แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ดังที่ท่านทั้งหลายก็เห็นได้อยู่แล้ว อาตมาได้พิจารณาแล้วๆเล่าๆว่าจะแสดงด้วยเรื่องอะไรดี ในที่สุดก็มามองเห็นว่าข้อที่ท่านทั้งหลายส่วนมากไม่เข้าใจในธรรมะอันลึก ซึ่งแสดงอยู่แล้วเป็นอันมาก ได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นอันมากก็ยังไม่เข้าใจ เกิดความสงสัยขึ้นว่าข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร ค้นไปค้นมาในที่สุดก็พบว่าเนื่องด้วยคนเราโดยมากรู้แต่ภาษาธรรมดาคือภาษาชาวบ้านพูด หรือเรียกว่าภาษาคนธรรมดา ไม่ค่อยจะรู้ภาษาของธรรมะ และไม่เคยคิดว่ามีภาษาอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันแทบจะตรงกันข้ามหรือตรงกันข้ามก็มีนั้นเป็นภาษาธรรมะ จงกำหนดจดจำให้ดีว่าภาษาคนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมะนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ภาษาคนก็คือภาษาโลกๆ ภาษาของคนที่ไม่รู้ธรรมะ พูดกันอยู่ตามภาษาคนที่ไม่รู้ธรรมะนี้เรียกว่าภาษาคน ส่วนภาษาธรรมะนั้นเป็นภาษาที่คนเหมือนกันแต่ว่าได้เห็นธรรมะในส่วนลึกคือเห็นธรรมะที่แท้จริง แล้วพูดไปด้วยความรู้สึกอันนั้น จึงเกิดเป็นภาษาธรรมขึ้นมาไม่เหมือนภาษาคน นี้เรียกว่าภาษาธรรมะ ภาษาจึงมีอยู่เป็น ๒ ภาษาคือภาษาธรรมะอย่างหนึ่ง ภาษาคนอย่างหนึ่ง ภาษาคนนั้นเอาไปตามทางของวัตถุ ตามทางที่รู้สึกได้ตามคนธรรมดารู้สึกและอาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน ไม่ได้อาศัยธรรมะเป็นพื้นฐาน จึงพูดแต่เรื่องวัตถุ พูดแต่เรื่องโลก พูดแต่เรื่องที่เห็นได้ด้วยตาตามธรรมดาสามัญชน ส่วนภาษาธรรมะนั้นเป็นไปในทางนามธรรมที่ไม่เห็นตัว ไม่เนื่องด้วยวัตถุ ต้องมีปัญญาเห็นนามธรรมเหล่านั้นแล้วจึงจะพูดเป็นและให้ความหมายเป็น จึงพูดกันอยู่แต่ในหมู่ผู้เห็นธรรม นี้เป็นภาษาธรรมะ ภาษานามธรรมที่เหนือไปจากวัตถุ ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่นี้ก็จะพูดว่าเป็นภาษาทางฟิสิกส์ ซึ่งอาศัยวัตถุเป็น physical way of speaking คือพูดไปตามแบบตามวิธีของฝ่ายฟิสิกส์ ทีนี้ที่ตรงกันข้ามนั้นเป็น metaphysics คือนอกเหนือที่วิชาฟิสิกส์จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้ อย่างนี้เรียกว่า metaphysics มีวิธีพูดเป็น metaphysicals way of speaking ของมันเอง เรียกสั้นๆว่าภาษาฟิสิกส์กับภาษาที่เหนือฟิสิกส์ ภาษาฟิสิกส์ก็คือภาษาโลกภาษาคน ที่พูดอยู่ตามธรรมดาที่อาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน ส่วนภาษา metaphysics ต้องอาศัยนามธรรมเป็นพื้นฐาน ต้องเคยรู้ ต้องเคยศึกษา ต้องเคยเข้าใจ ไม่ตั้งอาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน แต่อาศัยนามธรรมพวก abstract ต่างๆเป็นพื้นฐาน หวังว่าท่านคงจะเข้าใจในความแตกต่างของภาษาคนกับภาษาธรรมะขึ้นบ้างแล้ว อาตมาจะชี้ต่อไปว่าเพราะรู้แต่ภาษาคนนี่เองไม่รู้ภาษาธรรมะ จึงฟังธรรมะแท้ๆไม่เข้าใจ เจอธรรมะในชั้นสูงธรรมะในชั้นโลกุตตระที่จะดับทุกข์ได้จริงนั้นฟังไม่เข้าใจ เพราะรู้แต่ภาษาคนไม่รู้ภาษาธรรมะ ทีนี้เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นก็ต้องยกมาทั้งภาษาคนและภาษาธรรมะคู่ๆกันไปทีเดียว ขอให้สนใจในนิกเขปบทที่ได้ยกขึ้นไว้ข้างต้นว่า อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณหาติ ปณฺฑิโต ว่าผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้นย่อมถือเอาอรรถทั้งหลายทั้งสองด้าน อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจตีติ เป็นคนฉลาดรู้พร้อมซึ่งอรรถทั้งหลายแล้วเขาก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต นี้เป็นหลักทั่วๆไปที่จะใช้ในทางธรรมะชั้นสูงก็ได้ชั้นต่ำก็ได้ แม้จะใช้กับเรื่องภาษาพูดก็ได้ เพราะมีคำจำกัดชัดอยู่ว่า อุโภ อตฺเถ คือซึ่งความหมายทั้งสองหรือซึ่งอรรถทั้งสอง ถ้าเป็นคนฉลาดต้องถือเอาความหมายหรืออรรถได้ทั้งสองฝ่ายหรือสองอย่าง ไม่ใช่ถือเอาได้แต่อย่างเดียว เช่นถือเอาแต่ความหมายในทางภาษาคนได้ แต่ไม่ถือเอาความ เอาความหมายในทางภาษาธรรมะได้ อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าไม่ใช่บัณฑิต ไม่ใช่คนฉลาด เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าถ้าเป็นคนฉลาดต้องถือเอาอรรถทั้งหลายได้ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง เราต้องเป็นคนไม่ประมาท ขยันศึกษา ถือเอาอรรถทั้งสองฝ่ายให้ได้คือทั้งฝ่ายภาษาคนและฝ่ายภาษาธรรม ซึ่งจะได้เปรียบเทียบให้เห็นต่อไป ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีสักหน่อย
คำแรกที่อาตมาจะเอามาเป็นตัวอย่างก็คือคำว่า พุทธะ คำว่าพุทธะก็แปลว่าพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายก็รู้ดีอยู่แล้ว พุทธะในภาษาคนหมายถึงองค์พระพุทธเจ้า เนื้อหนังของท่าน ร่างกายของท่านที่เกิดในประเทศอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นิพพานแล้ว เผาไหม้ไปหมดแล้ว นั่นพุทธะภาษาคน ส่วนพุทธะภาษาธรรมนั้นหมายถึงตัวธรรมะแท้ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ที่ไม่เห็นธรรมะนั้นแม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ๆก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย ลองคิดดูว่าธรรมะในที่นี้คืออะไร ธรรมะในที่นี้คือสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เนื้อหนัง แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านั่นแหละคือตัวตถาคต องค์ตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ไม่เห็นธรรมะก็ชื่อว่าไม่เห็นตถาคต เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะนั้นคือตัวธรรมะที่ทำพระพุทธเจ้า ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า ที่ว่าถ้าเห็นแล้วจึงจะเรียกว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าตัวจริง เห็นแต่เนื้อหนังของท่านชื่อ ไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่สำเร็จประโยชน์อะไร คนเป็นอันมากในครั้งพุทธกาลไม่ชอบพระพุทธเจ้า ด่าพระพุทธเจ้า ทำร้ายพระพุทธเจ้าก็มี นั่นเขาเห็นเนื้อเห็นตัวท่านเขาไม่เข้าใจท่าน ว่านั่นเป็นพระพุทธเจ้าส่วนเปลือกส่วนภาษาคน พระพุทธเจ้าเนื้อแท้ภาษาธรรมะนั้นคือธรรมะในจิตใจของท่านที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ นี้คือพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ หรืออีกอย่างหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้วบัญญัติแล้วนั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลายในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา หมายความว่าพระพุทธเจ้าองค์แท้นั้นไม่ได้ดับหายไปไม่ได้สูญไป ดับหายไปแต่ร่างกายหรือเปลือก พระศาสดาองค์แท้คือธรรมวินัยนั้นยังอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ สรุปความก็ว่าพระพุทธเจ้าภาษาคนนั้นหมายถึงตัวคน พระพุทธเจ้าภาษาธรรมะนั้นหมายถึงธรรมะที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้า ทีนี้ก็มาถึงคำที่ ๒ คือคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ พระธรรม คำว่าพระธรรมภาษาเด็กๆก็หมายถึงพระคัมภีร์ หนังสือหนังหาที่เรียกกันว่าพระธรรมอยู่ในตู้ หรือว่าเสียงที่ใช้แสดงธรรมดังที่กล่าวออกเสียงอยู่เดี๋ยวนี้ว่านี่คือตัวธรรม พระคัมภีร์เป็นตัวธรรม เสียงเทศน์เป็นตัวธรรม อย่างนี้เป็นต้น ธรรมะอย่างนี้มันเป็นภาษาคน ภาษาคนโง่ ภาษาคนที่ยังไม่เห็นธรรมะเรียกว่าภาษาคน ธรรมะในภาษาธรรมะนั้นก็คือธรรมะที่เป็นอันเดียวกันกับพระตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ธรรมะจริงในภาษาธรรมะนั้นอยู่ที่นั่น หรือถ้าจะให้จำแนกคำว่าธรรมในภาษาบาลีนั่นหมายถึงสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งหลายอย่างหลายประการรวมกันเรียกว่าธรรมชาติ ไม่มีเวลาที่จะจารนัยโดยรายละเอียด จะกล่าวแต่หัวข้อว่าตัวธรรมชาติแท้ๆนั้นก็เรียกว่าธรรมะ กฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรมะ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกให้ต้องตามกฎธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรมะ ผลอันใดเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน นี่ธรรมะมีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือ คัมภีร์ ใบลานหรือเสียงเทศน์ คำว่าธรรมะในภาษาธรรมะหมายถึงนามธรรมที่เป็นธรรมะที่กว้างขวาง ที่ลึกซึ้ง ที่หมายถึงทุกๆสิ่งที่เข้าใจได้ยากก็มี เข้าใจได้ง่ายก็มี ทีนี้คำถัดไปคือคำว่า สังฆะ หรือ พระสงฆ์ คำว่าพระสงฆ์ในภาษาคนหมายถึงตัวนักบวชเหลืองๆแดงๆเพ่นพ่านทั่วๆไป นี้พระสงฆ์ในภาษาคน ภาษาคนโง่ที่ยังไม่เห็นธรรมะ ส่วนพระสงฆ์ในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงธรรมะอีกเหมือนกันคือธรรมะหรือคุณธรรมทุกขั้นทุกตอนที่มีอยู่ในจิตใจของนักบวชผู้มีคุณธรรม นักบวชคนไหนมีคุณธรรมอยู่ในใจ ไม่ใช่เป็นนักบวชแต่เปลือก คุณธรรมที่มีอยู่ทุกขั้นทุกตอนในจิตใจของนักบวชนั้นเรียกว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์ภาษาธรรมะก็หมายถึงคุณธรรมหรือพระธรรมอีกเหมือนกัน พระสงฆ์ภาษาคนหมายถึงตัวนักบวช พระสงฆ์ภาษาธรรมะหมายถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของคน อย่างที่เราเรียกว่าพระสงฆ์มี ๔ โสดา สกิทาคา อนาคา และอรหัตต์ นี้ก็หมายถึงคุณธรรมไม่ได้หมายถึงตัวคน เพราะเปลือกหรือตัวคนนั้นมันเหมือนๆกันหมดไม่ว่าของใคร มันผิดกันแต่คุณธรรมในใจที่ทำให้เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา และอรหัตต์ อรหันต์ขึ้นมา เรารู้จักพระสงฆ์ในภาษาธรรมกันเสียบ้าง ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ศาสนา หรือ พระศาสนา คำว่าศาสนาในภาษาคนหรือภาษาคนโง่นั้นหมายถึงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์เหลืองอร่ามไปหมด มีเจดีย์สะพรั่งไปหมด มีโบสถ์สะพรั่งไปหมด ก็ว่าพระศาสนาเจริญแล้วโว้ย, นี่พระศาสนาในภาษาคน ส่วนคำว่าศาสนาในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงตัวธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะใดเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ดับทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้จริงธรรมะนั้นคือศาสนา คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนาในภาษาธรรมะ ถ้าศาสนาเจริญก็หมายความว่ามีคุณธรรมที่ดับทุกข์ได้จริงแพร่หลายทั่วไปในหมู่มนุษย์ นี้เรียกว่าศาสนาเจริญ ไม่ใช่เพียงแต่รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็จะเรียกว่าศาสนาเจริญก็หาไม่ ศาสนาภาษาคนหมายถึงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นต้น ภา ศาสนาภาษาธรรมะหมายถึงธรรมะที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง หรือจะเขยิบให้ใกล้เข้ามาอีกหน่อยหนึ่ง คำว่าศาสนาแปลกันว่าคำสั่งสอน คนโดยมากก็เอาคำสั่งสอนเป็นตัวศาสนา ถ้ามีการเรียนการสอนกันเจริญแล้วก็เรียกว่าศาสนาเจริญ นี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่น้อยเกินไป คือถูกไปตามตัวหนังสือ ศาสนาที่แปลว่าคำสั่งสอนนั้นเป็นภาษาคนไม่ใช่ภาษาธรรมะ ศาสนาที่เป็นภาษาธรรมะนั้นคือตัวพรหมจรรย์ คือการประพฤติปฏิบัติลงไปจริงๆตามทางธรรม เป็นพรหมจรรย์ที่มีความงดงามในเบื้องต้น พรหมจรรย์ที่มีความงดงามในเบื้องกลาง และพรหมจรรย์ที่มีความงดงามในเบื้องปลาย เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสส่งภิกษุ ๖๐ รูปว่าจงไปประกาศพรหมจรรย์แก่ชาวโลก จงประกาศพรหมจรรย์ให้งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย พรหมจรรย์ในที่นี้ท่านหมายถึงการประพฤติปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้จริง งามในเบื้องต้นก็คือการศึกษาเล่าเรียน งามในท่ามกลางก็คือการปฏิบัติ งามในขั้นปลายสุดท้ายก็คือผลของการปฏิบัติเกิดขึ้นจริงๆ นี้คือตัวพรหมจรรย์ที่เป็นตัวศาสนาตามภาษาของธรรมะ ศาสนาภาษาคนหมายถึงตัวคำสั่งสอน แต่ศาสนาภาษาธรรมะหมายถึงตัวพรหมจรรย์ที่งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและเบื้องปลายดังที่กล่าวมา จึงต่างกันมาก
ทีนี้จะพิจารณาให้กัน ให้ละเอียดลงไปจนถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเราเป็นประจำวัน เช่นว่าคำว่า ทำการงานหรือ การงาน ภาษาคนการงานหมายถึงอาชีพที่ทำด้วยความจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ มันบังคับให้ทำเพื่อเอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องบ้าง เพื่อเสวยกามารมณ์บ้าง อาชีพที่ทำไปด้วยความจำเป็นนี้เรียกว่าการงานในภาษาคน ส่วนการงานในภาษาธรรมะนั่นหมายถึงกรรมฐาน คือการปฏิบัติธรรม หรือตัวการปฏิบัติธรรมนั่นเองเป็นตัวการงาน จะเปรียบเทียบให้เห็นยิ่งขึ้นไป คนธรรมดาทำการงานด้วยความจำเป็นเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อซื้อหากามคุณ แต่พระอริยเจ้าทำการงานในฐานะที่เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะว่าการงานนี้ต้องทำด้วยความซื่อตรง ด้วยความสุจริต ด้วยความขยัน ด้วยความแข็งขัน ด้วยความฉลาด ด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการจึงจะสำเร็จการงานนั้นได้ ดังนั้นการงานมันก็คือการปฏิบัติธรรมในขั้นที่ลึกขึ้นไป ถ้าเป็นรายทำการงานตามหน้าที่ของตนแม้การงานในโลก ในที่สุดการงานนั้นก็สอนให้รู้จักความจริงของชีวิตจิตใจ สอนให้รู้จักความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา สอนให้บรรลุธรรมะโดยไม่รู้สึกตัว การงานในภาษาธรรมะจึงหมายถึงการปฏิบัติธรรมที่มีอยู่เองในตัวชีวิตจิตใจนั่นเอง แม้ที่สุดแต่การที่เราจะต้องบริหารร่างกายให้เป็นสุข ให้สะอาด ให้เรียบร้อยนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ก็ต้องทำด้วยจิตใจที่ดี ที่ฉลาด ที่จะขยันขันแข็ง เป็นต้น สรุปความว่าการงานภาษาคนหมายถึงอาชีพที่ทำด้วยความจำเป็น การงานในภาษาธรรมะหมายถึงการปฏิบัติธรรม คำว่ากรรมฐานก็แปลว่าการงาน การปฏิบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันในทางธรรมะแล้วก็เรียกว่ากรรมฐานทั้งนั้น กรรมฐานก็แปลว่าการงาน การงานในภาษาธรรมะจึงหมายถึงการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวมันเอง จะกล่าวถึงคำว่า พรหมจรรย์ อีกครั้งหนึ่ง พรหมจรรย์ภาษาคน ภาษาชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรในทางธรรมก็เข้าใจได้แต่เพียงว่าพรหมจรรย์นั้นคือเว้นจากการประพฤติผิดในทางกามของคนหนุ่มคนสาวเท่านั้นเอง แต่คำว่าพรหมจรรย์ในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงการทำเพื่อละกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง ระบบใดระบบหนึ่งลงไปจริงๆด้วยความเคร่งครัด ไม่ให้บกพร่อง ไม่ว่าเราจะสมาทานการปฏิบัติข้อไหนถ้าปฏิบัติลงไปให้จริงให้เคร่ง ไม่มีการข้อบกพร่องแล้วเรียกว่าพรหมจรรย์ทั้งนั้น มิได้หมายถึงเพียงว่าการไม่ประพฤติผิดในทางเรื่องชู้สาวหรือของคนหนุ่มสาวเท่านั้นเอง นี่แหละภาษาคนกับภาษาธรรมะต่างกันอยู่อย่างนี้ทีนี้กระโดดข้ามไปถึงคำว่า นิพพาน นิพพานในภาษาคน ภาษาชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรก็เข้าใจว่านิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง เพราะคนเทศน์ก็มักจะเทศน์อยู่ว่านิพพานเป็นมะ อมตะมหานครบ้าง เป็นเมืองแก้วกล่าวแล้วคือพระนิพพานบ้าง คนที่ฟังฟังไม่เข้าใจก็เข้าใจว่าเป็นนคร เป็นบ้านเป็นเมืองไปจริงๆ แล้วเลยเดาต่อไปขั้นหนึ่งว่าที่นั่นมีอะไรให้สารพัดอย่าง เป็นเมืองแก้วสารพัดนึก จะนึกอะไรก็ได้นั่นตามชอบใจตัวเอง ก็เลยอยากไปนิพพานเพราะเป็นบ้านเป็นเมืองสารพัดนึกเช่นนั้น นี้นิพพานภาษาคน ภาษาคนโง่ ภาษาคนไม่รู้ธรรมะ แต่ก็มีอยู่มากทั่วๆไปแทบทุกวัดทุกวา คำว่านิพพานในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงความดับสิ้นสุดแห่งกิเลสและความทุกข์โดยประการทั้งปวงและอย่างแท้จริง เมื่อใดมีการดับแห่งกิเลสและดับความทุกข์อย่างแท้จริงเมื่อนั้นเป็นนิพพาน ตามมากตามน้อยตามสถานะ ถ้าหมดจดสิ้นเชิงก็เป็นนิพพานถึงที่สุด เป็นการดับเย็นแห่งความทุกข์ความร้อนแห่งไฟคือกิเลสและความทุกข์ นี่นิพพานภาษาธรรมะ นิพพานภาษาคนก็คือเมืองแก้วสารพัดนึก นิพพานภาษาธรรมะก็คือความดับทุกข์สิ้นเชิงที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็ได้ ก็ลองคิดดูเถิดว่าคนเข้าใจนิพพานอย่างไรกันโดยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ตามศาลาวัด ทีนี้ลดลงไปก็มาถึงคำว่า มรรคผล คำว่ามรรคผลนี้ชอบพูดกันติดปากแม้พวกชาวบ้าน ทำอะไรทำให้เป็นมรรคเป็นผล พอประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนต้องการขึ้นมาก็เรียกว่าเป็นมรรคเป็นผลแล้วโว้ย, แม้แต่เป็นเรื่องโลกีย์ โลกียะของคนชาวบ้านกิเลสหนาก็พูดว่าเป็นมรรคเป็นผลแล้วโว้ย, เพราะทำการทำงานนั้นได้สำเร็จตามที่ตนต้องการ นี่มรรคผลภาษาคนหมายอย่างนี้ แต่มรรคผลภาษาธรรมะนั้นหมายถึงการทำลายความทุกข์ ทำลายกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรมะเป็นขั้นๆขึ้นไปทีเดียว นี้คือคำว่ามรรคผลในภาษาธรรมะ ท่านทั้งหลายก็เคยพูดคำว่ามรรคผลกันอยู่เป็นประจำวัน เมื่อไรพูดมรรคผลภาษาคน เมื่อไรพูดมรรคผลตามภาษาธรรมะหรือภาษาพระพุทธเจ้าก็ต้องระวังให้ดีๆ ทีนี้มาถึงคำที่ประหลาดต่อไปก็คือคำว่า มาร มาร พระยามาร เป็นต้น มารในภาษาคนก็หมายถึงยักษ์มารที่มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว นี้มารในภาษาคน ทีนี้มารในภาษาธรรมะนั้นไม่เป็นคน แต่เป็นภาวะอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะขัดขวางความดีความงาม ความที่จะก้าวไปถึงความดับทุกข์ สภาพที่ขัดขวางหนทางของสิ่งเหล่านี้เรียกว่ามาร หรือถ้าจะให้เป็นตัวบุคคลกันก็เอา แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คำว่ามารนั่นคงจะได้ยินได้ฟังกันแล้วว่ามาจากชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ลงมาจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มาผจญพระพุทธเจ้า นี่คือพระยามารที่แท้จริง มาจากสวรรค์ชั้นสูงสุด สวรรค์ปรนิมมิตวสวัตตีนั้นเป็นสวรรค์ที่ประกอบไปด้วยกามคุณชั้นสูงสุดด้วย แล้วยังได้อย่างอกอย่างใจ มีคนคอยให้ อำนวยให้อย่างเต็มตามความต้องการด้วย ไม่ใช่พระยามารที่ไอ้หน้าตาดุร้าย น่าเกลียด เที่ยวจับสัตว์เดรัจฉานกิน เลือดปาก เลือดที่ปากแดงอย่างนี้เป็นต้น นั่นเป็นมารของคนโง่ มารในภาษาคนคือคนโง่ที่ไม่รู้จักมาร มารในภาษาธรรมะ อย่างเลวที่สุดก็หมายถึงสวรรค์หรือกามคุณชั้นสูงสุดที่เรียกชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตตี แล้วเมื่อกล่าวด้วย โดยทั่วไปก็คือสภาวะทางนามธรรมที่ขัดขวางความดี ความงาม ความก้าวหน้าในทางธรรมทุกชนิด นี้เรียกว่ามารในภาษาธรรมะ
ทีนี้พูดถึงคำว่า โลก กันบ้าง คำว่าโลกนี่ภาษาคนหมายถึงแผ่นดิน ตัวโลกนี่จะว่าแบนหรือกลมอะไรก็ตามใจหมายถึงตัวโลกแผ่นดิน คำว่าโลกในภาษาคน แต่ภาษาธรรม ภาษาธรรมะนั้นคำว่าโลกเขาหมายถึงนามธรรม หรือคุณธรรม หรือคุณสมบัติที่มีประจำอยู่ในโลกเช่นความทุกข์เป็นต้น ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์เหล่านี้เป็นคุณสมบัติประจำอยู่ในตัวโลก นั่นแหละคือตัวโลกในภาษาธรรม จึงกล่าวว่าโลกก็คือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือโลก ยามที่พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจ ๔ บางทีก็ใช้คำว่าโลก บางทีก็ใช้คำว่าทุกข์เป็นอันเดียวกัน เช่นพูดว่าโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทของโลก หนทางให้ถึงความดับสนิทของโลก อย่างนี้พระพุทธองค์ทรงหมายถึงตัวทุกข์ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ตัวความดับสนิทของความทุกข์ และวิธีหนทางทำให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์ เพราะฉะนั้นในภาษาของพระพุทธเจ้าหรือภาษาธรรมะนั้นคำว่าโลกหมายถึงความทุกข์ ทุกข์กับโลกเป็นตัวเดียวกัน หรืออีกทางหนึ่งคำว่าโลกหมายถึงสิ่งที่ต่ำๆเตี้ยๆ ไม่ใช่ลึกซึ้งไม่ใช่สูงสุด เราพูดกันว่าเป็นเรื่องโลกๆไม่ใช่เรื่องธรรมะอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็ยังเป็นคำว่าโลกในภาษาธรรมะเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคำว่าโลกจะหมายถึงไอ้ตัวแผ่นดินเสมอไป นั่นเป็นภาษาคน ทีนี้เขยิบให้สูงขึ้นไปก็มาถึงคำว่า ความเกิด ชาติ หรือ ความเกิด คำว่าความเกิดหรือชาติในภาษาคนนี้หมายถึงการคลอดจากท้องแม่ คนๆหนึ่งก็คลอดทีเดียวเท่านั้น แล้วก็เลิกกัน อยู่ไปจนกว่าจะตายเน่าเข้าโลง ความเกิดมีครั้งเดียว เกิดจากท้องแม่อย่างนี้เป็นความเกิดตามภาษาคน ส่วนคำว่าเกิดหรือความเกิดในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงความเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวฉันหรือตัวกูก็ตามที่เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆในจิตใจของคนเราเป็นประจำวัน คนธรรมดาก็เกิดได้มากครั้ง ถ้าเป็นคนดีก็เกิดได้น้อยครั้ง ถ้าเป็นพระอริยเจ้ายิ่งเกิดน้อยลงไปอีกกระทั่งไม่เกิดเลย เมื่อใดเกิดความรู้สึกว่าตัวฉันอย่างนั้นอย่างนี้เร่าๆขึ้นมาในใจกระทั่งเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนี้ก็เรียกว่าตัวฉันเกิดขึ้นมาคราวหนึ่งเรียกว่าความเกิด ดังนั้นความเกิดจึงเกิดได้หลายๆครั้งแม้ในวันหนึ่ง คิดไปอย่างสัตว์เดรัจฉานก็เกิดไปเป็นสัตว์เดรัจฉานเดี๋ยวนั้นเอง คิดไปอย่างคนก็เกิดเป็นคนเดี๋ยวนั้นเอง คิดไปอย่างเทวดาก็เกิดเป็นเทวดาเดี๋ยวนั้นเอง เพราะว่าชีวิต อัตภาพ สุขทุกข์หรืออะไรเหล่านี้ท่านกำหนดไว้ด้วยความเกิดขึ้นแห่งจิตขณะหนึ่งๆเท่านั้น ฉะนั้นคำว่าความเกิดในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวฉันหรือตัวกู นี้เป็นเกิดภาษา เป็นความเกิดในภาษาธรรมะ ความเกิดในภาษาคนหมายถึงเกิดจากท้องแม่ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องความเกิดนั่นบางคราวก็แสดงด้วยภาษาคนก็มีเหมือนกันในเมื่อพูดตามธรรมดา แต่ถ้าพูดในเรื่องธรรมะชั้นสูงเช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นต้นแล้วคำว่าความเกิดนั่นท่านพูดในภาษาธรรมะ ไม่ได้หมายถึงเกิดจากท้องแม่ แต่หมายถึงเกิดขึ้นแห่งอุปาทานว่า ตัวตนหรือของตน ตัวฉันหรือของฉัน ตัวกูหรือของกู เป็นต้น ทีนี้ก็มาถึง ความตาย ความตายภาษาคนก็คือตายชนิดที่จะต้องเอาใส่โลงไปเผาไปฝัง แต่ความตายในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงความสลายแห่งความรู้สึกที่ว่าเมื่อสักครู่นั่นเอง คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวฉันตัวกูนั่นแหละมันสลายลงไป นี่เรียกว่าความตายในภาษาธรรมะ ทีนี้พูดถึงคำที่ว่า เรียกว่า ชีวิต คำว่าชีวิตในภาษาคน ภาษาเด็กๆก็ได้ก็คือสิ่งยังไม่ตาย ยังเป็นได้ ยังดิ้นได้ ยังเดินได้ ยังกินอาหารได้ เป็นต้น ภาษาที่ละเอียดที่สุดเช่นภาษาชีววิทยาก็ว่าความสดอยู่ได้ของนิวเคลียสของเซลล์ๆหนึ่ง คือโฟโตกราฟนั้นยังสดอยู่ ยังเจริญอยู่ ก็เรียกว่าชีวิตอย่างนี้ นี่ก็ยิ่งเป็นภาษาวัตถุหรือภาษาคนมากขึ้นไปอีก ส่วนภา ชีวิต คำว่าชีวิตภาษาธรรมะนั้นต้องหมายถึงสภาวะที่ไม่รู้จักตายจริงๆคืออสังขตธรรม คือนิพพานหรือชีวิตนิรันดรจริงๆจึงจะเรียกว่าชีวิต เมื่อใดพูดว่าชีวิตภาษาคนก็หมายถึงชีวิตอย่างที่เขาพูดๆกันอยู่ เมื่อใดพูดถึงชีวิตภาษาธรรมก็หมายถึงภาวะที่ไม่รู้จักตาย เพราะมันไม่มีความเกิดมันจึงไม่มีความตาย จึงได้แก่อสังขตธรรม ทั้งหลายที่เราเรียกกันว่านิพพานเป็นต้น หรือที่ในที่อื่นหรือในศาสนาอื่นเขาอาจจะเรียกว่าชีวิตนิรันดร เป็นชีวิตที่ไม่รู้จักดับอีกต่อไป เป็นชีวิตพระเป็นเจ้าหรือชีวิตอะไรก็แล้วแต่จะเรียก นั่นแหละจึงจะเป็นชีวิตจริงหรือชีวิตในภาษาธรรมะ ทีนี้ก็มาใกล้จนถึงกระทั่งว่าคำว่า คน เราพูดกันติดปากว่าคน คน คน ทุกคนก็เป็นคน แต่ระวังให้ดีคำๆนี้ก็มี ๒ ความหมาย คำว่าคนในภาษาคนก็หมายถึงสัตว์ที่มีรูปร่างอย่างที่เราเรียกกันว่าคน แต่คำว่าคนในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงคุณธรรมที่เหมาะกับคำว่ามนุษย์ คือคุณธรรมที่สูงที่เหมาะกับคำว่ามนุษย์คือมีจิตใจสูง นี้เราจะเข้าใจได้ง่ายๆเช่นเมื่อท่านทั้งหลายบางคนไปด่าเพื่อนด่าฝูงว่ามึงไม่ใช่คน นี้หมายความว่าอย่างไร เขาก็เป็นคนมีรูปร่างเหมือนคนที่ด่าเขานั่นเอง แต่ทำไมไปหาว่าเขาไม่ใช่คน นี่ก็เพราะว่าเขาขาดคุณธรรมที่เหมาะสำหรับคำว่ามนุษย์ เราจึงด่าเขาว่าไม่ใช่คน คำว่าคนจึงมี ๒ ความหมายเสียแล้ว ความหมายหนึ่งเป็นภาษาคนหมายถึงสัตว์ที่มีรูปร่างอย่างคน ความหมายหนึ่งเป็นภาษาธรรมะหมายถึงคุณธรรมที่เหมาะสมกับคำว่ามนุษย์ ทีนี้ไปนึกถึงคำว่า พระเจ้า หรือ พระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าในภาษาคนก็หมายถึงเทวดาที่มีอำนาจในการสร้าง ในการบันดาล ในการเนรมิตต่างๆนี้เรียกว่าพระเป็นเจ้า นี่ก็ถูกตามภาษาคนแต่ในภาษาธรรมะนั่นคำว่าพระเป็นเจ้ามีความหมายอย่างนี้นั้นเขาหมายถึงอำนาจอันลึกลับที่ไม่ต้องเป็นตัวคน ไม่ต้องเป็นเทวดา ไม่ต้องเป็นตัวอะไรหมด แต่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เป็นนามธรรม เช่นกฎของธรรมชาติเป็นต้น สิ่งที่เรียกว่ากฎของธรรมชาตินั่นแหละบันดาลให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา กฎธรรมชาตินั่นแหละควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวง กฎธรรมชาตินั่นแหละมีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้นคำว่าพระเป็นเจ้าในภาษาธรรมะนั้นเราหมายถึงกฎธรรมชาติเช่นนี้เป็นต้น เป็นตัวอย่างและเราเรียกว่าธรรม กฎธรรมชาตินี้เราเรียกกันอย่างภาษาไทย ถ้าเรียกอย่างภาษาบาลีเรียกว่าธรรมเฉยๆ ธรรมะนั่นแหละ คำๆเดียวกันนั่นแหละ เรียกว่าธรรมเฉยๆ หมายถึงกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระเป็นเจ้าของเราก็คือธรรม
ทีนี้มองดูลงไปข้างล่างถึงคำว่า อบาย คำว่าอบายก็หมายถึงไอ้โลกที่ตกต่ำ ตามปกติเราแจกกันสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ๔ อย่างนี้รวมเรียกกันว่าอบาย เขียนภาพไว้ตามฝาผนังโบสถ์ นรกเป็นอย่างนั้น สัตว์เดรัจฉานเป็นอย่างนี้ เปรตเป็นอย่างนู้น อสุรกายเป็นอย่างนู้น ล้วนแต่จะเป็นต่อเมื่อตายแล้วเท่านั้น แล้วเรียกว่าอยู่ในสภาพที่เป็นวัตถุเป็นสัตว์ที่เลวๆ นี่คืออบายในภาษาคน นรกในภาษาคน สัตว์เดรัจฉานในภาษาคน เทียบ เทียบคู่กันให้เห็นง่ายๆ นรก ในภาษาคนหมายถึงเมืองอยู่ใต้ดิน มีเจ้าหน้าที่เป็นยมบาล จับคนลงโทษต่างๆนานา ตายแล้วจึงจะไปถึง ส่วนนรกในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงความร้อนใจเหมือนไฟเผา เมื่อใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผาเมื่อนั้นเรียกว่าเป็นนรกในภาษาธรรมะ ใครทำความร้อนใจให้เกิดขึ้นแก่ตนเองในลักษณะเหมือนไฟเผาเมื่อไรก็เรียกว่าตกนรกเมื่อนั้น และความร้อนใจนั้นก็มีหลายอย่างหลายแบบหลายชนิด ฉะนั้นจึงแบ่งชื่อนรกได้เป็นต่างๆกัน ทีนี้ก็มาถึง สัตว์เดรัจฉาน กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เราหมายถึงหมู หมา กา ไก่ที่เที่ยววิ่งอยู่ตามพื้นดิน ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างนั้น นี่เรียกว่ากำเนิดเดรัจฉานของภาษาคน ในภาษาธรรมะนั้นหมายความว่าเมื่อใดเรามีความโง่เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน เมื่อนั้นเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วที่นี่และเดี๋ยวนี้เอง วันหนึ่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหลายหนก็ได้ นี่คำว่ากำเนิดเดรัจฉานในภาษาธรรมะหมายถึงความโง่ ทีนี้คำว่า เปรต ในภาษาคนหมายถึงสัตว์ที่มีปากนิดเดียว มีท้องโตมาก กินไม่ทัน เลยหิวอยู่เรื่อย แต่จะเป็นก็ต่อเมื่อตายแล้วเหมือนกัน นี้เรียกว่าเปรตในภาษาคน ส่วนเปรตในภาษาธรรมะนั้นเมื่อใดมีความทะเยอทะยานด้วยกิเลสตัณหา มีความวิตกกังวลด้วยความ ด้วยกิเลสตัณหาแล้วเมื่อนั้นเรียกว่าเป็นเปรต เพราะมันมีอาการเหมือนกับว่าปากเท่ารูเข็ม ท้องเท่าภูเขาเหมือนกัน คนมีกิเลสตัณหามาก โลภจัดเกินไป วิตกกังวลมากเกินไปก็มีอาการเป็นเปรต เรียกว่าเกิดเป็นเปรตแล้วที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ทีนี้ก็มาถึง กำเนิดอสุรกาย ภาษาคนก็หมายถึงผีชนิดหนึ่งมองไม่เห็นตัว เที่ยวหลอกเที่ยวหลอน ไม่กล้าแสดงตัวเพราะมีความขลาด แต่อสุรกายในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงตัวความขลาดในจิตใจของมนุษย์นั่นเอง ไม่ต้องรอต่อตายแล้วจึงจะไปเกิดเป็นอสุรกาย เมื่อใดมีความขี้ขลาดเมื่อนั้นเป็นอสุรกายทันที ขี้ขลาดอย่างไม่ควรจะขี้ขลาด ขี้ขลาดเกินไป กลัวจิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งกือ ไส้เดือนเหล่านี้ก็เรียกว่าขี้ขลาดเกินไปจนอยู่ในสภาพอสุรกาย กลัวการทำความดีก็มี กลัวว่าบรรลุนิพพานแล้วจะไม่มีรสมีชาติ สู้อยู่ในเรื่องโลกๆนี้ไม่ได้ ก็กลัวนิพพานอย่างนี้ก็มี ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลชนิดนี้เป็นอสุรกาย เมื่อใดมีความกลัวอย่างนี้ก็ให้ถือว่าเป็นอสุรกายที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี้เป็นอบายในภาษาธรรมะแตกต่างกับอบายในภาษาคน แล้วมันยังมีเรื่องที่จะต้องคิดต่อไปว่าถ้าไม่ตกอบายในภาษาธรรมะแล้วเป็นไม่ตกอบายในภาษาคนแน่ เช่นว่าเราไม่ทำผิดจนมีอะไรร้อนใจ ไม่ตกนรกในชาตินี้แล้วชาติหน้าไม่ต้องกลัว ต่อหลังจากตายแล้วไม่ต้องกลัว เป็นไม่ตกนรกแน่ หรือว่าชาตินี้เราไม่โง่อย่างเดรัจฉาน ไม่หิวอย่างเปรต และไม่ขี้ขลาดอย่างคนขี้ขลาดแล้วก็ไม่มีบาปอันใดที่จะทำให้ต้องตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นเปรตหรือเป็นอสุรกาย เพราะฉะนั้นจงสนใจแต่เรื่องนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายที่จะตกที่จะเป็นกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ให้มากที่สุด นรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกายที่จะถึงต่อตายแล้วนั้นเก็บไว้ทีก่อนก็ได้ไม่ต้องไปสนใจ เพราะว่าถ้าไม่เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายในภาษาธรรมะที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้ว แม้จะตายอย่างไรก็ไม่ต้องไปตกนรกหรือไปเป็นเปรต เป็นต้น เพราะว่าเราประพฤติปฏิบัติชอบ ไม่มีอะไรทำให้ต้องตกอบายในปัจจุบันนี้แล้วมันก็ไม่ต้องไปตก ต่อเมื่อตายแล้วแน่นอน ทุกคนก็ดูเหมือนจะพูดเป็นว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ แล้วทำไมจึงโง่เกินไปถึงกับไม่เข้าใจในเรื่องอบายทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในชีวิตนี้จริงๆ ทั้งที่พูดอยู่ว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ถูกแล้วแน่นอน สวรรค์หรือนรกภาษาคนนั้นอยู่นอกตัว อยู่ที่โลกไหนก็ไม่รู้ ถึงกันต่อเมื่อตายแล้ว ส่วนนรกหรือสวรรค์ในภาษาธรรมะนั้นอยู่ในใจ ถึงได้เมื่อไรก็ได้แล้วแต่การปรุงแต่งของชีวิตจิตใจ นี้เรียกว่าอบายในภาษาคนกับอบายในภาษาธรรมะนั้นต่างกันอย่างนี้ เมื่อพูดถึง สวรรค์ ในภาษาคนก็หมายถึงเทวโลกอันงดงามอยู่เบื้องบนที่ใฝ่ฝันกันนัก ทำบุญตักบาตรหนึ่งก็จะเอาวิมานหลังหนึ่ง มีนางฟ้าเป็นร้อยๆสิบๆ นี้เป็นสวรรค์ในภาษาคน ส่วนสวรรค์ในภาษาธรรมะนั่นหมายถึงกามคุณหรือยอดสุดของกามคุณ เป็นต้น ที่ทำให้คนลุ่มหลง นี้เรียกว่าสวรรค์ชั้นกามาวจร ถ้าเป็นสวรรค์ชั้นพรหมโลกก็หมายถึงความว่างจากกามารมณ์ มีความสบายใจเพราะไม่ถูกกามารมณ์รบกวน เหมือนอย่างว่าคนๆหนึ่งเมื่อมีความหิวในกามารมณ์ บริโภคกามารมณ์เสร็จแล้วไม่อยากแตะต้องกามารมณ์อีกต่อไป ในเวลานั้นต้องการอยู่ว่างๆเงียบๆจืดๆ นี้ก็คือความรู้สึกที่ว่างจากกามารมณ์ที่พอจะเทียบกันได้กับคุณสมบัติของพวกพรหมหรือพรหมโลก ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่าสวรรค์ชั้นธรรมดาก็คือสมบูรณ์ไปด้วยกามารมณ์ สวรรค์ชั้นสูงสุดเช่นปรนิมมิตวสวัตตีก็คือสมบูรณ์ไปด้วยยอดของกามารมณ์ สวรรค์ชั้นพรหมโลกก็คือว่างจากการเบียดเบียนของกามารมณ์ แต่ยังมีตัวมีตน มีตัวกูอยู่ ทีนี้ลองพูดถึงคำว่า น้ำอมฤต น้ำอมฤตซึ่งแปลว่าน้ำที่ทำความไม่ตาย น้ำอมฤตภาษาคนก็หมายถึงเหล้าชนิดหนึ่งซึ่งพวกเทวดากินกันเข้าไปแล้วก็ไม่ตาย แล้วเลยรบราฆ่าฟันกันอีก นี้น้ำอมฤตภาษาคน แต่น้ำอมฤตในภาษาธรรม ภาษาธรรมะนั้นหมายถึงธรรมะชั้นสูงในลัก ในขั้นอนัตตาหรือสุญญตา ธรรมะในขั้นสูงถึงขนาดเป็นอนัตตาหรือเป็นสุญญตานั้นทำให้คนไม่ตายเพราะทำให้ว่างจากตัวคน ไม่มีตัวคนแล้วจะมีความตายได้อย่างไร ดังนั้นธรรมะในขั้นอนัตตาหรือสุญญตานั้นคือน้ำอมฤตในภาษาธรรมะ ส่วนสุราชนิดหนึ่งซึ่งกินกันเข้าไปแล้วไม่ตายตามที่เล่ากันมาอย่างปรัมปรานั้นเป็นน้ำอมฤตในภาษาคน คนโง่ คนที่ไม่เห็นธรรมหรือไม่ถึงธรรม
ทีนี้เมื่อได้พูดถึงคำว่าสุญญตาขึ้นมาแล้วก็จะถือโอกาสอธิบายคำๆนี้เสียเลย คำว่า สุญญตา เป็นภาษาบาลี สุญญะ แปลว่าว่าง ตา แปลว่าความ สุญญตา แปลว่าความว่าง ความว่างในภาษาคน ภาษาคนโง่ที่ไม่เห็นธรรม ไม่ถึงธรรมนั้นมีความหมายว่าไม่มีอะไรเลยหรือสูญเปล่าไม่ได้อะไรเลย ฟังดูให้ดีๆว่าสุญญตาความว่างในภาษาคนนั้นไม่มีอะไรเลยแม้แต่สักนิดเดียวสักอย่างเดียว คือมันว่างไปหมด แล้วก็สูญเปล่าด้วย ไม่เป็นประโยชน์อะไร นี่สุญญตาความว่างในภาษาคน คนโง่ คนไม่เห็นธรรม ส่วนสุญญตาหรือความว่างในภาษาธรรมนั้นมีทุกอย่าง ทุกอย่างทุกประการ อะไรจะมีเท่า เท่าไรก็ได้ เว้นเสียแต่ความรู้สึกว่าตัวฉันหรือของฉัน ให้มีอะไรครบทุกอย่างทุกประการอย่างไรๆ จะนึกคิดไปอย่างไรก็ได้ ให้มีทุกๆอย่างได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เว้นเสียอย่างเดียวแต่ว่าไม่มีความรู้สึกว่าตัวฉันหรือของฉัน ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูนั่นคือสุญญตาความว่างตามความหมายในภาษาธรรมะหรือภาษาของพระพุทธเจ้า สุญญตาแปลว่าว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวตนหรือของตน นอกนั้นมีได้หมด อะไรๆไม่ถือว่าเป็นตัวฉันและของฉัน ตัวกูและของกูก็แล้วกัน นี้เรียกว่าสุญญตาความว่างตามภาษาธรรมะ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสุญญตาหรือความว่างท่านตรัสในภาษาธรรมะ พวกคนโง่ฟังในภาษาคน ก็เลยเอาไปเป็นว่าไม่มีอะไรหรือสูญเปล่า เมื่อเข้าใจคำว่าความว่างเป็นเช่นนี้ในภาษาคนเช่นนี้เสียแล้วมันก็เข้าใจสุญญตาในภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้ คนโง่เหล่านี้จึงได้พ่นอะไรออกมาแปลกๆเกี่ยวกับความว่าง เกี่ยวกับเรื่องความว่าง ซึ่งไม่เข้าเรื่องเข้าราวกันกับเรื่องความว่างของพระพุทธเจ้าที่ได้กล่าวไว้ในภาษาคน ในภาษาธรรมะ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้กำหนดจดจำคำว่าว่าง ว่างนี้ไว้ให้ดีว่าถ้าภาษาฟิสิกส์หรือ physical นั้นหมายถึงไม่มีอะไรจริงๆ แต่ถ้าภาษา metaphysics แล้วหมายถึงมีทุกอย่าง เว้นเสียแต่ความเป็นตัวฉันหรือความเป็นของฉัน ในวัตถุสิ่งของ รูปธรรมนามธรรมหรืออะไรก็ตามมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวฉันหรือของฉันได้ มันว่างจากคุณสมบัติแห่งความเป็นตัวฉันเป็นของฉันเช่นนี้ จึงได้เรียกมันว่าว่าง แล้วมันไม่ได้สูญเปล่า มันเอามาใช้ทำอะไรก็ได้ตามที่สติปัญญาจะรู้จักใช้รู้จักทำมันก็แล้วกัน ขออย่างเดียวแต่ว่าอย่าไปเกิดมีความรู้สึกว่าเป็นตัวฉันหรือของฉันเข้า เพราะฉะนั้นสุญญตาหรือความว่างในภาษาธรรมะนั้นไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า ถ้าใครไปแปลสุญญตาความว่างว่าสูญเปล่านั้นเป็นคนโง่ ยังไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้ภาษาของธรรมะ พูดไปตามภาษาคนอย่างเดียว แล้วเอามางัดกันเข้ากับความว่างในภาษาธรรมะ แล้วมันจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร ขอให้เข้าใจคำๆนี้ไว้เป็นพิเศษว่ามีความหมายเป็น ๒ ทางอย่างนี้ ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ความหยุด หยุดคือไม่แล่น ไม่เคลื่อนไหวนั่น ความหยุดอย่างภาษาคน ภาษาชาวบ้านนั้นมีความหมายอย่างหนึ่ง ความหยุดอย่างภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นความหยุดตามภาษาขององคุลีมาลนั้นมันอย่างหนึ่ง ความหยุดตามภาษาของพระพุทธเจ้านั้นมันอีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟังเรื่ององคุลีมาลมาแล้วว่าโต้ตอบกันอย่างไรกันกับพระพุทธเจ้าในข้อนี้ ความหยุดอย่างขององคุลีมาลนั้นเป็นภาษาคน ความหยุดอย่างของพระพุทธเจ้านั้นเป็นภาษาธรรมะ ความหยุดอย่างภาษาชาวบ้านภาษาคนขององคุลีมาลมันก็คือไม่เคลื่อนไหว ให้ยืนอยู่นิ่งๆ แต่ความหยุดในภาษาของพระพุทธเจ้านั้นท่านหมายถึงความว่างจากตัวตน ถ้าว่างจากตัวตนแล้วจะเอาอะไรไปวิ่ง ลองคิดดูข้อนี้ก็แล้วกัน ถ้าเมื่อมันว่างจากตัวตนแล้วจะเอาตัวฉันที่ไหนไปวิ่ง ก็ต้องถือว่าฉันหยุดแล้ว นี่ความหยุดอย่างภาษาของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวตนที่ยึดถือไว้ว่าเป็นตัวตน ว่างจากตัวตนโดยสิ้นเชิง ความว่างนั้นคือความหยุดในที่นี้ นี้คือหยุดอย่างภาษาพระพุทธเจ้า มันต่างกับหยุดอย่างภาษาคนธรรมดาอย่างไรลองเปรียบดูเถิด หยุดอย่างภาษาพระพุทธเจ้านั่นวิ่งอยู่ก็ได้ก็เรียกว่าหยุด เพราะมันไม่มีคนผู้วิ่ง มันหยุดความต้องการของกิเลสตัณหาโดยประการทั้งปวง ไม่มีตัวฉันที่จะต้องการอะไรที่ไหน ไม่วิ่งไปวิ่งมาที่ไหน เหมือนอย่างคนที่ว่ายังมีความอยากแล้วก็เที่ยววิ่งหาบุญหากุศล หาความดีหาอะไรไปเสียสารพัดอย่างที่นั่นที่นี่ เที่ยวแห่กันไปเที่ยวแห่กันมา อย่างนี้ก็เรียกว่าวิ่ง แต่ถ้าหยุดความต้องการเสียได้ หยุดความมีตัวมีตนเสียได้ แม้จะขึ้นเรือบินอยู่ก็เรียกว่าหยุด ขอให้รู้จักเปรียบเทียบความหยุดตามภาษาคนกับความหยุดในภาษาธรรมให้เข้าใจให้ดี แล้วก็จะช่วยให้เข้าใจเรื่องความว่างได้ดีด้วย
พูดแต่เรื่องลึกๆอย่างนี้ก็คงจะง่วงนอน ทีนี้ก็พูดเรื่องคำง่ายๆเช่นว่า แสงสว่าง ตามธรรมดาเมื่อพูดถึงแสงสว่างก็หมายถึงแสงตะเกียง แสง ดวงอาทิตย์ แสงไฟฟ้าอะไรก็ ก็แล้วแต่จะเรียกกัน นี้เป็นภาษาคน แต่ถ้าภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้าคำว่าแสงสว่างท่านหมายถึงปัญญาหรือวิชชาหรือญาณหรืออะไรๆที่คล้ายกันนั่น แม้จะไปนั่งอยู่ในถ้ำมืดตื้อก็มีแสงสว่าง เพราะว่าขณะนั้นมีปัญญา มีวิชชา มีญาณอยู่ในใจอย่างโชติช่วง จึงว่าที่นั่นก็มีแสงสว่างในถ้ำมืดตื้อ หรือว่ากลางคืนไม่มีแสงเดือนแสงดาว ดับตะเกียงเสียให้หมด ก็เรียกว่ามีแสงสว่าง คือมีปัญญา มีวิชชา มีญาณอยู่ในจิตในใจของพระโยคาวจรนั้น นี้เรียกว่าแสงสว่างภาษาธรรม ทีนี้เปรียบกับ ความมืด ความมืดในภาษาคนธรรมดาหมายถึงมืดจนมองด้วยตาไม่เห็น มันมืดเหลือเกิน นี้เรียกว่าความมืดภาษาคน ส่วนความมืดในภาษาธรรมนั้นหมายถึงอวิชชา ความโง่ ความหลง โมหะนั่นแหละคือความมืด จับตัวไปนั่งอยู่กลางแดดมันก็ยังมืดอยู่นั่นเอง เพราะมันมืดด้วยอวิชชามืดด้วยโมหะ ความมืดภาษาคนกับความมืดภาษาธรรมต่างกันอย่างนี้ ทีนี้ก็ไปถึงคำว่า กรรม เมื่อชาวบ้านเขาพูดว่ากรรมแล้วโว้ย, ก็หมายความว่ามันแย่แล้วโว้ย, มีโชคร้าย มีผลบาปมาถึง นี่คำว่ากรรมในภาษาชาวบ้าน แต่กรรมในภาษาธรรมะนั่นหมายถึงสิ่งอื่น คือหมายถึงการกระทำ กระทำไม่ดีกระทำชั่วก็เรียกว่ากรรมดำ กระทำดีก็เรียกว่ากรรมขาว แล้วมีกรรมประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ดำไม่ขาวคือกรรมที่ทำให้สิ้นกรรมอีกต่อหนึ่ง ยิ่งฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าทำอย่างไร ก็คือเรื่องของความให้รู้ อนัตตาให้รู้สุญญตาจนไม่มีตัวตนนั่นแหละ ทำอย่างนั้นเรียกว่าเป็นกรรมในพระพุทธศาสนา กรรมที่แท้จริง กรรมที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอน ท่านอุตส่าห์สั่งสอนยิ่งกว่ากรรมไหนหมด แต่คนก็ไปสนใจกันเพียงเรื่องกรรมดำกรรมขาวคือกรรมดีกรรมชั่ว ไม่สนใจกันถึงกรรมที่ ๓ นี้ที่ไม่ดำไม่ขาว ไม่ดีไม่ชั่ว คือว่างจากตัวตนไปหมดและทำให้ลุถึงนิพพาน ให้สิ้นกรรมดำ ให้ ให้สิ้นกรรมดีกรรมชั่วโดยประการทั้งปวง เขาไม่เข้าใจว่าจะสิ้นกรรมได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะสิ้นกรรมได้ด้วยเพราะการทำกรรมให้ถูกตามวิธีของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ คืออริยมรรคนั่นเอง เมื่อใดประพฤติอริยมรรคโดยเฉพาะคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อนั้นชื่อว่าทำกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว แล้วจะเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง นี่คือกรรมในภาษาธรรมะ ไม่ใช่กรรมภาษาลูกเด็กๆว่าถึงกรรมแล้วโว้ย, เกือบแย่แล้ว โชคร้ายจริง นี่เรียกว่ากรรม นี้เป็นกรรมในภาษาคน ทีนี้คำว่า ที่พึ่ง หรือคำว่า สรณะ ที่พึ่ง ที่พึ่งหรือสรณะภาษาคนนั้นหมายถึงคนอื่น หมายถึงสิ่งอื่นที่อยู่นอกตัวที่จะเอามาเป็นที่พึ่ง เช่นพึ่งเจ้าพึ่งนาย ก็หมายถึงคนอื่นที่อยู่นอกตัวเรา พึ่งผีพึ่งศาล พึ่งจอมปลวก พึ่งศาลพระภูมิ พึ่งอะไรก็สุดแท้มันล้วนแต่เป็นสิ่งอื่นคนอื่นอยู่นอกตัวเรา นี้คือสรณะที่พึ่งในภาษาคน ส่วนสรณะที่พึ่งในภาษาธรรมนั้นหมายถึงตัวเอง อยู่ในตัวเอง แม้ว่าเราจะพูดว่าพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ ก็หมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่มีอยู่จริงในตัวเรา มีอยู่ในจิตใจของเราจึงจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ฉะนั้นมันจึงมีอยู่ในตัวเราหรือเป็นการกระทำของตัวเราที่ทำให้ขึ้น ให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นมาในจิตในใจของเรา ที่พึ่งหรือสรณะในภาษาธรรมนั้นคือตัวเอง อยู่ในตัวเอง ไม่ได้อยู่ข้างนอก ทีนี้ก็มาถึงคำว่า หัวใจของพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงหัวใจของพุทธศาสนาแล้วจะประหลาด มีเรื่องประหลาดๆ บางคนก็ท่องนั่นนี่ เช่นวิปะ วิสุปะ วินัย สุตตะ ปรมัตถะอะไรๆ วิสุปะ วิสุปะ วิสุปะ ว่าหัวใจพุทธศาสนา หัวใจพุทธศาสนาอย่างนี้มันภาษาคน คนโง่ คนไม่เห็นธรรม ท่องคาถาเป็นภาษาบาลีสองสามตัวเรียกว่าหัวใจพุทธศาสนาก็มีหรือท่องอย่างอื่นก็มี แต่หัวใจของพระพุทธศาสนาในภาษาธรรมตามแบบของพระพุทธเจ้านั้นคือความรู้ที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือของเรา ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีก็ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา นั่นคือหัวใจของพุทธศาสนาตามภาษาธรรมะหรือภาษาของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นใครอยากจะมีหัวใจของพุทธศาสนาก็ระวังให้ดี อย่าไปถือเอาหัวใจพุทธศาสนาตามภาษาคนหรือคนโง่ คนไม่เห็นธรรม คนไม่ถึงธรรมเข้าจะน่าหัว จะน่าหัวเราะเหมือนเด็กๆ ทั้งหมดเท่าที่แสดงมานี้ก็พอ ก็เรียกว่าพอที่จะช่วยให้ท่านทั้งหลายรู้จักเปรียบเทียบคำๆเดียวว่ามี ๒ความหมายอย่างไร ถ้าเป็นบัณฑิตมีสติปัญญาจะถือเอาได้ซึ่งอรรถทั้งสอง อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณหาติ ปณฺฑิโต บัณฑิตเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมถือเอาได้ซึ่งอรรถทั้งสอง อรรถทั้งสองในที่นี้อาตมาหมายถึงความหมายทั้งสองของคำทั้ง ๒ ประเภท ความหมายของคำทางภาษาคนนั้นอย่างหนึ่ง ความหมายของคำๆเดียวกันนั้นในทางภาษาธรรมะนั้นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นคนฉลาดจริงก็จะต้องถือเอาให้ได้ทั้ง ๒ อย่าง เหมือนตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวให้เห็นอย่างมากมาย แต่ว่าคำทั้งหลายที่ได้ยกมากล่าวแล้วข้างต้นนั้นเป็นภาษาที่สูงๆไป
ทีนี้เราจะมาพูดกันถึงภาษาต่ำๆดูบ้าง ขออภัยอย่าถือว่าเป็นคำโสกกะโดกหยาบคาย เช่นคำว่า กิน คำว่ากินในภาษาคนหมายถึงกินอาหารทางปาก เหมือนที่เราเรียกกันอยู่ว่ากินเข้าไป แต่คำว่ากินในภาษาธรรมะนั้นกินทางตา กินทางหู กินทางจมูก กินทางลิ้น กินทางกาย กินทางใจลองคิดดูว่าหมายถึงอะไรคำว่ากิน ตาเห็นรูป จมูก หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น นี้เรียกว่ากริน กินทางตา กินทางหู เป็นต้น อย่างนี้ท่านเรียกว่าภาษาธรรมะ เช่นคำว่า กามโภคี ผู้บริโภคกาม ใช้อยู่ทั่วไปในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่ากิน คำว่า บริโภคสตรี ฟังดูก็คงจะเป็นที่หัวเราะกันลั่นทีเดียวสำหรับคนไทยเรา แต่เป็นของธรรมดาที่สุดในภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต คำว่าบริโภคสตรีไม่ใช่หมายถึงจับผู้หญิงมาฆ่ามาแกงกิน แต่หมายถึงบุรุษเพศบริโภครสอันเกิดแต่สตรี อย่างนี้เรียกว่าบริโภคสตรี คำว่ากินในภาษาธรรมะหมายความอย่างนี้ ในภาษาบาลีถ้าพูดว่า นิพโพโก (นาทีที่ 01.02.13) คือไม่มีอะไรจะกินแล้ว ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ถูกปรุงแต่งด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์อีกต่อไป อยู่เหนืออำนาจการปรุงแต่งของสิ่งทั้ง ๖ นี้แล้วเรียกว่าคนไม่มีอะไรจะกิน จงรู้จักคำว่ากินในภาษาธรรมะให้กว้างขวางอย่างนี้ จะเข้าใจธรรมะอันลึกซึ้งได้โดยง่าย ทีนี้มาถึงคำว่า นอน นอนหลับนี่แหละ เราหมายถึงการนอน อย่างสุนัขนอนหมานอนแมวนอนนี้คือนอนภาษาคน นอนหลับภาษาคน แต่ถ้านอนหลับภาษาธรรมะหมายถึงเป็นอยู่ด้วยอวิชชา นั่งลืมตาอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ากำลังโง่แล้วเรียกว่าหลับอยู่ นี้คือหลับในภาษาธรรมะ การเป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ด้วยอวิชชาในอิริยาบถใดก็ตามเรียกว่าหลับ เอ้า, ทีนี้มาถึงการ ตื่น เราหมายถึงตื่นนอน แต่ในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยชาคริยานุโยค เป็นอยู่ด้วยสติปัฏฐาน ทั้งตื่นและทั้งหลับก็เรียกว่าตื่น ผู้เจริญสติปัฏฐานมีสติไม่ขาดตอน แม้หลับลงไปแล้วตื่นขึ้นมาด้วยสติอันนั้นอีก อย่างนี้เรียกว่ามีสติทั้งหลับทั้งตื่น เมื่อเขาตื่นอยู่ก็เรียกว่าตื่นอยู่ เมื่อเขาหลับอยู่ก็เรียกว่าเขาตื่นอยู่ นี่ตื่น ตื่นนอน ตื่นแล้วในภาษาธรรม ธรรมะ ทีนี้ถ้าพูดว่า เล่น ภาษาชาวบ้านภาษาคนก็หมายถึงเล่นอย่างเด็กๆเล่น เล่นกีฬา เล่นหัวสนุกสนานทำนองนั้นเรียกว่าเล่น แต่คำว่าเล่นในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงบันเทิงอยู่ด้วยธรรมะเป็นธรรมะบันเทิง แม้ที่สุดแต่เล่นอยู่ในความสุขของฌานของสมาธิก็เรียกว่าฌานกีฬา อย่างนี้ก็เป็นการเล่นของพระอริยเจ้าคำว่าเล่นในภาษาธรรมะหมายอย่างนี้ ทีนี้คำว่า นางฟ้า ภาษาคนก็หมายถึงนางฟ้าตัวสวยๆอยู่ในสวรรค์วิมานข้างบนนู้นเรียกว่านางฟ้า แต่นางฟ้าในภาษาธรรมะนี้กลับหมายถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยมากมักจะเล็งถึงปริยัติธรรม แต่โดยที่แท้แล้วต้องเล็งถึงธรรมะทั่วๆไปที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในเบื้องปลาย เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วในคำว่าพรหมจรรย์ นี้คือนางฟ้าในภาษาธรรมะ เป็นที่ต้องการเป็นที่ปรารถนาของสัตบุรุษในพระพุทธศาสนา แม้แต่คำว่านางฟ้าก็ยังมีความหมายแตกต่างกันอย่างนี้ ทีนี้เราลองพูดถึงคำว่า หญิง กับ ชาย ภาษาคนธรรมดาสามัญ ภาษาโลกๆก็หมายถึงเพศตรงกันข้ามเป็นหญิงเป็นชาย แต่ถ้าภาษาธรรมะก็หมายถึงนิมิตแห่งหน้าที่ที่ธรรมชาติกำหนดให้มนุษย์จะต้องร่วมมือกันกระทำ ไม่ใช่เรื่องการบริโภครสของกามคุณ แต่เล็งถึงการที่ว่ามนุษย์จะต้องอยู่ในโลก จะต้องไม่สูญพันธุ์ไป แปลว่ามนุษย์ยังไม่บรรลุถึงธรรมะสูงสุดคือนิพพานเพียงใด ยังจะต้องมีการสืบเชื้อสายเมื่อนั้น จึงต้องแบ่งแยกหน้าที่กันในระหว่างหญิงกับชาย หรือว่าเป็นหญิงเป็นชายแล้วก็ช่วยกันแบ่งภาระในหน้าที่การงานประจำวันที่เป็นการปฏิบัติธรรมให้เบาบางลงไป นิมิตแห่งหน้าที่ที่ธรรมชาติกำหนดให้อย่างนี้เป็นความ เรียกว่าเป็นหญิงเป็นชายในภาษาธรรมะ ไม่ใช่หญิงชายตามภาษาธรรมดา มีความหมายต่ำๆ เป็นไปตามสัญชาตญาณซึ่งสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น ไม่ควรจะนึกไป ไปเพียงเท่านั้นว่าความหมายของเพศหญิงเพศชายนี้มีความหมายเป็นนั้น ควรจะนึกถึงแต่เพียงว่าเครื่องหมายอันหนึ่งซึ่งเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันทำ ดังนั้นจะเลยพูดถึงคำว่า สมรส เสียเลยจะดีกว่า คำว่าสมรสแปลว่าการแต่งงานหรืออะไรก็ทำนองนั้นก็รู้กันดีอยู่แล้ว คำว่าสมรสในภาษาคนหมายถึงคนหญิงชายแต่งงานกันตามธรรมเนียมตามประเพณี สมรสนี้เป็นภาษาคน แต่คำว่าสมรสในภาษาบาลีหรือภาษาธรรมะนั้นเขาแปลว่ามีรสเสมอกันโดยธรรม คือมีความปรารถนามีความต้องการที่ถูกต้อง แล้วร่วมเป็นอันเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีกายสัมผัสระหว่างหญิงกับชาย ไม่ แม้ ไม่มีแม้แต่ว่าจะเขียนจดหมายถึงกันทางไปรษณีย์ก็ยังได้ คือโดยทางเนื้อทางหนังทางตัวบุคคลนั้นไม่ได้เคยแตะต้องกันเลยแต่ก็มีการสมรสได้ เพราะมีความปรารถนาอย่างเดียวกัน มีหน้าที่อย่างเดียวกัน มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน มีความยินดีพอใจอย่างเดียวกัน เช่นว่าต้องการจะพ้นทุกข์ด้วยกันอย่างแท้จริงใน ในหลัก ในหลักเกณฑ์อันเดียวกัน ต่างคนต่างพอใจในการปฏิบัติอันนั้นร่วมกัน หวังผลร่วมกัน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีรสเสมอกัน เป็นการสมรสในภาษาธรรมะหรือภาษาบาลีก็ตาม ภาษาตามทางธรรมมีความหมายที่บริสุทธิ์สะอาดอย่างนี้เสมอไป
ทีนี้มาถึงคำว่า พ่อแม่ ภาษาชาวโลกๆที่เราเรียกกันว่าพ่อว่าแม่ก็หมายถึงผู้ให้กำเนิดเกิดมา แต่ในภาษาธรรมะอันลึกลับนั้น พ่อหมายถึงอวิชชา แม่หมายถึงตัณหา ล้วนแต่ต้องฆ่าเสียให้ตาย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มาตรํ ปิตรํ หนฺตวา อกตญฺญูสิ พฺราหฺมณ เป็นต้น ว่าให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่เสีย แล้วเป็นคนอกตัญญูจึงจะถึงนิพพานอย่างนี้ พ่อผู้ให้กำเนิดคืออวิชชา แม่ผู้ให้กำเนิดคือตัณหา พ่อแม่ในภาษาธรรมะในชั้นสูงท่านเล็งความหมายกันอย่างนี้ กลายเป็นสิ่งที่ต้องฆ่าต้องทำลายเสีย แล้วจึงจะบรรลุถึงนิพพาน พ่อแม่ในภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาเด็กๆนั้นก็ ก็คือผู้ที่เรียกกันว่าพ่อแม่ พ่อแม่อยู่เป็นประจำวัน ทีนี้มาถึงคำว่า เพื่อน ภาษาชาวบ้าน ภาษาโลกๆนี้ก็เรียกว่าเพื่อน ว่าเกลอ ว่านั่นนี่กันตามที่ใช้กันอยู่เรียกว่าเพื่อน คือคนที่ทำอะไรถูกใจตนนี่แหละเรียกว่าเพื่อน แต่เพื่อนหรือสหายหรือมิตรในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือธรรมะที่ทำความพ้นทุกข์ให้ ระบุชื่อลงไปว่าอัษฎางคิกมรรคคืออัฎฐังคิกมรรค นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นกัลยาณมิตรอย่างยิ่งของคนทุกคน คำว่าเพื่อนในภาษาธรรมะหมายถึงอริยอัฎฐังคิกมรรค อริยอัฎฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ ประการ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ดังนี้เป็นต้น นี้คือเพื่อนในภาษาธรรมะ ทีนี้คำว่า ศัตรู ศัตรูภาษาโลก ภาษาคนก็คือคนที่เราเกลียดและต้องการที่ กำลังทำอันตรายเราเรียกว่า เรียกว่าศัตรู แต่คำว่าศัตรูในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงจิตใจของตัวเองที่ตนตั้งไว้ผิดๆ จิตใจของตัวเอง และตนเองนั่นแหละตั้งมันไว้ผิดๆ นั่นแหละคือศัตรู จิตที่เราตั้งไว้ผิดๆนั่นแหละคือศัตรู ไม่ใช่คนนอกตัวเรา ไม่ใช่คนที่อยู่นอกตัวเราเหมือนที่ไอ้ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าศัตรู นั้นมันศัตรูภาษาคน ศัตรูภาษาธรรมะนี้คือจิตที่ตั้งไว้ผิด เมื่อใดตั้งจิตไว้ผิดเมื่อนั้นมีศัตรูและเกิดอยู่ในใจ เกิดขึ้นในใจ เกิดจากจิตใจ มีศัตรูอยู่ในอกในใจ เมื่อใดจิตนั้นตั้งไว้ถูก ประกอบไปด้วยธรรมเมื่อนั้นไม่มีศัตรู มีมิตร คำสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือว่า ของเหม็นคาวเหม็นเน่า ปลาเน่าเป็นต้นเราเรียกกันว่าของเหม็นคาวของเน่าในภาษาคน ภาษาโลก แต่ของเน่าของเหม็นคาวในภาษาธรรมะนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสระบุถึงกิเลส เช่น อภิชชา ความอยากได้เกินประมาณ หรืออัสมิมานะ ความมีตัวมีตน ยกหูชูหางเป็นตัวกูของกูขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าของเหม็นคาว
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นคำธรรมดาที่สุดแล้ว ที่เอาเป็นตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นว่าภาษาคนกับภาษาธรรมะนั้นมันต่างกันอย่างไร เมื่อท่านทั้งหลายทบทวนดูแล้วก็จะเห็นได้ว่าไอ้นี่เองเป็นต้นเหตุ เป็นมูลเหตุที่ทำให้เราฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ฟังธรรมะชั้นสูงสุดที่เป็นปรมัตถ์ เป็นอภิธรรม เป็นขั้นลึกซึ้งนั้นไม่รู้เรื่อง เพราะว่าเราไม่เข้าใจภาษาธรรมะ เข้าใจแต่ภาษาคนอย่างเดียว ภาษาพระอริยเจ้าเราเข้าใจไม่ได้ ตัวอย่างเหมือนว่ามีพระพุทธภาษิตว่าการที่ หัวเราะ ร่วนไปอย่างนั้นก็เรียกว่าอาการของเด็กอ่อนนอนเบาะ คิดดูเถอะ เราก็ยังชอบหัวเราะร่วนกันอยู่นั่นเอง ทั้งที่เป็นอาการของเด็กอ่อนนอนเบาะ เราก็ไม่รู้จักละอาย เราชอบหัวเราะกันร่าเริงร่วนกันไป สรวลเสเฮฮากันไป ทำไมว่าหัวเราะมันอาการของเด็กนอนในเบาะ ก็คิดดูสิเด็กนอนในเบาะมันก็ยิ้มแหยอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าจะเป็นการหัวเราะภาษาอริยเจ้ากันบ้างแล้วก็ต้องหัวเราะเยาะสังขารที่มีไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ที่มีการเปลี่ยนแปลง เรารู้เท่าทันแล้วหัวเราะเยาะสังขาร หรือว่าหัวเราะเยาะกิเลสตัณหาว่าต่อไปนี้มันทำอะไรเราไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าหัวเราะ ที่ควรแก่คำว่าหัวเราะ ที่มีความหมาย ที่มีคุณค่า ที่มีประโยชน์ คำว่า ร้องเพลง การร้องเพลงเหมือนที่ร้องกันอยู่แซดไปหมดตามวิทยุนั่นคืออาการของเด็กร้องไห้ หรืออาการของคนร้องไห้ พระอริยเจ้าท่านจัดมันไว้ในฐานะเป็นอาการร้องไห้ เพราะต้องทำปาก ทำคอ ทำเสียง ทำลิ้นอะไรเหมือนกับการร้องไห้ แต่ถ้าจะเป็นการร้องเพลงจริงๆตามแบบของพระอริยเจ้าแล้วก็คือการเห็นธรรมะแล้วเปล่งอุทานอันสูงสุดออกมา เป็นการแสดงความจริงบ้าง เป็นการแสดงความพอใจในธรรมะบ้าง เป็นการบรรเลงในทางธรรมะออกมา หรือกล่าวอุทานเป็นธรรมะออกมา นี่จึงจะเป็นการร้องเพลงที่แท้จริง ทีนี้ก็มาถึง การเต้นรำ ที่นิยมกันมาก อุตส่าห์ไปหัดกัน ให้ใช้ลูกสาวลูกชายไปหัดกัน เสียเงินเสียทองเป็นอันมากนั้นมันคืออาการของคนบ้า พระอริยเจ้าเรียกการเต้นรำว่าอาการของคนบ้า ไปเปรียบเทียบเอาดูเองก็แล้วกันว่ามันเป็นอาการของคนบ้าอย่างไร ถ้าไม่บ้าแล้วมันคงลุกขึ้นเต้นไม่ได้ เคยคำนวณกันไว้ว่ามันต้องบ้ามากเกินกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์มันจึงจะหมดความละอายลุกขึ้นเต้นได้ จึงถือว่าการลุกขึ้นเต้นรำนี้เป็นอาการของคนบ้า แต่ถ้าจะเป็นการเต้นรำตามแบบของพระอริยเจ้าแล้วมันต้องหมายถึงธรรมนันทิ คือการลุกขึ้นเต้นรำเยาะเย้ยกิเลสหรือแสดงความหลุดพ้นแล้ว ไม่ติดบ่วงของอุปาทานทั้ง ๔ ที่เท้า ที่มือ ที่แขน ที่ขา ที่คอ เป็นมือเท้าแขนขาที่อิสระ รำฟ้อนอยู่ได้เพราะไม่ถูกอุปาทานผูกมัด นี่จึงจะเรียกได้ว่าเต้นรำตามแบบของพระอริยเจ้า คิดดูเถิดถ้าเรารู้กันแต่ภาษาคนคงไม่อาจจะฟังธรรมเหล่านี้เข้าใจ ผู้ที่มีปัญญาพูดว่านกไม่เห็นฟ้า คนโง่ๆก็ไม่เชื่อ ทำไมนกจะไม่เห็นฟ้าเพราะว่านกมันก็บินอยู่ในฟ้า คนมีปัญญาจะพูดว่าปลาไม่เห็นน้ำ คนโง่ๆก็ไม่เชื่อ ไม่เคยนึกว่าปลาอยู่ในน้ำนั้นไม่อาจจะเห็นน้ำเพราะมันถึงน้ำมันไม่รู้จักน้ำ หรือว่าไส้เดือนที่มุดอยู่แต่ในดินก็ไม่เห็นดิน หรือว่าหนอนที่จมอยู่ในคูต เกิดในคูต ตายในคูตก็ยังไม่เห็นคูต ในที่สุดคนนั่นเองไม่เห็นโลก คนที่นั่งนอนเดินยืนอยู่ในโลกนี่แหละไม่เห็นโลก เป็นผู้ไม่เห็นโลก ถ้าเป็นผู้เห็นโลกแล้วคงไม่จมอยู่ในโลก คงจะขึ้นมาเสียจากโลกมาอยู่กับธรรมะ เพราะคนจมมุดอยู่ในโลกเหมือนหนอนจมอยู่ในคูตจึงรู้แต่ภาษาคนไม่รู้ภาษาธรรม ไม่รู้ภาษาธรรมะเพราะมัวจมอยู่แต่ในโลก เหมือนหนอนจมอยู่ในคูต เหมือนไส้เดือนจมอยู่ในดิน เหมือนปลาจมอยู่ในน้ำ เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ดังนั้นคนจึงไม่รู้ภาษาธรรมะ คนรู้แต่ภาษาคน เลยฟังภาษาธรรมะไม่ถูก อาตมาจะยกตัวอย่างภาษาธรรมะอย่างรุนแรงมาให้ฟังเช่นว่าภาษาธรรมะจะพูดว่ายิ่งเดินจะยิ่งไม่ถึง คนธรรมดาก็ฟังไม่ถูก เพราะว่าการเดินนั้นมันหมายถึงว่ามันต้องการอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วมันก็เดินไปเที่ยวหา เดินไปจะเอาให้ได้ ยิ่งเดินมันก็ยิ่งไม่ถึงคือไม่ถึงความสงบไม่ถึงนิพพาน นิพพานจะถึงได้เพราะไม่ต้องการ เพราะไม่อยาก เพราะไม่หวัง เพราะไม่ปรารถนามันจึงไม่ต้องเดิน ไม่เดินมันจึงจะถึงนิพพาน ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง ยิ่งเอายิ่งไม่ได้ ยิ่งเอาคือว่ายิ่งมีตัณหาอยากเอานั่นเอานี่ เป็นนั่นเป็นนี่มันก็ยิ่งไม่ได้ พอหยุดเอาเสียเท่านั้นมันก็ได้เต็มที่ขึ้นมาทันที หรือภาษาธรรมะจะพูดว่าการส่งเสียงนี่จะไม่ดัง ไม่ส่งเสียงนั่นแหละจะดัง หมายความว่าถ้าเรามีสมาธิ มีความสงบ มีความระงับแล้วเสียงธรรมะจะดังขึ้นมาในจิตในใจ หรือจะพูดว่าสิ่งที่เอามาพูดได้นี้ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ของจริง สิ่งที่เป็นธรรมะแท้จริงเอามาพูดไม่ได้ ดังนั้นที่อาตมาพูดอยู่ตลอดเวลานี้ยังไม่ใช่ธรรมะ ยังไม่ใช่ของจริง เป็นแต่เสียงที่แสดงออกไปให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าจะไปถึงของจริงได้อย่างไรเท่านั้น ของจริงนั้นเอามาพูดไม่ได้ ยิ่งพูดเท่าไรยิ่งไม่เป็นของจริง พูดได้ก็แต่วิธีที่จะแนะจะบอกกันว่าทำอย่างไรจึงจะถึงของจริง ดังนั้นต้องเลิกพูดกัน
เป็นอันว่าจบเรื่องของการเปรียบเทียบในระหว่างภาษาคนกับภาษาธรรม และขอให้ท่านทั้งหลายเอาไปคิดไปนึกดูให้ดีว่ามันจริงตามที่อาตวา อาตมานึกหรือไม่ อาตมานึกว่าเดี๋ยวนี้เราฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา ฟังธรรมเทศนากันมาตั้งสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปีแล้วก็มี แต่ทำไมจึงฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นธรรม ไม่ถึงธรรม ที่ฟังไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องนี้ก็เพราะว่าฟังไม่ถูก ทำไมจึงฟังไม่ถูก ก็เพราะรู้แต่ภาษาคนไม่รู้ภาษาธรรมะ รู้ฟังแต่ภาษาคน ไม่รู้ฟังภาษาธรรมะ พอได้ยินภาษาธรรมะก็เอาภาษาคนเข้าไปจับ เหมือนที่คนโง่ๆเอาคำว่าความว่างในภาษาคน ไปจับกันเข้ากับภาษาธรรม เลยไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจแล้วก็พูดอะไรโง่ๆออกมาอีกมากมาย นี้คือโทษของการที่ไม่รู้ภาษาคนและภาษาธรรมะทั้ง ๒ อย่าง ถือว่าเป็นคนประมาท ยังไม่ใช่บัณฑิตเลย ไม่ตรงตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณหาติ ปณฺฑิโต บัณฑิตย่อมถือเอาซึ่งประโยชน์ทั้งหลายทั้งสองอย่างได้เป็นผู้ไม่ประมาท อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจตีติ คนฉลาดชื่อว่าเป็นบัณฑิต ก็เพราะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอรรถทั้งหลายทั้งปวง ดังวิสัชนามา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ตั้งแต่นาทีที่ 01:21:29 – 01: 21:50 ไม่ได้ถอดเสียง เป็นเสียงเงียบ จากนั้นท่านพุทธทาสพูดคุยต่อ
ถ้าฟังเทศน์วันนี้เข้าใจ การมาทัศนาจรคราวนี้ไม่ขาดทุน ทั้งที่ฝนตก ทำอะไรไม่ได้ พักผ่อนเสียหน่อยแล้วค่อยให้เขาฉายหนังให้ดูเพราะรู้ว่าหลายคนต้องการจะดูหนัง เรื่องในวัดเรา เรื่องในประเทศอินเดีย เรื่องการประชุม world fellowship ที่ญี่ปุ่น ก็พอ คงจะพอดีกับเวลา
ผู้ฟังถาม : เสียงเบามาก ฟังคำถามไม่ออก เลยไม่ได้ถอดเสียงคำถาม
ท่านพุทธทาสตอบ : เอ้า, ไม่ไหวแล้ว ถือแบบพวกเซน พวกนิกายเซนเขาไม่ยอมถาม แม้จะถามเขาไม่ยอมตอบ เอาไปคิดเอาเอง ไปตีให้แตกเอาเองแล้วก็แป๊บเดียวก็รู้เอาหมด เวลาเหลือน้อยแล้ว นี่ถึงกับแปดครึ่ง นี่ฉายหนัง ๔ ม้วนนี่จะไม่พอแล้ว เดี๋ยวง่วงนอนอีก