PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
  • เทศน์ในงานฉลองอุโบสถวัดเวียง. เรื่อง ปทีปคเวสนกถา (วัดวาอารามะ แสงสว่าง)
เทศน์ในงานฉลองอุโบสถวัดเวียง. เรื่อง ปทีปคเวสนกถา (วัดวาอารา ... รูปภาพ 1
  • Title
    เทศน์ในงานฉลองอุโบสถวัดเวียง. เรื่อง ปทีปคเวสนกถา (วัดวาอารามะ แสงสว่าง)
  • เสียง
  • 3210 เทศน์ในงานฉลองอุโบสถวัดเวียง. เรื่อง ปทีปคเวสนกถา (วัดวาอารามะ แสงสว่าง) /buddhadasa/2019-05-24-10-11-37-3.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันจันทร์, 02 มีนาคม 2563
ชุด
เทศน์ทั่วไป
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ที่เป็นพุทธบริษัทให้เจริญก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุคือ การฉลองอุโบสถาคารนี้ และหอสมุดซึ่งได้สร้างขึ้นในพระอารามนี้ ประเพณีของพุทธบริษัทมีการฉลองก็เพื่อว่า เป็นการเพิ่มกุศลเจตนาในวาระสุดท้ายแห่งการกระทำ เพื่อให้กุศลที่ประกอบนั้นสมบูรณ์ด้วยการทั้งสาม คือก่อนแต่ทำ กำลังทำ และทำเสร็จแล้ว บัดนี้ กิจการได้ล่วงมา จนถึงขั้นที่เรียกว่าทำเสร็จแล้ว ก็มีการฉลอง คือการกระทำอปราปรเจตนาในวาระสุดท้ายนี้ให้สมบูรณ์เป็นคำรบสามนั่นเอง หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้กระทำในใจ ให้ถูกต้องให้แยบคาย เพื่อสำเร็จประโยชน์เต็มตามความมุ่งหมายนั้นทุกประการเทอญ ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาปรารภพระพุทธภาษิตที่ว่า อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความในหัวข้อนี้ว่า เมื่อความมืดครอบงำแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า ดังนี้เป็นต้น ข้อนี้จะต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ความมืด และสิ่งที่เรียกว่า ดวงประทีปคือแสงสว่าง สิ่งที่เรียกว่าแสงสว่างนั้น มีอยู่สองอย่างด้วยกัน คือแสงสว่างตามธรรมดา เช่นแสงตะเกียง แสงอาทิตย์ เป็นต้น นี้ก็เป็นแสงสว่าง แต่เป็นแสงสว่างในทางวัตถุ ไม่ส่องลงไปในจิตใจของมนุษย์ได้เลย แม้แต่ในซอกห้วยเหวผา หรือแม้แต่ในซอกมุมแห่งใดแห่งหนึ่ง แสงแดด แสงอาทิตย์ ก็หาส่องลงไปได้ไม่ อย่าว่าถึงจิตใจของมนุษย์เลย แต่ยังมีแสงสว่างอีกอย่างหนึ่ง คือแสงสว่างของพระธรรม แสงสว่างนี้ส่องไปได้ทั่ว แม้ในที่ที่พระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง คือส่องลงไปได้ถึงในจิตใจของคน และเป็นแสงสว่างที่มีอยู่ตลอดกาล เป็นอนันตกาล สิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือพระธรรมนี้เป็นแสงสว่างอย่างยิ่งกว่าสิ่งใด หากแต่เมื่อไม่สนใจที่จะรับเอา ก็ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อะไรได้เหมือนกัน สิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนี้มีมาก่อนสิ่งทั้งปวง สมกับคำกล่าวที่ว่า ธรรมมีอยู่ในโลกก่อนสิ่งทั้งปวงเว้ย หมายความว่า โลกนี้ยังไม่มีมา ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือพระธรรมก็ได้มีอยู่แล้ว แม้ว่าโลกนี้จะได้แตกสลายลงไปอีก พระธรรมก็ยังคงมีอยู่ เหลืออยู่ ไม่แตกสลายไปตามโลก แม้ว่าจะมีโลกอื่นปรากฏออกมาอีก พระธรรมก็เป็นพระธรรมอันเดียวกันนั่นเองอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นสิ่งที่หาอายุมิได้ คือเป็นสิ่งที่ไม่มีอายุ เรียกว่า อมิตายุ มีอายุอันประมาณไม่ได้ ก็คือไม่มีอายุ เป็นสิ่งที่ไม่เนื่องด้วยเวลา จึงไม่มีอายุดังนี้ อีกอย่างหนึ่งแสงสว่างของพระธรรมนั้นหาประมาณมิได้ จึงได้เรียกว่า อมิตาภะ หรืออมิตาภา ซึ่งแปลว่า มีแสงสว่างอันกำหนดไม่ได้ อยู่เหนือวิสัยของการกำหนด เป็นแสงสว่างยิ่งกว่าแสงสว่างทั้งหลาย มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ในเวลาทั้งปวงเช่นนี้ และเป็นแสงสว่างของมนุษย์ สำหรับมนุษย์จะได้เป็นมนุษย์ให้ถูกต้องตามความหมายของเป็นมนุษย์ คือมีประโยชน์ไม่ประกอบไปด้วยโทษ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั่นเอง คนบางคนเกิดมาในโลกนี้เสียทีที่เกิดมา คือว่าไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ หรือผู้ที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทบางคน ก็ว่าเสียทีที่เป็นพุทธบริษัท เพราะไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่พุทธบริษัทควรจะได้รับ ได้รับบ้างก็เพียงแต่ว่า ว่าเอาเอง อย่างลมๆ แล้งๆ ว่าเอาด้วยปาก หรือนึกเดาเอาด้วยใจ ว่าได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่โดยเนื้อแท้ยังไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั่นเอง ดังนั้นขออย่าได้ทำเล่นๆด้วยความประมาท กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือพระธรรม ถ้าเป็นผู้ประมาทในธรรมเสียแล้ว ย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้รับแสงสว่างของธรรมะเลย ผู้ที่ประสงค์จะได้รับแสงสว่างของธรรมะและมีความเจริญในทางของธรรมะนั้น ต้องเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้สนใจในการที่จะได้รับแสงสว่างอันนี้ ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในการที่ได้เกิดมา สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น เป็นแสงสว่างอย่างยิ่งสำหรับที่จะขจัดเสียซึ่งความมืด พระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นนี้ว่า อนฺธกาเรน โอนทฺธา สัตว์ทั้งหลายอันความมืดซึ่งกระทำเหมือนความบอดได้ครอบงำเอาแล้ว ปทีปํ น คเวสถ ทำไมยังไม่แสวงหาประทีปเล่า คนเป็นอันมากอาจจะไม่เข้าใจในข้อที่ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย อันความมืดครอบงำแล้ว เพราะว่า เขาทั้งหลายรู้สึกได้แต่เรื่องทางวัตถุ ทางวัตถุทาส เช่นว่านั่งอยู่ที่นี่ ก็มีแสงสว่างส่องอยู่เห็นอะไรได้ด้วยลูกตา เหลียวไปทางไหนก็เห็นอะไรได้หมด แล้วจะเรียกว่า เราถูกความมืดครอบงำได้อย่างไรกัน โดยที่แท้นั้น อาจจะถูกความมืดครอบงำอยู่อย่างยิ่ง เช่นสมมติว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ถ้าถูกถามว่าเกิดมาทำไม แล้วก็ตอบไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า มีความมืดเหมือนกับความบอด ครอบงำเอาทีเดียว มืดเหมือนกับคนตาบอด เดินไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน เพราะตาบอด นี้ก็เหมือนกันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม จะทำอย่างไร จะไปที่ไหน ก็ไม่รู้ จึงมีอาการเหมือนคนตาบอด เวลาก็เป็นกลางวันแท้ๆ ลูกตา ลูกนัยน์ตานี้ก็ยังดีอยู่ แต่แล้วก็กลายเป็นคนตาบอดได้ เพราะไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม และจะต้องทำอย่างไรเป็นต้น หรือว่าที่ลึกขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ว่าคืออะไร และมีไว้ทำไม บางคนก็จะคิดว่ามีไว้สำหรับทำบุญ มีวิธีทำบุญอย่างไรก็ทำอย่างนั้นก็แล้วกัน พุทธศาสนามีไว้สำหรับคนทำบุญเช่นนี้ก็มี อย่างนี้ก็เรียกว่ายังเป็นคนตาบอด หรืออย่างดีก็เป็นคนที่ตาบอดครึ่งหนึ่ง ทางที่ถูกจะต้องรู้ว่า พุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นมีไว้สำหรับทำอะไร โดยทั่วๆ ไป เราต้องกล่าวว่าพุทธศาสนามีไว้สำหรับทำให้สัตว์ทั้งหลายมีตาสว่าง และไม่ต้องมีความทุกข์เลยนั่นเอง คำว่าสว่างในที่นี้ถ้าจะกล่าวเป็นหลักสั้นๆ สำหรับจดจำได้ง่ายก็คือมีความรู้ มีความรู้ว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และอะไรเป็นความไม่มีทุกข์เลย และอะไรเป็นหนทางที่จะให้ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้น ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกมีแสงสว่างในข้อนี้แล้ว โลกก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่มีการเบียดเบียน ฆ่าฟันกันเลย ทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวม เดี๋ยวนี้เรายังมองเห็นได้ด้วยกันทุกคนว่า โดยส่วนรวมก็ยังรบราฆ่าฟันกันเป็นหมู่ๆ เป็นสงคราม เป็นมหาสงคราม ฆ่ากันตายวันละพัน วันละหมื่นก็มีอยู่ และโดยส่วนตัวก็เบียดเบียนกันในระหว่างบุคคล หาความพักผ่อนทางจิตใจไม่ได้ ต้องคอยหวาดกลัว ระแวงภัยอยู่เสมอ หาความสงบสุขในจิตใจโดยแท้จริงไม่ได้นี้เรียกว่า เบียดเบียนกัน ซึ่งกันและกัน ทีนี้ทางหนึ่งไม่ต้องมีใครมาเบียดเบียน ตัวเองก็เบียดเบียนตัวเองได้ ตัวเองเบียดเบียนตัวเองด้วยความมืดบอดของตัวอีกนั่นเอง คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิดกลับกันเสีย จึงได้ไปกระทำในการที่เป็นการเบียดเบียนตัวเอง จงดูการกระทำของคนที่มีการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิดนี้ ล้วนแต่กระทำไปในทางที่ให้ตัวเองลำบาก ยุ่งยากมากขึ้นทุกที จนมีความเคยชินเป็นนิสัย ในการที่จะทำบาป ในการที่จะก่อความร้อนใจให้แก่ตัวเองและผู้อื่น กลายเป็นถือเสียว่า เกิดมามันอย่างนี้เอง แล้วก็ทนระกำลำบาก เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ตกอบายทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลาก็ยังไม่รู้สึก คนจึงประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ และทนทรมานเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ เมื่อพูดว่าตกนรกทั้งเป็น บางคนจะไม่สนใจเอาเลย แต่ที่แท้เป็นเรื่องที่ต้องสนใจยิ่งกว่าตกนรกต่อตายแล้ว การตกนรกทั้งเป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องตกนรกต่อตายแล้ว ตกนรกทั้งเป็นที่นี่ เดี๋ยวนี้อย่างไร ก็ลองคิดไปตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรื่องอบายและอบายมุข คำว่าอบาย ก็คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ๔ อย่างนี้เรียกว่าอบาย อบายมุข ก็คือ ดื่มน้ำเมา ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร อย่างนี้เป็นต้นเรียกว่าอบายมุข คือปากทางที่จะนำไปสู่อบาย ทีนี้เรามาพิจารณาดูว่าจะตกอบายทันตาเห็นนี้ได้อย่างไร เราจะจำแนกออกไปทีละข้อ เช่น นรก เดรัจฉาน เปรต แล้วก็อสุรกาย นรกนั้นเป็นชื่อของความร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา เมื่อใดมีความร้อนใจเหมือนกับถูกไฟเผา จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เมื่อนั้นเรียกว่าตกนรก และเมื่อใดมีความโง่ อย่างที่ไม่น่าจะโง่ เมื่อนั้นก็เรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน และเมื่อใดมีความหิว ทะเยอทะยานทางจิตใจ ไม่รู้จักอิ่มจักพอ เมื่อนั้นก็เรียกว่าเป็นเปรต และเมื่อใดขี้ขลาด อย่างไม่น่าจะขี้ขลาด เมื่อนั้นก็เรียกว่าเป็นอสุรกาย ซึ่งแปลว่าพวกที่ไม่มีความกล้าหาญ นรกคือความร้อนใจเหมือนไฟเผานั้น เช่นเมื่อทำอะไรผิดพลาดลงไปก็ร้อนใจ เหมือนกับไฟเผา ทุกคนก็ย่อมจะเคยผ่านมาแล้ว หรือว่าเมื่อความวิบัติ ฉิบหายจะมาถึง ก็ร้อนใจเหมือนกับไฟเผา หรือสามีภรรยาเกิดนอกใจ ไม่ซื่อตรง ก็มีความร้อนใจเหมือนกับไฟเผา หรือความคิดที่คิดไปผิด ก็ทำให้เกิดความร้อนใจเหมือนกับไฟเผา ความร้อนใจเหล่านี้เป็นความหมายแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่านรก ไม่จำเป็นจะต้องมีต่อเมื่อตายแล้ว แม้มีที่นี่ ในโลกนี้ เวลานี้ ก็เรียกว่านรก เพราะว่าทำให้ร้อนใจอย่างสุดที่จะเปรียบได้ ไม่มีความร้อนอะไรจะยิ่งไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น จึงเรียกว่าตกนรก ก็ตกนรกนี้ไปพักหนึ่ง วันหนึ่งหรือหลายๆ วัน หรือตั้งเดือนก็ได้ แล้วก็สร่างไป แล้วก็หายไป เรียกว่าเกิดใหม่จากนรกไปสู่ความเป็นอย่างอื่นอีก บางทีก็อาจจะตกนรกวันละหลายๆ หน คือร้อนใจแรงๆ วันละหลายๆ หนก็ได้ นี้ก็เรียกว่าตกนรก ส่วนเดรัจฉานนั้นคือความโง่ โง่จนไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร เป็นผู้ที่โง่เขลาในทางของพระธรรม เป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่น คือแม้แต่ความโง่เขลาในเรื่องทำมาหากินเรื่องโลกๆ ตั้งเนื้อตั้งตัวกับเขาไม่ได้ เพราะความโง่ของตนเอง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะความโง่นั้นมีความลำบากเหมือนสัตว์เดรัจฉาน มีความรู้เท่าสัตว์เดรัจฉาน คือรู้แต่เรื่องกินๆ นอนๆ แต่เรื่องบริโภคกามารมณ์เท่านั้นเอง ถ้ามีความโง่เขลาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องเรียกว่ายังไม่ถึงความเป็นมนุษย์ ยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน คนบางคนโง่มากถึงกับกลัวธรรมะ กลัวศาสนา ไม่กล้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมะหรือศาสนาก็มี บางคนโง่ ถึงกับว่าพระนิพพานเป็นของจืดชืด แห้งแล้ง ไม่สนุกสนาน เราไม่ต้องการ ดังนี้ก็มี ความโง่ก็มีอยู่หลายๆ อย่าง เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน มีหลายๆ อย่าง ความร้อนใจที่เป็นนรกก็มีหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่านรกนั้นมีหลายชื่อ หลายอย่าง หลายประเภทด้วยกัน แต่เมื่อเอาแต่ใจความ แล้วก็ต้องได้ความว่า ความโง่ของคนนั้นคือ ความเป็นสัตว์เดรัจฉานของคนนั่นเอง ทีนี้ก็มาถึงความหิว มีความหิวในทางจิตใจ ทะเยอทะยานอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ไม่รู้จักสิ้นสุด เหมือนคนที่ว่าอยากน้ำ คอแห้งอยู่เสมอ กินเท่าไรก็ไม่รู้จักหายอยาก ความอยากไม่สิ้นสุดอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นเปรต มีอุปมาเหมือนกับว่ามีท้องเท่าภูเขา มีปากเท่ารูเข็ม ท้องต้องการมากแต่ว่าปากเล็กเกินไป กินเข้าไปไม่ได้ตามต้องการมันก็หิว และหิวเรื่อย ความหิวไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ เรียกว่าเป็นเปรต จะหิวเงิน หิวทอง หิวทรัพย์สมบัติอะไรก็ต้องเรียกว่าเป็นเปรต จะหิวเกียรติยศ ชื่อเสียงอะไรก็ต้องเรียกว่าเป็นเปรต ถ้าจะหิวบุญในลักษณะนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นเปรตเหมือนกัน แต่ว่าเป็นเปรตอย่างดี ด้วยเหตุฉะนี้แหละคนเราไม่จำเป็นจะต้องหิว แต่ว่าต้องเป็นคนอิ่ม อยู่เสมอ จึงจะไม่เป็นเปรต พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สนฺตุฎฐี ปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คือพระองค์ทรงสอนให้ทุกคน พอใจในสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นความอิ่ม แล้วก็จะได้มีความพอใจ เป็นสุข มีอยู่เท่าไหร่ก็พอใจได้เท่านั้น ก็มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่ แล้วก็หาเพิ่มเติมได้ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องหาเพิ่มเติม เมื่อมีความพอใจในสิ่งที่มีอยู่แล้ว การหาเพิ่มเติมก็มีได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ควรพอใจ แต่ต้องไม่มีความหิว ชนิดที่หิวเหมือนกับคอแห้งอยู่เสมอ เพราะความหิวอย่างนั้นทำให้เป็นเปรต ยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่า ต้องการเงินสักพันบาทหนึ่ง ก็อุตส่าห์หามาด้วยความหิว ได้มาประมาณเก้าร้อยบาท ไม่ถึงพันบาท ใจก็กระโดดไปอยากได้หมื่นบาทเสียแล้ว พอได้มาพันบาทเต็ม มันก็ไม่อิ่ม มันยังหิวอยู่นั่นเอง ได้หลายๆพัน มันก็ยังหิวอยู่นั่นเอง พอได้จวนถึงหมื่น ใจก็กระโดดไปอยากได้แสนหนึ่งแล้ว แม้หามาได้หนึ่งหมื่นเต็ม ก็ไม่มีความอิ่ม หรือรู้สึกพอใจเลย ยังหิวอยู่เรื่อยตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเป็นเปรต เพราะมีความหิวเรื่อย ไม่เคยประสบกันกับความอิ่มเลย และถ้าอีกคนหนึ่ง มีสตางค์เดียวก็พอใจ มีสองสตางค์ก็พอใจ เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งบาทก็พอใจ ร้อยบาทพันบาทก็พอใจเรื่อยไป อย่างนี้ก็เป็นคนอิ่มอยู่เรื่อย คนหนึ่งหิวอยู่เรื่อยก็เป็นเปรต คนหนึ่งอิ่มอยู่เรื่อยก็เป็นคน ลองเลือกดูว่าจะเอาอย่างไรดี ธรรมะในพระพุทธศาสนา ได้สอนให้คนรู้จักทำจิตใจให้อิ่มอยู่เสมอได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรลงไป แม้ว่าจะไม่มีอะไรเลย แม้ว่าจะต้องเสียชีวิตลงไป ก็ไม่มีความเดือดเนื้อ ร้อนใจ ไม่มีความทะเยอะทะยาน ไม่มีความดิ้นรนกระวนกระวายอะไร นี้เรียกว่าเป็นผู้มีแสงสว่างของพระธรรม ส่องอยู่ในใจเป็นประจำ เรียกว่าเป็นพุทธบริษัทแท้ จึงไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น จึงไม่ต้องเป็นเปรตในทันตาเห็น ไม่ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉานในทันตาเห็นด้วย ทีนี้อันสุดท้ายเรียกว่าอสุรกาย แปลว่าพวกที่ไม่กล้าหาญ คือมีความขี้ขลาด เมื่อใดมีความขี้ขลาด เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย ความขี้ขลาดนี้หมายถึงขี้ขลาด อย่างไม่มีเหตุผล ไม่ใช่ความกลัวอย่างมีเหตุผล ความกลัวอย่างมีเหตุผลนั้น เขาเรียกว่า โอตัปปะ รวมกันอยู่กับ หิริ และ โอตัปปะ มีความละอาย มีความกลัว อย่างมีเหตุผล ต่อสิ่งที่ชั่วที่เป็นบาป ความกลัวอย่างนี้ไม่ใช่อสุรกาย ความกลัวไม่มีเหตุผล กลัวอย่างลมๆแล้งๆกลัวตาย กลัวอะไรทุกอย่างจนหาความสงบสุขไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าอสุรกาย เป็นคนที่กลัวล่วงหน้าเก่ง นึกคิดไปล่วงหน้าแล้วก็กลัวจนนอนไม่หลับ คิดเก่งจึงได้กลัวอย่างนี้ก็มี แม้ที่สุดแต่กลัวไม่มีเหตุผล เช่นกลัวไส้เดือน กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวลูกหนู กลัวกิ้งกือ อะไรทำนองนี้ ไม่มีเหตุผลอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นอสุรกาย เพราะเป็นผู้ขี้ขลาดอย่างไม่มีเหตุผล เป็นผู้กลัวอย่างไม่มีเหตุผล กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ไม่กล้าทำดี กลัวจนไม่กล้าทำความดีก็มี เพราะกลัวว่าทำความดีแล้วจะยากจน จะไม่ได้มีโอกาสเอาเปรียบคนอื่น เมื่อไม่ได้กินเหล้าก็กลัวว่าจะไม่สนุกสนาน ความขี้ขลาดหรือความกลัว ทำนองนี้ เรียกว่าเป็นอสุรกายทั้งนั้น เป็นความกลัวที่ทรมานจิตใจให้เป็นทุกข์ และไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ในหมู่มนุษย์เรานี่ ก็เต็มไปด้วยอสุรกาย คือคนที่กำลังกลัวอย่างไม่มีเหตุผลอยู่นั่นเอง นี่แหละเรียกว่าอบายทั้งสี่ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มีอยู่ในคนเป็นๆ ในชาตินี้ ในที่นี้ ในโลกนี้ ต้องระวังให้มาก ถ้าไม่ตกอบายในชาตินี้แล้ว อบายในชาติหน้าไม่ตก โดยแน่นอน ขอกล่าวย้ำว่า ถ้าไม่ตกอบายทั้งสี่อย่างนี้ ในโลกนี้แล้ว เป็นไม่ตกอบายในโลกหน้าเป็นแน่นอน จะยกตัวอย่างมาให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องเล่นการพนัน เช่นเล่นไพ่ เป็นต้น คนที่เล่นไพ่ พอเสียเข้าก็ร้อนใจเหมือนไฟเผา นี้มันตกนรกแล้ว เพราะความโง่นั่นเอง ไปทำให้เล่นไพ่แทนที่จะทำงานอย่างอื่น นี้มันก็เป็นโง่อย่างสัตว์เดรัจฉานแล้ว เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วจึงไปเล่นการพนัน คนที่กำลังเล่นการพนัน เล่นไพ่มันหิวเรื่อยใช่ไหม ลองนึกดูให้ดี ถ้าใครเคยเล่นการพนัน เช่นซื้อลอตเตอรี่ ซื้อสามตัว ซื้ออะไรก็สุดแท้ เอามาไว้แล้ว มันก็ต้องหิวเรื่อยอยู่นั้น นั่นมันก็เป็นเปรตแล้วในขณะที่เล่นการพนัน หรือมีจิตใจเป็นนักเล่นการพนันทีนี้มันก็ขี้ขลาดหรือกลัวอยู่เรื่อย เช่นกลัวจะแพ้การพนันนั้น มันก็เป็นอสุรกาย นี้เรียกว่านรกคือความร้อนใจก็มีแล้ว เดรัจฉานคือความโง่ก็มีแล้ว เปรตคือความหิวก็มีแล้ว อสุรกายคือความขี้ขลาดก็มีแล้ว อยู่ในบุคคลผู้เล่นการพนันนั้น ที่นั่งเล่นการพนันอยู่นั่นเอง การพนันนี้เรียกว่าอบายมุข คือปากทางแห่งอบาย มันก็นำมาซึ่งอบายจริงๆ นำมาซึ่งความร้อนใจคือนรก นำมาซึ่งความโง่คือสัตว์เดรัจฉาน นำมาซึ่งความหิวไม่รู้สิ้นสุด คือเปรต และนำมาซึ่งความขลาดคืออสุรกาย แปลว่าคนเล่นการพนันเป็นอบายมุขนี้ก็ได้ตกอบายครบทั้ง ๔ อย่างแล้ว ลองนึกดูต่อไปว่า ถ้าไม่ตกอบายในชาตินี้ ในเวลานี้ ในโลกนี้แล้ว ในโลกหน้าเป็นไม่ตกโดยแน่นอน เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าถ้าเขาไม่ได้กระทำผิด ไม่ได้กระทำชั่ว ไม่ได้กระทำทุจริต ก็คือไม่ได้ต้องร้อนใจ ไม่ได้ต้องมีความทุกข์ทรมานใจ อย่างกับว่าความร้อนใจ ความโง่ ความหิว หรือความกลัวเป็นต้น ตลอดเวลา จนกระทั่งสิ้นชีวิตไป ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการตกอบายเลยในชาตินี้ แล้วไปชาติหน้าจะเอากรรม เอาเวรที่ไหนมาตกนรกที่ไหนกัน มันก็ไม่มี ฉะนั้นจงคิดดูให้ดีๆ ว่า ถ้าเราไม่ตกนรก ไม่ตกอบาย อย่างใดอย่างหนึ่งในชาตินี้แล้ว ชาติหน้าเป็นไม่ตก จึงขอให้สนใจมากเป็นพิเศษ และพึงรู้แต่ว่า เมื่อตกอบายทำนองนี้ในชาตินี้แล้ว ชาติหน้ายังจะต้องตกอีกเป็นแน่นอน ไม่มีทางที่จะช่วยได้ ฉะนั้นการที่ไม่ต้องตกอบายในชาตินี้ เป็นการรับประกันได้ว่าไม่ต้องตกอบายในชาติหน้า ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ตรงกันข้าม คือเรื่องบุญ เรื่องกุศล หรือเรื่องสวรรค์ สิ่งที่เรียกบุญ กุศล หรือสวรรค์นี้ก็เหมือนกัน ต้องเป็นเรื่องที่กระทำแล้ว ได้รับแล้วในชาตินี้ มีความสุขใจ เย็นใจ ไปตามทางของธรรมะแล้ว ก็เป็นสวรรค์อยู่ในใจ อยู่ในจิตใจ ในชาตินี้ ในโลกนี้ เมื่อตายไปก็ต้องได้สวรรค์ในชาติหน้าเป็นแน่นอน นี่แหละ คือข้อที่ต้องสนใจในสิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ ในชาตินี้ให้ถูกต้องกันเสียก่อน จึงจะเป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับสิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ในชาติหน้า นี้ปัญหาสำคัญก็มีอยู่ตรงที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์นั้นคืออะไรกันแน่ คนที่มีกิเลสครอบงำมากเกินไปก็เข้าใจผิดในเรื่องนี้ คือไปเข้าใจว่าการได้กระทำตามกิเลสของตนทุกอย่างทุกประการนั่นเป็นสวรรค์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นสิ่งที่ผิดชอบชั่วดีอะไร เอาแต่ได้ตามความพอใจ ในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่เรียกว่ากามารมณ์ หรือกามคุณ แล้วก็เป็นสวรรค์ อย่างนี้มันเป็นสวรรค์ของคนบ้า คือมันเป็นสวรรค์ของคนโง่ ถึงในที่สุดก็จะต้องตกนรก ตกอบายอีกโดยไม่ต้องสงสัย สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์นั้นต้องเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง คือเย็นอกเย็นใจโดยแท้จริง แม้ว่าจะเนื่องด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็ตาม ก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นไปอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีอาการแห่งความร้อนใจเจืออยู่เลย ไม่มีความโง่เจืออยู่เลย ไม่มีความหิวเจืออยู่เลย และไม่มีความกลัวเจืออยู่เลย จึงจะเรียกว่าเป็นสวรรค์ที่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าความสุข ความสุขของใคร ยังเจือด้วยความโง่ ความหิว ความร้อนใจ ความขี้ขลาด หวาดกลัวอยู่แล้ว อย่าไปถือว่าเป็นสวรรค์เลย เป็นความเพ้อ เป็นความโง่ เป็นความหลง อย่าได้คิดว่ามีเงินมาก มีเกียรติยศมาก มีอำนาจวาสนามาก มีกามคุณมากแล้วก็จะเป็นสวรรค์ อย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้ามันยังเจือด้วยความร้อนใจ ความโง่ และความหิว กระหาย ความขี้ขลาด หวาดระแวงเป็นต้นอยู่แล้ว มันไม่ใช่สวรรค์ มันก็เป็นนรกชนิดหนึ่งซึ่งแฝงตัวอยู่ในชื่อของคำว่าสวรรค์ ซึ่งคนลุ่มหลงกันมาก คนลุ่มหลงในนรกชนิดนี้กันมาก จึงได้ทุจริต คดโกงกัน ตั้งแต่คนสูงสุดลงมาถึงคนต่ำสุด ตั้งแต่คนร่ำรวยที่สุดจนมาถึงคนจนที่สุด ถ้าหลงใหลในนรกชนิดนี้ว่าเป็นสวรรค์จึงได้เบียดเบียนกัน ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์นั้น ยังต้องประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเป็นไปตามอำนาจของกิเลสไปเสียอย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ต้องไม่ทำความร้อนใจให้แก่บุคคลใด เช่นคนมีเงินมากถ้ายังมีความร้อนใจจะเรียกว่าเป็นสวรรค์ไม่ได้ ต้องเรียกว่าเป็นนรกชนิดหนึ่ง คนที่มีเงินมากแล้วไม่มีธรรมะ ไม่ประกอบไปด้วยธรรมะ ไม่รู้จักวางจิตใจไว้ให้ถูกต้องแล้ว ก็จะมีความทุกข์มาก มีความร้อนใจมากเหมือนกับที่ตนมีเงินมากนั่นเอง ดังนั้นยิ่งมีเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นนรกมากขึ้นสำหรับคนชนิดนี้ แต่ถ้าผู้ใดมีแสงสว่างของพระธรรม มีพระธรรมของพระพุทธเจ้า ส่องแสงสว่างอยู่ในใจแล้ว แม้จะมีเงินมากก็ไม่มีความร้อนใจ เพราะว่า รู้จักตั้งจิตตั้งใจไว้ในลักษณะที่ถูกต้อง ไม่เป็นความหิว ความกระหายแต่ประการใด ไม่มีความร้อนใจแต่ประการใด อย่างนี้แหละจึงจะเรียกว่า ความมีเงินนั้นเป็นสวรรค์ได้ เพราะอำนวยความผาสุกสะดวกสบายในทางร่างกายให้แก่บุคคลนั้นเต็มที่ได้ ยิ่งมีเงินเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความผาสุกสบายมากขึ้นเท่านั้น นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า เพียงแต่จะถือว่ามีเงินมากแล้ว เป็นการถูกต้องนี้ยังไม่พอ การที่มีเงินมากนั้นอาจจะเป็นนรกที่สุดก็ได้ อาจจะเป็นสวรรค์ที่สุดก็ได้ แล้วแต่ว่าเจ้าของนั้นประกอบไปด้วยแสงสว่างของพระธรรมหรือไม่นั่นเอง การมีอำนาจวาสนาหรือการมีบุญ มีอะไรก็สุดแท้ ถ้ายังร้อนใจอยู่แล้วยังใช้ไม่ได้ ยังเป็นนรกชนิดหนึ่งอยู่นั่นเอง เราเรียกกันว่า มีบุญ มีบุญในโลกนี้ ดูจะหลับตาเรียกกันมากกว่า เห็นว่าใครมีเงินมาก มีอำนาจวาสนามากก็เรียกว่ามีบุญ ทั้งที่เป็นคนคดโกง เป็นคนมีกิเลสหนา ก็ยังเรียกว่าเป็นคนมีบุญ อย่างนี้ไม่ถูก คนมีบุญจะต้องปราศจากความเศร้าหมอง ก็จะต้องมีความถูกต้อง มีความสะอาด มีความสงบพอสมควร จึงจะเรียกว่าคนมีบุญ คนมีบุญต้องมีความสงบสุขพอสมควร ต้องไม่ร้อนใจ ต้องไม่โง่เขลา ต้องไม่หิวกระหาย เป็นเปรตอยู่เสมอ ต้องไม่มีความขี้ขลาดหวาดระแวงจึงจะเรียกว่าคนมีบุญ คนมีบุญนอนไม่ค่อยหลับ อย่างนี้จะมีไปทำไมกัน หิวเหมือนกับเปรตที่คอแห้งอยู่เสมอ อย่างนี้จะเรียกว่ามีบุญชนิดไหนกัน ไม่ใช่บุญของพระพุทธเจ้าเป็นแน่นอน แต่เป็นบุญของพวกพญามาร พวกปิศาจ พวกภูตผีอะไรทำนองนั้นมากกว่า ไม่ใช่คนมีบุญในพระพุทธศาสนา คนมีบุญต้องไม่ตกนรก ต้องไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องไม่เป็นเปรต ต้องไม่เป็นอสุรกาย เพราะฉะนั้นคนมีบุญที่แท้จริงในพระพุทธศาสนานี้ ต้องไม่ร้อนใจ ต้องไม่หิวกระหายอยู่เสมอ ต้องไม่ขี้ขลาดหวาดกลัว และต้องไม่โง่ ต้องไม่หลง ต้องไม่เข้าใจผิดในสิ่งต่างๆ ขอให้มีแสงสว่างทำนองนี้อยู่ในจิตในใจของพุทธบริษัทจงทุกคน ก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท นี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าอบายก็ดี สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ก็ดี มันสำคัญอยู่ที่มีความรู้สึกตัว อยู่ในชาตินี้ ในชีวิตนี้แล้วก็ทำให้ถูกต้อง อย่าให้ตกอบายลงไปได้ในชาตินี้แล้ว ชาติหน้าเป็นไม่ตกอบาย ขอให้ประสบสุขสวรรค์ สุคติในชาตินี้แล้ว ในชาติหน้าก็เป็นต้องได้โดยแน่นอน ความสำคัญมากอยู่ที่ชาตินี้ แต่ตนต้องเป็นคนซื่อตรงต่อตัวเอง จะเล่นตลกกับตัวเองไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมนั้นไม่เล่นตลกกับใคร ใครเป็นคนตรงก็ตรงด้วย ใครเป็นคนคดก็คดด้วย คือจะลงโทษโดยสมควรแก่ความคด เราต้องซื่อตรงต่อพระธรรมซึ่งเป็นแสงสว่างอย่างยิ่ง แสงสว่างของพระธรรมจึงจะมีอยู่ในเรา จึงจะสอดส่องลงไปในจิตใจของเรา ถ้าเรามีความชั่ว มีความสกปรก มีความเศร้าหมองฉาบทาหุ้มห่อเราเสียหมดแล้ว แสงสว่างของพระธรรมก็ส่องลงไปไม่ได้ เหมือนเราเอาร่มกั้นไว้อย่างนี้ แสงแดดจะส่องลงมาที่เราอย่างไรได้ ลองคิดดู ถ้าเรามีความสกปรกทางกาย ทางวาจา ทางใจก็ตามหุ้มห่ออยู่แล้ว แสงสว่างของพระธรรมก็ส่องลงไปไม่ได้ ถ้าเราเป็นคนประกอบอยู่ในอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน เกียจคร้านทำการงาน คบคนชั่วเป็นมิตร ทุกอย่างทุกประการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอบายมุขอยู่ที่เนื้อที่ตัวเราแล้ว เราก็เต็มไปด้วยนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย แล้วแสงสว่างของพระธรรมจะส่องลงไปในจิตใจของเราอย่างไรได้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายอยู่นั่นเอง เป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์ต้องดีกว่านั้นมาก เพราะคำว่ามนุษย์ต้องแปลว่ามีใจสูง สูงคือความชั่วหรือความทุกข์เหล่านี้ท่วมทับไม่ได้จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ มนุษย์มีใจสูงเพราะมีแสงสว่าง เป็นผู้หวาดกลัวต่อความมืด จึงแสวงหาแสงสว่างอย่างที่พระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นไว้เป็นหัวข้อนั้นว่า อนฺธกาเรน โอนทฺธา ถูกความมืดเหมือนความบอดหุ้มห่อแล้ว ปทีปํ น คเวสถ ก็ยังไม่แสวงหาแสงสว่างดังนี้ แต่เรื่องนี้ฟังดูก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เพราะว่าคนที่ถูกความมืดหุ้มห่อแล้วก็มักจะไม่รู้จักแสงสว่าง จงดูที่คนโง่ คนโง่จะไม่ยอมรับว่าตัวโง่กลับไปหาว่าคนอื่นโง่ คนขี้เมาก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองเมา ไปหาว่าคนอื่นเมา ยิ่งคนบ้าด้วยแล้วจะไม่รู้สึกว่าตัวเองบ้า จะไปหาว่าคนอื่นบ้าเสมอไป ดังนั้นคนที่ถูกความมืดครอบงำแล้ว ก็มักจะเห็นตัวเองเป็นผู้มีแสงสว่างไปเสีย ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ที่มีความมืดครอบงำ เมื่อเป็นดังนี้ก็จำเป็นจะต้องอาศัยความไม่ประมาท คือความไม่อวดดี ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ไม่สะเพร่า แต่ว่าจะเป็นคนสังวร สำรวม ระวัง มัธยัสถ์ สดับตรับฟัง คิดนึก พิจารณาสอดส่องอยู่เสมอ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นแหละจึงจะเป็นช่องทางให้แสงสว่างส่องลงไปในจิตใจ เป็นผู้มีแสงสว่างได้สมตามความหมายของพุทธบริษัททุกๆ ประการ พุทธบริษัท แปลว่าหมู่คณะของบุคคลผู้มีแสงสว่าง พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้านั้น แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่าผู้รู้นั้นก็คือมีแสงสว่าง ผู้ตื่นก็คือผู้ไม่หลับ ไม่หลับก็ลืมตา ก็มีแสงสว่างอีกเหมือนกัน ผู้เบิกบานนี้ก็ต้องเบิกบานด้วยแสงสว่าง อาศัยความมืดย่อมเบิกบานไม่ได้ ไม่ว่าอะไรจะเบิกบานต้องอาศัยแสงสว่างทั้งนั้น ดังนั้น ความหมายของคำว่าพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี้ ย่อมมีความสำคัญอยู่ที่แสงสว่างด้วยกันทั้งนั้น ความมีแสงสว่างนี่แหละเป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา เราจึงมีการกระทำชนิดที่เป็นไปเพื่อส่องแสงสว่างอยู่เสมอไป ยกตัวอย่างเช่นเรามีวัดวาอาราม มีโบสถ์ วิหารเช่นนี้ขึ้น มีหอสมุดคือหอพระไตรปิฎกขึ้นก็เพื่อแสงสว่าง มีวัดวาอารามโดยส่วนทั่วไป ก็เพื่อจะเป็นที่ชี้แจงให้บุคคลเข้าใจ รู้จักทางผิดชอบชั่วดี เป็นแสงสว่าง เป็นผู้นำทาง เป็นแสงสว่างแก่คนทุกคน อย่างว่ามีพระอุโบสถนี้ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของวัดวาอาราม ก็ต้องเป็นไปเพื่อแสงสว่าง เพราะว่าในพระอุโบสถนี้ก็มีรูปพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นวัตถุ เครื่องหมาย ตัวแทนของ บุคคลผู้มีแสงสว่างอย่างยิ่ง คือพระพุทธเจ้า และในโบสถ์นี้ก็แสดงพระธรรมของพระองค์ ซึ่งพระธรรมนั้นก็เป็นแสงสว่างอยู่เองแล้ว และในอุโบสถนี้ก็ต้องมีผู้ฟังที่เป็นสาวกที่ฉลาด ที่สามารถจะเข้าใจในพระธรรมคำสอน และกลายเป็นบุคคลผู้มีแสงสว่าง ทุกอย่างจึงเป็นไปเพื่อแสงสว่าง แม้ที่สุดแต่ฝาผนังโบสถ์นี้ ถ้าได้เขียนสิ่งซึ่งให้ความรู้หรือให้แสงสว่างยิ่งขึ้นไปอีก นั้นก็จะเป็นแสงสว่างที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ท่านทั้งหลายควรจะช่วยกันต่อไปอีกสักวาระหนึ่ง ให้ฝาผนังโบสถ์นี้ได้เขียนสิ่งซึ่งแสดงความรู้ สิ่งซึ่งแสดงพระธรรม ในลักษณะที่แปลกออกไป ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะเป็นแสงสว่างอีกอย่างหนึ่ง รวมความแล้วอะไรๆ ก็ให้เป็นแสงสว่างไปให้หมดสิ้น นับตั้งแต่ธูป เทียน ดอกไม้ เหล่านี้แม้จะเป็นของเล็กน้อยเพียงไร ก็ให้มีความหมายเป็นแสงสว่างไปทั้งหมดด้วยกัน เรียกว่าโบสถ์ทั้งหลังนี้ก็เป็นแสงสว่างทั้งทางวัตถุ และทั้งทางจิตใจ มองดูข้างนอกก็มีรูปร่างที่ชวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นไปในทางบุญ ทางกุศล หรือเป็นทางของแสงสว่าง ครั้นเข้ามาข้างในก็มีพระพุทธรูป และมีการกระทำชนิดที่เป็นไปเพื่อความมีแสงสว่าง ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของแสงสว่างเต็มที่ ทีนี้เรื่องเช่นเรื่องหอสมุด บางคนอาจจะไม่เข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหอสมุด อาจจะหลงละเมอเพ้อไปว่ามันเป็นเรื่องของสมัยใหม่ เขามีหอสมุด ก็มีหอสมุดกันบ้าง ที่จริงสิ่งที่เรียกว่าหอสมุดนั้น เป็นของที่มีมาในพระพุทธศาสนาแล้วตั้งแต่โบราณกาล แต่เขาเรียกว่าหอไตร หอไตรคำนี้ก็ย่อมาจากคำว่า หอพระไตรปิฎก เรียกยาวๆ ลำบากนักก็เรียกสั้นๆ ว่าหอไตร เป็นที่ไว้พระไตรปิฎก คือพระบาลี และอรรถกถา และคัมภีร์ต่างๆ ครบบริบูรณ์ สำหรับศึกษาพระพุทธศาสนานี้เรียกว่าหอพระไตรปิฎก เรียกสั้นว่าหอไตร เดี๋ยวนี้เรานิยมเรียกกันตามภาษาใหม่ๆ ว่าหอสมุด เพราะว่าในหอนั้นเก็บเล่มหนังสือชนิดที่เป็นสมุดมากขึ้น แทนที่จะเป็นใบลานอย่างแต่ก่อน เพราะว่าเป็นคำที่กว้างขวางกว่า คือว่าจะเก็บหนังสือทางพุทธศาสนาด้วยก็ได้ และเก็บหนังสือทางอื่น ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนาก็ได้ จึงเรียกว่าหอสมุดไป เพื่อให้มีความหมายกว้างขวาง และมีเนื้อที่กว้างขวางเพิ่มขึ้น สำหรับเป็นที่อ่าน ที่ศึกษาพร้อมกันไปในตัว อย่างนี้ก็เรียกว่าหอไตรในความหมายเดิม และเรียกว่าหอสมุดตามคำที่เรียกกันใหม่ๆ มาพิจารณาดูว่าสิ่งที่เรียกว่าหอไตรนี้ คืออะไรกันแน่ สิ่งที่เรียกว่าหอไตร หรือหอสมุด ก็คือหอที่ส่องแสงสว่างอีกนั่นเอง เพราะว่าในนั้นมีพระธรรม มีพระคัมภีร์ มีพระธรรมซึ่งเป็นแสงสว่าง ถ้าทำให้ถูกวิธีแล้ว หอไตรนั่นแหละจะเป็นที่ส่องแสงสว่างยิ่งกว่าที่ใดๆ ในวัดวาอารามนี้ เพราะว่าเต็มไปด้วยพระธรรมทั้งที่เป็นบาลี ทั้งที่เป็นอรรถกถา ทั้งที่เป็นอะไรทุกอย่าง และเป็นที่ที่ควรเข้าออกอยู่ตลอดวันตลอดคืน เพื่อศึกษาแสงสว่างนี้ ดังนั้นหอสมุดจึงเป็นที่ส่องแสงสว่างยิ่งกว่าที่ใดๆ ในวัดวาอาราม ไม่ว่าในวัดวาอารามไหน ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันทุกอย่างทุกทาง สร้างสิ่งที่ส่องแสงสว่างขึ้นมาแล้ว ก็ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้เป็นหมันเสีย คือพยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ในการที่จะมาศึกษา ค้นคว้า เล่าเรียนศึกษาให้สุดความสามารถของตน ของตน ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต และยังจะได้สั่งสอนกันต่อๆกันไปอีก หรือปรึกษาหารือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการที่จะให้แสงสว่างนั้น ส่องแสงสว่างมากยิ่งขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นแสงสว่างอย่างยิ่ง และแสงสว่างที่ส่องไปได้ในทุกแง่ทุกมุม คือสามารถจะแก้ปัญหานานาชนิดของมนุษย์เราได้ มนุษย์เรานี้มีมากมายหลายสิบแบบ หลายร้อย หลายพันแบบ และอยู่ในระดับที่แตกต่างกันเป็นอันมาก ดังนั้นจึงมีปัญหาของตนต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน มีปัญหาที่ให้เกิดความทุกข์ยากลำบากนั้นต่างๆ กัน มีปัญหาที่รบกวนจิตใจ เต็มไปด้วยความสงสัย ฟุ้งซ่าน รำคาญหาความสบายไม่ได้นี้ก็แตกต่างกัน แม้แต่เรื่องปัญหาในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับเรื่องทำมาหากิน เป็นต้นนี้ ก็ยังแตกต่างกัน แต่ว่าปัญหานั้นจะมีมากมาย กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนอย่างก็ตาม สามารถจะกำจัดไปได้ หรือแก้ไขได้ ด้วยพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุฉะนี้เองจึงได้กล่าวว่า พระธรรมในพระพุทธศาสนานี้ สามารถจะส่องแสงสว่างได้ทุกชนิด นานาประการ เพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์เราให้ลุล่วงไปได้ไม่มีอะไรเหลือ นี้เรียกว่าความมากมายของแสงสว่างที่มีอยู่ครบทุกแง่ทุกมุม เหมือนดวงอาทิตย์เป็นตัวอย่าง ส่องแสงสว่างไปได้รอบตัว ไม่จำกัดทิศทางฉันใด แสงสว่างของพระธรรม ก็ส่องไปได้รอบตัวไม่จำกัดทิศทางฉันนั้น แต่ว่ายังเก่งกว่าแสงอาทิตย์ เพราะว่าแสงอาทิตย์ส่องลงไปในใจมนุษย์ไม่ได้ แต่แสงของพระธรรมนั้นส่องลงไปในจิตใจของมนุษย์ได้ จึงเป็นแสงสว่างยิ่งหรือเหนือกว่าสิ่งทั้งหลาย แสงสว่างทางวัตถุเช่นดวงอาทิตย์ ก็แก้ปัญหาไปตามทางวัตถุภายนอก แสงสว่างทางจิตใจคือพระธรรม ก็แก้ปัญหาในส่วนลึกของจิตใจของมนุษย์เรา ดังนั้นจึงช่วยป้องกันได้ไม่ให้ตกอบาย คือไม่ให้ต้องกลายเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ดังที่กล่าวแล้ว แต่อยู่ในสภาพที่เป็นความสงบสุข อย่างที่เรียกว่าสุคติโลกสวรรค์ มีความพอใจอยู่ได้ ไม่มีความหิวกระหาย มีความสงบสุขอยู่ได้ ไม่มีความเร่าร้อน กระวนกระวาย และมีความฉลาดไม่ต้องหวาดระแวงภัย นี้เรียกว่าเป็นสุคติสวรรค์ ทีนี้ถ้าหากว่าคนเหล่านั้นยังมีความรู้สึกสูงขึ้นไปอีก จนถึงกับว่าเบื่อหน่ายในการที่จะต้องเป็นนรกบ้าง เป็นสวรรค์บ้าง เดี๋ยวเป็นนรก เดี๋ยวเป็นสวรรค์ ก็รู้สึกเบื่ออย่างนี้ก็มี หรือว่าบางคนแม้แต่ว่าให้เป็นสวรรค์อยู่เรื่อย ก็ยังเบื่อก็ยังมี เพราะความซ้ำซากจึงคิดที่จะไม่เป็นอะไรเลย คิดจะให้หลุดพ้นไปเสียจากโลกนี้เป็นโลกุตระไป ก็ยังได้ ยังมีพระธรรมอีกประเภทหนึ่ง สอนให้เป็นเช่นนั้น เป็นอันว่า พระธรรมในพระพุทธศาสนานี้ สามารถจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทั้งหมด คือเป็นแสงสว่างที่กำจัดความมืดทุกชนิดได้จริง ถ้าผู้ใดมีความสงสัยอยากจะทราบว่า ใจความสำคัญหรือหัวใจของพระธรรมมีว่าอย่างไรแล้ว ก็ควรจะทราบไว้ด้วยเถิดว่ามีความสำคัญอย่างนี้คือ คราวหนึ่งมีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์นั้นมากมายเหลือเกิน ถ้าจะสรุปให้เหลือเพียงคำเดียว เรื่องเดียวจะได้หรือไม่ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ได้” แล้วก็ตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพียงเท่านี้ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเพียงเท่านี้ ลองฟังดู ว่าประโยคนี้สั้นนิดเดียว ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น สอนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น หมายถึงทั้งปวงจริงๆ ไม่ยกเว้นอะไรเลย แม้ว่าคนจะยังอยู่ในสภาพต่ำ ในระดับต่ำ ยังทำมาหากินยังเป็นเด็กๆ อยู่ ก็ยังสอนว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นได้เหมือนกัน คือว่าถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วมันเป็นความทุกข์ เด็กๆ ร้องไห้ก็เพราะยึดมั่นถือมั่น อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้อย่างใจก็ร้องไห้ นี้ก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นเข้า จะเอาให้ได้อย่างนี้เป็นต้น เมื่อไม่ได้ก็ต้องร้องไห้และเป็นทุกข์ เด็กๆ บางคนสอบไล่ตกก็ร้องไห้ เด็กๆ บางคนไม่ได้ตามต้องการก็ฆ่าตัวตาย อย่างนี้ก็เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นควรจะสอนเขาให้รู้จักทำจิตใจให้ดี ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ถ้าจิตใจยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็กระสับกระส่าย มันก็มืดมัว มันก็ทำอะไรผิดหมด การเล่าเรียนก็เรียนไม่ได้ดี การประกอบการงานก็ประกอบการงานไม่ได้ดี ไม่ได้ผลตามต้องการ เป็นทุกข์ขึ้นมาแล้วก็ฆ่าตัวตาย อย่างนี้ไม่ถูก จงทำจิตใจให้ปกติ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น แต่ให้มีสติปัญญา เมื่อใดไม่มีความยึดมั่นถือมั่นซึ่งป็นความโง่แล้ว เมื่อนั้นก็จะต้องมีสติปัญญาเป็นแน่นอน ดังนั้นจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างไปด้วยสติปัญญา การเล่าเรียนก็เรียนด้วยสติปัญญา การทำการทำงานก็ทำด้วยสติปัญญา ก็ไม่มีอะไรที่เป็นความผิดพลาด ได้รับผลสมตามความมุ่งหมาย นี้เรียกว่าเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ใช้ได้แม้ในระดับต่ำๆ ที่สูงขึ้นไปเป็นบุคคลผู้ใหญ่แล้ว จะมีทรัพย์สมบัติอะไรก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ควรจะมีด้วยสติปัญญามีไว้ด้วยสติปัญญา เก็บรักษาไว้ด้วยสติปัญญา อย่าได้ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีทรัพย์สมบัติอะไรก็ตามถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วมันจะมาสุมอยู่บนศีรษะ มาสุมอยู่บนหัวเจ้าของ แล้วมันก็หนักเป็นทุกข์แก่เจ้าของนั้น แปลว่าเงินทอง บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา มาสุมอยู่บนศีรษะทั้งหมด เหล่านี้มันจะหนักสักเท่าไร ขอให้ลองคิดดู มันก็ต้องเป็นทุกข์มาก แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันไม่มาสุมอยู่บนศีรษะ ไม่มาหนักอกหนักใจ วัวควายก็อยู่ตามไร่ตามนา บ้านเรือนก็อยู่บนแผ่นดิน อย่างนี้เป็นต้น เงินก็อยู่ในธนาคาร อย่างนี้เป็นต้น ไม่มาสุมอยู่บนศีรษะ หรือบนหัวของบุคคลที่เป็นเจ้าของ เจ้าของก็มีความสบาย นี้เรียกว่าเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มีอะไรก็เป็นสุข ไม่หนักอกหนักใจ ไม่นอนฝันร้ายเหมือนคนยึดมั่นถือมั่น นี้เมื่อจะประกอบการงาน ที่ใหญ่โต ยืดยาว ยากลำบาก ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็จะต้องเป็นโรคเส้นประสาทตายเสียแล้วก่อนแต่ที่การงานจะสำเร็จ สมภารบางคนสร้างโบสถ์ไม่ทันเสร็จก็ตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บแล้ว เพราะว่ามีความยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว สร้างโบสถ์สักสิบหลังก็ไม่ตาย ไม่ต้องตายเป็นแน่นอน นี้คือโทษของความยึดมั่นถือมั่น และคุณของความไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า คำสอนทั้งหมดสรุปได้เป็นประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จะมองดูให้ลึกขึ้นไปอีก แม้ที่สุดแต่ชีวิตร่างกาย ชีวิตจิตใจนี้ก็อย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเมื่อไร ชีวิตร่างกายนี้จะเป็นไฟขึ้นมาทันที จะเป็นความหนักอกหนักใจเผาผลาญบุคคลผู้เป็นเจ้าของขึ้นมาทันที ดังนั้นจงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะกินอยู่ ใช้สอย หรือจะทำอะไรกับร่างกายนี้ ก็ทำไปด้วยสติปัญญา อย่าทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นความโง่เขลา ขอให้จำไว้ทีว่า ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นความโง่เขลา ไม่ใช่ความฉลาด แต่คนจะมักเข้าใจผิดว่า ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นความฉลาด เพราะพูดว่าเป็นตัวกู เป็นของกูอยู่เสมอ เกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากจะเล่านิทานสั้นๆ ที่สุดให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องคนที่ถูกนินทา เป็นชาดกอยู่ในคัมภีร์ชาดก เรื่องนั้นมีเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นนายฝูงของลิง เป็นลิงนายฝูง ใหญ่โต สวยงาม น่ารักมาก และลิงนายฝูงนี้ถูกจับไปในวัง เอาไปเลี้ยงไว้ในวัง ต่อมา พระราชาที่ในวังเบื่อ ก็เลยให้เอากลับมาปล่อยที่ป่าอีก เมื่อลิงโพธิสัตว์ที่เป็นนายฝูงกลับมาถึงป่าแล้ว ก็ได้พบกับบริวารลูกน้องตามเดิม ลูกน้องบริวารก็มารุมล้อมพระโพธิสัตว์นั้น และถามว่าในเมืองมนุษย์นั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ พระโพธิสัตว์ลิงนายฝูงนั้นก็ตอบว่า ในเมืองมนุษย์นั้นทั้งกลางวันกลางคืน ได้ยินได้ฟังแต่ว่า เงินของกู ทองของกู ลูกของกู เมียของกู ผัวของกู ลิงนายฝูงพูดไม่ทันขาดคำ ลิงทั้งหลายก็เอามืออุดหูวิ่งไปที่ลำธาร แล้วก็ไปล้างหูโดยเร็ว ว่าหูสกปรกแล้ววันนี้ นี่คิดดูเถิดว่า เรื่องนี้เขามีความหมายอย่างไร ที่จะสอนมนุษย์เรา ถ้ากลางวันกลางคืนเต็มไปแต่เสียงว่าตัวกู ว่าของกู อย่างนี้แล้วมันก็จะหมายความว่าอย่างไร มันก็หมายความว่า เต็มไปด้วยความยึดมั่น ถือมั่น ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น เมื่อเป็นดังนั้น ก็มีแต่ความสุมเผา แผดเผา ทนทรมานอยู่บนจิตบนใจของบุคคลที่มัวแต่พูดอยู่ว่า เงินของกู ทองของกู ลูกของกู เมียของกู ผัวของกู เป็นต้น ไม่มีอะไรนอกจากความหนักอกหนักใจ จึงเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง จนถึงกับพวกลิงต้องรีบวิ่งไปล้างหูที่ลำธาร เพราะวันนี้ได้ยินสิ่งสกปรกหูเสียแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายยังจำข้อความนี้ไว้ได้อยู่เพียงใด ก็จะเป็นเครื่องบังคับจิตใจให้ไม่กล้ายึดมั่น ถือมั่น จนมีความทุกข์ใดบ้างเป็นแน่นอน จึงหวังว่าเป็นสิ่งที่ควรจะจำไว้ เป็นคู่กันกับหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวกู หรือเป็นของกู ความยึดมั่น ถือมั่นนั้นก็มีอยู่ ๒ อย่าง ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู นี่คือไม่ยอมใคร ยึดมั่นว่าเป็นของกู นี่คือไม่ให้ใคร ยึดมั่นว่าตัวกู ก็ยึดมั่นที่จิตใจร่างกายนี้ว่าเป็นตัวกู แล้วก็มีมานะ ทิฐิ เย่อหยิ่ง จองหอง มีความคิด ความนึกไปตามประสาของคนที่มีความยึดมั่นถือมั่น จะยึดมั่นว่าของกู นี้ก็คือ ทรัพย์สมบัติ เงินทองข้าวของอะไรต่างๆ ของกู ก็มีความหวงแหน มีความตระหนี่ขี้เหนียว มีความรู้สึกเป็นไปในทำนองที่ยึดมั่นถือมั่นข้างนอก ยึดมั่นข้างในนี้ ยึดมั่นว่าตัวกู ยึดมั่นข้างนอก คือยึดมั่นว่าของกู ความยึดมั่นทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นสิ่งแผดเผาบุคคลให้มีอาการเหมือนตกนรกทั้งเป็น คือร้อนใจเหมือนไฟเผา และให้มีอาการเหมือนสัตว์เดรัจฉานคือ มีความโง่ ที่หลงไปยึดมั่น ถือมั่นจนมีความทุกข์ และให้มีอาการเหมือนเปรต คือว่าหิวเรื่อย กระหายเรื่อย คอแห้งอยู่เรื่อยไม่รู้จักอิ่มจักพอ และให้มีอาการเหมือนกับอสุรกาย คือมีความขี้ขลาดเหลือประมาณ อยู่ตลอดเวลา ความยึดมั่นถือมั่นว่ากู ว่าของกูนั่นแหละ ทำให้กลายเป็นนรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกายขึ้นมาได้ในโลกนี้ ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สะอาด สว่าง สงบแต่ประการใดเลย พวกที่เป็นพุทธบริษัทต้องมีความสะอาด สว่าง สงบให้ได้ จึงขอให้สังวรระวังให้มากในเรื่องนี้ คือให้ธรรมะหรือแสงสว่างของพระพุทธศาสนานี้ ส่องลงไปในจิตใจของตนให้ได้จริงๆ ทำอะไรต้องให้ได้ผลจริง ต้องทำไปด้วยสติปัญญา อย่าทำไปด้วยความงมงาย คิดดูเถอะว่าไหนๆ เราก็ได้ทำมาในลักษณะที่เป็นเรื่องของแสงสว่างด้วยกันทั้งหมด เช่นสร้างอุโบสถาคารนี้ ก็เป็นสำนักงานของการแจกจ่ายแสงสว่าง สร้างหอสมุดนี้ก็เป็นสำนักงานที่ส่องแสงสว่าง ทั้งวัดทั้งวาก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการศึกษาเพื่อแสงสว่าง แล้วเราจะเป็นผู้ที่มีความมืดบอดครอบงำ อยู่ได้อย่างไรกัน ความมืดกระทำเหมือนความบอดนั้นหมายความว่า บอดทางจิตใจ บอดทางร่างกายคือ คนตาบอด บอดทางจิตใจคือใจบอด คือโง่ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ว่า ตัวกู ว่าของกู ใครกำลังยึดมั่นอะไร ว่าตัวกู ว่าของกู ก็พึงเข้าใจเถอะว่านั่นคือคนบอดใจ บอดทางใจ ซึ่งร้ายยิ่งไปกว่าบอดทางกาย คือตาบอด เพราะว่าคนตาบอด อาจจะไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไรก็ได้ แต่ถ้ามีการยึดมั่นถือมั่นแล้ว เป็นการบอดในทางใจเสมอกันหมด บอดในทางใจชนิดนี้แล้ว เป็นพุทธบริษัทไม่ได้ เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่แท้จริงไม่ได้ เป็นภิกษุ ภิกษุณีที่แท้จริงไม่ได้ คือเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงไม่ได้ สำหรับคนที่บอดในทางใจ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนี้ ในทำนองที่เป็นแสงสว่างในทางใจ ให้มีแสงสว่างยิ่งๆ ขึ้นไป สมกับการที่เป็นพุทธบริษัท สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังคำกล่าวที่ว่า อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก ซึ่งแปลว่า สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาดังนี้ บรรดาความรุ่งเรือง หรือสิ่งที่ทำความรุ่งเรืองแล้วไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าปัญญา ฉะนั้นจึงกล่าวว่า นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา แสงสว่างใดที่จะเสมอเหมือน หรือยิ่งกว่าแสงสว่างของปัญญานั้นเป็นไม่มี ด้วยเหตุฉะนี้ จึงถือว่าปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา เป็นยอดของแสงสว่างทั้งหลาย หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนใจ กระทำไป ทุกอย่าง ทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความสว่างแก่จิตใจแล้ว ทำความสะอาด สว่าง สงบ ครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง สมตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา สามารถเป็นผู้อยู่ได้ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรที่จะต้องกล่าวว่า ตัวกู หรือของกู แต่ก็เป็นอยู่ได้ด้วยความผาสุก สงบสุข มีลักษณะเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง ที่เรียกกันว่า พระนิพพานนั้น เมื่อใด ไม่มีความร้อน ไม่มีความทุกข์แต่ประการใด ก็เรียกว่าได้ชิมรสของพระนิพพานอยู่แล้วเป็นประจำ ขอให้ได้รักษาสิ่งนี้ไว้ให้คงมีอยู่ตลอดกาล แน่นอน ถาวร จนกระทั่งวาระจิตสุดท้ายเถิด ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป ไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วงหรือร้อนใจว่ายังไม่ได้สร้าง ยังไม่ได้ทำ สิ่งต่างๆ มีที่สุดก็เพียงเท่านี้ คือความสะอาด สว่าง สงบ ในทางใจของมนุษย์ ที่ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service