แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่วิสัชนาแล้วในวันวาน ติดต่อกันมาโดยใจความว่า วันเข้าพรรษามีความหมายตามทางพระวินัยว่า จะไม่จาริกไปในฤดูฝน แล้วก็มีความหมายทางพระธรรมว่า จะมุง จะมุงบังเรือนหลังคาเรือนให้ดี อย่าให้ฝนรั่วรดได้
ที่นี่ก็ควรจะได้กล่าวในข้อที่ว่า จะมุงจะบังกันอย่างไรด้วยอะไร ในที่นี้ขอกล่าวอย่างสั้น ๆ ก่อนว่าจะมุงด้วยสติหรือปัญญา สิ่งที่จะมุงหลังคามิให้รั่ว เปรียบได้กับสติ คือ มีสติทันเวลา แต่ว่าสตินั้น ต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือมีความรู้ มีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร สำหรับสติจะได้นำมาทันเวลา แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้ ท่านทั้งหลายก็ควรจะได้ทราบว่า สติกับปัญญา ต้องเป็นของคู่กัน ปัญญาคือ ความรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่ต้องมี แต่ก็ต้องมีสติเป็นเครื่องนำเอาความรู้นั้นมาให้ทันเวลา คือ ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าสติไม่มี ไม่มีอะไรนำมา ปัญญาก็เป็นหมัน คือไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ามีแต่สติไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้ว่าจะนำอะไรมา คือไม่รู้ว่าจะระลึกอะไรขึ้นมา ให้เป็นเรื่องเป็นราว สติจึงเป็นเหมือนเครื่องนำปัญญามาใช้ให้ทันเวลาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สติความระลึกได้นั้นคือ ระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็นำความรู้อันนั้น มาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้แล
สติกับปัญญาเป็นของเนื่องกัน แล้วยังจะแถมสัมปชัญญะเข้ามาอีกสักคำนึง คือว่าเมื่อสตินำปัญญามาแล้ว ก็ทำให้รู้สึกตัวอยู่อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เป็นสัมปชัญญะ มีความรู้ที่อยู่ตลอดเวลา แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า สัมปชัญญะ สตินำเอาปัญญามา ทำให้เป็นสัมปชัญญะแก้ไขสถานการณ์อยู่ จะเห็นได้ว่ามีอยู่ 3 สิ่งหรือ 3 เรื่อง มีสติอย่างหนึ่ง มีปัญญาอย่างหนึ่ง มีสัมปชัญญะอย่างหนึ่ง
ที่นี้จะมีสติเมื่อไหร่ ก็มีสติเมื่อมีอารมณ์มากระทบ อารมณ์คืออะไร อารมณ์คือสิ่งที่จะมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจ เมื่อมีอารมณ์มากระทบตา เป็นต้น ก็จะต้องมีสติเกิดขึ้นควบคุม มีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นต้น อยู่ในปัญญา หรือในความรู้ที่สตินำมา แล้วก็คงพิจารณาสิ่งนั้น ๆ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ อารมณ์นั้นก็จะไม่ปรุงแต่งจิตให้เกิดกิเลสได้
ยกตัวอย่างเหมือนว่า มีรูปสวยมากระทบตา ก็มีสติระลึกได้ทันควัน นำเอาปัญญามาพิจารณาอยู่ ว่า โอ้,นี่ก็เป็นแต่เพียงรูป รูปเท่านั้น ๆ และรูปที่มีความสวย อยู่ตามธรรมดา ซึ่งมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่ในความสวยนั้น ก็ไม่หลงใหลในความสวยของรูปนั้น แม้จะเป็นที่สบายแก่ตา เพราะความสวย ก็รู้สึกว่า รู้แจ้งว่า เป็นสักว่าเป็นเช่นนั้น สบายแก่ตา ก็เป็นสักว่าเวทนา ไม่มีความเป็นตัวตน อะไรที่ไหนเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติในโลกนี้ คนมันโง่มาตั้งแต่เกิด ถ้าสวยมันก็ชอบ ถ้าไม่สวยมันก็ไม่ชอบ นั่นคือไม่มีปัญญา ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่า สวยก็เช่นนั้นเอง ไม่สวยก็เช่นนั้นเอง ไม่จำเป็นจะต้องแยกว่า สวยแล้วก็รักก็พอใจจนเกิดราคะ หรือโลภะ ไม่ใช่ว่า ไม่สวยแล้วก็ไม่พอใจ จนเกิดโทสะหรือโกธะ
นี่แหละคือ ปัญญา พิจารณารู้ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนี้เอง ก็มีปัญญาสำหรับพิจารณาต่อไปว่า เราจะทำอะไรกับรูปที่สวยนี้ หรือรูปที่ไม่สวยนี้ เมื่อมันไม่มีเรื่องอะไรไม่เกี่ยวข้องอะไร ก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้ามีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกัน ก็ทำด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้ความสวยนั้นเกิดเป็นพิษเป็นโทษเป็นภัย อะไรขึ้นมาได้ ในสิ่งที่ไม่สวยก็มีสติสัมปชัญญะรู้รักษาป้องกัน ไม่ให้เกิดโทสะ โกธะ เป็นต้นขึ้นมา นี้เป็นเพียงตัวอย่างอย่างเดียว ซึ่งตามปกติธรรมดามันมีตั้งร้อยอย่างพันอย่าง แม้แต่ทางตาอย่างเดียวก็มีหลายสิบอย่าง ทางหูอย่างเดียวก็มีหลายสิบอย่าง ทางจมูกอย่างเดียวก็มีหลายสิบอย่าง ทางลิ้นอย่างเดียวก็มีหลายสิบอย่าง ทางผิวหนังผิวกายอย่างเดียวก็มีเรื่องราวได้หลายสิบอย่าง ส่วนเรื่องทางจิตใจก็ยิ่งมากขึ้นไปกว่านั้น เพราะว่ามันเป็นของไว มันคิดได้เร็ว
ที่นี่ก็จะได้วินิจฉัยกันในข้อที่ว่า คนในโลกนี้ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่ด้วยกันทุกคน แล้วรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในโลกนี้ก็เต็มไปหมด จะเหลียวไปทางไหนก็มีแต่อารมณ์เหล่านี้ แล้วก็พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้ามาสัมผัส ดังนั้นจึงมีหลักทั่วไปสำหรับประพฤติ หรือปฏิบัติอย่าให้เกิดโทษขึ้นมาได้ เพราะอารมณ์นั้น ๆ มีกฏที่สำคัญที่สุดอยู่อันหนึ่ง คือเรียกว่า กฏของอิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาท ไอ้คำนี้มันก็แปลก ฟังยาก ยืดยาดยืดยาว ว่า ปฏิจ ว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาท หรือจะเรียกแต่ครึ่งหนึ่งว่า ปฏิจสมุปบาทก็ได้ ถ้าเรียกเต็มที่ก็ต้องเรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจสมุปบาท
มันมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ว่า พอตา นั้น ยก ๆ ตัวอย่างในกรณีของตากับรูป พอตามากระทบกันเข้ากับรูป ตาอยู่ข้างใน รูปอยู่ข้างนอก ตากระทบกันเข้า ถึงกันเข้ากับรูป ก็เกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา มันได้เป็นสามเรื่องขึ้นมาแล้ว คือ ตาเรื่องหนึ่ง รูปเรื่องหนึ่ง จักษุวิญญาณอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะรูปกับตามาถึงกันเข้า สามอย่างนี้จึงทำงานอยู่ด้วยกัน คือ จักษุวิญญาณ เห็นทางตาอยู่ซึ่งรูปนั้น นี้เรียกว่า สามอย่างทำงานร่วมกัน ฟังให้ดี ๆ ว่า รูปอย่างหนึ่ง ตาอย่างหนึ่ง จักษุวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็นสามอย่างทำงานอยู่ด้วยกัน นี่เรียกว่า ผัสสะทางตา หรือสัมผัสทางตา หรือจักษุสัมผัส ก็คือ สัมผัสทางตา สามอย่างทำงานด้วยกันนี่ ก็ควรจะเข้าใจดีว่า สามอย่างไม่ใช่เพียงสองอย่าง มันต้องตาด้วย รูปด้วย แล้วจักษุวิญญาณที่เกิดขึ้นมาด้วย ทำความรู้สึกอยู่ที่รูปที่มากระทบตา สามอย่าง องค์ประกอบสามอย่าง จึงเรียกว่า ผัสสะ ไม่ใช่รูปมากระทบตาแล้วจะเรียกว่า ผัสสะ นั่นมันพูดอย่างลัดสั้นเกินไป พูดรวก ๆ ตามพระบาลีจะต้องมีเป็นสามอย่างเสมอ ตา รูป แล้วจักษุวิญญาณ ทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่า จักษุสัมผัส
แล้วหูกับเสียง กับโสตวิญญาณทำงานร่วม ๆ ทำงานร่วมกันอยู่ เรียกว่า โสตสัมผัส
กลิ่นกับจมูก กับฆานวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางจมูก ทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่า สัมผัส เรียกว่า ฆานสัมผัส คือ สัมผัสทางจมูก
ลิ้นกับรส มาถึงกันเข้า เกิดชิวหาวิญญาณ ทำงานร่วมกันอยู่ คือ ชิวหาวิญญาณ รู้รสที่มากระทบลิ้น อยู่ที่ลิ้น เรียกสามอย่างทำงานร่วมกัน ทำงานร่วมกันสามอย่างทั้งนั้น
ที่นี้กาย คือ ผิวกายกับสิ่งที่มากระทบผิวกาย ก็เกิดกายวิญญาณ วิญญาณทางกาย รู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบอยู่ที่กาย นี่ก็เรียกว่า กายสัมผัส
ธรรมารมณ์ คือความรู้สึกในใจ เกิดขึ้นกระทบใจ ก็เรียก ก็เกิดมโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ รู้สึกอยู่ต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นมาในใจ อยู่ที่ใจ ก็สามอย่างอีกเหมือนกัน เรียกว่า สามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ แล้วก็เรียกว่า สัมผัส มันมีอยู่ตลอดเวลา อยู่ทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงชาย การสัมผัสนี่มีอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ ก็ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ต้องรู้เรื่อง มันก็ไม่รู้เรื่อง
และถ้าจะศึกษาธรรมะ จะปฏิบัติธรรมะ ก็ต้องรู้เรื่อง เพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่า สัมผัส สัมผัส นั่นแหละเป็นตัวการ เป็นตัวร้าย ที่ต่อไปข้างหน้า หลังจากนั้นมันจะเกิดความทุกข์ ก็พิจารณาต่อไปว่า เมื่อเกิดเป็นสัมผัสขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องเกิดเวทนา คือ ความรู้สึกที่พอใจหรือไม่พอใจ ที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ถ้าสวยก็พอใจ ไม่สวยก็ไม่พอใจ ไม่มีความหมายอย่างใด ก็ยังไม่เกิดความรู้สึกชนิดที่พอใจหรือไม่พอใจ แต่ก็เกิดความรู้สึกพะวง หลงใหล สงสัยอยู่ในเรื่องนั้นๆ นี่ก็เรียกว่า เป็นเวทนาเกิดขึ้นจากผัสสะ ครั้นเกิดเวทนาแล้ว มันก็ปรุงให้เกิดตัณหาคือ ความอยาก เกิดกามตัณหาในอารมณ์นั้น เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางกาม หรือทางเพศ ก็เกิดกามตัณหา แล้วถ้าอารมณ์นั้น ชวนให้เกิดความรู้สึกเป็นนั่น เป็นนี่ ก็เกิดภวตัณหา อยากจะเป็นนั่น อยากจะเป็นนี่ ถ้าอารมณ์นั้นดุร้าย (นาทีที่ 17.58-18.00) ฟังไม่ชัด ก็เกิดวิภาวตัณหา คือ อยากไม่เป็นอะไร อยากไม่ให้มีอะไร อยากจะทำลายเสียให้หมดสิ้น กระทั่งว่า อยากจะตายเสียเอง ฆ่าตัวเองเสียเอง เป็นต้น
นี่กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา มันเกิดมาจากเวทนา ครั้นเกิดตัณหาแล้ว ก็เกิดอุปาทาน คือ ความรู้สึกเป็นตัวตน ผู้อยาก ตัวตนผู้อยาก ก็เกิดตามขึ้นมา ความอยากเกิดก่อน แล้วความเกิด ความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยาก นี่ก็เกิดตามขึ้นมา มีตัวตนเป็นผู้อยากอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นของหนัก เป็นของร้อน เป็นของวุ่นวาย เป็นของไม่สงบสุขนั่นแหละ มีความรู้สึกเป็นตัวตน ขึ้นมาแล้วก็มี ความเจริญแห่งความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ตัวตนจะเป็นอย่างนั้น ตัวตนจะเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า ภพ แล้วก็เกิดเป็นตัวตนที่ทำอะไรลงไปอย่างสมบูรณ์ นั่นก็เรียกว่า ชาติ มันมีความไม่รู้อยู่ตลอดเวลา ก็ยึดนั่นยึดนี่อย่างถึงที่สุด มันก็เกิดความทุกข์ ไปยึดเอาความเกิดมาเป็นของตน มันก็เกิดทุกข์เพราะความเกิด ไปยึดเอาความแก่มาเป็นของตน ก็มีความทุกข์เพราะความแก่ เอาความ ความตายมาเป็นของตน ก็เป็นทุกข์เพราะความตาย
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมชาติ แต่มันไม่รู้มันโง่ มันมีอวิชชา มันก็ยึดเอามาเป็นของตน มันก็เลยเป็นทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น ยังมีอย่างอื่นอีก ความโศกเศร้าร่ำไรรำพัน ความแห้งผากในใจ ความปรารถนาอันใด แล้วไม่ได้อันนั้น สิ่งที่น่ารักน่าพอใจ พลัดพรากไป มีสารพัดอย่างที่จะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา นี่ก็คือ กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา นับตั้งต้นตั้งแต่ว่า มีอารมณ์มากระทบตาเป็นต้น แล้วก็ปรุงแต่งกันไปเป็นสายตามลำดับอย่างที่กล่าวแล้ว จนกระทั่งเกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่ก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา สายที่ให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น เป็นอย่างเดียวกันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ทั้งหมดนี้เป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่จะให้เกิดทุกข์ เพราะว่ามันไม่มีสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้เราจะปิดกั้นหลังคาไม่ให้ฝนรั่วรดลงมาเป็นความทุกข์ ก็ต้องมีสติและปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแห่งผัสสะ
ไม่ว่าผัสสะไหน สัมผัสไหน สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกสัมผัสแหละ พอมีสัมผัสแล้ว ก็ให้มีสติ ระลึกขึ้นมาให้ได้ คือเอานำ เอานำเอาปัญญามาด้วยสำหรับจะพิจารณา รู้สึกต่อสิ่งนั้นๆ ที่มาสัมผัสนั้น ถ้ามีสติปัญญาอย่างนี้มา ก็พิจารณาเห็นว่า โอ้,สักว่าสัมผัส แล้วสัมผัสก็ให้เกิดเวทนา แล้วก็โอ้ สักว่า เวทนา สักว่าเวทนาตามธรรมชาติ ตามธรรมดา จะไม่หลงรัก จนเกิดความโลภ ไม่หลงเกลียดจนเกิดความโกรธ จะไม่มัวเมาหลงใหล จน จนเกิดโมหะ ความหลง นี่สติเอาปัญญา มาทันเวลา ที่มีการสัมผัส
เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายลองคิดดูเองด้วยกันทุกคนว่า ในวัน ในชีวิตประจำวันตามธรรมดานั่นแหละ เราไม่ได้มีสติปัญญาเอาเสียเลย อะไรมาสัมผัส อะไรมากระทบมาสัมผัส ก็ปรุงแต่งไปตามนั้น จนเกิดปัญหา จนเกิดความทุกข์ หรือเกิดกิเลส เขาเรียกว่า กิเลสมันรั่วรดแล้ว อารมณ์มาทำให้เกิดความพอใจ มันก็โลภ ก็เกิดกิเลสชื่อว่า โลภะหรือราคะ ไม่พอใจเกิดโทสะหรือโกธะ ยังไม่แน่แต่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือก็มัวเมาหลงใหล ก็เป็นโมหะ
นี่โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะ ปัญญามาทันเวลา ไม่รู้สึกตัวทันเวลา การปรุงแต่งทางอายตนะ มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่า การปรุงแต่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีของที่จะเข้ามากระทบอยู่ข้างนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จับกันเป็นคู่ ๆ
ตาคู่กับรูป
หูคู่กับเสียง
จมูกคู่กับกลิ่น
ลิ้นคู่กับรส
ผิวกายคู่กับโผฏฐัพพะ มากระทบกาย
ใจก็คู่กับธรรมารมณ์ คือความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นในใจ
มันมีอยู่หกคู่อย่างนี้ แล้วมันมีอยู่ตลอดวันตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่ได้ศึกษา หรือเรียกว่าเราไม่รู้ เราไม่มีความรู้เรื่องนี้ เราก็ไม่รู้จักสังเกตกำหนด ไม่รู้จักแยกแยะ ดังนั้นมันก็เป็นไปตามธรรมชาติของคนโง่ เพราะเรามันโง่ เรามันไม่รู้ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของคนโง่ ดังนั้นจึงได้เกิดความทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ โดยประการใดประการหนึ่งอยู่เรื่อย ๆ ไป
เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางตา เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางหู เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางจมูก เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางลิ้น เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางกาย เดี๋ยวเรื่องเข้ามาทางใจ นี่ แต่ละวันตลอดวัน เต็มไปด้วยการปรุงแต่งในภายในที่เป็นกิเลสไม่มากก็น้อย ครั้นเกิดกิเลสแล้ว ก็ต้องเป็นความทุกข์ เพราะกิเลสเป็นของร้อน ต้องเผาให้ร้อนใจ แล้วมันก็ไม่ได้เพียงแต่ว่าเกิดกิเลสอย่างนั้น เท่านั้น มันยังมีอีกคือ มันสะสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลสไว้ในใจ ซึ่งเรียกว่า อนุสัย เกิดกิเลสครั้งหนึ่ง ก็จะสะสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีกไว้ครั้งหนึ่งเรียกว่า อนุสัย ๆ ตัวหนึ่ง อนุสัยหน่วยหนึ่ง มันก็สะสมไว้ในใจ คือว่า ได้โกรธทีหนึ่งแล้ว ก็สะสมความเคยชินที่จะโกรธไว้ในใจ โกรธหลายทีก็สะสมไว้หลายอนุสัยหลายๆๆ หน่วย ดังนั้นมันจึงโกรธง่าย โกรธเร็ว โกรธแรงยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที เพราะว่ามันสะสมความเคยชินที่จะโกรธให้มากขึ้น
ที่เป็นเรื่องที่จะรักจะหลงใหลก็เหมือนกัน ไปรักหลงรักเข้าทีหนึ่ง มันก็สะสมอนุสัยที่จะเกิดความรักไว้หน่วยหนึ่ง ครั้นรักหลาย ๆ หนเข้า มันก็มีความเคยชินที่จะรัก ดังนั้นมันจึงรักง่าย รักเร็ว รักแรง รักอย่างหลงใหล จึงเป็นเหมือนกับว่า สร้างสมไอ้ไฟไว้เผาลนตัวเอง เมื่อเกิดอนุสัยแล้ว มันก็จะไหลกลับออกมาเป็นกิเลสชื่อนั้น ๆ ตอนที่ไหลกลับออกมานี้เรียกว่า อาสวะ เกิดกิเลสแล้วก็เกิดอนุสัย คือความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น ครั้นสะสมไว้มากเข้า มากเข้ามันก็จะออกมาโดยง่าย ตอน ตอนที่ไหลออกนี้เรียกว่า อาสวะ ตอนที่เป็นเรื่องเป็นราว ตึงตังกันขึ้นมานั้นเรียกว่า กิเลส ครั้นเกิดกิ ครั้นเกิดกิเลสแล้ว ก็สะสมอนุสัยไว้ในสันดาน ในสันดานมีอนุสัยสะสมไว้มาก มันก็พร้อมที่จะกลับออกมาเป็นอาสวะ มาโลภ มาโกรธ มาหลงกันใหม่อีก ให้แรงไปกว่าเดิม เหมือนกับว่าตักน้ำใส่ตุ่มเต็ม ความกดดันที่จะออกมา ที่น้ำจะออกมาจากตุ่ม มันก็มีมากเข้า
ดังนั้นถ้ามีรูรั่วสักนิดหนึ่ง น้ำก็จะพุ่งชิดออกมาทีเดียว เพราะมันสะสมไว้มาก มันมีความกดดันไว้มาก อนุสัยที่สะสมไว้มาก นี่มันพร้อมที่จะออกมา กลับเป็นอาสวะไหลออกมา หรือที่ออกมาเป็นน้อย ๆ เป็นนิวรณ์ทั้งห้า ซึ่งไม่ถึงกับเป็นกิเลสอย่างรุนแรง แต่เป็นนิวรณ์ เป็นไอกรุ่น เป็นกามฉันทะ เป็นพยาบาท เป็นถีนมิทธะ เป็นอุทธัจจกุกกุจจะ และเป็นวิจิกิจฉา นี่ก็เพราะความกดดันที่มีอยู่ข้างใน แล้วมันรั่วออกมาน้อย ๆ ถ้ามันออกมาเต็มที่ มันก็เป็นกิเลสอีก แล้วยิ่งเกิดกิเลสทีไร ก็ยิ่งเพิ่มอนุสัยไว้อีก ความกดดันก็มีมาก เพราะฉะนั้นคนที่มีอนุสัยสะสมไว้มาก ก็เกิดกิเลสได้ง่าย เกิดกิเลสได้เร็ว เกิดกิเลสได้มาก ถ้าไม่มีเรื่องอะไรโดยไม่รู้สึกตัว มันก็ออกมาเป็นนิวรณ์ ถ้ามีอารมณ์มากระทบ มันก็เกิดกิเลสตามนัยที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ ตามลำดับ ๆ ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์
นี่เรียกว่า หลังคามันรั่ว ฝาหลังคามันรั่ว ฝนมันก็รดลงมา ถ้ามุงให้ดี คือว่ามีสติมีปัญญา มีสัมปชัญญะอย่างพอเพียงพอ และทันเวลาอยู่เสมอ ฝนก็รั่วลงมาไม่ได้ เพราะว่ามุงดี มุงดีด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยสัมปชัญญะ จง จงพยายามศึกษาเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ หรือปัญญานี้ไว้ให้มากพอ อย่าผลุนผลัน อย่าสร้างนิสัยผลุนผลัน มันจะได้เปรียบแต่ฝ่ายกิเลส จงเป็นคนหนักแน่น มีความอดกลั้นอดทน เพื่อจะมีโอกาสป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส แล้วชีวิตนี้ก็จะไม่ถูกกิเลสรบกวนมากเกินไป มันก็จะรบกวนแต่น้อย ระยะที่ไม่รบกวนก็จะมีมาก ก็จะมีความผาสุกมาก ถ้าเป็นคนไม่มีสติปัญญาสัมปชัญญะ มันกิเลสมันก็เกิดได้ วันละหลายครั้งหลายหน หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นนิวรณ์ เป็นกิเลสที่ไม่เจตนา ไม่มีเรื่องราวมากระทบ แต่มันก็ครุ่นออกมาจากภายใน ในตัวมันเอง อย่างนี้เรียกว่า นิวรณ์ ก็รบกวนมากอยู่เหมือนกัน เพราะนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว จิตก็ผิดปกติ จิตไม่สดชื่น จิตไม่แจ่มใส จิตไม่เยือกเย็น จิตไม่สงบ เพราะนิวรณ์รบกวน
เดี๋ยวเกิดความคิดขึ้นมาเอง ไม่ต้องมีอะไรมากระทบไปในทางกามารมณ์ ทางเพศ
เดี๋ยวเกิดขึ้นมาในทางขัดใจ ไม่ชอบนั่น ไม่ชอบนี่ ขัดใจไปเสียหมด
เดี๋ยวก็มีอาการห่อเหี่ยว แฟบของจิต ไม่มีกำลัง
เดี๋ยวบางทีก็เกิดตรงกันข้าม คือ ฟุ้งซ่าน เกินกำลัง
หรือมิฉะนั้นก็มีความลังเล มีความลังเล ไม่แน่ใจ ไม่มีจิตใจที่แน่วแน่ ที่แน่นอนลงไปว่า ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว อย่างนี้เป็นต้น มันสงสัยว่า จะไม่ถูกต้อง สงสัยว่า จะไม่ปลอดภัย สงสัยว่า จะมีเหตุ จะต้องเกิดเรื่องอยู่อย่างนี้เสมอไป นี่คือ ความลังเล ลังเลหนักเข้าก็ลังเลในพระธรรม ลังเลในพระพุทธ ลัง ลังเลใน ในเรื่องที่ตัวจะถือเอาเป็นที่พึ่ง ก็เกิดลังเลเสีย ลังเลในพระพุทธเจ้าว่า จะเป็นที่พึ่งได้ถูกต้องไหม หรือ หรือไม่ ลังเลในพระธรรมว่าจะเป็นที่พึ่งได้จริงหรือไม่ ลังเลในพระสงฆ์ว่า จะเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงหรือไม่
นี่ความลังเลอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว มันก็จะเป็นบ้าเท่านั้นเอง แต่มันก็ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชุดของมันที่เรียกว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นเรื่องของทุกคนแท้ ๆ เป็นเรื่องประจำวันแท้ ๆ แต่คนก็ไม่สนใจจะรู้ จะด้วยเหตุใดก็สุดแท้ คนมันก็ไม่ได้สนใจจะรู้ หรือรู้จักนิวรณ์ ก็เลยพลอยไม่รู้จักกิเลส ก็เลยสนุกในการที่จะเกิดนิวรณ์ สนุกไปในการที่จะเกิดกิเลส แล้วมันก็ตกหนักลงทุกที ในการที่จะจมอยู่ในกองทุกข์ อย่างละเอียด อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างอะไรก็ตามใจเถอะ ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นเรื่อง เผาลนทั้งนั้น เผาอย่างโพลง ๆ ก็มี เผาอย่างกรุ่น ๆ สุมเอาไว้ ในแกลบก็มี เรียกว่า หลังคามุงไม่ดี ฝนรั่วรดจิตเสียแล้ว หลังคามุงไม่ดี ฝนรั่วรดจิต คือ เกิดกิเลส หรือเกิดนิวรณ์เสียแล้ว แล้วก็อยู่กันไปอย่างนี้ก็ได้ อยู่ด้วยความทรมาน เป็นคราว ๆ แรง รุนแรง เรื่อย ๆ เนือย ๆ เป็นคราว ๆ ไม่รุนแรง ที่เรียกว่า อยู่ด้วยกันกับกิเลส หรือนิวรณ์ ก็คือความทุกข์นั่นเอง
ทุกคนจะต้องรู้ความลับข้อนี้ของธรรมชาติ ว่ามันเป็นอย่างนี้ ก็ฝึกฝนสติปัญญาสัมปชัญญะให้มากพอ บทฝึกหัดที่เรียกว่า อานาปานสติภาวนา นั่นแหละจะช่วยได้ ที่ได้บรรยายไว้ชัดเจน รัดกุม เหมาะสมสำหรับยุคปรมาณู กำลังพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ก็ควรจะได้ศึกษากันดู ก็จะได้ จะ จะได้ง่ายขึ้น ก็จะได้รับผลง่ายขึ้น จะมีสติมากและเร็ว จะมีปัญญาพอ จะมีสัมปชัญญะได้ตามความประสงค์ ก็สามารถที่จะปิดรูรั่ว ไม่ให้กิเลส ก็คือฝน ไม่ให้ฝนรั่วรดจิต ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นรดจิต ก็จะเป็นมนุษย์ที่ไม่เสียทีที่เกิดมา ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์สำหรับกิเลสท่วมหัว ท่วมหูอยู่เรื่อยไป มันก็เสียทีที่ได้เกิดมา เพราะฉะนั้นอย่าทำเล่นกับเรื่องของกิเลส อย่าเห็นว่า เป็นของเล็กน้อย มันโตได้ง่าย มันเติบโตได้ง่าย ขึ้นชื่อว่า กิเลสแล้ว แม้นิดเดียวก็จงเกลียดจงกลัวให้มาก จงระมัดระวังให้มาก อย่าเปิดโอกาสให้แก่กิเลสเลย
หวังว่า ท่านทั้งหลาย จะได้เข้าใจเรื่องของการจำพรรษาได้มาก ได้ลึกซึ้ง ได้กว้างขวางขึ้น ในวันแรกก็พูดถึงว่า พรรษา คือ ไม่เดินทางในฤดูฝน อยู่ที่ไหนก็ปิดมุงหลังคาให้แก่จิตใจ อย่าให้ฝน คือ กิเลสรั่วรดจิตใจ มาวันนี้ก็ได้พูดถึงโดยรายละเอียดว่า ฝนนั้นเป็นอย่างไร กิริยาที่มันจะรั่วรดนั้นเป็นอย่างไร กิริยาที่จะปิดกั้นไม่ให้รั่วรดเลยนั้นเป็นอย่างไร หวังว่าคงจะเข้าใจ แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ว่า ปิดกั้นกิเลส ไม่ให้เกิดขึ้นมาท่วมทับจิตใจ ไม่ให้รั่วรดใจ ก็จะเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น เป็นมนุษย์ที่สูงขึ้น สมกับเป็นมนุษย์ที่ได้พบพระพุทธศาสนา จงถือเอาประโยชน์จากการเกิด เป็น มาเป็นมนุษย์นี้ให้ได้ อย่าไปเห็นแก่เรื่องเล็ก ๆ น้อย อย่าไปเห็นแก่เรื่องลาภ เรื่องเงินเรื่องของเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้น เกิดขึ้นจนความเคยชิน เป็นความเคยชินได้เปรียบกว่ากิเลส ไปเห็นแก่ประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความโง่ ความหลง มันก็ทำผิดให้เกิดกิเลสในครั้งแรก แล้วมันสะสมอนุสัยสำหรับจะเกิดอีกไว้ ในสันดาน ในสันดานก็เต็มไปด้วยความพร้อมที่จะเกิดกิเลส ถ้าอย่างนี้มันก็เกิดง่าย มันก็เกิดง่าย มันจะตายเสียก่อนแต่ที่จะมีกิเลสเบาบาง
ฉะนั้นขอให้ทุกคนรักษาตน คือ รักษาจิต อย่าให้กิเลสรั่วรด ให้มีกิเลสแต่เบาบาง แล้วลด ลดไป ลดลงไปๆ จนหมดสิ้น ถ้าหมดสิ้นก็จบเรื่อง หมดสิ้นก็เป็นพระอรหันต์ แต่ให้มันเบาบาง เบาบาง ชนิดที่อย่าให้มันมีความร้อน สุมอยู่เหมือนกับว่า หมกอยู่ในกองไฟเลย นี่คือ การจำพรรษาที่สมบูรณ์ ขอให้ทุกคนพยายามประพฤติปฏิบัติในระยะกาลพรรษาอย่างนี้ อย่างนี้ไป จนตลอดพรรษาเป็นอย่างน้อย ต่อจากนั้นก็ค่อยว่ากันใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นไปก็ได้
แต่ว่า ในระยะนี้ ในระยะพรรษานี้ ขอให้มุงหลังคาอย่างที่ว่านั้นให้ดี ๆ อย่าให้ฝนคือ กิเลสรั่วรดจิตเลย หวังว่า ท่านทั้งหลายก็จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ พอที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติ ระมัดระวังสำรวมสังวร ไม่ให้ฝน คือ กิเลสรั่วรดจิต โดยนัยดังที่กล่าวมา
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้
นาทีที่ 39.05 - 43.49 เป็นการสวดมนต์
ผู้มาใหม่ เพิ่งบวชใหม่เหมือนกัน ยังจะต้องถือนิสสัย เมื่อเปลี่ยนสถานที่ก็ต้องถือนิสสัย ในสถานที่แห่งใหม่ จึงจะถูกต้องตามพระวินัย ผู้บวชใหม่จะอยู่โดยไม่มีนิสสัยนั้น ผิดวินัย ฉะนั้นจงพยายามถือนิสสัย ผมมอบหมายให้ท่านโพธิ์ เป็นผู้รับนิสสัย ฉะนั้นจงตกลงกันเอง ประชุมกันเอง ติดต่อกับท่านโพธิ์แล้วก็ถือนิสสัย ผู้มาใหม่ ผู้ที่ยังต้องถือนิสสัย สมัครจะรักษาพระวินัย ต้องถือนิสสัย ยังไม่เลย ๕ พรรษา ยังต้องถือนิสสัย
นี่พอบอกกล่าวกันเสียให้ทราบ นี่ก็เป็นเรื่องจำพรรษาด้วยเหมือนกัน ขอให้สนใจฝึกปฏิบัติขัดเกลา ขัดเกลา เรื่องขัดเกลา เรื่องพรหมจรรย์ ขัดเกลาคือ ปฏิบัติ ขัดเกลากิเลส แม้ที่สุดในเรื่องไหว้พระสวดมนต์นั้น อย่าให้ขาด ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น อย่าให้ขาด มันจะขัดเกลานิสสัย ที่เกียจคร้าน หรือนิสสัยที่ไม่จริงจัง นิสสัยที่ไม่มั่นคง เมื่อเราไม่ได้บวช เราเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยจะมีเรื่องขัดเกลานิสสัย พอบวชแล้ว มาอยู่ในธรรมวินัย ภายใต้วินัยแล้ว มันก็ต้องปฏิบัติวินัย เกิดการขัดเกลานิสสัย
นี่หลักอย่างนี้ทั่วไป ไม่ว่าที่ไหน บวชแล้วก็มีระเบียบปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องขัดเกลานิสสัย คือ ทำสิ่งเป็นระเบียบ ตามธรรมดาเป็นอิสระ ไม่ทำ ไม่ชอบทำ ไม่ต้องการจะทำ ก็เลยไม่มีการขัดเกลานิสสัย บวชเข้าแล้ว จงพยายามให้ได้โอกาสที่จะขัดเกลานิสสัย กิจวัตรทั้งหลาย ไหว้พระ สวดมนต์ บิณฑบาตร ปลงอาบัติ ช่วยเหลือกิจของสงฆ์ กิจของวัด วัดนี้ฝึกฝนการทำงานโดยไม่มีใครขอบใจ บางทีก็ไม่มีใครเอาใจใส่อะไรนักด้วย ทำงานโดยไม่ต้องมีใครขอบใจนั่นแหละ ฝึกกันมาก ๆ จะช่วยสร้างนิสสัยอันใหม่ คือ ทำงานอย่างกับว่า งานนั่นเป็นธรรมะ
เอาแหละ มีปรารภวันนี้ เป็นครบสามวันเข้าพรรษา
เอ้า, มี มีอะไร เข้ามาในนี้ ถ้าไม่มีก็มนต์ มนต์ มนต์กลับ
มีคนมาเหรอ มีคนมาเอาเหรอ เอาเถอะ ช่วยแจก
ยกไปให้ ยกบาตรน้ำมนต์ไปให้
ชาติ ยกบาตรน้ำมนต์ไปที่ตรงโน้น
นี่ เอาไหม ไม่เอา กลัวกัดมือ กลัวกัดมือ
ไหน ใครที่จะเอาน้ำมนต์ ไม่เห็นมี
นายผิน นายผิน ไปแจก