แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
“บุคคลก็ดี หมู่คณะก็ดี องค์การที่มีอำนาจ ไม่เห็นคุณค่าของศีลธรรม ไม่เห็นว่าวิกฤตกาณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะขาดศีลธรรม ก็เห็นเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจหมด หรือไม่ ไม่ช่วยเหลือไม่สนับสนุนการกอบกู้ศีลธรรม นี่มันเป็นเรื่องรับรองอยู่ในตัวว่าเขาไม่รู้จักศีลธรรมถึงขนาดนี้ มันจึงไม่สามารถสั่งสอนศีลธรรม ไม่สามารถจะจัดให้มีศีลธรรม ถ้าพระทูตทั้งหลายเห็นด้วยกับความคิดอันนั้น ก็ต้องยกเลิกกันหมด ถ้าพระธรรมทูตไปเป็นลูกน้องนักเศรษฐกิจ จัดแก้ปัญหากันแต่ทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องพูดถึงศีลธรรม แต่ทีนี้ถ้าเรามันยังมองเห็นอยู่ชัดๆ ว่านี่มันเป็นเรื่องทางศีลธรรม ต้องแก้ปัญหาด้วยศีลธรรม มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรดีจึงให้ผู้ที่มีอำนาจในโลกนี้มันมองเห็นค่าของศีลธรรมและมาร่วมมือกันแก้ปัญหาในโลกด้วยศีลธรรม ไม่มัวแก้ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ว่าถ้าเศรษฐกิจดีแล้วคนดีหมด ให้ทุกคนมีเงินใช้สอยสะดวกสบายแล้วก็อาชญากรรมจะไม่มี นี่มันเดินกันคนละทาง ถ้าเรายังมองเห็นว่าถึงจะให้มันมีเงินเป็นเศรษฐีกันทุกคนก็มันยังมีกิเลสก็จะเบียดเบียนกันอยู่นั่นแหละนั่นเอง นี่เรียกว่าอุปสรรคของการกอบกู้ศีลธรรมให้กลับมา ดังนั้นควรจะวิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายกันให้ละเอียดเพื่อรู้จักอุปสรรคและการทำลายอุปสรรคของพระธรรม อันจะมาเป็นที่พึ่งของโลกนี้ให้ถูกกับเรื่องกับราว ดังนั้นผมจึงถือว่าข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อก็จะต้องนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันนี้คืออุปสรรคของการเผยแพร่ศีลธรรม มีอยู่กี่อย่างกี่ประการ เอามาพูดกันให้สิ้นเชิง ถ้าเรื่องไม่ชวนฟังนอนฟังได้นะ นะพี่รื่นนะ(นาทีที่ 2.52) ไม่ต้องโกรธไม่ต้องโทษกัน เรื่องมันไม่ทะเลาะ มันก็ชวนง่วงนอน ง่วงนอนก็นอนฟังได้ เอาหมดตามลำดับกันไป หมดตามลำดับ อภิปรายแบบสัมมนาไม่ต้องลงมติก็ยังได้”
(เสียงท่านอื่น ไม่ทราบนาม)
“ญาติโยมก็ได้ฟังสลับรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ได้เน้นหนักถึงเรื่องอุปสรรคในการที่จะเอาศีลธรรมกลับมานี่ ก็เป็นปัญหาที่เราพูดกันติดปาก ทุกวันนี้โลกไม่มีศีลธรรม ศีลธรรมเสื่อม ไม่มีคนประพฤติปฏิบัติ ไม่มีผู้สอน ไม่มีผู้ทำ แล้วพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ก็ได้ให้ข้อที่เป็นอุปสรรคอย่างร้ายกาจไว้ข้อหนึ่งว่า ผู้มีปัญญาไม่รู้จักศีลธรรม นั่นก็คงจะหมายถึงผู้นำ จะเป็นผู้นำในหมู่สงฆ์ ในบ้านเมือง อะไรก็ตามแต่นี้ เป็นอุปสรรคอย่างร้ายกาจ เมื่อกี้ที่ท่านพระมหาประทีปได้กล่าวเน้น ซึ่งญาติโยมก็คงจะพอเก็บใจความได้ ที่ท่านเน้นว่า ความหมายของท่านที่ว่า เขาไม่ได้ดูหมิ่นแต่เขาดูไม่ถูก ไม่ใช่ดูหมิ่น เขาดูไม่ถูก เช่น อย่างเขามาวัด เขาได้อะไรไปจากวัด ทำไมคนไม่เข้าวัด แล้วทำไมเราไม่ถามเราเองบ้างว่าวัดให้อะไรแก่เขาผู้มาเข้าวัด ถ้าวัดมีอะไรให้ มีสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาต้องการให้ คนก็ยิ่งแห่กันมาใหญ่ เช่นอย่างกับสวนโมกข์ เมื่อก่อนเป็นวัดมานานแล้ว วัดธารน้ำไหล รกร้างว่างเปล่ามีแต่น้ำ มีแต่ป่า คนไม่มาวัด แต่ว่าทำไม มีอะไรให้ อันนี้ก็เป็นข้อคิดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วก็ในวงการของคณะพระธรรมทูตผู้เป็นสื่อว่า ปัญหาว่าคนไม่เข้าวัดนั้นเราไม่ต้องตกใจ เราก็จะมาตกใจในข้อที่ว่า เราให้อะไรแก่เขาผู้เข้าวัด เขาได้สิ่งที่ดีที่สุดไหม เช่นอย่างที่ท่านปรารภให้ฟังว่าท่านอยู่โรงมหรสพมานานหลายปีที่สวนโมกข์ คนที่มาที่นี้ท่านแบ่งเป็น ๓ พวก ไอ้พวกที่หนึ่งนั้นมา เอาทิฐิมา กลับก็ได้ทิฐิไป พวกนี้มาเหมือนกับการค้า กลับไปแล้วก็ล้มละลาย คือไม่เหลืออะไรเลย มาเขายาวมาอย่างนี้ กลับไปก็ไม่ใช่แค่เขาแล้ว แถมงอกเขี้ยวเข้าไปอีก นี่ไม่ได้อะไร ทีนี้อีกพวกหนึ่งที่ท่านว่า มาเพื่อดูแล้วไปบอกเขา อันนี้ถ้าเป็นนักค้าก็พอเสมอตัว ได้แต่ช่วยบอกข่าวเล่าลือ มาดูแล้วก็บอกเขาอย่างเดียว แล้วท่านก็ยังเน้นว่า อีกพวกหนึ่งนี้มาจริงๆ ทุกข์มาจริงๆ เดือดร้อนมาจริงๆ ทนไม่ได้จริงๆ อันนี้มาเพื่อแก้ทุกข์ ผ่อนคลายความทุกข์ ขจัดความทุกข์ นี้ที่ท่านปรารภให้ฟัง ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ว่า เรามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นไหม เราจะควบคุมสิ่งที่เราเกี่ยวข้องได้อย่างไร อันนี้ท่านเน้นถึงเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ คือตนเองเป็นหลักสำคัญ
ทีนี้ญาติโยมก็ลองฟังท่านพระมหาประสาท อันนี้ก็ทำงานด้านเกี่ยวกับการเผยแพร่มาก็นานพอสมควร ท่านก็ย่อมรู้อุปสรรคความเป็นมาความเป็นอยู่ความเป็นไป ช่องทางในการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ได้ให้ความคิดเห็นมอบให้ผู้ร่วมอภิปรายได้ร่วมอภิปรายกันนี้ ว่าทำอย่างไรในการที่จะดึงศีลธรรมกลับมา ทำอย่างไรให้ผู้ที่มีปัญญานี่เขารู้จักศีลธรรมกันบ้าง อันนี้ก็ขอฟังความคิดเห็นของท่านพระมหาประสาท ขอนิมนต์ครับ”
(พระมหาประสาท)
“ขอนมัสการแด่พระเดชพระคุณท่านผู้เป็นประธาน ขอเจริญพรแด่ญาติโยมพุทธบริษัทตลอดถึงเพื่อนพระธรรมิก ทั้งที่เป็นเถระผู้ปานกลางและผู้ใหม่ ในการอภิปรายคืนนี้ตามที่จริงแล้วอาตมาก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มานั่งร่วมอภิปราย เพราะที่จริงก็มีหลายท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางด้านพระพุทธศาสนา หรือเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ อาตมานั้นมีความรู้นิดหน่อย ไม่มาก แค่ได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษามาเล็กๆ น้อยๆ ถ้าจะว่าก็แค่หางอึ่ง ไม่มาก ยังมองโลกแคบ ไม่กว้าง ไม่เหมือนกับญาติโยมบางท่านก็ไปสุดเหนือสุดใต้แล้ว มองโลกกว้าง หรือพระท่านบางรูปก็ไปสุดเหนือสุดใต้ ไปต่างประเทศมาแล้ว ต่างๆ อาตมาก็มองไปมองมาอยู่แค่นี้เอง ที่ต้องมองมากก็มาสวนโมกข์ ที่จริงสวนโมกข์ก็อาตมารู้จักมานานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ ได้เคยมาจำพรรษาที่วัดพระบรมธาตุไชยาพร้อมๆ กับพระครูบรรหาญนี้เอง แล้วก็มาบ่อยๆ ในวันพระ วันโรงเรียนหยุด ก็มักจะมาสวนโมกข์ มีงานมีการนี่มาช่วยบ่อย แล้วก็แอบๆ มาศึกษาธรรมะสวนโมกข์นิดๆหน่อยๆ ก็พอจะเข้าใจบ้าง แล้วก็โดยเฉพาะท่านพระเดชพระคุณ อาตมานั้นก็เคารพอย่างลึกซึ้งอยู่ตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะเข้ามาเห็นกิจการต่างๆ ในวัด ผลงานการเผยแพร่ ตลอดถึงปฏิปทาต่างๆ ที่พระเดชพระคุณมี แล้วก็ยังแผ่ปฏิปทาส่วนนี้ไปถึงลูกศิษย์ลูกหา ....(นาทีที่ 11.09) กว้างขวางไกลออกไป แม้จะอยู่ที่ไหนเมื่อมีโอกาสก็จะมาบ่อยๆ แต่ก็คงจะไม่มีผู้ใหญ่เขารู้จัก อาตมาก็เป็นพระผู้น้อย ก็มาแอบๆ ดูๆ มองๆ สิ่งใดที่พอจะเอาไปประพฤติปฏิบัติได้ หรือพอจะนำไปบอกไปกล่าวแนะนำกับญาติโยมได้บ้างก็ส่วนมากก็เอาจากที่นี้ไปเหมือนกัน ทีนี้มาวันนี้ก็มีโอกาสได้มานั่งอภิปรายธรรมะ ก็ได้ยินได้ฟังมาแล้ว ญาติโยมได้รับรสทิพย์มาแล้ว คือการที่พระเดชพระคุณได้แสดงธรรมะ นับตั้งแต่การต้อนรับผ้าป่าเมื่อตอนบ่าย ให้โอวาทพระภิกษุเมื่อตอนบ่าย แล้วก็มาแสดงธรรมตอนนี้อีกกัณฑ์ใหญ่ ล้วนแต่เป็นรสทิพย์ที่ราดรดลงบนจิตใจของญาติโยมอย่างซาบซึ้ง ถ้าสนใจฟังก็คงจะซาบซึ้ง แต่หากว่าสนใจน้อยไปหน่อยก็คงจะซึ้งหลับไปเลยก็ได้ ทีนี้ทางคณะก็คงอยากจะให้เปลี่ยนรสบ้าง เพราะคนเราก็ชอบเปลี่ยนรส บางทีรสทิพย์ไม่ชอบ อาหารรสทิพย์ไม่ชอบ ก็ชอบอาหารรสน้ำพริก มันจะได้เผ็ดๆ แสบๆ หัวเราะไปบ้าง ร้องไห้ไปบ้าง น้ำตาไหลไปบ้าง อร่อยดี ก็คนชอบกันอยู่อย่างนั้นก็เลยอยากจะเปลี่ยนรส อันที่จริงแล้ว อาตมาก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะมากล่าวธรรมะต่อหน้าต่อตาพระเดชพระคุณท่านหรอก เพราะมีความรู้นิดหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็ให้ญาติโยมคิดว่าตอนนี้มาลิ้มรสน้ำพริกกันก็แล้วกัน มันอาจจะแสบไปบ้าง แฉะไปบ้าง หรือบางทีไม่ชอบใจแก่คนที่ไม่ชอบใจบ้าง อันนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเป็นเรื่องของโลกียวิสัยก็มีอย่างนั้น เดี๋ยวก็พอใจ เดี๋ยวก็เบื่อ เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันแทบตลอดเวลา
อันนี้ก็ในยามตอนดึก อาตมาก็นั่งคิดๆ ว่าการพูดธรรมะตอนดึกนี้ก็ดี จะได้มาลองของกันหน่อย ญาติโยมที่มาแต่ละท่านเอาของกันมาทั้งนั้น ของดี จะดีขนาดไหน จะได้ลองกันตอนนี้ ลองของว่ามันทนหรือเปล่าของนั้น ถ้าของใครของไม่ดีก็ลุกขึ้นไปแล้ว ญาติโยมที่มีของดีๆ ก็ทน ลองของ ใครมีขันติอดทนได้มาก มีวิริยะความเพียรมาก มีฉันทะความพอใจมาก มีต้นศรัทธาในธรรมเจริญยิ่งขึ้น นี่เรามาลองของกัน ก็พอจะรู้ๆ กันแล้วอยู่ในตัวว่าใครมีของอะไรดี ของอะไรไม่ดี พระองค์ก็ตรัสว่าตอนดึกน่ะ ดูพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ยามดึกนี่แก้ปัญหาเทวดา ตอนดึก ตอนค่ำก็สนทนาปราศรัยกับภิกษุสามเณรบ้าง ญาติโยมบ้าง แต่พอดึกหน่อยก็แก้ปัญหาเทวดา ทีนี้ก็คิดว่าพวกมนุษย์ก็คงจะง่วงเหงาไปแล้ว นี่ตอนดึกๆ ก็ยังพวกเทวดา ก็คงจะอยู่กันนาน คงจะไม่เหงา เพราะพวกเทวดานี้มีอะไรดีๆ อยู่ อาจจะมีความอดทนดีกว่าพวกมนุษย์ มีศรัทธามีความเพียรอะไรดีกว่าพวกมนุษย์ คือสิ่งที่ว่าแก้ปัญหาเทวดา อย่างพระเดชพระคุณนี้ต้องมาแก้ปัญหาเทวดา
คือวกไปเวียนมาก็มาเข้ารูปกันเสียหน่อย ตอนว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่ศีลธรรม จะแก้ข้อเดียว แก้หลายข้อมันก็ไม่มีปัญญาจะแก้ มันต้องแก้ทีละข้อ แต่ที่แก้นี้ก็ไม่รับรองว่าจะถูกหรือผิด แล้วแต่ญาติโยมนำไปพินิจพิจารณา ไม่รับรองนะว่าจะถูกหรือผิด เพราะมันเป็นอัตโนธิบายหรือว่าเป็นความคิดเห็นของบุคคลคนหนึ่งเท่านั้นเอง อาจจะมีบุคคลที่มีความคิดเห็นดีกว่านี้ เด่นกว่านี้ กว้างไกลออกไปกว่านี้ มีประโยชน์มากไปกว่านี้ก็ได้ แต่ก็อย่าพึงประมาทว่าความคิดเห็นของคนๆหนึ่งมันจะไม่มีประโยชน์เสียเลย มันอาจจะมีบ้าง เพราะทุกสิ่งมันก็มีเหตุและก็มีปัจจัยซึ่งกันและกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุที่มีปัจจัยมันก็อยู่กันไม่ได้ ความคิดเห็นของใครคนหนึ่ง แม้ในแนวของความเห็นผิดที่แสดงออกมา ก็มันเป็นปัจจัยอันหนึ่งในทางที่จะให้ตะล่อมไปจนถึงขนาดว่าเกิดความเห็นถูกขึ้นมาก็ได้ หรือในความเห็นถูกของบุคคลคนหนึ่ง มันก็จะส่งเสริมให้เกิดความเห็นถูกที่ประณีตสุขุมลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ได้ อันนี้เรียกว่าทุกสิ่งมันมีเหตุและก็มันมีปัจจัยเนื่องถึงกัน แม้ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้ติฝ่ายเลวว่าเลว ไม่ได้ติฝ่ายดีว่า ไม่ได้ยกย่องฝ่ายดีว่าดีเสมอไป ฝ่ายเลวก็ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นธรรมเหมือนกัน เป็นธรรม ไอ้ไม่ดีก็เป็นธรรม ไอ้ที่ดีก็เป็นธรรม อยู่เหนือดีเหนือชั่วก็เป็นธรรม เพราะทุกสิ่งรวมลงในคำว่าธรรมทั้งนั้น ว่าตอนนี้มันก็เตลิดออกไปอีก อะไรมันเป็นอุปสรรค อุปสรรคก็คือสิ่งขัดขวาง ให้โยมเข้าใจความหมายไว้ก่อน อุปสรรคก็คือสิ่งขัดขวาง อะไรขัดขวางสิ่งนั้นมันเป็นอุปสรรค เช่นว่าเราจะทำความดี รู้สึกว่ามีอะไรมาขัดขวางซะแล้ว จะให้ทานสักทีความตระหนี่เหนียวแน่นมันมาขัดขวางซะแล้วก็ให้ไม่ได้นี่ก็เป็นอุปสรรค จะรักษาศีลสักที ความโกรธ ความไม่พอใจ ความไม่ศรัทธาอะไรต่างๆ เป็นอุปสรรคซะแล้วในตัวเราเอง จะเจริญภาวนาทำจิตให้สงบสักหน่อย มันก็มีอะไรเป็นอุปสรรคเสียแล้วในจิตใจ บางทีมันก็มีห่วงมีกังวลอะไรอยู่ ทั้งตัวอยู่ที่นี่แต่ใจมันไม่อยู่กับตัวกับเนื้อที่นี่ มันจะไปอยู่ที่บ้านที่ช่อง ที่ลูกที่หลาน ที่ข้าวที่ของที่มรดกอะไรต่างๆ อันนั้นมันเป็นอุปสรรค นั้นแหละมันขัดขวาง ทีนี้อุปสรรคที่สำคัญก็คือกิเลส กิเลสภายในจิตใจของคนเรา ถ้าเมื่อมีกิเลสมากก็มันมีสิ่งขัดขวางมาก มีกิเลสน้อยก็มีสิ่งขัดขวางน้อย สำหรับญาติโยมที่มีความเห็นถูกอยู่แล้ว มีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ตั้งมั่นอยู่ในศีล ในสมาธิ ในการเจริญให้เกิดปัญญา แม้ว่ามันจะมีอุปสรรคบ้างแต่มันก็ไม่มาก มันจะมีน้อยๆ แต่อย่าลืมว่าเมื่อไม่หมดกิเลสเมื่อใดมันก็ยังมีอุปสรรคอยู่นั้นเอง
ที่นี้เรามองอีกแง่หนึ่งล่ะ สำหรับคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่ไม่เคยศึกษาศีลธรรมเสียเลย เคยศึกษาแต่เรื่องโลก ในเรื่องวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ในเรื่องวิวัฒนาการของทุกสิ่งทุกอย่างที่ไกลออกไปจากตัวเรา จากกายจากจิตของตัวเรา ไม่เคยมาศึกษาในด้านธรรมะในด้านศีลธรรม ในด้านศาสนาให้เห็นลึกซึ้ง ก็ยิ่งมีความเห็นผิดมากขึ้น เมื่อมีความเห็นผิดมากขึ้นก็มีอุปสรรคมากขึ้น ความเห็นผิดนี้มีอยู่ในพ่อแม่ก็ทำให้พ่อแม่มีอุปสรรคมากขึ้น มีอยู่ในลูกก็ทำให้ลูกนั้นมีอุปสรรคต่อการศึกษาปฏิบัติศีลธรรมมากขึ้น มีอยู่ในครูบาอาจารย์ก็จะทำให้มีอุปสรรคต่อการเผยแพร่ศีลธรรมมากขึ้น แล้วยิ่งมีอยู่ในพระสงฆ์องคเจ้าที่เป็นหลวงพี่หลวงพ่อ เป็นชั้นครูบาอาจารย์ที่เขานับหน้าถือตาในทางศาสนาแล้ว ถ้าความเห็นผิดนี้มันมีอยู่ในบุคคลชั้นนี้แล้วก็ยิ่งจะเพิ่มอุปสรรคแก่การเผยแพร่ศีลธรรมมากขึ้น นี่อุปสรรคมันมาจากสิ่งนี้ จากความเห็นผิด ความเห็นผิดจากน้อยไปหามาก จากรู้น้อยไปรู้มาก ไปถึงคนที่รู้มากหรือคนที่ไม่รู้เลยจนถึงคนที่รู้แต่ว่ารู้ไม่เหมือนกัน รู้ในทางที่ต่างกันก็อาจจะมีความคิดเห็นรุนแรงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันไม่สมดุลกัน
ที่นี้ความมุ่งหมายว่าจะทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่ของคนนี้มีศูนย์ถ่วงดุลเสมอๆ กันระหว่างความเป็นอยู่ของความเป็นฆราวาสที่จะต้องเกลือกกลั้วอยู่กับการงาน ทำอย่างไรว่าให้เขารู้จักใช้ศีลธรรมนี้เป็นเครื่องมือในการครองชีพที่ถูกต้อง และก็ใช้ศีลธรรมศาสนานี้เป็นเครื่องแก้ไขอุปสรรคในการครองชีวิตดำเนินชีวิตนั้นให้มากเท่าที่จะมากได้ อันที่จริงเครื่องมือในพระพุทธศาสนานี้มีอยู่พร้อมทุกสิ่งทุกประการ แต่ว่าเราเนี่ยไม่ได้แนะนำให้เขาใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง อย่างพระสงฆ์องคเจ้า สมภารเจ้าวัดหรือผู้นำทางศาสนาไม่ได้แนะนำให้เขาใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง หรือว่าผู้ที่ได้รับเครื่องมือที่ถูกต้องแล้วก็ไม่สนใจ หรือว่ารับไปแล้วก็ไม่ได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็เป็นอุปสรรคอีกเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าเรา ผู้ที่ให้เครื่องมือก็ให้ถูกต้องผู้รับไปก็รับอย่างถูกต้อง รับไปแล้วก็ใช้อย่างถูกต้อง อย่างนี้มันก็เป็นการช่วยกันแก้ไขอุปสรรค หากว่าคนทุกชั้น ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ลูกหลาน กลุ่มชนในชาติ รู้จักรับเครื่องมือที่ถูกต้อง ใช้เครื่องมือที่ถูกต้องแล้วให้เป็นวงกว้างออกไป ก็คิดว่าอุปสรรคส่วนนี้มันเป็นการแก้ไขอยู่แล้วในตัวของมันเอง อันนี้ตามที่อาตมากล่าวมานี้ก็เห็นว่ามันมากไปแล้ว ก็ขอยุติช่วงนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน”
(ท่านพุทธทาสฯ)
“นิมนต์ไปตามลำดับ ถ้าแสดงอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่จริงได้ก็ยิ่งดี ถ้ามี”
(เสียงท่านอื่น)
“ตามที่ท่านพระมหาประสาทได้ปรารภความในใจให้ญาติโยมได้ฟัง แล้วเกี่ยวกับเรื่องอุปสรรคสิ่งขัดความ ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเน้นไปถึงผู้นำของศาสนา เป็นสมภารท่านเจ้าอาวาส คณะพระธรรมทูต หรือผู้ประกาศธรรม อันนี้คือไม่สมดุล หรือบางทีก็ให้ไม่ถูก ให้ยาไม่ถูกกับโรค อะไรทำนองนั้น นี่มันเป็นอุปสรรคในการเผยแพร่ ทีนี้อาตมภาพก็ใคร่จะแสดงความคิดเห็นบ้าง อันนี้เล่นลูกคล้อยกันมาเป็นประจำ เขาว่าอย่างไรก็ตามแนวไปอย่างนั้น
โดยส่วนความคิดเห็นแล้ว ในการเผยแพร่ศีลธรรม ญาติโยมส่วนมากก็ได้แต่พูดหรือฟังเขาพูด พูดว่าศีลธรรมเสื่อม ศีลธรรมเสื่อม ญาติโยมได้ฟังพระพูด ศีลธรรมเสื่อม ได้ฟังครูที่โรงเรียนพูด ศีลธรรมเสื่อม นักเรียนเองก็บ่นว่าศีลธรรมเสื่อม พระสงฆ์ก็บ่นศีลธรรมเสื่อม ผู้ปกครองบริหารประเทศก็ศีลธรรมเสื่อม มันเพิ่งเสื่อมกระนั้นหรือ มันก็เสื่อมมาตั้งแต่โน่นแหละ ยุคก่อนครั้งพุทธกาล แต่แล้วพระองค์ทรงค้นพบวิธีในการที่จะแก้ไข ที่นี้วิธีนั้นเมื่อแก้ไขไปแล้วได้ผลในระยะเบื้องแรก แล้วก็ได้ผลชะงัดถึงที่สุด ต่อมาผู้ที่รับมรดกธรรมคือสาวก สืบทอดเป็นระยะๆมา ถ้าจะเปรียบอุปมาว่าเหมือนกับเงาะ จะเป็นพันธุ์โรงเรียนน่ะ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิรูปใหม่ๆ เหมือนกับพันธุ์โรงเรียน ทีนี้พันธุ์โรงเรียนก็จริงแต่เมื่อนำไปปลูกหลายๆ ต่อ เดี๋ยวนี้มันก็เป็นโรงเรียนราษฎร์ไปแล้ว เป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพในสายตาของเขาในวงการศึกษามอง หรือเป็นโรงเรียนวัดไปแล้ว แล้วค่อยกลายไปกลายไป
แต่ว่าโดยความรู้สึกแล้วที่อาตมาภาพมีความเห็นว่า จุดสำคัญอยู่จุดหนึ่งคือชาวพุทธเรานี่ใจเย็นเสียจนชินชา นี่ ชาวพุทธเราใจเย็นเสียจนชินชา ใจเย็นอย่างไร ไม่เป็นไร อันนี้แหละไม่เป็นไร เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทางพุทธศาสนาเราใจเย็น ไม่เป็นไรศาสนาไม่เสื่อม พระยังมาก โอ ยังตั้งหลายแสน วัดวาอารามยังมีเยอะ ผู้ประกาศศาสนายังมี นี่ใจเย็น ไม่เป็นไร หรือบางทีนี่ เช่นอย่างเมื่อกี้ที่พระมหาประทีปท่านกล่าวว่า เขาไม่เข้าใจในศาสนา ไม่ใช่เขาดูหมิ่น อันนี้ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าท่านก็ใจเย็น ใจเย็นเหมือนกัน ถ้าใจเย็นจนเกินไปแล้วใครเล่าจะเป็นผู้แก้ไข ในสมัยปัจจุบันนี้เราใจเย็นอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกันทำช่วยกันแก้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเราใจเย็น เห็นไหม ฉันเช้าแล้วจะเอนฉันเพลแล้วจะนอน เย็นก็พักผ่อนค่ำก็จำวัด คำนี้อาตมาน่ะท่องขึ้นใจมาแล้ว ไปที่ไหนก็บ่นที่นั่นแหละ หลวงพ่อ หลวงพี่ น้องเณรที่แอบหลับอยู่ก็อย่าเพิ่งเสียใจ นี่มันใจเย็นจนเกินไป ฉันเช้าแล้วจะเอน ฉันเพลแล้วจะนอนเย็นก็จะพักผ่อนค่ำก็จะจำวัด ไม่รับรู้ อันนี้ใจเย็นเกินไป
ทีนี้พูดมาถึงศีลธรรมเบื้องต้นที่เยาวชนก็เหมือนกัน ครูใจเย็นจนเกินไป ครูผู้สอน ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรเดี๋ยวนี้มันไม่เป็นไรแล้วเป็นไรขึ้นมาแล้ว พอเป็นไรขึ้นมาโรคมันหนาแล้วโรคมันหนักแล้ว ไปหาหมอหมอไม่รับแล้ว เอาแล้ว หวนคิดขึ้นมาว่าเอ้อ ศีลธรรมเป็นเรื่องจำเป็น นี่เหตุนี้ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เป็นผู้รับมรดกตกทอดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าใจเย็นนิ่งเฉยดูดาย ควรร่วมแรงร่วมใจกัน อย่างเกล้ากระผมนี้มีความคิดเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบารมีธรรมของพระเดชพระคุณหลวงพ่อหรือท่านอาจารย์ที่ได้ทำงานพระศาสนามานี้ว่า เรานี่ในฐานะพระธรรมทูตก็ดี พระผู้ร่วมกันเผยแผ่พระศาสนา ควรจะมาวิเคราะห์ปัญหากันบ้าง นี่อย่างครั้งนี้เนี่ย หลวงพ่อท่านให้โอกาสว่า ให้ผู้ที่ไปประสบพูดกันบ้าง กล่าวกันบ้าง แสดงความคิดเห็นกันบ้าง และเราที่มาก็ใจเย็นเสียอีก ไม่อยากพูดอีก ไม่อยากจะเสนอท่านอีก ถามโยมโยมก็ใจเย็น นั่งยิ้มนอนยิ้มอยู่นั้น ใจเย็น ไม่มีข้ออุปสรรคไม่มีข้อข้องใจ เราก็ได้หันมาทางพระก็ใจเย็นหมดแล้วนี่ เหลือบไปดูข้างหลัง เนี่ยความใจเย็น เย็นจนชินชา ช่วยกันแก้ ทำอย่างไร หาวิธี แก้ไขกันอย่างไรให้ศีลธรรมกลับมา นี้ประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง ชาวพุทธใช้ธรรมะไปพูดไม่เป็น อันนี้เป็นอุปสรรคอย่างแรง คือหมายความว่าผู้ที่จะเป็นสื่อหรือนำธรรมะไปเผยแพร่นี่ เราไม่รู้ว่าจะเอาคำพูดคำไหนไปพูดให้คนเข้าใจพูดให้คนติดใจ คนสนใจ อันนี้สื่อความหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก ญาติโยมลองสังเกต เมื่อกี้ที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ท่านได้ยกมา คำต่างๆ ให้เราฟังอ่ะ คำเหล่านี้เขาพูดครั้งเดียวมันติดหูคน ศาสนาเป็นยาเสพติด นี่ เขาเอาอะไรมาพูด เขาผลิตคำพูดที่ไหนมา เขาพูดคำเดียวติดใจคน ศาสนาเป็นยาเสพติด นักบวชในศาสนาเป็นกาฝากสังคม เขาเอาอะไรมาคิด เขาเอาอะไรมาพูด เขาสามารถสร้างสรรค์ความรู้สึก สามารถสร้างสรรค์คำพูดอะไรขึ้นมานี่มันติด ติด ศาสนาเป็นยาเสพติด นักบวชในศาสนาเป็นกาฝากสังคม ศาสนาแก้เศรษฐกิจไม่ได้ ศาสนาทำให้ประเทศชาติเจริญไม่ได้ โลกก้าวหน้าไม่ได้ ผลที่สุดศาสนาเป็นลูกตุ้ม ลูกตุ้มที่สำหรับถ่วง ลูกตุ้มสำหรับถ่วง ถ่วงความเจริญ อันนี้ นี่ เขาผลิตคำพูด แล้วทีนี้พอมาถึงคำที่เราจะพูดกันว่าเราหาทางแก้ไขหาธรรมที่จะเป็นสื่อให้เขาเข้าใจ คำใหม่ๆ ต่างๆ ญาติโยมเคยฟังที่ไหน นี่สวนโมกข์เนี่ย ผลิตคำใหม่ๆ ออกไปเยอะ ภาษาคนบ้าง ภาษาธรรมบ้าง เดี๋ยวนี้คนหูผึ่ง ภาษาคน ภาษาธรรม คำใหม่ที่สุดเดี๋ยวนี้ก็ ”อิทัปปัจจยตา” ตั้งแต่อาตมาศึกษาธรรมะมาก็ไม่เคยเห็น หรือไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฎกก็อ่านแค่เปลือก ไม่ถึงเนื้อ ผ่านๆ ไป พอพระเดชพระคุณท่านนำคำนี้มาพูดเดี๋ยวนี้ อิทัปปัจจยตานี่ติดปากของคนแล้ว ติดปากของคน นี้คำที่จะนำมาพูดเนี่ยไม่รู้ว่าจะหาคำพูดคำหนึ่งคำใดให้คนเข้าใจ อันนี้เป็นอุปสรรคมาก อุปสรรค เราพูดอย่างไรให้คนเข้าใจ หรือคำว่าส่วนเกิน เอ้า ส่วนเกิน คำนี้ ญาติโยมนี่จะมองเห็น ศาสนามันเจริญไปไม่ได้ ศีลธรรมเจริญไปไม่ได้เพราะคนมันแย่งส่วนเกินกัน นี่ แย่งส่วนเกิน กินให้ดี แต่งตัวให้สวยงาม บ้านช่องห้องหอที่อยู่อาศัยโอ่อ่า หรือแม้แต่ผู้ประกาศธรรมหรือนักบวชก็เหมือนกัน วัดฉันต้องสวยงาม สร้างเข้าให้ใหญ่ สองชั้นสามชั้นใหญ่โตอ่าอ่า ส่วนเกิน เมื่อคำว่าส่วนเกินมันเกิดขึ้นมา คำนี้มันสะกิดใจ สะกิดใจคน สะกิดความรู้สึก ทั้งนักบวช ทั้งนักปฏิบัติธรรม อันนี้ อุปสรรคอันหนึ่ง คือการแก้ไข แก้ไขก็หมายความว่าเรา ผู้ที่เป็นนักประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม เผยแพร่ธรรมนี่ต้องช่วย พยายามหมั่นศึกษา ทำความเข้าใจให้ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่ตนจะต้องประพฤติปฏิบัติหรือยอมรับในสิ่งนั้น
อีกประการหนึ่ง ประการที่สาม ผู้รับ ผู้รับนี่เปรียบเหมือนกับวิทยุ เดี๋ยวนี้สถานีวิทยุมันมากเหลือเกิน มันส่งคลื่นขี่กันไปเลย แซงกันไปเลย แม้โทรทัศน์ก็ไม่รู้สักกี่ช่อง แล้วผู้ฟังไม่พยายามปรับช่องบ้าง ปรับช่องให้มันเข้ากับคลื่น อยากจะฟังของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุประเทศไทย แล้วหมุนไปที่โน่น หกร้อย แล้วมันจะติดเหรอ มันก็ไปไม่ติด เนี่ย หรือบางทีอยากจะฟังกรมประชาสัมพันธ์สุราษฎร์ธานีเนี่ย หมุนไปครั้งแรกพันสอง มันไม่ติด เพราะเราไม่รู้จักคลื่น ปรับคลื่นไม่ถูก หรือบางที ขออภัย อย่างขณะนี้ ขณะนี้ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านอุตส่าห์ทน อดทน เสียสละ มานั่งร่วมกันกับเราฟัง ให้เราได้ฟัง แล้วก็ท่านยังมีเมตตาให้คณะผู้มาร่วมกันนี้ได้ช่วยกันวิจัยวิจารณ์ ด้วยกัน ในทำนองที่ว่าจะทำกันอย่างไร อันนี้ เราก็พยายามปรับคลื่นของเรา คือปรับตัวของเราให้เข้ากับเสียงหรือสิ่งนั้น มันพอเหมาะพอสมกัน แล้วก็จะเข้าใจ
เรื่องศีลธรรมนั้น ไม่มีปัญหาหรอก คิดง่ายๆ ไม่มีปัญหา อย่าคิดให้หนักสมอง เดี๋ยวต้องไปสุราษฎร์ ต้องไปหลังคาแดง คิดง่ายๆ ว่าศีลธรรมมันอยู่ที่เราแล้วเราใช้เป็นหรือเปล่า เรามาฝึกวิธีใช้อย่างขณะนี้ อาวุธอุปกรณ์ทุกสิ่งทุกประการมีอยู่แล้ว เรามาฝึก ฝึกวิธีใช้ ใช้ให้เป็น ใช้ให้เป็น แล้วศีลธรรมนั้นก็จะเป็นประโยชน์ อีกประการหนึ่งเราเมื่อใช้ให้เป็นแล้วข้อสำคัญอย่าปิดบังอย่าซ่อนเร้น อย่าอำพราง ต้องช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ ช่วยกันเผยแพร่ หาโอกาสทุกวิถีทางให้บุคคลอื่น จะเป็นลูกของเรา เป็นหลานของเรา เป็นสมาชิกของเรา ได้มีโอกาสฟังอยู่เรื่องอย่างนี้บ่อยๆ พูดอยู่เรื่องอย่างนี้บ่อยๆ แล้วเขาก็จะมีความสนใจขึ้นมาเอง แต่ถ้าหากว่าเรา เราเองก็ท้อแท้ ท้อถอย ปล่อยวางละเลยเสีย ผลที่สุดลูกของเราหลานของเราก็เป็นไปทำนองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ปัจจุบันนี้ เมื่อตอนที่อาตมาภาพพร้อมด้วยคณะเข้าไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ นี่ ไปสอนศีลธรรม ไปแนะแนวในเรื่องของศีลธรรม พอย่างขาเข้าห้องนักเรียนเท่านั้นแหละ ความรู้สึกที่เรามองไปที่ตัวนักเรียนกับความรู้สึกที่นักเรียนมองมาที่พระ จะเกิดความรู้สึกมาทันทีว่ามันไม่ค่อยจะเป็นเครื่องหมายบวก พอเห็นหน้ากันมันจะเป็นลักษณะเครื่องหมายลบเสียอยู่เสมอ พอเข้าไปในห้องเรียนนี่นักเรียนนั่งกันอยู่สี่ห้าสิบคน ญาติโยมลองสังเกตดูสิ พอพระเดินเข้าห้องเรียนนักเรียนทำอย่างนี้ แสดงว่า ผู้ที่เห็นพอสังเกตปุ๊บ นั่น อย่างนี้เขาหมอบรับเสียแล้ว นี่เขาทำอย่างนี้ หรือบางทีพอเวลาพระเริ่มสอนนี่นักเรียนก็ทำอย่างนี้ นี่ บางทีก็นั่งอย่างนี้ ปากกาอมไว้อย่างนี้ คือแสดงว่ามันไม่ได้เป็นเครื่องหมายบวก เป็นเครื่องหมายลบ จนครูก็หมดปัญญา ครูไม่กล้าเข้าสอนเองแล้ว อย่างบางโรงเรียนนี่ วิชานั้นสอนไม่สอนไม่เป็นไร ยี่สิบคะแนนครูไม่สอนก็ได้ นักเรียนไม่เรียนมันก็ไม่ว่า มันไม่เสียใจแล้ว นี่วิธีที่จะต้องแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วก็ เราต้องแก้มาตั้งแต่สังคมในบ้าน มันสังคมวงแคบแก้ง่าย อยู่ในกำมือ พ่อบ้านแม่บ้านนี่ แต่ถ้าพ่อบ้านแม่บ้านไม่ยอมกำมือ จะแบมือเสีย ปล่อยเสีย ตามใจลูก แล้วแต่ลูก ตามใจตนแล้วแต่ตน ตามใจสามีหรือสามีตามใจภรรยา ผลที่สุดเราไม่ได้กำมือเลย เราแบมือเสียเรื่อย พ่อแม่ตัวเองก็ไม่ได้แก้ไขแล้วจะไปแก้ไขลูกได้อย่างไร ในวงสังคมแคบเรือนครัวแก้ไขไม่ได้ ผลที่สุดทำอย่างไร ผูกไม่ไหวก็ตัดหางปล่อยวัด ถ้าพอไปที่วัด ถ้าวัดไม่ช่วยกันแก้ มันก็ไปกันใหญ่ วัดก็ต้องช่วยกันแก้ แก้อย่างนี้
แล้วที่พระเดชพระคุณท่านปรารภว่า มันมาจากพวกปัญญาชน เอ้อ จริงอย่างนี้ เพราะว่าปัญญาชนในสมัยปัจจุบันนั้นเขาเรียกกลับหลังแล้ว แรคนยาชัน(นาทีที่ 42.30) มันไม่มีศีลธรรม ไม่มีศีลธรรม ปัญญาที่เขาเรียนมาน่ะเพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้เขารวยกว่าเพื่อน เก่งกว่าเพื่อน มีมากกว่าเพื่อน ฉลาดมากกว่าเพื่อน ถ้าเป็นอะไรมานี่ รุ่นเดียวกันต้องให้เด่นกว่าเพื่อน ขึ้นหน้าเพื่อนนี่ มันมีปัญญาอย่างนั้นผลที่สุดก็ด้านศีลธรรมมันก็ลดน้อยลงไป นี้แก้ไข การแก้ไขก็ต้องช่วยกันทุกทาง พูดอย่างเดียวนี่แก้ไม่ได้ หูแตก วิทยุทุกสถานีโทรทัศน์ทุกช่องพูดอย่างเดียวก็หูแตก ช่วยด้วยการจุดเริ่มต้นคือตัวเราประพฤติปฏิบัติ ทำเป็นตัวอย่าง ทำตัวเราเป็นตัวอย่าง อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ทำพระองค์เป็นตัวอย่าง สาวกก็เหมือนกันทำตนเป็นตัวอย่าง สาวกนี่ไม่ทำตนเป็นตัวอย่างแล้วจะแก้ไขเขาได้อย่างไร ทำลายเศรษฐกิจ บ่นชาวบ้าน แต่ญาติโยมเห็นไหม เราเป็นไง ทำลายเศรษฐกิจอย่างไร ถ้าหากว่าสาวกบ่นชาวบ้านทำลายเศรษฐกิจแต่ว่าเราไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น พวกเสพติดต่างๆ เนี่ย เราก็ทำลายไปโดยตรง นี่ อันนี้เราทำลาย แล้วเราจะสอนเขาอย่างไร
หรือส่วนเกินให้เขาสละแต่เราจะเอาท่าเดียว จะเอาท่าเดียว แสนไม่พอล้านไม่พอจะเอาท่าเดียว ส่วนเกินที่เขาสละมันมาเพื่อเป็นส่วนสำคัญของเราส่วนเหลือของเราอย่างนี้ แล้วก็แก้กันไม่สำเร็จ เพราะเหตุนั้น จุดสำคัญจึงว่าต้องแก้จุดเริ่มต้นที่ตัวเรา จะโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ตาม แต่ให้เรานี้รู้สึกว่าเราดี เรามีศีลธรรม ไม่ต้องให้ผู้อื่นยอ ผู้อื่นเห็นว่ามีศีลธรรม ใจเรารู้ตัวเองว่าเรามีศีลธรรม อย่างญาติโยมที่มาที่วัดนี้ มีความรู้สึกอย่างไร มาสวนโมกข์ มีความรู้สึกอย่างไร เสียดายไหมหน้าวัดไม่มีร้านสุรานี่ เสียดายไหม นี่ บางคนเสียดาย เห็นตอนเย็นมีบ่นเหมือนกัน แหม เปรี้ยวปาก นี่ เสียดาย แสดงให้เห็นว่าความเป็นผู้ไม่มีศีลธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วจะแก้อย่างไร แก้ความรู้สึกของเรา นี้เป็นจุดเริ่มต้น
ที่นี้เกล้ากระผมก็กราบเรียนอย่างนี้นะครับ ก็ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายก็คงจะได้รับฟังจากพระเดชพระคุณท่าน และโอกาสต่อไปถ้ายังมีเวลาอยู่ เพื่อนผู้มาร่วมการอภิปรายก็จะได้แก้ไขกันอีก ว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร เกล้ากระผมกราบเรียนแค่นี้
(ท่านพุทธทาสฯ)
“วนตามลำดับไปตามลำดับ ใคร โยมว่ามีความเห็นอย่างไรจะพูดมั่งล่ะ ว่าอย่างไรล่ะ”
(นาทีที่ 45.25-54.35 ไม่ได้ถอดเสียง เสียงโยม..เบา ฟังไม่ชัด)
(ท่านพุทธทาสฯ)
“เอ้า พระพูดต่อ เอ้า วน ให้พระพูดต่อ”
(เสียงท่านอื่น)
ต่อไปก็ถึงวาระที่จะได้ร่วมกันหาคำตอบของความปลอดโปร่งของพวกเราทั้งหมด รู้สึกว่าเราทุกคนคงมีความข้องขัดในผลที่ได้รับอยู่เฉพาะหน้า ทั้งๆที่ว่าได้มีการที่ครุ่นคิดด้วยประการต่างๆ อย่างน้อยที่สุดก็ได้สบายอกสบายใจที่ได้ระบายออกมาถึงแม้ว่าจะแก้ไม่ได้ อยู่ในภาวะจำยอมก็ตามที ทีนี่คราวนี้ในข้อที่ท่านพระเดชพระคุณท่านพูดถึงเรื่องศีลธรรม เหมือนกับว่าจะเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นในการที่จะแก้ปัญหา แต่ว่าองคาพยพหรือส่วนประกอบในการที่ให้มันมีผลเป็นความสำเร็จย่อมจะมีองค์ประกอบอยู่มาก ทั้งๆ ที่ว่าคนทุกคนก็พูดกันถึงแต่หน้าร้านให้สวยงาม แต่หลังร้านก็ยังมีความจำเป็นในการที่ว่าจะต้องมีส้วมหรืออะไรต่ออะไรซึ่งจะต้องวางไว้หลังร้าน แต่ว่าพูดกันแต่หน้าร้าน ทีนี้ถ้าจะพูดกันถึงความเสื่อมของศีลธรรมหรือจะพูดกันถึงกิเลสก็ต้องพูดกันเฉพาะความโลภโกรธหลง ทำไมความโลภจึงตั้งขึ้นก่อน ก็เพราะว่าความโลภนี่มันเป็นความคืบหน้าของจิตในการที่จะเอาอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นเมื่อได้อะไรต่ออะไรมา ความโลภมันก็เหมือนกับว่าไม่แสดงตัว คล้ายๆ ว่าได้รับการปลอบประโลม ก็แม้แต่เพียงที่ว่าพอคลอดออกจากครรภ์มารดาเท่านั้น คนเราก็หายใจออกก่อน ครั้นแล้วก็หายใจเข้าในทีหลัง หลังจากนั้นก็เป็นไปตามจังหวะตามวาระหายใจเข้าออกตั้งแต่ที่เกิดจากครรภ์มารดามา การหายใจเข้าแม้แต่เพียงเกิดขึ้นมาถึงต้องอาศัยลมอากาศแล้วที่ให้ชีวิตได้เป็นไป ครั้นแล้วอากาศนั้นก็หมดไปต้องหายใจต่อไปใหม่อีก วันหนึ่งหายใจเข้าหายใจออกไม่ทราบว่าตั้งกี่ครั้ง เป็นการโชคดีอย่างมากที่ลมหายใจไม่ต้องซื้อหากัน ถ้าแม้นว่าลมหายใจต้องซื้อหาแล้ว การทะเลาะเบาะแว้งคงจะมีมากกว่านี้อีก รองลงมาจากนั้นคือว่าน้ำ น้ำกินนี่ดูเหมือนว่าบางแห่งยังไม่ต้องซื้อเท่าไหร่ แต่บางแห่งอย่างภาคอีสานนั่น เป็นปัญหาขึ้นมาอีกแล้ว แม้แต่เพียงน้ำกิน เพราะฉะนั้นอันดับแรกก็ต้องพูดกันในทำนองที่ว่าจะสนองความต้องการตามธรรมดานี่ให้เกิดขึ้น หมายถึงความอาศัยปัจจัยสี่นี่ แม้ภิกษุที่บวชเข้ามาใหม่ๆ อุปัชฌาย์ก็ต้องบอกว่า บวชเข้ามาแล้วต้องอาศัยปัจจัยสี่นะ คือ หนึ่งเที่ยวบิณฑบาตรอยู่โคนไม้ หรือว่านุ่งห่มผ้าบังสุกุล แล้วก็ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือน้ำเยี่ยว หมายความว่าภิกษุนี่พอบวชเข้ามาแล้วไม่มีการทำนาค้าขาย แต่ชีวิตนี้ยังต้องอาศัยปัจจัย ทีนี้เมื่อไม่ทำนาค้าขายแล้วจะได้ปัจจัยยังไง ท่านแสดงว่าชีวิตเนื่องอยู่ด้วยผู้อื่น อย่างอาหารปัจจัยที่หนึ่งนี่ให้เที่ยวบิณฑบาตรเอาด้วยปลีแข้ง เว้นไว้แต่มีอดิเรกลาภ เช่นมีคนนิมนต์ เป็นต้น ให้ไปฉันที่บ้านอะไรดังนั้น หรือมีลาภอื่น ผ้านุ่งผ้าห่มนั่น ให้เอาผ้าที่ชาวบ้านเขาเที่ยวทิ้งในที่ต่างๆ ที่สกปรกก็ตาม เอามาซัก แล้วมาตัด เย็บ ย้อมให้เป็นจีวร ที่อยู่อาศัยนั้นก็ให้ต้องอาศัยโคนไม้ เว้นไว้แต่ว่า เขาสร้างกุฏิถวาย หรือในฤดูกาลเข้าพรรษาซึ่งจะต้องมีเสนาสนะและที่มุงที่บัง ส่วนยาดอง ส่วนเจ็บไขได้ป่วยก็ใช้ยาดองหรือน้ำมูตรเน่า น้ำเยี่ยวนั่น เขาไม่รังเกียจกัน อย่างเดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่ามีคนสำคัญบางคนที่ว่าใช้น้ำเยี่ยวเป็นยาก็รู้กัน
ทีนี้ก็ปัญหาในการที่ว่าเรื่องเศรษฐกิจนั่นแหละจึงได้เกิดขึ้น เศรษฐกิจชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นกิจอันประเสริฐที่สุด เศรษฐ ประเสริฐที่สุด ถ้าจะมีปัญหาว่าเอกังนามกิง หนึ่งไม่มีสองคือสิ่งใด หนึ่งไม่มีสองคือสิ่งใด ตอบว่า สัพเพสัตตาอาหารัฏฐิติกา สัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร นี่แหละเป็นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องหนึ่งไม่มีสองเลย จะไปนรกก็เพราะเรื่องกินนี่แหละ จะไปสวรรค์ก็เพราะเรื่องกินนี่แหละ แล้วแต่ว่าสิ่งที่กินนั้นจะได้มาด้วยอาการยังไง ถ้าเป็นอย่างนั้น แม้แต่ศีลบางข้อชนิดที่เป็นปัจจยสันนิสิตศีลนั่น หมายถึงว่า ก็เป็นความผิดเพราะเรื่องกิน สุภาษิตจึงมีอยู่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยทั้ง ๔ นั้น หากภิกษุไม่ซ่องเสพอาศัยก็ทำให้เกิดอาสวะกิเลส และถ้าภิกษุซ่องเสพอาศัยโดยไม่พิจารณาให้แยบคาย มันก็ทำให้เกิดอาสวะกิเลสนั่นแหละอีกเหมือนกัน
ทีนี้ในทางที่ว่าไม่เกิดอาสวะกิเลสนั้นคืออย่างใด เฉพาะภิกษุยังไม่ได้กล่าวถึง พูดเฉพาะชาวบ้านผู้ครองเรือน เพราะปัญหาของโลกดูเหมือนว่าจะอยู่ตรงนี้กันมาก พวกภิกษุนี่ก็ไม่มีอะไรมาก คือว่ามีอะไรระเบียบ มีความรู้สึกละเมียดละมัยที่จะสงวนศักดิ์ศรีกันได้อยู่พอควร ทีนี้ว่าถึงชาวบ้านผู้ไม่มีอนุสติหรือว่ามีสิ่งที่บังคับให้อย่างละเอียดจึงมีทุจริต อาชญากรรมที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องอาชีพมากหลาย ทั้งนั้นก็เพราะค่านิยมด้วย อย่างที่ว่าสมัยนี้นั่น ตามปกติทรัพย์ของบุคคลเรานี่สุภาษิตมีอยู่ว่า นัตถิธัญญะ สะมัง ธนัง ทรัพย์ที่เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี นี่พูดถึงทรัพย์ภายนอก ก็หมายถึงว่าจะเป็นสร้อยคอ จะเป็นรถนั่งรถเก๋งหรือว่าเพชรนิลจินดา อะไรต่ออะไรที่เรารู้กันนี่แหละภายนอกนี่ ไม่มีทรัพย์ไหนเท่าข้าวเปลือก เพราะเหตุไรจึงไม่มีทรัพย์เท่าข้าวเปลือก ก็เพราะว่าความหิวนั้นเป็นโรคอย่างยิ่ง แล้วสิ่งที่เป็นอาหารของคนเรานั่นไม่มีสิ่งไหนที่ดีเท่าข้าวสุก เพราะว่ามันย่อยง่ายด้วย และมันละเอียดอ่อนพอสมกับธาตุร่างกายของมนุษย์พอดี จึงเรียกว่าแม่โพสพ แปลว่าผู้เลี้ยงดูคนทั้งโลก ชื่อว่าแม่เจ้าคุณ หมายถึงว่า เรียกว่าแม่เหมือนดังมารดาเลยทีเดียว คนสมัยก่อนข้าวหกเรี่ยราดนิดเดียวก็ต้องกวาดแล้วก็ทำปาก(เสียงประกอบ)อย่างงั้นแหละ หมายถึงว่าขวัญข้าวเสียแล้ว แม่เจ้าคุณเสียไปแล้ว ขวัญแม่เสียไปแล้ว เรียกขวัญของแม่กลับคืนมา เพราะงั้นคนสมัยนั้นน่ะทำนาพอกินกันเรื่อย แล้วก็นับถือดังแม่เลยเนี่ย แต่มาเดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้สึก ทำขวัญแม่โพสพก็ไม่มีแล้ว
จริงอยู่เรากินเกลือไม่จำเป็นจะต้องไหว้เกลือ แต่ก็หมายถึงว่า การพูดในทำนองนั้นก็หมายถึงให้รู้จักรักษานั่นเอง ก็อย่างนั้น ทีนี้เมื่อทรัพย์อื่นใดไม่เสมอเท่าข้าวเปลือก ก็ต้องหมายถึงว่า เพราะข้าวเปลือกเป็นอาหารได้ในเมื่อไปซ้อมไปหุง หรือจะทำเป็นข้าวปลูก มันก็ปลูกได้ยืดยาวนาน อย่างข้าวที่เรากินปีนี้เป็นลูกของข้าวเมื่อปีกลายและเป็นหลานของข้าวเมื่อปีกลายก่อนและเป็นเหลนของข้าวเมื่อปีกลายก่อนโน้น สืบยาวมานับปีไม่ได้ตราบใดที่มนุษย์ยังกินแล้วทำพันธุ์อยู่เสมอไป ทั้งเมื่อโลกนี้มีก็ต้องเป็นไปอย่างงั้น
ถึงแม้ว่าเราจะแต่งตัวแพงๆ อย่างเดี๋ยวนี้ อย่างท่านมหาประทีปพูดแล้วถึงแฟชั่น อะไรต่ออะไรนี่ กางเกงตัวสามร้อยสี่ร้อยนี่ แต่งตัวกันสวยๆ แต่ไอ้เชื่อแรก ขอให้เชื่อเถอะว่าต่อให้แต่งตัวสวยยังไง ถ้าท้องหิวแล้วก็หน้าไม่สวย หน้าไม่สวยแน่ๆ แต่ถึงแม้จะนุ่งแต่งตัวพอดีพอร้าย พอสมควรแก่อัตภาพ แต่ถ้าท้องอิ่มแล้ว สีหน้าก็อมเลือดฝาดว่างั้น มันงามเพราะคนมันอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องกินจึงเป็นเรื่องหนึ่ง และทรัพย์คือข้าวเปลือกนี่แหละไม่มีทรัพย์อื่นใดเท่า พระพุทธเจ้าสำเร็จก็เพราะอาหารดังว่านี่ ที่เราพบรู้กันมา
ทีนี้คราวนี้เราเขียนสุภาษิตกันได้ทุกบ้านแล้วตอนนี้ เขียนว่า “อย่าแต่งตัวให้งามตามคนมี ไม่กี่ทีขายเสื้อซื้อเกลือกิน” นี่เขียนได้แล้ว เด็กหนุ่มๆ เดี๋ยวนี้ถ้าเห็นสุภาษิตนี้อาตมานึกว่าคงจะนึกได้บ้างเป็นแน่ เพราะเขาแต่งตัวสวยๆ แต่แล้วก็ท้องหิวหน้าไม่ค่อยสวย เพราะเงินที่จะเอาไปกินไปหมดในนั้นหมดแล้ว คล้ายๆ ต้นตาลนี่มันเป็นแก่นข้างนอกแต่ข้างในก็ต้องรู้ว่าไม่มีอะไร มีแต่ไส้เปล่าๆ คนก็เหมือนกันแหละเป็นแก่นอยู่ข้างนอกกันหมด นาฬิกาเป็นแก่นอยู่ข้างนอก เสื้อผ้าแพงๆ เป็นแก่นอยู่ข้างนอก รองเท้าอะไรแก่นอยู่ข้างนอก ถ้าเป็นแก่นอยู่ข้างนอกอย่างนั้นแล้วก็ต้องรู้ว่าข้างในไม่มีแล้วแหละคนนั้นน่ะ เดินท้องแห้งอยู่ในตลาดแล้วอย่างนั้น เพราะข้างในมีแต่ไส้แล้วนี่
นี่แสดงว่าเราไม่รู้ลำดับความสำคัญของปัจจัยในสิ่งที่อาศัย เพราะฉะนั้นเรื่องกินเป็นตั้งเรื่องแรกไม่ว่าคฤหัสถ์ บรรพชิต โมโหหิวก็มี ฆ่ากัน เมียส่งข้าวห่อช้าไปนี่ผัวโกรธ ลงหนังสือพิมพ์แล้ว เรื่องเจดีย์ข้าวห่อน้อยนี่เล่ากันถึงว่า แม่กับลูกชายนี่อยู่กันสองคน เวลาลูกชายไปไถนาแม่ก็ส่งข้าวห่อเสมอทีเดียว แต่วันนั้นนั่นตะวันสายแล้วลูกไถนาแม่ก็ยังไม่ส่งข้าวห่อไป ไอ้ลูกชายก็เดินงุ่นง่านอยู่ที่ในที่ทุ่งนาโน่น ฝ่ายเจ้าแม่ก็รีบหุงข้าวเหนียว ภาคอิสานเขากินข้าวเหนียว กว่าจะเสร็จ ก็ข้าวเหนียวแกก็ยัดเต็มหม้อหิ้วเขียวนั่นสีเขียวนั่น และมีปลาร้าอะไรหิ้วไป พอไปใกล้ถึงลูกเท่านั้นแหละ ลูกความที่โกรธอยู่แล้วนี่พอแม่มาถึงก็ไม่พูดพล่ามแล้ว ว่าทำไมล่ะ ส่งข้าวห่อช้า อย่างนั้นหรือ แล้วเอาข้าวเหนียวมานิดเดียว ลูกไม่รู้ว่าแม่แกยัดให้แน่น แม่ก็บอกว่ากินไปเถอะ บางทีจะกินไม่หมดเสียอีกนะ แต่ลูกไม่ว่าอย่างนั้นนะ หมดไม่หมดไม่รู้ หิวจะตายแล้ว คว้าเอาแอกไถนั่นแหละตีแม่ตาย
พอตายแล้วก็กินข้าวไม่หมดจริงๆ แกยัดแน่นก็รู้ตรงนั้น ในเพลงมันบอกว่าพอกินข้าวอิ่มก็รู้ดีชั่วว่างอย่างนั้น เหลียวแลดูแม่ตัว ทูนหัวของลูกมาสิ้นใจไปแล้ว นี่โมโหหิวถึงอย่างนั้น ทีนี้เราถ้าเรารู้ว่าเมื่ออาหารมาจากการทำนา ตกลงว่าอาชีพสำคัญก็คือการทำนา ท่านผู้รู้ทั้งหลายที่เรียกว่าพุทธบุคคล โดยเฉพาะองค์พระสัมมาสัมพุทธะนั้น ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์จริงแต่ว่าเขาทำนากัน เพราะฉะนั้นบิดาของท่านจึงชื่อว่าสุทโธทนะ แปลว่าข้าวสวย น้องจากนั้นชื่อว่าสุกโกทนะแปลว่าข้าวขาว น้องกว่านั้นอีกอมิโตทนะ แปลว่า ข้าวมากนับไม่ได้ หรือโธโตทนะ ข้าวที่ขัดสีดี พระญาติพระวงศ์ของพระสัมมาสัมพุทธะมีการแรกนาขวัญที่รู้กัน ไม่เห็นเป็นของต่ำต้อยเปื้อนโคลนเลย นั่นเป็นอย่างงั้น ลูกของชาวนาน่ะเกิดมาโดยมากมีสิบนิ้วครบแหละ ลูกของคนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงอะไรนั่นบางทีลูกเกิดมาสิบเอ็ดนิ้วบ่อยๆ แสดงถึงว่าทำนาน่ะสำคัญ ท่านผู้รู้เกิดในตระกูลเช่นนั้น
ทีนี้คราวนี้ถ้าจะจัดลำดับดังเราพูดว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยงนี่ จริงหรือ สมัยก่อนนี้ สมัยที่ก่อนรัชกาลที่ ๕ หรือว่าในระยะนั้น เมื่อเขาออกมาเกณฑ์คนไปเป็นตำรวจ คนหนีกัน บางคนไม่ชอบ การเป็นตำรวจคนไม่ชอบ เป็นทหารก็ไม่ชอบ ในบรรดาภัยของมนุษย์คือไฟไหม้ น้ำท่วม โจรลักหรือว่าลมพัดวาตภัย อุทกภัยนี่ มีภัยอันหนึ่งด้วยคือราชาภัย ในคราวที่ว่าพระราชาไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม รีดนาทาเร้นแต่ประชาชน อีกประการหนึ่ง จึงพูดกันว่า ขุนนางไม่ใช่พ่อแม่ หินแง่ไม่ใช่ตายาย แต่เดี๋ยวนี้น่ะส่งลูกเรียนกันเพื่ออะไร เพื่อเป็นนายคน ให้พรอยู่อย่างนั้นน่ะ ควรจะเข้าใจว่าทำนาน่ะดีกว่าค้าขาย ค้าขายดีกว่าเป็นข้าราชการ เป็นข้าราชการดีกว่าเป็นช่างฝีมือต่างๆ พวกที่อยู่ด้วยศิลปะ พวกอาร์ทิสต์ พวกนั้น อะไรทำนองนั้น แล้วพวกช่างฝีมือนั่น ดีกว่าเป็นกรรมกร เป็นกรรมกรดีกว่าไม่ทำอะไรกิน ไม่ทำอะไรกินดีกว่าปล้นเขากิน ปล้นเขากินไม่ดีกว่าอะไรแล้ว เลิกเถอะนะ แค่นั้น จบแค่นั้น
ถ้าเรามาเห็นภาพให้ค่านิยมสำคัญต่ออาชีพทั้งห้านี้ให้ตามลำดับจริงๆ กันอย่างนี้ดังว่า คือว่า ทำนาดีกว่าค้าขาย ค้าขายดีกว่าเป็นข้าราชการ เป็นข้าราชการดีกว่าเป็นช่างฝีมือ เป็นช่างฝีมือดีกว่าเป็นกรรมกร เป็นกรรมกรดีกว่าไม่ทำอะไรกิน ไม่ทำอะไรกินดีกว่าปล้นเขากินอย่างนั้น อย่างนั้นก็มันสอดคล้องต่อสภาพธรรมที่จะเป็นไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันสอดคล้องกันแล้ว
อย่างเด็กในเมืองที่ไม่เคยเห็นนานี่ รู้แต่ว่าข้าวที่จะกินมันมาจากไหน รู้แต่ว่าแม่หุงให้กิน ไม่อย่างนั้นไปซื้อข้าวสารที่ตลาดมาหุงกิน ไม่อย่างนั้นก็ขอเบี้ยแม่เอาไปซื้ออาหารในร้าน หรือถ้าไม่มีอะไรก็ตีหัวหมาปาหัวเจ๊กเอา งัดตัดช่องย่องเบาอะไรก็ว่ากันไป เพราะไม่เห็นวิถีทางแห่งอาหารที่ตนกิน แต่เด็กบ้านนอกนี่ อายุไม่กี่วันเห็นแล้ว เห็นเขาไถนา อ้อรู้แล้ว อ้อข้าวที่เรากินมันมาอย่างนี้นี่ นั่นแหละ รู้วิถีทางแห่งการงานตั้งแต่เล็กๆ ทีเดียว นี่ มันมีสิ่งที่ให้สอนอยู่ พูดถึงที่ดินก็เหมือนกัน ควรจะเข้าใจว่าที่ดินทำนานี่ดีกว่าที่ดินทำสวน ที่ดินสวนดีกว่าที่ดินบ้าน ที่ดินบ้านดีกว่าไม่มีที่ดิน ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ก็เพราะว่าที่ดินนานั่นเราจะทำนาก็ได้ ทำสวนก็ได้ ปลูกบ้านก็ได้ ที่ที่ดินสวนนั่น ทำนาไม่ได้ ถึงจะได้ก็ไม่ได้ แต่ก็ว่าทำสวนได้แล้วก็ปลูกบ้านได้ ส่วนที่ดินบ้านนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย ทำนาทำสวนก็ไม่ได้ ได้แต่ปลูกบ้านอย่างเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าไม่มีที่ดิน เพราะว่าได้นอนเกลือกตาย ว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่เห็นว่ามันมีค่ามากไปกว่านั้นแล้ว
ทีนี้พอให้ค่านิยมอย่างนั้น ความรู้สึกของเราก็ไม่ถึงกับเป็นผู้ดีตีนแดงแล้วทีนี้ เป็นคนที่เอาธุระต่อชีวิตต่อความทุกข์ที่มันคู่มากับชีวิตที่เกิดมา ไม่ถึงกับเป็นคนขรุขระโยธากันเกิน แต่ไม่ถึงกับผู้ดีตีนแดงจนว่าไม่สามารถทำอะไรไป เรื่องทุกข์นิดหน่อยกลายเป็นทุกข์มาก เพราะความอ่อนแอของเรามันมีมาก เราเพลียถ้าเต็มทีแล้วนั่นเข็มเล่มเดียวก็หนัก แต่ว่าถ้าเรี่ยวแรงเราพอดีพองาม เราก็สามารถแบกหามพอดีพองามได้ เพราะว่าความเพียรนี่เกินนักก็ให้โทษ ทำให้เราระส่ำระสาย เรียกว่าอุทธัจจะ และน้อยไปก็ทำให้โกสัชชะ ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ คนขี้เกียจก็พบกันเยอะ คนขยันจนเกินตัวก็พบกันเยอะ แต่คนที่ประคับประคองความเพียรพอดีนี่ไม่ใช่หาได้ง่าย อย่างนั้นอีก นี่พูดถึงเรื่องว่าค่านิยมแล้ว
ทีนี้เรื่องอื่นนอกเหนือไปจากนั้น นอกเหนือไปจากนั้น คราวนี้รู้ได้เหมือนอย่างคุณน้าเมื่อตะกี้นี้พูด สมัยก่อนเราเดินอย่างนั้นอย่างนั้นแหละ นั่นก็ถูก เดี๋ยวนี้เราอ่อนแอไป เรี่ยวแรงของพวกเราไปไหนหมด ที่นั่งกันอยู่นี่ เรี่ยวแรงแต่ละคนมีน้อยเหลือเกิน เรี่ยวแรงเหล่านั้นน่ะถูกรถยนต์สูบเอาไปหมดแล้ว ถูกรถสูบเอาไปหมดแล้วเดี๋ยวนี้ แรงไปอยู่ที่นั่นพวกเราก็ไม่มีแรง แล้วเราคบกับสิ่งใดก็นิสัยเหมือนสิ่งนั้น อย่าว่าแต่คบกับคนที่มีวิญญาณ คบโจรเป็นโจรเลย แม้แต่คบกับรถยนต์เนี่ย เดี๋ยวนี้เรานิสัยเหมือนอย่างกับรถยนต์ ชอบไปไหนไวๆ คอยรถเดี๋ยวเดียวไม่ได้มันช้าเกิน และใครขวางหน้าเราไม่ได้ เราชนเลย เราหลีกไม่เป็นแล้ว เราไวนี่ เราชนเลย เราเตะเลย เป็นอย่างนั้นไป คือว่าชอบไวๆ ไปเสียหมด อยากให้ไวๆ ให้เนรมิตเหมือนอย่างที่หนังตะลุงมันแสดงว่าเนรมิตให้ไวๆ อย่างนั้น แม้แต่คบกับสิ่งที่ไม่มีวิญญาณก็ทำให้คล้อยตามไปเหมือนดังสิ่งนั้นแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยืดยาวขึ้นมา เพราะว่าเครื่องยนต์กลไกทั้งหลายที่เป็นเครื่องทุ่นแรง เขาเรียกว่า สมัยที่มีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมก็ดูเหมือนราวสองร้อยปีเห็นจะได้ ไม่เกินสองร้อยปี ที่ตั้งแต่มีการคิดรถไฟเกิดขึ้นมานี่ ก็มีผลแทรกซ้อนหรือว่ามีสิ่งที่เสียหายตามหลังเกิดขึ้นมามาก แต่เพราะบุคคลเรามุ่งในประโยชน์เกิน มุ่งแต่ประโยชน์ จึงไม่เห็นโทษที่ติดตามมา อย่างนั้น
เดี๋ยวนี้เรารู้กันว่าธรรมชาติในโลกเป็นอย่างไร นกร้องในอากาศไม่มีสักตัวนึง ไปไหนหมด จิ้งหรีดไม่มีสักตัว ไปไหนหมด ตั๊กแตนในนาไม่มีสักตัว ไปไหนหมด เราต้องค้นหาเหตุกันไป มันก็ต้องมีเหตุแน่ๆ เว้นไว้แต่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น อย่างความร้อนในโลกนี่ อย่างในโลกธาตุดินเรารู้กัน ดินทราย ดินหินเนี่ย ดินเหนียว ธาตุน้ำก็เห็นกัน น้ำในทะเล น้ำในห้วยหนองคลองบึงบาง จนถึงกับว่าธาตุลม ลมพัดถูกกระทบกายของเราแม้ขนาดตอนนี้กำลังจะดึกแล้ว แต่ด้วยที่ว่าเราทุกคนก็ยังเบิกบานอยู่พอใช้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีในการที่เราสามารถที่จะสว่างขึ้นได้ในกลางคืน ความจริงกลางวันกลางคืนนี่ก็ไม่สูงไม่เท่าไหร่ที สูงจากนี้ไปเท่าไหร่เป็นกลางคืน พ้นไปจากนั้นที่ดวงดาว ที่ดวงดาวนั่นเป็นกลางวันทั้งนั้นล่ะ ท่านพระอาทิตย์ส่องไปกระทบ ความจริงกลางคืนก็นิดเดียวตรงนี้ ตรงที่ขอบโลกแผ่นดินบังดังเขาว่ากัน
ทีนี้ความร้อนในโลกก็คือว่า ความพระอาทิตย์อีกด้วย โลกก็ปกติอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ความร้อนในโลกมันมากเกิน เครื่องยนต์ทุกชนิดต้องร้อนทั้งนั้น โรงกลั่นน้ำมันโรงอะไรต่ออะไรเนี่ย ร้อนทั้งนั้น เครื่องบิน รถไฟเนี่ยร้อนทั้งนั้น สังเกตเวลาบ่ายหนึ่งมาบ่ายสองโมงเท่านั้น อากาศแปรปรวนมาก ร้อนจัด เดี๋ยวนี้สัปปายะในโลกนี้หาได้ยาก ความบรรลุธรรมก็มีสัปปายะ อาหารอันดี ฤดูบรรยากาศหนาวร้อนพอดี บุคคลที่มาคบหาก็พอดี ที่นั่งที่นอนก็พอดี ฤดูบรรยากาศตลอดอารมณ์ก็ตรงกับจริต ว่ากันว่าความสำเร็จธรรมมีขึ้นมาเพราะสัปปายะดังนั้น แต่เดี๋ยวนี้สัปปายะกำลังจะหาได้ยาก ถ้าไม่ใช่ชาติมหาบุรุษแล้ว ยากที่จะข่มจิตข่มใจอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน
เพราะอย่างนั้นเราอย่าได้รำคาญกันเลยว่าในคืนนี้เราได้อดตาหลับขับตานอนนั่น เพราะความจริงเวลานอนนั่นไม่เเห็นว่าจะมีใครเคยได้เบี้ยแม้แต่สลึงเดียวเวลาหลับ โดยมากเวลาได้เงินได้ทองได้เวลาตื่นกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราหลับกันมามากแล้ว คราวนี้ตื่นเสียทีเป็นไร
สมัยก่อนฟังเทศน์ มามาฆบูชา วิสาขบูชา ว่ากันว่าเขาเทศน์กันรุ่ง พระเถระบางรูปสมัยก่อน สมัยพระพุทธเจ้านั่นที่คนนับถือรู้จักกันมาก เช่น พระอนุรุท พระอานนท์นี่ พระสารีบุตรนี่ ท่านว่ากันว่า ห้าวันท่านมาสนทนาธรรมกันครั้งหนึ่ง ท่านก็สนทนากันยันคืนยันรุ่ง ท่านกราบทูลคำนั้นต่อผู้มีพระภาคว่างั้น ปรากฏในพระคัมภีร์ ท่านไม่ง่วงนอน ไม่ซบเซาเหงาเงียบ ไม่มึนซึมสลึมสลือ จิตใจสว่างอยู่ดังนั้น จนถึงกับมีเวลาได้โอกาสคิดกันดังที่เราได้ปรับทุกข์กัน โดยที่ท่านพระเดชพระคุณก็ได้อุตส่าห์ ฐานะที่ท่านชราแล้ว ก็ยังนั่งอยู่ด้วยความเอื้อเฟื้อต่อท่านที่มาแต่ไกล อาตมาเห็นแล้วรู้สึกว่าจิตใจท่านอดทนมาก ก็เป็นเหตุให้เกิดอุสาหะที่จะมาร่วมกับทางมหาประทีปด้วย ที่มาจากสงขลาโน่น
ที่นี้ ว่ากันมาถึงเรื่องการทำงาน รู้แล้ว ค่านิยม ทีนี้ ค่านิยม ก็กล่าวถึงโทษของเครื่องจักรแล้วว่า สัตว์นั้นหายไปแล้วนะคราวนี้ แสดงถึงว่ามันขาดสัปปายะ ความสบาย อย่างน้อยก็ความร้อน ร้อนเกินในโลก เพราะนอกจากความร้อนพระอาทิตย์แล้ว มีความร้อนอะไรอื่นอีกบ้าง เราคิดดู ก็หมายถึงว่าความร้อนที่เครื่องยนต์ ความร้อนที่เรือยนต์ เครื่องบิน โรงกลั่นน้ำมัน โรงถลุงเหล็กกล้า จนถึงความร้อนที่เตาเคี่ยวน้ำตาล ความร้อนที่หม้อหุงข้าว จนถึงกับไม่มีอะไรแล้ว ความร้อนที่ปลายบุหรี่ที่จุดกัน คาบแดงกันไปเกือบครึ่งเมืองค่อนเมืองนี่ รวมกันเป็นความร้อนหมดนะนี่ แล้วมาร้อนไม่ร้อนกันยังไง ก็สัตว์วิบัติ ตลอดจนถึงว่าเวลาน้ำมันระเหยขึ้นเป็นไอเป็นเมฆฝนด้วยอำนาจความร้อนนั่นน่ะ น้ำในที่ทั้งหลายคือห้วยหนองคลองบึงบางไปถึงมหาสมุทร ในชลาลัยนั่น เหล่านั้น เวลาเป็นเมฆเป็นฝนตกก็ตกมากจนเกินละทีนี้ ตกมาจนท่วมเลย ทำให้คนตายเลยแน่ะ ตกลงพวกที่ไม่สำรวมระวังในการใช้ความร้อนมีส่วนแห่งบาปนั้นทั้งนั้นแหละ คนสูบบุหรี่เท่ากับว่าได้เข้าร่วมในกฐินสลึงนึงแล้วแหละ ที่เขาตายกันที่นครศรีธรรมราชหรือที่ไหนนี่
เรื่องลึกลับความเป็นไปของธรรมชาตินี่ ถ้าคิดละเอียดเหมือนกับว่าเราพอจะทำให้สอดคล้องได้ ให้ธรรมชาติเป็นความสุขแก่เรา เราได้ความสุขจากธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รักษาธรรมชาติไปในตัวด้วยเพื่อให้มันได้ให้ความสุขแก่เรานานๆ ดังที่ท่านได้เปรียบต้นไม้เรื่องเนื้อสมันอะไรนั่นน่ะ อย่างนั้นมิใช่ว่าเราจะไม่อาศัยธรรมชาติ แต่ว่าในฐานะอันพอควร เหมือนอย่างกับคนใช้สอยทรัพย์นี่ บางคนจะกินลูกมะเดื่อสักผลนี่ไปตัดมันทั้งกิ่ง ทิ้งซะมากมาย กินลูกเดียวผลเดียวนี่ อย่างนั้นมี แต่บางคนก็เบียดกรอจนเกินไป ไม่กล้ากินไม่กล้าใช้ กลัวจะหมดจะสิ้น อย่างนั้นก็ไม่ถูกอีก
ทีนี้ความพอดีมันทำได้ยากในสิ่งทั้งหลาย เหมือนอย่างเราจะยิงนกสักตัวเนี่ย ไอ้จุดที่ถูกนกนั่นมีจุดเดียวเท่านั้นคือที่ตัวนก นอกนั้นข้างบนนกข้างล่างนกข้างขวานกข้างซ้ายนก สี่แห่งนั่นเป็นที่ๆไม่ถูกทั้งนั้น
ทีนี้คราวนี้ก็ได้พูดมาถึงว่าเมื่อขาดสัปปายะเดี๋ยวนี้สัตว์จึงวิบัติอันตรธานไป สัตว์เล็กตายไปก่อน เหมือนดังในคัมภีร์ที่ว่าถ้าเกิดโรคระบาดสัตว์เล็กตายก่อนแหละ จนถึงมนุษย์หลังเพื่อน เพราะมนุษย์มีความต้านทาน ทีนี้คราวนี้คนเราเดี๋ยวนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ตายเหมือนดังที่สัตว์เล็กตายไป แต่ก็เป็นอยู่อย่างไร เป็นอยู่อย่างกรอมเกรียม คนเดี๋ยวนี้หน้าเกรียมๆ หยอกล้อไม่ค่อยได้นะ ถ้าคนที่ไม่สนิทหน้ากันนะ โกรธกันง่ายๆ หุนหันง่าย คนขับรถนี่โกรธกันง่ายๆ จริงๆ อยู่เกลียวเดียวกัน ถ้าเป็นเชือกเกลียวเดียวกันทั้งนั้นน่ะ นี่ ผลตามมาแล้ว ผลจากการที่ลุ่มหลงในวิทยาศาสตร์อะไรเนี่ย ตามมาแล้ว อย่างนั้น แต่ก็ค้นเหตุไม่ได้ ไม่รู้ว่าเรื่องมันเป็นมายังไง รู้แต่ว่าไม่สบายอย่างเดียว เป็นทุกข์อย่างเดียว
แม้แต่อากาศที่เราหายใจนี่ ถ้าพูดมิใช่ว่าจะวาจาเพ้อเจ้อ เราไปอัดในยางในรถซักเท่าไหร่ ขนาดนั้น น้ำเรากักขังไว้เท่าไหร่ จะกินจะใช้นั่นไม่เท่าไหร่หรอก ที่กักขังเกินไปนั่น อุณหภูมิของโลก แผ่นดินไม่ได้ชุ่มฉ่ำในยามที่ฝนพรำชโลมมาที่ว่านั่นแหละ มันก็ไม่ชุ่มฉ่ำแล้วคราวนี้ ถังประปาสูงๆ ก็มี เนี่ยอย่างนั้น อุณหภูมิในโลกของโลกมันก็ไม่พอดิบพอดี นี่เป็นอย่างนั้นอีก มันไม่สัปปายะขึ้นมา
เอาเถิด ทั้งหมดนั้นก็เรียกกันว่า เป็นเรื่องของเทหวัตถุหรือฟิสิกส์ไปมาก ทีนี้ทางนี้มาพูดกันถึงเรื่องนามธรรม คัมภีร์บอกว่ามีคนกราบทูลพระองค์ว่าสมัยก่อนนี้มีมนุษย์มากมาย คนแน่นเลยสมัยก่อนเนี่ย ชั่วไก่บินตกต้องถึงบ้านคน แต่เดี๋ยวนี้ หมายความว่าห่างแล้ว ไก่บินตกแล้วทีนี้ ไม่ถึงบ้านคนแล้ว นี่แสดงถึงว่าคนมันเบาบาง เราอย่านึกว่าคนเดี๋ยวนี้มากนะ คนเบาบาง คนน้อยลง เขาทูลถามพระองค์ในคัมภีร์ พระองค์แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้นั่นยินดีในอธรรม ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและยินดี เราถูกความโลภ ความข้องความติดความอยากได้ในสิ่งที่ไม่เสมอครอบงำใจ จึงเป็นเหตุให้จับศาสตราอาวุธที่มีคมฆ่าฟันกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้มนุษย์เบาบาง อีกประการหนึ่งเล่าเมื่อมนุษย์มีบาปมีความผิดมากอย่างนั้นแล้ว เทวดาก็ไม่ชอบใจ เลยก็ไม่ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารก็ไม่อุดมสมบูรณ์ คนก็ตายไปอีก ด้วยเหตุนี้อีกเหมือนกันที่ทำให้คนน้อยเบาบางลงมาอีก หรือว่าจะตีความหมายว่าคน คนแท้ๆ มันน้อยลง มีแต่อย่างอื่นมาก อย่างนั้นก็ได้
ความจริงก็มีปัญหาอื่นที่เป็นเรื่องหยุมหยิมจิปาถะ อย่าว่าอะไรเลย แม้แต่เราจะแกงปลาสักหม้อ มันก็เป็นธรรมะดังว่านั่น อย่างเอาน้ำใส่เข้าในหม้อตั้งบนเตาแล้วนี่ ถามปัญหาว่าจะเอาอะไรใส่ในหม้อก่อน เท่านั้นแหละ ก็ต้องตอบว่าต้องเอาของที่แข็งนี่ก่อน ใส่ผักใส่เนื้อนั่นแหละก่อน และปล่อยให้มันเดินทางสักครึ่งทาง คือว่าให้มันไปครึ่งทาง คราวนี้เอาเครื่องใส่เข้าไป พวกพริกพวกกะปิอะไรนี่ที่มันอ่อนๆ พอใส่ลงไปแล้วคราวนี้ปล่อยมันเดินทางสักครึ่งทางมันก็เดินทันกันพอดี เดินทันกันพอดีเท่านี้ ฟืนไฟหลังจากนั้นได้เก็บได้ เราคิดดู เรื่องนิดๆ หน่อยๆ นี่ เพราะถ้าใส่พร้อมกันลงไปแล้วกว่าที่เนื้อจะเปื่อยเราคิดดูว่ากะปิต้องเหลวไปแล้ว สูญหายไปแล้ว ถูกเผาผลาญหมด เละไปเท่าไหร่แล้ว นี่แม้แต่เพียงเท่านั้น คราวนี้ฟืนไฟเราก็เก็บได้ทันที ใช้เก็บ ฟืนไฟนี่เราเรียกมาใช้เวลาจำเป็น หมดเรื่องต้องเก็บทันที เพราะว่าถ้าอย่างนั้นแล้วมันเกินพอดีไปอีก
นี่ก็ว่ากันเท่านี้ก่อน ว่าถึงเรื่องปัญหาก็หมายถึงเรื่องปากเรื่องท้องเป็นเรื่องใหญ่ ใครต่อใครก็พูดกัน แต่ว่า ก็รู้สึกว่าเป็นเวลาไปนิดนึงก็ อยากที่ให้ผู้อื่นเขาแสดงความเห็นเพิ่มเติมสมทบในจังหวะที่เหมาะสมหรือว่าเวลาอย่างไรต่อไปก็ได้พิจารณากัน”
(เสียงท่านพุทธทาสฯ)
“กำหนดไว้อย่างไรทีนี้ โปรแกรมเป็นแบบไหน
ถ้าสรุปเรื่อง ก็ขอฝากไว้ตลอดไปว่าช่วยกันสังเกตสังกา หาวิธีแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับโลกจะล่มจม มนุษย์จะไม่มีความเป็นมนุษย์ คือ ศีลธรรมต้องกลับมา นี้มันมีอุปสรรคอย่างไรบ้างเมื่อเราได้พยายามให้ศีลธรรมกลับมา เกิดอุปสรรคอะไรขึ้น เอามาปรึกษาหารือกัน เพื่อจะแก้อุปสรรค อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องคิดด้วยก็คือว่า ทำอย่างไรเราจะได้เสียงมากขึ้น เสียงสนับสนุนน่ะมันยังน้อย ไม่พอที่จะให้ผู้มีอำนาจเขาเห็นด้วย ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เกิดต้องการขึ้นมาจริงๆ ผู้มีอำนาจเขาก็จะเห็นด้วยที่จะอำนวยให้ศีลธรรมกลับมาอย่างที่เราต้องการ
เดี๋ยวนี้พ่อแม่ผู้สูงอายุทั้งหลายก็หุบปาก ไม่พูด เหลือแต่เด็กๆ ก็แบ่งเป็นสองฝ่ายเสีย เด็กข้างขวานิยมขวาก็หายากแล้วก็พูดไปทางหนึ่งตามแบบของเขา เด็กนิยมซ้ายมากขึ้นก็พูดไปตามเด็กนิยมซ้าย มันก็เลยไม่สนับสนุนเรื่องการกลับมาของศีลธรรม เพราะเห็นว่าศาสนาเป็นยาเสพติด บรรพชิตเป็นกาฝากสังคมอยู่อย่างนี้เรื่อยไป พูดเท่าไรมันก็ไม่ยอม เราจะต้องนึกถึงว่าทำอย่างไรให้เสียงของศีลธรรมนี่มันจะมีมากขึ้น ถ้าคนแก่ๆ ไม่หุบปากเสีย ช่วยกันพูดทุกคน มันก็คงจะดังกันพอใช้ ที่จะทำให้สังคมที่มีอำนาจเขาจะเอออวยตามด้วย ดังนั้นขอฝากไว้ด้วย ว่าพอถึงคราวจะตะโกนขอให้ช่วยโวยกันให้มากๆ เพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ทีนี้ก็ไปหาทางจัดการกับเด็กๆ รุ่นปัญญาชน ให้ช่วยกันสนับสนุน ผู้มีอำนาจเขาก็กลัวเด็กๆ กันอยู่มากเหมือนกัน ถ้าเด็กส่วนใหญ่ต้องการอย่างไรก็มักจะได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นช่วยกันทำให้เด็กๆ หันไปในทางที่จะดึงให้ศีลธรรมกลับมา ด้วยเขามองเห็นความจำเป็นของศีลธรรมให้มากจนเด็กๆ ก็เป็นเสียงฝ่ายของเราที่จะดึงศีลธรรมกลับมา ที่เหลือเป็นส่วนน้อยก็คงจะไม่มีน้ำหนักอะไร ขอฝากไว้อีกปัญหาหนึ่งด้วยว่า ให้ทุกคนช่วยกันหาเสียง ให้เสียงของศีลธรรมกลับมา ที่จะให้มันหนาแน่นขึ้น หนาแน่นขึ้น เรียกร้องมากขึ้น จนว่าประเทศไทยที่เป็นประเทศพุทธบริษัทนี้จะทำได้สำเร็จในการที่ศีลธรรมกลับมา ถ้าประเทศนอกนั้นในโลกก็คงจะเอาไปคิดไปนึก ทำให้ศาสนากลับมา คือศีลธรรมตามแบบของตนของตน ของศาสนาของตนของตนมันก็จะกลับมา โลกนี้ก็จะเป็นโลกของศีลธรรมมากขึ้นจนถึงกับรอดตัวได้ ดังนั้นขอให้พระธรรมทูตทั้งหลายพยายามหาเสียงให้มากพอสำหรับจะโวยกันขึ้นมาว่าให้ศีลธรรมกลับมา จนทุกคนเห็นด้วย ผู้มีอำนาจเห็นด้วย เรื่องมันก็ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ผู้มีอำนาจยังเห็นเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ร่ำไป ไม่ช่วยสนับสนุนในฝ่ายศีลธรรม
นี่สรุปความว่าวันนี้เราพูดกันถึงอุปสรรคของการกลับมาของศีลธรรม นี่มันมีอยู่มากมาย ก็ช่วยกันแก้ไปทีละอย่างทีละอย่าง จึงขอให้เอามาอภิปรายว่ามันมีอะไรบ้างเท่าที่ประสบมา เมื่อเหลือสติกำลังที่จะแก้เองได้ก็ปรึกษาหารือขอความช่วยเหลือขอความร่วมมือ ช่วยกันแก้ไขอุปสรรคของการกลับมาแห่งศีลธรรม ผมเดี๋ยวนี้ถ้าจะพูดก็พูดได้ ก็ยอมรับว่ามันเป็นโรคศีลธรรมขึ้นสมอง พูดแต่เรื่องศีลธรรม ศีลธรรมไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง ก็ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ยังพูดอีก ยังร่ำร้องอีก ยังขอรบกวนอีก ให้ทุกคนช่วยคิดช่วยนึก ถ้าทำได้สำเร็จก็เป็นผลดีแก่โลกนี้ แล้วเป็นตรงตามพระพุทธประสงค์จะให้ธรรมะครองโลก เอาละขอสรุปไว้ ฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ จะได้ดำเนินตามโปรแกรมอะไรต่อไป นิมนต์”