แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกท่าน ที่ตั้งใจจะรับหน้าที่ในการฝึกฝนสามเณรทั้งหลายที่มาประชุมกันอยู่ที่นี่ ผมขอแสดงความยินดีด้วยเป็นสิ่งแรกในการกระทำนี้ เราจะขอแยกออกเป็นสองอย่าง คือ ฝ่ายผู้ที่จะฝึกฝนสามเณรและฝ่ายสามเณรที่จะถูกฝึกฝน ฝ่ายแรกคือผู้ที่จะทำหน้าที่ฝึกฝนสามเณรนั้น จะต้องมีความรู้สึกที่ถูกต้องเพียงพอ สำหรับจะให้เกิดความพอใจในการกระทำ สิ่งใดก็ตามถ้ามันพอใจแล้ว มันก็เป็นสุขสนุกทั้งนั้นแหละ แล้วก็ทำได้ผลดีด้วย ท่านๆทั้งหลายต้องเข้าใจในการกระทำนี้จนเกิดความพอใจในการกระทำนั้นและตัวเองผู้กระทำด้วย เมื่อพูดกันอย่างกว้างๆ ก็เป็นพุทธ- ประสงค์ที่จะให้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมมะ นี่เราก็ควรจะนึกถึงและพอใจเพราะว่าได้ทำตามพระพุทธประสงค์นั้น ทีนี้ที่มันมีปลีกย่อยออกไปอีกก็คือว่า มันเป็นการช่วยประเทศชาติ มีเหตุผล มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ หวังว่าเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย นั่นก็คือการศึกษา สามัญศึกษาของประเทศเราไม่สมบูรณ์ คือเรียนกันแต่หนังสือกับวิชาชีพ ไม่มีศีลธรรม ซึ่งผมเคยร้องตะโกนกันอยู่พักใหญ่ทางวิทยุกระจายเสียงว่า “กาารศึกษาแบบสุนัขหางด้วน” เขาก็รับเอาไปวิพากษ์วิจารณ์กันจนเป็นที่เข้าใจแล้วยอมรับว่ามันอย่างนั้นจริงๆ ทีนี้การที่จะจัดให้หางไม่ด้วนนั้นทำไม่ได้ในเร็วๆนี้ มันก็ยังต้องค่อยๆทำ หรือปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไปก่อน หรือก็ทำไปพลางเท่าที่จะทำได้ ทีนี้พระเรา ไปรับทำหน้าที่ แผ่อบรมธรรมะศีลธรรมให้แก่เด็กๆเหล่านั้นที่เราจับมาบวชเณร นี่เห็นได้ว่ามันเป็นการชดเชยให้แก่การศึกษาสามัญของรัฐบาล ครั้งหนึ่งผมให้การบรรยายแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย ตกลงให้ชื่อการบรรยายชุดนั้นว่า “มหาวิทยาลัยต่อหางหมา” นี่ใช้คำหยาบคาย คือบรรยายให้เขารู้ในสิ่งที่เขายังไม่ได้รู้ ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมันก็เหมือนกัน หมาหางด้วนเหมือนกันแหละ ที่เรามาสังเกตดูกันว่าอะไรที่มันขาดไปหรือมันด้วนอยู่ก็มาช่วยกัน พูดๆๆ สิบกว่าครั้ง ให้พอจะได้รู้กันบ้าง เพราะงั้นก็มีลักษณะเหมือนกับว่าต่อหางหมาจริงๆเหมือนกัน ฉะนั้นการให้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยต่อหางสุนัขนี้มันก็ถูกแล้ว ในกรณีของเรานี้ ก็เหมือนกันแหละที่ทำกับเด็กๆ ช่วยชดเชยการศีกษาที่ยังขาดอยู่ให้มันสมบูรณ์ขึ้น โดยเอานักเรียนมารับการอบรม เพื่อให้สะดวกก็ให้บวชเสีย นี่มันเพื่อความสะดวกด้วย และเพื่อจะได้ผลดีกว่าด้วย จึงจัดให้บวช และมันยังสูงไปกว่าการไปชดเชยการศึกษาหมาหางด้วน คือมันจะเป็นการอบรมทางธรรมะที่สูงขึ้นไปกว่านั้น เราควรจะเรียกการกระทำนี้ว่า การพัฒนาจิตใจของยุวชนด้วยการบรรพชา พัฒนาจิตใจของเยาวชนแห่งชาติด้วยการให้บรรพชา จัดให้มีการบรรพชา เขาก็มีโอกาสฝึกฝน ศึกษา อบรม จิตใจของเขาก็พัฒนา จะดีขึ้น สูงขึ้น นี่มันได้ผลส่วนลึก ส่วนภายนอกก็เพื่อชดเชยการศึกษาาภยนอกที่ยังขาดอยู่ในลักษณะหมาหางด้วน และถ้าคุณมองเห็น ข้อเท็จจริงอันนี้ ก็คงเกิดสนุกขึ้นมาบ้าง เกิดความพอใจว่ามันมีเหตุผล ที่ควรจะพอใจ ทำสนุกสิ ไม่ใช่ทำสนุก ทำเข้มแข็ง ทำให้ดี เต็มที่ นี่ก็จะได้ผล แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม ในฐานะที่เราก็เป็นคนไทย เป็นภิกษุไทย เป็นอะไรต่างๆนี่ ก็เกี่ยวกับประเทศไทยทั้งนั้นแหละ เมื่อมีทางที่จะทำประโยชน์ตอบแทนบุญคุณประเทศไทยบ้างก็เอา จะได้มีกำลังใจในการกระทำ กำลังใจนี่มาจากฉันทะ ความพอใจ ฉันทะความพอใจ มันก็มาจากความรู้สึกว่าสิ่งนี้ดีมีประโยชน์ควรทำอย่างยิ่ง เหมาะสมกับเราอย่างยิ่ง ถ้ารู้อย่างนี้ก็มีฉันทะ เมื่อมีฉันทะแล้วไอ้ของยากก็กลายเป็นของง่าย นี่ผมเรียกว่า ฝ่ายผู้ทำการอบรม จะต้องมีความเข้าใจตนเองหรือสิ่งที่ตนจะกระทำอย่างเพียงพอ ก็เป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ที่ภิกษุเราจะต้องช่วยอบรมประชาชน เดี๋ยวนี้อบรมในลักษณะที่จำเป็นอย่างยิ่งด้วย สำคัญอย่างยิ่งด้วย ก็ควรจะพอใจ ที่ต้องหากำลังใจ หาเดิมพันทางจิตใจ อะไรกันมากมายอย่างนี้ นั่นก็เพราะสิ่งที่กำลังจะทำนี้ ถ้าทำให้ได้ผลจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องเสียสละมาก ต้องอดทนมาก ถ้าทำพอเป็นพิธี พอให้ได้เขียนรายงานโฆษณา ก็ไม่เท่าไหร่ล่ะ ทำไปมันก็ได้กันแล้ว แต่ถ้าให้ได้ผลโดยแท้จริงล่ะก็ ต้องเสียสละมากนะ โดยทั่วไป มันก็น่าเบื่อ เหมือนกับว่าจับปูใส่กระด้ง หลับตามองเห็นภาพจับปูใส่กระด้ง มันก็ออกมาจากกระด้งได้เรื่อยล่ะ เพราะมันต่ำ จับใส่เข้าไป มันออก จับใส่เข้าไป มันออก จับกันอยู่นั่น นี่เขาเรียกว่าจับปูใส่กระด้ง ถ้าไม่อดทนจริงๆก็ทำไม่ได้ ไอ้สามเณรของเรามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพราะว่ามันคอยแต่จะออกนอกระเบียบล่ะ เพราะการอยู่ ในระเบียบมันไม่สนุก เพราะว่ามันเสียนิสัยมาแล้วแต่เดิม ในการไม่มีระเบียบ ไม่เคารพระเบียบ ไม่อยากอยู่ในระเบียบ มันไม่สนุก เลยคอยแต่จะออกนอกระเบียบเหมือนปูเรื่อยไป ให้เราคอยจับเข้ามา จึงต้องใช้ความอดทนมาก เสียสละมาก มันจึงจะทำไปไหว นี่จึงต้องให้นึกถึง สนองคุณพระพุทธเจ้าบ้าง สนองคุณประเทศชาติบ้าง สำนึกในหน้าที่ของเราที่เป็นบรรพชิตในพุทธศาสนาเองนี้บ้าง ก็พอจะมีกำลังใจ มีความพอใจที่จะทำหน้าที่ ในเรื่องเณร มันก็คือเด็กนั่นเอง เด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่ แล้วไปจับมาบวช วันเดียวสองวัน มันก็ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก มันก็ทำกันไปจนกว่ามันจะเปลี่ยนแปลง ต้องมีระเบียบชนิดที่เจืออยู่กับความสนุกสนาน อันนี้นี่ดูเหมือนจะจำเป็นมากนะสำหรับอบรมเด็กๆ ระเบียบสำหรับปฏิบัตินั้นต้องเจืออยู่ด้วยความสนุกสนาน เพราะว่าเด็กเดี๋ยวนี้เขาทำกันจนเสียนิสัย ไม่ชอบให้ใครบังคับ ชอบสนุกสนาน เล่นหัวเรื่อย มันก็ไม่อาจจะกลับตัวได้ทันที มันก็ต้องทำผสมผสานกันไป ระเบียบกับความสนุกสนาน แม้แต่อย่างไหว้พระสวดมนต์ ก็ต้องจัดอย่างที่ไม่น่าเบื่อ ให้มันสนุกสนานบ้าง เข้ารับการอบรม นั่งฟังคำสั่งสอน ไอ้เรื่องนั้นก็ต้องพอจะสนุกสนานบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะมากมาย จนถึงเกิดกลบเรื่องที่เราต้องการแท้จริงนั้นจนหมดสิ้น นี่เรียกว่าจะต้องมีความสนุกสนานเจืออยู่ในการงานนั้น แต่ต้องเป็นความสนุกสนานโดยธรรม เป็นไปอย่างธรรม ไม่ใช่ความสนุกสนานอย่างกิเลส แล้วยังมีต่อไปอีก ก็คือว่า มันต้องทำชนิดที่แสดงให้เขาเห็นว่า เกิดความรัก เกิดความเมตตา ให้เขามองเห็นว่า ไอ้เรานั้นอุตส่าห์ทำ อุตส่าห์เสียสละจะทำ เพื่อเห็นแก่พระพุทธเจ้า เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ อะไรเหล่านั้นก็ตามเถอะ แต่ว่าเขาจะต้องรับรู้ ก็คือเราทำเพราะเห็นแก่พวกเขา พวกเด็กๆเหล่านั้น มีความรัก ความเมตตาเป็นเบื้องหน้า ถ้าเขารู้สึกว่าเราทำเพราะความเมตตากรุณา เขาก็จะไม่ค่อยดื้อดึง มีอารมณ์ยินดีที่จะทำตาม นี่เรียกว่า ร่วมมือกันด้วย พูดให้เขาเห็นว่าเรามันต้องเป็นผู้ร่วมมือ เป็นเพื่อน เป็นเพื่อนกันก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อนเล่น เพื่อนช่วยกันทำงาน เพื่อประโยชน์แก่โลก แก่ศาสนา แก่พระธรรม ให้เด็กๆเขามีความสำคัญสำหรับโลก แล้วเราช่วยเขาทำหน้าที่ได้สำเร็จ เราก็ยินดีปรีดา โลกในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับยุวชนเหล่านี้ ยุวชนเหล่านี้เป็นอย่างไร โลกในอนาคตก็เป็นอย่างนั้น นับว่ายุวชนเหล่านี้เป็นผู้มีเกียรติสูงสุด ในการที่จะสร้างโลกอนาคต แต่เด็กอันธพาลโง่ๆเกเร มันไม่มองเห็น มันไม่มองเห็นว่าเป็นเกียรติหรอก ลองสังเกตดู พูดอย่างนี้ พูดบ่อยๆ มันก็ยังไม่ค่อยจะรู้ ไม่ค่อยจะมองเห็น ไม่ค่อยจะยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีเกียรติสำหรับเขา เพราะว่าเขาเคยชินแต่เล่นหัวเหลาะแหละหลุกหลิกมาเป็นเวลานาน เราก็พยายามให้เกิดคความรู้สึกเหล่านี้จนได้ ว่าเขาเป็นผู้สร้างโลกในอนาคต แล้วเขาก็ลืมอีก ก็ต้องพูดอีก นี่คือลักษณะที่เรียกว่าเหมือนกับจับปูใส่กระด้ง จะทำยังไงล่ะ มันก็ต้องอดทน เพราะว่าระเบียบวินัยในหมู่คณะสงฆ์ของเรานี้มันไม่ใช่เป็นคุก เป็นตาราง มันมีขอบต่ำๆเหมือนกระด้ง ซึ่งมันจะออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีกำแพงสูงที่จะกักขังไว้ เพราะมันเป็นเรื่องอิสระ เป็นเรื่องทางจิตทางใจ จิตใจเขาก็เปลี่ยนง่าย จะทำอย่างก็ได้ในทางจิตใจ ก็นับว่าเป็นงานยาก การฝึกคนนี่ยากกว่าฝึกสัตว์ ฝึกสัตว์ยังง่าย (17.36) กว่าการดัดไม้ ดัดไม้ให้ตรงก็ยังง่ายกว่าการดัดสัตว์ ฝึกสัตว์ ฝึกสัตว์ ดัดสัตว์ก็ยังง่ายกว่าการฝึกคน การฝึกคนด้วยกันมันเป็นอย่างนี้เอง ถ้าเสียสละไม่พอ มันก็ไม่ได้ ไม่สำเร็จ มันก็เหมือนกับว่าหมอเหมือนกัน แต่มันเป็นหมอทางจิตทางวิญญาณ ต้องคอยดูแลคนไข้อยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นอะไร มันเป็นโรคอะไร มันเป็นอย่างไร จะต้องแก้ไขมันอย่างไร ถ้าเอาจริง มันก็มีบักทึกเฉพาะคน ว่าคนนี้ชื่อนี้ อย่างนี้ๆ มันเป็นโรคอะไร คือจิตใจของมันเป็นอย่างไร คือจะต้องรักษาเยียวยา แก้ไขกันอย่างไร ก็ต้องจดไว้กันลืม จึงจะทำได้ ทำอย่างหวัดๆ อวดดีโง่ๆ ก็คงจะทำไม่ได้ เพราะมันเป็นงานประณีต เพราะงั้นอย่าไปทำเล่น อย่าทำหวัดๆ กับไอ้สิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าอะไรล่ะ มันไม่มีเรื่องอะไรที่จะทำได้อย่างหวัดๆ ไอ้ความประสบสำเร็จ ประสบความสำเร็จนี้ไม่มีที่จะทำกันได้อย่างหวัดๆ ต้องทำอย่างสุดความสามารถ สุดฝีมือกัน เมื่อเราทำให้เขาเกิดความรัก ความเชื่อแน่ ว่าเราทำด้วยความหวังดี เขาก็จะเชื่อฟัง จะเคารพ จะทำตามมากขึ้น ประกอบกับว่ามันมีความสนุกอยู่บ้าง คือสนุกในธรรมะ รู้จักพูดจาให้มันสนุกในธรรมะ ไม่ใช่สนุกหยาบโลน มันก็ช่วยกัน เพราะงั้นลองไปนึกดู ว่ามีการวางแผนการโดยละเอียดอย่างไร ผมคิดว่าไอ้เณรๆเหล่านี้มันจะต้องมีบทสวด ที่เป็นเครื่องเตือนใจอย่างยิ่งอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ให้เขารู้สึกว่าที่เราเอามาให้เขาศึกษาแลปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เราคิดขึ้นเองนะ มันเป็นของพระพุทธองค์ ที่กล่าวไว้เป็นบาลีอย่างนั้นๆ ถ้าเอาบาลีนั้นมาให้สวดได้เลยก็จะดีมากขึ้น เพราะเด็กเขาไม่คิดว่าเราทำมันขึ้น เราบัญญัติมันขึ้นกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพราะงั้นเขาก็ไม่ค่อยจะเห็นว่าสำคัญอะไร ก็ให้เขาสวดบาลีที่ศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่าอย่างอื่น เช่น อภิณหปัจจเวกขณ์ ทักษธรรมสูตร (21.20) ให้สวดแล้วอธิบายไปวันละข้อสองข้อเป็นพิเศษ ก็ขึ้นมาเดี๋ยวนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เลยต้องทำให้สมกับเป็นเพศใหม่นี้ นี้ก็คือเป็นเณร ถ้ามันสวดท่องกันอยู่เสมอก็เผลอยาก พยายามทำมันให้ดีได้โดยไม่ยาก อีกบทหนึ่งก็ตัดสินธรรมวินัย โคตมีสูตร ไม่กำหนดย้อมใจ ไม่สะสมทุกข์ ไม่เกียจคร้าน มันไม่เลี้ยงยากน่ะ ที่เรียกว่า โคตมีสูตรคือลักษณะตัดสินธรรมวินัย เอามาให้สวดให้ท่อง สอบถามเฉพาะคน เฉพาะข้อ แล้วก็แยกเอาไว้เฉพาะคน เฉพาะกรณี เช่น เณรคนนี้มันเลี้ยงยาก กินยาก เลี้ยงยาก ก็ให้มันสวดบาลีนี้ให้มากๆ แกล้งให้มันสวดให้มันนึกได้ เกียจคร้าน นอนสาย ก็ให้มันสวดสูตรนี้ เพราะมันมีเกียจคร้าน มีพระธรรมวินัยของพระศาสดา นี่เรียกว่า เอาไปคิดเอาเองเถอะ เอาไปสังเกตเอาเองเถอะ ไปหาความรู้ (23.09) เอาเอง คือพระบาลีที่มีใจความชัดเจนตรงๆลงไปยังการอบรม การกระทำอบรม ยังมีอีก สูตรอื่นยังมีอีก แต่ว่าสองสูตรนี้ดูจะสำคัญที่สุด ถ้าเขาสวดไม่ได้ปากเปล่า ก็ให้เขาเขียน ให้เขาเขียนเอามาอ่านมาสวดเสีย ไม่เท่าไหร่ก็จำได้ แม้ที่สุด แต่อรุญญาสิโข (23.47) สามเณรนี่ก็เอามาให้สวด เพราะเขาจะได้รู้ว่าสามเณรมันต้องสวดบทนี้ สิกขาบทสิบ นาสนังคสิบ(23.57) ทัณฑกรรมห้า ถามต้องขึ้นใจเลย ไอ้ยี่สิบห้านี้ต้องขึ้นใจเลย ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้บางข้อไม่ต้องปฏิบัติ แต่ก็ให้เขารู้ ว่ามันมีอะไรที่เขาเคยศึกษาและปฏิบัติ อย่างบทสวดสำหรับสามเณร อนัญญาสิโข (24.22) ในหนังสือบางเล่มเขาก็แต่งบทอรรถ (23.31) ไว้ด้วย บทนำ หัวหน้านำเพียงคนเดียว พอนามเส (24.40) ก็สวดพร้อมๆกัน มันก็ดูเข้าทีอยู่เหมือนกัน ดีกว่าสวดลุ่นๆโดยไม่มีบทนำ เพียงแต่ว่าไอ้บทสวดชนิดที่ไม่ใช่จำเป็นเจาะจงเป็นเรื่องเป็นราวนัก คือมันไม่เหมือนอภิณหปัจจเวกขณ์ ....(25.04 ฟังไม่ชัด) ตัดสินธรรมวินัยเป็นต้น แต่เราก็ยังต้องนำมาให้สวด ในครั้งแรกก็ให้สวดกันอย่างไม่จริงจังอะไรนัก เพราะมันไม่เคยเรียน ไม่ได้เรียน ก็เอามาสวดให้มันจริงจังมากขึ้นๆ ว่านี่เราถ้าจะเป็นเณรก็ต้องศึกษาสิกขาของสามเณร มีสิกขาบทสิบ อานาสนังคสิบ (25.30) ทัณฑกรรมสิบ มีเสขิยวัตร เจ็ดสิบห้า หนังสือนันทโกวาทนั้นต้องมีนะ ถ้าว่ามีเวลาก็ให้สวดแบบท่อง มันจะพลอยได้ผลต่อเมื่อเขาสึกออกไปแล้วเขาจะจำได้ เอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติตอนท้ายเล่ม วิธีปฏิบัติทั้งหลายนี่เขาให้ติดเณรกลับไปเมื่อเขาสึกออกไป จะเป็นบุญเป็นกุศลยืดยาวไปภายหน้า เรื่องอบายมุขหก เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาระดับโลก ทำโลกให้เลวลงมาก ไม่เฉพาะในประเทศไทยนะ ควรอธิบายอย่างยิ่ง อธิบายเรื่อยไป นรกที่นี่คืออบายมุขหก มีนรกอยู่ที่นี่ ในโลกนี้ เด็กๆกับยาเสพย์ติดที่ดูมากขึ้น ก็คืออบายมุขข้อดื่มน้ำเมา ของเมา ไม่ได้ระบุชื่อเหมือนยาสมัยใหม่ แต่ก็ใช้คำว่าน้ำเมา กินความหมดเลย ทุกอย่างเลย นี่พูดถึงเรื่องสวดนะ สวดที่มีประโยชน์ ก็นันทโกวาทบางบท สิกขาสามเณร แล้วก็บทปัจจเวกขณ์ สวดมนต์แปลอย่างพี่พระสวดกันอยู่นี่ถ้าสวดได้กันก็ดี ถ้าสวดไม่ได้ทั้งหมด ก็สวดแต่บางบทเท่าที่จะทำได้ นี่เรื่องสวดร้องพร้อมธรรม ทีนี้ก็มาถึงพวกที่จะฝึกให้เขาปฏิบัติ มันก็รวมอยู่ในนั้นแหละไอ้ที่เขาสวดน่ะชี้ให้เขาเห็นแต่ว่าข้อนั้นๆ คืออย่างนั้นนะ ที่ต้องปฎิบัติน่ะ เธอหละหลวม เธอไม่มี เธอไม่ได้ปฏิบัติ นี้เป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ทีนี้ปฏิบัติที่ยิ่งขึ้นไป จะใช้คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา หรืออะไรก็ได้ มันแล้วแต่อาจารย์ถนัด ที่จะควบคุมให้ปฏิบัตินี้อาจารย์ต้องถนัดในการแนะนำสั่งสอน ถ้ามันเป็นเรื่องของการบังคับจิต มันก็เป็นหมวดที่เรียกว่าฆราวาสธรรม แต่เรื่องมันไม่ใช่สำหรับฆราวาส มันสำหรับทุกคน แม้บรรพชิต สัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ ให้เขามีสัจจะ มีคะแนนประจำวัน ในการปฏิบัติสัจจะด้วยความจริงใจ ธรรมะคือบังคับตัวเอง นอนสายนี้คือไม่บังคับตัวเอง กินมูมมามคือไม่บังคับตัวเอง ทุกอย่างล่ะบรรจุเข้าไปในสี่ข้อนี้ สัจจะ ธรรมะ ขันตี เดี๋ยวทะเลาะกันล่ะ ถ้ามันไม่มีขันตีทีเดียวมันทะเลาะกัน และจาคะคือสละออกไป นี่ทำให้เห็น ให้เขาทำให้เห็น พิสูจน์ได้ว่าเขาได้สละอะไรออกไป สละทำไม่ดีนี่ ความชั่วใน กาย วาจา ใจ ก็สละออกไป สละออกไป สละได้เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ถ้ามีสมุดรายงานประจำตัวล่ะก็ ไอ้พวกเหล่านี้ล่ะมันจะต้องถูกเขียนลงไป มีสัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ เป็นธรรมะเครื่องมือใช้กับอะไรก็ได้ ธรรมะหมวดนี้มีคนมองข้าม ผมสังเกตเห็นว่าทุกคนเขามองข้าม แม้ทางการการศึกษาของสงฆ์นี้ก็มองข้ามเอง ธรรมะหมวดนี้ ไม่ค่อยจะเน้น ที่จริงธรรมะหมวดนี้สำคัญที่สุด ทั้งพระและทั้งฆราวาส แต่ไปฆราวาสธรรมคล้ายๆกับว่าจะใช้แก่ฆราวาส ก็ไปคิดดูสิ ถ้าพระไม่มีสี่อย่างนี้ก็วินาศหมดน่ะ สัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ โดยเฉพาะขันตี เขาไม่ได้เน้นมาก ในหลักสูตรการศึกษาหรือการปฏิบัติ นี่เราจะเอามาเป็นหลัก ให้คะแนน มีธรรมะเหล่านี้แล้วให้ก็คะแนน ทำเหลวไหลในธรรมะเหล่านี้เราก็ตัดคะแนน อย่างนี้มันง่าย มันดีกว่าที่จะใช้คำกว้างๆ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ให้คะแนนไม่ถูกหรอก มันกว้างเกินไป แต่ถ้าระบุว่า สัจจะนะ ธรรมะนะ ขันตีนะ จาคะนะ ก็ให้คะแนนได้ ให้คะแนนได้ถูกต้อง ไอ้ธรรมะนี่ สี่ข้อนี้มันเป็นสารพัดนึก เหมือนกับของสารพัดนึกจะใช้ได้ทุกอย่าง ฆราวาสในทำมาหากินก็ดี ในการสร้างเนื้อสร้างตัวก็ดี ในการละก็ดี ก็แปลว่าแม้จะละอะไรก็ใช้สี่ข้อนี้ แม้จะประพฤติปฏิบัติอะไรก็ใช้สี่ข้อนี้ เขาเรียกว่าใช้ได้ทั้งในฝ่ายละและฝ่ายเจริญ ทำให้เกิดมีก็ต้องใช้สี่ข้อนี้ ไปแยกดู ถ้าเด็กคนนี้จะละบุหรี่ จะละมรรยาทเลวๆ จะละอันธพาล มันก็ใช้สี่ข้อ นี้ ถ้าเด็กคนนี้มันจะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป มันก็ต้องใช้สี่ข้อนี้ มีบาลีแห่งหนึ่งเกี่ยวกับธรรมะสี่ข้อนี้ว่า ทั้งเพื่อประโยชน์โลกนี้ และประโยชน์โลกอื่น ประโยชน์อย่างอื่นที่ผิดไปจากธรรมดา ก็หมายความว่าไม่ใช่เฉพาะใช้แต่คฤหัสถ์ ที่เขาจะไปสวรรค์ ไปพรหมโลกก็ยังใช้ธรรมะสี่ข้อนี้ เป็นเครื่องมือได้ เราควรจะรู้กันไว้ว่าจะต้องฝึก รู้กับปฏิบัติได้ในธรรมะ เช่น ไอ้สี่ข้อนี้ มีธรรมะที่คล้ายกันที่ถ้าทำได้จะดีมาก เช่นว่า พละห้า อินทรีย์ห้า กระทั่งโพชฌงค์เจ็ด หรือเอาโพธิปักขยธรรมทั้งหมดก็ยังได้ สติปัฏฐานสี่ สัมปทานสี่ อิทธิบาทสี่นี่ กับพละห้า อินทรีย์ห้า โพชฌงค์เจ็ด มรรคมีองค์แปด รวมกันเป็นสามสิบเจ็ดนั้นแหละ เป็นทาง เป็นทางสายเดียวไปนิพพาน แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอคงทำไม่ได้ เพราะมันมากนะ เช่นสติปัฏฐานสี่นี่ มันละเอียดประณีตสุขุม ต้องมีเวลา ต้องมีความตั้งอกตั้งใจ แต่ถึงอย่างไรก็ให้รู้คร่าวๆ รู้พอคร่าวๆ รู้จักทำสมาธิตามสมควร สติปัฏฐานสี่ทำสมาธิพอสมควร แล้วก็มีวิปัสสนามองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตามสมควร อย่าทำให้มันยากนักสิ ก็บอกเด็กๆว่า สมาธินั้นมันก็ไม่มีอะไรนอกจากจิตของเรา พอไปกำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมันก็ก็เป็นสมาธิ ตามธรรมชาติมันก็มีอยู่มาก จิตมันแน่วแน่ลงไปที่อะไรเขาเรียกว่ามีสมาธิ เคยใช้สำเร็จประโยชน์มามากแล้ว ให้ถือเป็นเรื่องของธรรมชาติ ว่ามันมีกฎเกณฑ์อยู่อย่างนั้น กำหนดเข้าที่อะไรมันก็มีสมาธิที่นั่น ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ ทีนี้ถ้าเอาสิ่งชั่วมากำหนด มันก็น้อมจิตไปทางชั่ว เอาสิ่งดีมากำหนด มันก็น้อมจิตไปทางดีได้ หรือเอาสิ่งไม่ดีไม่ชั่ว ไม่อาจจะพูดว่าดีว่าชั่วได้มากำหนดจนเหมาะสม มันเป็นสมาธิง่าย เพราะงั้นที่กำหนดไอ้ความสวยความงามของเพศตรงกันข้าม มันก็เป็นสมาธิเหมือนกันล่ะ แต่แล้วมันก็ทำร้าย ทำอันตราย เสียหายหมด ที่จะไปกำหนดซากศพมันก็ได้เหมือนกัน ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน แต่มันยุ่งยาก น่าหวาดเสียว น่ากลัว ลำบาก นี่ถ้าว่าเอาลมหายใจเป็นต้น หรือดวงกสิณ วงกสิณเป็นต้น ซึ่งมันไม่มีความหมายว่าดีว่าชั่วอะไรนี้มากำหนดนี้ง่าย แต่วงกสิณนี่ มันไม่ใช่เป็นของพุทธนะ เป็นของเก่าก่อนพุทธ แต่ลมหายใจในแบบอานาปานสติที่ตรัสไว้แล้วเราเอามาสวดนี้ก็ของพุทธแท้ ถ้าลมกายใจนั้นมันเป็นกลาง ไม่ดีไม่ชั่วก็เอามากำหนดสมาธิได้ง่าย ทำพอสมควร อย่างที่อธิบายสั้นๆว่า วิ่งตาม ได้แล้วก็เฝ้าดู แล้วก็เปลี่ยนมัน เท่านั้นแหละ สามเพียงสามขั้นเท่านั้นล่ะพอ นี่เป็นสติปัฏฐานสี่ สำหรับสัมปทานสี่นี่ก็เป็นกลางๆ ความพยายามในสี่ลักษณะ อิทธิบาทสี่นี้ก็สอนให้เข้าใจแล้วปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจัง คล้ายๆกับไอ้ฆราวาสธรรมสี่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ให้เขารู้จักใช้อิทธิบาทสี่ ระหว่างนี้และก็รู้จักใช้ต่อไปในอนาคต เมื่อสึกไปแล้ว รู้จักใช้อิทธิบาทควบกันเข้ากับฆราวาสธรรมสี่ แล้วเด็กคนนั้นจะประสบความสำเร็จในการละความชั่ว ในการทำ พัฒนาให้ดี ส่วนอินทรีย์ห้า พละห้านั้นมันสูงขึ้นไปอีก แต่นั้นล่ะตัวเนื้อแท้ของการปฏิบัติ ซึ่วจะพบว่าเน้นมากที่สุดในบาลี เพราะคล้ายๆกับฝากไว้กับห้าอย่างนี้ล่ะที่จะไปได้หรือไปไม่ได้ ก็มีหลักกล่าวไว้ชัดว่าให้เพิ่มพละหรืออินทรีย์เสมอ อินทรีย์ไหนมันยังหย่อนไป อินทรีย์ไหนมากไปแล้ว ให้ทำให้ดีให้พอดี การปฏิบัติสมาธิหรือวิปัสสนาไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะว่าอินทรีย์ทั้งห้านี้ไม่ถูกต้อง ไม่พอดี ไม่มีเสียเลยก็มี มีเกินไปเสียเลยก็มี ก็ต้องมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่กลมกลืนกันไปในตลอดเวลา ต้องมีศรัทธาที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา มีความพากเพียรอยู่ มีสติอยู่ มีสมาธิอยู่ มีปัญญาอยู่ แต่นี้เป็นเทคนิคที่ละเอียดเกินไป อาจจะสอนกันไม่ทัน สอนกันไม่ได้ เพราะเวลามันสั้น แล้วมันก็เด็กๆด้วย มันเป็นเรื่องของชั้นนักเลง ชั้นสูง ที่จะเอาผลชั้นสูงของสมาธิและวิปัสสนา จะต้องศีกษาและทำความเข้าใจกันอย่างละเอียดที่สุดเกี่ยวกับอินทรีย์ห้า พละห้า ทีนี้ก็โพชฌงค์เจ็ดซึ่งเขาถือกันนักหนาว่าไม่เอามาให้ฆราวาส ผมบอกว่าต้องเอามาให้ฆราวาสใช้ แม้ที่สุดแต่ชาวนา ให้เขาใช้หลักโพชฌงค์เจ็ด ชาวไร่ชาวนาทำมาหากินไปตามแบบประชาชนระดับต่ำสุดนะ เราเอาแต่ความหมายมา ไม่ใช่เอาเต็มอัตราของการปฏิบัติวิปัสสนา สติระลึกครบถ้วน ธรรมวิจยะเลือกเฟ้นเอาอันที่จำเป็น ที่ถูก ที่ดี ที่ควร วิริยะ ความเพียร ทำไปเต็มที่ ปีติก็ต้องพอใจในการเป็นอยู่นี้ตลอดเวลา ถ้าทำได้น่ะ ให้สามเณรทุกคนนั้นจะพอใจที่กำลังจะทำอยู่นั้นน่ะ ที่กำลังไปฝึกไปอยู่กันอย่างนั้นน่ะ ก็พอใจอยู่ตลอดเวลา สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ทีนี้ปัสสัทธิหมายความว่าเณรของเราต้องระงับลง ลดลง จากความเป็นลิงเป็นค่าง เป็นอันธพาลเป็นอะไรต่างๆ ให้มันลดลงไป เป็นปัสสัทธิ แล้วก็สมาธิทำให้มั่นคงที่สุดโดยแนวนี้ ทีนี้มันก็มันก็ลงรูปเข้ารูป ทีนี้ก็ปล่อยให้มันงอกงามไปเองเป็นอุเบกขา เมื่อมันได้ที่ ถูกต้องแล้ว ปล่อยได้ มันงอกงามของมันเองได้ เขาเรียกว่าอุเบกขา เหมือนกับต้นไม้ ถ้าเราให้ปุ๋ย ให้น้ำ ให้แสงแดด ให้อะไรถูกต้องแล้ว ก็ปล่อยมันใหญ่มันโตเองมันแหละ เป็นลูกเป็นดอกเอง ธรรมะนี้เมื่อจัดกันถูกต้องครบถ้วนแล้วมันก็รักษาไว้เฉยๆอย่างนั้นล่ะ มันไปของมันเอง การงานของฆราวาสก็ใช้หลักอย่างนี้ได้ ก็ต้องทำด้วยความพากเพียร ด้วยความพอใจ ด้วยความสนุกสนาน ในการกระทำ จนมันเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ก็ปล่อยมันไป มันก็มีผลออกมา ส่วนมรรคมีองค์แปดนั้น มันก็กว้างมาก ถือเป็นหลักทั่วไป ประพฤติกันจนตาย นี่ชี้ตัวอย่างให้ดูทั้งนั้นล่ะว่าธรรมะมันมีความหมาย ความมุ่งหมาย เฉพาะหมวด เฉพาะข้อเสมอ ถ้าจะเอายึดเอาอันไหนเป็นหลักสำหรับอบรมสั่งสอนและปฏิบัติ ก็ทำให้มันถูกต้อง ให้มันตรงเรื่อง มันก็จะได้เรียกว่ามีหลัก ไม่ใช่ไม่มีหลัก นี่เรียกว่าการปฏิบัติเป็นหัวใจของเรื่อง ไอ้การไหว้พระสวดมนต์มันก็มีประโยชน์ไปแบบหนึ่งล่ะ เป็นจุดตั้งต้น และให้เขารู้ความหมายของหลักธรรมะเหล่านั้น ให้เขาปฏิบัติอีกทีหนึ่ง มันก็อยู่ด้วยสภาวะแวดล้อมที่ดี ไอ้เรื่องทำวัตรสวดมนต์นั้นดี ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย เช่นว่าไม่ให้ขี้เกียจ ไม่ให้นอนสาย ไม่ให้อะไร ทุกอย่างมันมีประโยชน์ สร้างความพร้อมเพรียงได้ด้วย ทดสอบการแก่งแย่ง ทะเลาะ เกาะแกะกันด้วย ไอ้เด็กๆนี่พอมาเข้าใกล้กัน มักจะแหย่ มักจะเย้ากัน ก็ต้องทดสอบว่านี่เป็นยังไง สภาพเป็นยังไง ถ้าแยกกันไว้ห่างๆ ก็ไม่ค่อยมีเรื่องให้รู้ให้เห็น พอถึงคราวประชุม มานั่งใกล้ๆกัน นายหมู่แต่ละองค์นี่ต้องคุมอยู่ข้างหลัง จัดการนั่งประชุมให้เป็นเทคนิก ให้นายหมู่ได้ดูนักเรียนของตัวทั่วถึงอยู่ข้างหน้าทุกคน เพื่อจะบันทึกไว้ว่าคนนั้นมันเป็นอย่างไร คนนี้มันเป็นยังไง บอกเขาเดี๋ยวนั้นไปอย่างนั้นก็ยังไดเ แต่ถ้าทำให้เขาละอายหรืออะไรขึ้นมามันผิดหลักจิตวิทยาของวิชาครู ไม่ถึงขนาดไม่ถึงระดับที่จะทำให้เขาละอาย แล้วก็อย่าไปทำให้มันละอาย เอาไว้พูดกันคราวอื่น ไอ้การประจานกันให้ละอายนี้พยายามหลีกเสียเถอะ มันไม่ได้ผล แต่นั่นแหละมันก็ยาก เพราะว่าเราก็มีกิเลสเหลืออดเหลือกลั้น ก็ด่าว่าออกไป ใครทำก็ตามมันไม่ถูกนะ ไอ้ลงโทษหน้าชั้นประจานสูงสุดนั้น พยายามหลีก ไม่มี ยกเว้นแต่มันเหลือเกินจริงๆ หรือไม่ต้องมีมันเสียเลยจะดีกว่า ตามหลักของพระพุทธศาสนาจะไม่มีในข้อนี้ เอาตัวมาประจานกันกลางในกลางชุมนุมชนเพื่อการประจานอย่างเดียวนั้นไม่มี แต่เพื่ออย่างอื่นนั้นก็มี เพราะมันไม่แสดงความรัก ไม่แสดงความอะไรหลายๆอย่าง แสดงความอาฆาต แสดงความดิ้นรน อยากจะต่อสู้ อยากจะหนีไปเสีย ไอ้การลงโทษนี้มันต้องทำชนิดที่สำเร็จประโยชน์นะ คือเขาเห็นโทษ เขายอมรับและเห็นโทษ การลงโทษนั้นจึงจะมีประโยชน์ ถ้าไม่งั้นมันจะกลายเป็นเพิ่มความยุ่งยาก ความเสียหาย ความเป็นไปไม่ได้ เพราะงั้นผู้ที่เป็นนายหมู่ต้องใจเย็นๆ เย็นอย่างยิ่ง นึกถึงหมวดธรรมะที่ว่ากายกรรมประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมประกอบด้วยเมตตานั้นล่ะเอาไว้มากๆ ถ้าเราจะไปพูดอะไรก็ตามให้เราแสดงให้เห็นอยู่ในตัวมันเองว่าที่ทำด้วยความรัก ความเมตตา แต่ผมก็บอกว่าทำยาก ไม่ใช่ว่าทำง่าย การที่จะไม่โกรธหรือทำอะไรด้วยเมตตานั้นมันก็ทำยากเหมือนกันนะ แต่มันก็อยู่ในพวกที่ทำได้ ถ้าไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้ทำ นี้เราให้เขาไหว้พระสวดมนต์ ให้เขาเรียนรู้ความหมายของพระธรรม ให้เขาปฏิบัติธรรมะ ทีนี้ก็ปลุกใจให้เขา อยากดี ปลุกใจให้เขาเคารพนับถือตัวเองอยู่เป็นประจำ ให้ทุกคนมันรู้จักตัวเองอย่างดี ให้มันอยากดี บอกว่าเราเกิดมานี่ดีได้นะโว้ย ก็ควรจะพยายามให้มันได้ดี นี้มันมีวิธีพูด มีเคล็ดมีอะไรมาก ที่จะปลุกใจให้เขาเกิดอยากดีขึ้นมา ให้เขาเคารพตัวเอง ว่าเราก็เป็นคนๆหนึ่งมันต้องดีได้ ส่วนที่จะให้เขาทำเพื่อประเทศชาติ แม้แต่เพื่อพ่อแม่ หรือเพื่ออะไรนี้ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากที่จะทำให้เขาอยากดีเพื่อตัวเขาเอง ให้เขาเคารพตัวเอง คนๆหนึ่งมีค่ามากมันต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนเพื่อประโยชน์แก่พ่อแม่ แก่ประเทศชาติ ศาสนา มันก็ตามมา เป็นเรื่องที่ตามมา ถ้าไอ้คนนั้นมันไม่รักดีเพื่อตัวของมันเอง มันก็คล้ายๆกับว่าหมด หมดทางไป การปลุกใจให้รักตัวเอง ให้เคารพตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันมีปัญหาว่าถ้าไปทำ ไปจู้จี้ ก็มันรำคาญ ก็ล้มเหลวเหมือนกัน เพราะงั้นต้องทำชนิดที่ว่าไม่ให้เห็นว่ามันเป็นการจู้จี้ ให้เขานึกได้ และก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการจู้จี้ ถ้าอย่างนี้มันก็สำเร็จน่ะ และมันก็ต้องทำทุกทีที่เป็นโอกาสที่ควรจะทำ การพูด คราวเดียวกันทั้งหมด เป็นการอบรมทั้งหมดนี้ก็ควรจะมี มันก็เป็นเรื่องของปฏิภาณของอาจารย์ ผู้จะพูด ไปนั่งที่ริมทะเล เห็นทะเล เห็นดวงจันทร์ เห็นปู เห็นปลา เห็นอะไรก็ตาม ถ้าว่ามันเป็นอารมณ์เกิดขึ้นในจิต ก็ใช้เป็นเครื่องกระตุ้นจิต เปรียบเทียบให้มันเกิดความรู้สึกนับถือตัวเองได้ เช่นอย่างในบาลีนี้ น้ำทะเลนี้มันเค็มเสมอ แล้วเธอนี้มันเค็มเสมอหรือเปล่า เป็นสมณะนี้ต้องรักษาความเป็นสมณะไว้อย่างคงที่ เหมือนกับน้ำทะเลนี้มันเค็มเสมอ แล้วเธอนี้มันเค็มเสมอหรือเปล่า ใครยืนยันว่าตัวเองเค็มเสมอ เช่นอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาที่ละเอียด ต้องฉลาดพอจึงจะใช้มันได้ คนที่ไม่มีหัวศิลปะก็คงไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ทำไปตามที่จะทำได้ เพราะเราก็ได้ศึกษาจากพระบาลีจากคัมภีร์อะไรมามากแล้ว พระพุทธเจ้าท่านใช้มากนะ คือใช้สิ่งแวดล้อมในขณะนั้นที่มันแวดล้อมเราอยู่ให้เกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา พระองค์ก็ทรงใช้อารมณ์นั้นเป็นไอ้ตัวบทธรรมะที่จะเอามาวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์ ให้ผู้ฟังเขาเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งกว่าที่พูดตามธรรมดา คือมันมีหลักว่า อะไรกำลังเป็นอารมณ์ประทับจิตใจของคนเหล่านั้นอยู่ ก็ใช้อารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของการที่จะให้เขารู้ธรรมะ เข้าถึงธรรมะ เพราะอารมณ์ที่กำลังแวดล้อมจิตใจอยู่มันมีอิทธิพลมาก การที่พาไปอยู่ในป่า ในถ้ำ ในเขา ในริมทะเล ในอะไรก็ตาม มันก็เกิดอารมณ์แปลกๆเปลี่ยนหน้ากันเข้ามา เราก็ถือโอกาสใช้ความหมายของอารมณ์นั้นๆแหละอบรมสั่งสอนกัน เช่นว่าเย็น เอ้อมันเย็นนะ ก็พูดเรื่องเย็นให้มันถึงที่สุด ถ้าร้อน ร้อน ก็พูดเรื่องร้อนให้ถึงที่สุด แม้ที่สุดแต่ของเล็กๆน้อยๆ สัตว์ตัวน้อยๆ อะไรตัวน้อยๆ มันก็๋มีความหมายนะ อย่าให้มันละอายแก่สัตว์ตัวน้อยๆนี้ มันก็กลายเป็นวิชาครูที่ล้ำลึก ซึ่งก็ต้องเรียนกันมานานๆ ไม่ใช่ว่าพูดกันสองสามนาทีนี้มันทำไม่ได้หรอก แต่ทำได้เพียงว่าเป็นตัวอย่าง เป็นเครื่องเปรียบเทียบ ถ้าทำจริงเขาเรียนกันเฉพาะส่วนนี้เป็นเดือนๆปี เรียกว่าจิตวิทยาสำหรับครู ให้ถือโอกาส สอนตัวเอง สอนครูเอง อบรมครูเอง พร้อมๆกันไปกับอบรมนักเรียน สอนนักเรียน ในขณะที่อบรมนักเรียน สอนนักเรียนมันเป็นการอบรมตัวเราเองผู้เป็นครู เป็นผู้นำ เป็นอาจารย์ให้ฉลาดขึ้นด้วย บางทีก็ฉลาดได้มากกว่า เร็วกว่าไอ้ลูกศิษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนโดยตรงเสียอีก อย่างผมเทศน์ปาฐกถาให้คนอื่นฟัง ผมฉลาดกว่าไอ้พวกนั้นพวกที่นั่งฟัง วิ่งไปข้างหน้ากว่ามากมาย มันเป็นอย่างนั้นแหละ ถึงคุณไปสอนเณร สอนเด็กหรืออะไรก็ตาม ถ้าไปถูกวิธีเราจะรู้อะไรก่อน รู้อะไรกว่า รู้อะไรเร็วกว่า ไปข้างหน้ากว่า จึงจะนำเขาซึ่งมาตามหลัง นี่ประโยชน์อีกข้อหนึ่ง ประโยชน์แฝงอยู่อีกข้อหนึ่ง ในการอบรมสามเณรนี้ จะทำให้ครูผู้อบรมฉลาดขึ้นอีกมากทีเดียว นี่ผมพูดโดยคร่าวๆก็ได้อย่างนี้ ให้ทำเพื่อสนองพระพุทธประสงค์ เพื่อประเทศชาติ เพื่อเพิ่มไอ้การศึกษาหมาหางด้วนนั้นให้มันเต็ม เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ เพราะเด็กๆนี้มันจะเป็นคนสร้างโลกในอนาคต ทำให้เขาสามารถที่สุด เพราะงั้นเอามาบวชเป็นพิเศษนี้มันต้องเรียนเรื่องพิเศษซึ่งไม่เหมือนกับในโรงเรียน เราก็จัดวิธีการของเราขึ่นมาเองเป็นอย่างนั้นๆ การอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวกแบบนี้มันฝึกสมบัติผู้ดี ฝึกเรื่องทางจิตใจมากทีเดียว นี่เรายังแถมให้เขามีความรู้ทางปริยัติทางอะไรเพิ่มขึ้นไปอีก ให้เขาสวดร้องอย่างถูกต้อง จะให้สวดอะไรสวดให้มันถูกต้องนะ อย่าให้สวดเคอะๆคะๆ มันไม่ถูกหลักตัวหนังสือหนังหานี่มันไม่ดี ให้รู้ธรรมะนั้นๆ ให้ปฏิบัติธรรมะนั้นๆ จนกระทั่งเกิดความกลมกลืนกันระหว่างผู้ฝึกกับผู้ถูกฝึก มีความร่วมใจกันในการที่จะทำมนุษย์ให้มันดี ทำโลกนี้ให้มันดี ประโยชน์ก็เหลือหลาย เป็นไปได้หลายทิศทาง หลายแง่ คุณก็ไปหารายละเอียดเอาเอง นี่ต้องการแนะเค้าเงื่อนหรือแนวทาง วันนี้พูดหนึ่งชั่วโมงเศษๆแล้ว ก็พอสำหรับเรื่องการพูด ทีนี้ใครจะถามอะไรก็ว่ามา ได้อีกสักครึ่งชั่วโมง ถ้าคุณจะกลับเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เหรอ เสร็จแล้วจะกลับเสียแล้ว มีอะไรก็ถามมาได้สักครึ่งชั่วโมง รู้หมด ไม่มีปัญหา
(ถาม) คุณควรจะรู้ดีเพราะเคยทำมาแล้ว หลักการศึกษาในโลกนี้ เขาก็แยก ไอ้เราก็แยก แยกเป็นหมู่ๆ หมู่เล็กก็ให้หัวหน้าหมู่อบรมไปให้เหมาะสมกับหมู่เล็ก หมู่โตก็ให้หัวหน้าหมู่ให้อบรมกับหมู่โต ไม่จำเป็นต้องให้เขาปะปนกันในนั้น ให้คนเด็กเล็กรู้จักเคารพเด็กโตนั้นก็เป็นหลักสากลทั่วไป ทั้งเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม อบรมให้ตัวเล็กๆรู้จักเคารพเกรงใจตัวโตๆ อย่าจองหอง แล้วก็อบรมตัวโตๆ อย่าให้รังแกตัวเล็กๆ ปัญหาก็ไม่มี ใครมีปัญหาอะไรอีกล่ะ ผมประหลาดใจที่สุด ที่ไม่ค่อยมีปัญหา เวลาที่ให้ถามปัญหาไม่มีล่ะ อุตส่าห์มาอยู่สวนโมกข์ เพื่อจะศึกษาอะไรๆ พอเปิดโอกาสปัญหาที่ตัวต้องการจะถาม ไม่มีใครถาม นั้นมันประหลาดที่สุดนะ มันไม่ใช่เรื่องที่ดีนะ เป็นเรื่องที่ยังขาดบกพร่องกันอยู่มาก เปิดโอกาสให้ถามปัญหามันก็ไม่มีปัญหาที่จะถาม ก็หมายอาจ ก็แสดงว่าไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้คิดค้น อยากจะรู้อะไร ที่มาอยู่ในป่านี้อยากจะรู้อะไร ก็ควรจะได้ถาม นี่เราจะถามปัญหาเกี่ยวกับอบรมเณรนะ ไม่ใช่ปัญหาธรรมะนะ ก็มีปัญหาอะไรอีก
(ถาม) ก็พูดกันก็เลยให้มันสนุกบ้าง หาวิธีสนุกบ้าง สอนธรรมะให้สนุก แต่โบราณเขาก็ใช้นิทาน ใช้ชาดก ใช้ที่มันเป็นเรื่องราวสำหรับสนุก จนกระทั่งเกิดการสอนด้วยรูปภาพ เกิดการสอนด้วยศิลปะอะไรขึ้นมา นั่นก็เพื่อสนุก เราทำให้มันมีความสนุกบ้าง เจือกันไป เป็นสนุกทางวิญญาณที่เรียกกันว่ามหรสพทางวิญญาณ ก็มุ่งหมายข้อนี้ล่ะ จัดให้มันเป็นมหรสพทางวิญญาณกลายๆ แม้แต่สวดมนต์นะ ก็ให้มันรู้จักความไพเราะ ความเรียบร้อย ความถูกต้อง ให้เสียงให้ไพเราะและถูกต้อง บาลีทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ก็มีที่เป็นคำคาถาถ้าสวดให้ไพเราะก็ไพเราะได้ แต่เขาไม่ค่อยนิยมกัน เขาใช้ว่ามันเกินไป สวดคำฉันท์ นิทานสนุกเปรียบเทียบธรรมะ ก็ได้รู้ธรรมะจากเรื่องสนุกที่สุภาพนะ เป็นธรรมะ เรื่องธรรมะอันลึกซึ้งมันน่าเบื่อ มันละเอียด ไม่เข้าใจ แล้วพอบังคับให้จำเดี๋ยวมันก็เบื่อ ถ้าให้เข้าใจไปเรื่อยๆ มันก็ค่อยๆสนุกติดต่อกันไป
(ถาม) ก็สวดให้มันสนุกไง สวดให้มันไพเราะ สวดให้มันดังๆ คุณเคยทำมาแล้วเหรอ หรือคิดไปล่วงหน้า มีเณรง่วงไม่ทำวัตรเหรอ คุณก็ค้นดูว่ามันเพราะเหตุอะไร เพราะเขานอนไม่พอหรือ ถ้าเขานอนไม่พอก็จัดให้เขานอนให้พอ ก็ลองใคร่ครวญจะแก้ไขยังไง แต่เด็กตัวเล็กๆมันก็จริงล่ะ ก็ตื่นนอนตั้งแต่ดึกๆนี้มันมาง่วง ต้องให้อาบน้ำ อาบท่า ล้างหน้าล้างตา เดินจงกรมอะไรเสียก่อนจึงมาทำ
(ถาม) นั่นล่ะมันมีเรื่องลึกซึ้งซ่อนอยู่ใต้นั้น คือเราต้องแสดงให้เขาเห็นเสียบ้างว่าเรามีอะไรเหนือเขา พอที่จะสอนเขาได้ กลัวว่าไอ้เด็กสมัยนี้ถ้ามันเป็นเด็กโต เด็กมัธยม มันก็คาดคะเนเอาว่าพระเหล่านี้ไม่เคยเรียนมัธยมมาเป็นอาจารย์ของเรา ไม่ค่อยจะมีความรู้อะไร ถ้าอย่างนี้ล่ะมันก็จะผิด จิตใจไม่ค่อยฟัง เพราะงั้นมีอะไรก็แสดงกันเสียบ้าง แสดงให้เห็นว่าเราก็มีอะไรที่เหนือ ไม่ใช่วิชาความรู้ในโรงเรียน เราต้องอยู่เหนือกว่าวิชาธรรมะ เราต้องอยู่เหนือกว่าก็ถ้ามันเป็นเรื่องประพฤติกระทำน่ะเราทำได้ เราต้องทำให้เขาดูว่าเราทำได้ เช่นว่าง่วงนี้ก็ต้องไม่ง่วงให้เขาเห็น เขาก็รู้ว่ามันทำได้ หรือว่าตื่นแต่ดึกนี่ตื่นได้ เราทำให้เขาเห็นว่ามันตื่นได้ อะไรที่ว่ามันยาก เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ถ้าอย่างนี้ไอ้เด็กที่มันเรียนมัธยมเรียนอะไรมาสูงๆมันยอม เช่นเดียวกับว่าไอ้พวกที่มันเรียนมหาวิทยาเมืองนอกเมืองนามาอย่างสูงสุด มันก็ยอมฟังพระเถื่อนโง่ๆได้ เพราะว่ามันมีอะไรแสดงให้เห็นว่า ในส่วนนี้เราเหนือกว่า เพราะงั้นมีอะไรกันเสียบ้าง แสดงให้เด็กๆเห็นว่าเรามีส่วนเหนือกว่า ถ้าเอาเรื่องทางจิตใจกันแล้ว เรามีส่วนที่เหนือกว่า เด็กๆก็จะยอมฟัง มันอยู่ที่เราแสดงให้เห็นว่า เรารู้สิ่งที่มีประโยชน์ก็ได้ เขาอยากได้ประโยชน์ เขาก็สนใจเรา ประจบประแจงเรา เพื่อจะสอนเขา ไม่ดูถูกหรอก
(ถาม) เอ้า ก็คุณไปพิจารณาว่า ไอ้เด็กคนนั้นมันอันธพาลหรือเปล่า ถ้ามันอันธพาลสันดานหยาบ แก้ไขไม่ได้ ก็มีหลักการไปอีกอย่างหนึ่ง
(ถาม) ไม่ค่อยได้ยิน ไม่รู้ว่าพูดว่าอะไร ไหนพูดใหม่ให้ได้ยินสิ จะทำอะไรบ้างล่ะ คือไล่ไปเลยน่ะเหรอ ก็ต้องมีล่ะ ต้องมีระเบียบที่วางไว้ ว่าถ้าถึงขนาดนั้นล่ะก็ไล่ออกไปเลย เขาก็สึกเองล่ะ แต่ไม่มีดีกว่า ทนลำบากแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ถ้ามันสุดวิสัยจึงค่อยจะใช้วิธีฆ่าให้ตาย อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกเรื่องฝึกม้า คุยกับนายเกสี อุบายหยาบแล้ว อุบายกลางๆก็แล้ว อุบายละเอียดก็แล้ว ก็ฆ่าให้ตายเลย คือไม่สอนกันอีกต่อไป ต้องดูให้ดี ว่าเด็กคนไหนมันมีปัญหาอย่างนี้ ก็ช่วยจัดให้ได้หัวหน้าหมู่ที่มันทันกัน หัวหน้าหมู่ก็มีหลายคน มีหลายชนิด หัวหน้าหมู่ที่เข้มแข็งก็จะเอาไอ้คนนั้นลงได้ ปัญหาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านมอบให้พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะทำ เพราะว่ามันเข้มแข็ง สามารถที่จะทรมานไอ้ภิกษุอันธพาล ถ้าเราเอาอย่างนั้นก็เราก็หมายๆตัวไว้ก่อนว่าเด็กคนนี้ท่ามันแข็งแน่ มันกระด้างแน่ พ่อแม่มันอะไร ก็เตรียมไว้พระองค์ไหนจะทันกับมันก็เอาองค์นั้นแหละเข้าไป หรือเอามาหาอาจารย์ใหญ่ ซักไซ้ไล่เรียงกันเสียให้ถึงที่สุดให้หมดทิฐิมานะ
(ถาม) มันทั่วไป ไอ้เรื่องนี้มันทั่วไป กิเลสของคนทั่วไปมันบิดพลิ้ว ไม่ยอมผิด ไม่ยอมรับผิด มันเป็นโรคจิตหรือเปล่าก็ดู บางทีก็ต้องให้อภัยบ้าง ไม่ยอมรับผิดน่ะมันเป็นกิเลสธรรมดา มันเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ เป็นปัญหาธรรมดาทั่วไปของมนุษย์ เราก็ไปศึกษาเรื่องนั้น จะพูดยังไง จะแวดล้อมยังไง เพียงให้เขานึกได้ก็พอ เขานึกได้ว่าเขาผิด ไม่ต้องลงโทษไม่ต้องประจานอะไรก็ได้ แต่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกมองเห็นขึ้นมาว่า เขาผิด เขาโง่ และเขาผิด คนมันอยากดี มันก็เปลี่ยนแปลงเองล่ะ ดีที่คุณมีสมุดโน้ตไว้น่ะดี ผมเห็นน่ะ เพราะผมก็ทำอย่างนั้น อย่าอวดดี มันจำได้ ไอ้คนโง่มันจะอวดดีล่ะจำได้ ไม่ต้องจด เพราะเดี๋ยวนี้เรื่องมันมาก ไม่ใช่ว่าเรื่องเดียว เหมือนของโบราณ นี่เรื่องมันมากต้องใช้จดช่วย แล้วเราจะไปเทียบเคียงไอ้วันหลังๆ เพราะระยะงานมันยาวตั้งเดือนหนึ่ง ถ้าไปมัวลืมหน้าลืมหลังล่ะมันทำไม่ได้ มันต้องจดไว้ สำหรับจะไปปะติดปะต่อกันเรื่อยไป ก็ไอ้สมุดโน้ตของปีนี้ล่ะมันจะช่วยให้การงานของปีหน้าและปีต่อๆไป ต้องทำให้ดีที่สุด สมุดบันทึกแต่ละปี และความคิดที่ดีๆ มันหายไป บางทีเราก็ไม่ได้จดไว้ ก็จดไว้ วันหลังเอามาดูอีกที เอ๊ะ มันดีขนาดนี้เหรอ มันจะรู้สึกอย่างนี้ ว่าเรานี้มันคิดได้ดีขนาดนี้เลยหรือ แล้วก็จะดียิ่งๆขึ้นไปเรื่อย
(ถาม) โดยหลักของจิตวิทยา พยายามอ่านเณรทุกคนให้ออก อย่างน้อยก็ในกลุ่มหมู่สิบคนของเรา เณรสิบคนของเรานี่ต้องพยายามอ่านให้ออกว่าคนไหนเป็นอย่างไร คนไหนเป็นอย่างไร ถ้ามันแลกเปลี่ยนกันเสียได้ก็ดี ไอ้คนนี้พลัดเข้ามาอยู่ในหมู่นี้ มันบอกอยากไปอยู่ในหมู่โน้นเอาไปสับเปลี่ยนกันมา ทีนี้เราก็ได้หมู่ที่คล้ายๆกัน เอาเณรที่หลุกหลิกๆด้วยกันไปไว้ในหมู่เดียวกัน ก็คงจะสนุก อาจารย์ได้ปวดหัว ถ้าอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ เอาไปไว้ในที่ ไอ้ที่ไม่หลุกหลิก ไอ้ที่มันไม่หลุกหลิกน่ะมันจะทำให้คนหลุกหลิกน่ะค่อยๆเปลี่ยน
(ถาม) หน้าไว้หลังหลอก มันยากนะ ช่วยกันดู อย่าให้มันหลอกได้
(ถาม) ให้เขาได้แสดงอะไรที่ดีๆ พูดดี เทศน์ดี ปฏิบัติดี อะไรดี นั่งสมาธิได้ดีนี่ก็สำคัญเหมือนกัน ให้แต่ละองค์ ให้เณรมันได้แสดงอะไรที่อยากแสดง แล้วมันก็ดี เหมาะสำหรับจะแสดง หรืออวดได้ดี ก็ควรให้โอกาส เพราะว่า มันจะช่วยเขานึก ในการที่จะทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปอย่างนั้น
(ถาม) ไม่รู้เรื่องว่าคุณพูดว่าอย่างไร คุณพูดดังกว่านี้หน่อยสิ ผมไม่ได้ใช้คำว่าให้มาก ให้ตามโอกาสสิ อย่าไปปิดเสีย
(ถาม) ก็ได้ ก็บอกให้รู้ เป็นหลักทั่วไป อย่างนี้ไม่ใช่เฉพาะกรณีของเรา ก็พูดให้เขานึกได้ เรื่องแมลงป่อง เรื่องพญานาค เขียนโคลงบทนั้นแหละ เธอท่องบทนี้จะดีมาก
“นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี”
เอ้า ลองท่อง ลองท่องนี้ แต่อย่าบอกนะว่า ด่าว่าอะไร ที่จริงมันก็เป็นนิสัยสันดานของสัตว์ทั่วไปอยู่แล้วที่อยากจะอวดดี อยากจะแสดงอะไรที่ดีที่มันเหนือกว่า สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น มนุษย์ต้องรู้จักสำรวมระวัง ทำเท่าที่ควร พ่อแม่ก็สอนเด็กไม่ให้อวดดี ถ้าเขามีดี ก็ให้เขาอวด ไอ้คำอวดดีน่ะมันไม่มีดีน่ะ ไอ้คนอวดดีน่ะไม่มีดีแหละ คำนี้มันเล่นตลกนะ ไอ้คำพูดมันเล่นตลก ที่ว่าอวดดีนั้นมันไม่มีดีแหละ แต่ถ้ามันมีดีจริง มันจะแสดงออกมาบ้าง อย่างนี้ไม่ใช่อวดดี
“มีดีอวดอวดได้ เป็นประกาศ
ดีไม่มีอวดดีเหลือ หมั่นไส้”
คงจำได้แค่สองบรรทัดล่ะโคลงนี้ อีกสองบรรทัดจะไม่ได้ ลืมเสียแล้ว มีดีอวดอวดได้ เป็นประกาศคือเป็นประกาศความดี ไม่ใช่อวดดี ถ้ามีดีอวดล่ะก็อวดได้ ก็เป็นการประกาศได้ ดีไม่มีอวดดีเหลือ อันนี้กูหมั่นไส้ คือไม่มีดีแล้วมันก็อวดดี นี่ให้เด็กเขานึกอย่างนี้ไว้บ้าง ถ้ามันมีดีจริงๆแล้วก็แสดงให้คนอื่นรู้บ้างก็ได้ แต่อย่าให้มันเป็นแมลงป่อง คือดีมันไม่มีเท่านั้นแหละมันก็ไปอวดเพ้อเจ้อ
(ถาม) ตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมเมตตาให้มากล่ะ มันไม่ค่อยเกิดเรื่องหรอก พูดเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ เหมือนน้อง อย่าพูดเหมือนอะไรล่ะ นายพูดกับไพร่ พูดกับบ่าวกับไพร่แบบโบราณ เขามีคำพูดสำหรับเมืองนี้ภาคใต้อยู่คำหนึ่งว่า “อมขี้พ่น” เพราะงั้นภาคกลาง ภาคเหนือก็น่าจะคำว่ามี “อมขี้พ่น” มันพูดอะไรมันไม่น่าฟังเลย มันพูดกันอย่างนาย พูดอย่างยักษ์มาร พูดอย่างเดี๋ยวนี้เขาไม่มีกันแล้ว พูดกับฝรั่งไม่มีคำว่าขอ please นั้นน่ะ มีก็โกรธ ถ้าจะไปใช้มัน อะไรมัน ถ้าจะไปขอความช่วยเหลืออะไรมัน ต้องใช้ความว่า please ขอโปรด ไม่ใช่คำว่ามึงทำนี้ให้กูที อย่างนี้เรียกว่าอมขี้พ่น เพราะงั้นคุณจะทำกับเณรเล็กๆล่ะคุณก็อย่าทำอย่างนั้นนะ อย่าทำอย่างแบบคำพูดอมขี้พ่น ต้องพูดอย่างมิตรสหาย เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เป็นเพื่อนเป็นญาติเป็นอะไรก็ได้ คำว่าโว้ย คำว่าเห้ยนั้นไม่ต้องมี เหมือนกับเราว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เดี๋ยวนี้เราก็จะเดินทางข้ามวัฏสงสารไปสู่นิพพาน เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากด้วยกัน ก็เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากด้วยกันทำไมเรามาพูดคำหยาบต่อกัน มันไม่ใช่เพื่อนทุกข์เพื่อนยาก หมู่นี้กลุ่มนี้ จะฟันฝ่าอุปสรรค เดินทางไปเพื่อให้ลุถึงฝั่งนู้นทำไมจะต้องมาทะเลาะกัน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ถึงแม้ว่านี่เป็นอาจารย์นั้นเป็นลูกศิษย์ก็เถอะ เดี๋ยวนี้มันเป็นเพื่อนจะเดินทางไปสู่ฝั่งนู้นด้วยกันแล้ว ไอ้เด็กหรือเณรนั้นมันจะรู้สึกมีเกียรติ มีเกียรติล่ะ อาจารย์ให้เกียรติเป็นเพื่อนเดินทาง ทั้งหมดที่ว่านี้ไม่ใช่พูดตรงๆ ไม่ใช่คำพูดตรงๆ อย่างนั้น พูดอย่างอื่น พูดที่เหมาะสม พูดโดยอ้อมที่เหมาะสม แต่ให้เขารู้สึกอย่างนั้นอย่างที่เราต้องการให้เขารู้สึก มันก็จะรวม จะมีจิตใจที่รวมกัน ความหวังร่วมน่ะ คุณพยอมเขาก็พูด ต้องการร่วมหรือความหวังร่วมน่ะ คำใหม่ๆของคุณพยอม ทำให้เด็กทั้งหลาย หรือเณรทั้งหลายเกิดความหวังร่วม รวมเป็นอันเดียวกันที่จะไปตามวัตถุประสงค์ ถ้ามันไม่เกิดความหวังร่วมอย่างที่ว่านี้มันลำบาก มันคอยฉีกแหวกแนว ฉีกคอก อารมณ์ร่วม คุณพยอมเขาใช้คำว่าอารมณ์ร่วม มีอารมณ์ร่วม พยายามให้ทุกคนมีอารมณ์ร่วมกัน ไหนรถของคุณอยู่ไหนน่ะ แล้วคนรถล่ะ กินข้าวกินปลาอะไรกันแล้วนะ
(ถาม) นั้นเป็นข้อตกลงกัน ที่เรียกว่าทัณฑกรรมห้าน่ะ ไปอ่านดู อนัญญาสิโข (1.30.04) ส่วนทัณฑกรรมห้าน่ะเขาให้อย่างนี้ ให้ตักน้ำบ้าง ให้ล้างส้วมบ้าง ให้ขนดินบ้างอะไรบ้าง เป็นเรื่องทัณฑกรรม ให้เขารู้ว่าเป็นธรรมเนียมมาเแต่โบรมโบราณก่อนพุทธกาล ให้เขาดีเป็นสุภาพบุรุษ ดีนี้หมายความว่ายินดีลงโทษตัวเอง แม้อาจารย์จะไม่ลงโทษก็ยินดีที่จะลงโทษตัวเองถ้ารู้ว่ามันได้ทำผิดกติกาที่วางไว้แล้ว ก็ควรจะวางกติการะบุให้ชัดๆไว้ว่าอะไรเป็นอะไรก็กำหนดไว้แล้ว ให้ไปทำโทษตัวเอง ใช้โทษตัวเอง ถ้าไม่ยอมทำนั่นแหละยิ่งน่าอายขึ้นไปอีก ไอ้ทำผิดน่ะมันก็น่าอายอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมรับโทษตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้วเป็นกติกาแล้ว น่าอายยิ่งขึ้นไปอีก มันก็ควรจะทำน่ะยินดีทำโทษ ยินดีทำคืนน่ะ สละโทษ ผมอ่านอรรถกถาตอนเรื่องอุรุเวฬาเป็นเนินทรายใหญ่ เป็นภูเขาที่ชฎิลเขาอยู่ ที่พระพุทธเจ้าเข้าไปอาศัยเขตนั้นทำทุกรกิริยาเรียกว่าอุรุเวฬาเป็นเนินทราย ที่ชฏิลทั้งหลายเขาอยู่กันที่นั่นมาก เขามีกติกาว่าถ้าอกุศลวิตกได้เกิดขึ้นในใจแล้วก็ไม่ต้องถามใคร เอาภาชนะไปโกยทรายในแม่น้ำเนรัญชราแล้วเอาขึ้นไปเทบนยอดเนินนั้น อยู่มานานเข้าๆ ก็เป็นภูเขาทราย เป็นเนินทราย ผู้ที่มีความซื่อตรง ต่อตัวเอง ต่อระเบียบหรือกติกานั้นเขาทำกันมา ได้รับการสรรเสริญเสียอีกไม่ใช่น่าละอาย ที่ไม่ทำนั่นแหละน่าละอาย เอ้า พอดีแล้ว ครึ่งชั่วโมงเลยบ้างแล้ว ขอแสดงความยินดี อนุโมทนาในความตั้งใจดีของท่านทั้งหลายทุกคน ที่ตั้งใจจะอบรมสามเณรตามหน้าที่ของสาวก ของพระพุทธเจ้าและเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย เพราะงั้นขออวยพรให้ทุกองค์มีน้ำใจเข้มแข็งกล้าหาญ อย่าได้เกิดความท้อแท้ ท้อถอย มีปัญญาปฏิภาณดำเนินงานให้ก้าวหน้าลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกทิศพาราศีกาล เทอญ...