แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท อนุวัฒน์โดยสมควรแก่วัน วันนี้ที่เป็นวันเข้าพรรษา เรื่องที่จะพูดกันก็คือเรื่องเกี่ยวกับพรรษา
พรรษา หมายถึง ฤดูฝน ฤดูฝนหนึ่งก็เรียกว่า พรรษาหนึ่ง มีเรื่องที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้สมคล้อยกันกับเรื่องของฤดูฝน มีทางที่จะพิจารณากันเป็น ๒ ทาง คำว่าพรรษาหรือฝนนี้ ความหมายในทางวินัยก็มีความหมายว่าจะต้องอยู่ ประพฤติปฏิบัติประจำถิ่น ไม่ท่องเที่ยวไป และประพฤติกระทำให้ดีที่สุดตลอดฤดูฝน
ถ้าจะกล่าวโดยความหมายข้างฝ่ายธรรมมะ ท่านอุปมาฝนนี้ว่าเหมือนกับกิเลสซึ่งซึ่งรั่วรดจิต ถ้าจิตอบรมไว้ไม่ดี กิเลสก็รั่วรดจิต เหมือนกับหลังคาที่มุงไม่ดี ที่มุงไม่ดี ห่าฝนก็รั่วรดบ้าง นั้นจะได้กล่าวให้เนื่องกันไป โดยความหมายทางวินัยเป็นเวลาที่จะทำอะไรให้ดีที่สุด
นี่ท่านทั้งหลายก็ควรจะถือเอาโอกาสนี้ แม้ว่าฆราวาสทั้งหลายก็ถือความหมายอันนี้ได้ด้วยเหมือนกัน สำหรับภิกษุนั้นแน่นอน ถ้าเป็นอย่างพุทธกาลเที่ยวไปไม่มีหยุด ครั้นถึงฤดูฝนก็ต้องหยุดจำพรรษาอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยในบัญญัติไว้ ไม่ให้ท่องเที่ยวไปจึงหยุดอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ให้เดินทางไกล ทีนี้ทำประโยชน์ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ที่เป็นประโยชน์ตนก็ฝึกฝนธรรมะวินัย ประพฤติปฏิบัติสมาธิ ภาวนา ให้ดีเป็นพิเศษ ที่เป็นประโยชน์ผู้อื่นก็เทศนาสั่งสอนอบรมหมู่สัตว์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะเป็นเครื่องกำจัดทุกข์แห่งตน พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฆราวาสมีกิจการงานมาก เมื่อมีกิจการงานมากมันก็มีเรื่องที่จะต้องให้เกิดทุกข์หรือเกิดปัญหามาก ถ้าจิตใจไม่มั่นคงมันก็เดือดร้อนและเป็นทุกข์ จึงต้องรู้จักทำจิตใจให้มั่นคง
พระสงฆ์ไม่เดินทางไกลในพรรษา ก็มีโอกาสสั่งสอนประชาชนในถิ่นนั้นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งยิ่งขึ้นไป เป็นที่พอใจด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เดี๋ยวนี้ก็ดูจะมีธรรมเนียมเกิดขึ้นว่าในฤดูพรรษานี้ แม้ที่เป็นฆราวาสก็ตั้งจิตประพฤติธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งให้ยิ่งๆขึ้นไปกว่าธรรมดา หรือว่าประพฤติอย่างอุกฤษฏ์จนตลอดพรรษา ก็เป็นการดี งั้นผู้ใดจะถือเอาการประพฤติปฏิบัติอย่างไรให้เป็นการปฏิบัติให้ในชั้นอุกฤษฏ์อย่างหนึ่งหรือสองอย่าง ก็ตามแต่จะทำได้ จนตลอดพรรษา ก็จะเป็นการดี ได้ชื่อว่าเข้าพรรษาด้วยเหมือนกัน แม้จะเป็นฆราวาสก็ยังสามารถจะจำพรรษาได้ด้วยการกระทำอย่างนี้
หวังว่าฆราวาสทั้งหลายจะได้พิจารณาดูให้เป็นอย่างดี ให้สำเร็จประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นบางคน จะถือว่าไม่สูบบุหรี่จนตลอดพรรษา มันก็เป็นเรื่องที่ดีและไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะมันต้องการบังคับจิตกันเป็นอย่างมากจึงจะทำให้สำเร็จได้ ขอให้ทุกคนถือเอาเป็นหลักปฏิบัติขัดเกลาตนเองด้วยกันจนทุกคนเถิด นี้เป็นความหมายในทางฝ่ายวินัย
ทีนี้ ความหมายในทางฝ่ายธรรมะนั้นก็ดังที่กล่าวแล้วว่า อุปมาฝนเหมือนกับกิเลส จะรดรั่วรดหลังคาที่มุงไว้ไม่ดี หมายความว่า จิตใจของผู้ใดดำรงไว้ไม่ดี ไม่มีธรรมะคุ้มครอง กิเลสก็จะรด คือเกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วเกิดเล่าอย่างมากมายทีเดียว ถ้าดำรงจิตไว้เป็นอย่างดีก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ก็ทำได้ด้วยกันทั้งฆราวาสและทั้งบรรพชิต ศึกษาวิธีการอบรมจิตให้เป็นที่เข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วก็ลองปฏิบัติดู เห็นผลขึ้นมาก็ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป จนได้รับผลในระดับสูงสุดได้
หรือจะกล่าวให้หมดจดสิ้นเชิงก็จะต้องกล่าวว่า รักษาศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ อย่างให้ยิ่งๆขึ้นไป เป็นผู้มีศีลสุดความสามารถที่จะมีได้ เป็นผู้รู้ความมุ่งหมายของศีลว่าได้แก่การควบคุมกายและวาจาให้สะอาดปราศจากโทษโดยประการทั้งปวง ไม่จำเพาะแต่จะแจกเป็นปานา อทินนา กาเม อย่างนี้ก็หามิได้ แต่หมายความว่าจะรักษากายและวาจาให้ปราศจากโทษไม่ว่าจะเป็นชนิดใดๆ ชนิดเล็กชนิดใหญ่ ชนิดสูงชนิดต่ำ
เมื่อปราศจากโทษเป็นกาย วาจา ที่สะอาด เป็นมนุษย์ที่สะอาดทางกายและวาจา แล้วก็มีสมาธิ คือมีจิตสะอาด ดำรงจิตไว้โดยวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สมาธิ ซึ่งก็มีความหมายสรุปได้สั้นๆ สั้นๆประโยคเดียวว่า คำเดียวว่า เอกัคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
คำพูดคำนี้ เป็นที่สรุปรวมของสมาธิทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งจะมีอยู่กี่สิบวิธีก็ตามความหมายมันก็เป็นอย่างเดียวกันนั้นคือว่า ทำจิตให้เป็นเอกัคตาจิต เอ-กะ-คะ แปลว่า มียอดยอดเดียว เอกะ แปลว่าเดียว อะคะ แปลว่า ยอด เอกะคะ แปลว่า มียอดเดียว เอกัคตา แปลว่าภาวะแห่งความมีจิตยอดเดียว เอกัคตาจิต ก็คือจิตที่มีภาวะเป็นยอดยอดเดียว
ข้อนี้ก็คือ ธรรมดาจิตนั้นฟุ้งซ่านไม่มียอดก็ได้ หรือถ้าจะนับเป็นเรื่องๆมันก็มากเรื่องเป็นหลายยอด แล้วมันฟุ้งซ่าน ถ้ามันมียอดเดียวมันก็คือมีอารมณ์อย่างเดียว มีการกำหนดอยู่เพียงอย่างเดียว เช่นอาจจะมีธรรมะเป็นอารมณ์ แล้วก็กำหนดเป็นธรรมะไปเสียให้หมด หน้าที่การงานทุกอย่างทุกประการก็กำหนดให้เป็นธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือ ธรรมะ ก็กำหนดธรรมะเป็นอารมณ์ จิตจดจ่ออยู่ที่นั่นเพียงอย่างเดียว ก็เรียกว่ามีอารมณ์เดียว เมื่อทำได้สำเร็จก็เรียกว่ามียอดยอดเดียว
หรือใครจะกำหนดอย่างอื่นก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องเดียวจดจำอยู่ในจิตทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ นี้มันก็เกิดเป็นจิตที่พิเศษขึ้นมา คือเป็นจิตที่มีความบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสรบกวน เป็นจิตที่ตั้งมั่นเข้มแข็งแน่วแน่ รวมกำลังเป็นอันเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ว่องไว เป็นจิต เป็นสิ่ง กลายเป็นจิตที่ว่องไว คล่องแคล่ว ควรแก่การงานทางจิต นี่ถ้าหากว่าทำสำเร็จเป็นเอกัคตาจิต มันก็มีลักษณะเป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตตั้งมั่น เป็นจิตคล่องแคล่วว่องไวต่อหน้าที่ของจิต
เอกัคตาจิตเช่นนี้ มุ่งหมายให้นิพพานเป็นอารมณ์เป็นเบื้องหน้า และก็เป็นเบื้องหน้าในอนาคต เป็นเบื้องหน้าอยู่ตลอดเวลา เอกัคตาจิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ทั้งเดี๋ยวนี้และทั้งต่อไป ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าทำสมาธิสำเร็จ โดยความหมายอันหมดสิ้นครบถ้วนของคำว่า สมาธิ ต่อจากทำศีล คือมีความสะอาดทางกาย ทางวาจา มาแล้ว ก็ทำจิตให้มีความสะอาดอย่างนี้อีก
ทีนี้ก็ยังเหลืออยู่แต่ปัญญา ปัญญาแปลว่าความรอบรู้ รู้ครบถ้วนที่ควรจะรู้ ครบถ้วนก็คือครบถ้วน สำหรับการที่จะดับทุกข์ได้ ถ้าสำหรับเรื่องที่จะดับทุกข์ได้แล้วเป็นรู้หมดก็เรียกว่ารู้ครบถ้วน ตรงตามความหมายของคำว่า ปัญญา ปัญญา ปะ แปลว่า ครบถ้วน ญา แปลว่า รู้ ปะญา หรือ ปัญญา ก็แปลว่า รู้อย่างครบถ้วนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดับทุกข์
นี้ก็เป็นผู้รู้อยู่อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุที่เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับแห่งทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์เป็นอย่างไร จึงเราเรียกกันว่า อริยสัจ ๔ หากท่านรู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไรก็ย่อมจะรู้เหตุของความทุกข์ ตัวมีความทุกข์เดือดร้อนวิ่งเร่าๆเผารนอยู่ในจิตใจเป็นความทุกข์ แล้วก็ใคร่ครวญดูให้ดีจนพบว่า อ้าว...มันมีเหตุมาจากการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ตามที่ต้องการบ้าง หรือได้ที่ต้องการเอาหลงรักหลงดีอยู่บ้าง มันเป็นความทุกข์ที่เผาลนจิตใจ เพราะเหตุว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่ากิเลสคือความอยาก และความยึดมั่นถือมั่น ตัณหา ความอยากคือตัณหา มันอยากในสิ่งที่พอใจ มีความรู้สึกอยากในใจ แล้วก็มีความรู้สึกจะเป็นตัวกูผู้อยาก ความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยากเพิ่งเกิดต่อเมื่อมีความอยากเกิดขึ้นเสียก่อน
เรื่องทางจิตใจมันเป็นอย่างนี้ ความอยากเกิดก่อนผู้อยาก พอเกิดความรู้สึกอยากแล้วจึงเกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนผู้อยาก ทางจิตใจเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ซึ่งก็แปลกอยู่ว่าความอยากเกิดขึ้นก่อนตัวผู้อยาก ก็เป็นเรื่องที่ควรจะสังเกตให้เข้าใจไว้ แล้วก็ดูจนรู้ว่าถ้าไม่มีความอยากมันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเมื่อไม่มีความอยากก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเป็นความว่างแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์
ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นอย่างนั้น มันก็มาเรื่องเดียวกันอีกว่าจะต้องประพฤติกระทำอย่างถูกต้องทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิต ทางสติปัญญา รู้สิ่งที่ควรจะรู้ คือรู้สิ่งที่เคยโง่ เคยหลง หรือกำลังโง่ กำลังหลงอยู่ รู้ประจักษ์ชัดทีเดียวว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ความโง่ในเรื่องทุกเรื่องที่เรียกว่าสังขารคือสิ่งปรุงทั้งหลาย อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตา มิใช่ตัวตน ถ้าไม่รู้ตามที่เป็นจริงมันก็เห็นตรงกันข้าม คือเห็นเป็นของเที่ยงที่จะเอาตามใจตัวได้ และเห็นเป็นสุขคือพอใจ และเห็นเป็นอัตตาว่าสิ่งนั้นๆเป็นตัวตนที่ตนจะยึดถือเอาได้ นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นประมวลแห่งเรื่องที่จะต้องเห็นต้องรู้ตามเรื่องที่เป็นจริง
เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายแล้ว มันก็ไม่เกิดความรัก หรือความอยาก หรือความหลงอยาก ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าไม่ดูให้ดีก็ไม่เห็น จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นเรื่องเอาไว้ล้อกันเล่นเสียกว่า
คำสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ถูกเอาไปใช้เป็นคำล้อกันเล่น อย่างนี้มันก็ไม่ได้รับผลใดเลยเป็นเรื่องเสียหาย เรื่องนี้มีไว้สำหรับศึกษา สำหรับพิจารณา เพื่อจะทำจิตที่อบรมดี ป้องกันดี ที่ฝนรั่วรดไม่ได้ หมายความว่าถ้าจิตมันมุ่งอยู่ด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งฝนคือกิเลสตัณหามันก็รั่วรดไม่ได้
นี่พยายามศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจโดยแท้จริง ถึงความจริงของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงนอกจากพระนิพพาพแล้วก็เป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งนั้น พระนิพพานสิ่งเดียวไม่ใช่สิ่งปรุงแต่ง นอกนั้นก็เป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นนาม เป็นรูป เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอัตภาพ เป็นจิต เป็นขรรค์ เป็นธาตุ เป็นอะไรก็ตาม เป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งนั้น
จำคำนี้ไว้ให้ดีว่า สังขาร สังขาร แปลว่าสิ่งปรุงแต่ง เพราะว่ามันถูกปรุงแต่งแล้ว มันยังจะปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป คำว่าสังขาร สังขาร มีความหมายอย่างนี้ จำกันไว้ดีๆ สังขารเป็นภาษาบาลี แปลเป็นไทยก็แปลว่าสิ่งปรุงแต่ง คำว่าสิ่งปรุงแต่งนี้มีความหมาย ๒ ด้าน คือด้านหนึ่งมันถูกปรุงแต่งขึ้นมาเรียกว่าสังขาร ทีนี้มันก็ปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไปอีกก็ยังเรียกว่าสังขารอีกนั่นแหล่ะ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าสังขารจึงเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยาก คือมีการปรุงแต่งไม่ให้หยุด ไม่ให้สงบ ไม่ให้ปรกติ
ทีนี้ที่เรียกว่าปรุงแต่ง ปรุงแต่ง มันมีมูลมาจากความไม่รู้ เรียกว่าอวิชชา อวิชชา สภาวะที่ปราศความรู้ที่ถูกต้อง มันไม่มีความรู้ที่ถูกต้องก็เรียกว่าอวิชชา ครั้นมันรู้ไม่ถูกต้องมันก็รู้ผิดไปหมด มันไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อัตตา คือมันเห็นสิ่งที่เป็นอนิจจังเป็นของนิจจังไปเสีย ว่าเป็นของเที่ยงไปเสีย สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขไปเสีย และสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตาไปเสีย เมื่อเห็นอย่างนี้มันก็ย่อมต้องหลงรัก ย่อมต้องการอย่างยิ่ง ย่อมยึดมั่นอย่างยิ่งเป็นธรรมดา นั่นแหล่ะคือการปรุงแต่ง
อวิชชาก็ทำหน้าที่ปรุงแต่งให้เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง สารพัดอย่างที่เป็นทุกข์เป็นความร้อนที่เผาลนจิต นี้เรียกว่า (นาทีที่ 25.15)ฝนมันรั่วลดแล้ว ฝนมันรั่วรดจิตที่มุงไว้ไม่ดี รั่วพรูลงมา จะเป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความหึงความหวง สารพัดอย่างอีกมากมายหลายสิบประการ ฝนรั่วรดกันใหญ่แล้ว
พยายามมีสติสัมปชัญญะ ดำรงจิตไว้ด้วยธรรมะซึ่งเป็นเครื่องป้องกัน คือความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง สามคำนี้สำคัญมากทำให้เกิดความรอดตั้งแต่ขั้นต้นๆแล้วก็รอดต่อไปตามลำดับ จนเป็นทางรอดครั้งสุดท้าย ทุกขั้นแห่งทางรอดล้วนแต่เป็นการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าเป็นการเห็นที่ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ชัดแจ้งยิ่งขึ้นไป ชัดแจ้งยิ่งขึ้นไปเป็นขั้นๆ
ปุถุชนที่แสนจะโง่ครั้นเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นปุถุชนชั้นดี ปุถุชนชั้นดีเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตายิ่งขึ้นไป ก็เป็นอริยบุคคลชั้นต้นๆซึ่งเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น เป็นพระโสดาบันแล้วก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไปก็เป็นพระสกิทาคา เป็นพระอนาคามี กระทั่งในขั้นสุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์ ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงที่สุดหมดจดสิ้นเชิง
ฉะนั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีๆบางทีว่าความรู้เพียง ๓ ประการนี้เท่านั้น ทำให้เกิดทางรอดไปตามลำดับ ตามลำดับ จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้มีมีนิพพานโดยสมบูรณ์ เป็นผู้มีภาวะแห่งนิพพานโดยสมบูรณ์คือภาวะที่ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าปัญญา ปัญญา ไว้ว่ามันมีลักษณะอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้
เมื่อดำรงตนอยู่ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา โดยนัยยะดังกล่าวแล้ว ก็เป็นอันว่าที่มุงหลังคาหรือ เครื่องรักษาจิตถึงที่สุด ซึ่งจะทำเป็นพิเศษให้ดีที่สุดในระยะกาลแห่งพรรษาตามขนบธรรมเนียมที่มีมาในวงของพระอริยเจ้า เป็นอริยวังสปฏิปทาคือเป็นเครื่องปฏิบัติสืบๆกันมาของพระอริยเจ้า (นาทีที่ 29.01) ... ว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับคำว่าพรรษา คือเข้าพรรษาหรือจำพรรษามาพอสมควรแล้วสำหรับจะได้ดำเนินตนให้เป็นตามนั้น ตามสติกำลังของตน
ทบทวนอีกทีหนึ่งก็ว่าพรรษา พรรษานี้โดยความหมายทางวินัย ก็คือไม่เที่ยวไปในฤดูฝนซึ่งเป็นความลำบากตน ลำบากแก่ตนเองที่จะนำความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ดังเช่นมีคำกล่าวว่าเมื่อจาริกไปในฤดูฝนก็เหยียบย่ำข้าวกล้าหรือพืชพันธุ์อะไรของชาวนา ภิกษุไม่ควรทำอย่างยิ่ง แล้วก็ไม่ต้องลำบากเกี่ยวกับฝน ก็อยู่เสียในที่แห่งเดียว ถ้าเป็นครั้งพุทธกาลมันก็แยกกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะภิกษุในครั้งพุทธกาล เที่ยวไปตลอดเวลา เที่ยวไปเที่ยวไปจาริกไป ส่วนภิกษุสมัยนี้ไม่ได้ไปไหน จะเป็นฤดูฝนหรือไม่ใช่ฤดูฝนก็ไม่ได้ไปไหนหรือมักจะไม่ได้ไปไหน มันก็เลยเหมือนกันไปเสียหมด
ทีนี้ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ฤดูฝนซะอีกกลับเที่ยวไป ก็ยังมีคนมีพระภิกษุนี่ขึ้นรถลงเรือในฤดูฝนมากอยู่เหมือนกันตามที่สังเกตเห็น นี้ก็คือไม่เคารพวินัย ถ้าจะมีเคารพจะมีความเคารพในวินัยอย่างแท้จริง จะต้องอธิษฐานจิตไม่ไปไหนจนตลอดฤดูฝน เว้นแต่เรื่องจำเป็นที่สุด จำเป็นโดยความบริสุทธิ์ใจไม่ได้แกล้งว่า เดี๋ยวนี้มันแกล้งว่า มันก็สัตตาหะเกือบจะตลอดพรรษา นี้ความหมายทางพระวินัยคือไม่ไปไหนในฤดูฝน อยู่ทำหน้าที่ในการประพฤติพรหมจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
ทีนี้ถ้ากล่าวความหมายโดยทางธรรมก็คือว่า จะคุ้มครองจิตไม่ให้ฝนรั่วรด คือมีการประพฤติปฏิบัติจัดสรรทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต เพื่อไม่ให้กิเลสเปรียบดังฝนนั้นรั่วรดจิต ทำความเพียรทางจิตไม่ให้ฝนรั่วรดจิต แต่ว่าทำความเพียรทางจิตชนิดนั้นต้องมีศีลด้วยต้องมีสมาธิด้วย มีศีลคือเตรียมพร้อมในด้านร่างกายและวาจาให้เป็นพื้นฐานสำหรับการเป็นอยู่ แล้วก็รวมสมาธิให้จิตมีกำลัง ให้จิตคล่องแคล้วว่องไวในหน้าที่การงานของจิต แล้วก็เจริญปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในความหมายของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทำได้อย่างนี้ชื่อว่าจำพรรษาอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นฆราวาส ทำได้อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้จำพรรษาอย่างยิ่ง ขอให้ทุกคนพยายาม
อาตมาได้ชี้แจงถึงเรื่องความหมายในใจความสำคัญของคำว่าพรรษา มาก็สมควรแก่เวลาแล้ว จะต้องยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เพราะยังมีกิจที่จะต้องทำต่อไป ตามพิธีระเบียบพิธีของพระสงฆ์ทั้งหลาย
ดังนั้น จึงยุติธรรมเทศนานี้ด้วยการตักเตือนว่า ทุกคนจงมีการจำพรรษาให้ถึงที่สุดแห่งกำลังจิตใจสติปัญญาของตน จะได้เจริญงอกงามในธรรมวินัย ในพระศาสนาแห่งสมเด็จพระบรมศาสดายิ่งๆขึ้นไป ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
.
(เสียงสวดมนต์)
.สำหรับผู้บวชใหม่ไม่เคยรู้เรื่อง เราจะจำพรรษาโดยความหมายดังที่กล่าวแล้วในเทศนาเมื่อตะกี้นี้ ทีนี้ข้อปฏิบัติก็คือว่าจะอยู่ในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน ถ้ามีกิจจำเป็นโดยบริสุทธิ์สัตตาหะไปได้ ไปศึกษาเรื่อง สัตตาหะเอาเอง ทีนี้คำว่าอาวาสนี้หมายถึงเขตวัดซึ่งถามเอาเอง จะรักษาอรุณวันใหม่น่ะไว้ คืออยู่ในอาวาสนี้ทุกๆอรุณ ทุกๆอรุณของวัน แต่จะอยู่ทั้งวันทั้งคืนแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้ามีกิจธุระไปไหนต้องกลับมา เกี่ยวกับการนัดวันนับอรุณ ถ้ามาทันอรุณก็นับว่ามีวันนั้นเป็นของที่ได้รับ ที่ได้รับประโยชน์
ทีนี้ก็ถือโอกาสพูด ถ้าในระยะพรรษานี้จงพยายามทำสิ่งที่ควรกระทำนั้นให้ดีที่สุด กิจวัตรทั้งหลายพยามทำให้ดีที่สุด การบิณฑบาต การกวาดวัด การรักษาความสะอาด การทำกิจต่างๆ ที่รู้กันได้เพราะว่ามีการกระทำให้เห็นอยู่ แล้วทีนี่วัดนี้ยังมีกิจวัตรอีกอันหนึ่งคือวันกรรมกร วันโกน ๗ ค่ำนี่กรรมกร เพื่อหัดนิสัยไม่เห็นแก่ตัว เพื่อขูดเกลานิสัยแห่งความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ผู้อื่น
ฉะนั้น วันกรรมกรขอให้สมัครทำกิจกรรมที่ควรจะทำนั้น โดยไม่ต้องรับแม้แต่คำว่าขอบใจจากใคร ขอบคุณ ขอบใจจากใครก็ไม่ต้องรับ เพราะว่าเราต้องการจะฝึกฝน การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัวของตัวเอง
ฉะนั้น ขอให้ทำกิจให้สมบูรณ์ทั้งเพื่อตัวเองและทั้งเพื่อผู้อื่นอย่างนี้ นี้เป็นเรื่องที่ว่าจะกระทำในพรรษา ในฐานะที่เป็นเรื่องพรรษา โดยรายละเอียดไม่ต้องพูดวันนี้เพราะมันดึกแล้ว แต่ขอให้ขอบอกเป็นเบื้องต้นว่า ทำสิ่งที่ควรทำให้เต็มความสามารถที่สุดทุกวันทุกวัน เอ้า...พอ