แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาธรรมะหฤทัยกถา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ มิได้เป็นธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะตามธรรมดา หากแต่ว่าได้จัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านสาธุชนผู้มีความมุ่งหมายเป็นพิเศษนั่นเอง ที่เรียกว่า ธรรมะหฤทัยกถาหมายความว่าเป็นเรื่องที่แสดงให้ทราบใจความของธรรม หรือหัวใจของธรรม แต่แม้ว่าเราจะแสดงถึงเรื่องหัวใจของธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั่วๆไป จึงจะจับหัวใจได้ว่าหัวใจของธรรมนั้นคืออะไร
เพราะเหตุดังนี้แหละจึงจำเป็นที่จะต้องชี้ให้เห็นว่าธรรมะโดยทั่วไปมีลักษณะอย่างไรและเกี่ยวข้องกันอยู่กับเราอย่างไร และมีภาวะอย่างไรบ้างที่ควรสนใจเกี่ยวกับพระธรรม
ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า เรามีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นชื่อว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ แต่ส่วนใจความนั้นย่อมคาบเกี่ยวไปถึงข้อที่ว่า ธรรมะคืออะไร จะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร และจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นที่พึ่งได้ ดังนี้เป็นต้น
ทีนี้สิ่งแรกที่สุดที่อยากจะให้ยึดถือกันก่อนก็คือข้อที่ว่า สิ่งที่ได้รับความอยุติธรรมอย่างทารุณมากที่สุดในเวลานี้ก็คือพระธรรมนั่นเอง ธรรมะหรือพระธรรมกำลังได้รับความอยุติธรรมจากคนอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด
การกล่าวอย่างนี้ท่านทั้งหลายเห็นได้แล้วว่าเป็นการกล่าวอย่างภาษาคน หรือกล่าวอย่างปุคคลาธิษฐาน คือ พูดให้เป็นคนขึ้นมา แท้จริงพระธรรมหรือธรรมะไม่ใช่คน ไม่มีจิตใจอย่างคน แต่มันมีอะไรยิ่งไปกว่าคนหรือยิ่งกว่าจิตใจของคน เราจึงควรจะกล่าวให้เป็นคนขึ้นมาได้ในฐานะที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแก่กันกับคน
ธรรมะจะเป็นนามธรรมหรือเป็นอะไรก็ตามใจ ในที่นี้กล่าวอย่างแต่ว่าเป็นคน ๆ หนึ่งและเกี่ยวข้องกันอยู่กับคนเราในโลก ที่กล่าวว่าธรรมะกำลังได้รับความอยุติธรรมหรือความไม่รู้สึกบุญคุณอย่างยิ่งนี้ หมายความแต่เพียงว่าธรรมะนั้นมีคุณแก่คน
เราพูดกันทั่วไปแล้วรับรองกันทั่วไปแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีคุณ พระธรรมมีคุณ พระสงฆ์มีคุณ ถ้าเรียกอย่างยึดถือมากขึ้นไปอีกก็พูดว่า พระพุทธเจ้ามีบุญคุณ พระธรรมมีบุญคุณ พระสงฆ์มีบุญคุณ ทั้งนี้เพราะคำว่า คุณ ในภาษาไทยเรานี้มีความหมายอยู่ ๒ อย่างเป็นอย่างน้อย
คำว่า คุณ หมายถึง คุณค่าหรือคุณสมบัตินี้อย่างหนึ่ง กับคำว่า คุณ หมายถึงพระคุณหรือบุญคุณนั้นอีกอย่างหนึ่ง แต่คำที่เป็นภาษาบาลีนั้นใช้คำๆเดียวกันคือคำว่า คุณ พระพุทธเจ้ามีคุณก็หมายความว่า ท่านมีคุณสมบัติอย่างพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็มีบุญคุณแก่เราโดยช่วยให้เรารู้ถึงวิธีที่จะดับทุกข์ได้
พระธรรมมีคุณก็เพราะว่ามีคุณสมบัติที่จะดับทุกข์ได้ พระธรรมมีคุณแก่เรา มีบุญคุณแก่เราก็ตรงที่จะช่วยดับความทุกข์ได้ พระสงฆ์มีคุณแก่เรา มีคุณก็หมายความว่ามีคุณสมบัติตามความหมายของคำว่า พระสงฆ์ แล้วก็มีบุญคุณแก่เรา หมายความว่าท่านได้ช่วยพระศาสนามาให้ถึงพวกเรา เราก็กำลังเผยแผ่พุทธศาสนาให้เป็นที่เข้าใจแก่เรา นี้เราก็เรียกได้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีคุณแก่เรา ในฐานะที่มีบุญคุณและเราจะต้องตอบแทนบุญคุณนั้นจึงจะเรียกว่า ยุติธรรม
ถ้าเราไม่ตอบแทนบุญคุณไม่จะเพราะด้วยเหตุอะไรก็ตาม เรียกว่าไม่ยุติธรรม คือเป็นอยุติธรรม โดยทั่วๆไปก็มองดูกันเองเถิดว่า เราตอบแทนพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง คนที่มีใจไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างตนเอง อาจจะเห็นว่า เรายังตอบแทนคุณพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันน้อยเกินไป เรากลายเป็นคนที่ไม่รู้จักบุญคุณ และในที่สุดก็จะต้องได้รับผลอันไม่พึงปรารถนา สมกับที่เราไม่รู้จักบุญคุณเป็นแน่นอน
สำหรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ อย่างนี้เมื่อกล่าวรวมๆกันไปก็กล่าวได้อย่างนี้แล้ว คือว่าเรารู้จักคุณน้อยเกินไปก็ตอบแทนคุณน้อยเกินไปด้วย หรือบางทีก็เอาเปรียบจะเอาแต่คุณ เราก็ไม่ตอบแทนคุณอย่างนี้ก็มี
คำว่า ตอบแทนคุณ นั้นไม่ได้หมายถึงว่า ตอบแทนอย่างคนแลกเปลี่ยนประโยชน์แก่กันและกัน พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการอะไรตอบแทนมากไปกว่าความสนใจและปฏิบัติตาม เพียงเท่านี้เราก็ทำไม่ได้เสียแล้ว พระธรรมหรือพระสงฆ์ก็ตามก็ไม่ได้ต้องการบุญคุณอะไรจากท่านทั้งหลายมากไปกว่าความสนใจและการปฏิบัติตาม เพียงเท่านี้ก็ทำได้น้อยเกินไปเสียแล้ว
ทีนี้เราจะมองกันเฉพาะพระธรรมอย่างเดียวหรือสิ่งที่เรียกว่าธรรม นี้ยิ่งมองแล้วจะยิ่งเห็นว่าเราเอาใจใส่น้อยมาก ตอบแทนด้วยการเอาใจใส่สนใจหรือเคารพหรือปฏิบัติตามนี้น้อยมาก ไม่สมกับที่พระธรรมมีคุณกับเรา
เมื่อกล่าวถึงคำว่า ธรรม แล้วมีความหมายกว้างขวางมากถึง ๔ ความหมายอย่างน้อย ดังที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า แต่ในชั้นต้นนี้อยากจะบอกกล่าวให้ทราบว่า พระธรรมหรือธรรมนั่นแหละเป็นสิ่งที่สร้างเราขึ้นมา ธรรมะนั่นแหละเป็นสิ่งที่ช่วยเราให้รอดชีวิตอยู่ได้เป็นวันๆวันๆไป และธรรมะนั่นแหละจะช่วยดับความทุกข์ทุกอย่างทุกประการ
เมื่อเป็นถึงเช่นนี้เราก็เห็นได้ว่า ธรรมะมีคุณเหลือที่จะกล่าวได้เหลือที่จะประมาณได้ แล้วเราก็สนใจนิดเดียว สนใจแต่เรื่องกินเรื่องเล่นเรื่องอะไรของเราของแทบทั้งหมด จะไปสนใจในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมสัก ๑ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ ครึ่งเปอร์เซ็นต์หรือผ่าเสี้ยวลงไปอีกก็ยังไม่ได้ แล้วจะไม่ให้เรียกว่า ธรรมะกำลังได้รับความอยุติธรรมอย่างยิ่งอย่างไรกัน
ข้อนี้วัดได้ตรงที่ว่า เมื่อเราให้ความอยุติธรรมแก่ธรรมะ เราก็ต้องได้รับผลอันนั้น คือถูกธรรมะนั้นตอบแทนในลักษณะที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งละเลยธรรมะ ไม่เอื้อเฟื้อธรรมะ ไม่เคารพในธรรมะมากขึ้นเท่าไร โลกนี้ทั้งโลกก็ยิ่งเดือดร้อนระส่ำระสายเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นกันอยู่เพียงนั้น ฉะนั้น ควรจะยึดกันเป็นข้อแรกว่า การที่เราได้รับความทุกข์ร้อนกันไปทั้งโลกและยิ่งขึ้นนี้ก็เพราะว่าเราทำความอยุติธรรมให้แก่พระธรรมหรือธรรมะ
จะต้องคิดดูให้ดีๆว่าเราเองเป็นฝ่ายทำแก่ตัวเรา เป็นฝ่ายกระทำแก่ตัวเรา เรากระทำให้เป็นไปในลักษณะอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ เรากระทำเป็นไปในลักษณะที่เหยียบย่ำธรรมะในฝ่ายที่เป็นกุศล เราก็ต้องได้รับผลของธรรมะในฝ่ายที่เป็นอกุศล ซึ่งที่แท้แล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าควรจะถือว่าธรรมะนี้มีมาเพื่อช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์
แล้วคนก็ไปเหยียดหยามธรรมะ การเหยียดหยามธรรมะนั้นแหละเป็นการประพฤติผิด จึงต้องได้รับผลในทางที่ตรงกันข้ามจากความมุ่งหมายเดิม คือทำให้มีความทุกข์ มีธรรมะที่เป็นไปเพื่อทุกข์ที่เป็นฝ่ายทุกข์อันไม่ใช่ธรรมะที่พึงปรารถนา และไม่ใช่ความประสงค์อันแท้จริงของการที่มนุษย์จะมีธรรมะเลย
เมื่อกล่าวโดยส่วนลึก คำว่า ธรรมะ มันความกว้างอย่างนี้ แต่โดยทั่วไปเท่าที่มนุษย์เราสนใจหรือรู้จัก เราต้องการธรรมะชนิดที่เป็นคุณตามที่เราต้องการ แต่แล้วเราไปกระทำอย่างที่เรียกว่า ธรรมะจะแสดงคุณออกมาตามที่เป็นจริง คือคุณสมบัติของธรรมะนั้นมีอยู่ว่าธรรมะฝ่ายกุศลก็ให้ผลเป็นความสุข ธรรมะอกุศลก็ให้ผลเป็นความทุกข์ เราไปเหยียบย่ำธรรมะด้วยการที่ละเลยธรรมะส่วนที่เป็นกุศล ไปทำในทางที่เป็นอกุศล เป็นการดูหมิ่นธรรมะอย่างนี้ เรียกว่าให้ความอยุติธรรมแก่ธรรมะในทางที่เป็นกุศล ธรรมะในทางที่เป็นกุศลหรือเป็นฝ่ายกุศลจึงไม่ช่วยอะไรเลย เราก็เผชิญกันแต่กับผลของธรรมะที่เป็นอกุศล
บัดนี้เรามารู้ความจริงข้อนี้เราก็ควรจะโทษตัวเอง ที่แล้วมาเราไม่รู้ มีความเขลา มีโมหะ มีอวิชชา ไม่รู้แม้กระทั่งว่าการที่เราทำอะไรไม่สำเร็จหรือบางทีถึงกับมาร้องไห้กลุ้มอกกลุ้มใจอยู่นี่ นี้มันเป็นสิ่งที่แก้ได้ด้วยธรรมะ แต่เราไม่รู้ก็ไม่ได้เอามาใช้แก้ แล้วยิ่งเข้าใจธรรมะผิดๆ ด้วยความโง่เขลาก็ยิ่งเอามาแก้ไม่ได้
สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั้นจะดับทุกข์ได้ในทุกกรณีที่เป็นชั้นลึกก็มี เป็นชั้นตื้นก็มี ที่เป็นชั้นตื้นอาจจะแก้ความทุกข์ไม่ได้ทุกกรณี แต่ที่เป็นชั้นลึกหรือโลกุตตรธรรมแล้วแก้ทุกข์หรือดับทุกข์ได้ทุกกรณีไม่ว่ากรณีไหน ไม่ว่าของชาวบ้านหรือของชาววัด ทีนี้เราไม่เข้าใจว่า ธรรมะแก้ปัญหาได้ในทุกกรณี แล้วยังโง่อย่างโง่ที่สุดด้วยว่า สิ่งที่เรียกโลกุตตรธรรมนั้นไม่แก้ความทุกข์ของชาวบ้านเลย กลับจะมาเพิ่มทุกข์ให้แก่ชาวบ้าน นี้เป็นคนโง่ที่ทำลายศาสนาของพระพุทธเจ้าด้วยความโง่ของเขา
เมื่อมีคนอย่างนี้ในโลกมากขึ้น โลกก็ต้องร้อนเป็นไฟอย่างที่กำลังเป็นอยู่นี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นให้ท่านทั้งหลายมามองให้เห็นชัดและแน่ใจเสียทีว่า ปัญหาที่เป็นความทุกข์ทุกอย่างไม่ว่าชนิดไหนหมดแก้ได้ด้วยธรรมะ ยิ่งมีความทุกข์มากยิ่งต้องแก้ด้วยธรรมะที่ลึกมากในชั้นเป็นโลกุตตรธรรม ใครมีความทุกข์อย่างไรก็ต้องแก้ด้วยธรรมะอย่างนั้นในระดับนั้น มันจึงจะแก้กันได้
นี้เราก็จะได้รู้ว่า ธรรมะทั้งหมดมีไว้สำหรับแก้ความทุกข์ โลกุตตรธรรมนั้นยิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะมีความทุกข์เลย หรือจะต้องการแก้ความทุกข์ให้หมดจดสิ้นเชิงก็ต้องอาศัยธรรมะประเภทโลกุตตรธรรมทั้งนั้น ธรรมะในชั้นตื้นๆนั้นดับทุกข์ได้น้อย
ทีนี้มันขึ้นอยู่ที่ความสามารถของบุคคลผู้จะศึกษาและปฏิบัติ เราก็พยายามที่จะศึกษาให้เข้าใจและพยายามที่จะปฏิบัติให้ได้ให้สมกันกับความทุกข์ที่เรากำลังมีอยู่ หรือที่เราต้องการจะดับทุกข์นั้นเสีย เช่นว่าถ้าเราไม่ต้องการจะร้องไห้เลยในชาตินี้ เราก็จะต้องศึกษาธรรมะที่เป็นชั้นโลกุตตรธรรมให้ลึกพอกัน จึงจะหยุดการร้องไห้เลยนั้นได้ ดังนี้เป็นต้น
แต่ถ้าเรายังสมัครที่จะร้องไห้หัวเราะสลับกันไปมันก็ทำเล่นๆได้ มันก็จะต้องได้หัวเราะร้องไห้สลับกันไปเป็นแน่นอน หรือว่าเราจะต้องการแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆ เรื่องทำมาหากินเป็นต้น เราก็ใช้ธรรมน้อยๆได้โดยยอมเป็นทุกข์ไปตามการงานนั้น เรียกว่าหนักเอาเบาสู้ไปตามเรื่องของสิ่งที่ต้องทน
แต่ถ้าเราอยากจะเอาประโยชน์ยิ่งไปกว่านั้น คือทำให้การงานทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์และต้องทนแล้ว เราต้องอาศัยธรรมะในขั้นที่เรียกว่า โลกุตตรธรรมที่ลึกยิ่งขึ้นไป ไม่มีทางอื่น นี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาศึกษาให้รู้ให้เข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่สองว่า ความทุกข์ต่างๆ ปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นของเรานั้นแก้ได้ด้วยธรรมะ เราจะไม่ให้ความอยุติธรรมแก่ธรรมะอีกต่อไป เราจะกระทำให้ยุติธรรมที่สุด คือประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม คือสมควรแก่สถานะ แก่กรณี แก่เหตุการณ์ แก่ตัวเราเอง หรือแก่ความทุกข์ของเราเอง แล้วเราก็จะได้รับผลเป็นธรรมที่สุด
ทีนี้เรามาพิจารณากันต่อไปอีกขั้นหนึ่งถึงสิ่งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานี้ คือสิ่งที่เรียกกันว่าการพัฒนา การพัฒนาแปลว่าการทำให้เจริญ การทำให้เจริญนี้ควรจะนึกดูในข้อแรกก่อนว่า ทำให้มากให้รกรุงรังก็เรียกว่าพัฒนาเหมือนกัน เพราะคำว่าพัฒนานี้ความหมายมีแต่เพียงว่าทำให้มากขึ้นเท่านั้นเอง
ดังนั้น เราจะต้องรู้จักพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องไม่ใช่ให้รกรุงรัง แต่ให้เป็นไปในทางที่ประโยชน์ น่าพอใจ น่าเลื่อมใส น่าเคารพนับถือ จะถือเอาแต่ตามตัวหนังสือในภาษาบาลีว่า พัฒนาๆ ไม่ได้ เพราะคำว่า พัฒนาๆ ในภาษาบาลีนั้นหมายแต่เพียงทำให้มันมากขึ้นเท่านั้น เช่น หญ้าขึ้นมารกมากๆ เต็มไปหมดก็เรียกว่า หญ้าพัฒนา อย่างนี้มันคงรับเอาไม่ไหวเป็นแน่ มันต้องขึ้นมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเราจึงต้องทำให้ถูกตามเรื่องของคำว่าพัฒนาตามที่มนุษย์เราควรจะต้องการ
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่าทำไมเราจึงพัฒนาไม่สำเร็จ คิดดูให้ดีก็จะพบว่าเรายังไม่เป็นคนกันเสียเลย เราต้องทำตนให้เป็นคนกันเสียก่อนจึงจะได้ทำการพัฒนา เดี๋ยวนี้เรายังไม่มีจิตใจชนิดที่เป็นคนที่เต็มตามความหมายที่เราต้องการ เรายังด่าคนบางคนว่ามันไม่ใช่คน บางทีเราก็นึกสงสัยตัวเราเองว่าเราเป็นคนโดยถูกต้องหรือเปล่า อย่างนี้ก็ยังมี การด่าคนว่าไม่ใช่คนนี้มีอยู่ทั่วๆไปได้ยินในที่ทุกหัวระแหง
ทำไมจึงด่าคนว่าไม่ใช่คนนั้นมันก็มีคำตอบอยู่ในตัวแล้ว ว่าเขาได้ทำอะไรในลักษณะที่เราไม่ถือว่าเป็นคน นี้เป็นภาษาไทย แต่ถ้าว่าโดยภาษาบาลีคนที่ถือเอาคำว่ามนุษย์เป็นหลัก ถ้าเป็นคนจริงก็คือเป็นมนุษย์นั้นเอง คำว่ามนุษย์มีความหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัวแปลว่ามีใจสูง หรือแปล่าเหล่ากอของมนู พระมนูตามที่รู้กันก็คือผู้มีปัญญาสูงสุด เป็นปราชญ์เป็นบัณฑิตบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆสำหรับมนุษย์ที่เรียกว่า มนูธรรมศาสตร์
ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า รู้ มีปัญญา คำว่า มน (มะ-นะ) ก็แปลว่ารู้ มนูก็คือผู้รู้ ถ้าเป็นเหล่ากอของพวกมนูจริง เราก็ต้องรู้ ถ้ารู้อะไรว่าเป็นอะไรมันก็ต้องมีใจสูง ไม่โง่ ก็ทำถูกต้อง ฉะนั้นคำว่ามนุษย์เอาความหมายสั้นๆว่ามีใจสูง อยู่เหนือความชั่วความทุกข์ก็แล้วกัน เป็นมนุษย์จึงจะเรียกว่าเป็นคนดี คือเป็นคนที่ไม่ถูกด่าว่าไม่ใช่คน ถ้าเราเรียกว่าคนก็ให้หมายถึงเป็นมนุษย์ ถ้าเรียกว่าคนดีก็ให้หมายถึงเป็นมนุษย์ ถ้าเรียกว่ามนุษย์ก็ให้หมายถึงเป็นคนดีหรือเป็นคนตามความหมายที่เราต้องการ
เดี๋ยวนี้เป็นคนกันแต่ร่างกาย จิตใจไม่ค่อยเป็นคนจึงต้องถูกด่า จะเรียกว่าคนก็ได้ เรียกว่ามนุษย์ก็ได้ เอาเรียกว่าคนดีก็แล้วกัน เราต้องพัฒนาให้คนเป็นคนดีคือเป็นคนกันเสียก่อนแล้วจึงจะพัฒนาสิ่งอื่นๆ มันจึงจะพลอยดีไปด้วยกัน ถ้ามีคนดีแล้วอะไรๆก็จะดีตามไปด้วย การพัฒนาต่างๆก็จะดีไปด้วยจะง่ายไปด้วย ศาลปกครองระบบไหนก็จะดีไปทั้งนั้น
ถ้าคนไม่ดีแล้ว ให้ระบอบประชาธิปไตยแบบร้อยเท่าพันเท่ามันก็ดีไปไม่ได้ ไม่อาจจะดับทุกข์ได้ ถ้าคนดีแล้วไม่ต้องประชาธิปไตยมันก็ดีไปได้ เพราะว่าคนดีไม่ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำอะไรที่เป็นความเบียดเบียนหรืออยุติธรรม พอมีคนดีแล้วมันก็ดีไปหมด ไม่ต้องเรียกว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรืออะไร เรียกว่าระบอบของคนดีก็แล้วกัน เอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการไปทิ้งเสียเลยก็ได้ จะตั้งระบอบใหม่เรียกว่าระบอบของคนดี เพราะคนดีนั้นจะทำถูกหมด จะทำถูกต้องไปหมด ไม่มีอะไรผิดที่จะทำให้ใครเดือดร้อน
ถ้าคนมันไม่ดี ยิ่งประชาธิปไตยเท่าไรยิ่งตกนรกกันมากเข้าเท่านั้นเพราะว่ามติหรือความคิดความเห็นของคนที่ไม่ดีเอามารวมกันเข้า มันก็เลวมากขึ้น แล้วเอามาใช้บังคับกันทั้งประเทศมันก็กลายเป็นเมืองนรก นี่เพราะขาดสิ่งๆเดียวคือธรรมะ ถ้ามีธรรมะตามที่เราประสงค์คือธรรมะฝ่ายดีเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มันก็ไม่มีทางจะชั่วไปได้เพราะทุกคนมันดี ทำดี พูดดี คิดดี เรียกว่าเป็นระบอบที่ดี นั่นแหละคือจุดมุ่งหมายที่เราควรจะมุ่งหมายในการพัฒนา พอพัฒนาคนดีแล้ว อะไรๆที่เกี่ยวกับคนก็ดีไปหมด
จึงเห็นว่าธรรมะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้คนเป็นคนหรือเป็นคนดีหรือเป็นมนุษย์ที่ดี แล้วอะไรๆก็ดีไปหมด เราจงมีความแน่ใจในการที่จะเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง คือเป็นคนดีกันอย่างนี้ ดังนั้น เราต้องพัฒนาคนกันก่อนให้เป็นคนดีแล้วปัญหาก็จะหมดไปเองในตัว สิ่งที่จะต้องทำเฉพาะหน้าก็คือทำให้คนเป็นคนดี
ทีนี้จะทำอย่างไร มันไม่มีใครมาช่วยทำกันให้ได้นัก แต่ยกตัวอย่างให้เห็นในข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การกระทำนี้ทุกคนต้องทำเอง พระตถาคตเป็นแต่ผู้ชี้ทาง ถ้าทุกคนไม่ทำตามแล้วไม่มีทางที่จะมีดีอะไรขึ้นมาได้ ถ้าชี้ทางไม่พอมันก็ทำดีไม่ได้ มันไม่สำเร็จ เพียงแต่จะบอกว่าให้ทำดีๆอย่างนี้ยังไม่พอ ต้องช่วยแก้ปัญหาที่เขาทำไม่ได้นั้นด้วยจึงจะพอ
ยกตัวอย่างเหมือนเด็กๆ มันกินข้าวแล้วทำหกแล้วเราก็ตีเขาว่ากินข้าวหก กินข้าวหกทีไรก็ตีเขาว่ากินข้าวหก แต่ไม่เคยสอนหรือกินให้ดูว่ากินอย่างไรจึงจะไม่หก ไม่สอน ไม่แนะ ไม่ฝึก ไม่อะไรทั้งนั้น คอยแต่จะตีว่ากินข้าวหกแล้วเราจะตี อย่างนี้มันคงจะตาย แต่ถ้าเราไปสอนว่ากินอย่างไร ทำอย่างไร ป้องกันอย่างไร ระวังอย่างนี้ๆๆ ทำให้ดู มันก็คงจะกินไม่หกได้
นี้ในหมู่มนุษย์เราเหมือนกัน ถ้าระบุเพียงแต่ว่าให้ทำดี มันก็คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากทีเดียว เพราะว่าคนยังไม่รู้ว่าจะบังคับตัวเองให้ทำดีได้อย่างไร แม้เขาจะรู้อยู่ว่านี้ดีแน่ นี้ชั่วแน่ แต่เขาไม่สามารถบังคับตัวเองให้ทำดีไปตามที่ต้องการได้ทั้งๆที่เขาก็อยากดี เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันแก้ปัญหาของเขาเรื่องที่ว่าเหตุไรเขาจึงทำดีไม่ได้ หรือว่าเหตุไรเขาจึงบังคับตัวเองไม่ได้ ทีนี้แหละจะมาถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะมากขึ้น เราต้องช่วยให้เขาเข้าใจธรรมะก่อน และช่วยให้เขารู้จักเอาธรรมะนั้นมาใช้ แล้วถ้าเขาใช้ไม่เป็นใช้ไม่ได้ก็ต้องช่วยกัน แก้ไขให้ใช้ให้ได้ให้มีขึ้นมาให้ได้ อย่างนี้การที่บอกให้ทำดีก็มีประโยชน์และสำเร็จได้
เมื่อพูดมาถึงนี้ ปัญหาก็มีขึ้นว่าธรรมะชนิดไหน ธรรมะอย่างไรที่จะช่วยให้คนทำดีด้วยการบังคับตัวเองได้ เราพิจารณาดูไปก็ยิ่งเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้คนบังคับตัวเองไม่ได้ แล้วบรรดากิเลสนั้นมันมารวมอยู่ที่สิ่งๆเดียว คือความเห็นแก่ตัว ท่านทุกคนจงจำไว้ให้ดี ๆ ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดนั้นก็คือ ความเห็นแก่ตัว พูดไปมันก็น่าหัวว่าความเห็นแก่ตัวรักตัวแท้ ๆ ทำไมจึงกลายเป็นอันตราย
ความที่เห็นแก่ตัวนี้ หมายถึง เห็นแก่ตัวด้วยอำนาจ ความโง่ ความไม่รู้ ถ้าเป็นคนรู้แล้วจะไม่มีความเห็นแก่ตัวชนิดนี้ ก็รู้ความจริงว่าเราต้องเห็นแก่ผู้อื่นด้วย เราจึงจะอยู่กันเป็นสุขได้ ถ้าเราเห็นแก่ตัวข้างเดียวก็ไม่มีทางที่จะเป็นสุขได้ แต่ถ้าเห็นแก่ตัวหนักเข้า ก็ทำอันตรายผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น
เรามาคิดดูต่อไปว่า อะไรเป็นมูลเหตุของความเห็นแก่ตัว เราจะเห็นได้ว่าทีแรกเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว เราเกิดมาในท้อง เกิดมาเกิดอยู่ในท้องก็ยังไม่มีความเห็นแก่ตัว คลอดออกมาจากท้องแม่ตอนแรกๆก็ยังไม่มีความเห็นแก่ตัว คนมีปัญญาบางพวกจึงชอบใช้คำว่า ให้พิจารณาดูจิตของเด็กที่ยังไม่คลอดออกมาจากท้องแม่ ซึ่งมีลักษณะที่จะเรียกว่าจิตเดิมหรือเป็นจิตเดิมอยู่มาก ยังไม่มีความเห็นแก่ตัว
ทีนี้พอคลอดออกมาแล้วเป็นเด็กแล้ว พอได้กินอะไรอร่อยเข้าก็ชอบความอร่อยนั้น แล้วก็อยากจะให้ความอร่อยนั้นมีมากมีเรื่อยไปเป็นของตัว ความเห็นแก่ตัวก็ฟักตัวขึ้นมานิดหนึ่งก่อน แล้วครั้นได้ชิมอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น กระทั่งการสัมผัสทางผิวหนังที่เป็นความเอร็ดอร่อย ก็เพิ่มความรักความยึดมั่นในความเอร็ดอร่อยนั้นมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็มีมากขึ้นเพื่อให้ตัวได้สิ่งนั้นมากขึ้นและเป็นประจำ
ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้มีมากขึ้นๆ ตามที่อายุมันมากขึ้น ไม่มีใครเคยมาสอนเลยให้บรรเทาความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เล็ก เด็กๆก็เลยเพิ่มความเห็นแก่ตัวเอาตามชอบใจมากขึ้นๆ เป็นนความลับซ่อนไว้ในใจขยายออกไปเรื่อยๆจนเป็นความเห็นแก่ตัวที่ควบคุมไว้ไม่ได้ คือไปเอาเปรียบคนอื่น ไปแย่งชิงของคนอื่น ไปล่วงละเมิดสิทธิของคนอื่น ปัญหาจึงเกิดขึ้นจนตัวเองก็เดือดร้อน ผู้อื่นก็เดือนร้อน
เมื่อความเห็นแก่ตัวนี้มากขึ้นมันก็ทรมานคนนั้นเอง แม้ไม่ต้องมีคนอื่นมาเกี่ยวข้องก็ยังทำให้เป็นทุกข์ทรมาน ทำให้เร่าร้อนอยู่ในใจ ทำให้นอนไม่หลับ ยิ่งมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่าไรก็มีความคิดในทางที่จะเป็นความวิตกกังวล วิตกกังวลล่วงหน้า วิตกกังวลกว้างขวางออกไปมากขึ้น มีการนอนไม่หลับมากขึ้น เป็นความทุกข์แก่ตัวเองมากขึ้นแล้วก็แผ่ออกไปถึงผู้อื่นด้วยการเอาเปรียบผู้อื่น อย่างนี้ดีหรือไม่ดีลองคิดดู
พวกคนอันธพาลเท่านั้นที่จะมองเห็นว่าดี คืออยากให้มากเข้าไว้ ทะเยอทะยานให้มากเข้าไว้ แสวงหาให้มากเข้าไว้จนไม่ต้องคิดว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นความทุกข์ความสุข อะไรเป็นเบียดเบียนหรือไม่เป็นเบียดเบียน พวกอันธพาลชนิดนี้มีแต่ทะเยอทะยานเอาให้มากเข้าไว้และสอนกันให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าช่วยส่งเสริมให้ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นไปอย่างแรงกล้า เป็นทุกข์เป็นโทษเป็นภัยให้มากขึ้นเหลือที่จะประมาณ ทำให้โลกนี้กลายเป็นโลกของความทุกข์ไป ถ้าควบคุมความเห็นแก่ตัวนี้ไม่ได้ก็ไม่มีทางสำเร็จที่มนุษย์จะเป็นมนุษย์ คือไม่มีใจสูงอยู่เหนือความทุกข์ไปได้
ทีนี้มนุษย์ที่มีปัญญามองเห็นความจริงข้อนี้ จึงได้สอนสิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ควบคุมความเห็นแก่ตัว ศีลธรรมอันนี้เจริญขึ้นๆจนกลายเป็นศาสนา จนมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ แล้วก็สอนความไม่เห็นแก่ตัวในลักษณะที่ตรงกันข้ามเพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัวเสีย ในขณะใดจิตนี้มีความเห็นแก่ตัวเราเรียกว่า จิตวุ่น ในขณะใดจิตนี้ไม่มีความเห็นแก่ตัวเราเรียกว่า จิตว่าง
ทุกเวลาทุกที่ทุกหนทุกแห่งที่มีจิตวุ่นก็เป็นทุกข์ ทุกเวลาที่จิตว่างก็ไม่มีความทุกข์ และความมีจิตว่างชนิดนี้ย่อมทำคนให้เป็นคนที่ดีคือเป็นมนุษย์ แต่แล้วก็มีคนสวมรอยเอาคำว่าจิตว่างนี้ไปใช้ตามภาษาอันธพาลของตน คือแกล้งว่าเอาว่าจิตว่าง จิตไม่ยึดถือ เป็นการประชดกิเลสชนิดหนึ่งเท่านั้น จิตว่างอย่างนี้เรียกว่าจิตอันธพาล อย่าเอาไปรวมกันเข้ากับจิตว่างของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นประธาน
ในชั้นแรกนี้ให้เข้าใจไว้เสียก่อนว่า จิตว่างนี้มี ๒ แบบ คือ จิตว่างของพวกอันธพาล แกล้งว่าเอา แกล้งตั้งลัทธิใหม่ๆขึ้นมาเพื่อให้สำเร็จในความเป็นอันธพาลของตนนี้เป็นอย่างหนึ่ง ทีนี้จิตว่างตามแบบของบัณฑิตของพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้นไม่ใช่อย่างนั้น เป็นจิตว่างที่แท้จริงที่กำจัดความเห็นแก่ตัวได้เท่านั้นได้จริงๆ จิตว่างแบบอันธพาลนั้นมันเหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่เอาหนังลามาคลุมเข้าแล้วก็ว่าเป็นลา ที่จริงมันเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งแต่มันจะหลอกลวงคนอื่น มันจึงทำอาการเหมือนกับว่าไม่ยึดถือหรือมีความว่างเพื่อตบตาคนอื่นเพื่อเอาประโยชน์อย่างนี้ก็มี
หรือว่าเพราะความเข้าใจผิดเพียงแต่อยากจะเอามาคลุมเล่นโก้ๆ สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ค่อยดีหน่อยไม่ต้องการจะหลอกลวงกับใคร แต่เพียงจะเอามาคลุมเล่นโก้ๆ มันก็ทำท่าทำทีว่าเป็นจิตว่างได้เหมือนกัน เป็นสุนัขจิ้งจอกภายใต้หนังลาได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นสุนัขจิ้งจอกที่เอาหนังลามาคลุมเข้าเพื่อกัดคนอื่นหรือว่าคลุมเล่นโก้ๆก็ตาม มันเป็นจิตว่างแบบอันธพาลทั้งนั้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งมี มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือลัทธิจิตว่างหรือว่าคำสอนเรื่องความว่างเรื่องอนัตตา ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาก็มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แล้วก็เรียกว่าสุญญตาหรืออนัตตาด้วยเหมือนกัน ลัทธินี้ก็เป็นลัทธิคู่แข่งขันกันกับพระพุทธศาสนา ศาสดาของลัทธิเหล่านี้ เช่น ศาสดาชื่อปูรณกัสสป หรือศาสดาชื่อ (นาทีที่ 44.20) อทิตตาเจตกัมพลี ก็เป็นคู่แข่งขันตัวร้ายกาจของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาลเพราะเขาสอนจิตว่างแบบอันธพาลนี้ แม้โดยไม่เจตนาจะทำอันตรายใคร แต่ด้วยความคิดเห็นสำคัญผิดเป็นนัตถิกทิฏฐิ เป็นอุจเฉททิฏฐิไป แต่ก็ต้องสงเคราะห์ไว้ในจิตว่างฝ่ายอันธพาลอยู่ดี และไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันฝืนธรรมชาติ เพราะว่าเอาเองเพราะสร้างลัทธิขึ้นมาด้วยความหลง
ถ้าจิตว่างตามแบบของอริยเจ้าโดยเฉพาะของพุทธศาสนาแล้วย่อมอำนวยไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องแกล้งว่าเอาเอง แต่เพียงอย่างนั้นก็ยังมีหลายชั้นหลายระดับ ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดีๆว่า จิตว่างที่เป็นของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา เราก็ยังมีทางที่จะพิจารณาให้เห็นได้ว่ามีอยู่หลายระดับ แต่ที่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นก็มีอยู่อย่างใหญ่หลวงมีอยู่อย่างเป็นพื้นฐานซึ่งจะได้กล่าวให้ฟัง
เพราะคำว่าจิตว่างๆที่ไม่ใช่อันธพาล ที่จะเป็นประโยชน์แก่เรานั้น อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ ระดับ ระดับแรกที่สุดเรียกว่า ว่างเองตามธรรมชาติ ระดับที่ ๒ เรียกว่า เราจัดหรือบังคับให้มันว่าง ระดับที่ ๓ นั้นเราใช้ปัญญาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ทำลายรากเหง้าของความวุ่นคือกิเลสนั้นเสียได้ มันก็ว่างจริง
ข้อแรกหรือระดับแรกที่ว่าว่างเองนั้น ดูกันง่ายๆตรงที่ว่าเมื่อมันเหน็ดเหนื่อยเข้า มันก็หยุดเห็นแก่ตัวเอง มันว่างเอง เช่น ง่วงนอนขึ้นมา มันก็ว่างจากความเห็นแก่ตัว หรือว่าตามธรรมดาสัตว์ต้องพักผ่อนต้องนอน ในขณะที่พักผ่อนหรือนอนนี้มันก็ว่างเอง ไม่มีความเห็นแก่ตัว เพราะมันต้องนอนเพราะมันต้องหลับ การพักผ่อนอย่างนี้เรียกว่า ว่างเองตามธรรมชาติ จิตว่างจากตัวกูว่างจากของกูตามธรรมชาติเราจึงนอนหลับ
ถ้ามันไม่ว่างจากตัวกูของกูมันก็นอนไม่หลับ กินยาให้นอนหลับไม่เท่าไรมันก็นอนไม่หลับ มันก็ต้องเป็นโรคเส้นประสาท และมันก็ต้องบ้าตายเป็นบ้าตาย นี้ธรรมชาติช่วยไว้แท้ๆ ช่วยจัดให้มีเวลาพักผ่อนนอนหลับและไม่เป็นบ้าเพราะเหตุที่มันมีความว่างอยู่บ้างอยู่ในตัวมันเอง ความว่างเองนี้ไม่ใช่ว่ามีนิดหน่อย มีมาก ใน ๒๔ ชั่วโมงนั้นมันว่างตั้ง ๒๐ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยก็ได้
มันไม่ว่างคือมันวุ่นขึ้นมาต่อเมื่อความโง่ครอบงำ ความรู้สึกวุ่นเป็นตัวกูของกู เป็นความโลภความโกรธความหลงอะไรขึ้นมานั้น มันจึงจะไม่ว่าง นอกนั้นมันว่างและมันว่างมากตั้ง ๒๐ ชั่วโมงหรือ ๒๓ ชั่วโมง มารวมๆกันแล้วว่างตั้ง ๒๓ ชั่วโมง วุ่นชั่วโมงเดียว นี้มันจึงอยู่ได้เป็นคน ไม่บ้า ไม่ตายเสีย
เราควรจะขอบใจขอบคุณในความว่างชนิดนี้ก่อน ว่ามันช่วยให้คนเป็นคนอยู่ได้ไม่ตายเสีย ให้เราสอบสวนเองให้ดีๆว่า เรามีเวลาว่างเองอยู่พอสมควร เราจึงไม่เป็นโรคเส้นประสาทไม่วิกลจริตและไม่ตายเสีย ฉะนั้น ขอบคุณความว่างที่ว่างเองตามธรรมชาตินี้ครั้งหนึ่งก่อน
ที่เรียกว่าว่างเองนี้มันว่างโดยไม่รู้สึกตัว และว่างเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นกิเลสไปทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มันว่างจากกิเลสอยู่เป็นส่วนมาก ถ้ามันวุ่นเกินกว่าปกติกว่าธรรมดาแล้วมันต้องเป็นบ้าอย่างที่กล่าวแล้ว ฉะนั้นทุกคนที่ยังไม่เป็นบ้ายังไม่เป็นโรคเส้นประสาทนี้ก็เรียกว่า มีเวลาว่างอยู่ตามสมควรที่ธรรมชาติต้องการ
ใน ๒๔ ชั่วโมงนั้น นอนหลับเสีย ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงก็มี กลางวันก็นอนกลางคืนก็นอนนี้ก็ล้วนแต่ว่าง ที่ตื่นๆอยู่นี้ทำการงานหรือว่าทำการศึกษาอะไรบางอย่างไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู อย่างนี้มันก็ยังว่าง มารวมๆกันแล้วมันก็ยังว่างตั้ง ๒๓ ชั่วโมง เกิดราคะ โลภะ โทสะ โมหะนั้นน้อยมาก รวมกันวันหนึ่งคงจะไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำไป คนเราอยู่ได้ด้วยจิตว่างตามธรรมชาติอย่างนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีพื้นฐานอย่างนี้แล้วคงตายหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ว่างเองอย่างนี้ก็มีอยู่อย่างหนึ่ง ว่างเองชนิดที่เราไม่รู้สึกตัวก็มีอยู่อีกอย่างหนึ่ง เช่น เราไปทะเล ไปที่ภูเขา ที่เรียกว่าไปตากอากาศนั้น พอไปถึงที่นั่นเท่านั้นมันก็ว่างเอง มันก็ช่วยให้มีความว่างเกิดขึ้นมาเอง มันก็สบาย เว้นไว้แต่จะไปหาเรื่องให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นที่นั่นที่ตากอากาศนั่น มันช่วยไม่ได้ มันก็ต้องเกิดเป็นไม่ว่างเป็นวุ่น แต่แล้วมันก็ไม่มากไปกว่าที่ว่าคนเราจะเป็นไปได้ มันต้องพอดีกันกับที่จะไม่เป็นบ้าหรือไม่เป็นโรคจิต นี้เรียกว่ามันว่างเองเหมือนกันโดยเหตุที่ธรรมชาติที่ทะเลที่ภูเขาที่ตากอากาศนั้นช่วยให้ว่าง
ความว่างอย่างนี้เราไม่เรียกว่าเป็นธรรมะ เพราะว่าเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันว่างเอง แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่ามองข้ามไปเสียเลย มองให้เห็นว่านี่คือความว่างพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ แต่เราไม่จัดเป็นธรรมะ และความว่างเองชนิดนี้สัตว์เดรัจฉานเก่งกว่าเรา สัตว์เดรัจฉานมีความว่างชนิดนี้มากกว่าเรา เพราะมันไม่มีมันสมองที่วิวัฒนาการขึ้นมาสูงเหมือนมนุษย์ มันคิดอะไรไม่เก่ง มันจึงว่างได้มากกว่าคน
คนมีตา หู จมูก ลิ้น กายแบบคน มันจึงศึกษาอะไรได้มาก มีความเฉลียวฉลาดมากคิดอะไรได้เก่ง มันจึงวุ่นเก่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าความว่างอย่างสัตว์เดรัจฉานนั้นมันไม่เกี่ยวการประพฤติปฏิบัติหรือความรู้อะไร เราจึงไม่ถือว่าเป็นธรรมะแต่ถือว่าเป็นธรรมชาติ เว้นไว้แต่เราจะถือเสียว่าธรรมชาติก็คือธรรมะนั่นแหละ มันจึงจะเป็นธรรมะขึ้นมาในความหมายอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ความหมายที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ในที่นี้
แต่ก็มีบางพวกที่คิดลึกไปไกล เช่น พวกนิกายเซน เป็นต้น เขาถือว่าเหมือนกันหมด ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วก็คือว่าง ว่างแล้วก็คือธรรมะ จะเป็นของสัตว์เดรัจฉานหรือของคนก็ตาม จะเป็นเพราะมันว่างเองหรือเราทำมันขึ้นก็ตาม เรียกว่าว่างหรือธรรมะเหมือนกัน อย่างนี้ก็มี
แต่เราจะไม่ไม่จำเป็นที่ต้องถือเอาหลักเกณฑ์อย่างนี้เป็นหลักเพราะเราต้องการจะพูดกันด้วยเรื่องความว่างชนิดที่เราเข้าไปควบคุมมันหรือจัดการกับมัน เราก็ละเรื่องความว่างเองไว้เสียประเภทหนึ่งก็เป็นขั้นแรกพื้นฐานสำหรับให้มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ตายไม่บ้า ไม่เป็นโรคเส้นประสาท คนเป็นโรคเส้นประสาทหรือเป็นบ้าก็เพราะขาดความว่างพื้นฐานตามที่มนุษย์ควรจะมี
ที่ว่าอันดับสอง หมายถึงการว่างเพราะการบังคับคือจัดทำนั้น นี่หมายถึงมนุษย์มีสติปัญญาสูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง รู้ว่าจิตของเราเป็นอย่างนี้ มีธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แล้วมันวุ่นเก่งขึ้นมา ตามความรู้หรือการศึกษาที่เจริญขึ้นๆ เราก็หาวิธีที่จะจัดการกับมัน พวกนี้จึงค้นหาวิธีที่จะบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจที่เราเรียกกันว่า ทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา ทำสมาธิในระดับที่บังคับจิต
เมื่อจิตมันจะวุ่นเราก็บังคับไม่ให้มันวุ่น เมื่อมันจะเห็นแก่ตัวเราบังคับไม่ให้เห็นแก่ตัว เมื่อมันจะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ เราก็มีวิธีจัดไม่ให้มันเกิด นี่มันก็ว่างได้ เป็นการว่างในระดับที่ต้องบังคับ ไม่ใช่ว่างเอง เป็นการแสดงฝีไม้ลายมือของมนุษย์ขึ้นมาชั้นหนึ่ง
การทำได้อย่างนี้ทำได้ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด คือ ทำได้ก่อนพุทธกาล แล้วก็มีสูงขึ้นมาๆกระทั่งสูงสุด จนใครๆเห็นก็ยอมรับว่าสูงสุด แต่ยังไม่ใช่สูงสุดของการทำลายความวุ่นให้เด็ดขาดไป มันเป็นการว่างการทำความว่างด้วยการจัดการบังคับ ไม่มีการจัดบังคับเพียงพอเมื่อไรมันก็กลับวุ่นอีก มันไม่เด็ดขาด เพราะมันไม่ได้ถอนรากถอนเหง้าของความวุ่น ฉะนั้น จึงว่างอยู่แต่ในระยะเวลาที่เราบังคับ ที่เราทำกรรมฐาน ที่เราควบคุมจิต
เดี๋ยวนี้เราก็มีการศึกษาในเรื่องนี้มากคือทำอย่างไรจึงจะบังคับจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่บริสุทธิ์สะอาดอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้เกิดโลภเกิดโกรธเกิดหลงเป็นตัวกูของกู ก็นับว่าเป็นวิวัฒนาการหรือเป็นการพัฒนาในทางจิตระดับหนึ่ง ควรจะถือเอาประโยชน์ให้ได้ให้มากเท่าที่ควรจะได้ ใจความสำคัญของความว่างที่ต้องใช้การบังคับมีอยู่อย่างย่อๆอย่างนี้
ทีนี้เราก็มาถึงการทำความว่างในอันดับที่สาม คือ ขุดรากเหง้าของความวุ่นหรือกิเลสนั้นเสีย นี้เราต้องพูดได้เลยว่า เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือคำสอนเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตาในพระพุทธศาสนาที่ว่าให้พิจารณาอย่างไรอยู่เป็นประจำ แล้วกิเลสก็จะอ่อนกำลังลงๆ แล้วสูญสิ้นไปในที่สุด เป็นการขุดรากขุดเหง้าของกิเลสนั้นให้หมดสิ้น ไม่มีอะไรจะปรุงจะวุ่นขึ้นมาเสียอีก มันก็เป็นความว่างที่ถาวร คือ เรื่องสุญญตาในพระพุทธศาสนา
แต่ถึงแม้กระนั้นก็ตามเถิด จงเข้าใจไว้เถิดว่าการประพฤติปฏิบัติฝึกฝนในเรื่องสุญญตานี้มันก็มีอยู่เป็นชั้นๆอีกเหมือนกัน มันยังมีในชั้นต้นชั้นกลางชั้นสุดแล้วแต่ว่าคนประพฤติได้อย่างไร แต่มีหลักเกณฑ์ไว้อย่างนี้มีความมุ่งหมายอย่างนี้เราก็ต้องศึกษากันไปจนกว่าจะถึงที่สุด แต่เมื่อรวมความแล้วก็คือการพิจารณาอยู่เสมอให้เห็นว่า โลกนี้เป็นของว่าง
ทำไมโลกนี้เป็นของว่าง ก็เพราะว่าทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเอง หรือว่าควรจะถือว่าเป็นตัวเอง เพราะมันมีแต่การปรุงแต่งและเปลี่ยนแปลง พูดว่าโลกว่างนี้เพราะมันว่างจากสาระที่ควรยึดถือเอาว่าเป็นตัวตนหรือของตน ฟังดูให้ดีๆ เข้าใจให้ดีๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกนี้ว่างนั้นเพราะโลกนี้ว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่าตัวตนหรือของตน
ในโสฬสปัญหามีพระพุทธภาษิตตรัสกำชับว่า เธอจงมองดูโลกนี้ด้วยความเป็นของว่างอยู่เสมอเถิด ถ้าเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้าพูดถูก พูดจริง เชื่อถือได้ เราก็ต้องสนใจไปในทางที่จะมองดูโลกนี้ในความเป็นของว่าง คำอธิบายก็มีอยู่แล้วว่า โลกนี้ว่างเพราะไม่มีอะไรที่เป็นของจริงของจัง ที่ควรยึดถือว่าเป็นตัวกูของกู มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยหรือตามธรรมชาติ แม้ว่าจะมีสักสิ่งหนึ่งคือนิพพานเป็นของที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็เป็นสิ่งที่ใครยึดครองไม่ได้ ยึดมาเป็นของเราไม่ได้ ฉะนั้น จึงถูกปัดเป็นของที่ยึดเอามาเป็นตัวตนหรือของตนไม่ได้ไปด้วยกัน
โลกนี้จึงมีแต่สิ่งที่ใครไปบังคับไม่ได้ไปยึดครองไม่ได้จึงเรียกว่า มันว่าง ว่างจากความหมายที่ควรจะเอามาเป็นตัวตนหรือของตน คือเมื่อโลกเห็นอยู่ เอ้อ...เมื่อจิตเห็นอยู่ว่าโลกเป็นอย่างนี้ คือเมื่อจิตนั้นฉลาดเพียงพอที่จะเห็นโลกว่าโลกเป็นอย่างนี้ จิตนั้นก็ไม่รู้ที่จะไปยึดเอาอะไรมาเป็นตัวตนหรือของตน มันจึงเป็นจิตที่ว่าง เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงเป็นจิตที่ไม่มีอะไรยึดถืออยู่เป็นตัว ว่าเป็นตัวตนเป็นของตน มันจึงไม่หนักไม่ทุกข์ เรียกว่าว่างเพราะไม่มีอะไรยึดครองอยู่ ไม่ไปกำอะไรไว้ ไม่ไปกุมอะไรไว้ ไม่ไปฉวยอะไรไว้
ที่เรียกว่าว่างนี้ว่างจากกิเลสด้วย ว่างจากความทุกข์ด้วย แต่จิตที่มีลักษณะว่างอย่างนี้ลองคิดดูเถิดว่ามันโง่หรือมันฉลาด ก็จะตอบได้เองว่าความโง่ก็คือไปยึดอะไรเอาไว้ว่าเป็นของตน ทั้งที่มันไม่มีอะไรเป็นของตนได้เลย นั้นมันโง่สักเท่าไร เมื่อมันมันรู้ว่าเป็นจริงอย่างนี้แล้วไม่ยึดถืออย่างนี้มันก็ควรจะเรียกว่าเป็นความฉลาด เพราะเหตุนี้แหละท่านจึงกล่าวว่าจิตว่างสมบูรณ์อยู่ด้วยปัญญาถึงที่สุดจริงๆ คือปัญญาที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในทีนี้ก็คือรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะควรยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราคือยอดสุดของปัญญา
เราทำศีล สมาธิ ปัญญา วิปัสสนา กรรมฐานอะไรๆกันทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เพื่อจะให้รู้ความจริงข้อนี้ว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอรู้ความจริงข้อนี้ก็คือรู้ทั้งหมด ฉะนั้น จิตว่างจึงเป็นจิตที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา มีปัญญาเต็มเปี่ยมไม่ไปยึดเอาอะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน ถ้าความว่างอย่างนี้มีเด็ดขาดลงไปไม่กลับวุ่นอีกก็เรียกว่าเป็นจิตว่างขั้นสูงสุด ทำบุคคลให้เป็นพระอรหันต์
ถ้ายังไม่ถึงขนาดนั้นยังเผลอกลับมาวุ่นได้อีกก็เป็นที่รองๆลงมา ถ้ามันยังมีวุ่นมากเกินไปก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาไปตามเดิม แต่ถึงอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่าแม้ปุถุชนคนธรรมดานี่แหละยังทำยังสามารถทำให้จิตว่างได้ตามแบบนี้ บางคราวเราก็สลดสังเวชเอามากๆที่มีอะไรเป็นไปอย่างน่าสลดสังเวช คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ก็เรียกว่าปุถุชนนั่นแหละมีจิตว่างได้ ทั้งอย่างว่างเอง ทั้งอย่างว่างด้วยการบังคับ และทั้งอย่างว่างด้วยการพิจารณาเห็นความจริงอยู่ว่าเป็นอย่างไร
ปุถุชนสามารถจะทำจิตให้ว่างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามสมควรแก่สถานะของตนๆ แต่ส่วนที่มันว่างเองนั้นธรรมชาติกำหนดให้ตามที่ควรจะมีจะเป็นอยู่แล้ว มันจึงรอดชีวิตอยู่ เราก็ส่งเสริมหรือว่าปรับปรุงตัวเองให้เข้ารูปเข้ารอยกันกับธรรมชาติให้มีความว่างเองอยู่มากที่สุด เช่น ให้นอนหลับได้ตามปกติ อย่าถึงกับต้องกินยานอนหลับเลย
จนบางเวลาที่เราจะบังคับจิตว่างนั้นเราก็ต้องศึกษาสังเกตดูให้รู้ว่าจะบังคับมันอย่างไร เราจะต้องมีความละอายมีความกลัวในเมื่อมันวุ่นขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นทุกข์ยิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น เราก็พอจะควบคุมจิตไม่ให้เผลอได้ แต่ถ้าให้ดีที่สุดเราก็พิจารณาศึกษาเรื่องสุญญตาตามแบบของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ มันก็เป็นการควบคุมความวุ่นอย่างดีด้วย และเป็นการขุดรากของกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นอย่างยิ่งพร้อมกันไปในตัว มันจึงเป็นเรื่องที่สูงกว่า
ทีนี้ท่านจะเห็นได้แล้วว่า คำว่าจิตว่างนี้มีทั้งอย่างว่างเองและอย่างบังคับ และอย่างพิจารณาขุดรากมันอยู่เสมอ มันก็เป็นอันว่ามีได้แก่คนทุกคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาววัด ไม่ว่าคนชนิดไหนหมด สามารถจะมีจิตว่างได้ให้ถูกต้องให้สมควรแก่สถานะของตน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตว่างเป็นโลกุตตระนั้น เพราะท่านมุ่งหมายจะให้มีจิตอยู่เหนือการบีบบังคับหรือรบกวนของสิ่งที่มีอยู่ในโลก อย่าให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสในโลกนี้มาบีบบังคับมาย่ำยีมาเผาผลาญจิตใจให้เป็นทุกข์
แต่ว่าคำว่าจิตว่างในลักษณะเช่นนี้ใช้ได้ทั่วไปหมดแม้ในลักษณะที่ต่ำกว่านั้น ขออย่าให้เป็นจิตว่างแบบอันธพาลก็แล้วกัน แต่อย่างไรก็ดี ลองคิดดูให้ดีอีกสักนิดเถอะว่า แม้จิตว่างแบบอันธพาลนี้ก็ยังมีประโยชน์แก่คนบางพวก คือพวกที่จะใช้อำนาจอันธพาลนั้นเอง หรือพวกที่จะค้านตะพึดเป็นฝ่ายค้านตะพึดอย่างหลับหูหลับตานั้นแหละควรจะใช้จิตว่างแบบอันธพาล ฉะนั้น จิตว่างแบบอันธพาลก็ยังเป็นที่ต้องการแก่คนบางพวกอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ลัทธิของ(นาทีที่ 01.06.16) อทิตตาเจตกัมพลี หรือปูรณกัสสปซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้าก็ยังมีคนนับถือกันมากในประเทศอินเดียในสมัยนั้น นี่เรียกว่างจิตว่างแบบอันธพาลก็ยังมีคนชอบ ไว้เป็นเครื่องมือสำหรับระรานคนอื่น หรือว่าเป็นฝ่ายค้านตะพึด หรือแม้ที่สุดแต่หลอกตัวเองให้เบาใจไปขณะหนึ่งๆๆเท่านั้นตามแบบของคนอันธพาล
เห็นได้แล้วว่าที่ว่าจิตว่าง มันมีคนชอบ มันมีคนใช้กันอยู่แล้วโดยรู้สึกตัวบ้างโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง แต่เราจะต้องมาแบ่งแยกกันให้ดีสำหรับพุทธบริษัท สำหรับพุทธบริษัทเรานั้นจะต้องรู้จักกันเอาจิตว่างแบบอันธพาลออกไปเสียให้พ้นจากการเกี่ยวข้องด้วย แล้วรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตว่างตามแบบของพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่แล้วก็ยังรู้ต่อไปจนถึงกับว่าเป็นเรื่องที่ใช้ได้ทั้งทางโลกียะและโลกุตตระ เราจะต้องกันเอาสิ่งซึ่งเป็นอันธพาลออกไปให้เหลือไว้แต่สิ่งที่เป็นธรรมหรือประกอบด้วยธรรม
ยกตัวอย่างเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องฤทธิ์อย่างอันธพาล เช่น พวกยักษ์พวกมารที่เราได้ยินในเรื่องรามเกียรติ์ใช้ฤทธิ์รบราฆ่าฟันกัน เป็นฤทธิ์แบบอันธพาล ส่วนฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าท่านก็มีฤทธิ์ หรือพระอริยเจ้าหรือฤาษีมุนีที่มีจิตใจเป็นธรรมก็ยังมีฤทธิ์ และท่านก็ใช้ฤทธิ์นั้นเป็นเครื่องช่วยเหลือผู้อื่น
สำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะนั้น ท่านก็ใช้ฤทธิ์ของท่านในการที่จะเปลี่ยนใจคนจากมิจฉาทิฐิมาสู่สัมมาทิฐิ คือ โปรดสัตว์นั่นเอง ท่านก็ใช้ฤทธิ์เต็มที่แต่ไม่ใช่ฤทธิ์อย่างอันธพาล นั้นถ้าเราจะมีฤทธิ์กันบ้างก็อย่ามีฤทธิ์อย่างอันธพาล จงมีฤทธิ์ตามแบบของพระพุทธเจ้า แล้วอย่าไปเขลาจนถึงกับบัญญัติว่า ฤทธิ์นี้ใช้ได้หรือฤทธิ์นี้ใช้ไม่ได้ มันไม่มีทางที่จะพูดเด็ดขาดโดยคำๆเดียวว่ามันเป็นอย่างไร มันต้องแล้วแต่ว่ามันเป็นธรรมหรือไม่ประกอบด้วยธรรม ถ้าเป็นฤทธิ์อันธพาลก็ไว้ให้พวกยักษ์พวกมารใช้กันไปตามประสาอันธพาล ถ้าเป็นฤทธิ์ตามพระพุทธเจ้าก็ใช้กันอยู่ในหมู่พุทธบริษัทก็แล้วกัน ถ้าจะใช้ฤทธิ์คือมีฤทธิ์กันบ้างก็จงมีให้ถูกวิธีของพุทธบริษัท เช่นเดียวกับที่ว่าถ้าจะมีจิตว่างกันบ้างก็จงมีจิตว่างตามแบบของพุทธบริษัท อย่าได้มีจิตว่างแบบอันธพาลเลย
คำๆเดียวย่อมมีความหมายสองอย่างทั้งสองอย่างเสมอไป จิตว่างก็มีความหมายสองอย่าง คำว่า ฤทธิ์ก็มีความหมายสองอย่าง ธรรมะในพระพุทธศาสนาทุกที่ทุกข้อมีความหมายสองอย่างด้วยกันทั้งนั้น ถ้าท่านผู้ใดไม่เคยรู้เรื่องนี้ก็จงรู้ไว้เสียเดี๋ยวนี้จะได้หายโง่หายเขลาลงตั้งครึ่งตั้งค่อนทีเดียวว่า ธรรมะทุกชื่อในพระพุทธศาสนานั้นมีสองความหมายเสมอไป คือทั้งที่เป็นโลกียะและเป็นโลกุตตระ
จะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น การให้ทาน ถ้าให้ทานเอาหน้า ให้ทานให้เขารัก ให้ทานเป็นการหาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ลงทุนให้ทานเพื่อซื้อสวรรค์วิมาน อย่างนี้ก็เป็นเรื่องให้ทานอย่างโลกียะ
แต่ถ้าให้ทานเพื่อจะกำจัดเสียซึ่งความเห็นแก่ตัว อย่างนี้เป็นการให้ทานชนิดโลกุตตระ เป็นผู้เห็นโทษของความเห็นแก่ตัว เห็นภัยของตัวกูของกูที่ทำลายเราอยู่เสมอแล้ว ก็บริจาคทานเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเห็นแก่ตัวอย่างนี้ก็เป็นให้ทานที่เป็นไปเพื่อโลกุตตระจัดไว้ในพวกโลกุตตระ
เพราะฉะนั้นใครอย่าไปด่าไปว่าพระเวสสันดรเลย เพราะว่าท่านมีความประสงค์ที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าท่านจึงทำอย่างนั้น เราทำไม่ได้ก็อย่าไปว่าท่าน เราทำได้อย่างไรก็จงทำแต่เพียงเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าคำว่าทานคำเดียวนี้มีทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ
ทีนี้พวกเราชาวบ้านนี่แหละบางคราวก็ต้องให้ทานชนิดที่เป็นโลกุตตระ คือ ทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายกิเลส ทำลายความตระหนี่ แต่บางคราวทำไม่ได้ก็ให้ทานชนิดที่เป็นประโยชน์อย่างโลกียะ คือ สงเคราะห์เกื้อกูลเขาเขาจะได้สงเคราะห์เกื้อกูลเราแล้วกัน หรือว่าจะให้ทานเพื่อไปสวรรค์ เพื่อประโยชน์ทำนองนั้นก็ทำไปได้ไม่มีใครว่าผิด แต่อย่าลืมว่าทานคำเดียวนี้มีทั้งโลกียะและโลกุตตระ จะมาบัญญัติว่าชาวบ้านจงให้ทาน พวกพระอย่าให้ทาน หรืออะไรทำนองนี้มันเป็นไปไม่ได้ หรือจะว่าชั้นต่ำจงให้ทาน ชั้นสูงอย่าให้ทาน อย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะคำว่าทานนี้มีหลายความหมายใช้ได้แต่ต้นจนปลาย
คำว่าศีลก็เหมือนกัน ให้ศีลรักษาศีลเพื่อเอาหน้าก็ได้ รักษาศีลเพื่ออวดคนก็ได้ รักษาศีลเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเบียดเบียนก็ได้ อย่างนี้มันก็ยังเป็นโลกียะ แต่ถ้ารักษาศีลเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวหรือการกำจัดกิเลสที่เป็นความเห็นแก่ตัว อย่างนี้มันเป็นโลกุตตระ เป็นศีลประเภทโลกุตตระ แม้ที่สุดแต่จะรักษาศีลเพื่อช่วยให้เกิดสมาธิง่ายให้เกิดปัญญาง่าย อย่างนี้ก็ยังสงเคราะห์ไว้ในฝ่ายที่เป็นโลกุตตระ ดังนั้น คำว่าศีลต้องมีใช้แก่คนทุกคนตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด จะบัญญัติศีลเอาเฉพาะคนพวกนั้น เฉพาะคนพวกนี้ไม่ได้
สมาธิก็เหมือนกันมีทั้งอย่างต่ำและอย่างสูง ทำสมาธิเพื่อให้ได้ฤทธิ์มาแสดงฤทธิ์อย่างพวกยักษ์พวกมาร นี่ก็เป็นสมาธิเป็นโลกียะไป ถ้าทำสมาธิเพื่อหยุดจิตจากกิเลส หรือว่าทำสมาธิเพื่อให้เป็นรากฐานบาทฐานของปัญญา สมาธินี้ก็เป็นโลกุตตระหรือสงเคราะห์ไว้ฝ่ายโลกุตตระไป
จะพูดว่าสมาธินี้ชาวบ้านอย่ากระทำเลยมันก็ไม่ถูก เพราะว่าชาวบ้านยังต้องทำสมาธิเพื่อจิตใจเป็นสมาธิในการทำงาน ถ้าไม่มีสมาธิแล้ว เด็กๆก็คิดเลขไม่ได้ คนจะทำอะไรให้แม่นยำแม้แต่จะยิงปืนให้แม่นก็ยังทำไม่ได้ พวกที่มีหน้าที่จะต้องยิงปืนก็ยังจะต้องใช้สมาธิอย่างยิ่งอยู่ ทีนี้พวกที่จะทำลายกิเลสก็ต้องฝึกสมาธิเพื่อควบคุมกิเลส และทำสมาธิเพื่อให้เป็นพื้นฐานของปัญญา เพื่อตัดรากเหง้าของกิเลส คำว่าสมาธิจึงต้องใช้แก่ทุกคนทุกระดับทุกวัยทั้งที่เป็นฆราวาสและเป็นบรรพชิต
สูงขึ้นไปถึงคำว่าปัญญาหรือวิปัสสนา ทุกคนต้องมีปัญญา เด็กอมมือก็ต้องมีปัญญาตามสมควรแก่เด็กอมมือ คนสูงอายุกระทั่งคนนิพพานก็ต้องใช้ปัญญาทำวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนาไม่เคยใช้ในสมัยพระพุทธเจ้าแต่เดี๋ยวนี้เราใช้กัน ตรงกับคำว่าปัญญาในความหมายที่ใช้กันอยู่ในสมัยพระพุทธเจ้า คือให้รู้อะไรไปตามที่เป็นจริง เด็กๆก็ควรจะรู้อะไรไปตามที่เด็กๆควรจะรู้ ผู้ใหญ่ก็ควรจะรู้ไปตามที่ผู้ใหญ่ควรจะรู้ พวกชาวบ้านก็รู้ไปตามภาษาชาวบ้าน พวกนักบวชก็รู้ไปตามภาษานักบวช แต่ว่าอย่าลืมว่า สติปัญญาของนักบวชนั้นก็เอามาใช้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านได้อย่างมากมายทีเดียว
จะยกตัวอย่างสูงสุดให้ฟังเลยว่า ปัญญาสูงสุดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนแก่ชาวบ้าน เรื่องสุญญตาก็สอนแก่ชาวบ้าน จนกระทั่งว่ามันสืบต่อๆกันมาจนกระทั่งบรรพบุรุษของเราก็เคยชินปากชินหูชินใจในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชาวบ้านแท้ๆท่านชินในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พลั้งปากออกมาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แสดงว่า ปู่ย่าตายายที่เป็นชาวบ้านเหล่านั้นท่านเข้าใจในเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นเครื่องดับทุกข์ของท่าน
เมื่อท่านกลุ้มใจขึ้นมาก็ใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัดออกไป หรือเมื่อมีเรื่องวิบัติร้ายแรงเกิดขึ้นมา มีลูกตายผัวตายเมียตาย ท่านก็ใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในการบำบัดทุกข์ในใจ เพราะฉะนั้นแหละบรรพบุรุษเหล่านั้นจึงไม่เป็นบ้าเหมือนคนสมัยนี้ บรรพบุรุษของเราผิดพลั้งอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นแหละ ยังสืบพันธุ์ให้เกิดลูกหลานมาจนถึงบัดนี้ได้ ไม่ใช่ว่าเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้คนหยุดสืบพันธุ์เหมือนอย่างที่คนโง่ ๆ บางคนกลัว
ท่านรู้จักใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในลักษณะที่เป็นประโยชน์ ท่านจึงไม่เป็นบ้า ไม่วิกลจริต และไม่ตายเสียก่อนที่จะได้สืบพันธุ์ให้แก่พวกเรา แต่ท่านได้ใช้ประโยชน์ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อทำให้ไม่เป็นบ้าและไม่ตายจนได้สืบพันธุ์มาให้พวกเราเหลืออยู่ เราจึงเป็นหนี้บุญคุณธรรมะในส่วนนี้ที่มีอยู่ในใจของท่าน
ครั้นมาถึงพวกเราสมัยนี้ดูหมิ่นดูถูกเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงมีจิตวุ่นวายเหมือนปีศาจร้ายเหมือนยักษ์เหมือนมาร เป็นจิตว่างอันธพาลอยู่เสมอ คอยแต่จะระรานผู้อื่นและค้านผู้อื่นฝ่ายเดียว นี้ไม่เท่าไรก็จะต้องเป็นโรคเส้นประสาท จะต้องวิกลจริตจะต้องตาย ถ้าไม่ตายก็เหลืออยู่อย่างเป็นยักษ์เป็นมาร กลายเป็นทำโลกนี้ให้เป็นโลกของสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉานย้อนหลังไปอีกโดยไม่รู้สึกกลัว
จงระวังให้ดีๆว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องรู้จักใช้ธรรมะให้ถูกต้องตามชั้นตามวัยตามเวลาตามสถานการณ์ตามกรณี พระพุทธเจ้าท่านต้องตรัสรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ท่านจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านยืนยันว่าพวกฆราวาสต้องประพฤติปฏิบัติเรื่องสุญญตาซึ่งรวมเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าไว้เสร็จให้เหมาะสมแก่การเป็นฆราวาสเถิด นั้นจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนานดังนี้
ทีนี้เราใช้ไม่เป็นไปผูกจิตว่างแบบอันธพาล แล้วก็มามัวแต่ระรานกันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นการทำลายพุทธศาสนา แล้วขืนยุให้เป็นมีจิตวุ่นให้ทะเยอทะยานด้วยมีจิตวุ่นเสมอแล้ว ก็เท่ากับทำโลกนี้ให้เป็นโลกของสัตว์นรกไปทีเดียว ไม่ใช่เพียงแต่ค้านพระพุทธเจ้าเฉยๆ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นฝ่ายค้านพระพุทธเจ้าเฉยๆ แต่จะให้เป็นโลกของสัตว์นรกไปทีเดียว
จงมองดูเถิดว่า คนในโลกนี้ตามความเจริญแผนใหม่ที่นิยมกันนักนั้นลุ่มหลงในวัตถุเนื้อหนังมากขึ้นเท่าไร และศีลธรรมมันเสื่อมลงไปอย่างไร แล้วมันเบียดเบียนกันอย่างลึกซึ้งกว้างขวางมากขึ้นเท่าไร แล้วกำลังวิตกกังวลกันอยู่แท้ๆว่ามันจะฉิบหายกันทั้งโลกแล้วแต่ก็ไม่มองหันมาหาสิ่งที่จะแก้ได้จริงๆ กลับไปมองเห็นด้วยความเข้าใจผิดในสิ่งที่จะส่งเสริมมันให้มากขึ้น คือจิตว่างแบบอันธพาล หรือจิตวุ่นที่จะส่งเสริมความสุขทางวัตถุหรือเนื้อหนังนั่นเอง ให้ความหมายของคำว่า พัฒนาไปในทางต่ำทรามโดยไม่รู้สึกตัว คือพัฒนาจิตให้ต่ำทรามลงไปในทางทาสเป็นของกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว ทำโลกนี้ให้ร้อนเป็นไฟยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมแล้วก็มาเรียกว่าพัฒนา
พุทธบริษัทชาวไทยเราอย่าได้ไปหลงใหลตามพวกที่มีความเข้าใจผิดอย่างนี้เลย จงชำระสะสางความรู้ของพระพุทธศาสนาให้แจ่มกระจ่างแก่ตน นำมาใช้ให้ถูกต้องเสมอไปโดยเหตุที่ว่า ธรรมะทุกๆข้อนั้นใช้ได้แก่คนทุกคนทุกระดับทุกวัยดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าเราไม่ต้องแบ่งกันว่าคนนั้นชั้นนั้นถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คนชั้นนี้ไม่ต้องถือ ต้องถือกันทุกคนตามระดับของตน
เราไม่ต้องแบ่งกันว่าคนชั้นนั้นอย่าให้ทานคนชั้นนี้จงให้ทาน ทุกคนจงให้ทานแม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังให้ทาน เด็ก ๆ ก็ต้องให้ทาน ทุกคนจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาตามแบบของตนๆ ทุกคนจะต้องใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เป็นประโยชน์ให้มากขึ้นๆ ตามที่อายุมันมากขึ้น
ทีนี้จะยกตัวอย่างธรรมะเบ็ดเตล็ดต่อไปเช่นว่า ขันตี ความอดกลั้นอดทน คำนี้ต้องใช้แก่ทุกคนแม้เรื่องโลกียะแม้เรื่องโลกุตตระ ในชั้นโลกียะนี้อดทนต่อคนเขาด่าว่า อดทนต่อหนาวร้อนของธรรมชาติ อดทนต่อความเจ็บความไข้ มีความอดทนปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปนี้ก็เป็นขันตีทางโลกียะ
ทีนี้สูงขึ้นไปก็อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส เมื่อไม่ได้ทำอะไรตามความประสงค์ของตัวกูหรือของกูซึ่งเป็นกิเลสแล้ว มันก็มีความเจ็บปวดขึ้นมาเพราะการบีบคั้นของกิเลสนั้น เราจะต้องมี (นาทีที่ 01.22.54) อภิวาทนขันตี ซึ่งเป็นขันตีชั้นสูงสุดอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าขันตีนั้นจึงมีตั้งแต่อย่างต่ำที่สุดถึงสูงที่สุด ทุกคนต้องใช้ขันตีตามระดับใดระดับหนึ่งเสมอไป
ธรรมะหญ้าปากคอกเปิดนวโกวาทหน้าแรกก็ถึงคือคำว่า สติสัมปชัญญะ นี้ก็เหมือนกันใช้ตั้งแต่ต่ำที่สุด จนถึงที่สุดลูกเด็กๆอมมือก็ต้องสอนให้มีสติสัมปชัญญะ จนกระทั่งสูงขึ้นไปในกิจการงานของผู้ใหญ่ จนกระทั่งเข้าไปในขอบเขตของการฝึกหัดทางจิตทางใจ จนกระทั่งการบำเพ็ญกรรมฐานภาวนา การเกิดญาณทัศนะก็เป็นผลของสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะนั่นเองทำให้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด สติสัมปชัญญะนี้ต้องมีทุกคนต้องใช้ทุกคน
ทีนี้จะยกตัวอย่างที่ประหลาดสักอันหนึ่งคือคำว่า กตัญญูกตเวที กตัญญูกตเวทีนี้ต้องมีทุกคน เด็กๆก็ต้องมีกตัญญูกตเวที ชาวบ้านก็ต้องมีกตัญญูกตเวที ภิกษุสามเณรก็ต้องมีกตัญญูกตเวที เรื่องของความหลุดพ้นแล้วก็ต้องมีกตัญญูกตเวที กตัญญูกตเวทีต่อคนก็ได้ กตัญญูกตเวทีต่อธรรมก็ได้
เราจะถือว่ากตัญญูกตเวทีเป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องโลกียะสำหรับชาวบ้านนี้ไม่ได้ ทุกคนต้องกตัญญูกตเวที แต่ว่าความหมายนั้นมันเปลี่ยนได้ จนถึงกับว่าเราจะต้องไม่กตัญญูกตเวทีในสิ่งบางสิ่ง เช่นว่าพ่อแม่มีบุญคุณเรากตัญญูกตเวที แต่ถึงทีกิเลสตัณหาที่สร้างตัวกูของกูขึ้นมานี้ เรากตัญญูกตเวทีอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องฆ่าเสียซึ่งตัณหาอุปาทานอันสร้างตัวตนของตนนี้ขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น นี่กลับเป็นกตัญญูกตเวทีต่อธรรม เป็นกตัญญูกตเวทีในขั้นโลกุตตรธรรมที่เราจะต้องซื่อตรงต่อธรรม แล้วก็ทำลายกิเลสตัณหาซึ่งให้กำเนิดแก่เราในทางจิตใจหรือในทางนามธรรมนั้นเสีย
ทุกคนเชื่อว่ากรรมปรุงแต่งให้เกิดปรุงกำเนิดให้มี ตัณหาปรุงแต่งให้เกิดปรุงกำเนิดให้มี มันมีบุญคุณขนาดว่าสร้างเราขึ้นมาแต่แล้วเราก็ต้องฆ่ามันเสีย และนี่แหละคือการกตัญญูกตเวทีในขั้นโลกุตตรธรรม กตัญญูกตเวทีต่อธรรมแล้วเราก็ฆ่ากิเลสตัณหานั้นเสีย คำว่า กตัญญูกตเวที จึงต้องใช้แก่คนทุกคนและแก่คนทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้านตั้งแต่บรรพชิตกระทั่งแก่ปุถุชนและแก่พระอริยเจ้า
จะยกตัวอย่างมาก็ไม่มีเวลา เท่าที่ยกมาก็พอเห็นได้ว่า ธรระมะชื่อเดียวคำเดียวนี้ใช้ได้แก่คนทุกคน อย่าไปมัวโง่เง่าหลงใหลว่า คนพวกนี้ปฏิบัติธรรมะชื่อนี้คนพวกโน้นปฏิบัติธรรมะชื่อโน้น และโง่อย่างที่สุดว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ อย่าได้สอนแก่ชาวบ้านเลย จงได้เข้าใจเสียใหม่ว่า ใครอยู่ในกองไฟคนนั้นต้องการน้ำสำหรับดับ ใครมีทุกข์มากมีไฟมากก็ยิ่งต้องการธรรมะที่สูงเกินไป
ดังนั้น จงใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สำหรับดับไฟแก่จิตใจ เหมือนที่บรรพบุรุษของเราได้เคยใช้มาแล้วเป็นผลดีจนมีโอกาสสืบพันธุ์ลูกหลานให้มาถึงพวกเราไม่ตายเสียก่อน จงขอบใจความรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้บรรพบุรุษของเราเป็นพุทธบริษัทยั่งยืนมาจนมีลูกมีหลานอย่างเราขึ้นมา ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องกันเอาไว้อย่างนี้สำหรับคนนี้อย่างโน้นสำหรับคนโน้น
ธรรมะชื่อเดียวใช้แก่คนทุกชั้นทุกระดับ มันจะต่างกันก็แต่เพียงระดับ ธรรมะชื่อเดียวนั้นใช้แก่คนทุกคน ต่างกันแต่เพียงว่าระดับคือความมากความน้อย ทุกคนจะต้องใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจิตว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนตามสมควรแก่สถานะของตน วัยของตน เหตุการณ์ของตน ความจำเป็นเฉพาะหน้าของตน อย่าได้เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นแหละให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าไปใช้เปลือกใช้กระพี้ผิวนอกของพระพุทธศาสนาซึ่งจะแก้ไขอะไรไม่ได้จริงจัง
ธรรมเทศนายังไม่จบแต่ว่าเวลาหมดแล้ว จึงต้องยุติไว้โดยตามสมควรแก่เวลาสักตอนหนึ่งก่อน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้