แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว ว่าเป็นธรรมเทศนาเนื่องในอภิลักขิตสมัยของท่านบูรพาอาจารย์ผู้ล่วงลับไปและเราทั้งหลายได้ช่วยกันประกอบทักษิณานุปทานกิจ อุทิศส่วนกุศลแด่ท่าน ธรรมเทศนาเนื่องกันกับการกระทำอันนี้ จึงมีการกล่าวถึงเรื่องราวอันเกี่ยวกับท่านผู้เป็นบูรพาจารย์ เรียกว่าเรื่องอันเกี่ยวกับครูบาอาจารย์ หรือเรื่องอันเกี่ยวกับอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็แล้วแต่กรณี ว่าบุคคลนั้น ๆ ตั้งอยู่ในฐานะเป็น ศิษยานุศิษย์ หรือเป็นมิตรสหาย หรือแล้วแต่ว่าจะเกี่ยวข้องกันทางใด หลายอย่างหลายทางก็ได้ แต่ในที่นี้จะได้กล่าวถึง ครุฐานิยะบุคคล หรือบุคคลที่ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาโดยทั่วไป หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่า ว่าด้วยเรื่อง ครุบุคคล คือบุคคลที่เป็นผู้ที่คนทั้งหลายควรจะมีความหนัก คือความเคารพ เราทั้งหลายไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ล้วนแต่จะต้องมีบุคคลที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยที่สุดก็มีท่านอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีสรีระปรากฏอยู่เป็นสักขีพยานในที่นี้ ก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็น ครุฐานียบุคคล คือบุคคลผู้ที่ควรเคารพหรือควรหนัก หรือเรียกว่าครูบาอาจารย์ หรืออุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วแต่จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ถ้าจะกล่าวโดยกว้างขวางทั่วไปแล้วก็ต้องกล่าวได้ว่า ในโลกนี้ทุกคนต้องมีที่เคารพ คือทุกคนจะต้องมีครูบาอาจารย์นั่นเอง เพราะว่าการอยู่โดยเสมอกันโดยไม่มีที่เคารพนั้นเป็นความทุกข์ ท่านได้กล่าวไว้นมนามแต่โบราณกาลว่า การอยู่เสมอกันเป็นความทุกข์ แม้ในพระพุทธศาสนาเราก็มีคำกล่าวว่า ทุกฺโข สมานสํวาโส การอยู่โดยเสมอกันเป็นความทุกข์ดังนี้ เป็นอันว่าเราจะต้องมีที่เคารพ คือมีที่ ๆ สูงกว่า คือมิใช่เสมอกัน นั่นแหละคือ ครุฐานียบุคคล
ที่นี้จะได้พิจารณากันโดยละเอียดถึงข้อที่ว่า ผู้ที่เป็นครู หรือเป็น ครุฐานียบุคคล นี้มีอยู่อย่างไรบ้าง จะได้นำมากล่าววิสัชนาให้ทั่วถึง เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาทั่ว ๆ ไปบ้าง และเพื่อจะได้สำนึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีสรีระตั้งอยู่เป็นสักขีพยานในที่นี้ด้วยบ้าง ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังให้ดี ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ข้อแรกที่ว่าเราจะต้องมีครูบาอาจารย์นั้น ขอให้เป็นที่ยุติถูกต้องกันทั่วไปไม่มีข้อคัดง้างกันเสียก่อนให้พิจารณาให้เห็นว่า คนเราเกิดมาไม่รู้อะไร ต้องมีผู้สอน ผู้ชักนำ ผู้ชักจูง แล้วก็ต้องมีหลักสำหรับยึดถือและมีที่เคารพสำหรับให้ทำความเคารพ เพื่อจะประพฤติตามหลักที่ยึดถือให้สำเร็จประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนได้ เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพนั้น เป็นของสำคัญ เราอยู่มาได้ด้วยกันทุกวันนี้ด้วยความสงบสุขนี้ก็เพราะมีที่เคารพ เราเรียกท่านอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์เพชร นี้ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ มิฉะนั้นเราก็ไม่เรียกท่านว่าท่านอาจารย์ ความหมายสำคัญอยู่ตรงที่จะต้องมีความรู้สึกเคารพ เมื่อมีความเคารพแล้วก็จะมีความรู้สึกอย่างอื่นตามมา เช่น ความเชื่อฟัง การปฏิบัติตาม หรือการเห็นอกเห็นใจ หรือการไม่กล้าทำอะไรให้ฝืนใจของท่าน เมื่อเป็นดังนี้ก็ย่อมเป็นหนทางให้มีแต่การกระทำที่ดีที่งามเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านสืบต่อไป เดี๋ยวนี้เราประชุมกันเพื่อบำเพ็ญทักษิณานุปทานกิจ มีประการต่าง ๆ เพื่อท่านที่เคารพนั้น เพราะเหตุว่า ก็ด้วยเหตุที่ว่า มีความเคารพอีกนั่นเอง ขอให้นึกถึงคำว่า บุคคลอันที่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพนี้อยู่ในใจตลอดเวลาที่จะได้ฟังธรรมเทศนาต่อไปด้วย
คำว่า ที่เคารพ นั้น ควรจะนึกถึงให้ไกลเลยลงไปถึงบุคคลทีแรกที่สุดซึ่งเรียกว่า บุพพาจารย์ คือ บิดามารดา บิดามารดาตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะและเป็นอาจารย์ แต่ว่าคำพูดในภาษาไทยของเรา ไม่ได้เรียกว่า อาจารย์ หรือไม่ได้เรียกว่า ครู เรียกกันว่า บิดามารดา นั้นก็เพราะเพ่งเล็งถึงอาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือผู้ที่ให้กำเนิดมา ชีวิตของเราได้มาจากบุคคลทั้งสองนี้ ทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นบิดามารดา แต่แล้วเราอย่าลืมไปว่า บิดามารดานั้น ไม่เพียงแต่ให้กำเนิดชีวิตเรามา แต่ท่านได้ทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์ด้วย คือสอนสารพัดอย่าง สอนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก หรือว่าสอนมาตั้งแต่ลืมหูลืมตามาในโลกนี้ทีเดียว ที่สำคัญที่สุดก็สอนให้รู้จักกินอาหาร สอนให้รู้จักป้องกันอันตราย จึงได้รอดชีวิตมาได้ดังนี้ แล้วก็สอนให้รู้จักทุก ๆ สิ่งที่คนเราควรจะรู้ในเบื้องต้น เพราะฉะนั้นบิดามารดาจึงเป็นอาจารย์ยิ่งกว่าบุคคลใด และเป็นอาจารย์ก่อนกว่าบุคคลใดทั้งหมด เราจึงได้เรียกว่าบูรพาจารย์ เมื่อดูอีกทางหนึ่ง บิดามารดาก็เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ตรงกับคำว่า ครุฐานียบุคคล ด้วยเหมือนกัน บิดามารดาตั้งอยู่ในฐานะที่ควรเคารพแก่บุตรมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แต่ความรักในฐานะที่เป็นบิดามารดามีมากกว่า จึงไม่ได้เรียกว่า ครู ทั้ง ๆ ที่มีความเป็นครูอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ที่เนื้อที่ตัวของบิดามารดา และทุกเวลาทั้งหลับและทั้งตื่น เพราะฉะนั้นเราควรจะนึกถึงครู คือบิดามารดา ก่อนพวกอื่นหมด นี้คือครูในฐานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งทีเดียว
ที่นี้เมื่อเลยไปถึงผู้ที่รับหน้าที่ต่อมา คือครูที่โรงเรียน หรืออุปัชฌาย์อาจารย์ที่วัด นี้ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นครู เราเรียกชื่อต่าง ๆ กันไปว่า เป็นครู ครูบาอาจารย์ก็มี เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ก็มี แต่ความหมายอยู่ในที่ ๆ เดียวกันอย่างหนึ่งคือผู้ที่ควรเคารพ ครูก็ควรเคารพ อุปัชฌาย์ก็ควรเคารพ อาจารย์ก็ควรเคารพ ในตอนนี้อยากจะให้ท่านทั้งหลายได้ทราบหรือได้พิจารณากันโดยละเอียดสักหน่อยว่า ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์นี้เป็นอย่างไร คือบุคคลชนิดใด ถ้าเราจะถือเอาภาษาไทยเป็นหลักย่อมฟั่นเฝือ เพราะว่าเราเรียกกันอย่างฟั่นเฝือ เพราะฉะนั้นเราจะถือเอาภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตก็ได้เป็นหลัก และถือเอาตามที่ใช้กันอยู่ในประเทศอินเดียในครั้งโบราณกาล ถ้าถือเอาอย่างนี้แล้วความหมายก็จะต่าง ๆ กันไป แต่ละคำ ๆ ไม่เหมือนกัน และจะต้องย้อนมาจากคำว่าอาจารย์ก่อน แล้วจึงถึงอุปัชฌาย์ แล้วจึงจะถึงครู เพราะว่า คำว่า อาจารย์ นั้นหมายถึงผู้ฝึกฝนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการฝึกฝนในทางมารยาท ในทางกิริยา หรือการประพฤติต่อสังคมเป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นผู้ฝึกในทางมารยาทในทางสังคม
ทีนี้ถัดจากคำว่าอาจารย์ ก็มาถึงคำว่าอุปัชฌาย์ คำว่า อุปัชฌาย์ ในภาษาท้องถิ่นในอินเดียแต่โบราณนั้น หมายถึง อาจารย์เฉพาะวิชา อาจารย์ที่จะต้องเพ่งเล็งเฉพาะวิชา ได้แก่อาจารย์ที่สอนวิชาอาชีพ นั่นเอง อาจารย์ที่สอนอาชีพให้อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เขาเรียกว่า อุปัชฌาย์ แม้แต่สอนร้องเพลง สอนดนตรีนี้ก็เรียกว่าอุปัชฌาย์ในวิชานั้น ๆ เป็นผู้ที่ศิษย์จะต้องเพ่งเล็งโดยเฉพาะเจาะจงลงไปในวิชาใดวิชาหนึ่ง หน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง นี้เป็นคำทั่วไป อย่าเพ่อนึกถึงความหมายโดยวงแคบในพุทธศาสนา โดยวงแคบในพุทธศาสนา คำว่า อุปัชฌาย์ หมายถึงผู้ให้อุปสมบท ผู้ชักนำเข้าสู่การอุปสมบท เพื่อให้สงฆ์ให้อุปสมบทแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น อุปัชฌาย์ในกรณีอย่างนี้โดยความหมายที่ลึกซึ้งก็คือ ผู้ที่ทำให้บุคคลคนนั้นมีอาชีพร่วมกันกับภิกษุสงฆ์ ที่เรียกว่ามีสิกขาและสาชีพกับภิกษุทั้งหลายนั่นเอง เรายังเข้าใจผิดกันอยู่มากในคำ ๆ นี้ คล้าย ๆ กับว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้ให้อุปสมบท โดยที่แท้แล้วคณะสงฆ์ต่างหากเป็นผู้ให้อุปสมบท อุปัชฌาย์ เป็นผู้ที่รับประกันและรับรองบุคคลคนนั้น เพื่อให้สงฆ์ให้อุปสมบท เพราะฉะนั้นอุปัชฌาย์จึงเป็นที่เพ่งเล็งของ อุปสัมปทาเปกข์ คือผู้บวช จะต้องเพ่งเล็งเฉพาะต่ออุปัชฌาย์ผู้นั้น ผู้นั้นจึงได้ชื่อว่าอุปัชฌาย์ และผู้นั้นก็ได้ทำให้สำเร็จประโยชน์ในการที่ทำให้ภิกษุบวชใหม่นั้นมีสิกขาและสาชีพ คืออาชีพเนื่องกันกับภิกษุทั้งหลาย พิจารณาดูอย่างนี้แล้วก็ยังเห็นได้ว่า คำว่า อุปัชฌาย์ นั้น หมายถึงผู้ให้สำเร็จในอาชีพอยู่ตามเดิม เป็นความหมายที่กว้างขวางทั่วไปไม่ว่าในวิชาอาชีพชนิดไหน
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ครู คำว่าครูในที่นี้มีความหมายเป็นผู้นำในทางวิญญาณ คือบรรดาวิชาความรู้ที่ลึกซึ้งทางจิต ทางใจ ทางวิญญาณที่ครูธรรมดาสามัญสอนให้ไม่ได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของครูชนิดนี้ คือเป็นผู้นำในทางวิญญาณ นำวิญญาณให้เดินไปในถูกทาง ให้เดินไปถูกทางของสิ่งที่เป็นกุศล เพื่อให้ชนะได้ทั้งโลกนี้ ชนะได้ทั้งโลกหน้า และชนะได้จนเหนือโลก เป็นต้น นี้เรียกว่าผู้นำในทางวิญญาณ หน้าที่มันสูงกว่าฝึกหัดทางมารยาท และสูงกว่าอาจารย์ที่สอนวิชาอาชีพ เราพิจารณาดูให้ดี เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้นำทางวิญญาณ หรือเป็นครู หรือเป็นบรมครูของเรา เพราะว่าเป็นผู้นำวิญญาณให้เป็นไปในทางสูง ๆ ๆ ขึ้นไปจนสูงเหนือโลก ที่เรียกว่า โลกุตระได้ ทบทวนใหม่ ซึ่งท่านทั้งหลายจะต้องจำตามตัวหนังสือไว้ก่อนว่า อาจารย์นั้นคือผู้ฝึกมารยาทหรือฝึกวิชาทั่ว ๆ ไปแม้กระทั่งสอนหนังสือ ส่วนอุปัชฌาย์นั้นคืออาจารย์ผู้สอนอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนครูนั้นคือผู้นำในทางวิญญาณอันเป็นความรู้ที่ลึกขึ้นไปกว่าธรรมดา พิจารณาดูเถิดว่ามันต่างกันมากและมีอยู่เป็นระดับอย่างนี้ในสมัยโน้น โดยภาษาที่มีอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยโน้น แต่พอมาถึงสมัยนี้ในประเทศไทยเราโดยเฉพาะ คำว่า ครู เข้ามาแทนที่อาจารย์ เรียกคนที่เป็นครูได้ทั่วไปหมดแม้แต่ครูสอนหนังสือ หรือครูสอนอาชีพ คำจึงฟั่นเฝือปนเปกัน แต่พูดกันอย่างภาษาไทยก็ต้องเอาตามภาษาไทย แต่ถ้าพูดอย่างภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตแต่เดิมแล้วก็ต้องเอาอย่างภาษานั้น ๆ จะได้ความตามนั้น แล้วท่านทั้งหลายก็ไปพิจารณาดูเอาเองว่า ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ นี้ต่างกันอย่างไร ท่านอาจารย์ของเราผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านก็ต้องอยู่ในฐานะเป็นครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ เพราะว่าทางหนึ่ง ท่านก็สอนเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องกิริยามารยาท เรื่องหนังสือหนังหาแก่คนบางคน อีกทางหนึ่งท่านก็ตั้งอยู่ในฐานะสอนวิชาเฉพาะที่จะช่วยบุคคลผู้นั้นให้รอดชีวิตได้ในการทำอาชีพ ในทางหนึ่งท่านก็เป็นผู้นำทางวิญญาณ คือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติที่เป็นกุศลสัมมาปฏิบัติ ทำบุคคลให้ก้าวหน้าไปในทางสูงของจิต ของวิญญาณ นี้จึงเรียกว่าเป็นทั้ง ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ พร้อมกันไปในตัว เจือกันไปในตัว แต่เราเรียกท่านว่า อาจารย์เพชร เฉยๆ อย่างนี้ ถ้าพิจารณากันเพียงเท่านั้นมันยังไม่พอ จะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า ท่านเป็นผู้ฝึกมารยาท ท่านเป็นผู้สอนวิชาชีพ ท่านเป็นผู้นำในทางวิญญาณ คำว่า ครู มีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ เมื่อเราทบทวนดูให้ดี จะเห็นว่าผู้ที่เป็นบิดามารดาก็ยังเป็นครู คือสอนทางมารยาทก็สอน สอนวิชาอาชีพก็สอน เป็นผู้นำในทางวิญญาณมากน้อยตามความสามารถของท่าน จึงจะเห็นได้ว่าที่เราเรียกรวม ๆ กันว่า ครูบาอาจารย์ นั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย และมีความหมายแตกต่างกันอยู่เป็นสามอย่าง คือผู้ฝึกมารยาทก็มี ผู้สอนอาชีพก็มี ผู้นำในทางวิญญาณก็มี ยิ่งพิจารณาดูให้ดีก็จะยิ่งพอใจในพระคุณของท่าน และบิดามารดายังมีความหมายเป็นพิเศษในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ชีวิต เป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ดังนี้ นี้เราได้พิจารณากันถึงคำว่า ครู ในฐานะที่เป็นบุคคล อย่าได้ประมาทเลย ว่าคนเราจะไม่ต้องมีครู และอย่าได้ประมาทเลยว่าคนแต่ละคนจะไม่เป็นครู เพราะว่าแม้ที่สุดแต่ท่านนั่งอยู่นิ่ง ๆ ก็ยังเป็นครู สมมุติว่าท่านอาจารย์เพชรจะนั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้พูดอะไรสักคำท่านก็ยังเป็นครู หมายความว่าเมื่อเรามองดูท่านที่นั่งนิ่ง ๆ นั่นเราต้องเข้าใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งจนเราไม่กล้าทำอะไรลงไปให้ผิดความประสงค์ของท่าน เพราะเราเกรงใจท่าน เพราะเรารักท่าน และเพราะเรารู้จิตใจของท่านว่าต้องการอะไร ดังนั้นเพียงแต่ท่านนั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ปริปากเลย ท่านก็เป็นครูของเราเต็มที่ทั้งเนื้อทั้งตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพูดกันถึงการที่ท่านจะต้องปริปาก หรือบางทีสมัยหนึ่งท่านจะต้องจับไม้เรียวขึ้นเฆี่ยนตีเด็กบางคน หรือจะได้พร่ำสอนภิกษุสามเณรสืบมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงว่าในสมัยที่ท่านพูดอะไรไม่ได้นั่งอยู่นิ่ง ๆ ก็ยังเป็นครู แม้เหลืออยู่แต่ร่างกายในลักษณะเช่นนี้ท่านก็ยังเป็นครู แม้ว่าจะเอาไปบรรจุไว้ในเจดีย์แล้ว ท่านก็ยังตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นครู คือเราจะต้องมีความเคารพต่อท่าน และความปรากฏอยู่แห่งสรีระของท่าน หรือเกียรติคุณของท่าน หรืออะไร ๆ ของท่านนั่นจัดเป็นครู คือว่าจัดเป็นเครื่องชักจูงจิตใจ หรือว่าจะช่วยให้บุคคลเกิดความรู้สึกระลึกนึกคิดไปตามทางที่ท่านต้องการให้เป็นไป แล้วเราก็มีความเคารพนับถือ มีความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ก็ต้องทำตามที่เรารู้สึกว่าท่านมีความต้องการจะให้ทำ เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นครูตลอดเวลาแม้ว่าจะถูกบรรจุเข้าไปในเจดีย์แล้ว นี่แหละคือข้อที่ว่าเราจะต้องนึกถึงบุคคลที่เรียกว่า ครู ๆ นี้กันอย่างไรบ้าง ซึ่งกินความไปถึงบิดามารดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี้คือครูในฐานะที่เป็นบุคคล
ต่อไปนี้ก็จะได้กล่าวถึงครูในฐานะที่ไม่ใช่บุคคล คือเหตุการณ์เป็นต้น ถ้ามีสติปัญญา ถ้าคนเรามีสติปัญญา สิ่งต่าง ๆ ก็จะเป็นครูได้ แต่ว่ากันโดยที่แท้แล้ว สิ่งต่างๆ ก็เป็นครูอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกันกับคนเราเป็นประจำวัน คือการงานที่เราทำอยู่ทุกวัน หรือว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา หรือว่าตัวชีวิตนั่นเองที่ได้ประสบสิ่งต่าง ๆ มามากแล้ว มันก็เป็นครู การงานที่เราทำอยู่ทุกวัน ๆ มันสอนให้เราฉลาดขึ้น ให้รู้จักทำให้ดีขึ้น การงานนั้นมันก็เป็นครูของเรา เหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น การตกทุกข์ได้ยาก การรวย แล้วการจน ยากเจ็ดที มีเจ็ดหน อะไรทำนองนี้ มันก็เป็นครู สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจของเราทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนแต่เป็นครู เราก็ฉลาดขึ้นเพราะสิ่งนี้มากกว่าอย่างอื่น คิดดูให้ดี ว่าสิ่งที่เรียกว่าครู นั้นไม่ใช่มีแต่บุคคล แม้แต่การงานและชีวิตนั้นเอง มันก็เป็นครูได้ แต่คนโง่ ๆ ไม่สนใจแล้วกลับประมาท แล้วก็อวดดี ไม่ให้ความเคารพแก่ครูชนิดนี้ เขาจึงโง่ไปจนตาย ทว่าจะให้สนใจกันให้ดี ๆ มีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครูชนิดนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไป คือจะชี้ให้เห็นในข้อที่ว่า แม้แต่ความผิดก็เป็นครู การกระทำที่ทำลงไปผิดจนได้รับความเดือนร้อนแสนสาหัสนั่นแหละเป็นครู เพราะมันสอนอย่างแท้จริง สอนอย่างรุนแรง สำหรับความถูกนั้นไม่ค่อยเป็นครู เป็นอย่างไรลองพิจารณากันดูให้ดี เมื่อเราทำผิดเราก็ต้องได้รับโทษ ได้รับทุกข์ มันก็เจ็บปวด มันก็คิดมาก นึกมาก มันก็เป็นครูสอนให้มาก แต่ถ้าเราทำถูกได้รับผลเป็นที่พอใจ ก็สนุกสนานเพลิดเพลินไปเสีย ไม่รู้จักครู ไม่ขอบใจครู ไม่รู้สึกว่ามันเป็นครู นี่แหละระวังให้ดี ๆ ความทุกข์นั้นเป็นครู แต่ความสุขนั้นไม่ค่อยจะเป็นครู กลับจะเป็นผู้ชักชวนให้เหลิงเจิ้งฟุ้งเฟ้อไปเสียอีก จงพอใจที่จะพิจารณาให้ดีว่าความผิดพลาดนั้นเป็นครู ความทุกข์ยากลำบากนั้นเป็นครู เป็นครูอย่างยิ่ง ส่วนความถูกหรือความสนุกสนานสบายนั้น เป็นผู้ที่หลอกลวงให้เข้าใจผิดต่อโลก ต่อชีวิตนี้ ไม่เป็นครูเอาเสียเลย เราจึงขอบใจความทุกข์ยากลำบาก หรือแม้แต่ความผิดพลาดที่เมื่อทำลงไปแล้วได้รับความลำบากแสนสาหัสกว่านี้ก็เป็นครูอย่างยิ่ง ครูชนิดนี้เราไม่ค่อยสนใจ เราไม่ค่อยให้ความเคารพนั้นมันเป็นความโง่ของเรา เราจึงได้อะไร ๆ จากครูชนิดนี้น้อย เมื่อเราได้น้อยเราก็ต้องทำผิดอีกต่อไป เราก็ต้องมีความยากลำบากมากมายอีกต่อไป แต่ถ้าสนใจให้ดี ๆ แล้วจากความผิดพลาดหรือความทุกข์ยากลำบากนั้น เราจะได้รับความรู้ที่ดีที่สุดและสอนให้เราทำถูกไม่มีผิดอีกต่อไป
ทีนี้จะดูกันต่อไปอีกว่า ครูที่ไม่ใช่บุคคลนั้น ยังมีอย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่อีกประเภทหนึ่ง คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ที่เรียกว่าธรรมชาตินี้ เราหมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ก้อนหิน ต้นไม้ แผ่นดิน ความร้อน ความหนาว ทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย กิเลสบ้าง ความทุกข์บ้างที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติในจิตใจของคนเรานี้ คือธรรมชาติที่จะเป็นครู เราจะต้องดูให้ดี ๆ ให้รู้จักครูชนิดนี้ หรือครูตัวนี้ ครูคนนี้ให้ถูกต้อง คือธรรมชาติ ธรรมชาติที่จะต้อง เกิด แก่เจ็บ ตาย ธรรมชาติที่จะต้องเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมชาติที่เป็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วก็ร้อนรน ธรรมชาติที่ไม่ใช่กิเลสมีอยู่แล้วก็สงบเย็น อีกมากมายหลายสถานที่เป็นตัวธรรมชาติและเป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมชาตินี้เป็นครู เป็นครูอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลา แต่เราก็ได้รับความฉลาดขึ้นมาจากครูตัวนี้ ยิ่งกว่าครูชนิดไหน ลึกซึ้งยิ่งกว่าครูชนิดไหน ถ้าจะกล่าวให้ดีก็อาจจะกล่าวได้ทีเดียวว่า ธรรมชาติสอนนี้ดีกว่าพุทธเจ้าสอน ถ้าท่านไม่เข้าใจท่านก็คงจะคัดค้านในการที่จะกล่าวว่า ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนในที่นี้หมายถึงบุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้าสอนด้วยปาก สอนด้วยเสียงตามแบบของคนที่สอน ๆ กัน นี้ก็อย่างหนึ่งเรียกว่า พระพุทธเจ้าสอน ส่วนธรรมชาติสอนนั้นไม่มีบุคคลที่ไหนมาสอนแต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดอยู่ในใจนั้นมันสอน เช่น พอกิเลสเกิดขึ้นมันก็สอนให้รู้ว่าร้อนอย่างไร เจ็บปวดอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร เมื่อไม่มีกิเลสมันก็สอนให้รู้ว่าสงบเย็นอย่างไร และธรรมชาติสอนนี้ ชัดเจนแจ่มแจ้ง เฉียบขาด เด็ดขาด ประจักษ์แก่ใจอย่างยิ่ง ไม่เหมือนกับที่บุคคลสอนซึ่งเป็นเพียงคำพูด ต้องเอาไปคิด ไปนึก ไปศึกษา ไปปฏิบัติอีกต่อหนึ่ง ไม่ทันทีทันควันเหมือนที่ธรรมชาติสอน เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน แต่เพราะเหตุนั้นเองพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าเชื่อคำที่ตถาคตกล่าวในทันที ท่านทั้งหลายจะต้องไปพิจารณาดู ให้รู้จักสิ่งที่มีอยู่ตามเป็นจริง ในจิตใจ ในชีวิตแล้ว เห็นจริงแล้ว จึงเชื่อคำของตถาคต เช่นสอนว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างนี้ มันก็เชื่อทันทีไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ แต่ถ้าไปรู้จักตัวความโลภ ความโกรธ ความหลง เสียจริง ๆ แล้ว มันก็จะรู้ทันทีและถึงที่สุดว่าเป็นความทุกข์อย่างไร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า อย่าเชื่อตถาคตแต่ให้เชื่อตัวเองที่ได้รู้สึกหรือได้เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ๆ ตามที่ตถาคตสอน เช่นพระตถาคตสอนเรื่องความทุกข์ ท่านทั้งหลายก็จะเข้าถึงตัวธรรมชาติคือความทุกข์เสียก่อน จึงจะรู้จักความทุกข์และเข้าใจความทุกข์ และจะสอนเรื่องความดับทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติ ๆ ๆ จนตัวความดับทุกข์ปรากฏเสียก่อน จึงจะรู้จักตัวความดับทุกข์ การที่ความทุกข์ปรากฏหรือความดับทุกข์ปรากฏนี้เป็นตัวธรรมชาติปรากฏ เป็นการสอนของธรรมชาติ เพราะเหตุเช่นนี้แหละเราจึงเห็นได้ทันทีว่า พระพุทธเจ้าก็โอนหน้าที่หรือพ้นหน้าที่อันนี้ไปยังธรรมชาติ ให้เราเข้าไปติดต่อกับธรรมชาติแล้วให้ธรรมชาติสอน พระองค์จึงได้ตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้ทาง การเดินทางเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องเดินเอง ไม่มีใครเดินแทนได้ หมายความว่าพระพุทธเจ้าก็มาดับทุกข์แทนเราไม่ได้ เราจะต้องมาดับทุกข์ของเราเอง เราจะต้องเข้าถึงตัวธรรมชาติที่เป็นความทุกข์และเป็นความดับทุกข์ด้วยตนเอง ให้ธรรมชาตินี้ประจักษ์แก่ใจแล้ว ก็เป็นธรรมชาติสอนขึ้นมา พระศาสดาจึงเป็นแต่ผู้ที่ชี้ให้เรารู้จักถือเอาธรรมชาติเป็นครูให้สำเร็จ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ให้เรารู้จักถือเอาธรรมชาติมาเป็นครูให้สำเร็จ คือให้เข้าถึงธรรมตามธรรมชาติ ให้เข้าถึงธรรมทุกอย่างทุกประการตามธรรมชาติแล้วรู้ประจักษ์แก่ใจเองโดยที่ธรรมชาตินั้นเป็นผู้สอน พระพุทธเจ้ามีพระคุณแก่เรามากมายก็ตรงที่ชี้หนทางให้เรารู้จักถือเอาธรรมชาติมาเป็นครูแก่เราได้สำเร็จ ข้อนี้ก็ได้แก่การถือเอาธรรมะมาเป็นครูแก่เราให้ได้สำเร็จ พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระบรมครูของเราก็เพราะเหตุนี้ เพราะท่านชี้หนทางให้เราถือเอาธรรมชาติมาเป็นครูได้สำเร็จ ดังนั้นแหละจึงมีคำกล่าวดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็น นิกเขปบท ตั้งต้นว่า เย จะพุทธา อะตีตา จะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดในอดีตก็ดี เย จะพุทธา อะนาคะตา พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดในอนาคตก็ดี ปัจจุปันนา จะ เย พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดในปัจจุบันนี้ก็ดี สัพเพ สัทธัมมะคะรุโน พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นทุกพระองค์ทั้งปวงล้วนแต่เคารพพระธรรม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรม ลองคิดดูเถิดว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องเคารพพระธรรม ก็เพราะว่าพระธรรมเป็นครูของพระพุทธเจ้า เป็นครูที่ยิ่งเหนือไปกว่าพระพุทธเจ้า ข้อนี้ปรากฏเรื่องราวอยู่ในคัมภีร์นั้น ๆ แล้วว่าเมื่อพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาใหม่ ๆ ในวันนั้น ท่านก็รำพึงถึงข้อที่ว่า เราตถาคต จักถือสิ่งใดเป็นที่เคารพ จะถือผู้ใดเป็นที่เคารพ พระองค์ทรงทบทวนไปทบทวนมา ในที่สุดก็พบว่า ไม่มีบุคคลใดหรือสิ่งใดที่ควรเป็นที่เคารพแก่พระพุทธเจ้านอกไปจากธรรม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์จึงได้เคารพพระธรรม ถือเอาพระธรรมเป็นครู เราจึงกล่าวได้ว่า ยอดสุดของครูหรือบรมครูก็คือ พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ได้ถือเอาเป็นที่เคารพ มีความเคารพหนักแน่นในสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นี่แหละลองประมวลดูเถิดว่า ผู้ที่เรียกว่า ครู ๆ กันนี้มีอยู่สองประเภท คือครูที่เป็นบุคคลด้วยกันสอนให้ เช่น บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์เหล่านี้พวกหนึ่ง เรียกว่าครูที่เป็นบุคคล ที่นี้ครูอีกพวกหนึ่ง ไม่ใช่บุคคล เป็นนามธรรม หรือแม้แต่เป็นสิ่งของวัตถุที่ไม่ใช่บุคคลก็มีอยู่อีกพวกหนึ่งซึ่งสอนให้เรารู้อะไรอย่างแท้จริงยิ่งขึ้นทุกวัน ๆ มีความเจนจัดในสิ่งนั้น ๆ มากขึ้นทุกวันจนรู้ถึงธรรมชาติอันลึกซึ้งที่เรียกว่า กระทำ และมีพระธรรมเป็นยอดสุดของครู สำหรับที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพโดยประการทั้งปวง ที่นี้ในที่สุดเราก็มาพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อได้เข้าถึงธรรม บรรลุธรรม บรรลุสัจธรรมโดยแท้จริงอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แล้ว มีธรรมะหรือมีพระธรรมเป็นครูแล้ว ก็ยังมีทางที่จะนึกต่อไปอีกว่า ครูคนสุดท้ายก็ยังมีอยู่คือ ตัวเราเอง ผู้ที่บรรลุธรรมถึงที่สุดแล้วย่อมมีลักษณะเป็นครูแก่ตัวเอง และจะต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งแทงตลอดต่อธรรมนั้น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างโดยประการทั้งปวง จึงจะเป็นผู้ที่เรียกว่าเป็นครูต่อตัวเองได้ หมายความว่าเราอยากจะรู้อะไร อยากจะเห็นอะไร อยากจะรู้สึกอะไร ก็สามารถจะรู้ จะเห็น จะรู้สึกได้จากตัวเราเอง เดี๋ยวนี้เรามีความสงสัยอะไรก็ถามตัวเองได้ ไม่ต้องไปถามใครที่ไหน จะถามเรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์ หรือเหตุให้เกิดทุกข์ หรือทางให้ถึงความดับทุกข์ เรื่องมรรคผลนิพพานอะไร ๆ ก็ถามตัวเองได้ ตัวเองอาจจะตอบได้และได้ดีที่สุดกว่าที่คนอื่นจะตอบให้ เพราะฉะนั้นในที่สุดเมื่อบุคคลได้บรรลุถึงธรรมะอันสูงสุดแล้วก็กลายเป็นครูแก่ตัวเอง มีตัวเองเป็นครูอันสูงสุดดังนี้ แต่พิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่า ตัวเองในที่นี้นั้นก็คือธรรม หรือพระธรรมอีกนั่นเอง เพราะว่าพระธรรมได้มีอยู่ในจิตใจอย่างสมบูรณ์ อะไร ๆ จึงมีครบถ้วนอยู่ในจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงแสวงหา หรือจะถาม หรือจะซักไซ้อะไรได้จากจิตใจของตัวเอง โดยไม่บกพร่อง โดยไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใดดังนี้ อย่างนี้ คนอย่างนี้เรียกว่า คนที่เต็มเปี่ยมแล้ว คือเป็นพระอรหันต์ คำว่าพระอรหันต์หมายถึงบุคคลที่เป็นไปจนถึงความเต็มเปี่ยมของความเป็นคน เป็นไปจนถึงความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ควรแก่คำว่ามนุษย์ ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ ก็เป็นครูแก่ตัวเองได้ แล้วก็เป็นผู้หนักต่อตัวเอง มีความเคารพต่อตัวเอง เป็นผู้หนักในพระธรรมที่มีอยู่ในลักษณะที่สมมุติเรียกว่า ตัวเราเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นดวงประทีป จงเป็นผู้มีตนเป็นสรณะ คือมีธรรมะเป็นดวงประทีป มีธรรมะเป็นสรณะดังนี้ นี้เรียกว่าเรามี ครุฐานียธรรม ถึงที่สุด มีบุคคลที่เป็นครูถึงที่สุด มีธรรมชาติที่เป็นครูถึงที่สุด ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนาเลย
ในที่สุดนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้พิจารณาดูให้ดี ว่าคำพูดเพียงคำเดียวว่า ครู ครูนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งจะทบทวนได้ครั้งหนึ่งโดยย่อ ๆ ว่า ครูที่เป็นบุคคลก็มี คือบิดามารดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ที่เราเรียกกันอยู่ทั่วไป ครูที่ไม่ใช่บุคคลก็มี เช่นสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวเราก็สอนอะไร ๆ ให้เราฉลาดขึ้น ชีวิตการงานก็สอนเราให้ฉลาดขึ้น ธรรมชาติที่มีกฎแห่งความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้ก็สอนอะไร ๆ ให้เราฉลาดขึ้น และเมื่อเราได้บรรลุธรรมะเหล่านี้ครบทุกอย่างทุกประการแล้ว เราก็สามารถจะเป็นครูแก่ทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งตัวเราเองด้วยได้ คือได้มี ได้รับผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองถึงที่สุดแล้ว ยังสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นหรือสอนผู้อื่นได้สืบต่อไปอีก จึงเรียกว่าเป็นคนที่เต็มเปี่ยมแล้ว เป็นมนุษย์ที่ได้สิ่งที่ดีที่สุด ไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ก็ในโอกาสเช่นนี้เราพร้อมกันมาประชุมที่นี่ เพื่อแสดงคารวะ คือความหนักต่อบุคคลผู้เป็นครูของเรา คือท่านอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น เราจะต้องนึกถึงให้ดี พิจารณาดูให้ดีว่าท่านตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูอย่างไร โดยตรงโดยอ้อมก็จงนึกดูให้หมด แต่แม้แต่เพียงว่าท่านนั่งอยู่นิ่ง ๆ ท่านก็ยังจะเป็นครูที่ดีที่สุด แม้ว่าท่านจะถูกบรรจุลงไว้ในพระเจดีย์แล้ว ท่านก็ยังจะต้องเป็นครูอีกต่อไป อย่าได้ประมาทเลย จงได้ถวายความเคารพ ความเชื่อฟัง ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที ต่อท่านทุกอย่างทุกประการ จนตลอดกาลปาวสาน ก็จะมีความระลึกนึกถึงความผูกพันอันนี้เป็นเครื่องหน่วงน้าวจิตใจไว้ไม่ให้ตกไปจากหนทางของครู คือให้เป็นไปแต่ในหนทางของสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือพระธรรมอันเป็นครูของพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย และในที่สุดนี้ก็จักได้อุทิศส่วนกุศลทุกอย่างทุกประการที่เราได้ประกอบ ได้กระทำขึ้น ตามความรู้สึกของเราที่รู้สึกว่าเป็นที่ถูกใจ ถูกอัธยาศัยของท่านอาจารย์ แล้วจงน้อมระลึกส่วนกุศลทั้งหมดนี้เป็นเครื่องบูชาคุณของท่านอาจารย์ให้สำเร็จประโยชน์โดยสมควรแก่คติวิสัยทุก ๆ ประการในสัมปรายภพเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(สวดมนต์)
(นาทีที่ 0.47.42 ภาษาใต้) เตรียมตัวสำหรับพิธีติดต่อกันไป คือการที่จะนำศพไปบรรจุในพระเจดีย์ ขอให้ทุกคนถือว่าเรามีโชคดี มีโอกาสดี ก็ได้มารวมในโอกาสนี้ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ ตามธรรมดาเรามีสองชนิด คือเผาอย่างหนึ่ง แล้วก็บรรจุอย่างหนึ่ง แล้วแต่ความสมัครใจของท่านผู้ล่วงลับไปได้สั่งไว้ หรือความพอใจของพวกเรา บัดนี้เราสมัครใจทำตามความประสงค์ของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ คน มีความเห็นดี เห็นชอบในการที่จะบรรจุศพแทนการเผา ขอให้ถือว่ามีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าความพอใจ เมื่อมีความพอใจก็เป็นอันว่าใช้ได้ บางทีจะเป็นเครื่องช่วยจิตได้ง่าย ๆ ว่าอาจารย์นี้ยังอยู่สมบูรณ์ ไม่ถูกเผา เพื่ออยู่เป็นเครื่องประคับประคองจิตใจของพวกเราให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ความงามตลอดกาลนาน สำหรับร่างกายนั้นไม่สำคัญ มันเป็นเปลือกของอาจารย์ เนื้อในเนื้อแท้ของอาจารย์นั้นคือคุณความดีของอาจารย์ได้มีแก่พวกเรามาแล้ว และมีอยู่ และมีต่อไป แต่ว่าเราอาศัยสิ่งที่เป็นเปลือกนี้ เป็นภายนอกนี่ เป็นวัตถุอนุสรณ์สำหรับชวนให้ระลึก แต่เมื่อเราระลึก เราต้องระลึกถึงภายใน คือเนื้อในเยื่อใน คือคุณความดีของอาจารย์ซึ่งเป็นคุณธรรม ซึ่งเป็นตัวอาจารย์อันแท้จริง เราบรรจุศพฐานนี้ก็หมายความว่าประดิษฐานคุณความดีของท่านไว้ในสถานที่อันควร สำหรับเป็นอนุสรณ์ตักเตือนจิตใจเราตลอดกาลนาน ท่านอย่าถือแต่ว่าบรรจุศพ บรรจุศพ ไอ้ศพนั้นมันร่างกายอันขาดตามธรรมดาเหมือนกันทุกคน แต่ก็ผิดกันไม่เหมือนกันก็คือคุณความดี อาจารย์มีคุณความดีอย่างอาจารย์ เราประดิษฐานซากศพของท่านไว้ในเจดีย์ แต่ประดิษฐานคุณธรรมของท่านไว้ในหัวใจเรา เวลาไปบรรจุศพนั้นค่อยถือว่าไอ้สรีระร่างของอาจารย์นั้นบรรจุไว้ในเจดีย์ แต่ว่าคุณธรรมของอาจารย์นี้บรรจุไว้ในหัวใจเราทุก ๆ คน บรรจุไว้ในเจดีย์ให้เห็นกันนี่เพื่อกันลืม ไอ้เรามันขี้ลืม บางคนก็ลืมเก่ง ถ้าเห็นเจดีย์มันก็ป้องกันไม่ให้ลืม ทางที่ดีไม่ต้องเห็นเจดีย์ก็อย่าให้ลืม อยู่แต่บ้านก็ต้องนึกถึง ถ้าว่าเห็นเจดีย์ก็ไม่ลืม กันลืม มันนึกได้มาก แต่ว่าถึงแม้จะไม่เห็นเจดีย์ก็ต้องอย่าให้ลืม เพราะว่าเราได้บรรจุไว้ในหัวใจเรา นั่นจึงหวังว่าทุกคนจะทำความเข้าใจกันในข้อนี้ บรรจุร่างอาจารย์ไว้ในเจดีย์ บรรจุตัวอาจารย์ไว้ในใจเรา ในหัวใจเราทุก ๆ คน สังขารร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ต้องเกิด ต้องดับ ต้องสูญสิ้นไปตามธรรมดา แต่ว่าคุณความดีนี้อย่าให้สิ้น อย่าให้สูญ ให้อยู่ในหัวใจของเรานั่นแหละแปลว่าเรามีอาจารย์ประดิษฐานไว้ในที่ไม่รู้จักสิ้น จักสูญ ด้วยความรู้สึกกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง ในโลกนี้ถ้าหมดความกตัญญูกตเวทีแล้วละก็วินาศทันที ล่มจมทันที ลุกเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที แล้วก็วินาศกันหมดเลย เมื่อยังมีความกตัญญูกตเวทีผูกพันกันอยู่ระหว่างบุคคลไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว โลกนี้ยังหยุดอยู่ได้ ยังสงบอยู่ได้ ยังพอจะเป็นโลกที่น่าอยู่ได้ ดังนั้นเราอาจใช้ความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง เราต้องมีก่อน มีในอาจารย์ก่อนแล้วถึงจะมีให้คนอื่นได้แล้ว (นาที 0.53.15 ฟังไม่ออก) จะมีในเรากัน คนชั้นหลังจะได้มีในเราเป็นลำดับ ๆ ไป ทุกคนมีความผูกพันกันอย่างนี้ ขอให้ทำในใจอย่างนี้อย่างเต็มเปี่ยมไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนตลอดเวลา ก็จะเชิญศพอาจารย์ไปสู่เจดีย์แล้วบรรจุแล้วจึงจัดการทุก ๆ ท่านเถิด