แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เธอทั้งหลายที่เป็นนักศึกษาและกำลังเตรียมเพื่อเป็นนักศึกษา ขอแสดงความยินดีในการได้บรรพชากันในลักษณะอย่างนี้ เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาในการเพิ่มการศึกษาให้แก่ชีวิต บรรพชาแล้วยังมาแสวงหาความรู้เป็นพิเศษ ดังที่กำลังทำอยู่นี้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าขออนุโมทนาในการกระทำมาหาความรู้ เพื่อให้การบรรพชามีความหมายยิ่งขึ้นไป การบรรพชานี้มีความหมายเท่าไร ก็ช่วยให้ชีวิตนี้มีความหมายมากขึ้นเท่านั้น ก็มีลักษณะเป็นการพัฒนาชีวิต ดังหัวข้อที่จะพูดกันวันนี้ ก็เรียกว่าการพัฒนาชีวิตตามแบบชาวพุทธ
แต่ว่าก่อนที่จะพูดถึงตัวธรรมะของการพัฒนา อยากจะขอแนะนำหรือย้ำในความเข้าใจอะไรเล็กน้อยเป็นพิเศษ คือ ชีวิตเวลา ๕ น. เดี๋ยวนี้เรากำลังมีชีวิตเวลา ๕ น. เราก็ใช้มันเป็นพิเศษกว่าเวลาธรรมดาหรือผิดจากคนธรรมดา คนธรรมดาเขายังใช้เป็นเวลานอนหาความสุขอยู่ในที่นอน เวลา ๕ น. เราเอามาใช้ผิดจากคนธรรมดาก็ด้วยเรื่องหรือความหมายที่ผิดจากธรรมดา คือเป็นเวลาสำหรับจะตรัสรู้ เรียกอย่างนี้มันเป็นการพูดโอหัง แต่มันมีความหมายเดียวกันละ คือว่า ไอ้เวลา ๕ น. นี่ มันเหมาะสมที่จะเป็นเวลาตรัสรู้ของจิต ของสิ่งที่เรียกว่าจิต คือจิตเบิกบาน แล้วก็รู้สิ่งทั้งหลายได้ดี ได้มาก ได้ลึก ได้กว้าง ได้สูง แล้วแต่จะเรียก ถ้าใช้เวลา ๕ น.ให้ถูกต้อง ก็ลองคิดดูบางคนยังนอนอยู่ หรือว่าจะเอา(ไป)ใช้อย่างอื่นก็ยังมี แต่เราจะใช้อย่างให้ถูกต้องตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามความจริงของธรรมชาติให้มากที่สุด คือการพัฒนาจิตให้มันพิเศษ โลกเวลา ๕ น. เป็นเวลาพิเศษ ที่เป็นเวลาที่จะใช้สำหรับเบิกบาน ดอกไม้ในป่านี่ก็เบิกบาน จะเริ่มเบิกบานเวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เวลาอย่างนี้โลกเวลา ๕ น.ที่จะรุ่งขึ้นมา นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติมีความเหมาะสมที่จะเป็นเช่นนั้น ถือว่าเป็นเวลาตรัสรู้ของผู้ที่จะตรัสรู้ ตามสูง ตามต่ำ ตามมาก ตามน้อยก็แล้วแต่ แต่ว่าจิตพร้อมจะเบิกบานนั่นนะ คือ จิตเวลา ๕ น. ในรอบ ๒๔ ชั่วโมงนั้นนะ เวลา ๕ น. นี่มันเหมาะ เวลาอย่างอื่นมันก็มีกิน มีอาบ มีถ่าย มีบริหาร มีศึกษา มีฝึกฝน มีอะไรก็สุดแท้แต่ ยุ่งกันไปหมด พอ ๕ น.นี่ มันหลังจากการพักผ่อนเพียงพอแล้ว มันก็จะพร้อมที่จะลึก รู้เป็นพิเศษ ฉะนั้น ขอให้ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น หัดให้เป็นนิสัย พอถึง ๕ น. กลายเป็นการศึกษาหรือเป็นการงานที่มันเป็นการเบิกบานแห่งจิตใจ ขอให้ฝึกเป็นนิสัย ให้ว่องไว ให้เร็ว ให้รวดเร็ว แล้วก็ไม่ต้องล้างหน้าก็ได้ ๕ น.ตื่นขึ้นมา จับปากกาเขียนเลยก็ได้ ทำสมาธิเลยก็ได้ ไม่ต้องไปมัวล้างหน้าดัดตนอะไรอยู่อีก นี่เป็นเรื่องพิเศษ แถมพกว่าใช้โลกเวลา ๕ น.ให้มี ให้ชีวิตเพิ่มขึ้นอีกชั่วโมงหนึ่งก็ได้ เพราะถ้าไปนอนเสีย มันก็ไม่ได้เพิ่ม เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้วก็มันเป็นการเพิ่ม ใช้เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือเวลาที่น้ำชายังไม่ล้นถ้วย ถ้าพูดตามภาษานักเลงจิตใจ เขาก็พูดกันอย่างนี้ พูดแบบเซน น้ำชายังไม่ล้นถ้วย ยังเติมอะไรลงไปได้ ถ้าสว่างแล้ว สายแล้ว เที่ยงแล้ว บ่ายแล้ว มันเติมอะไรไปจนเต็มในน้ำชา (สิ่ง)ที่แท้ ที่จริง ที่ดี เติมลงไปไม่ได้แล้ว นี่ เติมเสียก่อน เป็นเวลาที่น้ำชาไม่ล้นถ้วย เติมแต่สิ่งที่ดี ๆ อัดเข้าไปให้เต็ม แล้วก็ฝึกให้เป็นนิสัย เราก็ได้เวลาที่มีค่าเพิ่มขึ้นมาซึ่งคนส่วนมากเขาไม่ได้คิดกัน ไม่ได้คิดจะใช้ ไม่ได้คิดจะเพิ่ม นี่ ขอให้สนใจไว้ด้วย เวลาที่เหมาะที่จะพัฒนาจิตในส่วนลึกหรือส่วนสูง
เอ้าทีนี้ ก็จะพูดถึงพัฒนาชีวิต พัฒนาชีวิต มันจำเป็นกี่มากน้อยหรือว่ามันจำเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นเลย ตัวเราเกิดมาแล้วอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร พูดกันให้มันสิ้นเชิงก็ว่าบางพวกก็จะแก้ตัวว่า มันไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องรับผิดชอบ แต่เดี๋ยวนี้ชั้นจะพูดในลักษณะที่เป็นเรื่องต้องรับผิดชอบ(10.00) ต้องรับผิดชอบในการพัฒนาชีวิตให้มีความเหมาะสมกับการเป็นมนุษย์และโดยเฉพาะมนุษย์ที่ได้บวช ได้เรียน ได้รับพระพุทธศาสนา คนบางคนอาจจะแก้ตัวว่า ฉันไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉันไม่ได้ขอเกิดมานี่ ไม่ได้ขอเกิดมานี่ เกิดมาเอง ก็ปล่อยไปตามเรื่องของมันเอง ทำไมจะต้องเสือกให้ไปพัฒนาอะไรเล่า จะพูดอย่างนี้ไม่ได้ละ ก็ลองดูสิ ก็ลองดูสิ จะคิดอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ ก็ลองดูสิ มันจะได้อะไรขึ้นมา แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นมา แม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา ไม่ได้ขอร้องให้คำสัญญาว่า จะทำอย่างไร แต่มันเกิดมาแล้ว เราจะทำอย่างไร ก็เลือกตามใจชอบ เลือกเอาตามใจชอบสิ แต่นั่นแหละมันอยู่ที่ว่า เลือกถูกก็ดีเอง เลือกผิดก็ใช้ไม่ได้ ก็วินาศ ก็ต้องทำเหมือนอย่างกับว่าขอร้องมาเกิด สัญญามาเกิด ว่าเพื่อจะทำให้ดีที่สุด นี่ เพราะเหตุไร คำตอบมีง่าย ๆ สั้น ๆ นิดเดียวว่า มิฉะนั้น มันเสียชาติเกิดนั่น(เอง) เธอทั้งหลายอยากจะเกิดหรือไม่อยากจะเกิดหรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อได้เกิดมาแล้ว คือไม่พัฒนาให้ถูกต้อง มันก็เสียชาติเกิด คำว่าเสียชาติเกิดนี่เป็นสิ่งที่ เป็นคำที่น่ากลัวที่สุด ใช้เป็นคำด่าก็ได้ มันน่ากลัวที่สุด ถ้ามันมีการเสียชาติคือไม่ได้รับประโยชน์อะไรในการเกิดมา มีแคลนเป็นอันธพาลเสียด้วย (12.43) คือให้โทษเสียด้วย การมีคนๆ นี้อยู่ในโลกกลายเป็นให้โทษไปเสีย อย่างนี้มันจึงเป็นยิ่งกว่าเสียชาติเกิดนะ เสียชาติเกิดมันเป็นเพียงไม่ได้รับอะไร ไม่ทำคุณอะไร แต่นี่มันกลับมีโทษ ทำโทษ สร้างสิ่งเลวร้ายให้มันเกิดขึ้นมาในโลก มันก็ยิ่งกว่าเสียชาติเกิด
สรุป คำว่าเพื่อไม่ต้องเสียชาติเกิด จึงมีการพัฒนาชีวิตให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าไปถึงที่สุด ไปถึงที่สุด สุดที่มันจะเป็นไปได้ พัฒนาได้เท่าไร แต่บางคนก็ยังไม่ยอมอยู่นี่ ฉันไม่อยากจะไปเป็นพระอรหันต์ อยากจะอยู่ที่นี่ สนุกสนานที่นี่ เอาอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าขอให้มันดี เป็นชั้นดีที่สุด มีประโยชน์ที่สุด น่าเลื่อมใส ไม่เห็นว่าเป็นโลกุตระเป็นเรื่องสูงเกินไป ไม่ต้องการ แต่ว่าข้อนี้ อยากจะบอก บอก เป็นการบอกอะไร บอกกระซิบ คำว่าโลกุตระนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว (แต่)เป็นสิ่งที่คนโง่ คนที่เห็นแก่ปากแก่ท้องมันกลัว เห็นแก่สนุกสนาน เอร็ดอร่อยมันกลัว เพราะมันได้ยินว่า ถ้าเป็นโลกุตระเสียแล้ว มันก็เหนือความสนุกสนาน เหนือเพศ เหนืออะไร เหนือไปทุกอย่าง อย่าเข้าใจคำว่าโลกุตระกันในลักษณะอย่างนั้น แต่(ขอให้)เข้าใจว่า โลกุตระ หมายความว่า อยู่เหนือปัญหาในโลก ในโลกมีปัญหา มีความยุ่งยากลำบาก กระทั่งมีความเลวร้าย มีความทุกข์ทนทรมานเท่าไรๆ ก็ตาม เรียกว่าปัญหาในโลก ถ้าเราอยู่เหนือปัญหาเหล่านั้นได้ ก็เรียกว่าโลกุตระเหมือนกัน จะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องพูดก็ได้ แต่ว่าให้มันอยู่เหนือความเลวร้าย (เหนือ)ไอ้สิ่งไม่พึงปรารถนาในโลกให้ได้ นี่ก็คือความหมายที่แท้จริง ที่กว้างขวาง และสมบูรณ์ที่สุดของคำว่า โลกุตระ ชีวิตนี้มันมีจุดมุ่งหมายที่โลกุตระ มันซมซานมาในโลกด้วยความทุกข์ยากลำบาก มันต้องการเกิดขึ้น(ให้)พ้น(จาก)ไอ้ความยุ่งยากลำบากหรือความเป็นของธรรมดาสามัญอย่างนี้ ให้มันบรรลุถึงสิ่งที่สูงสุดกว่าธรรมดา จึงจะเรียกว่ามันอยู่เหนือโลก ในโลกนี้มีการหัวเราะ ร้องไห้ สลับกันไป ไอ้คนๆ นี้มันไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ คนในโลกนี้มันเดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ วนเวียนกันอยู่แต่อย่างนี้ แต่คนที่มันอยู่เหนือโลก มันไม่ต้องดีใจ มันไม่ต้องเสียใจ คนที่ยังชอบดีใจอยู่นั้นก็แสดงว่า ยังรู้จักไอ้ความดีใจมันน้อยไป เห็นกันได้ง่ายๆ นี่ ดีใจ มันก็กระหืดกระหอบ ยุ่งวุ่นวายไปแบบหนึ่ง เสียใจ มันก็กระหืดกระหอบ วุ่นวายยุ่งไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ยุ่งทั้ง ๒ แบบนั้น มันสบาย ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ อยู่ด้วยความสงบ สงบอย่างยิ่ง แล้วก็มีความหมายว่า เหนือโลก พูดให้มันละเอียดขึ้นไปอีกก็ว่าเหนือสุขเหนือทุกข์ สุขมันก็ยุ่งไปตามแบบสุข ทุกข์ก็ยุ่งไปตามแบบทุกข์ ดังนั้น เหนือสุข เหนือทุกข์ มันคือความสงบ ถ้าพูดให้ละเอียดไปอีก จนคนโง่ไม่เข้าใจก็ว่า เหนือดีเหนือชั่ว ที่ว่า ดี ดี ดี มันก็ยุ่งไปตามแบบดี ไอ้ชั่วมันก็ยุ่งไปตามแบบชั่ว ถ้าเหนือชั่วเหนือดี นี่มันก็ ก็ไม่ยุ่ง ไม่ยุ่งอะไร แต่บางคนมาทักว่า อ้าว ทำไมเดี๋ยวนี้มาสอนให้ดี ให้ดีเหนือดีอีก ให้ทำดี ทำดี ทำไมมาสอนให้เหนือดีไปเสียอีก มันก็ได้ ทำดี ดี ก็ยุ่งไปตามแบบดี บ้าดี เมาดี หลงดี แล้วเป็นอย่างไร ไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า ถ้ามันเกิดบ้าดีในที่สุดของมัน คำสอนสูงสุดมันก็อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์มันก็ว่าเหนือบวกเหนือลบ เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ positiveness ความเป็นบวก อร่อย สนุกสนาน ไปตามพอใจ ไอ้ negative ตรงกันข้าม ก็หมายความว่ามันยังมีหัวหกก้นขวิดอยู่นั่นแหละ ถ้ายังเป็นบวกเป็นลบ ผลักเข้า ดันออก ชีวิตนี้มีการผลักเข้าดันออกอยู่ละก็ ถ้าเหนือบวกเหนือลบนั่นแหละ คือสูงสุด เหนือนรกเหนือสวรรค์ นรกก็ไม่ไหว ยุ่ง ร้อนไปตามแบบนรก สวรรค์ก็ยุ่งไปตามแบบสวรรค์ ฉันไม่เอาทั้ง ๒ อย่าง เอาความว่าง คือนิพพาน นิพพาน ว่างจากนรก ว่างจากสวรรค์ นั่นแหละมันอยู่ที่นั่น จุดสูงสุดมันอยู่ที่นั่น ถ้าเหนือบวก เหนือลบ เหนือดี เหนือชั่วแล้ว มันก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ คงที่ คงที่ คงที่ แข็งโป๊ก คงที่อยู่ในความปกติ ปกติ ปกติ ปกติ นี่ เธอทั้งหลายจะเอาหรือไม่เอาก็เลือกเอาเองเถอะว่า แต่ว่าความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ ใครจะเอา ชอบ ใครจะชอบเท่าไร เอาเท่าไร มีเท่าไร ก็แล้วแต่ (แต่)จะบอกให้รู้ว่า การพัฒนานั้นมันมีจุดตั้งต้นที่ความทุกข์ แล้วมันน้อยลงๆ จนไม่มีทุกข์ จนอยู่เหนือความทุกข์ ซึ่งเมื่อลึกซึ้งถึงที่สุดแล้ว มันก็เหนือทุกข์ เหนือสุข เหนือดี เหนือชั่ว พูดอย่างภาษาปรมัตถ์นั้น เขาว่าอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลง มันไม่ต้องมีความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ชั่วก็เปลี่ยนแปลง ดีก็เปลี่ยนแปลง บุญก็เปลี่ยนแปลง บาปก็เปลี่ยนแปลง นรกก็เปลี่ยนแปลง สวรรค์ก็เปลี่ยนแปลง ฉันอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลง นี่เรียกสูงสุดของการพัฒนา (ที)นี้ก็มีปัญหาอยู่ว่า เธอทั้งหลายจะเอาหรือไม่เอา ถ้าเธอทั้งหลายไม่เอา ไม่สนใจ ฉันก็เป่าปี่ให้แรดฟัง (21.08.) ไม่มีปัญหา ฉันนั่งเป่าปี่ให้แรดฟัง ถ้ามีคนเอา มีคนเอา มันก็ไม่มีแรด มันก็มีแต่มนุษย์ที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่ ตามที่ควรจะได้รับ
คำว่าพัฒนา พัฒนานี่ เข้าใจว่า ยังเข้าใจความหมายผิดๆ กันอยู่มาก เพราะว่าไอ้ตัวหนังสือตัวนี้ คำนี้ มันมีอะไรมากกว่าที่เขาเอามาสอนๆ กัน อย่างมาเล่าเรียนกันอยู่นี่ เอามาแต่ในแง่ดี พัฒนาเป็นไปในทางถูกต้อง (แต่ใน)แง่ดีๆ แต่ตัวหนังสือแท้จริงมันแปลว่า มากขึ้น เท่านั้นแหละ ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แต่ตัวหนังสือนั้น ตามภาษา ภาษาศาสตร์ ตัวหนังสือ มัน(แปลว่า)มากขึ้นๆ จนกระทั่งเป็นบ้า ก็เรียกว่าพัฒนา เพราะมันมากขึ้นในทางที่เป็นบ้า แต่เดี๋ยวนี้เราเอามาใช้กันแต่ในแง่ดีๆ แง่ที่ควร ควรจะต้องการ แต่อย่าลืมว่าดี ดี ดี จนเป็นบ้า จะว่าอย่างไร ถ้าดีจนเป็นบ้า หลุดไปเลย มันมากขึ้นเปล่าๆ มากขึ้นอย่างไม่มีประโยชน์อะไร มากกันจนเป็นบ้า นี่ตามภาษา ตามภาษาศาสตร์คำพูดอันลึกซึ้ง หมายถึงว่า มากขึ้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้เรามาใช้อย่างแฟชั่น พูดตามๆ กันไป ไอ้ ความหมายตามๆ กันไป ปฏิบัติตามๆ กันไป มันก็แปลว่าทำให้สวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลินมากขึ้น นี่เรียกว่า พัฒนาตามแฟชั่นของคนในโลก ก็เรียกว่าพัฒนาแบบหนึ่งด้วย แต่ถ้าพัฒนาตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่ที่คนเห่อๆ ตาม ๆ กันไปนี่ พัฒนาตามธรรมชาติ ธรรมชาติล้วนๆ ตามบริสุทธิ์ มันก็คือกระแสแห่งวิวัฒนาการที่มันถูกต้อง ถูกต้อง เจริญไปกว่าจะถึงจุดสุดท้ายนี่ นี่เราเรียกว่าพัฒนาตามความหมายของธรรมชาติ เอ้า ทีนี้ ถ้าตามหลักพุทธศาสนาเล่า ตามหลักพุทธศาสนา พัฒนานี่ ก็หมายถึง การทำให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน นิพฺพาน สจฺฉิกิริยา นิพฺพาน สจฺฉิกิริยา ก็คือ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน พอพูดถึงคำว่านิพพานก็มีปัญหาอีก เพราะไม่รู้จัก ก็เดาๆ เอาตามชอบใจ แล้วก็สอนกันมาหลายๆ รูปแบบ คำว่านิพพาน ก่อนพุทธศาสนาโน่น เขาก็มีคำว่านิพพาน ใช้พูดจาสั่งสอน มาถึงยุคพระพุทธศาสนา ก็มีคำว่านิพพาน ใช้ในการพูดจาสั่งสอน หลังมาจนบัดนี้ ก็มีคำว่า นิพพาน ที่ใช้พูดกันอยู่ ความหมายมันไม่เหมือนกัน มันแล้วแต่ไอ้ผู้สอนหรือลัทธินั้นๆ มันหมายความอย่างไร สอนกันเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นโลก อะไรไปเกิดในโลกอย่างนั้นก็มี สอนเป็นว่า มันได้มีสิ่งที่น่ารักน่าพอใจอย่างยิ่งไปเสียก็มี มันเป็นเรื่องของสวรรค์แต่ก็มีคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของนิพพาน ผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งมาขอคำอธิบายเรื่องนิพพานว่าอยากจะไปนิพพาน (ขอให้)ช่วยแนะวิธีที่จะไปนิพพาน ผมก็บอกว่า นิพพานไม่มีรำวงนะ เพียงเท่านี้ก็ถอนคำพูดแล้ว สำหรับคนๆ นี้ มันชอบรำวงขึ้นสมอง พอบอกว่าใน ในนิพพาน ในเมืองนิพพานไม่มีรำวง ก็ถอนคำพูด ไม่เอา ก็ไม่เอา ที่ว่านิพพาน นิพพานก็แค่ว่า เหนือปัญหา ดับเย็นสนิท เหนือความทุกข์ เหนือความร้อน เหนือปัญหาทั้งปวง นั่นแหละ มันต้อง ถึงกับต้องเหนือดีเหนือชั่ว เราพัฒนาไปตามธรรมชาติ มันมักจะติดอยู่แค่ในดีในชั่ว หรือดีที่สุด ถ้าตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา มันเหนือดีไปเลย เหนือดีไปเลย มันเป็นที่สุดแห่ง ที่สุดแห่งการพัฒนา เหนือดี เหนือชั่ว เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือบุญ เหนือบาป เหนือได้ เหนือเสีย เหนือแพ้ เหนือชนะ เหนือบวก เหนือลบ ถ้าพูดอย่างภาษาวิทยาศาสตร์(ก็ว่า) เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ทีนี้นิพพานในทางธรรมะ มันก็เป็น เป็นสิ่งที่มีอยู่(ที่มี)ความหมายเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ ๆ คนยุคแรกเข้าใจว่าอย่างไร ก็สอนมาอย่างนั้น คนต่อมาสอนดีกว่า ดีกว่า สูงกว่า สูงกว่า จนเกิดพระพุทธเจ้า สอนว่านิพพานสูงสุด สูงสุด ถ้าจะพัฒนากันแล้ว มันก็พัฒนาให้จบ อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่านิพพาน นี่ คำว่าพัฒนาแล้วก็(คำ)ว่าชีวิต
เอ้า ก็มาดูคำว่าชีวิตมันคือว่า สิ่งที่ต้องพัฒนานั้น คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี่ก็มีปัญหาอีกเหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่านิพพาน มีความหมายหลายระดับอย่างไร คำว่าพัฒนา มีความหมายหลายๆ ระดับอย่างไร คำว่าชีวิต ชีวิตนี้ ก็มีความหมายหลายๆ ระดับเหมือนกัน แล้วก็พูดตามๆ กันมาว่า ชีวิต ชีวิต ตามแต่เขาพูดกันอย่างไร หมายความกันอย่างไร มันก็ไม่ครบถ้วน มันก็ไม่ครบถ้วนในความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชีวิต ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีแต่เรื่องทางวัตถุ มีแต่สสารกับพลังงาน เป็นเรื่องทางวัตถุ เขาบัญญัติชีวิตว่า(คือ)ความที่สดอยู่ได้ ยังสดอยู่ได้ของเยื่อเนื้อแห่งเซลล์นั้น ในเซลล์แต่ละเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเนื้อหนัง ชีวิต ร่างกาย แต่ละเซลล์ ละเซลล์นั้น มีเยื่อ จะเรียกว่า เยื่อวุ้นอะไรก็สุดแท้ เรียกว่า protoplasm protoplasm ถ้าว่า protoplasm มันยังสดอยู่ ยังไม่แห้ง ยังไม่ตาย ยังไม่เน่า ก็เรียกว่า ชีวิตตามแบบวิทยาศาสตร์ แล้วก็ทางวัตถุ ทางวัตถุนั้น พูดภาษาวัตถุ ภาษาวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ ชีวิตก็คือ เซลล์ยังสดอยู่ ยังไม่ตาย ไม่เน่า ไม่เหี่ยว protoplasm ยังถูกต้องอยู่ ยังเจริญอยู่ในเซลล์หนึ่ง ๆ ถูกแล้ว มันเป็นพื้นฐานแห่งสิ่งทั้งปวง จะเป็นพื้นฐานของจิตใจในภายหลังก็ได้ นี่ ชีวิตในสุด ใน ในเบื้องล่างที่สุด ในความหมายต่ำที่สุด ในทางวัตถุ ก็คือ เซลล์แต่ละเซลล์มันยังสดอยู่ ยังไม่ตาย ยังไม่เน่า ยังไม่ ยังไม่อะไร (เป็น)ชีวิตพื้นฐาน
แต่พอมาถึงจิต เรื่องสูงทางจิต สูงกว่าวัตถุ เป็นเรื่องทางจิต เป็นสิ่งที่คิดนึกได้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่ ไม่สนใจ หรือสนใจน้อย หรือเข้าใจน้อย ก็ต้องพูดตามแบบเรื่องของจิต (เรื่อง)ของจิตตามหลักธรรมะ ไม่ใช่จิตตามแบบวิทยาศาสตร์ มันก็กลายเป็นว่าเป็นเรื่องของจิต ชีวิตมันรวมอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นเอง คือจิตนั่นแหละเป็นตัวชีวิต ตามความหมายนี้ ตามความหมายทางจิต ชีวิต หรือจิตมันกลายเป็นสิ่งเดียวกันไป จึงพูดว่า ไอ้ชีวิต ชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับจิตดวงเดียว เป็นอัตภาพ ร่างกาย ความสุข ความทุกข์ อะไรมันรวมอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าจิตสิ่งเดียวไม่ค่อยจะคำนึงถึงวัตถุนัก แล้วก็ยังถือเสียว่า แม้แต่สิ่งที่เป็นวัตถุ มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต จะผิดถูก เลวร้าย ดีชั่ว อย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต ดังนั้น ตามทางฝ่ายจิตหรือนามธรรมนี่ ชีวิตก็คือจิต คือจิต โอ้ ทีนี้มันไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่ทางรูป หรือทางนาม ทางวัตถุ หรือทางจิต ๒ อย่างเท่านั้น มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง ที่มันกำลังมีปัญหานั้น คือชีวิตตามความหมายทางธรรมะทั่วไปหรือทางการเป็นอยู่ทั่วไป หมายถึงระบบการเป็นอยู่ มันหมายถึงตัวระบบ ระบบของการเป็นอยู่ คือระบบของการมีชีวิต เขาจะเรียกกันว่าการดำรงชีวิตจะถูกกว่า ชีวิต ชีวิตนี้คือการดำรงชีวิตได้ หรือชีวิตที่ดำรงไว้อย่างถูกต้อง นี่มัน ถ้าความหมายอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า ระบบการเป็นอยู่ ระบบที่เราเป็นอยู่แต่ละวันละวันนั่นแหละ นั่นแหละคือตัวชีวิต ตัวการครองชีวิต มีชีวิต ดำรงชีวิต การดำรงชีวิตนั่นแหละคือตัวชีวิต มีให้มันถูกต้อง มันก็จะเรียกว่ามีชีวิตถูกต้อง นี่ ขอให้รู้ว่า ไอ้ความหมายของคำพูดมันเป็นอย่างนี้ มองแง่ไหน มันก็มีความหมายตามแง่นั้น มองแง่วัตถุ มันก็(คือ)ความสดอยู่ของสิ่งที่ประกอบกันเป็นชีวิต คือเซลล์ทั้งหลาย มองในทางนามธรรม ทางจิต มันก็คือตัวจิต ทีนี้มองในทางที่เป็นการเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นปัญหาของมนุษย์ ไอ้ชีวิตมันก็มาอยู่ที่การดำรงชีวิต มีชีวิตหัวหกก้นขวิด มีชีวิตเยือกเย็น มีชีวิตเป็นเศรษฐี มีชีวิตเป็นขอทานอะไรนี่ มันมาอยู่ที่การดำรงชีวิตในรูปแบบหนึ่งๆ ฉะนั้น (ขอให้)เข้าใจคำว่าชีวิตกันให้ดีๆ ก็คือรู้จักมันทุกแบบ แล้วก็รู้จักเลือกเอาแบบไหนที่จะพัฒนาที่ว่ามันจะหมดปัญหาในการเกิดมาและมีชีวิต รู้แต่เพียงว่าเซลล์มันยังไม่ตาย มันก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้ารู้ว่าจิต รวมอยู่ที่จิต มันก็ต้องพัฒนาจิตนั่น ถ้ามันรวมอยู่ทั้งระบบ ทั้งระบบของการเป็นอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องพัฒนาทุกอย่าง ทุกสิ่ง ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับระบบ หรือมันอยู่ในระบบนี้ นี่เรียกว่าชีวิตที่(ควร)รู้จักให้ดี แล้วก็จะพัฒนาให้ดี ไม่เสีย ไม่เสียชาติเกิด ไปได้ไกลถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ ไม่ถึง ก็อยู่แถวนี้ ถ้ามากเกินไป ก็อยู่ระดับสัตว์เดรัจฉาน
เอ้า ทีนี้ เราก็จะมาดูกันในแง่พัฒนากันอย่างไร เท่าไร เรียกว่าเพ่งผลที่จะได้รับ ประเมินผลล่วงหน้าที่จะได้รับก่อนที่จะมีการพัฒนา ทำไมต้องทำอย่างนี้ ก็เพื่อให้มันเกิดความตั้งใจ ความต้องการ ในความประสงค์ที่จะพัฒนานั่นเอง ความอยากที่จะพัฒนามันเกิดมาจากการมองเห็นผลที่จะได้รับ มันก็จะเกิดความอยาก ความต้องการที่จะพัฒนา จะใช้(คำ)ว่าความหวังก็ได้ แต่ในความหมายที่ถูกต้อง อย่าหวังให้มันกัดหัวใจ แต่ที่จริงมันก็คือความประสงค์ที่จะทำ บาลี เรียกว่า ฉันทะ ฉันทะ พอใจที่จะได้ ที่จะทำ ที่จะมีอยู่ ฉันทะ คือความพอใจ ถ้าเรามองเห็นประโยชน์ที่พึงจะได้รับอยู่ข้างหน้าอย่างไรชัดเจน เป็นที่น่าปรารถนา ฉันทะมันก็จะเกิดขึ้น แล้วมันก็ง่ายๆ ๆ ที่จะทำ ถ้าฉันทะไม่มีแล้ว มันก็ยาก มันก็กลิ้งครกขึ้นภูเขา ภาษาฝรั่งมีอยู่คำหนึ่งซึ่งผมรู้สึกชอบ ก็ขอยืมมาใช้ ขอยืมมาใช้ในทางธรรมะ คือคำว่า appetite appetite ใช้ได้ทั้ง ๓ (38.31)ความหมาย คือ หิว อยากจะกินข้าวนี่ก็ได้ แล้วก็หิว อยากปฏิบัติ หิวอยากมีผลสูงสุดในด้านจิตใจ ถ้ามี appetite กินข้าวอร่อย ถ้าไม่ ไม่มี appetite มันก็กินข้าวไม่อร่อย ทีนี้ปฏิบัติทางจิตทางใจก็เหมือนกัน ถ้าว่ามี appetite อยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น มันก็สนุก ปฏิบัติธรรมะวินัยอะไรสนุกไปหมด เพราะมันมีอันนี้ ถ้ามันมี ถึงอย่างกับจะอยู่เหนือโลก อยากจะอยู่เหนือโลกขึ้นไป แล้วมันก็ยิ่งวิเศษ มันก็ง่ายที่จะไปสู่สภาพที่ว่าเหนือโลก หรือเป็นโลกุตระ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า appetite โดยตรง ก็คือ ฉันทะ หรือโดยกว้างๆ ก็เรียกว่า สังกัปปะ สังกัปปะ มีแล้วมันก็ง่าย แล้วมันไม่ง่ายอย่างเดียว มันทำให้เกิดความสนุกแก่ผู้กระทำ แม้ว่างานนั้นจะยาก จะลำบากสักเท่าไร แต่ถ้ามันมีสิ่งที่เรียกว่า appetite แล้ว มันก็กลายเป็นของสนุกไปเสีย ฉะนั้น ทำงานที่ยากลำบาก ที่เสี่ยงต่อชีวิตท่ามกลางอันตรายก็ทำได้ ทำงานนี่มันก็กลายเป็นไอ้สนุก เป็นความสุขอยู่ในตัวการงาน อยู่ในตัวการงาน เช่นเดียว(กับ)ที่เราทนได้ แม้จะมีความยาก ความลำบากอย่างไรก็ไอ้ความพอใจที่จะทำให้ได้ มัน มันกำจัดให้หายไป ที่จะทำให้มันมีแต่ความรู้สึกสนุก พอใจ นี่มันก็มีความรัก ทำด้วยกิเลส ก็สนุกอย่างกิเลส ได้ผลอย่างกิเลส บางทีเลวร้าย ร้ายกว่าเสียก็มี มีแต่ความสนุก อย่างนี้มันก็ไม่ไหว มันต้องสนุกในทางธรรมะ มีความสุขอย่างธรรมะ อยู่ในตัวการงาน
ชีวิตชนิดที่เป็นอนัตตา คือไม่หมายมั่นเป็นตัวกูของกู ก็มีความสนุกอย่างธรรมะ ถ้าชีวิตที่เป็นเรื่องอัตตา เป็นเรื่องโลกๆ มีเรื่องตัวกู ของกู มันก็สนุกอย่างกิเลส การงานสนุกอย่างกิเลสก็ได้ การงานสนุกอย่างธรรมะที่มิใช่กิเลสก็ได้ เป็นความสนุกแต่มันคนละชนิดกัน นี่ก็พูดได้ว่าสนุกชนิดที่ว่าสกปรกก็ได้ สนุกชนิดที่มันสะอาดก็ได้ ก็เลือกเอาเอง เอาสนุกชนิดที่ไม่ ไม่ ไม่สกปรก ชีวิตที่เป็นตัวตน เป็นตัวกู เป็นของกู มันก็มีความเห็นแก่ตัว ก็สนุกอย่างเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เป็นชีวิตอนัตตา มันก็สนุกอย่างไม่มีตัว สนุกอย่างไม่มีตัว คือไม่เห็นแก่ตัว
มาตอนนี้ พวกคุณก็รู้จักแยกออกเป็น ๒ ซีกสิ ซีกหนึ่งเห็นแก่ตัว ซีกหนึ่งไม่เห็นแก่ตัว แล้วมันจะต่างกันอย่างไร มัน มันจะต่างกันอย่างไรทั้งโดยการกระทำและโดยผลของการกระทำ ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องของกิเลส ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นเรื่องของสติปัญญา มันก็กลายเป็นว่า เราจะมีชีวิตอย่างของ ของกิเลส หรือจะมีชีวิตอยู่อย่างของสติปัญญา ก็ไปแยกกันให้ดีๆ ถ้าเป็นสติปัญญาเข้ามา มันจะไม่รู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู
แล้วก็เห็นแก่ตัว ถ้าโง่ไปตามเดิม โง่เท่าเดิม มันก็มีตัวกู มีของกู แล้วมันก็เห็นแก่ตัว นี่คือปัญหาที่กำลังมีอยู่ในโลก ในสากลโลก ทั้งโลก ทั้งจักรวาล ทีแรกมนุษย์ไม่มีความเห็นแก่ตัว เพราะมันยังคิดไม่เป็น มันกี่ล้านๆ ปีมาแล้ว สมมติว่า มีมนุษย์มาหนึ่งล้านปีมาแล้ว ทีแรกมันไม่มีความเห็นแก่ตัว แล้วมันค่อยคิดเป็น นึกเป็น วิธีเอาเปรียบ เอาเปรียบ เอาประโยชน์ เห็นแก่ตัวๆ มันก็เจริญๆ ๆ มาจนเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างลึกลับซับซ้อนสูงสุดนี่ คือมนุษย์ยุคนี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุด อย่างลึกลับซับซ้อน แล้วในโลกก็เกิดปัญหามากขึ้นๆ ๆ เป็นปัญหาอย่างลึกลับ ซับซ้อน เคียงคู่กันมากับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ของคนดีกว่านะ คน คนนี่โง่ (ส่วน)มนุษย์ฉลาด เดี๋ยวนี้ก็ถึงว่า มนุษย์ฉลาด แต่มองให้ดี มันก็เป็นคนที่โง่ลง สร้างปัญหา สร้างวิกฤติการณ์มากเกินกว่าแต่ปางก่อน ยุคแรกๆ ไม่มีความทุกข์ หรือความยุ่งยากลำบากมากเท่านี้ หรือมีสงครามน้อยกว่านี้ พูดอย่างนี้ดีกว่า เดี๋ยวนี้ มีสงครามตลอดกาล สงครามเย็น สงครามการเมือง สงครามคิดทำลายล้างกันนั้น มีตลอดเวลา นั่นก็เป็นสงครามร้อน ยิงกัน ฆ่ากันตาย เป็นหมื่นเป็นแสน เป็นคราวๆ ไป สมัยก่อนไม่ได้มีสงครามตลอดเวลาอย่างนี้ เพราะมนุษย์มันยังโง่ เดี๋ยวนี้ มันฉลาด ฉลาดจนคิดจะทำสงครามครองโลก มีความรู้เรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู ไปนอกโลกได้ อะไรได้ มันเพื่อจะครองโลกละ ไม่ใช่เพื่อจะสร้างสันติภาพ ปากมันว่าจะสร้างสันติภาพ แต่ในใจมันจะครองโลก จะเอาประโยชน์เสียคนเดียว นี่ ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกำลังครองโลก
ขอฝากไว้เป็นเรื่องพิเศษ โดยเฉพาะว่า ความเห็นแก่ตัวนี้มันทำลายโลก ความไม่เห็นแก่ตัวมันพัฒนาโลก โลกนี้มันเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ถ้าเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องทำด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา มันจึงเป็นสิ่งเลวร้ายด้วยประการทั้งปวง ถ้าเห็นแก่ตัวนั้น selfish คือ คำฝรั่งนั้นมันง่ายกว่า มันจำกัดความชัดเจน ไอ้ selfish ไม่มีทางจะถูกต้องหรอก มันทำด้วยกิเลสตัณหา ด้วยความโง่ แต่ถ้ามันเป็นไอ้ self อย่างอื่น self-acknowledged รู้จักตัวเอง self-respect เคารพตัวเอง self-confidence มันเชื่อตัวเอง self developed มันพัฒนาตัวเอง พัฒนาตัวเอง อย่างนี้ ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ selfish มันเป็นการจัดถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องตัว มันเป็นเรื่องฝ่ายถูกต้อง ไม่ใช่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวนี่ กูจะเอาเป็นของกู ของพวกของกู ด้วยกิเลส ตัณหาของกูนี่ ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัว มันก็เป็นคำหยาบ เป็นคำด่า ไอ้สัตว์เห็นแก่ตัว ไอ้ชาติเห็นแก่ตัว นี่ มันด่าสุดเหวี่ยงนะ แต่ไม่ค่อยมีใครเจ็บนะ เพราะมันเห็นแก่ตัวอย่างนั้นจริง ๆ
ฉะนั้น เรากำลังลำบาก ยุ่งยาก เพราะความเห็นแก่ตัวในโลกมันมากขึ้น จนกระทั่งว่า ความเห็นแก่ตัวนี้ มันครองโลกอยู่ โลกเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ครอบครองโดยพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้าอะไรที่ไหน มันครอบครองอยู่โดยความเห็นแก่ตัวของคนในโลก ความเห็นแก่ตัวของคนในโลก มันมาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วโลกก็เต็มไปด้วยปัญหา เห็นไหม เต็มไปด้วยปัญหาทางอาชญากรรม ทางอาชญากร แล้วก็เนื่องกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย อาชญากรรม อาชญากรเพิ่มขึ้นในโลก เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ก่อนผมบวช หกสิบ เจ็ดสิบปี ผมเคยไปที่กรุงเทพฯ โอ น่าพอใจ ปลอดภัย ราบรื่น เยือกเย็น ปลอดภัย ดึกดื่น ผู้หญิงคนเดียวไปที่ไหนก็ได้ ปลอดภัย แต่เดี๋ยวนี้ มันตรงกันข้าม อย่าว่าแต่ผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ชายไปไหนคนเดียวก็ยังเป็นอันตรายเลย นี่ มันเปลี่ยนมากถึงอย่างนี้ เพราะความเห็นแก่ตัว กิเลสของมนุษย์ครอบงำมากขึ้นๆ เต็มไปด้วยอาชญากร อาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเพศ เลวร้ายที่สุด จนปรากฏตามสถิติว่า สร้างคุกเรือนจำนั้นไม่พอ ไม่มีเงินจะสร้าง ต้องหาวิธีอย่างอื่น สร้างตำรวจเท่าใดก็ไม่พอ ต้องหาวิธีอย่างอื่น สร้างศาล ศาลสถิตยุติธรรมเท่าไรก็ไม่พอ เงินมันไม่พอ ต้องหาวิธีอ้อมอย่างอื่น สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไรมันก็ไม่พอ เพราะคนบ้ามันเพิ่มขึ้นเร็วมาก นี่ ผลของอาชญากรรม คนก็เห็นแก่ตัว แล้วเกิดอาชญากรรม จนสร้างไอ้สิ่งเหล่านี้เท่าไรๆ ก็ไม่พอ สร้างคุก สร้างตาราง สร้างตำรวจ สร้างศาล สร้างโรงพยาบาลบ้า เพราะคนมันเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวก็ทำลายผู้อื่นเอาประโยชน์ของตัวเรื่อยมาๆ จนมันหลงทาง คนเห็นแก่ตัวมันหลงทาง แล้วมันฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าตัวเองตายตามไป ทำไมมันบ้าขนาดนี้ เห็นแก่ตัวนี่ มันกลับฆ่าตัวเอง ถึงมหาเศรษฐีก็มีฆ่าตัวเอง เพราะความเห็นแก่ตัว มันหลงทาง คนเห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจ มันก็เอาเปรียบ มันก็เย่อหยิ่งจองหอง มันก็อกตัญญู มันก็ไม่สามัคคี ในที่สุดมันก็เป็นอาชญากร แล้วมันก็ได้ไปเป็นทาสของยาเสพติด เมื่อก่อนมนุษย์ไม่ ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด เดี๋ยวนี้ปัญหายาเสพติดเป็นทั้งโลก เป็นทั้งโลก ติดต่อกันทั้งโลก ก็กำจัดยาเสพติดไม่ได้ ยาเสพติดเป็นปัญหาในโลก แล้วคนเห็นแก่ตัวมันก็ยังสร้างมลภาวะ ภาวะไม่พึงปรารถนา สกปรก รกรุงรัง อันตราย มลภาวะที่กำลังเป็นปัญหาในโลกเวลานี้ เป็นปัญหาในโลกเวลานี้ ดังนั้น ก็มีการทำลายธรรมชาติ ทำลายป่า ทำลายสภาวะธรรมชาติ แม้ที่มนุษย์พัฒนาแล้ว ยังถูกทำลาย ทำลายถนนหนทาง ห้วยหนองคลองบึง มันทำลายเพื่อประโยชน์แก่ตัวกันหมด แล้วในที่สุด มนุษย์นี้มันก็หลงทาง ความเห็นแก่ตัว มันก็สรรหาแต่ความเพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย สนุกสนาน เพื่อตัว เพื่อหล่อเลี้ยงกิเลสของตัว มันก็ได้เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งไม่มีแต่กาลก่อน โปรดจำคำนี้ไว้ดีๆ ซึ่งไม่เคยมีแต่กาลก่อน มันได้มีขึ้นมา ปัญหาต่าง ๆ มาจากความเห็นแก่ตัว ปัญหายาเสพติดก็ดี ปัญหามลภาวะก็ดี ปัญหาอุปัตาเหตุ (52.39)อุบัติเหตุ accident กลางถนนหนทาง ในแม่น้ำลำคลอง อุบัติเหตุก็มากขึ้นก็ดี มาจากความเห็นแก่ตัวและก็ที่มันน่าหัวหรือน่าสงสารที่สุด ก็คือมนุษย์เดี๋ยวนี้ มันได้เป็นโรค โรคภัยไข้เจ็บที่หมามันก็ไม่เป็น คิดดูสิ โรคอะไรบ้าง คุณจะรู้ดีกว่าผม โรคติดต่ออะไรมากกว่าผม โรคที่หมาก็ไม่เป็น นับตั้งแต่โรคเอดส์ โรคอะไร ไปจนถึงกามโรค ซิฟิลิส โรคอะไรที่หมาก็ไม่เป็น ก็จะเอายังไงกัน เมื่อมนุษย์หรือคนมันเป็นโรคที่แม้แต่หมาก็ไม่เป็น มันก็เป็นกันมากขึ้น จนเป็นปัญหาทั้งโลกใช่ไหม ปัญหาโรคเอดส์ มันเป็นปัญหาทั้งโลก เอาไม่ลง โรคนี้หมามันก็ไม่เป็น แล้วคนมันจะดีหรือเลวกว่าหมา ก็ไปคิดดู พัฒนากันอย่างไร จนได้เป็นโรคที่หมาก็ไม่เป็น มันก็มาจากความเห็นแก่ตัว ตามใจตัว หาความเอร็ดอร่อย เพลิดเพลินให้แก่ตัว จนได้เป็นโรคที่หมาก็ไม่เป็น เป็นกันทั้งครอบครัว เป็นกันทั้งโลกนี้ นี่คือความเห็นแก่ตัว เรียกว่าเป็นปัญหาท่วมโลก ทั้งโลก แก้กันไม่ได้ โรคที่หมาก็ไม่เป็น ก็เพราะว่าคนมันเจริญมาในทางต่ำ ตามใจ ใส่ปาก ใส่ท้อง เอร็ดอร่อย ทำไมคนจึงกินเหล้า แล้วหมาก็ไม่กิน มันเป็นเรื่องอะไร หมานี่ไม่กินแม้แต่ข้าวหมาก ข้าวหมากมันยังไม่ทันจะเป็นเหล้าเลย ซึ่งมันจะเป็นเหล้าได้ หมามันก็ไม่กินข้าวหมาก แล้วมันจะไปกินเหล้าได้อย่างไร คนมันกินทั้งเหล้ากินทั้งข้าวหมาก นี่มันพัฒนาอะไรกันอย่างนี้แล้ว ก็คิดดูเถอะ ก็มันพัฒนาไปด้วยความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว สร้างปัญหานานาชนิดขึ้นมา ซึ่งก่อนนี้มันไม่มี เพราะว่ามันยังโง่ หรือว่าเพราะมันไม่ต้องการประโยชน์มากมาย มันต้องการประโยชน์พอดีๆ เดี๋ยวนี้มันต้องการประโยชน์มากมาย มันอยากมีบ้านหลายหลัง มีรถยนต์หลายหลัง ห้องส้วมของมันก็จะมีราคาล้านนะ ฟังแล้วก็ไม่น่าเชื่อนะ และน่าตกใจ ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อ แต่เขาก็ว่ามันก็จริง เฉพาะห้องส้วมมันราคาล้าน พิเศษขึ้นไปอีก ห้องส้วมราคา ๓ ล้าน มันเจอกัน นั่งรถยนต์ คันหนึ่งราคาล้าน ล้าน ล้าน ล้าน ได้ยินว่ารถยนต์ของใครก็ไม่รู้ ราคา ๑๔ ล้านนั่นนะ จำเป็นอะไร นี่คือไม่มีขอบเขตอันจำกัดที่จะพัฒนา แล้วมันจะสงบได้อย่างไรล่ะ มีบ้าน บ้านเดียวไม่พอ ต้องมีหลายบ้าน มีภรรยาคนเดียวไม่พอ ต้องมีภรรยาลึกลับที่เก็บไว้ไม่รู้กี่คน กี่สิบคน แล้วก็ต้องมีบ้านมากขึ้นเท่านั้นนะ นี่คือปัญหาที่มันขยายตัวออกไปจน(กระทั่ง)ว่าต้องทุจริต ต้องคดโกง ถ้ามันมีแต่เพียงบ้านเดียว มันก็ ปัญหาก็ไม่มี มันมีหลายบ้าน มันก็ต้องมีการทุจริต คดโกง มีคอรัปชั่นตามมา นี่คอรัปชั่นทั้งหลาย เกิดเพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นเอง นี่ พัฒนาตัวกันอย่างไร พัฒนากันอย่างไร มีผลอย่างนี้ ทำไมครูจะต้องคอรัปชั่น ครูมันเห็นแก่ตัว ครูคอรัปชั่น ก็ครูมันเห็นแก่ตัว ทำนาบนหัวลูกศิษย์ ถ้าหมอเห็นแก่ตัวก็หมดความเป็นหมอ ก็ทำนาบนเลือด บนเนื้อ บนความเจ็บไข้ของเพื่อนมนุษย์นั้น ถ้าผู้พิพากษาเห็นแก่ตัว ก็ทำนาบนหลังจำเลย ถ้าพระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัว มันก็ทำนาบนหัวทายกทายิกา คุณไปดูเอาเอง ผมไม่ต้องอธิบาย มันมากขึ้นทุกที มากขึ้นทุกที พระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัว ทำนาบนหัวทายกทายิกาก็มากขึ้นๆ แล้วโลกนี้มันจะเอาสันติภาพหรือจะเอาสันติสุขมาจากไหน นี่มันมาจากความเห็นแก่ตัว มันมีชีวิตชนิดที่เป็นตัว เป็นของตัว เป็นตัวกู เป็นของกู มันเป็นชีวิตอัตตา อัตตา มีตัวและเห็นแก่ตัว ถ้ามันมีชีวิตอนัตตา ตามหลักพระพุทธศาสนา มันก็ไม่เห็นแก่ตัว ปัญหาเหล่านี้ มันก็ไม่มี
น่าจะพิจารณากันในส่วนที่ว่า ทำอย่างไร จึงจะมีชีวิตชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัว คุณช่วยจำเอาไปนึกไปคิด ไปนึก ไปศึกษา ไปพิจารณา ไปค้นคว้า แล้วทำอย่างไร เราจึงมี จึงจะมีชีวิตชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัว เรื่องนี้ มันมีอะไร จะเรียกว่าเคล็ดลับก็ได้ แต่จริงๆ มันก็ไม่ใช่เคล็ดลับ มันเป็นเพียงธรรมชาติที่เคยมีมาแล้ว ที่คนไม่ค่อยรู้จัก มันจึงดูคล้ายๆ กับเคล็ดลับ พุทธศาสนานี่ สอนว่า สอนไปในทางชีวิตที่ไม่มีตัว เหมือนลัทธิอื่น ศาสนาอื่น เขาสอนกันในทางที่ชีวิตนี้เป็นตัว เป็นของตัว มันก็ต่างกัน แต่ผล แต่ แต่ความจริงในขั้นสุดท้าย มันมีว่า ต้องมีชีวิตชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัว มันก็เกิดความยากลำบากแก่ศาสนาชนิดที่สอนว่า มีตัว มีตัว มีตัว หรือว่าคนโง่ในขั้นต้นยังโง่อยู่ มันก็ต้องรู้สึกว่า มีตัว มีตัว มีตัว มันก็ลำบาก ถ้ามันรู้ความจริงถึงขนาดสูงสุดว่าไม่มีตัว ไม่มีตัว มันก็ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่เกิดกิเลสใดๆ มันก็ไม่มีความทุกข์ มันก็ไม่มีปัญหา
เรามาพูดถึงพุทธศาสนากันก่อน สอนเรื่องไม่มีตัว โดยแท้จริง ไม่มีตัวเป็นเพียงธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ชีวิตนี้เป็นของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องรู้ ตัวธรรมชาตินี่ก็อันหนึ่ง ก็ความหมายหนึ่ง กฎ กฎ กฎความจริงของธรรมชาตินั่น ก็ความหมายหนึ่ง แล้วก็หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ นั่นก็ความหมายหนึ่ง แล้วก็จะได้รับผลตามหน้าที่ที่กระทำ นี่ก็ความหมายหนึ่ง
เมื่อพูดถึงธรรมชาติ ธรรมชาติว่าในหลักพระพุทธศาสนา ก็มี ๔ ความหมาย ตัวธรรมชาติ Nature ตัวกฎของธรรมชาติ Law of Nature หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ duty duty in accordance with the law of nature หน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็มีผลเป็น result ขึ้นมา เป็น fruit ธรรมดานี่เอง (61.09) ตามหน้าที่ที่ได้กระทำไปแล้ว ตามกฎของธรรมชาติ ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ ก็มีผลเกิดขึ้นมา ตัวธรรมชาติเอง กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตาม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ผลตามหน้าที่ ถ้ารู้ครบทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็รู้ธรรมชาติดี รู้หลักของพระพุทธศาสนาดี พระพุทธเจ้าค้นพบเรื่องนี้ ท่านบัญญัติเองไม่ได้หรอก มันเป็นของธรรมชาติ แต่ท่านพบ แล้วมาบอกมาสอนให้เราได้รู้ด้วย ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ สรุปสั้น ๆ ว่า ชีวิตนี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ในตัวธรรมชาตินั้น ก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ ร่างกายเรา ร่างกายเราเนื้อหนัง กระดูก เอ็น แต่ละส่วน มันตั้ง มันเป็นตัวธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ แล้วในตัวเรานี้ มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ต้องกิน ต้องนอน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องปฏิบัติต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ นี่ก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมตัวเราอยู่ แล้วเราก็มีหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่เราต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องทำอะไรทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ได้รับผลเป็นความสุขหรือเป็นทุกข์ ตามที่ว่าเราปฏิบัติหน้าที่นั้นถูกหรือผิด อย่างไร
ฉะนั้น ๔ ความหมายนั้น มันมีอยู่ในตัวคน แต่ละคน แต่ละคน แต่ละคน แต่ละคนยาวสักวาหนึ่งนี่ ก็มีธรรมชาติ มีตัวกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มีคนเกิดจากหน้าที่ในตัวคนแต่ละคน นี่ ของทุกคนของทั้งโลกของทั้งจักรวาลก็เป็นอย่างนี้ นี่มันก็แสดงความไม่มีตัว(ไม่)มีตนอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเรารู้อย่างนี้ เราก็มีชีวิตชนิดที่ไม่เป็นตัวตน เราก็ไม่เห็นแก่ตน เพราะมันไม่มีตัวตนจะให้เห็นแก่ตนนี่ มันไม่มีตัวตนที่จะไปเห็นแก่ตนได้อย่างไร ดังนั้น ตามหลักนี้บรรพบุรุษ พุทธบริษัทเก่าก่อน จึงทำความง่ายให้แก่ลูกหลานเข้าใจง่ายๆ คนโง่เท่าไรก็พอจะเข้าใจได้ แม้ไม่เคยบวชไม่เคยเรียน ไม่เคยศึกษาอภิธรรม ปรมัตถ์อะไร มันก็ยังพอจะเข้าใจได้ โดยที่ท่านบอกให้คนเหล่านั้นว่า ไอ้ชีวิตนี้มันเป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ยืมมาจากธรรมชาติ ประโยคนี้สำคัญ มันไม่ใช่เป็นตัวกู เป็นของกูโดยกำเนิด โดยแท้จริงอะไร แต่ว่ามันยืมมาจากธรรมชาติ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ อะไรก็ตาม ยืมมาจากธรรมชาติ เอามาทำเป็นชีวิต อัตภาพร่างกายอะไรขึ้นมา ชีวิตอัตภาพร่างกายมันก็ยังเป็นของยืมจากธรรมชาติ เมื่อท่านเชื่ออย่างนี้ ท่านถืออย่างนี้ มันก็ไม่ ไม่กล้ามีความรู้สึกว่า เป็นตัวกูหรือเป็นของกู แต่ว่ารู้สึกว่า เป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ปฏิบัติต่อชีวิต ร่างกายนี้ในฐานะเป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ไม่พูดว่าตัวกู ไม่พูดว่าของกู แต่ถ้าคนโง่มัน ไม่ ไม่เห็นอย่างนั้น หรือว่ามันไม่ ไม่ยอมเชื่ออย่างนั้น ไม่เห็นอย่างนั้น แล้วมันก็ไม่ยอมเชื่ออย่างนั้น มันว่า ตัวกู ๆ ๆ ของกู ๆ ๆ ของพวกของกูอยู่เรื่อยไป มันก็มีความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจเอาเองเถอะว่า ไอ้คนหนึ่งมันมีชีวิตในความหมายหรือรู้สึกว่ายืมจากธรรมชาติ อีกคนหนึ่งมันว่า ตัวกูของกู ไม่ได้ยืมมาจากธรรมชาติ เอามาแต่ไหนก็ไม่รู้ มาเป็นตัวกูของกูมาแต่เดิมเลย มันต้องต่างกันมากแหละ พวกหนึ่งเห็นแก่ตัว พวกหนึ่งไม่เห็นแก่ตัว พวกที่ถือว่ายืมมาจากธรรมชาติ มันก็ไม่ยักยอก ไม่คดโกง เพราะเป็นของยืมจากธรรมชาติ แล้วก็ส่งคืนในเวลาอันสมควร ธรรมชาติให้ยืมมาเป็นเวลาเพียงพอจะพัฒนา สมมติว่าให้ยืมมาร้อยปี มีชีวิตร้อยปี ก็ใช้เวลาร้อยปี พัฒนา พัฒนา พัฒนาจนได้ผลตามที่ควรจะพอใจ ธรรมชาติให้ยืมมาอย่าง อย่างน่าเคารพแหละ ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าสึกหรอ ให้ยืมมาพัฒนาเอาตามชอบใจ แล้วก็คืนธรรมชาติในเวลาอันสมควร ทำไมจะต้องไปยักยอกเอาตัวกูว่าของกู ของกู ของพวกของกู อะไรกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่าเป็นของธรรมชาติให้ยืมมา ก็ไม่กล้าคิดว่าตัวกู ว่าของกู คิดว่าอนัตตา ไปในทำนองอนัตตา ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เป็นของธรรมชาติ ให้ยืมมา มันก็ไม่หนักอกหนักใจ โดยธรรมชาตินั้น มันจะไม่หนักอกหนักใจ ชีวิตเป็นของยืม พัฒนาเอาตามชอบใจ แล้วแต่จะชอบใจอย่างไร แต่ถ้าถูกต้องมันก็เป็นผลดี ถ้าผิดมันก็เป็นผลร้าย ผู้ยืมมารับผิดชอบเอง ถ้ามีความแก่ ชราเกิดขึ้นมา นี่ก็เท่า เท่ากับว่ามันแสดงการเตือน เตือนว่าเตรียม เตรียมคืนเจ้าของที่ถูกต้อง ถ้ามันเจ็บไข้ เจ็บไข้มันเกิดขึ้น ก็เรียกว่าของแถมพก ให้แปลก ๆ แล้วก็เป็นการเร่ง ๆ ๆ ให้คิดที่จะคืนให้ธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ถ้าว่าความตาย ความตายมาถึงเท่านั้นแหละ คือการคืนให้ธรรมชาติ การคืนให้ธรรมชาติอย่างซื่อสัตย์ เรียบร้อย ไม่คดไม่โกง แล้วก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวตาย เป็นเพียงการคืนของยืมให้แก่ธรรมชาติ นี่ ความไม่มีตัวตน แม้จะเป็นในอุบาย อุบายอย่างนี้ก็ตามเถอะ มันไม่มีความทุกข์ พระพุทธศาสนาแต่บรรพบุรุษของเรามา สรุปหลักเกณฑ์อย่างนี้ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู ยืมมาจากธรรมชาติ พัฒนาเอาเองให้ดีที่สุดตามต้องการแล้ว (ก็)คืนธรรมชาติในเวลาอันสมควร หรือว่าถ้าไม่ได้พัฒนา ไม่เสร็จ มันก็ต้องคืนธรรมชาติ ตามเวลาอันสมควรเหมือนกับทำสัญญากู้เงิน ยืมเงินอะไรมา ก็ต้องใช้คืนในเวลาอันสมควร ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
(ที)นี้เคล็ดที่จะมีชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ ก็คือชีวิตอนัตตา แต่ถ้าสอนว่ามีอัตตา มีอัตตา แล้วทีนี้มันลำบาก มันสอนว่ามีตัวกู ตัวกู ตัวกูมากขึ้น อย่างนี้มันก็ต้องสอนอีกทีหนึ่งว่า อย่าเห็นแก่ตัว มันฝืนความรู้สึก มันก็ต่อสู้กันในชีวิต ยุ่งยากลำบาก ไม่พบความสงบ ฉะนั้น เราถือว่า โชคดีที่สุด ที่เราได้รับพระพุทธศาสนาที่สอนว่า ไม่มีตัว สอนว่าไม่มีตัว มันก็ง่ายที่จะไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่ต้องมีความ ไม่ต้องเกิดกิเลส มันก็ไม่ต้องเกิดปัญหา ไม่ต้องเกิดความทุกข์ เพราะปฏิบัติสนุก มีชีวิตสนุก ทำการงานเป็นสุข เพราะว่าทำให้ถูกหลัก ของยืมมา พัฒนาเอาเอง แล้วคืนเจ้าของในเวลาอันสมควร
เมื่อตะกี้ ตอนต้นก็พูดแล้วว่า อย่าไปกล้าพูดว่า ฉันไม่รับผิดชอบ ฉันไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา ฉันไม่ได้ขอเกิดมา ไม่ได้ทำสัญญาว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไรอย่างนั้น ไม่ได้หรอก หรือใคร อยาก ใครไม่เชื่อก็ลองดูสิ ก็ลองดูสิ ก็ลองคิดอย่างนั้นดูสิ มันจะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ถ้ายอมรับเสียอย่างถูกต้องว่า ยืมมาพัฒนาและก็พัฒนาให้เสร็จทันแก่ชีวิต แล้วคืนเจ้าของไป มันก็สบาย ไม่น่ากลัว ไม่เดือดร้อน ไม่อะไรที่ตรงไหน มันสนุก มีชีวิตสนุกจนเข้าโลง เข้าโลงก็ยังหัวเราะเยาะความตาย จะเข้าโลงก็ยังหัวเราะเยาะความตาย กูไม่ได้ตาย เป็นแต่เพียงคืน คืน คืน คืน คืน สิ่งของยืมให้เจ้าของ นี่ ก็เรียกว่าพัฒนาโดยอุบายอันแยบคาย ตลอดชีวิตไม่มีความทุกข์เลย อย่าไปอยาก อย่าไปหวัง อย่าไปอยาก แล้วก็เกิดความหวังเป็นตัวกู เป็นของกู อย่างนี้เรียกว่าเกิดตัณหา (เรียก)ว่าเกิดอุปาทาน แล้วมันก็เป็นทุกข์ เพราะมีตัวกูของกูที่ปล้น ปล้นเอามาจากธรรมชาติ ตระบัด คดโกง ยักยอกของธรรมชาติ เอามาเป็นของตน มันก็ได้ถูกลงโทษ ธรรมชาติมันก็ตบหน้าให้ ชีวิตนี้ก็อยู่ในสภาพที่กัดเจ้าของ เมื่อปฏิบัติผิดต่อกฎของธรรมชาติ คือไม่มีธรรมะ ชีวิตนี้มันก็กัดเจ้าของ มันไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ไอ้พูดเล่น ๆ สนุก ๆ คุณจะจำไปเถอะ แล้วคิดให้เห็นความจริง ให้ได้เข้าถึงความจริงแล้วมันก็จะหมดปัญหา ถ้าไม่มีธรรมะ ชีวิตนี้จะกัดเจ้าของ หรือพัฒนาไม่ถูกต้อง ชีวิตนี้มันก็กัดเจ้าของ ถ้ามีธรรมะ พัฒนาถูกต้อง ชีวิตนี้ก็ไม่กัดเจ้าของ
พวกฝรั่งมาที่นี่เดือนครึ่ง แต่ละเดือนละเดือน มาเหมือนกับตลาดนัดมาพบกัน ศึกษากัน สิบวัน สิบวัน สรุป ความแล้ว เขาชอบคำพูดคำนี้ คำพูดคำเดียว เหมือนกับได้พบชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ก่อนนั้น ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่พบไอ้ธรรมะนี้(ก็)มีชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดนั่นเกลียดนี่กัด เดี๋ยวก็กลัวนั่น กลัวนี่กัด เดี๋ยวตื่นเต้น ๆๆ ไปตามอารมณ์กัด วิตกกังวลในอนาคตกัด อาลัยอาวรณ์ในอดีตกัด ความอิจฉาริษยาก็กัด ความหวงก็กัด ความหึงก็กัด ชีวิตกัดเจ้าของเพราะไม่มีธรรมะ คือพัฒนาไม่ถูกต้อง ชีวิตนี่มันกัดเจ้าของ แล้วเขาได้รับความพอใจที่ว่าชีวิตนี้ที่ไม่กัดเจ้าของ ที่แล้วมามันเคยมีแต่เรื่องกัดเจ้าของ การศึกษาในโลกโดยเฉพาะในอเมริกาที่ว่าเป็นผู้นำนี่นะ อะไรๆ นี่มันก็มีคนเคยคิดข้อนี้ เห็นว่า การศึกษาทั้งหมด จบมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งหมดแล้วมันก็ยังกัดเจ้าของ มันก็เกิดไอ้คนที่ว่าอยากจะหาให้พบว่าทำอย่างไรจะไม่กัดเจ้าของ มันเกิดอุตรินอกในออกมาเป็นฮิปปี้ ฮิปปี้เดี๋ยวนี้มันก็ตายไปหมดแล้ว เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จ มันจะ มันเป็นฮิปปี้เพื่อจะหา(ให้)พบไอ้สิ่งที่ดีกว่าที่เล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ว่ามันยังกัดเจ้าของ มันเรียนมหาวิทยาลัยจบยาวเป็นหาง ชีวิตมันยังกัดเจ้าของ พวกฮิปปี้ก็หลีกตัวออกมาแสวงหาจนทะลุกลางปล้องจนไม่มีระเบียบวินัยอะไรเหลือ มันก็ไม่พบ ไม่พบชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ เดี๋ยวนี้ฮิปปี้ตายหมดแล้ว ตายเอง มันสูญพันธุ์เอง มันไม่ประสบความสำเร็จ นี่ ดูเถอะ แม้แต่มนุษย์ มนุษย์ มันก็ยังเคยคิดกันถึงขนาดนี้ ฉะนั้น เราก็ควรจะทำให้ดีๆ เพื่อให้มันได้พบไอ้ดีที่สุดของชีวิต คือชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้าชีวิตนี้กัดเจ้าของ ไอ้ชีวิตนี้ก็เลวกว่าหมา เพราะหมาไม่กัดเจ้าของ ใครเคยเห็นหมากัดเจ้าของที่ไหน เดี๋ยวนี้ ชีวิตมันกลายเป็นกัดเจ้าของเสียเอง ยกตัวอย่างมาให้เป็นหลักสำหรับศึกษาง่ายๆ สัก ๑๐ อย่างที่ว่ามาแล้ว จิตมีร้อยอย่างพันอย่างหมื่นอย่างแสนอย่าง ไม่ไหว ไม่ต้องเอามาหรอก เพราะเพียงแต่สิบอย่างมันก็จะพอเสียแล้ว
ช่วยจำ ช่วยจำด้วยว่าความรักก็กัด เคยมีความรักกันแล้วว่าโดนมันกัดอย่างไร ความโกรธมันกัดเป็นฟืนเป็นไฟ โกรธ โกรธ ผู้โกรธมากกว่า เผาผู้โกรธมากกว่าผู้ถูกโกรธ ความเกลียด เกลียด เกลียด แล้วมันหาความสุขไม่ได้ ถ้ามันเกลียดอะไรอยู่ มันหาความสุขไม่ได้ ถ้ากลัว กลัวอะไรอยู่ กลัวนั่นกลัวนี่อยู่ แม้แต่กลัวผี กลัวอะไรโง่ ๆ ไม่มีตัว มันก็ยังเกลียด แล้วมันก็ยังกลัว แล้วมันก็ไม่มีความสุข ทีนี้ ความตื่นเต้น ตื่นเต้น อะไรนิดอะไรหน่อย มันก็ตื่นเต้น อะไรนิดก็ตื่นเต้น ของใหม่ ๆ ออกมาแพงเท่าไหร่ มันก็ตื่นเต้นอยากจะได้ คอรัปชั่นไปหาซื้อมาจนได้ ความตื่นเต้น ตื่นเต้นนั้น รบกวนหัวใจที่สุด ไปดูมวย ไปดูกีฬา ก็เพื่อหาความตื่นเต้น ไอ้คนโง่ ไปหาความตื่นเต้นให้แก่ชีวิต ความวิตกกังวล ไอ้สิ่งที่ยังไม่มาถึง ยังไม่มาถึง ก็กัดหัวใจ ความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ล่วงไปแล้วแต่หนหลัง มันก็กัดหัวใจ ทีนี้ ก็ความอิจฉาริษยา ไม่ยินดีด้วย ไม่พอใจด้วย อิจฉาริษยา ไอ้นี่ มันกัด กัดผู้อิจฉาริษยาก่อน ผู้ถูกอิจฉาอิจฉาบางทีไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องว่าใครอิจฉาริษยากูด้วยซ้ำไป แต่ผู้ที่อิจฉาริษยาเขาจะถูกกัดก่อนทันที ดูความเลวร้ายของความอิจฉาริษยา หวง หวง วิตกกังวล หวง ถ้าเข้มข้น ๆ กันเรื่องทางเพศ มันก็หึง หึงทีนี้กัด กัดกันจนตายไปทั้งคู่ก็มี (77.21-77.38) ทีนี้ ก็ความอิจฉาริษยา ไม่ยินดีด้วย ไม่พอใจด้วย อิจฉาริษยา ไอ้นี้ มันกัด กัดผู้อิจฉาริษยาก่อน ผู้ถูกอิจฉาอิจฉาบางทีไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องว่าใครอิจฉาริษยากูด้วยซ้ำไป แต่ผู้ที่อิจฉาริษยาเขาจะถูกกัดก่อนทันที ดูความเลวร้ายของความอิจฉาริษยา หวง หวง วิตกกังวล หวง ถ้าเข้มข้น ๆ กันเรื่องทางเพศ มันก็หึง หึงทีนี้กัด กัดกันจนตายไปทั้งคู่ก็มี (77.38-78.13)
๑๐ อย่างนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องทั้งหมด ความรักเบื้องหน้า ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง ๑๐ อย่างนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องทั้งหมด ความรักเบื้องหน้า ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง (78.47-78.57) ๑๐ อย่างนี้ก็เหลือ เหลือ เหลือ เหลือที่จะศึกษา เหลือเฟือที่จะศึกษาแล้ว ไปดูมันกัด กัด กัดชีวิตมันกัดเจ้าของ ชีวิตนี้ไม่มีธรรมะ ชีวิตนี้พัฒนาไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นชีวิตตัวกู ของกู มันก็กัด โชคดีที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องไม่มีตัวไม่มีตน แต่ก็มีโชคร้ายที่คนโง่มันฟังไม่ถูก มันไม่เชื่อ มันไม่ยอมเชื่อ มันยังมีตัวกูของกูอยู่เสมอไป นี่มันก็เผชิญกับความทุกข์ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นลัทธิศาสนาอื่นที่เขาสอน ว่ามีตัวตนตัวตน มันก็ลำบากกว่าเรา เพราะว่ามันมีตัวตนแล้ว จะไม่เห็นแก่ตน มันก็ลำบาก ก็ต้องมีวิธีสอน มีเคล็ดของการสอนเป็นอย่างอื่น อย่างอื่นมันไม่เหมือน ไม่เหมือนเรา ที่ว่า ไม่มีตัวตน ให้ถือว่าเสมือนของยืมมาจากธรรมชาติ ไอ้พวกโน้น เขาก็มีวิธี(ของ)เขาเหมือนกัน เมื่อเขาว่าไม่มีตัวตน เขาก็มีพระเจ้า มีพระเจ้า พระเป็นเจ้า ก็ยกให้พระเป็นเจ้าเสีย อย่าเก็บไว้เป็นของตน ก็พอจะรอดตัว อย่ามีตัวตนเก็บไว้เป็นของตน เอาไปถวายพระเป็นเจ้าเสีย แล้วก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระเป็นเจ้า มันก็รอดตัวได้เหมือนกัน แต่ชาวพุทธเราไม่ได้ถืออย่างนั้น ถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
นี่ เรียกว่าพัฒนาถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติ แล้วก็ได้ชีวิตที่ไม่มีตัวและก็ไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่เกิดปัญหาทุกอย่างที่เกิดแก่ผู้เห็นแก่ตัว แล้วชีวิตนี้ก็ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้ก็ไม่กัดเจ้าของ ถ้าใครทำได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นบุญเป็นกุศลสูงสุดในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ฉะนั้น การที่จะได้มาพบพระพุทธศาสนา ก็เพื่อเข้าใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะถูกต้อง ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาใด ๆ ไม่ต้องบ้าชนิดที่เป็นอยู่ด้วยส่วนเกิน ยิ่งเกินเท่าไร ก็ยิ่งยุ่งยากมากเท่านั้น ถ้าเงินเดือนไม่พอใช้ก็ต้องคอรัปชั่น นี่มันเป็นอยู่ที่ส่วนเกิน ถ้ามันโง่จนเป็นอยู่ด้วยส่วนขาด ก็ตกนรกทั้งเป็น ไม่ไหวเหมือนกัน ถ้ามันโง่หลงส่วนเกิน มันก็จะแข่งกับเทวดา มันก็เป็นทุกข์ทรมานนักอยู่ที่นี่ ตั้งแต่บัดนี้ ดังนั้น อย่ามีขาด อย่ามีเกิน ให้มันถูกต้อง พอดี ถูกต้อง พอดี อยู่ในระหว่างขาด เกิน ก็นับว่าใช้ได้ แต่ถ้าอยู่เหนือเลยขึ้นไปปลอดภัยกว่า เหนือบวก เหนือลบ ปลอดภัยกว่า อยู่ระหว่าง ดีกว่าอยู่ระหว่างบวก ระหว่างลบ ไอ้อยู่ในระหว่าง เผลอนิดเดียวมันก็ไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าได้อยู่เหนือ เหนือบวก เหนือลบ มันก็จะหมดปัญหานี่ พระพุทธศาสนามีหัวใจเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เหวี่ยงสุดทางนู้นทางนี้ ไม่เป็น dualism คือว่า ไม่ได้ดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ แพ้ ชนะ กำไร ขาดทุน เอาเปรียบ ได้เปรียบ เสียเปรียบ แม้แต่ว่า ไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชายด้วยซ้ำไป นี่เรียกว่าเรามีความรู้ถูกต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา โดยหลักของอริยสัจนั้น คือไม่ต้องอธิบายมั้ง เพราะว่าบวชตั้งหลายวันแล้ว ถ้าไม่ได้ฟังเรื่องอริยสัจ ก็แย่มาก ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร หนทางที่ให้ถึงความไม่มีทุกข์ เป็นอย่างไร หนทาง หนทาง คือมัชฌิมาปฏิปทา ถูกต้อง พอดี ถูกต้อง พอดี ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่บวก ไม่ลบนั้น นี่เรียนเรื่องอริยสัจ ก็เรียนรู้ให้พอดี ถ้าเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันก็ให้รู้ว่าไม่ใช่ตน มันก็พอดีโดยกฎของปฏิจจสมุปบาท ทำอย่างนี้ ไม่เกิดทุกข์ ทำอย่างนี้ ไม่เกิดทุกข์ ไม่มีตัวกูที่จะไปเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส มันก็ไม่เกิดวิญญาณโง่ ๆ ว่า ตัวกู ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง มันก็ไม่มีผัสสะโง่ ว่าตัวกูได้ผัสสะ ตัวกูได้เวทนา ถ้าตัวกูเสวยเวทนา มันก็เกิดผู้เสวยเวทนา เป็นอุปาทาน ให้เกิดความอยาก คือตัณหา และเกิดผู้อยาก เป็นอุปาทาน อุปาทานเป็นตัว ผู้อย่างนั้น ผู้อย่างนี้ขึ้นมา คลอดออกมา เป็นตัวกูแห่งความโง่ รวบออกมาเป็นของกูหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ความสุข อะไร ออกมาเป็นตัวกูหมด อย่างนี้เรียกว่าไม่อยู่ที่ตรงกลาง มันสุดเหวี่ยง สุดขั้ว ถ้าอยู่ที่ตรงกลาง มันไม่เอาอะไรมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู คุณไปศึกษาเรื่องอริยสัจให้ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ดี จะพบ(ว่า)การอยู่ที่เป็นกลางนั้นนะ แล้วก็ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป แล้วก็ไปศึกษาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยความเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าผู้พบ ผู้บอก พระธรรมคือสิ่งที่บอก พระสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติตามบอกตามสอน แล้วผลคืออันเดียวกันหมด คือมีสะอาด สว่าง สงบ พระพุทธเป็นผู้สะอาด สว่าง สงบ บอกเรื่องความสะอาด สว่าง สงบ คือพระธรรม พระสงฆ์ก็ปฏิบัติจนได้รับความสะอาด สว่าง สงบ มีหัวใจเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสะอาด เป็นสว่าง เป็นสงบ พระรัตนตรัยคือเป็นอย่างนี้ มีธรรมะ มีวินัย มีอะไร เป็นความรู้ แล้วก็ปฏิบัติตามผู้รู้ท่านบอก ก็กลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา มีพระรัตนตรัย แม้จะแยกเป็น ๓ อย่าง แต่มันเป็นใจความเป็นเรื่องเดียวคือ สะอาด สว่าง และสงบ
ทีนี้ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เรียกว่าไตรสิกขา มีศีล มีศีลปรับปรุงพื้นฐานทางกายทางวาจา เป็นพื้นฐานให้ดี ให้มีสมาธิ ปรับปรุงจิตใจให้ดีต่อไปอีก แล้วมีปัญญา ปรับปรุงความรู้ ทิฏฐิ ความคิดความเห็น ความเชื่อให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก มันถูกต้องทั้งโดยพื้นฐาน ถูกต้องโดยจิตใจ ถูกต้องทั้งโดยสติปัญญา ถ้าเปรียบกับอาวุธชนิดหนึ่งนะ ศีลก็เหมือนกับด้าม ด้ามของอาวุธที่ดี ที่ใช้ได้ดี สมาธิก็เหมือนน้ำหนัก น้ำหนักที่จะใช้ฟันฟาดฟันลงไป ปัญญาก็คือความคม คมเฉียบของอาวุธนั้น แม้ว่าอาวุธนั้นจะทำให้คมเฉียบ คมเฉียบ แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะฟันลงไป มันก็คมเปล่า ๆ คมเป็นหมัน มันทำอะไรไม่ได้ ถ้ามันไม่มีน้ำหนัก ก็ต้องมีความคมคือปัญญา มีน้ำหนักคือสมาธิ แล้วเราก็ต้องมีด้ามที่จะจับให้ถนัด ที่เหยียบ ที่ยืน ที่อะไร ให้มันถนัด นั่นว่าเป็นส่วนศีล นี่เราก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วน มันก็สำเร็จประโยชน์ ในการที่จะตัดปัญหาของชีวิตด้วยอาวุธนี้ คือศีล สมาธิ ปัญญา มีความคมแห่งอาวุธ มีน้ำหนักที่จะใช้ความคม มีด้ามหรือมีส่วนประกอบอะไรที่จะทำให้มันถนัดที่สุด เรามีศีล สมาธิ ปัญญากันในลักษณะอย่างนี้ เป็นความหมายที่ลึกที่ต้องนึกต้องคิด จึงจะศึกษา ไอ้อย่างที่สอนกันในโรงเรียนเขาบอกอย่างชั้นนอกๆ ชั้นผิวๆ ชั้นไอ้ที่ว่ามันเป็นรายการละเอียดให้จำ แต่ถ้าถึงความหมายที่แท้จริงและลึกซึ้งแล้ว มันก็มองเห็น ต้องมองเห็นอย่างนี้ คือว่าเป็นความหมายในทางธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ธรรมทั้งหมดระบบใหญ่ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีจนบรรลุนั้นเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม มีอยู่ ๓๗ หัวข้อ แต่ในทั้งหมดนั้น มันสรุปรวมสำคัญอยู่ที่สติปัฏฐานทั้ง ๔ มีความรู้ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งทั้ง ๔ มีสติถูกต้องในสิ่งทั้ง ๔ มีปัญญาใช้สิ่งทั้ง ๔ ๔ คือเรื่องร่างกาย และเรื่องเวทนา แล้วก็เรื่องจิตใจ แล้วก็เรื่องธรรมะ ตามธรรมชาติ
เรื่องร่างกายนี่ รู้เรื่องร่างกาย ชีวิต ดำเนินชีวิตให้มันถูกต้อง มีเนื้อหนังร่างกาย หล่อเลี้ยงไว้ด้วยลมหายใจ ทำอานาปานสติข้อแรก ก็ทำลมหายใจให้ถูกต้อง ร่างกายก็สดชื่น เข้มแข็ง แจ่มใส มีกำลัง แล้วก็ถูกต้องในทางร่างกาย คือเป็นอย่างนี้
แล้วถูกต้องทางเวทนา ก็หมายความว่าอย่าไปหลงเวทนา ความพอใจ ความพอใจที่กำลังตื่นเต้น วุ่นวาย เรียกว่าปีติ ความพอใจที่สงบระงับเรียบร้อยดี เรียกว่าความสุข เป็นที่ตั้งแห่งความหลง พอหลงแล้ว มันก็บ้า แล้วก็รู้ว่าไอ้ ไอ้เวทนานี่มันปรุงแต่งความคิด เพราะฉะนั้น ควบคุมให้มันปรุงแต่งในทางที่ถูกต้อง หรืออย่าให้มันปรุงแต่งได้เลยก็ยิ่งดี เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้ อย่าให้มันปรุงแต่ง ให้มันเป็นความทุกข์ หรือถ้าหยุดปรุงแต่งเสียได้ ก็เป็นความสงบสุข
แล้วก็จิต หมวด ๓ คือจิต รู้จักจิตทุกชนิด มันจะเป็นไปได้กี่ชนิดแล้วก็ฝึกจนบังคับจิตได้ เพื่อให้จิตร่าเริง บันเทิง พอใจ เป็นสุข เมื่อไรก็ได้ แล้วก็ว่าให้มัน(เป็น)จิต(ที่)เป็นสมาธิ รวมกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ต้องโยกโคลง เปลี่ยนแปลงก็ได้ แล้วก็ให้จิตปล่อย ปล่อย อย่าไปโง่ จับนั่น จับนี่ ยึดนี่ เป็นตัวกู ของกู รู้จักหมาย สรุปความว่า รู้จักจิตดีทุกอย่างแล้ว บังคับจิตให้พอใจ บันเทิงเริงรื่นก็ได้ ให้หยุด ให้สงบ ระงับ เป็นอันเดียว ทำมั่นให้เป็นสมาธิ ก็ได้ ให้ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย สิ่งที่ไปหลงยึดเอามาเป็นตัวกูของกูอย่างนี้ ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่ารู้เรื่องจิตดี บังคับจิตได้ เป็นนายเหนือจิต
ทีนี้ ก็รู้เรื่องธรรมชาติทั้งหลาย โดยรอบตัว ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ อารมณ์ ทั้งอิฏฐารมณ์ ทั้งอนิฏฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ให้หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวอะไรก็ตาม ก็ไม่ไปหลง ไม่ไปหลง ก็เรียนรู้ ดู โอ้ มันอนิจจัง ไอ้บวกก็อนิจจัง ไอ้ลบก็อนิจจัง ไอ้สุขก็อนิจจัง ไอ้ทุกข์ก็อนิจจัง เห็นอนิจจัง เห็นอนิจจังแล้วก็มันก็คลายความหลง ไม่หลงรัก ไม่หลงยึดถือ เรียกว่าคลาย คลายความยึดถือ ที่เคยงมโง่ ยึดถือเต็มที่มาแต่หนหลัง เดี๋ยวนี้มันก็คลายออก คลายออก เรียกว่า วิราคะ เห็นอนิจจังเท่าไร ก็จะเห็นวิราคะเท่านั้น วิราคะ คลายความยึดถือ คลาย คลาย คลาย คลาย คลาย เดี๋ยวก็หมด เป็นนิโรธะ ดับความยึดถือ โดยประการทั้งปวง ความทุกข์มันก็ดับไปด้วย แล้วก็เห็นอีกที โอ้ หมดแล้ว เรื่องจบแล้ว เรื่องจบแล้ว โยนทิ้ง คืนหมดแล้ว ไม่ไปหลงรัก ไม่ไปหลงยึดมั่นสิ่งใด ๆ ในโลกแล้ว ธรรมะสูงสุด ประมวลกันแล้ว เป็นเรื่องโพธิปักขิยธรรม เป็นหัวหลัก เป็นหลักสำคัญอยู่ที่สติปัฏฐาน ๔ แล้วก็มีอิทธิบาท ๔ มีความเพียร ๔ มีอีกหลายๆ ข้อ ช่วยประกอบกันให้มันเป็นไปได้อย่างนั้น อินทรีย์ ๕ พละ ๕ แล้วก็โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ เป็นเรื่องประกอบให้สติปัฏฐาน ๔ เป็นไปได้อย่างถูกต้อง ถ้าไปแยก แยก แยก ให้ละเอียด เป็นข้อ ๆ มันจะได้เป็นถึง ๓๗ ข้อ แต่ถ้าเอาแต่หัวใจ มันก็คือ สติปัฏฐาน ๔ จัดการให้ถูกต้องในเรื่องกายา หรือในกาย ให้ถูกต้องในเรื่องเวทนา คือความรู้สึกของจิต ให้ถูกต้องในเรื่องจิตเอง ให้ถูกต้องในเรื่องสิ่งที่มันหลอกให้ยึดถือทั่วไปทั้งโลกนั้น ทีนี้เราก็มายึดถือสิ่งใด ๆ ในโลกก็ หมดปัญหา(94.16) นี่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะเป็นเครื่องพัฒนาจิตใจ
ทีนี้มันก็มีปัญหาว่า บางที เราพูดกันแล้วไม่เข้าใจ คนหนึ่งพูดภาษาธรรม คนหนึ่งพูดภาษาคน ฟังกันไม่ออกนั้น จึงจะต้องศึกษาให้รู้ธรรมะทั้ง ๒ ภาษา ความรู้ของธรรมะมี ๒ ภาษา ภาษาคนก็มี ภาษาธรรมก็มี ถ้าเป็นภาษาคนก็เอาคนเป็นหลัก มีคน มีตัว มีตน มีได้ มีเสีย มีแพ้ ชนะ ว่าไปตามภาษาคน ถ้าภาษาธรรมนั้นไม่มีคน มีแต่ธรรมะ มีแต่ธรรมชาติ ถ้าพูดภาษาคนนะช่วยฟังให้ดีๆ นะ ถ้าพูดภาษาคน พระพุทธเจ้าตายแล้ว นิพพานแล้ว เหลือแต่พระธาตุแล้ว ภาษาคนมันพูดอย่างนั้น แต่ถ้าพูดภาษาธรรม โอ้ย พระพุทธเจ้าไม่รู้จักตาย อยู่ตลอด นิรันดร ปฏิบัติถูกเมื่อใด เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ถ้าพูดภาษาคน พระพุทธเจ้าตายแล้ว นิพพานแล้ว พูดภาษาธรรม ยังอยู่กับเราตลอดกาล มันต่างกันอย่างนี้ ภาษาคน พูดอย่างมีตัวตน เป็นตัวกู เป็นของกู (95.37)ภาษาธรรม ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่ยึดมั่นอะไร นี่ คุณต้องรู้จักไว้ให้ดี ในโลกนี้เขาพูดกัน ๒ ภาษา คนธรรมดาก็พูด ๒ ภาษา พระพุทธเจ้าท่านก็พูด ๒ ภาษา บางเวลาท่านก็ตรัส(ว่า)ตถาคตเป็นอย่างนั้น ตถาคตเป็นอย่างนี้ ตถาคตต้องการไอ้นี่ ก็พูดภาษาคน แต่โดยปกติ ไม่มีคน ไม่มีคน ไม่มีตัว ไม่มีตน นี่ท่านพูดภาษาธรรม นี่เราจะต้องศึกษาให้รู้ว่า ประโยคนี้ เขาพูดภาษาคนหรือภาษาธรรม อย่าให้มันตีกันให้ยุ่ง ถ้ามัน มันเข้าใจถูกต้องแล้ว มันก็ไม่ยุ่ง ไม่ตีกัน ภาษาคน ก็ภาษาคน ภาษาธรรม ก็ภาษาธรรม แตกฉานทั้ง ๒ ภาษา ก็หมดปัญหา เอาละ นี่เป็นเรื่องสุดท้ายที่ว่า รู้ธรรมะ ให้ถูกต้อง ทั้งภาษาคนทั้งภาษาธรรม
รู้เรื่องอริยสัจให้ดี รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ดี รู้เรื่องพระรัตนตรัยให้ดี รู้เรื่องไตรสิกขาให้ดี รู้เรื่องโพธิปักขิยธรรม สำหรับตรัสรู้ให้ดี สรุปแล้ว เป็นเรื่องไม่มีตัวตน ไม่เห็นแก่ตน ไม่เกิดกิเลส ไม่เป็นทุกข์ เวลาพูดจา พูดจากันให้ถูกต้อง อย่าให้เกิดการขัดแย้งกันในการพูดจา เพราะความโง่ ต่างฝ่ายต่างโง่ มันก็มีความขัดแย้ง จำไว้เป็นหลักเลย ถ้าจะต้องขัดแย้งแล้วอย่าพูด อย่าพูด คำใดพูดออกไปแล้วมันขัดแย้งกัน อย่าพูด จงพูดในลักษณะที่ไม่ขัดแย้ง คือ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ถือหลักเกณฑ์อย่างนี้ ดับทุกข์อย่างนี้ ไม่ต้องไปพูดว่าคุณผิด คุณเข้าใจผิด คุณโง่ อย่าไปพูด ฉันพอใจอย่างนี้ นี่เป็นหลักของพระพุทธเจ้า ท่านจะตรัสว่า ในธรรมวินัยนี้ ของพระองค์สอนอย่างนี้ ในศาสนาอื่น ในลัทธิอื่นของพวกพราหมณ์ พวกปริพาชก ผู้อื่นก็ตามใจ ท่านไม่ไปพูดว่าผิด ท่านพูดว่า ในธรรมวินัยนี้ ในศาสนานี้ สอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ พวกที่เขาสอนอยู่ก่อน ก่อนพระพุทธเจ้าในอินเดีย (สอนว่า)นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า ก็สอนกันไป สอนกันไป พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านไม่ ไม่ต้องการจะให้สอน ไม่ต้องการจะให้เชื่ออย่างนั้น ท่านจะสอนอย่างนั้น และท่านก็ไม่พูดว่าอย่างนั้นผิดโว้ย ไม่เอาเว้ย แต่ท่านก็ว่า ฉันเห็นแล้ว นรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อคุณทำผิด สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อคุณกระทำถูก เมื่อกระทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นกฎสูงสุด มันก็เป็นนรก คือเป็นเดือดร้อนขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นต้นเหตุให้สัมผัส รับสัมผัส เมื่อทำถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา มันก็มีสวรรค์ขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านว่า ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว ท่านไม่พูดให้มันกระทบกระทั่งว่า อย่างนี้ถูก อย่างนู้นผิด ไม่มีละ พระพุทธเจ้าท่านมีหลักอย่างนี้ พวกเราเป็นสาวก ให้จำไว้ด้วย ว่าอย่าพูดอะไรออกไปในลักษณะที่มันขัดแย้งกัน ไม่พูดคำที่มันขัดแย้งกัน ฉันชอบอย่างนี้ ฉันแสดงอย่างนี้ ฉันเสนออย่างนี้ และฉันจะไม่ว่าของคุณ(ว่า)มันผิด มันบ้า มันหลง อย่าพูด ถ้าพูดมันก็ขัดแย้งกัน มันก็วิวาทกัน มันก็ทำลายล้างกัน เราทุกคนนี้ จึงถือหลักที่ว่าจะไม่กล่าวคำขัดแย้งใด ๆ เป็นพระก็ดี เป็นเณรก็ดี ฉันชอบอย่างนี้ ฉันทำอย่างนี้ ฉันไม่ได้ว่าคุณผิด ฉันว่าฉันทำอย่างนี้ ฉันพอใจอย่างนี้ ประโยชน์อย่างนี้ ก็ไม่ขัดแย้งกัน ก็ไม่ทะเลาะชกต่อยกัน สามเณรก็ไม่ทะเลาะกัน และไม่แทงกันด้วยช้อนส้อม เลวที่สุด เป็นสำมะลีไปหมดไม่ใช่สามเณร ก็มันทำความขัดแย้งแก่กันและกัน เราอย่าพูดคำขัดแย้งแก่กันและกัน จงพูดว่า ฉันชอบอย่างนี้ ฉันทำอย่างนี้ ถ้าท่านชอบด้วยก็เอาด้วยสิ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้อง แล้วมันก็พิสูจน์ของมันเองว่า อย่างไรดับทุกข์ อย่างไรไม่ดับทุกข์ อย่ามีการขัดแย้งกันเป็นอันขาด ในหมู่สามเณรก็ดี ในหมู่ภิกษุสงฆ์ก็ดี คำว่าขัดแย้ง ขัดแย้ง ไม่ต้องมี
ขัดแย้งในภาษาบาลี ว่า อุปัทวะ อุปัทวะ ภาษาไทยว่า อุบาทว์ อุบาทว์ อุปาทวะ อุบาทว์นั้น ภาษาบาลีว่า อุปัทวะ ความหมายแท้จริงคือการขัดแย้ง พอขัดแย้ง ก็อุบาทว์ คือทำลายล้างกัน อย่ามีการขัดแย้งกันไม่ต้องด่าไม่ต้องว่า ไม่ต้องทะเลาะวิวาท (ไม่)ต้อง ต้องประณามผู้อื่น ดูหมิ่นผู้อื่น ดูถูกผู้อื่น มีคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลักว่า ตถาคต ไม่กล่าวคำขัดแย้ง ไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใครๆ กับใครๆ ในโลก ต่อใคร ๆ ในโลก แก่ใคร ๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มนุษยโลก ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ ทั้งหมู่สัตว์ ทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ หมายความ(ว่า)มันหมดทุก ๆ อย่าง ไม่ยกเว้นอะไร ไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใคร ๆ ในมนุษย์ ในโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่จำกัด ไม่มีการขัดแย้ง ก็ไม่มีการทะเลาะวิวาท มันก็ไม่ต้องเป็นหมา คุณดูสิ หมามันกัดกัน เพราะมันมีความคิดเห็นรู้สึก มันขัดแย้ง ขวางหู ขวางตากันไปเสียหมด เราจะมีความตั้งใจที่ว่า จะไม่กล่าวคำขัดแย้งใคร จะไม่ว่าผู้ใดผิด ผู้ใดถูก แต่เราจะพูดว่า ทำอย่างนี้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้น ทำอย่างนี้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้น ทำอย่างนี้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้น ฝ่ายบวกก็ตาม ฝ่ายลบก็ตาม ท่านทั้งหลาย จงเลือกดูเอาเอง เลือกดูเอาเอง มันก็ไม่เกิดการกระทบกระทั่งใดๆ ในโลก มันก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตัว มันก็มีแต่สันติสุข แล้วก็มีแต่สันติภาพ ที่เรียกว่าพระนิพพาน มันสะอาด เพราะไม่มีกิเลส มันสว่าง เพราะมันไม่โง่ มันสงบ เพราะมันไม่มีการปรุงแต่ง มันก็มีเสรีภาพ ไม่ถูกผูกมัดอยู่ด้วยอะไร มันสะอาด มันสว่าง มันสงบ แล้วมันก็มีเสรีภาพ ไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส ไม่อยู่ใต้อำนาจของความทุกข์ ไม่อยู่ใต้อำนาจการบุก (103.35) บีบคั้นผูกพันของสิ่งใด ๆ นี่เรียกว่า วิมุตติ วิมุตติ วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น หลุดพ้น หลุดพ้น หรือว่าจะหมดสิ้นจากสิ่งผูกพันก็ได้ ถ้าหมดสิ้นจากสิ่งผูกพันหุ้มห่อ แล้วมันก็คือวิมุตตินั่นแหละ ก็มันหลุดพ้น เกลี้ยงเกลา วิมุตติเป็นที่สุดของพรหมจรรย์ วิมุตติเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ต้องการปฏิบัติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ เรื่อยๆ ไป จนถึงความวิมุตติ เป็นยอดสุดของพรหมจรรย์ ขอให้เธอทั้งหลาย แม้จะบวชกันชั่วคราว ก็เข้าใจเรื่องของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับชีวิต วิถีทางแห่งชีวิต การพัฒนาชีวิต จุดตั้งต้นแห่งชีวิต จุดปลายทางแห่งชีวิต ก็เรียกว่าได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ ไม่เสียเวลาเปล่า ไม่เป็นหมันเปล่า อุตส่าห์บวช อุตส่าห์เรียนกัน ๙ วัน ๑๐ วัน ๒๐ วัน ไม่เป็นหมันเปล่า ไม่กระทำไปตามแฟชั่น ใครบวชตามแฟชั่น ใครบวชด้วยความรู้สึกเห็นจริง ประสงค์จริงๆ ผมว่ามีมาก บวชเห่อ ๆ ไปตามแฟชั่น บวชเณรก็ดี บวชพระก็ดี ที่จัดกันขึ้นนี่มีหลายคนเห่อแฟชั่นแล้วก็บวชเข้าไป แต่ว่ามีคนที่เห็นจริง เห็นจริง ทำอย่างนี้ มีประโยชน์อย่างนี้ ๆ จึงสมัครบวช ถ้าใครบวชตามแฟชั่น ก็จัดการกับมันเสีย อย่า อย่าหลงแฟชั่น มาเห็นความจริงหรือประโยชน์อันแท้จริง ดังที่กล่าวมาแล้ว แล้วก็พอใจในการบวช ปฏิบัติการบวชต่อไปให้ถึงที่สุด ถึงที่สุด เพื่อได้รับประโยชน์โดยถูกต้อง ไม่ให้ผีมันหัวเราะ ไม่ให้คนป่ามันหัวเราะ บวชแล้วไม่ได้อะไร ผีมันหัวเราะ คนป่ามันหัวเราะ บวชแล้วมันไม่ได้อะไรตามความประสงค์ที่แท้จริง
ขอให้ได้รับประโยชน์ ได้รับประโยชน์ ได้รับผลตอบแทน ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการบวช บวชออก ไปหมด ไปหมด เว้นหมด ไปหมดจากสิ่งที่ควรไปเสีย เว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้นเสีย คำว่าบวช บวช มันแปลอย่างนี้ ปะ หรือ ป ปะ บวก คือหมด หมด วะชะ แปลว่า เว้นก็ได้ แปลว่า ไปก็ได้ ถ้าไปจากสิ่งใดมันก็เว้นจากสิ่งนั้น มันก็ว่า ไป กับคำว่าเว้นมันก็คำเดียวกันนั่นแหละ ปะ คือ หมดไป หมด เว้นหมดจากสิ่งที่ควรจะไปเสีย เว้นเสีย ถ้าได้ฝึกฝนอย่างนี้จนสุดเหวี่ยง สุดชีวิต จิตใจ ว่าสิ่งใด ควรไปเสียให้พ้น สิ่งใดควรเว้นเสียให้หมด มันก็เป็นการบวช ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับและทั้งตื่น จะได้รับผลเหลือกล่าว จะได้รับผลเหลือจะกล่าวได้ เหลือจะพรรณนาได้ แม้ว่าจะบวชเพียง ๙ วัน เพียง ๑๐ วัน หรือเดือนเดียวหรือครึ่งเดือน เอาละ เวลาก็หมด ก็ ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอบใจที่เป็นผู้อดทนฟังที่ดีมาก ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอให้การบรรยายนี้ ให้ความรู้ ความคิด ความเข้าใจ อะไรตามสมควร เอาไปใช้ประพฤติปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ขึ้นตามสมควร ไม่เสียทีที่ได้บวช ได้เรียน ได้ทดลองประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้มีความก้าวหน้า ๆ ๆ ไปตามสมควร ตามที่เหตุผลที่มันมี แล้วก็จะเรียกว่า พัฒนา พัฒนาจนเกิดความสุข สวัสดี แก่ชีวิต อยู่ทุกทิพาราตรีเทอญ ขอยุติการบรรยาย