แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ เนื่องในการทำบุญเกี่ยวกับอายุครบรอบปี การทำบุญเช่นนี้เรียกกันว่า ทำบุญอายุ อาตมามีความเห็นว่า การทำบุญอายุนี้มีความหมายอยู่เป็น ๒ อย่าง คือทำบุญด้วยความอยากจะไม่ตายหรือความกลัวตาย เรียกว่า ทำบุญต่ออายุก็มี และกระทำเพราะเป็นความรู้สึกในชีวิตที่ได้ล่วงมา ๆ ในภาวะที่เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ไม่น่าหลงใหลยินดี นี้เรียกว่าทำบุญล้ออายุก็มี ใครจะทำบุญต่ออายุหรือทำบุญล้ออายุก็ได้ทั้งนั้น ทำบุญล้ออายุนั้นมีความหมายคล้ายกับเป็นการท้าทายว่า ทำไมอยู่มาถึงเท่านี้ยังมีปัญหาอะไรอีก มีสิ่งที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้วหรือไม่ ถ้ามีสิ่งที่ทำเสร็จแล้วในสิ่งที่ควรทำทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นการล้อเลียนความตายได้ว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาหรือเป็นสิ่งที่น่ากลัวแต่ประการใด ทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญล้ออายุ แต่ถ้าทำด้วยความหวังว่าจะมีอายุยืดยาวออกไป จะเพราะความกลัวหรือเพราะความรู้สึกอย่างไรก็ตามที ดังนี้เรียกว่าทำบุญต่ออายุ ที่เห็นอยู่โดยมากกระทำไปเพราะความกลัว คือเพราะไม่อยากจะตาย ก็กลัวตายจึงทำบุญ ในลักษณะที่เชื่อว่าจะช่วยให้ไม่ต้องตาย
ทำบุญต่ออายุนี้ก็ยังพอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ความหมายหรือ ๒ ประเภท คือ ของคนที่กลัวตาย เป็นผู้ที่มีความกลัวเป็นเหตุให้กระทำนี้ก็มี แต่ถ้าเป็นนักศึกษามีวิชามีความรู้ก็จะต้องระลึกนึกให้ดี ศึกษาให้รู้ว่าเราจะมีทางต่ออายุได้อย่างไรจริง ๆ แล้วก็กระทำให้ถูกต้องตามวิธีนั้น สำหรับในวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงวิธีที่เราจะทำบุญในลักษณะที่เป็นการต่ออายุของผู้มีสติปัญญากันจริง ๆ ได้อย่างไร โดยไม่ต้องพูดถึงการทำบุญต่ออายุของคนขี้ขลาดหรือคนที่ไม่มีความรู้ในทางธรรมะ ถ้าจะต่ออายุให้มีค่ามากออกไป ให้มีคุณค่ามากออกไป มีความหมายมากออกไป ก็ต้องอาศัยธรรมะ เป็นผู้รู้ธรรมะที่ทำความไม่ตาย แล้วก็พยายามยืดลักษณะอาการของธรรมะส่วนที่ทำความไม่ตายนั้นให้มากออกไป นี่จะมีทางธรรมได้อย่างไร จะได้วิสัชนาต่อไปพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา
เกี่ยวกับเรื่องนี้อยากจะให้หัวข้อที่สำคัญสักข้อหนึ่ง สำหรับท่านทั้งหลายจะได้จดจำเอาไว้ใช้เป็นหลักในการที่จะแก้ปัญหาข้อนี้ หลักข้อนี้อาจจะแปลกหูสำหรับคนทั่ว ๆ ไป และจะไม่ยอมเชื่อ หรือคนบางพวกจะคัดค้านอย่างไม่ยอมรับเอาทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาดูให้ดีก็อาจจะเข้าใจได้ ความข้อนี้ขอสรุปเข้าไว้เป็นหัวข้อเพียงสั้น ๆ ว่าในวัฏสงสารมีนิพพาน จงกำหนดจดจำไว้ให้ดีว่า อาตมากำลังกล่าวว่า ในวัฏสงสารมีนิพพาน คนทั่วไปเคยเล่าเรียนมาแต่ในทางที่ว่าวัฏสงสารตรงข้ามกับนิพพาน แยกกันอยู่ เราท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารเรื่อย ๆ ไปกว่าจะบรรลุถึงนิพพาน แต่ในที่นี้ขอบอกกล่าวอย่างที่ไม่เหมือนกันเลยว่า ในวัฏสงสารนั่นแหละมีนิพพาน ถ้าโง่ก็หาไม่พบ ถ้าฉลาดก็หาพบ ไม่ต้องไปหาที่ไหน ส่วนการที่ท่านจะหาพบหรือหาไม่พบนั้นมันเป็นอีกปัญหาหนึ่ง
ทีนี้จะได้พิจารณากันดูต่อไปว่า อาศัยหลักอะไรจึงได้กล่าวอย่างนี้ ข้อแรกที่สุดที่เป็นหลักกว้าง ๆ ในพระพุทธภาษิตนั้น ขอร้องให้ทุกคนระลึกนึกถึงพระพุทธภาษิตที่อาตมาเคยนำมากล่าวนำมาบอกนำมาอธิบายอยู่เสมอ ๆ ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง อันมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ ทบทวนใหม่ครั้งหนึ่งสำหรับคนที่ยังฟังไม่ถนัดว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิท แห่งโลกก็ดี หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกนั้นก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ
ทีนี้สำหรับคำอธิบายในส่วนตัวหนังสือนั้นก็คือว่า คำว่า โลก ในที่นี้หมายถึงความทุกข์ หรือปัญหาลำบากยุ่งยากของมนุษย์เรา ส่วนคำว่าในกายที่ยาววาหนึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจนั้น หมายถึง ร่างกายที่ยังเป็น ๆ ร่างกายที่ตายแล้วแม้จะยาววาหนึ่งหรืออะไรก็ตาม ไม่อาจจะหาพบสิ่งเหล่านี้ ต้องหาพบในร่างกายที่ยังเป็น ๆ ถึงจะหาพบสิ่งทั้ง ๔ นี้ คือโลก ได้แก่ ความทุกข์ เหตุให้เกิดโลก คือเหตุให้เกิดความทุกข์ ความดับสนิทแห่งโลก คือความดับสนิทแห่งทุกข์ และหนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลก คือหนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ จะกล่าวอย่างหนึ่งก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างนี้ก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในที่นี้ว่าโลก ว่าเหตุให้เกิดโลก ว่าความดับสนิทแห่งโลก และทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลก ทั้ง ๔ อย่างนี้หาพบได้ในร่างกายคนเป็น ๆ
ทีนี้ลองคิดดูต่อไปว่าเมื่อในร่ายกายคนเป็น ๆ นี้มีทั้งทุกข์และทั้งความดับสนิทแห่งทุกข์ ก็ย่อมหมายความว่าในร่างกายคนเป็น ๆ นี้มีอยู่แล้วทั้งสังสารวัฏและนิพพาน วัฏสงสารก็มีอยู่แล้วในร่างกายของคนเป็น ๆ นิพพานก็มีอยู่แล้วในร่างกายของคนเป็น ๆ ก็พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ในร่างกายของคนที่ยังเป็น ๆ เมื่อพูดว่า ความทุกข์และความดับทุกข์ก็มีอยู่ในกายนี้ หรือพูดว่าสังสารวัฏและนิพพานก็มีอยู่ในกายนี้ เราจะพิจารณากันอย่างไรจึงจะมองเห็น ข้อนี้ท่านจะต้องพิจารณาไปตามลำดับ ดังนี้คือ ร่างกายหรือจิตใจ ๒ อย่างนี้เป็นเพียงเฉพาะธาตุตามธรรมชาติ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ รวมเป็น ๖ ธาตุด้วยกัน ๖ ธาตุนี้ย่นลงเป็นร่างกายกับจิตใจ ร่างกายและจิตใจก็คือธาตุ ๖ นี้ อันนี้ยังไม่ใช่วัฏสงสาร ยังไม่ใช่นิพพาน มันยังเป็นธรรมชาติล้วน ๆ ของนามรูป ร่างกาย จิตใจ ต่อเมื่อใดมันเกิดเรื่อง นามรูปนี้จึงจะมีการปรุงแต่งเป็นนามรูปที่เป็นวัฏสงสาร หรือเป็นนามรูปที่เป็นที่ปรากฏแห่งนิพพาน ต้องดูให้ดีว่านามรูปนี้จะเป็นที่ปรากฏแห่งวัฏสงสารก็ได้ นามรูปนี้จะเป็นที่ปรากฏแห่งนิพพานก็ได้ เมื่อใดนามรูปมีการปรุงแต่งด้วยอำนาจของอวิชชา เมื่อนั้นมันก็เดือดพลุ่ง ๆ ขึ้นมาเป็นวัฏสงสาร กระทั่งเป็นความทุกข์ เมื่อใดมันไม่มีการปรุงแต่งด้วยอำนาจอวิชชา มันก็ยังหยุดอยู่ ยังดับอยู่ ยังสงบอยู่ นี้เป็นลักษณะแห่งนิพพาน
จำไว้สั้น ๆ ว่าเมื่อมันเดือดขึ้นมาก็เป็นวัฏสงสาร เมื่อมันดับเย็นอยู่ตามปกติมันก็เป็นนิพพาน แล้วบุกไปยังจิตใจก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงร่างกายเพราะว่าร่างกายก็เป็นไปตามอำนาจของจิตใจ เมื่อใดจิตใจมีการปรุงแต่งเดือดพลุ่งขึ้นมา มันก็เป็นวัฏสงสาร เมื่อใดไม่มีการปรุงแต่งมันก็ยังสงบอยู่ตามเดิมก็เป็นนิพพาน เกี่ยวกับข้อนี้ ควรจะระลึกนึกถึงพระพุทธสุภาษิตอีกส่วนหนึ่งที่ว่า จิตนี้เป็นประภัสสร แต่จิตนี้เศร้าหมอง เพราะอาคันตุกะคือกิเลสที่จรเข้ามา ตอนนี้หมายความว่าตามลำพังจิตนั้น เป็นจิตผ่องใส เป็นจิตประภัสสร ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเศร้าหมอง ต่อเมื่อใดมีกิเลสเป็นแขกบ้านแขกเมืองจรเข้ามา มันจึงจะเป็นจิตที่เศร้าหมอง ถ้าไม่มีแขกบ้านแขกเมืองจรเข้ามาก็คงเป็นจิตประภัสสรไปตามเดิม นี่แหละคือลักษณะที่เรียกว่ายังเย็นอยู่ ยังหยุดอยู่ ยังสงบอยู่ ยังเป็นนิพพานอยู่ชนิดหนึ่ง ดังนั้น ท่านจะต้องรู้ต่อไปว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพานมีหลายชนิด แต่พอเมื่อกล่าวโดยความหมายที่กว้างขวางที่สุดแล้วมีความหมายอย่างเดียวกันหมด ก็ยังดับอยู่ เย็นอยู่ สงบอยู่ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนแต่ประการใดอยู่ นี้เรียกว่านิพพาน เป็นไปลักษณะชั่วคราวก็มี เป็นไปอย่างเด็ดขาด ไม่กลับเดือดกลับร้อนอีกก็มี หรือว่าที่มันเป็นไปเองโดยบังเอิญก็มี หรือว่าเป็นเพราะเรารู้สึกตัวแล้วบังคับข่มไว้ก็มี ดังนั้น จะต้องฟังกันไว้ให้ดี ๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นคืออะไรกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นอย่างน้อยก็เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นความดับแห่งทุกข์เสมอไป ไม่ว่าจะเป็นนิพพานชนิดไหน จะถาวรหรือไม่ถาวรก็ตาม เป็นไปเองหรือว่าเรากระทำให้ปรากฏขึ้นก็ตาม ล้วนแต่มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันหมด คือเย็น ไม่ร้อน และไม่ทุกข์
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า นามรูปนี้เดือดขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นวัฏสงสาร นามรูปนี้หยุดอยู่ สงบอยู่ตามเดิมเมื่อไรก็เป็นนิพพาน ทุกคนจะต้องระลึกนึกถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ของตัวเท่าที่เกี่ยวกับตัวเอง คือที่รู้ได้ด้วยใจเองในใจของตัวเองว่า ตัวเรานี้ คือร่างกายหรือนามรูปนี้ บางเวลามันร้อนมันเดือดขึ้นมา บางเวลามันก็เย็นสบายอยู่ แล้วคิดดูให้ดีเวลาที่มันเดือดมันร้อนขึ้นมานั้นเป็นชั่วครู่ชั่วยามและเป็นส่วนน้อย เวลาที่มันสงบอยู่ ไม่เดือดนั้นมีมากกว่า เช่น เวลานอนหลับ หรือเวลาที่ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่โง่ ไม่หลง ไม่อะไรนะ ทั้งหมดนี้มันก็ยังเย็นอยู่ ยังสงบอยู่ เวลาที่นอนหลับเป็นเวลาที่ได้กำไร ที่มันหยุดอยู่ ไม่เดือด เวลาที่ตื่นอยู่นี้ส่วนมากก็ยังหยุดอยู่ แม้จะพูดจะคิดจะทำอะไรก็ยังทำได้ แต่จิตไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู คือไม่ปรุงเป็นโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ยังเรียกว่าหยุดอยู่ ดับอยู่ เย็นอยู่ พิจารณาดูให้ดีจะเห็นได้ว่า เมื่อเราตื่น ๆ อยู่นี่แหละ เวลาที่มันหยุดอยู่หรือดับอยู่นั้นยังมีมากกว่าที่เวลามันเดือดพล่านขึ้นมา เดือดพล่านมาเมื่อใดเป็นวัฏสงสารเมื่อนั้น เย็นอยู่ ดับอยู่ตามเดิมเมื่อใดก็เป็นนิพพานเมื่อนั้น เราจะเห็นได้ว่าเรานี้อยู่กันได้ด้วยนิพพาน ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเป็นบ้าตายไปแล้ว เป็นโรคเส้นประสาทตายไปแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาที่มันหยุดอยู่เย็นอยู่นั้นมันมีมากกว่าเวลาที่มันเดือด เราจึงพออยู่กันมาได้ ไม่เป็นบ้าตาย หรือไม่เป็นโรคอะไรตายเสียก่อน เพราะฉะนั้นต้องขอบใจสิ่งที่เรียกว่านิพพาน คือสิ่งที่ทำให้เราไม่เป็นบ้าและไม่ต้องตาย อยู่มาได้ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ปัญหามันก็มีเหลืออยู่นิดเดียวแต่เพียงว่า นิพพานนั้นเป็นนิพพานถาวรหรือไม่ถาวร ถ้าเป็นนิพพานไม่ถาวรมันก็เปลี่ยนแปลงได้ เราต้องทำให้เป็นนิพพานที่ถาวร คือไม่เปลี่ยนแปลง เรารู้จักทำให้เป็นนิพพานที่ถาวร คือยืดยาวไปหรือว่าไม่เปลี่ยนแปลงได้เท่าไร ก็จะเป็นการต่ออายุที่ดีที่สุด ที่ถูกต้องที่สุด เพราะฉะนั้นขอให้มุ่งหวังที่จะต่ออายุกันในลักษณะเช่นนี้เถิด ยกตัวอย่างว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดือดร้อนเป็นไฟขึ้นมา ๒ - ๓ ชั่วโมง เหลืออยู่อีกตั้ง ๒๐ กว่าชั่วโมงยังเย็นเป็นนิพพานอยู่ ทีนี้เราก็ยืด ๒๐ กว่าชั่วโมงมากออกไป ๆ ๆ จนวันหนึ่งไม่มีร้อนเลย นี่แหละคือวิธียืดอายุที่ดีที่สุด ไม่มีวิธีไหนดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาเรื่องทำอย่างไรจึงจะไม่เดือดเป็นวัฏสงสารขึ้นมา แต่ให้คงเป็นนิพพานอยู่ตามเดิมตลอดไปหรือมากขึ้น ๆ ๆ จนกว่าจะตลอดไปเป็นการถาวร
ทีนี้เราจะพิจารณาศึกษากันในคำ ๒ คำนี้ต่อไปโดยละเอียดคือคำว่า วัฏสงสาร และนิพพาน คำว่าวัฏสงสารนั้นไม่ควรจะโง่เหมือนกับคนส่วนมากหรือนักเรียนส่วนมากที่พูดว่า เป็นวัฏสงสารอยู่ตลอดเวลา อาตมาก็เคยโง่อย่างนั้นก็ได้รับคำสั่งสอนอย่างนั้น เดี๋ยวนี้มีความเห็นของตัวว่าวัฏสงสารมีเป็นคราว ๆ คือชั่วขณะที่เราเผลอ เราโง่ ปรุงเป็นตัวกูของกูขึ้นมาเท่านั้น ในขณะใดจิตมิได้ปรุงเป็นตัวกูของกู ขณะนั้นไม่มีวัฏสงสาร มีนามรูปล้วน ๆ ไม่เป็นวัฏสงสาร ยังจะเป็นไปในความหมายของนิพพาน คือเย็นอยู่ สงบอยู่ ดับอยู่ ในลักษณะอย่างหนึ่ง
จะพูดถึงวัฏสงสารกันก่อน วัฏสงสารเกิดเมื่ออารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ทางใดทางหนึ่ง เมื่อใดอารมณ์เข้ามาทางตา เป็นต้น แล้วเผลอสติ ก็คือมีอวิชชา ก็ปรุงไปในลักษณะที่เป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน และก็เป็นตัวกูของกูขึ้นมาเต้นเร่า ๆ อยู่ นี่แหละคือวัฏสงสาร มันจะมีอยู่ขณะหนึ่งจนกว่าเหตุการณ์จะผ่านไปมันก็สิ้นสุดลง วัฏสงสารก็สิ้นสุดลง จนกว่าจะมีเรื่องใหม่เข้ามาอีกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม ทางใดทางหนึ่งเป็นเรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่ ๔ ขึ้นมา
ในวันหนึ่ง ๆ นี้ขอให้เข้าใจว่าเฉพาะเมื่อมันปรุงเป็นสังขารเท่านั้นจึงจะเป็นวัฏสงสาร ถ้าไม่มีการปรุงแต่งอะไรในจิตใจก็ไม่มีวัฏสงสาร ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวว่า ในขณะใดจิตมีการปรุงเป็นปฏิจจสมุปบาทขึ้นมารอบหนึ่งนั้นก็เป็นวัฏสงสารรอบหนึ่ง พอพ้นไปก็เป็นการสงบอยู่ตามเดิม มีลักษณะเป็นนิพพานอยู่ตามเดิม เพราะฉะนั้นคนหนึ่ง ๆ ย่อมไม่เหมือนกัน บางคนมีการปรุงมากในวันหนึ่ง ๆ ปรุงหลาย ๆ วัฏสงสารหรือหลาย ๆ ปฏิจจสมุปบาท บางคนก็ไม่มากนัก พระอริยเจ้าที่เป็นชั้นพระอรหันต์ก็จะไม่ปรุงเสียเลย ส่วนคนธรรมดาเรานั้นมีการปรุงเป็นวัฏสงสารมากตามควรแก่เหตุการณ์ของคนหนึ่ง ๆ ที่เป็นอยู่อย่างประกอบไปด้วยธรรมะหรือว่าไม่ประกอบไปด้วยธรรมะเสียเลย ถ้าไม่ประกอบไปด้วยธรรมะเสียเลย มันก็มีการปรุงเป็นวัฏสงสารมากและอาจจะติดต่อกันไปก็ได้ แม้กระทั่งเวลาหลับก็ยังฝันเอาได้ ปรุงด้วยความฝันได้ แต่คนเราคงไม่เป็นมากกันถึงอย่างนั้น จะเป็นแต่ตามสมควรแก่เหตุการณ์ที่เข้ามากระทบ แต่เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อใดอารมณ์เข้ามากระทบแล้วเผลอสติเป็นความประมาทแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอวิชชาก็เกิดขึ้น แล้วก็ทำหน้าที่ปรุงสังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ขึ้นมาในขณะนั้น
นี้ก็เป็นวัฏสงสาร เป็นการเดือดพลุ่ง ๆ ขึ้นมาในลักษณะที่สวยงามอย่างที่เรียกว่าบุญก็ได้ ในลักษณะที่น่าเกลียดที่เรียกว่าบาปก็ได้ เพราะมันเป็นการปรุงเสมอกัน สิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งทางในใจเองนั่นแหละ เป็นสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสติพอมันก็ปรุงแต่งได้ ถ้ามีสติพอมันก็ปรุงแต่งไม่ได้ ปรุงแต่งก็คือทำให้เกิดความคิดในทางจิตใจเป็นไปตามลำดับ ๆ ๆ ส่งต่อทยอยกันไปจนมีความรู้สึกที่สมบูรณ์ เป็นตัวฉัน เป็นของฉันอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้จะปรุงเป็นตัณหา ความต้องการในกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นต้น ก็ยังเป็นการปรุงอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นสังขารหรือการปรุงนี้จึงปรุงได้ทั้งฝ่ายบาปและฝ่ายบุญ ทั้งฝ่ายบุญและฝ่ายบาป ถ้ามันปรุงไปให้เกิดโลภะโทสะโมหะ มันก็เป็นฝ่ายบาป ถ้ามันปรุงไปให้เกิดตัณหาในทางที่อยากดีหรือในทางที่เรียกกันว่าดี เช่นบุญ เช่นสวรรค์ เป็นต้น มันก็เป็นการปรุงไปในฝ่ายบุญ แต่ทั้งบาปและบุญก็ล้วนแต่เป็นวัฏสงสารด้วยกัน คือบาปก็ทุกข์ไปอย่างบาป บุญก็เป็นทุกข์ไปอย่างบุญ
พูดถึงบาปกันก่อนในวันหนึ่ง ๆ อาจจะปรุงให้เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมาในลักษณะที่ต่าง ๆ กันพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นอบาย ๔ ประการ คือนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เมื่อใดความโลภก็ตาม ความโกรธก็ตาม หรือความหลงก็ตาม เป็นเหตุให้เราร้อนใจเหมือนกับไฟเผาแล้ว เมื่อนั้นก็เรียกว่าเป็นสัตว์นรกแล้ว เกิดเป็นสัตว์นรกแล้ว เป็นวัฏสงสารอย่างสัตว์นรกแล้ว เมื่อใดความโลภก็ตาม ความโกรธก็ตาม หรือความหลงก็ตาม ทำให้เราโง่อย่างไม่น่าโง่ โง่เพราะความโลภนี้ก็มีกันอยู่โดยมากดังที่เห็น ๆ กันอยู่ เมื่อมีความโง่แล้ว เมื่อนั้นก็ปรุงแต่งเป็นวัฏสงสารอย่างสัตว์เดรัจฉานแล้ว คือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานไปแล้ว ณ ที่นั่งนั้นเอง เวลานั้นเอง เมื่อใดความโลภก็ตาม ความโกรธก็ตาม ความหลงก็ตาม ปรุงให้เกิดความหิวในทางวิญญาณ คือกระหายด้วยตัณหา เมื่อนั้นก็เกิดเป็นเปรตแล้ว วัฏสงสารนั้นมีอาการเป็นเปรตแล้ว แล้วเมื่อใดความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำให้ปรุงเป็นความกลัว ความขี้ขลาดขึ้นมา เช่น กลัวตาย กระทั่งต้องทำบุญอายุต่ออายุ เป็นต้น หรือกลัวอย่างอื่น กลัวสารพัดอย่าง กลัวจิ้งจก ไส้เดือน ตุ๊กแกก็ตาม เมื่อนั้นวัฏสงสารปรุงเป็นอสุรกายแล้ว คือพวกที่ขี้ขลาด นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี้เรียกว่าอบาย รวมเรียกกันว่า เป็นผลของบาป คือวัฏสงสารที่ปรุงไปในทางบาป ในรูปของความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทีนี้อีกทางหนึ่งในทางตรงกันข้ามที่ปรุงไปในทางที่เป็นบุญ เช่น กามตัณหาเกิดขึ้น ทำให้ขวนขวายประกอบกรรมที่จะนำไปสู่ความสุขประเภทกามาวจรภูมิ เมื่อใดภวตัณหาเกิดขึ้น จะทำให้ขวนขวายปรุงไปในทางที่จะให้ได้ความสุขประเภทรูปวจร เช่นที่เรียกกันว่าพวกพรหมที่มีรูป เป็นต้น เมื่อใดวิภวตัณหาปรุงไปในทางที่ทำให้เกิดการกระทำก็ได้มาซึ่งความสุขอันเป็นไปในอรูปวจรภูมิ เช่นที่เรียกกันว่าอรูปพรหม เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่าเป็นบุญหรือเป็นสวรรค์ เทวดากามาวจร ก็เรียกว่าสวรรค์ เทวดารูปวจรก็เรียกว่าสวรรค์ เทวดาอรูปวจรก็เรียกว่าสวรรค์ สวรรค์ ๓ ชนิดนี้สำเร็จมาแต่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นั้นจึงถือว่าตัณหานี้ปรุงบุญประเภทที่เป็นวัฏสงสาร บุญชนิดที่เป็นวัฏสงสารทำให้เวียนว่ายอยู่ในกาม ในรูป ในภพ หรือในสวรรค์ ตรงกันข้ามกับอีกพวกหนึ่งซึ่งทำให้เวียนวายอยู่ในอบาย ในนรก เป็นต้น นี้จะเห็นได้ว่าอวิชชาจะปรุงตัณหาให้เกิดขึ้น และเป็นไปในลักษณะที่เป็นบุญหรือเป็นบาปก็ได้
ถ้าให้เป็นไปในทางที่เป็นความโลภ โกรธ หลงโดยตรงแล้ว มันก็เป็นบาปเป็นอบายให้เป็นไปในทางตัณหาที่มีความใคร่ต่อความสุขใน ๓ ชั้นนี้ก็เรียกว่าเป็นบุญหรือสวรรค์ บุญก็ตรงกันข้ามกับบาป สวรรค์ก็ตรงกันข้ามกับอบาย แต่แม้ว่ามันจะตรงกันข้ามอย่างไร ก็ยังคงเป็นวัฏสงสารอยู่ด้วยกันเท่านั้น ในบางเวลาอาศัยตา หรือหู หรือจมูก ลิ้น กาย ใจก็ตาม คนเราได้รับความสุขอย่างกามคุณ เช่น ความสุขเนื่องด้วยเพศตรงกันข้าม อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดในสวรรค์ชั้นกามวจร เมื่อใดเราอยู่ด้วยความสงบจากกาม ว่างจากกาม แต่ไปพอใจในความสุขที่เกิดมาแต่รูปหรือนิมิตอันใดอันหนึ่งอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความสุขอย่างพรหม หรือเกิดเป็นพรหมประเภทที่มีรูป เมื่อใดจิตใจฝึกฝนดีกว่านั้น ทำได้ดีกว่านั้น ไม่ได้นึกคิดไปในสิ่งที่เป็นกามหรือเป็นรูป แต่นึกไปในสิ่งที่ไม่มีรูปแล้วพอใจอยู่ สงบอยู่ สบายใจอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า อยู่ในสวรรค์ประเภทอรูปวจร
เรื่องนี้เคยยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นว่าให้เห็นได้ง่าย ๆ ว่า ความพอใจในกามคุณ เรียกว่า ความสุขอย่างกามวจร ความเล่นของเล่นที่มีรูปไม่เกี่ยวกับกามแล้วพอใจ เรียกว่า ความสุขอย่างรูปาวจร การได้ของที่ไม่มีรูปมาเป็นเครื่องพอใจ เช่น ได้เกียรติยศ หรือความละเมอเพ้อฝันอะไรก็ตามมาเป็นต้นมา เป็นที่พอใจอย่างนี้ก็เรียกว่ากำลังได้ความสุขประเภทอรูปวจร นี้เป็นแต่เพียงตัวอย่างสำหรับเปรียบเทียบเท่านั้น บางคนหรือส่วนมากก็พอใจในความสุขประเภทกามวจร คือความสุขทางกามคุณ แต่ครั้นอายุมากเข้าทำอย่างนั้นไม่ได้ มันก็เลื่อนมาแสวงหาความสุขประเภทรูปวจร คือพอใจในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความสนใจ แต่ไม่เกี่ยวกับกามอย่างนี้ก็มี ครั้นสูงไปกว่านั้นอีก ก็เลื่อนไปสู่สิ่งไม่มีรูป แม้ในกรณีทั่วไปถ้าอยู่ได้ด้วยความเชื่อ ความใฝ่ฝัน ความพอใจในเกียรติยศ หรือความหวังหรืออะไรอย่างหนึ่งที่ไม่มีรูปแต่ทำให้เกิดความพอใจได้ ก็พอจะสงเคราะห์ได้ว่าความพอใจนั้นเป็นประเภทอรูปวจรด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ตายแล้วเนื่องในวันหนึ่ง ๆ นี้เองของคน ๆ หนึ่งที่เป็นคนธรรมดาสามัญ แม้คนที่กำลังเป็นหนุ่มเป็นสาวเวลาหนึ่งหรือเวลาส่วนมากก็จะพอใจไปตามเรื่องราวของกามาวจร คือเรื่องระหว่างเพศ แต่ก็มีเวลาที่รู้สึกเบื่อ รู้สึกเอือม อยากจะหยุด อยากจะพักผ่อน มันก็ต้องหมุนไปในทางที่ตรงกันข้าม คือไม่ใช่เรื่องของกามคุณ แต่เป็นเรื่องของความหยุด ความพักผ่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไปเล่นของเล่นเสียก็ตาม หรือมาสวดมนต์ภาวนาเสียก็ตาม จิตใจก็เปลี่ยนไปอยู่ในภูมิของรูปวจรหรืออรูปวจรตามลำดับ นี่แหละคน ๆ เดียวแท้ ๆ ในวันหนึ่ง ๆ ก็ยังสามารถจะเปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนชั้นที่เป็นบุญเป็นสวรรค์ของตนได้ในลักษณะอย่างนี้ ไปคิดดูให้ดีในข้อนี้ อย่าเข้าข้างตัวและอย่าเข้าข้างใคร ไปมองดูที่ธรรมชาติแห่งจิตใจโดยตรงก็จะมองเห็นได้ว่า จะมีแต่กามคุณอย่างเดียวตลอด ๒๔ ชั่วโมงมันก็คงจะต้องตาย มันจะต้องมีเวลาพักผ่อน เวลาพักผ่อนนั้นจิตว่างจากอารมณ์ไม่ได้ มันก็ต้องไปหาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่น ไปเดินเล่น ไปดูอะไรเล่น หรือไปเล่นของเล่นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการพักผ่อนซึ่งไม่เกี่ยวกับกาม หรืออยากจะหยุดนิ่ง ๆ เฉย ๆ หรืออยากจะสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิอย่างนี้เป็นต้น ให้ได้เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจมันก็เป็นไปได้ วันหนึ่งวันเดียวแท้ ๆ เราก็ยังเลื่อนชั้นตัวเอง เปลี่ยนชั้นตัวเองกลับไปกลับมาได้ในลักษณะอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นวัฏสงสารยังไม่ใช่นิพพาน ยังไม่ได้หยุดสงบอยู่โดยตรง แต่เราถือเอาว่ายังมีเวลาบางเวลาซึ่งมีอยู่ในระหว่างนั้น ซึ่งเป็นการพักผ่อนจริง ๆ เช่น เวลานอนหลับ เป็นต้น ไม่ได้ปรุงเป็นอะไรมันก็ยังมีอยู่ หรือเวลาที่เราไม่อยากจะคิดนึกอะไร อยากจะอยู่นิ่ง ๆ ทั้งทางกายและทางใจมันก็ยังมีอยู่ เพราะเหตุเช่นนี้เอง เราจึงจับมันได้และแบ่งแยกกันได้ว่าเวลาที่มันเดือดขึ้นมามันก็เป็นวัฏสงสาร เวลาที่มันดับหรือหยุดอยู่ก็เป็นนิพพาน วัฏสงสารเกิดต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู เป็นต้น แล้วเผลอสติ มีความประมาท อวิชชาจึงได้ช่องได้โอกาสที่จะปรุงแต่งนามรูปนั้นให้เป็นนามรูป จะรับเอาความคิดหรือความรู้สึกอันนั้นไปในทางของวัฏสงสาร คือปรุงเป็นตัวกูของกูขึ้นมาแล้วก็เดือดร้อนอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะนั้น นี่เรียกว่าเดือดเป็นไฟอยู่ เป็นวัฏสงสาร
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า นิพพาน ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไปในคน ๆ เดียวกันนั้น ในวันเดียวกันนั้นมีความสงบหรือมีความหยุดได้เพราะเหตุอะไรก็ตาม เป็นความดับความเย็นในลักษณะใดก็ตาม มากหรือน้อยก็ตาม สูงหรือต่ำก็ตาม เรียกได้ว่านิพพาน ซึ่งแปลว่าดับเย็น เกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องรู้ความหมายของคำว่านิพพานเสียก่อน คำว่า นิพพาน แปลว่า เย็น เย็นของวัตถุก็เป็นนิพพานของวัตถุ เช่น ถ่านไฟเย็นลง จนไม่ร้อนอีกต่อไป ก็เป็นนิพพานของวัตถุ คือถ่านไฟ สัตว์เดรัจฉานฝึกดีแล้ว ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไม่มีพิษร้ายอันใดอีกแล้ว เป็นสัตว์เดรัจฉานที่เย็นสนิทแล้ว นั่นก็เป็นนิพพานของสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ที่หมดกิเลสโดยแท้จริงแล้ว เป็นความเย็นสนิทแล้ว นี้ก็เป็นความเย็น เป็นนิพพานของมนุษย์ นิพพาน แปลว่าเย็นอย่างนี้
ทีนี้มาดูโดยรายละเอียดยังจะเห็นได้อีกว่า มันเป็นไปเองก็มี เราต้องบังคับข่มเอาไว้ก็มี หรือมันดับสนิทเด็ดขาดลงไปเพราะถูกตัดรากตัดเหง้าเสียหมดแล้วก็มี เป็น ๓ อย่างด้วยกัน อย่างแรกเรียกว่า ตทังคนิพพาน นิพพานซึ่งเผอิญเกิดขึ้นเพราะความประสบเหมาะนั้น ๆ อย่างนี้จะเพ็งเล็งถึงแต่ละขณะที่เรียกว่า จิตเป็นประภัสสรมากกว่าเป็นอย่างอื่น จิตตามปกติมีลักษณะเป็นประภัสสร ไม่ได้มีกิเลสเข้าเจือขณะใดเป็นอย่างนั้น คือตามสภาพเดิมของมันอย่างนั้น เรียกว่าเป็นตทังคนิพพานก็ได้ หรืออีกอย่างหนึ่งมีสิ่งอย่างไรมาสะดุดใจมาแวดล้อม เช่น ไปนั่งที่ตรงไหน ไปคุยกับใคร สนทนากับผู้ใด สิ่งนั้นก็ทำให้จิตหยุดเย็นสงบไปได้ นี้ก็เรียกว่าเป็นตทังคนิพพาน คือความเย็นหรือนิพพานที่เกิดขึ้นเพราะความประจวบเหมาะนั้น ๆ ความประจวบเหมาะนี้มีหลายอย่าง แสดงได้โดยง่ายที่สุดก็คือการคบหาสมาคมกับคนที่เย็น ไปนั่งใกล้คนที่เย็น ไปพูดจาสนทนากับคนที่เย็น หรือแม้แต่ไปนั่งที่โคนต้นไม้ นั่งใกล้ก้อนหินที่มีลักษณะเย็น มันก็จะพลอยเย็นไปเองได้ รวมแล้วเรียกว่า ตทังคนิพพาน คือนิพพานที่เกิดขึ้นจากการประจวบเหมาะนั้น ๆ นี้เป็นอย่างหนึ่งซึ่งเรามีได้โดยไม่ยากเลย แต่มองข้ามกันไปเสียเพราะความโง่นั้นเอง
ที่ถัดขึ้นไปเรียกว่า วิกขัมภนนิพพาน คือ นิพพานที่ปรากฏอยู่เพราะบังคับเอาไว้ ข่มเอาไว้ เห็นได้ง่ายในการเจริญสมาธิภาวนาบางอย่าง ที่ทำให้จิตสงบอยู่และรักษาไว้ได้ด้วยอำนาจของการเจริญสมาธินั้น ความเย็นอย่างนี้เป็นวิกขัมภนนิพพาน มีรสชาติอย่างเดียวกัน แต่มันมาจากการที่เราบังคับเอาไว้ รักษาเอาไว้ด้วยการปฏิบัตินั้น ๆ
ทีนี้สูงขึ้นไปเรียกว่า สมุจเฉทนิพพาน หมายถึง การตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ตัดอวิชชาได้หมดสิ้น หรือกล่าวให้ถูกต้องก็คือ ตัดโอกาสที่อวิชชาจะปรุงแต่งเสียอย่างหมดสิ้น หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าตัดความเคยชินแห่งอวิชชาเสีย เพราะว่าความเคยชินนี้แหละ คือคำที่เรียกว่าอนุสัย หรือสังโยชน์ เราเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสอย่างไหนกันบ้าง จนเป็นธรรมดาสามัญที่สุด ความเคยชินอย่างนั้นเรียกว่า เรียกว่า อนุสัย หรือสังโยชน์ ในทางกามก็มี ในทางความโกรธก็มี ในทางความหลง ความสงสัย อะไรก็มี มีอยู่หลายชื่อด้วยกัน แต่แล้วเรียกได้ว่าเป็นความเคยชินทั้งนั้น เช่น สักกายทิฏฐิ มีความเคยชินในการถือตัว เห็นแก่ตัว เป็นตัวกูของกูหยาบ ๆ วิจิกิจฉา คือ ความเคยชินในการที่จะระแวงสงสัย ไม่ยอมรับเอาว่านี่เป็นสิ่งที่ควรที่ถูก สีลัพพตปรามาส ความเคยชินในความงมงาย ประพฤติปฏิบัติทางไสยศาสตร์ เป็นต้น อย่างมีความงมงาย หรือปฏิบัติศีลวัตรในพระพุทธศาสนานี้นี่เองก็ตาม แต่ทำไปอย่างงมงายจนเคยชิน กามราคะ ชินในทางที่เกิดความรู้สึกทางกาม ปฏิฆะ ชินในการที่จะเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง รูปราคะ นี้สูงขึ้นไป ชินในการที่จะหลงใหลในความสุขอันเกิดจากรูปธรรมบริสุทธิ์ อรูปราคะ ชินในการที่หลงใหลในความสุขอันเกิดจากอรูปธรรมที่บริสุทธิ์ มานะ ความเคยชินในการที่จะวัดตัว เปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าดีกว่าเขา หรือเลวกว่าเขา หรือเสมอกันกับเขา อย่างนี้เป็นต้น อุทธัจจะ ความทึ่งหรือความสนใจในสิ่งใดที่เข้ามา ที่ผ่านเข้ามา ก็อดที่จะสนใจไม่ได้ อดที่จะทึ่งไม่ได้ อดที่จะค้นคว้าไม่ได้ ส่วนอวิชชา ตัวสุดท้ายนั้นคือชินที่จะโง่ ชินที่จะหลง ชินที่จะเผลอสติ ถ้าเราตัดความชินเหล่านี้ได้หมดแล้วก็เรียกว่าตัดสังโยชน์และอนุสัยได้ นิพพานนั้นก็จะถาวร เป็นนิพพานจริง จริงตรงที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนิพพาน ๒ อย่างข้างต้น คือ ตทังคนิพพาน และวิกขัมภนนิพพานนั้นยังเปลี่ยนแปลง และเป็นไปโดยความประจวบเหมาะหรือสิ่งแวดล้อม ยังไม่อยู่ในอำนาจหรือในโอกาสของเราโดยแท้จริง
ส่วนสมุจเฉทนิพพานนั้นเมื่อตัดรากเหง้าของกิเลสแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป มันจะยิ่งกว่าที่จะอยู่ในอำนาจของเรา จึงเป็นนิพพานจริง มีลักษณะเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นวัฏสงสารได้ คือ นิพพานที่ถึงที่สุดจนนามรูปนี้ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นวัฏสงสารได้ จึงเรียกว่าตัดวัฏสงสารได้ขาดและเป็นนิพพานจริง ส่วนนิพพาน ๒ อย่างข้างต้นนั้นกลับไปกลับมา สลับกันอยู่กับวัฏสงสาร แต่อย่างไรก็ดี ยังก็กล่าวได้อยู่นั่นเองว่า ในร่างกายอันยาววาหนึ่งนี้ มีทั้งนิพพานมีทั้งวัฏสงสารอยู่ในที่เดียวกัน ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานที่สมบูรณ์ก็ยังต้องกลับไปกลับมา เป็นนิพพานเป็นวัฏสงสารสลับซับซ้อนกันอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลาที่จิตยังรับอารมณ์มาปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู มันก็ยังเป็นวัฏสงสารได้อยู่เพียงนั้น แม้ว่าในบางขณะไม่ได้รับอารมณ์อะไรมาปรุงแต่งเลย แต่ถ้าจิตได้รับการอบรมดีถึงที่สุดแล้วโดยวิธีใดก็ตาม มันก็กลายเป็นจิตชนิดพิเศษ คือเต็มไปด้วยคุณธรรมชนิดที่ไม่เป็นความหลง ไม่เป็นความยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป มีอาการเหมือนกับที่เรียกโดยคำอุปมาว่าตบมือข้างเดียว ตามธรรมดาคนตบมือสองข้างมีเสียงดัง นี่หมายถึงจิตรับอารมณ์มาปรุงแต่ง มาเกิดความยึดมั่นถือมั่น นี้มันก็ดังไปตามแบบของวัฏสงสาร คือดังไปในแบบของความทุกข์ แต่เมื่อใดจิตไม่รับอารมณ์ มีลักษณะเหมือนตบมือข้างเดียว เสียงดังนั้นก็เป็นเสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงของนิพพาน เป็นเสียงแห่งความเงียบ เป็นเสียงแห่งความเย็น เป็นเสียงแห่งความสงบ ดังก้องทั่วไปทั้งจักรวาล คือเสียงแห่งการตบมือข้างเดียว ตบมือสองข้างเปาะแปะดังอยู่ที่ตรงนี้ แล้วก็เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ตบมือข้างเดียวดังได้ยินทั่วจักรวาล มีแต่ความเย็น มีแต่ความเงียบ
นี้เป็นอุปมาที่ควรจะจำไว้เพื่อสะดวกหรือง่ายแก่การคิดหรือการนึก การที่ตัดอวิชชา หรือตัดโอกาสของอวิชชา หรือตัดความชิน ความเคยชินของอวิชชาเสียได้นั้นเป็นนิพพาน สิ่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง จึงเรียกว่าเป็นนิรันดรหรือเป็นอนันตะ สิ่งนี้ไม่มีความตายอีกต่อไป จึงเรียกว่าอมตะ คนเข้าใจผิดเอาไปไว้ที่อื่น ที่จริงมันก็อยู่ที่นี่ หาพบได้ในนิพพาน ที่ใดมีความร้อนมาก ที่นั้นจะหาพบความเย็นมาก ที่ใดมีความร้อนน้อย ที่นั้นจะหาพบความเย็นน้อย ลองคิดดูให้ดี ความร้อนน้อยดับลงไปมันก็มีความเย็นน้อย ความร้อนมากดับลงไปมันก็มีความเย็นมาก เพราะฉะนั้นความเย็นที่มากที่สุดนั้น จะต้องหาพบท่ามกลางความร้อนที่มากที่สุด จึงเกิดคำอุปมาขึ้นมาอีกว่า จงพยายามหาจุดเย็นที่สุดในกลางเตาหลอม คำว่าเตาหลอมนี้ ตามธรรมดาเราก็พอจะเข้าใจกันได้ว่ามันมีความร้อนมาก ก็ต้องการหลอมโลหะ เย็นที่สุดอยู่ตรงใจกลางเตาหลอม หมายความว่าดับความร้อนสูงสุดได้เท่าไรก็มีความเย็นสูงสุดที่นั่น เพราะฉะนั้นสังสารวัฏเท่าไร นิพพานก็เท่านั้น สังสารวัฏร้อนเท่าไร นิพพานก็เย็นเท่านั้น สังสารวัฏร้อนถึงที่สุด นิพพานก็เย็นถึงที่สุดเหมือนกัน นั่นแหละเราจะต้องหาให้พบว่า เย็นที่สุดนั้นจะอยู่ท่ามกลางร้อนที่สุด จนมีคำเปรียบว่า จงหาจุดเย็นที่สุดในกลางเตาหลอม ซึ่งในที่นี้เราจะพูดว่า จงหานิพพานที่ใจกลางแห่งสังสารวัฏ คนโง่ก็หาไม่พบ คนมีปัญญาก็หาพบ คนฉลาดก็ค้าใกล้ ๆ คนบ้าคนใบ้ก็ค้าไกล ๆ คนโบราณก็พูดไว้ถูกดีแล้วแต่คนเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ
ดังนั้น อาตมาจึงว่า เมื่อใดมีตัวกูของกู เมื่อนั้นมีวัฏสงสาร เมื่อใดไม่มีตัวกูของกู เมื่อนั้นมีนิพพานและก็ในจิตดวงเดียวกันนั่นเอง ในร่างกายอันเดียวกันนั้นเอง ในนามรูปเดียวกันนั้นเอง เมื่อใดมีตัวกูของกูโผล่หัวโผล่หูขึ้นมา มันก็มีวัฏสงสาร ขณะใดไม่มีตัวกูของกู ไม่โผล่หัวโผล่หูขึ้นมา มันก็มีนิพพาน เราจงตัดจงกระทำไปในลักษณะที่อย่าให้มีตัวกูของกูโผล่ขึ้นมา มันก็จะมีนิพพานยังคงปรากฏอยู่ และเราก็ยืดเวลานั้นแหละให้มากออกไป ๆ ในการต่ออายุของเรา และพร้อมกันนั้นเราก็หาวิถีทางที่จะกำจัดเสียซึ่งเกิดการแห่งตัวกูของกูให้เด็ดขาดลงไป นิพพานชั่วคราวนั้นก็จะกลายเป็นนิพพานที่ถาวรขึ้นมาโดยไม่ต้องสงสัยเลย ดังนั้น ท่านทั้งหลายที่ต้องการจะต่ออายุ จงไปยืดเวลาที่ว่างจากตัวกูของกูนั่นแหละให้มากออกไป ๆ ๆ จงยืดเวลาที่ว่างจากตัวกูของกูนั่นแหละให้มากออกไป ๆ ๆ ให้เวลาที่เกิดตัวกูของกูนั้นน้อยลง ๆ แคบเข้า ๆ จึงยืดเวลาที่ว่างจากตัวกูของกูนั่นแหละให้มากออกไป ๆ ๆ จนไม่เหลือเวลาไว้ให้แก่การเกิดตัวกูของกูอีกเลย ก็จะเป็นการทำให้นิพพานนั้นกลายเป็นนิพพานที่ถาวรเที่ยงแท้เด็ดขาดลงไปได้
ท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจความข้อนี้ เพราะเป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุด และจริงที่สุด และมีประโยชน์มากที่สุด มีความทุกข์ที่ไหนต้องดับความทุกข์ที่นั่น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีการดับเป็นธรรมดา ถ้าวัฏสงสารมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา วัฏสงสารก็ต้องมีความดับเป็นธรรมดา เราอย่าได้ไปแยกออกจากกันเลย มันเกิดที่ไหนมันต้องดับที่นั่น มันขึ้นทางไหนมันต้องลงทางนั้น สมมุติว่ามัน ตัวอย่างก็เห็นได้ชัดแล้วว่า มันขึ้นมาจากอวิชชา นั้นเราต้องดับลงที่อวิชชา ขึ้นทางไหนต้องลงทางนั้น หมายความว่าความทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหนต้องดับที่ตรงนั้น อย่าไปมัวหาที่ดับที่อื่นเลย ดังนั้น ต้องหาการดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า โลกนี้ก็ดี เหตุให้เกิดโลกนี้ก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้พร้อมทั้งสัญญาและใจ
ถ้าเราจะพูดกันให้ง่าย ๆ อย่างวัตถุ เราก็จงดูความไม่มีว่ามันอยู่ที่ความมี มีวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ เราพูดว่ามีความมี แล้วความไม่มีอยู่ที่ตรงไหน ความไม่มีมันก็ซ้อนอยู่ที่วัตถุนั่นเอง อยู่ที่ความมีของวัตถุนั่นเอง ลองเอาความมีของวัตถุนั้นออกไปก็จะพบความไม่มีของวัตถุนั้นอยู่ที่ตรงที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นมีความทุกข์ที่ไหนก็ต้องมีความดับอยู่ที่นั่น เราต้องหาความดับทุกข์ที่ความทุกข์เสมอไป เช่นเดียวกับจะต้องหาจุดที่เย็นที่สุดที่กลางเตาหลอม หาความเย็นที่สุดจากความร้อนที่สุด เย็นที่สุดนั้นมันอยู่ที่ร้อนที่สุด จงหาความดับที่ความเดือด แต่วัฏสงสารเป็นความเดือด นิพพานก็ต้องเป็นความดับและหาได้ที่ความเดือด แต่ท่านทั้งหลายไม่เคยนึกเสียด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่จะรู้หรือว่าจะกระทำเลย แม้แต่นึกก็ไม่เคยนึก ทำให้เป็นคนโง่เหมือนกับคนโง่ชนิดหนึ่ง ซึ่งว่าโดยที่แท้แล้ว เพชรมีอยู่ที่หน้าผากของตัวแต่ไม่เคยทราบ ไม่เคยคลำหาเพชรแท้ ๆ มีอยู่แล้วที่หน้าผากของตัว มีอยู่ตลอดเวลาแต่ก็ไม่เคยทราบและไม่เคยคลำหา นี่แหละคือคนที่โง่ที่ไปหานิพพานที่อื่นจากวัฏสงสาร ถ้าเราอยากจะเห็นการไม่ปรุงเราก็ต้องดูที่การปรุง ถ้าเราอยากจะเห็นความหยุดเราก็ต้องดูที่ความวิ่ง ถ้าเราอยากจะเห็นความดับเราก็ต้องดูที่ความเกิด ทุกอย่างอาจจะหาพบได้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้จริงอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า
คนโบราณเมืองนี้เข้าใจเรื่องนี้ดี อยากจะอวดสักหน่อยถึงบทกล่อมลูกที่พูดถึง มะพร้าวนาฬิเกร์ที่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้งที่ว่า ต้นมะพร้าวนาฬิเกร์ อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ก็หมายความว่านิพพานนั้นอยู่กลางวัฏสงสาร วัฏสงสารเหมือนทะเลขี้ผึ้ง คือเป็นได้ทั้งบุญและบาป เมื่อร้อนก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อเย็นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามธรรมดาของขี้ผึ้ง แต่แล้วมันก็ต้องเป็นขี้ผึ้งอยู่นั่นเอง เมื่อสักว่าเป็นขี้ผึ้งแล้วมันก็เป็นวัฏสงสาร ส่วนต้นมะพร้าวอยู่กลางทะเลขี้ผึ้งนั้นมันไม่ร้อน จึงเรียกว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง อยู่ได้กลางทะเลขี้ผึ้งซึ่งเต็มไปด้วยความร้อน ความเย็น ชนิดที่เป็นความทุกข์ นี้แสดงว่าคนโบราณที่มีบทกล่อมลูกอย่างนี้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ดี มาถึงสมัยนี้เราอยู่ในโลกที่ต่างกันมาก เราจึงพิจารณากันให้มากให้น่าดูยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ในลักษณะที่เรียกว่า เหมือนกับเราจะต้องนั่งอยู่ในปากงู เราอย่าถูกเขี้ยวงูก็แล้วกันแล้วก็จะพบความสบายได้ที่ในปากงูนั้น ปากงูหมายความว่าเต็มไปด้วยเขี้ยวของงู ถูกเข้าก็เป็นอันตราย แต่เราอาจจะนั่งอยู่ได้ในปากงู โดยไม่ถูกขบเขี้ยวของงู ถ้าเรารู้จักแยกกันว่าอะไรเป็นเขี้ยวของงู อะไรไม่ใช่เขี้ยวของงู อยู่ในโลกนี้อย่าให้กระทบกันเข้ากับโลกธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่จะปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ถ้ามีโลกธรรมมากระทบ ก็ต้องมีสติปัญญามากพอที่จะรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร จะใช้มันอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไรในลักษณะที่ไม่เกิดเป็นความทุกข์ ก็คืออย่าให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา แล้วมีสติปัญญาบริโภคสิ่งเหล่านั่น ใช้สอยสิ่งเหล่านั้น หรือว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้ มันแล้วแต่กรณี นี่แหละเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ระหว่างการปรุงแต่งที่จะปรุงแต่งเป็นวัฏสงสาร มีสัมปชัญญะให้มากพอ มีความไม่ประมาทให้มากพอ แล้วสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่อาจจะปรุงแต่งอะไร ๆ ไปตามแบบของอวิชชาได้ แต่ยังคงเป็นสิ่งที่ปราศจากอวิชชา คือ ปราศจากการปรุงแต่งเป็นวัฏสงสาร ยังคงมีความสบายอยู่ได้ นี้เรียกว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ เป็นความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนสมัยนี้ และเป็นความรู้ที่เป็นใจความที่ถูกที่ตรงที่สุดของพระพุทธศาสนา ที่บอกให้ท่านทั้งหลายทราบว่า จงดูทุก ๆ สิ่งในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ จงทำวัฏสงสารอย่าให้เกิดขึ้นได้ ให้มีสภาพแห่งนิพพานอยู่แทนตลอดไปจนกว่าจะเป็นนิพพานที่ถาวร
สรุปความว่า ในวัฏสงสารมีนิพพาน ท่านจะหาพบหรือหาไม่พบนั้นมันขึ้นอยู่ที่ความโง่หรือความฉลาดของท่านเอง ขณะใดนามรูปเดือดขึ้นมาด้วยการปรุงแต่ง ขณะนั้นนามรูปนั้นต้องมีวัฏสงสาร ขณะใดนามรูปปราศจากการปรุงแต่งด้วยอวิชชาอุปาทาน ขณะนั้นนามรูปนั้นก็ดับเย็นเป็นนิพพานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เราหานิพพานได้ในวัฏสงสาร เมื่อหาพบนิพพาน วัฏสงสารก็หมดความหมาย คงเหลืออยู่แต่ความหมายของนิพพาน เราจงยินดีเผชิญกันเข้ากับสิ่งที่เรียกว่าร้อนที่สุด เพราะว่าเราจะหาพบสิ่งที่เย็นที่สุดจากสิ่งที่ร้อนที่สุดนั้นเอง และสิ่งนี้ก็ไม่ได้อยู่ไกลไปถึงไหน นอกจากอยู่ที่หน้าผากแล้ว แต่มีไว้สำหรับให้คนโง่เที่ยวค้นหา ๆ จนตลอดสากลจักรวาลรอบแล้วรอบอีกก็ไม่เคยพบพานเลย เมื่อใดผู้ใดสามารถควบคุมไว้ได้ซึ่งความปรุงแต่งแห่งการเกิดขึ้นเป็นตัวกูของกู เมื่อนั้นก็มีนิพพานที่นั่น เพราะฉะนั้นผู้นั้นจงยืดระยะเวลาที่ไม่มีตัวกูของกูให้มากออกไปก็เป็นการยืดอายุออกไป ๆ จนกลายเป็นอายุชนิดที่เป็นอมตะ คือไม่ตายหรือเป็นชีวิตนิรันดรได้ เพราะจิตใจนั้นปราศจากตัวกูของกูโดยสิ้นเชิง ปรากฏอยู่แต่ธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง และไม่มีความเกิดตายปรากฏอีกต่อไปดังนี้
สรุปความว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องมีความดับเป็นธรรมดา จงแสวงหาความดับจากสิ่งที่มีความเกิดเทอญ ก็จะสมประสงค์ทุกประการในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพุทธศาสนา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้