แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาในวันนี้ อาศัยหัวข้อพระพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นดังนี้ การที่ได้นำเอาหัวข้อพระพุทธภาษิตนี้มาวิสัชนา ก็เพราะมองเห็นว่า คนส่วนมากยังไม่เข้าใจความหมายของพระพุทธภาษิตนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ทำไมจึงว่าตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ข้อนี้พึงทราบว่า เมื่อมีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระพุทธวจนทั้งหมดทั้งสิ้น จะสรุปลงให้สั้นที่สุด จะได้หรือไม่ได้และว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าได้ และว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ดังนี้ เมื่อดูตามข้อความนี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธภาษิตสั้น ๆ นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
จะได้พิจารณากันสักหน่อยถึงคำว่าหัวใจของพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงหัวใจของพุทธศาสนา ก็มีความเข้าใจผิดแปลกแตกต่างกันอยู่ บางคนก็ว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือ คำสอนที่ห้ามไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง ให้ทำความดีให้เต็มที่ และให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ว่านี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาดังนี้ก็มี หรือบางคนก็ว่าอริยสัจทั้ง๔ คือเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และเรื่องทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นหัวใจพุทธศาสนาดังนี้ก็มี บางคนจะว่า คาถาที่พระอัสสชิกล่าวแก่ พระสารีบุตรเมื่อยังเป็นปริพาชกคือ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ ซึ่งมีพบจารึกในแผ่นอิฐเป็นอันมาก ทั้งในประเทศไทยและประเทศอินเดียนั้น ว่าอันนี้เป็นหัวใจพระพุทธศาสนาก็มี.
การที่กล่าวว่าข้อความเหล่านั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น ก็เป็นการถูกต้องเหมือนกัน แต่ลองสังเกตดูให้ดีเถิดว่า อันไหนจะเป็นหัวใจของพุทธศาสนามากน้อยกว่ากันอย่างไร ในเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับพระพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นดังนี้
เราจะเห็นได้ในขั้นแรกว่า ที่ว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ อย่างเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น ก็เป็นการถูกต้อง คือคำสอนที่ว่าไม่ให้กระทำบาป ให้ทำดี ให้ทำบุญ ให้ทำกุศล และทำจิตให้บริสุทธิ์ นี่ก็เป็นการถูกต้อง และข้อที่ว่า ทำจิตให้บริสุทธิ์นั่นเอง คือทำจิตไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวตนของตน ดังนั้นจึงเป็นอันเดียวกันโดยปริยาย และการไม่ทำบาปหรือการทำกุศลนั้น เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เป็นการไม่ทำบาปและเป็นการทำกุศลอยู่ในตัว
ที่ว่าอริยสัจทั้ง ๔ เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้นก็ถูกต้อง แต่พึงทราบเถิดว่า อริยสัจข้อสุดท้ายคือมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มรรคมีองค์ ๘ เมื่อปฏิบัติสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นของตนหรือตัวตน นี้จึงเห็นได้ว่า มีความเหมือนกันอยู่ที่ตรงนี้อีก
หรือคาถาพระอัสสชิที่กล่าวแก่พระสารีบุตรที่ว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดมาแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และตรัสความดับแห่งธรรมนั้นด้วย มหาสมณะมีปรกติตรัสแต่อย่างนี้ นี่ก็จงคิดดูเถิดว่า การที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอะไรมากไปกว่าเหตุ เกิดมาแต่เหตุ และจะดับไปก็เพราะการดับแห่งเหตุนั้น ก็เป็นการบอกอย่างชัดแจ้งที่สุดแล้วว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุหรือเป็นเพียงเหตุและผลเท่านั้นเอง ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นส่วนไหนได้เลย เพราะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุอยู่เสมอ ก็เป็นอันว่า มีใจความสำคัญอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงหัวใจพุทธศาสนาในข้อไหนในรูปไหน มากหรือน้อย สั้นหรือยาวอย่างไร ใจความสำคัญก็อยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง
ที่เมื่อมีผู้ไปทูลถามพระองค์ พระองค์ก็ตรัสอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงถือเอาว่า พระพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ นี้ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ถ้าจะให้พูดเป็นภาษาไทยสั้น ๆ ก็พูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเองเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ทีนี้ก็มามีปัญหาต่อไปถึงว่า คนโดยมากไม่เข้าใจคำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น บางคนก็เข้าใจผิดไปเสียก็มี ทำให้ปฏิบัติในข้อนี้ไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปโทษพระธรรมคำสอนก็ไม่ได้ มันก็ต้องโทษความไม่รู้ความไม่เข้าใจของคนเหล่านั้นเอง จึงเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง การที่ไม่มีความเข้าใจถูกต้องนั้น ก็เพราะไม่ค่อยมีใครจะสนใจในพระพุทธภาษิตข้อนี้ ไปสนใจในเรื่องเอา เรื่องได้ เรื่องเป็น อย่างนั้นอย่างนี้ไปเสียหมด พอได้ยินคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นก็สั่นหัวและกลัว เพราะไปนึกเสียว่า เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรที่เป็นการได้ จึงเลยกลัว จึงไม่สนใจในคำสอนที่สอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงไม่อาจจะพ้นทุกข์ได้ แม้จะปฏิบัติไปในทางบุญกุศลเท่าไร ๆ ก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เพราะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังนี้
ทีนี้อีกทางหนึ่ง ภาษาไทยนี้ก็เป็นสิ่งที่ยากหรือลำบากในการที่จะเอามาพูดธรรมะ ซึ่งเป็นภาษาอื่นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะก็คือภาษาอินเดียในสมัยพุทธกาล เมื่อเขานำธรรมะมาสอนในเมืองไทย ก็จำเป็นที่จะต้องแปลเป็นไทย คนแรกที่แปลไปนั้นจะถูกหรือผิด จะตรงหรือไม่ตรง เราก็รู้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าภาษานี้เปลี่ยนแปลงมาอย่างไร แต่เมื่อตกมาถึงสมัยนี้แล้วเราก็รู้สึกว่า คำแปลบางอย่างนั้นไม่ตรงและเป็นไปไกล และมีช่องทางที่จะให้เข้าใจผิดได้มาก เช่นคำว่า สุญญะ หรือ สุญญตา ซึ่งหมายถึงความว่างจากตัวตนนั้น ก็มีคนแปลว่าเป็นความสูญเปล่า คนโง่ ๆ ก็เลยถือเอาความสูญเปล่านั้นเป็นความหมายของสุญญตา ก็เลยเกลียดกลัวสุญญตาซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนาและเล็งถึงพระนิพพานนั่นเอง
คนจึงเกลียดกลัวนิพพานเพราะการแปลคำว่าสุญญตาผิด ไปแปลว่าสูญเปล่าเข้า ที่จริงไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า แต่แปลว่า ว่างจากความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนเท่านั้นเอง มันมีอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ว่าไม่มีอะไรที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตนดังนี้ นี้ก็เห็นได้ชัดว่า เมื่อแปลคำพูดนั้นผิดแล้ว เรื่องก็เป็นไปในทางผิดหมด จะต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ให้ถูกต้องกันเสียก่อน จึงจะเข้าใจหลักพระพุทธศาสนาส่วนนี้ได้
ทีนี้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าแปลมาจากคำว่า อนุปาทาน คือไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ดี หรือจะแปลมาจาก อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่า ไม่ควรฝังตัวเข้าไป นี้ก็ดี เรียกเป็นไทย ๆ ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น คนก็ไม่เข้าใจคำ ๆ นี้ แล้วก็ไปตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว จะได้อะไร หรือจะมีอะไรเป็นที่พึ่ง ที่จริงคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ มีความหมายลึกซึ้ง คือหมายถึงไม่มีความรู้สึกคิดนึกสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราหรือว่าเป็นของ ๆ เราเท่านั้น ต้องการไม่ให้มีความยึดมั่นด้วยความโง่ ความหลง หรืออวิชชา ที่หมายมั่นปั้นมือจะเอานั่นเอานี่มาเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา
คนบางคนสงสัยต่อไปว่า เราต้องยึดมั่นถือมั่น เช่น จะต้องยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้า ยึดมั่นถือมั่นในพระธรรม ยึดมั่นถือมั่นในพระสงฆ์กันอย่างนี้อยู่ทั่ว ๆ ไป เมื่อใครมาบอกว่าไม่ให้ยึดมั่นอะไรก็กลัว หรือเข้าใจไม่ได้ หรือในที่สุดก็ไม่เชื่อ เพราะจะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เขารักเขาพอใจ หรือเขาเห็นว่าจะเป็นที่พึ่งได้เสมอไป นั้นมันก็เป็นการถูกต้องแค่นิดเดียว พึงทำความเข้าใจว่า การถึง กับการยึดมั่นถือมั่น นั้นไม่เหมือนกัน
เมื่อเราพูดว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ อย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ยึดมั่นถือมั่นพระพุทธเจ้าว่าเป็นตัวเราหรือของเรา แม้จะพูดว่าให้ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ก็มีความหมายว่า ให้ถือเอาเป็นตัวอย่างในการที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร
พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้น คือตัวความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เมื่อผู้ใดมีจิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเป็นตัวตนหรือเป็นของตน เมื่อนั้นชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่กับผู้นั้นหรืออยู่ในจิตใจของผู้นั้น คือจิตที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้า
สังเกตดูให้ดีเถิดจะเห็นว่า เมื่อจิตของเราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราแล้ว ในขณะนั้นจิตมีความบริสุทธิ์ที่สุด ในขณะนั้นจิตมีความสว่างไสวที่สุด ในขณะนั้นจิตมีความสงบเย็นหรือเป็นสุขที่สุด พอเกิดความยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้ามา จิตนั้นก็เร่าร้อนที่สุด สกปรกที่สุด มืดมัวที่สุด และเป็นทุกข์ที่สุด ดังนั้นจิตที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในขณะนั้นแหละ เป็นจิตที่ถึงพระพุทธเจ้า หรือมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง แต่คนไม่เข้าใจอาการอันนี้ ก็ไปเดาสุ่มเอาว่าเราจะต้องยึดมั่นถือมั่นพระพุทธเจ้าเป็นของเรา เป็นที่พึ่งแก่เราไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ก็เลยตกอยู่ในฐานะที่โง่เขลาอย่างน่าเวทนาสงสาร แม้จะเข้าวัดรับศีล ฟังเทศน์ ให้ทานมาสักกี่ปีกี่สิบปี ก็ยังห่างไกลต่อพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องร้องตะโกนเป็นนกแก้วนกขุนทองเรื่อยไปว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เป็นต้น โดยไม่มีความหมายอะไรเลย
นี่แหละคือโทษของการที่ไม่เข้าใจคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตามตัวหนังสือเหล่านี้ ว่าเราถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น ก็คือถึงการที่มีจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นที่พึ่ง หรือว่าเราถึงพระธรรมเป็นสรณะนั้น ก็คือการถึงภาวะที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นที่พึ่ง หรือแม้ว่าเราถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งเป็นสรณะนั้น ก็คือเราถึงหมู่บุคคลที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น และเราจะต้องทำให้เหมือนเขาด้วย เป็นที่พึ่ง รวมหมดด้วยกันทั้ง ๓ สรณะนี้ก็อยู่ตรงที่มีจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เป็นเครื่องอำนวยความสุขให้แก่เรา เป็นเครื่องอำนวยความบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสว่างไสวแจ่มแจ้งสงบเย็นให้แก่เรา นั่นคือความหมายของคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง
เรื่องนี้เคยกล่าวกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว และยังจะต้องกล่าวซ้ำ ๆ กันอยู่ต่อไปอีกมากคือว่า สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นมีอยู่หลายชั้น หลายลำดับ หลายความหมาย เป็นเพียงเปลือกนอกก็มี เป็นเนื้อในก็มี แม้ที่เป็นเนื้อในก็ยังมีหลายชั้นเป็นชั้น ๆ เข้าไป กว่าจะถึงเนื้อในที่เป็นหัวใจที่สุด
อย่างพระพุทธเจ้านี้ที่เป็นชั้นนอกชั้นเปลือกที่สุดก็เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น ที่เป็นเนื้อในเข้าไปก็คือองค์พระพุทธเจ้าที่เดินไปมาอยู่ที่ประเทศอินเดียในสมัยนู้น ที่เป็นเนื้อในเข้าไปกว่านั้นอีกก็คือ พระธรรมะและวินัย พระธรรมวินัย ที่พระองค์ตรัสว่า นี้จักอยู่เป็นศาสดาของพวกเธอ ในการเป็นที่ล่วงลับไปแห่งตถาคต อย่างนี้ก็มี ทีนี้ ที่เนื้อในเข้าไปอีกก็ต้องรู้ว่าพระธรรมวินัยนั้นมีหัวใจเป็นอย่างไร พระธรรมวินัยทั้งหมดทั้งสิ้นมีหัวใจเป็นความสะอาด สว่าง สงบ ที่เป็นส่วนปริยัติ คือจะต้องศึกษาเล่าเรียน ก็เรียนเรื่องสะอาด สว่าง สงบ ที่เป็นปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเพื่อสะอาด สว่าง สงบ และที่เป็นผลของการปฏิบัติ ก็เป็นผลคือความสะอาด สว่าง สงบโดยตรง ในอันดับใดอันดับหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า มรรคผลนิพพาน นิพพานก็คือความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด มรรถผลก็รองลงมา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เนื้อแท้หรือหัวใจชั้นในสุดของพระพุทธเจ้าก็คือ ภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบ พระพุทธเจ้ามีความสะอาดถึงที่สุด เราเรียกว่าบริสุทธิคุณ มีความสว่างถึงที่สุด เราเรียกว่าพระปัญญาคุณ มีความสงบสุขถึงที่สุด ซึ่งเราเรียกว่าสันติคุณ เป็นต้น ภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบที่มีอยู่ในหัวใจของท่านนั้น คือองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ที่จะกล่าวได้ว่า มีอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงบัดนี้
สมกับพระพุทธภาษิตที่พระองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่ไม่เห็นธรรม ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคต ผู้ที่ไม่เห็นธรรมแม้จะอยู่ใกล้ตถาคตขนาดจับเอาจีวรไว้ ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคต นี่แหละลองคิดดูให้ดีเถิดว่า พระพุทธองค์เองก็ทรงปฏิเสธว่าร่างกายนั่นไม่ใช่องค์ตถาคต ต่อเมื่อเห็นธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจ นั่นจึงจะเรียกว่าเห็นตถาคต ธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจของพระองค์ก็คือความสะอาด สว่าง สงบดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นเราจึงถือเอาความสะอาด สว่าง สงบนั่นเองเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร เพราะว่าเราจะถึงพระพุทธเจ้าชนิดนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเองก็มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ บางเวลาเรามีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ลองคิดดูเถิดว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง นั่นมันเป็นอย่างเดียวกันกับจิตใจของพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงถือว่าในขณะนั้นแหละถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าหรือถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งได้ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้า แต่เกี่ยวกับการถึงหรือการถือไว้ได้จริง โดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น
ในส่วนพระธรรมก็เป็นอย่างนี้ ในส่วนพระสงฆ์ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า ที่ว่าจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งนั้น กริยาที่เรียกว่าถือนั้นไม่ได้เป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นในที่นี้ท่านหมายเอาความยึดมั่นถือมั่นที่มีมูลมาจากความโง่ ความหลง คือมีมูลมาจากอวิชชา การที่เราจะไปถึงพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจของอวิชชานั้นเป็นไปไม่ได้ เราจะถึงได้ก็แต่ด้วยอำนาจของวิชชาหรือปัญญา การถึงหรือการถือด้วยอำนาจของวิชชาหรือปัญญานี้ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน แต่ว่าสามารถจะทำให้ถึงกันจริง ๆ คือมีจิตใจเหมือนกัน แล้วก็เรียกว่าถึง การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าใครเคยโง่มาอย่างนี้ก็หายโง่กันเสียบ้าง ว่าจะยึดมั่นถือมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยอำนาจของอวิชชาอุปาทานนั้นเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าเราจะมีศรัทธา มีความรัก มีความพอใจ มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าสักเพียงไร ก็อย่าให้เป็นไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจของอวิชชาหรืออุปาทานเลย จงมีความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรก็จงทำอย่างนั้น ในที่สุดก็จะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงได้ และถึงได้จริง ๆ ด้วย โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
ควรจะทบทวนกันเสียใหม่ครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้านั้นหมดความยึดมั่นถือมั่น พระธรรมนั้นก็คือคำสอนและวิธีปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติที่เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น และพระสงฆ์นั้นก็คือผู้ปฏิบัติในความไม่ยึดมั่นถือมั่นจนสำเร็จจนได้ผลของความไม่ยึดมั่นถือมั่น รวมกันทั้ง ๓ องค์ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ล้วนแต่มีความหมายเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร ควรจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วก็จะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้โดยแท้จริง
ถ้ามองกันดูต่อไปถึงเรื่องความยึดมั่นถือมั่นอย่างอื่นที่ยุ่งยากลำบากแก่การปฏิบัติ ที่ต่ำลงมา ที่เป็นเรื่องของชาวบ้านทั่วไปที่ว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั้นอย่างไร ลองคิดดู เราจะมีเงิน มีของ คือมีทรัพย์สมบัติโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นได้หรือไม่และมันต่างกันอย่างไร ในขณะที่เราไม่มีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของเรานั้นเรียกว่า เราไม่ยึดมั่นถือมั่นและเงินนั้นก็ไม่ได้ไปไหนเสีย ยังอยู่ที่บ้าน ยังอยู่ในธนาคาร ในหีบในห่ออยู่นั่นเอง เงินนั้นก็ยังเรียกว่าเป็นของผู้นั้นโดยกฎหมาย โดยขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่อย่างนั้นเอง ขณะนั้นเรียกว่ามีเงินนั้นโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีความทุกข์เลย เมื่อใดมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเงินของกู เงินทั้งหมดก็มาสุมอยู่บนศีรษะของคนนั้นทันที มีความหนักอย่างไร มีความร้อนเท่าไร ก็ลองคิดดู มีความวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ อย่างนี้เรียกว่ามีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติด้วยความยึดมั่นถือมั่น ขณะนั้นเป็นความทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ดีแต่ว่าอาการอย่างนั้นมันเป็นแต่น้อย ๆ มันไม่เป็นทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ถ้ามันเป็นทั้ง ๒๔ ชั่วโมงคนนั้นจะต้องตาย อย่างดีที่สุดก็จะต้องเป็นบ้า จะต้องไปส่งโรงพยาบาลบ้า นี้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงเงินไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นกี่ชั่วโมงนัก มันจึงอยู่เป็นคนกันมาได้ มีจิตใจปรกติอย่างคนทั้งหลาย แต่พอเมื่อใดไปยึดมั่นถือมั่นเข้าก็กลุ้มขึ้นมาพักหนึ่งแล้วก็หายไป นี้เรียกว่าตัวตนที่เป็นเจ้าของเงินนั้นเกิดขึ้นมา
พอเกิดตัวตนอย่างนี้แล้วต้องเป็นทุกข์ไม่มีใครช่วยได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยคนโง่ ๆ ชนิดนี้ไม่ได้ คนโง่ ๆ ชนิดนี้จะต้องเป็นทุกข์ ยังจมอยู่ในก้นวัฏฏสงสารโดยแน่นอน ต่อเมื่อเขาได้ฟังหรือได้นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องชี้ทางให้เกิดความสว่างแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความวิตกกังวลแล้วก็สบายไปตามเดิม แต่ว่าโดยที่แท้แล้วธรรมชาติช่วยมากกว่า คือคนเรามีธรรมชาติหรือมีปรกติธรรมชาติธรรมดา ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้โดยความเป็นของตนตลอดกาล มียึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเป็นคราว ๆ เพราะเผลอสติไปด้วยอำนาจของความโง่ ความหลง จึงถือว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง เรามีเวลาจะยึดมั่นถือมั่นน้อยที่สุด แต่ว่ามีเมื่อไหร่เป็นทุกข์ เป็นความทุกข์อย่างร้ายแรงทันทีเมื่อนั้น ดังนั้นเราสังเกตข้อนี้ให้ดีเราจะรู้ว่า เงินนี้มีได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น และมีด้วยยึดมั่นถือมั่นก็ได้ มันต่างกันอยู่เป็น ๒ อย่าง เมื่อใดมีโดยยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นเป็นทุกข์ เมื่อใดมีโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเมื่อนั้นไม่เป็นทุกข์
และเรามีกันโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น วันหนึ่งคืนหนึ่งหลายชั่วโมง มีความยึดมั่นถือมั่นต่อเมื่อกลุ้มอกกลุ้มใจ วิตกกังวล หรือความคิดนึกยึดถือหวงแหนเป็นขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวจะหายไปอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเอง นี้เรียกว่ามีเงินอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ มีเงินอย่างยึดมั่นถือมั่นนั้น ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์นรกหมกไหม้ขึ้นมาทันที ไปคิดดูให้ดีเถิด จะเกิดความเข้าใจ เกิดความเกลียดกลัวแล้วก็ถอยห่างออกไปเอง
ทีนี้ คิดดูต่อไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องบุญกุศล จะทำบุญทำกุศลโดยไม่ต้องมีความยึดมั่นได้หรือไม่ คนโง่ ๆ ก็จะคิดว่ามันไม่ได้ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นเอาบุญกุศลเป็นของเราแล้วจะไปทำมันทำไม นี้เป็นความเข้าใจของคนโง่ ของปุถุชนคนพาล คนโง่ คนเขลา ไม่เคยได้ยินฟัง ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมของพระอริยเจ้าจึงได้คิดไปอย่างนั้น
ผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้าแล้วจะไม่คิดไปอย่างนั้น เพราะว่าเข้าใจถูกต้องตามคำสอนของพระอริยเจ้า จึงทำบุญทำกุศลเพื่อบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นเสีย การทำบุญให้เป็นบุญ ทำกุศลให้เป็นกุศลนั้น ต้องทำไปในลักษณะที่ทำลายความยึดมั่นถือมั่น ถ้าทำไปเพื่อเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่เป็นบุญเป็นกุศลที่แท้จริงเลย เป็นบุญเป็นกุศลอย่างหลอกลวง อย่างมายา อย่างชนิดที่จะจับผู้นั้นเองใส่ลงไปในนรก คือ ความร้อนใจ ความเป็นทุกข์ ความวิตกกังวล กลัวจะหมดบุญ กลัวจะไม่มีบุญ กลัวจะหมดกุศล อะไรเหล่านี้ เป็นต้น
เป็นคนเมาบุญ อย่างที่เรียกกันว่าบ้าบุญ เมาบุญ ทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัวก็ไม่ประสพบุญที่ตรงไหน นี่คือโทษของการยึดมั่นถือมั่นอย่างผิด ๆ ในเรื่องบุญเรื่องกุศล ทำบุญทำกุศลด้วยความสำคัญผิดคือทำบุญด้วยอวิชชา ทำบุญด้วยโมหะ จึงไม่เป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมาได้ จึงควรจะเข้าใจกันเสียใหม่ให้ดี ๆ ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าบุญหรือกุศลนั้น ก็ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงหรือ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นดังที่กล่าวแล้ว บุญก็เหมือนเงิน พอยึดมั่นว่าของตนก็เท่าไหร่ เมื่อไร ก็เป็นทุกข์เท่านั้นและเมื่อนั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าให้ทำไปให้เจริญ ให้งอกงาม ให้ก้าวหน้า แล้วบุญนั้นก็จะช่วยทำลายความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่นเราบริจาคทาน ทำบุญด้วยการบริจาคทาน ถ้าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ก็จะทำโดยคิดว่าลงทุนไปบาทหนึ่งนี้จะได้สวรรค์จะได้วิมานเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นในการกระทำ ในสิ่งที่จะได้มาจากการกระทำ ว่าถ้าตายแล้วจึงจะได้วิมานจะได้สวรรค์อย่างนี้ก็เอาดี ขอให้มีความเชื่อมีความแน่ใจ อย่างนี้เรียกว่าทำไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น มันก็เพิ่มความโลภความหลงมากขึ้น แล้วจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้อย่างไรกัน ทีนี้อีกคนหนึ่งทำบุญให้ทานโดยคิดว่า ความขี้เหนียวนี้เป็นข้าศึกศัตรู ความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นข้าศึกศัตรู เราจะทำลายความขี้เหนียวหรือความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้เสีย จึงให้ทาน เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ให้ทานไปเท่าไหร่ ก็ทำลายความขี้เหนียวหรือความยึดมั่นถือมั่นได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นคนมีกิเลสเบาบางลงทุกทีตามลำดับ ตามลำดับของการที่ให้ทาน การทำบุญให้ทานของบุคคลผู้นั้น จึงได้ผลสมตามความปรารถนา คือเป็นไปเพื่อความดับทุกข์
เมื่อได้พิจารณาดูทั้ง ๒ อย่าง ๒ ทางเปรียบเทียบกันดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่ามันต่างกัน และคนเราทำบุญทำกุศลโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นก็ได้ และจะเป็นบุญกุศลที่แท้จริง และจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นให้หมดไป
ทีนี้จะนึกดูให้ละเอียดลงไปว่า เราจะต้องยึดมั่นถือมั่นในชีวิตของเราหรือไม่ ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รัก หวงแหนกันนักกันหนา ไม่อยากให้ตาย ไม่ยอมตาย แต่เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น ผู้ใดยึดมั่นถือมั่นในชีวิตของตนแล้วจะมีความทุกข์ขึ้นมาทันที อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องกลัวตาย และความกลัวตายนั้นก็จะทรมานจิตใจไปทุกหนทุกแห่งทุกเวลา หาความสุขไม่ได้
ท่านจึงได้สอนไว้ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น แม้แต่ในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตของตน เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น ก็เป็นไปตามธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัยของมัน เรารู้จักทำ รู้จักใช้ รู้จักประพฤติให้เข้ารูปเข้าร่างกันกับธรรมชาติ กำหนดมาอย่างไร ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างไร ก็สามารถจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์และไม่เป็นทุกข์ทรมานได้ แต่พอเราทำผิดข้อนี้ เช่น ไปยึดว่าเป็นของกูเข้าเท่านั้น ก็จะนอนไม่หลับแล้ว จะกลัวตายโดยอาการมากมายหลายอย่างหลายประการ กลัวผี กลัวเสือ กลัวคน กลัวโรคภัยไข้เจ็บสารพัดอย่าง ซึ่งทำให้เกิดการเป็นทุกข์และทรมาน นอนก็ไม่หลับสนิทเพราะเป็นห่วง ว่ามันจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เป็นอันว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้เราก็มีได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มีชีวิตได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เป็นความทุกข์ ถ้ามีชีวิตโดยมีความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทุกข์ตลอดเวลา นี่ดีแต่ว่าจิตใจมันไม่ได้ไปคิดยึดมั่นถือมั่นตลอด ๒๔ ชั่วโมง มันจึงไม่เป็นบ้าและไม่ตาย จึงอยู่มาได้
เพราะฉะนั้น จงขอบใจความไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีอยู่เองตามธรรมชาติด้วยกันจงทุกคน แล้วเมื่อขอบใจมันแล้ว ก็ต้องรู้จักบุญคุณของมันบ้าง คือช่วยกันศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ให้ยิ่งขึ้นไป ตามหลักของพระพุทธศาสนา คือตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมคือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นดังนี้ ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เมื่อไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์แล้ว ก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ คนเราจึงอยู่ด้วยความผาสุก และเรียกบุคคลชนิดนี้ว่า อริยบุคคล คือ คนที่ไม่จมอยู่ในกองทุกข์
เมื่อพูดถึงอริยบุคคล เดี๋ยวก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาอีก มีคนเป็นอันมากอยากเป็นพระอรหันต์ อยากเป็นโสดาบัน อยากเป็นนั่นเป็นนี่ยกหูชูหางด้วยการกระทำของตนที่คิดว่าตนดีกว่าคนอื่น เที่ยวปฏิบัติวิปัสสนาที่นั่นที่นี่สักหน่อยแล้วก็ยกหูชูหางเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี อย่างนี้มันเป็นเรื่องความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นหรือไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้อีกนั่นเอง เมื่อได้เข้ามาปฏิบัติในพระศาสนาแล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องของความไม่ยึดมั่นถือมั่นไปหมด ปฏิบัติอะไรได้มาก็อย่าเพิ่งนึกว่าตัวดีกว่าคน อย่าไปคิดนึกไปในทางที่ว่า ตัวเองดีกว่าผู้อื่น นั้นเป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าโดยที่แท้แล้วความเป็นพระอริยบุคคลนั้น คือผู้ที่รู้สึกว่าไม่มีตัวตนของตนยิ่งขึ้นทุกที จนถึงที่สุดคือเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็หมดความรู้สึกว่าตัวว่าตนโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงไม่มีความรู้สึกที่จะยกหูชูหางว่าตัวดีกว่าคนอื่นเหมือนคนทั่วไปที่กำลังเป็นอยู่มากแม้ในหมู่พุทธบริษัท เพราะมีความเข้าใจผิดในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นดังที่กล่าวแล้ว
นี่แหละท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้จริงหรือไม่ ถ้าเราจะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว เราจะต้องประพฤติปฏิบัติเรื่องนี้และอย่างนี้กันหรือไม่
ลองคิดดูต่อไปก็จะพบว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านรู้อะไรทุกอย่างจนกระทั่งรู้ว่า ควรจะสอนมนุษย์เหล่านี้อย่างไร ท่านจึงเลือกมาสอนโดยวิธีที่ถูกต้องพอเหมาะพอสม เท่าที่มนุษย์จะพึงรับเอาได้ ท่านเปรียบความข้อนี้ไว้ว่า บรรดาธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้นั้นมีมากมายเหลือที่จะคณนาได้ จนเปรียบเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่าทั้งดงในโลกนี้ ส่วนธรรมะที่พระองค์ทรงนำมาสอนแก่มนุษย์นั้นเปรียบเท่ากับใบไม้กำมือเดียวแยกออกมา เห็นตามที่เห็นว่าเหมาะสมอย่างไร แล้วจึงเอามาสอนแก่มนุษย์
คิดดูทีก่อนว่าใบไม้ทั้งป่าทั้งดงหมดทั้งโลกนี้มันมากเท่าไหร่ ในเมื่อมาเปรียบเทียบกับใบไม้เพียงกำมือเดียว นี้ก็แปลว่าพระองค์ได้ทรงเลือกเอาแต่หัวใจที่สุดแล้วมาให้เรา และแล้วในทั้งหมดนั้นก็ยังมีหัวใจที่รัดกุมลงไปอีกจนถึงประโยคที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เรื่องนี้มีสิ่งที่จะต้องสังเกตดูให้ดีว่า คำพูดทุกคำมีความหมายเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น เช่น สมมุติว่าพระไตรปิฎกมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ เรื่อง ๘๔,๐๐๐ ข้อคือ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ก็ต้องรู้ว่าทุก ๆ ธรรมขันธ์ล้วนแต่แสดงความไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราฟังไม่ออก เราเห็นไปเป็นอย่างอื่นไปหมด
ดังนั้น ขอให้ไปเข้าใจกันเสียใหม่เถิดว่า พระพุทธวจนทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น ทุกข้อแสดงเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นสังเกตดูให้ดี เช่นเรื่องศีล ก็ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไปฆ่าคน ไปขโมย ไปประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้วทำอย่างนั้นไม่ได้ เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน ในขณะที่จิตเป็นสมาธินั้นปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าพูดถึงเรื่องของปัญญาแล้วก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยตรง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าปัญญานั้นหมายถึง ความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ฉะนั้นจึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ทีนี้มันมีอะไรเล่าในพุทธวจนทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น มันก็มีแต่เพียงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงถือว่าทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น ล้วนแต่แสดงเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้อย่างที่เป็นหัวใจ
ทีนี้เราทุกคนก็เห็นกันอยู่แล้ว เข้าใจกันอยู่ได้แล้วว่า สิ่งที่เรียกว่าหัวใจนั้น มันไม่โผล่ออกมาให้เห็นเหมือนกับผิวหนังส่วนนอก สิ่งที่เรียกว่าหัวใจนั้นต้องซ่อนอยู่ในภายในและเป็นส่วนลึกเสมอไป ดังนั้นอย่าไปหลงที่ส่วนนอก จงมองให้ทะลุส่วนนอกเข้าไปถึงส่วนในคือหัวใจ คือว่าเมื่อได้ยินธรรมะข้อใดสักข้อหนึ่งแล้ว ก็จะต้องเข้าถึงหัวใจของธรรมะข้อนั้นให้ได้ว่า อยู่ที่สอนให้ทำลายความไม่ยึดมั่นถือมั่น
เช่น ธรรมะข้อหนึ่งสอนว่า ให้มีความสัตย์ มีความซื่อตรงนี้ เราก็ต้องจับให้ได้ว่า คนที่ไม่ซื่อตรง คนคด คนโกงนั้น เพราะมันยึดมั่นถือมั่นอะไรในทางเป็นตัวเป็นตนเป็นของ ๆ ตน มันจึงต้องโกหกอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป ส่วนความสัตย์ ความจริงหรือคนที่มีความจริงนั้น กำลังที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ จึงพูดจริงทำจริงหรืออยู่ในสภาวะที่เป็นจริงได้
คือแม้ที่สุดแต่ว่าสอนคำสอนเรื่องไม่ให้ขี้เกียจ เราก็จะมองเห็นได้ว่าคนขี้เกียจนั้นมันยึดมั่นถือมั่น คือมันเห็นแก่ตนมากเกินไปมันจึงขี้เกียจ ไม่คิดจะช่วยคนอื่นเสียเลยอย่างนี้ ถ้ามันไม่เห็นแก่ตนคือไม่ยึดมั่นถือมั่นตนหรือของตนมากไปแล้ว มันก็คงจะขยันบ้าง ฉะนั้นความขยันก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นตัวตนหรือเห็นแก่ตนนั่นเอง
ธรรมะจะมี ๘๔,๐๐๐ ข้อก็ตามเถิด ทุก ๆ ข้อล้วนแต่มีหัวใจเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คนที่รู้จักพระพุทธศาสนาดีก เมื่อถูกถามว่าอะไรเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องตอบตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเสมอไป หรือตอบสั้น ๆ ว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนาดังนี้ เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแล้วว่า มันไม่มีมาก มันไม่มีเรื่องมากจนเรียนไม่ไหว จนปฏิบัติไม่ไหว จนต้องแห่ไปมา แห่ไปแห่มา ที่นั่นที่นี่ ฟังเทศน์บทนั้น ฟังเทศน์บทนี้ เที่ยวหาบุญที่เมืองนั้นเมืองนี้ ตามประสาของคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ทำให้เรื่องมันมีมากมายขึ้นมาทั้งที่เรื่องมันไม่มาก ควรจะไปสนใจให้พบหัวใจของพระพุทธศาสนาในธรรมะทุก ๆ ข้อ ที่ตนได้ยินได้ฟังอยู่แล้วนั่นเอง จะไปฟังเทศน์ที่วัดไหนโบสถ์ไหน เทศน์เรื่องอะไรออกมา ก็จับใจความที่เป็นหัวใจให้ได้ว่า เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นอย่างนี้
หรือบางทีก็แสดงฝ่ายตรงกันข้ามคือโทษของความยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ถ้าเรื่องนั้นแสดงไปในลักษณะของการทำผิดตกนรกหมกไหม้ หรืออะไรทำนองนี้ก็ให้รู้ว่านี้เป็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น และถ้าแสดงเรื่องที่เป็นไปในทางบุญทางกุศล ก็รู้ว่านี้เป็นเรื่องของความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ไม่เท่าไหร่ก็จะเข้าใจพระพุทธศาสนา และไม่เท่าไหร่ก็จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา
การที่จะบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นชี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เหล่านี้ก็มีความมุ่งหมายแต่ในข้อนี้ คือเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาให้ได้ คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง ถ้าเราพูดเป็นภาษาธรรมดา ชาวบ้านที่สุดเราก็เรียกว่า ความเห็นแก่ตัว คนที่เห็นแก่ตัวก็คือ ยึดมั่นตัว ยึดมั่นของ ๆ ตัว จึงได้เห็นแก่ตัว พอเอ่ยขึ้นมาว่าเห็นแก่ตัว อย่างนี้ทุกคนก็เกลียด เกลียดน้ำหน้าคนเห็นแก่ตัว แต่แล้วก็ไม่มองดูตัวเองเสียบ้างว่าตนก็กำลังเห็นแก่ตัว คือยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่โดยความเป็นตัวตน เป็นของ ๆ ตน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากจะยกเอาชาดกเรื่องหนึ่งซึ่งเรียกว่า ครหิตชาดก มาเล่าให้ฟังเพื่อกันลืม เรื่องครหิตชาดกนั้นเล่าว่า มีลิงฝูงใหญ่อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีพระโพธิสัตว์เป็นลิงจ่าฝูงหัวหน้าฝูงสวยงามมาก มีคนไปบอกพระเจ้าแผ่นดินว่า มีลิงที่สวยงามตัวหนึ่ง เป็นนายฝูงอยู่ที่ป่านั้น พระเจ้าแผ่นดินก็เกิดอยากได้ขึ้นมา ก็ให้คนไปจับเอามา พระโพธิสัตว์ถูกจับเอามา มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินชอบใจก็เลี้ยงไว้อย่างดีที่สุด พระโพธิสัตว์ก็เป็นสัตว์ที่ฉลาดเพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาที่จะต้องกักต้องขัง ต้องเฆี่ยนต้องตี ก็ปล่อยไว้ตามสบาย ลิงโพธิสัตว์ก็เที่ยวไปได้ทั่วทั้งวัง
ครั้นต่อมานานเข้า พระเจ้าแผ่นดินนั้นรู้สึกว่า เบื่อที่จะเอาลิงไว้ จึงรับสั่งให้เอาไปปล่อยตามเดิม ข้าราชบริพารก็นำลิงนั้นไปปล่อยที่ป่าแห่งเดิม ไปส่งที่ฝูงลิงที่เคยอยู่ในป่าแห่งนั้น พวกลิงสมุนดีใจกันเป็นการใหญ่ พากันวิ่งมาห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ด้วยความยินดีปรีดา ในที่สุดก็มาถึงตอนที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือลิงทั้งหลายได้ถามพระโพธิสัตว์ว่าในเมืองมนุษย์นั้นมีอะไรบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจ ที่น่าคิดน่านึก คือเป็นของดีนั่นเอง พระโพธิสัตว์ก็ตอบว่า ในเมืองมนุษย์นั่นเราได้ยินแต่เสียงว่า เงินของกู ทองของกู เมียของกู ผัวของกู ลูกของกู พระโพธิสัตว์พูดได้เพียงเท่านี้ ลิงทั้งหลายก็วิ่งไปหมดที่ลำธาร ทุกตัววิ่งไปที่ลำธารล้างหูกันเป็นการใหญ่ เพราะว่าหูได้ฟังของสกปรกแล้วเป็นครั้งแรกในวันนี้ ก็ล้างหูกันแล้ว ล้างหูกันเล่า ล้างหูกันอีก เพราะว่าได้ฟังของสกปรกเสียแล้วในวันนี้ แล้วเรื่องก็จบ
นี่แหละลองคิดดูเถิดว่า เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร เงินของกู ทองของกู ลูกของกู เมียของกู ผัวของกู อย่างนี้เป็นสิ่งที่ดังสนั่นหวั่นไหวเต็มไปในเมืองมนุษย์จริงหรือไม่ แล้วสิ่งนั้นคืออะไรถ้าไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นก็เป็นอันว่ามนุษย์ทั้งหลายมีความยึดมั่นถือมั่นตัวตนและของตนอย่างนี้กันอยู่ทั่วไปเป็นธรรมดา จึงได้เป็นคนธรรมดา คือมีความทุกข์ เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เมื่อได้มาอย่างใจก็ยึดมั่นถือมั่นจนหัวเราะ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็ยึดมั่นถือมั่นจนร้องไห้ ไม่มีความว่าง ไม่มีความสงบ คือไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้กันเสียเลย นี่เรียกว่าแม้แต่เรื่องต่ำ ต่ำเตี้ย ต่ำต้อยที่สุดเรื่องของมนุษย์ปุถุชนนี้ก็เป็นเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น และเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นที่จะเป็นเรื่องแก้ทุกข์ หรือเป็นความดับทุกข์ได้
ทีนี้เรามานึกถึงพระพุทธภาษิตข้อหนึ่งว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา นี้เป็นบทสวดทำวัตรเช้า อุบาสกอุบาสิกาสวดกันอยู่ทุกวัน ในบท อิธะ ตะถาคะโต ในพระสูตรอื่นอีกมากมายในพระไตรปิฎกก็มีบท ๆ นี้ ที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ซึ่งแปลว่า เมื่อกล่าวโดยสรุปสั้นแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ลองคิดดูให้ดี ท่านว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์
เราไปเข้าใจว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ คือเป็นความเกิดเฉย ๆ ก็เป็นทุกข์ ความแก่เฉย ๆ ก็เป็นทุกข์ ความตายเฉย ๆ ก็เป็นทุกข์ นี่ผิดหมด เราฟังไม่ถูก ฟังไม่ออก ฟังไม่เข้าใจเพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่น โดยเนื้อแท้แล้ว ความเกิดที่ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นนั้นยังไม่เป็นความเกิด ความแก่ที่ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นนั้นยังไม่เป็นความแก่ แม้ความตายก็เหมือนกันที่ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่ความตาย การที่ความเกิด ความแก่ ความตายมีความหมายอันน่ากลัวขึ้นมาได้ก็เพราะมีความยึดมั่นถือมั่น ลองไม่ยึดมั่นถือมั่นเถิด ความเกิด ความแก่ ความตายก็หมดความหมายไม่น่ากลัว
ฉะนั้น พระอรหันต์ที่กำลังเจ็บไข้หรือกำลังจะตายหรืออะไรก็ตามท่านจึงไม่มีความกลัวและไม่มีความทุกข์ ส่วนพวกเรามีความยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นประจำในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ พูดว่าความเกิด ความแก่ ความตายเป็นทุกข์นี้ก็ถูกแล้ว แต่คนก็ลืมนึกไปเสียว่าในนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นจึงดูให้ดีว่า ยึดมั่นความเกิดว่าเป็นของเราขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นความทุกข์เมื่อนั้น ไม่ยึดมั่นความเกิดนั้นก็หาเป็นทุกข์ไม่ ความแก่ชรานี้ก็เหมือนกัน พอยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราเข้าเมื่อไร ความแก่ชรานั้นก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็หาได้เป็นทุกข์ไม่ แม้ความตายนี้ก็เหมือนกัน ยึดมั่นความตายว่าเป็นความตายของเราขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ถ้าไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ความตายก็หาได้เป็นทุกข์ไม่
ฉะนั้นควรจะเห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นรวมความยึดมั่นถือมั่นอยู่ด้วย ทีนี้พระพุทธองค์มาตรัสเสียใหม่ให้ชัด ให้ถูกหลักของภาษา ถูกหลักของตรรกวิทยาให้ครบบริบูรณ์นี้ก็ตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ส่วนเบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นหาได้เป็นทุกข์ไม่ เช่น
เบญจขันธ์ของพระอรหันต์ท่านไม่มีอุปาทานจึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์ เบญจขันธ์ของปุถุชนที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน มีอุปาทานเกิดขึ้นเมื่อใดก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้น จงระวังให้ดี เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี่แหละ อย่าให้เกิดอุปาทานในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความเป็นตัวตนหรือของตนขึ้นมา เพราะว่ามันจะเป็นทุกข์ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้นแล้ว ให้มีสติสัมปชัญญะให้เพียงพอ ควบคุมจิตใจไว้ให้ดี ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันคืออะไร เราควรจะจัดการกับมันอย่างไรก็จัดไปอย่างนั้นโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่เกิดความยินดียินร้าย ความรักก็ไม่เกิด ความเกลียดก็ไม่เกิด ความกลัวก็ไม่เกิด ความโง่ความหลงอะไรก็ล้วนแต่ไม่เกิด คือไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่มีความทุกข์ เพราะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส เป็นต้นเหล่านั้นเอง
ฉะนั้นจงคิดดูเถิดว่าในวันหนึ่ง ๆ นั้น เราได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสกันสักกี่ครั้ง กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้งก็ต้องระวังให้ดี คือมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่เสมอ อย่าให้เผลอปรุงเป็นสังขารเป็นความทุกข์ขึ้นมา ให้เป็นปัญญาความรู้ตามที่เป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอไป ก็จะเรียกว่าพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา พระธรรมอยู่กับเรา พระสงฆ์อยู่กับเราโดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นเลย จิตใจของเราจึงไม่มีความทุกข์
และเมื่อเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว คิดดูต่อไปว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง คนโง่ คนเขลา คนพาลคิดไปในทำนองที่ว่า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วเราก็ไม่ทำอะไรเลย นี้มันเรื่องความเข้าใจผิดของคนเขลา คนหลง คนพาลเหล่านั้น เพื่อรวบรัดคำอธิบายในเรื่องนี้ เรามองมาจากข้างบนกันดีกว่า คือมองไปที่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ว่าพระพุทธเจ้าท่านหมดความยึดมั่นถือมั่น หมดอุปาทาน หมดอวิชชาแล้ว ท่านทำอะไรได้บ้าง หรือท่านขี้เกียจไม่ทำอะไร เรากลับจะเห็นได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าท่านทำงานมากกว่าพวกเรา พวกสาวกทั้งหลายนี่อยู่ในฐานะที่เป็นคนขี้เกียจถ้าไปเทียบกันกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทำงานตั้งแต่ก่อนสว่าง ตลอดวัน จนกระทั่งค่ำ จนกระทั่งดึก เหมือนที่เขาสรุปไว้เป็นหัวข้อว่า ก่อนย่ำรุ่งก็เล็งยามส่องโลก คือพระพุทธเจ้าตื่นแต่ดึก ไม่ใช่ตื่นแต่ดึก ตื่นหลังจากดึกแต่ว่าก่อนรุ่งมากมายทีเดียว เล็งยามส่องโลกหมายความว่า ทรงคิดคำนึงไปว่า วันนี้จะไปทำอะไรที่ไหน คือจะไปโปรดใครที่ไหนดี จนสว่าง แล้วท่านก็ไปเพื่อจะโปรดผู้นั้นโดยอาศัยการไปบิณฑบาตนั่นเอง ไปติดต่อกับผู้นั้นให้จนได้และโปรดเขาให้จนได้ อย่างนี้เป็นกิจประจำวันตอนเช้า ตอนบ่ายก็รับแขก สนทนาธรรมแสดงธรรมตลอดเวลา ตอนหัวค่ำก็สอนพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ด้วยพระองค์ ตอนดึกก็แก้ปัญหาเทวดา
เรื่องแก้ปัญหาเทวดานี้จะถือเอาใจความเอาอย่างไหนก็ได้ เทวดามาจากสวรรค์ก็ได้ แต่ว่าในพระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปถามปัญหาอะไรนั้นจะต้องไปในตอนดึก มีเรื่องกล่าวถึงมีขบวนช้าง ขบวนม้า มีคบเพลิงมีอะไรไปพร้อม ไปที่พระวิหารนอกเมือง นอกกำแพงเมือง พระเจ้าแผ่นดินนั้นขี้ขลาดจึงต้องเอากองทัพช้าง กองทัพม้าไปด้วย เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีเวรมีภัยมากและก็ยึดมั่นถือมั่นตัวเองมากจึงขี้ขลาด ดังนั้นจึงต้องเอากองทัพช้าง กองทัพม้าไปด้วยทั้งที่เป็นเวลากลางคืน และไปเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าถามปัญหาเท่านั้น ให้กองทัพช้าง กองทัพม้าหยุดอยู่ในที่ควรแล้ว พระเจ้าแผ่นดินนั้นก็ทรงดำเนินไปด้วยพระบาทจนเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามสิ่งที่ต้องการจะถามจนหมดเวลา อย่างนี้มีทั่วไปในพระไตรปิฎก ฉะนั้น เทวดาจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินอย่างนี้ก็ได้ หรือใครจะเชื่อว่าเทวดาลงมาจากสวรรค์ก็ตามใจ แต่ต้องยอมรับว่า ตอนดึกนั้นพระพุทธเจ้าท่านแก้ปัญหาของพวกเทวดา ท่านจึงมีเวลาสำเร็จสีหไสยาคือพักผ่อนนั้นสัก ๔ ชั่วโมงเห็นจะได้ ก็ถึงเวลาใกล้รุ่งอีก ก็เล็งยามส่องโลกต่อไป นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านทำงานมากน้อยเท่าไรลองคิดดูเถิด และทำงานด้วยความเสียสละอย่างไรลองคิดดู พวกเราทำงานกันมากเท่านี้หรือหาไม่
เพราะฉะนั้นการที่พูดว่า คนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ทำอะไรหรือทำอะไรไม่ได้นั้นให้ถือว่าการพูดอย่างนี้มันเป็นความโง่ของคนนั่นเอง เป็นความโง่ขนาดสัตว์เดรัจฉาน เป็นกำเนิดสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีความโง่มากขนาดนั้น ฉะนั้นเราควรจะเลิกคิดนึกกันเสียทีว่าถ้าหมดความยึดมั่นถือมั่นแล้วจะทำอะไรไม่ได้หรือไม่ทำอะไร มาเข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้ว นั่นแหละจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นมากที่สุด ถ้าเห็นแก่ตัวหนักเข้าแล้ว ก็อยากนอนอยากขี้เกียจเพราะมันสบายกว่าทำอะไร ความเห็นแก่ตัวความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละจะทำให้ขี้เกียจและไม่ทำอะไร อยากจะเอาเปรียบจึงอยากจะนอนเสียไม่ทำอะไรแม้อยู่ด้วยกันมาก ๆ อย่างนี้ บางคนก็ขี้เกียจไม่เคยทำงานอะไร ไม่ช่วยเหลืออะไรที่เป็นการงานของหมู่ของคณะก็ยังมี วันหนึ่ง ๆ ทำงานไม่คุ้มค่าข้าวสุกก็มี เป็นฆราวาสก็มี เป็นพระก็มี เป็นเณรก็มี เรียกว่ามีเหมือนกันทั้งนั้น เพราะมันเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างเดียวกัน เป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวกัน นี้ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าเลย ถ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจะต้องบรรเทาความเห็นแก่ตัวเสีย ความหมดความเห็นแก่ตัวจะเชื้อเชิญให้ทำการทำงานที่เป็นประโยชน์ผู้อื่นเสมอไป
ขอให้มีความเข้าใจไว้อย่างนี้ ก็จะถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา รู้ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และตัวเองก็ถึงหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นด้วย นี่แหละคือความหมายในขั้นสุดท้ายของพระพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของ ๆ ตนดังนี้ ไม่มีอะไรมาก ประโยคเดียวสั้น ๆ ว่า สิ่งทั้งปวงใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เท่านี้เอง ทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ก็มีใจความอย่างนี้ ดังนั้นถ้าใครจะโง่ไปเรียนตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เขาก็คงจะตายเสียก่อนจนจับอะไรไม่ได้ และถ้าใครมาเรียนประโยคนี้ ก็คือเรียนทีเดียวหมดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
เพราะฉะนั้นจึงขอร้องให้ท่านทั้งหลาย เอาไปคิดไปนึกดูว่ามันจริงอย่างนี้หรือไม่ ว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จริงหรือไม่ และเราจงเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาให้ได้กันทุก ๆ คน ณ ที่นั้นเอง โดยไม่มีการวิ่งไปวิ่งมาให้ยุ่งยากลำบากให้หมดให้เปลือง เป็นพุทธบริษัทได้ตรงที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตน ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น พึงรู้เถิดว่า คำว่า ธรรม ในภาษาบาลีเช่นนี้หมายถึง สิ่ง คือสิ่งทั้งปวง มิได้หมายความว่า พระธรรมอย่างเดียว สิ่งทั้งปวงรวมทั้งอะไรหมดทั้งพระธรรมและไม่ใช่พระธรรม หมายถึงทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นความรู้ เป็นการศึกษา เป็นการปฏิบัติ เป็นผลของการปฏิบัติ เป็นมรรคผลนิพพานในที่สุด ก็ล้วนแต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าถ้ายึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ก็ไม่เป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ กลายเป็นเรื่องมรรคผลนิพพานที่ปลอมไปทันที ต่อเมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้วจึงจะเป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานนั้นก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ และสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั้นก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นเลย การที่จะไปถือว่ายึดมั่นถือมั่นไปพลางก่อนนั้นก็ถูกของเขา แต่ว่ามันจะตายเสียก่อนก็ได้ ดังนั้นถ้าจะให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาก่อนจะตายแล้ว จงรีบปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นเถิด จะได้รับประโยชน์ของการที่เป็นพุทธบริษัทเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา โดยสมควรแก่การเกิดมาทุกประการ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.