แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา-ความเชื่อ และวิริยะ-ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ ปรารภกันที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ จึงได้ยกหัวข้อ นิเถรตระบุตร (นาทีที่ 1:36) ว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ สัพพาเนวะ สหัตตนา ซึ่งแปลว่า เวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง ดังนี้เป็นต้น ข้อนี้หมายความว่า วัน เช่นวันนี้ เรียกกันว่าวันขึ้นปีใหม่ คำว่าปีใหม่หรือปีเก่านี้เกี่ยวกับเวลา เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะศึกษาพิจารณากัน ถึงเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าเวลา
ข้อแรกที่สุด อยากจะขอร้องให้ทุกคนระลึกนึกไว้เสมอว่า คำพูดของมนุษย์คำหนึ่ง ๆ นั้น แต่ละคำย่อมมีเป็นสองความหมาย คือความหมายตามภาษาคนธรรมดานี้อย่างหนึ่ง ความหมายตามภาษาของคนผู้รู้ธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงได้เรียกว่าภาษาคนกับภาษาธรรม
ภาษาคน หมายถึงที่คนธรรมดาพูด และเข้าใจ และมีความหมาย ภาษาธรรม หมายถึงผู้ที่รู้พูด เข้าใจและมีความหมาย ดังนั้นจึงต่างกัน คือพวกหนึ่งไม่รู้ ยังไม่รู้ และพวกหนึ่งรู้แล้ว จะพูดเหมือนกันไม่ได้ เหตุเช่นนี้แหละ จึงต้องมีการแบ่งความหมายของคำพูดแต่ละคำ ๆ เป็นสองชนิด คือเป็นภาษาคนชนิดหนึ่ง ภาษาธรรมชนิดหนึ่ง
จะยกตัวอย่างให้ฟังง่าย ๆ สำหรับคนที่ยังไม่เคยฟัง ยกตัวอย่างเช่นคำว่า คน คำว่าคนในภาษาคนธรรมดานั้น หมายถึงสัตว์ที่มีรูปร่างอย่างคนก็แล้วกัน ส่วนคำว่าคนในภาษาธรรมะนั้น หมายถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลต่างหาก ภาษาคนธรรมดา ถ้าเกิดมามีรูปร่างอย่างคนแล้ว ก็เรียกว่าคนทั้งนั้น แต่ภาษาธรรมะนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างคน จึงจะเรียกว่าคน บางทีคนทั่วไปก็พูดว่า คนนี้ไม่ใช่คน ก็หมายความว่า คนนั้นไม่มีคุณสมบัติอย่างคน จึงได้ถูกจัดไว้ว่าไม่ใช่คน ทั้งที่เขามีรูปร่างอย่างคน คำว่าคนอย่างนี้แหละเป็นภาษาธรรม หมายถึงคุณธรรม
หรือจะยกตัวอย่างอีกคำหนึ่ง เช่นคำว่า ว่าง คำว่าว่างนี้ ในภาษาคนก็หมายถึงไม่มีอะไรเลย คำว่าว่างในภาษาธรรมนั้น หมายถึงมีครบหมดทุกอย่าง แต่ไม่มีการยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อไม่มีการยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนก็เท่ากับว่าง สิ่งทั้งปวงที่ไม่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น เราก็เรียกว่ามันว่าง ฉะนั้นโลกนี้ทั้งโลก ทั้งสัตว์ ทั้งคน ทั้งอะไรทั้งหมด ที่มีอยู่ในโลกนี้ ก็เรียกว่าว่าง เพราะไม่มีความเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง อย่างนี้เรียกว่าว่างในภาษาธรรม นี้เป็นการเปรียบเทียบ ให้เห็นว่ามันต่างกันมาก คำว่าว่างในภาษาคนคือไม่มีอะไรเลย คำว่าว่างในภาษาธรรมมีหมดทุกอย่าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตน อย่างนี้เป็นต้น
หรือจะยกตัวอย่างด้วยเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องอบายทั้ง ๔ ได้แก่ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อบาย ในภาษาคนนั้น จะตกหรือจะถึง ก็ต่อเมื่อตายเข้าโลงไปแล้ว ไปเกิดใหม่จึงจะถึงอบายเหล่านั้น ส่วนในภาษาธรรมะนี้ อบาย หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ในใจของคน เมื่อใดร้อนใจ เมื่อนั้นเป็นนรก เมื่อใดโง่ เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดหิวกระหาย ทะเยอทะยาน เมื่อนั้นก็เป็นเปรต และเมื่อใดขี้ขลาด เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย อบายทั้ง ๔ มีอยู่แล้วในคน ในใจของคน ไม่ต้องรอต่อเมื่อตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว ไปเกิดใหม่ จึงจะได้จึงจะถึง มันต่างกันอยู่อย่างนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าอะไร ๆ ก็มีอยู่ในคน คือในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง อันมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่ก็หมายความว่า อบายนั้นมีอยู่แล้วในคน ถ้าใครอยากจะรู้รสก็ลองประพฤติไปในทางบาป ทางของอบาย ที่เรียกว่าอบายมุข เช่นดื่มน้ำเมา เช่นเล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร ขี้เกียจคร้านทำการงาน อย่างอื่นลองดู นี้เรียกว่า อบายมุข คือปากทางของอบาย พอทำอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเข้า ก็ต้องตกอบายทันที
ยกตัวอย่างเช่น ไปเล่นการพนันเข้า มันก็ร้อนใจเป็นไฟสุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพ้ และเมื่อยังไม่แพ้ มันก็กลัวจะแพ้ ความร้อนใจนั้นเป็นนรก สมกับที่เรียกว่า การเล่นการพนันเป็นอบายมุข คือเป็นปากทางแห่งอบาย ทีนี้คนเล่นการพนันนั้นคือคนโง่ เพราะคนไม่โง่ก็ไม่ไปคิดรวยด้วยการพนัน ดังนั้นมันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว ในขณะที่เล่นการพนัน แล้วคนเล่นการพนันต้องหิว ต้องทะเยอทะยานในการที่จะได้ เหมือนใจจะขาด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเปรตอยู่เสร็จแล้ว ในขณะที่เล่นการพนัน ทีนี้คนที่เล่นการพนัน ย่อมขี้ขลาดในการที่จะเสีย มันก็เป็นอสุรกายอยู่แล้ว เป็นอันว่าอบายมุขคือการเล่นการพนันนั้น ทำให้ตกอบาย ครบได้ทั้ง ๔ อย่าง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือความร้อนใจ คือความโง่ คือความหิวกระหาย ทะเยอทะยาน และความขี้ขลาดรวมกันหมด อบายอย่างนี้ ตกที่นี่ เรียกว่า อบาย ในภาษาธรรม และถ้าใครไม่ตกอบายในภาษาธรรม คือไม่ตกอบายชนิดนี้แล้ว แม้จะตายเข้าโลงไปแล้ว ก็ไม่ตกอบายชนิดไหนหมด เพราะฉะนั้นระวัง อย่าให้ตกอบายอย่างภาษาธรรม ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็จะไม่ตกอบายภาษาคน ที่ว่าจะตกต่อเมื่อตายแล้ว เป็นต้น
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ถ้ารู้ภาษาธรรมเสียอย่างเดียวแล้ว ภาษาคนก็หมดปัญหาไปด้วย จึงขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน สนใจในเรื่องภาษาธรรม ซึ่งเป็นภาษาของพระพุทธเจ้า ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกันจงทุกคนเถิด จะเป็นการประหยัดเวลาอย่างยิ่ง คือจะเสียเวลาน้อยที่สุด ในการรู้ธรรมและปฏิบัติธรรม และได้รับผลของการปฏิบัติธรรม นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ภาษาคนกับภาษาธรรมนั้นต่างกันอย่างไร
ทีนี้ข้อต่อไปที่ว่า คำว่า เวลา ก็มีเป็นภาษาคนและเป็นภาษาธรรม คำว่าเวลาในภาษาคนธรรมดาสามัญนั้น เขาก็หมายความว่า เวลาเป็นวินาที เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แล้วก็เอาระยะเวลาอย่างนี้ ไปเที่ยวจับนั่น จับนี่ จับโน่น ว่าจะสั้นหรือยาว นานหรือไม่นานอย่างไร จนกระทั่งเกิดความร้อนใจเพราะเวลาขึ้นมาจนได้ นี่เวลาในภาษาคน คือเป็นภาษาคนที่ไม่รู้ธรรม เขาจึงถูกเวลาบีบคั้น หรือกินเอา เข้าใจว่าล่วงไปเดือนหนึ่ง ล่วงไปปีหนึ่ง ก็หมายความว่า เวลากินไปแล้ว เดือนหนึ่งปีหนึ่ง ทำให้คนนั้นใกล้ความตายเข้าไป เดือนหนึ่งปีหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น เวลาเป็นภาษาคนอย่างนี้ เขาเอาวัตถุภายนอกเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เช่น พูดว่าเวลากลางวัน เวลากลางคืน ก็คือเอาดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ เห็นดวงอาทิตย์ก็เป็นกลางวัน ไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็เป็นกลางคืน ความโง่อาจจะทำให้เข้าใจไปว่ามันต่างกันก็ได้ คือเป็นเวลากลางวัน และเป็นเวลากลางคืน ดังนี้เป็นต้น ทั้งที่แท้เวลานั้นไม่ได้ต่างกัน จะเป็นกลางวันหรือเป็นกลางคืน มันก็เป็นสักว่าเวลาเท่านั้น ส่วนที่มันมืดหรือมันสว่างนั้น มันไม่ใช่เรื่องของเวลา มันเป็นเรื่องของดวงอาทิตย์กับโลก ที่ทำอะไรต่อกันต่างหาก ส่วนตัวเวลาแท้ ๆ นั้น มันอีกเรื่องหนึ่ง มันก็ร่วมไป สม่ำเสมอกัน อย่างเดียวกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่คนธรรมดาไปสนใจอยู่ที่ดวงอาทิตย์สว่าง กลางคืนมืด เพราะเราเห็นเวลาต่างกัน เลยกำหนดนับเวลาได้ว่าเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็เอาพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์
ตามความจริงนั้น เวลานั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอย่างนั้น ต่อเมื่อเข้าใจถูกต้องในภาษาธรรม ก็จะเห็นได้ว่าตัวเวลานั้นเป็นสิ่งที่ไหลไปเรื่อย ไม่เป็นขยัก ๆ ไม่เป็นขั้น ๆ ตอน ๆ เหมือนความรู้สึกของคน เป็นแต่กระแสแห่งนามธรรมอันหนึ่งที่ไหลไปเรื่อย ถ้ารู้จักสังเกต ก็จะสังเกตได้ด้วยตนเอง โดยสังเกตที่คำว่าอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าพูดอย่างภาษาคนธรรมดาแล้วก็มีอดีต มีปัจจุบัน มีอนาคต แน่นอน แต่ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะคือของจริงแล้วหามีไม่ คือไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน มีแต่กระแสอันใดอันหนึ่งซึ่งไหลไป อย่างไม่อาจจะฟันเป็นขั้นเป็นตอนได้
ตัวอย่างง่าย ๆ ที่จะต้องสังเกตดูให้ดี ว่าโดยที่แท้นั้น เราไม่สามารถจะรู้จักอดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคตได้เลย เราไม่อาจรู้จักสิ่งที่เป็นปัจจุบันได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่กลายเป็นอดีตไปเสียก่อน เหมือนอย่างว่าเมื่อตาเห็นรูป เช่น เห็นดอกไม้ดอกหนึ่ง จิตใจต้องรับอารมณ์เสร็จแล้ว ภาพที่เห็นนั้นเป็นอดีตไปแล้ว เราจึงจะรู้ว่าเป็นดอกไม้ดอกหนึ่ง เช่น ดอกกุหลาบดอกหนึ่ง เป็นต้น ถ้าไม่เป็นอดีตไปเสียก่อน จิตใจก็ไม่มีทางจะรู้ว่ามันเป็นอะไร เพราะฉะนั้นปัจจุบันเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ รู้สึกไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ เพราะว่าเราไม่อาจจะรู้จักสิ่งใดได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่เปลี่ยนเป็นอดีตไปเสียก่อนนั่นเอง ต้องเป็นขณะจิตในอดีตเสียก่อน จึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เราจึงไม่อาจจะสัมผัสปัจจุบันได้ ส่วนอนาคตก็ยังไม่มา ส่วนอดีตก็ล่วงลับไปแล้ว เราก็ไม่ได้รับอะไรเลย แม้แต่ที่เป็นปัจจุบัน
ถ้าใครมองเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่า รู้จักเวลาอย่างถูกต้อง คือเวลาในภาษาธรรมะ ซึ่งไม่อาจจะแบ่งเป็นวินาที นาที เดือน ปี อะไรได้เลย มันเป็นกระแสอันหนึ่งซึ่งคงที่ จนกล่าวได้ว่า ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย ไม่มีท่ามกลาง สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่มีใครรู้ได้ว่า ตั้งต้นเมื่อไร มากี่กัป กี่กัลป์แล้ว แล้วจะไปสิ้นสุดเมื่อไร อีกกี่กัป กี่กัลป์ แล้วในขณะแห่งปัจจุบันของมัน เราก็แตะต้องมันไม่ได้ ก็ต้องเป็นอดีตไปเสียก่อนทุกที จึงจะรู้สึกขึ้นในใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อตาเห็นรูปก็ดี เมื่อหูฟังเสียงก็ดี เมื่อจมูกได้กลิ่นก็ดี ลิ้นได้รสก็ดี กายได้สัมผัสทางผิวหนังก็ดี หรือใจคิดนึกอะไรก็ดี ขณะจิตแห่งอดีตเท่านั้น ที่จะบอกให้ว่าอะไรเป็นอะไร ขณะเป็นปัจจุบันนั้นบอกให้ไม่ได้ เพราะเร็วเกินไป เพียงขณะจิตเดียวก็เป็นอดีตเสียแล้ว ขณะจิตที่กระทบอารมณ์นั้นบอกอะไรไม่ได้ จนกว่าเป็นขณะจิตที่เสวยอารมณ์เสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นก็เป็นอดีตไปแล้ว ดังนี้เป็นต้น
ทีนี้ถ้าลองเปรียบเทียบดูว่า คนไหนโง่หรือคนไหนฉลาดกว่ากัน คนที่เห็นเวลาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนมีอดีต อนาคต ปัจจุบัน จนปัญหาเกิดขึ้นนั้น มันก็ต้องมีความทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนพระอรหันต์นั้นฉลาดจนไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ถือเอาไว้ที่ส่วนสุดทั้งสอง และไม่ถือเอาไว้ที่ตรงกลาง นั่นคือความไม่ยึดถือ เป็นบุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่ยึดถือส่วนทั้งสอง คืออดีตกับอนาคต ส่วนข้างต้นเรียกว่าอดีต ส่วนข้างปลายเรียกว่าอนาคต นี้ก็ไม่ยึดถือ แล้วก็ไม่ยึดถือแม้กระทั่งส่วนตรงกลาง คือปัจจุบัน อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีการยึดถืออะไร และเป็นพระอรหันต์ เพราะรู้จักเวลาอย่างถูกต้องเช่นนี้ แต่คนธรรมดาสามัญทำอย่างนี้ไม่ได้ ทำไม่เป็น ดังนั้นจึงต้องสอนกันอีกอย่างหนึ่ง อีกแนวหนึ่ง ให้รู้จักจัดการเกี่ยวกับเวลา ว่าอย่างไรเป็นอดีต อย่างไรเป็นอนาคต อย่างไรเป็นปัจจุบัน แล้วก็ให้จัดการกับปัจจุบันให้ถูกต้อง อย่าไปมัวห่วงเรื่องอดีต อนาคต ให้ฟุ้งซ่าน แต่สนใจจัดการกับปัจจุบัน คือสิ่งที่จะต้องทำเฉพาะหน้า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ วันนี้ ให้ถูกต้อง อย่างนี้คนธรรมดาก็บรรเทาความทุกข์ไปได้มาก แต่ถ้าคนธรรมดาสามัญนั้นมองเห็นปัจจุบันที่ลึกขึ้นไปอีก จนกระทั่งก็ไม่มีแล้ว คนธรรมดาสามัญนั้นก็กลายเป็นพระอริยเจ้าไป ด้วยเหตุนี้
ทีนี้มันก็เนื่องไปถึงเรื่อง ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทในภาษาคนนั้นอย่างหนึ่ง ความไม่ประมาทในภาษาธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง ความไม่ประมาทในภาษาคนก็คือว่า อย่าปล่อยให้เวลาล่วงไป จงรีบขยันขันแข็ง ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตัว ให้เสร็จทันเวลาหรือก่อนเวลา อย่างนี้เรียกว่าไม่ประมาท แต่เป็นความไม่ประมาทในภาษาคน ส่วนภาษาธรรมะที่ว่าไม่ประมาทนั้น คืออย่าไปโง่ ไปหลง ไปงมงาย ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่เข้าว่าเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของของตน นั่นคือไม่ประมาทในภาษาธรรม
เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าไม่ประมาทในภาษาคนนั่นแหละ กลับกลายเป็นความประมาทในภาษาธรรมไปก็ได้ เพราะว่าถ้าสอนกันไม่เป็น ก็คือสอนให้คนขยันขันแข็งด้วยความโลภ ด้วยกิเลส มีความทุกข์มีความเร่าร้อน เป็นอบายเป็นตกนรก ตกอบายอยู่ที่นั่นไปก็ได้ นี้มันก็กลายเป็นความประมาทไปเสียแล้ว ทั้งที่บางคนอาจจะพูดว่า นั่นคือความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม นี้แสดงว่าทรงยืนยันในความไม่ประมาท ว่าเป็นของสำคัญและจะต้องทำ ทีนี้มันมีปัญหาเหลืออยู่ตรงที่ว่า จะต้องทำอย่างไร คนธรรมดาก็ต้องรีบทำการทำงาน คือไม่ประมาท แต่ถ้าเรื่องธรรมะแท้ ๆ แล้ว ก็คืออย่าเผลอตัวไปโง่ ไปหลงว่าอะไรเป็นตัวกู เป็นของกู เกิดกูเข้ามา นี้จึงจะเรียกว่าความไม่ประมาท
คนธรรมดาสามัญจึงควรจะรู้จักความไม่ประมาทให้ถูกต้อง คือว่าแม้ว่าจะขยันขันแข็ง ทำการงานในหน้าที่ของตน ก็อย่าทำด้วยกิเลสเลย ต้องรู้จักทำด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือที่เรียกว่าจิตว่างนั่นเอง ศึกษาให้รู้เรื่องจิตว่าง ให้เพียงพอ รู้จักทำจิต ไม่ให้เกิดความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู แล้วก็มีปัญญารู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ก็กระทำไปก็แล้วกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าคนธรรมดานั้น ประพฤติธรรมะอย่างถูกต้อง เป็นความไม่ประมาท แล้วก็ขยันขันแข็ง รีบกระทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตน ให้ลุล่วงไปโดยเร็วได้เหมือนกัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็น ภิกษุ สามเณร เป็นบรรพชิต หรือว่าเป็นคฤหัสถ์ ฆราวาสครองเรือน เป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน ลูกจ้าง กรรมกร หรือเป็นอะไรก็สุดแท้ ล้วนแต่จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้องเสมอกันหมด คือเรื่องความไม่ประมาทนี้เอง ถ้าเข้าใจผิดแล้ว จะเกิดนรก หรืออบายขึ้นมาทันที เช่น ถ้ามีความร้อนใจ กลัวไม่ทันเวลา มันก็ตกนรกแล้ว ไปโง่อย่างนี้เข้า มันก็ร้อนใจขึ้นมาจริง ๆ มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ไปหิวกระหาย ไม่ทันแก่เวลา นี่มันก็เป็นเปรตแล้ว แล้วมานอนขี้ขลาดอยู่ กลัวจะยากจน กลัวจะลำบากยากแค้น มันก็เป็นอสุรกายแล้วเพราะความขลาดนั้น นี้หมายความว่า ถ้าเราทำผิดเรื่องเวลาเท่านั้นเอง อบายทั้ง ๔ ก็ครอบงำเรา ที่นี่และเดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวลา นั้นให้ถูกต้อง ทั้งโดยภาษาคน และโดยภาษาธรรม เราอยู่ในโลกนี้กับผู้อื่น พูดกันด้วยภาษาคน เราก็รู้เรื่องภาษาคน เรื่องเวลา นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี เราก็รู้จักทำอะไรให้เสร็จทันเวลากับเขาด้วยเหมือนกัน แต่ว่าต้องไม่เร่าร้อน ต้องไม่เป็นอบายภูมิทั้ง ๔ ขึ้นมา นี่ก็เพราะรู้ว่าเวลานั้นเป็นอย่างไร เราไม่สนใจเรื่องได้ เรื่องเสีย เพราะไม่มีเวลา เราสนใจแต่ที่จะกระทำด้วยจิตใจที่ปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า รู้จักใช้เวลาในภาษาธรรม
ทีนี้ก็มาถึงผลที่เกิดขึ้น ต่างอย่างตรงกันข้ามก็คือว่า ถ้าผู้ใดไม่รู้จักเวลาตามที่เป็นจริง หรือรู้แต่เวลาในภาษาคนแล้ว เวลามันก็จะกัดกินผู้นั้น อย่างพระพุทธภาษิตที่ว่า "เวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง เพราะเขาเป็นคนโง่ไม่รู้เรื่องเวลา" แต่ถ้าผู้ใดรู้เรื่องเวลาอย่างถูกต้องในภาษาธรรม ไม่ยึดมั่นเกี่ยวกับเวลาแล้ว คนผู้นั้นกลับกัดกินเวลา พูดสั้น ๆ ก็ว่า สำหรับคนธรรมดานั้น เวลากินคน สำหรับคนที่รู้ธรรมะนั้น คนกินเวลา ภาษาธรรมดา คนพ่ายแพ้แก่เวลา แต่ภาษาธรรมะนั้น เวลาพ่ายแพ้แก่คน จะเลือกเอาข้างไหนก็เลือกเอาเองเถิด ความจริงมันมีอยู่ดังนี้ จะให้เวลากินคนดี หรือว่าจะให้คนกินเวลาดี ถ้าจะให้คนเป็นผู้กินเวลาแล้ว ก็ต้องให้ศึกษาภาษาธรรมะ ให้รู้ว่าเวลานั้นเป็นอย่างไร รู้จักความจริงของเวลา จนไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตแล้ว เวลาก็ทำอะไรไม่ได้ เราก็ชนะเวลา เรากินเวลา อยู่เหนือเวลา คือเหนือความทุกข์ทั้งปวง และเขาเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยเจ้า ส่วนบุคคลที่ไม่รู้เรื่องเวลาอย่างถูกต้องเช่นนี้ มันมีเวลาไปหมด ยิ่งมีความอยากมากเท่าไร เวลามันก็สั้นเข้า ๆ เท่านั้น จนกระทั่งเป็นวินาทีหรือครึ่งวินาที มันก็มีความกลัวมาก มีความต้องการมาก มีความวิตกกังวลมาก มันก็มีความทุกข์มาก นี่คือเวลากินคนจนเหลือแต่กระดูก จนหมดกระดูก สิ้นทั้งกระดูก เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าเวลา
ทีนี้ลองพิจารณากันต่อไปว่า เมื่อตะกี้นี้เราพูดกันว่า วันนี้เป็นวันปีใหม่ หรือขึ้นปีใหม่ ที่ล่วงไปเป็นปีเก่า นี้ก็หมายความว่าเราพูดถึงเวลา เรื่องปีใหม่-ปีเก่านี้เป็นภาษาคน ถ้าเป็นภาษาธรรมะแล้วไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ สิ่งที่เรียกว่าเก่าหรือใหม่นี้ มีได้แต่ในภาษาคน และมีได้แต่กับคนที่ไม่รู้ธรรม คือเป็นคนธรรมดานั่นเอง เพราะฉะนั้นคำว่าเวลาในภาษาคน มันจึงมีเวลาเก่า-เวลาใหม่ เป็นเดือนเก่า-เดือนใหม่ ปีเก่า-ปีใหม่ อย่างนี้เป็นต้น แล้วคนก็รีบทำงานขยันขันแข็งให้ทันกับเวลา แล้วปัญหาก็ไปอยู่ที่ว่า ทำเป็นหรือไม่เป็น ถ้าทำเป็นก็ไม่ทุกข์นัก ถ้าทำไม่เป็นก็เป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้นต้องระวังให้ดี ๆ ในการที่จะขึ้นปีใหม่ ถ้าทำไม่เป็น ทำไม่ดีมันจะมีความทุกข์มากกว่าปีเก่า เพราะว่ามันใกล้ความตายเข้าไปอีกหนึ่งปี ความกลัวมันก็จะมากขึ้น ความวิตกมันก็จะมากขึ้น แล้วปีใหม่มันก็จะมีความทุกข์มากกว่าปีเก่า นี้มันโง่มากขึ้น ไม่ใช่ฉลาดมากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้นเราจะต้องนึกดูว่า ปีเก่าสิ้นไป ปีใหม่ขึ้นมานี้ มันหมายถึงอะไร มันเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตหรือไม่ ถ้ายังเป็นปัจจุบัน เป็นอดีต เป็นอนาคต มันก็ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้ารู้เรื่องเวลา ไม่เห็นเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบันเพิ่มขึ้น อีกปีหนึ่งแล้ว มันก็หมายความว่าใกล้ต่อพระนิพพานเข้าไปทุกที ๆ หรือทุกปีด้วยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเวลาปีใหม่เกิดขึ้นมา เราก็พิจารณาโดยลักษณะเดียวกันที่ว่า ไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ มีแต่เวลาที่ล่วงไป ถ้าเราไปยึดถือมากมันก็สั้นเข้า ถ้าเราไม่ยึดถือมันก็ยาวออกไป ถ้าเราไม่ยึดถือเลยมันก็ว่าง ถ้าว่างอย่างนี้มันก็ไม่มีความทุกข์
เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ ควรรู้จักทำจิตใจให้ว่างกว่าปีเก่า ถ้าปีที่แล้วมามันวุ่นวายเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงเท่าไหร่ ปีใหม่นี้มันต้องน้อยลงไป มันจึงจะเรียกว่าเอาชนะเวลา หรือว่ากินเวลา เราเป็นผู้กินเวลา ไม่ใช่เวลากินเรา หรือว่าเรารู้เวลาในภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามากขึ้น
ท่านต้องสังเกตดูให้ดีว่า พระพุทธเจ้าบางทีท่านก็พูดภาษาคน บางทีท่านก็พูดภาษาธรรม มันเป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกศาสนา ไม่ว่าศาสนาไหน ถ้าท่านพูดกับเด็กๆ หรือคนแก่หัวหงอกที่มีความรู้สึกอย่างเด็ก ๆ ท่านก็พูดภาษาคน ว่ามีอดีต อนาคต ปัจจุบัน จงรีบขยันขันแข็ง ทำให้ทันกับความตาย อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าท่านตรัสกับคนที่มีปัญญาอาจจะรู้จักพระนิพพานได้ ท่านก็พูดว่า ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน ไม่ยึดถือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน เพราะมันไม่มี ทำให้เราไม่อยากอะไร ไม่ต้องการอะไร ไม่อาจจะยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใดได้ อย่างนี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านพูดกับบุคคลนั้นในภาษาธรรมะ เราต้องสังเกต ต้องศึกษา สังเกตจนให้รู้จากตัวเราเอง หรือจิตใจของเราเอง ว่าความอยากที่เรียกว่า ตัณหาก็ดี ความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าอุปาทานเป็นต้นก็ดีนี้ มันมาจากความเข้าใจผิดเรื่องเวลา
เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการที่ทำให้คนเรามีความรู้สึก อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นขึ้นมาได้ แม้ที่สุด แต่สิ่งที่สวยงาม เอร็ดอร่อย ไพเราะ หอมหวานนิ่มนวลเหล่านี้ มันก็ขึ้นอยู่กับเวลา เป็นเรื่องละเอียดอยู่สักหน่อย อาจจะเข้าใจได้ยาก เช่นว่าสิ่งนี้จะมีกลิ่นหอม มันก็ต้องหมายความว่าชั่วระยะเวลาเท่านั้น ถ้ามันยืดกว้างออกไปหรือสั้นเข้ามา มันก็เป็นกลิ่นเหม็น หรือเป็นกลิ่นฉุน สิ่งที่เรียกว่ากลิ่นหอมนั้น หมายถึงว่ามันมีไอระเหย มีปรมาณูของสิ่งที่เรียกว่ากลิ่นในปริมาณจำกัด และต้องใช้เวลาเท่านั้นเท่านี้ คือมีความเข้มข้นเท่านั้น เท่านี้ ถ้ายืดออกไปได้ มันก็จางไป หรือเป็นกลิ่นอีกชนิดหนึ่ง ถ้าร่นให้แคบเข้ามามันก็ฉุนจัด จงสังเกตดูอย่างง่าย ๆ ว่า ดอกไม้หรืออะไรก็ตาม ที่เราเรียกว่ามีกลิ่นหอมนั้น ถ้าเรากระจายให้มันยาวออกไป มันก็จางหายไปเป็นกลิ่นชนิดอื่น ถ้าเราทำให้มันเข้มงวดข้นเข้ามา มันก็ฉุนจนจมูกทนไม่ไหว อย่างนี้เป็นต้น ที่แท้มันก็คือสิ่ง ๆ เดียวกัน คือปริมาณของอณูในอากาศ ในแก๊สนั้น ที่มากระทบผิวของจมูก ในปริมาณเท่านั้น ในเวลาเท่านั้น มันจึงจะมีกลิ่นชนิดนั้น
เรื่องความสวยความงามก็เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับเวลา และการกินเนื้อที่ พอดีถึงจะถือได้ว่าสวย ถ้าทำให้ยาวออกไปหรือสั้นเข้ามา มันก็กลายเป็นไม่สวย ความอร่อยที่ลิ้นนี้ก็เหมือนกัน มันต้องการเวลาจำกัดเท่านั้น มันจึงจะรู้สึกว่าอร่อยอย่างนั้น ๆ อย่างที่เรากินแล้วรู้สึกว่าอร่อย แต่ถ้าเวลามันยืดออกไป มันก็ไม่อร่อย มันจางไป ถ้าเวลามันสั้นเข้ามา มันก็เข้มจนอร่อยไม่ไหว อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น เวลาทำให้เรารู้สึก สวยทางตา ไพเราะทางหู หอมทางจมูก หรือนิ่มนวลทางผิวหนัง เป็นต้น ที่ไพเราะทางหู ยิ่งเห็นได้ง่ายกว่าเพื่อน ถ้าเสียง ๆ นี้ไพเราะ ฟังถูก แต่ถ้ายืดเสียงนี้ให้ยาวออกไปสองเท่า สามเท่า สี่เท่า มันก็เป็นเสียงอื่นซึ่งฟังไม่ได้ ฟังไม่ไหว อย่างเสียงเปิดประตู เปิดเร็ว ๆ ก็ดังเสียง อี๊ด เปิดพอประมาณก็ดัง แอ๊ด ๆๆ เปิดช้ามากก็ดัง ออด ๆๆ อย่างนี้เป็นต้น เกี่ยวกับเวลา ที่แท้นั้นเป็นของอย่างเดียวกัน สิ่งเดียวกัน ต่างกันแต่เวลา หรือเสียงของผู้หญิง ผู้ชายที่ไพเราะ ลองไปยืดให้ยาวเข้า หรือไปหดให้สั้นเข้า มันก็กลายเป็นเสียงที่ฟังไม่ได้ เสียงผู้ชายนั่นเอง ถ้าย่นเร็วเข้ามาหน่อยก็เป็นเสียงผู้หญิง เสียงผู้หญิงนั่นเองยืดยาวออกไปหน่อยเดียวก็เป็นเสียงผู้ชาย อย่างนี้เป็นต้น พิสูจน์ได้ง่ายด้วยวัตถุสำหรับการศึกษา สมัยวิทยาศาสตร์นี้ โดยไม่มีที่สงสัยเลย
ดังนั้นให้เข้าใจว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น มันเป็นผีชนิดหนึ่งที่หลอกหลอนคนอยู่ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ จนเราโง่ จนเราหลง จนเราไปอยากเข้า เกิดตัณหาคือความอยากด้วยอำนาจอวิชชา แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน ด้วยอำนาจอวิชชา มันจึงได้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะอำนาจของตัณหาและอุปาทานนั้น ตกนรกที่นี่ เป็นสัตว์เดรัจฉานที่นี่ เป็นเปรตที่นี่ เป็นอสุรกายที่นี่ ก็เพราะความโง่อย่างนี้ทั้งนั้น คือความโง่ที่ถูกหลอกลวงด้วยเวลา เรียกว่าเวลามันกินเรา ไม่มีอะไรเหลือกระทั่งกระดูก คือฉิบหายหมดนั่นเอง แต่พอเรารู้ เราไม่มีความหลงใหลด้วยตัณหาและอุปาทาน พอรู้เท่าเวลาอย่างนี้แล้ว จิตใจก็ว่างจากความอยาก และความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความทุกข์เลย จนกระทั่งว่าไม่มีความตาย ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน แล้วจะตายได้อย่างไร จะเกิดได้อย่างไร ฉะนั้นจึงไม่มีทั้งความเกิดและความตาย เรียกว่าเป็นผู้กินเวลา ฆ่าเวลา ไม่ให้มีเหลืออยู่ได้เลย เป็นพระอรหันต์ ผู้ชนะสิ่งทั้งปวง ดังนี้
ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่าปีใหม่ของเรานี้ มันโง่มากขึ้น หรือว่าโง่น้อยลง ถ้าโง่น้อยลง ก็เรียกว่าเป็นปีใหม่ได้ สมควรที่จะเรียกว่าปีใหม่ คือมันดีขึ้น มันใกล้ต่อนิพพานขึ้นไปทุกที แต่ถ้าเข้าใจผิด ไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องเวลาแล้ว เวลาจะเป็นฝ่ายตีกลับ มันก็ถอยหลัง ไปหาความทุกข์ความตายมากเข้าทุกที ไม่อยู่เหนือความเกิด ความตายไปได้เลย นี่แหละจะเรียกว่าประมาท หรือไม่ประมาท มันก็อยู่กันที่ตรงนี้ ถ้าโง่อยู่ โดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม เรียกว่าประมาททั้งนั้น ถ้าฉลาด ฉลาดนี้ต้องเป็นการรู้สึกตัวแน่นอน จะไม่รู้สึกตัวไม่ได้ ถ้าฉลาดแล้วก็เป็นความไม่ประมาทขึ้นมาทันที เป็นสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนาขึ้นมาทันที สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าเป็นคุณธรรมอันเอก เป็นธรรมะที่รวมแห่งธรรมะทั้งหลาย เหมือนกับรอยเท้าช้าง เป็นที่รวมได้แห่งรอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย ที่รู้ ๆ เห็น ๆ กันอยู่ เมื่อความไม่ประมาทเป็นธรรมะที่รวมแห่งธรรมะทั้งหลาย เป็นธรรมะสำคัญดังนี้แล้ว เราก็จะเห็นได้ว่า เรื่องเวลานี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเท่ากัน เพราะว่าความประมาทนั้นมันคือถูกหลอกด้วยเวลา ความไม่ประมาทก็คือไม่ถูกหลอกด้วยเวลา
เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้เราระวัง อย่าให้เวลามันหลอกเราเหมือนกับปีเก่า หรือเท่ากับปีเก่าเลย จงทำให้มันหลอกเราได้น้อยที่สุด หรือหลอกไม่ได้เสียเลยก็จะเป็นการดี เพราะฉะนั้นก็อย่าอวดดี อย่าสะเพร่า อย่าเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของความโง่ ของความหลง เพราะถูกเวลาหลอกเอา จงระมัดระวังสำรวม จงพูดแต่น้อย จงระวังให้มาก จงคิดให้มาก จึงจะเป็นผู้เอาชนะเวลาได้ ถ้าขืนพูดพล่ามไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะพูดธรรมะ มันก็ยังเป็นคนโง่และเป็นคนประมาท ก็ถูกเวลากัดกินอยู่นั่นเอง เพราะไม่เข้าใจธรรมะที่พูด ก็พูดเพ้อเจ้อไปด้วยความอยากจะพูด อยากจะอวด อยากจะได้ชื่อเสียงเพราะการพูดธรรมะ นี้มันก็ถูกเวลาหลอกเอาอย่างเต็มที่แล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับชื่อเสียงซึ่งเป็นของหลอก ๆ
ถ้าเราจะเอาชนะเวลา เราต้องปฏิบัติธรรมะ ไม่ใช่พูดธรรมะ ปฏิบัติธรรมะก็คือระวังเรื่องเวลาอีกนั่นเอง มีสติสัมปชัญญะ ระวังอย่าให้อะไรมาหลอกเรา ว่าสวย ว่าหอม ว่างาม ว่านิ่มนวล ว่าอะไรต่าง ๆ ที่เคยหลง เวลาก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราไม่หลงในสิ่งที่เป็นเหยื่อของเวลา เวลาได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเหยื่อล่อ เป็นเครื่องตกเบ็ดเรา ถ้าเราโง่ไปกินเบ็ดเข้าก็ต้องได้รับความทุกข์
กาลเวลานี้เปรียบเหมือนกับพญามารชนิดหนึ่งเหมือนกัน ระวังให้ดีว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นที่แท้ก็คือมาร หรือพญามารชนิดหนึ่ง มันหลอกให้หลงแล้วมันก็กินเรา ที่เราจะต้องทำในทางตรงกันข้ามหรือตีกลับ คือไม่หลง แล้วก็กินพญามารเสีย คือกินเวลาเสีย ดังนี้เป็นต้น นี่แหละคือคนที่ขึ้นปีใหม่แล้วโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องพูดถึงปีใหม่ พูดถึงว่าเดือนใหม่ วันใหม่ ชั่วโมงใหม่ นาทีใหม่ กระทั่งวินาทีใหม่ก็ได้ ถ้าท่านเข้าใจสิ่งนี้แล้วจิตใจได้เปลี่ยนไปในวินาทีนี้ มันก็เป็นวินาทีใหม่ที่ไม่ซ้ำเก่า ๆ เปลี่ยนจากความเป็นคนโง่ไปเป็นคนฉลาด เปลี่ยนจากเป็นคนธรรมดาสามัญไปเป็นพระอริยเจ้านั่นเอง
ดังนั้นที่เราต้องระมัดระวังกันต่อไปก็คือ ศึกษาให้เข้าใจให้ดีว่า เวลาในภาษาคนนั้นมันอย่างหนึ่ง เวลาในภาษาธรรมะนั้นมันอย่างหนึ่ง เวลาในภาษาคนนั้น มันมีสำหรับกินคน ให้คนมีความทุกข์ เวลาในภาษาธรรมะนั้น มันมีสำหรับให้คนรู้ความจริง แล้วคนไม่เป็นทุกข์ แล้วก็กินเวลา เอาชนะเวลาได้ ผู้ใดไม่มีตัณหาอุปาทาน ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์แล้ว ผู้นั้นก็ไม่มีอะไรให้เวลากิน เวลาจะกินผู้นั้นไม่ได้ ผู้นั้นไม่มีตัวไม่มีตนให้เวลากิน ผู้นั้นไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน สำหรับเอามายึดมั่นถือมั่น หรือทำให้เป็นทุกข์ ผู้นั้นก็พ้นจากอบายโดยประการทั้งปวง แล้วก็ไม่ไปติดอยู่ในกรงที่สวยงาม เช่น สวรรค์วิมาน เป็นต้น แต่ลุถึงสิ่งสูงสุด คือความว่างอย่างยิ่ง ที่เรียกว่านิพพาน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากทุก ๆ สิ่ง กระทั่งว่างจากเวลานั้นเองด้วย เวลาไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นอีกต่อไป เขาจึงเป็นผู้มีชัยชนะ มีความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้พิจารณา สิ่งที่เรียกว่าเวลานี้กันเสียใหม่ ไม่มากก็น้อย ให้สมกับที่วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก็ขึ้นปีใหม่ให้เป็น ให้ถูกให้ต้อง ตามแบบของพระพุทธเจ้า ตามแบบของภาษาธรรมะ แล้วมีชัยชนะเหนือเวลา ด้วยกันจนทุก ๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้