยุตตนิกายว่า ปัพพะตัสสะ สุวรรณัสสะ ชาตะรูปัสสะเกวะรา ระวิตาวะนาระเม ตัสสะ หิติวิธา สัมมันจะเร (นาทีที่19.34) แปลว่า แม้ภูเขาจะกลายเป็นทองคำไปทั้งลูกๆ ตั้ง ๒ ลูก มันก็ยังไม่พอแก่ความต้องการของบุคคลแม้เพียงคนเดียว ผู้ใดรู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติตนให้พอเหมาะพอสมเถิดดังนี้ ความขาดแคลนชนิดนี้เป็นความขาดแคลนผิดปรกติหรืออุตริวิตถาร เป็นความไม่รู้จักอิ่มจักพอในทางวิญญาณทั้งที่ตนเองมีวัตถุเหลือเฟือ เป็นความ ขาดแคลนอย่างลมๆ แล้งๆ ด้วยอำนาจการครอบงำของความเข้าใจผิดหรืออวิชชา นำมาซึ่งความลามกทางจิตใจดังมีพระบาลีในภิกษุณีวิภังค์วินัยปิฎกปรากฏอยู่ว่า อติโลโภ
หิ ปาปโก แปลว่า ความโลภที่เกินไปนั้นเป็นสิ่งที่ลามกดังนี้ บุคคลที่ไม่รู้จักอิ่มจักพอชนิดนี้เป็นคนขาดแคลนทางวิญญาณ ถูกจัดไว้ว่าเป็นคนพาล ไม่รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ชักชวนใครในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ยกย่องสรรเสริญความเมตตาปรานี ดังพระพุทธภาษิตที่ยกมาเป็นนิกเขปบทข้อที่ ๒ ว่า พาลา หะเว นับปะสังสันติ ทานัง (นาทีที่ 21.08) แปลว่า คนพาลย่อมไม่สรรเสริญการให้ทานเลยดังนี้ ข้อนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะพึงตั้งข้อสังเกตไว้ให้เป็นอย่างดี สำหรับความขาดแคลนที่แท้จริงนั้น คือการที่คนบางคนตกอยู่ในฐานะขาดแคลนวัตถุปัจจัยเครื่องยังชีพ ขาดความรู้ความสามารถในการช่วยตนเองเพราะขาดการศึกษาที่ถูกต้องและเพียงพอ ความขาดแคลนชนิดนี้ มีทางมาจากต้นเหตุ ๒ ประการ คือ ความโง่ของเขาเอง และความเขลาของบิดามารดาของเขาในการที่มิได้ให้การศึกษาที่ถูกต้องและเพียงพอแก่เขาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่ว่าโชคร้ายของเขาเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนเป็นโชคดีได้ในเมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือจากเราผู้นิยมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราอาจจะช่วยเหลือให้เขาหายโง่ด้วยการช่วยกันให้การศึกษาที่จำเป็นและเพียงพอแก่เขา ทั้งเป็นการช่วยเปลื้องบาปกรรมที่พ่อแม่ผู้มี ความเขลาของเขาได้ทำไว้ให้เขาโดยไม่รู้สึกตัวพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน แต่ในกรณีทั่วๆ ไปนั้นมักจะ เกิดมาจากการที่บิดามารดาของเขาก็เป็นผู้ขาดแคลนมาแต่เดิม
ดังนั้นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนในกรณีเช่นนี้นับว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกหรือเพื่อนร่วมการเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันอย่างมีขอบเขตอันกว้างขวาง เพราะความทนไม่ได้ของเรา ในเมื่อเราอยู่ในวิสัยที่จะช่วยเหลือเขาได้ สมดังพระมหาสมณภาษิตที่ตรัสไว้ว่า มหาปุริสตัสสะ ลักษณังกรุณา ตะโห (นาทีที่ 23.16) แปลว่า อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้เพราะความกรุณานั้นเป็นลักษณะของมหาบุรุษดังนี้ ถ้าคิดดูให้ดีทางหนึ่ง เราจะมองเห็นว่าเมื่อมีผู้ใดมีความขาดแคลนอยู่จริงๆ นั่นแหละมันเป็นโอกาสดีที่เราจะได้บุญ ถ้าไม่มีใครในโลกนี้มีความขาดแคลน เราก็หมดโอกาสที่จะได้บุญ คิดดูเถิด การที่เราถวายจตุปัจจัยแก่ทักขิไณยบุคคลในพระพุทธศาสนา กล่าวคือพระภิกษุสงฆ์ อยู่เป็นประจำวันนั้นก็เพราะว่าท่านขาดแคลนจตุปัจจัยเครื่องยังชีพโดยที่ท่านไปบวชศึกษาเล่าเรียน หรือสั่งสอนผู้อื่นอันเป็นการสืบอายุพระศาสนาเสียจนหมดเวลา เราจึงได้มีโอกาสช่วยเหลือการสืบอายุพระศาสนา ของท่าน ทำให้ท่านกลายเป็นเนื้อนาบุญ เราก็ร่ำรวยด้วยบุญดังนี้ได้ก็เพราะขาด เพราะการขาดแคลนวัตถุปัจจัยในส่วนตัวท่านเหล่านั้นเอง ดังนั้นเราควรถือเสียว่าความขาดแคลนของเพื่อนมนุษย์นั้นแล เป็นที่ตั้ง ที่อาศัยของบุญในหมู่พุทธบริษัทผู้ไม่มีความเห็นแก่ตัว การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำในฐานะ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังพระบาลีที่มีอยู่ว่า ตะเทยยะ ปะริโส ทานัง (นาทีที่ 25.03) แปลว่า เป็นคนควรให้ทานดังนี้ ดังที่ได้ยกมาไว้เป็นนิกเขปบทข้อที่ ๓ ข้างต้นนั้นแล้ว ข้อนี้หมายถึงคนทั่วไป มิได้จำกัดอยู่แต่ในขอบเขตของพุทธบริษัท และพุทธบริษัทก็ไม่ควรจะล้าหลังใครในเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์แห่งชนชาติไทย แม้จะต้องต่อสู้รอบด้านเพียงใด ในใจก็ยังเต็มไปด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าเราจะถือกันว่าความยากจนขัดสนขาดแคลนนี้นับว่าเป็นโชคร้ายที่สุดหรือเป็นโชคร้ายพื้นฐานอย่างน่าเวทนาสงสารที่สุดของมนุษย์แล้ว เราก็จะต้องไม่เฉยเมยต่อคนที่ยังขาดแคลน ในทางตรงกันข้ามเรากลับจะรู้สึกอยากและยินดี ในการช่วยเหลือผู้อื่น แล้วร่วมมือกระทำกันให้สนุกสนาน เหมือนการจัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียน ผู้ขาดแคลนแห่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีในพระบรมราชูปถัมภ์นี้ในบัดนี้ที่กำลังเปิดโอกาสให้ผู้ใจบุญทั้งหลายได้ร่วมมือหรือสมทบทุนได้โดยตลอดไป ไม่จำกัดเวลาหรือฐานะแห่งบุคคล นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นความเพลิดเพลินในการบำเพ็ญกุศลตามทางแห่งพระพุทธศาสนาที่สามารถจะกำจัดอุปัทวะทั้งหลายในโลกนี้ให้หมดไปด้วยความร่าเริงยินดี สมตามพระบาลีที่ว่า สันโต สัตตะหิ เต ระตา แปลว่า สัตตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ยินดีแล้วในการเกื้อกูลแก่สัตว์โลกดังนี้ ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทข้างต้นเป็นข้อที่ ๔ นั้นเอง
ขอกล่าวทบทวนต่อท่านสาธุชนทั้งหลายไว้ในที่นี้ครั้งหนึ่งว่า ความขาดแคลนมีอยู่ที่ไหน มันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้บุญที่นั่น ถ้าไม่มีใครที่ขาดแคลน เราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้กุศลโดยง่ายดายเหมือนอย่างที่กล่าวนี้เลย คนที่มีความขาดแคลนหรือมีโชคร้ายเพราะความขาดแคลนนี้ควรแก่การเห็นใจและทนอยู่ไม่ได้ ต้องช่วยเหลือของผู้ที่ได้พบเห็น เมื่อพิจารณาดูให้ดี ให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครที่มีโชคร้ายอย่างลึกซึ้งเท่ากับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน อนาคตของเด็กเหล่านี้กำลังมืดมน ความมืดมนนั้นเป็นอันตรายแก่สังคม ยิ่งกว่าที่จะเป็นอันตรายแก่ตัวเขาเองโดยเฉพาะ เขาจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างไม่รู้สิ้นสุดจนกว่าเขาจะตายไปอย่างน่าเวทนาชนิดที่เรียกได้ว่า ศพของเขานั้นแม้แต่สุนัขก็ไม่กินดังนี้ ยังมีที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอีกก็คือ ลูกหลาน พืชพันธุ์ที่เกิดมาจากบุคคลประเภทนี้ มีแต่จะเป็นพืชพันธุ์ที่มีความโง่เขลาติดมาแล้วมากเกินไปในสันดานหรือในอุปนิสัย ซึ่งจะเป็นการยากแก่การอบรมสั่งสอนยิ่งขึ้นทุกที เป็นการเพิ่มพูนความยุ่งยากลำบากให้แก่มนุษย์ในอนาคตที่จะพัฒนาโลกให้เจริญ ทั้งทางด้านวัตถุและทางวิญญาณ แล้วโลกนี้ก็จะกลายเป็นโลกของคนอันธพาลมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เมื่อมีมากแต่คนโง่หรือคนอันธพาลแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความลามกหรือบาปก็จะยิ่งหนาแน่นขึ้นในโลกนานาชนิด สมดังพระพุทธภาษิตที่มีอยู่ว่า ปาปานิ กัมมานิ กะรน ติ โมหา (นาทีที่ 29.35) แปลว่า คนทั้งหลายทำบาปทั้งหลายเพราะความโง่คือโมหะดังนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลายจงได้เห็นแก่เด็กๆ ตาดำๆ บางจำพวกที่กำลังเป็นนักเรียนผู้ขาดแคลนในครอบครัวที่ขาดแคลนจากวัตถุปัจจัยที่จำเป็นในการศึกษาเล่าเรียนด้วยกันจงทุกท่านเถิด เพราะว่าเขาเป็นบุคคลพวกที่มี กำลังมีโชคร้ายและจะร้ายยิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่รู้สึก แต่มันก็อยู่ในวิสัยที่ท่านทั้งหลายทุกคนสามารถช่วยป้องกันหรือแก้ไขได้โดยแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเพราะกรรมแต่หนหลังหรือเพราะความโง่เขลาของเขาในปัจจุบันนี้ก็ตาม การสงเคราะห์นักเรียนผู้ขาดแคลนให้สามารถได้รับการศึกษาเท่าที่จำเป็นแก่ชีวิตของเขาให้เป็นผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น เมื่อกล่าวโดยที่แท้แล้วก็เป็นการให้ทานธรรมอย่างหนึ่งนั่นเอง การให้ธรรมเป็นทานนั้นคือการให้ความรู้ที่สามารถทำผู้ได้รับให้สามารถช่วยเหลือตัวเองจนรอดพ้นจากความทุกข์ได้ และเป็นความสว่างไสวทางวิญญาณ ทำชีวิตนี้ให้ตื่นจากหลับและเบิกบาน ไม่มีความงัวเงียด้วยอวิชชา การกระทำนี้เป็นความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาโดยตรง จงพิจารณาดูให้ดีต่อไปอีกชั้นหนึ่งจะเห็นได้ต่อไปอีกว่า แม้ว่าเราจะสงเคราะห์นักเรียนยากจนขัดสนด้วยสิ่งของที่เป็นวัตถุ เช่น เครื่องนุ่งห่ม แบบเรียน เครื่องเขียน หยูกยา เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุ แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมีผลโดยตรงทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน มีความรู้ มีความสว่างไสวทางจิตใจ และเอาตัวรอดได้ในที่สุด เพราะความรู้อันเป็นพื้นฐานที่ดีและเพียงพอนั่นเอง การให้วัตถุในลักษณะเช่นนี้ หาใช่เป็นอามิสทานไม่ หากแต่เป็นธรรมทานอยู่ในตัวมันเอง ผู้ให้ย่อมได้ชื่อว่าให้สิ่งสูงสุดในบรรดาสิ่งที่ควรให้ ต้องตามพระพุทธภาษิตเทศนานัยที่ดังก้องแก่โสตประสาทของพุทธบริษัททุกคนอยู่แล้วว่า สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ (นาทีที่ 32.33) แปลว่า การให้ธรรมเป็นทานเป็นการให้ที่ชนะเหนือการให้ทั้งปวงดังนี้ โชคดีจะไม่เกิดมีแต่เรา ถ้าเราเฉยเมยต่อคนโชคร้ายเพราะใจจืดและดูดาย ซึ่งเป็น การแสดงอยู่แล้วว่าเป็นจิตใจที่ปราศจากความเมตตากรุณา ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่รู้จักหรือไม่รับรู้ต่อหน้าที่ในทางสังคม เพราะมีแต่ความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว พระเป็นเจ้าจะไม่กรุณาเรา ถ้าเราไม่กรุณาคน โชคร้าย ซึ่งพระเจ้ามีไว้สำหรับทดสอบน้ำใจของเราว่าประกอบอยู่ด้วยธรรมหรือหาไม่ พระเป็นเจ้าที่แท้นั้น ก็คือพระธรรมเจ้านั่นเอง ถ้าเราไม่ประพฤติตามธรรมหรือตามความประสงค์ของพระเจ้าแล้วไซร้ นั่นแหละคือการลบหลู่พระธรรมหรือเหยียบย่ำพระธรรม เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว พระธรรมกล่าวคือกฏแห่งกรรมก็จะลงโทษเราราวกับว่าตบหน้าเราเอาทีเดียว ทรัพย์สมบัติหรือเพื่อนฝูงหรืออะไรๆ ของเราก็ช่วยเราไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ใช้ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของพระธรรม กล่าวคือช่วยเหลือเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันนั่นเอง เกี่ยวกับข้อนี้พระบาลีมีอยู่ว่า นะเมยยะมานัง ทะมันเว ทิกินจิ (นาทีที่ 34.16) แปลว่า เมื่อชนทั้งหลายตายไป ทรัพย์สมบัติใดๆ สักนิดหนึ่งก็มิได้ติดตามเขาไปดังนี้ เพราะฉะนั้นเราจะเปลี่ยนแปลงทรัพย์สมบัติเหล่านี้ให้กลายเป็นบุญกุศลที่สามารถติดตามตนไปได้ในทุกๆ ภพ ให้เป็นคนโชคดีมีความสุขในทุกๆ ภพตามความประสงค์ทุกประการ ขอท่านสาธุชนทั้งหลายจงได้กระทำกรรมสันนิษฐานในข้อนี้ให้ แน่นแฟ้น มีความตั้งใจหนักแน่นในการที่จะสงเคราะห์บุคคลผู้ขาดแคลนไม่เลือกหน้าตามกำลังทรัพย์หรือกำลังปัญญา กำลังอำนาจวาสนาของตนๆ จงทุกๆ คนเถิด การสงเคราะห์ผู้อื่นนั้นมีหลักในทางธรรมะว่า เราเลือกช่วยให้ถูกต้องตามเหตุผลที่เห็นว่าควรช่วยและเท่าที่เราสามารถจะช่วย หรือจะขวนขวายชักชวนให้ร่วมมือกันทำการช่วยในรูปงานที่ไพศาลและมั่นคง การสงเคราะห์นักเรียนที่ขาดแคลนตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิดังกล่าวข้างต้นก็อยู่ในขอบเขตแห่งเหตุผลดังที่กล่าวนี้ และท่านสาธุชนทั้งหลายก็อยู่ในฐานะที่ควรช่วยและอาจจะช่วยได้โดยแท้จริงด้วยการพร้อมเพรียงกันในการสมทบทุนแห่งมูลนิธินั้นที่จัดขึ้นเพื่อสงเคราะห์นักเรียนประเภทนี้เป็นการช่วยที่เป็นหลักฐานมั่นคงดีตลอดกาลยืดยาวนานตามหลักการของมูลนิธิ คือใช้แต่ดอกผล ไม่มีการทำลายต้นทุน มีแต่จะสมทบให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกได้ว่าเป็นบุญนิธิ กล่าวคือขุมทรัพย์ที่ให้เกิดบุญแก่บุคคลนั้นๆ จนตลอดกัลปาวสานต์ ไม่มีอันตรายใดๆ มาพ้องพาลแก่บุญนิธินั้นได้ สมตามพระพุทธวจนเทศนานัยที่มีอยู่ว่า ปุญญัง โจเรหิ ทูหะรัง แปลว่า บุญเป็นสิ่งที่โจรปล้นได้ แสนยาก คือไม่สามารถจะปล้นได้เลยดังนี้ เป็นอาทิ สาธะโว
ดูก่อนท่านสาธุชนทั้งหลาย ข้อความตามที่ได้บรรยายมาโดยพิศดารทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นการแสดงให้ท่านทั้งหลายเห็นได้ด้วยดีว่า ผู้ที่มีปัญญาแต่ในเรื่องประโยชน์ของตนโดยไม่เห็นแก่อิทธิผลของผู้อื่นเสียเลยนั้นเป็นคนไม่สะอาด พวกคนพาล คนเขลาเท่านั้นที่ไม่ยินดีในการให้ทาน ไม่สรรเสริญทาน ไม่ชักชวนในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในฐานะที่เป็นหน้าที่ที่ทุกคนจักต้องช่วยเหลือกัน ส่วนพวกสัตตบุรุษนั้นย่อมยินดีในการเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะแก่บุคคลที่กำลัง ขาดแคลน อยู่ในภาวะที่ควรสงสาร ทั้งหมดนี้ตรงตามพระพุทธภาษิตบรรหารที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทเบื้องต้นครบถ้วนทั้ง ๔ หัวข้อด้วยกันนั้นว่า อัตตัตถปัญญา อสุจี มนุสสา (นาทีที่ 38.08) ผู้มีปัญญาแต่ในประโยชน์แห่งตน เป็นบุคคลที่ไม่สะอาด พาลา หะเว นับปะสังสันติ ทานัง (นาทีที่ 38.17) บุคคลผู้เป็นพาลย่อมไม่สรรเสริญการให้ทานเลย ตะเทยยะ ปะริโสทานัง (นาทีที่ 38.25) เกิดมาเป็นคนแล้วควรมีการบำเพ็ญทาน สันโต สัตตะหิ เตระตา (นาทีที่ 38.33) สัตตบุรุษทั้งหลายย่อมชื่นชมยินดีในการเกื้อกูลสัตว์ดังนี้ มีอรรถาธิบายดังที่ได้วิสัชนามาโดยสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้