แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมิกถาที่อาตมาจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายในที่นี้ ในวันนี้ จะได้กล่าวในหัวข้อว่า ความหมายของคำว่าลูกเสือโดยภาษาธรรม คำว่าภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ มีเป็น ๒ ภาษา คือ ภาษาคนกับภาษาธรรม มันต่างกันอยู่ ลองสังเกตดูให้เป็นที่เข้าใจ แล้วต่อไปจะรู้เรื่องอะไร เอ่อ ได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าเขากล่าวโดยภาษาคน เราไปฟังในภาษาธรรมก็ได้เรื่องผิดไป หรือถ้ากล่าวในภาษาธรรม ฟังโดยภาษาคนก็ได้เรื่องที่ผิดไป เลยไม่ได้ประโยชน์อะไร บัดนี้ อาตมาจะกล่าวโดยภาษาธรรมเกี่ยวกับความหมายของคำว่าลูกเสือ จะเทียบให้เห็นง่ายๆ ในภาษาทั้งสองนี้ เช่น ถ้าเรากล่าวโดยภาษาคน ก็กล่าวกันว่า พระพุทธเจ้านั้นตายแล้ว เผาเสร็จแล้ว แต่ถ้ากล่าวโดย เอ่อ ภาษาคน คนธรรมดากล่าวก็กล่าวว่าพระพุทธเจ้านั้นตายแล้ว เผาเสร็จแล้ว แต่ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรมนั้น พระพุทธเจ้ายังอยู่ อยู่จนกระทั่งบัดนี้ อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ยังไม่ตาย และยังอยู่ในจิตใจของคนด้วย ไม่ได้มาเผ่นพ่านอยู่ตามถนนหนทาง จนมีนักกล่าวโวหารกล้าคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า ถ้าใครเห็นพระพุทธเจ้ามาเดินอยู่กลางถนนแล้ว ก็ช่วยกันตีเสียให้ตาย เขาหมายความว่าพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นประทับอยู่ในหัวใจของคน ไม่ได้มาเผ่นพ่านอยู่ตามถนนได้ นี่คือการกล่าวโดยภาษาธรรม มันเป็นอย่างนี้ คือเป็นเรื่องทางธรรม เป็นเรื่องของสติปัญญา มองกันในด้านลึกและไม่ได้เอาวัตถุ ร่างกายเป็นหลักเกณฑ์ ฉะนั้น จึงได้พบว่าพระพุทธเจ้านั้นมิได้นิพพานหรือได้ตายไปเลย แต่ยังอยู่ เป็นปัจจุบันอยู่เรื่อย อยู่ในหัวใจของคน เราจะมีพระพุทธเจ้าชนิดไหนกันก็ลองคิดดู เมื่อสักครู่นี้ก็รับศีล รับสรณคมไปหยกๆ ว่า (นาทีที่ 10.00) ถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถ้าพระพุทธเจ้าตายแล้ว เผาแล้ว มันก็เป็นคำกล่าวที่ไม่มีความหมายอะไร เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้ายังอยู่ สำหรับจะอยู่ในจิตใจของคน ถ้าใครประพฤติถูกวิธี พระพุทธเจ้าก็มีอยู่ในจิตใจของคนนั้น ดังนั้นการกล่าวสรณคมนั้นก็มีความหมาย ไม่ใช่ทำอย่างละเมอเพ้อฝัน ทีนี้ขอให้ท่านเข้าใจความแตกต่างระหว่างภาษาคนกับภาษาธรรมกันให้เห็นชัดเป็นอย่างนี้ อย่างหนึ่ง เห็นไปว่าพระพุทธเจ้าตายแล้ว เผาแล้ว อย่างหนึ่ง เห็นว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่กับเราตลอดเวลา ขอให้เราทำตัวเราให้ดี ให้เป็น ให้ถูกต้อง คำว่าลูกเสือก็เหมือนกัน ถ้ากล่าวโดยภาษาคนมันก็เป็นลูกเสือในป่า แล้วก็เป็นเรื่องของลูกเล็กๆ ไม่ใช่ตัวโต มันจึงเรียกว่าลูกเสือ นี่จะกล่าวกันในภาษาคนธรรมดาก็กล่าวอย่างนี้ แต่ถ้าในภาษาธรรมเล่าจะหมายถึงอะไร ค่อยๆ ลองคิดดู คำว่าเสือมีความหมายอย่างไร มันจึงนำมาใช้เป็น เอ่อ สมญานามของบุคคลประเภทที่เรียกกันว่าลูกเสือ เสือเป็นสัตว์ดุร้าย ไม่มีใครปรารถนาอยากจะฆ่าเสียให้ตาย แล้วเป็นลูกเสือมันจะดีอะไร แล้วคำว่าลูกนี่ มันก็หมายความว่ายังเล็กๆ อยู่ มันจะโตขึ้นได้อย่างไรนั้นก็อีกปัญหาหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรม ในพระบาลี ในพระพุทธภาษิต เมื่อกล่าวถึงเสือก็หมายถึงภิกษุที่สามารถเข่นฆ่ากิเลส ภิกษุที่สามารถฆ่าเสือก็คือสามารถฆ่ากิเลส หรือถ้าจะให้เป็นเสือ มันก็ต้องฆ่ากิเลสจึงจะเป็นเสือ เสือนั้นมีความหมายในทางดี ที่ว่าต้องฆ่ากิเลส สามารถฆ่ากิเลสได้ จึงเปรียบภิกษุเหมือนเสือ สุ่มอยู่ในป่า คือ วิปัสสนา แล้วก็ฆ่าสัตว์ที่เข้ามา แล้วก็สุ่มจับเหยื่อ ภิกษุเป็นเหมือนเสืออย่างนี้ สามเณรนั่นแหละน่าจะเป็นลูกเสือ ในเมื่อภิกษุเป็นเหมือนกับเสือ อาตมาก็เคยกล่าวให้ฟังอย่างนี้ว่าลูกเสือควรจะเปรียบเป็นสามเณร ขอให้ระลึกนึกถึงคำว่าลูกเสือกันใหม่ ซึ่งแต่ก่อนเราก็เคยเห็นเป็นเด็กๆ เขาเรียกว่าลูกเสือ ไม่มีลูกเสือตัวโตขนาดบิดามารดาอย่างนี้ นี่ก็ลองคิดดูว่ามันมีความหมายอย่างไร ลูกเสือเด็กๆ ก็คือผู้ที่ทุกคนหวังว่าจะเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่ดี ที่สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้ฝึกฝนตนกันไปก่อน เพื่อจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าภาษาโลกๆ เขาว่าเป็นพลเมืองที่ดี แต่ถ้าภาษาธรรมเขาต้องเรียกว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ นี่เราก็เรียกว่าลูกเสือได้ ลูกเสือกับสามเณรดูมีความหมายตรงกัน อาตมาจึงเคยกล่าวไว้ในคราวหนึ่งว่า หากขอให้จัดลูกเสือนี้ให้ดี ให้ถูกต้องตามความหมายของคำว่าลูกเสือในทางภาษาธรรมแล้ว เด็กๆ ของเราไม่ต้องบวชเณรกันก็ได้ คือมาบวชด้วยการเป็นลูกเสือนั่นแหละมันก็จะมีประโยชน์ คุ้มกันกับที่จะบวชเณร เลยเอาไว้ในระดับเดียวกันว่า สามเณรก็เป็นลูกเสือชนิดหนึ่งของพระพุทธเจ้า ลูกเสือทั่วไปนี่เรียกว่าลูกเสือของชาวบ้าน ทีนี้มาดูถึงคำว่าลูก ก็หมายถึงผู้ที่ยังเยาว์วัย ยังอ่อนด้วยวัย หรือยังอ่อนอยู่โดยอะไรก็ตาม ถ้ายังอ่อนอยู่โดยสติปัญญา ก็เรียกว่ายังเยาว์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ให้หัวหงอกแล้ว ให้ฟันหักแล้ว มันก็ยังเยาว์อยู่นั่นแหละ เพราะมันยังอ่อนอยู่ด้วยสติปัญญา ดังนั้น การที่จับคนโตๆ อายุมากๆ แล้วมาเป็นลูกเสือนี่ก็ถูกแล้ว เป็นเรื่องที่ดีทีเดียว คือถ้ามันยังหย่อนอยู่ด้วยสติปัญญา มันก็จะได้แตกขึ้นโดยสติปัญญา เพราะฉะนั้นให้ถือว่าผู้ที่หย่อนอยู่ด้วยสติปัญญานั้นจะอายุมากน้อยไม่เป็นสมาส (นาทีที่ 15.27) ถือว่าเป็นผู้เยาว์ ในที่นี้ก็เรียกว่าลูกเสือ สำหรับจะได้อบรมให้เติบโตเป็นเสือที่สมบูรณ์ จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่าอนุโมทนา ทีนี้คำว่าลูกเสือนั้น ถ้าเป็นภาษาคน ฟังดูแล้วก็ชอบกลๆ พอเมื่อตีความหมายเป็นภาษาธรรมจึงจะน่าเลื่อมใส ดังนั้น จึง อาตมาจึงแนะนำเป็นว่า ถ้าอย่างไรเราเรียกลูกเสือว่าพวกธรรมบุตรคือบุตรของธรรม บุตรของธรรมะกันเถิด เมื่อเปิด เมื่อแรกเปิดค่ายลูกเสือแห่งนี้ เขาขอร้องให้อาตมาช่วยตั้งชื่อค่ายลูกเสือแห่งนี้ อาตมาก็ตั้งชื่อค่ายลูกเสือแห่งนี้ว่าค่ายธรรมบุตร คือค่ายของพวกธรรมบุตร ธรรมบุตรคือพวกที่เป็นบุตรของพระธรรม โดยแท้จริงแล้วทุกคนเป็นบุตรของพระธรรม เกิดมาโดยธรรม เกิดมาจากพระธรรม จะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ เรียกว่าพระธรรมก็ได้ ทุกคนมาจากพระธรรม หรือมาจากพระเจ้า ต้นตออันเดิมอันแท้จริงมาจากพระธรรม มาจากพระเจ้า เรียกว่าธรรมบุตร ลูกของพระเจ้า เลยได้ชื่อว่าค่ายธรรมบุตร เป็นค่ายของพวกที่เป็นบุตรของธรรม ต้องดูว่าธรรมบุตรนี่ มันน่า มันชวนให้รู้สึกไปในทางที่ไม่กินแหนงแกลงใจอะไร ผิดกับคำว่าลูกเสือ บางคนก็ชอบว่าจะเรียกลูกเสือว่าธรรมบุตร บางคนก็เฉยๆ อยู่ อาตมายืนยันว่าลูกเสือมันต้องเป็นธรรมบุตร ต้องเป็นบุตรของธรรม ไปศึกษาดูระเบียบการ ดูหลักการ ดูเรื่องที่จะต้องศึกษา ฝึกฝน อบรมเถอะ ทุกข้อ ทุกคำ มันเป็นเรื่องของพระธรรมทั้งนั้น ขอให้มันจริงตามนั้นเถอะ จริงตามกฎของลูกเสือเถอะ แล้วก็จะมีความเป็นธรรมบุตรหรือเป็นลูกเสือชนิดของพระพุทธเจ้า ที่จะโตขึ้นเป็นผู้ขจัดอุปัทวะ อันตรายของมนุษย์ให้สูญสิ้นไป สมแก่เกียรติของคำว่าลูกเสือ จะมีธรรมะกันอย่างไร ธรรมะนั้นโดยสรุปใจความแล้วก็คือ ความประพฤติ ขอให้ช่วย ช่วยจำให้แม่นยำหน่อยว่า ธรรมะนั้นเป็นระบอบของการประพฤติ ไม่ใช่คำสั่งสอน ไม่ใช่ตัวคำสั่งสอนล้วนๆ ธรรมะนั้นคือระบอบของการประพฤติ ปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาในด้านสังคมก็ดี ในด้านส่วนตัวก็ดี ในด้านวัตถุสิ่งของ ร่างกายก็ดี ในด้านจิตใจก็ดี ขอทบทวนทีว่าธรรมะคือระบอบปฏิบัติหรือประพฤติที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ในแง่สังคมก็ดี ในแง่เอกชนก็ดี ในด้านจิตใจก็ดี ในด้านวัตถุร่างกายก็ดี ถ้าปฏิบัติได้ผลตรงตามนี้ก็เรียกว่า ธรรมะตัวจริง ธรรมะที่เป็น ที่ยังเป็นเพียงคำสั่งสอนนั้นมันยังไม่จริง เป็นเบื้องต้น ตัวธรรมะจริงคือการปฏิบัติ เมื่อมีการปฏิบัติเมื่อไรก็เป็นตัวธรรมะจริง เมื่อมีการปฏิบัติแล้วไม่ต้องกลัว ย่อมมีผลของการปฏิบัติโดยสมควรแก่การปฏิบัติเสมอ นั่นเป็นเรื่องของการได้ผล ได้ผลดี ได้รับความสุข กระทั่งบรรลุมรรคผล นิพพาน นั่นก็เป็นธรรมะเหมือนกัน แต่เป็นธรรมะในส่วนผล เรายังไม่นึกถึงก็ได้ เรานึกถึงแต่ส่วนที่เป็นการปฏิบัติ และขอให้มีการปฏิบัติแล้วส่วนผลก็มีเอง จะปฏิบัติให้ถูกต้อง เราก็อาศัยคำสั่งสอนตามสมควร ไม่ใช่ว่าจะต้องเรียนจบพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เรารู้แต่เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การตรัสรู้ของตถาคต มีปริมาณมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่เอามาสอนพวกเธอทั้งหลายนี้ เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ถ้านั่งอยู่ที่นี่ก็จะมองเห็นว่าใบไม้ทั้งป่านี้มันมากเท่าไหร่ แล้วใบไม้กำมือเดียวนี่มันน้อยเท่าไหร่ ท่านตรัสว่าท่านตรัสรู้เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แล้วก็มาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว จะหมายความว่าสอนเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ที่ดับทุกข์ได้ ซึ่งเราเรียกกันว่าเรื่องอริยสัจ นี่เราก็มีหน้าที่ที่ต้องรู้เรื่องนี้ที่จะดับทุกข์ได้ เรื่องดับทุกข์ได้นี้สรุปรวมอยู่ใน ในเรื่องทั้งหมดว่าไม่ใช่ดับแต่ทุกข์ของเราคนเดียว มันต้องดับทุกข์ของคนทุกคนด้วย ของคนทุกคนในประเทศไทย ทุกคนในโลกด้วยจะยิ่งดี เป็นลูกเสืออย่างนี้ไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียว มันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แล้วประเทศชาติของเราก็ต้องมีส่วนดี ที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งโลก ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีค่า สำหรับจะเป็นประโยชน์แก่โลกทั้งโลก นั่นจึงเรียกว่าเป็นผู้ทำ เป็นผู้ที่มีการกระทำที่เพียงพอสำหรับการที่จะดับทุกข์ ทีนี้เราจะเอาแต่หัวข้อที่สรุปไว้สั้นๆ ง่ายๆ สำหรับปฏิบัติกันต่อไปที่สมคล้อยกันกับกฎของลูกเสือ อาตมาก็ไม่แนะอะไรไปมากกว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ ในพระพุทธศาสนา ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ศีล ๕ ที่ท่านทั้งหลายรับสมาทานไปเมื่อสักครู่นี้หยกๆ นั้นสำหรับไปปฏิบัติ ไม่ใช่รับเฉยๆ ไม่ใช่รับแต่ปากว่าเฉยๆ คำว่าสมาทาน สมาทยามิ ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท ๕ ประการนี้ หมายความว่าข้าพเจ้ารับถือปฏิบัติด้วยดี จึงจะเรียกว่าสมาทาน และใช้คำกำจัด จำกัดความว่า ข้าพเจ้ารับปฏิบัติ ไม่ใช่ข้าพเจ้าจะปฏิบัติ สิ่งที่น่าหัว มีอยู่ในคำปฏิญญาของลูกเสือ ของทหาร ของอะไรหมด มันเป็นที่น่าหัวในภาษาบาลี อาตมาอยากจะกล่าวไว้ในที่นี้ เพราะถ้ากล่าวด้วยภาษาบาลีแล้วมันเป็นเรื่องที่น่าหัวและใช้ไม่ได้ ที่พูดว่าข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่ดีแต่เป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้ไม่ได้เพราะมีคำว่า “จะ” “จะ” นั้นคือสิ่งที่ไม่ได้กระทำ ยังไม่ได้กระทำ จะกระทำต่อไปข้างหน้า และไม่ทำก็ได้ เพราะพูดแต่เพียงว่า “จะ” เท่านั้น ถ้าพูดเป็นภาษาบาลี โดยหลักของภาษาบาลี ต้องพูดว่าข้าพเจ้าจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วก็ตลอดกาล คือทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ยืนยันลงไปว่าข้าพเจ้ากำลังจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่บางทีมันจะเป็นเพราะอย่างนี้มั้ง ไอ้ความเหลวแหลกมันจึงยังมีอยู่ในหมู่คนที่มัวแต่ปฏิญญาว่า “จะๆๆๆ” อยู่นั่นเอง แม้ปากจะพูดว่า “จะ” ก็ขอให้มีความหมายว่าข้าพเจ้าเป็นแล้ว หรือเป็นอยู่ทีเดียว ข้าพเจ้าเป็นผู้จงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยู่แล้ว นี่คือคำที่ใช้พูดจากันโดยหลักของภาษา ถ้าเป็นภาษาพุทธศาสนาก็ต้องใช้คำอย่างนี้ จะใช้คำว่า “จะ” ไม่ได้ เขาเรียกว่าเป็นคำ... (นาทีที่ 25.25) ไม่มีความหมาย ไม่มีข้อผูกพัน แล้วก็เป็นหมันไปในที่สุด จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ยึดถือเอาความหมายของคำว่า “จะ” เป็นความหมายกำกวมที่ว่าจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ยังไม่ได้ทำด้วย ถ้าพูดว่า “จะ” อยู่ก็แปลว่ายังไม่ได้ทำน่ะ ถ้าจะให้ได้ทำก็ต้องพูดว่าข้าพเจ้ากระทำลงไปเลย คือเป็นผู้อยู่แล้ว นี่การสมาทานศีลก็เหมือนกันที่ว่า ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท ๕ ประการนี้ หมายความว่าข้าพเจ้าปฏิบัติ ไม่มีคำว่าจะอยู่ในนั้น ไม่ใช่ว่า ไม่มีคำว่าข้าพเจ้าจะปฏิบัติ แต่มีคำว่าข้าพเจ้าถือเอาด้วยดี คือ ปฏิบัติสิกขาบท ๕ ประการนี้ ทีนี้ก็อยากจะขอซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสิกขาบท ๕ ประการนี้ว่ามันมีอย่างไร ถ้าสังเกตดูแล้วรู้สึกว่ายังถือเอาความหมายชนิดที่ไม่เพียงพอ ยังหละหลวมเกินไป ขอพูดกันเสียใหม่ ศีลข้อที่ ๑ ก็ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือเจตนาที่เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกร่วงนี้ความหมายของศีลข้อที่ ๑ คือข้าพเจ้าเว้นจากการประทุษร้ายทรัพย์ เอ้ย ชีวิต ร่างกายของผู้อื่น เขาได้ตรวจถือใจความของสิกขาบทที่ ๑ ว่า ข้าพเจ้าเว้นจากการประทุษร้ายชีวิต ร่างกายของผู้อื่น คือ ทำให้เขาตายก็ไม่ได้ ทำให้เขาเจ็บก็ไม่ได้ด้วยเจตนาร้าย ศีลมันก็หมด จะเป็นเรื่องฆ่า เรื่องทำโดยวิธีใดก็ตามทำให้เขาเจ็บ แล้วทำให้เขาตายน่ะ มันไม่ได้ จะถือแต่ว่าฆ่าอย่างเดียว มันก็มีข้อแก้ตัว ทำให้เจ็บได้ เจตนาของสิกขาบทไม่เป็นอย่างนั้น คือ อย่าไปกระทบกระทั่งต่อชีวิต ร่างกายผู้อื่น ข้อที่ ๒ อทินนานั้น ข้าพเจ้าจะไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ไม่ ไม่ใช้คำว่าลักขโมยอะไร ซึ่งมันแคบ จะไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ที่เอามาเป็นของตัว หรือว่าทำลายเสียเฉยๆ ตามใจ ชื่อว่าทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเราไม่ประทุษร้าย กินความกว้างกว่าจะลัก จะขโมย จะปล้น จะจี้ จะหลอกลวง จะยักยอก จะอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องประทุษร้ายไปทั้งหมด ฉะนั้นอย่าไปแตะต้อง ไปกระทบกระทั่งทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ทีนี้ข้อที่ ๓ กาเมนั้น ต้องไม่ประทุษร้าย เอ่อ ของรักของชอบใจของผู้อื่น ตัวสิกขาบทก็ว่าอย่างนั้น กาเมสุมิจฺฉาจารา ไม่ประพฤติผิดในของรักใคร่ทั้งหลายนี้ คือ ของผู้อื่น ศีลข้อที่ ๑ ไม่ประทุษร้ายร่างกาย ศีลข้อที่ ๒ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ ศีลข้อที่ ๓ ไม่ประทุษร้ายของรักของเขา แม้แต่เพียงแต่คำว่าเจ็บช้ำน้ำใจเล่นน่ะ นี่จะต้องถือลงไปกระทั่งถึงเด็กๆ ตัวเล็กๆ ไม่มีเรื่องชู้สาวอะไร แต่เด็กๆ เล็กๆ ก็ต้องถือศีลข้อนี้ เพราะว่าเด็กอีกคนหนึ่งมันก็มีของรักของพอใจ จะเป็นของเล่น เป็นตุ๊กตา เป็นเสื้อผ้า เป็นอะไรก็สุดแท้แต่ แต่มันเป็นของรัก แล้วก็อย่าไปทำให้เขาช้ำใจด้วยของรักนั้น เขาไม่อยากให้แตะต้อง ไม่ให้ถูกต้อง ก็ไม่ถูกต้องเลยดีกว่า ต้องถือ ถือกันถึงขนาดนี้ เด็กๆ จะต้องระมัดระวังสำรวมถึงขนาดนี้เกี่ยวกับศีลข้อที่ ๓ อย่าไปประทุษร้าย กระทบกระทั่งของรักของพอใจของผู้อื่น เขากินความหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเป็นชู้กันเท่านั้น ศีลข้อที่ ๔ ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่น ให้ถือว่าการพูดเท็จนั้นเป็นการประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นโดยวิธีใดก็ตาม ไม่ใช่พูดโกหกอย่างเดียว พูดอะไรก็ตามที่มันประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นแล้วก็ต้องเว้นเสีย ข้อที่ ๕ สุรานั้นไม่ประทุษร้ายสติสัมปชัญญะตนเอง ที่เราเรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทนั่น เราหมายถึงประทุษร้ายสติสัมปชัญญะของตนเอง เว้นจากการเสพสิ่งซึ่งประทุษร้ายสติสัมปชัญญะของตนเอง ไม่เฉพาะแต่สุรา อะไรก็ตามน่ะที่มันประทุษร้ายสติสัมปชัญญะ ทำให้สติสัมปชัญญะเปลี่ยนไปล่ะก็ต้องเว้นทั้งนั้น ฉะนั้นจึงพูดคำที่ครอบหมดเลยว่าไม่ประทุษร้าย ไม่กระทำสิ่งที่ประทุษร้ายต่อสติปัญญาของตน ศีล ๕ ข้อนี้จะช่วยคุ้มครองโลกทั้งโลกได้ เอ่อ ถ้าคนทั้งโลกเพียงแต่ถือศีล ๕ ข้อนี้ในความหมายอย่างนี้ จะคุ้มครองโลกทั้งโลกได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นลูกเสือก็ควรจะรู้จักดี แล้วก็มีศีลทั้ง ๕ ข้อนี้กันให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ ก็นับว่าไม่มีข้อบกพร่อง คือเป็นบุตรของธรรมะที่จะประพฤติธรรมะ ทำให้ทุกคนมีธรรมะ ให้โลกนี้มีธรรมะ ทีนี้ก็จะพูดต่อไปอีกหน่อยถึงเรื่องศีล ๘ ศีล ๘ นั้นปรับเติมเข้ามาอีก ๓ ข้อ เป็นเรื่องส่วนเกิน เมื่อเราประพฤติศีล ๕ ดีเป็นที่พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้แล้ว ดี รักษาศีลได้ดีจนยกมือไหว้ตัวเองได้แล้ว และยังขอแถมอีก ๓ ข้อสำหรับศีล ๘ ข้อ ๖ ที่เพิ่มเข้ามาเรียกว่า วิกาลนั้นน่ะคืออย่าไปกินอาหารส่วนเกิน อาหารที่ถือได้ว่ามันเกิน ไม่จำเป็นจะต้องกิน ทุกอย่างล่ะอย่าไปกิน อาหารเลยเวลาแล้วก็ไม่กิน อาหารดีเกินไปแพงเกินไปบ้าเกินไปก็ไม่กินอย่างนั้นล่ะ ไม่กินอาหารส่วนเกิน นี่จะกินกันเสียเรื่อย จะนอนแล้วก็ยังซื้อไปกินอีก หรือมันกินอย่างที่เรียกว่าเพื่อความเอร็ดอร่อยของกิเลส ไม่ใช่กินเพื่อสุขภาพอนามัย ก็กินเกิน ดังนั้น อาหารส่วนเกินก็อย่ากิน มันก็จะเป็นการถือศีลข้อนี้ได้ดี ไปแยกแยะเอาเองว่าอะไรเกิน เหล้าเกินไหม ถ้าเกินก็อย่ากิน สูบบุหรี่เกินไหม ถ้าเกินก็อย่ากิน แม้กระทั่งน้ำแข็งน้ำอัดลมอะไรก็ตามอาหารที่มันเกินความจำเป็น ถ้าเราเห็นว่าเกินแล้วก็ไม่กิน แล้วก็อย่าชอบทำให้มันอร่อยจนกินมากๆ เกินกว่าธรรมดาที่ควรจะกิน ไอ้พวกปรุงรส ชูรส ไอ้น้ำจิ้มนี่ทั้งหลายล้วนแต่ทำให้กินเกินที่ควรจะกินทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้นเป็นลูกเสือก็อย่าโง่ให้แก่กิเลส เพราะลูกเสือมีหน้าที่ปราบปรามกิเลส ลูกเสืออย่าโง่ให้กิเลสมันขี่คอไปกินของที่เกิน ที่ไม่ควรจะกิน ศีลข้อที่ ๖ เพิ่มเข้ามาเพียงเท่านี้ว่า อย่าไปกินอาหารส่วนเกิน ไปทำให้มันอร่อยเกินจนกินแล้วกินเล่า ก็ยังอยากกินอยู่นั่นแหละ ทีนี้ข้อที่ ๗ นจฺจคีตวาทิตวิสูกนี่ เว้นจากฟ้อนรำขับร้อง ประโคม ดีด สี ตี เป่า ประดับประดา ลูบ ทา ตกแต่ง นี่พระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นส่วนเกิน การเต้นรำนั้นมีพระพุทธภาษิตตรัสว่า เป็นอาการของคนบ้า การหัวเราะเป็นอาการของเด็กอ่อน การร้องเพลงเป็นอาการของคนร้องไห้ นี่มีคำกล่าวในพระบาลีอย่างนี้ จะถือไหวไม่ไหวลองฟังดู เต้นรำต้องฮึด ต้องลุกขึ้นเต้นหย็องแหย็งๆ เหมือนลิงเมา ลิงบ้า ร้องเพลงต้องทำตาหยีเหมือนคนร้องไห้ เหมือนเสียงคนร้องไห้ ไอ้หัวเราะน่ะเหมือนกับเด็กอ่อนนอนเบาะ ท่านว่าอริยชนไม่ทำ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร มันดีแต่สำหรับคนอ่อนแอ คนปกติ หรือเข้มแข็งอยู่แล้วไม่ต้องทำ ฉะนั้นการประดับประดา ลูบ ทา เพื่อให้หอม เพื่อหลอกกันว่าหอม ไม่มีอะไรดี ใส่เสื้อสวยๆ จะได้เป็นคนดีนี่ มันก็เป็นเรื่องหลอกกันทั้งนั้น ทั้งเรื่องประดับประดาให้เห็นว่าสวย ว่าหอม ว่าดี ด้วยของหลอกเช่นนี้ มีการห้ามไว้ด้วยสิกขาบทที่ ๗ เราจึงเห็นเป็นส่วนเกินหมด เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนเกินหมด มนุษย์ไม่ต้องทำ ดังนั้นอย่าบำรุงบำเรอร่างกายด้วยส่วนเกินเลย เอาแต่ที่พอดี ที่หลักวิชามีบอกอยู่แล้วว่าอะไรพอดี อะไรพอดี เอาไปหลงส่วนเกินกันนัก มันก็จะเสียเปรียบไอคนบางพวกที่มันไม่หลงส่วนเกิน คนไทยเราใส่เสื้อบางๆ ลายๆ เหมือนสีเสื้อประกวด มันก็ประกวดสีเสื้อกันอยู่แบบนี้ จะไปสู้พวกคอมมิวนิสต์ที่ใส่เสื้อหนาๆ สีเดี่ยวๆ กันตลอดไปได้อย่างไร อาตมาเคยดูหนังที่เขาไปถ่ายมาจากเมืองจีนแดงน่ะ ทุกคนมันใส่เสื้อสีเทาหนาๆ ตลอดไปหมด ไม่มีเสื้อเขียวเสื้อแดงเสื้อลายเหมือนคนบ้านเรา แล้วจะไปสู้กันได้อย่างไร ถ้าเรามัวแต่จะใส่เสื้อผีเสื้อกันอยู่อย่างนี้ แล้วมันเป็นส่วนเกิน ทำให้มันงามนี่ ต้องเสียค่าทำให้มันงาม แล้วผ้าบางๆ มันก็ไม่ทน มันก็แพง ต้องจ้างทำสี ทำอะไรต่างๆ ฉะนั้นจึงเชื่อพระพุทธเจ้ากันบ้างเถิดว่า ไอส่วนที่มันประดับประดา ตกแต่งเกินความจำเป็นนั้น ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้เสียเปรียบ การอบรมลูกเสือบางครั้งที่แล้วมา อยู่ที่วัดนี้ได้ยิน เสียงลูกเสือฝ่ายผู้ชายนี่ฉอเลาะ ลูกเสือฝ่ายผู้หญิงให้ลุกขึ้นมาร้องเพลงนั้นที ลุกขึ้นมาร้องเพลงนี้ที จนเหนื่อยอ่อนไปด้วยกัน จนดึก จนไม่ได้นอน นี่ที่แล้วมายืนยันว่าความจริงเป็นอย่างนี้ นี่มันเกินหรือไม่เกิน ถ้ามันเกินช่วยเลิกทีเถอะ มันเป็นเรื่องเกินแล้ว แล้วมันอันตราย พระพุทธเจ้าท่านห้ามไว้ท่านมีเหตุผล ในฐานะที่มันเป็นส่วนเกินและมันก็ทำให้อ่อนแอ ลูกเสือเรานี้อ่อนแอไม่ได้ แล้วทีนี้ข้อ ๘ อุจฺจาสยนมหาสยนา ไม่นั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่นี่ เครื่องไม้ใช้สอย เครื่องใช้ไม้สอยทั้งหลายที่เป็นส่วนเกินนั้นอย่าเอาเลย อย่าบ้าเหมือนกับคนเหล่านั้น มีตึก แล้วมันจะเปลี่ยนตึกเรื่อย จนไม่รู้กี่ กี่ชั้นกี่ตึก จะเปลี่ยนตึกเรื่อย สร้างใหม่ให้มันมากเงินขึ้นไปเรื่อย มีรถยนต์แล้วมันก็เปลี่ยนรถยนต์เรื่อย ให้มันมากขึ้นไปเรื่อย มีเครื่องใช้ไม้สอยในบ้านเรือนอย่างนี้แล้ว มีทีวีอย่างนี้ ตู้เย็นอย่างนี้แล้วมันก็เปลี่ยนเรื่อย ที่ไม่ควรจะมีมันก็มี นี่เรียกว่ามันเกิน ฉะนั้น เครื่องใช้ไม้สอยนั้นอย่าให้มันเกินเลย มันไม่ได้ดีเพราะมีเครื่องใช้ไม้สอยเกิน ถ้านับถือพระพุทธเจ้า ก็ขอให้นับถือหลักข้อนี้ อย่ามีเครื่องใช้ไม้สอยที่เกินเลย เอาแต่ที่พอดี กลับไปนี้ไปดูที่บ้านที่เรือนใหม่ ถ้าอะไรมันเกิน ให้รีบขยับขยายเสีย ขายเสีย ให้ใครไปเสีย อย่าเอาไว้สำหรับให้มันเกิน ให้มันรุงรังในบ้านในเรือนเลย ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่แล้วหมายถึงสวยเกิน งามเกิน ดีเกิน เดี๋ยวนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ว่าท่านทั้งหลายทุกคนมานั่งอยู่ที่นี่ กลางดิน ท่านนั่งกลางทรายเห็นไหม ไม่มีแม้แต่เสื่อ เราก็เห็นได้ ไม่มีเสื่อก็ได้ ดังนั้น เสื่อก็ควรจัดเป็นส่วนเกิน ไม่ต้องพูดถึงพรม เตียม เตียง ตั่งอะไร นี่เรานั่งอยู่บนที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจว่าทุกคนทราบแล้ว ถ้าไม่ทราบก็ต้องใช้คำว่าแย่เต็มทีล่ะ คือ คือไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้านั้นท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านนิพพานกลางดิน ท่านสอนสาวกกลางดิน กุฏิของท่านพื้นดินดูได้ ที่ประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ ท่านประสูติกลางดิน ก็เคยอ่านพุทธประวัติว่าทรงประสูติในสวนลุมพินี ลงมากลางดิน เวลาเที่ยง นี่ประสูติกลางดินใต้ต้นไม้ แล้วเมื่อท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าท่านก็นั่งกลางดินที่โคนต้นไม้ แล้วเมื่อท่านนิพพานก็นิพพานกลางดินที่โคนต้นสาระ ต้นไม้ที่ปลูกไว้หน้าตึกนี่ ที่เขียนว่าต้นสาระน่ะก็ขอให้สนใจ แสดงความเคารพต้นไม้ต้นนั้นในฐานะที่เป็นต้นไม้ที่ประสูติและนิพพานของพระพุทธเจ้า คู่กับต้นโพธิ์ที่เป็นที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน แล้วก็ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนสาวกทั้งหลายทั้งหมดกลางดิน กุฏิของท่าน พื้นดิน ทำไมเราจะต้องมีที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ หรืออยากจะอยู่วิมาน คนส่วนมากทำบุญสักนิดหนึ่ง อุทิศให้ไปเกิดบนวิมาน แล้วจะพบพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ในเมื่อท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดินอยู่อย่างนี้ ดังนั้นขอให้ถือว่าเครื่องใช้ไม้สอย ไม่จำเป็นจะต้องแพง ไม่จำเป็นจะต้องสวย ต้องดีวิเศษอะไร ขอให้สำเร็จประโยชน์ก็แล้วกัน สรุปความว่าเครื่องใช้ไม้สอยก็อย่าให้เกิน ทั้งหมดนี้มันก็มีว่าอาหารการกินก็อย่าให้เกิน การบำรุงบำเรอร่างกายก็อย่าให้มันเกิน เครื่องใช้ไม้สอย บ้านเรือนนี้ก็ไม่ต้องเกิน นี่ศีล ๘ มันเปลี่ยนข้อกาเม เป็น อพฺรหฺม นั้นก็หมายความว่า ไอวันนั้นมันเกิน เว้นเสียบ้าง อย่าทุกวันเลย กิจกรรมระหว่างเพศนั้นอย่าต้องมีทุกวันเลย ให้มีเว้นวันเกิน เกินเสียบ้าง ก็ไม่ทำเสียบางวัน คือวันที่ถือศีล ๘ นั่นเอง ก็แปลว่าเมื่อถือศีล ๘ แล้วก็ไม่มีอะไรเกิน แล้วก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง และเราก็จะไม่เปลืองเงิน เงินเดือนไม่พอใช้เหมือนที่พูดกันเดี๋ยวนี้ ข้าราชการผู้น้อยเงินเดือนไม่พอใช้ ขอให้เว้นอย่างเดียว เว้นส่วนเกินเท่านั้นแหละเงินเดือนจะพอใช้ขึ้นมาทันที เพียงแต่เว้นเหล้า เว้นบุหรี่ ๒ อย่างตัดตื้นขึ้นมาแยะแล้ว เงินเดือนจะพอใช้เสียแล้วเพียงแต่เว้นเหล้า เว้นบุหรี่ แล้วไปเว้นอะไรที่มันเกินนั้นไปอีก มันก็พอใช้ ประเทศไทยขาดดุลการค้าเป็นพันล้าน หมื่นล้าน ถ้าประชาชนเว้นเรื่องส่วนเกินเท่านั้นแหละ เงินขาดดุลนี้จะไม่ขาด คอยคิดดูเถอะ ไอเรื่องส่วนเกินยังสั่งเข้ามามากนักจากต่างประเทศ แม้แต่อาหารกระป๋องก็มา ได้รับเขามาถวายและพิจารณาดูแล้วเศร้าใจ ว่านี่อาหารธรรมดา เป็นเนื้อสัตว์บ้าง เป็นผลไม้บ้างอุตส่าห์เอามาจากเมืองนอก แล้วก็เศร้าใจว่ามันช่างไม่รู้อะไรเสียเลย เพราะไปทำส่วนเกินอย่างนี้ ดุลการค้าของประเทศก็เสียหายหมด จนเสียดุลการค้าเป็นพันล้านเป็นหมื่นล้าน แล้วประชาชนทั้ง ๔๐ ล้านหยุดเรื่องส่วนเกินส่วนนี้ ประเทศชาติจะไม่เสียดุลการค้าเลย นี่เรามันบ้าเรื่องส่วนเกิน เกินตั้งแต่เกินระดับสูงลงมาจนถึงระดับต่ำสุด เกินทั้งนั้น จึงขอสรุปความว่าศีล ๘ นั้นศีลที่เพิ่มเข้าเพื่อว่าอย่าให้มีส่วนเกิน ศีล ๕ นั้นเป็นศีลที่จำกัดเป็นหลัก เป็นประธาน ขาดไม่ได้ ถือให้ครบถ้วนโดยหลัก ๕ ประการว่าไม่ประทุษร้ายชีวิต ร่างกายเขา ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติเขา ไม่ประทุษร้ายของรักเขา ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมในโลกนี้ ไม่ประทุษร้ายสติปัญญาของตนเอง นี่ ๕ ข้อ ทีนี้อย่าเอาส่วนเกิน อย่าทำส่วนเกินในเรื่องอาหารการกิน ในเรื่องบำรุงบำเรอร่างกาย เรื่องที่อยู่ที่อาศัย เดี๋ยวนี้เรามันไปบูชา บูชา ถึงกับบูชาส่วนเกินเรื่องกามารมณ์ เรื่องเอร็ดอร่อย สนุกสนาน ซึ่งเป็นเรื่องส่วนเกิน มันถึงกับบูชาเป็นบ้าไปเลย นี่ขอว่าอย่าไปแตะต้องมัน ไม่ใช่ไปถึงกับบูชามัน อย่าไปแตะต้องมัน เราก็จะเป็นมนุษย์ที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นลูกเสือก็เป็นลูกเสือที่ดี สมกับที่จะเป็นพ่อเสือที่ช่วยชาติประเทศได้ อาตมาจึงบอกท่านทั้งหลายว่า จงมีการสมาทานศีล ๕ เป็นประจำ มีการสมาทานศีล ๘ คือไม่แตะต้องส่วนเกินตามโอกาสที่จะทำได้ กิเลสทั้งหลายมาจากส่วนเกินทั้งนั้น เช่น เราอยากเกินก็เกิดความโลภ ความโลภเกิดมาจากอยากในส่วนเกิน ทีนี้เมื่อไม่ได้ตามที่มันโลภมันก็โกรธ นี่ความโกรธหรือโทสะก็มาจากส่วนเกิน แล้วมันก็หลงโง่งมอยู่ในโมหะอยู่อย่างนั้นในเรื่องของส่วนเกิน พอเราปิดอุดไม่มีเรื่องเกินมันก็ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะได้ ก็เป็นมนุษย์ที่มีมนุษยธรรม เป็นมนุษย์ที่จะทำให้มนุษย์นี้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ อาตมาขอสรุปความว่าเราจะเป็นลูกเสือในความหมายของคำว่าธรรมบุตร คือบุตรแห่งธรรม เกิดมาจากธรรม เกิดมาจากพระธรรมแล้วก็มีพระธรรม ในส่วนที่เป็นการปฏิบัติโดยตรง เช่น สมาทานศีล ๕ ประการ และศีล ๘ ประการโดยเป็นนัยดังที่กล่าวมา เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานพึงจะประพฤติตาม แล้วก็จะได้มีหมู่คณะที่ดี มีสังคมของพุทธบริษัทที่ดี จะทำให้ประเทศชาติ ศาสนาตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เพราะทุกคนชวนกันประพฤติอย่างนี้ ในที่สุดนี้ ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายทุกคน ผู้มีจิตใจมั่นคง ไม่กระทำ เป็นลูกเสือชนิดที่เป็นธรรมบุตร จงได้รู้จักความหมายของคำว่าธรรมบุตร ซึ่งเป็นภาษาธรรมที่จะใช้กับคำว่าลูกเสือ แล้วก็ยึดมั่นในอุดมคติของคำๆ นั้น ประพฤติตนให้อยู่ในครรลองครองธรรมนั้น แล้วมีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเป็นสุขอยู่ทิพาราตรีกาลเทอญ
๔๕ นาทีตามที่บอกไว้ ถ้ามีเวลาเหลือ อยากจะศึกษามากขึ้นไปอีก ก็เข้าไปดูในตึกนี้ ดูรูปภาพ ดูความหมายของรูปภาพ ล้วนแต่เป็นไอความรู้ทั้งนั้น หรือว่าถ้าเลยไปโรงปั้นตุ๊กตา ก็จะได้รับแจกตุ๊กตาเป็นที่ระลึก อยู่ทางโน้นเรียกว่าโรงปั้น
นายชิดเข้ามารวมปัจจัยนี้หมด แล้วไปส่งให้กับคุณสิงห์ทอง แล้วเอาหนังสือนี้ไปให้ เอาไปแจก
ให้นายชิดนี้จัดก็ได้ จัดก็ได้ แล้วเอาหนังสือไปด้วย จะเอาหนังสือที่จะให้เป็นที่ระลึกไปด้วย ไปให้ที่ค่ายเลย