แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องว่า ควรจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการทำสมาธิชนิดที่พอเหมาะแก่เด็กนักเรียน นักศึกษา นิสิต มันก็ต้องปรับปรุงบ้าง อย่าให้ (นาทีที่ ๐.๕๖ – ๑.๑๕) เกี่ยวกับสมาธินี้ ขอให้เข้าใจว่ามันเหมือนกับสิ่งสารพัดนึกในทางเรื่องของจิตใจ มันเหมือนกับสิ่งสารพัดนึกในเรื่องทางจิตใจ เช่นเดียวกับว่าเงินนี้มันเป็นสารพัดนึกทางวัตถุ และก็เรื่องทางจิตใจจะเป็นเรื่องสมาธินี่ จะเป็นเรื่องสารพัดนึก ว่าเราจะใช้อะไรก็ได้
ถ้ามันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในทางจิตใจและไปคู่กันกับร่างกาย หรือเอาไปใช้บังคับร่างกายได้อีกต่อหนึ่ง เนื่องจากไอ้ความสุขนี่เป็นเรื่องทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ที่เขาค้นคว้าจนพบในเรื่องที่เกี่ยวกับสมาธิ คือ เป็นอุบายที่จะใช้จิตใจให้เป็นประโยชน์ที่สุดที่จะเป็นได้ นี้ก็เรียกว่า สมาธิภาวนา คือ การทำจิตให้เจริญด้วยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ
ถ้าเป็นเรื่องทางโลก ๆ เช่น เป็นนักเรียนนี้ เราก็ต้องการจิตที่มันดี ที่เจริญ จิตที่เจริญ เช่น จำเก่ง นึกเร็ว ตัดสินใจเร็ว อะไรทำนองนี้ ไม่หวั่นไหวง่าย สุขุมรอบคอบ คือ ไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน แม้แต่เป็นนักเรียน มันยังมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเป็นนักรบ นักสู้ นักต่อสู้ นักรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยโบราณที่เขารบกันด้วยอาวุธสั้น ตัวต่อตัว ยิ่งต้องการจิตที่มันดี ถ้าจิตไม่ดี มันแพ้ตั้งแต่ทีแรกแล้ว และต้องเป็นจิตที่แคล่วคล่อง ว่องไว ไหวพริบไปทุกอย่าง
การอบรมจิตนี้จึงมีประโยชน์ไปทุกด้าน คือ ไม่มีอะไรที่ว่าจะไม่ จะไม่ต้องการใช้จิตที่ดีให้เป็นประโยชน์ ช่วยกันจำไว้ เราอาจจะบังคับร่างกายไว้ได้ด้วยจิต บังคับร่างกายโดยผ่านทางจิต หรือบางทีก็หวนกลับมาบังคับร่างกายได้ มันก็บังคับจิตใจส่วนที่เนื่องอยู่กับจิตได้เหมือนกัน มันก็เกี่ยวกันอยู่ คือว่าส่วนใหญ่มันอยู่กับจิต ที่ว่าคนมีกำลังใจสูง เขาทำอะไรได้บ้าง มีกำลังใจเข้มแข็ง ก็ทำได้ทน ได้ทน ต่อสู้ได้ดี
เดี๋ยวนี้เราอย่าเอาให้มากถึงขนาดนั้นเพราะว่าเรากำลังเป็นเด็ก ไม่ว่าเด็กนักเรียนอย่างเณร เณรตัวเล็กนี้เรียนชั้นไหนล่ะ ฮะ,ตัวเล็กกว่าเพื่อนนี้เรียนชั้นไหน ขึ้น ป.๗ ปีนี้ เราก็สงสัยว่า ๆ เพื่อจะหาความรู้อะไรที่นี่ แล้วตัวนี่ คนที่สองนี่ล่ะ ป.๔ ขึ้น ป.๕ อยู่นี่ แล้วคุณล่ะ มศ.๔ มศ.ป็นเด็กกำลังย่าเอาให้มากถึงขนาดนั้น้ก๕ ไล่กันอยู่ ไม่เคยสอบไล่ตกเลยเหรอ เคยสอบไล่ตกไหม ไม่เคยทั้งนั้นเลย
การเล่าเรียน และการผ่อนคลายร่างกายดี การต่าง ๆ ดี การอนามัยดี ต้องการจิตใจดี ทีนี้เราก็เพียงแต่ว่ามุ่งหมายให้มีประโยชน์ในการศึกษา ไม่ได้ทำสมาธิให้บรรลุมรรคผลนิพพานนะ แต่มันก็เป็นประโยชน์ เป็นการทำร่องรอยที่ดีไว้นะ หรือว่าบวชเณร บวชพระกันทั้งที ก็ควรจะรู้จักทำสมาธิบ้าง นี่ก็คิดว่า วันนี้จะพูดเรื่องสมาธิบ้าง ก็เนื่องจากชุดหนึ่งก็จะกลับ ก็ควรจะได้ฟังเรื่องนี้บ้าง นี่จึงเปลี่ยนเป็นเรื่องสมาธิ ทำการอธิบายเรื่องสมาธิ
สมาธิที่ง่าย ที่ไม่มีอันตราย ที่สะดวก ก็เรียกว่า อานาปานสติ จะ ๆ เล่าเรื่องให้ฟังนะ อานาปานสติเสียก่อน เมื่อเราก็หายใจกันอยู่ทุกคนและก็ตลอดเวลา นั้นจึงสะดวกที่ว่าเราจะทำสมาธิโดยอาศัยการหายใจเป็นหลักหรือเป็นบทเรียน เป็นการฝึกให้การหายใจ มันดีที่สุดด้วย ก็เลยร่างกายก็สบาย การหายใจดีที่สุด ร่างกายก็สบาย นี่เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ได้เองทุกคน และการหายใจถูกต้องตามวิธีนี้ มันยังมีผลในทางจิตส่วนหนึ่ง
การทำสมาธิที่เรียกกันว่า วิปัสสนาธุระนี้มีอยู่สอง สองตอน ตอนที่ทำจิตให้เป็นสมาธินี่ตอนหนึ่ง ตอนทำจิตให้เห็นแจ้งความจริงที่เราต้องการจะเห็นแจ้งตอนหนึ่ง อย่าเอาไปปนกัน ตอนแรกนี้เขาเรียกว่า สมาธิ หรือ สมถะ โดยตรง ทำจิตให้มันสงบ ให้มันดี ในการที่ทำหน้าที่ของจิตแค่นี้ เท่านี้ตอน และพอถึงตอนจะให้จิตพิจารณาความจริง จนรู้ความจริง แล้วมันก็อีกเป็นตอนหนึ่ง ตอนนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนา หรือ สมาธิภาวนา อีกชั้นหนึ่ง
เราจะพูดกันในตอนแรกที่ว่า ทำจิตให้เป็นสมาธิที่จะไปใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ในตอนหลัง จะไม่อธิบายตามหลักที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ซึ่งยืดยาด ยืดยาว ซับซ้อน แต่ปรับปรุงเอามาให้พอเหมาะสมกับที่แม้สามเณรก็จะจำได้ และเข้าใจได้ ให้เป็นสมาธิก็คือ จิตกำหนดที่ลมหายใจแรก ๆ ทุกครั้งที่หายใจ แล้วต่อไปก็ใช้อื่นแทนกำหนดอยู่ทุกครั้งที่ลมหายใจนั้นหายใจอยู่ แต่เอาเพียงว่ากำหนดลมหายใจได้ หรือกำหนดลมก็ได้ ทีแรกก็เรียกว่า จะขอเรียกให้จำง่าย ๆ นะว่า วิ่งตามลม ลมหายใจเข้าวิ่ง สติความรู้สึกของเราวิ่งตามเข้าไป หายใจออกมาก็กำหนดวิ่งตามออกมา
สมมติหรือว่าทำ แสร้งทำเหมือนกับว่าไอ้ลมหายใจนี้ที่วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกนี้เป็นตัวอะไรสักตัวหนึ่ง และจิตหรือสติของเราก็เป็นเหมือนกับเรา เด็กวิ่งตามมันเรื่อย อย่างนี้ก็เรียกว่าวิ่งไล่กันเรื่อย เข้าออก เข้าออก เข้าออก พอจะเข้าใจได้ จำง่าย เรารู้อยู่แล้วว่าลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก นี้การไล่ตามด้วยสติ กำหนดด้วยสติก็มีเด็กคนหนึ่งไล่ตามสัตว์ คือ วิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปสุดโน้นก็กลับมาทางนี้ วิ่งมาสุดนี้ก็กลับไปทางโน้น วิ่งตามกันอยู่อย่างนี้ อย่าให้ขาดตอนได้
อย่างอันดับแรก ถ้าเกิดทำได้ก็เก่งไม่หยอกแล้วนะ พอวิ่งตามเข้าไปนี้ บางทีไม่ทันจะถึงสุดทางโน้น สมมติว่าที่สะดือนี้ ความคิดมันหนีไปอื่นแล้ว มันไปรู้สึกอยู่ที่กับสิ่งอื่นที่อื่นแล้ว ช่วงที่เราหายใจเข้าไปประมาณหนึ่งวินาที น่าจะช้าที่สุดก็ราวสองสามวินาที หายใจเข้าไปครั้งหนึ่ง หายใจออกครั้งหนึ่ง สองสามวินาที สี่ห้าวินาที ถ้าจะหายใจช้าหรือหายใจเร็ว หายใจเร็วก็สั้น หายใจช้าก็ยาว
ต้องสมมติให้เก่งหน่อย สมมติว่าลมหายใจนี้เหมือนกับสัตว์ชนิดหนึ่ง ตั้งต้นวิ่งจากตรงจะงอยจมูกนี้ วิ่งเข้าไปตามหลอดลม ผ่านลงไป สมมติ ๆ นะว่ามีท่อลงไปถึงสะดือ เราเอาความกระเทือนเป็นหลัก เราไม่เอาความจริงหรือข้อเท็จจริงของร่างกายเรื่องปอดนั้น ๆ ไม่สนใจ ให้ทำเหมือนกับว่า มันมีปล่องอยู่ปล่องหนึ่ง แล้วมีลมวิ่งไปวิ่งมาจากจมูกไปถึงสะดือ จากสะดือไปถึงจมูก ให้มันวิ่งเข้าวิ่งออกอยู่อย่างนั้น เอาความกระเทือนนี้เป็นหลัก ความกระเทือนที่มันแสดงออกให้เรารู้สึกได้ที่หลอดลม ลำคอ กระทั่งที่ท้อง ความกระเพื่อมของมัน วิ่งตาม จนทำให้ได้เสียก่อน
จะกินเวลาสักเท่าไหรก็สุดแท้ หนึ่งอาทิตย์ สองอาทิตย์ พยายามทำบ่อย ๆ นี่ก็วิ่งตาม โดยความมุ่งหมาย จะทำให้มันเป็นสมาธิ ให้จิตเป็นสมาธิ นี้ก็มีผลพลอยได้ที่เราจะขจัดอารมณ์ร้าย ๆ ความคิดที่ไม่ดีออกไปด้วย ออกไปได้ด้วยการทำอย่างนี้ เช่น เราโกรธใครมา เรามานั่งทำอย่างนี้ มันก็หายโกรธ หรือว่าเราเหนื่อยมา ไปทำอะไรเหนื่อยมา เรามานั่งทำอย่างนี้ มันจะหายเหนื่อย หรือบางทีว่าเราหนวกหูสิ่งแวดล้อมข้าง ๆ เราลองทำอย่างนี้ มันจะไม่หนวกหู มันจะไม่ได้ยินที่เขาทำอะไรหนวกหู
ทีนี้คนเขลา ๆ ก็ว่า เอ้า,มันหนวกหูทำไม่ได้ มันเป็นเรื่องอ่อนแอเกินไป เราต้องการทำเพื่อแก้หนวกหูเหรอ ไล่ความหนวกหูออกไป มันหนวกหู มันทำไม่ได้ ไอ้คนมารยาสาไถหรือไม่จริง เขาส่งจิตเข้าไปข้างในแล้วก็หายใจให้แรงเข้า จนมีเสียงเกิดขึ้นจากการหายใจ ซู่ซ่า ซู่ซ่า แล้วก็ฟังด้วย สติกำหนดด้วย หูฟังด้วย ก็ได้ยินข้างใน ได้ยินเสียงข้างนอก
ข้อนี้ให้ทดลอง เมื่อกลับไปกรุงเทพฯ คราวนี้เมื่อนั่งในรถไฟ เราทำไม่รู้ไม่ชี้ ก้มหน้าหลับตาเหมือนกับง่วงนอน กำลังกำหนดอย่างที่ว่านี้ จะไม่ได้ยินเสียงรถไฟ เสียงคนพูด เสียงอะไร ทำได้ แม้แต่เสียงที่มันดังอยู่ใต้ถุนรถดัง ปั๊บ ๆ ๆ ๆ นี่ก็ไม่ได้ยินก็ได้ แต่ถ้าเสียงใต้ถุนรถที่ดัง ปั๊บ ๆ ๆ ๆ มันสม่ำเสมอดี เราเอาเสียงนั้นเป็นอารมณ์เสียทีหนึ่งก่อนก็ได้ แทนที่จะใช้ลมหายใจ ใช้เสียงปั๊บ ๆ ใต้ถุนรถมากำหนดอยู่ที่นั่นก็ได้ แต่เราต้องการให้กำหนดลมหายใจ
ทีนี้เรื่องวิ่ง ๆ ตามนี้จะพูดกันอย่างเดียว มันก็ท่าจะได้น้อย เพราะฉะนั้นลองทำดูเลย นี่เขาชะโงก ได้ยินหรือเปล่า ที่พูดนี้ได้ยินหรือเปล่า เราต้องนั่งตัวตรง หลังโก่งนั้นไม่ได้ หายใจไม่คล่อง แล้วก็ต้องนั่งขัดสมาธิด้วย นั่งขัดสมาธิด้วย นั่งขัดสมาธิแล้วเหรอ ออกขาให้เห็นสิ ออกให้เห็นขา เห็นเท้าสิ เอาเท้าออกมาให้เห็นสิ เอาเท้าออกมาให้เห็น เอาผ้าเข้าไปสิ ทั้งสามคนให้ห่างกันหน่อย เบียดกันนะ นั่งขัดสมาธิสิ ให้เท้าเห็น เห็นเท้าทั้งสองเท้าสิ แถวหน้านี้ทั้งหมดนี้ลองพยายามทำ เอาจีวรออกเสียให้เห็นก็จะดูว่าขามันถูกหรือไม่ถูก ทำเหมือนกับเหยียดขาออกมา เหยียดขาออกมาแล้วชักกลับเข้าไป ข้างซ้ายก่อน ข้างขวาทีหลัง นี่ท่าจะเคยทำมาแล้วมั่ง ก้มอย่างนี้ไม่ได้ หายใจไม่คล่อง ยืดให้มันตรงสิ ยืดให้ตรงอีก อย่าก้มสิ
เอ้า,พูดเรื่องนั่งก่อน เราเป็นคนไทยแล้วก็ได้รับวัฒนธรรมอินเดียมาหลายสิบชั่วคนแล้ว ต้องนั่งขัดสมาธิได้ ไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่จีน พวกจีน พวกฝรั่งเขาขัดสมาธิไม่ได้ มันก็จะต้องนั่งชนิดที่แน่นแฟ้นและก็สะดวกแก่การหายใจ แน่นแฟ้นนี้หมายความว่าไม่ล้ม ที่เราเอาขาซ้ายเข้ามาก่อน ที่เราเอาขาขวามาทีหลัง มันมาทับอยู่บนขาซ้ายนี้ อย่าให้เห็นขาอย่างนี้ นี่คุณ เอาอันนี้ขึ้นมาไว้บนนี้อีกทีหนึ่ง อันนี้ขึ้นมาไว้บนนี้อีกทีหนึ่ง ให้มันไม่มีอะไรที่ ไม่มีกระดูกที่ถูกพื้น นี่ ๆ นั้นตาตุ่มมันถูกพื้นต้องเอาอันนั้นขึ้นมาไว้ข้างบน ยกขึ้นมาไว้ข้างบนทีหนึ่งสิ อันนั้นยกมาไว้ข้างบนนี้ นี่มันไม่มีตาตุ่มที่ถูกพื้น ไม่มีตาตุ่มอันไหนเหลืออยู่สำหรับถูกพื้น กระดูกเข่ามันก็ไม่ถูกพื้น ใช่ไหม เขาเรียกว่ามันไม่เจ็บ จะนั่งสมาธิ จะกี่ปี กี่ปี ตาตุ่มมันก็ไม่เกิดสะเก็ด เพราะมันไม่เคยถูกกับพื้น เพราะมันมีเหมือนกับของรองนั่งที่ดีอยู่แล้ว คือกล้ามเนื้อทั้งหลายนี่ กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแข้ง มันช่วยรองให้ แล้วไม่มีกระดูกที่ถูกพื้น
ทีนี้เราตั้งให้มันตัวตรงเพื่อให้หายใจได้สะดวก อยากให้ตัวตรงก็ต้องดัดสิ ดันให้เข่านี้ออกไป นี่เอาขึ้นมาบนนี้ แล้วทีนี้ทำอย่างนี้ มันก็ตรงสิ ถ้ามัวงอแขนอยู่ มันก็ยังไม่หมดหรอก คุณทำให้มันตรงดีกว่า ในชั้นแรกจะเหยียดมันให้ตรงก่อนสิ นี่ ๆ ทำอย่างนี้สิ ให้ตัวมันตรง กระดูกสันหลังมันเหยียดหมดสิ นี้ก็หายใจได้ หรือจะปล่อยตามสบายบ้างก็ได้ หรือถ้าหลังมันจะงอก็ดันมันไปอีก เหยียดไปอีก นี่หายใจให้เข้ารูปเสียบ้างก่อนสองสามครั้ง สี่ห้าครั้ง หายใจยาวสุดเหวี่ยง เข้าและออก หายใจยาวสุดเหวี่ยง
ไม่ต้องหลับตาหรอก อยากจะแนะว่าอย่าหลับตาเลย คนแรกนะมันชวนง่วงเร็วเกินไป ตามันร้อนด้วย ให้ลมมันได้พัดลูกตาไว้ก่อนดีกว่า มันไม่ร้อน ถ้าพวกโยคีแท้ ๆ เขาลืมตานะ เขาจะตั้งต้นด้วยการลืมตา ทำเหมือนจะดูปลายจมูก เบิ่งตาให้มากที่สุดเลย ทำเหมือนจะดูจมูกให้เห็น จะต้องเบิ่งตาดูเหมือนจะดูจมูกให้เห็นอย่างนั้นแหละ มันไม่เห็น มันไม่เห็นชัด แต่เราพยายามจะดูจมูก เพื่อว่าอย่าให้ตาของเรามันไปดูสิ่งอื่น ที่อื่น อย่างนี้เป็นการง่วงนอน เณรทำเหมือนดูจมูกสิ ลืมตาสิ ทำไมล่ะแค่นี้ เจ็บปวดอะไรนักล่ะ อย่าเพิ่งซ้อนมือก็ได้ อย่าเพิ่งซ้อนมือ อยากให้มืออยู่เฉย ๆ ตามสบาย ไปซ้อนมือ มือมันร้อนขึ้นมาอีก ไม่ต้องซ้อนมือ เอาไว้บนหัวเข่าทั้งสองมือ แล้วทำพยายามจะดูปลายจมูก แล้วหายใจเข้าให้ยาวที่สุด หายใจออกให้ยาวที่สุด ช้า ๆ ที่สุด เป็นการทดลองดูก่อน
ไหนลองหายใจให้มันยาวให้มันดังได้ยินซิ ไม่ต้องละอายสิ ไม่ต้องละอาย หายใจยาว ยาวจนท้องแฟ่บ หายใจเข้ายาวจนท้องแฟ่บ ทำเร็วนะนี่ อย่ารีบสิ ทำช้า ทีแรกมัน ท้องมัน หายใจเข้าท้องมันใหญ่อยู่ เราหายใจให้เข้าไปอีก ปอดมันกางออก ท้องข้างล่างมันก็แฟ่บ นี่เขาเรียกว่าหายใจเข้าสุดเหวี่ยงจนท้องแฟ่บ จริงไหม ลองดู มันบานที่นี่ ตรงนี้มันแฟ่บเข้าไป หายใจเข้าเต็มที่ ท้องมันแฟ่บ ทีนี้หายใจออกให้สุดความสามารถสุดเหวี่ยงอีก ทีนี้ปอดมันจะแฟ่บ แต่ท้องมันจะต้องช่วยเนื้อที่ให้ปอดแล้วท้องมันก็ป่องออกไป ถ้าเราหายใจตามธรรมดา หายใจเข้าท้องพองขึ้นมา หายใจออกท้องยุบนี้มันก็จริง แต่อย่างนั้นมันไม่ใช่ยาวที่สุด ไม่ใช่เข้าที่สุดหรือออกที่สุด
ทีนี้เราก็ปล่อยตามสบาย รู้ว่ายาวที่สุดนะ ยาวที่สุด ออกยาวที่สุด เข้ายาวที่สุดอย่างไร ก็ปล่อยตามสบายดูบ้าง เพียงเท่านี้ก็กินเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันกว่าจะรู้จักไอ้การหายใจ รู้เท่าทันของการหายใจ รู้ธรรมชาติของการหายใจ ไม่ใช่ทำเดี๋ยวนี้จะรู้เดี๋ยวนี้ นี่ก็เอาเป็นว่าวิ่งตามลมหายใจ บางครั้งมันก็สั้น บางครั้งมันก็ยาว มันแล้วแต่อารมณ์ของเรา ทีนี้เมื่อเราวิ่งตามอยู่ เราก็รู้สิว่าทีนี้มันหายใจสั้นกว่าที่แล้วมา หายใจยาวกว่าที่แล้วมา
ทีนี้จิตของเรายังไม่เป็นสมาธิ ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อารมณ์มันไม่คงที่ อารมณ์ดีหายใจยาว อารมณ์ละเอียดหายใจยาว อารมณ์มันเกิดหยาบเกินก็หายใจสั้น เราก็เป็นนักเลงสังเกตดูการหายใจมันสั้นหรือยาว มันยาวแค่ไหน มันสั้นเท่าไหร่ หายใจเข้าออกอยู่ทำสติเหมือนกับวิ่งตามอยู่ ไม่ต้องกระดุกกระดิก อยู่นิ่ง ๆ หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก แล้ววิ่งตาม ถ้าวิ่งตามไม่ถนัดก็หายใจให้แรงเข้าอีก ยังไม่ค่อยถนัดอีก หายใจให้มีเสียงไปอีก พอมี (นาทีที่ 27:39) ดังเหมือนกับนกหวีด สอนให้ทำดู ดังเหมือนกับนกหวีด นี่ให้ได้ดัง ๆ ซู้ด ๆ เข้าหรือออก เข้าหรือออก เพื่อว่าเราจะจำง่าย จะสังเกตง่ายว่าเข้าหรือออก เข้าถึงไหนแล้ว สุดหรือยัง ออกมาหรือยัง มันไม่ต้องละอาย หายใจให้มันยาวมันให้มีเสียง
ตานี้ก็พยายามจะดูปลายจมูกไว้เรื่อยเพื่อป้องกันไม่ให้มันง่วง หัดบังคับว่าประสาทได้มากด้วยว่าเราได้ลืมตา เราไม่ดูอะไรก็ได้ เราลืมตาอยู่ เราไม่ดูอะไรก็ได้ เห็นไหมว่ามันไม่สม่ำเสมอ มันไม่เท่ากันทุกที เห็นไหม มันยังไม่เท่ากันทุกที บางทีลึก บางทีตื้น บางทีสั้น บางทียาว มันก็รู้อยู่ได้เองว่า เรามันยังเหลวไหล หายใจก็ยังไม่สม่ำเสมอ สั้นบ้าง ยาวบ้าง ร่างกายก็ยังไม่เรียบร้อย ความร้อนในร่างกายก็ยังไม่เรียบร้อย
เอาสิ เณรตัวเล็กหายใจ หลังตรงหน่อยสิ ขัดสมาธิกว้างหน่อย ยืดตัวตรง ๆ อีก แล้วก็ไม่ต้องดูใครดูปลายจมูกอย่างเดียว หายใจเข้าจนสุดแล้วหายใจออกมา สมมติเหมือนกับวิ่งเปี้ยวก็ได้ ข้างนอกมันอยู่ที่จะงอยจมูกที่ตรงนี้ ที่มันกระทบตรงนี้ ข้างในสมมติว่าที่สะดือ เราหายใจวิ่งพันอยู่ที่สองจุดนี้แล้วก็วิ่งตามเรื่อย เดี๋ยวก็ค่อยมีความรู้ว่าหายใจอย่างไร สั้นคืออย่างไร ยาวคืออย่างไร หยาบคืออย่างไร ละเอียดคืออย่างไร นี่ใครรู้บ้าง หายใจหยาบ ๆ คืออย่างไร หายใจละเอียดกว่าคืออย่างไร ละเอียดอีกคืออย่างไร
นี่ข้อแรกที่สุด ขั้นแรกที่สุด นั่งให้เป็น หายใจให้กระดูกสันหลังให้มันเหยียดตรง ถ้าจมูกไม่เรียบร้อยแก้ไขได้ด้วยการสูดน้ำล้างบ่อย ๆ ก็หัดเพ่งดูจมูกเพื่อให้ตาไม่เห็นอะไร หัดฟังลมหายใจจนหูไม่ได้ยินอะไร แล้วชั้นแรกแค่หายใจให้มันยาวหน่อยพอได้ดี มันฟังของมันง่าย หูมันฟังลมหายใจได้ง่ายหน่อย ตาที่ลืมอยู่ก็ไม่เห็นอะไร หูที่ยังดีอยู่นี้ก็ไม่ได้ยินอะไร เพราะมันฟังลมหายใจกันหมด
นี้มันเป็นสมาธิอย่างไร เป็นสมาธิตรงที่ว่า เดี๋ยวนี้จะเรียกว่า จิต ก็ได้ จะเรียกว่า สติ ก็ได้ จะเรียกอย่างโง่ที่สุดว่า เรา ก็ได้ สติ หรือ จิต หรือ เรา มันกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ถ้าเราจะใช้คำว่า เรา มันก็ชักจะฟังยาก ก็ใช้คำว่า สติ ทีนี้สติของเราวิ่งตามลมหายใจ คือ ผูกติดอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจเข้า มันเข้าไปด้วย ลมหายใจออก ออกมา แต่ถ้าพ้นปลายจมูกแล้วไม่ต้องนะ ไม่ต้องสนใจมันจะไปไหน หยุดกันแค่นั้น
นี่ระวังให้ดี มันมีระยะอยู่ระยะหนึ่งซึ่งมันอาจจะหนีไปได้ คือ ระยะที่ว่าพอสุดมักจะเปลี่ยนกลับเป็นอย่างอื่น ตอนนั้นมันมีที่ว่างให้มันหนี ก็จิตมันผูกติดไปกับลมหายใจ พอสุดยังไม่ทันจะออก ตอนนั้นมีที่ว่างที่มันจะหนีไปเสียแล้ว พอหายใจออกตามมา ตามมา ตามมา พอหายใจออกสุดช่วงก่อนที่จะกลับนี้มันมีโอกาสที่จะหนีอีกครั้ง ช่วงหัวท้ายมีโอกาสที่สติจะไม่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ คือ มันจะหนีเสีย นั้นต้องระวังตรงนี้ให้ดี
นี่เรามีเวลาเพียงชั่วโมงเดียว คืนเดียว นี้มัน ๆ ได้แต่บอกวิธีแค่นั้น มันจะซ้อมอะไรกันมากก็ไม่ได้ นี่วิ่งตาม มันวิ่งตามไปเรื่อย ๆ เพื่อให้รู้เรื่องยาว เรื่องสั้น เรื่องหยาบ เรื่องละเอียด เรื่องระงับหรือเรื่องกระสับกระส่าย การหายใจของเราคราวนี้กระสับกระส่ายหรือระงับดี หยาบหรือว่าละเอียดดี ยาวหรือว่าสั้น ยาว ๆ กี่มากน้อย ยาวมากยาวน้อย สั้นมาก สั้นน้อย ศึกษาธรรมชาติล้วน ๆ ของลมหายใจจนเข้าใจดีในการทำบทเรียนอันแรก
เพราะว่าต่อไปนี้เราจะต้องจัดการกับมันแปลกออกไป แปลกออกไป แปลกออกไป เช่น หยาบทำให้ละเอียด ลมหายใจที่หยาบจะต้องพยายามทำให้ละเอียดให้จนได้ หรือที่มันสั้นทำให้มันยาวจนได้ คือ เรารู้อยู่ว่าลมหายใจสั้นนั้นอารมณ์ไม่ดี จิตใจคอไม่ดี อารมณ์ไม่ดี ถ้าเราหายใจยาว อารมณ์มันดี ทีนี้เราจะแก้อารมณ์เสีย อารมณ์ร้าย อารมณ์โกรธ อารมณ์อะไรต่าง ๆ นี่ ด้วยการหายใจนี้ก็ได้ เช่น โกรธใครมา มันหายใจสั้น ชึ้บ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ มานั่งสำรวมแล้วทำการหายใจให้ละเอียด ให้ยาวไปก็หายไปหมด อารมณ์ร้าย ๆ มันก็หายไปหมด หรือแม้ที่สุดแต่ว่าจะเขียนหนังสือที่ยาก ๆ สักหน้าสองหน้า ทำอย่างนี้ก่อนสิแล้วจึงไปลงมือเขียน จะมีระบบประสาทดีกว่า อะไร ๆ ดีกว่า เขียนได้ดีกว่าเสมอ สมมติจะสอบไล่ ก็ลองทำสมาธิง่าย ๆ อย่างนี้ ก็สองสามนาที สี่ห้านาทีก่อน แล้วก็ใจคอปกติสอบไล่ได้ดีกว่า ดีกว่าไปกลัว ไปประหม่า ไปอะไรกันเสียอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่
ถ้าเราทำการศึกษาวิ่งตามอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่เท่าไรเราจะรู้ว่า ไม่ใช่ในวันแรกนะ ไม่ใช่ในวันแรกหรือวันที่สองที่จะรู้ได้ดี ต้องหลาย ๆ วัน จะรู้มากขึ้น รู้มากขึ้น รู้มากขึ้น ว่าลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร ลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจละเอียดเป็นอย่างไร แล้วก็รู้ต่อไปว่าลมหายใจยาวนั้น ใจคอเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้น ใจคอ อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร ลมหายใจหยาบใจคอของเราเป็นอย่างไร ลมหายใจละเอียดใจคอของเราเป็นอย่างไร กระทั่งรู้ว่าเมื่อลมหายใจของเรายาว ยาวเรียบร้อย ยาวละเอียดสม่ำเสมอนี้ เนื้อตัวของเราเป็นอย่างไร ความร้อนอุณหภูมิร่างกายเป็นอย่างไรก็ค่อยรู้ขึ้น
มันเนื่องกันอยู่ถ้าลมหายใจเป็นอย่าง ร่างกายเป็นอย่างนั้น เพราะลมหายใจเปลี่ยนไป ร่างกายเปลี่ยนไปได้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เมื่อลมหายใจมันหยาบในร่างกายมันก็หยาบ เช่น มันฉีดโลหิตแรง เป็นต้น มันก็มีความร้อนสูง เป็นต้น ถ้าเราทำให้ลมหายใจมันละเอียดลง ร่างกายมันก็ละเอียดลง การฉีดโลหิตของร่างกายมันก็จะอ่อนลง ไอ้ที่ว่าความดันโลหิตนั่นแหละมันจะอ่อนลง เราสามารถที่จะบังคับไอ้ความดันโลหิตได้ด้วยการจัดระบบการหายใจให้มันละเอียด เช่นว่าเรามีแผลเลือดออกมาก ถ้าเราทำลมหายใจให้ละเอียดได้ เลือดมันก็จะออกน้อยเข้าเพราะว่าการฉีดดันเลือดออกมามันเบาเข้า เหมือนคนที่เขา สมมติว่าเป็นวัณโรค โลหิตออก ถ้าเขาหายใจเป็นจากวิธีนี้เลือดมันจะออกน้อยหรือมันจะไม่ออกก็ได้
การหายใจมันเนื่องกันอยู่กับระบบทุกระบบของประสาท ของร่างกาย ของกล้ามเนื้อที่สำคัญ ๆ เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือทำให้เนื้อตัวเย็นลงได้ด้วยการหายใจให้มันละเอียดลง ละเอียดลง ให้ยาว ให้ยาว และให้ละเอียดลง และอาจจะแก้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กระทั่งแก้ปวดหัวก็ได้ อาจจะไม่ชะงัด มันก็บรรเทาได้มาก ถ้าทำเก่งมันก็อาจชะงัดได้ มันทำให้เลือดมันหยุดไปฉีดไปดันให้ปวดหัว นี่เขาเรียกว่าทำลมหายใจระงับ ร่างกายมันก็ระงับ การฉีดโลหิตความดันโลหิตก็ระงับลง ความร้อนมันก็ระงับลง ความกระวนกระวายที่รู้สึกกระวนกระวายในกายอมันก็ลดลง นี่เป็นสมาธิในขั้นต้นเท่านั้นเอง ได้ประโยชน์อย่างนี้
สมมติว่าเดินไกล เดินทางไกลไปด้วยกัน เหนื่อยไปด้วยกันทุกคน พอหยุดพักนะ เราทำอย่างนี้เราจะหายเหนื่อยก่อนเขา ก่อนเขาหมด จะหายเหนื่อยก่อนคนที่ไปนั่งหอบอ้าปากอยู่ เรามาทำอย่างนี้ มันต้องมีประโยชน์ในทางร่างกาย ทางร่างกายหลาย ๆ อย่าง ถ้าเราไม่มีทางที่จะหาความพอใจ สบายใจได้อย่างอื่นเราทำอย่างนี้ กระทั่งลมหายใจละเอียดเข้า ละเอียดเข้า เดี๋ยวก็รู้สึกสบายเป็นสุข ก็ระงับความกระวนกระวายที่ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปอบายมุขอะไรกับเขา ทีนี้จิตยังไม่เป็นสมาธิถึงที่สุด จิตเริ่มเตรียมจะเป็นสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าอยู่ ออกอยู่ เข้าอยู่ ออกอยู่ เข้าอยู่ ออกอยู่ เป็นการกระทำที่เตรียมเพื่อให้เป็นสมาธิ ยังไม่ทันจะเป็นสมาธิถึงขนาดสูงสุด
เอ้า,ถามเณรตัวเล็กดีกว่าเดี๋ยวจะหลับไปอีก เมื่อเรากำหนดลมหายใจยาว เข้าออกอยู่อย่างนี้ อะไรเป็นผู้กำหนด อะไรถูกกำหนด ตัวเล็ก อะไรเป็นผู้กำหนด อะไรเป็นที่ถูกกำหนด ได้ไหม ตอบได้ไหม เอ้า,ใครตอบได้บ้าง เมื่อเราให้จิตหรือสติของเราวิ่งตามลมเข้าออก เข้าออก เข้าออกอยู่อย่างนี้ อะไรเป็นผู้กำหนด และอะไรเป็นสิ่งที่ถูกกำหนด ตอบได้ไหม เอ้า,ไม่กล้านี่ คนตอบได้แล้วไม่กล้าตอบนี่ ไม่ต้องกลัวสิ ผิดก็ไม่มีใครโห่หรอก ลองตอบสิ เอ้า,เณรที่สามนี่ อะไรเป็นผู้กำหนด แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ถูกกำหนด
ลม เป็นสิ่งที่ถูกกำหนด ลมหายใจที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่คือสิ่งที่ถูกกำหนด แล้วอะไรเป็นผู้กำหนดลม เอ้า,ฉันไม่ได้พูด เมื่อกี้ว่าอย่างไร ฮะ อะไร ถูกเหมือนกันการนึกคิด เราไม่เรียกการนึกคิด เรียกอะไร จิตก็ได้ ถ้าไม่เรียกจิตแล้วเรียกอะไรอย่างอื่นอีก เรียกดีกว่าจิต เอ้า,ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา สติ นี่แสดงว่าไม่คุ้นเคยกับคำว่า สติ สติ ความระลึก นึก กำหนดอยู่ รู้สึกอยู่ เรียกว่า สติ
สติเป็นผู้กำหนด สติของเราเป็นผู้กำหนด สิ่งที่ถูกกำหนดนั้นคือลมหายใจ ลมหายใจกำลังทำอะไรอยู่ ฮะ,ลมหายใจมันกำลังทำอะไรอยู่ ว่าอย่างไร เอ้า,เณรที่สอง ฮะ,ลมหายใจกำลังทำอะไรอยู่ ชักจะไม่เชื่อว่า ป.๖ แล้วโว้ย ตอบคำถามง่าย ๆ อย่างนี้ไม่ได้ เอ้อ,มันกำลังเข้าออกอยู่ ลมหายใจมันกำลังแล่นเข้าออก เข้าออก เข้าออกอยู่ แล้วสติของเรากำหนดอยู่ที่ลมหายใจนั้น ลมหายใจนั้นเรียกว่าสิ่งที่ถูกกำหนด ผู้กำหนดให้ชื่อเสียว่า สติ
สติ ทีนี้สิ่งที่ถูกกำหนดเขามีคำเรียกเฉพาะเขาเรียกว่า อารมณ์ ๆ เดี๋ยวนี้ลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกนี้กำลังเป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกกำหนดโดยสติ สติกำหนดลมอยู่ ลมนั้นจึงชื่อว่าอารมณ์ ถ้าเราจะทำให้เหมือนกับว่าดูเห็นได้ด้วยตา เราจะสมมติมากขึ้นไปอีก เหมือนว่าลมมันวิ่งอยู่ ลมนั้นจะเรียกว่า นิมิต ก็ได้ ถ้าเพียงแต่มันถูกกำหนดก็เรียกว่า อารมณ์ แต่ถ้าสมมติว่าจะทำเหมือนกับเราเห็นด้วยตา เห็นมันวิ่งอยู่ วิ่งอยู่ วิ่งเข้าอยู่ ออกอยู่ คลานอยู่ สิ่งที่เห็นนั้นจะเรียกว่า นิมิต เห็นด้วยตาข้างในเพราะว่าเราหลับตาอยู่หรือว่าเราดูปลายจมูกอยู่ แต่ในจิตรู้สึกอยู่ ก็เหมือนกับเห็นอยู่ สิ่งนั้นก็ถูกเห็นอยู่ก็เรียกว่าเป็นนิมิตก็ได้ คนที่ทำสมาธิด้วยการลืมตาไปตั้งแต่ต้นนี่จะได้เปรียบคนที่ทำสมาธิด้วยการหลับตาไปตั้งแต่ต้น เพราะว่ามันอย่างที่ว่าเมื่อทีแรกแล้วว่ามันชวนให้ง่วงนอนบ้าง มันร้อนนัยน์ตาบ้าง แต่ว่าที่ไปตอนปลาย ๆ โน่น ได้เปรียบกันตรงที่ว่าเขาจะสามารถกำหนดอะไรได้หลายอย่างพร้อม ๆ กัน เขาจะสามารถกำหนดองค์ฌานได้เร็วกว่า ได้ก่อนกว่า และได้ก่อนกว่าคนที่ถือแบบหลับตาตั้งแต่ต้น นี่เราเรียกขั้นนี้ว่า ขั้นวิ่งตาม
สติวิ่งตามลม ลมถูกวิ่งตาม ลมกำลังเข้าออกอยู่ เข้าออกอยู่ ก็มีอยู่ระยะหัวระยะท้ายนั่นแหละที่มันจะเปิดโอกาสให้สติมันหนีเพราะมันนิ่ง ตอนนั้นมันนิ่ง ถ้าหายใจเข้าพืดอยู่มันก็กำหนดง่าย พอไปสุดจนจะกลับตอนนั้นมันนิ่ง มันเหมือนที่ว่าง มันเป็นที่ว่าง มันจะหนีก็หนีตอนนั้นแหละ นั้นต้องระวังตอนนั้นหน่อย ก็ขอให้มันสุดก็กำหนดว่ามันสุดแล้วออกมาเลย สุดแล้วเข้าไปเลย จนกว่าจิตนี้มันจะเข้ารูปเข้ารอยกันกับการบังคับของเรา คือทำได้ เรียกว่าทำได้สะดวกสบาย เข้ารูปเข้ารอย นี้เราจะเผลอบ้างมันก็ไม่ไปแล้ว ทีแรกเราไม่ยอมเผลอเลย ตอนหัวท้ายนี้ตอนหลังก็จะเผลอบ้างมันก็ไม่ไป คือมันไม่ไปไหน มันพร้อมที่จะกำหนดอยู่ เข้ากำหนดพอสุดสายแม้มันจะว่างอยู่นิดหนึ่งจะหยุดอยู่นิดหนึ่งก็ไม่เป็นไร พอออกอีกก็กำหนดอีก เข้าอีกกำหนดอีก ออกอีกกำหนดอีก ตรงหัวท้ายมันก็ปล่อย เป็นของที่ว่าไม่ ๆ ขาดตอนไปด้วย
นี่เรียกว่าได้ชั้น ป.๑ แล้ว วิ่งตามได้ เป็นผู้วิ่งตามลมได้ ถ้าไม่เข้าใจก็ถามเลย ชั้น ป.๑ นะ ฉันจะพูดชั้น ป.๒ ต่อไป ชั้น ป.๑ วิ่งตามตะพึด เข้าออกตะพึด เพื่อจะรู้ว่ายาวอย่างไรสั้นอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร เมื่อกายเป็นอย่างไร ลมเป็นอย่างไร เมื่อลมเป็นอย่างไร กายเป็นอย่างไร มันคอยเฝ้าดูอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ต้องใช้เวลานานหน่อย หลายอาทิตย์ หลาย จนรู้กันดี ลมหายใจยาวก็รู้จัก ลมหายใจสั้นก็รู้จัก ข้อเท็จจริงทั้งหลายเกี่ยวกับลม ระหว่างกายกับลม เรียกว่ารู้จัก เกี่ยวกับจิตใจด้วย ก็รู้จัก เขาเรียกว่าเป็น อานาปานสติ เมื่อหายใจเข้ายาวหายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาวออก หายใจเข้าสั้นออกสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้นออกสั้น แล้วรู้กายคือเรื่องเกี่ยวกับลมทั้งปวงว่าเป็นอย่างไร หายใจออก หายใจเข้าอยู่
ทีนี้ ทำขั้นที่สองต่อไป ก็ไม่วิ่งตามแล้ว ถ้า ป.๒ ไม่วิ่งตามแล้ว เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คือ สติจะไม่วิ่งตามอย่างที่ว่าเมื่อ ไม่โล้ชิงช้าแบบนั้น แต่จะเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เอ้า,เณรนี้ไม่ง่วง เณรนี้เริ่มง่วงแล้ว ควรจะเฝ้าดูอยู่ที่จุดไหนดี เมื่อเราจะไม่วิ่งตามอยู่อย่างนี้ ไม่วิ่งตาม เราจะเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เราควรจะเลือกเฝ้าดูที่ตรงไหนดี ว่าซิ ลองออกความเห็นซิ ที่สะดือดี หรือที่จมูกดี ว่าอย่างไร เธอมีความเห็นอย่างไร ที่จมูกดี ดีกว่าที่สะดือ ก็มีจุดอยู่สองจุดนะที่สะดือจุดหนึ่ง ที่จมูกจุดหนึ่ง
ทำไมที่จมูกดี ทำไมที่จมูกดีกว่าที่สะดือ เอ้า,เณรองค์เล็กออกความเห็นซิ ทำไมมาเฝ้าดูที่ปลายจมูกนี้ดีกว่าที่จะมาเฝ้าดูที่สะดือ เพราะอะไร ออกความเห็นซิ นี่ไม่ใช่ไม่ได้คิดนี่ เอ้า,เธอ คนที่สองออกความเห็นหน่อยว่าอย่างไร เอ้า,เจ้าของคำตอบทีแรกทำไมจึงดี เพราะรู้สึกตรงนั้นมันง่าย ตรงนั้นาอย่างไร. ้ว มาในอำหมือนกับประตู เราก็ระวังที่ประตูก่อน เข้าไปแล้วก็ช่างมัน ออกไปแล้วก็ช่างมัน มันก็ดที่ประตูเพราะมันผ่านประตู่มันสะดวก เพราะว่ามันเหมือนกับประตู ใช่ไหม เพราะที่ตรงนั้นมันเหมือนกับประตู เราก็ระวังที่ประตูมันก็พอ เข้าไปแล้วก็ช่างมันสิ ออกไปแล้วก็ช่างมัน มันก็ดูอยู่ที่ประตูเพราะมันผ่านประตู
ถ้าเราทำไอ้ ป.๑ ได้นะ คือว่าวิ่งตามได้อย่างอยู่ในอำนาจของเราแล้ว มาในชั้นนี้มันก็ไม่หนีไปไหนแล้ว เราอาจจะเฝ้าอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วนอกนั้นมันก็ไม่หนีไปไหน เพราะว่าเราได้มีชัยชนะเหนือไอ้ลม เหนือสิ่งเหลวไหลของจิตนี่มากพอสมควร ทีนี้เราก็มีเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งได้ คือลมกระทบที่ปลายจมูก
สมมติอีกเหมือนกัน สมมติว่าลมกระทบที่ตรงไหนเท่าที่เราจะนึกเห็นหรือรู้สึกได้มันกระทบที่ตรงไหนก็ยึดเอาตรงจุดนั้นแหละ จมูกมีสองรู ทำอย่างไรล่ะทีนี้ ตรงนี้แหละตรงที่มันจะพบกันระหว่างสองรูตรงนี้ สมมติว่าที่ตรงนั้น เมื่อหายใจซู่ไปทั้งสองรูมันต้องมีส่วนที่รู้สึกพร้อมกันได้ทั้งสองข้างที่ตรงนี้ ที่ตรงจุดโง้งของจมูก นี่เรียกว่าประตู กำหนดอยู่ที่ประตู เมื่อมันเข้าไปกว่าจะหมดมันต้องผ่านประตูอยู่เรื่อย จริงไหม เมื่อหายใจเข้ากว่ามันจะหมดการหายใจเข้า มันต้องผ่านประตูอยู่เรื่อยจนกว่ามันจะสุดนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่ามันจะทิ้งระยะยาวมาก ว่างอยู่มาก ถ้าหายใจเข้าก็ผ่านประตูจนกว่าจะหมดแล้วหยุดนิดหนึ่งมันก็เริ่มออก พอเริ่มออกมันก็ผ่านประตู มันเริ่มผ่านประตูอีก เราก็กำหนดได้ที่ตรงประตูนั้นแหละ เกือบทั้งหมดของการหายใจมันก็ว่างอยู่นิดหนึ่งตรงที่จวนจะเข้าและจวนจะกลับ จะหมุนกลับออกหมุนกลับเข้า ตรงนั้นเหมือนกันอีก
ทีนี้เราขี้เกียจวิ่งตาม เราเฝ้าดูอยู่ที่ประตูจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจอย่างคนเหลวไหล หมายความว่าไม่จำเป็นจะต้องวิ่งตาม เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้นดีกว่า ทำไมจึงดีกว่า เพราะมันเป็นการกำหนดที่ละเอียดกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ปราณีตกว่า ถ้าเราทำได้ก็หมายความว่าเราเก่งกว่า เก่งกว่าเดิม สุขุมละเอียดปราณียิ่งขึ้นกว่าเดิม ไปเฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้น เหมือนกับคล้าย ๆ กับว่าตรงนั้นมันมีแผลอ่อน ๆ เนื้ออ่อน ๆ ลมมากระทบนิดเดียวก็รู้สึกแรง ทำความรู้สึกอย่างนั้น
เอ้า,เดี๋ยวนี้ถามเณรองค์เล็กอีกว่า เดี๋ยวนี้จิตมันกำหนดอะไรที่ตรงไหน มันกำหนดที่ตรงนี้แหละ เมื่อก่อนนี้มันกำหนดที่ลมหายใจที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่ เดี๋ยวนี้จิตมันเปลี่ยนมากำหนดอยู่ที่จุดหนึ่งที่ปลายจมูกเรียกว่าอารมณ์มันมาอยู่ที่ตรงนั้นแล้ว ในขั้นแรก ป.๑ อารมณ์อยู่ที่ลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกตลอดสาย ทีนี้อารมณ์เปลี่ยนมาอยู่ที่จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่ปลายจมูกแล้ว
ถ้าจะเรียกว่านิมิต ก็เห็นด้วยตาข้างใน ก็นิมิตมันอยู่ที่จะงอยจมูกแล้ว มันเปลี่ยนแล้ว จุดที่จะถูกกำหนดนะ มันเปลี่ยนจากลมที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่มาอยู่ตรงประตู เรียกว่าประตู จุดนี้นิดหนึ่งที่จะงอยจมูกนั้น นิมิตก็เปลี่ยนแล้ว
แต่ว่าผู้ ๆ กำหนดยังไม่เปลี่ยนใช่ไหม เรียกว่าอะไรผู้กำหนด อ่า,นี่จำได้แล้วเมื่อตะกี้ตอบไม่ถูกเพราะจำไม่ได้ ค่อยยังชั่ว จำได้ ผู้กำหนดเรียกว่า สติ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียกว่าอะไร อ่า,อารมณ์ คงจะใช้ได้ ตัวจำ ความจำหรือความเข้าใจไม่ช้า ถ้าสมมติว่าเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตาจะเรียกว่าอะไร อารมณ์นั่นแหละ ถ้าสมมติว่าเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตาจะเรียกว่าอะไร เรียกว่าอะไรบอกซิ นิมิต นี่ไม่จำคำว่านิมิตไปด้วย
ถ้าสมมติว่าเราจะเห็นด้วยตาเราเรียกว่า นิมิต ถ้าจะกำหนดด้วยความรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกว่า อารมณ์ ความกว้าง เขาเรียกว่าอารมณ์ ทีแรกเรามีนิมิตคืออารมณ์ที่ลมหายใจที่ซู่ซ่าเข้าออกอยู่ เดี๋ยวนี้เรามีอารมณ์หรือนิมิตอยู่ที่จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่จะงอยจมูกที่สองข้างมันกระทบกัน ลมหายใจกระทบที่ตรงนั้น
เมื่อเรากระทบ เมื่อเรากำหนดที่ตรงนั้นก็คือกำหนดที่ ๆ ลมหายใจกระทบ ก็เป็นอันว่าทั้งลมหายใจและทั้งเนื้อที่มันถูกกระทบ ต้องเข้าใจอย่างนี้สิ เมื่อเรากำหนดที่จุด ๆ นั้น ก็หมายความว่ากำหนดเข้าไปที่ตรงที่ลมมันกระทบ เพราะตรงนั้นมันต้องมีทั้งลมและทั้งเนื้อที่ถูกกระทบ จึงสมมติได้ง่าย ๆ ว่าเหมือนกับเป็นผลอ่อนอยู่ที่ตรงนั้นลมผ่านเข้ามามันก็รู้สึกวูบวาบที่ตรงนั้น นี่ตรงนี้ ถ้าเราทำได้ดีก็เราเรียกว่าสอบได้ ป.๒ แล้ว คือบทเรียนที่เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วก็ทำสำเร็จ คือผ่านได้
ทีนี้ ป.๓ มันจะยากขึ้นไป หมายความว่าที่ตรงนั้น เราจะสร้างนิมิตชนิดที่ไม่ใช่ลมตามธรรมดา ไม่ใช่เนื้อตามธรรมดา จะสร้างนิมิตที่เห็นด้วยตาที่เขาเรียกว่า มโนภาพ เดี๋ยวนี้เราดู เห็นหลอดไฟฟ้านี้นะ เห็น ดูหลอดไฟฟ้า ถ้าเราเห็นหลอดไฟฟ้าหรือดวงหลอดไฟฟ้าจริง ๆ แต่ถ้าว่าเราหลับตาเสีย เราก็ยังเห็นหลอดไฟฟ้าอย่างเดียวกันนั้นอีก โชติช่วงอยู่นั้นอีก นี่มันกลายเป็นของคนละอย่างแล้วแต่หลอดไฟฟ้านี้เป็นหลอดไฟฟ้าจริง ๆ แต่ว่าหลับตาแล้วยังเห็นอีก ภาพหลอดไฟฟ้าที่เราเห็นนั้นมันไม่ใช่หลอดไฟฟ้าจริง แต่ว่าเป็นมโนภาพ
ฉะนั้นชั้น ป.๓ นี้เราจะไม่กำหนดที่ลมมันกระทบจุดนั้นแล้ว เราจะทำมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นที่จุดนั้น ถ้าเธอจะสามารถเอาหลอดไฟฟ้าที่เห็นในมโนภาพนี้ไปใส่ไว้ที่ตรงนั้นก็ได้เหมือนกัน มันมีผลเหมือนกัน หรือเราเคยเห็นภาพอะไรที่มันติดตาเป็นมโนภาพได้ง่าย ๆ มาก ๆ คือเคยชินอยู่บ่อยๆ และทำได้ง่าย ๆ ลองเอามาใส่ไว้ที่ตรงนั้นก็ได้ มันจะง่ายกว่าที่เราจะสร้างเอาใหม่ให้เกิดเป็นมโนภาพ เป็นดวงขาว ดวงเขียว ดวงแดง หรือว่าเป็นรูปร่างเหมือนกับก้อนฝ้าย สำลีหรือว่าก้อนเมฆหรือว่าเหมือนกับหยดน้ำค้าง หรือเหมือนกับเพชรเม็ดหนึ่งอยู่ที่ตรงจุดนั้น ทำได้อย่างใดก็เอาเป็นอย่างนั้นดีกว่า
จะพูดเมื่อสำเร็จแล้วนะก็คือว่าเราหลับตาอยู่อย่างนี้ ลมหายใจก็กำหนดก็ผ่านไปผ่านมาอยู่ตรงนี้ ไอ้จุดนั้นมันเกิดมีอะไรช่วงโชติขึ้นมาเป็นมโนภาพไม่ใช่ภาพจริง เป็นภาพดวงแก้วเล็ก ๆ ก็ได้ ดวงอาทิตย์เล็ก ๆ ก็ได้ ดวงจันทร์เล็ก ๆ ก็ได้ คือวาว ๆ เหมือนกับหยดน้ำค้างที่บนใบไม้ตอนเช้าก็ได้ หรือเหมือนกับใยแมงมุมกรอกแสงอยู่กลางแดดก็ได้ แล้วแต่ว่าไอ้คน ๆ นั้นมันจะสร้างมโนภาพอะไรขึ้นมาได้โดยง่าย
ตอนนี้เรื่องมันชักจะยากขึ้น แต่มันก็จะสนุกมากขึ้น เพราะว่าเก่งมากขึ้น จิตจะเป็นสมาธิมากขึ้น สติก็แข็งแรงมากขึ้น นี่ก็เรียกว่าสร้างมโนภาพขึ้นที่จุด ๆ นั้น ป.๑ ชั้น ๑ ว่าวิ่งตาม ป.๒ ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง นี่ ป.๓ ก็สร้างมโนภาพขึ้นที่จุด ๆ นั้น จำได้ไหม อะ,ว่าดูซิ ป.๑ ขั้นที่ ๑ วิ่งตามลม ขั้นที่ ๒ เฝ้า ๆ ดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง สร้างภาพมโนภาพที่เหมาะสมขึ้น ๆ มาที่จุดนั้น ใช้ได้เร็วนะ ไม่เสียทีที่ตามมาถึงนี่
ถ้าเราทำสำเร็จในขั้นที่สอง คือเฝ้าดูได้ที่ตรงนั้น ถ้าหายใจออกอยู่ต้องมีเรื่อยนะ มันคงหายใจออกอยู่นะ รู้สึกอยู่ได้ด้วยนะ ไม่ใช่ไม่รู้สึก นี่คนเขาไม่เชื่อ พอเรารู้สึกว่าเราหายใจออกเข้าอยู่ก็รู้สึก แต่ตาของเราเห็นในจุด ๆ นั้นเราก็เห็น กำหนดที่จุด ๆ นั้นก็กำหนดอยู่ คำว่าหายใจออกเข้า หายใจออกเข้า ต้องมีตลอดเวลาและก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลา ทุกขั้น ทุกขั้น ขั้นที่หนึ่งวิ่งตาม นี่ เรียกว่ามันทุลักทุเลหน่อย วิ่งตาม วิ่งตาม วิ่งตาม เข้าออก เข้าออก
ถ้าทำได้สำเร็จ ชนะ ชนะความเหลวไหล ชนะความไม่เป็นสมาธิได้ วิ่งตามได้จิตไม่พลาดจากลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ พอขั้นที่สองไม่ทำอย่างนั้น เฝ้าดูอยู่ที่จุด ๆ หนึ่งที่เหมาะสมที่สุดคือที่จะงอยจมูก ก็ทำได้อีก นี้เรียกว่ามันเก่ง เก่งขึ้น ไม่ใช่เท่าเดิม ไม่ใช่เลวลง หรือไม่ใช่เท่าเดิม มันเก่งขึ้น แต่ว่าสภาพของผู้นั้นหรือจิตนั้นก็เก่งขึ้น ความเป็นสมาธิก็นับว่าเป็นสมาธิชั้นที่สูงขึ้นไป
ทีนี้เราทำไอ้มโนภาพให้อยู่ที่จุดนั้นได้นานตามที่เราต้องการได้ก็เรียกว่ายิ่งเก่งขึ้นอีก ความเป็นสมาธิมากขึ้นอีก สติก็ดีกว่าเดิมอีก ความปราณีต สุขุม มันก็มีมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก ความระงับของร่างกายของการฉีดโลหิตอะไรก็ตามมันก็น้อยลงกว่าเดิมอีก คือสงบระงับกว่าเดิมอีก พูดสรุปว่าไอ้ ป.๒ ก็สงบกว่า ป.๑ ป.๓ ก็สงบกว่า ป.๒ คืออย่างนี้ก็จำง่ายแล้ว ไปทบทวนให้เข้าใจเอาเอง
ทีนี้ ป.๔ ลองทายว่า ป.๔ จะทำอะไร เราจะบังคับมโนภาพนั้นให้เปลี่ยนแปลงตามความน้อมจิตของเรา พูดสั้น ๆ ว่าเราจะบังคับไอ้มโนภาพนั้นให้เปลี่ยนตามความประสงค์ของเราต่อ เมื่อตะกี้ว่าเราเอาหลอดไฟฟ้าไปใส่ไว้ที่ตรงนั้นก็ได้ หลับตาให้หลอดไฟฟ้าติดอยู่ที่ตรงนี้ก็ได้ บางทีจะง่ายสำหรับบางคน หรือภาพไหนก็ได้ที่เราหาได้ง่าย ๆ สำหรับเรา แต่นี่เขาพูดกันไว้แต่โบราณไม่มีหลอดไฟฟ้าก็จะพูดหลอดไฟฟ้าอย่างไรได้ ตั้งพันกว่าปีแล้วจะพูดถึงหลอดไฟฟ้าได้อย่างไร ก็ต้องมีอะไรชนิดที่มันหาดูได้ติดตาได้ง่ายในสมัยนั้น เช่นเหมือนกับว่าสำลีก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งมาลอยติดอยู่ที่ตรงนี้ จะว่าก้อนเมฆเล็ก ๆ ก็ได้ จะหมอกก็ได้ น้ำค้างก็ได้
เอาล่ะ สมมติว่าเราเห็นไฟเล็ก ๆ ดวงหนึ่ง คล้าย ๆ กับว่าดวงจันทร์เล็ก ๆ นิดหนึ่งมาอยู่ที่ตรงนี้ เท่านิ้วมือ เป็นมโนภาพที่อยู่นิ่ง ๆ ป.๓ ป.๔ เราจะบังคับมัน คือเราต้องรู้จักทำให้มันแนบเนียนสุขุมที่สุดแหละ ไม่อย่างนั้นมันล้มละลายมันกระจาย ความประคับประคองการเห็นทำไว้ดีที่สุด ค่อย ๆ น้อมจิตไปอย่าง ๆ ๆ ละเอียดว่าให้มันเปลี่ยนรูป ถ้ามันใหญ่ ๆ ๆ ออกไป หรือให้มันกลับเล็ก ๆ ๆ ลงมา หัดทำอย่างนี้
ไม่ใช่ทำให้มีฤทธิ์มีเดช ทำบทเรียนให้เราเป็นผู้บังคับจิตได้ดีกว่าเดิม อย่าไปทำว่าจะมีฤทธิ์มีเดช เดี๋ยวบ้า จะเป็นบ้า ทางนี้ไม่รับผิดชอบนะ จะไปหวังมีฤทธิ์มีเดช มันเป็นเจตนาลามกไม่บริสุทธิ์ไปตั้งแต่เดิมแล้ว
เอาล่ะ เธอต้องรู้ว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ของจริง จริงเพียงแค่เราบังคับมันให้เห็น ทีนี้บังคับให้มันเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างนั้นเปลี่ยนอย่างนี้ก็หมายความว่าเราก็เก่งกว่าที่ไม่สามารถบังคับให้เปลี่ยน เป็นดวงเหลือง ๆ เล็ก ๆ ให้ใหญ่ ๆ ๆ แล้วกลับเล็ก ๆ ๆ ลงมาอีก ให้เปลี่ยนสีเหลืองเป็นสีเขียว สีแดง น้อมไปได้ ถ้าจะเป็นนักเลงให้มากไปถึงที่สุด ก็ลองน้อมไปให้มันมากทุกอย่างทุกชนิด ให้มันไหล ให้มันเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนขนาดก็ได้ เปลี่ยนสีก็ได้ เปลี่ยนอิริยาบถ ลอยออกไป ลอยออกไป ลอยออกไป กลับมา กลับมา ให้มันลอยไปทางซ้าย ให้มันลอยไปทางขวา เปลี่ยนอิริยาบถอย่างนี้ก็ได้
จะบังคับให้มันเปลี่ยนตามที่เราต้องการ เพราะว่ามันเป็นเพียงมโนภาพที่เห็นด้วยตาที่ข้างในของความรู้สึกเอา ถ้าความรู้สึกเปลี่ยน มันก็เปลี่ยน น้อมจิตให้มันเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเรามันมีฤทธิ์เดชสร้างอะไรได้ แต่เพียงเราสร้างความสามารถให้แก่จิตใจ ให้มันเห็นอยู่อย่างนี้ก็ได้ ให้มันชินอย่างนี้ก็ได้ นี่ ป.๔ เปลี่ยนอารมณ์หรือนิมิตนั้นได้ตามต้องการ ง่วงนอนไปนอนก่อนก็ได้ ยังไม่ถึง ป.๕ เอ้า,ก็พูดรวบรัดว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จบ ป.๔ ที่เหลือ ป.๕ นิดเดียว
ต้องซ้อมอย่างนั้นนะให้แม่นยำ ไม่ใช่เหลือไว้อันหนึ่งที่อยู่นิ่ง ๆ ที่เราชอบดวงเหลือง ๆ นิ่ง ๆ อยู่นี้ ก็ให้รู้สึกอยู่ด้วย ทีนี้เปลี่ยนเมื่อไรก็ได้ แต่นี่ไม่อยากเปลี่ยนแล้วก็เลย ลมหายใจเข้าออกนี่ก็รู้สึกอยู่ รู้สึกอยู่ว่ามีการหายใจเข้าออกเป็นจังหวะอยู่อย่างนั้น นิมิตเดือนดวงเล็ก ๆ นั้นก็เห็นอยู่
นี่ความรู้สึกที่เราจะน้อมไปเพื่อว่าเดี๋ยวนี้จิตกำลังจับอยู่ที่อารมณ์นั้นเขาเรียกว่า วิตก ก็รู้สึกอยู่ จิตกำลังรู้จักอารมณ์นั้นอย่างละเอียดลออทั่วถึงเหมือนกับลูบคลำอยู่ เรียกว่า วิจารณ์ ก็ปรากฏอยู่ ตอนนั้นเรารู้สึกพอใจว่าเราทำสำเร็จ เราประสบความสำเร็จ เราชนะมันได้ นี้เรียกว่า ปิติ นี้ก็รู้สึกอยู่ รู้สึกสบายชอบกล สบายบอกไม่ถูก เรียกว่า ความสุข นี้ก็รู้สึกอยู่ แล้วความที่เดี๋ยวนี้จิตไปรวมจุดอยู่ที่อารมณ์นั้นไม่ไปที่ไหน เรียกว่า เอกัคตา นี้ก็รู้สึกอยู่ ก็ค่อย ๆ ทำให้มันรู้สึกทีละอย่างละอย่าง ไม่อาจจะทำให้ครบทั้งห้าอย่างรวดเดียวได้
แต่ว่าเราพยายามจะสอดส่องดู พิจารณาดู เราจะเห็นว่ามันครบอยู่ทั้งห้าอย่าง อันนี้เขาเรียกว่า ทำองค์ฌานทั้งห้าให้เกิดขึ้น ทำองค์แห่งฌานทั้งห้าให้เกิดขึ้น องค์แห่งฌานทั้งห้า คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา
วิตก คือ ความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ว่า เดี๋ยวนี้จิตเกาะอยู่ที่อารมณ์นั้น วิจารณ์ คือ ความที่จิตซึมซาบทั่วถึงเข้าที่จะอยู่อารมณ์นั้น ปิติ คือ เราพอใจที่เราทำสำเร็จ สุข เรารู้สึกเป็นสุขชนิดหนึ่งเพราะว่าเดี๋ยวนี้มันระงับ ๆ ๆ ๆ เย็นเยือกเต็มไปหมด รู้ว่าจิตไม่ไปฟุ้งซ่าน ไปทางไหนเลย มีจุดแหลมอยู่ที่นั่น เหมือนกับเราเอาไอ้ปลายแหลมของวงเวียนจรดลงที่กระดาษจุดนั้น นี่เขาเรียกว่า เอกัคตา
ฟังยาก ๆ สามารถจำได้ไหมคำห้าคำนี้ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา จำได้ไหม วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา จำได้ไหม วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา จำได้ไหม ค่อย ๆอีกที จำได้ไหม วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา จำได้ไหม คนนี้จำได้ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา อันที่หนึ่ง วิตก อันที่สอง วิจารณ์ อันที่สาม ปิติ อันที่สี่ สุข อันที่ห้า เอกัคตา จำได้แล้ว ลองว่าซิห้าอัน นี้เอาไปนอนว่า เอากลับไปกรุงเทพฯ อย่าให้ไปลืมสิ ไปติดอยู่ที่กุฏิ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา
วิตกคืออะไร วิตกคืออะไร คนเล็กนี้ลองว่าซิ วิตกคืออะไร นั่นมันวิตกของเธอ ถ้าวิตกของไอ้คนที่เขาทำสมาธินี่ วิตก คือ การที่จิตมันเกาะลงไปที่อารมณ์ มันกำหนดลงไปที่อารมณ์ เรียกว่า วิตก คือ คิด หรือตรึก ในภาษาสมาธิคือความที่จิตหรือสติเกาะอยู่ที่อารมณ์นี่เขาเรียกว่า วิตก
นี่ วิจารณ์ นี้ คือ การที่จิตมันรู้สึกอย่างละเอียดลออทั่วถึงต่ออารมณ์นั้น
ทีนี้ ปิติ ล่ะคืออะไร คืออะไร คืออะไร คืออะไรว่าซิ ปิติก็รู้จักกันทุกคนแหละ ใคร ๆ ก็เรียก ปิติ มีปิติ คือพอใจ ปิตินี้แปลว่า ถ้ามันมากนัก มันรู้สึกขนลุกขนพอง รู้สึกซาบซ่าน รู้สึกคล้าย ๆ ว่าจะลอยไปอย่างนั้นแหละ เรียกว่า ปิติ คือความพอใจที่ว่าเราทำได้สำเร็จ
ทีนี้ สุข ก็คือสบาย สุขเป็นสบาย เพราะว่าเดี๋ยวนี้อะไรมันระงับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมหายใจระงับ กายระงับ ความร้อนระงับ ความกระสับกระส่ายในร่างกายระงับ อะไรก็ระงับเลยเป็นสุขที่สุด เมื่อใจคอของเราสบายดี อารมณ์ดี อะไรดี เราก็รู้สึกเป็นสุขที่สุดก็คล้าย ๆ กับอันนี่
นี้ เอกัคตา เราก็มียอดอันเดียว คือจิตไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน ไปเกาะอยู่ที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว เขาเรียก เอกัคตา คงจะยากสำหรับเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องการจะสอนให้ทำถึงนี่หรอก บอก ป.๕ ไว้ เผื่อบางคนผู้ใหญ่ พระ จะทำได้ สำหรับเณรก็คงจะต้องเป็นเณรพิเศษจึงจะทำได้ นี่เขาเรียกว่า องค์ของฌาน มีอยู่ห้าองค์ ป.๕ ก็ทำความกำหนดองค์ฌานทั้งห้าให้ปรากฏชัดออกมาเรียกว่าได้บรรลุฌาน
มีแค่ฌานที่หนึ่ง คือ ปฐมฌาน มากเกินไปแล้วสำหรับคนธรรมดา ไม่ต้องพูดถึงที่สองที่สามที่สี่ก็ได้ เพียงแต่ปฐมฌานนี่ก็เกินใช้แล้ว หรือว่าเฉียด ๆ ปฐมฌานก็เกินใช้แล้ว เพียงแต่เราทำมโนภาพที่จุดนั้นให้ได้มันก็เฉียดฌานแล้ว มีสมรรถภาพทางจิตมากพอแล้ว หรือบังคับให้มโนภาพนั้นเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปอะไรตามชอบใจ เดี๋ยวนี้เราฝึกจิตมาก ชนะจิตมาก ควบคุมจิตได้มาก เราไม่ต้องการใช้สิ่งที่เห็นนั้นหรอกแต่ต้องการใช้จิตเดี๋ยวนี้ที่เราฝึกดีแล้ว มีสมรรถภาพมากแล้ว ในการเรียนหนังสือก็ได้ ในการจำอะไรก็ได้ ในการต่อสู้ก็ได้ ในการข่มอารมณ์ก็ได้ ในการห้ามเลือดก็ได้ อะไรก็ได้อย่างที่ว่ามาแล้วทีแรก ถ้าร่างกายมันระงับ มันมีผลอย่างไรบ้าง
นี่ทำจิตให้เป็นสมาธิมันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรากลายเป็นคนที่มีจิตดีมาก ฝึกไว้ได้ดีมาก ไม่เหมือนก่อน ความที่จะไปรักอะไรมันก็ไม่ค่อยจะเป็นไป ความที่จะไปโกรธอะไรก็ไม่ค่อยจะเป็นไป ความที่จะไปเกลียดอะไรมันก็ไม่ค่อยจะเป็นไป มันมั่นคง มันสงบ เขาเรียกว่าจิตมันบริสุทธิ์ดี มั่นคงดี มันว่องไวแต่ที่จะทำหน้าที่นึกคิดอย่างดี ไม่ไปทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เขาเรียกว่าจิตนี้ฝึกดีแล้ว เป็นจิตที่ฝึกดีแล้ว ใครจะใช้ประโยชน์อะไรก็เอา ถ้าจะใช้เพื่อละกิเลสไปบรรลุมรรคผลนิพพานก็ทำต่อไป ทำวิปัสสนาให้เห็นความไม่เที่ยง ที่จริงก็อาจจะอธิบายความไม่เที่ยงชนิดที่คนที่อยู่ที่บ้านเรือนจะพอทำได้ก็ได้ แต่เวลามันหมดแล้ว แล้วเรื่องมันก็จะมากไปเพราะฉะนั้นยังไม่พูด พูดแต่ทำจิตให้เป็นสมาธิ
เปรียบเทียบเหมือนกับเรามี ๕ ชั้น เอ้า,ฟังให้ดี ก่อนที่จะไปนอน ป.๑ วิ่งตาม ป.๒ ว่าไง ลืมแล้ว เฝ้าสิ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ป.๓ ล่ะ ทำภาพ มโนภาพ ภาพติดตาให้เกิดขึ้นที่จุดนั้น ทำมโนภาพชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่มันเหมาะแก่เราให้เกิดขึ้นที่จุดที่เฝ้าดูนั้น เรียกว่าสร้างมโนภาพขึ้นที่จุดนั้น ป.๔ ล่ะ บังคับมโนภาพนั้นได้ แล้วแต่ว่าต้องการอย่างไร แสดงความสามารถของการบังคับจิตได้ดีมาก นี้ ป.๕ ล่ะ ทำความรู้สึกในองค์แห่งฌานให้ปรากฏ ทำความรู้สึกในองค์แห่งฌานซึ่งมีอยู่ ๕ องค์ให้ปรากฏ เลข ๕ มันเผอิญไปซ้อนกันเสียด้วย ในชั้น ป.๕ ทำไอ้องค์ฌานทั้งห้าให้ชัดในความรู้สึก ว่า วิตกคืออย่างนั้น วิจารณ์คืออย่างนั้น ปิติคืออย่างนั้น สุขคืออย่างนั้น อุเบกขา เอ,เอกัคตาคืออย่างนั้น
ป.๑ คืออะไรว่าใหม่ ป.๑ เรียงคำพูดให้ชัด เรียงคำพูดให้ดีที่สุด ป.๑ วิ่งตาม วิ่งตาม คือวิ่งตามลำหายใจ ป.๒ พูดเถอะ เป็นสองคำก็พอ เฝ้าดู ป.๑ วิ่งตาม ป.๒ เฝ้าดู แล้ว ป.๓ ล่ะ สร้างมโนภาพขึ้นมาที่จุดนั้นนะ นี้ ป.๔ ล่ะ ให้เปลี่ยนสิ ว่ายืดยาวแล้ว เปลี่ยนมโนภาพ มันก็สั้นดี ป.๕ องค์ฌาน ทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้ง ๕ รู้สึกในองค์ฌานทั้ง ๕ ปิติ เอ, วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา เดี๋ยวนี้ไม่ยอมให้ใช้คำพูดเยิบยาบ เนิบนาบละ พูดให้สั้นที่สุด
ป.๑ ว่าอย่างไง ป.๑ เอาแค่สองพยางค์ ป.๑ วิ่งตาม ป.๒ เฝ้าดู ป.๓ เอาสร้างออกเสีย ไม่เอา เกินไปแล้ว ป.๓ มโนภาพ ป.๓ มโนภาพ ป.๔ ป.๕ ไม่ใช่ฌานทั้ง ๕ องค์ฌานทั้ง ๕ ปรากฏ องค์ฌานทั้ง ๕ ปรากฏ
ป.๑ ป.๑ เปลี่ยนเขาอีกแล้ว อย่าเปลี่ยนสิ ป.๑ วิ่งตาม ป.๒ เฝ้าดู ป.๓ มโนภาพ ป๔. เปลี่ยนมโนภาพ ป.๕ สร้างมโนภาพให้ปรากฏ เหมือนกับว่าองค์ฌานปรากฏ ทำองค์ฌานให้ปรากฏ จะทิ้งไว้อย่างนี้หรือเอาไปถึงกุฏิ จำให้ได้ถึงกุฏิ แล้วก็เอาไปจดไว้ แล้วก็เอาไปกรุงเทพฯ ว่าเด็ก ๆ ก็ได้
จะฝึกสมาธิโดย ป.๑ เอาจิตหรือสติเป็นผู้กำหนดวิ่งตามลม ลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ถูกกำหนด จนรู้จักลมยาว ลมสั้น ลมหยาบ ลมละเอียด ลมปราณีต ลม กระทั่งอิทธิพลของไอ้ลมที่มีต่อร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ นี่ ป.๑ นี่ ป.๒ ก็ไม่ ๆ ๆ ต้องวิ่งตามแล้ว เฝ้าดู ป. ๓ ก็มโนภาพโผล่ขึ้นมา ป.๔ ก็บังคับมโนภาพตามใจชอบ ป.๕ ก็ทำองค์ฌานให้ปรากฏทั้งห้าองค์
ทีนี้คำว่า ป.๑ อย่า ๆ เอา ป.๑ อย่างในโรงเรียนเลย จะเรียกปฏิบัติขั้นที่หนึ่ง ปฏิบัติขั้นที่สอง ปฏิบัติขั้นที่สาม ปฏิบัติขั้นที่สี่ ปฏิบัติขั้นที่ห้า ของการทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่ใช่ ป. ประถม ๑ ประถม ๒ ประถม ๓ เดี๋ยวมัน เขาจะหัวเราะเอา ป. นี้คือการปฏิบัติสมาธิ ป.๑ ป.๒ ป.๓ ป.๔ ป.๕ ก็เท่านั้นแหละเป็นสมาธิที่ ๆ สุดแล้ว ยิ่งแล้ว เอาสมาธิไปใช้เพื่อประโยชน์อะไรก็สุดแท้
นับตั้งแต่ว่าเดี๋ยวนี้เราจะไม่ผอมอย่างนี้แล้ว ถ้าทำสมาธิได้อย่างนี้ ไม่ผอมอย่างนี้ มันมีการหายใจดี เลือดลมดี อนามัยดีไม่ผอมอย่างเดี๋ยวนี้ เอาไปทำหน่อยนะ เอาไหม จะเอาไหม จะลองหัดไหม มันไม่เสียหายอะไร ต้องไม่เสียสตางค์ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องเปลือง ไม่ต้องทำความยุ่งยากลำบากแก่ใคร ไปทำดูสิแล้วมันจะอ้วนขึ้น แล้วความจำก็จะดีขึ้น การสอบไล่การเรียนก็จะดีขึ้นหมด โมโหโทโสมันก็จะลดลงไป กิเลสก็เกิดยากขึ้นเพราะเรามีจิตเป็นสมาธิ
ความเป็นสมาธินี้เขาให้จำกัดความว่า หนึ่ง มันบริสุทธิ์ สอง มันมั่นคง สามมันว่องไว จิตบริสุทธิ์ จิตมั่นคง จิตว่องไว สามอย่าง เรียกว่าจิตเป็นสมาธิเอาไปใช้อะไรก็ได้ ร่างกายดีขึ้น การศึกษาเล่าเรียนดีขึ้น จิตใจก็ดีขึ้น ผลของสมาธิ
นี่คุณ บอกคนนี้ว่า คืนนี้ควรจะพูดเรื่องสมาธิผมก็พูด สำหรับผู้ที่จะกลับไปก่อน ถ้าสมมติว่าเอาความรู้อันนี้ไปได้ แล้วไปปฏิบัติได้ก็เรียกว่าไม่เสียหลาย ไม่เสียทีที่มาที่นี่ ก็ขอให้มันเป็นอย่างนั้น สู้อุตส่าห์มา ลำบากมา อดทนอะไรต่าง ๆ นี้ ขออย่าให้มันเป็นหมันเปล่า ขอให้มันสำเร็จประโยชน์เกินค่า คำบรรยายเรื่องอื่นเราก็ฟังมาตามสมควรแล้ว ตอนสุดท้ายนี้เราก็พูดกันเรื่องสมาธิ ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยตรง ปฏิบัติแล้วจะช่วยให้เราสามารถมีจิตใจชนิดที่แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างที่บรรยายมาแล้วตั้งหลายครั้งได้ นั้นเป็นวิชา เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ จะเอามันให้ได้ มันก็ต้องบังคับฝึกฝนจิตใจอย่างนี้ ให้ได้จิตใจชนิดนี้มา แล้วจะทำการแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่เราจะมีชีวิต ชนิดที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะมีกันได้ เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับปิดภาคเรียนแล้วบวชแล้วมาศึกษาอะไรกันบ้างที่นี่ ช่วงระหว่างปิดภาคเรียน ขอให้ชุดที่จะกลับไปก่อนวันพรุ่งนี้ได้สิ่งนี้ไป ก็มีความก้าวหน้า เรียกว่าเจริญได้รับผลประโยชน์ มีความเจริญก็เป็นที่พอใจแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของผม เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องของประเทศชาติศาสนา ที่มนุษย์จะต้องเป็นกันอย่างนี้ มันจึงจะได้ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เอาล่ะ วันนี้พอกันที ปิดประชุม