แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ เนื่องด้วยท่านทั้งหลายได้มาบำเพ็ญกุศลให้ถิ่นนี้และได้แวะมาเยี่ยมสถานที่นี้ ตั้งใจจะฟังธรรมเทศนาอันเนื่องกันกับสถานที่นี้ ดังนั้น ในวันนี้จะได้แสดงธรรมเทศนาโดยหัวข้อว่า สันติมัคคังวะ พรูหะเย จงพอกพูนหนทางแห่งความสงบ
การที่ได้กล่าวเช่นนี้ก็เพราะมามองเห็นว่าบัดนี้เป็นเวลาที่เขาพากันก้าวหน้าหรืออีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า “พัฒนา” หรือถ้าจะเรียกให้ตรงกว่านั้นก็เรียกว่า “เลื่อนชั้น” พวกเราพุทธบริษัทชาวไทยเดี๋ยวนี้อยู่ในฐานะที่จะต้องเลื่อนชั้น คนทั้งโลกเขาเลื่อนชั้นกันทั้งนั้น และไม่ว่าในหน้าที่การงานชนิดไหนเขาก็เลื่อนชั้นกันทั้่งนั้น แล้วพุทธบริษัทจะมาฝังตัวเองอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นการเลื่อนชั้นเสียเลยตั้งกี่ปีกี่ปี หรือกี่สิบปีมาแล้ว
คำว่า “เลื่อนชั้น” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการที่จะต้องแก้ไขหลักพระธรรมคำสอน หากแต่ว่าเราจะต้องรู้จักเอาพระธรรมคำสอนนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่หรือที่แล้วๆมา ให้นับว่าเป็นการเลื่อนชั้นในการได้ประโยชน์จากพระธรรมคำสอนนั้นก็แล้วกัน หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้คิดดู เพราะเรายังไม่ได้เลื่อนชั้นกันเสียเลยก็ว่าได้ ทำอะไรก็ทำอย่างนี้ เช่นนี้ เท่านี้ มากี่สิบปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไปในทางของความรู้หรือการปฏิบัติหรือผลของการปฏิบัติ หรือก็อยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นการเลื่อนชั้นเสียเลย แล้วถ้าจะมองให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ยังมีสิ่งที่น่าเศร้า น่าสลด น่าสังเวช อยู่บางประการ คือการซ้ำซากนั้นไม่ได้ซ้ำซากในลักษณะที่เรียกว่าจะรับประกันได้ว่าจะเอาตัวรอดได้ หากแต่ว่าซ้ำซากอยู่ในลักษณะที่น่าเวทนาสงสาร ข้อนี้ต้องนึกดูให้ดี เราจะต้องรู้จักกลัว รู้จักละอายกันเสียบ้าง
ถ้าจะมีผู้กล่าวว่า พุทธบริษัทส่วนมากมีแต่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน ไม่เป็นผู้รู้จักประโยชน์ของไข่และกินไข่นั้นด้วยตนเอง ที่ว่าเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั้น มันมีความหมายอย่างไร ขอให้ลองคิดดู แล้วลองคิดดูว่าถ้าใครคนหนึ่งเลี้ยงไก่ อุตส่าห์เลี้ยงด้วยความยากลำบากสิ้นเปลือง แต่พอไก่นั้นไข่ออกมา ก็หารู้ไม่ว่านั้นเป็นไข่ไก่ที่ควรจะกิน เพราะไม่เอาใจใส่ในเรื่องไข่ไก่ ละเลยเพิกเฉย ในที่สุดคือนักก็กินไข่ไก่เหล่านั้้น แล้วคนผู้เลี้ยงคนนั้นจะอยู่ในลักษณะที่น่าเวทนาสงสารสักเพียงไรขอให้คิดดูเถิด
ทีนี้ ถ้าเราจะเปรียบไก่ที่จะไข่นี้ เหมือนกับศาสนา เราเลี้ยงไก่คือเลี้ยงศาสนา ก็คือบำรุงศาสนานั่นเอง เราบำรุงศาสนากันเป็นการใหญ่เท่าไร ท่านทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้อยู่แล้ว เหนื่อยเท่าไร สิ้นเปลืองเท่าไร หมดเวลาไปเท่าไร นี้เป็นเรื่องการเลี้ยงไก่ คือบำรุงพระศาสนา ทีนี้พอถึงทีที่ศาสนาจะให้อะไรแก่ท่านบ้างในส่วนที่เป็นหัวใจของศาสนาจริงๆนั้น ท่านทั้งหลายก็มักจะไม่สนใจ ไม่สนใจเสียเลยก็มี กลับไปได้ประโยชน์กับคนอื่นที่ไม่ได้เลี้ยงไก่ ที่ไม่ได้บำรุงศาสนาด้วยความเหนื่อยยากลำบากสิ้นเปลืองเหมือนพวกเราทั้งหลาย แล้วเราทั้งหลายผู้มีลักษณะเหมือนกับเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินเช่นนี้ มันมีอะไรดีที่ตรงไหน จะดีมากดีน้อยเท่าไร ขอให้ลองคิดดู
นี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งแสดงว่าเราต้องเลื่อนชั้น เลื่อนชั้นจากการจะเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั้น มาเป็นผู้กินไข่ไก่กันเองเสียบ้าง หมายความว่าเมื่อมีการแสดงให้ทราบหรือการบอกให้รู้ถึงข้อปฏิบัติทางศาสนาที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นหัวใจของศาสนาที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้จริงนี้ เราจะต้องรับเอาและจะต้องรับเอาให้ได้ให้ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะทำบุญให้ทานไปตามธรรมเนียมประเพณีอย่างเดียว
เราต้องเลื่อนจากทำบุญมาเป็นทำหัวใจของพระศาสนา คือทำจิตทำใจแก่กันเสียบ้างตามสมควรแก่อัตภาพ สติปัญญาของตนของตน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นพระอรหันต์กันได้ทั้งหมด แต่หมายความว่าเราจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมะในส่วนที่เป็นตัวแท้ เนื้อแท้ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น ให้ได้พอสมควรให้ได้รับประโยชน์เป็นความสะอาด สว่าง สงบแก่จิตใจตามสมควร อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เป็นผู้กินไข่ไก่ จะได้รับประโยชน์อันแท้จริงจากพระศาสนานั่นเอง
ธรรมะที่เป็นหัวใจของพระศาสนานั้น ก็คือธรรมะที่จะต้องประพฤติปฏิบัติกันด้วยจิตด้วยจิตใจให้มีความสะอาด สว่าง สงบขึ้นในจิตใจ ถ้าเรายังต้องร้องไห้หรือยังต้องหัวเราะด้วยความเขลาอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจที่สูงในลักษณะที่ได้รับประโยชน์อันแท้จริงจากพระศาสนา
ทีนี้ก็อยากจะแนะให้ท่านทั้งหลายนึกต่อไปในการที่จะเลื่อนชั้นอย่างอื่นอีก เช่นว่าเรารู้จักกันแต่มหรสพในทางวัตถุง่ายๆ เช่น ดูหนัง ดูละครเพื่อสนุกสนานทางตา ทางหู ตามธรรมดาเหล่านี้ ยังไม่เหมาะสมแก่พุทธบริษัทเลย พุทธบริษัทควรจะมีมหรสพที่สูงไปกว่านั้น ในที่นี้เราไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี เรายังเรียกว่า “มหรสพทางวิญญาณ” กันไปก่อน เพื่อเข้าใจคำว่า “ทางวิญญาณ” จงเปรียบเทียบดูดังนี้
ทางกายอย่างหนึ่ง ทางจิตอย่างหนึ่ง ทางวิญญาณอย่างหนึ่ง
ถ้าเราเป็นโรคทางกาย เราไปหาหมอตามธรรมดา ถ้าเราเป็นโรคทางจิต อยู่กรุงเทพฯก็ไปที่ปากคลองสาน แต่ถ้าเป็นโรคทางวิญญาณ เราต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คนที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาลที่ปากคลองสานหรือโรงพยาบาลไหนหมดแล้ว แต่ก็ยังต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้าเพื่อแก้ไขทางวิญญาณ เพราะว่าแม้จะมีเงินมีทองมีความสบายตามปกติแล้ว เราก็ยังมีโรคทางจิตใจ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น เบียดเบียนอยู่ เราต้องแก้ไขโรคในส่วนลึกของจิตใจหรือทางทิฐิ ทางความคิดความเห็นเช่นนี้กันด้วย ถึงจะเรียกว่าไม่มีโรค คำว่า “วิญญาณ” หมายความอย่างนี้
เราจึงต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “มหรสพ” ให้สูงขึ้นไปกว่ามหรสรพตามธรรมดา เช่นหนังละครตามธรรมดา มารู้จักมหรสพทางวิญญาณ
ธรรมะนั่นแหละคือมหรสพทางวิญญาณ แต่ต้องเป็นธรรมะที่เป็นเนื้อแท้หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชนิดที่เป็นไข่ของไก่จริงๆ อย่าไปหลงเอาอุจจาระของไก่หรือขนของไก่มากินเข้าไป ฉันใดเราก็จะต้องรู้ธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฉันนั้นว่า ธรรมะที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร คือที่สามารถให้ความสบายใจ เยือกเย็นใจ สดใส แจ่มใส หรือถึงกับเป็นความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจว่า ธรรมะนั่นแหละเป็นมหรสพ
ความหมายของคำว่า มหรสพ ก็คือทำให้สบายใจ ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินให้ร่าเริง แจ่มใส
ในทางวัตถุก็มีมหรสพตามธรรมดา แต่ทางจิตทางวิญญาณที่ลึกขึ้นไป เรามีมหรสพคือธรรมะ ดังนั้น จึงกล่าวว่าเมื่อใดเรามีการได้รับรสของพระธรรม เมื่อนั้นเราเรียกว่าเราได้รับมหรสพทางวิญญาณ เป็นความสนุกสนานยิ่งกว่าสนุกสนาน เป็นความบันเทิงในทางธรรม
ธรรมะคือมหรสพทางวิญญาณ ทีนี้ ท่านมาที่นี่ได้ยินคำว่า “โรงมหรสพทางวิญญาณ” อยู่ที่ไหน คืออะไร ควรจะรู้สึกกันเสียบ้าง
ธรรมชาติทั้งวัดเรียกว่าธรรมชาติทั่วๆไปในวัดนี้ ทั้งวัดเรียกว่า โรงมหรสพทางวิญญาณ หรือโดยเฉพาะตึกหลังขาวใหญ่ที่ท่านเข้าไปดูในตอนเย็นนั้นก็คือโรงมหรสพทางวิญญาณ แต่ว่านั่นยังเป็นส่วนน้อยและส่วนตื้นๆไม่ลึกซึ้งอะไร ส่วนใหญ่และส่วนที่ลึกซึ้งจริงๆ นั้นก็คือธรรมชาติทั้งวัดทีเดียว คือภูเขาทั้งลูกและสิ่งต่างๆที่แวดล้อมอยู่รอบๆภูเขา เป็นต้นไม้ เป็นก้อนหิน เป็นหญ้าบอน เป็นสระน้ำ ลำธาร ทุกอย่าง ทุกประการที่เราเรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติทั้งวัด หมดทั้งบริเวณวัด เป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่นี้ เรียกว่า โรงมหรสพทางวิญญาณ
ถ้าผู้ใดดูได้และเข้าใจจะได้รับฟังความเพลิดเพลินใจเป็นอย่างยิ่ง ต้นไม้ก็พูดได้ ก้อนหินก็พูดได้ หญ้าบอนก็พูดได้ มดแมลงก็พูดได้ อะไรๆก็พูดได้ แต่ว่าหูของคนนั้นไม่ดี จึงไม่ได้ยิน ถ้าได้ยินก็จะได้รับความเพลิดเพลินเหมือนกับมหรสพ และเป็นมหรสพทางวิญญาณดังที่กล่าวแล้ว
ก้อนหิน ต้นไม้ หญ้าบอน ต่างๆนี้มันพูดว่าอะไร มันก็คงพูดได้มากมายจนฟังไม่ไหว แต่ส่วนใหญ่มันจะต้องพูดกันว่ามนุษย์นี้ไม่รู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติเหล่านี้ ไม่รู้ความจริงหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งไม่มีความทุกข์เลย มนุษย์มีความทุกข์ร้อนในใจ แต่ธรรมชาติเหล่านี้หามีความทุกข์ร้อนไม่ เราดูลักษณะของต้นไม้ ของก้อนหิน ของหญ้าบอน หรือของสิ่งทั้งหลายต่างๆตามธรรมชาติ ล้วนแต่บอกให้เราหยุด บอกให้เราสงบในเรื่องความทุกข์ความร้อน และให้มีความสดชื่น ความสงบเย็น เหมือนกับสิ่งเหล่านั้น
ที่สูงไปกว่านั้น มันก็แสดงหรือบอกร้องตะโกน ลักษณะของความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เราได้ยิน แต่เราหูหนวก หูหนัก หูใช้การไม่ได้ ก็เลยไม่ได้ยิน นี่เลยเรียกว่าแม้แต่เข้าไปในโรงมหรสพที่สูงสุดแล้ว ก็หาได้เห็นหรือได้ยินมหรสพเหล่านั้นไม่ มันลึกเกินไป ที่เข้าไปในตึกหลังขาวใหญ่นั่น ไปดูสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในนั้น บางคนก็หาได้มีความรู้ความเข้าใจในทำนองที่จะเป็นความเพลิดเพลินบันเทิงใจแต่ประการใดไม่ มีลักษณะเหมือนกับไปดูของแปลกๆประหลาดอะไรบ้างเท่านั้นเอง อย่างนี้ก็เรียกว่ายังไม่ได้รับประโยชน์อะไรในการในทางมหรสพจากตึกหลังนั้น
ถ้าดูเป็น ภาพเหล่านั้นล้วนแต่ให้ความเพลิดเพลินอย่างยิ่งในทางจิตใจหรือในทางวิญญาณ ให้ความรู้ความเข้าใจในทางธรรมอย่างสนุกสนาน และในลักษณะที่กล่าวได้ว่าเป็นการกระตุกกระชากคนโง่ๆให้หกคะเมนไปทีเดียว ลองไปดูกันใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ในบางโอกาส ก็จะเข้าใจได้ว่าเป็นความเพลิดเพลินยิ่งกว่ามหรสพใดๆก็ได้ นี่ความหมายของคำว่ามหรสพทางวิญญาณ ที่เรามุ่งหมายกันอยู่ที่นี่ อย่างนี้ เป็นอย่างนี้
เมื่อเรารู้จักแต่เรื่องมหรสพทางธรรมดาสามัญแล้ว ก็จงรู้จักเลื่อนชั้นตัวเองให้มารู้จักมหรสพทางวิญญาณกันเสียบ้าง เราจะต้องรู้ธรรมะให้ยิ่งไปกว่าที่เรามีอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถจะทำให้เกิดความพอใจในธรรม หรือความสดใส แจ่มใสตามทางธรรม หรือความสะอาด สว่าง สงบได้ เรายังชอบความวุ่นวาย เรายังไม่ชอบความสงบ
เราไม่รู้ว่าเวลาว่างนั่นแหละเป็นเวลาสบาย ไม่ใช่เวลาวุ่น เป็นเวลาสบาย เวลาวุ่นอย่างดีที่สุดก็เป็นเรื่องสนุกสนานไปตามประสาคนโง่ๆเขลาๆ แต่เวลาว่างนั้นเป็นเวลาสบาย
แล้วเวลาที่ไม่หาบ ไม่หามอะไรเอาไว้ นั่นแหละเป็นเวลาเบา
เวลาที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีตัวเราหรือมีของเรา นั่นแหละเป็นเวลาที่เบาที่สุด ไม่มีเวลาไหนจะเบายิ่งไปกว่านั้นแล้ว
แล้วเวลาที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไร เป็นของเราเลย นั่นแหละเป็นเวลาที่เป็นสุขที่สุด
เมื่อเรารู้สึกว่าเรามีอะไรมากอย่างแล้วต้องล้วนแต่รับผิดชอบไปทั้งนั้น เราก็จะมีความทรมานใจ เป็นการตกนรกชนิดหนึ่งทีเดียว จงทบทวนดูใหม่ว่าเวลาที่เราไม่วุ่น เราว่างนั้นเราชอบ เราชอบอยู่ว่างๆ ไม่ให้มีใครมากวน แล้วเวลาที่เราไม่หาบอะไรไว้บนบ่า ไม่ทูนอะไรไว้บนศีรษะเลย นี้เรียกว่าเป็นเวลาเบาสบาย
เรากำลังหาบอะไร ทูนอะไร เรากำลังหาบสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี้เป็นของหนักที่สุด เป็นขันธ์ทั้ง ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบอยู่ในอุปาทานนี้เป็นของหนักที่สุด โดยมีอุปาทานว่าตัวเราบ้าง ว่าของเราบ้าง ตามสัดส่วนของขันธ์นั้นๆ มันก็กลายเป็นของหนักขึ้นมา มีตัวเราเมื่อไรก็มีโซ่ตรวนร้อยรัดจิตใจเมื่อนั้น ไม่รู้สึกว่ามีตัวเราก็มีความเบาสบาย
ขอให้สังเกตต่อไปว่าเวลาที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเลย นี้เป็นเวลาที่เป็นสุขที่สุด ท่านมาในสถานที่อย่างนี้ รู้สึกว่าเป็นสุขสบาย เหมือนคนทั้งหลายที่มาแล้วเป็นอันมากและพูดกันว่าทำไมจึงรู้สึกสบายใจบอกไม่ถูก แต่แล้วเขาก็หารู้ไม่ว่านั่นเป็นเพราะเหตุไร แต่ถ้าเขาจะมองดูสังเกตดู พินิจพิจารณาดูสักนิดหนึ่งเท่านั้น เขาก็พอจะเข้าใจได้ว่าเมื่อเรานั่งอยู่ที่นี่ เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรา เพราะเราเดินอยู่ที่นี่ เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรา เราลืมไปหมดในความรู้สึกที่ว่ามีอะไรเป็นของเรา จิตของเราว่างจากความยึดถือว่าอะไรเป็นของเรา เราจึงมีความสบายใจชนิดที่บอกไม่ได้ บอกไม่ถูก คือเกินกว่าที่จะพรรณนาได้นั่นเอง เพราะว่าเวลานี้เรากำลังลืมไปแม้กระทั่งตัวเรา ลืมไปแม้กระทั่งว่าเรามีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป เราสลัดออกไปแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี้เป็นความสลัดออกไปยิ่งกว่าเงินทองข้าวของอะไรต่างๆเสียอีก ฉะนั้นจึงมีความเบาสบายถึงที่สุด แต่เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเวลาที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเลยนั้น เป็นเวลาที่เป็นสุขที่สุด เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายมีความรู้ความเข้าใจในข้อนี้กันบ้าง เพราะจะเป็นการเลื่อนชั้นตัวเองให้สูงขึ้นมาพอสมควรแก่เวลาสมัยนี้ ซึ่งล้วนแต่เขาพากันเลื่อนชั้นสิ่งต่างๆอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
พุทธบริษัทเราก็ควรจะถือว่าเป็นการถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเลื่อนชั้นตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะต้องเข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญาตานั่นเอง ถ้ายังไม่ขึ้นมาถึงระดับนี้ ก็เรียกว่ายังไม่ได้กินไข่ไก่ คือยังไม่ได้กินไข่ของศาสนา อย่างดีก็จะไปกินขนไก่ กินเปลือกไข่ไก่ อะไรทำนองนั้นมากกว่า ถ้าถึงขนาดที่จะเรียกว่ากินไข่ของไก่ ก็คือกินเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนากันแล้ว ก็ต้องรู้ถึงธรรมะข้อนี้และการศึกษาเปรียบเทียบโดยนัยดังที่กล่าวมานี้
ลองพิจารณาย้อนหลังดูว่าพอออกจากบ้านมาขึ้นรถไฟ ทำไมมันจึงเริ่มสบายใจ พอรถไฟเคลื่อนไปเคลื่อนไป มันก็ยิ่งสบายใจ ยิ่งสบายใจ ไปถึงจังหวัดที่เราไปทอดกฐินก็ยิ่งสบายใจ แม้แต่เวลานี้ก็ยังสบายใจอยู่ เพราะว่าตลอดเวลานี้ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวกูหรือของกู” นั้นมันเลือนไป เลือนไป จนลับหายไป เพราะสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ หรือถ้าเราชอบใจในธรรมชาติอย่างนี้ ธรรมชาติอย่างนี้ก็ครอบงำทำให้ลืมตัวกูของกู ลืมกระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นชีวิต จึงมีความสบายใจบอกไม่ถูก นี้แหละเรียกว่าเวลาที่เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเลยนั่นแหละเป็นเวลาที่เป็นสุขแท้จริงอย่างยิ่งถึงที่สุด หากก็เป็นแต่เพียงว่า มันชั่วคราว เราควรจะทำให้มันยั่งยืนกว่านี้ ความได้รู้รสของพระนิพพานแต่เพียงชั่วคราวอย่างนี้ก็นับว่าเป็นการดีมากอยู่ คือเป็นเรื่องตัวอย่าง หรือเป็นเรื่องชิมลองให้เกิดความสนใจมากขึ้น แล้วก็ไปพยายามประพฤติปฏิบัติให้สูงขึ้นไป ให้มีอยู่มากขึ้นๆ เราก็จะได้รับประโยชน์อย่างเดียวกันกับที่พระอริยเจ้าท่านได้รับกัน
ความสำคัญมันจึงมีอยู่ที่ว่า เราต้องไม่มีอะไรเป็นตัวกูหรือของกู นี้อย่างหยาบคายในเวลาที่มันยึดมั่นถือมั่นมาก หรือว่าเราจะต้องไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี้คือตามปกติ แม้เราจะพูดว่าบ้านของเรา ลูกของเรา หลานของเรา หรือชีวิตของเรา ขอให้เป็นแต่ปากว่าเถิด ส่วนใจแท้จริงนั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายถึงขนาดนั้นเลย มันเป็นอุปาทานที่จะทำให้ของเหล่านั้นกลายเป็นของหนักขึ้นมา
ถ้าเราไปหมายมั่นด้วยจิตใจว่าเป็นของเราจริงๆแล้ว ทุกอย่างมันจะขึ้นมาสุมอยู่บนศีรษะเรา มีวัว มีควาย มีไร่มีนา ก็จะมาสุมอยู่บนศีรษะเรา มีเรือกสวนไร่นา มีบ้าน มีตึก มีอะไรๆก็ล้วนแต่จะมาสุมอยู่บนศีรษะของเราแล้วมันจะทนไหวได้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงมีตามสักแต่ปากว่า เหมือนกับพูดว่าของเรา เงินของเรา ทองของเรา บ้านของเรา เรือนของเรา แต่จิตใจอย่าไปสำคัญมั่นหมายเช่นนั้น ไม่มีอุปาทานในลักษณะเช่นนั้นแล้ว มันก็ไม่มาอยู่บนศีรษะของเรา มันก็อยู่ตามที่ของมัน เราจะใช้ จะสอย จะกิน จะทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีความทุกข์เลย
ดังนั้น จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายว่า เรามาหัดเป็นคน ปากอย่าง ใจอย่าง คือปากกับใจไม่ตรงกันเสียเลยเสียดีกว่า ปากพูดว่าของเรา แต่ใจอย่าเป็นของเรา ปากพูดว่าตัวเรา แต่ใจอย่าเป็นตัวเรา อย่าสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรา เราหัดได้อย่างนี้ เราจะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้รับความสงบเย็นเป็นสุข ชนิดที่เป็นขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนา นี้เรียกว่าเราเลื่อนชั้น ด้วยการเดี๋ยวนี้เรามาเป็นคนปากอย่างใจอย่าง ปากกับใจไม่ตรงกันในลักษณะเช่นนี้เสียทีเถิด เป็นวิธีลัดสั้นที่สุดแล้วที่จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา
ทีนี้ จะแนะให้สังเกตดูต่อไปถึงเรื่องง่ายๆธรรมดาๆ และเกี่ยวข้องกันอยู่กับท่านทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ สิ่งนี้ก็คือ “เรื่องการให้ทาน” เรื่องการให้ทานนี้เราต้องเลื่อนชั้นกันเสียที และเลื่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้น เราจะต้องรูักันเสียก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่าการให้ทานนี้มีอยู่สักกี่ชั้น ที่จริงมันก็มีอยู่มากมายหลายชั้น แต่จะยกตัวอย่างมาให้ดูพอเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะการให้ทานชนิดหนึ่ง
ชนิดแรกเป็นการให้เพื่อผูกมิตรหรือตอบแทน นี้ก็อย่างหนึ่ง การให้เพื่อเอาหน้าเอาตา เอาเกียรติ เอาความสบายใจ ก็มีเกียรติ เรียกว่าให้ทานเอาหน้า นี้ก็อย่างหนึ่ง ให้ทานเพื่อไปเกิดในสวรรค์ได้วิมาน หรือเกิดสวยเกิดรวยในโลกมนุษย์กันใหม่ นี้ก็อย่างหนึ่ง ให้ทานเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว หรือทำลายกิเลสคือความตระหนี่ เป็นต้น นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพราะความมุ่งหมายมันต่างกัน หรือว่าจะให้ทานโดยหวังว่าเพื่อให้พระศาสนาตั้งอยู่ได้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก ไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย อย่างนี้มันก็อีกชั้นหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน หรือจะคิดว่าเราให้ทานเพื่อบำเพ็ญทานบารมี เช่น พระเวสสันดร อย่างนี้ มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งมันไม่เหมือนกัน มันอยู่เป็นชั้นๆดังนี้
เราจึงรู้จักเลื่อนชั้นการให้ทานของเราให้ขึ้นมาในระดับที่สูงที่พอจะดูได้ ให้สมกับความเป็นพุทธบริษัทของเราในยุคนี้ในสมัยนี้ที่มีความก้าวหน้าในการศึกษาและการงาน และเป็นการให้ทานที่ซ้ำซากกันอยู่ในลักษณะที่น่าหัวเราะเยาะ ไปคิดดูเอาเองเถิดว่า ให้ทานชนิดไหนจะมีความสูงอย่างไร ให้ทานชนิดไหนได้บุญมาก คือ ได้คนเดียว ให้ทานชนิดไหนได้บุญ ได้บุญน้อย คือได้คนเดียว ให้ทานชนิดไหนได้บุญมาก คือได้กันทั้งโลก เราก็จงเลือกเอาการให้ทานชนิดที่ได้บุญมากคือได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งโลกอย่างนี้เป็นต้นเถิด เช่น การให้ทานโดยหวังว่าจะช่วยให้พระศาสนายังอยู่ แล้วก็ศาสนานั้นได้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก อย่างนี้ก็เรียกว่าการให้ทานนั้นได้บุญมาก พระศาสนายังอยู่เพราะว่ามีผู้เรียน ผู้ปฏิบัติ ผู้ได้รับผลการปฏิบัติและสอนกันต่อๆไป ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าพระศาสนายังอยู่
เราจงให้ทานโดยมุ่งหมายในลักษณะนี้ เพื่อให้พระศาสนายังอยู่เป็นประโยชน์แก่คนท้้งโลก เราคนเดียวก็เล็กเท่าขี้ผงนิดเดียว ไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้ ขอแต่ให้คนทั้งโลก สัตว์ทั้งโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ คือมนุษโลก เทวโลก พรหมโลก อะไรก็ตาม ได้รับประโยชน์เถิด เราก็ยังมีจิตใจที่สูง ที่กว้าง ในการทำทาน ทานนั้นก็จะมีผลมาก มีผลใหญ่ มีผลสูงประเสริฐ ซึ่งใครๆก็คัดค้านไม่ได้ นี้ก็เป็นอันหนึ่งซึ่งควรจะเอามานึกมาคิดเพื่อเลื่อนชั้นเกี่ยวกับการให้ทาน ซึ่งทุกคนจะพอใจในระดับสูงเพียงไรก็เลือกเอาตามความสามารถของตนของตน
ทีนี้ อยากจะแนะให้ดูถึงการเลื่อนชั้นบางอย่างบางชนิดซึ่งเกี่ยวข้องกันอยู่กับเรา จงเลื่อนชั้นจากเรื่องทางวัตถุธรรมมายังเรื่องที่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องจิตเรื่องใจกันให้มากไปกว่าเดิม เรื่องทางวัตถุธรรมนั้นเอารูปร่างกายหรือวัตถุเป็นเกณฑ์ เรื่องทางนามธรรมนั้นเอาจิตใจเป็นเกณฑ์ เรื่องนี้มันจริงกว่าเรื่องแรก และทำได้ง่าย ทำได้รวดเร็วกว่าเรื่องแรก เพราะมันไม่ต้องเกี่ยวเนื่องกันกับวัตถุ วัตถุนั้นมันยังลำบากในการที่จะไปแสวงหาเอามา แต่ส่วนเรื่องจิตใจนี้เราคิดนึกได้ เราอบรมได้ ช่วงเวลาที่เรานึกคิดได้เราก็สำเร็จประโยชน์ในเรื่องนี้ ควรจะถือว่าเรื่องนามธรรมนี้จริงกว่าและทำได้ง่ายกว่า
ทีนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องนึกถึงและเลื่อนชั้นกัน ยกตัวอย่างเรื่องที่เรานึกกันอยู่มากในส่วนที่กลัว คือเรื่องนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ซึ่งเรียกกันว่า อบาย และเป็นเรื่องที่เรากลัว เรื่องความเป็นมนุษย์ มนุษย์หรือว่าเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือบรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างนี้เราอยากจะได้ เราต้องการ เราไม่กลัว แต่ทีนี้เรื่องที่เรากลัว เรื่องที่เราอยากจะได้นี้มันเป็นเรื่องทางวัตถุมากเกินไป มันจึงยังไม่ใช่ของแท้จริงตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องทางใจ
ยกตัวอย่างเรื่องอบายทั้ง ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เราได้ยินได้ฟังแต่ว่า เราจะตกอบายต่อเมื่อตายแล้ว เขาจับใส่โลงแล้ว เราจึงจะไปเกิดในนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายอย่างนี้ เป็นต้น หรือเราจะคิดว่านรกก็เป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง มียมบาลเป็นผู้จัดการให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น จับคนใส่หม้อต้มน้ำ หรือสัตว์เดรัจฉานก็เช่นวัวควายที่อยู่ตามทุ่งนาบ้าง เปรตก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างน่าเกลียด อสุรกายก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นตัว อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้มันเป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น คือเป็นรูปธรรมทั้งนั้น เป็นเรื่องสำหรับเด็กๆมากกว่าสำหรับคนโตๆ คนโตๆจะต้องรู้เรื่องทางจิตใจหรือทางนามธรรม ซึ่งจริงกว่า ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกว่า เป็นอันตรายกว่า แล้วเราจะรู้จักได้อย่างไร เมื่อเรื่องนรกทางวัตถุหรือทางรูปธรรมจะตกต่อตายแล้วไปอยู่ในเมืองยมบาล แล้วเขาจัดการกับเราอย่างนั้นๆ นั้นเป็นเรื่องรูปธรรม
ส่วนเรื่องนามธรรมหรือจิตใจนั้น เมื่อใดเราร้อนใจเหมือนไฟเผา เมื่อนั้นก็ตกนรกเป็นสัตว์นรกไปแล้ว แม้นได้เกิดทางนามธรรมเป็นสัตว์นรกไปแล้ว ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี เมื่อใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผา เมื่อนั้นเป็นสัตว์นรกไปแล้ว เกิดโดยอุปปาติกะในขณะนี้เป็นสัตว์นรกไปแล้วทั้งที่ตัวรูปร่างนี้เป็นคนอยู่ แต่ว่าเนื้อแท้ในจิตใจนั้นเป็นสัตว์นรกไปแล้ว จะร้อนใจเพราะทำผิด จะต้องรับโทษหรือว่าร้อนใจเพราะกรรมเก่าให้ผล หรือว่าจะร้อนใจเพราะเหตุใดก็ตามเถิดเป็นสัตว์นรกทั้งนั้น เมื่อใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผา เพราะเล่นไพ่เสีย หรือเพราะว่าคนรักไม่ซื่อสัตย์ หรืออะไรก็ตามใจ เมื่อมีความร้อนใจขนาดไฟเผาแล้วก็ตกนรก เป็นสัตว์นรกไปจริงด้วย จริงยิ่งกว่านรกชนิดไหนหมด
สำหรับสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ใช่ตายไปเกิดเป็นวัว เป็นควาย เป็นโค แต่เมื่อใดโง่อย่างไม่ควรจะโง่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วในร่างกายแห่งคน มีความเป็นสัตว์เดรัจฉาน หมายความว่าโง่ ไม่รู้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เป็นต้น มีความโง่ ไม่รู้ว่าทำอย่างไร จึงจะได้กินไข่ของไก่ เป็นวัวโง่ที่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน อย่างนี้มันเรียกว่าเป็นความโง่ บางคนก็โง่ถึงขนาดที่ไม่ทำสิ่งที่ควรจะทำ ทำสิ่งที่ควรจะทำให้เสียไปเพราะความโง่ของตน รวมความแล้วไม่ว่าเป็นความโง่ชนิดไหน มีความหมายเป็นสัตว์เดรัจฉานไปทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจงระวังอย่าให้ความโง่ครอบงำ ความโง่ครอบงำเมื่อไร เป็นสัตว์เดรัจฉานเท่านั้นเมื่อนั้น นี้เป็นเรื่องจริงกว่าที่่จะตายไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต่อเข้าโลงแล้ว
สำหรับความเป็นเปรตนั้น คือ ความหิว เมื่อใดมีความหิวทางจิตทางวิญญาณ คือทะเยอทะยานด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา เมื่อนั้นก็เป็นเปรต เกิดเป็นเปรตแล้วในร่างแห่งคน คำว่าเปรตมีความหมายว่าหิว คือหิวจนไม่มีอะไรมาสนองความอยากหรือความต้องการได้ เราจึงอุปมาไว้ว่าเหมือนกับท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม ความหิวเท่าภูเขา สิ่งสนองความอยากนั้นเท่ากับรูเข็ม และมันจะพอกันอย่างไร เพราะฉะนั้นมันจึงหิวจัด เมื่อใดมีความหิวในลักษณะอย่างนี้ เมื่อนั้นเป็นเปรต ความทะเยอทะยานด้วยอำนาจกิเลสในการที่จะได้อะไรที่เป็นของรักของพอใจ หรือแม้ที่สุดแต่การเล่นไพ่ เล่นการพนัน ก็มีความหิวอย่างนี้ มีความทรมานใจอย่างนี้ เมื่อนั้นเรียกว่าเป็นเปรตที่แท้จริง ยิ่งกว่าเปรตชนิดไหนหมด เพราะมันเป็นความหิวจริงๆ เผาลนจริงๆ
สำหรับความเป็นอสุรกายนั้น ตามตัวหนังสือก็แปลว่าไม่กล้าหาญคือความขลาด เมื่อใดมีความขลาดอย่างไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นเกิดเป็นอสุรกาย บางคนกลัวจนกระทั่ง จิ้งจก ไส้เดือน ตุ๊กแก ลูกหนู นี้ก็กลัวอย่างไม่มีเหตุผลอะไรเลย เป็นคนขลาด มีความหมายแห่งความเป็นอสุรกาย บางคนกลัวว่าการประพฤติธรรมะนั้นจะทำให้ยากจน สู้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ได้ แล้วก็เลยกลัวการประพฤติธรรมะ อย่างนี้ก็กลายเป็นอสุรกาย มีความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ไม่ว่าเป็นความกลัวชนิดไหนหมด มันเป็นของโง่เขลาทั้งนั้น คือไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราจะต้องกลัว
เราจงมาคิดดูเสียใหม่ให้เข้าใจในความจริงข้อนี้แล้ว อย่าไปมัวกลัวอะไรอะไรๆให้เสียเวลา แม้แต่เสือก็ไม่ต้องกลัว ผีก็ไม่ต้องกลัว เราต้องยินดีที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้นถ้าเราหนีมันไม่ทัน หนีมันไม่ได้ แต่ถ้าเราจะวิ่งหนี เช่น หนีเสือ ถ้าสู้มันไม่ไหว เราก็ไม่ต้องกลัว เราวิ่งหนีด้วยความไม่กลัว จึงจะปลอดภัยกว่าวิ่งหนีด้วยความกลัวอย่างจิตใจไม่อยู่กับตัวอย่างนี้ เป็นต้น เมื่อใดมีความกลัวอย่างไม่มีหตุผลเช่นนี้ก็เรียกว่าเป็นอสุรกาย
นี้คือ นรก สัตว์เดรัจฉาน หรือเปรต อสุรกายที่แท้จริงในทางจิตทางใจและมีอยู่แก่เราจริงๆ และมีความสำคัญอย่างยิ่งคือว่า ถ้าเราไม่ตกนรกชนิดนี้ ตายแล้วเป็นไม่ตกนรกไหนหมด ถ้าเราไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดนี้ ตายแล้วก็ไม่ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดไหนหมด ถ้าเราไม่เป็นเปรตชนิดนี้ ตายแล้วก็ไม่ไปเป็นเปรตชนิดไหนหมด ถ้าเราไม่เป็นอสุรกายชนิดนี้ ตายแล้วก็ไม่เป็นอสุรกายชนิดไหนหมด
นี่แหละดูเถอะว่ามันสำคัญหรือไม่สำคัญ มันจริงหรือไม่จริง และในทางที่เราจะแก้ไข หรือเอาตัวรอด หรือเอาชนะมัน มันยังทำได้ง่ายกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้วซึ่งมันอยู่เกินเอื้อมมือของเรา เดี๋ยวนี้สิ่งที่อยู่ในเอื้อมมือของเรานี้ ให้เราต้องทำให้ได้ เราต้องเอาชนะให้ได้ จะเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายกันที่นี่แล้ว ตายแล้วก็ไม่ต้องกลัวไม่เป็นโดยแน่นอน ระวังที่นี่คุ้มครองได้ตลอดหมด ไม่ว่าโลกไหนกี่โลกต่อตายแล้วก็ไม่เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายขึ้นมาได้เลย นี่แหละคือการเลื่อนชั้นในเรื่องความรู้อันเกี่่ยวกับเรื่องทางนามธรรมซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนาจริงยิ่งกว่าที่พูดๆกันเหมือนวัตถุหรือร่างกาย นี้เป็นฝ่ายที่เรากลัวและไม่อยากได้
ทีนี้ เรื่องความเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม หรือเป็นพระอริยเจ้านั้นก็เหมือนกันอีก มันอยู่ที่จิตใจ ในบางเวลาเราก็มีลักษณะเหมือนมนุษย์ คือมีอะไรอย่างมนุษย์ บางเวลาบางขณะเราก็มีลักษณะเหมือนกับเป็นเทวดาในสวรรค์ มีความอิ่มเอิบในทางกามารมณ์ กามคุณ บางเวลาเราก็เบื่อเช่นนั้น อยู่นิ่งๆเฉยๆมีลักษณะจิตใจเหมือนกับเป็นพรหม คือจืดชืดจากกามารมณ์ จนกว่าจิตใจมันจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอีก บางเวลาเมื่อได้รับคำสั่งสอนดี เหมาะโอกาสดี เราก็มีจิตใจเหมือนพระอริยเจ้าได้บ้างเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า เพราะว่าเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วขณะกลับไปกลับมา นี้เรียกว่าความเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม หรือเป็นพระอริยเจ้านั้น มันก็อยู่ที่จิตใจเหมือนกัน ไม่ได้อยู่ที่แผ่นดินหรือโลกหรือคน แต่มันอยู่ที่จิตใจ จะอยู่ในโลกไหนไม่สำคัญแต่มันอยู่ที่จิตใจ จิตใจเป็นอย่างไรก็เรียกว่าเป็นอย่างนั้น
เรามองเห็นลักษณะเช่นนี้กันให้มากขึ้น เราสามารถที่จะแก้ไขได้ อยู่ในเอื้อมมือที่เราจะถือเอาได้ และมันเป็นการฉลาดที่เรารู้จักสิ่งที่มีอยู่แล้วจริงๆ มีอยู่แก่เนื้อแก่ตัวเราแล้วจริงๆเรารู้จัก คนที่ไม่รู้จักสิ่งที่มีอยู่แล้วจริงๆนั้นเป็นคนโง่เท่าไร ไม่รู้จักสิ่งที่มีอยู่ที่หน้าผากของตัวแล้วอย่างนี้มันโง่เท่าไร
เราจงรู้จักสิ่งที่มันอยู่ที่หน้าผากของตัวแล้ว ดีกว่าเรื่องที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ เรื่องที่อยู่ที่หน้าผากของตัวเรานี้หมายความว่าที่มันเกิดอยู่ในอกในใจของเราเป็นประจำวันนั่นแหละ เราจงมองดูให้ดีให้เข้าใจมัน เราจะได้ฟังเอาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไปเสีย สงวนเอาไว้แต่สิ่งที่พึงปรารถนาและทำให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
แม้ในหลักธรรมที่สูงขึ้นไปที่ชอบพูดกันนักก็มีลักษณะอย่างนี้ เป็นเรื่องกามาวจรภูมิ รูปาวจรภููมิ อรูปาวจรภููมิ โลกุตตรภูมิ เป็นต้นนั้น พูดกันแต่ว่าต่อตายแล้วจึงจะถึง และอยู่ในโลกไหนก็เป็นอย่างนั้นไปทั้งโลก อย่างนี้ดูจะเป็นเรื่องของคนเขลามากกว่า เพราะว่าไม่มีโลกไหนจะเป็นอะไรเพียงอย่างเดียว ในโลกมนุษย์นี้มีทั้งพระอริยเจ้าและทั้งปุถุชน มีทั้งพระพุทธเจ้าและทั้งสาวก มีทั้งคนที่อยู่ในกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ แล้วจะไปเอาภูมินั้นๆที่โลกไหนกันอีกเล่า
เมื่อใดจิตใจมีลักษณะตกต่ำ มุ่งไปในทางกามคุณ เมื่อนั้นก็เป็นกามาวจร เมื่อใดมีจิตใจสูงขึ้นมาเฉยต่อกามารมณ์ แม้ชั่วขณะ ยินดีพอใจแสวงหาความพักผ่อนทางจิตใจเกี่ยวกับรูปที่บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกามคุณ เมื่อนั้นก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า รูปาวจรภูมิ เมื่อใดใช้สิ่งที่เป็นเพียงนามธรรมสำหรับทำความบันเทิงใจ ก็เรียกว่าอยู่ในลักษณะที่เป็นอรูปาวจรภูมิ เมื่อใดกิเลสไม่รบกวนหรือชนะกิเลสได้บางขณะ ก็เรียกว่าอยู่ในโลกุตตรภูมิ ในลักษณะแม้ว่าจะน้อยอย่างไร หรือพอเป็นตัวอย่างอย่างไรก็เรียกว่าขณะนั้นอยู่ในโลกุตตรภูมิได้ทั้งนั้น ถ้ามันเด็ดขาดลงไปก็เป็นโลกุตตรภูมิที่แท้จริง ถ้ากลับไปกลับมาก็เป็นโลกุตตรภูมิที่ชิมลอง
เหมือนอย่างที่ได้นั่งเห็นแล้วว่าในขณะใดเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นของเรา ในขณะนั้นเรามีความรู้สึกเป็นสุขเหมือนกับที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านได้รับกัน เราจงพยายามที่จะเลื่อนชั้นจากกามาวจรภูมิไปสู่รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และไม่ใช่ว่าเราจะต้องหยุดทำการงาน แม้แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ทำการงาน พระพุทธเจ้าก็ทำงานยิ่งมากยิ่งกว่าใคร อย่าได้ไปกลัวอย่างเขลาๆ จะได้เป็นอสุรกายไปเสียอีก คืออย่าได้ไปกลัวว่า ถ้าเลื่อนชั้นไปสู่โลกุตตรภูมิแล้ว จะยากจนเข็ญใจไม่ต้องทำงานอะไร นอนรอความตาย นั้นเป็นเรื่องของคนโง่พูด คนอันธพาลพูด ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าเลย
ธรรมะทุกชนิดมีอยู่ในตัวเรา ฟังดูให้ดีว่า ธรรมะทุกชนิดทุกชั้นทุกภูมิมีอยู่ในตัวเรา ภพหรือภูมิทั้งหมดก็มีอยู่ในตัวเรา แต่จะมามั่นหมายเป็นตัวเราหรือของเรานั้นไม่ได้ มันเป็นของธรรมชาติ จงรู้เรื่องธรรมะเพราะมันมีความหมายกว้างอย่างไร ไม่มีอะไรที่ไม่เรียกว่าธรรมะ และธรรมะทุกอย่างนั้นมันขึ้นอยู่กับจิตใจของคน ไม่มีจิตใจของคนเป็นที่ตั้งแล้ว ธรรมะชนิดไหนก็ไม่ปรากฏเลย ธรรมะ เอ่อ, จิตใจของคนนั่นแหละเป็นที่ตั้งของธรรมะทุกชนิด เราต้องเลื่อนชั้นความรู้และการศึกษาของเราให้มีความเข้าใจอย่างนี้ กระทั่งรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าโลกุตตรธรรมนั้น ไม่ใช่ของควรกลัว แต่ควรจะกล้าเข้าไปหา เข้าไปมี สิ่งที่เรียกว่า โลกุตตระธรรมนั้นมีไว้เพื่อให้เราอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยชัยชนะ ถ้าเราปราศจากธรรมะประเภทนั้นแล้ว เราจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความพ่ายแพ้ไปหมด คือพ่ายแพ้แก่กิเลสแล้ว ก็พ่ายแพ้แก่ทุกสิ่ง ถ้ามีโลกุตตระธรรมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งมาเป็นหลักประจำใจหรือประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว เราก็อยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะ อยู่ในโลกที่ร้อนเป็นไฟด้วยความสงบเยือกเย็น นี้เรียกว่าให้อยู่ในโลกด้วยชัยชนะ ไม่ต้องการให้หนีโลกไปบวชเป็นฤๅษีมุนีอยู่ตามป่าตามเขา นั้นมันเป็นเรื่องของคนโง่พูด เป็นเรื่องของคนอันธพาลพูด
โลกุตตระธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุญญตานี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่ฆราวาสผู้ครองเรือนทั้งหลาย รายละเอียดเรื่องนี้ไปหาอ่านดูเองจากพระสูตรนั้นๆที่เป็นพระพุทธภาษิตโดยตรง แม้ว่าบางคนจะปฏิเสธว่านี้ยากเกินไปขอให้ลดลงมาอีก มันก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าท่านจะเพิกถอนหลักการอันนี้ คือเพิกถอนหลักการที่ว่า สุญญตาเป็นเรื่องสำหรับฆราวาสจะต้องศึกษาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนาน คนที่ไม่สมัครจะปฏิบัติเรื่องสุญญตา ลดลงมาสมัครปฏิบัติเพียงเรื่องศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์ นี้มันก็ยังเป็นเรื่องของโลกุตตระอยู่นั่นเอง เพราะถ้าเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถูกต้อง มันต้องเข้าใจธรรมะที่เป็นส่วนโลกุตตระธรรม
ถ้าจะรักษาศีลบริสุทธิ์แท้จริงได้นั้น มันต้องทำลายความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูหรือของกู มันจึงเป็นโลกุตตระธรรมอยู่ในอีกปริยายหนึ่ง จะไปเรียกว่าโลกียธรรมนั้นไม่ได้ โลกุตตระธรรมจึงมีไว้สำหรับคนทุกคนแม้ที่เป็นฆราวาส เพื่ออยู่ในโลกด้วยชัยชนะ ไม่ต้องหนีโลก ไม่ใช่ให้หนีโลก และไม่ใช่จะต้องงอมืองอเท้าเพราะไม่อยากทำอะไรด้วยความหมดกิเลส
ความหมดกิเลสไม่ได้ทำให้คนเราไม่ทำงานอะไร จงดูพระอรหันต์ จงดูพระพุทธเจ้า ทำงานมากกว่าคนทั่วไปทั้งที่หมดกิเลส คำว่า “หมดกิเลส” หมายถึงมีปัญญามาแทนที่ จึงรู้จักหน้าที่ที่จะต้องทำ นี้เรียกว่า โลกุตตระธรรมมีไว้เพื่ออยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะและไม่ต้องหนีโลก แต่โลกุตตระธรรมนั่นแหละมีไว้เพื่อให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนี้ ไม่ได้เรื่องนี้ เราก็เสียชาติเกิด เกิดมาทั้งทีไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็มีแต่ปล่อยไปตามยถากรรมเหมือนสัตว์เดรัจฉาน จึงเป็นคำพูดที่คนโง่พูด คนอันธพาลพูดว่าโลกุตตระธรรมไม่ได้มีไว้สำหรับคนทั่วไป
โลกุตตระธรรมนี้มีไว้เพื่อจะขจัดปัญหาทุกอย่างทุกประการที่มนุษย์ถือว่าเป็นปัญหา แม้ที่สุดแต่เรื่องที่คนไทยเราถือว่าเป็นปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เป็นต้น เรื่องคอมมิวนิสต์นี้เกิดขึ้นในโลกเพราะขาดโลกุตตรธรรม ไม่รู้จักอุดมคติที่สูง ไม่มีความคิดไม่มีความเชื่อเรื่องกรรมว่ากรรมเป็นเหตุให้คนต้องแตกต่างกัน เป็นธรรมดา จะมาถือให้เสมอหน้าเสมอภาคกันหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเรามีกรรมต่างๆกัน ถ้ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกุตตรธรรมเช่นนี้แล้ว เชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ในโลกนี้ เดี๋ยวนี้มนุษย์ขาดโลกุตตรธรรมหรือความรู้ในขั้นโลกุตตรธรรมในส่วนนี้ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจึงเกิดขึ้น
หรืออีกอย่างหนึ่งโลกียธรรมทำให้เห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นๆ ไม่มีเมตตาอารีกัน ลัทธิต่อสู้ของคนจนก็เกิดขึ้นในโลกนี้ อย่างนี้เป็นต้น ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาทุกอย่างเกิดมาจากการขาดโลกุตตรธรรมที่เพียงพอสำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไปนั่นเอง
ถ้าเราดูอย่างหนึ่งเราจะเห็นว่าโลกุตตรธรรมมีไว้เพื่อดับทุกข์โดยตรงโดยเฉพาะเจาะจง เหมือนเรามีน้ำไว้สำหรับดับไฟ เดี๋ยวนี้ฆราวาสอยู่ในกองไฟยิ่งกว่าพวกนักบวช พูดอย่างนี้จริงหรือไม่จริง ลองไปคิดดูว่าพวกฆราวาสอยู่ในกองไฟยิ่งกว่าพวกนักบวช แล้วธรรมะที่จะดับไฟได้นั้นจำเป็นแก่ฆราวาสมากหรือจำเป็นแก่นักบวชมาก ก็พอพอจะคิดได้เอง ตัดสินได้เอง ใครอยู่ในกองไฟมาก คนนั้นก็ยิ่งต้องการน้ำดับไฟมาก น้ำดับไฟโดยตรงนั้นคือโลกุตตรธรรม ไม่ใช่โลกียธรรม โลกียธรรมจะช่วยส่งเสริมไฟเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าได้พูดไปตามคนโง่พูด คนอันธพาลพูดว่าโลกุตตรธรรมนั้นมิได้มีไว้สำหรับชาวบ้านเลย ที่แท้ควรจะมามองเห็นให้เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเรื่องสุญญตานั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่ฆราวาสผู้ครองเรือน นี่แหละคือความประสงค์มุ่งหมายที่เรามีโลกุตตรธรรมไว้เพื่ออะไร มีโลกุตตระธรรมไว้เพื่อไม่ให้สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในความทุกข์ สิ่งอื่นไม่ช่วยยกสัตว์ทั้งหลายขึ้นจากความทุกข์ได้นอกจากโลกุตตรธรรม แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจให้เพียงพอและไปหลงผิดตามคนโง่พูด ตามคนอันธพาลพูด ให้ไปหลงบูชาสิ่งที่เรียกว่าโลกียธรรมสำหรับฆราวาสนี้ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่พวกคอมมิวนิสต์จะมาทำลาย
ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไปคิดดูก่อน ในที่นี้ต้องการให้เลื่อนชั้น ต้องการเลื่อนชั้นถึงขนาดที่เรียกว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าโลกุตตรธรรมนั้น ให้มากยิ่งขึ้น ให้มากยิ่งขึ้น ตามสมควรแก่กาลเวลานับตั้งแต่ว่าท่านทั้งหลายจงเลื่อนชั้นแห่งพระรัตนตรัยที่ถืออยู่หรือถึงอยู่
ท่านเคยถือพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในลักษณะอย่างไรมาแต่เดิมนั้นยังไม่พอ จงเข้าใจเถิดว่ามันยังไม่พอ และแถมยังจะเป็นเรื่องวัตถุธรรมมากเกินไป เช่น พระพุทธเจ้าที่เป็นคนๆ ที่เดินอยู่ในอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว และพระธรรมที่เป็นเสียงหรือเป็นตัวหนังสืออย่างนี้ เป็นต้น และพระสงฆ์ที่เป็นคนๆ ลูกคนนั้นหลานคนนี้บวชเข้ามานุ่งเหลืองห่มเหลืองเป็นพระสงฆ์ อย่างนี้เรียกว่าพระรัตนตรัยที่เป็นวัตถุธรรมมากเกินไป ไม่พอ จะต้องเลื่อนขึ้นไปถึงฝ่ายนามธรรมคือจิตใจว่า คุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นต่างหากที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นเรื่องทางนามธรรมยิ่งๆขึ้นไปว่าปัญญาที่เป็นเหตุให้รู้ความดับทุกข์นั้นเป็นพระพุทธเจ้า ความรู้นั้นเป็นพระธรรม ปัญญาของคนอื่นที่พอรู้ตามพระพุทธเจ้านั้นเรียกว่าพระสงฆ์ คือจิตใจที่ประกอบไปด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ความไม่มีทุกข์นั่นแหละคือพระรัตนตรัย และถ้ารู้มากยิ่งขึ้นไปก็จะรู้ถึงกับว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน มิได้มีอยู่เป็นสามเลย นี้เรียกว่าเป็นการเลื่อนชั้นความรู้เกี่ยวกับพระรัตนตรัยที่ถืออยู่หรือถึงอยู่ให้เป็นพระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงยิ่งขึ้น นี้เรียกว่าเลื่อนชั้นเหมือนกัน
จงเลื่อนชั้นเครื่องรางที่แขวนคออยู่ มีเครื่องรางอะไรที่แขวนคออยู่นั้นก็จงเลื่อนชั้นให้มันสูงขึ้นไป อย่าให้เป็นเพียงเรื่องก้อนวัตถุก้อนหนึ่ง จงให้มีความหมายอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น มีความหมายทางนามธรรมแทนพระพุทธ แทนพระธรรม แทนพระสงฆ์ หรือแทนอะไรก็ตามใจ แต่ต้องเป็นเรื่องธรรมะที่เป็นเครื่องป้องกันมิให้มีกิเลสครอบงำทำให้เกิดความทุกข์ร้อนได้ นี้เรียกว่าเลื่อนชั้นของเครื่องรางที่แขวนคออยู่ อย่าได้มีความหมายเหมือนที่พูดๆกันตามประสาเด็กๆนั้นเลย
จงเลื่อนจากรูปธรรมมาเป็นนามธรรม เป็นเรื่องทางจิตใจที่สูงๆขึ้นไปนี้เถิด จงเลื่อนการทำทานที่ทำอยู่ให้สูงขึ้นไป ให้กำจัดความทุกข์ได้จริงจากความทุกข์ที่เคลือบสีสันต่างๆดูเป็นความสุขนั้นขึ้นมาเสียให้พ้น มาเป็นความไม่มีทุกข์จริงๆ อย่าได้ไปหลงเอาความทุกข์ที่เคลือบสีสันสวยงามไว้ว่าเป็นความสุข มันมีลักษณะเหมือนกับเห็นงูเป็นปลา เอามาถือไว้ เอามากอดรัดไว้
ระวังให้ดีในเรื่องการหวังผลของการทำทาน ขอให้เป็นเรื่องของการดับทุกข์จริงๆ เลื่อนชั้นการทำทานจากเพื่อตนเองคนเดียวมาเป็นเพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งปวง และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งเทวดาและมนุษย์เถิด และจงรู้จักข้อที่ธรรมะแต่จริงๆนั้นมีอยู่ที่เนื้อที่ตัว ทุกอย่าง ทุกชนิด หรือทั้ง ๔ ความหมาย ในภาษาบาลีนั้นคำว่า “ธรรมะ” คำเดียว หมายถึงทุกสิ่งใน ๔ ความหมาย คือ ตัวธรรมชาติต่างๆ ก็เรียกว่าธรรมะ กฎธรรมชาติต่างๆก็เรียกว่าธรรมะ หน้าที่ที่มนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้นๆก็เรียกว่าธรรมะ แล้วผลที่เกิดมาเป็นความสุข ความทุกข์ หรือเป็นมรรคผลนิพพานอะไรก็ตามนี้ก็เรียกว่าธรรมะ เรียกว่า “ธรรม” เฉยๆก็ได้
ในตัวเรามีธรรมะครบทั้ง ๔ ความหมาย จะดิน น้ำ ลม ไฟ หรือรูปนามจิตใจนี้เป็นตัวธรรมชาติ มีกฎธรรมชาติควบคุมอยู่ คือทำให้มันเปลี่ยนแปลง เช่น กฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็มีอยู่ในตัวในเนื้อตัวของเรา ธรรมะที่เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติก็มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา ตื่นนอนขึ้นมาในทางกาย เราต้องอาบน้ำ ต้องกินข้าว ต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติเพื่อร่างกาย และเราต้องทำหน้าที่ในทางฝ่ายจิตใจที่จะควบคุมกิเลสไว้ไม่ให้รบกวนเผาผลาญเรา และผลที่เกิดขึ้นนี้ก็มีอยู่เป็นประจำวันทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ นี้เรียกว่าธรรมะทั้งหลายมีอยู่ในเนื้อในตัวเรา เป็นตัวเราโดยที่ไม่รู้สึกตัว ความไม่รู้สึกตัวของเราทำให้มองเห็นเป็นตัวเราในลักษณะที่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน จึงได้เป็นทุกข์ขึ้นมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเราหรือเป็นของของเราดังนี้ ถ้าเรารู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ เห็นแจ้งอย่างนี้ เรียกว่ารู้ธรรมะจริง ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นการรู้อย่างผิดตรงกันข้าม เหมือนกับเห็นงูเป็นปลาอยู่เรื่อยไปนั่นเอง
จงปฏิบัติธรรมให้เลื่อนชั้นขึ้นไปในลักษณะนี้ให้สมควรแก่ธรรม เช่น ให้สมควรแก่วัย เราต้องรู้จักเป็นคนโตกันเสียบ้าง อย่าเป็นเด็กอยู่เรื่อยไป เคยมีอะไรเมื่อเด็กๆ อย่างไร โตขึ้นต้องมีมากกว่านั้น ชั้นและวัยเปลี่ยนลำดับอยู่ทุกเวลานาที ความรู้ทางจิตใจ ภาวะทางจิตใจ ความสุขทางจิตใจ ก็ควรจะเลื่อนชั้นไปตามกันด้วย
คนแต่โบราณก่อนพุทธกาลเขาวางกฎไว้ ๔ อันดับ เรียกว่า “อาศรม” คือ คนพวกหนึ่งอยู่ในวัยเด็กหนุ่มสาวเรียกว่า “พรหมจารี” มีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด คือการศึกษาเล่าเรียนประพฤติเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน ในเรื่องศีลธรรม ในเรื่องวัฒนธรรม เป็นต้น
ต่อมาก็ถึงอาศรมที่สอง คือหมู่คนที่เป็น “คฤหัสถ์” ครองเรือนเป็นสามีภรรยา เป็นบิดามารดา เป็นต้น ก็มีหน้าที่แปลกออกไป ก็ต้องทำให้ดีที่สุดคือเป็นคฤหัสถ์ที่ดี
ต่อมาอีกถึงวัยที่ล่วงไปมาก ก็เรียกว่าถึงอาศรมที่สาม คือหมู่คนที่หยุดพักการงานทางกาย มาสนใจในเรื่องทางจิตใจ อาศรมที่สามนี้เรียกว่า “วนปรัสถ์” โดยตัวหนังสือแปลว่าอยู่ป่า แต่ไม่ต้องหมายถึงป่าอย่างที่เราเรียกๆกัน หมายถึงที่สงบสงัด พอที่จะคิดนึกในทางจิตทางใจก็ได้ ที่กอกล้วย กอไผ่ ที่มุมบ้านก็ได้ คนแก่นี้ปลีกตัวไปนั่งคนเดียว พิจารณาในภายใน ในด้านใน ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ว่าชีวิตคืออะไร การงานคืออะไร เงินทองคืออะไร สุขทุกข์คืออะไร เป็นต้น จะสามารถปรับจิตใจให้รับประโยชน์ที่สูงขึ้นไปกว่าที่เป็นคฤหัสถ์
ทีนี้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่ตายเสีย ก็ถึงอาศรมที่สี่ ซึ่งเรียกว่า “สันยาสี” คือทำหน้าที่เป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นแล้ว จะเที่ยวเดินไปสอนคนก็ได้หรือนั่งอยู่ให้เขามาถามปัญหาก็ได้ สามารถจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตจิตใจได้อย่างสมบูรณ์ นี้เรียกว่าผู้นั้นได้ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนชั้นมาด้วยดีครบตามชั้นและวัย คือครบในอาศรมทั้ง ๔ นี้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์เลย และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาด้วย และในที่สุดถ้าเราทำไม่ได้ในขณะนี้ เราต้องทำให้ได้ในวินาทีสุดท้ายที่ร่างกายจะแตกดับนั่นเอง
เราจะตายด้วยเหตุใดก็ตาม จะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุใดๆก็ตาม ในวินาทีสุดท้ายนั้นเราจะต้องละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตนว่าของตนออกไปเสียให้ได้ สลัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนออกไปเสียให้ได้ มีจิตใจน้อมไปสู่ความดับไม่เหลือคือนิพพานจริงๆ ก็อาจจะเป็นพระอริยบุคคลได้ แม้ระดับสูงสุดในวินาทีสุดท้ายดังนี้ นี้เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน เป็นการเลื่อนชั้นให้แก่ตัวเองถึงที่สุดแล้วดังนี้
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่อุตส่าห์ตรากตรำลำบากมาบำเพ็ญบุญกุศลในลักษณะเช่นนี้ จะได้พิจารณาดูให้ดี ในการที่เป็นเลื่อนชั้นตัวเองโดยนัยดังที่กล่าวมานี้จงทุกๆคนเถิด ก็จะได้ชื่อว่า (นาทีที่ 1:06:55) สันติมัคคังวะ พรูหะเย เป็นผู้พอกพูนทางแห่งสันติ ก็มาระลึกนึกเห็นอยู่ว่า สังขารคือเครื่องปรุงทั้งหลายนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ส่วนนิพพานคือความหยุดเสียซึ่งสังขารเหล่านั้นก็เป็นสุขอย่างยิ่งเหมือนกัน เอตัง ยะตะวา ยะถาภูตัง เมื่อมารู้ความจริงข้อนี้จนถูกต้องอย่างนี้แล้ว (นาทีที่ 1:07:18) สันติมัคคังวะ พรูหะเย จงพอกพูนหนทางแห่งสันติเถิด การพอกพูนหนทางแห่งสันตินั้น คือการชั้น การเลื่อนชั้นตัวเอง มีนัยดังวิสัชนามา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้