แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิปัสสนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุการบำเพ็ญกุศลที่เรียกกันว่าลอยกระทง ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว การที่จะกระทำสิ่งใดให้สำเร็จประโยชน์เต็มตามความหมาย ก็จะต้องรู้จักเรื่องราวของสิ่งนั้นๆอย่างถูกต้อง และกระทำไปให้ถูกต้อง ตามกำลังสติปัญญาสามารถแห่งตนๆซึ่งไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ให้ดีที่สุดสำหรับทุกคนจะพึงกระทำได้ อย่างไร และเท่าไร ในวันนี้เป็นวันที่เรียกว่าวันลอยกระทง บางคนก็อาจจะยังไม่ได้ทราบก็ได้ ว่าทำไมถึงจะต้องมีการลอยกระทง
ถ้ากล่าวโดยทั่วๆไปเป็นหลักใหญ่ๆก่อนก็จะกล่าวได้ว่า เป็นความต้องการของบุคคลที่มีหน้าที่ปกครองมหาชนให้อยู่กันเป็นผาสุก จึงได้ประดิษฐ์พิธีกรรมต่างๆอันเกี่ยวกับทางพระศาสนาขึ้นมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติกัน เป็นการย้อมใจคนเหล่านั้นให้มั่นคงในสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม หรือพระศาสนา หรือในพระรัตนตรัยก็ตาม มีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ว่าในบางสมัยที่แล้วมาพระราชาผู้ครองบ้านเมืองได้กำหนดให้มีการบำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่งประจำเดือน ทุกๆเดือน อย่างที่เรียกกันติดปากว่าพระราชพิธี ๑๒ เดือน ข้อนี้หมายความว่า เดือนไหนเหมาะที่จะบำเพ็ญการกุศลอย่างไร พระราชาก็เป็นผู้นำในการบำเพ็ญกุศลอย่างนั้นให้เป็นอันกระทำอย่างสนุกสนานและใหญ่หลวงทุกเดือน เมื่อเป็นดังนี้ก็ต้องเลือกให้มีการกระทำชนิดที่มันเหมาะแก่ฤดูกาล ฤดูไหนควรทำอย่างไร คนผู้มีปัญญาก็พิจารณาดู บางเดือนก็เกี่ยวกับการทำมาหากิน บางเดือนก็เกียวกับการกุศลล้วนๆ แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป็นการย้อมใจบุคคลให้เป็นไปในทางดีด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ลูกเด็กๆเล็กๆ เมื่อได้เห็นสิ่งที่ดีที่งาม ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่มีประโยชน์ ก็จะเป็นคนที่มีจิตใจดี มีนิสัยดี จนกระทั่งเป็นคนดีได้ง่าย
อย่างเดือน ๑๒ น้ำหลากทั่วไปหมด จะทำบุญอย่างอื่นก็คงไม่สะดวก จึงจัดให้มีพิธีลอยกระทง เพื่อว่าจะได้เห็นภาพอันสวยงามเป็นไปโดยทั่วไป ในน่านน้ำที่คนลอยกระทง ภาพที่สวยงามนี้ก็จูงจิตใจไปในทางที่สวยงาม แม้ว่าจะเป็นการสวยงามทางวัตถุ ก็ยังดีกว่าที่ไม่สวย ไม่งาม ฉะนั้นภาพที่สวยงามของธูป เทียน ดอกไม้ เป็นต้นนี้ มันก็ทำให้ใจสบาย ให้มีจิตใจน้อมไปในทางดี หรือให้ยึดมั่นถือมั่นในทางความดี เมื่อทำอย่างนี้มันก็เป็นผลดี ที่จะทำให้คนมีจิตใจดี สำหรับที่จะเป็นคนที่ดีอยู่ในโลกนี้ มีความสุขส่วนตัวและไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ครั้นถึงเดือนอื่นก็ทำอย่างอื่นต่อไป แล้วแต่ความเหมาะสมในท้องถิ่นใดๆ ถึงฤดูแล้งก็มีแห่พระ ถึงฤดูทำนาก็มีพิธีพืชมงคล ถึงเดือนที่เป็นมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ก็ประกอบการกุศลนั้นๆ สำหรับเดือนนั้นๆ แม้ที่สุดแต่เดือนที่ข้าวกล้าจะออกรวง ก็ยังมีการทำบุญด้วยข้าวที่เป็นน้ำนม อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสอดส่องส่ายหาช่องทางที่จะบำเพ็ญกุศลให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลให้ได้ทุกเดือน เป็นประโยชน์ทั้งทางคดีโลกและทั้งทางคดีธรรม ให้อยู่ในความควบคุมของบุคคลผู้มีสติปัญญา ดังนั้นความเสียหายจึงมีขึ้นไม่ได้ มีแต่ความเจริญแห่งจิตใจ งอกงามไปตามทางแห่งพระศาสนา แต่ครั้นในเวลาต่อมา มันก็มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงดีขึ้นก็มี เปลี่ยนแปลงเลวลงก็มี เปลี่ยนแปลงแปลกๆไปก็มี เมื่อตะกี้นี้ก่อนที่จะลุกมาที่นี่ก็ได้ฟังวิทยุว่ามาลอยกระทง เสร็จแล้วจะได้ไปรำวงในวันลอยกระทงซึ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง วิทยุร้องเพลงเมื่อตะกี้ว่าอย่างนี้ นี้เรียกว่ามันเป็นเรื่องที่แปลก เพราะว่ามาลอยกระทงกันเพื่อจะรำวง คงจะไม่ตรงกับความประสงค์ของบุคคลที่ประดิษฐ์การกุศลที่เรียกว่าลอยกระทงนี้ก็ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูเองด้วยกันเสียทุกคน แล้วก็เลือกกระทำแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์ คือกระทำแต่ในทางที่จะทำให้จิตใจดีขึ้น
ทีนี้ก็จะได้ดูกันให้ละเอียดต่อไปว่าในการลอยกระทงนี้ทำอย่างไร ในทางวัตถุล้วนๆก็คือจัดกระทงที่สวยงาม ประกอบไปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน มีทั้งความงาม มีทั้งความหอม และมีทั้งความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง นำมาลอยลงไปด้วยจิตใจที่ตั้งใจว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดีที่งามอย่างนี้ อย่างนี้ก็เป็นที่แน่นอนว่าได้ประโยชน์ คือทำให้จิตใจของแต่ละคนงดงาม หรือว่าอยากที่จะให้มันงดงาม เรียกว่าคนทุกคนทำได้เสมอเหมือนกันหมด แล้วก็รักษาไว้แต่ในภาวะที่ถูกต้องเช่นนี้ อย่าให้เถลไถลไปในทางอื่น ทีนี้ก็ไปดูกันต่อไปว่า ไม่ว่าสิ่งใดย่อมมีความหมายที่ลึกซึ้ง ซับซ้อนกันอยู่เป็นหลายๆชั้น แม้การลอยกระทงนี้ก็เหมือนกัน สามารถที่จะตีความหมายให้มีความหมายลึกซึ้งไปได้หลายๆชั้น ตามสติปัญญาแห่งตน ถ้าจะเพียง ถ้าจะเพียงแต่ถือเอาความหมายว่าทำสิ่งสวยงามขึ้นมา ให้เป็นที่สวยงามแก่ตา และแก่จิตใจเพียงเท่านี้ มันก็จะง่ายเกินไป และพอเอือมหรือเบื่อเข้าก็มีความระอาได้ เขาจึงขยายความหมายออกไปว่าการที่ลอยกระทง เครื่องบูชาลงไปน้ำนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะไปบูชาสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามแต่ที่บุคคลพวกนั้นจะยึดถือกันอย่างไร
ถ้าพิจารณาดูตามเรื่องที่มีอยู่เวลานี้ก็จะพอเห็นได้ว่า ทำตามมติของคนพวกหนึ่ง คือพวกชาวลังกา ที่ได้กล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้เสด็จไปเหยียบรอยพระบาทไว้ในที่ต่างๆกัน เพื่อให้ตั้งประดิษฐานอยู่ในโลกนี้ ให้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลายตลอดกาลนาน ระบุชื่อว่าที่ริมแม่น้ำนัมมทาก็มี ที่ภูเขาสุมนกูฏก็มี ที่หาดทรายชื่อแปลกๆอย่างอื่นอีกก็มี ที่สำคัญที่สุดก็มีอยู่ ๕ แห่ง แต่ล้วนแต่อยู่ริมแม่น้ำหรือริมทะเลทั้งนั้น ก็เป็นการง่ายที่จะลอยกระทงไปบูชาให้ถึงได้ สอนกันมาอย่างนี้ เห็นได้ว่าทำตามความคิดเห็นของชาวลังกา ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์ของคนไทยในบางยุคบางสมัย
แต่คนบางพวกไม่ถืออย่างนั้น เขาอธิบายกันว่าลอยกระทงนี้เพื่อจะไปบูชาพระเถระอุปคุตที่อยู่ใต้สะดือทะเล ความเชื่ออย่างนี้ชาวพม่าเชื่อกันมากกว่าพวกอื่น และเขาก็บูชาพระอุปคุตนี้กันมากกว่าผู้อื่น ยิ่งอยู่ใต้สะดือทะเล มันก็ยิ่งง่ายที่จะลอยกระทงไปบูชานี้ก็มี
บางคนไม่อยากจะทำตามอย่างคนเหล่านั้น จะคิดว่าจะบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ยังได้ บางคนคิดไกลไปถึงว่าจะบูชาพระเกศธาตุจุฬามณีที่อยู่บนดาวดึงส์สวรรค์ เขาก็คิดได้ แต่บางคนก็จะหัวเราะเอา ว่าจะลอยกระทงลงไปในน้ำให้มันขึ้นไปบนสวรรค์ได้อย่างไร อย่างนี้มันก็มีเหมือนกัน มันห้ามกันไม่ได้สำหรับความคิด คนคิดได้ตามชอบใจของตน ขอแต่ว่าให้เป็นความคิดที่ดี ที่มีประโยชน์ ทำจิตใจให้งดงาม และก็เป็นใช้ได้ทั้งนั้น
ฉะนั้นถ้าผู้ใดมีความประสงค์อย่างไร ก็ลอยกระทงด้วยความประสงค์อย่างนั้น ถ้าคิดอะไรไม่เป็น ก็คิดว่าบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในลักษณะที่เป็นพิเศษ หรือแปลกออกไปกว่าธรรมดาก็ได้เหมือนกัน มันจะง่ายดี มันจะปลอดภัยดี จะไม่มีใครหัวเราะได้ แต่แล้วก็เอาเป็นว่าใครอยากจะคิดอย่างไรก็จงคิดอย่างนั้น ใครอยากจะเชื่ออย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น เพราะว่าตามที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีอะไรที่จะให้โทษ มีแต่จะให้คุณ ตามมาก ตามน้อย ตามสัดส่วนแห่งการกระทำของตน จงดูแต่กระทงที่ทำมาลอยนั้นเถิด ใหญ่มากก็มี ใหญ่ธรรมดาก็มี เล็กก็มี เล็กมากก็มี สวยมากก็มี สวยน้อยก็มี มันก็แล้วแต่สติปัญญา ความสามารถของบุคคลผู้กระทำ แต่ว่าถ้าใช้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันแล้ว ก็จะได้บุญกุศลเสมอกันหมด ถ้ายังมีข้อยกเว้นอยู่ว่าใครตั้งใจถูกต้องคนนั้นก็ได้บุญมาก ใครเสียสละมากคนนั้นก็ได้บุญมาก
ทีนี้ก็ยังมีทางทีจะพิจารณาต่อไปอีก ตามประสาที่ว่าใครจะห้ามใครไม่ได้ในเรื่องความคิด ความนึกนี้ คำว่าลอยกระทงนี้มันก็มีความหมายที่ลึกซึ้งผิดกว่าธรรมดาไปก็ได้ ถ้าจะไปนึกถึงธรรมะชั้นที่ลึกซึ้งตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เด็กๆคงจะฟังไม่ถูก แต่คนแก่ๆบางคนคงจะฟังถูก ซึ่งจะได้อธิบายให้ฟัง ในพระบาลีสฬายตนสังยุตต์แห่งคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า โลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ทุกๆโลกมันลอยอยู่ในสมุทร กล่าวคืออายตนะ ๖ ประการ อายตนะ ๖ ประการคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นคู่กันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะทั้ง ๖ นี้ชื่อว่าสมุทร และสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวโลกมนุษย์ พรหมโลก มารโลก ทุกๆโลก จมอยู่ในสมุทร เมื่อคนมันจมอยู่ในน้ำเสียเอง ลอยคออยู่ในน้ำเสียเองอย่างนี่แล้ว มันจะเอาอะไรมาลอยกระทง ก็ลองคิดดูกันอย่างนี้บ้าง นี่แหละเป็นเรื่องชั้นลึกกว่าธรรมดา ว่าเมื่อสัตว์ทั้งหลายก็จมอยู่ในน้ำ ในมหาสมุทรเสียเองแล้ว จะเอาปัญญาไหนมาลอยกระทง เพราะว่าตัวก็ลอยคออ้อแอ้กระด๊อกกระแด๊กอยู่ในสมุทรนั้น ข้อนี้หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่เป็นประจำ เมื่อเป็นผู้ไม่มีสติปัญญา ไม่มีความรู้ในทางธรรม ก็ย่อมจะปรุงเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน และเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาดังนี้ นี่เรียกว่าเป็นคนจมน้ำ หรืออย่างดีก็ลอยเท้งเต้งไปเท้งเต้งมาอยู่ในน้ำนี้
เดี๋ยวเราก็คงจะได้ไปที่สระนาฬิเกร์ ซึ่งมีมะพร้าวต้นหนึ่งอยู่กลางสระ สระนาฬิเกร์นั้น ก็หมายถึงทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งก็คืออาการที่คนสัมผัสอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางสิ้น ทางกาย ทางใจ วันหนึ่งๆไม่รู้จะกี่ครั้งกี่คราว แล้วก็เกิดความคิดปรุงแต่งเป็นเวทนา ตัณหา ไปในทางดีก็มี ไปในทางชั่วก็มี แต่ก็ไม่ได้พ้นจากที่จะเป็นตัณหา คือความอยาก อยากดีก็มี อยากชั่วก็มี ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์เสมอกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าทะเลขี้ผึ้ง บางเวลาก็เหลว บางเวลาก็แข็ง เหมือนกับจิตใจของมนุษย์นี้ บางเวลาก็ดี บางเวลาก็ชั่ว บางเวลาก็ร้อน บางเวลาก็เย็น นี่คืออาการที่เรียกว่าสัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในสมุทร กล่าวคืออายตนะทั้ง ๖ การที่เป็นอย่างนี้ไม่เป็นแต่พวกมนุษย์ พวกเทวดา พวกมาร พวกพรหมชั้นสูงสุดสักเท่าไหร่ก็ยังเป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าทั้งมนุษยโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ นี่จมอยู่ในสมุทร คืออายตนะ
ทีนี้ก็ต้องดูกันต่อไปว่าคนที่ตกน้ำ ลอยคออยู่ในน้ำนี้จะลอยกระทงชนิดไหนกันดี ถ้าลอยกระทงชนิดที่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ต้องไปจมน้ำชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ในทะเลขี้ผึ้งอีกนั่นเอง เพียงแต่ว่ามันเป็นอย่างดี ไม่ใช่อย่างชั่ว เมื่อผู้ใดมองเห็นความหมายอันลึกซึ้งถึงขนาดนี้แล้ว ตัณหามันก็เลื่อนออกไ คือไกลออกไป สูงออกไป ลึกออกไป หรือยากยิ่งขึ้นไป คือว่าเพียงแต่จะลอยกระทงธรรมดาๆนี่ไม่ได้เสียแล้ว มันต้องลอยอะไรออกไปให้ดีกว่านั้น ดูให้ดีก็จะพบว่ามันต้องลอยความทุกข์ออกไปเสียจากจิตใจ ความทุกข์นี้มาจากความดีก็ได้ มาจากความชั่วก็ได้ เพราะว่าถ้ายึดมั่นแล้วนั่นย่อมเป็นทุกข์เสมอกัน ดังนั้นถ้าอย่างไรก็ควรจะลอยไอ้ความยึดมั่นถือมันนั่นแหล่ะออกไปเสีย อย่างนี้เรียกว่าลอยอุปาทานออกไปเสีย ลอยอุปาทานก็คือลอยตัวกู ลอยของกูนั่นเองออกไปเสีย ยึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวกูก็เอาไปลอยทะเลเสีย ยึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นของกูก็ไปลอยทะเลเสีย นี่จึงจะเรียกว่าเป็นการลอยกระทงชนิดที่ลึกซึ้ง ที่มีความหมายลึกซึ้ง ที่มีประโยชน์ลึกซึ้ง เพราะถ้าลอยออกไปได้จริงๆแล้ว จะทำให้บรรลุถึงนิพพาน ลอยกระทงเขียวๆแดงๆอย่างนี้ อย่างมากก็จะได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าลอยกระทงตัวกู ของกู ออกไปเสียได้ ก็จะได้ไปนิพพาน
ดังนั้นลองคิดดูเถิดว่าเราจะลอยอะไรกันได้บ้าง ลอยกระทงดอกไม้นี้ก็ได้ ลอยกระทงตัวกู ของกู ออกไปเสียก็ได้ แต่ทีนี้เรื่องมันก็ตรงกันข้ามเสมอไป แทนที่ลอยลงไปในทะเล มันก็ลงไปลอยเท้งเต้งๆอยู่ในทะเล ถ้าลอยให้พ้นไปเสียจากทะเล มันก็คงจะดีกว่าเป็นแน่ แต่แล้วก็ไม่รู้ว่าจะลอยกันอย่างไรให้พ้นออกไปเสียจากทะเลขี้ผึ้ง หรือจะลอยให้มันพ้นไปเสียจากมหาสมุทร คืออายตนะทั้ง ๖ ประการ ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวก็มัวอร่อยที่ตา อร่อยที่หู อร่อยที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เดี๋ยวก็เกิดเจ็บปวด ขัดเคืองขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างเดียวกันอีก เรียกว่า ผัสสายตนิกนรกบ้าง ผัสสายตนิกสวรรค์บ้าง คือมันมีสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มี นรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มี แล้วแต่ว่าคนๆหนึ่งนั้นมันจัดการกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของมันอย่างไร ถ้ามันทำผิดมันก็เป็นนรกขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ามันทำถูกมันก็เป็นสวรรค์ขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าว่ามันทำถูกกว่านั้นอีก มันก็จะเป็นนิพพานได้ คือไม่ให้มีอะไรเกิดเป็นกิเลสตัณหาขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เรียกว่าลอยให้พ้นออกไปเสียได้จากมหาสมุทร คือจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำอะไรเราได้
เด็กๆก็จะรู้จักแต่ว่าลอยกระทงนี้ลงไปในสมุทร ในน้ำ แต่ถ้าฟังดูตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ดูว่าจะลอยให้มันออกไปเสียจากสมุทร พ้นไปเสียจากทะเล จะลอยเป็น หรือไม่ลอยเป็นก็ไปดูคนแก่ๆ ยังคิดไม่ค่อยจะออก ก็ยกอภัยให้กับเด็กๆ ไว้คิดกันต่อไปข้างหน้า ถึงพระ ถึงเณร ก็ไม่ดีไปกว่าเด็กๆ ยังไม่เคยสนใจเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตนอยู่เป็นอันมาก นี่ปัญหามันก็เหมือนกัน ว่าไม่รู้ว่าจะลอยอะไรกันดี บางคนก็อวดดีถึงกับว่าไม่สนใจเรื่องลอยกระทง มันเป็นคนโง่ เพราะมันไม่รู้ว่าการลอยกระทงนั้นมันมีความหมายอย่างไร ผู้ที่มีปัญญา เป็นบัณฑิต นักปราชญ์ ท่านได้ตั้งไว้อย่างไร สอนไว้อย่างไร จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้ประมาทให้น้อยลง จนถึงกับว่าไม่มีความประมาทเลย แล้วก็จะได้ลอยกระทงในลักษณะที่เป็นประโยชน์ตามสมควรแก่สติปัญญาสามารถของตนๆ ลูกเด็กๆก็ลอยอย่างลูกเด็กๆ คนแก่ๆก็ลอยอย่างคนแก่ๆ แต่ว่าเอากระทงนี้แหละเป็นสัญลักษณ์ว่าถ้าลอยลงไปในน้ำแล้ว มันหมายถึงลอยอะไรได้บ้าง ลอยธูปเทียนดอกไม้นี่ก็ได้ ลอยบาปไปเสียด้วยก็ได้ ลอยบุญไปเสียด้วยก็ได้ ลอยตัวกูของกูไปเสียก็ได้
สำหรับลูกเด็กๆเหล่านี้ ก็จะพูดว่าเราจะลอยกระทง ซึ่งจัดมาอย่างดีเป็นเครื่องบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในลักษณะอันพิเศษ คือว่าบูชาในโบสถ์ ในวิหาร หรือบนบกนี่ มันมากพอแล้ว วันนี้ก็จะบูชาในน้ำกันเสียบ้าง คือจะไม่มีเหลือที่ใดไว้เลย จะบูชาเสียให้หมด ไม่ให้พระพุทธเจ้าหนีไปซ่อนที่ไหนได้ เราจะตามไปบูชาเสียให้หมด ให้ลูกเด็กๆตั้งใจอย่างนี้ จะบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งในน้ำ ทั้งบนบก ทั้งบนฟ้า ในอากาศที่ไหนๆก็ตาม ก็เรียกว่าลอยกระทง ทีนี้คนโตๆ เกิดมานานแล้ว หลงใหลในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ทำบาป เป็นนรกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไว้มากแล้ว ก็มาลอยบาปนี้กันเสียบ้างเถิด เมื่อหย่อนกระทงลงไปในน้ำก็อธิษฐานจิตว่าเอาบาปของกูไปด้วย นี่เรียกว่าลอยบาปไปเสีย มันจะได้หมดบาป แต่ว่าต้องทำด้วยจิตใจจริงๆ คือมีสติสัมปชัญญะทำ และก็มีหิริโอตัปปะ รู้สึกละอายบาป กลัวบาป ทั้งที่ทำมาแล้ว และยังจะทำต่อไปข้างหน้า อธิษฐานจิตที่จะไม่กระทำอีก จึงมีหิริและโอตัปปะให้ยิ่งขึ้นไป อธิษฐานใจดังนี้แล้วก็หย่อนกระทงลอยลงไปในน้ำ อย่างนี้ก็จะต้องเรียกว่าลอยบาปแน่นอน ให้มันหมดบาป
ทีนี้บางคนไม่มีบาปจะลอย ก็เพราะจนบาป ไม่รวยบาป แต่มันก็ยังมีบุญ มันรวยบุญ ก็ลองเอาบุญนี้ใส่กระทงลอยไปเสียบ้าง ว่าอย่ามาปรุงแต่งให้เวียนว่ายตายเกิดในนรก สวรรค์ พรหมโลกอะไรให้มันมากนักเลย นี่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเหล่านี้ มันเบื่อเต็มที่แล้ว ก็อยากจะลอยบุญ ก็เอาบุญใส่กระทงลอยไปเสีย จะได้หรือไม่ได้ก็ลองดู เมื่อได้หย่อนกระทงลงไปในน้ำนั้น ตั้งใจว่าไอ้บุญนี้เป็นอุปทิ (นาทีที่ 41: 03) เป็นของหนัก ขี้เกียจจะแบกอีกแล้ว ก็จะลอยมันไปเสีย อย่าได้มาปรุงแต่งให้เวียนว่ายตายเกิดแม้แต่ในสุคติเลย แล้วก็ลอยบุญไปเสีย
ทีนี้คนที่บุญก็ไม่มีจะลอย มันก็ยังเหลือแต่ตัวกู ตัวกูที่มันยังเป็นกลางๆ ที่จะไปทำบุญทำบาป มันเป็นตัวกูที่แบกไว้ หนักมานมนานแล้ว ก็จะเอาใส่กระทงลอยไปเสียบ้าง และเมื่อได้หย่อนกระทงลงไปในน้ำนั้น ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะลอยตัวกู ลอยของกู อาจจะมีมานะว่าเรานี่แหล่ะเป็นตัวสำคัญ ถ้ายังมีตัวเราอยู่เพียงใด มันก็ยังหาบาป หาบุญได้อยู่เรื่อยๆไป จะต้องลอยไอ้เจ้าตัวการ หรือต้นเหตุนั้นเสีย เรียกว่าตัวกู จะเรียกว่าอหังการก็ได้ จะเรียกว่าอัตตาก็ได้ เรียกอะไรก็ได้ ก็ไม่พ้นไปจากความหมายของคำว่าตัวกู
ตัวกูนี้มันมีไว้สำหรับยกหูชูหาง ผู้หญิงก็ทำเป็น ผู้ชายก็ทำเป็น เรื่องการยกหูชูหาง ชาวบ้านก็ทำเป็น พระเณรก็ทำเป็น ก็เห็นๆกันอยู่ทุกวัน นี้เรียกว่ามันมีตัวกูสำหรับจะยกหูชูหาง เมื่อลองได้ยกหูชูหางแล้ว มันก็จะต้องเป็นบุญ หรือเป็นบาป อย่างใดอย่างหนึ่งโดยแน่นอน ไม่เป็นบุญ ก็เป็นบาป ไม่เป็นบาป ก็เป็นบุญ ขึ้นชื่อว่าตัวกูแล้ว มันยกหูชูหางขึ้นมาเมื่อไหร่ มันต้องเป็นได้มาอย่างหนึ่งแน่นอน คือไม่ได้บุญ ก็ได้บาป ไม่ได้บาป ก็ได้บุญ นี่มันจะสร้างบุญ สร้างบาปกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู ฉะนั้นเราจะลอยมันไปเสียในสมุทร ให้พ้นไปเสียจากสมุทร คือลอยไปเสียจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้พ้นไปเสียจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้มาสร้างความรัก หรือความเกลียด ความโกรธ ความอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้อีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่าลอยตัวกู ถ้าใครชอบก็จงลอยอย่างนี้เถิด เมื่อได้หย่อนกระทงลงไปในน้ำก็อธิษฐานจิตว่าลอยตัวกู ของกู ที่ยกหูชูหางมามากมายแสนที่จะเบื่อแล้ว
ทีนี้ดูต่อไปว่ามันจะได้อะไรบ้างเมื่อลอยไอ้ตัวกู ของกูนี่ไปเสียแล้ว มันจะได้อะไรบ้าง ที่เห็นๆกันอยู่ง่ายก็คือว่า มันจะพ้นไปเสียจากการเกิด เมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่มีความแก่ ความตาย ความทุกข์ทั้งหลายแต่ประการใด นี่เรียกว่าลอยให้พ้นไปเสียจากการเกิด เราสมมติเรียกว่าลอยกระทง หรือว่าเอาสัญลักษณ์ของการลอยกระทงในน้ำนั้นมาเป็นการแสดงความหมาย ว่าจะลอยการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ไปให้พ้น การเกิดแก่เจ็บตายนั้นมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ใจนั้นมันคิดไปตามที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะส่งอะไรมาให้ หรือมันจะปรุงแต่งอะไรให้ คล้ายๆว่าใจมันมีสติสัมปชัญญะ มีธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว มีแสงสว่างในทางธรรมแล้ว การเกิดแห่งตัวกู ของกู จะมีอีกไม่ได้ เรื่องตัวกูเกิดอย่างไร เกิดเมื่อไร นี่ได้อธิบายกันมาจนปากเปียกปากแฉะแล้ว ทำตัวเป็นคนหูหนวกกันเสียหมด ไม่ค่อยจะฟัง ไม่ค่อยสนใจจะฟัง ไม่ค่อยจะรู้ว่าตัวกู ของกูนี้ มันเกิดเมื่อไหร่ ไปๆมาๆก็พูดว่ามันเกิดเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่ของมัน โดยอำนาจของอวิชชา จะเป็นชายฉกรรจ์ เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ฆราวาส บรรพชิตก็ตาม เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ของมันไปด้วยอำนาจหน้าที่ของอวิชชาแล้ว มันเหมือนกันหมด คือมันจะเกิดตัวกู ของกู จะเป็นกิเลสตัณหา อุปาทาน แล้วก็ไม่มีความทุกข์ แล้วก็จะมีความทุกข์ การจะทำให้ไม่ให้มีความทุกข์นั้น มันก็ต้องทำไม่ให้เกิด ฉะนั้นจึงต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นอย่างดี นี่แหละเราจะต้องเอาความสะเพร่า ความประมาทใส่กระทงลอยไปเสีย ให้เป็นผู้ที่มีความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่เป็นประจำ เมื่อมีอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่เผลอ ไม่มีอวิชชาเข้ามาปรุงแต่ง แต่มีปัญญา มีวิชชาเกิดขึ้นแทน ก็เลยทำอะไรไปในทางที่ไม่เกิดตัวกู ของกู ไม่ต้องยกหูชูหาง ไม่ต้องทำอะไรที่น่าเกลียดน่าชังอย่างนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่าลอยการเกิดแห่งตัวกู ของกูออกไปเสียได้ ทำให้ไม่มีตัวกู ของกูเกิดมาเป็นทุกข์อีก ทำอย่างนี้เรียกว่าทำให้เป็นนิพพาน
อย่างที่เปรียบด้วยต้นมะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง อย่าให้มันลงไปในทะเลขี้ผึ้ง อย่าให้มันเป็นมะพร้าวนาฬิเกร์อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง หมายความว่าถ้ามันจะอยู่ท่ามกลางแห่งอารมณ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดตัวกู ของกู มันก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่รับเอาอารมณ์นั้นมา คนเรามันอยู่ที่ไหนไม่ได้ นอกจากจะอยู่ในโลกนี้ เพราะโลกนี้มันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ ขึ้นชื่อว่าอารมณ์นั้นมันมีไว้สำหรับยึดถือเกาะเกี่ยว ถ้าคนมันโง่ มันมีอวิชชา มันไม่มีสติปัญญา มันก็เข้าไปเกาะเกี่ยว อารมณ์มันก็กลายเป็นอารมณ์ขึ้นมาจริงๆ ของที่มันมีอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาตินั่นแหละ มันก็กลายเป็นอารมณ์ขึ้นมา คือเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนกับเบ็ด มันก็เลยเกาะเกี่ยวคนนั้นให้ติดเบ็ด มันก็ได้ความทุกข์ เมื่เรามีสติปัญญาตามแบบของพระพุทธเจ้า อะไรๆที่มันมีอยู่ในโลกนี้มันก็ไม่เป็นอารมณ์แก่เราได้ คือไม่เป็นที่เกาะเกี่ยวแก่เราได้ เราก็ไม่ติดเบ็ด นี่จึงจะเรียกว่าโผล่ขึ้นมาเหนืออารมณ์ ท่ามกลางอารมณ์ หรือว่าโผล่ขึ้นมาท่ามกลางทะเลขี้ผึ้ง เป็นมะพร้าวนาฬิเกร์อยู่ได้โดยสบายอย่างนี้
สระนาฬิเกร์นี้อุตส่าห์ขุดขึ้นมาทั้งที ทำให้มีขึ้นมาทั้งที ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้ เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้พิจารณาดูให้ดีจนเข้าใจ ว่านิพพานก็อยู่ที่วัฏสงสารนั้นเอง แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้คนเรานี้ แม้จะถูกแวดล้อมไปด้วยอารมณ์ในวัฏสงสาร แต่ถ้าเราไม่รับเอาอารมณ์นั้นเข้ามาแล้ว มันก็ไม่วัฏสงสาร ไม่เกิดวัฏสงสาร ไม่เกิดเวียนว่ายไปในกองแห่งอารมณ์จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อะไรก็ตาม ไม่กลายเป็นอารมณ์สำหรับที่จะเกาะเกี่ยวให้จมอยู่ในกองทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่าทำให้ว่างจากอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เกาะเกี่ยว ทำให้ว่างจากกิเสส ไม่มีกิเลสมากลุ้ม รุมจิตใจ ทำให้ว่างจากความทุกข์ เมื่อไม่มีกิเลสแล้ว ก็ไม่มีความทุกข์ ทำให้ว่างจากความรู้สึกอย่างโง่ๆว่ามีตัวกู ความเข้าใจผิดอย่างเขลาๆว่ามีตัวกูก็ไม่มีอีกต่อไป มันก็ว่างจากตัวกู ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง มันก็เลยว่างไปหมด ข้างในก็ว่าง ข้างนอกก็ว่าง ทำให้ว่างอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการลอยกระทงในวันนี้ก็คือ ให้ลอยไอ้สิ่งที่เกะกะ ยุ่งเหยิงนั้นออกไปเสียให้หมด ให้มันกลายเป็นความว่างอย่างที่เรียกแล้วข้างต้นว่าลอยตัวกู ของกู นี่อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งตัวกู ของกู หรือกิเลสของตัวกู ของกู หรือกรรม หรือวิบากของตัวกู ของกู ไอ้ของเกะกะรกรุงรังเหล่านี้ใส่กระทงลอยไปเสียให้หมด มันจะได้ว่าง ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู ว่างจากอะไรทุกอย่าง ก็เลยเป็นจิตที่เป็นอิสระ ที่เรียกว่าหลุดพ้น ไม่เกาะเกี่ยวอยู่ในสิ่งใด นี่ลอยกระทงอย่างนี้ใครจะชอบใจ ก็ลองดู มันเป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าหากว่ารักที่จะทำ หรือว่าตั้งใจจะทำกันจริงๆ มันก็จะต้องทำได้เป็นแน่นอน
วิธีที่จะกระทำอย่างไร ก็พูดกันมาแล้วจนปากเปียกปากแฉะ ก็มีแต่คนหูหนวก ฟังไม่ได้ยิน แกล้งไม่ฟังเสียบ้าง ไม่เห็นใครมาฟังสักกี่คน แม้ที่เป็นพระ เป็นเณรมันก็ไม่อยากฟัง นับประสาอะไรกับชาวบ้านที่จะอยากฟัง เพราะว่าออกมาบวชเป็นพระ เป็นเณรนี้ก็เพื่อจะทำในเรื่องนี้ให้มันเสร็จไป และให้มันเร็วเข้า ก็ยังไม่ค่อยจะสนใจ แล้วชาวบ้านจะสนใจให้มากไปกว่าพวกที่หลีกออกมาบวชนี้ ดูมันก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีหวัง หรือถ้าจะทำมันก็คงจะน่าหัวเท่านั้นเอง อะไรๆที่ได้เคยพูดมาแล้วมากมาย ขนาดที่เรียกได้ว่าปากเปียกปากแฉะนั้น ก็คือเรื่องสัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของๆเรา หรือว่าที่ได้ยินกันมากที่สุด สัพเพ ธัมมา อนัตตา เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา หรือเป็นสุญญตา คือเป็นความว่าง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าโลกนี้ว่าง โลกทั้งปวงว่าง ว่างจากอะไร ก็ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน แต่คนไม่เห็นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านแนะ มันก็เลยไปยึดมั่น ถือมั่น แล้วปรุงแต่งเป็นกิเลส เป็นความทุกข์ มันจึงไม่ว่าง ถ้าพยายามกระทำในใจให้เห็นธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยบทว่าสัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ อยู่เป็นประจำแล้ว มันก็จะเป็นเหมือนกับว่าลอยกระทงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คือลอยตัวกู ของกูอยู่ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะไม่ให้เหยื่อ หรืออาหารแห่งตัวกู ของกู เข้ามาเลี้ยงตัวกู ของกูอยู่เสมอ ถ้าจะตั้งจิตอธิษฐานกันในวันนี้ เมื่อลอยกระทงแล้วก็จงตั้งจิตอธิษฐานว่า แต่นี้ต่อไปเราจะลอย ยินดีที่จะลอยตัวกู ของกู คือจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นอยู่เป็นประจำ
การเห็นแจ้งอยู่อย่างนี่อมเป็นการลอยบาป ลอยบุญ ลอยตัวกู ของกู ลอยอะไรทุกอย่างที่ควรจะลอย ลอยไปจนหมดสิ้นให้ว่างเป็นสุญญตา กระทั่งว่างที่สุดเป็นปรมัตสุญญตา หรือบรมสุญญตา ไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่ในลักษณะที่จะเป็นตัวกู ของกูอีกต่อไป เรียกว่ามีจิตพ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เราสะสมหมักหมมอาสวะอยู่เสมอ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมลอย ไม่ยอมทิ้งขว้าง เพราะว่าเราขยันรัก ขยันโกรธ ขยันเกลียด ขยันกลัว อยู่ทุกวันๆ เมื่อใดเรารู้สึกรัก รู้สึกพอใจ เมื่อนั้นมันก็เพิ่มกามาสวะ หรือว่าเพิ่มราคานุสัย อนุสัยคือราคะ เมื่อใดเราขัดใจก็เสวยทุกขเวทนา เมื่อนั้นก็เพิ่มปฏิฆานุสัย เมื่อใดเสวยอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนั้นก็ยิ่งเป็นอวิชชานุสัย คือมีความโง่มากขึ้น เราสะสมราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย อย่างนี้ไม่ยอมปล่อย คือไม่ยอมลอย วันนี้ก็ตั้งจิตอธิษฐานที่จะลอยมันเสีย ของที่เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ แห่งสุขเวทนา ก็อย่ายินดี ของอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ก็อย่ายินร้าย ของเป็นที่ตั้งแห่อทุกขมสุขเวทนา ก็อย่าไปโง่กับมัน เมื่อทำอยู่ดังนี้อนุสัยก็ค่อยๆร่อยหรอไป หมดเปลืองไปจนหมดสิ้น นี่แหละคือการลอยกระทงที่แท้จริงตามแบบของพระอริยเจ้า หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พิจารณาดู มีความชอบใจแล้วจงกระทำในลักษณะที่ว่าการลอยกระทงของเราในวันนี้ มันจะลอยกิเลส ลอยอนุสัย ลอยบุญ ลอยบาป ลอยตัวกู ของกู ออกไปได้อย่างไร ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นว่าไม่มีใครลอยใคร มันก็ลอยของมันได้เอง ไม่มีตัวกู ไม่มีอะไรๆที่เป็นของกู นี่เรียกว่าไม่มีใครจะลอยอะไร แต่แล้วมันก็เป็นการลอยอยู่ตลอดเวลาได้ เพราะว่ามันไม่รับเอาอะไรเข้ามาอีก เรียกว่ามันมีการลอยอยู่ได้โดยไม่ต้องมีตัวกูลอย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราดังนี้
คำอธิบายทั้งหมดนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเรื่องลอยกระทงนี้เป็นเรื่องดี และมีอยู่หลายชั้น หลายระดับ ลูกเด็กๆก็ทำไปอย่างหนึ่งเถิด คนแก่แล้วก็จงทำไปอีกอย่างหนึ่ง สูงขึ้นไปตามลำดับๆให้มันทุกระดับ เกิดมาทีหนึ่งจะมัวเป็นเด็กอยู่เป็น ๑๐๐ ปี เป็นเด็กอายุ ๑๐๐ ปี ฟังดูสิ มันมีเกียรติยศ หรือว่ามันเป็นไอ้สิ่งที่น่าชื่นใจที่ตรงไหน เป็นเด็กมีอายุ ๑๐๐ ปี แต่ถ้าว่าเป็นคนแก่อายุ ๑๐๐ ปี มันก็พอจะเข้าใจได้ คือว่ามันได้เห็นอะไรมาก ได้ฟังอะไรมาก ได้ทำอะไรได้มาก ได้ลอยบาป ลอยบุญ ลอยกิเลสอะไรได้มาก เมื่อมาถึงวันลอยกระทง ก็ควรจะคิดกันอย่างนี้ กระทำกันอย่างนี้ ก็จะไม่เสียทีที่ว่าผู้มีสติปัญญา เพราะได้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไว้ให้สำหรับประชาชนได้บำเพ็ญบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ประจำเดือนทุกเดือนต่างๆกันจนตลอดปีดังนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้กระทำการลอยกระทงในวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ด้วยกันทุกคนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้