แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษสำหรับท่านทั้งหลายผู้ได้มาประชุมกันในที่นี้บำเพ็ญทานและยังมีความประสงค์จะฟังธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องเจริญสติปัญญาเท่าที่จะมีได้อย่างไร
ในทุกวันนี้พิจารณาดูแล้ว รู้สึกว่าเป็นสมัยที่ควรจะมีการก้าวหน้าให้ยิ่งๆขึ้นไป ไม่ควรจะหยุดอยู่ในที่เดียว เพราะเหตุว่าโลกในสมัยนี้มีการก้าวหน้า และก้าวเหมือนกับวิ่ง พุทธบริษัทจะมีการหยุดอยู่นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้อยู่ในโลกนี้ยากลำบากยิ่งขึ้นทุกที เพราะเหตุว่าในโลกนี้มีสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้นทุกที โลกในสมัยปัจจุบันนี้ เขาคิดค้นกันแต่ในทางที่จะทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างยิ่ง และเมื่อเขาหลงใหลในทางวัตถุก็มีการเบียดเบียนกันอย่างยิ่ง จึงพลอยเดือดร้อนกันไปหมดทั้งโลก คนจึงมีความลำบากยุ่งยากด้วยปัญหานานาประการ
คนพวกหนึ่งลำบากเพราะว่าไปหลงในโลก เมื่อไม่ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์ บางทีถึงกับฆ่าตัวตาย หรือบางทีก็ประพฤติไปในทางผิด ในทางชั่ว ในทางอันธพาล ยังเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ไม่ได้ นี้ก็พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งนั้นก็พลอยลำบากเพราะว่ามันมีความยุ่งยากด้วยเรื่องสงคราม ด้วยเรื่องเบียดเบียน ด้วยเรื่องการเงินการเศรษฐกิจปั่นป่วน ก็พลอยลำบากกันไปกับเขาด้วย นี้ก็พวกหนึ่ง
รวมความแล้วก็เรียกว่าในโลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกที เป็นโลกที่อาศัยอยู่ได้ยากลำบากยิ่งขึ้นทุกที มีปัญหามากขึ้นทุกที ดังนั้น ถ้าไม่มีธรรมะที่เพียงพอกันแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ ผู้ที่จะอยู่ในโลกที่มีความสับสนวุ่นวายทำนองนี้ได้โดยไม่เป็นทุกข์นั้นต้องมีธรรมะให้มากพอกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องก้าวหน้าในทางของธรรมะ ท่านทั้งหลายควรจะพยายามให้เกิดความก้าวหน้าในทางของธรรมะ นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งนั้นควรจะนึกว่าแม้ตามธรรมดาเราก็ต้องก้าวหน้าในทางธรรมะอยู่แล้ว ถ้าเวลาล่วงมาโดยไม่มีการก้าวหน้าในทางธรรมะ ก็นับว่าเป็นการผิดพลาด
ทีนี้เราควรจะพิจารณากันดูว่ามนุษย์นี้ควรจะก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง เมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ๆ โดยกว้างๆ แล้วก็ควรจะถือว่า หลักที่กล่าวไว้ในมนูธรรมศาสตร์มาแต่โบราณกาลนั้นเป็นหลักที่ถูกต้อง ควรจะสนใจ หลักในมนูธรรมศาสตร์นั้น มีการแบ่งมนุษย์เป็น ๔ ขั้นหรือ ๔ วัย เกิดมาชาติหนึ่งก็แบ่งเป็น ๔ ตอน เรียกว่า “๔ อาศรม”
ตอนแรกเรียกว่า “อาศรมพรหมจารี” นี้คือเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาวในที่สุด
ตอนที่ ๒ เรียกว่า “อาศรมคฤหัสถ์” นี้คือแต่งงานเป็นสามีภรรยา เป็นพ่อบ้านแม่เรือน
อาศรมที่ ๓ เรียกว่า “อาศรมวนปรัสถ์” คืออายุมากแล้วก็เก็บตัวอยู่ในที่สงบสงัด เพื่อศึกษาในทางจิตทางใจให้มาก จะได้รู้เรื่องในทางจิตใจ หาความสุขอีกชนิดหนึ่ง
ต่อไปก็ถึงอาศรมสุดท้ายที่ ๔ เรียกว่า “อาศรมสันยาสี” ในตอนนี้ก็ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในทางสติปัญญาหรือว่าท่องเที่ยวไปสั่งสอนผู้อื่นในทางสติปัญญา แม้จะอยู่ที่บ้านก็เป็นแสงสว่างให้แก่คนทุกคน มีปัญหาขัดข้องอะไรก็จะได้มาถาม แม้จะเป็นปัญหาทางจิตใจที่ยากที่สุดก็ตอบได้ ถ้าได้อย่างนี้ก็เรียกว่าคนนั้นได้มีการก้าวหน้าในชีวิตของเขาตั้งแต่ต้นจนปลาย จนถึงขั้นสุดท้ายไม่เสียทีที่เกิดมา ถ้าใครไม่ได้ครบทั้ง ๔ ขั้นอย่างนี้ ก็ยังนับว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะเหตุเช่นนั้นแหละเราจะต้องนึกดูให้ดีว่า เราแต่ละคนๆนี้มีความก้าวหน้าในลักษณะนี้หรือหาไม่
พวกจีน...ในประเทศจีนแต่โบราณก็คิดอย่างเดียวกัน ดังนั้น จึงได้เขียนภาพเปรียบอุปมาของชีวิตนี้ไว้เป็นลำดับๆ ลำดับที่ ๑ เขียนเป็นคนที่ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าไปทางไหน ยืนหันรีหันขวางอยู่ที่ตรงนั้น อันดับที่ ๒ ก็คือคนนั้นเริ่มเห็นรอยที่แผ่นดิน รอยวัว อันดับที่ ๓ ก็เอาเชือกตามรอยวัวไปจนถึงก้นวัว เห็นก้นวัว อันดับที่ ๔ ก็จับวัวอย่างชุลมุนโกลาหลกันพักหนึ่ง อันดับที่ ๕ ก็ปราบวัวได้สำเร็จ จูงมาบ้าน อันดับที่ ๖ ก็ขี่วัวเป่าปี่ หมายความว่าได้รับประโยชน์จากการมีวัว อันดับที่ ๗ หมดเรื่องวัว แหงนขึ้นไปบนฟ้า มองหาสิ่งที่ดีกว่าวัว ไม่เอาใจใส่วัวอีกต่อไปแล้ว อันดับที่ ๘ ลืมแม้กระทั่งตัวเอง เขียนเป็นภาพความว่างเฉยๆ อันดับที่ ๙ เกิดใหม่ ผลิหน่อใหม่ ผลิออกมาใหม่ เกิดใหม่ ทีนี้ อันดับที่ ๑๐ ก็คือเที่ยวกรองตะเกียง เที่ยวแจกของให้แก่ผู้อื่น นี่เขาเปรียบเหมือนกับการจับวัว ฝึกวัว ใช้ประโยชน์แล้วก็ลืมวัว จนกระทั่งว่าง จนกระทั่งเป็นตัวตนของผู้อื่น ไม่มีตัวตนของตนอีกต่อไป อย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดมาไม่เสียทีเหมือนกัน เกิดมาทีหนึ่งก็ได้ประโยชน์ครบถ้วนทุกประการ
คิดดูให้ดีว่าคนเราในอันดับแรกๆนั้นไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม โตขนาดเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่รู้อย่างแท้จริงว่าเกิดมาทำไม ต่อมาจึงค่อยรู้ว่าเกิดมาเพื่อจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าเห็นร่องรอย แล้วก็ทำประโยชน์อย่างเต็มที่จนได้รับประโยชน์เป็นเงิน เป็นลาภ เป็นชื่อเสียง เป็นเกียรติยศ เป็นอำนาจวาสนาขึ้นมา แล้วก็ใช้เงิน ใช้เกียรติยศอำนาจวาสนาหาความสุขกายสบายใจให้แก่ตน ครั้นต่อมาอีกก็เป็นของจืดชืด ไม่สนใจกับเงินอำนาจวาสนา มองไปทางอื่นคือมองไปในทางภายใน ซึ่งเป็นความสุขทางจิตทางใจไม่เกี่ยวกับเงินหรืออำนาจวาสนา
ทีนี้ก็พบว่าแท้ที่จริงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่เรื่องหลอกลวง ก็เลยรู้เรื่องว่าไม่มีตัวตนเป็นความว่าง ถ้ามีความว่างอย่างนี้เกิดขึ้นในใจแล้วก็มีปัญญามาก จึงรู้ว่าควรทำอะไรในเมื่อไม่มีตัวตนอย่างนี้ ก็คือทำประโยชน์ผู้อื่น เพราะฉะนั้นจึงทำตนเหมือนกับว่าเที่ยวส่องตะเกียงให้ผู้อื่นรู้หนทาง หรือว่าเที่ยวแจกของวิเศษ ไปแจกความรู้ แจกธรรมะให้แก่ผู้อื่น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย นี้เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็ได้รับโดยสมบูรณ์ ชีวิตของเขาได้เลื่อนไปเป็นขั้นๆ ขั้นๆ เป็นลำดับ เป็นลำดับไป ลำดับไป ตั้งแต่ต้นจนปลาย จะเรียกว่า ๔ ขั้นก็ได้ เรียกว่า ๑๐ ขั้นก็ได้
แม้ข้อความที่กล่าวอยู่ในพุทธศาสนานี้ เช่น ในคัมภีร์อภิธรรม เป็นต้น ก็ได้มีกล่าวถึงภูมิทั้ง ๔ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ เป็น ๔ ภูมิด้วยกัน
ภูมิที่แรก กามาวจรภูมินั้น ก็คือมีจิตใจ พอใจอยู่ในความสุขทางกามคุณ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามประสาของคนที่แรกเกิดมาในโลกนี้ นี่ก็เป็นไประยะหนึ่ง เรียกว่าภูมิทีแรก กามาวจรภูมิ ครั้นต่อมาอายุมากเข้าก็เบื่อหน่ายในความซ้ำซากเช่นนั้น จึงได้เลื่อนขึ้นไป ไปเอาสิ่งที่ไม่ใช่กามคุณ คือไปเอาสิ่งที่ไม่ทำความยุ่งยากลำบากเหมือนเรื่องกามคุณ สนใจในสิ่งที่บริสุทธิ์จากกามคุณ แต่ยังมีรูป ยังมีวัตถุ เช่น คนพอใจในวัตถุบางอย่างบางประการ เล่นหัวอยู่ได้โดยไม่ต้องเกี่ยวกับกามคุณ นี้ก็เป็นความพอใจอย่างหนึ่ง เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรียกว่าในชั้นรูปาวจรภูมิ ตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่คนที่ชอบสิ่งของ ชอบวัตถุ ต้นไม้ต้นไร่ เล่นนกเขา เล่นสัตว์เลี้ยงอะไรตามประสาคนแก่ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับกามคุณ ก็มีความสุขใจไปอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่ความหมายในชั้นนี้หมายลึกไปกว่านั้น คือรู้จักเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดให้เกิดสมาธิ มีความสุข นี้ถ้ายังอยากจะเลื่อนให้สูงขึ้นไปอีก ก็เอาสิ่งที่ไม่มีรูป เอานามธรรมมาพิจารณา เขาเรียกว่าอรูปาวจรภูมิ ภูมิที่ไม่เกี่ยวกับรูป ไม่มีรูป ทั้ง ๓ ภูมินี้ยังมีตัวตน มีความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นของตน จึงต้องเวียนว่ายอยู่ในกิเลส ต่อมามีความรู้สูงขึ้นไป ก็เลื่อนไปสู่โลกุตตรภูมิคือหาความสุขจากความรู้สึกที่ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของตน หาความสงบใจชนิดที่ไม่ต้องมีความรู้สึกว่ามีอะไรเป็นของตน นี้เป็นขั้นสูงสุดเป็นพระอริยเจ้า มีอยู่เป็นขั้นๆอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าจิตใจของมนุษย์นั้นอาจจะเลื่อนชั้นได้เป็นลำดับๆ ไปเป็นหลายชั้น จนกว่าจะถึงชั้นสุดท้ายคือโลกุตตรภูมิ
เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทเรางมงายคลานต้วมเตี้ยมอยู่ ไม่ค่อยจะเลื่อนชั้น ไหว้พระสวดมนต์ก็อย่างนั้น ทำบุญให้ทานก็อย่างนั้น ไม่เลื่อนชั้น ไม่สูงขึ้นไปกว่าเดิม เช่น รู้จักทำบุญจะไปสวรรค์ เอากำไรให้มาก ทำบุญบาทหนึ่งจะเอาวิมานตั้งหลังหนึ่ง ๒ หลัง ๓ หลังก็มี รู้จักทำบุญแต่การค้ากำไรเกินควรอย่างนี้ เรียกว่าไม่ก้าวหน้า ไม่รู้ว่าการทำเพียงเท่านั้นยังไม่พ้นจากความทุกข์ บางทีจะมีความทุกข์เพราะเหตุนั้นเสียด้วยซ้ำไป
ไม่มีความก้าวหน้าแม้ในเรื่องการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา มีแต่ทำซ้ำๆซากๆโดยงมงายเหมือนที่เคยทำมาแต่กาลก่อนอย่างนี้ นี่ลองพิจารณาดูเถิดว่า ความไม่ก้าวหน้าอย่างนี้มันจะมีอะไรเกิดขึ้นมา มันมีอะไรเกิดขึ้นมามากมายทีเดียว แต่ว่าข้อสุดท้ายก็คือ ไม่อาจจะดับทุกข์ ไม่อาจจะดับความทุกข์ของตัวได้ ยังจะต้องมีความทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักเลื่อนให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปตามอายุ ตามวัยที่มันได้ผ่านไป ผ่านไป คนหนุ่มคนสาวก็พยายามทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ต่อไปเป็นคนแก่ก็ทำหน้าที่ของคนแก่ให้สมบูรณ์ คือให้ฉลาดในเรื่องภายใน ในเรื่องจิตใจ แล้วในที่สุดก็เห็นแก่ผู้อื่น ตัวเองยกเลิก เรื่องเกี่ยวกับตัวเองนี่ยกเลิกทิ้งไปเลยไม่ต้องสนใจ สนใจแต่ทำแสงสว่างให้แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีความก้าวหน้าสูงสุด ได้รับความสุขสูงสุดเต็มที่ที่มนุษย์ควรจะได้รับ
เดี๋ยวนี้ไม่ก้าวหน้าอย่างนี้แม้แต่เรื่องการให้ทาน ทำบุญให้ทานนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้า จะยกตัวอย่างสำหรับเปรียบเทียบให้ฟัง คนบางพวกทำบุญเหมือนกับน้ำโคลน คนบางพวกทำบุญเหมือนกับน้ำหอม คนบางพวกทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่ มีอยู่ ๓ อย่างด้วยกัน บุญนี้เป็นเครื่องชำระบาป เป็นเครื่องล้างบาป นี้ลองคิดดูว่าทำบุญเหมือนน้ำโคลนนี่มันจะล้างอะไรได้บ้าง ทำบุญเหมือนกับน้ำหอมจะล้างอะไรได้บ้าง ทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่จะล้างอะไรได้บ้าง ขอให้ลองคิดดู
ทำบุญเหมือนกับน้ำโคลนนั่นก็คือทำบุญสนุกสนาน เพื่อจะกินเหล้าเมายา อย่างว่าไปทอดกฐินอย่างนี้ก็เพื่อจะได้ไปสนุกสนานกินเหล้าเมายาตามประสาคนโง่คนหลง ทำบุญบางอย่างมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฆ่าหมู ฆ่าควาย ฆ่าวัว ฆ่าไก่ เลี้ยงดูกันอย่างเมามายเหมือนภูตผีปีศาจ นี้ก็เรียกว่าทำบุญ เขาเรียกว่าทำบุญ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญปีใหม่ ทำบุญโกนจุก ทำบุญทอดกฐิน ทำบุญผ้าป่า ทำบุญต่างๆนานา แล้วก็เมามายเป็นภูตผีปีศาจ อย่างนี้เรียกว่าทำบุญเหมือนน้ำโคลน น้ำโคลนมันจะล้างให้สะอาดได้อย่างไร มันก็จะล้างได้หยาบๆ ล้างได้บ้าง เช่นว่าเท้าเปื้อนอุจจาระมา เอาน้ำโคลนล้างก็พอจะไปได้ แต่มันก็ไม่สะอาด
ทำบุญเหมือนกับน้ำหอม นี้ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ได้ทำบาป แต่หวังมากเกินไป ทำบุญบาทเดียวได้วิมานหลังหนึ่ง ได้เกิดในสวรรค์ไม่รู้จะกี่ร้อยชาติพันชาติ นี้ก็ชื่นอกชื่นใจเหมือนกับทาน้ำหอม แต่แล้วน้ำหอมนี่จะล้างตัวให้สะอาดได้อย่างไรก็ลองคิดดูก็แล้วกัน ลองคิดดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าน้ำหอมนี่ก็ไม่ใช่น้ำสะอาด มันมีอะไรปนอยู่ในน้ำนั้นมันจึงมีกลิ่นหอม ถ้าน้ำหอมนั้นทำด้วยชะมดเชียง ทำด้วยอัมพันทอง น้ำหอมชนิดนี้แล้วก็ยิ่งไม่สะอาด เพราะว่าชะมดเชียงหรือว่าอัมพันทองนี้ก็คืออุจจาระของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งบางชนิดเท่านั้น มันเป็นน้ำมันชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม จะมาล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาดมันก็ไม่สะอาด คนโง่ๆ อาบน้ำมาสะอาดดีแล้วก็เอาน้ำหอมมาทาให้เลอะเทอะไปด้วยแป้ง ด้วยปูน ด้วยน้ำมันหอมนั้นเสียอีก เพราะเข้าใจว่ามันดีกว่า แท้ที่จริงแล้วมันไม่สะอาด ฉะนั้นควรจะพิจารณาดูให้ดีๆว่า แม้จะเอาน้ำหอมมาล้างเนื้อตัวก็ยังไม่สะอาดถึงที่สุด
คนพวกสุดท้ายที่ทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่ เขาเอาน้ำสะอาดมาอาบมาล้างแล้วเอาสบู่มาถู แล้วเอาน้ำสะอาดมาอาบมาล้าง มาล้างจนสะอาด อย่างนี้เราเห็นได้ว่าเนื้อตัวมันสะอาด นี้ก็คือคนที่ทำบุญถูกทาง ทำบุญเพื่อชำระชะล้างกิเลส ทำบุญเพื่อตัดความโลภ ทำบุญเพื่อตัดความเห็นแก่ตัว บรรเทาความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเราออกไปเสียจากจิตใจ ทำให้จิตใจสะอาด ทำบุญชนิดนี้เหมือนกับน้ำสบู่ หรือน้ำที่จะล้างให้สะอาดได้
เรามองเห็นกันอยู่ในที่ทั่วๆไปว่า บางคนทำบุญเอาหน้าเอาตาก็มี ทำบุญแลกเปลี่ยนค้ากำไรเกินควร แลกเอาสวรรค์ก็มี ทำบุญเพื่อบำรุงศาสนาให้ศาสนามีอยู่ในโลกนี้ เป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลกและบรรเทากิเลส โลภะ โทสะ โมหะของตนก็มี มันต่างกันอย่างมากมายถึงอย่างนี้ ไม่เหมือนกันเลย เราอยู่ในพวกที่ทำบุญชนิดไหนก็ขอพิจารณาดูให้ดี ถ้ามันยังต่ำอยู่ ยังไม่ถูกไม่ต้อง ก็ต้องทำให้มันถูกให้ต้อง และให้มันสูงขึ้นไป
ถ้าเคยทำบุญอย่างน้ำโคลน ก็เลื่อนขึ้นเป็นทำบุญอย่างน้ำหอม ถ้าเคยทำบุญอย่างน้ำหอมก็เลื่อนขึ้นไปเป็นการทำบุญอย่างน้ำสบู่ที่จะชำระชะล้างบาปได้จริง นี้เป็นคำเปรียบเป็นคำอุปมา เรื่องทำบุญอย่างที่เรียกว่าค้ากำไรเกินควรไม่ควรจะมี มันเป็นบุญไปไม่ได้ มันเป็นการค้าขาย ทำบุญบาทหนึ่งเอาได้วิมานหลังหนึ่ง นี่ลองคิดดูเถิดว่าการค้าขายที่ไหนในโลกนี้ก็ยังไม่ได้กำไรมากมายถึงอย่างนี้ เรียกว่าไม่ใช่การทำบุญ มันเป็นการค้าขายที่เอากำไรมากเกินควร มันคงจะเป็นเรื่องงมงายมากกว่า แต่ถ้าทำบุญเพื่อสละออกไป ไม่รับอะไรเอาเข้ามา เรื่องของเราไม่ต้องพูดถึง พูดถึงแต่เพื่อนมนุษย์ในโลก บริจาคเงินบริจาคทรัพย์ออกไปเพื่อบำรุงศาสนาเอาไว้ ให้ศาสนามีอยู่ในโลก แล้วคนทุกคนในโลกพลอยได้รับประโยชน์ อย่างนี้มันต่างกันมากกับที่ว่าคนๆหนึ่งทำบุญบาทเดียวจะเอาวิมานหลังหนึ่ง มันต่างกันอย่างที่เปรียบกันไม่ได้ คนที่ทำบุญเพื่อไปบำรุงศาสนาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่โลกนี้ เขาไม่ได้ค้ากำไรเกินควร เขาไม่ต้องการอะไรเป็นของตัว เขาต้องการจะให้ผู้อื่นได้รับ ให้คนทั้งโลกได้รับ อย่างนี้มันจึงเป็นการทำบุญที่ล้างบาปได้จริง มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบได้จริง จึงเรียกว่าเป็นการทำบุญในขั้นสูงสุด
ทีนี้ทำไมจึงไม่ทำบุญชนิดนี้กันบ้าง มักจะทำบุญแต่เรื่องค้ากำไรเกินควร หรือว่าทำบุญต่ำลงไปกว่านั้นอีก ก็คือทำบุญอย่างน้ำโคลน ทำบุญตามแบบของคนอันธพาล จัดงานบุญขึ้นมาเพื่อจะได้กินเหล้าเมายาเหมือนภูตผีปีศาจ ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันไม่เคยคิดเคยนึก มันโง่มันงมงาย นั่นแหละคือการที่ไม่เลื่อนชั้น ถ้ารู้จักเลื่อนชั้นมันก็หายโง่หายงมงายทำได้สูงขึ้นไป
เดี๋ยวนี้ทายกทายิกาทั้งหลายไม่ค่อยจะเลื่อนชั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ เพราะเข้าใจเสียว่าทำไปก็แล้วกัน สักว่าทำเท่านั้นไม่ต้องรู้ว่าทำทำไม ขอแต่ให้ได้ทำตามๆกันไปก็แล้วกัน นี่แหละเป็นเหตุให้งมงาย ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเหมือนกับว่าทายกทายิกาทั้งหลายเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน ฟังดูให้ดีๆ อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าทายกทายิกาทั้งหลายทำบุญทำทานเหมือนกับเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน นี้เป็นคำเปรียบ หมายความว่ามีคนๆหนึ่งอุตส่าห์เลี้ยงไก่ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยหมดเปลือง พอไก่ไข่ออกมาหารู้ไม่ว่านั่นเป็นไข่ไก่และเป็นของดี ก็หาได้สนใจไม่ สนใจแต่จะเลี้ยงไก่ท่าเดียว ไก่จะไข่มาเท่าไรก็ไม่สนใจ ปล่อยทิ้งเรี่ยราด สุนัขมันก็กิน ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเลี้ยงทำไม ก็คงเลี้ยงอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต นี่เรียกว่าเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน
ศาสนานี่แหละเปรียบเหมือนกับไก่ ไก่เปรียบเหมือนกับศาสนา เราบำรุงศาสนาก็เหมือนกับเลี้ยงไก่ เราทำบุญให้ทาน บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ เรี่ยวแรง เวลา บริจาคออกไปก็เหมือนกับเลี้ยงไก่ คือบำรุงศาสนา บำรุงศาสนาเอาไว้แล้ว ถึงคราวที่จะได้รับประโยชน์จากศาสนาเป็นความรู้ที่ถูกต้องนี้เราไม่สนใจ เราสนใจแต่จะทำบุญบำรุงศาสนาท่าเดียว ไม่ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลย นี่ก็เรียกว่าพอไก่ไข่ออกมาก็ไม่รู้จักและไม่สนใจก็ปล่อยให้สุนัขกิน สุนัขในที่นี้หมายถึงคนที่เขาไม่ได้เลี้ยง เขาไม่ได้เหน็ดเหนื่อย เขาไม่ได้ลำบากอะไรเลย เขายังได้รับประโยชน์อันนี้
อย่างเวลานี้จะเห็นได้ง่ายๆ ว่ามีชาวต่างประเทศ คนต่างประเทศกลับได้รับเนื้อแท้หรือความรู้แท้จริงของพุทธศาสนา ทั้งที่เขาไม่ได้เลี้ยงรักษาบำรุงหมดเปลืองเหมือนพวกเรา พวกเราดีแต่เลี้ยงแต่รักษาให้ไก่ไข่ออกมาแล้วก็ไม่สนใจ แต่แล้วก็มีคนที่เขารู้จักและเขาสนใจได้รับประโยชน์อันนั้นโดยที่เขาไม่ต้องเลี้ยง ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลำบากเลย ถ้าสมมติว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้จริงก็น่าเวทนา น่าสงสาร น่าเศร้าใจ หวังว่าทายกทายิกาทั้งหลายจะได้ระมัดระวังให้ดี อย่าได้โง่เขลางมงายไปในลักษณะนี้ คือในลักษณะที่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั่นเอง จงรู้จักว่าอะไรเป็นไข่ไก่ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
ทีนี้เราจะได้พูดกันถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เหมือนกับไข่ไก่ ถ้ามีใครไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าคำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์สรุปเอาแต่ใจความเอาแต่เนื้อแท้แล้วจะมีว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าจะสรุปเอาแต่ใจความ เอาแต่เนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาแล้วก็จะมีว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราหรือว่าของเรา นี่แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา
มีใจความว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ อันใครๆ ไม่ควรหลงสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ถ้าใครไปหลงสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวเราของเราเข้าแล้ว คนนั้นจะมีความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่ได้ไปสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราแล้ว คนนั้นจะไม่มีความทุกข์เลย ฉะนั้นวิธีที่จะไม่เป็นทุกข์เลยนั่นแหละคือหัวใจของพุทธศาสนา
ต้องพิจารณาดูให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราหรือของเรา เช่นว่าเนื้อหนังร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา โดยธรรมชาติไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของเรา แล้วเราหลงใหลยึดมั่นสำคัญเอาเองว่าเป็นของเรา เราก็มีความลำบากใจ เพราะความยึดมั่นนั้น คือเป็นทุกข์หนักอกหนักใจวิตกกังวล ชีวิตก็เหมือนกันที่แท้มันเป็นของธรรมชาติ แต่เราคิดว่าของตัวเรา มันก็มีความหนักอกหนักใจ มีความวิตกกังวล มีความกลัวอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะตายบ้าง ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง มีความทุกข์ไปเฉยๆโดยไม่จำเป็น นี้เงินทองข้าวของทรัพย์สมบัตินี้ก็เหมือนกัน โดยที่แท้แล้วมันเป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใคร เราก็ไปปล้นไปโกงเอาของธรรมชาติมาเป็นของเรา มันจึงได้เป็นทุกข์คือหนักอกหนักใจเหมือนกับถูกธรรมชาติตบหน้าเอา ธรรมชาติเป็นเจ้าของแท้จริง เราไปปล้น ไปตู่ ไปแย่งของมันมาเป็นของเรา มันก็ตบหน้าเอาทำให้ผู้นั้นเป็นทุกข์ นี่แหละคิดดูให้ดีๆเถอะว่าถ้าจิตใจว่างเป็นอิสระ สว่าง สะอาด สงบ ไม่ไปหลงยึดมั่นอะไรมาเป็นของเราแล้วก็จะสบายใจบอกไม่ถูก มีความสบายใจมากบอกไม่ถูก
ยกตัวอย่างเหมือนท่านทั้งหลายเดินทางมาจากเชียงรายมาถึงที่นี่ พอเริ่มออกจากเชียงรายจิตใจก็ค่อยละวางสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในบ้านในเรือน สิ่งต่างๆที่เคยคิดว่าเป็นตัวกูเป็นของกูนั้นมันก็ค่อยเลือนหายไป หายไป หายไป ยิ่งไกลออกมาทางนี้ มาไกลมาทางนี้ มันก็เลือนไปหายไป จนมาถึงที่นี่ มาถึงวัดนี้ ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เพราะฉะนั้นท่านจึงรู้สึกสบายใจอย่างยิ่ง ไม่เหมือนกับอยู่ที่บ้าน เพราะว่านั่งอยู่ที่นี่ เวลานี้ ไม่มีอะไรเป็นของเรา ลืมหมด แม้แต่ชีวิตก็ลืมไป ไม่ได้นึกถึงว่าเรามีชีวิต แล้วก็ลืมหมดแม้แต่ชีวิต ไม่รู้สึกคิดนึกว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงสบายใจ ได้รับความสบายใจอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยรับมาแต่ก่อนก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูให้ดีว่า ความสุขใจชนิดแท้จริงอย่างยิ่งนั้นมันมีมาต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา พอเรารู้สึกว่ามีอะไรเป็นตัวเราเป็นของเราเท่านั้น ไม่มีความสุขแล้ว ไม่เชื่อท่านบางคนลองคิดถึงบ้านทางเชียงรายนั้นดูว่ามีอะไร เป็นอย่างไร น่าเป็นห่วง น่าวิตกกังวลอย่างไร ท่านก็หมดความสบายใจนั้นทันที มีความทุกข์ทันที นี้ถ้าไม่รู้ ไม่รู้สึก ไม่มีความคิดนึกที่ยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่ก็สบายใจอย่างยิ่ง เพราะว่าของทั้งหมดที่นี่ เวลานี้ ที่มีอยู่นี้ ไม่มีอะไรเป็นของท่านเลย หัวใจจึงว่าง แม้แต่ชีวิตก็ไม่ได้นึกถึง หัวใจก็ยิ่งว่าง จึงยิ่งมีความรู้สึกเป็นสุขสบาย มีใจสะอาด สว่าง สงบ แล้วท่านทั้งหลายก็ยังสบายดี จะทำอะไรก็ได้ ยังอยากจะทำอะไรก็ได้ จะทำการงานอย่างไรก็สนุกด้วยจิตใจชนิดนี้
เพราะฉะนั้นควรจะถือเอาประโยชน์อันนี้ให้มาก คือทำความเข้าใจในเรื่องนี้แหละให้มากว่า เรามีความสุขต่อเมื่อ เราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นของเรา ขณะที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นของเรา ขณะนั้นเรามีความสุขที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อกลับจากนี้กลับไปบ้านก็ขอให้มีจิตใจเปลี่ยนเป็นคนละคน ไปถึงบ้านแล้วก็ทำจิตใจให้เหมือนกับที่ยังอยู่ที่นี่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วก็จะมีความสุขในทางจิตใจเหมือนกับนั่งอยู่ที่นี่ ไปถึงบ้านแล้วก็เหมือนกับบ้านของคนอื่น ทำการทำงานอะไรก็เหมือนกับทำที่บ้านของคนอื่น ทำให้คนอื่น เราไม่ต้องมีความทุกข์ เรามีความสุขใจอย่างยิ่ง ถ้าเรากินก็ใช้ไปตามที่เรียกว่าเป็นของคนอื่น คือ เป็นของธรรมชาติ
ความเข้าใจธรรมะอันสูงสุดนี้มันทำให้เราไม่ยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของเรา คือเราได้คืนให้ธรรมชาติไปเสียหมด เป็นของธรรมชาติไปเถิด แม้ว่ากฎหมายจะมีว่านี้เป็นของเรา ขนบธรรมเนียมจะมีว่านี้เป็นของเรา หรือตามกฎหมายตามขนบธรรมเนียมประเพณีก็มีอยู่ว่า บ้านหลังนี้ ที่ดินแปลงนี้ เงินนี้เป็นของคนนั้น เป็นของคนนี้ นี้ก็ตามกฎหมาย มันก็ว่าไปตามกฎหมาย ตามสมมติ หัวใจของเราอย่าเป็น หัวใจแท้ๆ ของเราอย่าไปหลงอย่างนั้น ให้รู้ว่าเป็นของธรรมชาติอยู่เสมอ แล้วเราก็จะสบาย พอไปคิดว่าเป็นของเราเท่านั้นแหละ มันก็มีความทุกข์
เช่น วัว ควาย ไร่นา ถ้ามันอยู่ที่นา มันก็อย่างหนึ่ง แต่พอเราคิดว่า วัว ควาย ไร่นาของเรามันก็มาอยู่บนหัวเรา มาอยู่บนศีรษะเรา มาอยู่บนจิตบนใจของเรา วัวควายมันก็เหยียบย่ำจิตใจของเราให้มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นเก็บวัวเก็บควายปล่อยไว้ที่นา อย่าเอามาใส่ยึดมั่นถือมั่นไว้ในใจให้มันเหยียบย่ำหัวใจของเรา หมายความว่าเราพูดว่าของเรา แต่ใจของเราไม่เป็นของเรา ปากเราพูดว่าวัว ควาย ไร่นาของเรา แต่หัวใจของเราไม่รู้สึกว่าเป็นของเรา เราไม่โง่ไม่หลงว่าเป็นของเรา
เรามาหัดเป็นคนพูดไปอย่างหนึ่ง แล้วก็ใจก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ปากเป็นอย่างหนึ่ง ใจเป็นอย่างหนึ่ง อย่าให้มันตรงกันในข้อนี้ ปากพูดว่าของเรา หัวใจอย่าเป็นของเรา ปากพูดว่าเงินของเรา หัวใจก็อย่าเป็นเงินของเรา ปากพูดว่าลูกเมียของเรา หัวใจก็อย่ายึดมั่นสำคัญมั่นหมายว่าเป็นลูกเมียของเรา นั่นเป็นของธรรมชาติทั้งนั้น แต่แล้วก็จัดการใช้สอยกินอยู่ กระทำการหามา การรักษาไว้ การดูแลด้วยดี โดยไม่ต้องเป็นของเราก็ได้ เหมือนว่าท่านอยู่ที่นี่เวลานี้ ท่านจะกวาดเรือนกวาดศาลานี้ให้สะอาดก็ทำได้ โดยไม่ต้องเป็นบ้านเรือนของท่าน หรือท่านจะทำงานขุดดินปลูกฝังอะไรก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แล้วมันก็มีผลเหมือนกัน เราไปกินข้าวบ้านคนอื่นบางทีอร่อยกว่ากินข้าวที่บ้านตัวเอง เพราะกินข้าวที่บ้านตัวเองมียึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นตัวกูของกู มันก็มีความหม่นหมองใจ ไปกินข้าวบ้านคนอื่นไม่มีความรู้สึกอุปาทานยึดมั่นอะไร มันก็อร่อยดี หรือว่าเมื่อเราไปกินข้าวตามบนภูเขา ตามชายทะเล ตามที่ว่าไปเที่ยวเล่นนั้นมันก็อร่อยดี เพราะว่าที่นั่นจิตใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรเป็นตัวเราของเรา แต่ถ้าเรากินในที่ในทางที่มันทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราเป็นของเราแล้ว มันไม่มีความสุขทำนองนั้นเลย มันมีความหนักอกหนักใจ ความหม่นหมอง ความทนทรมาน ความวิตกกังวลต่างๆนานาเหมือนกับตกนรก แล้วเป็นการตกนรกจริงๆด้วย
เมื่อใดมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเราเมื่อนั้นมีความทุกข์ มีความทุกข์ก็คือการตกนรกนั่นเอง อย่าได้ไปกลัวนรกอย่างอื่นให้มากไปกว่านี้ คนที่โง่เขลางมงายนั้นไปมองแต่เรื่องทางวัตถุ คนที่ฉลาดเขามองในเรื่องของจิตใจ มีความรู้อย่างถูกต้องในเรื่องของจิตใจ เพราะฉะนั้นเขาจึงสามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ให้ว่าง ให้สะอาด ให้สว่าง ให้สงบ คือไม่มีความทุกข์เลย นี่เราจงรู้จักทำอย่างนี้ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ว่าหัวใจของพุทธศาสนานั้นคือเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นเราจะมีหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ในหัวใจของเรา หัวใจของเราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู เราก็รู้สึกสบาย เราทำงานได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น
อย่าไปโง่ อย่าไปหลงตามคนโง่ๆพูดว่าถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วทำอะไรไม่ได้ คนโง่ๆทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทำด้วยกิเลสตัณหา มันเป็นทุกข์ แต่เรานี้ทำด้วยสติปัญญา ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ทำด้วยความรู้ ทำด้วยหัวใจของพุทธศาสนาที่มีอยู่ในหัวใจของเรา ฉะนั้นเราจึงไม่เป็นทุกข์ เรากลับทำงานเก่งกว่าใครหมด ทำงานได้ดีกว่าใครหมด แล้วยังสนุกด้วย เราต้องดูว่าพระพุทธเจ้าท่านทำงานมากกว่าใครๆ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำงานมากกว่าใครๆ อย่าได้เข้าใจว่าหมดกิเลสแล้วจะไม่ทำงาน หมดกิเลสแล้วกลับทำงานได้ดีกว่า มากกว่า ประเสริฐกว่า แล้วยังสนุกด้วย คนที่มีกิเลสนั้นก็ต้องทำงานผิดๆไปตามอำนาจของกิเลส และยังทุกข์ทนหม่นหมองใจ เพราะว่าเขามีความกระหายทะเยอทะยานเป็นเปรตอยู่ในใจเสมอ มันจึงมีความทุกข์ในการงาน จะทำไร่ทำนาก็มีความทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ทันจะทำ ลงมือทำก็เป็นทุกข์ ทำอยู่ก็เป็นทุกข์ ทำแล้วก็เป็นทุกข์ ได้เงินมาก็ยังเป็นทุกข์ แม้แต่จะกินเข้าไปก็ยังเป็นทุกข์ เพราะยังไม่รู้จักจิตใจ ไม่รู้จักจะจัดทำให้จิตใจปล่อยวาง มีความยึดมั่นถือมั่นไปหมด อะไรๆ ก็มาสุมอยู่บนศีรษะนี้หมด คือมาทรมานใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นพุทธบริษัทเลย เป็นคนโง่ เป็นคนหลง เป็นคนพาล นอกพระพุทธศาสนา
แต่ถ้ารู้จักทำจิตใจให้ปล่อยวาง ให้มีความสุขสบายใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน แล้วก็ทำงานได้ดี ทำงานได้มาก ทำงานด้วยความสนุกสนาน ไม่มีความทุกข์เลย อย่างนี้ต่างหากจึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เราจึงเลื่อนชั้นตัวเองให้ขึ้นมาถึงอย่างนี้ ก็จะเรียกว่าไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา ไม่เป็นคนเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินอีกต่อไป แล้วเป็นคนที่กินไข่ของไก่เอง คือได้รับหัวใจของพุทธศาสนา ได้รับธรรมะที่แท้จริงมาบริโภคอยู่ เรียกว่าได้รับนิพพานโดยแท้จริงมาใส่ไว้ในใจ เป็นความสะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็น แล้วก็ขยันทำไป ทำไป ทำไปให้มันเที่ยงแท้แน่นอน ให้มันเด็ดขาด อย่าให้มันกลับเป็นทุกข์ได้ ก็เรียกว่าได้นิพพานจริง เดี๋ยวนี้ได้นิพพานชิมลองชั่วคราวก็ยังเป็นการดี ดีกว่าตกอบาย ดีกว่ามีความทุกข์
อบายมีอยู่ ๔ อย่าง คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ๔ อย่างนี้เรียกว่า “อบาย” คนโง่ๆ นั้นคิดว่าจะตกอบายต่อเมื่อตายเข้าโลงไปแล้วจึงจะไปตก ฟังให้ดีๆว่า คนโง่ๆไม่รู้อะไรนั้นคิดว่าจะตกอบายต่อเมื่อตายเข้าโลงไปแล้ว ส่วนคนฉลาดนั้น หรือคนที่รู้ความหมายเรื่องนี้ดี เข้าใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดีนั้น เขาไม่คิดอย่างนั้น เขาระวังว่าอบายนั่นมันจะตกที่นี่และเดี๋ยวนี้
ให้ระวังให้ดี ปู่ย่าตายายเคยพูดว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ ทำไมจะต้องต่อตายแล้วจึงจะตกเล่า เพราะเดี๋ยวนี้เราก็มีจิตมีใจ ถ้าสวรรค์มีอยู่ในอก นรกมีอยู่ในใจ มันก็มีอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้ว นี้เรียกว่าปู่ย่าตายายของเราฉลาดมากและรู้อะไรจริง พวกลูกหลานต่างหากกลายเป็นคนโง่ แสนจะโง่ ไม่รู้ว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ดังนั้น ต้องระวังให้ดีอย่าให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำไมจึงว่าอบาย ระวังให้ดีมันอยู่ใกล้ๆนี่ เพราะคิดดูเองเถิด คิดดูตามแนวนี้ว่า นรกนั่นคืออะไร เดรัจฉานคืออะไร เปรตคืออะไร อสุรกายคืออะไร นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เรียกว่าอบาย ๔ อย่างนี้ มันคืออะไร ถ้าคิดดูให้ดีก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า
นรกนั่นแหละคือความทุกข์ ความร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา เมื่อใดมีความร้อนใจเป็นทุกข์เหลือแสนเหลือประมาณที่ใครๆก็มักจะเคยถูกกันมาแล้วทั้งนั้นเมื่อนั้นเรียกว่าตกนรก แล้วประเดี๋ยวหนึ่งหรือครู่หนึ่งต่อมามันก็หายไป นี่ก็ขึ้นจากนรก ตกนรกจนตายแล้วมันก็เกิดใหม่มาอีก เกิดใหม่นี้มันจะตกนรกอีกก็ได้ คือ ทำเรื่องร้อนใจอีกมันก็ตกนรกอีก วันหนึ่งร้อนใจ ๑๐ หน มันก็ตกนรก ๑๐ หน นรกคือความร้อนใจเหมือนไฟเผา เราทำอะไรผิดพลาดไปร้อนใจเหมือนไฟเผาก็เรียกว่าตกนรก ดูเรื่องกรรมหนหลังมาให้ผล ดลบันดาลมาให้ผลเรามีความทุกข์ มีความร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา ก็เรียกว่าเราตกนรก ตกอยู่ที่นี่ก็คือเดี๋ยวนี้ บางคนขยันมากตกนรกวันหนึ่งตั้งหลายๆ หนก็มี นรกนี้คือความร้อนใจเหมือนไฟเผา
ทีนี้อบายที่ ๒ เรียกว่าเดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนี้มีความหมายอยู่ที่ความโง่ ถ้าเมื่อใดมีความโง่เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดเราเผลอไปมีความโง่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะโง่ เมื่อนั้นเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วในร่างกายของมนุษย์ ร่างกายของคนนี่แต่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว จนกว่าเราจะหายโง่ จนกว่าความโง่จะผ่านพ้นไป เราจึงตายจากสัตว์เดรัจฉานมาเป็นคนอีก ให้จำไว้ว่าเมื่อใดโง่เมื่อนั้นเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานทันทีที่นั่นและเดี๋ยวนั้น บนศาลานี้ก็ได้
ทีนี้มาถึงเปรต เปรตนี้คือความหิว เมื่อใดมีความหิวในทางจิตใจเมื่อนั้นเป็นเปรต หิวอย่างนี้ไม่ใช่หิวข้าว ไม่ใช่หิวอาหาร แต่หิวในทางจิตทางวิญญาณ คือหิวด้วยความทะเยอทะยานด้วยกิเลสตัณหา เช่น คนหิวในทางกามารมณ์ สร้างวิมานในอากาศ มีความมุ่งมาดปรารถนา เหมือนคนซื้อล็อตเตอรี่แล้วก็หวังจะถูก เหมือนคนเล่นการพนันก็หวังจะชนะ หิวอย่างนี้เรียกว่าเป็นเปรต มีอุปมาว่าท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม เพราะว่าความหิวความอยากนั้นมันมาก มากเท่ากับภูเขา แต่ของที่จะได้กินได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี้เท่ารูเข็ม มันก็ไม่ทันกัน เพราะฉะนั้นมันจึงหิวมาก ฉะนั้น ถ้าใครอยากทะเยอทะยาน หวังอะไรจนนอนไม่หลับ คนนั้นเป็นเปรต แม้คนนั้นจะมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีวัวควายไร่นามาก แต่หิวอยากหวังอะไรจนนอนไม่หลับ คนนั้นเป็นเปรต ลองคิดดูว่าเมื่อไรมีความหิวอย่างนี้เมื่อนั้นเกิดเป็นเปรตที่นั่นและเดี๋ยวนั้น จนกว่าจะหยุดจะซาไปซักพักหนึ่ง เดี๋ยวก็หิวอย่างนี้อีกก็เกิดเป็นเปรตอีก แล้วก็เกิดอยู่เป็นเปรตในบ้านในเรือน บนกองเงินกองทองก็ยังได้เหมือนกัน
นี่อบายสุดท้ายเรียกว่าอสุรกายนี้แปลว่าไม่กล้าหาญ อสุรกายแปลว่าไม่กล้าหาญ อสุร แปลว่า ไม่กล้าหาญ นี้ก็คือขี้ขลาด เมื่อใดมีความขลาดความกลัวขึ้นมาเมื่อนั้นก็เกิดเป็นอสุรกาย คนบางคนขลาดอย่างไม่น่าขลาด กลัวไส้เดือน จิ้งจก ตุ๊กแก อย่างนี้มันก็เป็นความขลาดที่ไม่น่าจะขลาด มันก็เป็นอสุรกาย หรือกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัวอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่กล้าสละสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ไม่กล้าสละเพื่อสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนด้วยซ้ำไป อย่างนี้ก็เป็นคนขี้ขลาด เพราะความขี้ขลาดจึงเป็นทุกข์ เพราะความกลัวจึงได้เป็นทุกข์ เมื่อใดเรามีความทุกข์เพราะความกลัว เมื่อนั้นเราเป็นอสุรกาย
ลองทบทวนดูใหม่ให้ดีๆว่า อบายมีอยู่ ๔ อย่าง คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อบายที่ ๑ คือนรกนั้น ได้แก่ ความร้อนใจเหมือนไฟเผา อบายที่ ๒ คือสัตว์เดรัจฉานนั้นคือความโง่อย่างไม่น่าจะโง่ อบายที่ ๓ คือเปรตนั้น ได้แก่ ความทะเยอทะยานจนนอนไม่หลับ อบายที่ ๔ คืออสุรกายนั้นคือความขลาด กลัว จนเป็นทุกข์โดยไม่มีเหตุผล นี่แหละคิดดูเถิดว่าวันหนึ่ง วันหนึ่งนั้นมันตกอบายอย่างนี้กันกี่ครั้งกี่หนในวันหนึ่ง วันหนึ่งนั้นทำไมไม่กลัว แล้วจะไปกลัวอบายแต่ตายแล้วซึ่งมันยังไม่มา ยังไม่ถึงและยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่อบายที่ตกอยู่จริงๆ แผดเผาอยู่จริงๆนี้กลับไม่กลัว นี่แหละคิดดูเถิดว่าเป็นคนโง่สักเท่าไร แล้วหาคิดไม่ว่าถ้าไม่ตกอบายที่นี่ อย่างนี้ ที่นี่แล้ว มันไม่ตกอบายชนิดไหนหมด ขอให้คิดดูให้ดี ให้ดีในข้อนี้ว่า ถ้าเราไม่ตกอบาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อย่างที่ว่านี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ในโลกนี้แล้ว มันไม่ตกอบายชนิดไหน ที่ไหน ในโลกไหนอีกแล้ว ตายไปแล้วไม่มีตกอบายชนิดไหนอีก ฉะนั้นขอให้ระวังอบายชนิดที่มันตกจริงๆอยู่ที่นี่แหละให้มาก อย่าให้ได้ตกเลย แล้วตายแล้วไม่มีตกชนิดไหนอีก ไม่มีตกที่ไหนอีก เพราะฉะนั้นอย่าไปนึกถึงอบายถ้าตายแล้วก็เข้าโลงไปแล้ว อย่าไปนึกถึง มานึกถึงแต่อบายที่มันตกอยู่จริงๆนี่ วันหนึ่งหลายๆ หนนี่ แล้วแก้ไขให้มันหมดไปอย่าได้ตกอีก ก็เป็นอันว่าปลอดภัย
การที่จะไม่ตกอบายก็คืออย่าไปทำเหตุที่ให้ตกอบาย เหตุที่ได้ให้ตกอบายนั้นท่านเรียกว่า “อบายมุข” มุข แปลว่า ปากหรือหนทาง ปากทาง อบายมุข แปลว่า ปากทางแห่งอบาย มีมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ง่ายๆตื้นๆก็มีว่า ดื่มน้ำเมา เล่นการพนัน ดูการเล่น เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นเพื่อน อะไรทำนองนี้ ล้วนแต่เป็นอบายมุข ปากทางแห่งอบายทั้งนั้น
นี้จะยกตัวอย่างให้ฟังสักข้อเดียวก็พอ คือ เล่นการพนัน คนที่เล่นการพนัน เล่นไพ่ เล่นโป เล่นอะไรก็ตาม พอแพ้เข้ามันก็เดือดร้อนเหมือนกับตกนรก เหมือนกับไฟเผา ไปกู้เงินเขามาเล่น หรือเล่นด้วยเงินของตนเอง หรืออะไรก็ตามใจ พอแพ้เข้า หมดเงินเข้า มันก็เดือดร้อนใจเหมือนไฟเผา เมื่อนั้นมันตกนรก การเล่นการพนันจึงเป็นอบายมุขจริงๆ ทำให้คนตกอบาย คือ นรกร้อนใจเหมือนไฟเผาได้จริง ทีนี้ คนเล่นการพนันนั้นมันตกอบายข้อที่ ๒ เพราะมันโง่ มันโง่ไปคิดว่าเล่นการพนันนี้จะเอาตัวรอดได้ มันโง่หวังไปพึ่งการพนัน มันโง่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นการที่มันไปเล่นการพนันมันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว คือมันโง่เพราะคิดว่าเล่นการพนันนี้จะช่วยตัวได้ มันก็ตกอบายข้อที่ ๒ อยู่แล้ว อยู่ขณะหนึ่งแล้ว ทีนี้คนที่เล่นการพนันอยู่ ถือไพ่อยู่ ถืออะไรอยู่นี้ มันหิวเรื่อย มันหิวจะชนะ หิวเพื่อจะชนะนั้นมันหิวเรื่อย นี้มันก็เป็นเปรตอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่มันอยากจะชนะอย่างใจจะขาด มันหิวในทางจิตทางวิญญาณเรื่อยอย่างนี้ มันเป็นเปรตอยู่แล้ว มันมีท้องเท่าภูเขา มีปากเท่ารูเข็มอยู่ในความอยากความหิวนั้นแล้ว ดังนั้นการพนันมันจึงเป็นอบายมุขจริงคือทำให้คนเป็นเปรตที่นั่นและเดี๋ยวนั้น ทีนี้คนที่เล่นการพนันนี้มันขี้ขลาดที่สุด ขี้ขลาดกลัวแพ้ที่สุด อะไรนิดหนึ่งก็สะดุ้งกลัวแพ้ มันขี้ขลาดที่สุด มันก็เป็นอสุรกายอยู่แล้ว การพนันเป็นอบายมุข ทำให้เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ให้เป็นอบายครบถ้วนอยู่แล้ว ก็เรียกว่าจริง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า นี้มันเป็นอบายมุข
ฉะนั้นผู้ใดไม่อยากตกอบายก็อย่าไปทำอบายมุขเข้าเท่านั้นเอง กระทำจิตใจให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม กระทำกรรมที่ถูกต้องเป็นบุญเป็นกุศลอยู่เสมอ ก็จะมีจิตใจชนิดที่เรียกได้ว่าสวรรค์ คือพอใจอย่างยิ่งในความเป็นอยู่ของตัวเอง เคารพนับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองก็ได้ว่าในตัวเรานี้มันช่างมีอะไรดี น่าไหว้น่านับถือจริงๆ อย่างนี้มันก็มีความรู้สึกเหมือนกับได้สวรรค์ที่แท้จริงไม่ใช่สวรรค์หลอกลวง สวรรค์หลอกลวงเรื่องกามารมณ์นั้นเขาไว้หลอกคนโง่ สวรรค์แท้จริงนี้ก็เป็นเรื่องความรู้สึกที่เป็นสุขใจจริงๆ โดยเฉพาะคือความเคารพนับถือตัวเองได้นั่นเอง ถ้าเราได้สวรรค์อย่างนี้มันก็ได้จริง มีอยู่ในใจจริง ถ้าได้สวรรค์อย่างนี้ที่นี่แล้วไม่ต้องสงสัยตายไปแล้วก็ต้องได้สวรรค์อย่างนี้อย่างเดียวกันอีก เพราะฉะนั้นเรื่องสวรรค์กับตายเข้าโลงไปแล้วอย่าพึ่งนึกถึงก็ได้ อุตส่าห์พยายามทำให้ได้สวรรค์ที่แท้จริงอย่างที่ว่านี้ ชาตินี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้เสียก่อนเถิด แล้วก็จะเป็นอันว่าได้สวรรค์โดยแท้จริงตลอดไป
นี่คนมีปัญญาเขามองกันในเรื่องจิตใจที่ถูกต้องอย่างนี้ เขาจึงได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เอาเรื่องเนื้อหนังวัตถุเป็นเกณฑ์ เพราะนั่นมันเป็นของหลอกเป็นของภายนอก เอาเรื่องจิตใจเป็นเกณฑ์ดีกว่า และเมื่อเอาเรื่องจิตใจเป็นเกณฑ์แล้วมันต้องเป็นจิตใจที่ถูกต้อง คือประกอบไปด้วยความรู้ที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราดังนี้ นี่แหละคือข้อที่ว่า พุทธบริษัทเราจะต้องเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา จึงจะไม่เป็นคนโง่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน แต่เป็นผู้ได้กินไข่หรือหัวใจของพุทธศาสนาเสียเอง
ทายกทายิกาทั้งหลายควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะมีทางก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของตนอย่างนี้ นับตั้งต้นแต่ว่าการให้ทาน ก็ต้องให้ทานที่เป็นการนำไปสู่สวรรค์ที่แท้จริง ให้ทานอย่างน้ำโคลนนั่นมันพาไปนรกที่นั่นและเดี๋ยวนั้น มันฆ่ากันตายที่ในวงทำบุญนั่นเอง มันกินเหล้าเมายา มันฆ่ากันตายในวงที่ทำบุญนั่นเอง มันตกนรกที่นั่นแล้ว แม้แต่ทำบุญอย่างเป็นน้ำหอมนี้ก็ยังไม่น่าไว้ใจ มันทำให้เคลิบเคลิ้มไปได้ รู้จักทำบุญให้เป็นน้ำสบู่ไว้เสมอไป คือกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงไว้เสมอไป ให้เจริญงอกงามไปในทางของพระศาสนา คือไม่ยึดมั่น ไม่โง่ ไม่หลง ไม่มั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวตนของตน ปากพูดว่าของเราแต่ใจไม่ใช่ของเรา ปากนี้ต้องพูดว่าตัวเรา พูดว่าของเราทั้งนั้น แม้พระพุทธเจ้าท่านก็พูด พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไม่มีกิเลสแล้ว ปากของท่านก็ยังพูดว่า ตถาคต หรือของตถาคต หรือเพื่อตถาคต แก่ตถาคต สำหรับพวกเรา เราพูดก็พูดว่าตัวเรา ของเรา เพื่อเรานั่นเหมือนกัน แต่ปากพูดอย่างนั้นใจไม่เป็น ใจรู้แจ่มแจ้งอยู่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเราได้ ฉะนั้นท่านจึงไม่เป็นทุกข์ พูดกันแต่เพียงรู้เรื่องทำการงานในโลกนี้ได้เพื่อช่วยเหลือคนอื่น นี้เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องช่วยตัวเราตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงจะช่วยเราได้ เมื่อเราปฏิบัติตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า เราก็พ้นจากความทุกข์ นี้เรียกว่าเราช่วยตัวเรา เราต้องปฏิบัติให้ถูกทางอย่างนี้
แม้การทำบุญให้ทานในวันนี้ก็ต้องเป็นไปเหมือนกับน้ำสบู่ มันจึงจะล้างบาปได้ แล้วเราก็จะค่อยๆเดินไปตามทางของพระพุทธศาสนา ด้วยหลักที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ความหลงว่าสิ่งใดเป็นตัวเราหรือเป็นของของเราดังนี้ แล้วเราก็จะมีความก้าวหน้าในพระศาสนายิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับ จนถึงอันดับสุดท้ายที่เป็นสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้โดยแน่นอน และทันแก่เวลาในชาตินี้ ในชาติปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้วเข้าโลงแล้ว แล้วรออีกสองชาติ สามชาติ สิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติเหมือนที่พูดๆกัน นั้นเป็นเรื่องของคนโง่ ผลัดเพียงแต่เวลาไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ สอนให้ละความยึดมั่นถือมั่นที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็เกิดเป็นความดับทุกข์หรือนิพพานขึ้นมาที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้ามันเป็นของชั่วครั้งชั่วคราวก็ทำให้มันแน่นแฟ้นยิ่งๆขึ้นไป ให้มันเป็นของตายตัว ก็จะเป็นนิพพานจริงขึ้นมา มีจิตใจสว่าง สะอาด สว่าง สงบ เป็นสุขที่สุดได้สมตามความปรารถนาของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นพุทธบริษัทอยู่ในร่มเงาของพระพุทธเจ้า มีความสุขความเจริญทุกทิพาราตรี ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา เทศน์แก่คณะแสวงบุญชาวเชียงรายที่มาทอดผ้าป่าประมาณ ๕๐ คน ที่โรงธรรม ที่โรงธรรม