แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สามเณรทั้งหลาย ฉันขอแสดงความยินดี อนุโมทนา ในการที่เธอทั้งหลายได้มีการบรรพชา แม้ชั่วขณะหนึ่งนี้ ซึ่งถ้าทำให้ดี ก็ได้รับประโยชน์เกินค่า ถ้าทำเล่นๆ ละเมอ ๆ มันก็ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ดังนั้นเราจะพูดกันถึงเรื่องที่จะต้องทำให้ดีที่สุด หัวข้อแรกก็คือว่า ธรรมะ ทำไมกัน ก็เธอมาบวชนี้เพื่อศึกษาธรรมะ เพื่อปฏิบัติธรรมะ เพื่อได้รับผลจากการมีธรรมะ นั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะทั้งนั้น เพียงแต่จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน ว่าธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน ข้อนี้เป็นปัญหาทั่วไปหมด ไม่เฉพาะสามเณรน่ะ แม้ฆราวาส แม้คนทั่วๆ ไป หรือแม้กระทั่งเป็นภิกษุ เราก็มีปัญหาข้อแรกอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ว่าธรรมะทำไมกัน นี่เรื่องของธรรมะนั้นมันยืดยาว พูดกันเท่าไรก็รู้ไม่จบเพราะว่าทุกๆ อย่างมันเป็นเรื่องของธรรมะทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้เท่าที่มันเกี่ยวข้องกับเราโดยเฉพาะนี่ เราควรจะมองกันในแง่ไหน ข้อแรก อยากจะมองกันในแง่ที่ว่า ธรรมะ เพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เธอทั้งหลายก็ได้มีชีวิตขึ้นมาในโลกแล้ว แล้วก็ยังอยู่ในขั้นปฐมวัย ยังจะต้องศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ นี่ก็รู้ว่าเพื่อประโยชน์อะไร มันจะได้มีฉันทะ ความพอใจถึงที่สุด ถ้าฉันทะหรือความพอใจไม่มีมันก็ ไม่มีอะไรเป็นไปได้หรอก มีน้อยมันก็ไม่พอ มันต้องมีเต็มที่ มีความพอใจในสิ่งที่ต้องการจะทำ หรือกำลังทำอยู่อย่างเต็มที่ ในที่นี้เราเรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไอ้คำนี้ก็ตอบยากเหมือนกันละ แต่พอจะเป็นที่รู้ รู้ กันอยู่ทั่วๆ ไปแล้วในหมู่นักศึกษา ชนิดที่เป็นจริยธรรมสากลของคนทั้งโลก หรือว่าเป็นของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะก็ตาม ที่เป็นจริยธรรมสากลเขาก็เคยคิดกันมามาก รวบรวมกันเข้าแล้วก็มากมายมหาศาล แล้วก็ละเอียดลออไม่แพ้พระไตรปิฎกเหมือนกันนะ แต่แล้วก็สรุปความว่าเราจะมี เราจะได้รับความสงบสุข คือมีชีวิตที่เป็นสุข แล้วก็มีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม จิตใจสูงถึงกับทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วก็มีความรักสากล เรานำมากล่าวให้เธอฟังเท่าที่เห็นว่ารีบด่วนหรือจำเป็นอย่างยิ่ง เกิดมาต้องได้รับประโยชน์เป็นความสุข หรือเป็นประโยชน์ ไม่มี ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ชีวิตของเราต้องสงบเย็น คือไม่มีความทุกข์ แล้วก็เป็นประโยชน์มากที่สุด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสประโยชน์ไว้เป็นสาม คือ ประโยชน์ตนเองนี้อย่างหนึ่ง และก็ประโยชน์ผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็ประโยชน์ ที่สัมพันธ์กันโดยไม่แยกจากกันได้ นี้มันก็มีอยู่อีกประโยชน์หนึ่ง เรา ทุกคนมันก็เห็นแก่ตนนั้นแหละก่อน แต่ก็อย่างถูกต้อง ประโยชน์ตนที่ถูกต้อง มีอยู่อย่างไรที่จะทำไปเช่นนั้น เพราะมันเป็นธรรมชาติ ที่ชักชวนหรือชักจูงก็ตามให้กระทำอย่างนั้น มาข้อที่สอง ประโยชน์ผู้อื่น ข้อนี้คนเห็นแก่ตัวมันทำไม่ได้หรอก เพราะมันโง่ มันโง่โดยคิดว่าเราอยู่คนเดียวในโลกได้ แต่ถ้าเรามามองถึงข้อที่ว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ มันก็จะคิดถึงประโยชน์ผู้อื่น ถ้าสมมติว่าเขายกโลกทั้งโลกทั้งหมดให้เราคนเดียวอยู่ครองคนเดียวนี้ มันก็ตาย มันก็ฆ่าตัวตายโดยอัตโนมัติ ภายในไม่กี่วัน ฉะนั้นเราต้องนึกถึงข้อที่ว่าอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ มันก็เลยนึกถึงประโยชน์ผู้อื่นขึ้นมา ว่าเขาจะได้อยู่ร่วมกับเราในโลก นี่ประโยชน์บางอย่างทำคนเดียวไม่ได้ ทำคนเดียวไม่ได้หมายความว่า ต้องสัมพันธ์กัน จึงจะบำเพ็ญประโยชน์ชนิดนั้นได้ นี่ก็มีความสำคัญ ซึ่งมันก็มี ก็มนุษย์มันมีความสัมพันธ์กัน บางเรื่องมันจึงทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมาร่วมมือกัน ขอให้สนใจเป็นพิเศษด้วย ชีวิตเย็นส่วนตัวนี้ หมายถึงว่าหมดปัญหาหมดความทุกข์ แล้วหมดปัญหาคนเดียวนี้มันไม่ ไม่มีค่าอะไร มันจะต้องผู้อื่นด้วย อันนั้นแหละเป็นอันว่าเราตั้งใจทำประโยชน์ให้ครบ และตลอดเวลาเหล่านั้นเป็นคนสงบเย็น คือมีความสุข ข้อที่สองเขาพูดไว้อย่างมีปัญหา คือมีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่เต็มว่าอย่างนั้นเถอะ ข้อนี้ก็ไม่ใช่ง่าย โดยมากมันเกิดมามันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วมันจะทำประโยชน์ หรือทำความเป็นมนุษย์ให้เต็มได้อย่างไร มันต้องรู้เรื่องความเป็นมนุษย์อย่างถูกต้องแล้วปฏิบัติอย่างถูกต้อง แล้วก็ได้รับผลอย่างถูกต้อง มันจึงจะมีความเป็นมนุษย์ที่เต็ม ถ้าพูดอย่างในพุทธศาสนาโดยเฉพาะ มนุษย์ที่เต็มจริงๆ ก็คือพระอรหันต์ พระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นมนุษย์ที่เต็ม เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ใจความสำคัญมันก็คือท่านสละตัวตนออกไปได้หมด สละตัวกูของกูความเห็นแก่ตนออกไปได้หมด ท่านจึงเกิดความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ถ้ามันมีกิเลสหรือตัวกูอะไรเข้ามาสิงมาปนอยู่บ้าง มันมีผีสิงอยู่ มีผีสิงอยู่แล้วมันจะเต็ม เต็ม เต็มมนุษย์ได้อย่างไร ถ้ามันยังมีผีสิงอยู่ กิเลสหรือความเห็นแก่ตัวมันเปรียบเหมือนกับผีสิง ถ้าผีมันมาเข้าแทรกหรือสิงอยู่มันก็เป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมไม่ได้ โดยหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นมนุษย์ที่เต็มมันก็คือความเป็นพระอรหันต์ แต่โดยจริยธรรมสากลไม่ ไม่ ไม่ยึดศาสนาไหนเป็นหลัก นั่นก็หมายความว่า หมดปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่นถึงที่สุด เดี๋ยวนี้เราลองคิดดูสิ ถ้าใครมาด่าเราว่าไม่เต็มบาท หรือไม่เต็มคนนี่เราโกรธ แต่เราก็โกรธเขาทั้งที่เราเองก็ไม่เต็มบาทหรือไม่เต็มคนจริง ๆเหมือนกันแหละ เพราะว่าความเต็มบาทเต็มคนถึงที่สุดนั้นมันเป็นพระอรหันต์ ถ้าเรายังเห็นแก่ตัวเห็นแก่ตัวอยู่อย่างนี้มันมีผีสิงอยู่ตั้งครึ่งตั้งค่อน เป็นมนุษย์ที่เต็มไม่ได้เพราะมันมีผีสิงน่ะมันแทรกอยู่ จงพยายามทำ ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ พอใจ จนยกมือไหว้ตัวเองได้ทุกครั้งทุกคราว ทุกหน ทุกแห่ง ที่เมื่อมองดูตัวเอง มองดูตัวเอง มองดูตัวเองแล้วก็ยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละ เดี๋ยวนี้ก็มีความเต็ม แต่ถ้ามองดูตัวเองแล้วมันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง มันเห็นความทุศีล มันเห็นความเป็นอาบัติ เห็นความเป็นอะไรอยู่ ต่างๆ นาๆ มันยกมือไหว้ตัวเองไม่ลง อย่างนี้มันก็ไม่ใช่มนุษย์ที่เต็ม ไม่ใช่คนที่เต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามเณร สามเณระ คำนี้มีความหมายสูงมาก แปลว่า หน่อเนื้อเชื้อไขหรือเหล่ากอของสมณะ มันก็คือผู้ที่จะเป็นสมณะในอนาคต สมณะ เอระ สามะ สมณะ เอระ สามเณระ ผู้ที่ ผู้ที่มีความพร้อมที่จะเป็นสมณะในอนาคต หมายความว่ามันมีความถูกต้อง ถูกต้อง เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น แต่มันก็มีเป็นอันมากที่มันเดินไปในทางที่ตรงกันข้าม แทนที่จะเป็นสามเณรมันเป็นสามลิง สามลิงค่างน่ะ เป็นสามลิงกันมาก อยู่มากทีเดียว มันไม่ได้เป็นสามเณรแต่เป็นสามลิง เพราะมันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม บวชมาทำไม บวชเพื่ออะไร เต็ม เต็ม ความเต็มเปี่ยมอยู่ที่ไหนมันไม่รู้ เธอก็ต้องรู้ ว่าธรรมะทำไม เกิดมานี่จะต้องได้รับอะไร และสิ่งที่จะช่วยให้ได้รับก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เพราะฉะนั้นธรรมะนั่นแหละคือตัว ตัว ตัวปัญหา มีธรรมะทำไมกัน ในชั้นนี้ก็ตอบว่า เพื่อความเป็นสามเณรที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เท่านี้มันก็ถูกเหลือประมาณแล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นสามเณร เป็นพระ เป็นฆราวาส เป็นอย่างอื่น คือเป็นพุทธบริษัทในแนวอื่นมันก็เหมือนกันแหละ นั้นก็เรียกว่า มีธรรมะเพื่อความเป็นอย่างนั้นให้ถูกต้อง เป็นสามเณร เป็นภิกษุ เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา กระทั่งเป็นพระอริยะเจ้า มีความถูกต้องเพื่อความเป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้ถ้าเราจะพูดกันอย่างทั่วไปหมด ไม่เฉพาะเจาะจงพวกไหน มันก็มองดูลึกกว่านั้น มองดูลึกกว่านั้น เช่นพวกฝรั่งเยอะแยะ ถือศาสนาต่างๆ กัน มีชาติพันธ์ต่างๆ กัน เขาก็มาศึกษาธรรมะ มันก็มีปัญหาว่ามาศึกษาทำไม ทั้งที่มีศาสนาของตัวของตัวอยู่แล้ว นี้เราก็ควรจะเข้าใจ มันมีความละเอียดลออมาก ที่จะเหนืออยู่ จะอยู่เหนือความเป็นศาสนา ไม่เป็นพุทธเป็นคริสต์ ไม่เป็นอิสลาม ไม่เป็นซิกข์ ไม่เป็นฮินดู ไม่เป็นอะไรเลย แต่จะเป็นผู้มีธรรมะ แล้วมันจะหมดปัญหา ชีวิตนี้จะหมดปัญหาจะไม่มีความทุกข์ จะถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ถ้าว่าธรรมะทำไมกัน ข้อแรกก็ขอให้มองเห็นมองเห็นแล้วตอบได้ว่า เพื่อมีชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ เพื่อความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ยกเอาขึ้นมาเป็นข้อแรกเลย เพราะว่าอะไรๆ มันก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ และในธรรมชาติทั้งหลายมันก็มีกฎ กฎ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ บังคับอยู่ จึงมี จึงต้องมีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันจึงจะรอด มิฉะนั้นมันต้องตาย มันจะต้องตายจริงๆ หรือมันจะมีชีวิตอยู่ชนิดที่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันก็เท่ากับตายแล้วเหมือนกัน ร่างกายของเรานี้ที่ส่วนที่เป็นร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนที่เป็นจิตใจ เป็นจิตเป็นเจตสิกรู้สึกคิดนึกได้ก็ดี มันก็เป็นธรรมชาติ มันก็เป็นธรรมชาติทั้งเนื้อทั้งตัว และธรรมชาติมันก็มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ทั้งจักรวาลเป็นธรรมชาติ มีกฎของจักรวาลบังคับอยู่ จักรวาลจึงตั้งอยู่ได้ไม่แตกสลาย นั้นเรียกว่าภายนอกที่สุด ส่วนภายใน แถวนี้ยาวสักวาหนึ่งนี้ มันก็เต็มไปด้วยธรรมชาติ ดูสิ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เล็กลงไปเล็กลงไปเล็กลงไปกระทั่งว่าเป็นเซลล์แต่ละเซลล์ แล้วยังเป็นปรมาณูในที่สุด แต่ละปรมาณูเป็นธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติบังคับอยู่ มันจึงได้เป็นมาอย่างนี้ เจริญขึ้นมาได้อย่างนี้ คลอดจากท้องมารดาเจริญขึ้นมาจนกว่าจะเข้าโลง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงมีสิ่งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นคือหน้าที่ หน้าที่ ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย หรือมีค่าเท่ากับตายแล้ว นี่ธรรมชาติในความหมายที่สามคือหน้าที่ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั่นแหละคือตัวธรรมะ ธรรมะ ในภาษาบาลี ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ ไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ คือหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่เขาใช้ในศาสนาอื่นก็แปลเหมือนกันแหละ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ทั้งนั้นแหละ ธรรมะของลัทธิไหน ของศาสนาไหนคือเขาสอนเรื่องหน้าที่ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วรอดอยู่ได้ แล้วก็สอนความคิดเห็นต่างๆ ก็สอนต่างๆ กัน มันก็มีหลายลัทธิ หลายศาสนา ใครชอบใจธรรมะของศาสดาไหนก็ไปถือธรรมะของศาสดาองค์นั้น คือปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาสดาองค์นั้นๆ สอนให้ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ปทานุกรมเด็กๆ เรียนธรรมะแปลว่าหน้าที่ ในประเทศไทยเราพูดกันด้วยธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ถูกนิดเดียวเท่านั้นน่ะ เพราะว่าคำสั่งสอนในลัทธิอื่นศาสนาอื่น คู่แข่งกับพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ธรรมะของนิครนถนาฏบุตร ธรรมะของสัญชัยเวลัฏฐบุตร (22.39) มักขลิโคสาละอะไรล้วนแต่เป็นปรปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า แต่ในอินเดียเขาก็เรียกธรรมะ ธรรมะ คือคำสั่งสอนของศาสดาชื่อนั้น ชื่อนั้น ดังนั้นมันจึงมีการถามกันว่าท่านชอบธรรมะของใคร ธรรมะของใคร ธรรมะของพระสมณโคดม หรือธรรมะของนิครนถนาฏบุตร เป็นต้น นี่รู้ไว้ให้มันชัด ชัดที่สุดเลยว่าธรรมะแปลว่าหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด ธรรมะก็คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด หน้าที่ก็คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด พูดเป็นไทยเรียกว่าหน้าที่ พูดเป็นบาลีเรียกว่าธรรมะ ธรรมะ คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด ถ้าเคยเรียนบาลีมาบ้างก็รู้ได้ว่าคำว่า ธรรมะ ธรรมะ มันมาจากมูล มูลรากของศัพท์ว่า ธะระ ธะระ คือยกขึ้นไว้ ยกขึ้นไว้ยกขึ้นไว้ ธรรมะคือสิ่งที่ยกขึ้นไว้ไม่ให้พลัดตกลงไปสู่ความวินาศ ฉะนั้นเราจึงมีธรรมะในฐานะเป็นหน้าที่ มันก็เป็นสิ่งสูงสุด สำหรับเป็นคู่ชีวิตของมนุษย์ พอหมดธรรมะแล้วก็หมดความเป็นมนุษย์ ธรรมะยังมีอยู่ความเป็นมนุษย์ก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นธรรมะคือคู่ชีวิตของผู้ที่จะเป็นมนุษย์ มีธรรมะแล้วก็เป็นมนุษย์ โดยธรรมชาติแท้ แท้ มันจึงทำหน้าที่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ก็ทำหน้าที่ กระดูก เอ็นเนื้อ ก็ทำหน้าที่ ตับปอด ตับไตไส้พุง ลำไส้อะไรก็ทำหน้าที่ กระทั่งว่าเซลล์แต่ละตัวละตัวก็ทำหน้าที่ อยู่ได้โดยหน้าที่ ชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยสิ่งเหล่านั้นทำหน้าที่ นี่รู้จักคำว่าหน้าที่ไว้ให้ดีๆ อย่างนี้ ธรรมะคือหน้าที่ พอไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย ตายทางกายก็ได้ ตายทางจิตใจก็ได้ คือไม่มีประโยชน์อะไรเป็นคนรกโลก เราจึงมีหน้าที่ มีธรรมะเป็นหน้าที่ แล้วก็จะมีอีกสิ่งหนึ่งก็คือว่า ผล ผลของการทำหน้าที่ ทำหน้าที่ถูกต้องก็มีผลถูกต้อง ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็มีผลไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องก็ไปลงนรก ทุคติวินิบาตไปตามเรื่อง ทำหน้าที่ถูกต้องก็ไปสู่สวรรค์ แม้กระทั่งไปสู่มรรคผลนิพพานไปในที่สุดนี่ ผลที่มันถูกต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจงรู้จักว่าธรรมะ ธรรมะ นี่มันหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ธรรมะคือธรรมชาติทุกๆ สิ่ง ธรรมะคือกฎของธรรมชาติทุกๆ สิ่ง ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติทุกสิ่ง ธรรมะคือผลที่จะได้รับจากทำหน้าที่นั้นๆ ทุกๆ สิ่ง เลยเป็นสี่ความหมาย ถ้าเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ก็เรียนกันอย่างนี้ ถ้าเรียนอย่างพระเณรโง่ ๆ ไม่รู้ ไม่รู้มันเรียนกันอย่างไร ถ้าจะเรียนตามธรรมชาติ วิชาธรรมชาติของธรรมชาติแล้วก็ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฎนั้น แล้วก็ธรรมะคือผลที่จะได้รับจากหน้าที่ มันเลยเป็นสี่ความหมาย ธรรมะสี่ความหมายคืออย่างนี้ และเธอทั้งหลายก็รู้เองที่ความหมายไหนมันสำคัญกว่า เมื่อมันมีสี่ความหมายอย่างนี้แล้วไอ้ความหมายไหนมันสำคัญ คิดว่าแม้มันจะโง่เท่าไรมันก็คงจะตอบถูก ว่าความหมายที่สามนั่น ความหมายที่สามนั่น หน้าที่ หน้าที่นั้นน่ะ มันสำคัญ ถ้าไม่มีหน้าที่ ไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย เพราะฉะนั้นธรรมะจึงแปลว่าหน้าที่ หน้าที่ ถ้าเราบอกกับพวกฝรั่งเราบอกธรรมะคือหน้าที่เท่านั้นแหละ ไม่ใช่ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั่นมันหลับตาพูด เพราะว่าคำสอนของศาสดาอื่นๆ มันก็เรียกธรรมะเหมือนกันหมดในอินเดีย ในอินเดีย ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมา แม้ในครั้งพุทธกาลแท้ ๆ นั่นเขาก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะด้วยกันทุกลัทธิทุกคำสอน อ้าวนี่เรียกว่าเรามีธรรมะทำไมกัน ข้อแรกก็ว่ามีธรรมะ เพื่อเป็นอยู่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติน่ะ คือมีหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย ต้องตายหรือว่าอยู่อย่างไม่มีประโยชน์อะไรก็เท่ากับตาย ฉะนั้นธรรมะก็คือ ความเป็น คือสิ่งที่ช่วยให้เป็นอยู่อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วก็ไม่ตาย มันจึงไม่ตาย ธรรมะเพื่อความไม่ตายเพื่อความเป็นอยู่อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่แหละธรรมะคืออะไร ธรรมะคืออะไร คือให้ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ ถ้ามันไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติมันเกิดเรื่องขึ้นมา มันตายหรือว่าไม่มีประโยชน์อะไร ทีนี้เมื่อมันถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มันก็รอด รอด รอดอยู่ได้ แล้วมันก็เป็นประโยชน์ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่คือข้อแรก ข้อแรก คนก็ต้องเป็นอย่างนี้ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ต้นไร่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ลองไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ก็ตายหมดแหละไม่มีอะไรเหลือ มันมีความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติเข้ามาช่วยค้ำจุนไว้ทุกหนทุกแห่ง ชีวิตคนมันก็รอดอยู่ได้ ชีวิตสัตว์เดรัจฉานก็รอดอยู่ได้ ชีวิตต้นไม้ต้นไร่นี้ก็รอดอยู่ได้ เพราะมันมีความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ พูดอย่างนี้มันกินหมดกินคลุมไปหมดไม่ว่าธรรมะชั้นไหน ธรรมะชั้นไหน ในศาสนานี้ก็ดี นอกศาสนาก็ดี ถ้าเรียกชื่อว่าธรรมะที่ถูกต้องนะ มันก็จะต้องช่วยให้รอดอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าไอ้ธรรมะนี้มันจำเป็น ถ้าไม่มีธรรมะก็คือตาย มีธรรมะก็คือรอด ดังนั้นจึงเป็นคู่ชีวิต สำหรับชีวิตจะรอด ในทางภาษาธรรมอันละเอียดอันลึกซึ้ง คู่ชีวิตของมนุษย์ก็คือธรรม ธรรมะ ภาษาชาวบ้านโง่ๆ ก็คู่ผัวตัวเมียนั่นแหละคู่ชีวิต ก็ไปสิก็ไปได้เท่านั้น ไปได้แค่นั้นไปได้แค่ไหน เดี๋ยวก็กัดกันไม่ทันรู้ ถ้าไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะเป็นคู่ชีวิต ดำเนินชีวิตดำเนินไปตามทางแห่งธรรมะแล้วก็รอดไปถึงจุดหมายปลายทาง เป็นฆราวาสก็มีเจริญทางฆราวาสถึงที่สุด มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีมิตรสหาย อำนาจวาสนาบารมีพอตัว พอตัว พอตัวกันไปหมด นี้เรื่องทางโลกเราก็สมบูรณ์ แล้วเรื่องทางธรรมะต่อไปจากนั้นก็ค่อย ๆ สมบูรณ์ไปอีกขั้นหนึ่ง อีกตอนหนึ่ง ตามแบบของธรรมะที่เหนือโลก มันมีความถูกต้องทั้งในโลกและเหนือโลก มันก็จบเรื่อง เป็นผู้มีชีวิตชนิดที่เหนือโลก เหนือโลก โลกไม่มีปัญหา ความเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่มีปัญหาแก่ผู้ที่มีธรรมะ ผู้ที่มีธรรมะหัวเราะเยาะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อคนโง่มันนั่งร้องไห้อยู่ มันไม่มีธรรมะ มันกลัวเกิด กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย แต่ผู้มีธรรมะมันหัวเราะเยาะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันอยู่เหนือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันมีความหมายแห่งนิพพาน มันเย็น เย็น เย็น เพราะไม่มีไฟคือกิเลส ไม่มีไฟคือกิเลส มันก็คือเย็น อยากจะบอกให้รู้เป็นคำสั้นๆ ว่านิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น คำพูดนี้ใช้กันอยู่ก่อนพุทธกาล ก่อนเกิดศาสนา เย็น เย็น เย็นเรียกว่านิพพาน นิพพาน เย็นของดุ้นไม้ฟืนก็เรียกว่านิพพานของดุ้นไม้ฟืน เย็นของน้ำร้อนก็นิพพานของน้ำร้อน ถ้าเย็นของน้ำแข็งเดี๋ยวนี้ก็เป็นนิพพานของน้ำแข็ง เย็นของอะไรก็เป็นนิพพานของสิ่งนั้น ใช้กระทั่งว่าสัตว์เดรัจฉานที่หมด หมดปัญหา หมดพยศร้าย ไม่มีอันตรายก็เรียกว่านิพพานของสัตว์เดรัจฉาน กระทั่งว่าเป็นนิพพานของคนเย็นอกเย็นใจชั่วขณะก็เป็นนิพพานชั่วขณะ เคยหลงเอากามารมณ์เป็นนิพพานกันก็มีปรากฏอยู่ในพระบาลี เช่นพรหมชาลสูตรเป็นต้น และต่อมาเห็นว่าไม่ไหว ๆ ก็เอาไอ้สมาธิ สมาบัติเป็นนิพพาน หลายชั้น หลายชั้น หลายชั้น จนชั้นสุดท้ายก็ติดตันอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นบอกว่าฉันไม่เอา จึงมีการตรัสรู้ของพระองค์เอง รู้จักนิพพานคือเย็นที่แท้จริง เย็นที่แท้จริง นี่นิพพานมันแปลว่าเย็น มนุษย์ต้องการมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน่น แล้วก็เรียกมันว่าดับ ดับเย็น ดับเย็น ดับเย็น ไฟดับก็เรียกว่าไฟนิพพาน ของร้อนๆ เย็นลงก็เรียกว่ามันนิพพาน ข้าวปลาอาหารร้อนกินไม่ได้ต้องรอให้มันนิพพานแล้วจึงจะกินได้ นี่รู้ไว้เถอะว่าภาษาพูดมันเป็นอย่างนี้ คำว่านิพพานแปลว่าเย็น ในธรรมะทั้งหลายมีจุดหมายปลายทางเป็นนิพพาน มันก็คือความเย็นถึงที่สุด แต่เย็นไม่ถึงที่สุดก็เย็นไปตามลำดับ เย็นชั่วคราว เย็นบางอย่าง บางชนิด บางอย่างยังไม่ถึงนิพพานมันก็เรียกว่า นิพพุติ นิพพุติ ถ้าเป็นถึงเย็น เป็นความหมายจริง ๆ ก็เรียกว่านิพพาน พระเณรจะสวดบทนี้อยู่ทั้งโง่ ๆ มันหลับตาพูด สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ นิพพุติงนั้นน่ะ ถึงนิพพุติได้ด้วยศีลนะคือถึงความเย็นในความหมายแห่งนิพพาน แต่ยังไม่ถึงนิพพาน เป็นเพียงแต่นิพพุติ คือเย็นอกเย็นใจ เย็นอย่างนี้ เมื่อให้ศีลที่ไหนมันก็ว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย นี่ แม้แต่คนบอกเองมันยังไม่รู้ว่านิพพานนะ หรือนิพพุตินั่นคืออะไร แต่มันอุตส่าห์เขานักแหละ ให้ลม ๆ แล้ง ๆ มันไม่รู้จัก ฉะนั้นขอให้ช่วยกันจำไว้ว่า นิพพุติคือความหมายของนิพพานที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังอยู่กันอย่างโลกๆ เย็นกันอย่างโลก ๆ นั่นเรียกว่า นิพพุติ ความเย็นอกเย็นใจไม่มีความทุกข์ร้อนอย่างโลกๆ เรียกว่า นิพพุติ นิพพุติ มีได้เพราะศีล ปฏิบัติต่อไปเป็นสมาธิ เป็นปัญญา มันก็ถึงนิพพานโดยแท้จริง นิพพานแปลว่าเย็น ฉะนั้นจุดหมายปลายทางของธรรมะ คือความเย็นเป็นนิพพาน ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างไร ฉะนั้นขอให้เรารู้ว่าธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อไม่ตาย ธรรมะเพื่อมีประโยชน์ และก็ธรรมะเพื่อเย็น เย็น เย็น ก่อนตาย ตายแล้วไม่ต้องพูด บางคนสอนเรื่องนิพพานหลังจากตายแล้วไม่ต้องพูด เขาพูดก็พูดไปเถอะแต่เราไม่ต้องพูด นิพพานต่อเมื่อมีชีวิต ต่อเมื่อมีความรู้สึกอยู่ว่า เย็น เย็น เย็นอย่างไร ถ้านิพพานต่อตายแล้วเอาไปทำอะไร ธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วธรรมะนั้นก็ไม่จะเกิด จะช่วยให้ไม่เกิดความทุกข์ ช่วยให้ไม่เกิดความทุกข์ ความทุกข์ดับลงไป ๆ ๆ จนไม่มีเหลือ นี่ธรรมะเพื่อประโยชน์อย่างนี้ แล้วทีนี้ก็มองดูสิว่ามันจำกัดอะไรที่ไหน จะเป็นไทย หรือเป็นแขก เป็นจีน เป็นฝรั่ง เป็นชาติไหน ภาษาไหน ในโลกมันก็มีเหมือนกันหมด มันมีกิเลศ ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นธรรมะนี้มันจึงใช้ได้ สำหรับทุกชาติ ทุกภาษาและก็ทุกยุคทุกสมัย กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านปีมาแล้วมันก็ธรรมะนี้แหละ กิเลสก็กิเลสอย่างนี้แหละ ธรรมะก็ธรรมะนี้ดับกิเลสมาเป็นหมื่นปี แสนปี ล้านปี มาแล้วไม่จำกัดเวลา ในอนาคตก็ไม่จำกัดเวลาแล้วมันเลยกลายเป็นนิรันดร นิรันดร ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต คือตลอดเวลาเลยเป็นนิรันดรเลย ธรรมะนี่ดับทุกตลอดนิรันดร จึงเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดที่ควรจะรู้ และเมื่อใครรู้แล้วก็เป็นสิ่งที่ควรสอนให้ผู้อื่น คือบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นให้มากที่สุด โดยการสอนให้มีธรรมะ มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ก็คืออย่างนี้ และต่อไปนี้ก็ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อไปแลกอาหารมากิน อย่าคิดว่าไปบิณฑบาตนี้ไปทำหน้าที่ไปแลกอาหารมากิน เรามีอะไรมากกว่านั้น เราให้มากกว่านั้น เราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ตามแบบของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นกรรมกรก็ทำหน้าที่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไว้ เป็นชาวไร่ชาวนาก็หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้าเป็นหนี้บุญคุณเขาก็ทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณเขา แต่นี้เป็นอิสระแล้วก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หน้าที่เพื่อหน้าที่ นั้นจำไว้เถอะว่า ธรรมะเพื่อธรรมะ ธรรมะเพื่อธรรมะ จึงจะบริสุทธิ์ มีคำตรัสไว้ชัดเจนว่าประพฤติธรรมให้สุจริตอย่าประพฤติธรรมะให้คดๆ งอๆ ไม่ได้ประพฤติธรรมะเพื่อกิเลส เพื่อตัวกูเพื่อของกู แต่ประพฤติธรรมะเพื่อธรรมะ ปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่นี้เป็นพระอริยะเจ้า ด้วยความรักสากล รักเมตตา กรุณา ทั่วไปนี้ก็ทำหน้าที่ด้วยเมตตา กรุณา ครั้นเป็นพระอรหันต์แล้วมันก็เหนือนั้นแล้วก็ทำหน้าที่โดยที่ว่าสติปัญญาเชื้อเชิญ มันเป็นสิ่งที่ควรทำ สติปัญญามันบอกให้ ควรทำมันก็ทำ ไม่ใช่หน้าที่ผูกพันแล้ว พระอรหันต์พ้นจากหน้าที่ผูกพัน ไม่มีหน้าที่ใช้หนี้ ไม่มีหน้าที่อะไร ฉะนั้นจึงทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่ทำหน้าที่ด้วยเมตตากรุณาแล้ว มันเลยนั้นไปเสียแล้ว มันเลยนั้นไปเสียแล้ว อยู่เหนือความมีตัวตน ไม่มีตัวตนมันก็เลยทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เพราะสติปัญญาอันสูงสุดมันบอกว่า มันมันก็ทำ หรือบางทีจะทำเหมือนกับว่าบริหารร่างกายให้ปกติ ถ้าไม่ทำงานร่างกายมันไม่ปกติอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจิตใจ ร่างกายนี้มันก็ทำหน้าที่ตามที่มันควรจะทำ ตามที่สติปัญญาบอกให้ทำก็ทำ ทำ ทำ นี่จึงต่างกันมาก พระพุทธเจ้าทำหน้าที่ อย่างเหน็ดเหนื่อยที่สุดยิ่งกว่าพวกเรามาก ด้วยสติ ด้วยพระปัญญาคุณ จะเรียกว่าเมตตาคุณมันก็พ้นมาแล้ว เมตตาคุณ เมตตา กรุณา มุทิตา นี่เป็นเพียงพวกพรหม พรหมวิหารนี่เป็นเพียงเรื่องของพวกพรหม ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าพ้นแล้วพ้นไปแล้ว เป็นพุทธะ แปลว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบานคือปัญญา ปัญญาช่วยทำหน้าที่ ฉะนั้นท่านจึงทำหน้าที่มากมาย มากมายเหลือที่จะกล่าวได้ ไม่เหมือนพวกเรา ทำหน้าที่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พระเณรโดยมากทำหน้าที่หาชื่อเสียง หาให้คนเขาเคารพนับถือเลื่อมใส ยังทำหน้าที่แลกประโยชน์อยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่สูงสุดอะไร ถ้ามันสูงสุดจริงมันไม่มีตัวตน มันก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ พระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการประโยชน์อะไร จึงทำหน้าที่สูงสุด สวดมนต์โบราณน่ะมีสวดพุทธกิจ ปุพพัณเห ปิณฑปาตัญ จะ สายัณเห ธัมมเทสนัง ปเทโส ภิกขุ โอวาทัง อัฒฑรัตเต เทวปัญหะนัง นี่ผมก็เคยสวด เดี๋ยวนี้เขาไม่ให้สวดกันแล้ว มันดีมากที่เอามาคิดนึกอยู่ในใจว่าพระพุทธเจ้าท่านทำอะไรในวันหนึ่งวันหนึ่งน่ะ หัวรุ่งอย่างนี้แหละ ภัพพาภัพเพ หัวรุ่งอย่างนี้ ก็ดูว่าใครอาภัพ ใครไม่อาภัพ คือว่าใครควรจะรู้ ใครยังไม่ควรจะรู้ ก็ส่องดู ว่าวันนี้จะไปโปรดใครที่ไหน นั่นแหละ ภัพพาภัพเพ วิโลกะนัง ตรวจดูว่าใครควรจะตรัสรู้ ใครยังไม่ควรจะตรัสรู้ พอสว่างท่านก็ไป ไปบิณฑบาตที่นั่น จนได้พบได้พูดได้จาได้ทรมานได้สั่งสอนจนสำเร็จ เป็นพวกชาวบ้านก็มี เป็นพวกพราหมณ์ก็มี เป็นพวกตรงกันข้ามปฏิปักษ์ก็มี ท่านไปพยายามจนโปรดเขาสำเร็จ ต้องฉันที่นั่น ต้องสนทนากันที่นั่นเที่ยง สาย บ่าย เย็น ก็ก็จนสำเร็จน่ะ พักผ่อนกลางวันบ้าง ตอนบ่ายกลับมาที่วัด ก็มีประชาชน ประชาชนไปฟังเทศน์ ตอนบ่ายก็เทศน์สอนประชาชน ปเทโส ภิกขุ โอวาทัง หัวค่ำก็สอนพระสอนเณรที่อยู่ประจำวัด อัฒฑรัตเต เทวปัญหะนัง พอเที่ยงคืนก็สอนพวกเทวดา แก้ปัญหาพวกเทวดา เลยดึกเลยดื่นไปแล้วพักผ่อนนิดหน่อยแล้ว มันก็หัวรุ่งอีกแล้วน่ะ หัวรุ่งตรวจว่าวันนี้จะไปไหนอย่างนี้ ครบวงจร ยี่สิบสี่ชั่วโมง ทำงานยี่สิบสี่ชั่วโมง ลองเทียบดูกับพวกเราสิ เอาเวลาไปใช้อย่างไร ไปแสวงหาอะไร หาสตางค์มาซื้อฟิล์มถ่ายรูปเดี๋ยวนี้ ทั้งพระแก่ ทั้งพระหนุ่ม ทั้งยายชีแก่ๆ ก็ถือกล้องถ่ายรูป คงสะดุ้ง แม่ชีแก่ๆ ยกกล้องขึ้นส่องถ่ายรูป มันคงจะต้องหาเงินอีกแยะเพื่อซื้อฟิล์มถ่ายรูป มันจะมีประโยชน์ได้แค่ไหนก็ลองคิดดูเองก็แล้วกัน ทีนี้เมื่อท่านเสร็จเรื่องที่เมืองนี้นะ เสร็จเรื่องที่เมืองนี้แล้วนะ ท่านจะไปที่เมืองอื่นจังหวัดอื่นชนบทอื่น ท่านทำอย่างไร ไม่มีรถยนต์ ไม่มีรถยนต์ แล้วก็นักบวชทั้งหลายไม่นั่ง ยานพาหนะที่เทียมด้วยสัตว์มีชีวิต รถม้าก็มีแต่มันเทียมด้วยม้ามีชีวิต เกวียนก็มีแต่มันเทียมด้วยวัวมีชีวิต ท่านไม่นั่ง ท่านไม่นั่งจะทำอย่างไรก็ต้องเดิน ท่านก็ต้องเดิน ในบาลีมีเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องรองเท้า หรือเรื่องร่มบางทีก็มีกล่าว แต่ผมไม่พบตรงไหนว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงใช้รองเท้าหรือใช้ร่ม ก็หมายความว่าท่านไปแบบเท้าเปล่า ไม่มีรองเท้า ร่มไม่มี ก็นั่นแหละแดดนั่นแหละคือร่ม ขอให้นึกไว้ว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ท่านเป็นพระศาสดาเท้าเปล่า ไม่มีร่ม ไม่มีรองเท้า ก็ไปจนถึงทุกๆ จังหวัด ทุกๆ มณฑล ทุกๆ ตำบล นั่นก็ไปทำอย่างเดียวกันอีก จนกระทั่งว่า วันนี้จะนิพพานแล้ว วันนี้จะนิพพาน วันนั้นก็ยังเดินอยู่เป็นโยชน์ ๆ วันนี้จะ ค่ำนี้จะนิพพานแล้วกลางวันก็เดินอยู่เป็นโยชน์ ๆ ไม่ได้ไปโรงพยาบาลเหมือนพวกเรา ปวดท้องนิดปวดหัวนิดก็ไปหา ไปโรงพยาบาล พาไปโรงพยาบาลที ไปโรงพยาบาลทีนี่ พระพุทธเจ้านะ คืนนี้จะไปนิพพานแล้ว วันนี้ยังเดินอยู่เป็นโยชน์ ๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้ใครพาไปส่งบ้านหมอหรือโรงพยาบาล จะปรินิพพานอยู่แล้วนี่ก็ยังมีคนมาขอถามปัญหา ปริพาชกในลัทธิอื่นมาขอถามปัญหา พระสงฆ์ทั้งหลาย โอ้ ท่านจะปรินิพพาน ไป ไป ไป อย่ามากวน อย่ามากวน พระพุทธเจ้าก็ โอ้ อย่าไล่มัน เรียกมันมา เรียกมันมา ไอ้คนนั้นก็เข้ามาทูลถามปัญหา ท่านก็ตรัสตอบปัญหาคือสอนธรรมะให้เป็นเพียงพอที่จะเป็นพระอรหันต์ คิดดู จะปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ยังสอนคนเพื่อเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วต่อมาท่านก็นิพพาน นิพพานอย่างปิดสวิทซ์ไฟ ปิดสวิทซ์ไฟ นี่ชีวิตพระพุทธเจ้าท่านเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ทำเพื่อลาภสักการะ ไม่ได้ทำเพื่ออำนาจวาสนา ไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียง ไม่ได้ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าโดยสติปัญญาเชื้อเชิญ ไม่ใช่กิเลสบังคับ คนปุถุชนมันทำหน้าที่เพราะกิเลสบังคับ ไสหัวให้ไปทำ ตัณหามันไสหัวให้ไปทำ ให้ไปหาเงินมาซื้อเหล้า ซื้อกามารมณ์ มันต่างกันอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำประโยชน์หน้าที่เพื่อหน้าที่ มันจึงต่างกันเหลือประมาณ ขอให้เราทั้งหลายที่เป็นสาวกของพระองค์จงมีหลักเกณฑ์อันนี้ ธรรมะคือหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำหน้าที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนถึงหน้าที่สูงสุด อยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี่ธรรมะทำไมกัน อ้าวทีนี้ก็จะมาถึงข้อที่ว่าให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างไร เมื่อรู้ว่าธรรมะเพื่ออย่างนี้ ธรรมะเพื่ออย่างนี้ เพื่ออย่างนี้แล้วนะ ให้รู้ต่อไปว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำได้ตามนั้น ก็มีธรรมะหมวดอื่นต่อไปอีก ในที่นี้อยากจะเสนอธรรมะหมวดที่สำคัญที่สุด เห็นว่าสำคัญที่สุดคือใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และมองเห็นว่าจะใช้ได้อีกต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็คือธรรมะที่เรียนมาแล้ว ถ้าถ้าเคยเรียนนักธรรมมาแล้วก็เรียนมาแล้ว ที่เรียกว่าฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรม ช่วยจำไว้ให้มั่นคง ฆราวาสธรรม สี่ประการ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สำหรับฆราวาสจะอยู่ในโลกนี้ ในโลกนี้ อย่างได้ผลดีที่สุดจงใช้ธรรมะสี่ประการนี้ ทีนี้ก็ว่าถ้าฆราวาสมันอยากจะออกไปจากโลก ฆราวาสมันจะออกไปจากโลก อยากจะพ้นจากความเป็นฆราวาส ก็ใช้ธรรมะสี่ประการนี้ ช่วยจำให้แม่นๆ ทีว่าผมยืนยันอย่างนี้ จะเป็นฆราวาสอยู่ในโลกนี้ ก็ใช้ธรรมะสี่ประการนี้ จะออกจากความเป็นฆราวาสไปสู่ความเป็นพระอริยะเจ้าก็ใช้ธรรมะสี่ประการนี้ จึงขอพูดแต่โดยใจความเพราะว่าคงจะเรียนรู้กันมาแล้วเป็นส่วนมาก สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะคือความจริง จริง จริง ใช้คำว่าจริง จริงว่าด้วยจริงใจ จริงวาจา จริงการกระทำ จริงไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่เดี๋ยวนี้เขาพูดว่าจริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริง จริง จริงไปเสียทุกอย่าง จะขอสรุปสั้นๆ อีกคำหนึ่งว่า จริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน จริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน มนุษย์แปลว่ามีจิตใจสูงต้องเป็นไปในทางที่มีจิตใจสูง 4836 ใจจริงต่อความเป็นมนุษย์คือยกจิตใจให้สูงอยู่เรื่อย เป็นสามเณรก็ต้องมีความจริงต่อความเป็นสามเณร เป็นพระก็มีความจริง จริงต่อความเป็นพระ เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็มีความจริง จริง จริง จริง ต่อความเป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นอะไรอยู่ก็มีความจริงตามนั้น นี้เรียกว่าจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ลองไม่จริงต่อความเป็นสามเณรสิก็เป็นสามลิงไม่ทันรู้ เป็นสามลิงกระโดดโลดเต้นไม่ทันรู้ ลองไม่จริงตาม ตามความเป็นสามเณรสิ มันก็เป็นสามลิง มันต้องตรง จริง จริง ตรง ตรง ตรง จริง ต่อความเป็นมนุษย์ของตนไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ชนิดไหน อย่าให้ใครมาดูถูกว่า นั่นมันไม่เป็นมนุษย์ ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี่สัจจะจริงอย่างนี้ ไอ้จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่อเพื่อนมนุษย์ จริงอะไร มันรวมอยู่ในจริงต่อความเป็นมนุษย์ จริงต่อความเป็นมนุษย์เสร็จแล้วมันก็จริงต่ออะไรหมดทุกอย่าง จริง สัจจะ จริง ข้อที่สองก็ทมะ อ่า ทมะ แปลว่าบังคับตน มันก็บังคับให้จริงอยู่ได้ ถ้ามันจริงแต่ปากไม่มีการบังคับมันก็ไม่จริงอยู่ได้ จริงอยู่ไม่ได้ มันต้องมีทมะ ทมะบังคับตนให้จริงอยู่ได้ ตามที่ต้องการจะจริง จริงต่อความเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ให้ได้ จริงต่อความเป็นสามเณรก็เป็นสามเณรที่ถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องให้จนได้ จะเป็นพุทธบริษัทประเภทไหนชนิดไหนก็มีความถูกต้องตามนั้น นี่ก็เรียกว่าทมะ บังคับ บังคับ แม้ว่าจะต้องอดกลั้นอดทน น้ำตาไหลก็ทำได้ มีคำบาลีกล่าวไว้ เป็นคำที่น่าฟังที่สุดว่าประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา แม้ว่าเจ็บปวดอดทนจนน้ำตาไหลก็ไม่ยอมสูญเสียพรหมจรรย์ ลองไม่ไม่บังคับสิเดี๋ยวมันก็ไปกินข้าวค่ำ แล้วก็ไปคบผู้หญิงไม่ต้องสงสัย สามเณรก็เป็นสามลิงหมดแหละ ถ้าไม่มีทมะ ทมะ มันต้องมีทมะบังคับตนให้ได้ มันจะคงอยู่ในความเป็นสามเณรได้ ข้อที่สาม ขันตี ขันตี ความอดกลั้นอดทน เมื่อมีการบังคับมันก็ต้อง มันต้องเกิดการเจ็บปวดแหละ เมื่อเกิดมีการเจ็บปวดมันก็ต้องอดกลั้นอดทน ถ้ามิฉะนั้นมันก็ไปทำอย่างตรงกันข้าม อย่างเสียหาย อย่างผิดหมด เมื่อมีความเจ็บปวด แล้วมีความอดกลั้นอดทน แม้จะต้องทนจนน้ำตาไหล ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาอยู่ตลอดทุกวันก็ทำได้ ไม่ยอมให้ขาดศีลหรือเสียวินัยไม่เสียอะไรไปหมดนี้เรียกว่า ขันตี ขันตี แปลว่าความอดทน คำว่าขันตี แปลได้อีกอย่างหนึ่งแปลว่าความสมควรที่จะบรรลุผล นี้ในโรงเรียนไม่ค่อยสอนกันหรอกคำนี้ เพราะมันไม่ไม่ไม่อะไรก็ไม่รู้ แต่ตัวหนังสือมันแปลว่าความสมควร คือมันปฏิบัติจนสมควรที่จะบรรลุผลอันนั้นน่ะ มันคือขันตี หมายความปฏิบัติเต็มที่ ปฏิบัติมาก ปฏิบัติยืดยาว ปฏิบัติจนสมควรที่จะบรรลุมรรคผล อันนี้ก็เรียกว่าขันตี ขันตีแปลว่าอดกลั้นอดทนก็ได้ แปลว่าความสมควรที่จะบรรลุมรรคผลก็ได้ มันก็เรื่องเดียวกันแหละ คือมันอดกลั้นอดทนมาเรื่อย ๆ จนเหมาะที่จะได้รับผล สมควรที่จะได้รับผล ฉะนั้นขอให้เรามีความอดกลั้นอดทน อดกลั้นอดทน แม้ว่าจะอยู่ในลักษณะที่จะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาก็รักษาศีลไว้ได้ รักษาวินัยไว้ได้ ไม่ทุศีล ไม่ทำสิ่งที่มันผิดศีลผิดวินัย นี่ก็เรียกว่าอดทน จนได้ จนกว่าจะได้รับผล ข้อสุดท้ายเรียกว่าจาคะ จาคะ คือสละออกไป สละออกไป หมายความว่าสละอยู่เป็นประจำ สิ่งใดควรสละออกไปก็สละอยู่เป็นประจำ มันก็ไม่ต้องอดทนน้อย มันก็ไม่ต้องอดทนมากสิ มันอดทนแต่น้อย ๆ มันก็ทนสบายสิ เพราะว่ามัน มันไขรูรั่วให้ความกดดันออกไปเรื่อย ความกดดันออกไปเรื่อย ความกดดันก็มีน้อย เราก็ทนได้ก็ไปประพฤติพรหมจรรย์สบาย ฉะนั้นความเลวร้ายใดๆ แม้จะนิดหน่อยเท่าใดก็อย่าเอาไว้ สละออกไป สละออกไป เรียกว่าสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ให้ออกไปเสียจากตนนี้เรียกว่า จาคะ จาคะ จาคะ ไม่ต้องมีผู้รับหรอก สละออกไปจากตนก็พอแล้ว เพราะว่ามันไม่ควรจะมีอยู่ในตน ไม่ต้องมีใครรับ แม้แต่พวกผีมันก็ไม่รับไอ้ความเลวของคนนี่ สละให้ผีผีมันก็ไม่เอา ฉะนั้นขอให้คนสละออกไปจากตน สละออกไปจากตนให้คนมันสะอาด สะอาด สะอาดอยู่ มันก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยง่าย มีสัจจะได้โดยง่าย มีธรรมะได้โดยง่าย มีขันตีได้โดยง่าย ถ้ามันสละไอ้สิ่งที่ควรสละออกจากตนอยู่เสมอดังนี้ นี้ก็ดูให้ดีทีว่ามันจะเป็นฆราวาสที่ดีได้หรือไม่ถ้ามันปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นยอดของฆราวาส เป็นชาวนาที่ดี ชาวสวนที่ดี พ่อค้าที่ดี กรรมกรที่ดี อะไรก็ดี ดี ถูกต้องไปหมด แม้จะเป็นขอทานมันก็ขอทานที่ดี ถ้ามันมีธรรมะสี่ประการนี้ เอาล่ะเรียกว่ารอดตัวไปสำหรับจากความทนทุกข์ในฆราวาส ทีนี้ ถ้าว่าจะไปสู่ชั้นสูงขึ้นไปคือบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ใช้ธรรมะสี่ประการนี้แหละอีก เป็นพระเป็นเณรบวชมาแล้วก็ใช้ ก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์เป็นฆราวาสแล้ว ก็ใช้สัจจะเพื่อพระนิพพานมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทมะบังคับให้ดิ่งไปทางนิพพาน ขันตีอดกลั้นอดทนเพื่อดำเนินไปสู่หนทางแห่งพระนิพพาน จาคะ จาคะ สละกิเลส สละความเห็นแก่ตัว สละความเห็นแก่ตัวอยู่เป็นประจำ กิเลสทั้งหลายมาจากความเห็นแก่ตัว เราสละความเห็นแก่ตัว ก็คือสละมูลเหตุแห่งกิเลสทั้งหลาย เห็นแก่ตัวแบบนี้ให้เกิดโลภะ เห็นแก่ตัวแบบนี้ให้เกิดโทสะ เห็นแก่ตัวแบบนี้ให้เกิดโมหะ เมื่อไม่เห็นแก่ตัวก็หมด ไม่เกิดกิเลส ไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้นแหละประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์ ถ้ายังเห็นแก่ตัวอยู่ยังไม่สมบูรณ์ หมดความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิงเมื่อไรเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สูงขึ้นไป เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานก็ บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลถูกต้องอยู่เป็นพื้นฐาน ระลึกถึงตนเองแล้วยกมือไหว้ตัวเองได้ มีสมาธิอบรมจิตให้เข้มแข็ง เข้มแข็ง เข้มแข็งแหลมคมอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนา ดูความจริงของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา เห็นอนิจจัง โอ ไม่เที่ยงอย่างนี้อย่างนี้ เห็นทุกขังก็เพราะต้องอยู่กับความไม่เที่ยง เห็นอนัตตาว่าเมื่อมันไม่เที่ยงเกิดดับอยู่อย่างนี้จะเป็นอัตตาได้อย่างไร ถ้าเป็นอัตตามันต้องคงที่นู่น แล้วก็เห็นว่าไอ้ ธัมมัฏฐิตตามันเป็นอย่างนี้เอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เป็นธัมมัฏฐิตตาตามธรรมชาติอย่างนี้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ามีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่นี้ เรียกว่าเห็นธัมมนียามตานี้ นียามแปลว่ากฎบังคับ ธัมมนียามตา กฎบังคับของธรรมชาติบังคับอยู่ ก็เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา นี้ก็เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจยตา ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย และต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ความทุกข์จะเกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ความทุกข์จะดับลงก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจยตา ในที่สุดหลังจากนั้น โอ้ มันว่างจากตัวตนอย่างนี้นะโว้ย เรียกว่าเห็นสุญญตา สุญญตา ว่างจากตัวตน ต่อจากนั้นก็เห็นตถาตา ตถาตา เช่นนี้เอง เช่นนี้เอง เช่นนี้เอง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเกลียดชัง ก็คือว่าไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรอีกต่อไป มันเป็นเช่นนั้นเอง จะไปบ้าหลงเกลียดหลงรักกับมันทำไม ก็เรียกว่าเห็นตถาตา ก็นี่ล่ะเป็นเหตุให้เป็นตถาคต ตถาคต แปลว่าผู้ถึงตถาตา พอเห็นว่าทุกอย่างเป็นตถาตาอย่างนี้ อะไร อะไรก็มาปรุงแต่งไม่ได้ มันจะมาในรูป อิจฉาอารมณ์ก็ปรุงแต่งไม่ได้ อนิจถาอารมณ์ก็ปรุงแต่งไม่ได้ นี่เรียกว่าอตัมมยตา อตัมมยตา สภาวะที่อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ไม่สำเร็จอยู่ด้วยปัจจัยอะไร นั่นคือความเป็นพระอรหันต์โดยสมบูรณ์ แม้อย่างนี้ก็ต้องการ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี่ต้องรู้แจ้งเห็นประจักษ์ในความจริงเหล่านี้ ยกตัวอย่างมาให้ฟังเพียง ๙ ตา มันมีมากกว่านี้ แต่ยกตัวอย่างมาให้ฟังเพียงเก้าตาก็ถมไปแล้ว อนิจจตา ไม่เที่ยง ทุกขตาเป็นทุกข์ อนัตตตาไม่ใช่ตน ธัมมัฏฐิตตามันตั้งอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา ธัมมนียามตาเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อิทัปปัจจยตาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันโดยเฉพาะ สุญญตา ว่างจากตัวตน ตถาตาเป็นเช่นนั้น เช่นนั้น เช่นนั้น อตัมมยตา อะไรๆ จะมาปรุงแต่งจิตใจไม่ได้อีก เรียกว่าจากโลกนี้ไปสู่โลกุตระก็ด้วยอาศัยไอ้ความปฏิบัติด้วยเครื่องมืออย่างเดียวกัน สัจจะ จริง จริง จริงต่อพระนิพพาน ทมะบังคับให้เดินไปทางนั้น ขันตี อดกลั้นอดทน ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา กี่ปี๊บกี่ถังกี่เกวียนก็ได้ แล้วก็ จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึก คือเป็นกิเลสอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นแก่ตนน่ะ สละออกไปเรื่อย เรื่อย เรื่อย อย่าเอาไว้ ขืนเอาไว้จะไปพอกพูนกิเลส ไม่มีกิเลสก็ไม่มีอนุสัย ไม่สะสมกิเลสไว้ ก็ไม่มีอนุสัย ไม่มีอนุสัย ก็ไม่มีอาสวะที่จะไหลออกมา ก็คือหมดอาสวะ นี่เรียกว่าอาศัยธรรมะ ชื่อเดียวกัน แต่ว่าคนละชั้นคนละระดับ ฉะนั้นขอให้จำฆราวาสธรรมสี่อย่างนี้ไว้ ว่าจะเป็นฆราวาสที่ดีที่สุดก็อาศัยสี่อย่างนี้ จะออกมาซะจากความเป็นฆราวาสก็อาศัยไอ้สี่อย่างนี้ ในที่สุดก็ไปสู่อาณาจักรแห่งโลกุตระ เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องมันก็จบ ธรรมะทำไมกัน ก็เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน อยู่เหนือกิเลสตัณหา ถ้าจะสรุปเป็นหมวด ๆ ท่านก็แสดงหมวดสติปัฏฐานสี่ไว้ ให้ปฏิบัติให้สำเร็จในหมวดกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสนาที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ นี่เป็นหัวใจเป็นทั้งหมดในการที่จะละกิเลส จะปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ก็ต้องมี สัมมัปปธาน ๔ คือพากเพียรอย่างถูกต้องสี่ประการ ไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรเกิด ละสิ่งที่ควรละ ทำสิ่งที่ควรเกิดให้เกิด รักษาสิ่งที่ควรเกิดเกิดให้อยู่ นี่ก็เป็นสัมมัปปธาน ๔ แล้วก็มีธรรมะสี่ที่เรียกว่าให้ความสำเร็จ อิทธิบาท ๔ น่ะ มีฉันทะพอใจอย่างยิ่ง วิริยะพากเพียรอย่างยิ่ง จิตตะเอาใจใส่อย่างยิ่ง วิมังสาใคร่ครวญอยู่อย่างยิ่ง มันก็สำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนา นี่ท่านตรัสไว้เป็นโพธิปักขิยธรรมเบื้องต้น มีสติปัฏฐานให้ได้ โดยอาศัยสัมมัปปธาน สัมมัปปธานมีได้โดยอาศัยอิทธิบาท เหล่านี้มีแล้วก็จะมีอินทรีย์และพละสมบูรณ์ มันก็จะมีโพชฌงค์สมบูรณ์ มีอริยมรรคมีองค์แปดสมบูรณ์ มันก็บรรลุมรรคผลนิพพาน นี้เรียกว่าแนวแห่งพระนิพพานหรือโพธิปักขิยธรรม จะต้องอาศัยสติปัฏฐานเป็นหลักเป็นประธานยืนยงอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรนั้นน่ะเป็นไปได้ อาศัยอิทธิบาทให้มันสำเร็จไปตามนั้นให้จนได้ แล้วไม่ต้องกลัว อินทรีย์ห้า พละห้าก็เต็ม อินทรีย์ห้า พละห้าเต็ม โพชฌงค์เจ็ดก็เต็ม อริยมรรคมีองค์แปดก็เต็ม นี่หวังว่าเธอสามเณรทั้งหลายแม้ยังไม่ตั้งใจจะเป็นพระอรหันต์ก็จำไว้เถิดว่า รู้ไว้เถิดว่า หนทางมันเป็นอย่างนี้ หนทางมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จะต้องไปสู่หนทางมีองค์แปดประการคืออริยมรรคมีองค์แปด ไปที่นั่น มันก็ถึงพระนิพพานคือบรรลุพระนิพพาน หรือจะพูดให้ถูกต้องก็ว่านิพพานปรากฏเพราะไอ้สิ่งปิดบังพระนิพพานมันถูกเพิกถอนหมด คืออวิชชากิเลสตัณหาทั้งหลาย มันปิดบังนิพพานอยู่มันถูกเพิกถอนจนหมด พระนิพพานก็ปรากฏแก่จิตใจที่ไม่มีอะไรหุ้ม ไม่มีอะไรกัน นี่ธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อบรรลุถึงจุดสุดท้าย สิ่งสูงสุดคือพระนิพพาน เอ้า เธอบวชเพียงไม่กี่วัน ไม่สามารถจะปฏิบัติทั้งหมดนั้น แต่ก็ต้องรู้ว่าหนทางมันเป็นอย่างนี้ ต้องรู้แนวทางเป็นอย่างนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วก็พยายามปฏิบัติเท่าที่จะปฏิบัติได้ มีสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ในการเป็นอยู่ด้วยความอดกลั้นอดทนตลอดวันตลอดคืน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีฆราวาสธรรมสำหรับฆราวาสก็ได้ สำหรับฆราวาสจะออกไปจากฆราวาสก็ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าฆราวาสธรรมจะสำหรับฆราวาสจมปลักอยู่ที่นี่ไม่ใช่ แม้ฆราวาสจะถอนตัวออกจากฆราวาสก็อาศัยธรรมะนี่ด้วยเหมือนกัน แล้วก็ไปเข้ารูป สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน และอิทธิบาท และอินทรีย์ห้า พละห้ามันก็จัดการด้วยตัวมันเอง แล้วโพชฌงค์อริยมรรคก็สมบูรณ์ เป็นอันว่าธรรมะทำไมกันน่ะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอันว่าฉันได้บอกแก่พวกเธอทั้งหลาย โดยหนทางตลอดสายว่าตั้งแต่จุดตั้งต้นถึงจุดหมายปลายทางมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นขอให้เธออุทิศชีวิตกำลังกายกำลังใจทั้งหมดเพื่อความเป็นอย่างนี้ ต้องอดกลั้นอดทนถึงที่สุดแม้ว่าจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ก็ให้รักษาเอาไว้ได้ อย่าทุศีล อย่าทำอะไรซึ่งเป็นการทุศีล แม้ว่าจะต้องเสียน้ำตา เป็นอันว่า การชี้หนทางแห่งเธอทั้งหลายผู้บวชใหม่ แม้จะในเวลาไม่กี่วันนี้มันมีอยู่อย่างนี้ มันมีอยู่อย่างนี้ อย่างอื่นมันไม่มี ทางอื่นมันไม่มี มันมีแต่ทางเดียวอย่างนี้ ฉะนั้นขอให้เธอถือเอาให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด แม้ว่าไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติสำเร็จชั่วเวลาบวชไม่กี่วัน แต่ว่ามันเป็นหนทางตั้งต้นที่ถูกต้อง ตั้งต้นที่ถูกต้อง เมื่อหนทางตั้งต้นที่ถูกต้องแล้วมันก็ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ทำความเข้าใจให้ดี ทำความเข้าใจให้ดี วิจัยวิจารณ์ใคร่ครวญให้ดีแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้ประโยชน์คุ้มค่า คุ้มค่า ไม่เสียที ไม่เสียเวลา ไม่เปลืองผ้าเหลืองเปล่าไม่ทำให้ญาติโยมยุ่งยากเปล่าๆ ไม่ทำให้ใครยุ่งยากเปล่าๆ ในการบวชนี้ เพราะว่าเราได้รับผลเกินค่า ได้รับผลเกินค่า เกินค่า ขอให้ทุกคนนี่ ได้รับผลเกินค่าในการบรรพชานี้ แล้วฉันก็จะขออนุโมทนา อนุโมทนา อนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ความประสงค์ของเธอทั้งหลายจงเป็นไปอย่างถูกต้อง ถึงจุดหมายปลายทางครบถ้วนโดยทุกๆ ประการเทอญ (สามเณรกล่าว สาธุ สาธุ สาธุ )ขอยุติการบรรยาย (สามเณรกล่าว ขอรับธรรมะไปปฏิบัติบูชา สาธุ สาธุ สาธุ )