แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายประจำวันเสาร์ในวันนี้ซึ่งเป็นวันจำพรรษา ซึ่งเป็นวันในพรรษา ได้เคยบรรยายหัวข้อธรรมที่เนื่องกับความหมายการจำพรรษามาหลายเวลาแล้ว วันนี้ตรงกับวันตายาย ก็เลยถือโอกาสพูดเรื่องเกี่ยวกับตายาย และใช้ได้แม้ในความหมายที่เกี่ยวกับการจำพรรษา คือการหยุด
หัวข้อในวันนี้จึงมีชื่อว่า ของฝากวันตายายปี ๒๕๑๘ เรื่องเกี่ยวกับตายายก็ได้พูดมาหลายแง่หลายมุมมาแล้วตั้งแต่ปีก่อนๆ แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่จบไม่สิ้น ยังจะพูดกันได้ต่อไป แล้วก็ยังมีในบางอย่างบางประการที่ต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเป็นการเตือนกันไว้อย่าให้ลืมได้ แต่ละอย่างๆ นี้ก็มีอยู่อย่างละหลายๆ อย่าง จึงพูดเรื่องตายายกันได้โดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะหมดจะสิ้น เกี่ยวกับคำว่าตายายเราหมายถึงบรรพบุรุษที่มีพระคุณในฐานะที่เป็นผู้ให้อะไรหลายๆ อย่างแก่ลูกหลาน ตายายให้โดยตรงก็คือให้ชีวิต ให้การเกิดมาเป็นคนสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้และต่อไปในอนาคต อันไม่มีที่สิ้นสุด คือไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงไปได้อย่างไร ตายายไม่ได้ให้แต่การเกิดการกำเนิดเป็นชีวิตนี้อย่างเดียว ได้ให้สิ่งที่คู่กันมากับชีวิตจิตใจ สิ่งนั้นก็คือธรรมะ ตายายก็ได้ให้ธรรมะแก่เรา ในลักษณะที่จะต้องดูให้ดีๆ มันมีหลายอย่าง และบางอย่างก็ลึกซึ้งอยู่ ให้ธรรมะด้วยการสอนด้วยปากนั้น ก็ให้แน่ เพราะว่าบิดามารดาก็ต้องสอนลูกสอนหลาน ตายายก็ให้ธรรมะด้วยปากพูด แต่นั่นไม่ดีเท่ากับให้ธรรมะด้วยการทำให้ดู บิดามารดาปู่ย่าตายายประพฤติอยู่อย่างไรในตระกูลนั้นๆ พอเด็กๆ คลอดออกมาก็ถ่ายทอดเอาโดยไม่รู้ตัว จึงมีการประพฤติกระทำอะไรเหมือนๆ กันกับที่บิดามารดาปู่ย่าตายายกระทำ การอบรมโดยอ้อมอบรมโดยตรง ทำให้เด็กๆ เขามีคุณธรรมพอที่จะเป็นมนุษย์ที่ดีได้ นี้เรียกว่าตายายให้ธรรมะให้พระธรรมโดยการแสดงตัวอย่างให้ดู นี้ก็ยังไม่ ไม่สำคัญถึงที่สุด อยากจะพูดว่าที่สำคัญที่สุดนั้นคือการถ่ายมาโดยสายเลือด บางคนอาจจะคิดว่าไม่ไม่สำคัญอะไร แต่อาตมารู้สึกว่าการถ่ายมาโดยสายเลือดนี้ควรจะถือว่าเป็นความสำคัญชั้นรากฐาน บิดามารดามีจริตนิสัยสันดานอย่างไรๆ ก็ถ่ายมาสู่ลูกหลานด้วยสายเลือด เพราะฉะนั้นความผิดหรือความถูกความดีหรือความชั่วอะไรของลูกหลานนี้ มันเนื่องมาจากการถ่ายทอดในสายเลือดของบิดามารดาอย่างน้อยก็สักครึ่งหนึ่งหรือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อจากนั้นก็ถ่ายทอดด้วยการอบรม เมื่อเกิดมาแล้วการว่ากล่าวสั่งสอนการแวดล้อมในทางที่ดี นี้ก็อีกสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ รวมกันแล้วก็เป็นครบหน่วยหนึ่ง คือเป็นคนที่ดีได้ นั้นเราหวังกันอยู่ว่ามนุษย์ควรจะมีพืชพันธุ์ที่ดีจากบรรพบุรุษที่ดี ควรจะสงวนพืชพันธุ์ที่ดีไว้ให้สุดความสามารถของตน คนเล่นปลากัด เล่นไก่ชนมันก็สงวนพืชพันธุ์ไอ้ของไก่ของปลาตัวนั้นๆ ไว้เป็นพิเศษ เพราะมันจะได้พันธุ์ที่ดี แล้วเอามาเลี้ยงดูให้ดี แล้วก็เอาไปตีไปกัดกันให้ชนะ นี้ก็พอจะเป็นหลักฐานพยานให้เห็นได้ว่าการมีพืชพันธุ์ที่ดีและการอบรมเลี้ยงดูที่ดีนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์เรา ที่นี้เมื่อพูดถึงตายายว่าเป็นพืชพันธุ์ที่ดีอย่างไรนี่ บางคนก็จะสงสัย คนวัยรุ่นสมัยนี้มักจะหาว่าปู่ย่าตายายโง่เง่าเต่าปูปลา สู้พวกตนสมัยนี้แม้ยังเด็กๆ อยู่ก็ไม่ได้เพราะรู้อะไรมากทำอะไรได้ มันโลดโผนโจนทะยานไปหมด อย่างนี้คือลูกหลานที่มันโง่ซะเอง ไม่รู้ว่าตายายเขามีอะไรดี จะต้องพิจารณาดูกันในข้อที่ว่า ตายายนั้นเขามีดีอยู่ที่มีธรรมะอันทำความสงบ เป็นผู้ชอบความสงบ เป็นผู้รักความสงบ เป็นผู้ไม่ชอบเป็นทาสของกิเลส คนสมัยนี้มันชอบเป็นทาสของกิเลส แล้วเป็นกันโดยไม่รู้สึกตัว เป็นกันจนไม่รู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่ว ก็คิดดูเถอะว่าไอ้ลูกหลานสมัยนี้มันโง่หรือตายายมันโง่
ไอ้ความฉลาดนั้นเอาไปทำอะไรกัน ที่เราอยากเฉลียวฉลาดสามารถอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น นั้นเพื่อจะเอาไปทำอะไรกัน มันก็ควรจะเอาไปใช้เพื่อแสวงหาความสุข และก็ต้องเป็นความสุขที่แท้จริง คือเป็นสันติสุขเป็นสันติภาพ สันติสุขหมายถึง ความสุขของแต่ละบุคคล สันติภาพหมายถึง ความสุขของทั้งหมด ของคนทั้งหมด ถ้ามันได้สันติสุขและสันติภาพก็ควรจะถือว่ามันได้ผลที่เราควรจะปรารถนาถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังขืนทำอะไรให้มากไปกว่านั้นมันก็กลายเป็นคนโง่ คือมันไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ ปู่ย่าตายายทำแต่สิ่งที่นำมาซึ่งสันติสุขและสันติภาพ และก็ได้รับพอสมควรแก่การกระทำ ลูกหลานสมัยนี้มันไม่รู้จักสันติสุขไม่รู้จักสันติภาพ มันไม่ได้ทำอะไรเพื่อสันติสุขสันติภาพ แล้วมันก็ไปทำสิ่งอื่นมากเกินไปในสิ่งที่ก่อกวนรบกวนสันติสุขและสันติภาพ แล้วมันก็อวดว่ามันดีมันเก่งมันฉลาดกว่าปู่ย่าตายาย ผีหัวเราะก็ไม่รู้สึกว่าคนในโลกสมัยนี้มันโง่เง่ากันอย่างไร ถ้าว่าวิญญาณของตายายรู้เรื่องนี้เห็นเรื่องนี้ก็คงจะปลงลงไปว่าจะมาพูดให้ลูกหลานฟังมันก็คงไม่ฟัง ก็พลอยนั่งหัวเราะผสมโรงพร้อมกับพวกผีที่หัวเราะคนสมัยนี้กันต่อไปอีก ความหมายที่กล่าวมานี้ท่านทั้งหลายคงพอจะเข้าใจได้ว่าอาตมาหมายถึงอะไร ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ระหว่างตายายกับลูกหลานสืบๆ มาตามลำดับ ลูกหลานกำลังวิ่งไปหาความเสื่อมทรามทางศีลธรรมยิ่งขึ้นทุกที ละทิ้งไอ้แบบฉบับดั้งเดิมของตายายซึ่งไขว่หาแต่สันติสุขหรือสันติภาพ เดี๋ยวนี้มันมีแต่คนโกหกหลอกลวง คือปากมันว่าหาสันติภาพ แต่แล้วมันก็เตรียมอาวุธศาสตราไว้ฆ่าฟันกันมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพราะว่ามันไม่รู้จักว่าสันติภาพนั้นคืออะไร ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระเจ้า ละทิ้งพระธรรม ละทิ้งไอ้ที่ ละทิ้งสิ่งที่มันเป็นรากฐานแห่งสันติสุขหรือสันติภาพนั้นไปหมดสิ้น นี่ปัญหามันก็มาตกเป็นบาปหนักอยู่แก่ชั้นลูกหลาน ถึงนับวันแต่ว่ามันจะข่มเหงเบียดเบียนรบราฆ่าฟันล้างผลาญกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นถ้าไปนึกถึงตายายกันเสียใหม่ให้ถูกวิธี ความคิดก็อาจจะกลับไปหาความถูกต้อง แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากทีเดียว อาตมาจึงรบเร้าเรื่อยไปไม่กลัวใครเบื่อ ไม่กลัวใครโกรธว่าให้นึกถึงตายาย ให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ระลึกถึงตายาย แล้วก็ทำอะไรให้ตรงตามประเพณีนี้ซึ่งมีไว้สำหรับค้ำจุนโลกนี้ให้พออยู่กันไปได้ไม่วินาศลงไปต่อหน้าต่อตา นี่สิ่งที่เกี่ยวกับตายายมีปัญหาเฉพาะหน้าอยู่โดยย่อๆ ดังที่ว่ามาอย่างนี้
ทีนี้ก็อยากจะขอให้ดูกันต่อไปอีกถึงลูกหลานของตายาย แม้สมัยนี้เราก็เป็นลูกหลานของตายายมาแต่โบราณกันมาถึงสมัยนี้ ทีนี้ก็ควรจะสอบดูว่าตายายของเรานั้นมีอะไรดีมาตั้งแต่เมื่อไร ตายายนี่มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวอย่างเข้มข้นจนถึงกับไอ้เพลงกล่อมลูกให้นอนก็เป็นเรื่องนิพพานก็มี เป็นคำสอนที่ลึกซึ้ง เป็นของติดปากคนทุกคน เหมือนกับคำพูดกลางบ้านกลางตลาดนั้นก็มี นี่ก็เพราะว่าตายายของเราได้เข้าเกี่ยวข้องกับพระธรรมหรือพระพุทธศาสนานี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา ทำไมไม่เอ่ยถึงสมัยสุโขทัยหรือสมัยอื่นบางสมัย เพราะว่าเราไม่มีวัตถุพยานหรือหลักฐานมากเหมือนสมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยอยุธยา แผ่นดินภาคใต้โดยเฉพาะรอบอ่าวบ้านดอนนี้มีโบราณวัตถุสมัยทวาราวดีและสมัยศรีวิชัยมากนับชิ้นไม่ไหว และยิ่งมาถึงสมัยอยุธยาด้วยแล้วยิ่งมากจนนับชิ้นไม่ไหวยิ่งขึ้นไปอีก นี่เราหมายถึงพระพุทธรูปหรืออะไรทำนองนั้นที่ปรากฏเหลือเป็นหลักฐานอยู่ พระพุทธรูปสมัยทวาราวดีเฉพาะที่พบในเขตไชยาเรานี้อย่างน้อยก็มี ๑๙ ชิ้นที่เคยนับดูแล้ว ซึ่งหมายถึงเป็นองค์ๆไปอย่างน้อย ๑๙ องค์ ๑๙ ชิ้น สมัยศรีวิชัยก็ ๒๐-๓๐ ชิ้น มีชิ้นใหญ่เช่นพระธาตุ พระบรมธาตุอย่างนี้เป็นต้น สมัยอยุธยาก็มีพระพุทธรูปที่ทำด้วยศิลาสีแดงจากภูเขาแถวนี้ทั่วไปนับได้ร้อยๆ ชิ้น คำนวณดูเวลาแรงงานไอ้ที่เขาเอามาใช้ในการกระทำนี่มันมาก มันต้องมีศรัทธามากและเสียสละมาก มีไอ้การทำกันจริงๆ จังๆ นี่แหละเป็นเครื่องวัดว่าทำไมปู่ย่าตายายของเราจึงมีธรรมะมาก ถึงกับว่าไอ้บทกล่อมลูกให้นอนก็ยังกลายเป็นเรื่องนิพพาน บทกล่อมลูกให้นอนนี้มีมากหลายร้อยบท เป็นเรื่องชวนหัวเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียตั้งครึ่งตั้งค่อน แล้วก็เป็นคำสอนทางจริยธรรมเสียตั้ง ๒๐% ๓๐% และอย่างน้อยก็ ๔-๕ %ที่มาถึงธรรมะชั้นลึกชั้นปรมัตถ์ เช่น บทมะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง นี้เป็นต้น คำที่ลึกซึ้ง เช่น คำว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย อย่างนี้ เป็นที่เชื่อได้ว่ามันเป็นคำพูดของปู่ย่าตายายของภาคใต้ ว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริงนิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือ นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ลูกหลานสมัยนี้มันยังโง่หรือจะต้องพูดว่าบรมโง่ก็ได้ ที่พูดว่านิพพานต้องตายแล้ว ถ้าตายแล้วจึงจะได้นิพพานนี่มันฟังดูอะไรมันจะได้จึงพูดได้นิพพาน แต่ปู่ย่าตายายก็นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย อะไรที่เป็นตัวกูนั่นตายเสียให้หมดก่อนจะร่างกายมันจะตาย มันก็จะเป็นนิพพานขึ้นมา นี่คำพูดว่านิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตายนั้นมันถูก ถูกจนไม่รู้จะถูกอย่างไร คือถูกทั้งหมดในพระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดา ว่านิพพานมันอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย แล้วก็ต้องก่อนร่างกายนี้ตาย มันก็หมายความว่าเร็วๆ นี้ ไม่ใช่อีกกี่หมื่นชาติแสนชาติอสงไขยชาติและได้กันต่อตายแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าหัว นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าปู่ย่าตายายของเรานี้ไม่ใช่เล่น รู้ธรรมะจนถึงขนาดนี้ และยังมีอีกหลายข้อที่มีความหมายลึกซึ้งอย่างนี้ นี่เอามาเป็นตัวอย่างเท่านั้น
สรุปความว่าปู่ย่าตายายของเรานี่เคยถึงธรรมะในระดับลึกสูงสุด เข้าใจเรื่องพระนิพพานอย่างถึงที่สุด ท่านก็มีลมหายใจออกเข้าอยู่ด้วยธรรมะ จึงออกมาเป็นบทกลอนในทำนองนี้ นี่เราเป็นลูกหลานของตายายชนิดนี้ แล้วเราจะโง่กันไปถึงไหน เมื่อตายายเป็นคนฉลาดที่สุดแล้วลูกหลานมันจะโง่กันไปถึงไหนก็ขอให้คิดดู ทำไมจึงไม่เข้าใจอย่างน้อยก็พอๆ กับที่ตายายได้เข้าใจแล้วก็ได้สอนไว้ ขอให้คิดกันเสียใหม่เถอะว่าเราจะต้องศึกษาอะไรกันบ้าง จะต้องรู้อะไรกันให้ทันแก่เวลาที่ว่าจะได้นิพพาน คือตายเสียก่อนตาย อยากจะพูดแทรกตรงนี้สักหน่อยหนึ่งว่า อย่าได้โง่จนตายเข้าโลงไปเลย เหลือเวลาไว้สัก ๑๐ปี ๒๐ปี ๓๐ปีก็ยิ่งดีสำหรับจะฉลาดบ้างก่อนแต่ที่จะเข้าโลงไป อย่าให้มันโง่เต็มที่จนกระทั่งตายเน่าเข้าโลงไป มันน่าสงสาร มันน่าเวทนา มันน่าสลดสังเวช ดังนั้นควรจะเตรียมเวลาไว้สัก ๒๐- ๓๐ปี ถ้าสมมุติว่าเราจะมีอายุกันสัก ๑๐๐ปี ให้มันมากหน่อย ให้มันมากสำหรับคนขี้เกียจ แล้วก็เว้นไว้สัก ๓๐ปี นี่จะมาสนใจธรรมะในระดับสูงกันบ้างให้สมกับที่เป็นลูกหลานของตายาย ดังนั้นพออายุได้สัก ๗๐ปี ก็ควรจะหยุดกันบ้างแล้ว หยุดไอ้เรื่องหลงใหล หยุดเรื่องขวนขวายที่เป็นทาสของกิเลส หยุดกันเสียบ้าง พูดง่ายๆ ก็พออายุสัก๗๐ปี ก็หยุดเป็นทาสของกิเลสกันสักทีเถอะ มาเป็นทาสของพระรัตนตรัย ของไอ้อะไรให้มันเต็มที่กันตอนนี้ เรียกว่า๗๐ปีหยุด คือหยุดบ้าง หยุดหลง หยุดหลับหูหลับตา มาเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ยุคใหม่ ก็ลืมหูลืมตาก็รู้ว่าควรจะได้อะไรกันบ้างที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นี้ แล้วก็ขอให้ได้เสียก่อนแต่ที่จะเน่าเข้าโลงไป คือขยักไว้สัก ๓๐ ปี คือหลังจากอายุ ๗๐ ปีก็เปลี่ยนเรื่องมาสนใจเรื่องนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้จะไม่แพ้ตายายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะเห็นว่าตายายสมัยโน้นคงจะอยู่กันเป็นสุขสบายมากไม่มีเรื่องร้อนอกร้อนใจรบกวนไปสารพัดอย่างเหมือนไอ้คนสมัยนี้ ไม่เหมือนตายายสมัยนี้ ลูกหลานเหลนมันรบกวนไม่มีที่สิ้นสุด จนไม่รู้ว่าความพักผ่อนนั้นอยู่อย่างไรกัน อาตมาเชื่อว่าตายายสมัยโน้นมีการพักผ่อนมากกว่าตายายสมัยนี้ เพราะไม่เรื่องอะไรที่จะชวนให้เกิดการรบกวนมากเหมือนสมัยนี้ เพราะว่าเขาไม่ต้องการจะเรียนอะไรอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนคนสมัยนี้ เขาไม่อยากจะมีทรัพย์สมบัติเครื่องประดับประดาหรูหรารกรุงรังไปหมดทั้งบ้านทั้งเรือนเหมือนกับคนสมัยนี้ ได้ยินว่าเขาไม่เคยสวมเสื้อกัน อย่างนี้เป็นต้น ผ้าห่มผืนหนึ่งก็พอแล้ว อย่างนี้เราก็ยังทันเห็น ว่าตายายสมัยโน้นบางคนไม่เคยสวมเสื้อ เมื่อมันต้องการน้อยอย่างนี้มันก็ไม่มีอะไรรบกวนมาก มันก็อยู่กันผาสุก คือมีเวลาว่างมาก เดี๋ยวนี้ก็เป็นทาสของลูกหลานเหลนไม่มีที่สิ้นสุด หาให้มันเรียนแล้วก็สมน้ำหน้าที่ถูกมันหลอกมันต้ม เอาไปพล่าเอาไปผลาญ จนเดือดร้อนไปหมดทั้งตาทั้งยายทั้งย่าทั้งปู่ นี่ตายายสมัยโน้นไม่มีปัญหาอย่างนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่พูดเก่ง ไม่พูดจาเก่ง ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยอย่างเดี๋ยวนี้ แต่เขาก็มีความสงบมีความพักผ่อน อาจมีเวลาไปวัดทุกวันวันละ๒-๓ ชั่วโมง ก็ยังเห็นอยู่ว่าก็ยังมีคนที่เขามีเวลาไปนั่งคุยกับท่านสมภารทุกวัน หรือบางคนก็เลยไปถึงกับว่าไปนั่งโขกหมากรุกกับท่านสมภารได้ทุกวัน ก็เพราะมันมีเรื่องน้อย มันมีเวลาว่างมาก จึงมีการพักผ่อนมาก แล้วก็ไม่ได้ ไม่ได้ต้องการว่าจะต้อง เราไม่ได้ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ถึงกับว่าจะต้องทำอย่างนั้น เราใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นก็ได้ แต่ขอให้มันมีความพักผ่อนในจิตใจเหมือนกับปู่ย่าตายายสมัยโน้น นั่นแหละ มันสำคัญกว่า เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักคำว่าพักผ่อนเพราะมันอยากจนไม่มีขอบเขต ไม่เคยอิ่มด้วยความอยาก ก็เลยไม่มีการพักผ่อน แต่ว่าโลกมันเจริญมันก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าเพราะคนมันมากขึ้นในโลกมันต้องแข่งขันแย่งชิงกัน ใครเร็วใครได้อย่างนี้มันก็ถูกเหมือนกัน แต่มันก็ยังมีวิถีทางที่จะให้เกิดความพักผ่อนหรือชวนกันทำความเข้าใจให้มีศีลธรรมในระหว่างกันและกัน มันก็อยู่กันได้ด้วยความสงบสุขโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน ต่อสู้กัน เบียดเบียนกันอย่างคนอันธพาล นี่ก็เป็นสิ่งที่พอจะถือเป็นหลักได้ว่าเราจะต้องนึกถึงปู่ย่าตายายของเราในแง่ที่ว่าเขามีความสงบสุขยิ่งกว่าเรา ใกล้ชิดธรรมะยิ่งกว่าเราจนเอาเรื่องของพระนิพพานมากล่อมลูกได้
ทีนี้เราก็คิดต่อไปถึงข้อที่ว่าเราจะมีหลักธรรมะอย่างไรกัน ทั้งที่ตายายได้มอบให้เป็นมรดกมาและเราก็ควรจะคิดขึ้นได้เอง ควรจะปรับปรุงขึ้นมาได้ด้วยตนเองโดยน้ำมือโดยฝีมือของเราสมัยนี้ เช่นเดียวกับที่ปู่ย่าตายายเขาได้ทำกันมาแล้วสมัยโน้น ดังนั้นเราจะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาธรรมะให้เข้าใจและก็ให้เห็นแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการปฏิบัติธรรมะนั้นๆ ได้ความอย่างไรก็พูดขึ้นมาเป็นคำแนะนำสั่งสอนกันสืบไปให้ไกลออกไปให้กว้างออกไป ให้มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวของคนเราสมัยนี้ให้มากขึ้นเหมือนกับสมัยโน้น
ทีนี้ก็จะได้พูดกันต่อไปถึงข้อที่ว่าควรจะมีหลักธรรมะอย่างไรบ้างในระดับเดียวๆ กันกับที่ตายายสมัยโน้นเขามีเขาพูดเขาสอนเขาฝากไว้เป็นมรดกแก่คนชั้นหลัง เท่าที่อาตมาได้พยายามศึกษาค้นคว้ามาเรื่อยๆ เกี่ยวกับธรรมะนี้ก็เป็นเวลาตั้ง ๔ - ๕๐ปีแล้ว ก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรให้มันแปลกออกไปหรือดีกว่าที่ตายายเขารู้และเขาปฏิบัติ เราจะเอาหลักที่ตายายมอบให้มาดูกันใหม่แล้วก็ปรับปรุงขึ้นใหม่หรือว่าใช้ให้มันสะดวกกว่าง่ายกว่า
ดังนั้นในวันนี้การบรรยายธรรมะนี้ได้บอกแต่ต้นแล้วว่าจะให้ชื่อเรื่องนี้ว่าของฝากวันตายายปี ๒๕๑๘ คือปีนี้ หัวข้อนี้จะมีสั้นๆ ให้จำง่ายและก็เป็นคำสำคัญคล้องจองเหมือนกับที่ตายายเขาชอบใช้ อาตมาก็เลยจะบอกออกมาเป็นหัวข้อว่า ไอ้สิ่งที่ควรจะหลีกมันคือความชั่ว ไอ้สิ่งที่ควรจะกลัวคือความผิดพลาด สิ่งที่อุบาทว์นั้นคือความขัดแย้ง ไอ้สิ่งที่ร้ายแรงนั้นคือความเมา สิ่งที่ทำให้รู้สึกเบานั้นมันคือความปล่อยวาง สิ่งที่ให้แสงสว่างนั้นคือดวงปัญญา สิ่งที่ควรปรารถนาคือนิรามิสสุข สิ่งหมดทุกข์คือการทำให้ดับ หรือความดับ และสิ่งที่ลึกลับก็ได้แก่ตัวอวิชชา เป็น ๙ หัวข้อด้วยกันที่จะอธิบายใจความแต่ละข้อๆ ให้เป็นที่พอเข้าใจได้ และก็คงจะมีประโยชน์บ้าง
ข้อที่ ๑ สิ่งที่ควรหลีกคือความชั่ว คือบาปอกุศลและคนที่มีบาปมีอกุศลคือคนชั่ว สิ่งที่ควรหลีกก็คือความชั่วที่มีอยู่ที่คนชั่ว ที่ว่าเราหลีกคนชั่วแล้วเราควรจะมองให้ดี แล้วหลีกความชั่วที่มีอยู่ในคนคนนั้นต่างหาก ถ้าเขามีเนื้อหนังร่างกายจิตใจบริสุทธิ์ไม่มีความชั่ว มันก็ไม่เป็นอันตรายอะไร ด้วยเหตุที่ความชั่วมันมีอยู่ในสังขารกลุ่มนั้นที่เรียกว่าคนนั้น ดังนั้นเราหลีกไอ้คนนั้นน่ะ ก็คือเราเกลียดความชั่วของเขา เราหลีกความชั่วของเขา จึงพูดขึ้นเป็นคำที่จำกัดความว่าสิ่งที่ควรหลีกนั้นคือความชั่ว จะเป็นความชั่วของเขาหรือความชั่วของเรา ล้วนแต่ควรหลีกทั้งนั้น คำว่าหลีกนี้ คืออย่าให้มันพบกันเข้า อย่าให้มันเห็นว่ามีอยู่ คือ ไม่มีอยู่ในเรา ไม่มีอยู่ที่เรา ก็เรียกว่าหลีก ถ้าว่าหลีกคนชั่ว แต่ในตัวเรามีความชั่ว มันจะหลีกอย่างไรกัน มันจะหลีกอย่างไรพ้น มันก็เท่ากับไม่ได้หลีก เห็นคนชั่วเดินมาแต่ไกลแล้วก็เดินอ้อมไปเสียหลายเส้นหลายสิบเส้น แต่ในตัวเองมันก็เต็มอยู่ด้วยความชั่ว แล้วมันจะหลีกคนชั่วอย่างไรได้ ควรจะดี ดูให้ดีๆ ว่าคนสมัยนี้นั้น ที่ยกตัวเองว่าดีนั้น ก็ควรจะดูกันในข้อนี้ ดูว่ามันมีอะไรอยู่ในตัว แล้วก็มายกโทษคนอื่นว่าเป็นคนชั่ว ถ้าจะหลีกคนชั่วก็ต้องหลีกความชั่วที่มีอยู่ในตัวนั่นแหละก่อน และทำอย่างไรเสียไอ้ความชั่วของใครก็ตามจะไม่มาหาคนนั้นได้ แล้วเราเลยหลีกคนชั่วได้ทั้งโลกเลย เพราะว่าทำความชั่วในตัวของตัวนี้ให้มันหมดสิ้นไป บาปอกุศลอะไรทั้งหลายนี่มันไม่มีก็เรียกว่าไม่มีความชั่ว เพราะหลีกจากความชั่ว กายวาจาใจนี่มันไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความชั่วเสียเลย นี่คือข้อที่ว่าสิ่งควรหลีกนั้นคือความชั่ว อย่าไปเพ่งไปเล็งที่คนชั่วให้มันมากนัก จะเป็นคำพูดที่หลอกลวงปฏิบัติตามไม่ได้ สอนกันแต่ว่าหลีกคนชั่ว แล้วทำไมไม่นึกถึงว่าไอ้ความชั่วที่เรามีอยู่ข้างในจะเอาไว้ที่ไหน แล้วจะหลีกคนชั่วได้อย่างไรถ้าว่าในตัวเรามันมีความชั่ว ถ้าเอาความชั่วในเราออกไปแล้ว ทีนี้มันก็เป็นการหลีกโดยอัตโนมัติ หลีกคนชั่วทุกคนในโลก ไม่มีคนชั่วคนใดจะมาทำอะไรกับเราได้ นี่ข้อที่ ๑ สิ่งที่ควรหลีกนั้นคือความชั่ว
ทีนี้ข้อที่ ๒ สิ่งที่ควรกลัวคือความผิดพลาด ไอ้ความผิดพลาดนี้ดูให้ดี เคยฝึกกันแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องทำด้วยมือด้วยเท้าด้วยวัตถุสิ่งของนี่ นั้นมันเป็นความผิดพลาดเด็กเล่น ความผิดพลาดอันตรายอย่างยิ่งที่สุดนั้นมันคือความประมาท พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความประมาทนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าเท่ากับความตาย คนที่ประมาทแล้วก็มีค่าเท่ากับคนตายแล้ว แต่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจคำว่าความประมาท เพราะว่าในภาษาไทยนี่มันหมายแต่เรื่องคนอวดดีเขาเรียกคนประมาท แต่ในภาษาบาลีมันไม่ใช่อย่างนั้น คนประมาทมันคือคนที่ทำผิดพลาดไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีสติสัมปชัญญะ เป็นคนเกียจคร้าน เป็นคนผลุนผลัน เป็นคนอวดเก่ง อะไรก็ตาม รวมกันหมดแล้วก็เรียกว่าความประมาทหรือคนประมาท ในทีนี้ใช้คำว่าผิดพลาด มันผิดพลาดไปหมด ทางกายก็ผิดพลาด ทางวาจาก็ผิดพลาด ทางจิตก็ผิดพลาด ทางความรู้ความคิดความเห็น ความเชื่อมันก็ผิดพลาด นั่นแหละคือความประมาท สิ่งที่ควรกลัวอย่างยิ่งก็คือความผิดพลาดเพราะมันหมายถึงความตาย สิ่งควรกลัวคือความผิดพลาด
ทีนี้ข้อที่ ๓ สิ่งอุบาทว์คือความขัดแย้ง อุบาทว์ในภาษาบาลี เรียกว่า อุปัทว อุปัทว พอมาเป็นภาษาไทยมันกลายเป็น อุบาทว์ อุปัทว อย่างที่เราได้ยินแล้วสะดุ้ง เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำอันตรายอย่างไม่รู้สึก เป็นสิ่งที่ทำอันตรายอย่างไม่รู้สึก ทำให้พินาศฉิบหายอย่างไม่รู้สึก ก็ในความหมายอย่างที่ใครๆ ก็พูดเป็นว่า ตัวอุบาทว์ๆ มันหมาย มันหมายความว่าอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้มันรู้จักตัวอุบาทว์นั้นแต่ในทางวัตถุหรือรูปธรรมเสียอย่างเดียว ไม่รู้ในเรื่องทางจิตใจว่าตัวอุบาทว์นั้นคืออะไร ตัวอุบาทว์นั้นคือความขัดแย้งต่อสิ่งที่เป็นสวัสดีมงคล มันขัดแย้งกันอย่างไร มันขัดแย้งถ้าจะพูดมาตั้งแต่เบื้องสูง มันขัดแย้งต่อธรรมะ มันไม่ตรงกับธรรมะ มันขัดแย้งต่อธรรมะ อย่างนี้ล่ะก็เรียกว่าความขัดแย้ง ก็เป็นตัวอุบาทว์สูงสุดและ ทีนี้ขัดแย้งต่อบุคคล มันมีความขัดแย้งระหว่างคนดีคนชั่ว คนนี้มันขัดแย้งกับคนนั้นเพราะมันมีอะไรไม่เหมือนกัน มันจึงทะเลาะวิวาทกัน มันนำมาซึ่งความระส่ำระสายวุ่นวาย นี่มันขัดแย้งกันต่อบุคคล ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ทีนี้มันขัดแย้งต่อสถานที่ คือสถานที่นี้อุบาทว์ อยู่กันแล้วเจ็บไข้ อยู่กันแล้วเป็นตาย นี่ว่ามันขัดแย้งกับสถานที่ ก็ต้องถือว่าสถานที่นั้นมันมีอะไรที่เป็นอุบาทว์ เช่นว่า อากาศไม่ดี หรืออะไรไม่ดี โรคมีเชื้อโรค มีอะไร มันอยู่กับสถานที่อย่างนั้นหรือใช้สอยวัตถุอย่างนั้นมันเป็นอุบาทว์ มันทำให้ต้องตาย ความหมายมันอยู่ที่ความขัดแย้ง ถ้าขัดแย้งโดยวัตถุ โดยสถานที่ โดยสิ่งของ ไปอยู่เข้า เป็นเข้า ไปกินเข้า มันก็ตาย ถ้าขัดแย้งต่อบุคคลมันก็เป็นศัตรูกัน มันก็อยู่กันอย่างศัตรู มันก็ต้องวินาศ แต่ก็ยังไม่เท่ากับขัดแย้งต่อธรรมะ คือต่อพระธรรม ทว่าพระธรรมในที่นี้หมายถึงธรรมสัจจะของธรรมชาติ ซึ่งใครไปขัดแย้งเข้าก็เหมือนกับว่าเอาหัวไปชนภูเขา แล้วมันก็จะเป็นอย่างไร เราจะทำอะไรให้มันขัดแย้งต่อไอ้ธรรมสัจจะของธรรมชาตินั้นไม่ได้ เรียกว่าไม่ขัดแย้งต่อพระธรรม พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่กล้าขัดแย้งต่อพระธรรม ท่านเคารพพระธรรม ท่านว่าอย่างนั้น ดังนั้นเราอย่าให้เกิดการขัดแย้งกับพระธรรมในชั้นสูงสุด แล้วก็อย่าขัดแย้งต่อมนุษย์ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วก็อย่าขัดแย้งต่อวัตถุสิ่งของสถานที่ที่แวดล้อมเราอยู่ สิ่งอุบาทว์นั้นคือความขัดแย้ง ในสามอย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม นี่จึงจะเรียกว่าอุบาทว์จริงๆ ไอ้ที่ว่า เหี้ยขึ้นมาบทเรือนแล้วอุบาทว์นั้นน่ะ มันอุบาทว์ของคนโง่ ทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่ากล้วยออกปลีมากลางต้นมันอุบาทว์อย่างนั้นอย่างนี้ มันอุบาทว์ของคนโง่ ขอให้รู้ว่าที่ว่าอุบาทว์ ก็คือความขัดแย้ง ขัดแย้งต่อพระธรรม ขัดแย้งต่อบุคคล ขัดแย้งต่อสถานที่ ที่ถูกต้อง นี่เรียกว่าสิ่งที่อุบาทว์นั้นคือความขัดแย้ง
ข้อที่ ๔ สิ่งร้ายแรงนั้นคือความเมา เมื่อพูดถึงสิ่งร้ายแรง คนจะคิดไปถึงยาพิษบ้าง ไฟกัลป์บ้าง โรคระบาดบ้างอะไรบ้าง มันก็ถูก แต่จะไม่มีอะไรเท่ากับไอ้ความเมา เพราะว่ามันไม่รู้สึกตัว ดูที่คนบ้า เขาไม่ยอมรับว่าเรา ว่าเขาเป็นคนบ้า เพราะว่าเราบอกว่าคุณเป็นบ้าแล้ว มันก็ไม่เชื่อแล้วมันก็ว่าเรานี่เป็นคนบ้า ทีนี้คนบ้าก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนบ้า คนเมาก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนเมา มันจึงทำอะไรผิดพลาดโดยที่ไม่ต้องรู้ตัว แล้วก็ทำได้มากเท่านั้นเอง ทว่าเมานี้ไม่ใช่มีเมาเหล้าอย่างเดียว ไอ้เมาเหล้านั้นเป็นเมาของเด็กอมมืออีกหล่ะ ขออภัยใช้คำอย่างนี้กันบ้างมันเร็วดี เพียงแต่เหล้าเมาอะไรนี่มันเป็นเรื่องเล็ก คำกลอนในที่แห่งหนึ่ง ท่านนักกวีผู้ประพันธ์ท่านใช้คำว่าเมาเหล้า เมาหญิง เมาหยิ่ง เมายอ เมาผู้รู้พอ ไม่เหมือนเมาสวรรค์ เมาเหล้าของเด็กเล่น เมาหญิงมันจะมากกว่า เมาหยิ่ง จองหองแล้วก็เมายอเมาเกียรติยศ เมาอย่างนี้ก็เป็นของเด็กเล่นไปหมด ถ้าไปเทียบกับเมาสวรรค์ สิ่งร้ายแรงนั้นคือความเมา อาตมาจะบอกว่าไอ้ที่เมาอย่างยิ่งกว่าเมาสวรรค์นั้นก็คือเมาตัวกู เมาเหล้า เมาหญิง เมาหยิ่ง เมายอ เมาสวรรค์นี้ก็ยังไม่เท่าไหร่ ยังเป็นเมาเด็กเล่น แต่ถ้าเมาตัวกูแล้วคือเมาสูงสุด เมาที่สุดไม่มีอะไรจะเมายิ่งไปกว่านั้น เมาตัวตนของตนนั่นคือว่า มีความหมายมั่นว่ามีตัวตน มิจฉาทิฐิทั้งนั้น ที่ว่าของตนเป็นธรรมดา ถ้ารู้สึกว่าตัวตนแล้วมันก็รู้สึกว่ามีของตน ก็เป็นการเมาที่ไม่รู้จักตน ไม่รู้จักตัวเอง ตนเองเป็นผู้เมาก็ไม่รู้จักตัวเองว่าตนเมาเหมือนกับคนบ้าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนบ้า ดังนั้นความเมานี้จึงร้ายแรงมาก คือไม่มีทางที่จะถูกต้องได้เลย ไม่มีทางที่จะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไรให้มันถูกต้องได้เลย มันก็เป็นสิ่งที่ทำลายอย่างลึกซึ้งอยู่ตลอดเวลา ขอให้ไปคิดกันเสียใหม่ว่าไอ้เมาตนเมาตัวตนของตนนั้นหล่ะเป็นการเมาสูงสุด แล้วก็เมาทั้งหลับทั้งตื่นด้วย ตลอดชีวิตด้วย จะเป็นไปได้ถึงอย่างนั้น เมาเหล้า เมาหญิง เมาหยิ่ง เมายอนี้มันก็ยังเปลี่ยนไปตามวัยตามฐานะการณ์ แล้วก็ชั่วครู่ชั่วยาม เมาสวรรค์นี้หมายถึงเมากามารมณ์ในชั้นสูงสุด ก็เชื่อว่ามันต้องเปลี่ยนไปบ้างตามวัย ตามเวลา ตามความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะซึ่งจะไปเสพพบกับอารมณ์นั้นๆ แต่ถ้าเมาตนนี่ตั้งแต่อ้อนแต่ออกไปจนถึงเน่าเข้าโลงนั้นมันก็ไม่เคยไม่เคยสร่างเมา สิ่งร้ายแรงคือความเมา น่ากลัวยิ่งกว่าไฟ น่ากลัวยิ่งกว่ายาพิษ น่ากลัวยิ่งกว่างูพิษ น่ากลัวยิ่งกว่าน้ำท่วมหรือว่าไฟไหม้โลก เมาอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตลอดเวลา ยาพิษ งูพิษ น้ำท่วม ไฟไหม้ไม่เห็นมาซักที ไม่เห็นก็ไม่เคยเห็นมาซักที ได้แต่ยินแต่ชื่อ อย่างแถวบ้านเรานี้ก็นับว่ามีบุญมีกุศลไม่มีน้ำท่วม ไม่มีไอ้อะไรอย่างที่เขามีๆ กัน ดังนั้นเรื่องงูพิษ ยาพิษ อาวุธ ศาสตราดังนั้นก็ไม่มา นานๆ จึงจะมา เว้นไว้แต่ว่าเมื่อไรเราจะไปเมาตัวตนก็นั่นแหละ ก็จะสร้างกิเลสขึ้นมากระทบกระทั่งกัน แล้วทีนี้สิ่งที่เป็นพิษเป็นอะไรมันก็จะมา ลูกปืนมันก็จะมา อะไรมันก็จะมา เพราะว่าเราได้เมาตัวตนซะแล้ว ก็สร้างกิเลสเป็นความโลภบ้างความโกรธบ้างความหลงบ้าง เดี๋ยวมันก็เรียกหาอะไรเข้ามาสำหรับประหัตประหารตัวเอง นี้จึงถือว่า สิ่งร้ายแรงนั้นคือ ความเมา
นี้ข้อ ๕ สิ่งเบานั้นคือความปล่อยวาง พูดก็เหมือนกำปั้นทุบดิน ว่าสิ่งเบานั้นคือความปล่อยวาง เพราะมันเห็นได้ง่ายกันตั้งแต่ทีแรก แต่ไปตอนปลายๆ มันมองไม่เห็น เช่นเราถืออะไรมาหนักๆ นี่ พอเราวางเสียมันก็เบา ทุกคนก็เคยแล้ว ก็เข้าใจได้แล้ว แต่มันยังมีสิ่งบางสิ่งที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนได้ถืออยู่หิ้วอยู่แบกอยู่ แล้วจะวางได้อย่างไร จึงต้องพูดกันถึงข้อนั้น มันจึงมีการปล่อยวางหลายระดับ ถ้าปล่อยวางทางวัตถุทางกาย เช่นหิ้วของหนักมา ทูนของหนักมา ก็ปล่อยไป นี่เรียกว่าปล่อยวางวัตถุ ทีนี้ปล่อยวางจิต ปล่อยวางทางจิต จิตมันกลัดกลุ้มอะไรอยู่ก็สลัดออกไปเสีย ก็เรียกว่าปล่อยวางทางจิต นี้ปล่อยวางทางทิฐิ ทางวิญญาณในเบื้องบนโน่นคือ ว่าต้องปล่อยความรู้ผิด เห็นผิด เชื่อผิดออกไปเสีย มันก็ถูกของมันเองแหละ ขอให้ปล่อยที่ผิดๆๆ ออกเสียให้หมดแล้วมันก็จะถูกของมันเอง ดังนั้นสิ่งเบาคือความปล่อยวางนี่มันจึงมีถึง ๓ ระดับ เราก็รู้จักกันแต่ระดับแรกระดับต้น คือปล่อยวางทางวัตถุ เช่นแบกมาหนักๆ ทูนมาหนักๆ ก็ยกลงเสีย มันก็เบา หรือหิ้วอยู่จนมือเมื่อยแล้วก็ปล่อยเสีย มันก็หายเมื่อย นั่นมันปล่อยวางทางวัตถุมันเป็นของเด็กอมมืออีกตามเคย ไอ้ปล่อยวางทางจิตนั้นอะไรที่เอามากลุ้มจิตกลุ้มใจอยู่นั่นแหละปล่อยออกไปซะบ้าง จะเอาไว้ทำไม เอาไว้สำหรับกลุ้มและทรมานตนก็พาลโกรธคนนั้น พาลโกรธคนนี้ว่าไม่ช่วยบ้างขวางหูขวางตาบ้าง ต่างๆ นานา เพราะว่าตนมันไม่ปล่อยสิ่งที่มันกดทับอยู่บนจิตใจของตน หนักเข้ามันก็จะไปชวนให้คนอื่นมาช่วยกันทำชั่วทำผิดร่วมมือกับตน นี่มันก็เป็นเรื่องที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก คือไม่ปล่อยแล้วก็ยังจะมาถมทับให้มันมากยิ่งขึ้นไปอีก นี้ปล่อยวางทางวิญญาณนั้นต้องศึกษาและอุตสาห์ศึกษาให้ถูกต้องตามวิถีทางพุทธศาสนา คือต้องให้มันรู้จริง ให้ความรู้ผิดหายไปให้ความรู้ถูกมันมีขึ้นมา เรียกว่าปล่อยความผิด ปล่อยมิจฉาทิฐิ ปล่อยมิจฉา ปล่อยมิจฉัตตะ ความเป็นผิดก็เรียก มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดนี้ก็เรียก มันเป็นเรื่องผิด ปล่อยผิดๆ ออกไป มันก็เหลือแต่ถูก หรือเอาตะกอนออกไปก็เหลือแต่น้ำใส นี่เรียกว่ามันปล่อยในอันดับลึกซึ้งซึ่งไม่รู้จักแล้วก็ไม่ได้ปล่อย จะกอดรัดเอาความผิดเห็นผิดคิดผิดนี่ไว้อย่างเหนียวแน่นสำหรับต่อสู้เมื่อมีผู้มาบอกว่าให้ปล่อย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วพระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็โปรดคนชนิดนี้ไม่ได้ ท่านก็ยอมแพ้เหมือนกัน บางคนท่านโปรดไม่ได้ท่านก็ไม่ไปยุ่งด้วย มันก็มีอยู่ เราต้องทำตนพอให้พระพุทธเจ้าท่านโปรดได้ พยายามศึกษาในศีลสมาธิ ปัญญา ไม่เท่าไหร่ก็จะรู้จักปล่อยวางในระดับสูงสุด คือปล่อยวางในด้านวิญญาณ ด้านทิฐิ สิ่งเบานั้นคือความปล่อยวาง วางความหนักทางวัตถุเสีย วางความหนักทางจิตเสีย วางความหนักทางวิญญาณหรือทางทิฐินั้นเสีย ก็จะเบา สิ่งเบาคือความปล่อยวาง
ทีนี้ข้อ ๖ สิ่งสว่างนั้นคือดวงปัญญา ไม่อยากจะพูดถึงแสงตะเกียงหรือแสงอะไรซึ่งเป็นเรื่องเด็กอมมือ ถ้าแสงสว่างหรือสิ่งสว่างนั้นคือดวงปัญญา เมื่อพูดว่าปัญญาแล้วมันก็พอแล้ว มันไม่ ไม่มีปัญญาหลายชนิดหรอก ถ้ามันรู้ผิดหรือรู้ไม่สมบูรณ์มันก็ไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญาต้องรู้ถูกต้องแล้วก็สมบูรณ์ด้วย นี้เราเรียกว่าปัญญา แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีหลายระดับ เช่นเดียวกับดวงไฟนี่มันก็มีหลายขนาด ดวงเทียน ดวงใต้ ดวงตะเกียง ดวงไอ้อะไรเรื่อยขึ้นไปจนถึงดวงอาทิตย์นั่น มันก็หลาย หลายระดับแสงสว่าง แต่ในทางปัญญานั้นระวังให้ดี จะมีแสงสว่างสักเท่าหิ่งห้อยก็ไม่ได้กระมัง ที่ว่ามีปัญญา มีปัญญาอย่างนี่มันก็ว่าแต่ปาก ปากมันท่องได้ แต่ตัวปัญญาแท้จริงที่เป็นแสงสว่างแท้จริงในทางจิตทางธรรมจะเปรียบเทียบกับหิ่งห้อยซักตัวหนึ่งก็จะไม่ได้มั้ง คือเราไม่สามารถจะรู้เห็นด้วยปัญญาอันชอบอันแท้จริงว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร แต่เราพูดได้ยิ่งกว่าภูเขาเลากา แต่แสงสว่างแท้จริงในเรื่องนั้นจะมีสักเท่าหิ่งห้อยก็ทั้งยาก ขออย่าได้ทำเล่นกับเรื่องปัญญา แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแนะทรงขอร้องอยู่เสมอว่าจงพอกพูนทางแห่งปัญญา เพราะมันยังไกล มันยังยาว มันยังนาน ขอให้เริ่มพอกพูน คือสะสมบำรุงให้มันก้าวหน้าให้มันเจริญไปตามทางของปัญญาจนกว่าจะสมบูรณ์พอที่จะรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า โอ๊ย, มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงจะเฉยได้ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น มันเพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาแล้วก็ท่องได้พูดได้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นเรื่องของไอ้ความมืดอยู่นั่นเอง เราจะพูดเรื่องแสงสว่างก็พูดไปซิ มันก็ยังเป็นความมืดอยู่นั่นแหละ ดังนั้นดวงปัญญาก็ต้องหมายถึงไอ้ รู้สึกจริงๆ ต่อสิ่งนั้นๆ อย่างสมบูรณ์ ถูกต้องและสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะดับความทุกข์นี้ได้อย่างไร พูดว่าดับความทุกข์ได้อย่างไรก็ต้องหมายถึง ดับเหตุแห่งความทุกข์ได้อย่างไร รู้ว่ามาจากไหน จะต้องทำที่ตรงไหนมันจึงจะกระจัดกระจายสูญหายไป มันต้องรู้กันอย่างสมบูรณ์กันอย่างนั้น แล้วยังต้องรู้ชนิดที่กระทำได้ด้วย ถ้ารู้แล้วทำไม่ได้มันก็เป็นหมัน เดี๋ยวนี้เราไปรู้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ก็ทำได้ในสิ่งที่ไม่ต้องทำ ไอ้โลกนี้มันจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องมี จึงได้เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าไปรู้สิ่งที่ควรรู้และก็ทำได้ในสิ่งที่ควรทำ โลกนี้มันก็มีแต่สิ่งที่ขจัดปัดเป่าไอ้ความทุกข์ทั้งหลายได้ เราก็จะมีโลกที่มีความสงบ ขอให้นึกถึงคำว่าปัญญาตัวจริงกันเสียที อย่าเป็นเพียงปัญญาท่องจำหรือว่าปัญญาคิดๆ นึกๆ ตามเหตุผลเลย ที่เรียกว่า สุตตมยปัญญา ปัญญาเกิดมาจากการเล่าเรียน จินตามยปัญญา จินตา ปัญญาอันเกิดมาจากความคิดนึกนี่มันไม่พอ มันต้องเป็นภาวนามยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดมาจากการทำจิตให้เจริญ ภาวนานั้นคือ การทำจิตให้เจริญด้วยคุณสมบัติของจิต มันก็รู้แหละ เพราะจิตนั้นมันเป็นธาตุรู้ มีคุณสมบัติสำหรับรู้ เดี๋ยวนี้มันรู้ไม่ได้ เพราะมันยังไม่ได้ไปแตะต้องให้มันทำหน้าที่ของมัน เหมือนกับว่าเพชรพลอยที่มันอยู่ใต้ดินนั้นมันดูเป็นก้อนหินสกปรกอะไรก้อนหนึ่งเท่านั้น พอเขาเอามาเจียระไนมันเกิดเป็นเพชรพลอยที่สวยที่สุดแพงที่สุดมา เพราะการเจียระไนนั้น นี้จิตของเราก็เหมือนกัน จิตล้วนๆ น่ะมันเหมือนกับไอ้ก้อนเพชรพลอยที่มันไม่ได้เจียระไน มันจึงไม่เห็นอะไร คิดอะไรไม่ได้ ใช้อะไรไม่ได้ จึงต้องทำภาวนาให้แก่มัน ทำให้มันเจริญขึ้นมา ทำให้มันเจริญขึ้นมา จนเป็นจิตที่ผ่องใส แจ่มใสไม่มีอุปกิเลสห่อหุ้ม แล้วมันก็มีลักษณะเป็นจิตที่แวววาวไปด้วยคุณสมบัติสำหรับจะรู้นั่นรู้นี่ การกระทำให้จิตเป็นได้อย่างนี้เรียกว่า ภาวนา เครื่องมือก็คือ สมาธิ ใช้สมาธิเป็นเครื่องทำให้เกิดความเป็นอย่างนี้แก่จิต จิตก็เลยรู้แจ้ง เรียกว่าเป็นปัญญาชนิดที่เกิดมาจากภาวนา คือการทำสิ่งนั้นๆ ให้ถึงขั้นสูงสุดของคุณสมบัติของมัน จิตนี้มีคุณสมบัติสูงถึงขนาดนี้ คือจะรู้พระนิพพานได้ จะรู้สึกต่อพระนิพพานได้ แต่มันรู้ไม่ได้เพราะมันมีอะไรมาหุ้มห่อมาครอบงำ เป็นจิตที่สกปรก มืดมัว เร่าร้อน วุ่นวายอยู่ต้องทำให้สำเร็จเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาสมบูรณ์ แสงสว่างของปัญญานั้นก็จัดการไปตามหน้าที่ของมันเอง คือมันกำจัดอวิชชาของมันเอง เราเอาแสงสว่างมาเถอะ เราไม่ต้องไล่ความมืดหรอก ความมืดมันหายไปเอง เพราะแสงสว่างมันมาแล้วความมืดมันหายไปเอง เราไม่ต้องลงทุนไล่ความมืดโดยตรง เพียงแต่เราไปเอาแสงสว่างมา เรื่องของจิตนี่ก็เหมือนกัน ทำให้มันเกิดปัญญาที่แท้จริงขึ้นมาแค่นั้น มันก็เป็นแสงสว่างถึงที่สุด คือแสงสว่างของปัญญา กำจัดอวิชชาแล้วก็ไม่เกิดตัวกูของกู แล้วก็ไม่อาจจะเกิดโลภะ โทสะ โมหะได้แต่ประการใด นี่เรียกว่าสิ่งสว่างนั้นคือ ดวงปัญญา
นี้ข้อ ๗ สิ่งควรปรารถนานั้นคือ นิรามิสสุข คำนี้คงจะเป็นที่ฉงนสำหรับบางคน นิรามิสสุข เป็นภาษาบาลี เป็นคำจำกัดความ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้เป็นประจำ เป็นหลักประจำ นิรามิสสุข แปลว่า สุขที่ไม่มีเหยื่อ เรารู้จักกันแต่สุขที่มีเหยื่อ เอารูปสวย ๆ เอาเสียงเพราะๆ เอากลิ่นหอมๆ เอาไอ้รสอร่อยๆนี่มา ที่เป็นเหยื่อนี่เข้ามาให้เสพให้เสวยแล้วก็รู้สึกว่าพอใจ แล้วก็เรียกมันว่าความสุข สุขชนิดนี้มีเหยื่อแล้วร้อนเป็นไฟ เลยแนะให้สะกดด้วยตัว ก ไอ้ความสุกที่สะกดด้วยตัว ก คือสุกมีเหยื่อ ถ้านิรามิสสุข ก็สุขที่ไม่มีเหยื่อ คือเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป ให้จิตมันวิเวกจากสิ่งเหล่านี้ เกิดกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ขึ้นมา นี่คือความสุขชนิดที่ไม่มีเหยื่อ ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่านิรามิสสุข สุขที่ไม่มีเหยื่อ ชาวบ้านรู้จักและกินกันอยู่ เสพกันอยู่แต่ความสุขที่มีเหยื่อ ต้องเอาเหยื่อเข้ามา ต้องลงทุนด้วยเหงื่อไหลไคลย้อยหาเงินมาไปซื้อหามา ไปรวบรวมมา ไปเก็บสะสมไว้แล้วก็จะได้บริโภคสิ่งที่มีเหยื่อนั้นอย่างหลับหูหลับตาไม่มีเวลาสร่างไม่มีเวลาซา เพราะรู้กันอยู่แต่อย่างนั้น คือสุขที่มีเหยื่อ แต่เขาก็รู้สึกไปทำนองว่าเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา คำพูดมันก็ต้องอย่างนั้น น่ารัก น่าปรารถนา น่าพอใจ สุขที่มีเหยื่อสำหรับคนที่ไม่รู้อะไร แต่ถ้าคนที่เขารู้อะไรแล้วเขาไปเห็นว่าไอ้สุขที่ไม่มีเหยื่อต่างหากที่ควรปรารถนา จึงพูดในที่นี้ว่าไอ้สิ่งควรปรารถนานั้นคือ นิรามิสสุข อย่าไปเข้าใจผิดต่อสิ่งนี้แล้วไปหาสุขที่มีเหยื่อ หลักธรรมะก็มีอยู่เป็นชั้นๆ คนหนึ่งพูดว่า ถ้าเห็นว่ามันใกล้ตายแล้วก็รีบทำบุญมันจะนำสุขมา นี้ก็ว่าถูก ที่พระพุทธเจ้าท่านว่าถ้าเห็นว่ามันใกล้จะตายแล้ว ให้รีบละสุขที่มีเหยื่อเสีย ให้คายเหยื่อเสีย อย่าไปมัวกินเหยื่ออยู่เลย ไอ้พวกที่ว่าทำบุญๆ นั้นทำทำไมกัน ลองคิดดู เพราะเขารู้สึกหรือเชื่ออยู่ว่าไอ้บุญนั้นน่ะคือสิ่งที่จะช่วยให้เราได้สิ่งที่เราพอใจ เรารัก เราปรารถนา เป็นสวรรค์วิมานเป็นอะไรก็แล้วแต่จะ จะเรียก