แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เรียกตัวเองว่าเป็นลูกเสือชาวบ้าน ขอให้อาตมาพูดอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ลูกเสือชาวบ้าน ดังนั้นเท่าที่อาตมาคิดออกเดี๋ยวนี้ ก็เรื่องความหมายของคำว่าลูกเสือชาวบ้านนั่นเอง เป็นเสือหรือจะเป็นลูกเสือก็ตามใจ แต่ว่าอยู่ในบ้าน เมื่ออยู่ในบ้านก็หมายถึงคุ้มครองบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายที่มาจากในป่า
พวกที่อยู่ในเมืองในกรุงคงจะไม่เคยได้ยินคำที่ชาวป่าชาวไร่เขาพูดกันอยู่คำหนึ่ง คือคำว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่า จุดไฟบ้านรับไฟป่า คนที่มันไม่รู้ มันโง่ไป มันก็เข้าใจผิดว่า เผาบ้านเสียแล้วก็รับไฟป่า นี้ก็ ๆ ฉิบหายใหญ่ไปอีก ที่ว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่านั้น หมายความว่าป้องกันไม่ให้ไฟป่ามาไหม้บ้านได้ หมายถึงบ้านมันอยู่ริมป่าติดต่ออยู่กับป่า แล้วไฟป่ามันไหม้มาตามแบบของไฟป่าอย่างใหญ่หลวง พอจะมาถึงบ้าน เขาต่อสู้ไฟป่าด้วยการจุดไฟบ้านเพื่อรับไฟป่า
หมายความว่ามันมีอะไรที่เป็นเชื้อไฟอยู่ข้างบ้าน รอบ ๆ บ้าน ใกล้ ๆ บ้าน เขาเผาเสียก่อนโดยเขาควบคุมอยู่ จนข้างบ้านรอบบ้านมันเตียนสะอาด มันไม่มีเชื้อสำหรับไฟอีกต่อไป นี้ไฟป่าแม้ว่าจะใหญ่สักเท่าไร มันลามมาถึงที่นั่น มันก็ไม่ไหม้บ้าน บ้านมันปลอดภัย
กิริยาอย่างนี้เขาก็ทำกันอยู่ในหมู่ชาวป่าที่บ้านอยู่ติดกับป่า แล้วก็เลยสอนลูกหลานสืบ ๆ ต่อ ๆ กันมาว่า “แกต้องรู้จักจุดไฟบ้านรับไฟป่า” การจุดไฟบ้านนั้นมันจุดอย่างมีระเบียบ เพราะเราเป็นผู้จุดและควบคุม มันก็ไม่เป็นไร นี้เชื้อเพลิงรอบบ้านมันหมดแล้ว ไฟป่ามันมาก็ไม่เป็นไร ทำอะไรไม่ได้
นี่ลูกเสือชาวบ้านอยู่ในบ้าน ทำอะไรอยู่ในบ้าน ก็มีลักษณะเหมือนกับจุดไฟบ้าน เพื่อรับไฟป่าคืออันตราย ที่จะมาจากนอกบ้านหรือมาจากต่างประเทศเป็นต้น นี้มันเป็นอุปมาว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่า ทีนี้เนื้อความของเรื่องที่เป็นอุปไมยมันก็จะทำอย่างไร อะไรเป็นบ้าน อะไรเป็นไฟบ้าน อะไรเป็นไฟป่า
ลูกเสือชาวบ้านก่อกำเนิดขึ้นมาก็ด้วยวัตถุมุ่งหมายอันนี้ คือเพื่อจะช่วยคุ้มครองภายในบ้าน มันจึงมาเข้ากันกับคำว่าจุดไฟบ้าน ทำให้ในบ้านมันหมดปัญหา มันหมดเชื้อเพลิง ทีนี้เราจะมีอะไรที่จะมีลักษณะเหมือนกับจุดไฟบ้าน ก็คือการทำให้ทุกอย่างในบ้านมันหมดปัญหา
มันมีอะไรที่มั่นคง มันจึงไม่มีอะไรดีไปกว่าสถาบันของความเป็นชาติไทย คือสิ่งทั้ง ๓ ที่เรียกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้ง ๓ อย่างนี้ถ้าเราได้ช่วยกันจัด ช่วยกันทำให้มันหมดปัญหา มันก็จะหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง เดี๋ยวนี้เรามันไม่รู้จักจัดไม่รู้จักทำในสิ่งทั้ง ๓ นี้ให้ถูกต้อง มันจึงไม่มีโดยแท้จริง มันมีสักแต่ปากว่า ไม่ได้มีโดยแท้จริง มันมีแต่สักปากว่า
ไอ้ชาติก็ใช้คำว่าชาติ แล้วก็มักจะหมายถึงไอ้ตัวธงชาติหรือผืนแผ่นดินที่เป็นดิน ศาสนาก็มักจะหมายถึงไอ้โบสถ์วัดวาอาราม ไม่ได้ ๆ หมายถึงตัวธรรมะ พระมหากษัตริย์ก็จะเล็งถึงบุคคลปราสาทราชฐาน ไม่ได้เล็งถึงคุณธรรมของพระราชา
เราจึงมีแต่ปากหรือว่ามีแต่ภายนอกซึ่งเป็นวัตถุ แล้วเราก็พูดกันแต่ปากไม่ยืนยันในการกระทำ เช่นลูกเสือชาวบ้านจะตะโกนปฏิญญาว่า “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อ ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เขาว่ากันแต่อย่างนี้ เขาว่าข้าพเจ้าจะนะ ข้าพเจ้ายังไม่ได้ทำ ข้าพเจ้าจะทำ จะทำหรือไม่ทำก็ไม่รู้ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าว่าแต่ปากว่าจะกระทำ “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อ ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มันพูดแต่ว่าจะทำ มันยังไม่ได้ทำแล้วมันจะทำหรือไม่ก็ไม่รู้
ไอ้คำพูดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ในภาษาบาลี ถ้าคุณพูดอย่างนี้ในภาษาบาลี ว่าข้าพเจ้าจะอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ในภาษาบาลีใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะยกเลิกไปเลย ไม่มีความหมายของการพูด ถ้าพูดอย่างแบบโวหารภาษาบาลีจะต้องพูดว่า “ข้าพเจ้าจงรักภักดีต่อ ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ถ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อ ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ตามโวหารของภาษาบาลีนั้นถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีความหมาย ไม่ ๆ มีการรับรองอะไร พูดเหมือนกับไม่พูด
นี่เดี๋ยวนี้เรามีแต่พูดกันอย่างนี้ เป็นลูกเสีอชาวบ้านก็ดี ทหารก็ดี ตำรวจก็ดี นักเรียนก็ดี มีแต่ข้าพเจ้า จะทั้งนั้นน่ะ แล้วมันจะจะกันไปอีกกี่ปีกี่สิบปีก็ไม่รู้ ถ้ามัวแต่จะ ๆ ๆ อยู่ ไปคิดกันเสียใหม่ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นจะ เป็นกระทำจริง ๆ
อาตมาเห็นว่ามันก็ต้องทำให้มันมีการกระทำจริง ๆ ลงไปในสิ่งนั้น คือสิ่งทั้ง ๓ นั้น เช่นว่ามีเลย มีชาติหรือมีสถาบันชาติตั้งอยู่บนหัวใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีชาติตั้งอยู่บนหัวใจของข้าพเจ้า ไม่ใช่ว่าอยู่ที่แผ่นดินหรืออยู่ที่ธงชาติ แต่ว่ามีชาติคือความหมายแห่งชาติ คุณค่าของความมีชาติ ความศักดิ์สิทธิ์ของชาติ อะไรก็ตามเถิด อยู่บนหัวใจของข้าพเจ้า
คำว่าสถาบันนั้นแปลว่าตั้งลงไปแล้วอย่างมั่นคง เป็นภาษาสันสกฤตว่าสถาบัน เป็นภาษาบาลีก็ ฐาปน ก็แปลว่าตั้งลงไปแล้วอย่างมั่นคง ตั้งไปที่ไหนอย่างมั่นคง มันต้องตั้งลงบนหัวใจของบุคคลนั้น ทุกคนซึมซาบในความจำเป็นที่จะต้องมีชาติ
เรามีชาติกันมาแล้วอย่างไร รู้สึกคุณค่าของความมีชาติ นึกความที่ต้องผูกพันกันเป็นชาติ หรือมันได้รอดเนื้อรอดตัวมาโดยการที่ผูกพันกันเป็นชาติ ช่วยกันรัก รักษาชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ของชนชาติไทย รู้สึกในคุณค่าความหมายอันนี้ว่า มีความสำคัญที่เราจะต้องมีความเป็นชาติ ดังนั้นเราก็อุทิศเพื่อชาติ ให้ความหมายของคำว่าชาติเป็นสถาบันชนิดที่ตั้งลงไปในหัวใจ คือบนจิตใจ
คำว่าสถาบันนั้นอย่าเข้าใจว่ามัน ๆ ใช้แต่เรื่องแต่ทางวัตถุ สิ่งของ โบสถ์ วิหาร ตั้งอยู่นี้ โรงเรียนตั้งอยู่ อะไรตั้งอยู่เรียกว่าสถาบัน นั้นมันเป็นภาษาลูกเด็ก ๆ ถ้าภาษาบาลีภาษาธรรมะแท้จริง มันหมายถึงจิตใจมากกว่า จิตใจที่ตั้งลงไป หรืออะไรที่ตั้งลงไปบนจิตใจนั่นน่ะคือสถาบัน
ดังนั้นเรามีสถาบันแห่งชาติ คือความที่เราอุทิศได้เพื่อชาติ เห็นคุณค่าของชาติ ความจำเป็นที่ต้องมีชาติ และไอ้ความรู้สึกอันนี้ฝังแน่นลงไปบนจิตใจนะ ไม่ใช่ที่ปากนะ ฝังแน่นลงไปในจิตใจนั้นเรียกว่า สถาบันแห่งชาติ ได้มีสถาปนลงไปแล้วบนหัวใจของเรา นี้เรียกว่าเรามีชาติ
นี้ศาสนาก็เหมือนกัน ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม พระคัมภีร์ พระอะไรเหล่านั้น เพราะว่านั่นมันเป็นวัตถุหรือเป็นภาชนะอะไรมากกว่า เราต้องรู้จักคุณค่าของศาสนา คือธรรมะที่ช่วยมนุษย์ได้ ช่วยคนทุกคนได้ อยากจะให้คำจำกัดความว่า ไอ้ธรรมะนี้คือการปฏิบัติไม่ใช่การเล่าเรียน หลังจากการเล่าเรียนแล้วก็ปฏิบัติอย่างถูกต้อง และจำเป็นสำหรับมนุษย์ ทุกคน ทุกขั้น ทุกตอน แห่งวิวัฒนาการของตน ๆ ทั้งในแง่ของสังคมและแง่ของปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ ทั้งในด้านของวัตถุและในด้านของจิตใจ นี่คือพระธรรมหรือศาสนา
ใครเข้าใจก็จะรักพระธรรมหรือรักพระศาสนายิ่งกว่าชีวิตจิตใจ มีศรัทธามีความเลื่อมใสมีอะไรทุกอย่างในพระธรรมหรือในพระศาสนานั้น แล้วพระศาสนานั้นก็จะประดิษฐานลงไปบนจิตใจของบุคคลนั้น ตัวศาสนาแท้จริงคือค่าของศาสนาตั้งลงบนหัวใจของบุคคลนั้น คิดดูสิ แล้วคนนั้นมันก็มีศาสนามีสถาบันแห่งศาสนาอยู่ที่จิตใจโดยแท้จริง ถ้ามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริงแล้วก็ ตามหลักกล่าวว่าต้องเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างน้อย
ดังนั้นขอให้มีความมั่นคง ความตั้งมั่นลงไปในจิตใจ ของสถาบัน ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เรียกว่ามีศาสนาแท้จริงตั้งอยู่บนจิตใจ ไม่ใช่เพียงแต่ปากมันตะโกนว่า “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อศาสนา” นี่มันเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ แล้วมันยังจะ ๆ ๆ ๆ อยู่นั่นเอง
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ ๓ คือพระมหากษัตริย์ เราจะต้องรู้จักความจำเป็นที่จะต้องมีกษัตริย์ มันรอดมาด้วยกษัตริย์ เป็นอยู่ได้ด้วยกษัตริย์ แม้ในระบบประชาธิปไตยที่เขา กำจัด จำกัดอำนาจของพระราชาลงไปมาก ก็ยังจำเป็นอยู่นั่นเอง เพราะว่าความรู้สึกอันนี้มันฝังอยู่ในสันดานของชนชาติไทยมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที คือความมีกษัตริย์เป็นผู้นำ
เดี๋ยวนี้มีกษัตริย์เป็น ๆ ศูนย์กลางสำหรับความยึดหน่วงแห่งความสามัคคี ถ้ารัฐบาลแตกกันกับรัฐสภา พระมหากษัตริย์ก็ยังอยู่เพื่อดึงให้ไม่แตกกัน ถ้ารัฐบาลแตกจากแตกกับประชาชน พระมหากษัตริย์ก็ยังอยู่สำหรับที่จะยึดหน่วงเอาไว้ หรือว่าพรรคการเมืองมันจะแตกกันเป็นพรรค ๆ ๆ ๆ ๆ กี่สิบพรรค มันก็ยังมีพระราชาเป็นเครื่องยึดหน่วงไว้ตรงศูนย์กลาง ทุกพรรคมันก็ไม่อาจจะแตกแยกกันถึงกับจะทำลายชาติประเทศได้ คณะรัฐบาลแตกกัน ประชาชนแตกกัน แบ่งกันเป็นพรรค ๆ อย่างไร กี่ร้อยกี่สิบพรรคกี่แขนง ก็มีพระราชาเป็นจุดหนึ่งที่จะดึงสิ่งเหล่านี้มายังสัมพันธ์กันได้
นี่ความจำเป็นอย่างยิ่งมีอย่างนี้ แม้ในระบอบประชาธิปไตย พระราชาโดยเฉพาะประเทศไทย ยังมีความสำคัญอย่างนี้ มีความจำเป็นอย่างนี้ แล้วท่านก็ได้ทำหน้าที่ของพระราชาผู้มีทศพิธราชธรรมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเราจึงถือว่าความมีทศพิธราชธรรมนั้นแหละคือสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นขอให้สิ่งนี้ตั้งอยู่บนจิตใจของเรา ก็จะชื่อว่ามีพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันตั้งอยู่บนจิตใจของเรา
ไม่ใช่สักว่า “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดี” ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วก็จะมีสิ่งนี้ตั้งอยู่บนจิตใจโดยแท้จริง นั่นยังเป็นเพียงพิธี โดยมากก็ทำเป็นรีตองเลยด้วยซ้ำไป เราต้องเข้าใจพระมหากษัตริย์อย่างถูกต้อง และมีความจงรักภักดียิ่งกว่าชีวิตของเราเอง นี้จึงจะมีสถาบันกษัตริย์ตั้งลงบนจิตใจของเรา
รวมความว่าเราจะมีสถาบันอันแท้จริงของชาติ ของศาสนา ของพระมหากษัตริย์ตั้งลงไปอย่างแน่นแฟ้นบนจิตใจของเรา มีจิตใจของเราเป็นเครื่องรองรับ พูดภาษาธรรมดาก็ว่า ฝังลงไปในจิตใจของเราอย่างแน่นแฟ้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อทำได้อย่างนี้มันก็เป็นอัตโนมัติ ในการที่จะเสียสละทุกอย่างทุกประการเพื่อความอยู่รอดแห่ง ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดแห่งความเป็นไทย ความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยองค์ ๓ ประการนี้คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
อาตมาเลยเรียกชื่อว่าไทยไตรยางคธรรม ธรรมะประกอบด้วยองค์ ๓ เพื่อความเป็นไทยของคนไทย เราจะมีไทยไตรยางคธรรมกันอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่า นี่ขอให้มีไทยไตรยางคธรรมอย่างนี้ แล้วบ้านนี้จะเรียบร้อยเหมือนกับบ้านที่อยู่ริมป่า ที่เขาจุดเชื้อเพลิงรอบ ๆ บ้านหมดสิ้นแล้ว แม้ว่าไฟป่าจะท่วมมายท่วมมาอย่างมหาศาลอย่างท่วมฟ้าท่วมดิน ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะว่าเขาได้จุดไฟบ้านรับไฟป่าไว้อย่างถูกต้อง
ปู่ย่าตายายของเราสอนไว้อย่างนี้ ลูกหลานมันโง่เอง มันฟังไม่ถูกว่า จุดไฟบ้านรับไฟป่านั้นจะต้องทำอย่างไร เขาเคยรอดกันมาแล้วด้วยเหตุนี้ นี้เราก็มีไฟป่าที่จะมาจากนอกประเทศ ที่จะมาครอบงำย่ำยีประเทศเหมือนกับไฟป่า ท่วมฟ้ามาทีเดียว นี้เราจะจุดไฟบ้าน หมายความว่าสิ่งอะไรที่มันเป็นอุปสรรค เป็นไอ้อันตราย ที่จะเป็นประโยชน์กับไฟ ๆ ป่านั้นน่ะ จุดเผาเสียให้หมดก่อน มันก็เรียบร้อย สะอาด ปราศจากเชื้อที่ให้ไฟป่ามันไหม้ลามได้
นั่นก็คือความแน่นแฟ้นของสถาบันทั้ง ๓ ประเทศชาติ ศาสนา ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ คือความถูกต้องในการประพฤติปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ตามหน้าที่ของตน ๆ ทั้งในฝ่ายสังคมและในฝ่ายปัจเจกชน ทั้งในทางด้านวัตถุและด้านวิญญาณ นี่คือไฟบ้านที่จุดไว้อย่างดีที่สุด คือไฟของธรรมะสำหรับรับไฟป่าบ้า ๆ บอ ๆ ของโลกิยะ คือเต็มไปด้วยกิเลส ดังนั้นท่านทั้งหลายก็จะได้ชื่อว่า ช่วยกันทำให้ประเทศชาตินี้ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามต่อไป ตามวิถีทางของชนชาติไทยที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ
เอ้า, ก็ขอ ก็ขอสรุปด้วยคำแรกว่า ลูกเสือชาวบ้านมีความหมายว่ารับภาระหน้าที่ภายในบ้าน หมายความว่าเป็นเสืออยู่ในบ้าน พร้อมที่จะต่อสู้กับเสือที่จะออกมาจากป่า ด้วยวิธีการที่เรียกว่าจุดไฟบ้าน รับไฟป่านั่นเอง ลูกเสือชาวบ้านอย่าเป็นลูกแมวลูกสุนัขเสีย จงเป็นลูกเสือที่แท้จริง แล้วมันก็อยู่ในบ้าน ทำทุกอย่างให้มันสำเร็จประโยชน์
เดี๋ยวนี้ชักจะถูกตำหนิกันแล้วนะว่า ลูกเสือชาวบ้านนี้เล่นหัวกันเกินไป เอียงไปทางกามารมณ์ หาโอกาสในการสนองกิเลสกันแล้ว อาตมาได้ยินนะ สี่พยางค์ที่ฟังไม่ออก (ช่วงนาทีที่ 20:10-20:11) หมายความว่าคุณทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ แต่บอกให้รู้ว่ามันได้ยินมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้ช่วยกันระมัดระวังป้องกันรักษาเกียรติยศอันนี้ไว้ให้ดี ให้เป็นลูกเสือชาวบ้านที่แท้จริง
ทำหน้าที่ของตนอย่างขยันขันแข็ง สามารถจุดไฟบ้านรับไฟป่าได้ โดยเข้มแข็ง โดยเด็ดขาด โดยสมกับที่ว่าเป็นลูกเสือชาวบ้าน เป็นเสือไม่ใช่เป็นแมว นี้ก็เป็นกันอย่างถูกต้อง สำหรับจะต่อสู้เสือที่มาจากป่า มันจะมาสักเท่าไรก็ตาม ลูกเสือชาวบ้านย่อมจะได้เปรียบ เพราะว่าอยู่ในลักษณะที่จะทำทุกอย่างที่ไม่ให้มันเข้ามาได้ โดยนัยแห่งอุปมาที่ว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่านั้นด้วยกันทุกคนเถิด ก็จะไม่เสียทีที่ได้สละทุกอย่าง แม้ชีวิตก็อาจจะสละได้เพื่อความอยู่รอดของชนชาติไทย ซึ่งมี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นองค์ประกอบ โดยนัยดังที่กล่าวมา
นี้อาตมาก็ได้กล่าวตามความประสงค์ของท่านทั้งหลาย ที่ขอร้องให้กล่าวในระยะเวลาอันสั้นเท่าที่มีอยู่บัดนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ขอให้จำให้ดีว่า เราพูดกันถึง Spirit หรือเจตนารมณ์อันแท้จริงของคำว่าลูกเสือชาวบ้าน และพูดถึงหน้าที่ที่จะต้องทำให้สมกันกับที่จะเป็นลูกเสือชาวบ้าน หรือเป็นเสือบ้านที่จะต่อสู้กับเสือป่า อย่าให้ทำอะไรเราได้
ก็สมควรแก่เวลาแล้ว เวลามีเท่านี้ก็พูดเท่านี้ ต่อไปนี้ท่าน พระท่านจะฟังคำบรรยายที่เขาว่าเขาจะส่งทางวิทยุกระจายเสียง เวลา ๘.๐๐ น. นี้ เป็นคำที่อาตมาบันทึกเทปส่งไปให้ ถ้าเขาส่งมาก็จะได้ยินเดี๋ยวนี้แหละ
(บรรเลงเพลงชาติไทย ช่วงนาทีที่ 22:45-23:41)
เสียงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย : บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มิได้ ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต่อไปนี้ท่านจะได้ฟังปาฐกถาธรรม โดยพระเทพวิสุทธิเมธี พุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายปาฐกถาธรรมเป็นครั้งแรกนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมะทำไมกัน เพียงแต่ได้ยินหัวข้ออย่างนี้บางคนก็จะสงสัยว่า หมายความว่าอะไร ทำไมจึงกลายเป็นคำถาม อาตมารู้สึกว่าคนทั่วไปยังสงสัยอยู่ว่า ธรรมะนี้เพื่อประโยชน์อะไรกันหรือทำไมกัน หรือเมื่อได้ยินประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ว่า จะให้มีการบรรยายปาฐกถาธรรมขึ้นเป็นประจำต่อไปนี้ เขาก็จะสงสัยว่าทำไปทำไมกัน หรือธรรมะนั้นทำไมกัน
ทีนี้มันมีคนบางพวกซึ่งไม่ค่อยจะสนใจและไม่ค่อยจะชอบธรรมะอยู่ก่อนแล้ว เขาจะมีคำถามที่ไม่น่าฟัง เช่นพูดว่า ธรรมะธรรเมอะทำไมกัน นี่สำหรับคนที่ไม่สนใจและไม่อยากจะสนใจ เพราะเขาไม่ได้รู้ประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ จึงมีความรู้สึกอย่างนั้น อาตมามีความเห็นว่าเราควรจะทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้
มีผู้ที่เข้าใจผิดต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมอยู่ในที่ทั่ว ๆ ไป คือมีคนที่เกลียดธรรม โดยรู้สึกไปว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางความสนุกสนานของตนหรือไม่เกี่ยวข้องกันกับตน ความรู้สึกเช่นนี้เป็นผลร้ายแก่สังคม คนที่เป็นชั้นครูบาอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย ยังมาขอถามด้วยการตั้งคำถามว่า ธรรมะกับโลกนี่มันเข้ากันได้หรือไม่
อาตมาถึงกับรู้สึกสะดุ้งว่า ทำไมคนชั้นครูบาอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยมาตั้งคำถามว่าอย่างนี้ นี้แสดงว่าไม่มีการเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะกันเสียเลย แม้ในบุคคลชั้นครูบาอาจารย์ แล้วชนชั้นลูกศิษย์จะเข้าใจได้อย่างไร รู้สึกว่าธรรมะยังได้รับความเป็นธรรมน้อยไป คือได้รับความสนใจน้อยไปกว่าที่ ความเป็นจริงนั้นธรรมะมีประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
อาตมามองเห็นเหตุผลอย่างนี้ จึงได้ให้หัวข้อการบรรยายครั้งนี้ว่า ธรรมะทำไมกัน ทีนี้ก็จะได้กล่าวต่อไป การที่เราจะรู้ว่าธรรมะทำไมกันนั้น จะต้องรู้เสียก่อนว่า ธรรมะนั้นเป็นอย่างไรและคืออะไร ฉะนั้นเราจะต้องพูดกันโดยหัวข้อว่าธรรมะนั้นคืออะไรกันเสียก่อน แล้วก็จะเป็นการง่ายที่จะเข้าใจได้ว่า ธรรมะนั้นทำไมกัน หรืออาจจะเข้าใจได้โดยอัติโนมัติ โดยไม่ต้องอธิบายกันอีกก็ได้
ถ้าเขารู้ว่าธรรมะทำไมกัน เมื่อถามว่า ธรรมะคืออะไร คำตอบที่จะเป็นบทนิยามที่กะทัดรัดที่สุดจะมีดังต่อไปนี้ ขอให้ตั้งใจฟังและกำหนดส่วนแห่งบทนิยามนั้น ๆ ธรรมะคือระบบแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งที่จัดเป็นยุค ๆ และทั้งที่จัดเป็นชีวิตแห่งคน ๆ หนึ่ง ทั้งในส่วนปัจเจกชนและทั้งในส่วนของสังคม กระทั่งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ
ถ้าพูดให้สั้นที่สุดก็จะพูดแต่เพียงว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ขอได้โปรดกำหนดให้ดี ๆ จะช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าเราจะมีบทนิยามสั้น ๆ ก็จะมีแต่เพียงว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา
นี้เพื่อความละเอียดยิ่งขึ้นไปก็ขยายความออกไปว่า แห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งที่จัดเป็นยุค ๆ ของโลกและจัดเป็นชีวิตหนึ่ง ๆ ของแต่ละคน ทั้งในส่วนที่เป็นปัจเจกชนและทั้งในส่วนของสังคม ทั้งในส่วนที่เป็นเรื่องทางฝ่ายวัตถุและเรื่องที่เป็นฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ
ขอเวลาย้ำอีกทีหนึ่งว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการที่แตกเป็นยุค ๆ หรือเป็นชีวิตแต่ละชีวิต ทั้งในส่วนปัจเจกชนและส่วนสังคม ทั้งในฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตวิญญาณ คำเหล่านี้แต่ละคำต้องการคำอธิบาย ซึ่งอาตมาจะขออธิบายเป็นลำดับไป
คำแรกก็ ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ จะพูดกันถึงคำว่าระบบเสียก่อน คำว่าระบบท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่า มันหมายถึงหลายอย่างรวมกันเป็นระบบ หรือเป็น System การกระทำอย่างเดียวหรือข้อเดียวมันไม่พอ ต้องหลายข้อหรือหลายอย่างมารวมกันเป็นระบบ เป็นระบบแห่งการปฏิบัติ ก็หมายความว่า การปฏิบัติหลาย ๆ อย่างหลาย ๆ ข้อรวมกันเป็นระบบหนึ่ง ๆ สำหรับมนุษย์จะต้องปฏิบัติ
ถ้าถามว่าทำไมจะต้องเป็นระบบ ก็ตอบได้ว่า ลองเหลือบตาดูหรือว่าจะใคร่ครวญคำนวณดู จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นระบบ เช่นร่างกายนี้ก็เป็นระบบ ระบบการหายใจ ระบบการไหลเวียนแห่งโลหิต ระบบการสร้างเนื้อหนัง ระบบการรับประทาน ระบบการถ่ายนั้นก็เป็นระบบ ประกอบกันเข้าเป็นระบบใหญ่ เพื่อสร้างกายให้คน ๆ หนึ่ง
โลกทั้งโลกนี่ก็ประกอบอยู่ด้วยระบบมากมาย ชีวิตของคน ๆ หนึ่งก็ประกอบอยู่ด้วยระบบหลาย ๆ ระบบ การงานของคนก็ประกอบอยู่ด้วยระบบหลาย ๆ ระบบ ล้วนแต่เป็นระบบ ดังนั้นการที่จะประพฤติกระทำให้ถูกต้องเพื่อผลอันสมบูรณ์ มันจะต้องมีการกระทำที่เป็นระบบ ดังนั้นเราจึงกล่าวว่าระบบของการปฏิบัติ ไม่พูดว่าการปฏิบัติเพียงข้อหนึ่งข้อใดข้อเดียว คำแรกก็คือคำว่า ระบบของการปฏิบัติ
ทีนี้ก็จะได้พูดถึงคำว่าการปฏิบัติ การปฏิบัติหมายถึงการกระทำ ธรรมะนั้นเป็นการกระทำ ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้หรือการเล่าเรียนเฉย ๆ ต้องเป็นการกระทำจึงจะเป็นตัวธรรมะ นี้ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาท่านถือกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าธรรมะเป็นเพียงคำสั่งสอนแล้วก็เก็บไว้ในตู้ในสมุด ธรรมะคือตัวการปฏิบัติ อยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ความรู้นั้นก็จำเป็นสำหรับการปฏิบัติ เมื่อพูดถึงการปฏิบัติย่อมรวมเอาความรู้ไว้ด้วย คือต้องมีความรู้ที่ถูกต้องสำหรับที่จะปฏิบัติ
ในที่นี้ก็มาระบุถึงระบบแห่งการปฏิบัติเสียเลย หมายความว่ารวมเอาความรู้ไว้ด้วย แต่ขอให้เข้าใจไว้เสมอไปว่า ลำพังความรู้นั้นไม่พอ ต้องมีการปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้วผลของการปฏิบัติย่อมเป็นมาเองโดยอัตโนมัติ จึงไม่ได้พูดถึงผลของการปฏิบัติ พูดถึงตัวการปฏิบัติก็พอ
ระบบการปฏิบัตินี้จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นแก่มนุษย์ ทีนี้คำว่าถูกต้องและจำเป็นนี้เป็นคำที่มีความหมายสำคัญมาก จะต้องสนใจกันเป็นพิเศษ เพราะธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นแก่มนุษย์ อย่างไรเรียกว่าถูกต้อง อย่างไรเรียกว่าจำเป็น นี้มีเรื่องมาก
ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ก็อยากจะขอให้ทราบใจความสำคัญว่า ธรรมะในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่เฉียบขาด ที่ลำเอียงไม่ได้ ถูกต้องนั้นถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จำเป็นนั้นจำเป็นเพราะกฎของธรรมชาติบังคับไว้อย่างเด็ดขาด คือไม่ทำไม่ได้ ดังนั้นธรรมะจึงคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นแก่มนุษย์ตามกฎของธรรมชาติ
คำว่าธรรมชาตินี้เป็นต้นกำเนิดของคำว่าธรรม ถ้าเราจะรู้สิ่งหรือถ้าเราจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมให้ดี ก็ต้องสนใจถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ตัวแท้ต้วจริงของธรรมชาตินั่นแหละคือธรรม ธรรมชาติในที่นี้แจกออกได้เป็น ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติโดยตรงนั้นก็เรียกว่าธรรม ตัวกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรม ตัวการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรม ตัวผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรม
ดังนั้นเราจึงได้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้เป็น ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง และผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกัน ๔ อย่างนี้เรียกด้วยคำเพียงคำเดียวว่าธรรมเสมอกันหมด
แต่แล้วขอให้สังเกตดูว่า ธรรมในความหมายไหนที่จำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ อาตมาก็ได้ระบุลงไปแล้วว่า ธรรมในความหมายที่เป็นการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติมีกฎตายตัว บีบบังคับให้ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ สำหรับจะรอดชีวิตอยู่ได้ ถ้าผิดกฎสำหรับจะรอดชีวิตอยู่ได้แล้วมันจะต้องตาย กฎที่จะต้องทำให้ถูก กฎที่จะต้องได้รับการปฏิบัติให้ถูกนั้น ก็คือหน้าที่ของมนุษย์ที่เรียกว่าธรรมใน ๔ ความหมาย
คำว่าธรรมในฐานะที่เป็นหน้าที่นี้เป็นความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไม่อาจจะมาแบ่งแยกเอาตามชอบใจว่า เป็นฝ่ายซ้ายหรือเป็นฝ่ายขวา แต่มันจะต้องเป็นเพียงความถูกต้องที่อยู่ตรงกลาง ที่ทำให้ซ้ายกับขวาอยู่ด้วยกันได้ เหมือนกับเราให้แขนซ้ายแขนขวาสัมพันธ์กันได้โดยความถูกต้อง ถ้าไปแยกเด็ดขาดออกจากกันไปเป็นซ้ายสุดขวาสุดมันก็เป็นเรื่องบ้าบอ ไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติเลย
และอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องทางวัตถุหรือทางจิตโดยส่วนเดียว แต่เป็นเรื่องของความถูกต้องระหว่างกลาง คือระหว่างวัตถุกับจิต อย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง นี้ที่ว่าจำเป็นนั้นหมายความว่าไม่ทำไม่ได้ เพราะมันเป็นกฎของธรรมชาติดังที่กล่าวแล้ว
ทีนี้ก็มีบทบัญญัติต่อไปว่า ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ นี้มนุษย์นี่ในที่นี้ก็คือสิ่งที่มีชีวิต ดังนั้นขอให้กินความกว้างไปถึงสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมด เช่น สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ ต้นหญ้า ต้นบอน ล้วนแต่มีชีวิต มันก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติด้วยเหมือนกัน แต่สำหรับมนุษย์นั้นเราเล็งเอาตามความหมายของคำ ๆ นี้ ก็หมายความว่าสัตว์ที่มีใจสูง
มนุษย์แปลว่าสัตว์ที่มีใจสูง สูงยังไง ? สูงจนหมดปัญหา ไม่มีปัญหาอะไรที่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือเป็นความทุกข์ ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาทั้งแก่ตนเอง ไม่มีปัญหาทั้งแก่ผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่าใจสูงอยู่เหนือปัญหา นั้นคือความหมายของคำว่ามนุษย์ นี้การปฏิบัตินั้นถูกต้องและจำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ก็หมายความว่าทำให้มนุษย์อยู่เหนือปัญหา จะอยู่เหนือปัญหาได้ก็มีความถูกต้องในข้อปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์นั่นเอง
ทีนี้คำว่าทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ต้องที่ต้องระบุชัดลงไปว่าทุกขั้นทุกตอน นี้ก็เพราะว่ากฎของธรรมชาติมันได้ทำให้เกิดมีขั้นตอน ทำให้เกิดมีการเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาในวิวัฒนาการนั้น เข้าใจได้ง่ายว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเจริญขึ้นมาเป็นขั้นตอน
แม้แต่การงานของมนุษย์ก็ยังเป็นขั้นตอน การศึกษาเล่าเรียนของมนุษย์ก็มีขั้นตอน วิวัฒนาการของมนุษย์จึงมีขั้นตอน ความถูกต้องมันจึงต่างกันตามขั้นตอน เราจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจทุกขั้นตอนสำหรับประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องถูกต้องทุกขั้นตอน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่ใช่ธรรมะในที่นี้
ทีนี้ก็มาถึงคำว่าแห่งวิวัฒนาการของเขา หมายความว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการที่เจริญขึ้น สูงขึ้น ๆ ดูที่โลก ตัวโลก แผ่นดินโลก ก็มีวิวัฒนาการสูงขึ้น ตามที่ได้กล่าวแล้วอธิบายไปแล้วในวิชาวิทยาศาสตร์ แม้จะดูที่ตัวบุคคลมันก็มีวิวัฒนาการ ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่ ก็มีวิวัฒนาการสูงขึ้น ๆ แจกเป็นปฐมวัย มัชฌิมวัยปัจฉิมวัย หรืออะไรก็แล้วแต่
ทีนี้หน้าที่การงานที่มนุษย์จะประพฤติกระทำมันก็มีวิวัฒนาการ เด็ก ๆ ก็ทำงานไปอย่างหนึ่ง หนุ่มสาวทำอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ทำอย่างหนึ่ง คนแก่เฒ่าทำอย่างหนึ่ง มีวิวัฒนาการอยู่ในหน้าที่การงานของมนุษย์ แม้ความสามารถของมนุษย์ก็ต้องมีวิวัฒนาการ ไม่ใช่ใครว่าเกิด ไม่ใช่ว่าใครเกิดมาแล้วก็สามารถเต็มที่ มันต้องมีความสามารถที่สร้างขึ้นมาในลักษณะของวิวัฒนาการ
มนุษย์จึงมีวิวัฒนาการขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน เราจึงต้องมีการกระทำที่ถูกต้องตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ ทีนี้ก็ดูถึงวิวัฒนาการว่า มันยังมองเห็นเป็นส่วนปัจเจกชนและเป็นส่วนของสังคม สำหรับคน ๆ หนึ่งนั้นก็มีวิวัฒนาการ ต้องการจะก้าวหน้าไปให้ถึงสุดยอดของวิวัฒนาการ
ธรรมะเท่านั้นที่เป็นคู่ชีวิตแท้จริงของคนในขณะแห่งวิวัฒนาการ คู่ผัวตัวเมียเรียกกันว่าเป็นคู่ชีวิตก็ยังเหินห่างไปกว่าธรรมะ ธรรมะเป็นคู่ชีวิตยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะว่าเนื้อตัวของเราก็เป็นธรรมะในความหมายที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เนื้อตัวของเราก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ถูกควบคุมอยู่โดยกฎธรรมชาติ
ที่เนี้อที่ตัวของเราก็มีการปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่าธรรมะในฐานะที่เป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ชีวิตนี้ก็ได้รับประโยชน์จากการประพฤติกระทำอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่ามันมีธรรมะเป็นเนื้อเป็นตัว ธรรมะจึงเป็นคู่ชีวิตของคน ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ที่เขาเรียกกันว่าคู่ชีวิต ชีวิตประจำวันก็ดี ชีวิตตลอดทั้งชีวิตก็ดี ประกอบอยู่ด้วยธรรมะอันนั้น มิฉะนั้นจะต้องวินาศ จึงเรียกว่าชีวิตนี้มีคู่คือธรรมะ
ธรรมะคือคู่ชีวิตที่แท้จริงของคน สำหรับจะวิวัฒนาการไปตามลำดับ นับตั้งแต่โลกิยะอย่างโลก ๆ จนกระทั่งถึงโลกุตตระคือพระนิพพาน ส่วนปัจเจกชนแท้ ๆ ก็ยังต้องการธรรมะในลักษณะอย่างนี้ ในส่วนสังคมนั้นก็ยิ่งต้องการธรรมะ สังคมต้องการธรรมะที่เป็นรากฐาน ที่เป็นกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน ทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ธรรมชาติกำหนดให้อย่างนี้ ผิดไปอย่างนี้ ผิดไปจากนี้ก็จะมีความวินาศ เราไม่ค่อยคำนึงกันถึงส่วนนี้ เราจึงอยู่กันอย่างศัตรู
แต่ธรรมะสำหรับสังคมนั้นก็ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเช่นเดียวกับส่วนบุคคลเหมือนกัน ที่เป็นระบบการปกครองต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ต้องไม่ติดเหวี่ยง เช่นไม่ต้องมีระบบการปกครองเพื่อนายทุนโดยส่วนเดียว ไม่ต้องมีระบบการปกครองเพื่อชนกรรมาชีพโดยส่วนเดียว แต่ต้องมีระบบการปกครองที่อยู่ตรงกลางที่ทำให้นายทุนกับชนกรรมาชีพอยู่ด้วยกันได้
เราจะต้องมีวิธีการที่ทำให้เข้ากันได้ระหว่างสิ่งที่แตกต่างกัน คนจนกับคนรวยอยู่ด้วยกันได้ คนโง่กับคนฉลาดอยู่ด้วยกันได้ คนแข็งแรงกับคนอ่อนแออยู่ด้วยกันได้ ถ้าใครฝืนธรรมชาติอันนี้ เพราะยึดถือโดยส่วนเดียว มุ่งทำลายอีกส่วนหนึ่งแล้ว มันก็ผิดกฎของธรรมชาติ เขาต้องหาอำนาจหากำลังมาคอยบีบไว้ มาคอยกดไว้ เมื่อไรมือมันล้ามันเหนื่อยปล่อยมือเมื่อไร มันก็รุกกลับไปหาความวุ่นวายหรืออันตรายอย่างเดิม
ระบบที่ต้อง เสียงหาย (ช่วงนาทีที่ 47:04-47:20) นี่ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นดังนี้ การที่ต้องมีอำนาจมากดหรือมาคุม ๆ ไว้นั้น มันผิดกฎของธรรมชาติ เราจึงไม่ถือว่าเป็นธรรมะที่ถูกต้องสำหรับสังคม
เดี๋ยวนี้เราทำผิดในเรื่องนี้ เราจึงมีปัญหาอย่างที่ไม่น่าจะมี เช่นรัฐบาลกับประชาชนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อ่านจากหนังสือพิมพ์บางฉบับบางครั้งจะเห็นได้ชัด ๆ ว่า รัฐบาลกับประชาชนทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โดยที่ไม่รู้ว่าจะให้ใครรับผิดชอบ การต่อว่าต่อล้อต่อเถียงข่มขี่กัน มันมีเหมือนกับว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ถ้าธรรมะเข้ามาในที่นี้ คือมีความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว มันก็ไม่มีอาการอย่างนี้ รัฐบาลกับประชาชนก็จะกลมกลืนกันเหมือนน้ำและน้ำนม ไม่มีการแตกแยก ไม่มีการเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หรือกับสภาผู้แทนฯ หรือกับกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งโดยแน่นอน เดี๋ยวนี้ความไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติมีอยู่ มนุษย์ในโลกนี้จึงอยู่กันอย่างที่เรียกว่า มีวิกฤติการณ์อันถาวร แทนที่จะมีสันติภาพอันถาวรก็กลายเป็นมีวิกฤติการณ์อันถาวร
ขอให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าธรรมะคืออะไร ? ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม ทั้งส่วนจิตและส่วนวิญญาณหมายความว่ามีการกระทำที่ถูกต้องทั้งทางฝ่ายวัตถุธรรมและฝ่ายนามธรรม เมื่อเป็นดังนี้แล้วท่านก็จะมองเห็นได้เองว่า ทำไมจึงต้องมีธรรมะ
ธรรมะคือหน้าที่ที่จำเป็นสำหรับทุกสิ่งที่มีชีวิต ที่จะเดินทางไปตามวิวัฒนาการทุกขั้นทุกตอนของเขา ที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับวิวัฒนาการของมนุษย์นั่นเอง ปัญหาคงจะหมดไปแล้วว่า คงจะหมดไปแล้วโดยที่ไม่ต้องถามว่า ธรรมะทำไมกัน
ธรรมะคือระบบของการปฏิบัติสำหรับมนุษย์จะไต่เต้าไปอย่างถูกต้องตามวิวัฒนาการของเขา เรียกว่าหน้าที่ คำว่าธรรมะแปลว่าหน้าที่ แม้ว่าจะแปลเป็นความหมายอย่างอื่นได้อีกหลายความหมาย แต่ความหมายที่สำคัญที่สุดของคำว่าธรรมะนี้คือแปลว่าหน้าที่ ธรรมะทำไมกัน ? ธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ในขณะที่เดินไปตามวิวัฒนาการ
อาตมาเห็นว่าการบรรยายในครั้งแรกนี้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการเพียงพอแล้วว่า ธรรมะทำไมกัน ? ให้ทุกคนทราบว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งในส่วนบุคคลและส่วนสังคม ทั้งในทางฝ่ายวัตถุและวิญญาณ ขอให้ความจริงข้อนี้ก้องกังวานอยู่ในหูของท่านทั้งหลายทุกคน แล้วก็จะเกิดผลดี ได้รับผลดีจากธรรมะนั้นอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน
อาตมาขอยุติการบรรยายธรรมปาฐกถาครั้งแรกนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
เสียงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย : ที่ท่านได้ฟังยุติลงไปแล้วนั้น เป็นรายการปาฐกถาธรรม โดยพระเทพวิสุทธิเมธี พุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี