แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ ธรรมเทศนาเป็นบุปพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาไปแล้วในตอนต้นของวัน อันต่อด้วยเรื่องธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็คือ สุญญตา อันเป็นหัวใจของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นสิ่งที่พุทธบริษัทควรจะมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้องเพียงพอ จนนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ จึงจะเรียกว่าไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท
ให้มีความรู้ความเข้าใจว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาทุกๆชื่อ มีทั้งที่เป็นขั้นโลกียะและโลกุตตระ พึงเลือกปฏิบัติให้ถูกตรงตามระดับของตนๆ จะเป็นเหตุให้แก้ไขบุคคลให้กลายเป็นคนที่ดี และเมื่อตนเป็นคนดีแล้ว สิ่งต่างๆก็ดีไปหมด ไม่มีปัญหายุ่งยากอะไรที่จะเหลืออยู่อีกต่อไป
จะได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย แต่ปางก่อนนั้น ได้อาศัยหลักธรรมที่เป็นขั้นโลกุตระ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องช่วยในการที่จะบำบัดความทุกข์ทางใจ และอยู่กันผาสุก ไม่เป็นโรคประสาท ไม่วิกลจริตมากเหมือนคนในยุคลูกยุคหลานนี้ ทั้งนี้เพราะว่าคนเหล่านั้นได้เข้าใจในหัวใจของพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เพราะเหตุฉะนั้นแม้เราทั้งหลายในบัดนี้ก็ควรจะเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนาให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน
ถ้าจะกล่าวอย่างกว้างๆกันครั้งหนึ่งก่อน ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนานี้เป็นอะไรบ้าง บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดในโลก มีการแบ่งออกเป็นพวกๆ และเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆ เช่นว่า ศาสนาที่สอนเรื่องว่าง กับศาสนาที่สอนเรื่องไม่ว่าง ศาสนาที่สอนเรื่องว่างจะมีกี่ศาสนาก็ตามใจ เรียกว่าสุญญวาท ส่วนศาสนาที่สอนเรื่องมีตัวมีตน ไม่ว่างนั้น ศาสนาเหล่านั้นจะมีกี่ศาสนาก็ตามใจ เรียกว่า พวกอสุญญวาท ศาสนาทั้งหมดมีแต่ 2 พวกนี้เท่านั้นคือเป็นพวกสุญวาทกับอสุญญวาท พุทธศาสนาเราอยู่ในประเภทสุญญวาท
ถ้าแบ่งศาสนาทั้งหมดออกไปโดยนัยอื่น ที่เรียกว่า (นาทีที่ 0๔.56) วิพัศวาทีหรืออวิพัศวาที หมายความว่า ถ้าถือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งคนเราด้วยนี้ประกอบอยู่ด้วยสิ่งต่างๆ หลายๆสิ่ง หลายๆ ส่วนแบ่งแยกออกไปได้ ศาสนาใดสอนอย่างนี้ศาสนานั้นเรียกว่าวิพัศวาท ถ้าศาสนาเหล่าใดสอนโดยความเป็นความมีตัว มีตน เป็นตัวเป็นตน เที่ยงแท้ถาวร ไม่ได้ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆแล้ว ศาสนาพวกนั้น เรียกว่าอวิพัศวาท ถ้าเอาหลักนี้เป็นเกณฑ์ ศาสนาทั้งหมดก็มีอยู่ ๒ พวก คือ วิพัศวาท กับ อวิพัศวาท พุทธศาสนาเราอยู่ในพวก วิพัศวาท
ถ้าเอาเวลาเป็นเกณฑ์ มีการแบ่งศาสนาออกเป็น ๒ พวก คือ พวก (นาทีที่ 06.03)ขณิกวาทและพวกอขณิกวาท ศาสนาเหล่าใดถือว่าท่านทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปชั่วขณะๆ ตามอำนาจแห่งจิตแล้ว ศาสนาพวกนี้เรียกว่าขณิกวาท ก็ถือว่าสิ่งต่างๆมีอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ศาสนาเหล่าใดสอนมีความมีตัวตนถาวร ไม่แตกดับ ศาสนาเหล่านั้นถูกเรียกว่าอขณิกวาท เมื่อมีอยู่กัน ๒ พวกดังนี้แล้ว พุทธศาสนาเราเป็นพวก ขณิกวาท
ขณิกวาทคือกล่าวว่ามีอยู่ชั่วขณะ สังขารร่างกายก็มีอยู่ชั่วขณะ เป็นขณะๆไป สิ่งทั้งหลายสำเร็จอยู่ที่จิตหรือความรู้สึก แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นขณะๆตามลักษณะของจิต ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง เพียง ๓ อย่างเท่านี้ก็พอเข้าใจได้ว่าพุทธศาสนานี้เป็นอย่างไร
พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาสอนเรื่องความว่าง และสอนเรื่องการแบ่งแยกเป็นส่วนๆ และสอนเรื่องการตั้งอยู่ชั่วขณะ ไม่ได้ตั้งอยู่เป็นการถาวร ถ้าเราเข้าใจใจความเหล่านี้ดี ก็จะรู้จักพุทธศาสนาดีขึ้นว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องอัตตาชนิดที่เป็นตัวเป็นตนเหมือนลัทธิอื่น ดังนั้น จึงมีคำสอนที่ผิดกันอย่างตรงกันข้าม
พุทธศาสนาสอนให้เห็นความว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน สอนให้แบ่งสิ่งต่างๆที่เป็นปรากฏการณ์นั้นๆ ออกได้เป็นส่วนๆ ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน และสอนให้เห็นว่าสังขารธรรมทั้งหลายนี้เนื่องอยู่กับจิตเป็นไปชั่วขณะๆตามความรู้สึกของจิต ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความไม่มีตัวตนที่แน่นแฟ้นหรือถาวรอะไร
เมื่อใดเข้าใจลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาอย่างนี้แล้ว ย่อมประกันความฟั่นเฝือ เลอะเลือน หรือเผลอไปมีตัวมีตนอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า เป็นผู้รู้จักพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นของว่าง เป็นของแบ่งแยกเป็นส่วนๆ และเป็นของชั่วขณะได้เสมอไป จึงไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตน
จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดหรือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดนี้ เรียกว่าจิตว่างตามแบบของพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นเองก็มี บังคับให้เป็นอย่างนั้นก็มี และพิจารณาให้เห็นความจริงจนมันไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่เป็นปกติอย่างนี้ก็มี ล้วนแต่สงเคราะห์เป็นจิตว่างที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในขณะนั้นด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าว่างเองไม่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติก็ยังไม่จัดเป็นตัวศาสนา คือเป็นของธรรมดาที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีสติปัญญาความรู้ความสามารถบังคับให้มันว่างได้ หรือหาอุบายพิจารณาให้มันว่างได้ อย่างนี้เป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยบทที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นของตนหรือเป็นของๆตน ดังบาลีว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือบาลีว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นสักว่าธรรมชาติ ตามธรรมชาติ
เหล่านี้เป็นหลักเพียงข้อเดียวที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา นอกนั้นเป็นเรื่องประกอบเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้หรือความจริงข้อนี้ หัวใจของพุทธศาสนาจึงได้แก่เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือถ้าจะพูดให้สั้นจนเหลือคำเดียวก็คือ สุญญตา ความว่าง ไม่มีการยึดมั่นถือมั่น
หัวใจของพุทธศาสนาชนิดนี้เป็นสิ่งที่ใช้ได้แก่คนทุกชั้นทุกระดับ หากแต่ว่าในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ผู้ที่ไม่มีสติปัญญาแก่กล้าก็ปฏิบัติไปตามสัดตามส่วน ถ้าปฏิบัติโดยตรงไม่ได้ก็ปฏิบัติโดยอ้อมได้ ขอแต่ให้เป็นไปในทางที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นตัวหรือเห็นแก่ตัวก็แล้วกัน เช่น ผู้มีปัญญาอ่อนจะไปยึดมั่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ยังได้ ยังเป็นการดีและปลอดภัยกว่าการที่จะมายึดมั่นเป็นตัว และมีความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความ โลภ ความโกรธ ความหลง
การไปยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น แม้จะเป็นการยึดมั่น ยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง ก็ยังเป็นการดี เพราะเหตุว่าการไปยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นจะเป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวเอง โดยไปเห็นแก่พุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าเราทำจิตให้ว่างจากความเห็นแก่ตัว หรือความมีตัวของตัวโดยทางอ้อม โดยการไปยึดในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (นาทีที่ 13.57)ไว้ทีก่อน จนถึงระดับสูงสุดว่าไม่ยึดอะไรเลย
นี้เป็นการชี้ให้เห็นว่ามีการยึดถือ เข้าข้างตัว เห็นแก่ตัวเมื่อไรก็เป็นกิเลสเมื่อนั้น แต่ถ้าไปยึดถือธรรมะอย่างอื่นก็ยังไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส หรือแม้จะเกิดกิเลสก็เป็นไปในชั้นที่ละเอียด ที่เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลสอีกทีหนึ่ง เช่น ความอยากที่จะหลุดพ้นจากกิเลสนี้ก็เป็นเครื่องกำจัดกิเลส หรือว่าความเข้าใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หวังที่จะได้ความดับทุกข์คือนิพพานก็เป็นการกำจัดกิเลส เพียงแต่ให้สละความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นโดยความเป็นตัวของตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจิตที่ว่างจากตัว จากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าของตัวนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ทำให้มีได้ตามลำดับขั้นสูง ขั้นกลาง ขั้นต่ำ กระทั่งโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำได้มากเท่าไรก็มีประโยชน์มากเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงถือเป็นหลักทั่วไปว่าจำเป็นแม้แต่ฆราวาส
ดังมีเรื่องที่เล่าไว้ในพระบาลี ว่ามีอุบาสกคณะหนึ่งมีหัวหน้าที่ชื่อ ธรรมทินนะ ไปเฝ้าพระองค์แล้ว ทูลขอให้ทรงแสดงธรรมเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน พระองค์ก็ตรัสว่า สุญญตาธรรม หรือข้อปฏิบัติต่างๆที่เนื่องด้วยสุญญตา อันตถาคตได้กล่าวไว้แล้วเป็นธรรมที่มีความหมายลึกซึ้งนั่นแหละ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน
แต่หัวหน้าอุบาสกคณะนั้น กลับทูลไปเสียว่ามันยากเกินไปสำหรับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าถ้าอย่างนั้นก็จงเป็นผู้มีความเชื่อมั่นใน พระพุทธหนึ่ง ในพระธรรมหนึ่ง ในพระสงฆ์หนึ่ง และมีศีลอันบริสุทธิ์หมดจดหนึ่งดี รวมเป็น ๔ อย่างนี้เถิด ธรรมทินนะอุบาสก ก็ทูลอีกว่า ๔ อย่างนี้ปฏิบัติอยู่แล้วเป็นประจำ แล้วเรื่องก็จบ ไม่ได้มีข้อความกล่าวต่อไปว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าอย่างไร
ถ้าเราพิจารณาดูตามนี้ก็จะเห็นได้ว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ระบุธรรมะ ๔ อย่างนี้ก็คือการที่พระองค์ทรงแสดงวิธีที่จะทำให้มีจิตว่างจากตัวตนในระดับหนึ่งและโดยอ้อม คือว่าเมื่อไปยึดถือหรือเชื่อถือ เคารพหนักแน่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็ทำลายความเห็นแก่ตัวได้ในระดับหนึ่ง หรือว่ามีศีลบริสุทธิ์แล้วก็ทำลายความเห็นแก่ตัวได้ในระดับหนึ่ง และเป็นระดับที่เพียงพอที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับปฏิบัติให้สูงขึ้นไป
ในบาลีที่มาแห่งเดียวกันนั้น เรียกธรรมะ ๔ ประการนี้ว่าเป็นปุญญาภิสันทะ หรือเป็นที่ไหลออกแห่งบุญก็มี และที่เรียกว่า เป็นโสตาปัตติยังคะ หรือเป็นองค์แห่งความเป็นพระโสดาบันก็มี ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดีๆว่าข้อปฏิบัติ ๔ อย่าง คือมีความเชื่อไม่หวั่นไหวในพระพุทธหนึ่ง ในพระธรรมหนึ่ง ในพระสงฆ์หนึ่ง และมีศีลบริสุทธิ์ ๔ อย่างนี้ ถ้าเป็นชั้นต่ำก็เรียกว่าเป็นที่มาแห่งบุญ ถ้าเป็นขั้นสูงขึ้นไปก็เรียกว่าองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน
ชื่อเหมือนกันแท้ๆก็ยังแตกต่างกันถึงอย่างนี้ ความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หนึ่ง และมีศีลบริสุทธิ์ถึงขนาดเป็นพระโสดาบันนั้น อันเป็นความเชื่อที่ถูกต้องจริงๆ มีศีลที่บริสุทธิ์จริงๆและอาศัยซึ่งกันและกันถึงขนาดที่ถอยกลับไม่ได้อย่างนี้ ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ กลายเป็นองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน เป็นไปเพื่อ สุญญตา ในขั้นสูงสุดโดยแน่นอน
ทีนี้ธรรม ๔ ประการนี้สำหรับฆราวาสที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นมาก ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพยายามที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์นี้ ท่านก็เรียกว่าเป็นที่ไหลออกแห่งบุญ เมื่อทำไปทำไป บุญชนิดนี้ที่ถูกต้องชนิดนี้จะช่วยชำระบาปหรือช่วยชำระกิเลส เพราะว่าความยึดมั่นชนิดนี้เป็นการทำลายความเห็นแก่ตนโดยเฉพาะดังที่กล่าวแล้ว สิ่งต่างๆจึงเป็นไปในทางดี ตามทางที่ตนยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และการที่จะปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันถือได้ว่าอุบาสกคณะนี้ซึ่งมี ธรรมทินนะเป็นหัวหน้านั้น เป็นพวกที่จะต้องปฏิบัติสุญญตาไปแต่โดยอ้อมไปพลางก่อน และเมื่อปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วก็เป็นพระโสดาบัน และเรื่องในที่นี้ก็ไม่ได้มีอะไรแสดงให้ชัดว่าคณะอุบาสกธรรมะทินนะนี้เป็นพระโสดาบันหรือหาไม่ คือจะเป็นพระโสดาบันแล้วก็ได้หรือยังไม่เป็นก็ได้ แต่ว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้อง ที่จะไปสู่ความเป็นพระโสดาบันและเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ทีนี้มีคนเขลาๆพวกหนึ่งไปเข้าใจว่า การที่ธรรมทินนะอุบาสกทูลพระพุทธองค์ว่าเรื่องนี้ยากเกินไปและพระองค์ก็ทรงสอนธรรมะ ๔ ประการนั้น เป็นการแสดงว่าพระพุทธองค์ทรงเลิกถอนการสอนเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาสไปเสีย การกล่าวอย่างนี้เป็นการกล่าวตามความเห็นของตัวเอง และเป็นการดูถูกพระพุทธเจ้าไปในตัวทันที ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สะเพร่าขนาดนั้นเชียวหรือ ลองคิดดูเถิด
เขามาขอให้สอนธรรมะที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาสตลอดกาลนาน พระองค์สอนเรื่องสุญญตา เขาว่ายากเกินไป ก็เปลี่ยนมาถือพระรัตนไตรหรือทำศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าพระพุทธเจ้าสะเพร่าถึงขนาดนี้ เราก็ไม่ควรจะนับถือพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่สะเพร่า ถ้าเราเชื่อหรือถือว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นบุคคลสะเพร่าอย่างที่บุคคลพูดแล้ว เราก็ต้องมีความเข้าใจไปในทำนองที่ว่า พระพุทธเจ้ายังคงมีหลักที่จะสอนเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาสอยู่นั่นเอง เป็นหลักการที่ถอนไม่ได้ที่เลิกถอนไม่ได้ ยังคงมีอยู่อย่างตายตัว
แต่ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจ เข้าใจไม่พอ เห็นว่ายากไปนัก ก็ทรงลดมา ลดให้ต่ำลงมาเป็นเรื่องสุญญตาโดยอ้อม เป็นสุญญตาตรงที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีตัว แต่ไปมีความยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หนึ่ง และพยายามทำศีลให้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตัวอยู่ดังนี้ เพราะฉะนั้นอุบาสกคณะนี้จะทูลคัดค้านอย่างนี้ก็ไม่เป็นเรื่องที่จะต้องถือว่าพระพุทธองค์ทรงเลิกสอนเรื่อง สุญญตาแก่ฆราวาส
ต่อให้มีอุบาสกชนิดนี้สักร้อยคน พันคน หมื่นคน มาขอผัดเพี้ยน ก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธองค์ทรงเลิกหลักเกณฑ์ที่ว่า สุญญตาเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่ฆราวาส พระองค์ก็ยังทรงมีหลักการที่จะสอนเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาสสืบต่อไป และคงจะมีฆราวาสพวกอื่น จำนวนอื่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งเข้าใจและยอมรับเอาไปพยายามปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การที่เราสมัยนี้จะถือว่าสุญญตาเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาส ควรศึกษา ควรปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นเรื่องที่โง่เขลา งมงายแต่ประการใด
จะถือได้ว่าสุญญตา เรื่องสุญญตา ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนานี้ ยังจำเป็นแก่ฆราวาสอยู่นั่นเอง และมีประโยชน์แก่ฆราวาสเหมือนที่ได้มีประโยชน์แก่ฆราวาสทั้งหลายมาแล้วแต่อดีต กระทั่งบรรพบุรุษของพวกพุทธบริษัทก็เป็นสุขอยู่ได้ และรอดตัวมาได้เพราะหลักธรรมเรื่องนี้ สรุปความข้อนี้ก็ว่าเรื่องสุญญตาหรือความว่างนั้นเป็นธรรมะสำหรับฆราวาสด้วย
ทีนี้ข้อต่อไปจะต้องพิจารณาให้เห็นว่าเรื่องสุญญตานี้เป็นพุทธศาสนาเดิมแท้ ไม่ใช่พุทธศาสนาเนื้องอก คือว่าเอาเองสอนกันเอาเองอย่างผิดๆถูกๆนี้เป็นพุทธศาสนาเนื้องอก พุทธศาสนาเดิมแท้ พระพุทธเจ้าท่านระบุเฉพาะเรื่องสุญญตา ไม่ได้ระบุเรื่องอื่นเลย
โดยทรงแสดงความข้อนี้ให้เห็นชัดในอุปมาเรื่องกลองใบหนึ่งของพวกกษัตริย์ (นาทีที่ 26.40)วงศ์ยาฎพแต่โบราณกาล เป็นกษัตริย์พวกนักรบ มีกลองสำหรับใช้ในการรบ กลองใบนี้สืบอายุมานานหลายชั่วคนเข้า มันก็มีความเก่า มีเนื้อที่เสียที่ผุ เขาก็อุดปะกันใหม่ทุกครั้งไปที่มันผุ ครั้นล่วงมานานเข้า มันก็เหลือแต่ไม้ที่ปะที่อุดที่ตรึงกันเข้าไปใหม่ ไม้เนื้อเก่าก็ไม่มีเหลืออยู่เลย ดูแล้วก็เป็นที่น่าเวทนา
ข้อนี้เป็นฉันใด พุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้า...อย่าเอาเรื่องสุญญตาออกไปๆๆทีละเล็กทีละน้อย เพราะไม่พอใจในเรื่องสุญญตา แต่ไปพอใจในเรื่องไพเราะ สนุกสนาน ซึ่งจะทำกันขึ้นในชั้นหลังเรื่อยๆไปแล้ว ไม่เท่าไรเรื่องสุญญตาก็หมดไปจากพุทธศาสนา หมายความว่าพุทธศาสนาเดิมแท้หมดไป เหลือแต่พุทธศาสนาเนื้องอก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ ไปหารายละเอียดอ่านดูเองจากพระคัมภีร์ที่กล่าวด้วยเรื่องนี้
ในที่นี้ต้องการแต่จะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติเรื่องสุญญตาว่าเป็นตัวพุทธศาสนาแท้ แล้วมันก็จะค่อยๆลางเลือนไปเพราะศาสนาเนื้องอก คือเรื่องที่ตรงกันข้าม ที่ไปเห็นแก่ความไพเราะ แล้วก็นิยมจนไม่เอาใจใส่กับเรื่องสุญญตา ทั้งหมดนี้สรุปความว่าเรื่องสุญญตา เป็นตัวเดิมแท้ของพระพุทธศาสนา ควรจะรักษาเอาไว้ให้ได้ ให้ยังคงเป็นของเดิมอยู่
ทีนี้ดูกันต่อไปอีกตามพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ ว่าเรื่องสุญญตานี้เป็นเครื่องประกันความเลอะเลือนของพระพุทธศาสนา ถ้าเมื่อใดยังมีเรื่องสุญญตาเป็นหลักในส่วนพระศาสนาอยู่แล้ว ก็แปลว่าศาสนายังไม่เลอะเลือน ถ้าเมื่อใดทุกคนไม่สนใจในเรื่องสุญญตา ก็เปิดโอกาสให้ศาสนาเลอะเลือน คือหลักที่เป็นใจความสำคัญเรื่องความว่างนี้เงียบหายไปแล้ว การประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัทก็เลยเขวไปหาเรื่องอื่น การปฏิบัติวินัยก็เลอะเลือน เพราะไม่ได้มุ่งจะทำให้เกิดการทำลายความเห็นแก่ตน วินัยเลอะเลือนแล้วธรรมะก็เลอะเลือน ธรรมะเลอะเลือนแล้ววินัยก็ยิ่งเลอะเลือน วินัยยิ่งเลอะเลือนธรรมะก็ยิ่งเลอะเลือน มีแต่เลอะเลือนมากขึ้นไปทุกทีอย่างนี้ พุทธศาสนาที่ถูกต้องก็หมดไป เหลือแต่ความเลอะเลือน คือไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่สัตว์ทั้งหลายได้
จะยกตัวอย่างง่ายๆมาแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันนี้การบวชการเข้ามาอยู่วัด บวชพระบวชเณรนั้น เขาไม่ได้ให้เรียน ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง ปิณฑะปาโต ตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล ธาตุมัตตะโก นิสสัตโต นิชชีโว เหมือนกับที่เคยเรียนกันมาเป็นระเบียบแต่กาลก่อน ภายในชั่วอายุของอาตมาก็เลยเห็นว่ามีการละเลยการศึกษาบทที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานี้ยิ่งขึ้น จนได้ความว่าในที่บางแห่ง บางหมู่ บางคณะ ไม่เคยเรียนบทยถาปัจจะยังกันเลย
เมื่อไม่เรียนบทยถาปัจจะยัง ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ก็แปลว่าคนที่แรกเข้ามาอยู่วัดหรือแรกบวชนั้น ไม่ได้รับเอาหัวใจพุทธศาสนา และไม่รู้ว่าหัวใจของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่าแนวพระพุทธศาสนาจะไปกันทางไหน อุปัชฌาย์อาจารย์ที่มีสติปัญญาได้บัญญัติการเรียนยถาปัจจะยังนี้ให้เป็นบทเรียนบทแรกที่สุดของผู้ที่จะเข้ามาอยู่วัดเพื่อจะบวชนี้ ก็เพราะเห็นความจำเป็นหรือความสำคัญข้อนี้ คือข้อที่จะให้ผู้ที่จะเข้ามาอยู่วัดนั้นจับหัวใจของพุทธศาสนาเสียให้ได้ตั้งแต่วันแรกมาอยู่วัด บทยถาปัจจะยังนั้นเป็นการแสดงสุญญตาเต็มที่ คำว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง แปลว่า นี้เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีตัวมันเอง เป็นแต่สิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นไป นี้คือความหมายของสุญญตา
ธาตุมัตตะโก สิ่งนี้เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน นี้ก็แสดงความหมายของสุญญตา นิสสัตโต นี้ไม่ใช่สัตวะอันยั่งยืน นี้ก็แสดงสุญญตา นิชชีโว นี้ไม่ใช่ชีวะหรือเจตภูติหรืออาตมัน นี้ก็แสดงสุญญตา สุญโญ ว่าง นี้ยิ่งแสดงสุญญตาถึงที่สุด
ผู้แรกเข้ามาอยู่วัดวันแรกต้องเรียนบทยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง บทธาตุมัตตะเมเวตัง บทนิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ก็เป็นการเรียนหัวใจของพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ถึงที่สุด ข้อที่จะเข้าใจได้หรือเข้าใจไม่ได้นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ได้มอบสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือดีที่สุดให้เรียนแล้ว เขาก็จะต้องพยายามเรียนไปตามความสามารถและปฏิบัติให้ได้ในที่สุด เมื่อสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ยังคงไปเป็นประโยชน์ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสุญญตาเป็นธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนานอยู่นั่นเอง
การที่มีบางยุคบางสมัยเรียน ยถาปัจจะยัง กันทั้งที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจนั้น จะไปโทษพระธรรมก็ไม่ได้ จะไปโทษพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ มันต้องโทษเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในหมู่พุทธบริษัทนั่นเองว่ามันเปลี่ยนแปลงไปบางครั้งบางคราว แต่ส่วนหลักการนั้นประเสริฐที่สุดแล้วที่จะให้ทุกคนที่ย่างก้าวเข้ามาสู่พุทธศาสนาเป็นก้าวแรกนี้ได้เรียนเรื่อง อนัตตา สุญญตา ด้วยบทว่ายถาปัจจยัง เป็นต้น
ทีนี้จงพิจารณาดูว่าพระ เณรสมัยนี้ที่ไม่สนใจกับบทยถาปัจจะยังนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มันก็ต้องเขวออกนอกทาง คือมีแนวที่เลอะเลือน มันก็หันเหไปในทางที่จะเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นดี เป็นเด่น ยกหู ชูหาง มากขึ้นเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น นี้คือโทษของการที่ไม่ยึดถือเอาหลักอันประกันความฟั่นเฝือ เลอะเลือนไว้ให้มั่นคง ปล่อยให้หละหลวม เลอะเลือนไป ไม่มีอะไรเป็นเครื่องประกันความเลอะเลือน
แต่ถ้ามีหลักเรื่องสุญญตา คือความว่างจากตัวตน ไม่มีสิ่งใดที่ตนจะยึดมั่นเป็นตัวตนเป็นหลักอยู่แล้ว ถึงปฏิบัติอย่างไรก็ไม่มีทางจะผิด ปฏิบัติวินัยก็ไม่มีทางจะเลอะเลือน ปฏิบัติธรรมะก็ไม่มีทางจะเลอะเลือน เราจงมาพิจารณากันดูให้ดีๆ มาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ให้ดีๆ ว่าสุญญตานี้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นหลักปักที่มั่นคง เพื่อประกันความเลอะเลือน
หัวใจของพุทธศาสนาคือสุญญตานี้เป็นธรรมะสำหรับฆราวาสด้วย เป็นตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ด้วย และเป็นเครื่องประกันความเลอะเลือนของการปฏิบัติธรรมะและวินัยอันจะเป็นไปในอนาคตด้วย จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากน้อยเพียงไร ลองคิดดู เป็นสิ่งที่ควรสนใจหรือไม่ควรสนใจเพียงไร หรือว่าเป็นสิ่งที่เมื่อเลอะเลือนไปแล้วควรที่จะกอบกู้ให้กลับมาสู่ความถูกต้อง บริสุทธิ์ผุดผ่องกันหรือไม่เพียงไร ขอให้คิดดูเถิด
ทีนี้จะได้พิจารณากันต่อไปว่า หัวใจของพุทธศาสนาคือสุญญตานี้จะช่วยอะไรได้ ในการเป็นอยู่ในโลกทุกวันนี้ ได้กล่าวมาแล้วในธรรมเทศนาตอนเช้าว่าเราต้องการคนดี ในที่นี้จะขอยืนยันต่อไปว่าเรื่องสุญญตา คือความเป็นผู้มีจิตว่างตามแบบของพระพุทธศาสนา นั่นแหละเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดคนดี ทำให้คนทุกคนสามารถทำดีได้เพราะว่าเขาสามารถบังคับตัวเองได้ เขาไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนและเห็นแก่ตนจนบังคับตัวเองไม่ได้ เมื่อเขาบังคับตัวเองได้เขาก็สามารถเป็นคนดีได้ การตั้งใจจะเป็นคนดีก็เป็นไปได้ สำเร็จตามความปรารถนา ...