แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะสมควรด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ดังที่ท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่แล้ว ว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลเนื่องในอายุครบอภิลักขิตกาลคราวใดคราวหนึ่งตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัท ซึ่งมักจะเรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่าทำบุญอายุ
การทำบุญอายุนั้น ควรจะเข้าใจกันให้ถูกต้องว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้ากล่าวโดยที่แท้แล้วการทำบุญอายุนั้น อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิดด้วยกัน แล้วแต่ความรู้สึกของบุคคลผู้กระทำ ถ้าว่าบุคคลผู้กระทำยังเป็นคนขลาด เพราะไม่เข้าถึงธรรมะโดยแท้จริง ยังมีความกลัวอยู่แล้ว การทำบุญอายุนั้นก็มักจะเป็นไปในทางที่รู้สึกว่าเป็นการต่ออายุให้ยาวออกไป นี้อย่างหนึ่ง เรียกว่าทำบุญต่ออายุ แต่ถ้าบุคคลผู้กระทำนั้น เป็นผู้มีความกล้าหาญ เพราะเป็นผู้ถึงธรรมะแล้ว ความรู้สึกในการทำบุญอายุนั้น จะกลายเป็นการทำบุญล้อเลียนอายุไป เพราะว่าไม่มีความขลาด ไม่มีความกลัว จึงสามารถทำบุญในลักษณะที่เป็นการล้อเลียนอายุ ซึ่งเป็นของเล่นๆ เป็นของมายา เป็นของหลอกลวง นี้เรียกว่าทำบุญล้ออายุ
เมื่อเป็นดังนี้ การทำบุญอายุจึงมีอยู่เป็น ๒ อย่างดังที่กล่าวแล้ว คือทำบุญต่ออายุนั้นอย่างหนึ่ง ทำบุญล้ออายุนั้นอีกอย่างหนึ่ง ทำบุญต่ออายุนั้น เป็นของคนขลาด เป็นของคนที่ไม่อยากจะตาย กลัวต่อความตาย ส่วนทำบุญล้ออายุนั้น เป็นเรื่องของคนที่มีความกล้าหาญ เพราะประกอบไปด้วยธรรมะ เพราะรู้ธรรมะตามที่เป็นจริง จึงไม่มีความกลัวต่อความตาย ความรู้สึกจึงเป็นไปทางล้อเลียนอายุ
ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดจดจำไว้ ว่าการทำบุญอายุที่ทำๆ กันอยู่นั้น ย่อมมีเป็น ๒ ความหมายอย่างนี้ แต่ว่าอย่างแรกดูจะมีมากกว่าอย่างหลัง เพราะว่าคนส่วนมากยังขี้ขลาด ยังกลัวตาย จึงมุ่งหมายที่จะทำบุญต่อต้านความตาย หรือยืดอายุให้ยาวออกไป เมื่อคนทั่วไปมีความรู้สึกอย่างนี้ การทำบุญอายุจึงมีแต่เรื่องที่เป็นการต่ออายุไปเสียแทบทั้งนั้น นี้ทำให้เข้าใจยากสำหรับผู้ที่รู้ธรรมะ ว่าจะต่ออายุไปทำไม หรือว่าจะต่อได้โดยวิธีใด คนธรรมดาสามัญคิดว่า ถ้าได้ทำบุญแล้ว บุญจะช่วย แล้วก็จะยังไม่ตาย จะอยู่ยืนยาวไปได้นาน แต่คนมีความคิดบางคนอาจจะคิดว่า ถ้าอยู่ไปจนแก่ชรา จนต้องคลานสี่ขา หลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ แล้วจะต่ออายุไปทำไมกัน อย่างนี้ก็ยังได้ เพราะฉะนั้นคำว่าต่ออายุนี้ จึงเกิดมีปัญหาขึ้นมา ว่าจะต่ออย่างไร เพราะว่ายิ่งให้อยู่นานออกไปก็ยิ่งมีความแก่ชรามากขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าสมมติว่าอยู่ไปได้ถึงสามร้อย สี่ร้อยปี ก็คงจะมีรูปร่างที่ดูไม่ได้ ใครๆ เห็นแล้วก็จะต้องวิ่งหนี อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็จงคิดดูเถิดว่าจะต่ออายุนี้เพื่อประโยชน์อะไร นี้เรียกว่าเป็นปัญหาของคนขี้ขลาดกลัวตาย ที่ทำบุญต่ออายุ
ส่วนอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลล้อเลียนอายุนั้น เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงล้อเลียนว่าอายุนี้เป็นของเล่นๆ เป็นเหมือนกับของเด็กเล่น เป็นของชั่วคราว สาระอันแท้จริงมิได้อยู่ที่อายุ สาระที่แท้จริงอยู่ที่ความดีที่ตนกระทำ หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็อยู่ที่ความหลุดพ้นไปเหนือความทุกข์ทั้งปวง ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นี้เรียกว่าเป็นสาระอันแท้จริง คนพวกนี้มีความกล้าหาญ เพราะได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอันเกี่ยวกับสังขารทั้งหลายทั้งปวง ที่มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และรู้จักสังขารทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คือ มีความรู้อย่างแจ่มแจ้งโดยประจักษ์ ว่าร่างกายกับจิตใจรวมกันนี้ก็ยังไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธรรมชาติ เป็นแต่เพียงของที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ดับไปตามธรรมชาติ
หากแต่ว่าในธรรมชาตินั้น มันมีความโง่ มีความหลง มันจึงได้เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาว่ามีตัวเรา แล้วก็มีตัวเราเท่านั้นเท่านี้ อายุเท่านั้นเท่านี้ ความเกิดก็ของเรา ความแก่ก็ของเรา ความตายก็ของเรา นี้เป็นเพราะความโง่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น แต่ถ้าเมื่อใดได้ยินได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า รู้จักว่านั่นเป็นเพียงความโง่ที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ ก็ทำลายธรรมชาติแห่งความโง่นั้นเสีย ให้ธรรมชาติแห่งความฉลาดปรากฏออกมา เป็นความรู้ที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน เป็นเพียงธรรมชาติ อายุก็สักว่าเวลาที่ผ่านไป ผ่านไป สังขารร่างกายต่างหากที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วคนก็สมมติว่าเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เรียกว่ามีอายุเท่านั้น เปลี่ยนแปลงเท่านี้ เรียกว่ามีอายุเท่านี้ ดังนี้เป็นต้น
คำว่าเวลาเกิดขึ้นมาก็เพราะไปกำหนดที่สังขารอย่างใดอย่างหนึ่งตามธรรมชาตินั่นเอง เช่นฝนตกคราวหนึ่ง ก็เรียกว่าปีหนึ่ง หรือสมมติเรียกว่าปีหนึ่ง ฝนตกฤดูหนึ่ง ฤดูหนึ่ง ก็ถูกสมมติให้เป็นปีหนึ่ง ปีหนึ่ง เวลาจึงเป็นของสมมติตามที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น ในที่บางแห่งในที่บางสมัยก็สมมติเอาการทำนาด้วยซ้ำไป ว่าเป็นเวลาปีหนึ่ง เช่นในคำพูดสมัยโบราณว่ามีอายุเท่านั้นข้าว เท่านี้ข้าว ก็หมายความว่ามีอายุที่ผ่านการทำนามาแล้วกี่ครั้งกี่หนนั่นเอง ที่แท้มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าคนเราต้องทำนาในฤดูฝน ฤดูฝนหนึ่งก็ทำนากันเสียคราวหนึ่ง ดังนี้ย่อมแล้วแต่ว่าจะเอาฤดูฝนเป็นหลัก หรือว่าจะเอาการทำนานั้นเป็นหลัก สำหรับการนับเวลาว่าปีหนึ่ง ปีหนึ่ง นี้เราก็เห็นได้ว่าเวลานี้เป็นของสมมติ และเป็นมายาไปตามการสมมตินั่นเอง หาใช่สิ่งที่จริงจังอะไรไม่ มันแล้วแต่การสมมติของคน
การเปลี่ยนแปลงของสังขารก็เป็นที่ตั้งแห่งการสมมติเรื่องเวลา เช่นว่าเกิดมาอายุยังน้อย มีร่างกายสะสวยดีอยู่ ก็เรียกว่าอยู่ในวัยหนุ่ม หรือปฐมวัย ครั้นต่อมาถึงเวลาที่เป็นคนกลางคน เหน็ดเหนื่อยในการงาน ตึงเครียดในการทนทรมาน ก็สมมติวัยนี้ว่าเป็นมัชฌิมวัย ครั้นล่วงไปถึงร่างกายแก่ชราคร่ำคร่าลง ก็สมมติวัยนี้ว่าปัจฉิมวัย ขอให้พิจารณาดูในส่วนนี้ ว่าเวลานี้มันคืออะไร เวลานั้นก็คือความที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป ของสังขารทั้งหลายทั้งปวง แล้วเรากำหนดกันระยะหนึ่ง ระยะหนึ่ง ว่าจะเรียกว่าเวลาเท่าไร ก็แล้วแต่จะกำหนดกันมาแต่โบราณ คนที่เกิดทีหลัง ก็นิยมถือตามคนที่กำหนดไว้แต่โบราณ จะเป็นเวลาโบราณ หรือเวลาเดี๋ยวนี้ ก็ล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนไปของสังขารทั้งนั้น จะนับอะไรเป็นหนึ่งปี นับอะไรเป็นหนึ่งเดือน ก็แล้วแต่จะตกลงกันในหมู่มนุษย์ เหมือนกันก็มี ไม่เหมือนกันก็มี แต่รวมความแล้วมันยังเหมือนกันตรงที่เรียกว่า มีแต่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งปวงที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เอาความเปลี่ยนแปลงของสังขารอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นเครื่องกำหนดเวลาได้ด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเรื่องความไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของๆ ตน เพราะว่าสิ่งใดที่มีความเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็ต้องไม่มีตัวไม่มีตน เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลง ถ้าจะเอาความเปลี่ยนแปลงเป็นตัวตน มันก็เป็นตัวตนที่หลอกลวง หรือมายา เมื่อจะพูดให้ถูกที่สุดก็ต้องพูดว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มีแต่ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง ในคนเราคนหนึ่งๆ นี้ก็มีร่างกายกับจิตใจอยู่เป็นใหญ่ ร่างกายก็เปลี่ยนแปลง จิตใจก็เปลี่ยนแปลง เพราะว่าทั้งสองอย่างนี้ไม่เป็นตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเนื่องด้วยสิ่งอื่น คือต้องมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ร่างกายจึงเกิดขึ้น และเปลี่ยนอยู่เสมอ
จิตใจนี้ก็เหมือนกัน มีสิ่งปรุงแต่ง คือเหตุปัจจัย สิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เข้าไปปรุงจิตใจให้เกิดเป็นความรู้สึก คิดนึก อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ฉะนั้นจิตใจจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีตัวตนที่ถาวร แต่ก็ยังมีคนบางพวก มีความคิดว่าตัวจิตใจไม่เปลี่ยนแปลง ตัวจิตใจเป็นตัวแน่นอน ศักดิ์สิทธิ์ ถาวร เป็นของที่เข้าออกอยู่ได้จากร่างกายนี้เป็นการถาวร นี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้จักธรรมชาติตามที่เป็นจริง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ เป็นคำสอนในลัทธิอื่น เช่นลัทธิพราหมณ์ เป็นต้น แล้วก็เข้ามาสอนอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป และคนโดยมากก็ชอบคิดอย่างนี้ เพราะว่าอยากจะมีตัวตนที่ถาวร ไม่อยากจะตาย จึงได้มีความเชื่อเรื่องตัวตนที่ถาวร ตัวเราคนนี้ในชาตินี้ จะไปเกิดในชาติหน้า ก็ยังเป็นตัวเราอยู่นั่นเอง เกิดอีกกี่ชาติก็ยังเป็นตัวเราเป็นของเราอยู่นั่นเอง ความคิดอย่างนี้เป็นการถูกต้องของคนธรรมดา คือของคนที่ยังไม่รู้อะไร ให้คิดอย่างนี้ก็เพื่อจะได้สะสมความดีไว้ให้มากๆ สำหรับจะได้ไม่ทำความชั่ว แล้วก็จะได้มีความสุขสบายไปตามภาษาของคนดี แต่ว่าคนที่มีความคิดอย่างนี้ แม้จะดีอย่างไรก็ยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง คือว่ายังมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น เบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้จะร่ำรวยด้วยบุญ ด้วยกุศลอย่างไร ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ฉลาดไปกว่านั้น ให้ดีให้ยิ่งไปกว่านั้น โดยรู้สึกว่าตามที่แท้จริงนั้นมันไม่มีตัวเราชนิดนั้นเลย ความรู้สึกคิดนึกเกิดขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัย ที่ทำให้คิดนึกเช่นนั้น
ดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการศึกษาอบรม เด็กๆ เกิดมาได้รับการสั่งสอน ศึกษาอบรมอย่างไร ก็มีความคิดอย่างนั้น และมีความเชื่ออย่างนั้นอย่างแน่นแฟ้น เมื่อได้สอนให้มีตัวมีตน มันก็มีความเชื่อแน่นแฟ้นไปในทางมีตัวมีตน ก็ดีไปแต่ในทางที่จะทำความดีไว้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าแม้จะดีอย่างไร ก็ยังมีความหนักอกหนักใจ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ก็ต้องคิดให้ดีไปกว่านั้นอีก คือดีจนกระทั่งไม่มีความทุกข์เลย อย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ต้องไปไกลอีกขั้นหนึ่ง ไกลต่อไปอีกขั้นหนึ่ง จนอยู่เหนือความดี อยู่เหนือความชั่วแล้ว ก็อยู่เหนือความดีอีกด้วย จนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร จึงไม่ต้องเรียกว่าอะไร เรียกว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็ได้ เรียกว่าว่าง ไม่มีสิ่งที่ควรยึดถือ อย่างนี้ก็ได้ ถ้ามันว่าง หรือมันไม่มีตัวมีตนไปเสียแล้ว ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าชั่ว หรือดีนั่นเอง เพราะฉะนั้นจิตใจของคนเรา ที่ยังอยู่ภายใต้ความดี ความชั่วนี้จะต้องเป็นทุกข์ไปตามประสาของความดี และความชั่ว แต่ถ้ามันมีจิตใจอยู่เหนือความดีและความชั่วแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย
ในโลกนี้เขานิยมความดีกัน เราก็อยู่กับเขาได้ ด้วยการทำความดีไปตามนั้น แต่ถ้าไม่ยึดถือในเรื่องความดีนั้นแล้ว ก็ไม่มีความทุกข์ เหมือนคนส่วนมากที่ต้องเป็นความทุกข์ ต้องมีความทุกข์เพราะความดี เพราะเป็นคนดีนั่นเองจึงได้มีความทุกข์ คนต้องฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเกี่ยวกับความดี ก็มีอยู่มากเหมือนกัน เพราะเขาเห็นว่ามันจะดีน้อยลงก็ฆ่าตัวตาย เห็นว่าจะหมดดีแล้วก็ฆ่าตัวตาย หรืออะไรทำนองนี้ เรียกว่าฆ่าตัวตายก็เพราะความดี แต่ถ้าอย่าไปยึดถือเรื่องความดีทำนองนั้นแล้วก็ไม่ต้องฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นคนที่สบายที่สุดก็คือคนที่อยู่เหนือความชั่ว และเหนือความดีด้วยทุกๆ ประการ นี้คือคำสั่งสอนของพระพทุธเจ้า
ในพระพุทธศาสนานี้ ขอให้อยู่เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว ทีนี้ลองคิดดูเถิดว่า จะอยู่เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว ได้อย่างไร ใครมีปัญญาคิดข้อนี้บ้าง คงไม่มีใครคิดข้อนี้ได้ นอกจากพระพุทธเจ้า ซึ่งได้สอนไว้ว่า อย่ามีตัวมีตน ความเป็นอนัตตา คือไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนนั่นแหละจะทำให้อยู่เหนือความดีความชั่วได้ แล้วจิตใจก็ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ ไปตามความดี ความชั่ว ไม่ต้องฟูๆ แฟบๆ ไปตามความดี ความชั่ว อย่างนี้เรียกว่าความสงบก็ได้ เรียกว่าความบริสุทธิ์ก็ได้ เรียกว่าความว่างก็ได้ ล้วนแต่ไม่เป็นความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อบุคคลมีจิตใจสูงขึ้นมา จนอยู่เหนือความดีความชั่วดังนี้แล้ว มันจะมีความหมายอะไรเกี่ยวกับอายุ หรือเกี่ยวกับเวลา เรื่องอายุ เรื่องเวลานั้นเป็นของหลอกๆ เป็นของเล่นๆ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ สำหรับคนที่ยังไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง รู้แต่เรื่องว่าสิ่งใดเขาสมมติกันว่าชั่ว สิ่งใดเขาสมมติกันว่าดี ก็ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นไปพลางก่อน เพื่อจะไม่ทำชั่ว เพื่อจะทำแต่ความดี ให้หมดปัญหาในส่วนนี้ไปเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงมาถึงปัญหาชั้นสูงสุด คือชั้นที่จะอยู่เหนือความชั่ว ความดี อยู่เหนือเวลา อยู่เหนือความมีอายุ
อย่างนี้แหละจึงจะเรียกว่าไม่ตาย คนชนิดนี้เท่านั้นที่จะทำบุญล้ออายุได้ คนที่ยังมีความตาย ยังรู้สึกว่ามีความตาย ยังกลัวความตายอยู่แล้ว จะเอาปัญญาไหนมาล้อเลียนอายุ หรือล้อเลียนเวลาได้ ต้องคนที่เห็นธรรมะของพระพุทธเจ้าแท้จริงแล้วเท่านั้น จึงจะอยู่เหนือความตาย จึงจะล้อเลียนอายุ ล้อเลียนเวลาได้ เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความรู้สึกว่ามีความตาย หรือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป
เมื่อความจริงมีอยู่ดังนี้ เราก็จะต้องระลึกนึกกันต่อไปอีกว่า สำหรับเราเล่าจะทำอย่างไร คำตอบก็มีอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมดาแล้ว ถ้ายังขี้ขลาดกลัวตายก็อุตส่าห์ทำความดีเข้าไว้ให้มากๆ จะช่วยบรรเทาความขลาด หรือความกลัวต่อความตาย เพราะว่าจะได้มีความเชื่อว่าแม้จะต้องตายก็จะได้ไปเกิดที่ดี เมื่อได้ไปเกิดที่ดี ก็ไม่ค่อยจะกลัวตาย อย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าเป็นศีลธรรมในระดับทั่วไปก็ได้ หรือเป็นพุทธศาสนาในระดับแรก ในระดับเบื้องต้นที่สุดก็ได้ ที่คนทุกคนพยายามทำดีไว้ เพื่อต่อสู้กับความตาย หรือจะล้อเลียนความตายก็ได้ เพราะว่าเราได้ทำความดีไว้มากพอ เราจึงไม่กลัวต่อความตาย ถ้าใครปฏิบัติได้ในลักษณะเช่นนี้ ก็นับว่ารอดตัวไปแล้วชั้นหนึ่ง แต่ว่ายังไม่หมด เพราะยังจะต้องไปเผชิญกันเข้ากับความตายข้างหน้าอีกในโลกหน้า หรือในโลกอื่นอีก จะต้องเกิด และจะต้องตายอีก
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือให้อยู่เหนือความตายให้จนได้นั่นเอง ให้มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวเรา และไม่มีอะไรตาย มีแต่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป จิตใจที่มีอยู่ในร่างกายนี้อย่าได้ไปโง่ไปหลง ว่านี้เป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของๆ ตนขึ้นมา แล้วก็จะเป็นจิตใจที่รู้ความจริงชนิดที่ไม่มีความตาย จะได้กล้าหาญยิ่งไปกว่าบุคคลทีแรก ที่เพียงแต่ทำความดีไว้มากๆ ความกล้าหาญของคนที่ทำความดีไว้มากๆ นี้ เป็นเพียงเครื่องปลอบประโลมใจเท่านั้นเอง ที่แท้แล้วก็ยังกลัวอยู่ว่ามันจะหมด ความดีมันจะหมด หรือบุญมันจะหมด หรือมันจะพลาดพลั้งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่าตัวเรายังมีอยู่ ส่วนผู้ที่ได้ศึกษา มีความรู้ มีความเข้าใจ จนถึงกับไม่มีตัวเราแล้วนั้น เป็นผู้กล้าหาญที่แท้จริง ไม่มีความกลัวที่แฝงอยู่ เพราะไม่มีตัวเราแล้วจะต้องกลัวอะไร มันไม่มีปัญหาเรื่องเกิด เรื่องตายอะไรเป็นต้น อีกต่อไป จึงไม่ต้องกลัว จึงมีความกล้าหาญ มีความกล้าหาญมากพอที่จะล้อเลียนอายุได้ ล้อเลียนความตายได้
ทีนี้เราพิจารณาดูต่อไปก็จะเห็นได้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ก็เป็นเพราะว่ายิ่งมีธรรมะมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งล้อเลียนอายุหรือความตายได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นการทำบุญอายุนี้ ก็ควรจะถือว่าเป็นการยินดีที่มีธรรมะมากขึ้น ดีกว่าที่จะไปนึกว่าอายุมันมากขึ้น อายุมันมากขึ้นนี้ไม่มีความหมายอะไรนัก แต่ถ้าว่ามีธรรมะมากขึ้นแล้วมันมีความหมายมาก ถ้าจะให้กลมกลืนกันไปได้ ก็ต้องถือว่ายิ่งอายุมากเข้าเท่าไร ก็ควรจะยิ่งมีธรรมะมากเข้าเท่านั้น นั่นแหละคือเจริญด้วยอายุ เมื่อเจริญไปโดยทำนองนี้ถึงที่สุดแห่งธรรมะแล้ว ก็รู้ความไม่ตาย รู้ความที่เราไม่ต้องตาย การที่ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตน และไม่ตาย เป็นความรู้ที่แท้จริง
จึงได้เกิดคำพูดคำอื่นขึ้นมาว่า ไม่ตาย ไม่มีการตายอีกต่อไป หรือมีอายุอันไม่จำกัด มีแสงสว่างอันไม่จำกัด เช่นคำว่า อมิตาภะ คำว่าอมิตายุ ซึ่งเป็นชื่อของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในทางฝ่ายลัทธิมหายานนั้น มีพระพุทธเจ้ามากมาย และเป็นชั้นๆ ชั้นๆ ไปทีเดียว พระพุทธเจ้าชั้นที่พิเศษไปกว่าธรรมดาก็มีหลายองค์ องค์ที่สำคัญที่สุดนั้นเรียกกันว่า พระพุทธเจ้าอมิตาภะ หรือพระพุทธเจ้าอมิตายุ อมิตาภะ แปลว่ามีแสงสว่างไม่จำกัด คือนับไม่ได้ อมิตายุ แปลว่ามีอายุไม่จำกัด คือนับไม่ได้ ก็หมายความว่าไม่มีอายุนั่นเอง สิ่งใดไม่มีอายุ สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่มีแสงสว่างไม่จำกัด เป็นของแน่นอน การที่เขาสมมติเอาสภาพที่ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดแสงสว่าง ว่าเป็นพระพุทธเจ้านี้เป็นความคิดที่แยบคายมาก เพราะว่าไม่มีอะไรสูงไปกว่านั้นอีกแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะสูงไปกว่าสิ่งที่มีอายุไม่จำกัด มีแสงสว่างไม่จำกัด
ในบรรดาสิ่งที่มนุษย์เรารู้จักกันอยู่นี้ เรารู้จักกันแต่สิ่งที่มีอายุจำกัด เช่นว่าพระพุทธเจ้าของเราก็มีอายุ ๘๐ ปี ถ้ามีความรู้เพียงเท่านี้ก็ยังเป็นเด็กโง่ ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าตามที่เป็นจริง ว่าพระพุทธเจ้าตามที่เป็นจริงนั้น มีอายุไม่จำกัด มีอายุไม่สิ้นสุด หรือไม่มีอายุนั่นเอง คำว่าอายุเอาไปใช้กับพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีอายุไม่จำกัด อย่างนี้เป็นต้น การที่เราไปรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีอายุ ๘๐ ปีนี้ มันหมายแต่ที่เปลือก คือที่ร่างกายของท่านมีอายุ ๘๐ ปี ส่วนความหมายของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นก็ต้องเป็นอมิตายุไปทั้งนั้น คือมีอายุที่ไม่มีประมาณ มีอายุที่ไม่จำกัดเลย กลายเป็นของอนันตกาล คืออยู่ตลอดกาล ยิ่งไปกว่ากาล อนันตกาล แปลว่ามีกาลอันไม่สิ้นสุด จนไม่รู้จะพูดว่าอะไร นี้เขาเรียกว่าไม่มีอายุ หรือมีอายุไม่จำกัด ไปๆ มาๆ ก็ว่าพระพุทธเจ้าที่แท้จริงทุกพระองค์นั้น ย่อมมีความหมายเป็นอมิตายุ เป็นอมิตาภะไปทั้งนั้น อย่าไปเอาที่เปลือก ที่เนื้อ ที่หนังของท่านเป็นประมาณ แต่ไปเอาที่ความหมาย หรือเอาคุณธรรมของท่านเป็นประมาณ คือ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความไม่มีตัว ไม่มีตน รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตน เป็นของว่างจากตัวตน นี้แปลว่าท่านรู้จักสิ่งที่ไม่มีอายุ ความว่างเป็นสิ่งที่ไม่มีอายุ ความไม่มีตัว ไม่มีตนก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอายุ
เพราะว่าเมื่อมันไม่มีตัว ไม่มีตนเสียแล้ว มันจะไปมีอายุได้อย่างไร หรือว่าเมื่อมันว่างโดยประการทั้งปวงแล้ว ความว่างนั้นจะมีอายุได้อย่างไร มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอายุ นี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ หรือเข้าถึงสิ่งซึ่งไม่มีอายุด้วยกันทุกๆ พระองค์ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน แต่เพื่อที่จะให้บุคคลที่ไม่มีสติปัญญา คือคนโง่นั่นเอง ได้ปฏิบัติได้ง่ายๆ ก็สมมติขึ้นมาอีกว่ามีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เรียกว่าอมิตาภะ หรืออมิตายุ ขอให้พยายามระลึกนึกถึงแต่พระพุทธเจ้าองค์นี้ ขอให้ท่องให้สวดนาม สวดพระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ วันหนึ่ง คืนหนึ่ง นับได้ร้อยครั้ง พันครั้ง เหมือนที่พุทธบริษัทบางพวก บางนิกาย ได้สวดออกนามพระพุทธเจ้าอมิตาภะนี้ ทั้งกลางวันและกลางคืน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็สวดจนกระทั่งตาย บางคนก็ได้เห็นว่า มีรถอันสวยงามลงมาจากสวรรค์ แล้วก็มารับเอาตนขึ้นไปสู่สวรรค์ แล้วก็ตายไปด้วยความยินดี อย่างนี้ก็มีอยู่เป็นอันมากในหมู่พุทธบริษัทชาวจีน ซึ่งถือนิกายสุขาวดี มีการปฏิบัติเพียงการภาวนาชื่อของพระพุทธเจ้าอมิตายุเท่านั้น
คิดดูให้ดีแล้วก็เห็นว่า มันก็จำเป็นอยู่เหมือนกันที่จะต้องมีการปฏิบัติชนิดนั้น สำหรับคนที่ยังโง่ยังเขลาอยู่ การที่จะอธิบายเข้าใจคำว่าไม่มีอายุ ไม่มีแสงสว่างกันให้จริงๆ จังๆ นั้น เข้าใจไม่ได้ จึงขอให้ถือเอาความเชื่อเป็นหลัก มีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าองค์นี้ อย่ามีจิตใจวอกแวกไปยังสิ่งอื่นใด ให้ทำบุญโดยมุ่งหมายจะอยู่ จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ให้ได้ไปอยู่ในสวรรค์ของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้แต่อย่างเดียว จนกระทั่งดับจิต ก็มีแต่ความเชื่อทำนองนั้น ไม่มีความกลัวตาย มีแต่ความสบายอยู่ในจิตในใจอย่างนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน และทำง่ายที่สุดแล้ว
แต่ถ้าว่าเป็นคนฉลาดก็ต้องทำได้ดีกว่านั้น คือรู้จักว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้หมายถึงอะไร พระพุทธเจ้าที่ไม่มีอายุ ไม่มีอะไรจำกัดนี้หมายถึงอะไร ในที่สุดก็จะรู้ได้เหมือนกันว่า หมายถึงธรรมะที่ไม่มีตัวตน ไม่มีความยึดมั่นในเรื่องตัวตน ก็เป็นการเข้าถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นอีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่ง คือวิธีที่ไม่ต้องเชื่องมงาย แต่เป็นวิธีที่ประกอบไปด้วยความเฉลียวฉลาด รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ที่เรียกว่าธรรมะนี้เป็นปัจจัตตัง หรือเป็นเวทิตัพโพ วิญญูหิ เป็นต้น ศึกษาธรรมะจนกระทั่งรู้ความไม่มีตัวตน และความไม่ตายเช่นนี้ ก็ทำให้ถึงพระพุทธเจ้าอมิตาภะ หรืออมิตายุได้ด้วยตนเอง หรือว่าทำจิตใจให้เป็นอย่างนั้นเสียเอง คือทำจิตใจให้มีความรู้สึกว่าเป็นผู้ไม่มีอายุเสียเอง ร่างกายจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแต่ธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ฉะนั้นความตายที่เป็นของเราก็ไม่มี จิตใจมันรู้จักตัวมันเองอย่างนี้ ก็ไม่รู้สึกว่ามีความตาย จึงเป็นจิตใจที่ไม่มีอายุ หรืออยู่เหนือความมีอายุ หรือว่ามีอายุอันนับประมาณมิได้ มีอายุอยู่ตลอดกาล นี่แหละคือการที่เอาชนะความตายได้ เอาชนะอายุได้
ผู้ที่ทำบุญอายุ ควรจะกระทำกันในลักษณะเช่นนี้ จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ตามวิธีของพุทธบริษัท คือเป็นการทำบุญล้ออายุ มากกว่าที่จะต้องต่ออายุ ถ้าต่ออายุ ก็หมายความว่าต่อชนิดที่ไม่ต้องตายกันดีกว่า อย่าไปต่อชนิดที่ว่ายืดออกไปแต่แล้วก็ต้องตายอยู่ดี อย่างนี้มันน่าทุเรศ เพราะว่ายิ่งอยู่ไปนานเท่าไร ความแก่ชราก็ยิ่งมากเข้าเท่านั้น มันก็ยิ่งทุเรศ แต่ถ้ามีสติปัญญามากพอที่จะต่ออายุตามแบบของพระพุทธเจ้า คือต่อชนิดที่ไม่ให้มีอายุเสียเลย หรือเป็นอายุที่ไม่จำกัดอีกต่อไป คือไม่ตายเสียเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าถูกต้อง ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ สามารถจะต่ออายุโดยทำนองนี้ได้ทั้งนั้น และกลายเป็นคนที่ไม่มีอายุจำกัดอีกต่อไป คือไม่มีความตายต่อไป เป็นผู้ที่มีความรู้สึกสบายอยู่เสมอ
ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะถูกรถทับตาย ถูกคนเขาฆ่าตาย ก็ไม่รู้สึกว่ามีความตายของเรา หรือแก่เรา หรือสำหรับเรา มีแต่ใจคอที่ปกติ รู้แต่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องเปลี่ยนแปลงไป ตามเรื่องตามราวของสิ่งทั้งปวง ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ก็เป็นสิ่งทั้งปวง จิตใจนี้ก็เป็นสิ่งทั้งปวง ทรัพย์สมบัติ อะไรต่างๆ อำนาจ วาสนา เงินทอง ข้าวของ ก็เป็นสิ่งทั้งปวง ล้วนแต่เป็นสิ่งทั้งปวงของธรรมชาติ เป็นทรัพย์สมบัติของธรรมชาติ หรือเป็นตัวธรรมชาติล้วนๆ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา นี้เป็นใจความสำคัญของหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน ควรจะเข้าใจในหลักของพระพุทธศาสนาข้อนี้ ให้แจ่มแจ้ง ให้กำหนดจดจำไว้อย่างแม่นยำ สำหรับจะแก้ปัญหาทุกอย่าง ทุกประการ
เพราะว่าความทุกข์ในโลกทุกๆ ชนิดเกิดขึ้นมา ก็เพราะความเข้าใจผิดข้อนี้ การที่คนๆ หนึ่งมีความทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เพราะเข้าใจผิดข้อนี้ และการที่คนๆ หนึ่งเบียดเบียนผู้อื่น ให้ผู้อื่นพลอยเดือดร้อนด้วย ก็เพราะความเข้าใจผิดข้อนี้ หรือแม้การที่รบราฆ่าฟันกันทั้งโลก ก็เพราะความเข้าใจผิดข้อนี้ คือเข้าใจผิดในข้อที่ว่ามันมีอะไรเป็นของเรา มันมีตัวเราเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แล้วเราก็อยากจะมีให้มาก มากไม่มีพอ ไม่รู้จักเพียงพอ ไม่มีที่สิ้นสุด นี้จึงเป็นเหตุให้เบียดเบียนผู้อื่น เพราะอยากจะเอามาเป็นของเราให้มันมากที่สุด หารู้ไม่ว่า คนที่แสวงหาเกินความจำเป็นนั้น คือคนทำบาป
นี้ขอให้ฟังให้ดีๆ ว่าบัญญัติของพระศาสนาทุกๆ ศาสนาได้สอนไว้ในลักษณะที่ว่า ผู้ที่แสวงหา หรือมีไว้เกินกว่าความจำเป็นนั้นคือคนทำบาป พูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่าเป็นคนขโมย ไม่เอาแต่ส่วนที่สมควรแก่ตน หรือที่ตนมีสิทธิควรจะได้ เอามากเกินกว่าที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้คนๆ หนึ่งมี นี้ก็เป็นคนขโมยชนิดหนึ่ง จึงเป็นคนทำบาป และมีบาป ความทุกข์ก็จะต้องเกิดขึ้นเพราะความบาปนั้น ถ้าใครแสวงหาเกินกว่าความจำเป็น ก็หมายความว่ามีความโลภมาก ความโลภนั่นเองทำให้เกิดความร้อนใจ เหมือนกับไฟเผาอยู่ในนรก นี้ก็เรียกว่าเป็นผลของบาปอยู่แล้ว ที่คนที่โลภเกินกว่าความจำเป็นจะต้องตกนรกทั้งเป็น ทีนี้เมื่อคนหนึ่งเอามาไว้มากเกินไป เพราะสติปัญญาเฉลียวฉลาดของตนในทางนี้ คนที่โง่กว่า ก็หาไม่ได้ ก็ต้องขาดแคลน คนจนก็เกิดขึ้นมากมาย เพราะไม่มีปัญญาจะต่อสู้กับคนฉลาดพวกนี้ จึงมีคนจนเกินไป และคนมั่งมีเกินไปเกิดขึ้นในโลกนี้ แล้วก็ต้องได้รบราฆ่าฟันกันอย่างนี้ นี้เรียกว่าเป็นบาปของการที่แสวงหามา หรือมีไว้มากเกินกว่าความจำเป็น
เราลองคิดดูให้ดีกันอีกสักครั้งหนึ่งเถิดว่า ถ้าทุกคนในโลกนี้แสวงหา หรือมีไว้พอสมควรแก่ความจำเป็นแล้ว โลกนี้จะไม่มีความทุกข์เลย ในสมัยโบราณกาลก่อนพระพุทธเจ้าไปเสียอีกโน้น คนมนุษย์ แต่ละคน ละคน แสวงหา หรือทำการงานแต่เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ประสงค์ให้มากไปกว่าความจำเป็น ดังนั้นจึงมีความทุกข์น้อย และมีเวลาสบายมาก จนมีคำเปรียบว่าคนสมัยนั้นอายุยืนเป็นหมื่นๆ ปี เพราะว่าเขาทำงานกันเพียงเพื่อให้ได้ปัจจัยมาสำหรับเป็นอยู่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นเวลาว่างมันจึงมีมาก วันหนึ่งทำงานสักชั่วโมงเดียวก็พอแล้ว เหลืออีกตั้งยี่สิบกว่าชั่วโมงก็เป็นการพักผ่อนไปหมด คนจึงนอนสบาย เหมือนกับว่ามีอายุยืนสักเหมื่นปี ส่วนคนสมัยนี้ทำงานวันละยี่สิบชั่วโมงก็ยังไม่พอกับความต้องการ เพราะฉะนั้นมันจึงมีอายุสั้น มีอายุไม่กี่สิบปี ไม่กี่ปี เพราะว่าความต้องการมันมากเกินไป จนไม่มีเวลาพอให้ทำ ให้พอกับความต้องการได้ เพราะว่าเขาต้องการมากเกินกว่าความจำเป็น ต้องการจะมีการอยู่ดีกินดี มากเกินกว่าความจำเป็น ต้องการอาหารที่ประณีต ที่วิเศษ ที่ประเสริฐเกินกว่าความจำเป็น ต้องการเครื่องนุ่งห่มที่ดี ที่วิเศษ ที่มากมายเกินกว่าความจำเป็น อะไรก็เกินกว่าความจำเป็นแล้วก็ยังไม่พอ ยังไม่รู้ว่าจะหาไปไว้ทำไมอีก ก็ยังหาอยู่นั่นเอง
หาจนไม่รู้ว่าจะหามาทำไม หามาไว้ทำไมอีก ก็ยังหาอยู่นั่นเอง ไม่มีความเพียงพอ แปลว่าเป็นผู้ที่มีความต้องการอันไม่จำกัด อย่างนี้ก็คือบุคคลที่ทำผิดจากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นคนมีบาปอย่างใหญ่หลวง จะต้องได้รับบาปของการกระทำนั้น คือตัวเองก็มีจิตใจร้อนรนเหมือนตกนรกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พลอยทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปเพราะความคดโกงของตนด้วย
แล้วท่านทั้งหลายจงคิดดูเถิดว่า การที่ศาสนาทั้งหลายบัญญัติไว้ ว่าการแสวงหา และการมีไว้เกินกว่าความจำเป็นนั้นเป็นความบาป นี้จริงหรือไม่ ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาก็จะมองเห็นได้ลึกซึ้งว่า โลกของเราในปัจจุบันนี้ มีความทุกข์ทรมานก็เพราะเหตุนี้เอง คือเพราะเหตุที่ว่ามีคนจำนวนใหญ่จำนวนหนึ่งแสวงหาและมีไว้เกินกว่าความจำเป็นที่ธรรมชาติกำหนดไว้ มันจึงก่อสร้างความวุ่นวาย หรือความเบียดเบียนโดยอ้อมขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็เป็นสื่อ หรือว่าเป็นชนวนให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง เบียดเบียน ต่อสู้กันอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุดอีก โลกนี้จึงได้ร้อนระงมไปทั่วทุกหัวระแหง เพราะบาปอันนี้ของมนุษย์ ที่ไม่เชื่อฟังศาสนา ที่สอนว่าควรจะมีอะไรหรือควรจะแสวงหาเท่าที่ความจำเป็นเท่านั้น
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่าเท่าไร เรียกว่าพอสมควร หรือว่าเท่าที่จำเป็น ข้อนี้ศาสนามิได้ระบุไว้ ว่ากี่บาท กี่สตางค์ แต่ก็อาจจะถือเอาเป็นหลักได้ว่ามนุษย์เราควรจะมีอะไรสักเท่าไร ให้เพียงพอสำหรับจะกินจะอยู่ และเป็นสำรอง เป็นเงินสำรอง เป็นทุนสำรอง สำหรับความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นหลักทรัพย์ พอที่จะเป็นอยู่ได้โดยผาสุก จนกระทั่งแก่เฒ่า และตายไป
ถ้าว่าคนเราทุกคนมีจิตใจยุติธรรม บริสุทธิ์ เที่ยงตรง แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ด้วยตนเองทุกคนว่า มีสักเท่าไรก็จะเป็นการเพียงพอ เช่นว่ามีเงินล้านหนึ่ง ก็อาจจะมีดอกผลสำหรับเลี้ยงชีวิตไปได้สบายจนตาย แต่แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่านั้นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว หรือเป็นจำนวนที่เท่าที่จำเป็นจะต้องมีแล้ว ดังนี้เป็นต้น แต่ยังต้องการที่จะได้อีก ไม่รู้กี่สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน ดังนั้นจึงไปหมกมุ่นแสวงหาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าเกินความจำเป็น จนกระทั่งเวลาไม่พอ ผลที่เกิดขึ้นก็คือคนนั้นเริ่มตกนรก ลึกซึ้งลงไปทุกที มีความร้อนใจที่หมักหมม ทับถมลงไป มากขึ้นทุกที นี้คือความบาป
ดังนั้นทุกคนควรจะรู้จักความพอดี หรือเท่าที่จำเป็นกันนี้ให้ถูกต้อง คือเท่าที่เราสามารถจะทำได้ตามสะดวกสบายโดยไม่ต้องร้อนใจ แต่เท่าที่มันจะอยู่ได้เป็นผาสุกจริงๆ ไม่ต้องคิดเผื่อไว้ให้มากมายหลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า หลายพันเท่า เหมือนที่เขาคิดๆ กัน แล้วก็ไม่ต้องคิดเผื่อลูกเผื่อหลานให้มันมากเกินไป คิดแต่พอสมควรก็พอแล้ว เหมือนกับว่าเราตั้งเนื้อตั้งตัวขึ้นมาได้ด้วยลำแข้งของตัวอย่างไร เป็นความสะดวกสบายอย่างไร
ลูกหลานของเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะไปคิดให้ลูกหลานมีความสุขเป็นเทวดาเสียตั้งทีแรก มันจึงมีการกระทำผิดเสียตั้งแต่ทีแรก รวมทั้งทำให้ลูกหลานนั้นเสียคนไป เพราะการประคบประหงมของบิดามารดา สิ่งที่บิดามารดาลงทุนไป จึงได้รับผลตรงกันข้าม คือได้ลูกได้หลานที่เลวที่เสีย กลับมา กลายเป็นคนทำลายไปทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างนี้ก็มี นี้ก็เพราะเหตุที่ว่าบิดามารดาหวังในลูกในหลานมากเกินกว่าความจำเป็น เกินกว่าความพอดี จึงได้เป็นอย่างนี้กันอยู่ทั่วๆ ไป เมื่อตัวเองก็ไม่รู้จักพอ เมื่อเพื่อลูกเพื่อหลานก็ไม่รู้จักพอ รวมกันแล้วมันก็ยิ่งไม่รู้จักพอ คนจึงหลับหูหลับมาแสวงหาอย่างไม่มีจุดที่เพียงพอ จึงเป็นการทำบาปอย่างหนาแน่นมากขึ้นในโลกทุกวันนี้ แล้วก็ได้เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความบาป ผลก็คือความทุกข์ ความระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง
ถ้าว่าทุกคนมีความพอใจแต่ในส่วนที่จำเป็น เท่าที่จำเป็น เท่าที่พอดี แล้วก็จะอยู่กันเป็นผาสุกยิ่งกว่านี้ตั้งมากมาย หลายร้อย หลายพันเท่า แม้ว่าลูกหลานของเราอยู่ใกล้ๆ กับเรา ประกอบการงานที่เป็นสัมมาอาชีพ ไม่ต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ เป็นใหญ่เป็นโต มันก็ยังมีความสุขสบายอยู่นั่นเอง และบางทีจะยิ่งไปกว่าที่จะส่งลูกหลานไปให้กลายเป็นคนเสีย คนเลว ในที่ไกลหูไกลตาไปเสียอีก หรือว่าแม้จะไปเรียนได้ดิบได้ดี ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้พ่อแม่มีความสุขขึ้นกว่านี้ บางทีมันยิ่งทำให้ลืมตัว เห็นบิดามารดาเป็นควาย เป็นวัว ไปเสียอีกก็มี ควรจะคิดดูกันให้มาก ว่าเกี่ยวกับลูกกับหลานนี้ ควรจะจัดการกันอย่างไร จึงจะเป็นการพอดี หรือเท่าที่จำเป็น แล้วเอามารวมกัน เข้าด้วยกันกับว่า สำหรับเรานั้นเท่าไรพอดี สำหรับลูกหลานนั้นเท่าไรพอดี สำหรับเรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องโลกหน้า เรื่องศาสนานั้น เท่าไรพอดี อะไรๆ ก็ให้รู้จักความพอดีไปหมด ในที่สุดก็จะยุติกันได้สักทีหนึ่งว่า เราควรจะแสวงหาสักเท่าไร ควรจะมีไว้สักเท่าไร สำหรับความพอดี และมีความสุข
ถ้าพูดถึงเรื่องของศาสนา หรือเรื่องคำสั่งสอนของพระศาสดาทั้งหลายแล้ว ท่านทั้งหลายอาจจะตกใจ ไม่เข้าใจ และไม่เชื่อในที่สุด อย่างพระเยซูคริสต์ ของพวกกคริสเตียน ก็บอกว่านกกระจิบนกกระจอกมันก็ยังไม่อดตาย นี่ลองคิดดูเถิดว่ามันหมายความว่าอย่างไร นกตัวเล็กๆ ไม่มีความกล้าแข็ง เก่งกล้าอะไรที่ไหน มันก็ยังไม่อดตาย ยกตัวอย่างเอานกกระจิบ นกกระจอก ซึ่งเป็นนกอ่อนแอที่สุดขึ้นมาพูด อ้างให้เห็นว่ามันก็ยังไม่อดตาย มันต้องมีความสามารถหาใส่ปากใส่ท้องเลี้ยงชีวิตให้พอสบายได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปนึกเรื่องปากเรื่องท้องกันนักเลย จงนึกถึงเรื่องธรรมะ เรื่องความจริง เรื่องพระเจ้า เรื่องศาสนานี้ กันให้มากกว่าที่จะไปนึกถึงเรื่องปากเรื่องท้อง อย่าไปกลัวว่าจะต้องอดตาย เพราะว่านกกระจิบนกกระจอกก็ยังไม่อดตาย แล้วคนที่เก่งกว่านกกระจอกนั้นจะอดตายได้อย่างไร นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการกล่าวไว้อย่างมากทีเดียว จนเราไม่กล้าทำตาม ในพระพุทธ
ศาสนานี้ก็มีสอน เรื่องความรู้จักอิ่ม รู้จักพอ โดยเฉพาะสำหรับภิกษุแล้ว ก็ให้ถือตัวอย่างนกอีกด้วยเหมือนกัน คือให้มองเห็นว่า นกนั้นมีสมบัติแต่เพียงปีกสองข้างเท่านั้นเอง นกไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไรมากไปกว่าปีกสองข้างเท่านั้นเอง ปีกสองข้างนั้นช่วยแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมด จะไปหาอาหารกินที่ไหน ปีกก็พาไป ทรัพย์สมบัติมีเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว อย่างนั้นภิกษุ สามเณร เมื่อประพฤติปฏิบัติอยู่ในทำนองนั้นก็มีความสงบสุข เป็นตัวอย่างที่ดีของคนทั้งโลกได้ แต่ถ้าภิกษุ สามเณร เป็นคนละโมบโลภลาภเสียเอง มันก็กลายเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม และภิกษุสามเณรชนิดนั้น ไม่เป็นภิกษุสามเณรของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคนของพญามาร ซาตาน ภูติผี ปีศาจ ไปในที่สุด ถ้าเป็นภิกษุสามเณรของพระพุทธเจ้า ก็จะมีทรัพย์สมบัติแต่เพียงสักว่าปีกสองข้างเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรที่จะเกินส่วน หรือเกินพอดี หรือเกินความจำเป็นไปได้เลย นี้ว่าสำหรับบรรพชิต ส่วนสำหรับฆราวาสนั้น พระพุทธเจ้าก็มีเขตจำกัด ที่พอแสดงให้เราทราบได้ว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร เพียงไร ไม่ได้ทรงมุ่งหมายให้โลภไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนคนสมัยนี้
คนสมัยนี้ ไม่นึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่นึกถึงพระธรรม ไม่นึกถึงพระสงฆ์ จะนึกถึงบ้างก็เพราะจน จน จนตรอกขึ้นมา คือเกิดความกลัวขึ้นมา เกิดความวิบัติฉิบหายขึ้นมา ไม่รู้จะนึกอะไร จึงจะไปนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าให้ช่วยเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นผู้ที่คอยช่วยคนที่เป็นทุกข์ ในขณะที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่มีใครนึกถึงพระพุทธเจ้า อย่างว่าคนหนุ่มคนสาวจะนึกถึงแต่เสื้อผ้า เครื่องฉาบทาปรุงแต่งของตนตลอดเวลา ไม่เคยนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เลย อย่างนี้เป็นต้น คนที่หลงใหลในเงินทอง ก็นึกถึงแต่เรื่องเงินเรื่องทองตลอดเวลา ไม่เคยนึกถึงพระพุทธเจ้า คิดดูว่าคนที่หลงใหลในการแต่งตัวคนหนึ่ง ในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง หรือร้อยชั่วโมงก็ตาม ไม่มีเวลานึกถึงพระพุทธเจ้าสักนาทีเดียว นึกถึงแต่เรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว ที่จะมาฉาบ มาทา มาลูบ มาไล้ ให้สวย ให้งามอย่างเดียวเท่านั้น เสร็จจากนั้นแล้วก็นึกแต่จะไปอวดกันที่ไหน จะไปล่อไปหลอกกันที่ไหน จนกระทั่งจะต้องกลับมาแต่งเนื้อแต่งตัวกันอีก ไม่มีเวลาที่จะนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้แต่สักนาทีเดียว เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างไร จะรู้จักว่าธรรมะนี้เป็นอะไรได้อย่างไร ในที่สุดก็เหมาๆ เอาว่าพระพุทธเจ้าไม่จำเป็นสำหรับเรา พระธรรมไม่จำเป็นสำหรับเรา พระสงฆ์ก็ไม่จำเป็นสำหรับเรา เว้นแต่เราจนตรอกขึ้นมา จึงจะนึกถึงเพื่ออ้อนวอนให้ช่วยเรา มีแต่อย่างนี้เท่านั้น
คนเหล่านี้เองทำหน้าไหว้หลังหลอกกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อมีอะไรได้ตามต้องการ ก็ไม่เคยนึกถึงพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อจนท่า จนตรอกขึ้นมา จึงจะนึกถึงสิ่งนั้น สิ่งนี้ แม้กระทั่งผีสาง เทวดา ชนิดไหนก็เอามานึกหมด เพราะความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว เพื่อให้ช่วยตัวอย่างเดียว ไม่นึกถึงการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามคลองธรรม ไม่นึกถึงสิ่งที่ตนกำลังกระทำผิดอยู่อย่างมากมาย คือหลงใหลแต่เรื่องสวย เรื่องงาม หลงใหลแต่เรื่องเงินทอง ข้าวของ หลงใหลแต่ความเอร็ดอร่อย สนุกสนาน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นต้น นี้เรียกว่า เป็นคนไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้ว่าทิศเหนือ ทิศใต้ อย่างไร ไม่รู้ว่าสุข ทุกข์ อย่างไร สำคัญเห็นผิดไปหมด เห็นไปแต่ว่าได้ตามใจชอบแล้วก็เป็นการดี ก็เลยแสวงหาอย่างที่ไม่มีความรู้จักอิ่ม จักพอ
อย่างนี้ นี้เรียกว่าเป็นการเหยียบย่ำพระศาสนา ทำลายพระศาสนา ไม่เคารพนับถือพระศาสนาเลย จึงได้ตกเป็นผู้มีความทุกข์ ชนิดหนึ่งที่ลึกซึ้ง ซ่อนเร้นอยู่อย่างที่แก้ไขไม่ได้ ทนทุกข์ทรมานอย่างที่แก้ไขไม่ได้ และจะต้องตายยิ่งกว่าตายอยู่ทุกๆ นาที มีความเดือดร้อน เหมือนกับตกนรกยิ่งกว่าตายอยู่ทุกๆ นาที เพราะการที่ตั้งใจไว้ผิด คือตั้งใจไว้ในลักษณะที่ไม่รู้จักอิ่ม จักพอ แสวงหาและมีไว้เกินกว่าความจำเป็นแล้ว ก็ยังไม่พอ ยิ่งได้มามากเท่าไร ก็ยิ่งเอามาทรมานใจของตนให้เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกเท่านั้น เพราะมายิ่งเพิ่มความไม่พอมากขึ้นไปอีกเท่านั้น นี้คือความเป็นผู้ที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนาเสียเลย มันเป็นคนตายไปแล้วตั้งแต่ทีแรก แล้วจะมาทำบุญต่ออายุให้มันเสียเวลากันอีกทำไมเล่า เพราะว่ามันเป็นคนตายไปแล้ว ตายไปอีก ตายไปแล้ว ตายไปอีก มาเสียแล้วตั้งแต่ทีแรกแล้ว จะมามัวทำบุญต่ออายุกันให้เสียเวลาอยู่ทำไมอีกเล่า
ถ้าอยากจะต่ออายุ ก็ต่อเพื่อให้เกิดความสงบสุขยิ่งๆ ขึ้น จนกระทั่งมีความสงบสุขถึงที่สุด คือรู้ว่าไม่มีอายุที่ต้องต่อ เอาธรรมะนั้นมาเป็นหลัก หรือเอามาเป็นตัวเราก็ได้ ธรรมะนั้นไม่มีอายุที่จำกัด เป็นสิ่งที่ไม่มีอายุ เราเป็นธรรมะ ก็หมายความว่า เราถือว่าเราเป็นแต่ธรรมชาติ ร่างกายเป็นแต่เพียงดิน น้ำ ลม ไฟ จิตใจเป็นแต่เพียงวิญญาณธาตุ ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอายุ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง อย่างนี้เรียกว่าเราได้เข้าถึงความไม่มีอายุ เป็นธรรมชาติไปเสียเอง ไม่มีความตายต่อไป มันก็ไม่ต้องทำบุญต่ออายุ ถ้าจะทำกันเล่นสนุกๆ บ้าง ก็เป็นการทำบุญชนิดที่เป็นการล้อเลียนอายุ หัวเราะเยาะอายุเล่นว่าเป็นของน่าหัว เป็นของน่าขัน ทำนองนี้ จนกระทั่งสังขารร่างกายนี้แตกดับไป ไม่มีความทุกข์เลย
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้พยายามศึกษาให้เข้าใจในธรรมะของพระพุทธเจ้า ของพระพุทธศาสนาของเรา จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งในลักษณะนี้แล้ว เป็นผู้เยือกเย็นเป็นปกติอยู่ได้ในที่ทุกสถาน ในที่ทุกเวลา เป็นผู้ที่ไม่มีปัญหาอันเกี่ยวกับความเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป เป็นผู้ไม่ต้องการอะไรนอกจากความหยุด ความสงบ มีสติปัญญาเรี่ยวแรงเหลืออยู่เท่าไร ก็บำเพ็ญประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยไม่ต้องนึกถึงตัว ก็จะเป็นผู้ที่อยู่โดยไม่มีความทุกข์ร้อน จนกว่าสังขารร่างกายนี้จะแตกดับไป ก็ยังหัวเราะเยาะได้เป็นนาทีสุดท้าย นับว่าดับสิ้นไปกับการหัวเราะเยาะนั้น นี้เรียกว่าเข้าถึงความไม่มีอายุ เป็นอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่าอมิตายุ อมิตาภะ ได้เกิดในสุขาวดี ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้วโดยสมบูรณ์ หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พิจารณาเรื่องนี้โดยแยบคาย ถือเอาส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ตนได้ แล้วนำไปใช้สำเร็จประโยชน์แก่ตนจงทุกๆคนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้