แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้บริหารงานอนุกาชาดทั้งหลาย อาตมามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เสียสละบริหารงานอนุกาชาด ซึ่งอาตมาก็มีความสนใจอยู่ตลอดเวลา เดือนนี้อาตมาได้รับคำขอร้องให้กล่าวเรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายบ้างตามโอกาสที่จะอำนวย สิ่งแรกก็อยากจะพูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับบรรยากาศที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ มันจะมีประโยชน์ ได้แก่ งานของบุคคลผู้เสียสละอย่างนี้ ขอให้นึกถึงการที่เรามานั่งกลางพื้นดิน และรู้ความหมายของการนั่งกลางพื้นดิน ซึ่งจะสรุปรวมอยู่ในคำว่า เป็นเกลอกับธรรมชาติ คำว่าเป็นเกลอกับธรรมชาตินี่ มีความหมายหลายๆ แง่ หลายๆ มุม จะศักดิ์สิทธิ์และเป็นไปเพื่อความรู้และแสดงลักษณะแห่งการเสียสละอย่างแท้จริง ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้ากันให้บ่อยๆ ในแง่ที่ว่า ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน นิพพานก็กลางดิน สั่งสอนโดยทั่วๆ ไปก็กลางดิน กุฏิของท่านก็พื้นดิน อาตมาไปดูมาทุกแห่งแล้วในประเทศอินเดียที่เขาเรียกว่า ซากพระคันธกุฎีนั้น เขาเรียกว่า พื้นดินทั้งนั้น รู้แต่ว่าท่านประสูติกลางดิน สวนลุมพินี โคนต้นไม้สาละอย่างที่เอามาปลูกเป็นตัวอย่างไว้ที่นี่ ต้นนึงที่ตรงนั้น ใครชอบก็ไปถ่ายรูปได้ต้นสาละ ท่านประสูติที่โคนต้นสาละ นิพพานก็โคนต้นสาละ ตรัสรู้ก็โคนต้นโพธิ์ที่ริมตลิ่ง ก็กลางดินอีกเหมือนกัน ท่านอยู่กลางดินแท้ๆ เป็นเกลอกับธรรมชาติถึงขนาดนี้ ขอให้เรานึกทุกคราวที่ได้นั่งกลางดินอย่างนี้ อาตมาก็อยากจะชักชวนมานั่งกลางดินกันอย่างนี้ เพื่อเป็นโอกาสให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร เป็นเกลอกับธรรมชาติ ไม่ต้องเสียสละมากน้อยเท่าไร ท่านไม่มีร่ม ไม่มีรองเท้า ไม่มีอะไรอย่างที่เรามีกันเดี๋ยวนี้ ไม่มีรถ ไม่มีเรือ ต้องเดินด้วยเท้าอย่างนี้ เป็นต้น นี่มันแสดงลักษณะอย่างที่ว่า ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในตัวธรรมชาตินั้นจึงจะประพฤติปฏิบัติอะไรถูกต้อง แล้วมันยังมีความหมายแยกออกไปอีกแง่หนึ่งว่า มันเป็นการเสียสละ ถ้าเราไม่ยอมเป็นเกลอกับธรรมชาติอย่างนี้แล้ว มันไม่มีการเสียสละพอที่จะทำหน้าที่ที่สูงสุดนั้นได้ เรานับมันเป็นเรื่องที่ไกลออกไป คือว่า ถ้าเราไปเกลียดธรรมชาติ รักแต่สวยงามบนวิมานอย่างนี้ก็เลยล้มละลายกันเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศก็เพราะเหตุนี้ เหตุธรรมชาติทำลายธรรมชาติ หลงใหลการเป็นอยู่ กินดีอยู่ดีแข่งกับเทวดา โลกกำลังจะวินาศ นี่คือข้อแรกก็ขอให้ได้รับบรรยากาศชนิดที่เป็นเกลอกับธรรมชาติ ที่เยือกเย็นอย่างนี้
เมื่อพูดถึงเรื่องที่ตั้งใจจะพูดตามหัวข้อ อาตมาอยากจะพูดโดยหัวข้อว่า งานกาชาดหรืองานอนุกาชาด ในแง่ของศีลธรรม จะพูดแต่ในแง่ของศีลธรรมเพราะว่าในแง่อื่นๆ ท่านทั้งหลายย่อมทราบดีกว่า ถึงแม้ในแง่ของศีลธรรมนี่มันก็ยังมีพูดกันหลายระดับ งานกาชาด เจตนารมณ์ของงานกาชาดนี่ดูกันในแง่ของศีลธรรมกันบ้าง จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้อาตมาก็ไม่ได้พูดกับตัวบุคคล ตัวอนุกาชาด แต่พูดกับเจ้าหน้าที่ผู้บริหารงานอนุกาชาด ก็ต้องพูดกันสำหรับเป็นความรู้ไปพูดต่ออีกต่อหนึ่ง จึงจะพูดในส่วนที่มันลึกกว่าที่จะพูดกับลูกเด็กๆ งานกาชาดในแง่ของศีลธรรม คือ จะพูดกันในแง่ของค่าหรือความหมายทางศีลธรรมในงานอนุกาชาดนี่ ว่าในกิจกรรมอนุชาดนี่มันมีค่าหรือความหมายทางศีลธรรมอย่างไรบ้าง อาตมารู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในเวลานี้คือ สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม โลกทั้งโลกเลยกำลังจะวินาศเพราะความไม่มีศีลธรรมเพียงพอ ขอให้นึกถึงข้อนี้เป็นหลักใหญ่ก่อน ขอให้มองเห็นว่ากิจการทุกแขนง สถาบันอะไรต่างๆ ที่จัดขึ้นนี่ มันก็เพื่อประโยชน์แก่โลก เพื่อโลกอยู่รอด เพื่อโลกมีสันติ ทีนี้ถ้าโลกมันต้องวินาศลงไปเราก็เหนื่อยเปล่า เราต้องรู้ว่าอะไรมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้โลกนี้มันรอดอยู่ได้ เมื่องานกาชาดงานอนุชาดทั้งหลายนี่ก็มุ่งหมายเพื่อที่ให้โลกนี้มันรอดอยู่ได้ในลักษณะที่งดงามน่าดู ทีนี้ส่วนที่มันเกี่ยวกับศีลธรรมมันก็มีอยู่มากที่จะได้พูดกันต่อไป แต่เดี๋ยวนี้ขอให้มองเห็นในความจำเป็นที่โลกจะต้องมีศีลธรรมกันไปก่อน แล้วจึงจะประยุกต์ของ ๒ อย่างนี้เข้าด้วยกัน คือ งานกาชาดที่ประกอบอยู่ด้วยศีลธรรม โลกจะวินาศก็เพราะปราศจากศีลธรรมอย่างเดียว ดูในประเทศเราก็เหมือนกัน ศีลธรรมกำลังลดลงอย่างไร เราได้รับความยากลำบากอย่างไร ทั้งที่วัตถุเจริญหรือแม้แต่การศึกษาก็ต้องเรียกว่าเจริญ แต่มันไม่ผนวกศีลธรรมเข้าไปด้วย ผิดกับการศึกษาสมัยก่อนเป็นแฝดคู่กันไปกับเรื่องศีลธรรม นี่เราให้เขาเรียนวิชาความรู้ที่ทำให้ฉลาดอย่างเดียว มันก็ยิ่งทำให้ไม่สนใจศีลธรรมมากขึ้นได้ อีกหน่อยแม้จะรู้มาก ฉลาดมาก ศีลธรรมมันด้อยไป มันก็มีปัญหา อย่างที่กำลังมีปัญหาอยู่เดี๋ยวนี้ ในวงการศึกษาโดยเฉพาะก็มีปัญหา ออกไปถึงวงการปกครอง องค์การอื่นๆ ก็กำลังมีปัญหา ที่เนื่องมาจากความไม่มีศีลธรรม เพราะฉะนั้นเราหวังได้ยากที่จะกลับไปหาความสงบสุข ถ้าเราไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ในเมื่อขาดศีลธรรมอย่างเดียวแล้ว ความฉลาดอย่างอื่นไม่ช่วยให้เรามีความสงบสุขได้ คอยมองดูกันในเรื่องอย่างนั้น ที่เป็นปัญหาสำคัญ ยังไม่มีศีลธรรม งานกาชาดก็ กิจกรรมอนุกาชาดก็มีไม่ได้ กิจกรรมอนุกาชาดมันปราศจากศีลธรรมไปไม่ได้ มันล้มเหลวหมดเหมือนกัน ถ้ารู้เรื่องศีลธรรมดีก็จะได้นำไปทำให้มันกลมกลืนกันกับงานอนุกาชาดนั่นเอง และเมื่อนั้นงานกาชาดหรืออนุกาชาดก็จะเป็นตัวตนขึ้นมา มีความจริง มีความหมายขึ้นมาและพิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ไม่มีจิตใจประกอบด้วยศีลธรรมแล้ว ไม่มีอะไรสนุก ดูมันน่าเบื่อไปหมด เพราะไม่มีการเสียสละ ไม่มีการบูชาให้คุณงามความดีอะไรต่างๆ เราจึงพูดถึงศีลธรรมข้อนี้กันเสมอ เพื่อว่างานอยู่ในหน้าที่อื่นๆทุกอย่างนั้นจะเป็นงานที่สนุก ที่นี้ก็จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม แต่โดยย่อ คือ แต่โดยใจความ เมื่อถามกันว่า ศีลธรรมคืออะไร อยากจะขอร้องให้มองลึกซึ้งที่สุดไปถึงตามธรรมชาติ ก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมดี คำว่า ศีละ นั้นมันแปลว่าปกติ ไม่ได้แปลว่า ศีลข้อห้าม ข้อปฏิบัติอย่างที่เรารู้กันอยู่ นั่นเป็นความหมายที่ ๒ ที่ ๓ ต่อๆกันมา ความหมายที่แรกของคำว่า ศีละ นี่แปลว่าปกติ เช่น เราถือศีล ก็เพื่อให้เกิดความปกติ ปกติคือไม่ผิด ไม่เสียหาย ไม่บาป ไม่กรรมอะไรต่างๆ นั่นที่เรียกว่า ถือศีล คำว่าศีลนั้นมันแปลว่าปกติ ถือศีลก็คือ ถือข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความปกติ เพราะฉะนั้นสนใจคำว่าปกติคำเดียวก็พอสำหรับสิ่งที่เรียกว่าศีลหรือศีลธรรม มองดูตามธรรมชาติ ถ้าเกิดความผิดปกติขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นอย่างไรบ้างก็ลองคิดดูเอง สังเกตดูเอง เกิดการผิดปกติตามธรรมชาติแล้วมันต้องเป็นอย่างไรบ้าง มันจะต้องตาย มนุษย์ก็จะต้องตาย สัตว์ทั้งหลายก็จะต้องตาย ต้นไม้ต้นไร่ก็จะต้องตาย แล้วมันจะเกะกะไม่น่าดู เพราะฉะนั้นความปกติ คือ ถูกต้อง ทรงอยู่ได้ ไม่ตาย ตามธรรมชาติแท้ๆ มันก็ต้องการความปกติ ที่เรียกว่า ศีละ คือ ภาวะแห่งความปกติ มันอยู่โดยสภาพปกติก็เรียกว่า มีศีลได้ แม้ที่สุดแต่ก้อนหินก้อนนี้เป็นวัตถุแท้ๆ ถ้าอยู่ในภาพที่ปกติ ไม่ไปทำอะไรใคร ก็เรียกว่ามีศีลได้ คือ มันน่าดูกว่า ถ้ามีอะไรมาทำให้มันกระจุยกระจายมันก็ไม่น่าดู คือ มันผิดปกติ เพราะฉะนั้นความเป็นปกติมันก็มีได้แม้แต่เกี่ยวกับวัตถุ มันล้วนที่ไม่มีจิตใจ ถ้ามันมีความปกติมันก็น่าดู ที่ถัดขึ้นมาก็คือร่างกายของคนเรา ถ้าผิดปกติ มันก็จะต้องตายอีกแหละหรืออย่างน้อยมันก็ไม่น่าดู ทั้งการกระทำและการพูดจานี่ต้องเป็นปกติ ทางกายนี่เป็นปกติ ไม่มีศีลธรรมก็น่าดู ที่สูงขึ้นมาทางจิตก็ต้องการความปกติ ถ้าจิตผิดปกติมันก็เป็นบ้า หรือไม่มีกำลัง อ่อนเพลีย เป็นต้น เมื่อต้องการความปกติทางจิต มันก็ คือ ศีละนั่นอีกเหมือนกัน มันก็คือศีลธรรมทางจิต
ที่สูงไปทางไหนไปได้อีกชั้นหนึ่งก็คือ ทางสติปัญญา เราสบายดีทางร่างกาย สบายดีทางจิต แต่เข้าใจผิดก็ได้ ฉลาดปราดเปรื่องแต่เข้าใจผิด คือ ความรู้นั้นมันผิดก็ได้ คือต้องมีความถูกต้องในทางสติปัญญา ความคิดความเห็นอะไรอีกทีหนึ่ง นี่เป็นความปกติขั้นสุดท้าย เรื่องความปกติทางสติปัญญา อาตมาก็มักจะชอบเรียกว่า ทางวิญญาณ ทางจิต คือ ระบบจิตที่เกี่ยวกับประสาทเป็นส่วนใหญ่ เช่น เราไม่คลุ้มคลั่งไม่เป็นบ้านี่ก็เรียกว่า ปกติทางจิต ส่วนปกติทางวิญญาณนั่นหมายถึง ก็มีความคิด ความเห็นในความเชื่ออะไรต่างๆ ถูกต้องไปหมด นั่นจึงจะเรียกว่า ปกติทางวิญญาณ ทางวัตถุก็ต้องปกติ วัตถุล้วนๆ ไม่มีชีวิตจิตใจก็ต้องปกติ ทางร่างกายของคนก็ต้องปกติ ทางจิตของคนก็ต้องปกติ ทางสติปัญญาของคนก็ต้องปกติ นี่เรียกว่า มันมีความเป็นปกติ เรียกว่า ศีลธรรมก็ได้ แปลว่า ธรรมที่ทำความปกติ คือ มีความปกติอยู่เป็นธรรมดา
ที่งานอนุกาชาดตามหัวข้อต่างๆ ที่มีอยู่ก็ไม่มีอะไรผิดไปจากนี้ได้ ก็ต้องการความผาสุกหรือความปกติของร่างกาย ของจิต ของทุกอย่าง แม้กระทั่งของวัตถุทั้งหลายที่มันแวดล้อมอยู่รอบๆ ตัวเรา นี่คือข้อที่อาตมาบอกว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม คือ ธรรมที่ทำความปกติให้คนในโลกอยู่เป็นปกติ มีความผาสุก นี่งานอนุกาชาดก็เป็นกิจกรรมแขนงหนึ่งของกิจกรรมทั้งหลายในโลกเพื่อเป็นไปด้วยความปกติ เพื่อวัตถุปกติ เพื่อร่างกายปกติ เพื่อจิตใจปกติ กระทั่งเพื่อวิญญาณในระดับที่มันเกี่ยวข้องกันปกติด้วย นี่คือ ศีลธรรมตามธรรมชาติ มีหลักของธรรมชาติเองเป็นใจความสำคัญ
ที่นี้ในความหมายที่ ๒ ศีลธรรมที่บัญญัติโดยมนุษย์ มนุษย์เราก้าวหน้ามาเรื่อยๆ ทางศีลธรรม ทางวัฒนธรรมก็ก้าวหน้า จึงมีการบัญญัติศีลธรรมว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนั้น นี่ก็เพื่อให้มันคล้อยตามความต้องการของธรรมชาตินั่นเอง เพราะไม่ฉะนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะได้ความปกติอันนั้นมา จึงบัญญัติระเบียบทางศีลธรรมขึ้นมาเป็นข้อๆ หมวดๆ ต้องทำกันอย่างนั้นๆ เพื่อให้เกิดความปกติในลักษณะที่น่าพอใจ พอจะปันได้เป็น ๓ ตอน คือว่า ปกติที่น่าพอใจที่ปัจเจกชน คือ ที่บุคคลคนหนึ่งๆ ก็ต้องมีความถูกต้องปกติน่าพอใจ ถ้าขึ้นมาก็ที่สังคม คือ หลายๆ คนรวมกันเป็นสังคม อันนี้ก็ต้องมีลักษณะปกติ ถูกต้องเป็นที่น่าพอใจก็เพราะอำนาจการประพฤติศีลธรรม ที่นี่จะมองไปถึงสถาบันหรือหลักการอะไรก็ได้ที่มันเป็นที่ตั้งของสังคม มันจะต้องปกติด้วย ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำ ควบคุมบังคับบัญชา หรือว่าจัดมนุษย์ จัดโลกอะไรก็ตาม สถาบันที่เป็นที่ตั้งแห่งความมั่นคงของคนของสังคมนี่มันต้องปกติด้วย ดูเท่านี้ก็จะพบว่า จุดสำคัญที่เราจะต้องสนใจ มันอยู่ที่บุคคล ไม่ใช่สังคม เพราะสถาบันต่างๆ ที่มนุษย์จัดขึ้นเพื่อประโยชน์และความมุ่งหมายอันนั้น เรากำลังทำให้เด็กๆอนุกาชาดของเรารู้จักสิ่งเหล่านี้ อาตมาอยากจะเปรียบเทียบในข้อนี้ คือว่า หัวข้อปฏิบัติของอนุกาชาด ที่ว่าจะจงรักษ์ภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้อหนึ่ง จะมีความเป็นมิตรและประพฤติต่อกันซึ่งกันและกันทุกคน และก็จะเป็นผู้มีอนามัยดี และช่วยผู้อื่นให้มีอนามัยดี ที่นี้ข้อที่หนึ่งที่มาทีแรก สถาบันประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั่นคือ เอามาไว้เป็นเลข ๑ ในเมื่อสักครู่นี้เอามาไว้เป็นเลข ๓ และที่ว่าช่วยเหลือกันทุกคน เป็นมิตรกับทุกคนนี่มันเป็นเรื่องของสังคม เป็นเลข ๒ แล้วกัน อนามัยของตนเรียกว่า ส่วนบุคคล ถูกต้อง ตัวบุคคลแต่ละคนมีอนามัย คือมีความสามารถหรือมีพละ มีกำลังเต็มที่ในการที่จะเป็นมนุษย์ สำหรับปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์อย่างนี้ก็เรียกว่า มีอนามัย ทุกคนมีอนามัย ก็หมายความว่าทุกคนทำตนถูกต้องดีพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญพื้นฐาน คือ ที่บุคคลก่อน ในเมื่อบุคคลมันดีแล้ว สังคมมันก็ดี เพราะว่าสังคมมันประกอบขึ้นด้วยบุคคล ที่นี้อะไรมันจะมาสมัครสมานกันได้ ก็มีสิ่งที่เรียกว่า มิตรภาพ เจตนารมณ์แห่งความเป็นมิตร ถ้าไม่มีอันนี้คนมันก็เห็นแก่ตัวเป็นคนๆ ไป มันเลยแยกกันเป็นคนๆ มันเลยเข้ากันไม่ได้ มันก็ไม่มีสังคมขึ้นมาได้ แล้วก็มีความรักเพื่อนมนุษย์ ผูกพันกันเป็นสังคม
ที่นี้สังคมมันจะผูกพันกันอยู่ได้มีหลักดำเนินไปด้วยดี มันต้องมีหลักเกณฑ์อะไรต่างๆ หรือเป็นสถาบันที่รักษาไว้ซึ่งหลักเกณฑ์ ตลอดจนถึงพื้นฐานทางวัตถุ นี่เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศอันนี้ ก็หมายถึง แผ่นดินดีกว่า ชาติ ก็หมายถึง ค่าของการที่เราคุมกันอยู่ได้เป็นพวกที่มีกำลัง ศาสนาก็เป็นเรื่องความถูกต้องทางจิตใจหรือผู้ควบคุมความถูกต้องทุกอย่างไว้ พระมหากษัตริย์ ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ถูกต้องในฐานะเป็นผู้นำและมันจึงอยู่อีกชุดหนึ่ง นี่เราเอามาพูดเป็นข้อที่ ๑ ก็ได้เหมือนกัน ถ้าจะพูดจากข้างบนลงมาหาข้างล่าง เป็นประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อันสูงสุด ถ้าจะให้ดีประพฤติต่อให้ถูกต้อง ลดลงมาถึงสังคมมนุษย์ ลดมาถึงคน ปัจเจกชนคนหนึ่งๆ อย่างนี้ก็ได้ ตามหัวข้อที่ให้อนุกาชาดเขาถือเป็นหลัก อาตมาก็จะถือโอกาสพูดกันถึงสิ่งเหล่านี้เป็นข้อๆ ไป แต่ว่าพูดเฉพาะในแง่ของศีลธรรม ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อาตมาจะช่วยพูดในแง่ของศีลธรรมที่มีอยู่ในกิจกรรมที่เรียกว่า อนุกาชาดนั่นเอง เราจะดูที่คำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กันก่อน
หน้าที่ทางศีลธรรมของอนุกาชาดเกี่ยวกับหมวดที่ ๑ คือ ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่อย่างไรที่เราจะต้องบอกให้ลูกเด็กๆ ของเรารู้ ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้บริหารกิจการ ที่จะไปสอนลูกเด็กๆ เหล่านั้น เราก็ต้องรู้ รู้ยิ่งกว่ารู้ คือ เข้าใจอย่างดีและไปพูดกับเขาให้สำเร็จประโยชน์ในการที่เขาจะไปประพฤติ ปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่า ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเราขอร้องให้เขาจงรักภักดีอย่างยิ่ง คำ ๔ คำนี้ถือเป็นคำชินหูกันมานานนักหนาแล้ว ตั้งแต่อาตมายังเล็กๆ ก็ได้ยินคำ ๔ คำนี้ ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ ประเทศ เราต้องหมายถึงแผ่นดิน เพราะว่าเราไม่มีแผ่นดินอยู่แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร ประเทศไทย ก็คือ แผ่นดินไทย ชาติไทย ก็คือ ความที่เป็นอิสระในการที่จะใช้สอยแผ่นดินนั้น ถ้าจงรักต่อแผ่นดินคือประเทศนี่ ก็คือจะต้องไม่ทำลายแผ่นดิน เดี๋ยวนี้มนุษย์ทั้งโลกกำลังทำลายแผ่นดินให้สูญค่าไปโดยไม่จำเป็นมากขึ้น คือ ทำลายทรัพยากรของธรรมชาติมากขึ้นๆ จนเป็นแผ่นดินที่ไม่น่าอยู่มากขึ้น นี่เป็นเรื่องใหญ่ไปศึกษาเอาเองต่างหากก็แล้วกัน เพราะอะไรๆ ในแผ่นดินนี่เราเอาขึ้นมาทำลายโดยมากโดยไม่จำเป็น ไม่เท่าไรก็จะไม่มีของบางอย่างใช้ ทำแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ให้เป็นแผ่นดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์แล้วจะกลายเป็นทะเลทรายไปในที่สุด เป็นการทำลายป่าไม้เสียอย่างนี้เป็นต้น ประเทศเราก็ด้อยค่าลงทุกวัน เพราะเราทำลายที่ตัวแผ่นดินนั้นโดยไม่รับผิดชอบ โดยไม่ดูให้ดี ไม่ระมัดระวังให้ดี แผ่นดินของเราก็เสื่อมคุณค่าไป สภาพที่เรียกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ระวังให้ดี มันจะไม่เหลือแล้ว มันจะไม่มีปลาในน้ำ มันจะไม่มีน้ำทำนาอย่างนี้ เพราะว่าเราไม่ระมัดระวังกันในเรื่องนี้ ไม่กตัญญูต่อแผ่นดินดีกว่า ไม่ช่วยกันรักษาธรรมชาติอันถูกต้องของแผ่นดินไว้ นี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่เปลี่ยนแปลงแผ่นดินกันเสียเลย มันก็ต้องปรับปรุงแผ่นดินให้เหมาะสมกับความเจริญ แต่อย่าไปทำลายมันเข้า ทีนี้คนเห็นแก่ตัวก็ทำลายแผ่นดิน คือ ทรัพยากรในดินนั้นมากเกินไป ก็เป็นสิ่งที่ควรจะสอนให้ทราบกันเสียตั้งแต่เด็กๆ เล็กๆ อย่างนี้
ทีนี้คำว่า ชาติ หลังจากประเทศก็มีชาติ ในการที่เป็นอิสระที่จะยึดครองแผ่นดินนี้อยู่เพื่อความสุขสบายของตน ตลอดถึงวัฒนธรรม ประเพณี อะไรต่างๆ ของชาติ นี่ก็ต้องเรียกว่า ชาติด้วยเหมือนกัน ให้จงรักภักดีต่อชาติ ก็หมายความว่า ช่วยกันทำให้ชาติยังอยู่ อย่าให้สูญชาติ แต่ในข้อนี้อยากจะขอให้สังเกตเป็นพิเศษ ว่าเรากำลังสูญชาติในความหมายที่ร้ายแรง เรายังไม่สูญชาติไทย ยังมีเป็นชาติอิสระอยู่ในโลกนี้ในทางการเมือง แต่ว่าเรากำลังสูญเสียชาติไทยในทางวัฒนธรรมหรือในทางวิญญาณไปอย่างมาก ในข้อที่ไปตามก้นพวกฝรั่ง ให้ใช้คำหยาบอย่างนี้มันประหยัดเวลาดี ไปตามวัฒนธรรมตะวันตกจนสูญเสียความเป็นไทยมาก ระวังให้ดี ความเป็นไทยเหลือน้อยเต็มทีแล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมทั้งหลาย เรากำลังไปตามเขาด้วยการศึกษาซึ่งทำให้ฉลาดแต่ที่จะเห็นแก่ตัว นี่ไม่มีจิตใจอย่างบรรพบุรุษของเราแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเราสูญชาติ ตายวิญญาณไป สูญชาติทางการเมืองเมื่อแพ้เป็นขี้ข้าเขา นั่นสูญชาติทางการเมือง แต่ว่าสูญชาติทางวิญญาณนี่ไม่ได้ไปแพ้เป็นขี้ข้าเขาทางการเมือง แต่ไปเป็นทาสเป็นขี้ข้าเขาทางวัฒนธรรม เราโง่งมงาย ก้มหัวกันลงไปให้เขา เป็นทาสเขาทางวัฒนธรรม จนเขาจะทำอะไรแก่เราก็ได้ทางวัฒนธรรม นี่เราก็สูญชาติในทางวัฒนธรรม หรือสูญชาติทางวิญญาณ ช่วยบอกเด็กๆ ของเราให้รู้ด้วยว่า นี่อันตรายที่สุด เพราะว่าถ้าเราขืนทำอย่างนี้มันก็เท่ากับสูญชาติไปโดยจิตใจแล้ว ไม่ว่าตัวร่างกายมันจะยังอยู่ในทางการเมือง ในที่สุดมันจะสูญไปทั้ง ๒ อย่าง สูญแต่ทางการเมืองแต่ถ้าทางจิตใจยังอยู่ มันไม่สูญสิ้นเชิงและก็ไม่อันตรายมากถึงกับมันสูญทางวิญญาณ หรือทางวัฒนธรรม ถ้าสูญในทางวัฒนธรรมหรือทางวิญญาณแล้วจะสูญลิบ หายลิบลับไปเลย เหมือนกับชาติหลายๆ ชาติในโลกที่มันได้หายสูญไปแล้ว เหลืออยู่แต่ชื่อในประวัติศาสตร์ นี่มันร้ายยิ่งกว่าสูญทางการเมือง เพราะฉะนั้นเราไม่สูญทางการเมืองและก็ไม่สูญทางวัฒนธรรมด้วย คือ ทางวิญญาณนั่นแหละ ยังจะดี คือเรียกว่า ยังมีชาติอยู่โดยแท้จริง เดี๋ยวนี้ระวังประเทศไทยเรากำลังสูญชาติ ในทางวัฒนธรรมหรือทางวิญญาณยิ่งเข้าไปทุกทีๆ แม้ว่าทางการเมืองจะเรียกว่า ยังมีอิสรภาพเป็นชาติไทยอยู่ มันก็จะค่อยร่อยหรอไปด้วย เพราะส่วนต้นเหตุปัจจัยมันมีอยู่ในที่จิตใจ ถ้าทางจิตใจเสียไป ทางร่างกายมันก็จะเสียไปตาม เพราะฉะนั้นลูกเด็กๆ ของเราควรจะรู้จักความสูญชาติในทางวัฒนธรรมหรือทางวิญญาณให้มากและรักษาไว้ให้ได้ แล้วเราก็จะไม่สูญชาติในทางการเมือง ที่จะจงรักภักดีต่อชาติ ก็ต้องช่วยกันทำให้ชาติยังคงอยู่ทั้งสองทาง คือ ทั้งทางการเมืองและทางจิตใจหรือทางวิญญาณ ทางวัฒนธรรม นี่สิ่งที่เรียกว่า ชาติมันก็มีอยู่อย่างนี้ ที่เราขอร้องให้เขาระลึกนึกถึงหรือสงวนอะไรกันไว้
ที่นี้เรื่องศาสนาก็จะจงรักภักดีต่อศาสนาอย่างไร ควรจะรู้จักศาสนาว่ามันมีประโยชน์อย่างไร จำเป็นอย่างไร ว่าประเทศ ชาติ ถ้าขาดศาสนาแล้วจะเป็นอย่างไร ศาสนา คือ ต้นตอที่สำหรับที่จะคงไว้ ซึ่งจิตใจที่ถูกต้อง โดยแท้จริงเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องทางจิตใจแต่มันมีผลลงมาถึงทางกายทางอะไรด้วย ทางวัตถุด้วย เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดกันมากจนกว่าจะจบ ทีนี้สรุปว่า มันเป็นเรื่องที่จะรักษาจิตใจของมนุษย์ไว้ให้มีความเหมาะสมสำหรับที่จะเป็นมนุษย์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อกันและกัน เมื่อพูดถึงศาสนาควรจะให้ลูกเด็กๆ ของเรารู้จักไว้ว่า อย่างน้อยมันก็มีตั้ง ๔ ระดับหรือ ๔ชั้น คือ ศาสนาในระดับวัตถุสัญลักษณ์ วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ ผ้าเหลือง อะไรก็ตามเหล่านี้มันเป็นวัตถุสัญลักษณ์ กระทั่งพระเครื่องที่แขวนคออย่างนี้มันเป็นวัตถุสัญลักษณ์ ศาสนาในฐานะเป็นวัตถุสัญลักษณ์เราก็ต้องมี เพราะว่ามันเป็นการตั้งต้นหรือว่าเป็นที่ยึดหน่วงของลูกเด็กๆ เรียกว่า ศาสนาที่อยู่ในรูปของวัตถุสัญลักษณ์ต่างๆ ที่คนโบราณเขาชอบกล่าวว่าผ้าเหลืองๆ ที่นี่ถัดขึ้นมาก็การเล่าเรียน ศาสนาที่อยู่ในรูปของการเล่าเรียน เขาเรียกว่า ปริยัติ คือ เรียนพระธรรม เรียนปริยัติธรรม ศีลธรรม ปริมัติธรรม อะไรก็ตาม การเล่าเรียนนี่ก็เป็นศาสนาในรูปหนึ่งซึ่งต้องมีถูกต้องและสมบูรณ์ด้วย ทีนี้สูงขึ้นมาพระศาสนาในรูปของการปฏิบัติ อันนี้ยิ่งจำเป็นมากที่ต้องมี ถ้าไม่มีการปฏิบัติ เรียกว่า ตัวแท้ของศาสนาจะไม่มีเหลือ มันจะเหลือแต่สัญลักษณ์หรือเปลือกนอกหรือภาชนะเสีย ทีนี้ศาสนาที่เป็นตัวการปฏิบัตินี้สำคัญมาก นับตั้งแต่พระสงฆ์ลงมาถึงชาวบ้านกระทั่งลูกเด็กๆ คือตัวอนุกาชาดนั่นเองที่ต้องมีศาสนาที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติ ศีลธรรมต่างๆ ไม่ว่าหน้าที่ของอนุกาชาดก็เรียกว่า การปฏิบัติธรรมด้วยเหมือนกัน ต้องถือว่าเป็นส่วนของศาสนาส่วนหนึ่งด้วย เพราะเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยเหมือนกัน ทีนี้ศาสนาระดับสุดท้ายก็คือ ผลที่ได้รับเป็นมรรคผลนิพพาน คือ ความสุข ความผาสุกที่เกิดมาจากการปฏิบัติพระศาสนา มันรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดแล้วมันไม่ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น พระศาสนาส่วนนี้ก็เป็นการได้ผล ได้รับผล ได้เสวยผลของพระศาสนานั่นเอง ถ้าจงรักภักดีต่อศาสนาจริง เต็มตามความหมายก็ต้องช่วยทำให้ศาสนาใน ๔ รูปหรือใน ๔ ระดับนี้ยังคงอยู่ วัตถุ สัญลักษณ์ วัดวาอารามก็ต้องช่วยให้น่าดู ให้เรียบร้อย บริบูรณ์ การศึกษาเล่าเรียนก็ต้องช่วยให้มันมีอย่างครบถ้วน การปฏิบัติก็ต้องมีกันอย่างขยันขันแข็งที่สุดเลย ก็จะได้รับความสงบเย็นเป็นสุข อันเป็นผลของพระศาสนาโดยตรง การจงรักต่อศาสนาต้องช่วยทำให้มันเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมา
ทีนี้ก็มาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คำนี้มันก็เนื่องมาแต่กาลก่อน คือ ในยุคที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองจนกระทั่งมาอยู่ในยุคที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย จนกระทั่งบางประเทศก็เลิกองค์กษัตริย์ไป มีสถาบันบุคคลที่เลือกขึ้นมาตามมติประชาธิปไตย เป็นต้น ก็ทำให้เกิดสับสนแก่ลูกเด็กๆ ว่านี่มันอะไรกันแน่ มันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ เขาควรจะเข้าใจทีเดียวครอบคลุมไปได้เลยว่า บุคคลกลุ่มหนึ่งหรือคณะหนึ่งหรือคนหนึ่งก็สุดแท้ ที่รับหน้าที่ควบคุมปกครองให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะเราต้องถวายอำนาจ มอบอำนาจให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคล สำหรับทำหน้าที่ปกครอง หลักการอย่างนี้มีมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ถ้าเราอ่านในพระไตรปิฎกเราจะพบเรื่องอย่างนี้ คือ รู้จักมอบอำนาจให้แก่บุคคลคนหนึ่งซึ่งมีร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญา เฉียบแหลม มีอะไรต่างๆ เป็นหัวหน้า แล้วก็เชื่อฟังคนนั้น เป็นครั้งแรกในโลก เขาเรียกว่า พระยาสมมุติราช ไม่รู้กี่พันปี หมื่นปีมาแล้วคนนั้น เป็นเรื่องในประเทศอินเดียว่าอย่างนั้นดีกว่า เพราะว่ามันเป็นต้นตอของวัฒนธรรมทั้งหลาย ประเทศไทยเรานี่ก็รับวัฒนธรรมอินเดียมา เรื่องอย่างนี้มันก็ติดมาอย่างในประเทศอินเดียเขาก็พยายาม วรรณะกษัตริย์หรือวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์ไหนที่เขาสามารถพิสูจน์ถอยหลังขึ้นไปๆ จนถึงว่าบรรพบุรุษของเขาสืบต่อมาจากพระเจ้า สมมติราษฎร์องค์นั้นแหละเขาก็ภาคภูมิใจกันใหญ่ ที่จริงสืบสานกันไปได้ทั้งนั้นแหละ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม แต่ในที่นี้ต้องการให้พิจารณาดูตรงที่ว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจให้ควบคุมการปกครองหรือเรียกว่า สถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็ขาดไม่ได้ มันเหมือนกับไม่มีผู้ควบคุมหรือผู้ปกครองมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงปฏิบัติให้ถูกทางใหม่ ข้อตกลงสัญญาประชาคม อะไรก็สุดแท้แต่จะเรียก แล้วผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินหน้าที่ปกครองเขาก็ต้องทำให้ดี ให้ทุกคนต้องสนับสนุนให้ดี ยิ่งเมื่อเขาจะทำหน้าที่ดีมาเป็นหลายชั่วคน ก็เกิดเป็นสถาบันที่แน่นแฟ้น เป็นราชวงศ์ที่แน่นแฟ้น มันก็ย่อมจะควรแก่การจงรักภักดีมากขึ้น นี่ก็เพื่อว่าอยากจะให้การเป็นอยู่ของประเทศ ชาติ หรือศาสนา เป็นอยู่ได้จริง เป็นอยู่ได้โดยสะดวก หรือว่ามันเจริญก้าวหน้า และยิ่งกว่านั้น มหากษัตริย์บางองค์ก็เป็นผู้นำในทางวิญญาณด้วย เหมือนกับๆ ครูบาอาจารย์เป็นผู้นำทางวิญญาณด้วย คือ กษัตริย์บางองค์ในบางยุคบางสมัยในประวัติศาสตร์ เป็นผู้นำในทางศีลธรรมด้วย เคร่งครัดในทางศาสนา ทางศีลธรรมด้วย มันก็ยิ่งง่ายถ้าจะทำให้เกิดความก้าวหน้ามั่นคงแก่ประเทศ ชาติ ศาสนา สถาบันกษัตริย์ หรือวรรณะกษัตริย์นี่ยังคงมีอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ คือบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ควบคุมประเทศ ชาติ ที่เป็นชั้นหัวหน้าโดยตรงก็มี ที่ชั้นเป็นผู้ร่วมมือก็มี ก็รวมเหมากันลงไปในวรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่ที่ว่าจะต้องจงรักภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันจะเป็นไปได้ดีก็ต่อเมื่อเรารู้จักสิ่งเหล่านี้ดี เพราะฉะนั้นเราจะต้องบอกลูกเด็กๆ ของเราให้เข้าใจให้ดี ให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ให้ดี เขาก็จะรู้จักหน้าที่ที่จะประพฤติกระทำต่อสิ่งเหล่านี้ ดูเหมือนว่ากฎเกณฑ์ข้อนี้ หลักเกณฑ์ข้อนี้ ต้องใช้กันไปในทั่วทุกหน่วยหรือทุกสาขาของกิจกรรม ไม่เฉพาะอนุกาชาด ไม่เฉพาะลูกเสือ ไม่ใช่เฉพาะอะไร เป็นเรื่องของประชาชนคนเมือง ชาวไร่ ชาวนา อะไรก็ตาม มันต้องมี ให้ความสนใจต่อความจงรักภักดีต่อ ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งนั้น และยังครอบคลุมมาถึงพระเจ้า พระสงฆ์ คณะสงฆ์ก็เหมือนกัน และยังเอื้อเฟื้อต่อสิ่งที่เรียกว่า ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่ข้อแรก หน้าที่ทางศีลธรรมของลูกเด็กๆ ที่เป็นอนุกาชาด
ทีนี้ข้อที่ ๒ ที่ว่าเราจะทำความเป็นมิตรกับทุกคน ประพฤติประโยชน์ส่วนรวม อาตมาอยากจะสรุปไว้ในคำว่า มิตรภาพในสังคม มองดูในแง่ของศีลธรรมจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะศีลธรรมนี่มุ่งหมายอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพ สภาวะแห่งความเป็นมิตรซึ่งกันและกัน ธรรมะข้อนี้เขาเรียกว่า เมตตา คำว่า เมตตา ตัวหนังสือ แปลว่า ความเป็นมิตร หรือภาวะแห่งมิตร ทางศีลธรรมนั้น วางไว้กว้าง ครอบจักรวาล โดยบทที่ถือเป็นหลักกันมาตั้งแต่โบราณก่อนพุทธกาลก็ได้ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธองค์ทรงย้ำอย่างยิ่ง คือ บทที่ว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น บางทีเราก็ตัดสั้นขึ้นมาเหลือแต่คำว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่มันก็ต้องเล็งถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย แม้สัตว์เดรัจฉานก็อยู่ในฐานะที่เป็นมิตร ไม่เฉพาะคน มนุษย์ด้วยกัน ทีนี้อยากจะขยายความออกไปถึงคำว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่ต้นไม้ มันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต เราก็ควรจะปราณีมัน ทีนี้คนมันโง่เอง มันอกตัญญูต่อต้นไม้ที่มีชีวิต มันทำลายต้นไม้ ทำลายป่า ทำลายต้นไม้ก็ได้ มันก็เลยขาดประโยชน์ไปเป็นอันมาก แต่ว่ามันยังร้ายกว่านั้นอีกก็คือว่า ความใจดำอำมหิตนี่ มันตั้งต้นขึ้นมาจากสิ่งเล็กๆก่อน ถ้าเราฆ่ามดแมลงไม่ได้ ก็ฆ่าคนไม่ได้ ถ้าเราฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ ไม่ได้ ก็ฆ่าสัตว์ตัวใหญ่ๆ ไม่ได้ ถ้าเราฆ่าต้นไม้ไม่ได้ ก็ฆ่ามดแมลงไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความรู้สึกก็ควรจะแผ่กว้างลงไปถึงว่า สัตว์หรือสิ่งที่มีชีวิตที่มีความรู้สึกละก็ต้องยอมรับว่ามันมีความรู้สึกไม่อยากตาย ไม่อยากวินาศ ไม่อยากฉิบหายด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน มันพิสูจน์ ค้นคว้า ทดลองอะไรมากขึ้นๆว่า ต้นไม้นี่ก็มีความรู้สึกเหมือนกับมนุษย์ อย่างเดียวกับมนุษย์แต่การที่มันจะแสดงออกนั้นมันแสดงออกไม่ได้ เพราะอวัยวะต่างๆ ของมันไม่มีพอ มันต้องใช้วัดด้วยเครื่องวัดที่ทำขึ้นโดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยพวกกระแสไฟฟ้าแล้วก็เป็นเครื่องวัด วัดอารมณ์ของต้นไม้ได้ เมื่อต้นไม้ถูกเผาไฟอย่างนี้ มันมีอารมณ์เปลี่ยนเป็นเครื่องวัดแสดง กระทั่งต้นไม้ที่ได้รับการประคบประหงม พูดจาด้วยดี ปฏิบัติต่อด้วยดีหรือว่าร้องเพลงให้ฟังอย่างนี้ มันก็แสดงออกมาเป็นความเจริญงอกงาม พิเศษกว่าต้นไม้ที่ถูกละเลยอย่างนี้ เป็นต้น รวมความแล้วมันมีความรู้สึกแล้วมันก็ไม่อยากจะตายเหมือนกัน มันก็จะมีรากฐานลงไปที่สิ่งที่มีความรู้สึกทั้งหลายว่า มันก็เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การที่เราจะถนอมความรู้สึกของสิ่งเหล่านี้ไว้ได้เพียงไร ก็ถนอม แต่ไม่ใช่ต้องถึงกับว่าจะเก็บผักมากินไม่ได้ แต่ขอให้รับรู้ไว้ว่ามันก็มีความรู้สึก ในทางศาสนาในประเทศอินเดียสมัยโบราณเขาก็มีศาสนาบางศาสนาที่บัญญัติลึกลงไปถึงว่า ไม่ฆ่าต้นไม้นี่ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักบวชฆ่าไม่ได้ ฆ่าต้นไม้ไม่ได้ ถือเป็นผิดวินัยหรือเป็นบาปเท่ากับฆ่าสัตว์ด้วยเหมือนกัน แต่ในทางพุทธศาสนานี้ก็มีการบัญญัติพอเหมาะที่จะปฏิบัติได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฆราวาสก็ยังเก็บผักมากินได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีถ้าเรายอมรับรู้ในข้อเท็จจริงของธรรมชาติอันนี้ว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตย่อมมีความรู้สึก เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นจงพยายามถนอมกันให้มาก เพราะนั่นมันจะเป็นที่ตั้งแห่งศีลธรรมที่ดี ไม่ใจร้ายอำมหิตกันเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ เช่นจะเอาลูกระเบิดไปทิ้งให้เพื่อนตายทีละหมื่นละแสนก็ทำได้ลงคอ นี่มันก็ทำไม่ได้ มันยอมตายซะเองดีกว่าที่จะไปฆ่าคนตั้งหมื่นตั้งแสน โลกมันก็มีความสงบสุขเพราะมิตรภาพ นี่เป็นหลักใหญ่สำหรับธรรมที่เรียกว่า เมตตาหรือมิตรภาพ ทีนี่เรามาสอนให้ลูกเด็กๆ อนุกาชาดของเรารู้จักสิ่งเหล่านี้ตามสมควร ในระดับที่เขาควรจะทราบ เป็นการเพาะนิสัย ให้มีเมตตากรุณา อุเบกขขา มุทิตา อุเบกขาที่เขาสอนกันอยู่ เมตตา คือ ความรัก ความเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น กรุณา มันก็ช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ มุทิตา ก็ยินดีเมื่อเพื่อนกันได้รับความสุข ส่วนอุเบกขานั้น พูดกันมาผิดๆ ก็ได้ แปลว่า เฉย มันช่วยไม่ได้ เฉยมันช่วยไม่ได้ นี่มันก็ถูก ก็มีเหตุผล แต่ใช้คำว่า เฉย นี่ดูเหมือนจะไม่ถูก ครูบาอาจารย์ก็สอนกันมาอย่างนี้ว่าเฉยมันช่วยไม่ได้เขาจะต้องเป็นไปตามกรรมของตน แต่ถ้าดูตามศัพท์แล้ว อุเบกขามันไม่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมองอยู่อย่างนี้ คำว่าอุเบกขา นี่แปลว่า ยังมองอยู่ อุปะ แปลว่า เข้าไป อิฐะ แปลว่า มองอยู่ แม้ว่าเราช่วยไม่ได้แต่ก็มองอยู่ตาดำๆ อย่างนี้ไม่ได้ทิ้งไป หรือว่าไม่ได้มีจิตใจกระด้างอะไร คอยหาโอกาสที่จะช่วยต่อไปอีก ถ้าถืออุเบกขาแบบนี้ก็จะดี คือ ยังมองดูอยู่จะหาทางช่วย แต่มันช่วยไม่ได้มันก็เลยยังเฉยอยู่ หยุดอยู่ แต่ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยอย่างที่คนขี้เกียจจะเฉย นี่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มันเป็นรากฐานของการผูกพันกันเป็นมิตรกับสิ่งที่มีชีวิตและก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างยิ่ง บรรพบุรุษไทยเราเคยทำมาอย่างยิ่ง เมตตากรุณาอย่างกว้างขวาง คือ เมตตากรุณาแม้แก่ศัตรู โบราณนั้นเขาจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ศัตรูด้วย เดี๋ยวนี้คงจะไม่เอา อยากจะฆ่ามันซะให้ตาย วัฒนธรรมสมัยใหม่นี่ บางทีเขาไม่ได้มาเป็นศัตรูอะไรกับเราสักที เพียงแต่คิดไปเองว่าเขาอาจจะเป็นศัตรู จะฆ่าเขาซะแล้ว ฆ่าเขาได้ตั้งหมื่นตั้งแสนมันไม่ไหว ถ้าอย่างนี้มันก็หาเมตตาในโลกนี้ยาก โดยแท้จริงมันจะต้องคิดไปถึงกับว่า ต้องเสียสละหรืออดทนด้วยซ้ำไป ถึงจะทำศัตรูให้กลายเป็นมิตรได้ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะเพาะศัตรูอย่างไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นมา แล้วก็จะขยายรุนแรงขึ้นจนเกลียดกันเข้ากระดูกดำไปเลย ความอดทนความเมตตานี่ต้องคู่กันเสมอ ลูกเด็กๆ ควรได้รับคำสั่งสอนอย่างนี้จึงจะถือเป็นหลักปฏิบัติข้อที่ว่าทำความเป็นมิตรกับทุกคนหรือประพฤติประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ตามหน้าที่ของอนุกาชาดนั่นเอง
ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ส่วนรวม คำว่า ประโยชน์ส่วนรวม อาตมาบัญญัติเอาเองโดยความหมายว่า คือประโยชน์ส่วนเกินที่เราสงวนไว้เป็นประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนที่คนเราทุกคนจำเป็นต้องมี ก็ต้องมี ต้องหา ต้องใช้ ต้องเป็นส่วนตัวไป เขาเรียกว่าเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทีนี้ประโยชน์ส่วนเกินที่เราไม่ต้องมีก็ได้ เอามาสงวนไว้เป็นกองกลางเรียกว่า ประโยชน์ส่วนรวม เมื่อใครต้องการจะใช้ มันก็จะใช้ได้และสะดวก และดีกว่า เพราะฉะนั้นจึงมีหลักว่า จะไม่เอาส่วนเกินนั่นมาเป็นของตัว นี่เรียกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หลักของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ที่ท่านบัญญัติไว้ ไม่ให้เอาส่วนที่ไม่จำเป็นมา เหลือเอาไว้เป็นส่วนกลาง เป็นของส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภิกษุ เครื่องนุ่งห่มของภิกษุมีได้จำกัด ๓ ผืน ๔ ผืนเท่านั้นเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปก็ ๓ ผืน บางฤดูก็ ๔ ผืน ถ้าเกิดได้ผืนที่ ๕ มา วินัยมีห้ามไว้ชัด รับไม่ได้ คือ รับเอามาก็ต้องเป็นอาบัติ แต่ให้สละให้เป็นของกลางเสียจะพ้นจากอาบัติ ถ้าพระได้จีวรที่เกินจากที่วินัยบัญญัติไว้มาต้องสละเป็นของส่วนกลางหรือเป็นของสงฆ์ ประโยชน์ส่วนรวมก็ไปกองอยู่ที่นั่น เมื่อเป็นของสงฆ์แล้วใครจะใช้ก็ได้ จะไปเอาเมื่อไหร่ก็ได้ ให้ผู้สละนั้นมีสิทธิก่อนผู้อื่นที่จะเอามาใช้เวลามันขาดแคลนขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันก็มีของใช้พอเพียง เรื่องอาหารก็เหมือนกันจะรับไว้ค้างคืนไม่ได้ สะสมไม่ได้ ภิกษุจะสะสมอาหารชั่วค้างคืนนี่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ฉันเท่าที่มันจำเป็นจะต้องฉัน มันก็เหลือตกอยู่เป็นของผู้อื่นมาก แล้วก็ภาชนะที่ใช้สอย เช่น บาตร นี่ก็ใบเดียวเท่านั้น มีบาตร ๒ ใบก็เป็นอาบัติ ต้องสละให้เป็นของกลางเป็นของสงฆ์ จะทำกุฏิอยู่ก็ ๗ คืบ ๑๒ คืบเท่านั้น ๗ คูณ ๑๒ คืบ ฟุต ราวๆ ฟุต เกินกว่านั้นก็ไม่ได้ คือมันไม่เอามาเกิน มันก็เหลืออยู่เป็นส่วนกลางหรือส่วนรวม ถ้าจะมองกันอีกทางหนึ่งก็เห็นได้ชัดว่า เห็นแก่สังคมยิ่งกว่าเห็นแก่ส่วนตัวบุคคล นี่เป็นหลักพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเศรษฐีที่เป็นพุทธบริษัทนี่ เขาก็สร้างโรงทานทั้งนั้น ถ้าไม่มีโรงทานก็ไม่เรียกว่า เศรษฐี ถ้าเป็นมหาเศรษฐีก็มีโรงทานมาก จะมีข้าทาสบริวารมากก็ได้จะผลิตเป็นผลขึ้นมาแล้วก็เพื่อหล่อเลี้ยงโรงทาน ถ้าเศรษฐีจะฝังทรัพย์สมบัติไว้ ก็เป็นทุนสำรองเพื่อหล่อเลี้ยงโรงทาน มันเป็นรูปของส่วนรวมอย่างนี้เสมอไป มันเป็นเจตนารมณ์ตามหลักของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราอย่ามีส่วนเกิน ให้มีส่วนที่สมควร ควรจะมีนั่นแหละจึงจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราทำเป็นนายทุนหน้าเลือด กว้านออกมาเป็นของตัวหมด เพื่อนก็ขาดแคลนเท่านั้น โลกนี้กำลังระส่ำระสายเท่านั้นเอง ข้อนี้ก็มุ่งหมายให้เราอยู่กันเป็นผาสุก เพราะฉะนั้นก็เห็นแก่ส่วนรวม ไม่ควรเอาส่วนเกินมา ส่วนเกินนั้นแหละมันจะเป็นของส่วนรวมและเป็นเครื่องผูกพันกันทั้งหมดให้เรียกว่า มันเป็นมิตรภาพ เป็นสังคมของมนุษย์ ทุกศาสนาล้วนแต่ต้องการอย่างนี้ และธรรมชาติแท้ๆ ก็ต้องการอย่างนี้ ดูตามธรรมชาติแท้ๆ ไม่มียุ้ง ไม่มีฉาง ไม่มีการทำสิ่งที่เกินจำเป็น ต้นไม้ก็กินอาหารเท่าที่มันจะกินได้ ไม่ได้สะสม สัตว์โดยทั่วๆ ไปกินอาหารก็ใส่ท้องได้ ไม่มียุ้งฉางสะสม มนุษย์แรกๆ ยังเป็นคนป่า มนุษย์สมัยคนป่าอยู่กันก็ไม่มีการสะสม นี่มันเพิ่งรู้จักสะสม แล้วมันเกิดปัญหาเมื่อรู้จักสะสม คือ เอาประโยชน์ส่วนเกินมา ถ้าสอนลูกเด็กๆ ให้รู้จักข้อนี้ละก็ ตรงตามหลักที่ว่า จะเห็นแก่ส่วนรวม คือ เห็นแก่ผู้อื่น ให้เขาพยายามเจียดส่วนเกินออก ช่วยเหลือผู้อื่น ทีนี้เขาบางคนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่แล้วก็จะบอกว่า ไม่มีส่วยเกินจะเจียด จะปฏิเสธอย่างนี้ นี่เราก็ยกตัวอย่างให้ฟัง ว่าลูกเด็กคนนี้มันเป็นอนุกาชาด มันได้สตางค์จากบ้านไป ๕๐ สตางค์ไปโรงเรียน แล้วถ้ามันจะเจียดออกซัก ๕ สตางค์แล้วก็ให้เพื่อนที่ไม่มีเลย เด็กบางคนไม่มีสตางค์เลยมันจะเป็นอย่างไร เด็กบางคนไม่มีสตางค์เลย มันจะมีไหม มันก็มี ถ้าเจียดตัวเองจะตายไหม ก็ไม่ตาย หรือไม่เดือดร้อนอะไรมากมาย เพราะเรามี ๕๐ สตางค์ เราเจียดไป ๕ สตางค์ก็เหลืออีกตั้ง ๔๕ สตางค์ หรือว่าถ้าเด็กคนหนึ่งมันมีเพียง ๑๐ สตางค์ ถ้ามันจะเจียดให้เพื่อนมัน ๑ สตางค์ มันก็ยังเหลืออีก ๙ สตางค์ คนที่ไม่มีมันก็จะมีขึ้นมา คนที่มีอยู่แล้วมันก็ไม่ถึงกับหมดไปหรือว่าอดอยากอะไร นี่มันเป็นหลักอย่างศาสนาสอนทุกคนผู้เกิดแก่เจ็บตายหรือว่าไม่เอาส่วนเกิน ก็พยายามที่จะเจียดออกให้เป็นส่วนเกิน อย่างตามอุดมคติของโพธิสัตว์ จะเจียดเลือด เจียดเนื้อ เจียดสิ่งที่รักดังดวงใจอะไรก็ตามออกให้เป็นส่วนเกินเพื่อให้ผู้อื่น นั่นคือหลักศาสนาทั่วๆ ไป ที่จะเจียดออกมาให้เป็นส่วนเกินให้จงได้ แล้วก็ให้แต่ผู้อื่น ถ้าทุกคนในโลกถือหลักกันอย่างนี้ โลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ คือ ไม่มีใครจน ไม่มีใครยากจน ทุกอย่างจะปลอดภัยไม่มี อันธพาล ไม่มีการเบียดเบียน ขโมย ไม่มีอะไร พยายามเจียดเป็นส่วนเกิน ช่วยเหลือสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์กันอย่างนี้ นี่จึงเรียกว่า ทำความเป็นมิตรกับทุกคนหรือประโยชน์ส่วนรวม
เวลาเหลืออีกนิดหนึ่งอยากจะพูดถึงคำว่า อนามัย คือ เราจะเป็นผู้มีอนามัย อนามัยก็ต้องแปลว่า พลังที่สมบูรณ์ที่มนุษย์จะต้องมีในการปฏิบัติหน้าที่ของตน พลังทางกายก็ได้ พลังทางจิตก็ได้ พลังทางวิญญาณหรือสติปัญญาก็ได้ ถ้าร่างกายไม่ดีก็เสียอนามัยทางกาย ถ้าจิตหรือระบบประสาทไม่ดีก็เสียอนามัยทางจิต จึงเป็นโรคประสาท โรควิกลจริตนี่มันอนามัยทางจิตมันไม่ดี ถ้าความรู้ ความเชื่อ ความยึด เข้าใจมันไม่ดี นั่นก็เสียอนามัยทางวิญญาณไปเลย คำว่าอนามัย คือ พลังที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ถ้าเราจะต้องปฏิบัติมันหลายระดับ มันก็ต้องมีกันทุกระดับ จะเห็นแก่เรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องเนื้อ เรื่องหนัง อย่างนี้มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานไป ฉะนั้นต้องมีอนามัยสูงกว่ามันทั้งทางจิต ทางวิญญาณด้วย เดี๋ยวนี้เรารู้จักกันแต่อนามัยทางร่างกายเกินไป แต่เราก็ยังไม่สมบูรณ์ ดูสิ ลูกเด็กๆ มันยังมีอนามัยไม่สมบูรณ์ แปลว่า เรายังเหลวไหลกันมาก คือ ทำอนามัยทางกายให้สมบูรณ์ก็ยังไม่ได้ แล้วทำไมถึงจะพูดเรื่องอนามัยทางจิต ก็เห็นได้แล้วว่ากำลังเป็นบ้ากันมากขึ้นทุกที ยิ่งในเมืองหลวง ในนครหลวง ยิ่งเป็นบ้าวิกลจริตกันมากขึ้นทุกที เป็นโรคประสาทกันมากขึ้นทุกที คือ ความไม่สมบูรณ์ในอนามัยทางจิต ส่วนทางวิญญาณ ทางสติปัญญานั้นก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราไปหลงใหลในวัตถุนิยม ตามใจในกิเลสตัณหาแล้ว อนามัยทางวิญญาณก็พังทลาย คือเต็มไปด้วยกิเลส คนควรจะรู้ว่าศีลธรรมหรือศาสนาก็ตามแล้วแต่จะเรียก นั่นมันเป็นทางมาแห่งอนามัย ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องในทางศีลธรรม การเจ็บไข้จะมีน้อย การเจ็บป่วยจะมีน้อย ความผิดพลาดจะมีน้อย ถ้าปฏิบัติศีลธรรมจริงต้องไม่โง่ในการที่จะมีความถูกต้องทางอนามัย กระทั่งว่าถ้ามีหลักศีลธรรมปฏิบัติอยู่ คือ สติสัมปชัญญะเป็นต้นแล้ว ก็ไม่หกล้ม แม้แต่จะไม่หกล้ม ก็จะไม่ทำมีดบาดมือถึงขนาดนั้น ถ้ามีศีลธรรมดีมันจะถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นมันก็รู้ที่จะป้องกันในโรคภัยไข้เจ็บอะไรได้ดี ให้มีความอดกลั้นอดทน ประหยัด สันโดษ ทีนี้คนมันไม่มีศีลธรรม มันตะกละ มันกินเข้าไปมากจนเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพราะอาหาร คิดดู ความไม่มีอนามัยของมัน มันเป็นอย่างนี้ ทางร่างกายแท้ๆ มันก็เสียไปเพราะมันไม่มีศีลธรรม มันไปเที่ยวกลางคืน ไปดูหนัง ดูละครอะไรต่างๆ มันก็เสื่อมเสียอนามัยทางกายหมด เพราะมันไม่ถือศาสนา ไม่ถือศีลธรรม เพราะฉะนั้นเรายังถือว่าศีลธรรมและศาสนาเป็นรากฐานของอนามัยทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และทั้งทางวิญญาณ ทีนี้เรามีคำต่อท้ายว่า อนามัยของผู้อื่นด้วย อันนี้มันมาอยู่ในข้อมิตรภาพ ข้อที่รักผู้อื่น ส่งเสริมผู้อื่นอยู่แล้วไม่ต้องพูดถึง เราพูดถึงแต่ตัวเราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอนามัยก็แล้วกัน หรือว่าจะถือว่าทุกคนสมบูรณ์ในอนามัยแล้วมันก็ไม่ต้องช่วยใคร แต่เดี๋ยวนี้มันมีทางที่จะช่วยคนนั้นมันหย่อนสมรรถภาพมันก็ช่วย โดยอาศัยหลักเมตตากรุณาหรือมิตรภาพ ซึ่งกล่าวไว้ในหัวข้อที่ ๒ อยู่แล้ว ก็เป็นอันว่ารู้จักอนามัยของตนเองนั่นแหละ ให้สูงขึ้นไปถึงอนามัยทางจิต อนามัยทางวิญญาญด้วย จึงจะมีอนามัยทางกายได้ถูกต้องและสมบูรณ์ ทีนี้เราจะบอกลูกเด็กๆ ของเราให้รู้จักสังเกตว่า เด็กที่ไม่มีอนามัยเพราะว่ามันทำผิดทางศีลธรรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง บางทีบิดามารดาทำผิด บางทีลูกเล็กๆ มันทำผิดเอง ถ้ามีศีลธรรมดี มันจะนอนหลับสนิท มันจะมีความประพฤติที่ไม่เป็นอันตรายแก่เนื้อหนังของมันอะไรต่างๆ ทุกอย่าง
เอาล่ะ, เป็นอันว่า ศีลธรรมมันก็อยู่ในเรื่องของอนามัย ศีลธรรมก็อยู่ในเรื่องของมิตรภาพ แล้วศีลธรรมก็อยู่ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดี ประพฤติ ปฏิบัติถูกต้องต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นอาตมายังถือว่า การพูดโดยสังเขปวันนี้ ก็พูดโดยหัวข้อที่ว่า งานกาชาดและงานอนุกาชาดที่มองดูในแง่ของศีลธรรมมันเป็นอย่างนี้เอง หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เอาไปคิด ไปพิจารณาดูให้เข้าใจ แล้วก็อบรมลูกเด็กๆ ของเรา ในความรับผิดชอบของเราที่เราจะต้องบริหารเขาให้สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ และก่อนแต่จะจบนี้ อาตมาขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า อย่าลืมว่าเรานั่งกลางดิน วันนี้เรานั่งกลางดิน เราปฏิญาณตัวเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน เป็นอยู่กลางดิน จนตลอดชีวิต ทรงแสดงธรรมทั้งหมดนั้นก็กลางดิน นี่เป็นเรื่องของสติปัญญาส่วนหนึ่งด้วย เป็นเรื่องของการเสียสละอย่างยิ่งด้วย ไม่ไปเห่อทะเยอทะยานแต่เรื่องวัตถุนิยม แล้วก็สามารถจะทำหน้าที่นี้ได้เป็นแน่นอน อาตมาขอยุติคำบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว