แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(พอจ. พุทธทาส ถาม พระอาจารย์พี่เลี้ยงและสามเณร) เคยอบรมกันมาแล้ว ๒๐ วันเคยอบรมเรื่องอะไรมาบ้าง เรียนเรื่องอะไรบ้าง เดินธุดงค์ เดินธุดงค์เดินไปไหนเดินธุดงค์ เธอต้องการจะอบรมอะไรกัน ในความมุ่งหมายที่แท้จริงต้องการอบรมอะไรกัน ไม่ได้มีแผนการไม่ได้มีหลักสูตร แผนการของคุณจับเณรมาบวชน่ะ ต้องการจะอบรมอะไรกัน นั่นแหละอบรมมาบ้างแล้วหรือยังศีลธรรม อบรมอะไร บ้างแล้ว ในแง่ของศีลธรรมน่ะอบรมอะไรบ้างแล้ว (หัวเราะ)ตอบไม่ได้ จะให้ผมอบรมเรื่องอะไร มันก็เลยไม่ปะติดปะต่อ ไม่สัมพันธ์กัน ไม่เข้ากัน
เอาล่ะ, พูดตามที่เห็นว่าเหมาะสม สำหรับสามเณรที่จะกลับไปเป็นฆราวาสอีก เพราะเรามันบวช ชั่วคราว ไม่ใช่บวชตลอดไปตลอดชีวิต นี้มันบวชชั่วคราวจะได้กลับไปเป็นฆราวาสอีก เพื่อจะกลับไปเป็นฆราวาสที่ดี ฆราวาสที่ดีไม่มีปัญหา ถ้าต้องการว่าศีลธรรม เพื่ออบรมศีลธรรมมันก็ถูกแล้ว ไปเป็นฆราวาสที่มีศีลธรรม
คำว่า ศีลธรรม แปลว่าอะไร คนไหนรู้ ใครตอบได้ศีลธรรมแปลว่าอะไร เณรน่ะเณร ถามเณรทั้งหมด ศีลธรรมแปลว่าอะไร ใครตอบได้ยกมือ อืม, ไม่รู้แม้แต่คำว่าศีลธรรม ทีนี้ขอให้จำไว้เพื่อศีลธรรม เพื่อประโยชน์ศีลธรรม ศีลธรรมก็แปลว่า สิ่งที่ทำความปกติ ศีละ ศีละ แปลว่า ปกติ ธรรมในที่นี้แปลว่า สิ่ง สิ่งหรือเหตุหรือปัจจัย สิ่งที่เป็นเหตุแห่งความปกติ หรือหมายถึงตัวความปกติด้วย เราจะมาศึกษาเรื่องสิ่งที่ทำความปกติ
ศีละ ศีละ แปลว่า ปกติ คล้ายๆ กับสงบ ความหมายคล้ายๆ กับสงบ แต่ว่าหมายถึงปกติ ไม่ผิดปกติ เป็นคำที่กว้าง กว้างกว่าความสงบ ถ้ามันปกติมันก็ไม่มีปัญหา ก็ลองคิดดู ถ้ามันปกติมันก็ไม่มีปัญหา พอมันผิดปกติเท่านั้นแหละมันจะมีปัญหา ถ้าเราอยู่กันอย่างปกติก็จะไม่มีปัญหา เราจึงอยู่กันอย่างให้ปกติ เราจะอยู่กันในโลกอย่างปกติ ในบ้าน ในเมือง ในสังคม ในวัด ในครอบครัวอะไรเหล่านี้ จะอยู่กันอย่างปกติ บวชเณรเพื่อศึกษาศีลธรรม เพื่อให้สามารถสร้างภาวะปกติ ถ้าบวชแล้วไม่ได้รู้สิ่งเหล่านี้ ก็เสียเวลาบวช เสียทีที่บวช เสียเวลาบวช เสียผ้าเหลืองเปล่าๆ เป็นที่ผิดหวังทั้งบิดามารดา ครูบาอาจารย์ หรือทางการ ทางราชการ เขาต้องการจะให้สามเณรนี้มีความรู้เรื่องความปกติ สงบสุข ปกติและออกไปเป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลเมืองที่รู้ธรรมะในพุทธศาสนา เธอจงจำคำว่า ศีลธรรม ศีลธรรม แปลว่า สิ่งที่ทำความปกติ สิ่งที่ทำความปกติ ในความหมายของสังคมมีอยู่ ๒ ประการ ที่จะปกติ ที่จะทำให้เกิดปกติได้ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ เกี่ยวกับตัวเราเองมีความปกติ และเกี่ยวกับผู้อื่นเกี่ยวกับผู้อื่นก็ต้องมีการทำความปกติ เราเองมีความปกติก็หมายความว่าไม่มีความทุกข์ เราไม่มีความทุกข์ และก็เราช่วยให้เพื่อนมนุษย์ของเรามีความปกติ คือไม่มีความทุกข์ เราจะต้องช่วยผู้อื่นได้ด้วย เรามีความปกติมีความสุขของตัวเอง และก็สามารถจะช่วยผู้อื่นได้ด้วย การช่วยผู้อื่นนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความที่เรารักผู้อื่นเห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัวอย่างเดียว ไม่เห็นแก่ตัวอย่างเดียว ฉะนั้นเราจึงเป็นผู้ที่รับผิดชอบทั้งเพื่อตัวเราและเพื่อผู้อื่น เราต้องมีความรับผิดชอบ กระทำให้ลุล่วงไปด้วยดี ทั้งเพื่อตัวเราและเพื่อผู้อื่น เพื่อตัวเราคือไม่มีความทุกข์ และรักผู้อื่นเพื่อช่วยผู้อื่นให้ไม่มีความทุกข์ ด้วยหัวข้อใหญ่ๆ ละก็ ๒ เรื่องนี้ก็พอ พูดสั้นๆ ว่า รักผู้อื่น เอ้อ, ไม่มีความทุกข์และรักผู้อื่น ไม่มีความทุกข์และรักผู้อื่นเป็น ๒ ข้อ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์นี้ มันมีเรื่องมาก มีคำอธิบายมาก หลายซับหลายซ้อน ไม่มีความทุกข์ คำว่าไม่มีความทุกข์ในภาษาธรรมดา ภาษาทั่วไปตามธรรมดาไม่มีความทุกข์นี้อย่างหนึ่ง และในภาษาสูง ภาษาสูงภาษาธรรมะชั้นสูงก็อีกอย่างหนึ่ง
คนธรรมดาๆ เรียกว่าคนธรรมดาก็คือคนยังมีกิเลส ยังมีความรู้สึกว่าตัวตน มีความรู้สึกว่าตัวตน จะต้องมีความเห็นแก่ตนเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าคนธรรมดา ยังมีตัวตน และก็เป็นธรรมดาที่จะเห็นแก่ตน ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้แล้ว มันก็จะเห็นแก่ตนจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น เราจงฝึกฝนวิธีควบคุมเราเอง อย่าให้เห็นแก่ตน จนกระทบกระทั่งประโยชน์ของผู้อื่น เรามีตน ยังมีตน ยังมีความรู้สึกว่ามีตน เราก็มีหน้าที่เพียงทำตนอย่าให้เป็นทุกข์ อย่าให้เห็นแก่ตนจนทำลายประโยชน์ของผู้อื่น นั่นแหละถึงจะถูกต้อง เมื่อเรามีตน ยังยึดถือว่าตน ยังละความยึดถือว่าตนไม่ได้ เราก็ต้องทำตนนี้ให้มันเป็นตนที่ดี ให้มันเป็นตนที่ดี อย่าให้เป็นตนที่ชั่ว ธรรมดามันจะตกไปในความต่ำหรือความชั่วง่าย เราจึงมีการระวังสังวรณ์บังคับไว้ ไม่ให้เห็นแก่ตนในทางที่ชั่ว ไม่ให้เห็นแก่ตนจนทำชั่ว
คำว่าดี ว่าชั่ว คนเพิ่งเกิด หรือเด็กๆ เพิ่งเกิดมายังไม่ค่อยจะรู้ เณรๆ อย่าเพิ่งอวดดี แม้แต่คำว่าดี ว่าชั่ว ว่าผิด ว่าถูก ก็ยังไม่ค่อยจะรู้นะ เธอมันก็จะดีตามที่นึกเอาเอง ชั่วตามที่นึกเอาเอง ถูกตามที่นึกเอาเอง ผิดตามที่นึกเอาเอง ในเมื่อเรายังโง่อยู่ มันก็นึกผิดๆ มันก็ผิดหมด ในเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องถูกเรื่องผิด มันยังไม่ถูกต้อง ทีนี้เราจะให้คำจำกัดความ ว่าดี หรือ ถูก คือ ไม่มีใครเดือดร้อน มีแต่ได้รับประโยชน์ ไม่มีใครเดือดร้อน มีแต่ได้รับประโยชน์ เราก็ไม่เดือดร้อน เพื่อนของเราก็ไม่เดือด ร้อน คนทั้งเมืองก็ไม่เดือดร้อน ล้วนแต่ได้รับประโยชน์ นั่นแหละเขาเรียกว่าดี หรือว่าถูก ไม่ใช่ว่าถูกใจเรา เอาแต่สนุกสนานของเรา เราได้ เรารวยแล้วก็จะดี มันไม่ถูก คือมันไม่ถูกทั้งหมด ต้องไม่มีใครเดือดร้อน และต้องมีคนได้รับประโยชน์ด้วย นี้จึงเรียกว่าดี หรือถูก ตามหลักของธรรมะในพุทธศาสนา
คำว่าชั่ว หรือว่าผิด หมายความว่า มีคนเสียประโยชน์ บางทีก็ตัวเองด้วย ตัวเองด้วยเดือดร้อนเสียหาย เสียประโยชน์ ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย เสียประโยชน์ เขาเรียกว่ามันผิดหรือมันชั่ว เราก็คิดดู ระลึกดู ถอยหลังไปเท่าที่เราจำความได้ ถอยหลังไปเท่าที่เราจำความได้ ที่แล้วๆ มาตั้งแต่เมื่อเด็กๆ เราได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อนเสียหาย ทำอะไรให้ตัวเองเดือดร้อนเป็นทุกข์ นั่นแหละให้รู้เถอะว่ามันผิด มันเคยทำผิด แน่นอนล่ะว่าเราต้องเคยทำผิดอย่าอวดดี อย่าอวดดี เพราะมันต้องทำตามความต้องการของตัวโง่ๆ คนโง่ด้วย ทำตามความต้องการของตัวด้วย การกระทำนั้นต้องผิด ต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนตัวเองก็เดือดร้อน จงระลึกนึกแล้วเอามาเป็นคติ เอามาเป็นอุทาหรณ์ ว่าเราทำผิดได้อย่างไร ทำชั่วได้อย่างไร ตั้งแต่เล็กๆ มาเราเคยฆ่า ประทุษร้ายร่างกาย ชีวิตร่างกายของผู้อื่น ของสัตว์อื่น เราประทุษ ร้ายชีวิตร่างกายของสัตว์อื่น ก็เพราะเราเห็นแก่ตัว เพราะเรามันคิดเอาแต่จะได้ทั้งตัว หรือเราประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยวิธีต่างๆ นานา ด้วยวิธีลักขโมย ฉ้อฉล เบียดบัง ยักยอก นี้เรียกว่าประทุษ ร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ก็เพราะเรามันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ของตัวคิดแต่จะได้ หรือว่าเราประ ทุษร้ายของรักของผู้อื่น เรายังเล็กยังไม่ประทุษร้ายเรื่องบุตร ภรรยา สามี เรื่องทางเพศยังไม่มี แต่มันก็มีของรักของผู้อื่น ของที่เขารัก เราไปแตะต้อง ไปลูบคลำ ไปย่ำยีให้เจ้าของเขาเจ็บใจ ประทุษร้ายของรักของผู้อื่นให้เจ้าของเขาเจ็บใจ แม้แต่ของที่เขาเพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เขายังกำลังรัก เราไปทำให้เขาเจ็บใจด้วยการทำหยาบคายกับสิ่งเหล่านั้น เขาไม่ต้องการให้ใครแตะต้องจับฉวย เราก็ไปแตะต้องจับฉวย อย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าประทุษร้ายของรักของผู้อื่น เราเคยทำอะไรบ้าง บางทีของใช้ของเล่น เขาซื้อมาใหม่ๆ เจ้าของยังหวงมาก อย่าไปแตะต้องให้เจ้าของเขารำคาญเป็นทุกข์ เราประทุษร้ายความถูกต้อง ความยุติธรรมของผู้อื่น คือเราโกหก เมื่อเราพูดเท็จ โกหก ประทุษร้ายความยุติธรรมของผู้อื่น ความถูกต้องของผู้อื่น ก็ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เพราะเราเห็นแก่ตัว เราใช้วาจาเป็นเครื่องมือประทุษร้ายความถูกต้องของผู้อื่น แล้วข้อสุดท้ายเราจะเรียกว่าประทุษร้ายสติปัญญาของตัวเอง ข้อที่ ๕ น้ำเมา ประทุษ ร้ายสติปัญญาของเราเอง ถ้าเราไม่แตะต้องของเมาทั้งหลาย สติปัญญาของเรามันจะอยู่ในร่องในรอย มันมีส่วนถูกมากกว่า แต่พอเราไปดื่มกินเสพของเมา เท่ากับว่าเราทำลายความถูกต้องของสติปัญญา ของสติสมประฤดี ความผิดปกติก็เกิดขึ้นแก่สติปัญญาและสมประฤดี นี้เราเรียกว่าเราประทุษร้ายสติสมประฤดีของตนเอง หรือว่าที่เกี่ยวกับผู้อื่นคือทำให้เขารำคาญ การดื่มกินของเมานั้นก่อความรำคาญให้แก่ผู้อื่น เรียกว่าประทุษร้ายปกติสุขของผู้อื่น คนที่ดื่มของเมาเสพของเมาให้เขารำคาญ นั่นแหละความเห็นแก่ตัวทำให้เราผิดศีลห้า ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัวเราก็มีศีลห้า ถ้าเราเห็นแก่ตัวเราก็ทำผิดศีลห้า อย่างน้อยศีลห้า คือประทุษร้ายชีวิตร่ายกายของผู้อื่น ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ประทุษร้ายของรักของชอบใจของผู้ อื่น ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่น ประทุษร้ายสติสมประฤดีของตัวเอง เรื่องเลวทั้งนั้น ใครสูบบุหรี่ยกมือ ที่นั่งตรงนี้ใครสูบบุหรี่ ทำไมต้องมองตากัน ใครสูบบุหรี่ยกมือ เป็นเณรพูดจริง ใครสูบบุหรี่ ไม่สูบจริงเหรอ ใครสูบบุหรี่ เวลานี้เป็นเณรแล้วใครยังสูบบุหรี่ อย่าไปทำให้มันโง่ ไปสูบบุหรี่หรือของมึนเมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้สติสมประฤดีผิดปกติสูญเสียไปเสีย อย่าไปเอากับมัน ซึ่งถ้าว่ายังโง่ยังสูบบุหรี่ก็อย่าบวชเณรให้ป่วยการ ป่วยการอย่าบวชให้เสียผ้าเหลือง ถ้ามันยังโง่จนสูบบุหรี่อย่ามาบวชเณรให้เสียผ้าเหลือง ให้เสียเวลาอุปัชฌาย์อาจารย์ที่เขาอบรม ถ้าละได้ให้ละตลอดไปเลย ละได้ตลอดไปเลย สึกกลับไปแล้วจะไม่กลับไปโง่อีก จะไม่ไปสูบบุหรี่ให้มันโง่อีก โง่ โง่ที่เอาควันไฟรมปอด สูบบุหรี่นั้นสูดควันไฟเข้าไป ไปรมปอด ซึ่งปอดมันดีๆ อยู่ คนโง่มันเอาควันไฟไปรมปอดให้ปอดเสีย จะไม่เรียกว่าโง่หรือ เมื่อเคยโง่มาแล้วก็หยุดกันที เคยสูบมาแล้วมันเคยโง่มาแล้ว เราก็หยุดกันที ของมึนเมาทุกชนิดประทุษ ร้ายร่ายกายของตัวเอง ประทุษร้ายจิตใจสติปัญญาของตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องเหล้าก็กินเข้าไปประทุษร้ายอวัยวะภายใน หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ ก็ทำให้ยุ่งกันหมด เสียกันหมดในความปกติของของอวัยวะภายใน
ดังนั้น ถ้าเรารักผู้อื่น เราไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเรารักผู้อื่น คือเราไม่เห็นแก่ตัว เราเกิดความรักผู้อื่น เราก็ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกายของใคร เราก็ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของใคร เราก็ไม่ประทุษร้ายของรักของพอใจชอบใจของใคร เราก็ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยการโกหก เราก็ไม่ทำให้ใครรำคาญเพราะเราเสพกินของเมา อย่างน้อยที่สุดทำให้เขารำคาญ ให้เขาเกลียด ให้เขาไม่อยากจะอยู่ด้วย ไม่อยากจะเห็นหน้า ไม่อยากจะร่วมโลก ถ้าเราไม่เสพของเมาเราก็ไม่ทำความรำคาญให้ผู้อื่น เพราะเรารักผู้อื่น เราก็ไม่ต้องเสพของเมา ถ้าไม่รักผู้อื่นก็ทำหมดทั้ง ๕ อย่าง ถ้ารักผู้อื่นก็ไม่ทำหมดทั้ง ๕ อย่างและอื่นๆ ยังมีอีกมากหลายอย่าง นี่เรายกตัวอย่างมาเพียง ๕ อย่างเท่านั้น ที่จะต้องถือเป็นหลักพื้นฐานทั่วไป เมื่อเธอบวชเป็นเณรแล้วแม้ในชั่วระยะอันสั้น เธอก็ได้ฝึกอย่างดี ฝึกอย่างดีในการที่จะไม่ผิดกฎ เกณฑ์เหล่านี้ จะไม่ผิดกฎเกณฑ์เหล่านี้ สมมติว่าบวชเดือนหนึ่ง ๑ เดือนก็ไม่ผิดกฎเกณฑ์เหล่านี้ เปลี่ยนนิสัยที่เลวๆ ชนิดเลวๆ ให้ดีเสีย ให้ถูกเสีย เมื่อกลับออกไปแล้วก็จะไม่ทำผิดอีก จะไม่ทำผิดอีก ก็ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลคุ้มค่าที่ว่าได้บวช ได้บวช แม้ชั่วเวลาเรียนชั่วคราวแล้วกลับออกไปอีก จะได้ผลคุ้มค่าที่กลับ ไป ทีนี้ก็เป็นคนละคน เรียกว่าเกิดใหม่ก็ได้ เกิดใหม่ก็ได้ มันเลวมาแล้วมันล้างออกหมด ก็เท่ากับว่าเกิดใหม่ เกิดใหม่ แล้วไปอยู่ให้ถูกต้อง ไปอยู่ให้มีความถูกต้อง ก็เท่ากับเกิดใหม่ในโลกอื่น โลกใหม่ที่ไม่มีความผิด ไม่มีความชั่ว ถ้าเราทุกคนไม่มีความชั่ว โลกนี้ก็ไม่มีความชั่ว ถ้าเราทุกคนดี โลกนี้ก็เป็นโลกที่ดี มันจะแน่นอน เธออย่าเป็นคนสร้างโลกที่เลวๆ อย่าสร้างโลกที่ชั่ว จงช่วยกันเป็นคนดี มันก็จะสร้างโลกที่ดีขึ้นมาเอง โลกจะเลวหรือจะดีก็แล้วแต่ว่าคนในโลกมันเลวหรือดี เราต้องรู้จักว่าเราต้องเกิดมาเพื่อ ให้มีประโยชน์ เกิดมาช่วยกันสร้างความดี เรื่องชั่วเรื่องดีพูดไปแล้วนะ เรื่องชั่ว เรื่องดี เรื่องผิด เรื่องถูก พูดไปแล้ว ถ้าดี หรือ ถูก ก็คือให้ทุกคนได้รับประโยชน์ ชั่ว หรือ เลว คือทุกคนเสียประโยชน์ เรามุ่งมุ่งมุ่งเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ และทุกคนได้รับประโยชน์ เป็นคนดี สร้างความดี เผยแผ่ความดีให้กระจาย แจกจ่ายความดี ขอให้ทำให้ได้
เมื่อก่อน เมื่อก่อนเราทำผิด ยกเลิก ยกเลิกไม่ต้องพูดถึง เมื่อมันผิดไปแล้ว เราทำไปแล้ว แต่ถ้าต่อไปเราทำแต่ความถูกและความดี มันก็อยู่แต่ในความถูกความดี ไม่ต้องรับผลในเรื่องเลวเรื่องชั่ว ถ้าเราสร้างแต่ความดี ดีดีดีดี ความชั่วก็ค่อยๆ เงียบไป กระจายไป เสื่อมหายคลายไป เมื่อจิตมันเปลี่ยน ไปแล้ว เมื่อจิตมันเปลี่ยนแล้ว มันไม่ทำความชั่วความเลวได้ จิตมันไม่รับความชั่วความเลวอีกต่อไป จิตก็ไม่รับผลของความชั่วความเลวอีกต่อไป มันจะทำแต่ความดีและรับผลของความดี นี้เรียกว่าเธอเป็นคนเกิดใหม่ เกิดใหม่แล้วในอาณาจักรของความดี ตายแล้วจากอาณาจักรของความชั่ว เกิดใหม่แล้วในอาณา จักรของความดี นี่เขาให้มาหัดเพื่อเกิดใหม่ในอาณาจักรของความดี ในร่มเงาของความดี อิทธิพลของความดี เธอจงรักตัวเอง รักตัวเอง รักตัวเองก่อน เพื่อจะยกตัวเองขึ้นมาให้ดี ให้พ้นจากความชั่ว นี่เขาเรียกว่ารักตัวเองที่ถูกต้องของคนที่ยังมีตัวตน คนธรรมดาๆ ยังมีตัวตน ถ้าพระอริยะเจ้านั้นไม่มีตัวตน ไม่เห็นแก่ตน คนทำดียังมีตัวตน แต่ต้องมีตัวตนที่ดี อย่ามีตัวตนที่เลว ถ้าจะมีตัวตนก็ขอให้มีตัวตนที่ดี อย่ามีตัวตนที่เลว ดังนั้นเราจึงศึกษาฝึกฝนกันตลอดเวลา ที่เราบวชนี้ เราบวชเพียง ๑ เดือน เพื่อศึกษาฝึกฝนเรื่องความดีให้เพียงพอ และก็ประพฤติ ประพฤติความดีให้สมบูรณ์ให้ครบถ้วน และก็ช่วยช่วยให้เพื่อนช่วยเหลือเพื่อนให้ได้ประพฤติความดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประพฤติความดี มันจะง่ายขึ้น ถ้ามีการร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน มันจะง่ายกว่า เราจึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ทำความดี ให้รู้จักความดี ให้ทำความดีโดยสะดวก จะได้เป็นหมู่คณะที่ดี ให้สมกับเป็นสามเณร สามเณรแปลว่า ผู้เตรียมที่จะเป็นสมณะ คือเป็นคนดี สามเณรแปลว่าผู้เตรียมจะเป็นสมณะ คือผู้สงบ ผู้ไม่มีปัญหา ผู้ไม่มีความทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่สามเณร ไม่ใช่ว่าเป็นสามเณรเพราะโกนหัวห่มผ้าเหลือง แล้วมาสวด อะนุญญสิโขนั้นไม่ใช่ เพียงเท่านั้นมันยังไม่เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์ เป็นเพียงภายนอก เป็นเพียงรูปร่าง ถ้าจะให้เป็นโดยแท้จริงเป็นถึงภายใน ต้องจัดการให้มีความถูกต้องให้หมด ทั้งภายนอกและภายใน ข้อนี้สำเร็จอยู่ด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คุณธรรม ๔ ประการนี้ หัวหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมช่วยสอน ช่วยสอนเณรให้มากๆ พระที่เป็นหัวหน้าทีมช่วยสอนเณรให้มากๆ ในเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ
ในหนังสือนวโกวาทเรียกว่า ฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรม ในหนังสือนวโกวาทมีอธิบาย ในแบบ เรียนนั่นแหละ ๔ ประการ ช่วยสอนให้ดีๆ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ จะช่วยให้เราทำสิ่งที่เราต้องการจะทำให้สำเร็จได้ ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมะสำหรับฆราวาส จะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากความเป็นฆราวาส อย่าโง่ อย่าโง่นะ พวกครูๆ นี้อย่าโง่ ที่คิดว่าฆราวาสธรรมจะทำให้จมอยู่ในฆราวาส ไม่ใช่ ฆราวาสธรรม คือ ธรรมที่จะทำให้คนพ้นจากความเป็นฆราวาสธรรมดาไปเป็นพระอริยะเจ้า ชื่อว่า ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส แต่ไม่ใช่เพื่อติดจม จมปลักอยู่ในความเป็นฆราวาส หมายความว่าต้องดีกว่าความเป็นฆราวาสธรรมดา จึงเรียกว่าพ้นจากความเป็นฆราวาสธรรมดา เป็นธรรมะสำหรับฆราวาสจะพ้นจากความเป็นฆราวาสธรรมดา ก็หมายความว่าเป็นธรรมะสำหรับยกบุคคล เป็นธรรมะสำหรับยกบุคคลขึ้นระดับสูง ฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับยกบุคคลขึ้นเสียจากความเป็นฆราวาสธรรมดา ไม่ต้องเป็นฆราวาสธรรมดา นั่นแหละฆราวาสธรรม มีอยู่ในหนังสือนวโกวาท ๔ อย่างนี้จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราต้องการ
เณรๆ คนไหนเคยเรียน ฆราวาสธรรม ๔ ประการยกมือ ไม่เคยเรียนนักธรรมกันเลยหรือ นี่แหละมันลำบาก หัวหน้าควรจะเอาหัวข้อธรรมะเบื้องต้นในแบบเรียนมาให้เณรเรียน ให้เณรเรียนจะได้รู้พอสมควร ฆราวาสธรรม ๔ ประการคือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ๔ ประการ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ แต่ว่า ๔ ประการนี้ใจความสำคัญมารวมอยู่เป็นหนึ่งเดียวก็ได้ คือบังคับตัวเองให้ได้ เอ้า, พูดกันแต่ละอย่างก่อน ๑ .สัจจะ ๒. ทมะ ๓. ขันติ ๔ .จาคะ
สัจจะ คือ ความจริง ความจริง ต้องให้เป็นของจริง เป็นความจริง เป็นเณร เณรต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง นั่นเขาเรียกจริง เธอจงเป็นเณรที่แท้จริง เป็นสามเณรที่แท้จริง คือบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง และสอนผู้อื่นจริงด้วยก็ยิ่งดี สัจจะแปลว่าจริง เป็นเณรจริงๆ จึงจะใช้ได้ มีความจริง ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ซื่อตรงต่อความเป็นเณรของเรา แล้วมันจะซื่อตรงหมด ซื่อตรงต่อผู้อื่น ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ซื่อตรงต่อทุกอย่างที่ต้องซื่อตรง ขอให้ซื่อตรงต่อตัวเองก่อน ในที่นี้ก็ซื่อ ตรงต่อความเป็นเณรของเรา อย่าให้ความเป็นเณรของเราหลอกลวงเหลวไหลได้ ให้เป็นเณรจริงๆ ให้เป็นเณรจริงๆ เราจึงถามว่าสวดอะนุญญาสิโขได้หรือไม่ได้ เพราะมันเป็นบทสิกขาบทของความเป็นสามเณร สามะเณเรหิ สิกขิตุง สามเณรต้องไปศึกษาให้ดี เป็นเณรให้จริงเรียกว่ามีสัจจะ
ทมะ ทมะบังคับตัวไว้ ให้เป็นเณรให้ได้จริง เพียงแต่ตั้งใจว่าจะเป็นเณรจริง แต่ถ้าไม่บังคับไว้มันก็เปลี่ยน มันก็กลับได้ เราจึงต้องบังคับตัวเองไว้ให้อยู่ในความจริง เมื่อบังคับมันต้องเจ็บปวดบ้าง มันก็ต้องมีอดทนอดกลั้น อดทนคือขันติ ขันติ ความอดกลั้นอดทน ถ้าไม่อดกลั้นอดทนมันก็ไม่บังคับ มันก็เลิกก็ปล่อยมือ ก็ปล่อยหมดเลย สัจจะก็ไม่มี เมื่อไม่มีขันติก็บังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ปล่อยหมด สัจจะก็หมดไป นี้ข้อที่ ๓ ต้องมีขันติ ขันติก็มีลักษณะบังคับตัวเอง ให้อดกลั้นอดทน
ข้อสุดท้าย จาคะ จาคะ สละ สละ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีในตน จาคะ แปลว่า สละ สละ หมายความว่าสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน เราจะต้องสละออกไป เช่นถ้าเราขี้เหนียวเห็นแก่ตัว ขี้เหนียวเห็นแก่ตัว เราจึงสละออกไปด้วยการ ให้ทาน ให้เงิน ให้ของแก่ผู้อื่น นั่นคือเราสละ สละความขี้เหนียว สละความเห็นแก่ตัว โดยติดไปกับสิ่งของที่เรารักเราหวง เมื่อเราสละไปมันก็ออกไปด้วย ความเห็นแก่ตัวความขี้เหนียวตระหนี่คือความโง่ชนิดหนึ่ง เรียกว่านิสัยสันดานที่ไม่ดีที่ประพฤติอยู่เป็นประจำ เราก็สละออกไป สละออกไป มันก็ต้องมีการสละออกไป ข้อนี้เธอจะคิดได้เอง เธอจะคิดได้เองว่าสิ่งไหนมีไว้แล้วเป็นโทษ สิ่งนั้นต้องสละ สละ ถ้าเป็นทางวัตถุ เช่นว่าความไม่ถูกต้องของร่างกาย โรค เชื้อโรค มันก็ต้องสละออกไป เพราะมันไม่ควรจะมีอยู่ในตน ก็ให้คำจำกัดความไว้พอแล้วว่า สิ่งซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในตน ก็ต้องสละ จะเป็นทางวัตถุสิ่งของ ร่างกายจิตใจ ความคิด ความนึก ความรู้อะไรต่างๆ ความรู้ที่ผิดๆ ความรู้ที่ผิดๆ เลวๆ ต้องสละออกไป เปลี่ยนเสียใหม่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง นี้เรียกว่า จาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนออกไปเสียจากตน
จำไว้ให้ดีๆ ๔ ข้อ สัจจะ ความจริง ทมะ บังคับตนเอง ขันติ อดทน จาคะ สละสิ่งที่ควรสละ ในกรณีของความเป็นเณร ความเป็นเณร ใช้ ๔ ข้อนี้จะเป็นเณรที่สมบูรณ์ ข้อ ๑ สัจจะ สัจจะ เป็นเณรให้จริง เป็นเณรให้จริง เป็นเณรให้จริง จะปฏิบัติความเป็นเณรให้จริง สัจจะ สัจจะข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ บังคับ บังคับให้ทำให้ได้ บังคับให้ทำให้ได้ แม้จะยากจะลำบากก็ต้องบังคับตัวไม่ให้เหลวไหล ไม่ให้หนี บังคับจิตให้ทำให้ได้ ให้บังคับให้มีความเป็นเณร เป็นสามเณรให้ถูกต้องอยู่เสมอ อย่าให้กลายเป็นลิง ถ้าไม่บังคับก็จะกลายเป็นลิง ไม่เป็นเณร ถ้าหากว่ามันจะต้องอดกลั้นอดทน เราจะต้องอดกลั้นอดทน เราต้องอดกลั้นอดทน เช่นคิดว่าไม่สูบบุหรี่มันอาจจะมีความรู้สึกอยากบ้าง ต้องอดกลั้นอดทนได้ ถ้าว่าอยาก จะกินข้าวกลางคืน อยากจะกินข้าวกลางคืน ก็อดทนได้ไม่ต้องกิน ถ้าหิวก็ไม่ต้องกิน อยากไปเที่ยว อยากไปเที่ยว ก็อดทนไม่ไป ไม่ไป สำเร็จด้วยการบังคับและอดทน เมื่อบังคับมันจะเจ็บปวด พอเจ็บ ปวดก็ต้องอดทน
มีคำสำคัญๆ ที่สุดอยู่คำหนึ่ง กล่าวมาแต่โบราณในวินัยในพระวินัยแต่โบราณว่า ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา เป็นประโยคที่สำคัญที่สุด ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา พรหมจรรย์ คือข้อที่เราต้องปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติเรียกว่าพรหมจรรย์ และประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ก็หมายความว่า แม้จะต้องน้ำตาตกก็จะไม่ยอมให้เสียพรหมจรรย์ ต้องอดกลั้นอดทนจนน้ำตาตกก็ไม่ยอมให้ผิดพรหมจรรย์ ไม่ให้เสียในพรหมจรรย์ น้ำตาร่วงพรูๆๆๆ ก็ยังมีความถูกต้อง มีความถูกต้อง รักษาความถูกต้องไว้ แม้จะต้องอดทนจนน้ำตาไหล อย่างนี้เขาเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ถ้าใครมีความอดกลั้นอดทนถึงขนาดนี้ ก็รักษาความเป็นเณรไว้ได้ มิฉะนั้นจะไปทำลายสิกขาบทหมด เดี๋ยวข้อนั้นข้อนี้ข้อโน้นทำลายสิกขาบทจนหมด ไม่มีความเป็นเณรเหลืออยู่เลย ขันติ ความอดทนนั้นช่วยให้เป็นเณรอยู่ได้
จาคะ สละสิ่งที่ควรสละ อะไรที่ควรสละก็สละไป สละไป สละไป ที่ควรสละก็สละไป เรื่องที่จะต้องอดทนก็จะมีน้อยลงๆ เราก็ทนได้สบาย อันไหนที่พอสละได้ก็สละไป อันไหนควรจะทำให้เป็นกำลัง ฝ่ายพรหมจรรย์ก็ทำ ตั้งใจทำความดี ตั้งใจสละสิ่งที่ไม่ดีออกไป ออกไป เธอจำให้ขึ้นใจว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นึกถึงวันละ ๑๐๐ ครั้งเลย นึกถึงสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ วันละ ๑๐๐ ครั้งเลย เราจะเป็นสามเณรที่แท้จริง เราจะบังคับตนให้อยู่ในความเป็นสามเณรที่แท้จริง เราจะอดกลั้นอดทนทุกอย่าง เพื่อรักษาความเป็นสามเณรที่แท้จริงเอาไว้ เราจะสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความเป็นสามเณรของเราออกไป ออกไป ออกไป เราจะประสบสำเร็จในความเป็นสามเณรที่ดี ที่ดีที่สุดที่จะเป็นได้ ธรรมะนี้จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ
ธรรมะ ๔ ประการที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม สำหรับฆราวาสประพฤติปฏิบัติ ให้พ้นความเป็นฆราวาส ให้ชนะ ชนะความเป็นฆราวาส เอามาใช้กับพระกับเณรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องบังคับกิเลสอย่างเดียวกัน เป็นฆราวาสก็ต้องบังคับกิเลส คือความคิดชั่วร้ายในใจ เป็นเณรก็ต้องบังคับกิเลส คือความชั่วร้ายในใจ เป็นภิกษุก็ต้องบังคับกิเลส ทำลายกิเลสคือความชั่วร้ายในใจ ธรรมะ ๔ ประการนี้ช่วยเป็นเครื่องมืออย่างดี ในการที่จะทำให้สำเร็จในหน้าที่ หน้าที่ของตน ของตน ดูตัวอย่างตั้งแต่ ชาวนา ชาวนาทำนา ชาวนาคนไหนมีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ชาวนาคนนั้นทำนาได้ดีมาก คือเขาจะจริงใจในหน้าที่ของชาวนา เขาบังคับด้วย ทำนาต้องอดกลั้นอดทน เมื่อมีความลำบาก เขาสละสิ่งซึ่งเลวทรามเสียหายออกไป ไม่ให้มีข้าศึก ไม่เป็นข้าศึกแก่การทำนา เขาก็เป็นชาวนาที่ดีที่สุด ถ้าเขาเป็นชาวสวน เขาก็ถือ ๔ ข้อแบบเดียวกัน ถ้าเขาทำการค้าขาย เขาก็ทำตัวให้เป็นพ่อค้าที่ดีได้ด้วยธรรมะ ๔ ข้อนี้ ถ้าเขาทำราชการ ทำราชการก็ได้ด้วย ๔ ข้อนี้ วันก่อนในหลวงก็ขอร้องให้ทุกคนถือเป็นหลักปฏิบัติ ถ้าเขาเป็นกรรมกร กรรมกรแท้ๆ ก็ถือธรรมะ ๔ ข้อนี้เต็มที่เลย เขาซื่อสัตย์ จริงจังในหน้าที่ของตน เขาบังคับตนให้ทำหน้าที่ที่ดี เขาอดกลั้นอดทนไม่ทำชั่ว เขาสละสิ่งเลวๆ ออกไปหมด เขาเป็นกรรมกรที่ดี ไม่เท่าไหร่ก็พ้นจากการเป็นกรรมกร มาเป็นผู้มั่งมี มีเงินมีทองได้ ตามใจจะเป็นกรรมกรต่ำที่สุด จะล้างท่อถนน กวาดขยะกลางถนน ตราบใดที่เขามีธรรมะ ๔ ประการนี้ เขาก็มีหนทางจะพ้น มีหนทางจะพ้น
เอาล่ะ, เป็นอันว่า เราได้บอกว่าธรรมะ ๔ ประการ คือสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ จะช่วยให้มีความเป็นสามเณรที่ถูกต้องและสมบูรณ์ มีความถูกต้อง ถูกต้องจนสมบูรณ์ มีความถูกต้อง เป็นเณรที่ดีได้รับประโยชน์ของการบรรพชา
การบรรพชาแปลว่าบวช นี้คือเราบวชนี่ คือบรรพชา ปอ วอ ชอ ปอ วอ ชอ ปัพพัชชา ปัพพัชชา ที่แปลว่า บวช บอวอชอ แปลว่า เว้นหมด ไปหมด เว้นหมด ไปหมด เว้นหมด บวชก็แปลว่า ไปหมด เว้นหมดจากความไม่ดี คือ เว้นหมดไปหมดจากความเป็นฆราวาสไปเป็นบรรพชิต นี้เรียกว่า บวช นี้เราก็บวช บวชเป็นเณร บรรพชาเป็นสามเณร ก็เลยทำให้เป็นบวชนะ ทำให้เป็นบวช ถ้าไม่ทำให้เป็นบวชมันก็ไม่เป็นเณร ไม่เป็นเณรมันก็เป็นลิง เป็นลิงนั่นแหละ ต้องทำให้เป็นเณรจนได้นะ อย่าให้ไปเป็นลิง ถ้าทำได้เราจะได้ประโยชน์อานิสงส์เหลือประมาณ อานิสงส์เหลือประมาณ เราจะได้เป็นคนดีที่สุด บิดามารดาญาติทั้งหลายของเรา ก็จะได้รับประโยชน์มากมายในการบวชของเรา คือเขามา ปฏิบัติธรรมมะมากขึ้น ใกล้ชิดศาสนามากขึ้น ที่นี้เมื่อเราบวช เราสืบศาสนา สืบศาสนา ให้ศาสนามีอยู่ และเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก เราไม่ต้องอะไรมาก เพียงแต่ปฏิบัติให้ดีเท่านั้น บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนบ้างเท่าที่จะสอนได้จริงๆ นั่นแหละสืบอายุศาสนา สืบอายุของศาสนาให้ยืนยาว มีคนบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงอยู่ นั่นแหละเรียกว่าศาสนาอยู่ พอไม่มีคนเรียนจริงปฏิบัติจริง บวชจริงนั้นศาสนาไม่มี ถึงแม้จะมีคัมภีร์ มีหนังสือพระคัมภีร์มากมายก็ไม่มี ไม่สำเร็จประโยชน์ มันต้องมีคนบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนจริง นั้นคือตัวแท้ของศาสนายังอยู่ ฉะนั้นเธอจงบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการสืบอายุพระศาสนา ในการบวช ทุกคนๆ จะเอาเป็นตัวอย่าง และทั้งโลกก็จะเอาเป็นตัวอย่าง และก็จะได้รับผลดีด้วยกันทั้งโลกเลย การพูด การสอน การเทศน์ การสอนนั้นก็เป็นการสืบเหมือนกัน แต่ยังสู้การปฏิบัติไม่ได้ ขอให้ปฏิบัติให้จริง ให้ดี ปรากฏอยู่จะเป็นการสืบอายุศาสนาที่ดี เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางแก้ตัว อย่าโง่คิดแก้ตัวว่าไม่ต้องทำ แล้วจะไม่มีความผิด ไม่มีความชั่ว มันเป็นไปไม่ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว มันต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ แก้ตัวไม่ได้
บวชเป็นสามเณรแล้วก็ต้องทำหน้าที่ของสามเณร มันแก้ตัวไมได้ บิดพลิ้วไมได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ บวชเป็นพระก็ทำหน้าที่ของพระภิกษุ หลีกเลี่ยงไมได้ แก้ตัวไม่ได้ เมื่อเราก็ได้บวชเป็นสามเณรแล้ว ต้องทำหน้าที่ของสามเณรให้เต็ม เต็ม เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เต็มทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที เต็มทั้งเวลา เต็มทั้งสถานที่ ทั้งเนื้อทั้งตัว ทุกกระเบียดนิ้วถูกต้อง ทุกวินาทีถูกต้อง ดีที่สุดอยู่ที่ความถูกต้อง ฉะนั้นเธอจงสนใจในความถูกต้อง ว่าเป็นเณรแบบไหนถูกต้อง เป็นเณรแบบไหนไม่ถูกต้อง และจงเป็นเณรที่ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องตามความเป็นสามเณร พอเรามองเห็นความถูกต้อง ถูกต้องที่มีอยู่ในเรา เราก็ดีใจ พอใจ นั่นแหละผล พอใจเป็นสุข เป็นสุขพอใจ เธอจงจัดทำทุกๆ เวลานาที ทุกๆ หนทุกๆ แห่งให้มองเห็นตัวเองว่าถูกต้อง บวชนั้นถูกต้องแล้ว เรียนปฏิบัตินี้ก็ถูกต้องแล้ว แม้จะปฏิบัติเล็กน้อยเช่น ไปบิณฑบาตนี้ก็ถูกต้องแล้ว พอใจ กลับมาก็ถูกต้องแล้ว ก็พอใจ เรียนหนังสือก็ถูกต้องแล้ว ก็พอใจ จะไปฉันอาหารก็ต้องทำให้ถูกต้อง จนรู้ว่าถูกต้องแล้ว ก็พอใจ จะไปถ่ายอุจจาระก็ต้องทำให้ถูกต้องตลอดเวลาที่ถ่ายอุจจาระ ถูกต้องและพอใจ จะถ่ายอุจจาระก็ต้องจัดให้ถูกต้อง ถูกต้องและพอใจ จะอาบน้ำ ก็รู้ไว้อาบน้ำให้ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกต้องและพอ ใจ คำว่าถูกต้องและพอใจ นั้นแหละเป็นคำแสดงผลของการกระทำ เราจึงมีแต่ความรู้สึก โอ้, ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว และก็พอใจ เช่นมานั่งที่นี่ มาฟัง ก็รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วและพอใจ สักครู่หนึ่งจะต้องกลับไป ก็ลุกขึ้นกลับไป ก็ถูกต้องและพอใจ ไปถึงทำอะไรล่ะ ที่พัก กวาดขยะ กวาดขยะ ทำความสะอาด ก็ถูกต้องแล้วและพอใจ ถูกต้องแล้วและพอใจ จะนั่งนอนพักผ่อน ก็ถูกต้องแล้วและพอใจ จะศึกษาเล่าเรียนก็ถูกต้องแล้วและพอใจ
เราจึงบอกว่าทุกวินาที ทุกกระเบียดนิวนั้นให้มีความรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ นั้นแหละคือธรรมะอันประเสริฐสูงสุดของมนุษย์ สำหรับมนุษย์ ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ เต็มไปด้วยความดีความงาม ความถูกต้อง ความสุข รวมเรียกว่า ธรรมะ มีธรรมะ มีธรรมะอันสูงสุด โดยการกระทำที่มีแต่ความรู้สึกว่า ถูกต้องและพอใจ ถ้ามิฉะนั้นมันก็ไม่ได้อะไร มันก็ยังไม่ได้อะไร มันไม่มีความถูกต้อง และมันก็ไม่อาจจะพอใจ ถ้าไม่มีความถูกต้องมันก็เลว มันก็เลว มันไม่เป็นเณร มันจะเป็นลิง เพราะว่ามันไม่มีความถูกต้อง ถ้ามันเป็นลิงก็ไม่ใช่เป็นเณร ถ้าไม่เป็นเณรก็ไม่พอใจไม่มีความพอใจ ไม่มีความรู้ สึกที่พอใจ ทุกๆ คนนั่นแหละจะเป็นฆราวาสก็ดี เป็นบรรพชิตก็ดี ต้องจัดทำทุกอย่างทุกประการ ให้ตัว เองรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ จะเดินจะยืนจะนั่งจะนอน จะกินอาหาร จะอาบ น้ำ จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะทำงานทุกชนิด ทุกระยะ จะเป็นเรื่องพักผ่อนก็ถูกต้องและพอใจ จะทำการงานเหน็ดเหนื่อย ก็ถูกต้องและพอใจ ถ้ามันเกิดเหตุร้าย เกิดaccident เป็นเหตุร้าย มันก็ต้องรับว่าถูกต้อง ในโลกเช่นนี้เอง ในโลกนี้เช่นนี้เอง อุบัติเหตุทำให้เราเจ็บปวดเป็นทุกข์ เป็นทุกข์แบบนี้ ก็มันเป็นเช่นนี้เอง ในโลกเช่นนี้เอง มันก็ดีแล้ว พอใจที่ได้รับ มันก็เป็นเช่นนี้เอง และแก้ไข แก้ไขให้ถูกต้องแล้วพอใจ แก้ไข แก้ไขทำเสียใหม่ให้ถูกต้องและพอใจ
ในสิ่งที่เราป้องกันไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับ ต้องยอมรับ เช่นว่าลูกระเบิดปรมาณูจะลงมาอย่างนี้ เมื่อมันหนีไปไหนไม่ได้ มันก็ถูกต้องแล้ว เกิดมาในโลกแล้วมันก็ต้องยอมรับอะไรแบบนี้ ถูกต้องแล้วและพอใจ ไม่เป็นทุกข์จนกระทั่งตายไปเลย วินาทีสุดท้ายไม่มีความทุกข์ ตายไปเลย มีแต่ความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจจนวินาทีสุดท้าย อย่าว่าแต่เรื่องเจ็บเรื่องไข้ ถูกต้องและพอใจ แก้ไขเรื่อยๆ ถูกต้องและพอใจ แก้ไขเรื่อยๆ จนหาย ถ้าระเบิดปรมาณูจะลงก็ยังถูกต้องและพอใจ จนวินาทีสุดท้ายเป็นฝุ่นละเอียดไปหมดแล้ว ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ นั่นแหละธรรมะ คุ้มครองไม่ให้ใครมีความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง แต่นี้มันดีเกินไปสำหรับพวกเธอ เป็นธรรมะสูงของพระอริยะเจ้า นี้เราเป็นฆราวาสธรรมดา พูดแบบฆราวาสธรรมดา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำแบบเดียวกัน ตามหลัง ตามหลัง ตามหลังพระอริยะเจ้าผู้ประเสริฐไปเลย ทั้งถูกต้องและพอใจเป็นที่สุด เราก็ตามหลังนั้นให้ถูกต้องและพอใจ ในระยะแรกๆ ให้ถูกต้องและพอใจ
เอาเป็นว่าเธอจงมีความจริง สัจจะ ความจริงในการบวชของเธอ ทมะบังคับตัวเอง ขันติ อดทน จาคะ สละ เธอยังบกพร่องนะ บอกให้มา ๙ โมงก็ไม่เห็นมา ๙ โมง ไม่จริง เป็นคนไม่จริง ไม่จริงต่อเวลา ๙ โมง ไม่เห็นมา ๓-๔ คนเพิ่งจะมาเมื่อกี้ เป็นคนไม่จริง ไม่บังคับตัวเอง ไม่รักษาคำสั่งหรือความสัตย์ มันจะไมได้นะ มันจะไม่ได้ ฉะนั้นให้มันถูกต้องพอใจ จริงเรื่อยๆ ยังอีกหลายวันถึงจะลาสิกขา ยังอีกหลายวันถึงจะลาสึก ขอให้มันถูกต้องและพอใจ เรื่อยไปๆ ทั้งสามเณรและผู้ควบคุมสามเณร ขอ ให้มีการกระทำชนิดที่ร้องออกมาได้ว่าถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ เราดับความทุกข์ของเราได้ และเรารักผู้อื่น ช่วยผู้อื่นได้ช่วยกัน ได้ดับความทุกข์ของเขาด้วย ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ ถ้าเธอยังอยากจะฟังเราก็จะพูดให้ฟัง ถ้าเธอแสดงว่าไม่อยากจะฟังเราก็จะไม่พูด เราก็ขี้เกียจพูดเหมือนกัน อยู่ที่ผู้ฟังจะต้องขวนขวาย ให้มาติดต่อมาสัญญาว่าจะพูดกันอย่างไร จะทำกันอย่างไร จะทำกันเมื่อไร ถ้าเธอผู้ฟังไม่สนใจ เราก็ได้ไม่ต้องทำอะไร บอกให้รู้ล่วงหน้า
เมื่อคืนเขาเปิดเทปบันทึกเสียงที่ดีที่สุดสำหรับสามเณรให้ฟังที่หอสูง เณรคนไหนได้ฟังบ้าง เณรคนไหนได้ฟังบ้าง ทุกองค์ ทุกเณรน่ะไม่ได้ฟังเลยเหรอ เมื่อคืนหลังทำวัตร เณรองค์ไหนได้ฟัง อ้าว, ก็ไม่ได้ฟัง มันก็ไม่ได้ฟัง มันเป็นเรื่องที่เขาคัดเลือกมาดีที่สุดแล้ว สำหรับสามเณรจะฟัง สามเณรเป็นลิงไปไหนกันหมด ไม่สนใจจะฟัง แล้วก็อย่าโทษนะ อย่าเสียใจนะว่าจะไม่ได้รับอะไร ไม่ได้รับประโยชน์อะไรในการมาครั้งนี้ หรือการอยู่ที่ไหนก็ตาม มันไม่ได้รับประโยชน์อะไร เพราะเราไม่สนใจจะรับ เพราะเรานั้นไม่สนใจจะรับ ฉะนั้นเธอจงพยายามสนใจที่จะรับ คอยจ้องว่าเขาจะทำอะไรที่ไหน เขาจะพูดอะไรที่ไหน แล้วสนใจที่จะรับ
เอาล่ะ, พูดวันนี้ สมควรแก่เวลา สรุปความว่าเราจะต้องเป็นเณรกันให้จริงๆ นะ ตลอดเวลา ๑ เดือน สึกกลับไปแล้วขอให้เกิดใหม่ ให้เกิดใหม่ อย่าเลวเหมือนเดิม ถ้าเลวเหมือนเดิมเธอจะตายโหงตั้งแต่เล็ก เราไม่ได้แช่งนะ แต่ถ้าเธอยังเลวอยู่เหมือนเดิม เธอจะต้องตายโหงตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีทางรอดไปได้ แต่เราไม่ได้แช่งนะ เธอทำตัวเองนะ ฉะนั้นเธอจงจำให้ดี จำให้ดี อย่าให้มีอาการที่เลวทรามที่สุดคือตายโหงตั้งแต่เล็กๆ เหมือนกับเด็กๆ ฆ่ากันตายบ้าง ตำรวจเก็บตั้งแต่เล็กๆ ก็มีบางคน แถวนี้ก็มี แถวไหนก็มี ตำรวจต้องเก็บตั้งแต่เล็กๆ อายุ ๑๗-๑๘ ตำรวจต้องเก็บไปแล้ว มันตายโหงตั้งแต่เด็ก
นี่แหละ ขอให้การบวชครั้งนี้สำเร็จประโยชน์ที่สุดเลย เป็นเณรที่จะได้รับความรู้ไปคุ้มครองตัวเองให้ถูกต้องจนตลอดชีวิตเลย สำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติจริง บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนได้จริงๆ และจะสำเร็จประโยชน์ด้วยการมีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ๔ ประการที่กล่าวมาแล้ว ต้องปฏิบัติธรรมะเหล่านี้ให้มีความถูกต้อง แก่เนื้อแก่ตัวแก่กายแก่วาจาใจ มีความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ทุกคราวทีรู้สึกว่าถูกต้องก็จะรู้สึกพอใจ นั้นคือความสุข
ถูกต้องคือความดี พอใจนั้นคือความสุข แล้วก็มีความดี มีความสุขอยู่ตลอดเวลา ขอให้เธอทุกคนจงประสบความสำเร็จในความหมายอันนี้ คือมีความถูกต้องและพอใจ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อยู่ทุกทิพาราตรีการเทอญ ขอยุติการบรรยาย