แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายจนกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เป็นบุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้กล่าววิสัชนาแล้วเมื่อตอนเช้า ธรรมเทศนาเมื่อตอนเช้าได้กล่าวถึงเรื่องตายายที่จะต้องเคารพสักการะตอบแทนคุณด้วยความกตัญญูกตเวที ส่วนในบัดนี้จะได้กล่าวถึงตายายชนิดที่จะต้องฆ่าเสียให้ตาย เป็นของตรงกันข้ามกันอยู่ดังนี้ ถ้าผู้ใดฟังไม่เข้าใจ ยังมีความสงสัย ก็พึงจะได้ทำความเข้าใจกันเสียในวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญเนื่องกันกับเรื่องทุกเรื่อง หรือเกี่ยวเนื่องกันกับความรู้ความเข้าใจของพุทธบริษัททั้งหลายนั่นเอง
การที่จะเข้าใจธรรมะได้หมดจดสิ้นเชิงนั้น มีแบบความสำคัญอยู่ข้อหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความลับหรือเป็นเคล็ดลับ คือผู้ที่จะเข้าใจธรรมะได้จริง ได้แตกฉานชัดเจนนั้น จะต้องรู้ภาษาสองภาษาเสมอไป คือจะต้องรู้ทั้งภาษาคนและภาษาธรรมะ คนโดยมากรู้แต่ภาษาคน ไม่รู้ภาษาธรรมะ หรือรู้ก็รู้น้อยเกินไป ถ้าผู้ใดมีความรู้ทั้งสองภาษา คือรู้ทั้งภาษาธรรมะและภาษาคนแล้ว จะเข้าใจธรรมะได้โดยง่าย ที่แล้วๆ มามักจะไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องนี้ ไม่ได้บอกให้ทราบว่ามีภาษาอยู่สองภาษาเช่นนี้ คนก็เอาไปปนกันเสียเป็นภาษาเดียว ไม่สามารถจะแยกกันได้ และได้ยินได้ฟังอะไรก็ฟังโดยภาษาคนไปเสียทั้งนั้น จึงไม่เข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้นก่อนแต่ที่จะรู้ว่า มีตายายอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งต้องบูชาแทนคุณ ชนิดหนึ่งต้องฆ่าเสียให้ตายนั้น จะต้องพูดกันให้รู้ถึงเรื่องภาษาสองภาษานี้ก่อน คือภาษาคนกับภาษาธรรมะดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง
จะยกตัวอย่างให้เห็นกันได้ง่ายๆ ทั่วๆ ไปว่า ภาษามีอยู่สองภาษาอย่างไร สมมติคนหนึ่งโกรธขึ้นมาแล้วด่าอีกคนหนึ่งว่า แกไม่ใช่คน อย่างนี้ลองคิดดูเถิดว่าทำไมจึงด่าเขาว่าไม่ใช่คน ทั้งที่เขาก็มีรูปร่างเป็นคนเหมือนกับคนด่า ถ้าคนนั้นไม่ใช่คน คนด่าก็ต้องไม่ใช่คนด้วยเหมือนกัน เพราะมีรูปร่างอย่างเดียวกัน เกิดมาจากบิดามารดาเหมือนกัน ทำไมถึงถูกด่าว่าไม่ใช่คน เมื่อใครด่าใครคนใดคนหนึ่งว่าไม่ใช่คน คำว่าคนนั้นย่อมมีความหมายเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงว่ามีรูปร่างเป็นคน แต่ว่ามันมีความหมายไปถึงว่าเขาไม่มีอะไรที่เหมือนคน หรือว่าเขาไม่มีธรรมะชนิดที่เป็นคน ที่ทำให้เป็นคน คือขาดคุณสมบัติของความเป็นคน จึงถูกหาว่าไม่เป็นคน เพราะฉะนั้นเราก็เห็นได้ทันทีว่า คำว่า คน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นคน ไม่ใช่หมายถึงตัวร่างกาย รูปร่างและเนื้อหนังนั้นก็หาไม่ เพราะว่าถ้าเอาเนื้อหนังร่างกายเป็นหลักกันแล้ว ก็เป็นคนด้วยกันทุกคน แม้แต่คนบ้าก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ถ้าเอาจิตใจหรือธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจเป็นหลักกันแล้ว คนบางคนหาได้เป็นคนไม่ และคนบางคนก็มีความเป็นคนน้อยเกินไปก็มี เป็นคนครึ่งๆ กลางๆ ก็มี นั่นแหละเป็นเหตุให้ถูกด่าว่าไม่ใช่คน ฉะนั้นคำว่า คน นั้นตามภาษาคนนั้นก็คือรูปร่างเป็นคน แต่ว่า คน ตามภาษาธรรมะนั้นหมายถึงภาวะที่ต้องตาม ที่นิยม ที่รับรองกันว่าดีอย่างไรจึงจะได้เป็นคน คำว่า คน ในภาษาคนหมายถึงคนทางร่างกาย คำว่า คน ในภาษาธรรมะหมายถึงภาวะแห่งจิตใจ ดังนี้ นี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นที่สุดที่ชี้ให้เห็นว่า มีภาษาอยู่สองภาษา คือภาษาคนอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมะอีกอย่างหนึ่ง
ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวกับ คน ต่อไป เช่นคำว่าการเกิด หรือการเกิดมา คำว่าการเกิดนี้ถ้าเป็นภาษาคนคือภาษาธรรมดาก็หมายถึงคลอดออกมาจากท้องแม่ อยู่ตามสมควรแล้วก็ตายไป นี้เรียกว่า ชาติ ความเกิดออกมาครั้งหนึ่งของคนๆ หนึ่ง แต่ทางภาษาธรรมะนั้น คำว่าชาติหรือการเกิดนั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายความถึงจิตใจที่มีลักษณะพลุ่งพล่านขึ้นมาด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาเช่นอุปาทานเป็นต้น อันเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า เราเป็นเราขึ้นมาทีเดียว แล้วจึงเกิดได้เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นโน่นในวันหนึ่งได้หลายๆ ครั้ง ถ้ามีความคิดอย่างคนขึ้นมาก็เกิดเป็นคนขึ้นมา ถ้ามีความคิดอย่างสัตว์เดรัจฉานขึ้นมา ก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานทั้งที่รูปร่างเป็นคน นี้เรียกว่าการเกิดในทางจิตใจ หรือเกิดด้วยจิตใจ คือเกิดด้วยธรรมะ เรียกเป็นภาษาธรรมะว่าการเกิดเหมือนกัน บางทีก็เป็นภาษาวินัย เช่นว่า เอาคนมาทำพิธีบวชเณรบวชพระ เสร็จแล้วก็เรียกว่าเกิดเป็นเณรหรือเกิดเป็นพระไปแล้ว หรือว่าคนได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะจนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีเป็นต้น นี้เรียกว่าเกิดโดยอริยชาติ ได้เกิดเป็นพระอริยเจ้าไปแล้ว การเกิดอย่างนี้ไม่ได้เกิดจากท้องแม่ แต่เกิดในการที่จิตใจเปลี่ยนไป ตามอำนาจของการปรุงแต่งจากภาวะอย่างหนึ่งไปสู่ภาวะอย่างหนึ่ง
ที่จะเห็นได้ง่ายต่อไปก็คือความตาย ถ้าความตายตามธรรมดา ก็หมายถึงตายแล้วเอาใส่โลง นี้ภาษาคนเรียกว่าความตาย แต่ภาษากายทางธรรมะ ภาษาธรรมะนั้น คำว่า ตาย หมายถึงหมดความหมายของความเป็นคน เช่นเลวเกินไปจนไม่อาจจะเรียกว่าคนนี้ก็เรียกว่าความตายเป็นต้น หรือแม้แต่สืบแต่ความคิดที่พลุ่งขึ้นมาด้วยอุปาทาน ว่าเราเป็นนั่น เราเป็นนี่ กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ ที่เกิดขึ้นมาเป็นความเกิด เสร็จแล้ว แล้วก็ค่อยๆ เรื่อยขึ้นไปเป็นความชรา แล้วก็ดับสูญไปจากจิตใจเป็นความตาย ความตายอย่างนี้ก็มีเป็นภาษาธรรมะ เหมือนกับบทกลอนที่เขียนไว้ในกระดานดำนั้นว่า อันความจริงตัวกูมิได้มี แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้ ลองฟังดูให้ดีๆ ว่า อันความจริงตัวกูมิได้มี แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้ ถ้าจิตของเราเป็นไปตามปกติธรรมดาสามัญ เรียบร้อยดี ก็ไม่รู้สึกว่ามีตัวกู ตัวฉันอะไรที่ไหน พอโง่ไปอยากได้อะไรเข้า หรือไปโกรธใครเข้า ตัวกูก็เกิดขึ้นมา แล้วก็เต้นเร่าๆ อยู่ทีเดียว นี้เรียกว่า เกิด ตามภาษาธรรมะ ถ้าโกรธใครขึ้นมาก็เกิดเป็นยักษ์เพราะความโกรธ หรือถ้าอยากได้อะไรขึ้นมา โลภเกินไปก็เกิดเป็นเปรตเพราะมีความอยากมาก เทียบกันขนาดว่า ท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม นี่ลองคิดดูเถิดว่า ตัวกูนั้นเกิดเป็นยักษ์ เป็นมารขึ้นมาก็ได้ เกิดเป็นเปรตขึ้นมาก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ที่วัดก็ได้ ที่บ้านก็ได้ บนเรือนก็ได้ ในครัวก็ได้ ในห้องน้ำก็ได้ แล้วแต่อาจจะเกิดเป็นอะไรๆ ขึ้นมาได้ ตามแต่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตใจ พอความโง่หายไป ตัวกูก็หายไป ความเกิดว่าเป็นตัวกูตัวเราอย่างนั้นหายไปก็หยุดโง่ หยุดโลภ หยุดโกรธเป็นต้น ก็เรียกว่าตัวกูตายไป ขอให้ทุกคนเข้าใจภาษาอย่างนี้ไว้ให้ดีๆ เรียกว่าภาษาธรรมะ ความเกิด ความตายตามภาษาคนกับตามภาษาธรรมะมันต่างกันอย่างนี้ ภาษาคนเกิดมาทีเดียวจากท้องแม่ แล้วก็ตายเข้าโลงไปทีเดียว ส่วนเกิดภาษาธรรมะนั้น เกิดวันหนึ่งได้หลายๆ ครั้งๆ หลายๆ หน แล้วตายภาษาธรรมะก็ตายได้วันละหลายๆ ครั้งๆ หลายๆ หนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำว่าเกิดนั้นหมายถึงเกิดทางจิตใจตามความหมายของสิ่งที่มาปรุงแต่ง จะจำแนกแจกแจงออกดูไปในทางเลว ทางต่ำ ทางชั่ว คือทางอบายที่เรียกว่ามีอยู่ ๔ ประการ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย
คำว่า นรก หมายถึงกำลังเดือดร้อนใจ เหมือนกับถูกไฟเผา ถ้าพูดเป็นภาษาคนก็ต้องอยู่ใต้ดิน ตายแล้วจึงจะไปตกนรก แล้วก็ถูกไฟเผา ถูกตี ถูกแทง ถูกเฆี่ยน ถูกต้ม นั้นเป็นนรกอย่างภาษาคน แต่ถ้าเป็นนรกอย่างภาษาธรรมะแล้ว ก็คือความร้อนใจที่เหมือนกับไฟเผาที่อยู่ในโลกนี้ และที่วันหนึ่งๆ อาจจะร้อนใจได้หลายๆ หนก็คือนรกหลายๆ หน คำว่า นรก ในภาษาธรรมะมีจริง แน่นอนที่สุด เห็นได้ชัดเจนที่สุดกว่านรกในภาษาคน ที่จะไปถึงกันก็ตายแล้วว่าอยู่ใต้ดินนั้นใครเชื่อบ้าง ถ้าไม่อยู่ใต้ดินจะอยู่ที่ไหน มันก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรอยู่นั่นเอง แต่ นรก ภาษาคนนั้นมันอยู่ในใจเหมือนกับที่เราได้ยินได้ฟัง พูดกันอยู่ทั่วไปว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ดังที่ตัวเองก็เคยพูด แล้วก็โง่ถึงขนาดที่ไม่มองดูว่ามันอยู่ในใจ ยังนึกว่ามันอยู่ใต้ดินอยู่นั่นเอง มีความโง่ขนาดนี้แล้วก็เหลือวิสัยที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะอันลึกซึ้งนั้นได้ สรุปความว่านรก ภาษาคนนั้นถือกันว่าอยู่ใต้ดิน จะตกตอนตายแล้วเพราะทำบาปไว้มาก ส่วน นรก ภาษาธรรมะนั้นอยู่ในใจคน ปรากฎออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะทำชั่วทำบาปอย่างเดียวกัน จะขอบอกไว้เสียเลยว่า นรกในใจนี้น่ากลัวกว่านรกที่อยู่ใต้ดิน คือนรกภาษาธรรมะนี้น่ากลัวกว่านรกภาษาคน เพราะมันตกได้หลายๆ หน ทรมานได้เรื่อย เดี๋ยวเกิดเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวก็ตายไป เดี๋ยวก็เกิดเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวก็ตายไป วันหนึ่งได้หลายๆ ครั้ง หลายๆ หนทีเดียว น่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ลองคิดดู ส่วนนรกใต้ดินนั้นจะถึงต่อเมื่อตายแล้ว บางคนก็เตรียมสินบนไปให้ยมบาล เพื่อจะต้องไม่ถูกทรมานในนรกนั้น อย่างนี้ก็มี แล้วมันน่ากลัวที่ตรงไหน ส่วนนรกที่ร้อนเป็นไฟ ที่เผาอยู่ในจิตในใจจริงๆ นี้ ทำไมไม่รู้จักกลัว ทั้งๆ ที่นั่งร้องไห้อยู่ก็ยังไม่รู้จักกลัว นี่มันน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ลองคิดดู นี้เป็นข้อที่หนึ่งเรียกว่านรก
อบายข้อที่สองคือสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตามภาษาธรรมดานั้น ต้องตายแล้วไปเกิด เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อตายเข้าโลงไปแล้วจึงจะไปเกิด ส่วนเดรัจฉานอย่างภาษาธรรมะนั้น หมายความถึงความที่มีความรู้สึกคิดนึกอย่างสัตว์เดรัจฉาน คือมีความโง่ เมื่อใดมีความโง่ถึงขนาดที่ไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ สิ่งที่ควรจะรู้แท้ๆ ก็ยังไม่รู้ เหมือนที่เราเรียกกันว่าเป็นคนโง่ดักดาน อย่างนี้ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานขนาดโค ขนาดลาเอาทีเดียว แต่ถ้าไม่ถึงขนาดนั้น ยังเป็นขนาดลิง ขนาดสุนัขก็ค่อยยังชั่ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่นั่นเองเพราะมีความโง่ เมื่อใดใครมีความโง่เมื่อนั้นเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว โง่วันละ ๑๐ ครั้งก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๑๐ ครั้ง ภาษาคน ภาษาคนๆ ภาษาธรรมดา สัตว์เดรัจฉานมี ๔ ขาก็วิ่งอยู่ตามดิน ซึ่งมีกี่ขาก็ตามใจ แต่สัตว์เดรัจฉานภาษาธรรมะนั้นก็คือคน ๒ ขานี่เอง แล้วเดินโหย่งๆ อย่างคนนี่เอง เป็นสัตว์เดรัจฉานในภาษาธรรมะ นี้เรียกว่าต่างกันอย่างนี้ ภาษาคนกับภาษาธรรมะ
นี้อบายข้อที่สาม เปรต คำว่า เปรต ภาษาคนนั้น จะต้องตายไปแล้วจึงจะไปเกิดเหมือนกัน แล้วก็มีรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ มีเหมือนที่เขียนไว้ตามฝาผนังโบสถ์ ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนมากทั้งนั้นทั้งหมดก็เขียนให้ท้องโต ให้ปากเล็ก หรือจะเขียนอย่างใดก็ตาม ล้วนแต่มีความหมายว่ามันมีความอยากอย่างยิ่ง อยากเหลือประมาณ ต้องการเหมือนกับใจจะขาด แล้วสิ่งที่สนองความต้องการนั้นไม่มี ยังมีไม่มากพอ มันจึงหิวอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นความหิวในทางจิตใจอันไม่รู้สร่างรู้ซานั่นเองคือเปรตในภาษาธรรมะ ฉะนั้นถ้าใครทะเยอทะยานอะไรเกินตัวเมื่อไรก็เกิดเป็นเปรตเมื่อนั้น ทะเยอทะยานหลายครั้งหลายหน วันหนึ่งก็ได้เป็นเปรตหลายหน ทะเยอทะยานในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ตามที่กิเลสตัณหาของตนต้องการ เผาจิตใจให้เร่าร้อนอยู่ด้วยความหิวนั้นเรียกว่าเป็นเปรต จึงมักจะเหลือแต่กระดูกกับท้องเท่านั้น ไม่มีเนื้อมีหนังอะไรอย่างนี้เป็นต้น เปรต ภาษาคนก็คือเปรตตอนตายแล้ว เปรต ภาษาธรรมะคนยังไม่ตายก็เป็นเปรตกันได้หลายๆ หนดังนี้
ทีนี้มาถึงอบายข้อที่สี่คืออสุรกาย แปลว่าหมู่ของคนขลาด ก็หมายถึงความขี้ขลาด แต่ภาษาคนนั้นเขาอธิบายว่า ต้องตายไปแล้วจึงจะได้เกิดเป็นอสุรกายเหมือนกัน เป็นอสุรกายที่ไม่มีตัว ไม่เห็นตัว จะล่องลอยอยู่โดยไม่เห็นตัว แล้วซ่อนไม่ให้ใครเห็น นี่ก็แสดงว่าขี้ขลาดเหมือนกัน ความหมายของภาษาธรรมะอสุรกายก็คือความขลาด ขลาดในสิ่งที่ไม่ควรขลาด ไม่น่าจะขลาด ไม่น่าจะกลัวก็มากลัว เหมือนคนโง่อย่างมาก กลัวจิ้งจกบ้าง กลัวกิ้งกือบ้าง กลัวตุ๊กแกบ้าง แม้แต่เพียงเท่านี้ก็หมดความสุขเสียแล้ว สิ่งที่ไม่ต้องกลัวไม่ควรกลัวอย่างอื่นก็ยังมีอีกมาก กระทั่งกลัวไม่กล้ามาวัด ไม่กล้าทำความดี อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้หลบหนี เป็นอสุรกายด้วยเหมือนกัน นี้เป็นอสุรกายในภาษาธรรมะ อสุรกายภาษาคนไม่อาจจะแสดงได้ ก็ไม่รู้ว่าผู้กล่าวเอาที่ไหนมากล่าว ยืนยันหลักฐานให้แน่นอนก็ไม่ได้ นั้นเป็นภาษาคน นี่แหละฟังดูเอาเถิดว่า ภาษามีอยู่สองภาษาเสมอไปไม่ว่าคำไหน ประเภทหนึ่งเป็นภาษาคน คือภาษาคนโง่ ประเภทหนึ่งเป็นภาษาธรรมะ คือคนฉลาดที่ถึงธรรมะแล้ว
ขอซ้อมความเข้าใจไว้อีกทีหนึ่งว่า ที่เรียกว่าภาษาคนในที่นี้คือภาษาคนโง่ คนที่ไม่ถึงธรรมะ ส่วนภาษาธรรมะนั้นหมายถึงภาษาของคนที่มองเห็นธรรมะแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดไม่เห็นตถาคต แม้จะใกล้ชิดถึงขนาดว่าจับจีวรของตถาคตดึงไว้ ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” ฟังดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร ถ้าพูดกันในที่นี้ก็คือว่า พระพุทธเจ้าในภาษาคนนั้นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะนั้นอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าภาษาคนก็คือส่วนที่เป็นเนื้อหนังร่างกาย เป็นองค์เป็นตัวเป็นตนที่ห่มจีวร ส่วนพระพุทธเจ้าภาษาธรรมะนั้นก็คือพระพุทธเจ้าที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อใดเห็นธรรมะเมื่อนั้นเห็นเรานั่นเอง ต้องเห็นธรรมะที่เป็นธรรมะจริงๆ และเห็นถึงขนาดที่สำเร็จประโยชน์จริงๆ จึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
เดี๋ยวนี้คนเห็นพระพุทธเจ้าแต่ชนิดที่เป็นภาษาคนกันทั้งนั้น เพราะว่าคนยังโง่ เพราะว่าคนยังไม่ถึงธรรมะดังที่กล่าวแล้ว เมื่อศึกษาเล่าเรียนกันส่วนมากก็แต่เรื่องของพระพุทธเจ้าในภาษาคน เช่นศึกษาว่าเป็นพระสิทธัตถะเกิดที่นั่นที่นี่ ที่เมืองนั้นเมืองนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ เป็นเด็กอย่างนั้น เป็นหนุ่มอย่างนี้ นี้ก็เป็นพระพุทธเจ้าในภาษาคนทั้งนั้น ถ้าตัวอยากจะไปโง่หลงเรียนแต่เรื่องของพระพุทธเจ้าในภาษาคนก็รู้เพียงเท่านี้เอง ไม่รู้พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ชนิดที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต” เราเห็นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะกันแล้วหรือยัง ขอให้ลองคิดดูในเรื่องนี้ให้ดีๆ สรุปความกันในที่นี้ก่อนว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่สองอย่าง พระพุทธเจ้าในภาษาคนนั้นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะนั้นอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับเรื่องทั้งหลายที่แล้วมา
ทีนี้ถ้าเราจะมองดูไปที่คำอื่นๆ เช่นคำว่า สวรรค์ วิมาน หรือว่าพรหมโลกอะไรเป็นต้น มันก็มีอยู่สองความหมายอีกอย่างเดียวกัน สวรรค์ภาษาคนอยู่ข้างโลก อยู่ข้างบน บนฟ้า เต็มไปด้วยวิมาน เต็มไปด้วยนางฟ้า คือเต็มไปด้วยกามารมณ์ ไปถึงก็ตายแล้ว ส่วนสวรรค์ในภาษาธรรมะนั้นหมายถึงความชื่นอกชื่นใจในการทำความดี พอใจในการทำความดีของตน เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ ชื่นใจในการกระทำที่ถูก ที่งาม ที่ดี ที่จริง ที่ตรง ที่ยุติธรรมของตนๆ อย่างนี้เรียกว่าสวรรค์ในภาษาธรรมะ เรามีคำเรียกอย่างหนึ่งว่าผู้ที่มีหิริโอตตัปปะเป็นผู้มีเทวธรรม ที่สวดกันอยู่เสมอว่า “หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตาสันโต” สวดกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้ว่าว่าอะไร ถ้ารู้ก็ต้องรู้ว่าคนที่มีหิริโอตตัปปะนั้น ไหว้ตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ เคารพตัวเองได้ เพราะมีหิริ มีโอตตัปปะ ไม่มีความชั่ว ไม่มีความลับที่ต้องปกปิดไว้ ก็จึงยินดี จึงพอใจในความเป็นอยู่ของตน จิตใจที่เป็นอย่างนี้เรียกว่าเป็นสวรรค์ในภาษาธรรมะ เป็นสวรรค์ที่ไม่สกปรก เป็นสวรรค์ที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นสวรรค์ที่แท้จริง ควรจะนำที่จะเรียกว่าสวรรค์แต่โดยภาษาธรรมะไม่ใช่ภาษาคน สวรรค์ในภาษาคนนั้น สกปรกไปด้วยความลุ่มหลงในเรื่องของกามารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นต้น มันต่างกันอยู่ดังนี้
ทีนี้ก็มาถึงพรหมโลก ภาษาคนบอกว่าอยู่ข้างบนยิ่งขึ้นไปอีก บนฟ้ายิ่งขึ้นไปอีก ฟังดูก็น่าหัวเราะเหลือประมาณ จะขึ้นไปบนฟ้าถึงไหนกันก็ไม่รู้จึงจะถึงพรหมโลก แล้วก็ต้องต่อเมื่อตายแล้วอีกเหมือนกัน ทีนี้ถ้าพรหมโลกภาษาธรรมะนั้น ก็หมายถึงจิตใจที่มีภาวะละเอียดสุขุมประณีตบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต้องอาศัยความชื่นชมยินดี พอใจในตัวตนชนิดที่ว่าได้ทำอะไรที่เป็นความดี เป็นสิ่งที่เขายกย่องนับถือ หรือนับถือตัวเองก็ตามใจ ขอแต่ให้เป็นภาวะที่ปราศจากความรู้สึกทางกามารมณ์ เป็นภาวะที่บริสุทธิ์ สะอาดจากความหุ้มห่อพัวพันของอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นไปในทางกามคุณ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นพรหมโลกได้ เพราะไม่ต้องลุกลี้ลุกลนด้วยความดีของตน ไม่ต้องนั่งยกมือไหว้ตนให้เสียเวลาก็ยังได้ แต่เป็นความสงบ เป็นความสุขได้ พรหมโลกอย่างนี้เป็นภาษาธรรมะ บางเวลาก็อาจจะบังเอิญถึงเข้าเองก็มี แล้วก็สูญหายไปเสียอีก บางเวลาเราจะสบายใจมากขนาดนี้ เสร็จแล้วก็หายไปเสียอีก นี้เพราะความไม่แน่นอน เพราะการที่ยังประพฤติไม่ถึงจริง ไม่ได้จริงนั่นเอง นี้ยกตัวอย่างมาว่าในทางผิด ทางชั่วด้วยอบายเป็นต้น ในทางถูกทางดีเช่นสวรรค์เป็นต้น ก็มีอยู่เป็นสองชนิด แล้วแต่จะพูดว่าเป็นภาษาคนหรือเป็นภาษาธรรมะ ถ้าจะให้จำง่ายกว่านี้ก็คือภาษาคนโง่ ไม่มีธรรมะ หรือว่าภาษาคนที่ฉลาดจนถึงธรรมะแล้ว ขอก็ควรให้ทุกคนสนใจในภาษาสองภาษานี้ควบคู่กันไป ให้เห็นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทุกที แล้วก็จะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้ง ที่เป็นธรรมะอย่างที่เรียกกันว่าปรมัตถ์ คือมีอรรถอันลึกซึ้งได้โดยไม่ยาก แต่ถ้าไม่รู้สึกหรือเอาไปปนกันเสีย แล้วกลายเป็นภาษาคนไปหมดแล้ว ก็ไม่อาจจะเข้าใจธรรมะได้ ดังนั้นจึงขอให้จดจำกันไว้ให้ดีๆ ทุกคน ว่าภาษามีอยุ่สองภาษาอย่างนี้ ถ้าเขาพูดภาษาธรรมะก็ต้องฟังด้วยหูที่รู้จักฟังภาษาธรรมะจึงจะเข้าใจได้
ทีนี้ที่พูดว่าตายายชนิดหนึ่งต้องบูชา ต้องแทนคุณ แต่ตายายอีกชนิดหนึ่งต้องฆ่าเสียให้ตายนี้ จะมีความหมายว่าอย่างไร มาตั้งต้นสังเกตพิจารณากันไปถึงคำว่าบิดามารดาปู่ย่าตายายให้ดีๆ ก็จะพบว่าความหมายของคำนี้ ในที่นี้ หมายถึงผู้ที่เกิดเรามาเรียกว่าบิดามารดา แล้วก็บิดามารดาอีกนั่นเองที่เป็นของบิดามารดา เราก็เรียกว่าปู่ย่าตายาย แล้วบิดามารดานั่นเองที่ของปู่ย่าตายาย เราก็เรียกว่าปู่ทวด ตาทวด ยายทวด แล้วแต่จะเรียก เป็นลำดับขึ้นไปอย่างนี้เรื่อยไป เรื่อยไป เรื่อยไป รวมความแล้วก็หมายความว่าผู้ที่เกิดเรามา เราเรียกว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายาย นี้ก็เป็นภาษาคน เป็นภาษาภาวะ เป็นภาษาโลกๆ เช่นคำว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายายอย่างนี้ นี้ถ้าเป็นภาษาธรรมะ ผู้ที่เกิดเรามานั้นคืออะไร ใครรู้บ้าง ก็ได้กล่าวมาแล้วตั้งต้นว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวกูนั้น มันเกิดมาจากความโง่ อันความจริงตัวกูมิได้มี แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้ พอหายโง่ตัวกูก็หายไป หมดตัวกูเสียได้เป็นเรื่องดี จากข้อความนี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ตัวกูนี้เกิดขึ้นมาจากความโง่ และสิ่งที่เรียกว่าความโง่นั้นก็คืออวิชชา เรียกในภาษาบาลีว่าอวิชชา เพราะภาวะที่ปราศจากความรู้นั้นคือความโง่ ถ้ารู้จริงไม่โง่ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวกู หรือของกูขึ้นมาได้เลย ปล่อยไว้เฉยๆ ไปตามเรื่องตามราว จะทำอย่างไรก็ทำได้ ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวกู หรือของกูให้ปวดหัว ให้ร้อนใจ คิดดูเถิดว่าเมื่อไรเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นจะเป็นเรื่องปวดหัว เป็นเรื่องร้อนใจ เป็นเรื่องซึ่งบ้าซึ่งบอไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย นี่เพราะว่าเกิดมาจากอวิชชาคือความโง่ ถ้ามันไม่เกิดขึ้นมาก็สบายดี ปกติดี เหมือนที่นั่งอยู่ที่ตรงนี้เวลานี้ ส่วนมากก็ไม่ได้เกิดตัวกู ของกูอะไรกัน ถ้ายังนั่งฟังอยู่ดัวยสติสัมปัชชัญญะก็ไม่ต้องมีตัวกู มีแต่สติปัญญาที่กำลังเดินไปตามสิ่งที่แวดล้อมคือเรื่องที่แสดงให้ฟังดังนี้เป็นต้น ตัวอย่างนี้ก็พอแล้วที่จะแสดงว่า ตัวกู ตามภาษาธรรมะนั้นเกิดมาจากความโง่หรืออวิชชา นิยมกันเรียกว่ามีเหตุ มีอวิชชาเป็นเครื่องให้เกิดทีแรก
ถ้าจะแยกเป็นชั้นบิดามารดา ชั้นปู่ย่าตายาย ปู่ทวดตาทวด ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเรียกอวิชชาว่าเป็นชั้นไหน แต่ก็เอาเป็นชั้นต้นที่สุดก็แล้วกัน แต่ถ้าว่าทางฝ่ายบิดาแล้วก็ให้เรียกว่าอวิชชา ถ้าฝ่ายมารดาแล้วก็ให้เรียกว่าตัณหา อย่างนี้จะถูกกว่า จะเป็นฝ่ายมารดาหรือฝ่ายย่าฝ่ายยาย หรือ ย่าทวด ยายทวดก็ให้เป็นตัณหา ถ้าให้เป็นฝ่ายบิดา เป็นปู่เป็นตา เป็นปู่ทวดตาทวดก็ให้เป็นอวิชชา อย่างนี้ก็ยังได้ รวมความแล้วก็เกิดมาจากบิดามารดา คืออวิชชาหรือตัณหา จะเท้าให้ละเอียดซอกแซกไป มันก็ลำบากเหมือนกัน เช่นจะถามว่าจะเอาอะไรมาเป็นอู่ เป็นมดลูกสำหรับเกิดชนิดนี้ ก็คงจะต้องตอบว่าเอากรรม ผลกรรมที่ได้ทำไว้เป็นอู่เป็นมดลูกสำหรับจะเกิดคนชนิดนี้ อย่างนี้ไปคิดเอาเองก็ได้ตามชอบใจไม่มีใครว่า แต่ว่าใจความสำคัญนั้นอยู่ตรงที่ว่ามีอวิชชามีตัณหาเป็นบิดามารดา เป็นปู่ย่าตายาย เป็นปู่ทวดตาทวด และปู่ย่าตายายชนิดนี้ เราจะมัวสักการะบูชาหรือแทนคุณกันได้อย่างไร ควรจะฆ่าเสียให้ตายได้หรือไม่ ฟังดูแล้วก็น่ากลัว แต่ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมะแล้ว ก็ยังไม่น่ากลัวอะไร เพราะการฆ่าเสียให้ตายนั่นแหละเป็นการแทนคุณปู่ย่าตายายชนิดนี้ เหมือนที่มีพระพุทธภาษิตว่า มาตะรัน ปิตะรัน ขันตะวา อกตัญญูสิรามันนะ (ไม่แน่ใจนาทีที่ 37:30) อย่างนี้เป็นต้น การฆ่าบิดามารดาเสียไม่เป็นคนอกตัญญู จึงจะดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าเราจะไปพะเน้าพะนอ บำรุงบำเรอ รักษาหรือว่ากตัญญูต่ออวิชชาตัณหา กิเลสเหล่านี้แล้ว ก็แปลว่าจะต้องมีความทุกข์ และไม่ได้ผลอะไรแก่ผู้ใด ดังนั้นจึงต้องทำตรงกันข้ามคือฆ่าเสีย
เมื่อฆ่าเสร็จแล้วก็จะกลับเป็นประโยชน์แก่ปู่ย่าตายายนั่นเอง คือแก่อวิชชาตัณหานั่นเอง มันจะได้หมดกันไปเสียที มันจะได้มีมรรคผลนิพพานขึ้นมาแทน อย่างนี้ก็ยังเห็นว่าน่าทำ หรือควรทำ หรือเป็นการถูกต้องแล้ว เขาก็เลยถือเป็นหลักว่าปู่ย่าตายายชนิดนี้ ชนิดภาษาธรรมะนี้ต้องฆ่าเสียให้ตายเหมือนพระพุทธเจ้าท่านว่า แล้วก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ปู่ย่าตายายภาษาคน เราต้องการแทนคุณท่าน ต้องเคารพสักการะบูชาท่านเหมือนได้เทศน์กันแล้วอย่างยืดยาวเมื่อตอนเช้า ตอนค่ำนี้พูดถึงปู่ย่าตายายชนิดที่ต้องฆ่าเสียให้ตาย คือพูดด้วยภาษาธรรมะ เป็นปู่ย่าตายายในภาษาธรรมะก็ต้องฆ่าเสียให้ตาย ถ้าผู้ใดฟังคำอธิบายเช่นนี้ไม่เข้าใจ ก็คงจะยังอีกนานมากที่จะเข้าใจธรรมะได้ และรู้เหตุว่าที่ไม่เข้าใจธรรมะที่เทศน์มาจนถึงบัดนี้นั้น ก็เพราะไม่เข้าใจภาษาธรรมะชนิดนี้นั่นเอง ดังนั้นก็เอาไปคิดดูกันให้ดีๆ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างกันระหว่างภาษาทั้งสองนี้ให้จงได้ แล้วก็จะเข้าใจธรรมะได้ฉับพลันเหมือนกับการตรัสรู้ทีเดียว ที่ได้คลานงุ่มง่ามมาเป็นปีๆ หรือหลายสิบปีนี้ มาแล้วนี้ ก็เพราะรู้แต่ภาษาคน ไม่รู้ภาษาธรรมะนั่นเอง ดังนั้นเพื่อประหยัดเวลา จึงได้แนะนำอย่างนี้ และได้นำเรื่องนี้มากล่าวว่ามีภาษาอยู่สองภาษาดังที่กล่าวแล้ว
ทีนี้จะได้กล่าวต่อไปในข้อที่ว่า ปู่ย่าตายายชนิดที่จะต้องฆ่าเสียให้ตายนั้นจะต้องทำอย่างไร หรือจะต้องฆ่าโดยวิธีใด เมื่อตอนกลางวันได้แนะให้ไปดูภาพเขียนที่ในตึกชั้นบน เป็นภาพเขียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละคืออาการที่เกิดขึ้นแห่งปู่ย่าตายายที่จะต้องฆ่าเสียให้ตาย หรืออาการเกิดขึ้นแห่งคนในภาษาธรรมะ รูปที่ ๑ เขียนเป็นคนตาบอดต้องจูง นี้คืออวิชชา รูปที่ ๒ เขียนเป็นคนปั้นหม้อ ก้มหน้าก้มตาปั้นหม้อไม่รู้หยุด นี้คือสังขาร ถ้าอวิชชาคือความโง่เกิดขึ้นในขณะที่ได้รับอารมณ์ทางตา ทางหูเป็นต้นแล้ว ก็จะมีการปรุงแต่งชนิดที่จะให้เกิดกิเลสขึ้นมาจนได้ เรียกว่าสังขารในที่นี้ รูปที่ ๓ เขียนเป็นลิงถือแก้วพาวิ่งเข้าไปในห้อง นี่หมายความว่ามันจะจุติเป็นคนโง่ขึ้นมาแล้ว รูปที่ ๓ เขียนเป็นบ่าวกับนายขี่เรือไปในทะเล บ่าวเป็นคนพายเรือให้นายนั่งแล้วก็พายไปกลางทะเล นี้ก็หมายความ ว่ามันจะปรุงเป็นนามรูปชนิดที่จะท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสารขึ้นมาแล้ว ก่อนนี้มันไม่ได้ปรุงนามรูปชนิดนี้ มันเป็นนามรูปที่ไม่ถูกปรุง แต่เดี๋ยวนี้มันถูกปรุงถึงขนาดที่จะว่ายเวียนในวัฏฏสงสารแล้ว รูปถัดไป เขียนเป็นบ้าน ๖ หลัง นี้คืออายตนะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอายตนะขึ้น มาโดยสมบูรณ์แล้ว หมายความว่ามันมีผลแห่งการกระทบโดยสมบูรณ์แล้ว การกระทบนั้นมีผลอย่างแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเวทนา รูปถัดไปคือเวทนานั้น เขียนเป็นคนถูกลูกศรเสียบอยู่ที่ตาทั้งสองข้าง นี่หมายความว่าเวทนานี้ร้ายกาจนัก ทำให้คนมองอะไรไม่เห็น ก็ไปมัวแต่ซึมซาบอยู่ในรสของเวทนาเสีย รูปถัดไปคือตัณหานั้น เขียนเป็นคนดูดเหล้าจากภาชนะไม่รู้หยุด ไม่รู้สร่างคือเป็นความเมา ได้แต่ความโง่หลับหูหลับตาอยากไปตามอารมณ์นั้นๆ รูปถัดไป อุปาทาน เขียนเป็นคนท้องแก่ หมายความว่าตัวกูได้ตั้งปฏิสนธิขึ้นแล้วโดยแน่นอน รูปถัดไปคือชาติ เขียนเป็นรูปคนคลอดลูก นี้หมายความว่าตัวกูคลอดออกมา เต้นเร่าๆ เป็นตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ด้วยความโลภบ้าง ด้วยความโกรธบ้าง ด้วยความหลงบ้าง เสร็จแล้วก็กลายเป็นชรา เป็นทาสของความชรา ซึ่งเขียนเป็นคนแก่ถือไม้เท้าต่อไป แล้วก็ไปบรรจบกับคนตาบอดที่ต้องจูงเพื่ออวิชชาอีกในโอกาสหลัง แล้วแต่อารมณ์อะไรจะเกิดขึ้นมาแล้วเผลอสติ และมีอวิชชาเข้ามาครอบงำในการเสวยอารมณ์นั้นๆ จนครบ รอบวงของอาการทั้ง ๑๒ อย่างพอดี นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท คืออาการเกิดขึ้นแห่งตัวกูด้วยภาษาธรรมะ ไม่ใช่เกิดเป็นคนอย่างภาษาคน ที่คลอดจากท้องแม่โดยตรง แต่เป็นการเกิดแห่งคนในภาษาธรรมะ คือคนที่เกิดมาครั้งหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ หลายๆ ครั้ง เป็นตัวตนหรือเป็นตัวกูดังที่กล่าวแล้วในประโยคว่า “แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้นั่นเอง ตามธรรมดาตัวกูมิได้มี แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้ มีความหมายอย่างนี้ พิจารณาดูให้ดีๆ ว่ามันมีความลึกซึ้งอย่างไร
คนทั่วไปเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาทไปเป็นเรื่องของภาษาคน หมายด้วยการเกิดจากท้องแม่ไปหมด เพราะฉะนั้นจึงเรียนปฏิจจสมุปบาทไม่รู้เรื่อง เรียนเท่าไรก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง ยิ่งเรียนก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง เพราะมันไขว้กันไปหมด แล้วมันก็ยิ่งฉงนยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งเรียนยิ่งก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเขาพูดไว้ในภาษาธรรมะไม่ได้พูดไว้ในภาษาคน แล้วไปเรียนด้วยภาษาคนมันจะรู้เรื่องกันอย่างไร ขอให้เปรียบเทียบดูกันอย่างนี้ มันเป็นเรื่องที่ไขว้กันอยู่เสมอไป ไม่มีทางที่จะเข้าใจกันได้ แล้วก็ไปโทษว่าเรื่องนี้ยากบ้าง ยากเกินไปบ้าง ไม่ใช่อยู่ในวิสัยที่เรา อย่างพวกเราจะต้องไปรู้ ก็เลยยกเก็บไว้เสียไม่ต้องไปสนใจกันอีกต่อไป นี้ก็เป็นการโง่ชั้นสุดท้าย เป็นอวิชชาที่น่ากลัวที่สุด ที่ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ เรื่องความดับทุกข์สิ้นเชิงนี้เป็นเรื่องสำคัญแต่เพียงเรื่องเดียว แล้วท่านก็สอนไว้ในลักษณะของปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ เป็นเรื่องอริยสัจจ์ที่แสดงไว้โดยภาษาธรรม และลึกซึ้งที่สุด แล้วคนจะไปรู้กันโดยภาษาคนนี้มันไม่ได้ เพียงแต่คำว่า เกิด คำเดียวมันก็แตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเสียแล้ว แล้วคำอื่นๆ จะเข้าใจได้อย่างไร
ทีนี้เราพิจารณาดูกันต่อไป ว่ามีอวิชชาเป็นแดนเกิดอย่างนี้ ทำให้เกิดสังขาร ทำให้เกิดวิญญาณ ทำให้เกิดนามรูป ทำให้เกิดอายตนะ ผัสสะ เวทนา เรื่อยมาเป็นลำดับ กระทั่งเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ นี่คือความเกิดที่สมบูรณ์ ถึงที่สุด เห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าชาตินั้นก็เกิดมาจากภพ ภพก็เกิดมาจากอุปาทาน อุปาทานก็เกิดมาจากตัณหา ตัณหาก็มาจากเวทนา เวทนาก็มาจากผัสสะ ผัสสะก็มาจากอายตนะ อายตนะก็มาจากนามรูป นามรูปก็มาจากวิญญาณ วิญญาณก็มาจากสังขาร สังขารก็มาจากอวิชชา เป็นอันว่าต้นตอของมันอยู่ที่อวิชชา เป็นปู่ย่าตายายตอนต้นที่สุดของมัน จะต้องฆ่าเสียให้ตาย เมื่อรู้แน่โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัวกู และเป็นความทุกข์ขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ การที่จะฆ่าเสียหรือทำลายเสีย ก็ต้องทำโดยวิธีที่ตรงกันข้าม ในเรื่องนี้ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีความเผลอสติ หรือขาดสติ เผลอสติเท่านั้นเอง เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหูเป็นต้น เผลอสติ ขาดสติ อวิชชาก็ทำหน้าที่ หรือเรียกว่าเข้ามาครอบครองร่างกายนี้ ฟังดูให้ดี ให้เข้าใจครั้งหนึ่งว่า ในขณะที่รับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ถ้าเผลอสติ ก็เรียกว่าอวิชชาเกิดขึ้นมา ปรากฏออกมาครอบครองร่างกายจิตใจนี้ แล้วมันตั้งต้นเดินไปลักษณะอย่างนี้ แล้วทางที่จะแก้ก็คือการไม่เผลอสติ
เรื่องไม่เผลอสตินี้เป็นเรื่องยาก เพราะไม่รู้ว่าสตินั้นเป็นอย่างไร เผลอเป็นอย่างไร ไม่เผลอเป็นอย่างไร คนจึงไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาหรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสว่าเผลอสตินั้นเป็นอย่างนั้นๆ ด้วยไปหลงไปสำคัญผิดเป็นอย่างนั้นๆ เราจึงได้รู้จักอาการที่เรียกว่ามีสติหรือเผลอสติ เราจะเห็นได้ว่าตามปกติธรรมดาสามัญแล้ว คนเราไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องเผลอสติหรือไม่เผลอสติ เอาแต่ความสะดวกแห่งตน แห่งตน พอเกิดอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น ก็เอาไปตามเรื่องตามราวตามอารมณ์ตามสะดวกสบายของตน ของตน มันจึงเคยชินไปแต่ในทางที่จะรับอารมณ์นั้นๆ ด้วยการเผลอสติ เผลอโดยไม่ต้องเผลอ คือเผลอจนเป็นธรรมดา จนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าธรรมดาของเขาก็คือการเผลอ ดังนั้นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาจึงมีการเผลอสตินี้เป็นลักษณะประจำ เป็นภาวะธรรมดาของเขา จึงต้องมีการเกิดวันหนึ่งหลายๆ ครั้ง ทนทุกข์ทรมานวันหนึ่งหลายๆ ครั้ง เกิดเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อะไรก็ได้หลายๆ ครั้ง
ทีนี้เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นโชคดีที่ทำให้รู้ว่า อย่างนี้มันเป็นความทุกข์ และอย่างนี้เป็นอาการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ เราจะต้องรู้จักตัดต้นตอหรือป้องกันเสียแต่ทีแรก อย่าไปเผลอสติหลงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ารักน่าพอใจ อย่าปล่อยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง มีสติปัญญารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นของหลอกลวง เป็นมายา เป็นของเปลี่ยนแปลง ถ้าไปหลงยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ ตัวมันเองก็มีอาการแห่งความน่าสลดสังเวช แสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลาถึงความเป็นมายาของมันนั่นเอง ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ใหม่ เราเพิ่งได้ยินได้ฟังเมื่อเราได้ฟังจากพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้ามาโปรดเรา
ถึงตอนนี้เราพูดกันเรื่องพระพุทธเจ้าอีกสักหน่อย ที่พูดว่าพระพุทธเจ้ามาโปรดเรา พระพุทธเจ้าอย่างคนจะมาโปรดเราได้อย่างไร เพราะท่านนิพพานไปเสียแล้วที่ในประเทศอินเดียตั้งเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ท่านจะมาโปรดอย่างไร ใครบ้างที่นั่งคอยหวังพึ่งการมาโปรดจากพระพุทธเจ้าที่เป็นคนๆ อย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าชนิดหนึ่งตามภาษาธรรมะที่เรียกว่า ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต นั่น นี่เป็นพระพุทธเจ้าองค์จริงที่จะมาโปรดเราได้ เราก็จะมีพระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมะอย่างนี้ได้เพราะการศึกษาเล่าเรียน ได้ยินได้ฟังก็มี แต่เราจะมีพระพุทธเจ้าชนิดนี้ได้ เพราะเรารู้จักเข็ด รู้จักหลาบ รู้จักจำ รู้จักสังเกต รู้จักพินิจพิจารณา จนเกิดความรู้ขึ้นมาว่ามันเป็นอย่างไร ดูแต่เด็กตัวน้อยๆ เอามือไปจับเข้าที่ไฟ มันก็รู้ว่าร้อน แล้วมันก็ไม่จับอีกต่อไป นั่นแหละพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะได้มาโปรดเด็กตัวเล็กๆ น้อยๆ นั่นแล้ว มันมีความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ได้ แต่เดี๋ยวนี้คนแก่ๆ นี้เองจับเข้าที่ไฟ ก็ยังไม่รู้ว่าไฟ ไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ เพราะว่าไฟในที่นี้เป็นไฟในภาษาธรรมะ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นไฟเหมือนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในอาทิตตปริยายสูตรนั่นเอง แต่คนแก่ๆ เหล่านี้คลำไฟอยู่เรื่อย ไม่รู้ว่าไฟอย่างไร มันจึงได้ถูกไฟเผาโดยไม่รู้สึกตัวอยู่เช่นเดียวกัน
เราจึงต้องมีสติปัญญา เมื่อใดมีสติปัญญา พิจารณา สังเกตให้ดีก็รู้สึกว่ามันเป็นของร้อนได้เช่นเดียวกับเด็กตัวเล็กๆ ไปจับไฟจริงๆ เข้าแล้วรู้ว่ามันร้อน แล้วไม่จับอีกต่อไป ถ้าคนแก่ๆ มีสติปัญญาพิจารณาไฟที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้นนี้แล้ว ก็จะรู้ว่าร้อนได้เหมือนกัน นั่นแหละคือพระพุทธเจ้าได้มาโปรดเขาแล้ว เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ ด้วย และเป็นการโปรดจริงๆ ด้วย ได้มาจริงๆ ด้วยอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะเป็นอย่างนี้ การมาโปรดของพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะเป็นอย่างนี้และเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่มีได้จริงๆ อยู่ในวิสัยที่จะมีได้ทุกเมื่อ ส่วนพระพุทธเจ้าในภาษาคนนั้น หมายถึงเนื้อหนังของท่าน และอยู่ในประเทศอินเดีย ถูกเผาเป็นเถ้าเป็นถ่านไปแล้วเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วอย่างนี้ มันต่างกันลิบลับ จะเดินมาโปรดคนนั้น คนนี้ที่นั่นที่นี่ให้ทั่วถึงไปทั้งโลกได้อย่างไร มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะนั้นเป็นไปได้ จะแบ่งภาคไปโปรดใครที่ไหนเมื่อไรก็ได้ มากเท่าไหร่ก็ได้ มากไม่มีประมาณก็ได้ เกิดเป็นพระพุทธเจ้ามากไม่มีประมาณขึ้นมาได้อย่างนี้เอง แล้วก็โปรดคนทั่วไปได้ตามควรแก่อัตตคติวิสัย (ไม่แน่ใจนาทีที่ 57:54) ของคนที่ไม่ประมาท มีสติปัญญาพอสมควร ให้เกิดรู้จักคุ้มครองป้องกันตัวเอง นี้เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า มาโปรด นั่นแหละคืออาการที่จะฆ่าเสียซึ่งปู่ย่าตายายชนิดที่ต้องฆ่าเสียให้ตายดังที่กล่าวแล้ว อย่าเอาไปปนกันแล้วก็จะยุ่ง ปู่ย่าตายายชนิดหนึ่งต้องเทิดทูนสักการะบูชาตอบแทนคุณตามภาษาของภาษาคน ปู่ย่าตายายชนิดหนึ่งต้องฆ่าเสียให้ตายตามภาษาธรรมะ มีอยู่เป็นสองอย่าง อย่างนี้
วันนี้เราทำบุญให้ตายาย ท่านให้ตายายชนิดไหน คงจะเข้าใจกันว่าทำให้ตายายชนิดที่ต้องเทิดทูนสักการะบูชาไปเสียหมด อย่างนี้ก็น่าสงสารเหมือนกัน เพราะรู้จักแต่ตายายภาษาคนอย่างเดียว ถ้าเรารู้จักให้ลึกซึ้งไปถึงตายายภาษาธรรมะแล้ว การฆ่ากิเลสตัณหาอวิชชาเสียให้ตายนั่นแหละ คือการตอบแทนคุณ เพราะมันต้องการอย่างนั้น พูดแล้วก็น่าหัว เพราะว่ากิเลสตัณหาพญามารอะไรต่างๆ นั้น มันต้องการให้ฆ่ามันเสียให้ตาย ถ้าเราฆ่ามันเสียให้ตายก็เท่ากับเป็นการตอบแทนคุณของมัน เพราะมันมีคุณในทางที่ตรงกันข้าม เราจึงต้องตอบแทนในทางที่ตรงกันข้าม แต่ถ้าเป็นการตอบแทนที่ถูกต้องและเหมาะสมกันอยู่นั่นเอง ถ้าในวันนี้ ใคร ผู้ใด คนใดคนหนึ่งมีสติปัญญามากพอ ที่จะมองเห็นปู่ย่าตายายชนิดที่ต้องฆ่าเสียให้ตายแล้ว ก็จงรักษาศีลให้ดีๆ และทำคุณ ทำบุญให้ทานให้ดีๆ จงฟังเทศน์ให้ดีๆ จงทำจิตทำใจในวันนี้ให้ดีๆ แล้วจึงจะฆ่าตายายชนิดนั้นให้ตายลงได้สมตามความปรารถนา เป็นการทำบุญตายายอย่างลึกซึ้งถึงที่สุดตามความหมายของธรรมะ ไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป ที่ทำบุญตายายไปตามภาษาธรรมดา คือภาษาคนอยู่นั่นเอง ซ้ำๆ ซากๆ มาแล้วกี่ปี กี่สิบปี จนกระทั่งถึงบัดนี้ และคงจะทำอย่างนี้จนกระทั่งตายไปตามภาษาคน สมน้ำหน้าของคนที่รู้แต่ภาษาคน ไม่รู้จักภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเสียเลย จึงได้เอามาพูด มากล่าว มาปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน ว่าพวกเราตกอยู่ในฐานะที่เป็นอาการหนัก ตกหนักอยู่ในอาการหนัก เพราะมัวหลับหูหลับตารู้แต่ภาษาคน ไม่รู้ภาษาธรรมะดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
ดังนั้นจึงหวังว่าถ้าท่านผู้ใดประสงค์จะมีการก้าวหน้าไปตามทางของธรรมะ ให้ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วมา ให้ปีหน้าดีกว่าปีนี้แล้ว ก็จงเร่งศึกษาภาษาธรรมะให้มากยิ่งขึ้นไปเถิด อย่ามัวแต่ไปศึกษาภาษาคน ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน ภาษาแขก แล้วก็เกิดตัวกู ยกหูชูหางให้มากขึ้นไป จงรู้ภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเถิด สิ่งต่างๆ ก็จะหมดปัญหาไปเอง ไปมัวเรียนแต่ภาษาคนอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดได้ ยิ่งเรียนก็ยิ่งไกลออกไป เพราะมันทำให้เกิดตัวกูอย่างแปลกอย่างใหม่ขึ้นมาใหม่อีกไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเครื่องยั่วยวนไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันจะสิ้นสุดลงได้อย่างไรในการที่จะทำลายเสีย ซึ่งตัวกูและของกู อันเป็นหน้าที่ของคนทุกคน นี้เรียกว่าไม่รู้จักตายายที่ถูกต้องเลย แล้วก็ไปหลงงมงาย ไปส่งเสริมตายายที่ควรฆ่าเสียให้ตาย แล้วก็ไปละเลยตายายที่ควรสักการะ เทิดทูนบูชาและตอบแทนคุณ กลับไปกันเสียหมดในการกระทำของคนนั้นๆ อยู่ทุกวันทุกคืน จึงไม่มีความก้าวหน้าในทางธรรมตามที่ควรจะก้าวหน้าไป แม้จะมีการแสดงธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาเพื่อความก้าวหน้าอยู่กับอะไร มันก็ยิ่งถอยหลัง เพราะว่ายิ่งไปมุ่งไปหวังแต่ในทางที่เป็นตัวกูที่แปลกๆ ออกไป ที่มีหูมีหางยาวออกไป มีสีสันวรรณะแตกต่างออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สนใจที่จะตัดรากตัดเหง้าของสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกูนี้เสียเลย เป็นโรคอย่างนี้กันมากมาย ทั้งพระทั้งเณรทั้งอุบาสกทั้งอุบาสิกา ก็เรียกว่าหลับหูหลับตาส่งเสริมตายายที่ควรฆ่าเสียให้ตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรากราบไหว้พระสวดมนต์ สรรเสริญพระองค์อยู่ทั้งเช้าและเย็น
หวังว่าจะเอาไปคิดกันเสียใหม่ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าภาษาคนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมนั้นเป็นอย่างหนึ่ง พูดอย่างภาษาคนก็เรียกว่าพูดอย่างปุคคลาธิษฐานหรือภาษาคน ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะนั้นก็เรียกว่าเป็นภาษาธรรมาธิษฐาน เรียกว่าภาษาธรรม เอากันง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ว่า อย่างหนึ่งเป็นภาษาคน อย่างหนึ่งเป็นภาษาผี เพราะว่าไม่มีตัวไม่มีตน มันไม่มีตัวไม่มีตน มันเป็นมายา เรียกว่าเป็นภาษาผี ก็สมกันแล้วกับคนที่มัวหลงแต่ภาษาคนดังนี้ เรียนรู้ภาษาผีกันเสียบ้างจะได้ฆ่าผีให้ตาย คือฆ่าตัวกูนั้นให้ตาย ตัวกูนั้นเป็นแต่เพียงผี ฆ่าเสียให้ตายด้วยความรู้อย่างภาษาผี จึงสามารถฆ่าผีเสียได้ ดังวิสัชชนามา สมควรด้วยเวลา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้