แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ในอภิลักขิตกาลเข้าพรรษา เป็นธรรมเนียมของพุทธบริษัท ที่จะประกอบพิธีแห่งวันเข้าพรรษาร่วมกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ความสำคัญของการเข้าพรรษานั้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่การกำหนดไว้ให้เป็นวันพิเศษสำหรับประพฤติปฏิบัติ หรือทำการศึกษา หรือการทำบุญให้ทาน เป็นต้น ให้มากเป็นพิเศษกว่าระยะเวลาอื่น
เหตุผลก็คงจะมีอยู่ตรงที่ว่าในระยะพรรษานี้มีความเหมาะสมนั่นเอง จะทำบุญให้ทานให้มากเป็นพิเศษก็เหมาะสม เพราะว่ามีสิ่งของหาได้ง่ายในฤดูนี้ จะทำการศึกษาก็เหมาะสม เพราะว่าฝนตกก็ไม่ควรจะท่องเที่ยวไปที่ไหน จะประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมาะสม อยู่ประจำที่ไม่แหกไปเที่ยว ณ ที่ไหน จะดินฟ้าอากาศก็ดี สำหรับผู้ที่จะปฏิบัติธรรมอยู่ประจำถิ่น
ด้วยเหตุเช่นนี้แหละ การเข้าพรรษาจึงมีความหมายมากกว่าที่ว่าถูกกักตัวอยู่ตลอดฤดูฝน แต่ว่าเป็นการถือเอาโอกาสประพฤติปฏิบัติ หรือศึกษาเล่าเรียน หรือทำบุญให้ทานให้มากเป็นพิเศษกว่าระยะกาลอันอื่นนั่นเอง นี้เรียกว่าการเข้าพรรษา เราจะได้เห็นพุทธบริษัทแต่ละคนก็ตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติกระทำให้สุดความสามารถของตน
เช่นว่าคนอยากจะละอะไรบ้าง ก็ถือเอาโอกาสแห่งการเข้าพรรษานี้ เป็นระยะเวลาสำหรับละ เช่น จะละการกินเหล้า ละการสูบบุหรี่ ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือไม่อยากจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มากเป็นพิเศษก็ดี หรืออยากจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มากเป็นพิเศษก็ดี ก็ล้วนแต่ถือเอาระยะกาลนี้ เป็นระยะกาลสำหรับฝึกฝนตนเองด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้นจึงหวังว่าท่านทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ก็จะได้มีความคิดความนึกเป็นพิเศษส่วนตน ที่ว่าจะกระทำอะไรให้ดีที่สุด ให้สุดความสามารถตลอดระยะเวลาพรรษาหนึ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะไม่เอ่ยปากบอกให้ใครทราบ ตนจะทราบของตนอยู่เพียงคนเดียวก็ยังได้ เพราะว่าเป็นผู้มีความซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่ต้องไปสัญญากับใครที่ไหน ก็ยังประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดได้
คนที่อ่อนแอเท่านั้น ที่ต้องไปสัญญากับคนนั้นคนนี้ หรือประกาศออกมาให้คนอื่นรู้ เพื่อเป็นเครื่องกำชับกำชาตนเองอีกต่อหนึ่ง แต่แม้กระนั้นก็ยังดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเสียเลย หวังว่าท่านทุกคนจะได้ถือเอาโอกาสแห่งการเข้าพรรษานี้ กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แปลกออกไป ให้มากออกไป หรือให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ดังนี้เป็นต้น
สำหรับเกี่ยวกับเวลานั้น ควรจะระลึกนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ ซึ่งมีใจความว่า เวลาย่อมกินสรรพสัตว์ กระทั่งตัวมันเอง ดังนี้เป็นต้น ไว้ด้วยกันทุกคน หมายความว่าเวลานั้นล่วงไป แต่เวลานั้นไม่ล่วงไปเปล่า มันกินตัวมันเองแล้ว มิหนำยังซ้ำกินสรรพสัตว์ด้วย หมายความว่าเวลาล่วงไปนั้นทำให้สรรพสัตว์ชำรุดทรุดโทรมลงไปด้วย คือความชราเกิดขึ้นมา และใกล้ต่อความตายเข้าไปในที่สุด ราวกับว่าความชรานั้นจับตัวสัตว์ทั้งหลาย ส่งยื่นไปให้แก่ความตายนั่นเอง
จงได้พิจารณาดูให้เห็นความจริงข้อนี้ แล้วกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปให้เหมาะสมกัน ถ้าใครจะมีความกล้าหาญมาก ก็จงคิดถึงกับว่าเราจะต่อสู้กับเวลา เราจะเอาชนะเวลาให้ได้ เมื่อมีใครพูดขึ้นอย่างนี้ บางคนก็จะหัวเราะเยาะ โดยเฉพาะก็คือคนเป็นอันมากที่ไม่รู้เรื่องเวลา และไม่รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถจะเอาชนะเวลาได้นั่นเอง
แต่ถ้าผู้ที่ได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า อันเป็นธรรมะในขั้นที่จะให้หลุดพ้นเหนือโลกแล้ว ก็ย่อมจะเห็นด้วย เพราะว่ามีหนทางอยู่ ที่สัตว์ทั้งหลายจะได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วจะเอาชนะเวลาได้ ทำให้เวลาไม่มีความหมายไป และทำให้ความแก่ชราหรือความตายหมดความหมายไปด้วยดังนี้
ถ้าใครมีความเข้าใจ มีความปรารถนา และมีความสามารถถึงขนาดนี้ ก็นับได้ว่าบุคคลนั้นเป็นพุทธบริษัทอยู่อย่างเต็มตัวทีเดียว เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ไม่เป็นพุทธบริษัทแต่เพียงปากว่า ไม่เป็นพุทธบริษัทที่ดีแต่ร้องตะโกนว่า พุทธัง สรณะ คัจฉามิ อย่างนกแก้วนกขุนทอง ตั้งแต่เกิดมาจนแก่ จนจะเน่าเข้าโลงไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเป็นนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้ธรรมะที่เป็นการเสียสละ ไม่รู้ธรรมะที่เป็นการถอนตนออกมาเสียจากความเวียนว่ายตายเกิด เพราะเป็นผู้มีวัตถุเป็นสรณะ มีเงิน มีทอง มีข้าว มีของ เป็นสรณะ เห็นสิ่งเหล่านี้ดีกว่าพระพุทธเจ้า ดีกว่าพระธรรม ดีกว่าพระสงฆ์ ไปเสียอีก ทั้งที่ปากก็ว่า นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ส่วนจิตใจนั้นนับถือวัตถุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลิน อย่างนี้ก็เป็นการเล่นตลกกับตัวเอง ทำลายตัวเอง แล้วจะไปเอาชนะเวลาได้อย่างไร
ผู้ที่จะเอาชนะเวลา หรือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ให้ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อตัวเอง แล้วยังจะต้องรู้ธรรมเห็นธรรมมากพอสมควรด้วย จึงเป็นการเพียงพอแล้วที่ทุกคนจะเป็นผู้ไม่ประมาณ ทุกคนจะต้องเป็นผู้ระลึกนึกให้ดี ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วไม่มัวประมาณอยู่ รีบพยายามที่จะทำการถอนตนให้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์ ถ้ามาระลึกนึกได้อย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นความสำคัญของวันเข้าพรรษา หรือเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มากให้ดีเป็นพิเศษ ในโอกาสแห่งการเข้าพรรษานี้ เพราะเป็นโอกาสอันสะดวก ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พิจารณาดูอีกต่อหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกันกับเวลาที่ว่ามันกินสรรพสัตว์พร้อมกันไปกับมันกินตัวมันเอง เราจะเอาชนะเวลานั้นได้อย่างไร ขอให้นึกต่อไปถึงข้อที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น หมายถึงธรรมชาติ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าเวลานี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง หรือเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เราจะต้องเอาธรรมชาตินั่นแหละ เป็นเครื่องแก้ธรรมชาติ สติปัญญาที่มนุษย์อบรมบ่มขึ้นมาก็เป็นธรรมชาติ แม้แต่มรรคผลนิพพานที่เป็นผลของการกระทำนั้นก็เป็นธรรมชาติ พระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่ดับเสียซึ่งความทุกข์ โดยที่ดับเสียซึ่งเหตุแห่งความทุกข์ การโง่เขลาจนตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวลาก็เรียกว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เพราะเป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดถึงความยึดมั่นถือมั่น จนเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ขึ้นมา
เมื่อเรามีความรู้ ก็หมายความว่าเรามีธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจมาก ที่จะกำจัดเสียซึ่งธรรมชาติบางอย่างตามสมควรแก่กฎของมัน เพราะเหตุเช่นนี้เอง ธรรมชาติส่วนที่เป็นธรรมะในขั้นสูงจึงสามารถที่จะกำจัดธรรมชาติมีกิเลสเป็นต้นได้ เราควรจะสนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมให้มาก โดยนัยยะดังที่กล่าวมานี้ว่า ตัวธรรมชาติล้วนๆ ก็คือธรรม กฎของธรรมชาติก็คือธรรม หน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติก็คือธรรม ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้จากการทำหน้าที่นั้นก็คือธรรมอีกเหมือนกัน รวมความแล้วใช้คำว่าธรรมเพียงคำเดียว ก็หมายถึงสิ่งทุกสิ่ง และสามารถจะแก้ปัญหาทุกสิ่งได้ในตัวมันเอง สิ่งที่ต้องสนใจกันให้มากที่สุด จึงได้แก่สิ่งที่เรียกว่าธรรม
เพราะฉะนั้นในพรรษานี้ ท่านทั้งหลายควรจะได้สนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าพรรษาที่แล้วมา เพื่อความก้าวหน้าของตนนั่นเอง ในพรรษานี้ก็มีการฟังธรรมตลอดพรรษา หรือมีการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนตลอดพรรษา หรือเมื่อประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่าสามารถที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมให้มากเป็นพิเศษจนตลอดกาลพรรษา
การที่อุตส่าห์ตักบาตรทุกวัน อย่างนี้ก็เป็นการประพฤติธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือช่วยกันบำรุงพระศาสนาไว้ และเป็นการกำจัดกิเลสของตน มีความตระหนี่เป็นต้น พร้อมกันไปในตัว นี้เป็นการส่งเสริมให้ธรรมมีอยู่ในโลกโดยตรง เราไม่สละสิ่งของออกไปเปล่า แต่เราสละสิ่งของออกไปเพื่อกำจัดกิเลสของเรา และเราไม่เพียงแต่กำจัดกิเลสของเราอย่างเดียว แต่เป็นการส่งเสริมให้ธรรมคงมีอยู่ในโลกนี้สืบตลอดไป ตลอดกาลนานด้วย จึงเป็นการได้ผลหลายอย่างในการกระทำซึ่งเป็นการให้ทานนั้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงได้พินิจพิจารณาดูให้ดีว่าไม่ว่าธรรมะข้อไหน ถ้าสนใจพิจารณาดูให้ดีแล้ว ย่อมมีทางที่จะทำให้เกิดผลอันไพศาลได้มากมายหลายประการ
ยกตัวอย่างดังเรื่องการให้ทาน การให้ทานนี้มันก็มีความหมายหลายๆ อย่าง แต่ความหมายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่จะกำจัดความตระหนี่ หรือความเห็นแก่ตัวของตัวเอง การให้ทานชนิดที่หวังว่าจะได้บุญตอบแทนมหาศาลตามที่ตนต้องการนั้น ระวังให้ดี บางทีอาจจะไม่เป็นการให้ทานก็ได้ เพราะเป็นเพียงการลงทุนชนิดหนึ่งไปเสียแล้ว เช่นสมมุติว่า ตักบาตรสักช้อนหนึ่ง แล้วก็จะได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องการลงทุน และเป็นการลงทุนที่หวังกำไรเกินควร ยิ่งกว่าเกินควรมากมายหลายร้อยหลายพันเท่า แต่คนขี้เหนียวเกินไปเขาก็ต้องหลอกให้ทำอย่างนี้ คนที่มีสติปัญญาหูตาสว่างแล้ว ไม่ควรจะถูกหลอกถึงขนาดนี้ ควรจะพิจารณาให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า สิ่งที่เรียกว่าการให้ทานนั้น มันมีดีอย่างไรที่ตรงไหน
ข้อแรกที่สุดก็ควรจะพิจารณาดูให้เห็นว่า ความทุกข์ของเราก็เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว ความทุกข์ร่วมกันในระหว่างคนจำนวนมาก หรือของสังคมนี้ ก็มีมูลมาจากความเห็นแก่ตัว เราจึงประกาศว่าความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นข้าศึกของเรา และทั้งของเพื่อนมนุษย์ของเราทั้งหมดทั้งสิ้นด้วย เราจะช่วยกันทำลายหรือกำจัดความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นวิธีใดที่เป็นการทำลาย หรือกำจัดความเห็นแก่ตัวแล้วเราจะต้องทำ
การให้ทานนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในการที่จะกำจัดหรือทำลายความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเราจะให้ทานด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัวเป็นที่มุ่งหมาย เหมือนอย่างว่าจะตักบาตรสักช้อนหนึ่ง ก็ต้องกำจัดความเห็นแก่ตัว ที่จะหวงไว้เพื่อตัวเห็นแก่ตัวข้างเดียว จะทำไปเพื่อเห็นแก่ผู้อื่นบ้าง เพราะว่าสิ่งที่ให้ไปนั้นยังเป็นประโยชน์แก่พระภิษุสงฆ์ และเป็นการกำจัดความเห็นแก่ตัว หรือความตระหนี่ของตัวพร้อมกันไปทีเดียว
ทีนี้การเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์เช่นนั้น มีผลงอกเงยไปถึงว่าจะช่วยกันสืบอายุพระศาสนานี้ไว้ ภิกษุสงฆ์นั้นสลัดเรื่องของบ้านเรือนออกไปเพื่อศึกษาประพฤติปฏิบัติ เป็นการสืบอายุพระศาสนาโดยตรง การที่ช่วยร่วมมือกันกับพระภิกษุสงฆ์ก็คือการช่วยกันสืบอายุพระศาสนา ดังนั้นการให้ทานแม้แต่ว่าตักบาตรสักช้อนหนึ่งก็ยังเป็นการช่วยกันสืบอายุพระศาสนาไว้ นี้เป็นการกระทำที่ให้ผลอย่างมหาศาล เพราะว่าการที่ทำให้ศาสนายังคงมีอยู่ในโลกนี้นั้น มันเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลกทีเดียว อย่าได้เห็นแก่ตัวตนเพียงคนเดียว ความเห็นแก่ตัวมันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที แต่ต้องเห็นแก่คนทั้งโลกด้วย จึงจะทำลายความเห็นแก่ตนดังนี้ คนจึงให้ทานด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ความเข้าใจถูกต้องและประกอบไปด้วยปัญญา
เมื่ออธิษฐานว่าในพรรษานี้จะบำเพ็ญทานให้ถึงที่สุดก็อาจจะทำได้ โดยไม่ให้บกพร่อง แม้แต่ประการใด ในที่สุดเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็จะมีผลถึงกับว่า เป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตัวได้อย่างแท้จริง หรือพอสมควรเลยทีเดียว และพร้อมกันนั้นก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น ด้วยการช่วยกันสืบอายุพระศาสนาไว้ ในที่สุดนิสัยจิตใจของบุคคลชนิดนี้ ก็จะน้อมไปเพื่อธรรมะอย่างสูงสุดได้ คือเป็นไปเพื่อหมดสิ้นความเห็นแก่ตัวได้ เพราะว่ามีธรรมะทั้งข้างนอกและข้างในช่วยกันแวดล้อมเข้ามา
ในภายในก็ทำลายความเห็นแก่ตัวอยู่เสมอ ในภายนอกนั้นความแพร่หลายของพระศาสนาก็ช่วยส่งเสริมการทำลายความเห็นแก่ตัวของคนทุกคนดังนี้ เราจัดให้มีอะไรๆที่เป็นธรรมะอยู่รอบด้าน เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวของคนทุกคน ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นมูลเหตุแห่งความเดือดร้อนนานาชนิด ถ้าความเห็นแก่ตัวตั้งรกรากมั่นคงแล้ว คนเราก็จะต้องทำสิ่งซึ่งเป็นความทุกข์แก่ตัวโดยไม่รู้สึกตัวเป็นแน่นอน พร้อมกันนั้นก็ทำบุคคลอื่นให้พลอยเดือดร้อนด้วย ในที่สุดก็เอาอย่างกันในทางที่จะแข่งขันกันเพื่อเห็นแก่ตัว จึงได้เกิดการเบียดเบียนกันอย่างใหญ่หลวง เพราะความเห็นแก่ตัวนั้น ความเห็นแก่ตัวนี่แหละทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสียไป สังคมไม่มีศีลธรรม ก็เพราะว่าความเห็นแก่ตัวเจริญขึ้นหนาแน่นในสังคมนั้น แต่ละคนๆ ไม่นับถือซึ่งกันและกัน เพราะมองเห็นอยู่ว่าแต่ละคนล้วนแต่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ธรรมะเสียเลย
จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แม้แต่เด็กๆก็รู้ว่าผู้ใหญ่บางคนหรือส่วนมากนั้นไม่น่าเคารพนับถือ เพราะมีความเห็นแก่ตัว จนกระทั่งว่าเด็กๆสมัยนี้ไม่รู้จะนับถือใครเสียแล้ว เหลียวไปทางไหนก็มีแต่คนเห็นแก่ตัว เด็กๆจึงพลอยเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นไปทุกที ทำอะไรที่เป็นการเสื่อมเสียศีลธรรมมากขึ้น เหลียวไปทางไหนก็ล้วนแต่มีคนเห็นแก่ตัว เด็กๆไม่รู้จะนับถือใคร ไม่รู้จะหันหน้าไปนับถือใคร หรือไว้ใจใครเพราะมีแต่คนเห็นแก่ตัว นี่แหละเป็นมูลเหตุอันแท้จริงแห่งการเสื่อมเสียทางศีลธรรมของยุวชน
ใครๆจะช่วยกันวิจัยวินิจฉัยมูลเหตุอันนี้อย่างไรก็ตามใจ อาตมารู้สึกว่ามูลเหตุแห่งความเสื่อมเสียทางศีลธรรมของยุวชนนั้น มันมีมูลเหตุมาจากการที่เด็กๆ เหล่านั้น ไม่รู้ว่าจะนับถือใคร จะหันหน้าไปทางไหนก็ไม่พบคนที่ควรจะนับถือ นับตั้งต้นตั้งแต่ครูบาอาจารย์ ซึ่งเคยเป็นที่นับถือกันมาแต่กาลก่อน ก็ชักจะย่อหย่อนลงไป มีลักษณะเป็นลูกจ้างสอนหนังสือมากขึ้นทุกที มีการกระทำที่ปรากฏออกมาว่าครูอาจารย์สมัยก่อนนั้น พอเลิกเวลาเรียนในโรงเรียนแล้ว ก็เรียกลูกศิษย์ของตัวที่บกพร่องอยู่นั้นมาสอนให้เป็นพิเศษ เพื่อให้ทันเพื่อนแล้วก็ไม่ได้คิดสตางค์ ส่วนครูสมัยนี้นั้นบังคับให้เด็กมาเรียนนอกเวลา เพื่อคิดเอาสตางค์เพิ่มขึ้นไปอีก แล้วเด็กๆนั้นจะนับถือครูว่าเป็นครูอย่างไร ก็จะต้องนับถือว่าเป็นครูนักธุรกิจเห็นแก่เงินเป็นใหญ่ เป็นไปในลักษณะที่จะบีบบังคับเอาเงินจากลูกศิษย์ อย่างนี้ก็ไม่นับถือ ถ้าครูเป็นอย่างนี้มากขึ้นเด็กก็หมดความนับถือครู
ทีนี้บิดามารดาก็เหมือนกัน ถ้าทำตนเป็นผู้เห็นแก่ตัว มันก็เพาะนิสัยเห็นแก่ตัวให้เด็ก แม้ว่าเด็กจำเป็นจะต้องรักบิดามารดา แต่ความนับถือที่แท้จริงนั้นไม่มี เพราะบิดามารดาทำอะไรที่เป็นการเห็นแก่ตัว ซึ่งเด็กก็รู้ว่านี้ไม่ถูกนี้ไม่เป็นธรรม ความจำเป็นบังคับให้รักบิดามารดาก็รักไปอย่างนั้นเอง หรือความจำเป็นบังคับให้ต้องขอเงินจากบิดามารดาใช้ ก็ขอบใจไปอย่างนั้นเอง แต่เนื้อแท้นั้นเด็กๆไม่ได้นับถือเสียแล้ว นี้เรียกว่าเด็กๆก็หมดที่นับถือแม้ในบิดามารดา ถ้าหากว่าบิดามารดาคนไหนทำตนเป็นผู้เหยียบย่ำกระทำ ไม่ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นผู้มีความเห็นแก่ตนแล้ว เด็กๆก็จะหมดความนับถือแม้แต่ในบุคคลที่เป็นบิดามารดา
ทีนี้จะเหลียวดูไปทางเจ้าใหญ่นายโต ก็ล้วนแต่เป็นคนเห็นแก่ตน เด็กๆก็ไม่นับถือ เด็กที่มีความคิดเป็นอิสระอย่างสมัยนี้จึงกล้าคิดไปในทางที่จะไม่นับถือใคร เพราะไม่มีใครที่น่านับถือ จึงเห็นแก่ตนเองเป็นใหญ่ ทำอะไรไปตามกิเลสตัณหาของตน ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมในหมู่ยุวชนก็เกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นปัญหายุ่งยากลำบากแก่สังคมอย่างยิ่ง
ท่านทั้งหลายจึงได้พิจารณาดูเถิดว่า การกระทำที่เป็นการเหยียบย่ำธรรมะนั้น จะมีผลร้ายแก่สังคมนั้นมากน้อยเพียงไหน ในที่สุดมนุษย์ก็จะไม่เป็นมนุษย์ จะกลายเป็นอะไรไปก็รู้ไม่ได้ ไม่มีคำจะเรียก แต่ไม่ใช่มนุษย์เสียแล้ว เพราะว่าไม่มีมนุษยธรรม หรือธรรมที่ทำความเป็นมนุษย์นั่นเอง ขอจงได้มองเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าธรรมให้มากขึ้น หรือให้ตรงตามที่เป็นจริง แล้วช่วยกันกระทำให้สิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ยังคงมีอยู่ในหมู่มนุษย์ในหมู่พวกเรา เพื่อจะเป็นเครื่องคุ้มครองมนุษย์ ให้มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์อยู่ โลกนี้จึงจะพอดูได้ จึงจะเป็นโลกที่น่าอยู่น่าอาศัยไปตามเดิม
ถ้าผิดจากนี้แล้ว โลกนี้ก็จะกลายเป็นนรก เป็นอบาย หรือเป็นอะไรไปในทำนองนั้นไปในเวลาอันสั้น เต็มไปด้วยความร้อน ความระส่ำระสาย ราวกับว่าทุกคนอยู่ในกองไฟ นี้คืออานิสงส์ของการที่ไม่เคารพธรรม ไม่เห็นความสำคัญของธรรม เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว เห็นแต่ประโยชน์ทางร่างกาย ทางเนื้อทางหนัง
เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ๓ อย่างนี้ระวังให้ดี ตัว ก. ๓ ก. คือ ก-กิน อย่างหนึ่ง ก-กาม อย่างหนึ่ง ก-เกียรติ อย่างหนึ่ง ซึ่งคนในสมัยนี้หลงใหลกันนัก นี่แหละคือมูลเหตุของการเห็นแก่ตัว ซึ่งนำมาซึ่งความเสื่อมเสียในทางศีลธรรม ใครเห็นแก่กิน ใครเห็นแก่กาม ใครเห็นแก่เกียรติ แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ต้องนำมาจาระไน ในที่นี้ให้เป็นเรื่องรกหูหรือรำคาญ
ควรจะเข้าใจกันได้แล้วว่า มันเป็นต้นเหตุของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง อย่างรุนแรง ถึงกับไม่ดูหน้าดูหลัง ไม่ดูผิดดูถูก ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่วอีกต่อไป เอาแต่ความต้องการของตนเป็นใหญ่ เพื่อที่จะได้กิน ได้กาม ได้เกียรติแล้ว ความเป็นมนุษย์จะเหลืออยู่ที่ตรงไหน ย่อมจะมีอะไรๆ ซึ่งไม่ใช่มนุษย์เกิดขึ้นมาเป็นแน่ เราจงระวังสิ่งทั้ง ๓ นี้ กันให้มาก ถ้าอย่างไรก็อธิษฐานจิตที่จะควบคุม แล้วจะบรรเทาลง ให้มีสิ่งอื่นซึ่งตรงกันข้ามเกิดขึ้นมาแทน สิ่งที่ว่านั้นก็คือ ๓ ส. คือ ความสะอาด ความสว่าง และความสงบ
ส-สะอาด ส-สว่าง ส-สงบ จำกัดชัดเจนลงไปเช่นนี้ นี่แหละเป็นสิ่งที่ควรจะทำให้มีขึ้นมา เพื่อจะกำจัดเสียสิ่งซึ่งอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบสุขของมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้น ถ้าถือเอาแต่ใจความแล้วก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ นั่นเอง เป็นธรรมที่ควรปรารถนา และจำปรารถนาสำหรับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง นี้คือเป็นธรรมที่เป็นฝ่ายขาว คือธรรมที่เป็นฝ่ายถูก ธรรมที่เป็นฝ่ายดับทุกข์
ส่วนธรรมดำ ธรรมที่เพิ่มความทุกข์นั้น ตรงกันข้าม คือเรื่องเห็นแก่กิน แก่กาม แก่เกียรติ ดังที่กล่าวแล้ว จงละธรรมดำเสียแล้วจงเจริญธรรมขาว ตามที่สัตตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานได้สั่งสอนไว้ จึงจะเรียกว่าประพฤติธรรม สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมีทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาวเช่นนี้ เราก็เกี่ยวข้องกับมันก็ด้วยการละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว ให้เป็นไปแต่ในทางที่จะก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปจนอยู่เหนือทั้งธรรมดำและธรรมขาว เป็นธรรมที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งความดำความขาว นั้นคือยอดสุดแห่งธรรมที่เรามักจะเรียกกันว่านิพพาน
ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องดำเรื่องขาวอยู่เพียงไรแล้ว ยังไม่ใช่ความสิ้นสุด ยังไม่ถึงที่สุดแห่งปัญหายุ่งยากลำบาก แต่ถ้าอยู่เหนือความดำหรือความขาวแล้ว ก็นับว่าสิ้นสุดของปัญหาแห่งความยุ่งยากลำบาก เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าดำหรือขาวนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ต่อเมื่อไม่มีความยึดถือแล้วจึงจะหมดความดำหรือความขาว จิตจึงสงบเต็มที่ถึงที่สุด ไม่ต้องการอะไรทั้งดำและขาว เมื่อเราไม่ต้องการอะไรแล้ว สิ่งที่เรียกว่าเวลาก็หมดค่าไปทันที เวลามีค่าสำหรับคนที่ยังต้องการอะไร เวลาไม่มีความหมายสำหรับคนที่ไม่ต้องการอะไร
อย่างพระอรหันต์ไม่ต้องการอะไร เวลาก็ไม่มีความหมาย ความเป็นอยู่หรือความตายก็ไม่มีความหมายสำหรับพระอรหันต์ผู้อยู่เหนืออำนาจของเวลา นี้เรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของปัญหา ที่มนุษย์จะต้องแก้ไขหรือสะสาง มนุษย์เกิดมาเพื่อต่อสู้จนกว่าจะมีชัยชนะ แล้วก็ควรรู้กันต่อไปว่าชนะอะไร ชนะที่แท้จริงต้องชนะสิ่งที่เป็นภัยอันใหญ่หลวง สิ่งที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงก็คือความทุกข์ ความทุกข์มีมาจากการตกอยู่ใต้อำนาจของเวลาเป็นต้น เราเอาชนะเวลาให้ได้ ด้วยการทำตนให้เป็นผู้อยู่เหนือความต้องการสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เวลาก็หมดความหมายไปเอง
นี่แหละคือข้อที่ว่าพระอรหันต์นั้นอยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พูดแล้วก็เข้าใจอยากเพราะว่าท่านก็ยังเป็นคนอยู่ ยังต้องกินอาหาร ยังมีการเจ็บไข้ และจะต้องตายลง ในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่แล้วก็มาพูดว่าพระอรหันต์นั้นอยู่เหนือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย (นาทีที่ 32.13) แต่ไปโดยประการทั้งปวงแล้ว ข้อนี้ก็หมายถึงการที่ใจของท่านอยู่เหนือความบีบคั้นของสิ่งเหล่านั้น ความเกิดก็บีบคั้นจิตใจของท่านไม่ได้ ความแก่ก็บีบคั้นจิตใจท่านไม่ได้ ความเจ็บไข้ก็บีบคั้นจิตใจท่านไม่ได้ ความตายก็บีบคั้นจิตใจท่านไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าอยู่เหนืออำนาจบีบคั้นของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เวลาก็ไม่ทำอะไรให้ท่านเดือดเนื้อร้อนใจได้เพราะท่านไม่ต้องการอะไร ไม่มีอะไรที่ต้องการถึงขนาดที่ทำให้เดือดร้อนเพราะผิดพลาดเวลา ไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วงวิตกกังวลในเรื่องอันเกี่ยวกับเวลา นี้เรียกว่าเป็นผู้มีชัยชนะเหนือเวลา พร้อมกันไปกับมีชัยชนะเหนือความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นต้นดังนี้ รวมความแล้วก็คือการชนะกิเลสนั่นเอง เป็นผู้ชนะกิเสสแล้วก็ย่อมชนะทุกๆสิ่งไม่ว่าอะไร
การชนะกิเลสนั้น ส่วนใหญ่มาอยู่ตรงที่ชนะความยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวมีตน หรือเป็นของของตน อันเป็นความรู้สึกที่ทำให้เห็นแก่ตน ซึ่งเป็นปัญหายุ่งยากลำบากของมนุษย์เรา ถ้าหมดความเห็นแก่ตนแล้ว ความทุกข์ก็ไม่ได้มีเหลืออยู่เลย เดี๋ยวนี้ยังต้องเห็นแก่ตนกันอยู่ ก็ขอให้เห็นอยู่ในกรอบ ในขอบ ในขอบเขต ชนิดที่อย่าให้ต้องเป็นทุกข์ยากลำบาก หรือกระทบกระทั่งผู้ใด ให้มันมากมายเกินไป ให้เป็นไปแต่ในทางที่จะพอทนได้ แล้วก็ถือโอกาสนั้นขัดเกลามันให้หมดสิ้นไปในที่สุด นี้เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน คือคนที่ดีมีหวังที่จะไปสู่จุดหมายปลายทาง มีพระนิพพานเป็นต้นได้ ทำให้เราเห็นต่อไปเป็นลำดับว่า การที่เกิดมานี้ไม่ใช่เพื่ออะไรเลย แต่ว่าเกิดมาเพื่อถึงจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะไปถึงให้ได้
ลองใช้สติปัญญาอย่างอิสระของตัวเองพิจารณาดูเองว่า อะไรหนอจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะถึงให้ได้ เด็กๆคงจะพูดแต่เรื่องกิน คนที่หลงใหลในเรื่องกามก็คงจะพูดแต่เรื่องกาม คนแก่คนเฒ่าที่หลงใหลในเรื่องเกียรติก็คงจะพูดแต่เรื่องเกียรติ ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะถึงให้ได้ นี้ก็มีลักษณะเหมือนกับสัตว์ตัวเล็กๆที่รู้อะไรน้อยเกินไป เช่นเราจะพูดว่าลูกเขียดตัวน้อยๆก็จะรู้จักโลกนี้แต่เพียงในหลุมแห่งรอยวัวรอยควายเป็นต้นเท่านั้นเอง ว่าเป็นทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของตน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของตน สติปัญญาถูกจำกัดเขตอยู่เพียงเท่านี้ก็นึกไปได้เพียงเท่านี้ นี้เป็นโทษของการที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า ตามที่ได้นำมาสอนสืบๆกันมาแล้ว คงจะรู้อะไรได้มากกว่านั้น ว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์นั้นมิได้มีอยู่เพียง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ แต่คงจะเลยออกไปกว่านั้นหรือสูงไปกว่านั้น จนกระทั่งไปจนถึงเรื่องความสะอาด สว่าง สงบ เพราะเราก็เห็นๆกันอยู่ว่าคนที่มัวเมาหลงใหลในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นั้นไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าสัตว์เดรัจฉานเลย
สัตว์เดรัจฉานก็หลงใหลในเรื่องกิน หลงใหลในเรื่องกาม หลงใหลในเรื่องเกียรติ บางทีจะยิ่งกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำไป ดูแต่ไก่ ดูแต่ปลา ปลากัดที่กัดกันจนตายไม่ยอมแพ้นี่ก็เพราะ อัสสมิมานะ เห็นแก่ตน และเห็นแก่เกียรติ คนยังจะวิ่งหนีเปิดไปเสียก่อนแต่ที่จะต้องตายด้วยซ้ำไป จึงควรจะกล่าวว่าในเรื่องทำนองนี้แล้ว คนยังสู้สัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆเช่นปลากัด หรือไก่ชนก็ไม่ได้ ที่รู้จักสู้จนตายไม่ยอมหนี แล้วคนจะมาอวดดีอะไรมากไปถึงไหนเล่า ควรจะพิจารณาดูสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ว่ามันมีความหมายอย่างไร มันมีคุณค่าเท่าไร มนุษย์ควรจะได้อะไร ในฐานะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ตอบตัดบทสั้นๆอย่างกำปั้นทุบดินเสียเลยว่า มันก็ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดกว่าที่มนุษย์ กว่าที่สัตว์เดรัจฉานก็ได้รับ มนุษย์ต้องได้สิ่งที่ดีกว่าที่สัตว์เดรัจฉานได้รับ ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องสูงไปกว่าเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง
มันจึงเลยมาถึงเรื่องความสะอาด ความสว่าง และความสงบ ซึ่งเป็นธรรมะในขั้นสูง ความสะอาด สว่าง สงบ ในอันดับนี้ก็คือจิตใจที่ชนะแล้ว อยู่เหนือเวลา อยู่เหนือความอยากความต้องการ โดยประการทั้งปวงนั้น ถ้ายังพ่ายแพ้แก่เวลา ยังต้องการอะไรอยู่แล้ว มันสะอาด สว่าง สงบไปไม่ได้ มันจะสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุดไปไม่ได้ ถ้าจะสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุดได้มันก็ต้องชนะ หรืออยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ นี่แหละเราจึงหันหน้ามาสนใจกับสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างความสูงให้แก่มนุษย์ ให้สมตามที่เป็นมนุษย์ ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั่นเอง อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์เลย เมื่อมีความต้องการหรือมีวัตถุที่ประสงค์อย่างนี้แล้ว คนก็สนใจเรื่องธรรม ให้เป็นผู้มีธรรมนั่นแหละเป็นตน อย่าได้มีกิเลสเป็นตนอีกต่อไป ให้สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า ธรรมะ ฑีปา ธรรมะ สะระณา เธอทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะเถิด อัตฑีปา อัตสะระณา นั่นแหละจึงจะชื่อว่ามีตนเป็นที่พึ่ง และมีตนเป็นสรณะ
คำว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะนั้น มิได้หมายความว่าเอาตามใจตนตามที่ตนต้องการ เพราะถ้าเอาที่ใจตนต้องการแล้วมัน กลายเป็นมีกิเลสเป็นที่พึ่ง กิเลสเป็นสรณะ นั้นมันเป็นตนของกิเลส ถ้าจะให้เป็นตนที่แท้จริง ที่ควรจะเรียกว่าเป็นตัวตนจริงแล้ว ก็ควรจะเรียกธรรมะนั่นแหละว่าเป็นตัวตน ให้เป็นตัวตนที่ธรรมะ หรือถือธรรมะเป็นตัวตนจึงจะได้ที่พึ่งหรือสรณะที่แท้จริง อย่าได้เอาความสำคัญว่าตัวกูว่าของกูนั้นขึ้นมาเป็นตนเลย ตนในทำนองนั้นเป็นตนของกิเลส เป็นตนปลอม ไม่มีตัวตนจริงที่ไหน แต่ถ้าเอาธรรมะเป็นตัวตนแล้วก็พอจะเป็นตัวตนได้สมชื่อ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร แน่นอน เด็ดขาดดังที่ได้บรรยายมาแล้ว และไม่แต่และเป็นหนทางที่จะให้ชนะกิเลสได้ ให้ชนะการครอบงำ ชนะความครอบงำของเวลา หรือความต้องการต่างๆ ได้
การรู้ธรรมะนั้น ก็คือรู้ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราหรือเป็นของของเรา เมื่อไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดด้วยความเป็นตัวเราของเราแล้ว จิตใจก็เป็นอิสระ และเป็นจิตใจที่คงที่ ถือว่าจิตใจนั้นประกอบไปด้วยธรรมะอย่างสูงสุด ดังนั้นในจิตใจนั้นจึงมีธรรมะนั้นเป็นตัวตนของมัน จึงได้ชื่อว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ หรือว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่างถูกต้องแท้จริง
ระวังคำว่าตนๆนี้ให้ดีๆ ตนคำหนึ่งมันหมายถึงความรู้สึกของกิเลส ตนที่แท้จริงนั้นควรจะเป็นตัวธรรมะ อะไรที่เป็นตัวธรรมะแท้ ธรรมะที่เป็นไปเพื่อความดับเสียซึ่งทุกข์แล้ว ตนนั่นแหละจะเป็นตนที่เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ หรือเอาตนนั้น เอาธรรมะนั้นเป็นตน หรือเอาตนเป็นธรรมะกันก็ที่ตรงนี้เอง
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา เราสนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมมากยิ่งขึ้นเพียงไร ก็เท่ากับว่าเราสนใจสิ่งที่เรียกว่าตนที่แท้จริงมากขึ้นเพียงนั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นการเสียเปล่าในการที่ท่านทั้งหลายจะสนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ให้มากขึ้นในระยะกาลอันเป็นพรรษา คือการเข้าพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนนี้
ดูอีกทีหนึ่งก็เหมือนกับทำตนให้เป็นตนขึ้นมา ให้จริงๆขึ้นมา เป็นของจริงยิ่งๆขึ้นมา หรือว่าชำระชะล้างตน ที่สกปรกเศร้าหมองนั้นให้มันสะอาดขึ้น ให้มันเป็นตนที่สะอาดขึ้นมา หรือว่าให้ละความเป็นธรรมดำ ค่อยๆ กลายมาเป็นธรรมขาว แต่ในที่สุดก็จะละเสียซึ่งธรรมโดยประการทั้งปวง นี้เรียกว่าเป็นการทำให้สูงขึ้นมาหรือเป็นการชำระชะล้างยิ่งๆ ขึ้นมา
แล้วก็จะได้อะไร ลองคิดดูเองเถิด ก็คงจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงที่สุด ที่ประเสริฐที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้เป็นแน่นอน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา เพราะเหตุนี้ความเป็นเช่นนี้ก็คือความไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความร้อนเลย กลายเป็นได้นิพพานสมตามความมุ่งหมาย ของการเวียนว่ายมาในวัฏสงสาร
ฟังดูให้ดีๆว่าการที่เราเวียนว่ายมาในวัฏสงสารนี้ ไม่ใช่ว่าเพื่อจะจมอยู่ในวัฏสงสาร แต่เวียนว่ายมาเพื่อให้ถึงฝั่งถึงตลิ่ง คือสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั่นเอง เราทนทรมานอยู่ในความทุกข์ร้อนก็เพื่อให้สิ้นสุดลงจากความทุกข์ร้อนเป็นความเย็น การที่ความร้อนสิ้นสุดลงนี้เขาเรียกว่านิพพานมาแต่โบราณกาล ซึ่งอยากจะขอย้ำไว้ในที่นี้อีกว่า คำพูดในทางศาสนาที่มีใช้อยู่ในทางธรรมนั้น มาจากคำพูดของชาวบ้านตามธรรมดาด้วยกันทั้งนั้น เช่นคำว่าพระพุทธเจ้า ลองคิดดูเถิดว่าหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่า คนรู้ คนตื่นนอน และคนเบิกบาน
คำว่า รู้ นี้เป็นคำธรรมดามาก่อน ยังไม่หมายถึงว่ารู้อริยสัจ หรือรู้ธรรมะทำนองนั้น แต่ว่าหมายถึง รู้ถึงสิ่งที่ควรรู้ก็แล้วกัน ถ้าใครเป็นคนไม่รู้ก็เป็นคนโง่ ดังนั้นคนที่รู้นี้เป็นคนที่น่าสนใจ คำว่ารู้ จึงมีค่ามีความหมายขึ้นมา เรียกว่าเป็นคนรู้ ตรงกันข้ามจากคนที่ไม่รู้ แต่มนุษย์ยังมีอาการชนิดหนึ่งซึ่งสังเกตเห็นแล้วก็จะรู้สึกว่ามันพิเศษอยู่บ้าง คือคนตื่นนอน ถ้าคนคนใดคนหนึ่งนอนไม่หลับ เอ้อ... นอนหลับไม่ตื่นก็คือ คนตายเลย หรือว่าคนที่ไม่รู้จักตื่นนั้น ก็คือคนที่มองไม่เห็นอะไร มันก็คือคนไม่รู้อีกเหมือนกัน เรานอนหลับตาเรื่อยไม่ตื่น มันก็คือคนไม่รู้ ฉะนั้นเราจึงนับถือคนที่รู้จักตื่น รู้จักตื่นนอนไม่หลับอยู่เรื่อย นี้ก็เป็นธรรมธรรมหนึ่ง คือคนตื่นนอน ตื่นจากความโง่
อีกคำหนึ่งก็ว่า ความเบิกบาน หรือคนเบิกบาน เราดูดอกไม้ที่มันบานมันน่าดู ดอกไม้ที่ไม่บานมันไม่น่าดู ความเบิกบานนี้น่าดู เราจึงสนใจในคำว่าเบิกบาน เราพอใจในคนที่เบิกบาน แล้วต้องเป็นการเบิกบานกันจริงๆ เมื่อคำว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน เป็นภาษาชาวบ้านอยู่ก่อนดังนี้ เป็นไปแต่ในทางร่างกายทางวัตถุก่อน ต่อมามีผู้รู้เรื่องทางจิตใจ มองเห็นอะไรบางอย่างที่มันเป็นความรู้ยิ่งกว่านั้น ที่เป็นความตื่นยิ่งกว่านั้น เป็นความเบิกบานยิ่งกว่านั้น แต่ก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี จึงเอาคำเดิมๆ นั่นแหละมาเรียกอีกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
แต่ความหมายมันสูงขึ้นมาถึงขนาดเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ไม่ใช่รู้ทำมาหากิน คือรู้หาอะไรๆ เรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ เหมือนคนธรรมดา แต่รู้ธรรมะขั้นสูงสุดที่จะดับทุกข์ทั้งสิ้นได้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นนอน แต่ไม่ใช่ตื่นนอนจากเตียง หรือจากฟูก จากหมอน แต่เป็นการตื่นนอนจากความหลับด้วยอวิชชา เป็นผู้ทำลายอวิชชาเสียได้ จึงกลายเป็นผู้ตื่นนอน และพระพุทธเจ้าเป็นผู้เบิกบาน เพราะไม่มีกิเลสครอบงำย่ำยี ท่านจึงเป็นผู้เบิกบาน
เราจึงเห็นได้ว่า คำว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบานนี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงอย่างเดียว เหมือนที่รู้ที่เข้าใจกันอยู่แต่ก่อน มีความหมายชั้นพิเศษสูงสุดอยู่อีกระดับหนึ่ง ดังนี้จะเห็นได้ว่าคำพูดนั้นแม้เป็นคำคำเดียว แต่มีความหมายเป็นชั้นๆอยู่หลายชั้นนั่นเอง จึงจัดว่าเป็นคำพูดตามภาษาโลกนั้นอย่างหนึ่ง คำพูดตามภาษาธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง
ที่นี้คำที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ก็เช่นคำว่าหนทาง พระธรรมหรือ พระศาสนานี้เป็นหนทาง ผู้ที่รู้จักทางคือรู้จักธรรม หรือรู้จักศาสนา มีศาสนาหลายๆศาสนาที่ไปใช้คำว่าหนทางให้เป็นชื่อของระบบคำสอนและการปฏิบัติในศาสนานั้น เช่นพุทธศาสนาก็มีคำว่ามรรค หรืออริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อพรหมจรรย์ในศาสนานี้ คำว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นที่คุ้นเคยแก่ท่านทั้งหลายดีอยู่แล้ว ศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นต้น ก็ใช้คำว่าทางนี้เหมือนกัน แม้ที่สุดแต่ศาสนาเต๋าของเล่าจื๊อ คำว่า เต๋า นั้นก็ยังแปลว่าทาง นี้ทำให้เราเห็นได้ว่ามนุษย์นี้เพ่งเล็งอะไรด้วยสติปัญญาตามธรรมชาติแล้ว ย่อมจะเห็นตรงๆกันหมด คือเห็นความสำคัญของคำว่าทาง เห็นชัดว่าหนทางนี้มีความสำคัญ เพราะว่าเป็นที่ไป เป็นทางไปจากสิ่งที่ไม่ต้องการไปสู่สิ่งที่ต้องการ
คำว่าทาง จึงมีความหมายมากกว่าที่จะเป็นเพียงหนทางสำหรับสัตว์เดินหรือคนเดิน แต่ว่าเป็นหนทางสำหรับจิตใจเดิน เดินจากความต่ำไปสู่ความสูง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าทางนั้นจึงหมายถึงธรรมะระบบหนึ่งสำหรับคนจะเดินไปสู่ความดับทุกข์ นี้เรียกว่าในฝ่ายที่เรานับถือเทิดทูนบูชากันนั้นก็ยังใช้คำคำนี้ซึ่งเป็นคำธรรมดาที่ชาวบ้านเขาพูดกันอยู่แต่ก่อน แล้วยืมเอามาใช้ให้เป็นคำที่มีความหมายสูงขึ้นไป
คำว่านิพพานก็อย่างเดียวกัน ถ้าท่านทั้งหลายบางคนยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เรื่องมาก่อนก็จงรู้เรื่องเสียเดี๋ยวนี้ว่าคำว่า นิพพาน นั้นก็เป็นคำธรรมดาของชาวบ้าน เป็นคำที่ชาวบ้านเขาพูดกันอยู่ก่อน แล้วเพิ่งมากลายเป็นคำของศาสนาที่มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ว่าสูงกว่ากันคนละระดับ เหมือนกับคำว่ารู้ ว่าตื่นนอน ว่าเบิกบาน หรือคำว่าทาง ในตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วมาให้เห็นแล้ว
คำว่านิพพานนี้แปลว่าดับเย็น หมายถึงกริยาที่ของร้อนๆเย็นลง เมื่อคำคำนี้ยังเป็นภาษาชาวบ้านมาแต่ก่อนมาแต่กาลโบราณนั้น ก็หมายความว่าอะไรที่ร้อนและเย็นลง ก็เรียกว่านิพพานหมด เช่น ถ่ายไฟลุกแดง พอมันเย็นลงเป็นสีดำก็เรียกว่ามันนิพพานแล้ว จับได้ จับเล่นได้ หรือว่าข้าวต้มเทออกมาจากหม้อยังร้อนอยู่กินไม่ได้ ต้องรอให้มันนิพพานเสียก่อนจึงจะกินได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ดังนั้นคำว่านิพพานก็คือคำที่ใช้พูดอยู่ตามบ้านตามเรือน กระทั่งในครัว แม้แต่เด็กเล็กๆก็พูดคำคำนี้เป็นว่าต้องรอให้มันนิพพานเสียก่อนจึงกินได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้ความหมายของคำว่านิพพานในอันดับแรก
ต่อมาความหมายของคำว่านิพพานนี้หมายถึงดับเย็นแห่งสิ่งที่เป็นโทษร้าย อย่างว่าคนนี้เป็นอันธพาล ถ้าฝึกให้หมดความเป็นอันธพาลก็เรียกว่าคนนี้นิพพานด้วยเหมือนกัน หรือว่าสัตว์เดรัจฉานที่จับมาจากป่ายังมีความดุร้ายมาก เอาฝึกแล้วฝึกอีกจนหมดความดุร้าย หรือหมดพยศร้ายแล้วก็เรียกว่าสัตว์เดรัจฉานนั้นนิพพานแล้วเหมือนกัน นิพพานสำหรับสัตว์เดรัจฉานเป็นอย่างนี้ นิพพานสำหรับคนที่เป็นโจรเป็นอันธพาลมีความหมายเป็นอย่างนี้ นี้ก็ได้ใช้คำว่านิพพานพูดกันอยู่ในความหมายอย่างนี้
ที่นี้ต่อมาคำว่า นิพพาน หรือความเย็นนั้น ใช้สูงขึ้นไปอีกถึงเย็นใจโดยตรง สิ่งใดเป็นเครื่องทำความเย็นใจได้ สิ่งนั้นก็เรียกกันใหม่ก็เรียกกันว่านิพพานไปตามเดิม แต่มีความหมายอันใหม่ ครั้นมาถึงตอนนี้ คำว่านิพพานก็มาเป็นเรื่องเย็นใจ ดับความใคร่ ความกระหาย แห่งใจเสียได้ก็เรียกว่านิพพานหมด
ในขั้นแรกทีเดียว สิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ที่เต็มเปี่ยมนั้นถูกนำมาใช้เรียกว่านิพพาน เพราะว่ากามารมณ์ที่เต็มเปี่ยมนั้น ดับความใคร่ความกระหายที่เป็นความร้อนใจได้ เรียกกามารมณ์ที่สมบูรณ์ว่าเป็นนิพพานอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเห็นว่านี้ผิดเสียแล้วเพราะมารู้จักสิ่งที่สูงขึ้นไปกว่า คือความเย็นใจที่เกิดมาจากสมาธิ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ เป็นต้น ก็เลยเรียกว่านิพพานที่แท้จริงอยู่ที่ตรงนี้เอง ดังมีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ว่า จตุตถฌาน เรียกว่านิพพาน ดังนี้เป็นต้น
ต่อมาความรู้ของมนุษย์สูงขึ้นไปอีกจนกระทั่ง พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็มองเห็นว่านั่นยังไม่ใช่นิพพาน นิพพานอย่างนี้เราไม่เอา จึงได้ทรงค้นหานิพพานที่ดีกว่านั้นที่สูงกว่านั้น จึงได้มาพบที่ความหมดไปแห่งกิเลส ความสิ้นไปแห่งกิเลส ซึ่งเป็นไฟ จึงเป็นนิพพานในอันดับสุดท้าย ท่านทั้งหลายลองเปรียบดูเถิดว่านิพพานนี้มีอยู่เป็นกลุ่มๆ
กลุ่มแรก เป็นเรื่องทางวัตถุที่ร้อนๆเย็นลง
กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องของสัตว์หรือคนเลวๆที่มันดีจนหมดพิษ หมดภัย หมดโทษ
กลุ่มที่สาม เป็นเรื่องทางใจล้วน เคยเล็งถึงกามคุณมาพักหนึ่ง แล้วก็เล็งถึงจิตที่เป็นสมาธิ เป็นสมาบัติกันพักหนึ่ง แล้วก็มาเล็งถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสโดยประการทั้งปวงเป็นอันดับสุดท้าย
นิพพานมีอยู่มากมายหลายระดับดังนี้ แต่ดูให้ดีแล้วก็เห็นได้ทันทีว่าระดับไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่มีทางผิดเลย ขึ้นชื่อว่านิพพานแล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้นไม่มีโทษเลย เพราะมันหมายถึงความเย็นลงของสิ่งที่ร้อน สิ่งที่ร้อนหมายถึงโทษถึงอันตราย เมื่อมันเย็นลงจางลงก็หมายถึงสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นนิพพานในความหมายไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นนิพพานในอันดับที่แท้จริงแล้ว ต้องหมายถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสจึงจะเป็นของสูงสุด เป็นเรื่องทางจิตใจโดยตรง
ที่ได้ยกตัวอย่างมาอย่างยืดยาวนี้ก็เพื่อจะชี้ในข้อเดียวว่า คำบัญญัติในทางศาสนาหรือทางธรรมนั้น ไม่ได้บัญญัติขึ้นใหม่โดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันได้วิวัฒน์มาเอง ตามความวิวัฒน์ของจิตใจที่สูงขึ้น ธรรมตามธรรมดาที่พูดกันอยู่ในหมู่ชาวบ้านนั้นค่อยมีความหมายลึกซึ้งขึ้นมา ลึกซึ้งขึ้นมา จนถึงลึกซึ้งในที่สุด เราจึงมีคำว่าพระพุทธเจ้า มีคำว่ามรรคมีองค์ ๘ มีคำว่านิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสดังนี้
ที่นี้ถ้าจะลองเหลียวไปดูทางเรื่องของความทุกข์หรือกิเลสซึ่งเป็นของร้อนบ้าง ก็จะเห็นได้ว่าเป็นทำนองเดียวกันอีก คำว่าไฟเป็นชื่อของราคะ โทสะ โมหะ ที่แท้ก็มาจากไฟที่ก่อด้วยไม้ฟืน หรือไฟที่ไหม้ลามไปตามป่า ตามบ้าน ตามเมือง คำว่าไฟนั่นแหละเอามาใช้เป็นชื่อของไฟในใจ คือกิเลส
อีกอย่างหนึ่ง สิ่งใดที่มีอาการมีลักษณะเป็นการเบียดเบียนแล้ว ก็ถูกเอามาใช้เป็นชื่อของกิเลสหมด เช่นคำว่าลูกศร ซึ่งหมายถึงลูกศรสำหรับยิงสัตว์ตามธรรมดานั้น ต่อมาก็มาเป็นชื่อของกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เพราะว่าเมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้วมันเสียดแทงจิตใจ หรือคำว่าน้ำ น้ำท่วม น้ำท่วมใหญ่ ใครที่เคยประสบภัยจากน้ำท่วมมาแล้ว ก็ลองคิดดูให้ดีว่ามันน่าหวาดเสียวอย่างไร คำว่าน้ำท่วมใหญ่นั้นก็มาเป็นชื่อของกิเลส ของโลภะ โทสะ โมหะ อีก เป็นน้ำที่ท่วมจิตใจสำลักตาย
เมื่อเป็นดังนี้ ก็พอจะมองเห็นได้ว่าในเรื่องความทุกข์ก็ดี ในเรื่องความดับทุกข์ก็ดี มนุษย์ได้เอาคำธรรมดาที่มีอยู่แล้วนั่นแหละมาใช้เรียกสิ่งที่สูงขึ้นมาตามลำดับ เพราะไม่มีคำอื่นที่จะใช้ ขืนใช้ก็ไม่เข้าใจ จึงต้องใช้คำที่เข้าใจ แล้วเปลี่ยนความหมายให้สูงขึ้นมาตามลำดับดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ควรจะเข้าใจสิ่งทั้งหลายที่เป็น ควรจะเข้าใจความหมายทั้งหลาย ที่เป็นเรื่องทางธรรมะได้โดยไม่อยากเลย เราอย่าไปอุตริตีความให้มันออกนอกลู่นอกทางไปเสียเอง
จงพยายามตีความไปตามความหมายเดิม ว่าร้อน ว่าเย็น ว่าเสียดแทง ว่าเผาลน ว่าไม่ร้อน ว่าไม่เสียดแทง ว่าไม่เผาลน อย่างนี้เป็นต้น ก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่ากิเลส และสิ่งที่เรียกว่านิพพานได้โดยง่าย และเมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นการง่ายที่จะศึกษา หรือปฏิบัติ หรือทำให้สำเร็จประโยชน์อันเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้
จึงหวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้มีความสนใจในสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เป็นลำดับยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะยกตัวอย่างด้วยคำสุดท้าย เหมือนคำว่าฝน เหมือนคำว่าฤดูฝนนี้ ตามธรรมดาก็หมายถึงฤดูฝน แต่เดี๋ยวนี้คำว่าฤดูฝนมาหมายถึงเวลาอันจำกัดไว้สำหรับพวกเราชาวพุทธบริษัท จะได้พากันประพฤติปฏิบัติให้ดีเป็นพิเศษในทางธรรม ในเรื่องอันเกี่ยวกับธรรม
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่าฤดูฝนก่อนนี้ก็เป็นเพียงชื่อของเวลาที่ฝนตกมากๆ แต่เดี๋ยวคำว่าฤดูฝนมาเป็นชื่อของเวลาที่กำหนดไว้สำหรับมนุษย์ จะได้เป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ท่านจงประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นตลอดฤดูฝนนี้ แล้วคำว่าฤดูฝนนี้ก็จะหมายถึงระยะเวลาที่เราจะได้เป็นมนุษย์กันให้มากขึ้นนั่นเอง
หวังว่าท่านทั้งหลายผู้มีความไม่ประมาทจะได้คิดนึกถึงเรื่องนี้ แล้วทำให้ได้สิ่งที่เรียกว่าการจำพรรษานั้น มีความหมายขึ้นมาด้วยกันจงทุกๆคนเถิด ธรรมเทศนา ซึ่งเป็นอารัมพระคาถาของการจำพรรษาก็เป็นการสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมเทศนาแต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้