แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิปัสสนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาก่อนจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้มีหัวข้อเป็นนิเขปบท ว่า โสยาติธมโม จ อยัง นิทสสิโต เป็นอาทิ ปรารภเหตุเนื่องด้วยการที่ท่านหลาย มีท่านเจ้าภาพเป็นประธาน ได้จัดให้บำเพ็ญทักษิณานุปทานกิจมีประการต่าง ๆ อุทิศแด่บูรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว ตามธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัท ในโอกาสเช่นนี้จัดให้มีธรรมเทศนาโดยอนุวัตตามเหตุการณ์นั้น ๆ ดังนั้นจึงได้กล่าวพระธรรมเทศนาโดยนัย โสยาติธมโม จ อยัง นิทสสิโต เป็นต้นดังกล่าวแล้ว ธรรมเทศนาปรารภบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ เป็นธรรมเนียมของพุทธบริษัท ถือว่าเป็นกิจที่ตนจะต้องปฏิบัติให้สุดความสามารถทุกอย่างทุกประการเนื่องด้วยบุคคลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นธรรมเทศนาในโอกาสเช่นนี้จึงมีการกล่าวถึงสิ่งที่ควรทำในโอกาสเช่นนี้นั่นเอง พุทธบริษัทเมื่อระลึกนึกถึงบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่กระทำอาการเศร้าโศกเป็นต้น เหมือนชนเหล่าอื่น เพราะว่าการกระทำการเศร้าโศกเป็นต้นนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย และไม่มีประโยชน์อะไรแก่บุคคลผู้ยังอยู่ด้วย เป็นการเหนื่อยเปล่า เปลืองเปล่า เสียประโยชน์เปล่า แต่ว่ายังมีสิ่งที่ควรกระทำซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี้คือการบำเพ็ญทักษิณานุปทานกิจให้สมแก่ความเป็นพุทธบริษัทนั่นเอง ซึ่งเมื่อจำแนกโดยหัวข้อใหญ่ ๆแล้ว ก็คือการกระทำให้ได้รับอานิสงส์ ๔ ประการ ตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นว่า โสยาติธมโม จ อยัง นิทสสิโต ธรรมอันพึงประพฤติแก่ญาติเราก็ได้แสดงออกมาแล้ว เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา การบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว เราก็ได้กระทำแล้วอย่างโอฬาร พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ การกระทำนั้นเป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา ตุมเหหิ กิจจัง ปะสุตัง อะนัปปะกัน (นาทีที่ 05:09) การกระทำนั้นเป็นบุญที่ท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้วเป็นอันมาก ไม่น้อยเลย รวมเป็น ๔ ประการด้วยกันดังนี้
จากหัวข้อทั้ง ๔ นี้ มีรายละเอียดที่จะพึงทำความเข้าใจ แล้วประพฤติให้ได้อยู่หลายอย่างหลายประการ ซึ่งควรจะพิจารณากันดูให้ดี ๆ จนสามารถประพฤติ กระทำ ให้ประสบผลตามที่ต้องการได้
สำหรับข้อแรกที่เรียกว่า ญาติธรรม หรือธรรมอันบุคคลพึงประพฤติต่อญาตินั้น นี้หมายความว่าในโอกาสเช่นนี้ทุกคนจะต้องระลึกถึงบุคคลที่เป็นญาติ และมากันโดยพร้อมหน้า ประพฤติหน้าที่ของตน ๆตามแต่จะทำได้อย่างไร คำว่าญาตินี้มีความหมายได้เป็นสองอย่าง คือญาติที่นับเนื่องกันโดยทางสายโลหิตนี้ก็มีอย่างหนึ่ง และเป็นญาติเพราะความวิสาสะ หรือว่ามีการประพฤติธรรมะร่วมกันนี้ก็เป็นญาติอีกอย่างหนึ่ง นี่รวมเป็นสองอย่าง หรือถ้าจะแยกให้เป็นสามอย่างก็ยังมีทางที่ทำได้ คือญาติพวกที่รักใคร่ชอบพอกัน ถือว่าเป็นญาติโดยวิสาสะนี้อย่างหนึ่ง และพวกที่เป็นญาติเพราะว่านับถือพระพุทธเจ้าร่วมกัน นับถือพระธรรมร่วมกัน นับถือพระสงฆ์ร่วมกัน ประพฤติธรรมะอย่างเดียวกัน จึงได้เป็นญาติกันในทางศาสนา นี้ก็เป็นญาติอีกอย่างหนึ่ง รวมความแล้วก็ได้เป็นสามอย่าง คือเป็นญาติโดยสายโลหิตสืบเนื่องถึงกันนี้อย่างหนึ่ง และเป็นญาติโดยที่รักใคร่ชอบพอกัน เพราะถูกอัธยาศัยกันก็เกื้อกูลกันนี้ก็อย่างหนึ่ง และก็เป็นญาติเพราะเหตุที่นับถือศาสนาร่วมกัน ประพฤติธรรมเหมือนกันนี้ก็เป็นญาติอีกอย่างหนึ่ง โดยพิสดารรวมกันเป็นสามอย่างดังนี้ ดังนั้นท่านทั้งหลายจะต้องระลึกนึกถึงความข้อนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสมควร การที่เป็นญาติกันโดยสายโลหิตนั้นก็เป็นรู้จักกันดีทั่วไปและมีขนบธรรมเนียมประเพณีให้ประพฤติต่อกันและกันอยู่ จึงไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไร จะมีอยู่บ้างก็แต่เพียงว่าจะต้องมีความอดกลั้นอดทน รู้จักถนอมน้ำใจซึ่งกันและกันไว้ ความเป็นญาติโดยสายโลหิตนั้นจึงจะมีอยู่ได้ ถ้าหากว่าเป็นผู้เหินห่างต่อกัน ไม่เอื้อเฟื้อแก่กันและกัน ความเป็นญาติแม้โดยสายโลหิตนั้นก็จะหมดไป เพราะฉะนั้นการกระทำจึงมามีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า มีความเคารพนับถือ ติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่เป็นปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่เกิด เช่นโอกาสนี้บรรดาญาติที่เป็นสายโลหิตสืบเนื่องถึงกัน เพราะว่ามาประชุมกันโดยพร้อมเพรียงกัน แม้จะมีความขุ่นเคืองกันก็ยกเลิกหายไปเพราะเหตุนี้ นี้เป็นหน้าที่ ๆ ต้องประพฤติ ที่ต้องกระทำ
ทีนี้ต่อไปถึงญาติโดยการวิสาสะนั้น นี่หมายถึงการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนเกิดความรัก เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกันเหมือนกับเป็นญาติ นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งตรงที่ว่ามนุษย์ในโลกเราถ้ามีความรู้สึกเป็นญาติกันโดยทำนองนี้แล้ว จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มนุษย์นั้นเป็นอันมาก คนโดยมากมักจะคิดเสียว่า เมื่อไม่นับเนื่องเป็นญาติกันโดยทางสายโลหิตแล้ว ก็ไม่ใช่ญาติ จึงคอยแต่จะเอาเปรียบกัน หรือกระทั่งถึงการเบียดเบียนกัน เราจึงได้เห็นการทะเลาะวิวาทในโลกนี้ทั้งอย่างเล็กและอย่างใหญ่ทั่ว ๆ ไป เพราะการที่คนไม่รักนับถือซึ่งกันและกันว่าเป็นญาติโดยทางวิสาสะ หรือแม้ที่สุดแต่เพราะเหตุที่ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือว่าอยู่ร่วมโลกกัน มีอะไรติดต่อสัมพันธ์กัน ถ้าเพียงแต่ว่าคนในโลกเรานี้มีความคิดนึก เพราะคนเราเกิดมาแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน และทุก ๆ คนมีปัญหาอย่างเดียวกัน ควรจะสงสารซึ่งกันและกัน ทุกคนมีปัญหาอย่างเดียวกันนั้นหมายความว่า คนทุกคนมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นต้นนี้ เป็นเครื่องเบียดเบียนด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็ยังมีกิเลส เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง เบียดเบียนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ละคนมีความเร่าร้อน มีความเดือดร้อนเพราะกิเลสของตน ๆ ไม่มีปัญญาที่จะทำลายเสียซึ่งกิเลสนั้น จึงต้องมีความทุกข์ทนอยู่หลายอย่างหลายประการ บางคราวก็ต้องถึงกับร้องไห้ บางคราวก็ถึงกับเพ้อเสียสติคุ้มคลั่งไป บางคราวก็ถึงกับตายไปในที่สุด เพราะความที่ไม่สามารถจะเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจของกิเลสเป็นต้น ทุกคนก็เป็นอย่างนี้อยู่ด้วยกันทุกคน แต่เหตุไฉนจึงจะมาเอารัดเอาเปรียบกัน ทุกคนควรจะมองเห็นความที่เป็นทุกข์ทนทรมานเหมือน ๆ กันนี้มาเป็นหลัก แล้วมีความเมตตากรุณาต่อกัน แล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะว่าล้วนแต่เป็นความต้องการของคนทุกคน เราย่อมจะทราบได้ดีว่าเมื่อมีความตกทุกข์ได้ยากแล้ว ย่อมต้องการความช่วยเหลือด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าใครหมด เดี๋ยวนี้คนทุกคนก็กำลังตกทุกข์ได้ยาก คือการเบียดเบียนของกิเลสบ้าง ของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายบ้าง ล้วนแต่เป็นความเบียดเบียนชนิดที่ลึกซึ้งมองเห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และเอาชนะได้แสนยาก เรียกว่ามนุษย์เราตกอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสาร เป็นความทนทุกข์ทรมานที่วนเวียนเป็นวงกลมอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด ในสภาพที่น่าสงสารอย่างยิ่งอย่างนี้ เราต่างก็มีความคิดไปในทางที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ควรจะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องมีใครอบรมสั่งสอนกันนัก จึงจะเรียกว่าเป็นการสมควรแก่มนุษย์ เพราะว่ามัน คนมีใจจืด มีความเห็นแก่ตัว ไม่คิดที่จะช่วยเหลือบุคคลผู้มีความทุกข์หรือตกทุกข์ได้ยากแล้ว คนพวกนั้นไม่ควรจะเรียกว่าเป็นมนุษย์เลย เพราะว่ายังมีจิตใจที่ต่ำอยู่ จึงไม่เรียกว่ามนุษย์ เพราะคำว่ามนุษย์แปลว่ามีจิตใจสูง เพราะว่ามีความรู้สึกนึกสงสารผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์แล้ว ก็เรียกว่ามีจิตใจสูงพอที่จะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้ การที่ไม่คิดช่วยใครที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นดูจะเป็นธรรมเนียมของสัตว์เดรัจฉานทั่ว ๆ ไป ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าสัตว์เดรัจฉานไม่ได้มีความคิดสูงถึงกับจะช่วยผู้อื่นเมื่อผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่ถ้าคนเรามีจิตใจอย่างนั้นก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นจึงถือว่าผู้ที่เป็นมนุษย์ทุกคนจะต้องมีความสงสารผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก เราควรจะช่วยเหลือผู้อื่นในโอกาสเช่นนั้นด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ดังนี้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการประพฤติกันฉันญาติในทางวิสาสะ คือรักใคร่กัน มีความรู้สึกที่เป็นกันเองต่อกันและกัน
ถ้าเราสังเกตดูให้ดี เราจะเห็นว่าญาติโดยวิสาสะกันนี้บางทีมีความหมายมากไปกว่าญาติโดยสายโลหิต นี้ก็มีอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นญาติโดยวิสาสะนี้จึงไม่เป็นของเล็กน้อย เราจะได้เห็นบุคคลช่วยเหลือกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ไม่เป็นญาติโดยสายโลหิตแก่กันเลย นี้เป็นผลของญาติโดยวิสาสะทั้งนั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า วิสฺสาสปรมา ญาติ ความรักใคร่คุ้นเคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันนั้นเป็นญาติอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นญาติโดยสายโลหิตต่อกันและกัน ถ้าไม่รักใคร่ คุ้นเคย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแล้วก็หาประโยชน์อันใดมิได้ และไม่มีความเป็นญาติเลย จะเป็นญาติโดยสายโลหิตก็ดี จะเป็นญาติโดยอื่น ทางอื่นก็ดี ก็ล้วนแต่ต้องอยู่ที่การรักใคร่ คุ้นเคย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งนั้น ดังนั้นคำว่าญาติจึงหมายถึงการรับรู้ว่า เขาเป็นผู้ที่เรารักใคร่ เขาเป็นผู้ที่เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขาเป็นผู้ที่เราจะต้องช่วยเหลือโดยประการทั้งปวง ความรับรู้เช่นนี้เองเรียกว่าญาติ เพราะคำว่าญาติแปลว่าผู้ที่บุคคลจะต้องรับรู้ คำว่ารับรู้นี้หมายความว่า รับรู้ว่าเป็นญาติ คือรับรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อบุคคลนั้น ไม่เฉยเมยเสีย ความเป็นญาติมีความหมายอยู่ที่ความรับรู้ที่ผูกพันกันอยู่ดังนี้เอง ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าทุกคนเกิดมาแล้วจะต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งนั้น เราก็รับรู้ เราอยู่ในฐานะที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของผู้อื่นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น นี้ก็เรียกว่าเป็นความรับรู้ซึ่งกันและกัน จึงได้เป็นญาติกัน ถ้าเป็นญาติกันโดยสายโลหิตก็ต้องมีความรับรู้อย่างนี้ ถ้าไม่เป็นญาติกันโดยสายโลหิต เป็นญาติกันโดยวิสาสะก็ยังต้องรับรู้อย่างนี้ นี้เรียกว่าเป็นญาติในทางฝ่ายโลกียะหรือตามแบบของชาวโลก นี้ประเภทหนึ่ง
ทีนี้มาถึงประเภทที่สาม ที่เป็นญาติโดยทางธรรม เพราะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ร่วมกันนี้ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูให้ดีว่าความเป็นญาติอย่างนี้เป็นของเล็กหรือของใหญ่ เป็นของสำคัญหรือไม่สำคัญ เป็นของมากหรือของน้อยอย่างไร ขอให้ลองคิดดูใหม่ โดยนำไปเปรียบเทียบกันกับความเป็นญาติโดยสายโลหิต และเป็นญาติโดยวิสาสะเป็นต้น การที่คนเราจะรู้ความสำคัญหรือความมากมายใหญ่หลวง สูงสุดของความเป็นญาติโดยธรรมนั้น ผู้นั้นจะต้องรู้จักพระธรรมเสียก่อน ถ้าผู้นั้นไม่รู้จักพระธรรมแล้ว จะไม่มีทางที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าการเป็นญาติโดยธรรมไปได้เลย ถึงแม้จะพูดว่าเป็นญาติกันโดยธรรม ก็พูดกันแต่ปากเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นความรู้สึกที่แท้จริงอยู่ในใจ เหตุฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาให้มีความรู้อย่างแจ่มแจ้งว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นอย่างไร หรือขยายออกไปเป็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นเป็นอย่างไร และเรามีความเป็นญาติโดยธรรมนี้อย่างไร
ข้อแรกที่สุดก็ต้องนึกถึงข้อที่ว่า เรามีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ตั้งอยู่ในฐานะเป็นเหมือนหนึ่งเป็นบิดาร่วมกันของเราทุกคน ข้อนี้เราจะต้องรู้จักแยกออกเป็นสองเรื่อง คือเรื่องทางร่างกายนี้อย่างหนึ่ง และเรื่องทางจิตใจนี้อีกอย่างหนึ่ง คนละเรื่องกัน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โดยทางร่างกายเรามีบิดามารดาชุดหนึ่ง มีบิดาชื่อนั้น มารดาชื่อนี้ รู้กันอยู่แล้วไม่ต้องพูด แต่ในทางจิตหรือทางวิญญาณนั้น เรามีบิดามารดาอีกชุดหนึ่ง นี้ยากมากที่จะเข้าใจว่าเรามีบิดามารดาชุดไหนกันอีก การมีบิดามารดาในทางจิตหรือทางวิญญาณนั้นมันมีอยู่ว่า เป็นคนโง่ เป็นคนพาล หรือว่าเป็นคนฉลาด หรือเป็นบัณฑิต ถ้าหากว่าเขาเป็นคนโง่ เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่รู้อะไรแล้ว บิดาของเขาก็คืออวิชชา มารดาของเขาก็คือตัณหา หรือกิเลสนานาประการ นั่นแหละคือบิดามารดาของคนชนิดนั้นในทางจิต ทางวิญญาณ แต่ถ้าเขาเป็นคนมีปัญญา เป็นบัณฑิตแล้ว เขาก็มีพระพุทธเจ้าเป็นบิดา มีพระธรรมเป็นมารดา มีพระสงฆ์เป็นพี่เลี้ยงอย่างนี้มากกว่า ขอให้คิดดู ให้ทบทวนกันดูว่าเป็นจริงอย่างนี้หรือไม่ ว่าโดยทางจิต ทางใจ หรือทางวิญญาณของบุคคลที่เป็นสัตบุรุษ ไม่เป็นพาลนั้น เขามีพระพุทธเจ้าเป็นบิดา มีพระธรรมเป็นมารดา มีพระสงฆ์เป็นพี่น้อง หรือเป็นพี่เลี้ยง นี้เรียกว่ามีบิดามารดาอีกอย่างหนึ่ง ทางจิต ทางวิญญาณ ไม่เหมือนกับทางร่างกายที่ว่ามีพ่อแม่ชื่อนั่นชื่อนี่ แต่อีก ที่น่าสังเวช น่าสลดใจที่สุดก็คือ พวกคนพาลทั้งหลายในทางจิต ทางวิญญาณนั้น มีอวิชชาเป็นบิดา มีตัณหาเป็นมารดา ลองคิดดูเถิดว่าคนที่มีอวิชชาเป็นบิดานั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นมา มีตัณหาเป็นมารดานั้นมันจะคลอดออกมาอย่างไร นี่หมายความว่าถ้ามีอวิชชาเป็นบิดา มีตัณหาเป็นมารดาแล้ว ก็คลอดออกมาเป็นคนพาล เป็นคนที่มีจิตใจเป็นคนพาล เป็นคนอ่อน เป็นคนโง่ เป็นคนหลง ไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จึงได้ประกอบกระทำทุกสิ่งไปตามทางของอวิชชาหรือตัณหานั้น คือการกระทำบาป คือการกระทำชั่ว หรือการทำที่เป็นอกุศลนานาประการ นี่เรียกคนที่มีอวิชชาเป็นบิดา มีตัณหาเป็นมารดาอย่างนี้ ทีนี้ถ้าว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นบิดา มีพระธรรมเป็นมารดา มีพระสงฆ์เป็นพี่น้องแล้ว การประพฤติ การกระทำของเขาก็เป็นไปอย่างอื่น อย่างตรงกันข้ามทีเดียว ทีนี้พวกเราบรรดาสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้า หรือนับถือพระพุทธศาสนานั้น ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว ก็ล้วนแต่มีพระพุทธเจ้าเป็นบิดา มีพระธรรมเป็นมารดา มีพระสงฆ์เป็นพี่น้องด้วยกันทุกคน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นญาติกันในทางธรรม เป็นญาติกันโดยธรรม เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นบิดาร่วมกันเพียงคนเดียว มีพระธรรมเป็นมารดาร่วมกันเพียงอย่างเดียว มีพระสงฆ์เป็นพี่น้องเพียงคณะเดียว นี้จะเห็นได้ว่าความเป็นญาติกันในลักษณะเช่นนี้ มากหรือน้อยเท่าไหร่ สูงหรือต่ำอย่างไร ประเสริฐหรือไม่ประเสริฐอย่างไร ขอให้ลองไปคิดดู
ถ้าเราจะไปเทียบการเป็นญาติในทางสายโลหิตก็ดี ในทางวิสาสะก็ดี เราจะเห็นได้ว่ายังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของความเป็นญาติโดยทางธรรมซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นบิดาร่วมกัน ดังนี้เป็นต้น เพราะว่ามีความหมายมากกว่า สูงกว่า ลึกซึ้งกว่า ประเสริฐกว่า น่าชื่นอกชื่นใจกว่าไปเสียทั้งนั้น ดังนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนคงจะได้สนใจในเรื่องการเป็นญาติในทางธรรมะนี้ให้มากขึ้น อย่าให้เป็นความเพียง เป็นเพียงแค่ความเข้าใจที่สลัว ๆ ไม่แจ่มแจ้ง แล้วพูดกันแต่เพียงปากว่า แล้วก็ไปเห็นแก่พวกแก่พ้อง หรือความเป็นญาติชนิดที่เป็นเหตุให้ถือพวกถือพ้องนั้นมากไป เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปตามอำนาจของอวิชชาหรือตัณหาเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องระวังให้ดี จะต้องรู้จักระวังความเป็นญาติโดยทางสายโลหิตหรือทางวิสาสะนี้ให้ดี ถ้าระวังไม่ดีแล้วมันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นการคุมพวกกัน ประพฤติ กระทำไปตามอำนาจของกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตนนั่นเอง เพราะฉะนั้นจงได้ระวังให้ดี ระวังความเป็นญาติโดยสายโลหิตก็ตาม โดยวิสาสะก็ตาม ให้ดี ๆ อย่าให้กลายเป็นการคุมพวกกันแสวงหาประโยชน์เบียดเบียนผู้อื่น แย่งชิงผู้อื่น ข่มขี่ผู้อื่นเลย การเป็นญาติชนิดนั้นจะนำมาซึ่งอบายโดยแท้ เราจะต้องถือเอาประโยชน์ให้ได้ อย่าให้กลายเป็นเรื่องของอบายหรือการเสื่อมเสียประโยชน์ ถ้าเป็นญาติกันโดยสายโลหิตก็ต้องให้ประกอบด้วยธรรม ถ้าจะเป็นญาติกันโดยทางวิสาสะก็ต้องให้ประกอบด้วยธรรม จึงจะเป็นญาติที่มีประโยชน์ ในที่สุดจะมองเห็นต่อไปว่าอะไร ๆ ก็ต้องเนื่องด้วยธรรมไปทุกอย่างทุกประการ เนื่องด้วยพระธรรมไปทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นญาติชนิดไหน
บัดนี้เราได้มาประกอบทักษิณานุปทานกิจที่นี่ เรากำลังมีจิตใจอย่างไร กำลังตั้งจิตใจไว้อย่างไร หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่กระทำผิดในข้อนี้ ที่เป็นญาติสายโลหิตก็เป็นญาติที่สนิทโดยธรรม ที่เป็นญาติทางวิสาสะก็เป็นญาติที่รักใคร่โดยธรรม หรือที่เป็นญาติโดยธรรมอยู่แล้ว โดยมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ร่วมกันอยู่แล้ว ก็เป็นธรรมอยู่แล้ว อะไร ๆ ก็ขอให้เป็นธรรมอย่างนี้เถิด จึงจะเรียกว่า โสยาติธมโม จ อยัง นิทสสิโต บัดนี้ญาติธรรมเราก็ได้แสดงออกแล้ว ดังนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการกระทำประเภทที่หนึ่งซึ่งจะต้องสนใจให้ดี
ข้อถัดไปมีบาลีว่า เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา เราทำการบูชาแก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วอย่างโอฬาร ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นเป็นบิดาก็ดี เป็นมารดาก็ดี เป็นอะไรก็ตาม เรียกว่าเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างโอฬารได้อย่างไร นี้ก็เหมือนกันอีก อาจจะแบ่งได้โดยทางวัตถุหรือร่างกายนี้อย่างหนึ่ง และแบ่งได้เป็นทางจิตใจอีกทางหนึ่ง ทางร่างกายเราก็แสดงออกโดยทางร่างกาย กระทำนั่น กระทำนี่ อย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อเป็นการบูชาแก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนทางจิตใจนั้น บูชาด้วยการกระทำทางจิตใจ คือความระลึกที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้อง ความตั้งใจไว้อย่างถูกต้อง ความปรารถนาถูกต้องแก่บุคลเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความตั้งใจที่จะกระทำให้ถูก ให้ตรง ตามความประสงค์ของบุคคลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และให้การกระทำนั้นประกอบอยู่ด้วยธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนทุกฝ่ายตลอดกาลนาน จึงกล่าวได้ว่าเราประพฤติธรรมเพื่อบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว นี้เรียกว่าเป็นการบูชาอย่างโอฬารโดยแท้จริง ดังนั้นถ้าท่านผู้ใดมีความรักใคร่มากต่อบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม มีความนับถือมากแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม มีความกตัญญูมากต่อบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม จงได้พยายามประพฤติธรรม ประพฤติพระธรรมให้เป็นเครื่องบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วเถิด จะได้ชื่อว่าเป็นการบูชาอย่างโอฬารและครบถ้วนทุกประการ ทางวัตถุเราก็ทำบุญ ให้ทาน กรวดน้ำอุทิศ ทางจิตใจเราก็ตั้งไว้ที่ประพฤติพระธรรมถูกต้อง ก็จะเป็นการรวมกันทั้งสองฝ่ายแล้วเป็นการบูชาอย่างสมบูรณ์โดยแท้ นี้เรียกว่าการบูชาเราได้กระทำแล้ว แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างโอฬารอย่างนี้เป็นข้อที่สอง
ข้อถัดไปคือข้อที่สามนั้น มีบาลีว่า พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ การกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา ข้อนี้มีใจความสำคัญแต่โดยย่อว่า คนอื่นเขาทำกันอย่างอื่นก็ตามใจเขา แต่พวกเรานั้นถ้ามีการทำบุญให้ทานบริจาคแล้ว ย่อมจะทำไปในลักษณะที่เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา ทั้งนี้เราก็มองเห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งปวง และของสัตว์เดรัจฉานด้วยโดยอ้อม และของสัตว์ทั้งหลายทั่วไปในโลกทุก ๆ โลกด้วยโดยปริยาย เราจึงขวนขวายทุกอย่างทุกประการที่จะช่วยกันสืบอายุพระศาสนาไว้ พระศาสนานั้นแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งหมายถึงการศึกษาและเล่าเรียน อีกส่วนหนึ่งหมายถึงการประพฤติปฏิบัติ อีกส่วนหนึ่งหมายถึงมรรคผลที่เกิดขึ้นมาเพราะการปฏิบัตินั้น รวมกันเป็นสามส่วนดังนี้แล้ว เข้าด้วยกันเป็นอันเดียวแล้ว ก็เรียกว่าเป็นพระศาสนา ทีนี้การที่จะมีการศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติเป็นต้นนั้นได้ ก็ต้องมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้เล่าเรียนและปฏิบัติ สะดวกกว่าอย่างอื่น แท้จริงพวกฆราวาสก็เล่าเรียนและปฏิบัติ แต่ว่ามีโอกาสทำได้น้อย เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยจะกล่าวถึง ก็กล่าวถึงแต่พวกภิกษุก็เพราะว่าเป็นหน้าที่ ๆ จะต้องทำอยู่เป็นประจำ เพราะว่าตนเป็นผู้อุทิศทุก ๆ อย่างเพื่อการกระทำอันนี้ จึงได้เล็งถึงพระภิกษุสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ กล่าวอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าเราจะกล่าวอย่างอื่น ซึ่งแม้จะอ้อมค้อมแต่ก็เป็นความจริง นั้นคือกล่าวว่าคำว่าสงฆ์นั้นไม่ได้ระบุว่าเป็นพระ หรือเป็นฆราวาส ถ้าผู้ใดเป็นผู้ประพฤติชอบ ประพฤติถูกต้อง ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติสมควรแก่ธรรมดังนี้แล้วก็เรียกว่า สงฆ์ เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสอย่างนี้ก็ได้ แล้วก็รวมเรียกได้ว่าพระสงฆ์เหมือนกัน ดังนั้นการกระทำของเราที่เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์นั้นหมายความว่า เพิ่มกำลังให้แก่คนทุกคนที่กำลังเรียนและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้านแต่ถ้ามีการเรียนการปฏิบัติเท่าไรแล้วก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาอยู่เท่านั้นด้วยเหมือนกัน หากแต่ว่ามีปริมาณที่น้อยกว่าตามปกติเท่านั้นเอง และเมื่อเพ่งเล็งถึงใจความหรือความหมายแล้ว ย่อมมีความหมายอย่างเดียวกัน ดังนั้นจึงนับเนื่องในสงฆ์ด้วยกัน ดังที่ท่านจำแนกไว้แต่กาลก่อนว่า เป็นภิกษุ ภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นบริษัทของพระพุทธเจ้า มีหน้าที่เสมอกันทั้งหมด หรือว่าทำงานร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์มุ่งหมายเพียงอย่างเดียวกัน นี้เป็นหน้าที่
บัดนี้เราทั้งหลายได้บำเพ็ญทักษิณานุปทานกิจไปในลักษณะที่เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่หมู่คณะของเราเองหรือตัวของเราเองรวมอยู่ด้วยในหมู่คณะนั้น ในอันที่จะทำให้พระศาสนานี้มีอายุยืนยาวสถาพร ตั้งอยู่เป็นที่พึ่งแก่โลก เหมือนกับว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของโลกเท่านั้น ดังนั้นจงได้มีความภาคภูมิใจว่าการกระทำนี้เป็นการะทำที่ดี เป็นการได้ที่ดีแล้ว จะกระทำให้โลกนี้มีความสุข เพราะว่าศาสนามีอยู่สำหรับเป็นเครื่องคุ้มครองโลก เมื่อพิจารณาดูถึงการกระทำที่รวมกันเป็นหมู่ดังนี้ เราจะต้องดูให้ละเอียดออกไป ให้มองเห็นว่าหมู่หนึ่งนั้นประกอบอยู่ด้วยบุคคลชนิดไร ถ้าเราจะดูทีเดียวทั่วไปทั้งโลก เราก็จะเห็นได้ว่ามีอยู่กันหลายหมู่ หลายแบบ หลายระดับ แม้แต่ว่าในพวกเรากันเอง มันก็ยังมีอยู่หลายระดับ หลายระยะ หรือหลายวัย เช่นความเป็นเด็กก็มี เป็นความเป็นหนุ่มสาวก็มี ความเป็นคนที่โตแล้ว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็มี เป็นคนแก่คนเฒ่าก็มี เป็นคนชราแก่หง่อมจะตายอยู่วันนี้พรุ่งนี้แล้วก็มี ทีนี้เราจะต้องทำอย่างไรกัน คนที่แตกต่างกันอย่างนี้จึงจะอยู่ด้วยกันได้โดยมีความเป็นผาสุก ถ้ามี จะไม่มีอะไรอื่นอีกนอกจากการประพฤติที่เป็นธรรม เราจะต้องมีหลักที่ตายตัวลงไปว่าทุก ๆ คนต้องประพฤติให้เป็นธรรม ประกอบอยู่ด้วยธรรม ทุกคนจึงจะอยู่เป็นสุข เด็ก ๆ จะต้องประพฤติธรรม คนหนุ่มคนสาวก็ต้องประพฤติธรรม คนแก่คนเฒ่าก็ต้องประพฤติธรรม สำหรับการประพฤติธรรมนั้นแม้จะมีอยู่เป็นระดับ หลาย ๆ ระดับอย่างไรก็ตามเถิด แต่ใจความแล้วมีลักษณะตรงเป็นอย่างเดียวกันหมด คือความที่ไม่เห็นแก่ตัว การไม่ยึดมั่นถือมั่นชนิดที่เป็นความเห็นแก่ตัว อย่างน้อยที่สุดเราก็จะเห็นได้ตรงที่ว่าถ้ามีความเห็นแก่ตัว หรือยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของตัวแล้วก็จองหอง เด็ก ๆ ไม่เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ก็จะจองหอง เพราะมีตัว มีตัวกู ยึดมั่นเป็นเรื่องของตัวกู แล้วก็ไม่เชื่อฟัง แล้วก็ดื้อดึง อย่างนี้เรียกว่ามีตัวและเห็นแก่ตัว
ทีนี้คนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว แต่ก็ยังมีความประพฤติผิดทำนองคลองธรรม นี่ก็เพราะความมีตัว มีตัวกู แล้วก็เห็นแก่ความต้องการของตัวกูอย่างเดียว ทำไปตามความพอใจของตัว ทีนี้แม้จะเป็นคนโตเต็มที่แล้วหรือเป็นคนแก่คนชราก็ยังคงมีความเห็นแก่ตัว ทำอะไรตามใจตัว ตั้งแต่ต้นจนปลาย จะเห็นได้ว่ามีเรื่องความเห็นแก่ตัวนี้แหละเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ฉะนั้นเราจะต้องมีอะไรอันหนึ่งมาเป็นคู่ปรับหรือเป็นเครื่องปราบซึ่งกันและแก่สิ่งเหล่านั้น ทีนี้เป็นคู่ปรับหรือเครื่องปราบนั้นก็ไม่มีอะไรนอกไปจากธรรม คือพระธรรม เพราะว่าพระธรรมนั้นมีลักษณะทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้ามีความเห็นแก่ตัวก็ไม่เป็นธรรม ดังนั้นชื่อว่าเป็นพระธรรมแล้วต้องทำลายความเห็นแก่ตัวเสมอไป ถ้าเด็ก ๆ ประกอบไปด้วยธรรมะแล้ว ก็ย่อมไม่มีความดื้อดึงต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ถ้าคนหนุ่มคนสาวประกอบอยู่ด้วยธรรมะแล้ว ก็จะไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม คนแก่คนเฒ่าก็เหมือนกัน ถ้าประกอบอยู่ด้วยธรรมะแล้ว ก็ไม่งมงายไปในทางถือตัว หรือวางตัวในลักษณะที่เป็นความเห็นแก่ตัว กระทั่งไม่ยอมใครดังนี้เป็นต้น ยิ่งแก่ยิ่งมีทิฐิถือรั้นมากขึ้นทุกทีอย่างนี้ เพราะว่าไม่ประกอบไปด้วยธรรม ถ้าประกอบไปด้วยธรรมแล้วก็จะไม่มีการถือรั้นไปในทางที่เป็นการถือตัวยึดมั่นในทางมีตัว
เราจึงเห็นได้ว่าธรรมะนั้นเป็นเครื่องปราบปรามความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ถ้ามีความดื้อรั้นแล้วก็เรียกว่าเป็นการขาดธรรมะด้วยกันทั้งนั้น เด็ก ๆ ไม่เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ก็เพราะมีความเห็นแก่ตัวจนไม่ประกอบไปด้วยธรรมะเสียเลย เด็ก ๆ ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์ ก็เพราะมีความเห็นแก่ตัวโดยไม่ประกอบไปด้วยธรรมะเสียเลย ภิกษุสามเณรไม่เชื่อฟังอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เพราะมีความเห็นแก่ตัวจนไม่ประกอบไปด้วยธรรมะเสียเลย หรือแม้ว่าคน ผู้คนพลเมืองของประเทศชาติ ไม่เชื่อฟังผู้ที่มีความรู้ มีสติปัญญาสามารถ แม้เป็นบัณฑิต ไม่เชื่อฟังแม้แต่พระเจ้าพระสงฆ์นี้ ก็เพราะปราศจากธรรมะ เพราะมีความเห็นแก่ตัว ถึงแม้ว่าพุทธบริษัททั่วไป เป็นพุทธบริษัทแต่ปาก ไม่ประพฤติธรรม นี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัว ไม่ประกอบไปด้วยธรรม ดังนั้นเราจะต้องรู้จักสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกอย่างยิ่งคือการยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ว่าของตน หรือถ้าเมื่อมัน นาทีที่ 0.43.55 ขึ้นกลับขึ้นมาเต็มทีแล้ว ก็คือความยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกูนั่นเอง ถ้ามันมีความรุนแรงถึงขนาดเป็นตัวกู เป็นของกูแล้ว มันไม่ดีอย่างไรหมด ไม่ฟังอย่างไรหมด ไม่เห็นแก่ผิด ไม่เห็นแก่ถูกอย่างไรหมด เอาแต่ความชอบใจของตัวเอง อย่างนี้ก็เป็นการปราศจากธรรมะโดยสิ้นเชิง ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผล ไม่ประกอบไปด้วยสติปัญญา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าธรรมมะแม้แต่อย่างเดียว นี่แหละคือการที่ไม่มีศาสนาอยู่ในขณะนั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้วสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์จะครอบงำโลกนี้ หรือเรียกว่าสิ่งที่เป็นพญามารกำลังมีอำนาจครอบงำโลกนี้ โลกนี้ก็เป็นทุกข์ ทีนี้เรามาช่วยกันที่จะปราบปรามพญามาร ทำลายล้างพญามารเสีย หรือเพิกถอนความทุกข์ให้หมดไปจากโลกนี้ ด้วยการทำให้มีพระศาสนา และช่วยกันสืบอายุพระศาสนาด้วยการกระทำทุกอย่างที่ควรทำ แม้ที่สุดแต่จะทำบุญให้ทานอะไร ก็ยังทำไปในลักษณะที่เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ หรือสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา ไม่เหมือนคนเหล่าอื่นบางพวกทำบุญให้ทานด้วยการเอาไปเผาไฟก็มี ด้วยการเอาไปทำพิธีรีตองอย่างอื่นก็มี หรือแม้ที่สุดแต่เอาไปเลี้ยงสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ก็มี ซึ่งเรียกว่ายังไม่ดีเท่ากับการเพิ่มกำลังให้แก่กันและกันในการสืบอายุพระศาสนา การกระทำอย่างอื่นนั้นอาจจะเป็นบุญเป็นกุศลได้บ้าง แต่ไม่ประเสริฐ ไม่สูงสุดเท่ากับการทำให้พระศาสนายังคงมีอยู่ในโลกนี้ ซึ่งเราบำเพ็ญทานในวันนี้ ก็บำเพ็ญทานหมู่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นที่รู้ เป็นที่เข้าใจ เป็นที่เชื่อถือกันอยู่แล้วว่า พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรม จะต้องปฏิบัติพระธรรม จะต้องได้รับผลของพระธรรมโดยสมควรแก่การปฏิบัติ ถ้าใครไม่ทำดังนี้ก็ไม่ใช่พระสงฆ์ แม้ว่าจะนุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนศีรษะ ก็ไม่ใช่พระสงฆ์ เพราะว่าไม่เป็นผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และได้รับผลของธรรมตามสมควรแก่ธรรม นี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วไม่ต้องพูดอีก ดังนั้นจึงเป็นอันว่าเมื่อกล่าว่า ทำการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนาแล้ว ย่อมจะหมายความว่าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่การตั้งอยู่ของพระศาสนานั่นเอง มันมีขอบเขตกว้างขวาง เช่นว่าจะบำรุงการศึกษาเล่าเรียน ก็บำรุงตลอดไปถึงสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงครูบาอาจารย์ที่จะเป็นคนสั่งสอน ตลอดถึงวัตถุเครื่องใช้ไม้สอยในการศึกษาเล่าเรียน ตลอดซึ่งอาหารการกินที่จะต้องมีมาเพื่อให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้ดังนี้เป็นต้น แต่แล้วมันก็ยังพูดได้อีกว่า กินก็เพื่อสืบอายุพระศาสนา หรือว่าอยู่ ก็อยู่เพื่อสืบอายุพระศาสนา จะกระดิกไปทางไหนก็ล้วนแต่ให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยกันทั้งนั้น อย่าให้เป็นการกินเพื่ออย่างอื่น อย่าให้เป็นการนอนเพื่ออย่างอื่น อย่าให้เป็นการอยู่เพื่ออย่างอื่น อย่าให้เป็นการขวนขวายอย่างอื่นก็แล้วกัน
เพราะฉะนั้นหมู่นี้ คณะนี้ คือพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้านี้ ย่อมเป็นอยู่ในลักษณะที่เป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยกันทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ว่า เราจะต้องทำอย่างนั้น จะต้องทำอย่างนี้ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี้ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา แม้ที่สุดแต่ว่าเมื่อมีใครดับขันธ์ทำกาลกิริยาขึ้นมา เราก็ต้องให้ทาน นี้ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา เราจะต้องรักษาศีล นี้ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา เราจะต้องฟังเทศน์ แม้อันนี้ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อทำให้คนใกล้ชิดอยู่กับธรรมะ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีความเจริญงอกงามในทางของธรรมะแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นขอให้เราพิจารณาดูให้ดี มองดูให้ดี ให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ข้อนี้ถ้าเรามองเป็น ก็จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริง ถ้าเรามองไม่เป็นก็ไม่เห็น เรามองไม่เป็นก็หมายความเราไม่ได้ทำ เราไม่ได้เป็นผู้สืบอายุพระศาสนาแม้แต่ประการใด ถ้าเรามีความเข้าใจเราก็ทำได้โดยง่าย โดยไม่ยาก อะไร ๆ ก็จะเป็นไปเพื่อสืบอายุพระศาสนาได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก โดยไม่ต้องเปลืองมาก โดยไม่ต้องยุ่งยากมาก ก็ยังเป็นการสืบอายุพระศาสนา แต่ถ้าเราเป็นคนโง่ เป็นคนงมงายแล้ว แม้กระทำไปในลักษณะที่เปลืองมาก เหนื่อยมาก ยุ่งยากมาก ก็ยังไม่เป็นการสืบอายุพระศาสนาไปก็มี เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าทุกคนจะได้ระมัดระวังให้ดี ๆ ที่จะเป็น หรือจะอยู่ หรือจะทำทุกอย่างให้เป็นไปเพื่อการสืบอายุพระศาสนาดังที่กล่าวมานี้ทุกประการ ก็จะสมกับข้อที่ว่าการกระทำทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา
ทีนี้ก็มาถึงข้อสุดท้ายที่ว่า ตุมเหหิ กิจจัง ปุญญัง ปะสุตัง อะนัปปะกัน (นาทีที่ 51:06) ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ บุญอันท่านทั้งหลายขวนขวายแล้วนี้ไม่ใช่เป็นของน้อยเลย ข้อนี้เป็นการรวบรัดเอาการกระทำทั้งหมดมาเป็นการกระทำในที่นี้ คือการแสดงญาติธรรมข้อที่หนึ่งนั้นก็ดี การบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วข้อที่สองก็ดี และการกระทำที่เพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนานั้นก็ดี นี้เอามารวมกันแล้วก็เรียกว่าบุญที่ได้ขวนขวายแล้ว ดังนั้นบุญที่ได้ขวนขวายแล้วนี้จึงเป็นของมาก จึงเป็นของไม่น้อยเลย มีมากเกินกว่าที่จะอุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วเหลือที่จะเปรียบกันได้ จึงมีมากพอที่จะอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในสากลโลกแล้วยังเหลือเฟืออยู่อีก ที่จะเป็นประโยชน์อยู่ตลอดกาลนานแก่คนทุกคน ทุกหนทุกแห่ง ขอให้มองให้ดี ให้พิจารณาให้ดี ให้มีความเข้าใจให้ดี ว่าการกระทำนั้น ถ้ากระทำไปถูกวิธีแล้วมันง่ายเหลือเกิน และมันมีบุญกุศลคือความดีมากมายเหลือเกิน เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยแท้จริงดังนี้ มันเสียอยู่ก็แต่ว่าเราเป็นเหมือนกับคนหูหนวกตาบอด มองไม่เห็น พูดก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นคนงมงายไปโดยประการต่าง ๆ เสียเอง จึงไม่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ ที่แท้ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์ ที่ควรมอง และอยู่ในวิสัยที่จะพึงกระทำได้ด้วยกันทุกคน จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ แล้วมีปีติปราโมทย์ในการกระทำของตน เป็นบุญเป็นกุศลแล้วพึงแผ่ไปโดยกว้างขวางและอุทิศเจาะจงเป็นพิเศษแด่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งมีสรีระทอดทิ้งปรากฏอยู่ ณ ที่นี้ เป็นประจักษ์พยานแห่งความรัก ความนับถือ ความกตัญญู ความกตเวที ที่เราได้มาร่วมประชุมกันเพื่อทำการฌาปนกิจศพในโอกาสนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยหัวข้อที่ว่า โสยาติธมโม จ อยัง นิทสสิโต ญาติธรรมได้แสดงออกแล้ว เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา การบูชาแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ได้กระทำแล้วอย่างโอฬาร พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ การกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนา ส่วน ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ บุญคือการกระทำทั้งหมดนั้น อันท่านทั้งหลายกระทำแล้ว เรียกได้ว่าเป็นของที่มากมายเหลือที่จะกล่าวได้ นี้เป็นอานิสงส์ของการกระทำสี่อย่าง สี่ประการด้วยกัน ที่จะพึงกระทำในโอกาสนี้
อาตมาขอโอกาสที่จะตักเตือนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่แต่ในเรื่องนี้ เพื่อว่าอาการ กระทำทั้งหลายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จะดีขึ้นตามลำดับ จะถูกต้องขึ้นตามลำดับ จะเป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแก่ท่านทั้งหลายยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เป็นผู้กระทำถูกต้อง ไม่งมงาย สมตามคำที่กล่าวว่า นาที่ที่ 0.55.15 อติเหสติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก ซึ่งแปลว่าสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ดังที่ได้วิสัชนามาพอสมควรแก่เวลา หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ถือเอาข้อความแห่งธรรมเทศนานี้ไปศึกษา ไปพินิจพิจารณา ประพฤติ กระทำ ให้ได้รับประโยชน์โดยสมควรแก่การกระทำ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ตนเอง และแก่บุคคลอื่น และอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ได้โดยสมควรแก่การกระทำทุก ๆ ประการ สำเร็จผลสมตามความประสงค์จำนงหมายทุก ๆ เมื่อเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้