แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญก้าวหน้างอกงามในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษดังที่ท่านทั้งหลายก็เห็นได้อยู่แล้ว เพราะว่าเป็นวันบำเพ็ญทักษิณานุประทานกิจอุทิศแด่บูรพชน ปู่ย่าตายาย เป็นต้น ผู้ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง ทุกอย่างที่กระทำในวันนี้เป็นไปเพื่ออุทิศแก่บุคคลเหล่านั้น จะเป็นการให้ทานก็ดี จะเป็นการรักษาศีลก็ดี จะเป็นการฟังธรรมเทศนาก็ดี สวดมนต์ภาวนาอย่างใดๆก็ดี ล้วนแต่จะทำไปเพื่อเป็นการอุทิศด้วยความระลึกนึกถึงบูรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วทั้งสิ้น การระลึกนึกถึงบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยความกตัญญูกตเวที เป็นต้นนั้น ได้กล่าวมามากมายแล้วทุกปีๆ โดยนัยยะอันต่างๆกัน แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นการตักเตือนให้ระลึกนึกถึง การระลึกนึกถึงนั้นอาจจะระลึกนึกได้หลายอย่างหลายประการด้วยกัน มีขอบเขตอันกว้างขวางสำหรับจะระลึก จะระลึกด้วยความกตัญญูกตเวทีแล้วตอบแทนคุณก็ได้เป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อบุคคลเหล่านั้น ดังนี้ก็มี หรือถ้าจะระลึกในทางหนึ่งก็ระลึกถึงข้อที่ว่า สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่านตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด หรือมีการสืบต่อไม่มีที่สิ้นสุด เป็นที่น่าเบื่อหน่าย เป็นที่น่าสลดสังเวช ทำอย่างไรจึงจะเกิดความไม่ประมาทแล้วกระทำให้ถึงที่สุดของการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเสียได้ อย่างนี้ก็มี
แม้ในโอกาสแห่งการบำเพ็ญทักษิณานุประทานจิตเช่นวันนี้ ถ้าคนมีปัญญาก็อาจจะระลึกนึกได้ไปมากกว่านั้น นึกถึงข้อที่สูงขึ้นไปว่าทำอย่างไรจึงจะหยุดเวียนว่ายตายเกิดเป็นลูก เป็นหลาน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ เป็นตาอะไรเหล่านี้กันเสียทีอย่างนี้ก็ยังจะเป็นได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่จะระลึกนึกให้สูงขึ้นไปอย่างนั้น จึงได้นำเอาพระธรรมเทศนา มีหัวข้อดังที่ยกขึ้นไว้ข้างต้นเป็น นิกเขปบทว่า จัตตารีมานิ ภิกขเว กัมมานิ เป็นต้นมาแสดง หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดีเป็นพิเศษ สมกับที่กล่าวว่า วันนี้จะทำอะไร ต้องทำให้ดีเป็นพิเศษเพื่อบิดามารดาปู่ย่า ตายายอันเป็นที่รักของเราที่ล่วงลับไปแล้ว เรามีความรัก มีความนับถือ มีความกตัญญู เป็นต้น แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วมากอย่างไร เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดในวันนี้ทุกอย่างทุกประการเพียงนั้น เพื่อให้เกิดกุศลสมแก่ที่จะอุทิศแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั่นเอง บัดนี้เป็นโอกาสที่จะฟังธรรมเทศนาจึงต้องฟังให้ดี ดังจะได้กล่าวต่อไป พระธรรมเทศนาในวันนี้ อาศัยพระบาลีแห่งคัมภีร์อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ซึ่งกล่าวถึงเรื่องกรรมว่ามีอยู่ ๔ประการ และได้แสดงลักษณะแห่งกรรมทั้ง ๔ ประการนั้น ให้เห็นชัดว่ามีอยู่อย่างไร กรรมไหนทำให้เป็นอย่างไร กรรมไหนทำให้เป็นอย่างไรหรือว่ากรรมไหนทำให้เวียนว่ายตายเกิด และกรรมไหนจะเป็นกรรมที่ทำให้สิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด และที่สำคัญยิ่งก็คือว่าเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนานี้ ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก แม้ในพวกพุทธบริษัทเอง ไม่ต้องพูดถึงพวกฝรั่งหรือชาวต่างประเทศซึ่งเข้าใจผิดๆด้วยเหมือนกัน คือโดยมากนั้น เข้าใจกันแต่ว่า กรรมมีแต่กรรมดี กรรมชั่ว ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว แล้วก็ได้รับผลแห่งกรรมนั้นเพียงเท่านี้เอง ถ้ารู้เพียงเท่านี้เรียกว่ายังไม่รู้เรื่องกรรมดี และยังไม่เป็นพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป เพราะว่าศาสนาไหนๆก็สอนเรื่องความดี ความชั่ว การทำดีทำชั่ว คนจะต้องได้รับผลดี ผลชั่ว ตามกรรมที่ตนกระทำ แม้ว่าจะเอาเทวดา หรือพระเป็นเจ้าเข้ามาแทรกแซง ก็ยังมีการทำดีทำชั่วแล้วรับผลของความดีความชั่วอยู่นั่นเอง เพียงเท่านี้ยังไม่หมดสิ้น พวกฝรั่งเอาไปเขียนเรื่องกรรมก็เขียนเพียงเท่านี้ คนไทยในเมืองไทยเป็นพุทธบริษัทก็รู้เรื่องกรรมเพียงเท่านี้ นี้เรียกว่ายังไม่พอ และได้เคยพูดอย่างนี้มาหลายครั้งหลายหนแล้ว ในโอกาสนี้จะได้นำพระบาลีพระพุทธภาษิตนั้นมาแสดงโดยตรงเพื่อความเข้าใจอันละเอียดและแจ่มแจ้ง ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีในส่วนที่เป็นพระพุทธภาษิตก่อน ซึ่งมีอยู่ดังนี้
จัตตารีมานิ ภิกขเว กัมมานิ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กรรมทั้งหลายเหล่านี้ ๔ อย่างมีอยู่
มะยา สะยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปะเวทิตานิ อันเราได้กระทำให้แจ้งแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งของเราเองแล้ว ประกาศแล้ว
กัตมานิ จัตตาริ กรรมทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านั้นเป็นอย่างไรเล่า
อัตถิ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง กัณหะวิปากัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กรรมที่ดำและให้ผลเป็นของดำก็มีอยู่
อัตถิ ภิกขเว กัมมัง สุกกัง สุกกะวิปากัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กรรมเป็นของขาวให้ผลเป็นของขาวก็มีอยู่
อัตถิ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง สุกกัง กัณหะ สุกกะวิปากัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กรรมทั้งดำทั้งขาวให้ผลเป็นทั้งดำทั้งขาวก็มีอยู่
อัตถิ ภิกขเว กัมมัง อกัณหัง อสุกกัง อกัณหะ อสุกกะวิปากัง กัมมักขะยายะ สังวัตตะติ ดูกรภิกษุทั้งหลายกรรมไม่ดำไม่ขาวมีผลไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งกรรมนี้ก็มีอยู่
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโดยหัวข้อเพียง ๔ อย่างก่อนว่า กรรมมีอยู่ ๔ อย่าง ชนิดที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง คือไม่ได้ยินได้ฟังมาแต่ผู้อื่น ๔ อย่างนั้นคือ กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมที่ปนกันทั้งดำและขาว และกรรมไม่ดำไม่ขาว รวมกัน ๔ ประเภทด้วยกันดังนี้ แล้วพระองค์ก็ทรงจำแนกรายละเอียดออกไปโดยบาลีดังต่อไปนี้
กตมา จะ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง กัณหวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมชนิดไหนเล่าที่เรียกว่ากรรมดำและให้ผลเป็นของดำ
อิธะ ภิกขเว เอกัจโจ สัพยาปัชฌัง กายสังขารัง อภิสังขโรติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางพวกในโลกนี้ย่อมปรุงซึ่งกายสังขาร อันไปอันเป็นไปกับด้วยธรรมะเป็นเครื่องเบียดเบียน
สัพยาปัชฌัง วจีสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงวจีสังขารอันประกอบด้วยธรรมะเป็นเครื่องเบียดเบียน
สัพยาปัชฌัง มโนสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงมโนสังขารประกอบไปด้วยธรรมะเป็นเครื่องเบียดเบียน
โส สัพยาปัชฌัง กายสังขารัง อภิสังขริตะ วา สัพยาปัชฌัง วจีสังขารัง อภิสังขริตะ วา สัพยาปัชฌัง มโนสังขารัง อภิสังขริตะ วา สัพยาปัชฌัง โลกัง อุปปัชชะติ บุคคลผู้นั้นครั้นประกอบแล้วซึ่งกายสังขาร ครั้นปรุงแล้วซึ่งกายสังขารอันประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียน ครั้นปรุงแล้วซึ่งวจีสังขารอันประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียน ครั้นปรุงแล้วซึ่งมโนสังขารอันประกอบด้วยธรรมอันเป็นเครื่องเบียดเบียนดังนี้แล้ว เขาย่อมเข้าถึงซึ่งโลกอันประกอบไปด้วยธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียน
ตเมนัง สัพยาปัชฌัง โลกัง อุปปันนัง สมานัง สัพยาปัชฌา ผัสสา ผุสันติ เมื่อบุคคลเข้าถึงแล้วซึ่งโลกอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน ผัสสะอันประกอบไปด้วยธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียนย่อมถูกต้องเขาผู้นั้น
โส สัพยา ปัชเฌหิ ผัสเสหิ ผุสโถ สมาโน สัพยาปัชฌัง เวทนัง เวทิยติ เอกันตะ ทุกขัง เขาผู้นั้นเมื่อกระทบแล้วด้วยผัสสะอันประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนย่อมได้เสวยเวทนาอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนได้รับทุกข์โดยส่วนเดียว
เสยยถาปิ สัตตา เนรยิกา เช่นเดียวกับพวกสัตว์นรกทั้งหลาย
อิทัง วัจจติ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง กัณหวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แลเราเรียกว่ากรรมดำและให้ผลเป็นความดำ
กะตัมมัง จะ ภิกขเว กัมมัง สุกกัง สุกกะวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลายกรรมชนิดไหนเล่าเป็นกรรมขาวให้ผลเป็นความขาว
อิธะ ภิกขเว เอกัจโจ บุคคโล อัพยาปัชฌัง กายสังขารัง อภิสังขโรติ ภิกษุทั้งหลายบุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมปรุงซึ่งกายสังขารไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง กายสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมประกอบด้วยกายสังขาร ไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง วจีสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงซึ่งวจีสังขารอันไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง มโนสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงซึ่งมโนสังขารอันประกอบไปด้วยธรรม เครื่องไม่เบียดเบียน
โส อัพยาปัชฌัง กายสังขารัง อภิสังขริตะ วา บุคคลนั้นครั้นปรุงแล้วซึ่งกายสังขารอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง วจีสังขารัง อภิสังขริตะ วา ครั้นปรุงแล้วซึ่งวจีสังขาร อันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง มโนสังขารัง อภิสังขริตวา ครั้นปรุงแล้วซึ่งมโนสังขารอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
อัพยาปัชฌัง โลกัง อุปปัชชะติ เขาย่อมเข้าถึงซึ่งโลกอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
สเมนัง อัพยาปัชชัง โลกัง อุปปันนัง สมานัง อัพยาปัชฌา ผัสสา ผุสันติ ผัสสะทั้งหลายอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนย่อมถูกต้องเขาผู้นั้น ผู้เข้าถึงแล้วซึ่งโลกอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน
โส อัพยาปัชเฌหิ ผัสเสหิ ผุสโถ สมาโน อัพยาปัชฌัง เวทยิตัง เวทิยติ เอกันตะ ทุกขัง บุคคลนั้น ผู้อันถูกผู้อันผัสสะไม่ประกอบธรรมเครื่องเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยซึ่งเวทนาอันไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน คือ ย่อมมีแต่ความสุขโดยส่วนเดียว
เสยยถา ปิ เทวา สุภะกิณหา เช่นเดียวกับพวกเทวดาทั้งหลายชนิดประเภท
สุกกะกิณหะ อิทัง มุจติ ภิกขเว กัมมัง สุกกัง สุกกะวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรากล่าวว่า กรรมขาวให้ผลเป็นความขาว
กะตัมมัง จะ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง สุกกัง กัณหะ สุกกะวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเหล่าไหนเล่าที่เป็นกรรมดำกรรมขาวเจือกัน ให้ผลเป็นความดำความขาวเจือกัน
อิธะ ภิกขเว เอกัจโจ สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ กายสังขารัง อภิสังขโรติ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมปรุงซึ่งกายสังขารอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ วจีสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงซึ่งวจีสังขารอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้างอันไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ มโนสังขารัง อภิสังขโรติ ย่อมปรุงซึ่งมโนสังขารอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้างไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
โส สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ กายสังขารัง อภิสังขริตะ วา บุคคลนั้นเมื่อได้ปรุงแล้วซึ่งกายสังขารประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง ไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ วจีสังขารัง อภิสังขริตะ วา เมื่อปรุงแล้วซึ่งวจีสังขารอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ มโนสังขารัง อภิสังขริตะ วา เมื่อปรุงแล้วซึ่งมโนสังขารอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่ปะกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ โลกัง อุปปัชชะติ เขาผู้นั้นย่อมเข้าถึงซึ่งโลกอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
ตะเมนัง สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ โลกัง อุปปันนัง สมานัง สัพยาปัชฌาปิ อัพยาปัชฌาปิ ผัสสา ผุสันติ ผัสสะทั้งหลายอันเป็นธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่เป็นธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้วซึ่งโลกอันประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง
โส สัพยาปัชเฌหิปิ อัพยาปัชเฌหิปิ ผัสเสหิ ผุสโถ สมาโน สัพยาปัชฌังปิ อัพยาปัชฌังปิ เวทนัง เวทิยติ โวกิณณะ สุขะทุกขัง เขาผู้นั้นเมื่อเป็นผู้อันผัสสะมีธรรมเป็นเครื่องเบียดเบียนบ้าง ไม่มีธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้างถูกต้องแล้ว เขาย่อมเสวยซึ่งเวทนา อันเป็นธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง อันไม่เป็นธรรมเครื่องเบียดเบียนบ้าง เป็นเวทนาที่เจือกันทั้งสุขและทุกข์
เสยยถาปิ มนุสสา เอกัจเจ จะ เทวา เอกัจเจ จะ วินิปาติกา เช่นเดียวกับของมนุษย์ทั้งหลายบางพวก พวกเทวดาบางพวก หรือพวกวินิบาตบางพวก
อิทัง วัจเจติ ภิกขเว กัมมัง กัณหัง สุกัง กัณหะ สุกกะวิปากัง ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แล เราเรียกว่ากรรมดำขาวเจือกัน มีผลเป็นความดำความขาวเจือกัน
กตมา จะ ภิกขเว กัมมัง อกัณหัง อสุกัง อกัณหะ สุกกะวิปากัง กัมมักขะยายะ สังวัตตะติ ดูกรภิกษุทั้งหลายกรรมชนิดไหนเล่าไม่ดำไม่ขาว มีผลไม่ดำไม่ขาวแต่เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรม
กตมา จะ ภิกขเว ยัมปิทัง กัมมัง กัณหัง กัณหะวิปากัง ตัสสะ ปหานายะ ยา เจตนา ภิกษุทั้งหลายในเรื่องนี้กรรมใดเป็นกรรมดำให้ผลเป็นความดำเจตนาที่จะละเสียซึ่งกรรมนั้นก็ดี
ยัมปิทัง กัมมัง สุกกัง สุกกะวิปากัง ตัสสะ ปหานายะ ยา เจตนา กรรมใดเป็นกรรมขาวให้ผลเป็นความขาวเจตนาเพื่อจะละเสียซึ่งกรรมนั้นก็ดี
ยัมปิทัง กัมมัง กัณหัง สุกัง กัณหะ สุกกะวิปากัง ตัสสะ ปหานายะ ยา เจตนา กรรมใดดำด้วยขาวด้วยให้ผลทั้งดำทั้งขาว เจตนาที่จะละเสียซึ่งกรรมนั้นก็ดี
อิทัง วุจเจติ ภิกขเว กัมมัง อกัณหัง ยัมปิทัง กัมมัง กัณหัง สุกัง กัณหะสุกกะวิปากัง อิทัง วุจเจติ ภิกขเว กัมมัง นี้แลเราเรียกว่ากรรมที่ไม่ดำไม่ขาวนี้เอง มีผลไม่ดำไม่ขาว แต่เป็นที่สิ้นแห่งกรรมทั้งปวง
อิมานิ โข ภิกขเว จัตตาริ กัมมานิ มยา สะยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวทิตานิ ดูกรภิกษุทั้งหลายกรรมทั้งหลาย ๔ เหล่านี้แลอันเรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นรู้
ทั้งหมดนี้เป็นพระพุทธภาษิตเรื่องกรรม ๔ ประการมีอยู่เพียงเท่านี้ สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปก็คือทำความเข้าใจในเรื่องกรรมทั้ง ๔ อย่างนั้น เป็นอย่างๆไป
อย่างที่ ๑ พระพุทธเจ้าเรียกว่า กรรมดำ และให้ผลดำ ทรงอธิบายว่า เมื่อบุคคลประกอบกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารที่เป็นสัพยาปัชฌะ หรือประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกซึ่งประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน ครั้นเข้าถึงโลกซึ่งประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนแล้ว ย่อมถูกต้องกับเวทนาอันเป็นธรรมเครื่องเบียดเบียน ได้เสวยทุกข์โดยส่วนเดียว เหมือนพวกสัตว์นรกทั้งหลายนี้อย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็น กรรมดำ ให้ผลดำทำให้บุคคลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว
อันที่ ๒ กรรมขาว ให้ผลขาว คือบุคคลปรุงกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารที่เป็นอัพยาปัชฌะ คือ ไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน เขาจึงเข้าถึงโลกที่ไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน เมื่อเข้าถึงโลกที่ไม่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียนแล้ว ย่อมประสบกับเวทนาที่ไม่เป็นธรรมเครื่องเบียดเบียน จึงได้รับความสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทวดาที่เรียกว่า สุภะกิณหา อย่างนี้เรียกว่า กรรมขาว คือ กรรมดีเป็นกรรมที่สอง
ส่วนกรรมที่ ๓ ที่เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว ให้ผลทั้งดำทั้งขาวเจือกันนั้น เขาบุคคลซึ่งปรุงกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ทั้งสองประเภทคือ ทั้งที่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน และไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน สัพยาปัชฌะประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน อัพยาปัชฌะ ไม่ประกอบไปด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน เขาทำอยู่ทั้งสองอย่าง ปรุงสังขารอยู่ทั้งสองประเภทอย่างนี้ จึงได้เข้าถึงโลกซึ่งประกอบอยู่ด้วยธรรมเครื่องเบียดเบียน และทั้งธรรมเครื่องไม่เบียดเบียน คือ เป็นทั้งสุข และทั้งทุกข์เจือกันนั้นเอง เหมือนที่มนุษย์ทั้งหลายโดยมากเป็นกันอยู่ เหมือนที่เทวดาบางพวกเป็นกันอยู่ หรือแม้ที่สุดแต่พวกวินิบาต คือ สัตว์ที่ตกอยู่ในอบายบางประเภท แต่ก็มีโอกาสที่จะเสวยสุขในบางโอกาสอย่างนี้ก็มี เรียกว่ามนุษย์ส่วนมาก หรือเทวดาบางพวก หรือสัตว์วินิบาตบางพวก เช่นแม้ที่สุดแต่สัตว์เดรัจฉาน บางเวลาก็เป็นทุกข์ บางเวลาก็เป็นสุข หรือ แม้แต่สัตว์ประเภทอสุรกาย บางเวลาก็เป็นทุกข์ บางเวลาก็เป็นสุข แม้ว่าสัตว์ที่อยู่ในทุคติ บางเวลาก็ยังเป็นสุขบางเวลาก็ยังเป็นทุกข์ได้ดังนี้ แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยมากนี้เรียกว่ากรรมที่สาม ทั้งดำทั้งขาวเจือกัน
ส่วนกรรมที่ ๔ นั้น พระองค์ทรงระบุอย่างเจตนาที่จะละเสียซึ่งกรรมทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นกรรมดำก็ดีจะเป็นกรรมขาวก็ดี จะเป็นกรรมเจือกันทั้งดำทั้งขาวก็ดี เจตนาใดตั้งไว้เพื่อจะละเสียซึ่งกรรมทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว เจตนานั้นชื่อว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว ให้ผลไม่ดำไม่ขาวแล้ว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง นี้เรียกว่ากรรมที่สี่ ซึ่งน้อยคนที่จะได้ยินได้ฟัง หรือน้อยคนจะรู้จักกรรม กรรมนี้ และในที่สุดทรงสรุปว่ากรรมทั้งสี่อย่างนี้ เราตถาคตกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้สัตว์ทั้งหลายรู้ ความข้อนี้มีความสำคัญมากตรงที่พระองค์ยืนยันว่ากรรม ๔ ประการนี้ พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ไม่ได้ยินได้ฟังมาจากบุคคลอื่น เป็นอันกล่าวได้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้ย่อมมีกรรมอยู่ ๔ อย่าง อย่างนี้เป็นของพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่มีเพียงกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดำ กรรมขาวสองอย่างเท่านั้น แต่มีกรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่อาจจะกล่าวว่าดำหรือขาว แล้วยังเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาวหรือ กรรมทั้งหมดนั้นด้วย นี้คือกรรมที่จะทำความสิ้นกรรม การที่จะสิ้นกรรมได้จะต้องอาศัยการทำกรรมที่ ๔ นี้เอง
สรุปโดยย่ออีกครั้งหนึ่งว่ากรรมมีอยู่ ๔ อย่าง ที่ ๑ คือกรรมดำ ที่ ๒ คือกรรมขาว ที่ ๓ คือกรรมดำกรรมขาวเจือกัน ที่ ๔ คือกรรมไม่ดำไม่ขาว จะได้ยกตัวอย่างสำหรับเด็กๆฟังพอเข้าใจ ก็จะต้องกล่าวว่า กรรมดำคือ กรรมชั่วเช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นกรรมดำ ให้ผลเป็นทุกข์ กรรมขาวคือ กรรมดี ทำบุญให้ทานเป็นกรรมขาวเป็นไปเพื่อความสุข กรรมที่เจือกันทั้งดำทั้งขาว คือ ทั้งดีทั้งชั่วเจือกันอยู่ แล้วก็ให้ผลเป็นความสุข และความทุกข์เจือกัน เหมือนพ่อบ้านแม่เรือนบางคนฆ่าวัวฆ่าควาย ฆ่าหมูฆ่าไก่ ทำบุญเลี้ยงพระในงานบวชนาคก็ดี ในงานอื่นๆก็ดีที่บ้านของตน ส่วนที่ฆ่าหมูฆ่าไก่นั้นก็ต้องเป็นกรรมดำ ส่วนที่เลี้ยงพระนั้น หรือให้ทานนั้นก็เป็นกรรมขาวเป็นกรรมสองอย่างเจือกัน ย่อมให้ผลทั้งดำและทั้งขาวอย่างนี้ นี้เป็นกรรมที่ ๓ คือ ทั้งดำทั้งขาว ส่วนกรรมที่ ๔ นั้นไม่มีสี ไม่มีสีดำไม่มีสีขาว แล้วเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น ถ้าประกอบกรรมที่ ๔ แล้ว กรรมทั้งสามอย่างข้างต้นก็จะเลิกล้างไป นี้คือการทำให้หมดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หมดกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม การกระทำนั้นเรียกว่ามุ่งหมายจะทำลายเสียซึ่งกรรมทุกๆชนิดเพื่อจะเป็นผู้สิ้นกรรม หรือหมดกรรมโดยประการทั้งปวง คำว่าหมดกรรม หรือว่าสิ้นกรรมนี้ ยังเข้าใจผิดๆกันอยู่ เพราะว่า ได้เห็นคนโดยมากพูดว่าสิ้นกรรมไปที เมื่อมีใครตายลง จับใส่โลง ไปเผา ไปฝัง ก็พูดว่าสิ้นกรรมกันเสียที อย่างนี้เป็นคำพูดผิด ถ้าจะพูดให้ตรงก็เป็นความโง่ หรือคนโง่พูดที่ว่าเพียงแต่ตาย แล้วก็สิ้นกรรมกันทีนี้ ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะว่ากรรมที่ ๔ เป็นที่สิ้นแห่งกรรมทั้งปวงนั้นต้องเป็นเรื่องหมดกรรมจริงๆคือไม่มีเจตนาที่จะกระทำกรรมไม่มีผลกรรมที่จะต้องได้รับ เพราะเป็นผู้ไม่มีเจตนาในการกระทำกรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งเลย หรือว่าการพยายามที่จะละเสียซึ่งกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ผู้ที่จะพ้นกรรม หรือสิ้นกรรมจึงมีแต่พระอริยะเจ้าที่หมดกิเลสแล้วเท่านั้น ส่วนคนธรรมดานั้นแม้แต่ตายแล้วก็เรียกว่าพ้นกรรม หรือว่าสิ้นกรรมไม่ได้ ยังอยู่ในขอบเขตที่จะต้องเวียนว่ายไปตามกรรม จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมที่ ๔ กันเสียบ้างอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ถูกตามหลักพระพุทธศาสนา นี้เรียกว่าเมื่อจะอธิบายให้คนที่มีการศึกษาน้อยก็ดี ให้เด็กๆฟังก็ดี ก็ต้องสรุปให้สั้นว่ากรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำ ไม่ขาว กรรมที่ทั้งดำทั้งขาวและกรรมที่ไม่ดำไม่ขาวมีอยู่เป็น ๔ อย่าง ทีนี้ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้าไปอีกให้เหลือเพียงสามอย่างคือเราสรุปที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึง ๔ อย่างนั้นให้น้อยลงมาอีกให้เหลือเพียงสามอย่างว่า กรรมดำอย่างหนึ่ง กรรมขาวอย่างหนึ่ง กรรมไม่ดำไม่ขาวอย่างหนึ่ง คือเอากรรมที่ ๔นั้นมาเป็นกรรมที่ ๓ เพราะว่ากรรมที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ากรรมดำกรรมขาวเจือกันนั้น มันก็เป็นกรรมดำกรรมขาวอยู่นั่นเองมันอยู่ในเครือเดียวกันกับกรรมที่ ๑ และกรรมที่ ๒ กรรมที่ ๑จึงให้เป็นกรรมดำไปหมด กรรมที่ ๒ให้เป็นกรรมขาวไปหมด กรรมที่ ๓ ก็เอามาแจกเป็นกรรมดำกรรมขาวไปหมดจึงรวมเป็นเพียง กรรมดำกรรมขาวกรรมที่ ๓ แท้ๆจึงได้กรรมไม่ดำไม่ขาวขึ้นมาแทน เพื่อพูดกันง่าย เพื่อฟังง่าย เพื่อเข้าใจได้ง่าย
เราจึงสอนเด็กๆได้อย่างสรุปสั้นเข้ามาอีกว่า กรรมดำอย่างหนึ่ง กรรมขาวอย่างหนึ่ง กรรมไม่ดำไม่ขาวอีกอย่างหนึ่ง กรรมดำให้ผลเป็นทุกข์ กรรมขาวให้ผลเป็นสุข ส่วนกรรมไม่ดำไม่ขาวนั้นทำให้สิ้นกรรมโดยประการทั้งปวง เด็กๆอาจจะถามว่า กรรมที่ ๓ ที่ทำให้สิ้นกรรมทั้งปวงนั้น มันดีที่ตรงไหน เราก็จะตอบได้ว่า กรรมดำทำให้เวียนว่ายไปในกองทุกข์ กรรมขาวทำให้เวียนว่ายไปในความสุข แต่ขึ้นชื่อว่าเวียนว่ายแล้ว เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แม้ที่เวียนว่ายอยู่ในเวทนาที่เป็นสุข ก็ยังต้องลำบากด้วยเรื่องกิเลสรบกวน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายรบกวน ขึ้นชื่อว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ยังเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ครั้นเวียนว่ายอย่างขาวก็มีความทุกข์อย่างขาว เวียนว่ายอย่างดำก็มีความทุกข์อย่างดำ สู้เลิกล้างเสียให้หมด อย่าให้มีทั้งดำทั้งขาว คือไม่ต้องเวียนว่ายนี้ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงสรุปให้ฟังง่าย พร้อมทั้งผลของมันว่า กรรมดำทำให้เวียนว่ายไปในความทุกข์ กรรมขาวทำให้เวียนว่ายไปในความสุข กรรมไม่ดำไม่ขาวทำให้เลิกการเวียนว่ายโดยประการทั้งปวง ทีนี้เราจะเปรียบเทียบเรื่องเวียนว่ายไปในความทุกข์ และเวียนว่ายไปในความสุข คำว่าเวียนว่าย หมายความว่า หยุดนิ่งไม่ได้ พักผ่อนไม่ได้ ต้องเวียนว่าย เหมือนกับเราจะให้เด็กๆกินของที่เอร็ดอร่อยจะเป็นขนมหรืออะไรก็ตามให้กินเรื่อยอย่าให้หยุดได้ มันก็ต้องตายอยู่ดี แม้ว่าเด็กๆจะชอบกินขนม แต่ถ้าให้กินเรื่อย มันก็ทนไม่ไหว และการกินนั้นมันก็มีการหิวอีก อิ่มอีก หิวอีก อิ่มอีก เป็นการไม่มีสิ้นสุด ในการที่จะต้องประพฤติจะต้องกระทำจะต้องรักษา สู้ไม่ต้องกระทำอะไรเลยไม่ได้ ซึ่งเป็นการพักผ่อนอย่างยิ่ง ฉะนั้น คนทุกคนก็พอจะเข้าใจได้ว่า การเวียนว่ายอย่างเลวก็ไม่ไหว เวียนว่ายอย่างดีก็ไม่ไหว สู้การเวียนไม่เวียนว่ายเสียเลยไม่ได้ เวียนว่ายอย่างเลว ก็หมายความว่าลำบากหน่อย เวียนว่ายอย่างดี ก็หมายความว่าสนุกสักหน่อย แต่เป็นการเวียนว่ายด้วยกันทั้งนั้น ลองพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นได้ทันทีว่า คนมีบาปก็มีความทุกข์อย่างคนมีบาป คนมีบุญมีความทุกข์อย่างคนมีบุญ ถ้าไม่ชอบให้กล่าวอย่างนี้จะกล่าวอย่างอื่นก็ได้ว่า คนมีบาปก็ต้องลำบากไปตามประสาคนมีบาป คนมีบุญก็ต้องลำบากไปตามประสาคนมีบุญ ถ้าใครมองเห็นความจริงข้อนี้เรียกว่า คนที่ไม่ค่อยจะโง่นัก ถ้ายังไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ก็เรียกว่า ยังโง่มาก ฉะนั้นต้องพูดเสียใหม่ว่าเป็นสัตว์นรกก็ลำบากอย่างสัตว์นรก เป็นมนุษย์ก็ลำบากอย่างมนุษย์ เป็นเทวดาก็ลำบากอย่างพวกเทวดาในสวรรค์ เพราะว่าแม้เป็นเทวดาในสวรรค์ก็ยังมีราคะรบกวนใจ มีโทสะรบกวนใจ มีโมหะรบกวนใจ แม้ว่าจะไม่มีราคะโทสะรุนแรงรบกวนใจ ก็ยังเหลือโมหะที่ทำให้โง่ให้หลง ไม่รู้ว่าจะไปนิพพานทางทิศไหนอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นแม้จะเป็นเทวดาชั้นสูงสุดในชั้นพรหม ก็ยังต้องลำบากไปตามประสาของคนเวียนว่ายตายเกิดอย่างพวกพรหม ไม่ต้องพูดถึงคนที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างสัตว์นรก มันก็มีความลำบากมากอยู่แล้ว ฉะนันจึงพูดเสียใหม่ว่าเป็นมนุษย์ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ เป็นเทวดาก็มีความทุกข์อย่างเทวดา เป็นพรหมก็มีความทุกข์อย่างพรหม จะไปทางไหนอีกต่อไปก็ไม่มีที่จะไปทางไหนอีกแล้ว ก็มีอยู่แต่ความไม่ต้องเป็นอะไร ไม่เป็นสัตว์นรก ไม่เป็นมนุษย์ ไม่เป็นเทวดา ไม่เป็นพรหม ไม่เป็นอะไรหมด คือมีความรู้ตามที่เป็นความจริงว่า นามรูปนี้ไม่ได้เป็นอะไรโดยแท้จริง หากแต่เราไปโง่ไปหลง ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาต่างหาก ไปตามสมมติเท่านั้นเอง เป็นสัตว์นรก เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็คือสัตว์ที่เวียนว่ายไปตามกรรมของตน เพราะว่าตนได้ปรุงกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารไว้อย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบของตนๆ ขึ้นชื่อว่าสังขาร คือการปรุงแต่งแล้วมันก็ต้องหยุดไม่ได้ มันจะต้องเวียนว่ายไปตามผลของการปรุงนั้นเอง นี้แหละจึงพูดเสียใหม่ว่า เป็นสัตว์นรกก็มีความทุกข์อย่างสัตว์นรก เป็นมนุษย์ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ เป็นเทวดาในกามาวจรก็มีความทุกข์อย่างเทวดาในกามาวจร เป็นเทวดาในรูปาวจรก็เป็นทุกข์อย่างเทวดาในรูปาวจร เป็นเทวดาสูงสุดอย่างอรูปาวจรก็เป็นทุกข์อย่างเทวดาอรูปาวจร ไม่มีพวกไหนที่ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นจะเป็นอะไรดี ก็คือไม่เป็นอะไรในพวกเหล่านั้น ไม่มีความนึกคิดว่าเราเป็นอะไรเลย คนที่ไม่มีความคิดนึกว่าเราไม่เป็นอะไรเลยนี่ เป็นคนบ้าเป็นคนบอ เป็นคนวิกลจริตแล้วกระมัง ที่คิดว่าเราไม่เป็นอะไรเลย คนที่ไม่เป็นอะไรเลยไม่คิดว่าตนเป็นอะไรเลยนั้น เราเรียกว่าเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์เป็นที่สุด ถ้าเป็นพระอรหันต์ในชั้นสูงสุดแล้วไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นอะไรเลย ถ้าเป็นพระอริยเจ้าในขั้นต้นๆ เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น ก็รู้ความจริงที่ว่า ที่แท้เราไม่เป็นอะไรเลย แต่เรายังปล่อยวางให้หมดให้สิ้นไม่ได้เราจึงยังเผลอเป็นนั่นเป็นนี่บางอย่างแต่เพียงบางเบา เรากำลังพยายามเพื่อจะให้ไม่มีความเป็นอะไรเลยปรากฏขึ้นอย่างนี้ ดังนั้นก็ขอให้เข้าใจไว้เถิดว่า คนที่ไม่เป็นอะไรเลยนั้น คือ เป็นพระอริยเจ้าคนที่เป็นนั่นเป็นนี่คือคนที่เป็นสัตว์นรกในอบายบ้าง เป็นสัตว์มนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้างเหล่านี้เรียกว่าเป็น ชนิดที่เวียนว่ายอยู่ในกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น หรือสองอย่างข้างต้น คือกรรมดำกรรมขาว ส่วนพระอริยเจ้านั้นมีเจตนาละเสียซึ่งกรรมทั้งหลายเหล่านั้น จึงไม่ต้องการที่จะเป็นอะไรเลย แต่เราสมมติเรียกว่าเป็นพระอริยเจ้า คือ บุคคลผู้ประเสริฐก็ได้ เป็นบุคคลผู้ไกลจากกิเลส และความทุกข์ก็ได้ เป็นบุคคลผู้หักเสียซึ่งวงกลมแห่งสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิดนี้ก็ได้แล้วแต่จะเรียก เรียกกันภาษาบาลีว่า พระอริยะเจ้าก็แล้วกัน นั่นแหละดูให้ดีเถิดว่าคนที่ไม่เป็นอะไรนั้น เป็นคนบ้าๆบอๆหรือว่าเป็นคนที่ไม่บ้าไม่บอ บางคนพอได้ยินว่าไม่ให้เป็นอะไรก็ตกใจ เสียดายที่ว่าจะไม่ได้สนุกสนานอย่างนั้นอย่างนี้ จึงไม่สนใจในเรื่องไม่เป็นอะไร แต่พอพูดว่ากรรมไม่ดำไม่ขาวเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรม ก็รู้สึกว้าเหว่ เหี่ยวแห้งใจว่า ดูๆว่าจะไม่ได้อะไรเสียแล้วอย่างนี้ เป็นต้น จึงไม่สนใจในกรรมที่ ๓ อันเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรม กรรมดำกรรมขาวดังที่กล่าวแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พุทธบริษัทเราก็ยังสนใจในเรื่องกรรมไม่ครบไม่ถ้วนไม่บริบูรณ์ ไม่รู้เรื่องกรรมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ รู้แต่เพียงเรื่องกรรมดำกรรมขาว และสนใจอยู่เพียงเท่านั้น จึงได้แต่เวียนว่ายตายเกิดไปในความดำความขาว ไม่ขึ้นพ้นจากความดำความขาวไปได้ แล้วจะไปโทษใคร นอกจากจะโทษความเหลวไหลความบกพร่องของตัวเองเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ที่เราจะสังเกตเห็นกันได้มากที่สุดก็คือ การเที่ยวแห่ไปทำบุญที่นั่นที่นี่ แห่กันมาทำบุญที่นั่นที่นี่ ล้วนแต่เจตนาที่เป็นกรรมขาวหรือความขาว ยกกองทัพพวกขาวๆไปทั้งนั้น ไม่นึกถึงความไม่มีดำไม่มีขาวกันเสียเลย เพราะไม่เข้าใจ บูชาหลงใหลกันอยู่แต่เรื่องกรรมขาว มันก็เป็นเพียงเรื่องที่สอง ไม่ถึงเรื่องที่สามที่สี่ไปได้ มันก็ต้องตายเปล่าด้วยการติดตันอยู่ที่นั่น เหมือนกับคนย่ำเท้าอยู่ที่นั่นไม่ก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้น ก็จะเกิดอีกเกิดอีกกี่ชาติหรือกี่สิบชาติหรือกี่ร้อยชาติ มันก็หยุดอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ถึงข้อที่สี่หรือข้อที่สามที่เรียกว่า ไม่ดำไม่ขาวนั่นเลย แล้วก็ไปพาลพาโลโทษเอาธรรมะว่านี้เป็นของยากบ้าง ไปโทษพระธรรมว่าเป็นของยาก ไม่โทษตัวเองว่าเป็นคนเหลวไหลแล้วก็ตายไปด้วยความโง่อันนั้น นี้จะเป็นของน่าอิ่มอกอิ่มใจหรือว่าน่าสลดสังเวชใดก็ขอให้ลองคิดกันดู เราไปมัวโทษพระธรรมว่าเป็นของยากธรรมะเป็นของยาก พระพุทธเจ้าได้กล่าวสิ่งที่ยากเกินไปกว่าที่เราจะปฏิบัติได้ หรือว่าธรรมะนั้นเหมาะสำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เหมาะสำหรับเรา เมื่อคิดกันอย่างนี้แล้วก็สนใจแต่เรื่องง่ายๆ แต่เรื่องที่ตรงกับกิเลสของตัวเท่านั้น ไม่มีอะไรสูงยิ่งไปกว่าเรื่องกรรมที่สอง คือ กรรมขาวจึงได้เกิดในโลกที่ประกอบไปด้วยเวทนาอันไม่เบียดเบียน
ทีนี้อยากจะให้ทุกคนฟังคำสองคำนี้ไว้ และจำไว้เป็นพิเศษคือคำว่า สัพยาปัชฌะ คำหนึ่ง กับคำว่าอัพยาปัชฌะคำหนึ่ง เพราะแปลกดี ท่านทั้งหลายก็คงไม่เคยได้ยินคำสองคำนี้ เคยได้ยินแต่ว่า กุศล และอกุศล บุญหรือบาป ดี หรือชั่วกันโดยมาก หรือทั่วไป ไม่ได้ยินคำว่า สัพยาปัชฌะ อัพยาปัชฌะ ซึ่งแปลว่า มีธรรมเครื่องเบียดเบียน ไม่มีธรรมเครื่องเบียดเบียนสองคำนี้เลย การกล่าวว่า สัพยาปัชฌะ อัพยาปัชฌะ อย่างนี้เป็นคำกล่าวที่ถูกอย่างยิ่งคือไม่เป็นการโฆษณามาก เหมือนกับคำว่า บุญ บาป ดี ชั่ว สุข ทุกข์ และมีลักษณะเหมือนกับกล่าวเป็นภาษาวิทยาศาสตร์สมัยนี้ สัพยาปัชฌะ แปลว่า มีธรรมเครื่องเบียดเบียน อัพยาปัชฌะ แปลว่า ไม่มีธรรมเครื่องเบียดเบียน คำว่า ธรรม ในที่นี้ก็คือ อาการ หรือลักษณะนั่นเอง สัพยาปัชฌะมีอาการเบียดเบียน มีลักษณะเบียดเบียน มีคุณสมบัติเบียดเบียน อัพยาปัชฌะไม่มีอาการเบียดเบียน ไม่มีคุณสมบัติที่เป็นเครื่องเบียดเบียน หมายความว่าสัพยาปัชฌะนั้นมันขบกัดเรา อัพยาปัชฌะนั้นไม่ขบไม่กัดเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แล้วก็ไม่ได้เป็นความหมดทุกข์ดับทุกข์ที่ไหนเลยเพียงแต่มันยังไม่ขบไม่กัดเท่านั้น ที่เป็นสัพยาปัชฌะนั้นมันทำความทนทรมาน ที่เป็นอัพยาปัชฌะนั้นไม่ทำความทนทรมาน แต่ก็เป็นเครื่องหลงติดทำให้พอใจหลงติด จะเข้าใจความอันนี้ได้ก็เปรียบเทียบของขม กับของหวาน ของขมกินเข้าไปแล้วมันเบียดเบียน ทำให้ลิ้นลำบาก จิตใจลำบาก ของหวานกินเข้าไปแล้ว ไม่เบียดเบียน เอร็ดอร่อยทำให้ลิ้นปากสบาย แต่แล้วเราจะไปคิดว่า ของขมเป็นศัตรู ของหวานเป็นมิตรอย่างนี้ถูกหรือไม่ ขอให้ลองคิดดูเถิด เด็กๆเท่านั้นจะคิดว่าของขมเป็นศัตรู ของหวานเป็นมิตรสหายของเรา ส่วนคนที่มีสติปัญญาเพียงพอแล้ว จะถือว่ามันเป็นศัตรูเหมือนๆกัน แต่มันคนละแบบ มันทำความลำบากกันคนละอย่าง ของขมมันทำความลำบากอย่างตรงไปตรงมาต่อหน้าที่เดียว ของหวานมันทำความลำบากอย่างลึกลับซับซ้อนอย่างที่มองไม่เห็นอย่างที่ล่อให้เราตกเป็นบ่าวเป็นทาสของมัน ถ้ามันไม่เก่งถึงขนาดนั้นมันก็ล่อให้เราหลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปทำเล่นกับความทุกข์ชนิดที่เป็นสุขบังหน้า คือ สุขเวทนา เราเรียกมันว่าสุขเวทนา แต่ที่แท้มันก็คือ ความทุกข์ เพราะเวทนาไม่ว่าชนิดไหนหมด สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น คือมันเป็นมิตรไม่ได้ มันไม่ได้เป็นมิตรที่แท้จริง มันก็เป็นศัตรูที่ซ่อนเร้นอยู่เท่านั้นเอง คำว่าสัพยาปัชฌะ ก็แปลว่า เบียดเบียนกันซึ่งหน้า คำว่าอัพยาปัชฌะที่ไม่เบียดเบียนนั้น ก็แปลว่าไม่เบียดเบียนซึ่งหน้าเท่านั้นเอง แต่ก็ยังคงเป็นความทุกข์อันเร้นลับอยู่ และเราก็ยอมรับว่าเราจะอยู่โดยไม่มีเวทนาอย่างใดไม่ได้ เราจึงเลือกเอาเวทนาที่เป็นอัพยาปัชฌะ คือ เวทนาที่ไม่ถึงกับขบเรากัดเราเป็นเวทนาที่จะพอไปกันได้ พอเพลิดเพลินอยู่ได้ไปวันหนึ่งๆเพื่อหาโอกาสศึกษาต่อไปเท่านั้น คำว่าสัพยาปัชฌะ และอัพยาปัชฌะมีความหมายชัดแจ้งอยู่อย่างนี้ ถ้าเข้าใจดีแล้วก็จะเข้าใจคำว่า บาป และบุญได้ดีต่อไปอีก คำว่า บาปนั้นมันกัดมันขบซึ่งหน้า คำว่าบุญนั้นมันไม่ขบไม่กัดซึ่งหน้าแต่มันทำอะไรหลายอย่างอยู่เบื้องหลัง อยู่ในส่วนลึก ที่จะทำให้เราเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร ไม่ได้ทำให้พ้นจากวัฏสงสาร ถ้าเราไปหลงใหลในสุขเวทนานั้น ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ชั่ว ว่าดี ความชั่วนั้นมันขบกัดเอาซึ่งหน้า แต่ความดีนั้นมันก็ทำให้มัวเมาซึ่งเป็นการขบกัดลับหลังได้เหมือนกัน ถ้าเป็นคนหลงเป็นคนยึดถือแล้ว ไปยึดถือในความดีนั้นจะได้รับความลำบากมากกว่ายึดถือในความทุกข์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าความทุกข์นั้นไม่อำนวยให้ใครยึดถือ เพราะมันขบกัดเอาซึ่งหน้า แต่ความดีนั้นมันมีเสน่ห์ มันมีสิ่งที่เป็นของบังหน้าให้คนหลงรัก หลงยึดถือ แล้วไปคิดดูเถิดว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ลำบากเพราะความชั่วหรือลำบากเพราะความดี เราทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ได้รับความลำบากยุ่งยากนานาประการนั้น เพราะความชั่วหรือเพราะ ความดี ถ้าเรามองให้ละเอียดเราจะเห็นว่า ถ้าเราไปติดดีเพราะเราไปหลงดี เราจึงอุตส่าห์ถ่อร่างวิ่งไปที่นั่นวิ่งมาที่นี่เพื่อแสวงหาความดี แล้วความดีมันเป็นความดับทุกข์ได้อย่างไรกัน มันต้องหมดดีหมดชั่ว คือ ไม่ดำไม่ขาวไม่บุญ ไม่บาปต่างหากมันจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องเที่ยวแห่ไป แห่มาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไม่มีการวิ่งไป ไม่มีการวิ่งมา เมื่อเราเข้าใจธรรมที่เป็นคู่ๆ เช่นคำว่า บุญบาป ดีชั่ว สุขทุกข์ และคำว่าสัพยาปัชฌะ อัพยาปัชฌะนี้เป็นอย่างดีแล้ว ก็เรียกว่า เป็นคนเข้าใจกรรมดำกรรมขาวสองอย่างนี้ดีทีเดียว จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายว่าดำก็ไม่ไหวขาวก็ไม่ไหว ดำก็ไม่ไหวไปทางหนึ่งขาวก็ไม่ไหวไปทางหนึ่ง สู้ไม่ดำไม่ขาวไม่ได้ ฉะนั้นจึงได้มีเจตนาอันใหม่ที่จะละเสียซึ่งทั้งดำและขาวเอาที่ไม่ดำไม่ขาวคือที่ไม่มีสี ทีนี้เราก็พูดได้ต่อไปว่าที่ดำหรือขาวนี่เป็นเรื่องโลก เป็นโลกียะ ที่ไม่มีสีไม่ดำไม่ขาวนั้นเป็นโลกุตระ คนเข้าใจคำว่าโลกุตระผิดๆโดยเข้าใจไปว่าเป็นโลกอุดรอยู่ทางทิศเหนืออย่างนี้ก็มี แต่ถ้าเอาเรื่องดำเรื่องขาวนี้เป็นหลักกันแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจผิด เรื่องดำเรื่องขาวเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาปนี้เป็นเรื่องโลกียะ คือเป็นไปในโลกนี้ ส่วนที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งขาวแห่งดำและขาวนั้นเป็นเรื่องโลกุตระคือเหนือโลก ดังนั้นมันจึงว่าง มันว่างจากตัวเราที่จะดำหรือจะขาวนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร อะไรๆมันก็มีได้ รูปนามหรือสิ่งต่างๆทั้งหลายทั้งปวงก็มีได้ แต่ไม่ดำไม่ขาว เพราะไม่ไปปรุงแต่งให้มันดำหรือให้มันขาวนั่นเอง คำว่า ว่างนี้เข้าใจผิดกันเสียมากทีเดียว คือไปเข้าใจว่าไม่มีอะไร ที่จริงคำว่า ว่างนี้ ลองนึกถึงไม่ดำไม่ขาวก็จะเข้าใจได้ ถ้ามันมีอะไรที่มันไม่มีสีเราก็เรียกว่า ว่างได้ คือ ไม่เป็นไปเพื่อดี เพื่อชั่ว เพื่อบุญ เพื่อบาป เพื่อสุข เพื่อทุกข์ มันก็ไม่มีสีอะไรไม่มีสีดำไม่มีสีขาวนี้เราเรียกว่า ว่าง มันไม่มีตัวตนที่จะเป็นตัวดำ หรือตัวขาว มันก็คือ ว่าง คือ ไม่มีตัวไม่มีตนนั่นเอง อย่างนี้เรียกว่าโลกุตระเพราะไม่มีสีไม่มีดำไม่มีขาว
เราจึงเข้าใจสรุปได้เองว่า ดำหรือขาวคือดีหรือชั่วนี้เป็นเรื่องโลก โลกียะ หมดสีหมดดำหมดขาวนี้เป็นเรื่องโลกุตระ เราจึงทำ เราจึงสังเกตเห็นได้ต่อไปอีกว่าที่แล้วมาเราไม่สนใจเรื่องโลกุตระ ไม่เข้าใจเรื่องโลกุตระ เพราะเราไปหลงเรื่องดำเรื่องขาว เที่ยวแห่หาของขาวกัน เป็นพวก เป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นแถว เป็นกอง ที่นั่นที่นี่จนตายจนกระทั่งตาย ก็เรียกได้ว่า เป็นคนลุ่มหลงอยู่แต่ในเรื่องขาว ดีนิดเดียวที่ว่าไม่ถึงกับดำ แต่แม้จะขาวสักเท่าใด ก็ไม่พ้นจากการเวียนว่ายไปได้ ไม่อาจจะสิ้นกรรม ไม่อาจจะหมดกรรมไปได้เลย จะต้องเวียนว่ายตายเกิด สร้างลูกสร้างหลานสร้างเหลน ซึ่งเป็นผลของกรรมต่อๆกันไปไม่มีที่สิ้นสุด บัดนี้จะสนองคุณปู่ย่าตายาย ด้วยการทำให้หมดกรรมให้หมดการเวียนว่ายตายเกิด หมดการสืบเชื้อสืบพันธุ์ ก็ต้องศึกษาเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจให้ดี ว่ามีกรรมอยู่ประเภทหนึ่งที่ไม่ดำไม่ขาว ที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งการปรุงแต่งให้เกิดดำหรือเกิดขาว ไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดดำ หรือเกิดขาวแล้วมันก็ไม่มีการเกิดมันก็ไม่มีเรื่องดำเรื่องขาวอีกต่อไปดังนี้ การที่เราพูดว่าสิ้นสุดกันเสียที ไม่สืบพืชพันธุ์ อีกต่อไปนั้นหมายความว่า ปล่อยให้ธรรมชาติมันเป็นไปตามธรรมชาติ อย่ามีตัวเรา อย่ามีของเรา อย่ามีอะไรๆเป็นของเรา มีความรู้สึกถูกต้องถึงที่สุดว่า เมื่อตัวเราก็ไม่มีแล้ว ลูกหลานเหลนของเราก็จะมีได้อย่างไร คิดดูที่ตรงนี้ว่าเมื่อตัวของเราเองก็ไม่มีอยู่แล้ว ลูกหลานเหลนของเราจะมีได้อย่างไร แม้จะย้อนหลังไปข้างหลัง บิดามารดาปู่ย่าตายายของเราจะมีได้อย่างไร ในเมื่อตัวเราก็ไม่มีเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นผู้ใดประพฤติกระทำถึงที่สุด ในเรื่องกรรมอันไม่ดำไม่ขาวแล้ว ก็ชื่อว่าทำความสิ้นสุดโดยประการทั้งปวง ไม่มีตัวเอง ไม่มีปู่ย่าตายายของตัวเอง ไม่มีลูกหลานเหลนของตัวเอง ไม่มีอะไรๆที่เป็นของตัวเอง เพราะไม่มีตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงกล่าวว่าเป็นการสิ้นสุดแล้ว ไม่เป็นการสืบเชื้อสืบพันธุ์ ด้วยตัณหาอุปาทานอีกต่อไป เรียกว่าเป็นการทำความดีสนองคุณปู่ย่าตายายให้สิ้นสุดกันเสียที ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะเข้าถึง คือ กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว อันเป็นกรรมที่สี่ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ และอาตมาเลื่อนลงมาเป็นกรรมที่สาม เพราะเอาดำเอาขาวไปรวมไว้เป็นพวกเดียวกันเสีย เพื่อจำง่ายๆว่ากรรมพวกหนึ่งดำ กรรมพวกหนึ่งขาว ส่วนกรรมอีกประเภทหนึ่งนั้น ไม่มีสีไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง และหลักเกณฑ์อันนี้เป็นหลักกรรมในพระพุทธศาสนา ไม่มีในศาสนาอื่น และหลักเกณฑ์อันนี้พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวทิตานิ คือ เป็นสิ่งที่ตถาคตกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองแล้ว ประกาศให้สัตว์ทั้งหลายรู้ เราจึงควรถือว่าเป็นของพระพุทธเจ้าแท้ เป็นของพระพุทธศาสนาแท้ เป็นของถูกต้องถึงที่สุด เป็นของที่สมบูรณ์ถึงที่สุด ในเรื่องของกรรมที่พุทธบริษัทควรจะศึกษากันไว้ให้เป็นอย่างดี เพื่อความเป็นพุทธบริษัทที่ดี เพื่อความเป็นลูกหลานของตายายที่ดี ที่มีความรู้ความเข้าใจ ในพระพุทธศาสนาถูกต้องเป็นลำดับมาโดยไม่ขาดสายจงทุกๆคนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้