แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อแลวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาปรารภปวารณาการออกพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ มีใจความสำคัญอยู่ที่การกระทำปวารณานั่นเอง “วันปวารณา” หรือที่เรียกชอบเรียกกันว่า “วันออกพรรษา” นี้ ปีหนึ่งก็มีเพียงวันเดียว ท่านทั้งหลายควรจะกำหนดให้ได้ว่าควรจะเรียกว่าวันอะไร วันหนึ่งในหนึ่งปีนี้ควรจะเรียกว่าวันอะไร ถ้าถือเอาตามเนื้อความแห่งคำว่า “ปวารณา” แล้ว ก็ควรจะถือว่าเป็นวันที่ยินยอมแก่กันและกัน เรียกสั้นๆว่าเป็นวันยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นวันที่ไม่ดื้อดึง เป็นวันที่ยอมฟังคำของผู้อื่น เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติสืบไป เพื่อความสุขความเจริญของคนทุกคน
พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถในวันนี้ เพื่อความประสงค์ส่วนใหญ่ในการที่จะให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ วันที่สำคัญที่สุดคือวันนี้นั้นเป็นวันที่ทำให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ แต่มิใช่ให้มีเฉพาะในวันนี้วันเดียว เพียงแต่ให้กระทำพิธีกรรมในวันนี้สำหรับให้ใช้ไปตลอดปีหรือตลอดชีวิตก็ว่าได้ พระองค์ทรงเห็นอยู่และก็ทรงบัญญัติเรื่องนี้ขึ้นมา โดยเหตุที่ว่าพระศาสนาหรือแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ที่ตั้งอยู่กันเป็นบริษัท เป็นสังฆบริษัทนี้จะเจริญรุ่งเรืองได้ต่อไป ก็เพราะการที่ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ และยังกันและกันให้ออกจากอาบัติได้ ดังพระบาลีปาติโมกข์ว่า (นาทีที่9:55) เอวัง สัง วะทาหิ สัสสะ ภะคะวะโต ปะริสา ยะทิทัง อัญญามันยะ วัจจเณนะ อัญญามันยะ พุทธา ปะเณนะ ดังนี้ บริษัทของพระผู้มีพระภาคเจริญมาด้วยอาการที่ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ ยังกันและกันให้ออกจากอาบัติได้ ถ้าภิกษุสงฆ์อยู่กันอย่างที่ว่ากล่าวตักเตือนกันไม่ได้ ก็มีการปั่นป่วนเกิดขึ้น ยิ่งผู้ใดต้องอาบัติแล้ว ไม่มีใครทำให้ออกจากอาบัตินั้นได้ ก็จะเต็มไปด้วยภิกษุที่มีอาบัติ ทุกคนมีอาบัติ ก็คือเป็นความล้มละลายของสังฆบริษัทเป็นแน่แท้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการอย่างนี้ จึงมีพระพุทธบัญญัติให้ทำปวารณา คือให้ทำพิธีกรรมเป็นสังฆกรรม ให้ทุกรูปให้สงฆ์ทุกรูปปวารณาตน ให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนได้ เมื่อมีใครว่ากล่าวตักเตือนขึ้นก็ไม่ให้เถียง ให้พิจารณาแต่โดยดี แล้วก็ทำคืนในส่วนที่ได้ทำผิดพลาด ส่วนผู้ที่จะไปตักเตือนผู้อื่นนั้น ก็ต้องตักเตือนด้วยความหวังดี ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม ประกอบไปด้วยธรรม มีความกรุณาปรานีแก่ผู้ที่ตนจะตักเตือน แล้วก็มีความหวังดีต่อพระพุทธศาสนา ตักเตือนนี้ก็เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งพระพุทธศาสนา คนถูกตักเตือนก็ยินยอมที่จะทำตามคำตักเตือน ที่มีโทษมีอาบัติอยู่ก็ออกจากอาบัติ เลยมีแต่ผู้ประพฤติดีไม่มีโทษรวมกันเป็นภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ได้ผลตามพระพุทธประสงค์ทุกๆประการ นี่แหละคือความหมายของคำว่าปวารณา ไม่ใช่หมายความว่าออกพรรษาแล้วก็เที่ยวเตลิดเปิดเปิงไปตามสบายใจ ขอให้รู้ว่าพิธีออกพรรษานี้คือการปวารณาต่อสงฆ์ทั้งหมดทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าภิกษุนั้นจะไปอยู่ ณ สถานที่ใด ก็ให้ภิกษุสงฆ์รูปอื่นในพระพุทธศาสนานี้ว่ากล่าวตักเตือนได้ มีขอบเขตกว้างขวางทั่วไปในสังฆมณฑลแห่งพระพุทธศาสนา ถ้ามีอยู่ทั่วไปในโลกก็หมายความว่าพระสงฆ์ตักเตือนกันได้ทั่วโลก แล้วแต่ว่าคณะสงฆ์จะแผ่ไพศาลไปในขนาดไหน ทีนี้ก็มาดูถึงหมู่คฤหัสถ์ฆราวาสที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ควรจะรับเอาข้อปฏิบัติอันนี้ไปไว้ประพฤติปฏิบัติด้วยเหมือนกัน เพราะพระพุทธองค์ได้กล่าวถ้อยคำว่า ตัสสะ ภะคะวะโต ปะริสา คือบริษัทของพระผู้มีพระภาค ไม่เฉพาะแต่ภิกษุสงฆ์ แม้ว่าอุบาสกอุบาสิกาก็ยังเรียกว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคด้วยเหมือนกัน ดังนั้นอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็ต้องประพฤติสมาทานการปวารณาอย่างเดียวกันด้วย แต่ไม่ได้มีพิธีกรรมที่บัญญัติไว้เฉพาะ คือว่าไม่ต้องทำเป็นพิธี ขอให้รับเอาไปประพฤติปฏิบัติก็พอแล้ว ขอให้พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นอุบาสกอุบาสิกาจงได้สนใจในข้อนี้คือข้อที่ว่ามีการทำปวารณา แล้วก็จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งแก่พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ ครองเรือน หรือเป็นอุบาสกอุบาสิกานั่นเอง
ตามธรรมดาคนเรามีกิเลสเป็นเหตุให้ถือตน ก็ยกตน ถึงขนาดที่เรียกว่ายกหูชูหางอย่างนี้ก็มี ใครๆว่ากล่าวไม่ได้ ใครๆตักเตือนไม่ได้ ถ้าใครตักเตือนก็โกรธขึ้นมา หรือบางทีจะก็เถียง แล้วบางทีก็จะด่าเอา หรือบางทีก็จะทำร้ายร่างกายของผู้มาตักเตือนนั้นด้วยก็เป็นได้ ขอให้ไปคิดกันดูเสียใหม่ให้ได้ใจความสำคัญว่า ขึ้นชื่อว่าพุทธบริษัทแล้ว ต้องเป็นคนที่ใครๆ ตักเตือนได้ ถ้าว่าใครตักเตือนไม่ได้ มันก็หมายความว่ามีกิเลสที่เป็นเหตุให้ยกหูชูหางมากเกินไป ไม่สมควรแก่ความเป็นพุทธบริษัทเลย ขอให้จำไว้เป็นใจความสั้นๆ ว่า ผู้ที่ใครตักเตือนไม่ได้นั้น ไม่ใช่พุทธบริษัทเลย คือมันมีกิเลสหนาเกินไป จึงไม่มีใครตักเตือนได้ เป็นเหมือนกับว่าคนป่าหรือสัตว์ป่าก็ไม่ปาน เราจะมาคิดดูเรื่องนี้ได้ทั้งในแง่ของธรรมะและในแง่ของวินัย ในแง่ของธรรมะนั้น กิเลสที่เป็นเหตุให้ถือตัวถือตน มันก็ทำให้ใครตักเตือนไม่ได้ ก็ไม่มีธรรมะ เรียกว่า มีกิเลสมากเกินไปจนใครๆ ตักเตือนไม่ได้ ถ้าว่าลดกิเลสอันนี้ลงเสียได้ ก็จะมีธรรมะ คนบางคนพอได้ยินคำกล่าวตักเตือน ทักท้วง ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ในใจ แม้ไม่พูดอะไรออกมา ก็โกรธอยู่ในใจ มีนรกสุมอยู่ในใจ เพราะว่ามีคนมาตักเตือน อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ คือมันมีนรกเก็บอยู่ข้างใน จะเป็นภิกษุสามเณรที่ดีไม่ได้ เพราะมันมีนรกเก็บไว้ข้างใน เก็บอยู่ข้างใน ในเมื่อมีใครมาตักเตือน เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ก็ตักเตือนไม่ได้ ถ้ามันมีกิเลสมากถึงขนาดนั้น ไม่มีใครตักเตือนได้ แม้แต่ครูบาอาจารย์ก็ตักเตือนไม่ได้ ถึงแม้พระพุทธเจ้าก็เชื่อว่าคงตักเตือนไม่ได้ เพราะมันก็มีปรากฏอยู่ในเรื่องราวเหมือนกันว่า ภิกษุบางรูปก็ดื้อดึงต่อพระพุทธเจ้า นี้เราก็มาพิจารณาดูให้ดีว่าเป็นภิกษุสามเณรทั้งทีแล้วใครตักเตือนไม่ได้ ไม่ถึงกับเถียง ขึ้นเสียง หรือต่อต้าน เพียงแต่ในใจมันไม่ยอม มันก็เป็นเรื่องเสียหายแล้ว มีความทุกข์ด้วย มีกิเลสที่เป็นความโกรธหรือโทสะเกิดขึ้นด้วย นี้ก็หมดความเป็นสมณะ หมดความเป็นภิกษุ ใครมีกิเลสข้อนี้อย่างไร เท่าไร ก็ไปตรวจดูของตัวเองเถิด ดูมาแต่หนหลังก็ได้ว่าเราเคยโกรธ เคยขัดใจอย่างไร เท่าไรมาแล้วแต่หนหลัง ในเมื่อครูบาอาจารย์ตักเตือน ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเพื่อนด้วยกันตักเตือน แม้ครูบาอาจารย์ตักเตือนมันก็ยังโกรธ นี่เพราะว่ากิเลสข้อนี้มันมีมาก มันก็เสียไปในทางธรรม คือส่งเสริมกิเลสก็ไม่มีความก้าวหน้าในทางธรรม มันยังไกลต่อพระนิพพานมากเกินไป ขอให้จัดการกันเสียใหม่ ให้เป็นคนที่ยินดีให้ผู้อื่นตักเตือน เมื่อเขาตักเตือนให้ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล หรือเป็นอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ผู้ที่มาว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ เขาก็ยินดีในการตักเตือน อย่างนี้มันมีจิตใจสูงสมกับที่เป็นพุทธบริษัท ไม่ยกหูชูหาง แล้วก็ยินดีในการตักเตือนของเพื่อนพุทธบริษัทด้วยกัน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็เสียหายไปในทางธรรมะ ถ้าเป็นอย่างนี้คือตักเตือนได้ก็เรียกว่าเจริญไปในทางของธรรมะ ฉะนั้นไม่มีใครจะมาทดสอบให้เรา ไม่มีใครจะมาคอยวัดเรา เราต้องทดสอบเอง เราต้องวัดตัวเองว่ามีกิเลสข้อนี้มากน้อยเพียงไร แล้วก็จัดเสียใหม่ให้มันเป็นไปในทางที่จะมีความเจริญตามทางของพระธรรม
ทีนี้ ก็มาถึงส่วนที่เกี่ยวกับวินัย ระเบียบวินัยสำหรับควบคุมกายวาจา ซึ่งก็เลยไปถึงใจด้วย เพราะว่ากาย วาจานี้ มันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจิตใจ คนที่จะมีความประพฤติทางกาย ทางวาจาใจดี มันก็ต้องมีการอบรมสั่งสอนมาอย่างดี ถ้าใครสอนไม่ได้ มันก็เป็นคนที่มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เลว เหมือนกับเด็กๆที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน มันก็มีมรรยาทเลว เด็กๆที่ได้รับการอบรมสั่งสอนดี มันก็มีมรรยาทดี นี้ก็หมายความว่าเด็กนั้นมันเชื่อฟังและมันทำตาม มันไม่เถียง แล้วมันก็ยอมกระทำตามคำแนะนำตักเตือนทั้งต่อหน้าและลับหลัง ก็กลายเป็นเด็กที่มีระเบียบดี มีวินัยดี มีมรรยาทดี น่าดู น่าเลื่อมใสในสังคม เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีมรรยาทดี ก็จะสร้างความสงบสุขขึ้นในสังคมหรือว่าในบ้านในเรือน ท่านทั้งหลายลองไปนึกดูเอาเองก็แล้วกัน ถ้าลูกทุกคนมันไม่เชื่อฟัง ตักเตือนไม่ได้ แล้วมันจะเป็นอย่างไร ครอบครัวไหนมีเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้ นี้มันจะเป็นอย่างไร แล้วก็เห็นกันอยู่ทั่วๆไปว่ามันมีอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน ครอบครัวนั้นก็เป็นครอบครัวที่เศร้าหมอง ไม่มีอะไรที่น่าดู ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เด็กๆโตขึ้นก็เป็นอันธพาล นี่แหละถ้าหากว่าเราสามารถอบรมหรือควบคุมเด็กๆให้อยู่ในวินัย ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ มันก็เป็นสวัสดีมงคลอันสูงสุด ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า คาราโว จะ นิวาโต จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง “คาราโว” คือความเคารพเชื่อฟัง “นิวาโต” คือความไม่ยกหูชูหาง ไม่พองลม คำนี้แปลว่า ไม่พองลม ก็คือไม่ดื้อดึง การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างที่เรียกว่าเข้ากันได้เหมือนกับว่าเป็นมิตรเป็นสหายกันโดยตลอดไป มีอุปมาเปรียบเหมือนอย่างว่าน้ำกับน้ำนมเข้ากันได้สนิท แต่น้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได้อย่างนี้ ที่ทำให้เข้ากันไม่ได้ก็เพราะไม่มีความหวังดีต่อกันนั่นเอง ไม่มีความหวังดีต่อกันได้ก็เพราะว่ามันทำความเข้าใจกันไม่ได้ เพราะว่ามันพูดกันไม่รู้เรื่อง ข้อให้ท่านทั้งหลายลองสังเกตดูข้อนี้ให้มากว่าในหมู่พุทธบริษัทแท้ๆก็ยังมีการแตกแยกแบ่งแยกเป็นนิกายใหญ่ เป็นนิกายน้อย แม้ภายในนิกายหนึ่งๆซึ่งจะเป็นนิกายน้อยสักเท่าไร มันก็ยังมีการแตกแยก จนกระทั่งว่าในวัดๆหนึ่งมันก็ยังมีการแตกแยก คือมันพูดจาไม่รู้เรื่อง เรียกว่ามันไม่ลงหัวกัน มันยกหูชูหางด้วยกันทั้งนั้น มันไม่ลงหัวกัน นี่พูดกันไม่รู้เรื่อง นี่แหละคือความที่ไม่ประพฤติปฏิบัติให้ถูกตรงตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ในระเบียบของการปวารณาซึ่งเป็นสังฆกรรมของภิกษุในพระพุทธศาสนา คือเป็นกิจของสงฆ์ เป็นหน้าที่ของสงฆ์ เป็นเรื่องของสงฆ์ ที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้เพื่อประโยชน์แก่หมู่สงฆ์นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ก็หวังอย่างนี้ โดยส่วนที่เล็กลงมา เล็กลงมาก็หวังอย่างนี้ จนกระทั่งว่าในวัดๆหนึ่งก็ประพฤติปฏิบัติโดยหลักเกณฑ์ข้อนี้อย่างเคร่งครัด ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ แม้ในครอบครัวหนึ่งของพุทธบริษัท มันก็มีหลักอย่างนี้ คือว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ นี่แหละคือความเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง คือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ความเป็นผู้รู้ก็รู้เรื่องที่มันจะวินาศฉิบหาย รู้เรื่องที่มันจะเจริญรุ่งเรือง แล้วก็จะได้ประพฤติปฏิบัติไปตามทางที่จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ที่ว่าเป็นผู้ตื่นก็คือไม่มัวโง่อยู่ ไม่มัวหลับอยู่ ที่เคยโง่มาก็ได้ตื่นเสีย คือได้รู้เสีย ได้ตื่นจากความโง่เสีย ไม่ต้องหลับอีกต่อไป เราเคยยึดถือด้วยทิฐิมานะว่ากูไม่ยอมใคร นี่คือความหลับ งั้นรีบตื่นจากความหลับชนิดนี้เสียเถิด โดยถือว่าต่อไปนี้ใครๆก็ว่ากล่าวตักเตือนเราได้
เราจะถือเอาคำกล่าวตักเตือนนั้นว่าเป็นความหวังดี เป็นคำพูดที่หวังดีหรือเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ ก็ไม่มีเรื่องเกิดขึ้นเพราะการว่ากล่าวตักเตือน และตามหลักของการปวารณาของภิกษุสงฆ์นี้ก็ระบุไว้ชัดว่าให้ตักเตือนกันด้วยความหวังดี หวังดีให้เขาเจริญเราจึงว่ากล่าวตักเตือน หวังดีให้หมู่คณะเจริญเราจึงว่ากล่าวตักเตือน หรือว่าหวังดีเพื่อให้พระศาสนาเจริญ เราจึงว่ากล่าวตักเตือน เราไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยกิเลสของเรา ซึ่งต้องการจะข่มขี่เขา ซึ่งเป็นกิเลสชั้นต่ำชั้นเลวมาก อาศัยกิเลสชนิดนี้ข่มขี่ผู้อื่นด้วยกายด้วยวาจา อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของปวารณา ถ้าเป็นเรื่องของปวารณาก็ทำใจให้เมตตากรุณาหวังดีแก่ทุกฝ่ายเสียก่อนแล้วจึงว่ากล่าวตักเตือน เราสังเกตเห็นได้ว่าแม้พ่อแม่แท้ๆ รักลูกแท้ๆ แต่เวลาที่ว่ากล่าวตักเตือนสอนลูกก็มักจะทำไปด้วยโทสะ ทำไปด้วยความโง่เขลาเสียโดยมาก จึงทำไม่สำเร็จ ลูกก็ไม่อยากจะเชื่อฟัง เพราะว่าแม่พ่อ หรือผู้ใหญ่นั้นทำไปด้วยกิเลส ทำไปด้วยความประมาท ด้วยความหลง ไม่ได้ทำไปด้วยจิตใจที่ผ่องใสหรือเมตตากรุณา ฉะนั้น ขอให้เปลี่ยนกันเสียใหม่ ให้มีความรักความเมตตากรุณาเป็นเบื้องหน้าอยู่ในใจ แล้วจึงว่ากล่าวตักเตือนอะไรออกไป ย่อมจะสำเร็จประโยชน์ ทุกคนย่อมรู้ได้ว่าเขาว่ากล่าวนี้ด้วยความรู้สึกอย่างไร แม้ว่าจะพูดดีแต่ในใจมันร้าย เขาก็รู้ได้ว่านี่มันพูดอย่างหลอกลวง นี้เราก็ต้องทำในใจให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วการกระทำทางกายทางวาจาก็จะถูกต้อง แล้วคนก็จะมองเห็นว่าเป็นความถูกต้อง เป็นการกระทำด้วยความหวังดีให้เป็นไปเพื่อความถูกต้อง เขาก็ไม่ดื้อดึง เขาก็ยอมรับ ในการว่ากล่าวตักเตือนก็ดี ในการชักจูง ชักชวนให้ทำอะไรก็ดี ล้วนแต่ต้องกระทำไปด้วยความหวังดีด้วยกันทั้งนั้น นี่มันเป็นลักษณะทั่วไปของพุทธบริษัททั้งหลายว่าจะทำอะไรลงไปก็ทำด้วยความเมตตากรุณานั่นเอง
เรามีหลักสำคัญที่จะถือกันอย่างแน่นแฟ้นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นดังนี้ ขอให้หลักเกณฑ์อันนี้ฝั่งแน่นอยู่ในจิตใจจริงๆ อย่าเล่นตลก อย่าโกหก อย่าหลอกลวง ให้มันมีความรู้สึกว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ ถ้าในใจมันรู้สึกเป็นพื้นฐานอยู่ดังนี้แล้ว อะไรๆมันก็ออกมาในลักษณะที่เป็นความรัก เป็นความเมตตา เป็นความหวังดีต่อผู้อื่น มันก็จะเป็นเครื่องช่วยให้พูดกันรู้เรื่อง คือให้ปรองดองกันได้ ทำความเข้าใจกันได้ ไม่ระแวงซึ่งกันและกันว่าจะมาในแง่ร้าย นี่แหละจะแก้ปัญหามานะทิฐิได้ จะแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างยกชูหางกันได้ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน ซึ่งต่อไปข้างหน้านี้มีหน้าที่ที่จะต้องบริหารตนหรือว่าบริหารหมู่คณะของตน ใหญ่เล็กเท่าไรก็สุดแท้ จะต้องใช้ความระมัดระวังในข้อนี้ คือมีเมตตาในทางกาย เมตตาทางวาจา เมตตาทางจิตใจอยู่เป็นปกติ แล้วแสดงออกมาเพื่อทำความเข้าใจกันในระหว่างมนุษย์ ไม่จำเพาะ ไม่จำกัดเฉพาะอยู่ในวงพุทธบริษัท จะหมายความว่ามนุษย์ทั้งโลกก็ยังได้ ขอให้มีเมตตาจริงๆอยู่ในใจเถิด แม้คำดุด่าว่ากล่าวก็จะกลายเป็นคำที่ผู้อื่นยอมรับฟัง ไปคิดดูให้ดี ถ้าเราเชื่อว่าคนนี้รักเราโดยแท้จริง แม้คำของเขาจะกล่าวออกมาเป็นคำด่า คนก็ยังยินดีรับฟังและไม่ได้ถือโทษโกรธแค้น เหมือนบิดามารดาจะด่าลูกสักคำหนึ่ง ลูกมันก็ยังรู้สึกว่าพ่อแม่ยังรักเรา ฉะนั้น ความด่า การด่า กิริยาที่ด่านั้นมันก็มิได้เป็นศัตรู เพราะว่าทำไปด้วยความหวังดี หรือว่าปุถุชนคนธรรมดามันก็ต้องอย่างนี้แหละ งั้นขอให้เอาส่วนลึกเป็นประมาณว่ามีความหวังดีต่อผู้อื่นอยู่ แสดงออกมาภายนอกจะหยาบคายไปบ้างก็ต้องให้อภัย นี้ก็กล่าวเผื่อไว้ว่าถ้าเราไปกระทบเข้ากับการกระทำเช่นนั้น เช่น การดุด่าว่ากล่าวมันจะมากเกินไปบ้าง ก็รีบสังเกตดู ระลึกนึกถึงจิตใจส่วนลึกของผู้กล่าวดู ก็จะเห็นว่าล้วนแต่ทำไปด้วยความหวังดีหรือว่าทำไปตามหน้าที่ แต่เมื่อยังเป็นปุถุชนคนธรรมดามันก็ยังมีกิเลสบ้าง มันจึงต้องใช้กิเลสหรือว่าทำไปตามอำนาจของกิเลสบ้าง ก็เป็นส่วนที่ควรจะให้อภัย ถือเอาแต่ส่วนดี ส่วนเลวส่วนร้ายอย่าไปถือเอามาเลย คนปุถุชนมันก็ต้องมีกิเลสบ้าง ดังนั้น ส่วนนั้นอย่าไปถือเอามาเลย ส่วนที่เป็นความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ นั่นแหละจะต้องถือเอา พิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะพบว่าทุกคนมันไม่เลวไปทั้งหมดได้ มันต้องมีส่วนดีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย นี่เราจะถือเอาแต่ส่วนดี มีความคิดเห็นไปในทางดี มีความหวังไปในทางดี มองผู้อื่นไปแต่ในทางดี อย่าสร้างนิสัยเลวๆ ขึ้นมาสำหรับมองผู้อื่นในทางร้าย อะไรเกิดขึ้นนิดหนึ่งก็สันนิษฐานไปในทางร้ายเสมอไป ก็กลายเป็นนิสัยที่มองอะไรเป็นเรื่องร้ายไปหมด จะได้ยินได้ฟังอะไรมา ก็รู้สึกไปในทางร้ายไปเสียหมด และคนธรรมดาที่เห็นแก่ตัว มันก็จะต้องมีความรู้สึกอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่มาก ฉะนั้น ขอให้ตั้งใจขัดเกลากันเสียใหม่ ตั้งความปรารถนาดีไว้เป็นพื้นฐาน อะไรมา มีมาเกิดขึ้นก็พยายามมองในแง่ดี ก็จะพบวิธีที่จะแก้ไขหรือทำให้ดีหรือใช้ประโยชน์ในส่วนที่ดี เก็บเอาแต่ในส่วนที่ดี ส่วนที่เลวที่ร้ายก็ไม่สนใจ ทำอย่างนี้เถอะไม่เท่าไร โลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยความดี บ้านเมืองมันก็จะเต็มไปด้วยความดี หมู่คณะน้อยๆในบ้าน ในวัดหนึ่งๆนี้ก็จะมีแต่ความดี เพราะว่าทุกคนพยายามจะมองแต่ในแง่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ ไม่มองในแง่ร้ายเลย
เมื่อว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ ช่วยกันและกันให้ออกมาจากความผิดความชั่วเสียได้ มันก็มีแต่ความเจริญ จึงเห็นว่าความหมายของคำว่าปวารณานี้ มีอยู่อย่างลึกซึ้งและมีประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึก เราจะต้องขวนขวายดึงออกมาให้ได้ เข้าใจให้ได้ แล้วประพฤติปฏิบัติให้ได้ ไม่ว่าจะยากลำบากสักเท่าไร ก็อย่าได้ท้อใจเพราะว่าเราจะต้องอยู่ร่วมกันในโลกนี้อีกต่อไป ไม่มีใครจะอยู่ในโลกคนเดียวได้ ทุกคนต้องอยู่รวมๆกันมากๆ ถ้าจะเรียกว่าอยู่ในวัฏสงสาร นี้ก็อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่รวมกันมากๆ เป็นเพื่อนเวียนว่ายในวัฏสางสารด้วยกันนั่นเอง จงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มีมิตรภาพในฐานะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน แล้วมันก็จะเรียกว่าเป็นความดี เป็นโชคดี หรือเป็นการได้ที่ดีสำหรับคนที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเหล่านั้น เพราะว่ามันจะช่วยกันและกันให้ออกจากทุกข์ได้ เรามีพระพุทธเจ้าร่วมกัน เป็นผู้แนะนำสั่งสอน แล้วเราก็มารวมหัวกันปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนจนออกไปจากทุกข์ได้ ถ้าเราไม่พูดกันรู้เรื่อง ไม่ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ไม่เชื่อฟังกันและกันได้แล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะรวมกันได้ มันก็จะต้องทะเลาะวิวาทกันตลอดไป ไม่มีธรรมไม่มีวินัยเกิดขึ้นเลยในหมู่คนที่มีแต่การทะเลาะวิวาท ดังนั้น ขอให้ถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่จะป้องกันการทะเลาะวิวาทได้นี้มาเป็นที่พึ่ง คือมีการประพฤติปฏิบัติตามความหมายของการทำปวารณาว่าตักเตือนซึ่งกันและกันได้ อย่างที่ได้ประกอบพิธีกรรมเป็นสังฆกรรมในวันนี้ ในพุทธศาสนา ทั่วไปทุกหน ทุกแห่ง ทุกวัดวาอาราม ว่าวันนี้เป็นวันปวารณา คือวันที่ภิกษุสงฆ์กระทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เหมือนกับให้สัตย์สัญญาต่อกันและกัน ว่าเราจะเป็นผู้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้
ท่านทั้งหลายที่สนใจในวันปวารณา ซึ่งท่านไปเรียกมันว่าวันออกพรรษา อุตสาห์มาร่วมประชุมในวันออกพรรษา ก็ขอให้ได้เข้าใจความหมายของคำว่าออกพรรษาว่ามันมีความหมายสำคัญอยู่ที่การทำปวารณา คือลดกิเลสที่เป็นเหตุให้ยกหูชูหางลงไปเสีย ให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ แม้เขาจะตักเตือนผิดๆ ก็ไม่เสียหายอะไร เมื่อเห็นว่าผิดเราก็ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องทำตาม ถ้าเผื่อมันจะถูกเล่า เราไม่สนใจ เราไม่หยิบมาพิจารณา มันก็จะสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้นในวันออกพรรษาก็คือวันปวารณา เป็นวันเตรียมพร้อมที่จะให้ใครว่ากล่าวตักเตือนได้ ถึงถ้าท่านชอบคำว่าออกพรรษา จะถือเอาความหมายของคำว่าออกพรรษามาเป็นหลัก มันก็ยังได้เหมือนกัน คือให้ออกมาเสียได้จากสิ่งที่เลวร้ายคือกิเลสที่เป็นเหตุให้ยกหูชูหางนั่นเอง ออกมาเสียได้จากกิเลสนั่นแหละคือออกพรรษา ความหมายก็เป็นอันเดียวกัน จะเรียกว่าวันปวารณาก็ได้ จะเรียกว่าวันออกพรรษาก็ได้ มันมีความหมายอย่างเดียวกัน คือออกมาเสียจากความเลวร้าย ด้วยการที่ทำตนให้เป็นคนที่ใครๆเขาว่ากล่าวได้ ตักเตือนได้ แนะนำได้ ก็ชื่อว่าไม่เสียทีที่ได้มาบำเพ็ญกุศล
ในวันปวารณาหรือวันออกพรรษา แล้วแต่ท่านจะชอบคำไหน อาตมาขอตักเตือนท่านทั้งหลาย ถือโอกาสแห่งวันปวารณานี้ ตักเตือนท่านทั้งหลายว่าจงรีบแก้ไขสิ่งบกพร่องบางอย่างบางประการที่กำลังมีอยู่ในตน ให้หมดจดให้สะอาดจนไม่เป็นที่รังเกียจแก่ตนและก็ไม่เป็นที่รังเกียจแก่ผู้อื่นเป็นแน่ และขอฝากให้ท่านทั้งหลายรับเอาระเบียบปฏิบัตินี้ไป ไปใช้ในสังคมที่ท่านเกี่ยวข้อง จะเป็นในบ้านในเมืองหรือในครอบครัว แม้แต่เป็นพระก็ยังจะต้องสึกออกไปปกครองครอบครัว ก็ขอให้ถือเอาหลักปฏิบัติอันนี้ คือการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้นี้ไปใช้เป็นหลักในการดำเนินครอบครัว ก็จะตรงตามพระพุทธประสงค์ที่ทรงหวังไว้สำหรับพุทธบริษัท นี้คือสิ่งที่เราต้องพูดกัน และอาตมาก็ถือโอกาสตักเตือนท่านทั้งหลายเป็นรายแรกของการปวารณาหรือออกพรรษาในปีนี้ ขอให้การกระทำนี้ได้รับความสนใจอย่างดี แล้วก็เอาไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องให้แก้ปัญหาได้ต่างๆได้ด้วยกันทุกคน แล้วก็จะ (นาทีที่ 49:44) เอวัง สัง วะทา คือว่าจะเจริญงอกงามได้ด้วยอาการอย่างนี้ในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้