แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ก็ตั้งใจจะพูดกับสามเณร ต่อจากครั้งที่แล้วมา เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงประโยชน์ หรือความมุ่งหมายของการที่สามเณรมาบวชเป็นสามัญ มาบวชกันหนึ่งเดือน เพื่อฝึกฝนอะไรบ้าง คำตอบที่รัดกุมที่สุด เป็นใจความ ก็คือว่าเรามาเพื่อให้รู้จักใช้พระพุทธเจ้าให้เป็นประโยชน์แก่เรามากที่สุด ข้อนี้หมายถึงพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ที่พระพุทธองค์เองทรงมุ่งหมายว่าได้แก่อะไร ก็ได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่าธรรม โดยหลักที่พระองค์ทรงยืนยันว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม แล้วตรัสอีกว่าธรรมวินัยที่ได้แสดงไว้บัญญัติไว้นี้จะอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอ หลังแต่การล่วงลับไปแห่งเรา โดยทางร่างกาย นี่หมายความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริง แท้จริงนั้นยังอยู่กระทั่งบัดนี้ และตลอดกาลในอนาคต เป็นเครื่องแสดงว่าเราอาจจะมีพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่าพระธรรมก็ตาม เพราะเป็นประโยชน์แก่เราตลอดไป จะพูดตามธรรมเนียมที่ไพเราะหน่อย ก็ว่าเราจะทำให้พระพุทธเจ้าคุ้มครองเราได้ตลอดไป ข้อที่ว่าเรามาฝึกหัดอบรมกันอย่างไร ในการที่จะมีพระพุทธเจ้าสำหรับเป็นประโยชน์แก่เรา หรือคุ้มครองเรา ก็ได้พูดแล้ว พอสมควรในครั้งที่แล้วมา เมื่อคืนนี้
เดี๋ยวนี้ ก็อยากจะพูดต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า คือเราจะเอาพระติดไปกับเราหลังจากที่ลาสิกขากันแล้วนี้อย่างไร เพราะฉะนั้นหัวข้อวันนี้ก็พอที่จะสรุปได้สั้น ๆ ว่า จะมีพระพุทธเจ้าติดตัวไปอย่างไร หลังจากที่ลาสิกขาบทแล้ว นี่คือใจความที่จะพูด ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแก่พวกสามเณร ขอให้สามเณรสนใจฟังเป็นพิเศษ ให้เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติได้ตามนั้น คือมีพระพุทธเจ้าที่แท้จริงติดไปจริง ๆ ไปคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา และก็ไม่น้อยกว่าที่เคยคุ้มครองอยู่ในขณะที่บวชอยู่นี้ เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่า แม้ว่าจะสึกออกไปเป็นเป็นฆราวาสอีก ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องลดลงไป ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะคุ้มครองเรา ต้องทำให้ท่านยังคงคุ้มครองอยู่ตลอดไป และยิ่งขึ้น ๆ จนตลอดชีวิต
ทีนี้ก็จะพูดถึงหัวข้อที่ว่า จะพาไปได้อย่างไร โดยหลักใหญ่แล้วพูดแล้วว่า ธรรมะจะมีปรากฏแก่ใจได้ก็เพราะการประพฤติและปฏิบัติ ดังนั้นเราจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมะ จนมีตัวธรรมะ คือดับความทุกข์ได้ ปรากฏอยู่กับจิต ทำอยู่บ่อย ๆ ก็รู้ได้หลาย ๆ แง่หลาย ๆ มุม เรียกว่ารู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้น หรือรู้จักพระธรรมมากขึ้น จนพอที่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ซึ่งเขาพูดกันว่ารู้ว่าพระธรรมเป็นอย่างไร หรือพุทธศาสนาเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นส่วนความรู้ และก็มักจะเป็นแต่ในระดับของความรู้ในขั้นริเริ่มเท่านั้น จึงต้องทำให้มาก หรือให้ชำนาญ ให้เชี่ยวชาญ เธอทั้งหลายต้องทราบว่า พระพุทธเจ้าท่านยังทรงย้ำ ในตอนที่สอง หรือในระดับที่สองว่าจะต้องทำให้มาก จะต้องทำให้ชำนาญ หลังจากที่ได้รู้แล้วว่ามันเป็นอย่างไร
สรุปความก็คือว่า จะต้องฝึกฝนอยู่เรื่อยไปนั่นเอง ยิ่งฝึกฝนมากขึ้นก็ยิ่งมีมากขึ้น มีการได้รับประโยชน์มากขึ้น หรือว่าจะมีการใช้ในระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปนี่สำคัญมาก เธอจะต้องเอาไป ติดตัวไป ไปฝึกฝน ไปปฏิบัติ ไปทำให้เกิดความชำนาญ จะเปรียบสักอย่าง จะให้คำเปรียบสักอย่างสำหรับเณรเล็ก ๆ นี่ จะจำได้ง่าย ๆ จะเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าธรรมะนี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลส หรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในจิต เขาเปรียบกันว่า เหมือนกับว่าโจร หรืออันตรายอะไรก็ตามที่มันจะลุกลามเข้าไปในจิต เราจะต้องต่อสู้ ป้องกัน หรือทำลายมันเสียให้ได้ การที่จะเตรียมตัวนั้นมันต้องเตรียมกันในหลายขั้นตอน จึงอยากจะเปรียบหรืออุปมาต่อไปอีก ด้วยเรื่องของชาวบ้าน เช่นว่าเขาจะมีปืนไว้ป้องกัน หรือต่อสู้ หรือว่าทำลายไอ้โจร ขโมย เขาจะต้องมีปืนจริง ๆ คือปืนที่ใช้ได้ ไปหาเอามาไว้ นี่มันขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นน่ะ มันยังทำอะไรขโมยไม่ได้ เพราะมันเป็นปืนที่มาพิงข้างฝา ทีนี้มันก็ต้องหัดยิง ไม่ใช่ว่าหัดครั้งเดียวมันจะยิงถูกหรือชำนาญ มันต้องหัดกันเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะยิงถูก จนชำนาญ แคล่วคล่องว่องไวในการที่จะใช้ ถ้าขโมยหรือโจรมา จะได้ใช้ต่อสู้ป้องกัน แต่ทีนี้มันยังมีอะไรอยู่อีกอย่างหนึ่ง ในระหว่างนั้น คือความมีสติสัมปชัญญะที่จะใช้ปืนนั่นแหละให้มันถูกวิธี ให้ทันแก่เวลา ให้ถูกเรื่องถูกราวมันจึงจะเอาชนะโจรหรือผู้ร้ายได้ ถ้าใช้ผิดวิธี มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ และมันจะเกะกะจนทำอะไรไม่ได้ สู้กำปั้นลุ่น ๆ ก็ยังไม่ได้ ถ้าใช้ปืนมันไม่เป็น ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกเวลา มันก็เกะกะ ๆ หรือไม่ทันแก่เวลา สู้กำปั้นลุ่น ๆ ก็ยังไม่ได้ นี่อย่าอวดดี เดี๋ยวนี้มันจะอยู่ในลักษณะที่ไม่มีปืนกันเสียมากกว่า นี่ไม่ใช่ฉันจะพูดดูหมิ่นดูถูกสามเณร ที่พูดเปรียบเทียบว่าเดี๋ยวนี้อยู่ในระดับที่แม้แต่ปืนก็ไม่มี อย่าว่าแต่จะฝึกหัดใช้ให้ชำนาญ เอาไปยิงผู้ร้ายโจรขโมยได้ ท่าจะเหมือนกับว่ามาฝึกนี่ มาหาปืนติดเอาไปใช้คุ้มครองตนจนตลอดชีวิต ชั่วระยะหนึ่งเดือนนี้มันก็จะมีปืนกันบ้าง ไม่มีกันบ้างก็ไม่แน่ ถ้ามีกันบ้างก็จะได้หัดใช้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เพราะสังเกตดูมันยังไม่มีอะไรที่แสดงว่ามีการใช้อาวุธ คือธรรมะ หรือมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ สังเกตเห็นว่าเณรนี้ยังเผลอไปได้ ยังล่อกแล่ก หรือว่าจะ...อย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า ออกลิงนั่น ออกท่าลิงมันยังมีอยู่บ่อย ๆ ละไปไม่หมด ต้องคอยคุม ต้องคอยดุ ต้องคอยด่า จะลุกขึ้นเดินไปวิ่งมา ไม่เห็นมีสติสัมปชัญญะเลย ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะแล้วก็คือไม่มี ไม่มีความรู้สึก ไม่มีปัญญาอะไรที่จะใช้อาวุธปืนได้ และทีนี้ปืน คือธรรมะ กิเลสคือความ กิเลสหรือความทุกข์ คือผู้ร้ายชนิดหนึ่ง ๆ มีหลาย ๆ ชนิดด้วยกัน
ดังนั้นเราจะต้องรู้จักทุกชนิดที่มันเป็นอันตรายแก่เรา เราไม่อาจจะรู้หมด เราอาจจะรู้จักชนิดที่มันกำลังทำให้เรามีความทุกข์ หรือมีความไม่น่าดู น่าเกลียดน่าชังอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใดมีอาการอย่างนี้แล้วก็ดูให้ดีเถอะ มันมีการขาดสติสัมปชัญญะที่นั่นแหละ หรือว่าชนิดที่เรียกชื่ออย่างนั้น เดี๋ยวนี้มันมีมากชนิด เราก็คอยศึกษาไปทีละชนิด ๆ คอยสังเกตดูทีละชนิด แล้วก็จะรู้จักเพิ่มขึ้น ๆ ถ้าถึงกับมีความทุกข์ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แล้วก็เรียกว่ามัน มันผิดไปมากแล้ว เป็นอันตรายแล้ว เหมือนกับโจรเข้าไปปล้นถึงข้างในจิตใจแล้ว แล้วถ้าไม่ถึงอย่างนั้น มันเพียงแต่ว่า มันมีกิริยาอาการที่มันไม่งดงามไม่น่าดูอะไรอย่างนี้ก็ ถือว่าอย่างเดียวกัน มันมีข้าศึกตัวน้อย ๆ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่มีความรู้สึก เพราะไม่สังเกต เพราะไม่รู้สึก แม้จะเป็นทุกข์อยู่ ก็ไม่รู้จักสังเกตว่ามันเป็นทุกข์อยู่ ถ้าเป็นชนิดที่มันไม่ถึงกับเป็นทุกข์ ก็เลยยิ่งไม่ต้องรู้กัน เพราะมันเอาเรื่องสนุก หรือเอาเรื่องโลเลต่าง ๆ มากลบเกลื่อนเสีย เราจะต้องนึกให้ได้ว่าที่เขาบังคับควบคุมให้เราประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ให้ดีที่สุดตลอดเวลาที่มารับการอบรมนี่มันจำเป็น อย่าโกรธเลย ยินดีรับฝึกหัดให้ได้ตามนั้น แล้วก็ให้มันประทับกันอยู่ในความรู้สึก กลับไปบ้านนี่ก็เอาไปด้วยได้ เอาไปให้ ติดไปสำหรับใช้ต่อไปในเพศฆราวาส เป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียนก็ดี การทำการงานก็ดี การสังคมสมาคมเป็นอยู่กันก็ดี อะไรก็ตาม มีธรรมะตามที่เราได้รับฝึกฝน นับตั้งแต่เรื่องฉันอาหาร พูดแต่เรื่องฉันอาหารเรื่องเดียวก็พูดให้สว่างเลยก็ได้ มันมีรายละเอียดมาก มีข้อสังเกตมาก การกินอาหารที่ถูกต้องตามวิธีของบรรพชิต จะเป็นภิกษุหรือสามเณรก็ตาม มีอยู่มากได้รับการฝึกฝนอย่างไร ก็ให้มันติดไป อย่างน้อยก็ให้มันฉันเรียบร้อย ดีกว่าลิงกินแหละ ลิงกินข้าวอย่างไร มันไม่น่าดูอย่างไร นี่ลิงกินข้าว มันก็ควรจะดีกว่านั้น ฉันด้วยมือ ฉันด้วยภาชนะ ไอ้ลิงฉลาดบางตัวมันยังก้มลงไปกินโดยมันไม่ต้องใช้มือ มันก็ไม่เลอะนะ เณรนี่ฉันมือเลอะ มันก็ไม่น่าดู นี่ยกตัวอย่างนะ พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์อย่างนั้น แม้ฉันอาหารก็ต้องเรียบร้อยหมด แม้แต่มือที่ฉัน ก็มีน้ำล้างมือ มีน้ำสำหรับทำให้มือชุ่ม แล้วทำคำข้าวให้มันกลมกล่อมเรียบร้อย ถ้าเณรได้ท่องเสขิยวัตรทุกคืน ๆๆ ก่อนจะสึกออกไปนี่ก็จะดีมาก เพราะนั่นเป็นสมบัติผู้ดีของบรรพชิต ที่สึกออกไปแล้วก็ยังเอาไปใช้ได้ ถ้าไม่มีโอกาสศึกษาท่องมาก่อน ก็ไปเปิดดูทีหลังก็ได้ เรื่องนุ่งห่มอย่างไร กินอยู่อย่างไร ติดต่อกับผู้อื่นอย่างไร เข้าไปในหมู่บ้านจะต้องทำอย่างไรนี่มันยังใช้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็โดยใจความ แม้แต่การใช้จีวรนี่ ใช้อย่างไร จึงจะน่าดู จึงจะถูกต้อง เมื่อไรห่มคลุม เมื่อไรห่มไม่ เมื่อไรเปิดไหล่นี่ มันก็ยังมีเรื่องที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง เราเห็นพระแท้ ๆ มันยังใช้ไม่ถูกต้อง มันห่มคลุมเข้าไป แสดงความเคารพกราบลานี่มันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ได้เล่าเรียน นี่ตัวอย่างที่จะต้องสนใจศึกษาเล่าเรียน เมื่อบวชอยู่นี้ ได้อบรมกันอย่างไร ให้อดทนกันอย่างไรก็อุตส่าห์อด อุตส่าห์เอาไป จดจำกันเอาไป เอาไปคิดไปนึกไปประพฤติปฏิบัติอยู่เสมอ แล้วก็จะดีกว่าเมื่อยังไม่ได้บวช พ่อแม่นั่นแหลจะมองเห็นทีเดียวว่าไอ้ลูกคนนี้มันดีกว่าเมื่อยังไม่ได้บวช หลาย ๆ อย่างจะมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย กลับไปนี้เข้าโรงเรียนอีก ก็ให้ครูเขาชมได้ว่า เออ, ดีกว่าเมื่อมันยังไม่ได้บวช นี่ผลการเรียนของเราก็ควรจะแสดงออกมาให้ชัดเจนว่าเรียนได้ดีกว่าเมื่อยังไม่ได้บวช เพราะว่าเมื่อบวชนี่เป็นฝึกการบังคับตัวเอง ความอดกลั้นอดทน ความจริง
พอถึงตอนนี้ก็อยากจะบอกธรรมสักสี่คำ ที่มันเป็นที่สรุปเรื่องทั้งหมด ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ เขาเรียกว่าฆราวาสธรรม แต่มันใช้ได้แม้แต่บรรพชิต หรือผู้ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน ธรรมะนี้ก็มีอยู่สี่คำ คือ สัจจะ-ความจริง ทมะ-การบังคับตัวเอง ขันติ-ความอดทน จาคะ-การสละความชั่วหรือสิ่งชั่ว ท่องไว้เป็นมนต์ได้เลย ติดอยู่ที่ริมฝีปาก สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เป็นบทสรุปของการอบรมทั้งหมด ที่เราได้รับการอบรมมาแล้วตลอดเวลาหนึ่งเดือน
ข้อที่หนึ่ง สัจจะนี้แปลว่าจริง เธอได้เรียนรู้ความจริง แล้วเธอก็กลายเป็นคนจริง คือบูชาความจริง ไม่บูชาความเท็จ ถึงขนาดที่เรียกว่าเห็นแก่ความจริง ไม่เห็นแก่ชีวิต ถ้าชั้นดีเลิศมันเป็นอย่างนั้น รักษาความสัตย์ ความจริง ความถูกต้องยิ่งกว่าชีวิต มันยากตอนนี้แหละ จำไว้เป็นหลักก่อนก็ได้ว่าเราจะต้องเป็นคนจริง บูชาความจริง ที่เราได้ประพฤติจริงมาก็ดูสิ เราก็ได้ตื่นแต่ดึก ตามที่กำหนดไว้จริง มาทำวัตรสวดมนต์ หรือทำอะไรทุกอย่างตามที่ได้กำหนดไว้จริง ให้เต็มตามที่เราตั้งใจไว้ว่าจะฝึกฝนอะไรบ้าง ตลอดเวลาที่บวชหนึ่งเดือน เราจึงมีความจริงต่อหน้าที่ ๆ เราจะต้องทำ นี่คือความจริงมันอยู่ที่ตรงนี้ ที่จริงย่อย ๆ จริงขยายออกไปก็ว่า มันจริงต่อเวลา มันจริงต่อเพื่อนฝูง มันจริงอะไรออกไปอีกมากมาย แต่ความจริงสูงสุดนั่นคือ มันจริงต่อหน้าที่ ๆ เราจะต้องประพฤติ จะต้องกระทำ สึกออกไป ไป เป็นอะไร ก็ไปเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ ก็เรียกว่ามันมีหน้าที่ทั้งนั้น เราก็จริงต่อหน้าที่เหล่านี้ ถ้าจริงต่อหน้าที่แล้วมันก็โกหกไม่ได้ หลอกลวงใครไม่ได้ โกงเวลาก็ไม่ได้ โกงคนก็ไม่ได้ นี่คำว่าจริง หรือสัจจะนี่เป็นหลัก
ข้อที่สองเรียกว่า ทมะ ทอทหาร มอม้า อ่านว่า ทะ-มะ แปลว่าบังคับ มีความหมายว่าบังคับตนเอง บังคับตนเองนั้นน่ะ เขาอธิบายว่าบังคับจิต เมื่อบังคับจิตได้ มันก็บังคับกาย บังคับวาจา บังคับอะไรได้หมดแหละ ก็เรียกรวมกันเสียเลยว่าบังคับกาย วาจา ใจ แต่เมื่อถ้าบังคับจิต(26:34) ถ้าพูดละเอียดออกไปก็คือบังคับกิเลสที่มันมารบกวนจิต เดี๋ยวนี้ใช้คำว่าบังคับตนเอง ให้มันอยู่ในร่องรอยของสัจจะ ที่ได้พูดไปแล้ว พอไม่มีการบังคับ สัจจะมันมีไม่ได้ มันไม่รักษาไว้ได้ มันต้องบังคับให้มันรักษาไว้ให้ได้ เธอไปคิดดูเถอะ ที่เราออกไปนี้มันยังจะต้องมีการบังคับตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนกับว่าคุณกำลังฝึกอยู่นี่ เขามีการบังคับทุกอย่าง ถ้าไม่มีการบังคับ ก็หมายความว่ามันมีกิเลสเข้ามายึดครอง เราก็ทำไปตามอำนาจของกิเลส ทีนี้บังคับกิเลสออกไป ก็ทำแต่ตามที่มันถูกต้อง อย่างที่เรียกว่าดี ที่เป็นกุศล หลักทั่วไปในโลกเขาใช้คำว่า บังคับความรู้สึกฝ่ายต่ำ เธอจะสังเกตได้เองว่าความคิดบางอย่างบางครั้งมันนำไปในทางเลวหรือทางต่ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็น เพราะว่าเธอมันหยาบคาย มันไม่สังเกตให้ดี มันมัวแต่เล่นหัว มัวแต่หลุกหลิกโลเล นี่ถ้าเราสำรวมให้ดี เราก็จะมองเห็นว่า เอ้อ, ความคิดที่เกิดแล้วดึงไปทางต่ำนี่มันมากเหลือเกิน ทำให้เกียจคร้าน ทำให้เหลวไหล ทำให้ทำสิ่งเลว ๆ ชิงสุกก่อนห่ามนี่มีอยู่มาก ทั้ง(28.59)ไม่เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ นี่มันดึงไปแต่ในทางต่ำอย่างนี้ เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก ใช้เงินเปลือง จนเมื่อพูดตรง ๆ แล้วก็เรียกว่ามันเป็นลูกอุบาทว์ชาติชั่ว ไม่ควรจะเรียกว่าบุตรที่ดีของบิดามารดาเลย ล้างผลาญบิดามารดา เอาสิ เอากับความไม่บังคับสิ ความรู้สึกใฝ่ต่ำมันดึงไปอย่างนั้นไง เราก็ดึงมาในทางที่ตรงกันข้าม นี่ก็เรียกว่า บังคับ ข้อที่สอง เรียกว่าบังคับตัวเอง มันจะดิ้นรนไปในทางเลวอย่างไรก็ไม่ยอม คือจิตฝ่ายสูงบังคับจิตฝ่ายต่ำ จะทำได้อย่างไรเดี๋ยวค่อยพูดกัน
ที่นี้เมื่อมีการบังคับมันก็เกิดความเจ็บปวดขึ้นมา คือความไม่สบายเกิดขึ้น เพราะการบังคับ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยธรรมะข้อถัดไปอีก ข้อที่สามก็เรียกว่าขันตี ความอดกลั้นอดทน ทนจนเลือดตาไหล ไม่ยอมให้มันเลว ที่จะบังคับไว้เรื่อยไปให้มันอยู่ในความถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านก็เคยทำอย่างนี้ และเคยประสบความสำเร็จเพราะเหตุนี้ จึงได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ไอ้เราลูกศิษย์ก็ต้องทำตามเป็นแน่นอน ดังนั้นเธอต้องอดทน เดี๋ยวนี้เราก็ฝึกเรื่องอดทนอยู่มาก ในการนอนกลางดิน หรือว่าตากแดดตากน้ำค้าง หรือว่าต้องฉันอาหารในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งมันต้องการความอดทน อดทนต่อการบังคับบัญชา ของอาจารย์ของหัวหน้าที่เขาบังคับบัญชานี่ต้องอดทน ความรู้สึกเจ็บปวดในจิตที่มันเกิดขึ้น เพราะต้องปฏิบัติตามการบังคับบัญชานี่ก็ยิ่งต้องอดทน นี่ถ้ากิเลสมันจะมาขี่คอเราไปให้ทำเลว ไม่ได้ทำเลวมันก็เจ็บปวดในใจ นี่มันก็ต้องอดทน ถ้าเณรองค์ไหนมันติดบุหรี่พอไม่ได้สูบบุหรี่ ไอ้ความเงี่ยนมันบีบบังคับเหลือประมาณ มันก็ต้องอดทน ถ้าไม่อดทน มันก็ไปสูบบุหรี่อีก มันก็เป็นคนโกหกตัวเองไปทันที ไม่ได้ไปเที่ยวกลางคืน ไม่ได้ไปดูหนัง ดูไอ้เรื่องอบายมุขทั้งหลาย มันก็เจ็บปวดในจิตใจ มันก็ต้องอดทน เดี๋ยวนี้เธออยู่ที่นี่ ไปดูหนังไม่ได้ พอสึกออกไปอยู่บ้าน มันก็จะไปดูหนังอีก เมื่อไม่ไปมันก็ต้องอดทน อดทนมันก็เจ็บปวด มันต้องทน ต้องทน จนมันทนได้ จนไม่ต้องไป แล้วมันก็เคยชินเป็นนิสัยในการที่ไม่ต้องไป และก็ไม่ต้องทน แม้ว่าเรารู้ว่าไอ้ไปดูหนังไปอบายมุขนี่มันเลว แต่ความอยากมันก็ยังไม่ระงับ ดังนั้นลำพังความรู้อย่างนั้นมันยังช่วยไม่ได้ ก็ต้องอดทนช่วยอีกแรงหนึ่ง เราก็ไม่ต้องไปดู หรือไม่ต้องไปอบายมุข นี่ความอดทนมันดีอย่างนี้ ถ้าอดทนขนาดหนักได้อย่างนี้แล้ว อดทนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากมาย มันก็ต้องอดทนได้ ในการศึกษาเล่าเรียนก็ต้องอดทน แต่มันก็ไม่มาก ไม่เจ็บปวดมากเหมือนกับอดทนเกี่ยวกับไอ้การบีบคั้นของกิเลสนี้ เอาละเป็นอันว่าเธอต้องอดทนก็แล้วกัน เรียกว่าขันตี ทีนี้อดทน มันก็ยังมีขอบขีดจำกัด ถ้ามันเหลือขนาดนักก็อดทนไม่ไหว เขาจึงมีการระบายออกอยู่เป็นปกติ อย่าให้มันมากจนอดทนไม่ไหว แล้วก็ระบายความชั่ว หรือสิ่งชั่ว ที่มันไม่ควรจะมาอยู่ในใจนี้ออกไปเรื่อย ๆๆ โดยเอาความดีความงามความอะไรเข้ามาใส่เข้าไว้ ไล่ไอ้ความชั่วออกไป ความถูกต้องเข้ามา ความผิดพลาดก็ออกไป เหมือนน้ำใหม่เข้ามา น้ำเก่าก็ออกไป เราทำสิ่งที่ดี เหมือนน้ำ ๆ น้ำใหม่น้ำดีให้มากขึ้น ไอ้น้ำน้ำเก่ามันก็ออกไป ดังนั้นอย่าขี้เกียจที่จะประกอบกรรมดี ทุกโอกาสที่จะทำได้ แม้แต่ไหว้พระสวดมนต์ก็อุตส่าห์ทำ พิธีรีตองก็ทำไปก่อนก็ได้ ถ้ามันช่วยให้จิตใจอยู่ในร่องในรอยของความถูกต้อง
นี่ข้อสุดท้าย ก็เรียกว่า จาคะ คำนี้แปลว่า สละ สละอะไร สละสิ่งที่ไม่ควรมีไว้ ก็ไปคิดดูเอาเองว่าอะไรไม่ควรมีไว้ เลยได้เป็นสี่ข้อขึ้นมา สัจจะ ข้อหนึ่ง ทมะ ข้อหนึ่ง ขันตี ข้อหนึ่ง จาคะ ข้อหนึ่ง ที่เราจะต้องทำให้มีตามโอกาส
ทีนี้ถ้าจะให้มีได้มันต้องมีอีกอันหนึ่งมาช่วย คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เรียกว่าในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาสิ่งนั้นเรียกว่า สติ ใช้คำสั้น ๆ สองพยางค์ว่า สะ-ติ แต่ความหมายมากเหลือเกิน ประโยชน์มากเหลือเกิน ความจำเป็นที่จะต้องใช้สตินี่มากเหลือเกิน มากกว่าธรรมทั้งหลายทั้งหมดรวมกันด้วยซ้ำไป พอขาดสติเสียอย่างเดียวแล้วมันก็มีอะไรไม่ได้
แล้วจะ(36.03)มีสัจจะ ข้อที่หนึ่ง คือความจริงอยู่นี่ ก็ต้องมีสติ นำให้ระลึกได้ว่าสัจจะข้อไหน เราก็ระลึกได้ว่าเรามันอธิษฐานไว้ แล้วก็ระลึกตลอดไปถึงว่า ไอ้นี่มันจะทำให้เราเสียผู้เสียคน หมดความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีสัจจะนะ มันก็เลยมีสตินี่ช่วยให้มีสัจจะ ในหน้าที่ของสัจจะ สติก็ช่วยถึงที่สุด
ทีนี้มาถึงหน้าที่ของ ทมะ การบังคับตัวเอง นี่ก็ยิ่งต้องการความรวดเร็วแห่งสติ สติระลึกได้นี่ต้องวิ่งมาทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงจะบังคับตัวไว้ได้ ถ้ามิฉะนั้นละก็จะบังคับไม่ทัน เช่น พอโกรธ ก็ด่าเขาเสียแล้ว พอเขาพูดอะไรขัดหูหน่อยก็ด่าเสียแล้ว ไม่มีสติที่จะบังคับ ไม่มีสติที่จะยับยั้ง ไม่มีสติที่จะเตือนตนให้ยับยั้ง มันก็ทำผิดในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังนั้นเราจะต้องไปคิด ๆ ให้ คิดดูให้ทั่วถึง แล้วก็จดไว้ดีกว่า อย่าอวดดี พระเณรโง่ ๆ มันอวดดี ไม่จดไว้ มันว่ามันจำได้ มันโกหกมันเองโดยไม่รู้ตัว มันไม่อาจจะจำได้หรอก ดังนั้นอะไรที่มันจะต้องจด ก็ต้องจดไว้ อย่าประมาท อย่าอวดดี ว่าเรามีความชั่ว มีความเลว มีบาปอะไรกี่อย่าง จะได้ระลึกทัน พอมันผ่านมา ก็จะได้ระลึกทัน ก็จะได้บังคับตัวเองได้ คือสติมันจะระลึกไปถูกว่ามันมีอะไรที่ ๆ จะต้องบังคับ ถ้าปล่อยไว้อย่างเลือน ๆ พร่า ๆ มันก็ไม่มี ไม่มีวันที่จะบังคับได้ มันก็ไปทำผิดเสียหมดแล้ว ไปทำผิดในเรื่องกามารมณ์ซะแล้ว ไปโกรธ ไปฆ่าเขาซะแล้ว เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากมาย ไม่มีสติพอที่จะทำให้เกิดการบังคับตัวเอง
มาถึงเรื่องที่สาม คือขันตี ความอดทน มันก็มีไม่ได้อีกแหละ ถ้าไม่มีสติ ถ้าปราศจากสติมันไม่อดทน มันระลึกไม่ได้ แล้วมันไม่อดทน สติต้องวิ่งมาทันในกรณีที่มันจะต้องอดทน การบังคับตัวเอง เจ็บปวดขึ้นมา มันก็ไม่ทน มันก็ไปทำเสียแล้ว ก็ยกตัวอย่างไอ้เรื่องทิ้งบุหรี่อีกก็ได้ พอมันเงี่ยนกันมา มันไม่ทน มันไม่มีสติที่จะมาทำให้ทน มันก็ไปสูบบุหรี่อีกแล้ว ดังนั้นคนชนิดนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่ทิ้งบุหรี่ก็ทำไม่ได้ เราจะต้องอดทน ความเจ็บปวดก็ต้องอดทนด้วยสติ ความเจ็บไข้ ก็ต้องอดทนด้วยสติ เขาด่าเขาว่าก็ต้องอดทนด้วยสติ ทน ท๊น ทน ก็ต้องอดทนด้วยสติ ทนความบีบคั้นของกิเลสนี่ยิ่งต้องอดทนด้วยสติที่สูงขึ้นไป ก็ต้องมีสติ เห็นไหมว่ามันจำเป็นที่ต้องมีสติ
ทีนี้ขั้นสุดท้าย ที่สี่ เรียกจาคะ ตัดสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจออกไปเสียจากจิตใจ อ้าว,ก็ต้องอาศัยสติอีกแล้ว ระลึกได้ว่าอะไรนี่ อะไรกัน สละอย่างไรกัน สละให้มันทันแก่เวลา ทันท่วงที จะทำอะไร ก็ล้วนแต่ต้องทำด้วยสติทั้งนั้น สติเป็นเหตุให้ระลึกได้ว่าจะทำอะไร และเมื่อทำอยู่ก็ต้องมีสติควบคุมกันไป ควบคุมกันไป บางทีก็เรียกชื่อว่าสัมปชัญญะ แต่มันก็คือสติที่มันอยู่นั่นเอง และต้องมีสติทั้งหมด ทั้งหัว ทั้งท้าย ทั้งตรงกลาง คือตลอดเวลา เรามีธรรมะสี่ประการที่จะต้องฝึกปฏิบัติ คือสัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ แต่ละอย่างสำเร็จได้เพราะการมีสติ พูดอย่างอื่นอีกก็ได้ มีสติระวังทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็เรื่องเดียวกันแหละ ถ้ามีสติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ช่วยให้มีสัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะได้ วิธีพูดมีหลายอย่าง แต่ความสำคัญก็คือมีสติมาทันเวลา ป้องกันไม่ให้ทำสิ่งที่มันไม่ควรจะทำ แล้วก็รักษาให้การกระทำให้มันมีอยู่เรื่อย ๆ ไป ให้มันถูกกับสิ่งแวดล้อม ให้มันถูกกับเวลา ให้มันถูกกับสถานที่ ให้มันถูกกับบุคคล ให้มันถูกกับเหตุการณ์ ให้มันถูกกับอะไรทุกอย่างนี้ ให้มันถูกกับสิ่งแวดล้อม
สรุปแล้วก็เรียกว่ามันคุมจิตใจไว้ให้ปกติอยู่เสมอ คนเราพอขาดสติ จิตใจก็ไม่ปกติ จิตใจที่ไม่ปกติมันจะทำอะไรได้ เธอสังเกตดูเถอะ ถ้าสมมุติว่าอาจารย์โมโหขึ้นมานี่ อาจารย์ก็ทำผิดทั้งนั้นแหละ ต่อให้เป็นอาจารย์ชนิดไหน มันก็ต้องทำผิดทั้งนั้น พอมันโมโหขึ้นมา เพราะมันไม่มีสติ ทีนี้ลูกศิษย์มันจะร้ายไปกว่านั้นน่ะ พอไม่มีสติมันก็โมโหขึ้นมา มันก็ทำอะไรได้ ก็เลยเรียกว่ามันผิดหมดแหละ ผิดกาละ ผิดเทศะ ผิดอะไรสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ธรรมะก็เข้ามาไม่ได้ มีปืนสักสิบกระบอกก็ยิงผู้ร้ายไม่ได้ เพราะมันไม่มีความถูกต้องของสติที่จะใช้ปืนนั้น คือสติมันเสีย ใจคอมันผิดปกติ มันก็หยิบปืนก็ไม่ถูก มันยิงก็ไม่ถูกต้อง แม้ว่ามันจะเคยฝึกไว้ดีในเวลาปกติ แต่พอเกิดเรื่องเกิดราวขึ้น สติมันเสีย สติมันไม่มีมา มันมีแต่ความตกใจ มีความฟุ้งซ่าน เลยธรรมะทั้งหลายก็เป็นหมันไปหมด เปรียบเหมือนกับว่า คน ๆ หนึ่งมันมีปืนตั้งสิบกระบอก สิบชนิด พอเอาเข้าจริงมันใช้อะไรไม่ได้ เพราะมันไม่มีความปกติแห่งจิตใจ
การที่เรามาบวชแล้วฝึกสตินี่ ดีมาก แต่ดูไม่ค่อยได้ฝึกกัน เมื่อเช้านี้จะฝึกสติสัมปชัญญะในการฉันอาหารสักหน่อย ก็เปิดเพลงอะไรก็ไม่รู้ มีผู้หญิงมาร้องอยู่ แสดงว่าไม่สนใจในเรื่องการฝึกสติ เธอไปทำกันเสียใหม่ให้ดี ให้เป็นคนที่หุบปาก บังคับมือตีน ตัวนี่ ให้สติมันได้ก่อขึ้นมาได้ง่าย ๆ อุ้มอยู่ได้ง่าย ๆ สังเกตดูเถอะ คนมีสติมันจะพูดน้อย มันจะเคลื่อนไหวช้า ๆ เป็นปกติ มันไม่ล่อกแล่ก ๆ เหมือนไอ้ลิง เหมือนลูกเณรเป็นฝูง ๆ แล้วเห็นมีอาการเหมือนกับลิงอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้คือไม่มีสติ จำไปให้แน่นอน ให้มันแน่ชัดที่สุดว่าสติ ๆ นี่ แล้วไปแยกตัวออกไปเป็นสติในข้อนั้น สติในข้อนั้น สติในข้อนี้ มีธรรมะเท่าไหร่ ๆ ก็ มันต้องดึงไปหาสติ หรือสติเป็นสิ่งที่ดึงมา เราจะมีศีล เราจะมีธุดงค์ เราจะมีสมาธิ เราจะมีปัญญา ก็ต้องด้วยสติดึงมา สติควบคุมอยู่ สติมันรักษาไว้ นี่สอนกันน้อย เป็นบาปของใครก็ไม่รู้ เอาเรื่องสตินี่มาสอนกันน้อยเกินไปในวงการศึกษา โดยเฉพาะศึกษาธรรมะนี่ยังสอนสติเรื่องสติน้อยเกินไป เรื่องภาษาบาลีไม่ต้องพูดถึง มันไปเรียนภาษาต่างหากล่ะ มันไม่ได้เรียนธรรมะ แต่เรียนธรรมะ เรียนนักธรรมนี่ยังเรียนเรื่องสติน้อย ดังนั้นเราไปเพิ่มเอาเอง ไปเพิ่มเรื่องสติให้มันมากขึ้น เดี๋ยวนี้ถ้าจะสังเกตเห็นนี่ มันอยู่ที่ขาดสตินี่ ในวัดก็ดี ที่บ้านก็ดี ไม่เชื่อก็ได้ แต่ขอให้ไปสังเกต ไปรู้จักสติ ไปรู้จักไอ้ที่มันขาดสติ มันประพฤติผิด ก่ออาชญากรรม ไม่ ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนหน้าหนังสือพิมพ์ ไปดูสิ รายไหนก็รายนั้น เราท้า อาชญากรรมทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวันน่ะ รายไหนก็เอามาแยกดู มันก็เรื่องขาดสติของคนใดคนหนึ่ง กระทั่งว่าเรื่องที่มันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ของรัฐบาล หรือรัฐบาลเองก็ตาม ถ้ามันมีความผิดพลาดที่ไหน มันมีความขาดสติที่นั่น จึงไม่มีศีลธรรม หรือไม่มีระเบียบ ไม่มีอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เพราะว่ามันขาดสติ ขอให้จำไว้ว่าวันนี้ เวลานี้ เราพูดกะเธอสามเณรทั้งหลาย ด้วยคำที่สำคัญที่สุดคือ คำว่าสติ เพราะว่าเธอจะกลับบ้าน แล้วเราก็พูดเรื่องที่เธอควรจะพาติดไปบ้าน จะมีพระพุทธเจ้าคุ้มครองเธอ ก็ด้วยสิ่ง ๆ เดียวคือสติ นี่เป็นต้นเหตุ หรือจะพูดให้มันนั่นสักหน่อย ก็พูดว่ามีพุทธเจ้าองค์ที่ชื่อว่าสตินั่นแหละ เป็นองค์แรกตามไปคุ้มครองเราที่บ้าน จะมีพระพุทธเจ้าองค์ที่ชื่อว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะอะไรก็ตาม ตามไปคุ้มครองเราอยู่เป็นประจำ ธรรมะคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ตรัสว่าอย่างนั้น แล้วมีธรรมะชื่อนี้ ชื่อนี้ ชื่อนี้ ไปคุ้มครองเรา พระพุทธเจ้าองค์ที่จะมีประโยชน์ที่สุดแก่เด็ก ๆ เหล่านี้ ก็คือ สติ ป้องกันไม่ให้ผิดอย่างยิ่ง พอทำผิดลงไปแล้ว ทำให้นึกได้ทันที ก็หยุดเสีย แล้วก็มีสติ การที่จะแก้ไขไอ้ความเลวร้ายที่มันได้เกิดขึ้นแล้วนั้นให้มันหายไป ให้มันกลับคืนดีเสีย
นี่คือสรุป นี่คือคำสรุป ของสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม มีสติ ในความหมายที่กว้างขวางยิ่งกว่าภาษาไทยธรรมดา ภาษาไทยธรรมดาก็มีคำว่าสติ พูดเหมือนกัน แต่มันในความหมายที่มันแคบ ถ้าในภาษาพระธรรม ภาษาพระศาสนาแล้ว มันกว้าง กว้างเหลือประมาณ จะเป็นทั้งหมดของหลักธรรมะ หลักธรรมะนี้ถ้าว่าเขาให้สรุปรวมกันแล้ว เขาใช้คำว่า ความไม่ประมาท เพียงคำเดียวแหละ จำให้แม่น ๆ ความไม่ประมาทคำเดียวน่ะ เป็นที่สรุปรวมของไอ้ธรรมะทั้งปวง และความไม่ประมาทนั่นก็คือสตินั่นเอง เพื่อให้ลืมยาก หรือจำง่าย ท่านตรัสว่าไอ้ความไม่ประมาทนี่มันเหมือนกับรอยช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่โตที่สุด รอยมันโตที่สุด ให้รอยสัตว์อื่น ๆ ทั้งหลายมันใส่ลงไปได้ในรอยช้าง เช่นเดียวกับธรรมะทั้งหลายมันสรุปรวมลงไปได้ในความไม่ประมาท หรือสิ่งที่เรียกว่า สติ ๆๆ ถ้าเรามีสติ ก็คือมีทั้งหมดของธรรมะ เพราะว่าสติอาจจะดึงให้ธรรมะทั้งหลายมา ตามความเหมาะสมในเวลานั้น ในกรณีนั้น ในที่นั้น ในบุคคลนั้น ในสิ่งแวดล้อมอันนั้น เรียกว่าเป็นพระธรรมสูงสุด ดังนั้นไปฝึกหัดต่อไปให้มีสติมากขึ้น หลังจากที่ได้ฝึกฝนมาบ้างแล้วในการบวชคราวนี้ สังเกตดู เท่าที่อบรมสามเณรกันมาแล้วแต่หนหลัง หลายพวกแล้วนี่ก็อยากจะแสดงความรู้สึกตรง ๆ ออกไปว่ายังไม่ได้อบรมไอ้สิ่งที่เรียกว่า สติให้เพียงพอ เพราะว่าไปเพ้อเจ้อ หรือไปฟุ้งซ่านในเรื่องบางอย่างบางประการเสีย ไม่ได้เน้นในเรื่องของสติให้เพียงพอ เหลืออยู่เป็นหน้าที่ ที่ผู้รับการอบรมจะต้องไปทำเพิ่มเติมเอาเอง
ทีนี้พูดอีกนิดหนึ่งว่าจะมีสติได้อย่างไร หนังสือแบบเรียนสมัยเมื่อฉันเด็ก ๆ เรียนมันก็มีอยู่เล่มหนึ่ง เรื่องนับสิบก่อน เขาถ่ายทอดมาจากไอ้แบบเรียนของฝรั่ง ให้เด็กคนหนึ่งได้รับการสั่งสอนให้นับสิบก่อน แต่ที่จะพูดอะไรออกไป หรือทำอะไรออกไป มันปฏิบัติได้ดีมาก เรื่องมีว่าไอ้พี่ของมันทำกระป๋องเมล็ดผลไม้ เมล็ดพืชหก ไอ้น้องมันยังนิ่งอึ้งอยู่ นับสิบก่อน ยังไม่พูดออกไป ถามได้ความว่า ก็ต้องนับสิบก่อน ก่อนที่เขาจะตัดพ้อต่อว่า ว่าพี่มันทำกระป๋องเมล็ดพืชหก นี่เขาเรียกว่านับสิบก่อนอย่างนี้ ดังนั้นเราที่จะพูดอะไรออกไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความไม่พอใจนะ ต้องนับสิบก่อน คือเก็บไว้มันระยะหนึ่งก่อน อย่าพูดออกไป ให้มีสติมาทัน แล้วสติมันก็จะบอกเองว่า ควรพูดไหม แล้วควรพูดว่าอย่างไร แล้วก็พูดออกไปอย่างที่มีประโยชน์ ไม่อย่างนั้นมันจะพูดเลว ๆ ออกมา ด่าบ้าง อะไรบ้าง ไอ้ห่า ไอ้อะไรก็ไม่รู้ มันก็เลวหนักขึ้นไปอีก
แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนี้ ว่าให้มีการหยุดเพื่อโอกาสแก่สตินี่ก่อน เป็นเหตุให้นึกได้ว่าเราควรจะพูดอะไร จะทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องหยุดนานหน่อย แต่อย่าไปตีใจความความหมายมันผิด ไอ้เรื่องที่มันหยุดไม่ได้ มันก็มี เป็นเรื่องอันตราย อย่างนี้มันก็เป็นไปได้ตามอำนาจของสัญชาตญาณ สมมุติว่าเห็นเสือมาจะไปนับไล่ เสือไล่มาแล้วจะไปนับสิบก่อนอยู่มันก็ไม่ได้ สัญชาตญาณของมันก็พาให้วิ่ง แต่มันก็วิ่ง แต่มันก็ต้องวิ่งด้วยสติน่ะ ถ้าไม่วิ่งด้วยสติ มันหกล้มแหละ หรือว่าจะขึ้นต้นไม้ มันก็ต้องขึ้นด้วยสติ จะทำอะไรก็ต้องทำด้วยสติ ไอ้ทำทันทีโดยสัญชาตญาณนั้นก็ไม่ เท่าไหร่ไม่ให้โทษอะไร แต่ว่าสติต้องมาทันควัน เพื่อจะควบคุมการกระทำอันนั้น การพูดก็ดี การคิดก็ดี ก็มีสติก่อนแต่ที่จะทำ จะพูด จะคิด ให้มันมีสติ ในการทำ การพูด การคิด ถ้าเธอบวชในคราวนี้ ได้รับการฝึกฝนอันนี้อย่างเพียงพอ ก็เรียกว่า มีประโยชน์เหลือหลาย คุ้มค่ายิ่งกว่าคุ้มค่า ขอให้จำไว้ว่าสติ ๆๆ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ใช้ให้เป็นประโยชน์มาแล้ว แล้วก็ได้สอนคนที่เป็นสาวกให้รู้จักใช้ด้วย คำสอนของการปฏิบัติของท่าน แม้จะมีชื่อเรียกอย่างอื่นมากมาย หลายสิบอย่าง แต่มันมารวมอยู่ที่คำว่าสติ มีสติในการกระทำอย่างนั้น ๆๆๆ มีสติในการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อมันมีอะไรเกิดขึ้น หรือมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เอาตัวรอดได้ สติเลยเป็นที่สรุปรวมของธรรมะ เหมือนรอยช้างเป็นที่รวมของรอยสัตว์ทั้งปวง กลับไปบ้านแล้วอย่าให้ทิ้งไว้เสียที่นี่ ว่าสติอยู่ที่นี่ กลับไปถึงบ้าน สึกแล้วมันก็ลืม เมื่อก่อนบวชไม่เคยพูดถึงสติ ก็ตามใจ แต่ว่าเมื่อกลับออกไปทีนี้จะต้องเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าสติ นี่ก้องอยู่ในหู หรือว่าชินกับปากที่จะพูดออกมาสำหรับตักเตือนตนเอง หรือตักเตือนผู้อื่นที่ควรจะตักเตือน ให้คำว่าสติให้มันก้องอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อจะสอบไล่ ให้มีสติทุกกระเบียดนิ้วเถอะ จะสอบไล่ได้ดี หรือเมื่อเรียนก็เหมือนกัน เรียนด้วยสติทุกกระเบียดนิ้วเถอะ มันจะจำไว้อย่างแม่นยำ มันจะเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นแห(59.21)ความรู้ที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของเรา พอสอบไล่ก็มีสติสมบูรณ์ สอบไล่ได้ดี ความที่พอ ความที่ว่าพอเข้าห้องสอบแล้วมันประหม่าเสีย นี่มันก็ขาดสติ พอเข้าห้องสอบแล้วมันอวดดีเสีย มันก็ขาดสติ และยังมีอย่างอื่นอีกที่มันเป็นการขาดสติ ให้ทบทวนให้ดี ไม่ อย่างหน้าอย่างหลังอะไรดี มันขาดสติ เท่าที่พูดมานี้ ก็พอจะเข้าใจกันได้แล้วว่า ในทุกอย่าง ในหน้าที่การงานของมนุษย์มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสตินั่นเอง เรามาบวช ได้ฝึกสติ ก็เป็นการได้ที่ดีแล้ว ฉันก็ขอร้องพวกเธออย่างยิ่งว่าจงจำเอาคำนี้ไป สำหรับทำให้พระพุทธเจ้าจะติดตามเธอไปคุ้มครอง และไปช่วยให้เกิดประโยชน์ ฉันคิดว่าพูดกับเณรครั้งนี้ ก็เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ขอให้พรเสียเลยนะ ขอให้พรให้สามเณรทุก ๆ คนนะที่ว่าเดี๋ยวนี้ก็อยู่ในฐานะที่เป็นสามเณร เป็นผู้ที่ตั้งใจฝึกฝน ประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อความเป็นสาวกที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงได้งอกงามในทางของสามเณร แม้จะสึกกลับออกไปก็ไม่มีอะไรด้อย หรือลดลงไปในส่วนคุณธรรมของมนุษย์ ที่เกี่ยวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็มีความเจริญอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
(เณร) สาธุ
ไม่สาธุกันแต่ปากนะ สาธุแปลว่า สำเร็จ สำเร็จ ก็สำเร็จด้วยสตินะ