แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมจะพูดได้ด้วยหลักทั่วไป วิธีการอบรมสามเณรโดยเฉพาะนั้นไม่เคยทำ แล้วก็ไม่ค่อยจะรู้ แต่ว่า เหตุผลในการกระทำนี้พอจะรู้บ้าง เวลานี้เราหวังว่าสามเณรจะเป็นผู้แสดงบทบาทให้เป็นประโยชน์กับศาสนาในอนาคต ไม่ว่าสามเณรจะยังคงอยู่เป็นภิกษุต่อไปหรือว่าสามเณรจะสึกไปเป็นฆราวาส ก็ย่อมจะมีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าได้ช่วยกันอบรมคุณธรรม ให้มีความเป็นสามเณรที่สมบูรณ์ ถูกต้องและสมบูรณ์ สามเณรเรียกว่าผู้ที่จะเป็นสมณะ เหล่ากอแห่งสมณะคือผู้ที่จะเป็นสมณะ ได้รับการอบรมเพียงพอ แล้วจะเป็นสมณะที่ดี คือมีความเป็นสมณะที่ถูกต้อง จึงอบรมสามเณรเพื่อให้มีความเป็นสมณะในอนาคต สมณะนี้แม้ใน เป็นฆราวาสก็เรียกว่าสมณะได้เหมือนกัน ผู้บรรลุมรรคผลเป็นอริยบุคคลขั้นต้น ๆ เป็นฆราวาสก็มี โดยเฉพาะก็หมายถึงเป็นบรรพชิต เป็นนักบวช แต่ว่าเป็นฆราวาสก็มี โดยเหตุที่เห็นว่าอบรมกันตั้งแต่เล็ก ๆ นั้นดี อบรมง่าย ถ้าใหญ่แล้วมันกระด้าง แข็งกระด้าง ความคดโกงของมันกระด้างเข้มแข็ง ยากที่จะแก้ไข หรือขูดเกลา เราจึงคิดอบรมกัน ตั้งแต่ยังอ่อนอยู่ คือยังเป็นสามเณรอยู่ ให้เป็นสมณะมีความสงบ ผู้มีความสงบ ตัวเองก็สงบ แล้วก็ช่วยทำสังคม คือโลกให้สงบ สมณะ ถ้าเป็นสมณะที่แท้จริงนี่ตัวเองก็สงบ ช่วยทำให้ผู้อื่น แม้แต่โลกก็ได้ สงบ สมณะจึงเป็นบุคคลสูงสุดควรแก่การเคารพ จึงว่าได้เห็นสมณะ เพียงแต่ได้เห็นสมณะก็ยังเป็นการดี เราทุกคนทำตนให้เป็นสมณะด้วย แล้วก็พยายามช่วยเหลือเด็ก ๆ เยาวชนที่ยังเล็กอยู่ให้มันได้เป็นสมณะด้วย ช่วยส่งเสริมให้ได้เป็นสมณะโดยสะดวกโดยง่ายด้วย ฉะนั้นจึงรวมความว่า เราอบรมสามเณรนี้เพื่อให้สามเณรจะได้เป็นสมณะ โดยส่วนตัวมันก็เป็นสมณะที่ดีแล้วจะเป็นสมณะที่ทำโลก ทำสังคมให้ดี ผู้ที่จะอบรมเณรจึงต้องเป็นสมณะที่ดีที่ถูกต้องเสียก่อน
ข้อแรกก็คือว่าอาจารย์ผู้อบรมนั่นแหละเป็นสมณะเสียก่อน แล้วมันจะได้ถ่ายทอดความเป็นสมณะได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นเราจะต้องอดกลั้นอดทนเพื่อรักษาความเป็นสมณะของตนไว้ให้ดี จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สามเณร จะได้เป็นคุณธรรมที่ดีส่วนตัว จึงจะอบรมผู้อื่นได้ ถ้าในส่วนตัวมันไม่มีอะไรดีแล้วมันก็เรื่องหลอกลวงทั้งนั้น อบรมอะไรไม่ได้ ผู้อบรมควรชำระความเป็นสมณะของตัวให้เพียงพอ แล้วก็มีความอดกลั้นอดทนที่สุด ผู้ที่จะเป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนผู้อื่นกลับจะต้องอดกลั้นอดทนยิ่งกว่าผู้ที่ถูกอบรมสั่งสอน
ตามธรรมดาเราก็สั่งสอนให้เด็ก ให้เณร รับคำสั่งสอนด้วยความอดกลั้นอดทน หมายความว่า มันจะต้องมีความอดกลั้นอดทนจึงจะรับคำสั่งสอนได้ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่าผู้ที่จะสอนเขากลับจะต้องอดทนอดกลั้นมากกว่า นี่เป็นความจริงที่มีอยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว และเคยประสบมาแล้ว และกำลังประสบอยู่เวลานี้ ผู้สั่งสอนจะต้องอดทนยิ่งกว่าผู้ถูกสั่งสอน เพราะว่า ผู้ถูกสั่งสอนมันยังเป็นอันธพาล แสดงความเป็นอันธพาลต่อต้านการสั่งสอน ทีนี้ถ้าอาจารย์ถ้าไม่อดทนพอก็ทำไม่ได้ มันก็ได้เกิดโมโหโทโส มันก็ได้ตีกันตาย มันก็ได้ทะเลาะวิวาทกัน เกิดเรื่องระหว่างอาจารย์กับศิษย์นี่แหละจะเกิดเรื่อง ถ้าอาจารย์มันเลวพอ มันก็ได้ชกต่อยกับลูกศิษย์
ขอให้เตรียมตน มีขันติ คือความอดกลั้นอดทน จึงจะทำหน้าที่ของบรรพชิตได้ ขันติเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต เขาจะทำอะไรให้สำเร็จนี่ต้องอดทน ธรรมดาก็ต้องอดทน ยิ่งมาปล้ำมาปลุก ไอ้คนก็ยังโง่ ยังเขลา ยังหลง ยังอันธพาลด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องอดทนเหลือแสนเลย คุณเตรียมไว้เถิด ที่จะต้องอดกลั้นอดทน เริ่มตั้งแต่ความเป็น คนโง่ คนพาล คนเขลา คนหลง ของเด็ก ๆ มันต้องอดทนปะทะกับความเป็นอันธพาลของไอ้ผู้ที่ยังเยาว์วัย นี่เป็นข้อแรก และต้องอดกลั้นอดทน คอยดู คอยแล คอยเฝ้าสังเกตอยู่เสมอ ต้องอดหลับอดนอน ต้องอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็จะอบรมเด็กให้ดีได้ ถ้าต่างคนต่างนอนก็แล้วกัน ไม่มีความหมายอะไร จะต้องอดทนต่อความลำบาก ลำบาก ลำบากทางกาย ลำบากทางจิต เต็มที่เหมือนกัน จึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขอให้เตรียมตัวไว้ เตรียมตัวไว้ อย่าให้เผลอ เกิดไม่อดกลั้นอดทนขึ้นมา เกิดเรื่องกับลูกศิษย์ แล้วก็มันล้มละลาย เรื่องล้มละลายเลย
เด็ก ๆ นั่นเขาเรียกว่า พาละ พาละที่แปลว่าคนพาล ในบาลีเรียกเด็ก ๆ ว่า พาละ พาละนี้แปลว่าอ่อน ยังอ่อนอยู่ ยังอ่อนอยู่โดยประการทั้งปวง ร่างกายก็อ่อน จิตใจก็อ่อน ความคิด ความนึกก็อ่อน สติปัญญาก็อ่อน อะไรทุกอย่างความอดกลั้นอดทนก็อ่อน คำว่าพาละนี่แปลว่าอ่อน พวกเณร ๆ นี้มันจึงยัง เป็นพาละ คือยังอ่อนโดยประการทั้งปวง เราจะต้องเตรียมตัวแหละ เตรียมตัว ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องให้อภัยไปเสียหมดก็ไม่ใช่ จะต้องเตรียมตัวสำหรับแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาจากพาละ ความเป็นพาละ คือความอ่อนของสามเณร คุณไปสังเกตดูก็แล้วกัน ต่อไปจะเห็นว่าสามเณรจะมีความอ่อน อ่อนโดยอายุ อ่อนโดยร่างกาย อ่อนโดยจิตใจ อ่อนโดยสติปัญญา อ่อนโดยคุณธรรม เขาจึงเรียกว่าพาละ คือผู้ยังอ่อนอยู่ มันก็ต้องลำบากแหละ ต้องยุ่งยากและก็ลำบากเป็นธรรมดา จึงจะได้อบรมไอ้อ่อนนั่นให้มันแข็งขึ้นมา เราจะต้องสอดส่อง
ที่สุดแล้วว่าเณรคนไหน เด็กคนไหนมันยังอ่อนอยู่ด้วยอะไร อ่อนอยู่ในส่วนไหน จะได้แก้ไขเฉพาะในส่วนนั้นให้มันแข็งขึ้นมาถึงระดับขนาด ถ้าไม่ตั้งใจจริง วันนี้มันก็ทำงมงาย สุ่มสี่สุ่มห้าหลับตาทำ ไม่รู้อะไรยังขาด อะไรมีแล้ว อะไรเกินไปแล้วนี่มันไม่รู้ ผู้อบรมทุกคนจะต้องศึกษา ผู้ที่ตนจะอบรมให้ละเอียดลออเป็นคน ๆ ไปทีเดียว ต้องกำหนดจดจำให้ดี ๆ ว่า คน ๆ นี้เป็นอย่างไร อีกคนเป็นอย่างไร อีกคนเป็นอย่างไร ทุกคน เราจะต้องทำการอบรม ถ้าไม่ประมาทต้องเขียนต้องจดแหละ ถ้าประมาท อวดดีว่าจำได้ ก็ทำชุ่ย ๆ หวัด ๆ เป็นอาจารย์ก็ไม่ถึงขนาด อาจารย์อวดดี อาจารย์โง่เขลาเอานะ อบรมได้ จะต้องศึกษาสังเกตให้มากว่าในจะการที่เขาจะอบรมนักเรียน นักศึกษานี้เขามีรายการบันทึกไว้เฉพาะคน เฉพาะคน เป็นสมุดประจำตัวนี่ หรือว่าแพทย์หมอจะรักษาคนไข้ ก็ต้องมีบันทึกเฉพาะคนเขียนไว้ละเอียดเลย ไอ้คน ๆ นี้ คนไข้คนนี้มันเป็นมาอย่างไร กำเนิดอย่างไร ประวัติอย่างไร เกิดเรื่องอย่างไร อะไรอย่างไร อะไรจนถึงวันนี้ โรคอะไรเกิดขึ้น โรคอะไรหายไปแล้ว โรคอะไรอยู่อย่างไร เขาละเอียดมาก เขาจึงรักษาคนไข้ได้ถูกต้องตามความจริง มันก็หายได้โดยง่าย
เรื่องเด็กเรื่องเณรนี้มันก็เหมือนกับคนไข้ เป็นคนไข้ทางใจ ทางจิต ทางวิญญาณ พระก็ยังไม่รู้ประสาอะไรก็ยังเป็นคนไข้ไม่ใช่แพ้เด็กแพ้เณรนั่นแหละ ยังเป็นคนไข้ด้วยกิเลส ฉะนั้นระวัง จะเป็นหมอรักษาผู้อื่นนั้น รักษาไข้ของตัวให้มันหายเสียก่อน เราอย่าเป็นคนไข้รักษาคนไข้ นี่แหละสำคัญ อย่างน้อยก็แสดงความไม่เป็นคนไข้ ให้เณร ๆ มันเห็น ถ้าเรามันเป็นคนไข้เสียเอง มีราคะ โทสะ โมหะ มีอะไร ไม่มีศีลไม่มีวินัยเสียเอง แล้วมันก็หมดแหละ ก็ทำกันไม่ได้ จึงพูดว่าผู้ที่จะอบรมเขานั้นจะต้องอดกลั้นอดทนยิ่งกว่าผู้ที่เราจะอบรมเสียอีก ขอให้ตั้งใจชนิดนี้ ปรารถนาอย่างยิ่งชนิดนี้ อดกลั้นอดทนให้เรื่องสำเร็จ อย่าให้มันเป็นการล้มละลายผิดหวังกันไปทุกฝ่าย มันต้องรวมกำลังหลายฝ่าย ต้องลงทุนกันหลายฝ่ายนะ ก็จะเกิดการอบรมขึ้นมาได้นะ เราก็ต้อง ให้ดี อย่าให้ทุก ๆ ฝ่ายมันผิดหวัง อย่าให้ใครผิดหวัง นั่นแหละดี
แล้วเราก็หวังความสำเร็จ ถ้าการอบรมมันสำเร็จ มันก็มีประโยชน์มาก อย่างที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไปก็สร้างพลเมืองที่ดีเข้าไว้ ส่วนเณรนี้ส่วนมากสึกไปเป็นฆราวาสทั้งนั้น ถ้าอบรมได้ดีก็ไปเป็นพลเมืองที่ดี ส่วนน้อยมันจะอยู่เป็นพระ มันจะได้เป็นพระที่ดี อย่าให้เป็นพระแต่บังคับตัวเองไม่ได้ เต็มไปด้วยบาป ด้วยความชั่ว ด้วยทุจริต แล้วยังแถมปกปิดไปด้วย มันก็เป็นการแต่ว่าหมดเลย (นาทีที่ 18.13, ไม่แน่ใจ) จะต้องนึกว่าเรา อดทน ๆ น้ำตาไหล อดทนอย่าให้ล้มละลายได้ เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงหวังว่าให้เราทำหน้าที่อันนี้ เพื่อสืบอายุพระศาสนา เราจะสนองพระคุณของพระพุทธเจ้าเพื่อสืบอายุพระศาสนา คือเพื่อจะทำให้เกิดคนดี ทยอย ๆ ๆ กันไปเรื่อย ๆ อย่าให้ขาดสูญ นี้เรียกว่าสืบอายุพระศาสนาเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ บางคนฟังไม่เข้าใจว่าประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ เป็นคำที่มีความหมาย
ธรรมะนี้ถ้าว่ามีจริง เป็นธรรมะจริงมันมีประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ เทวดาคือผู้หมดปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องเหน็ดเรื่องเหนื่อย ไม่ต้อง หมดแล้ว นี่เทวดา ก็ยังต้องการธรรมะ ต้องการธรรมะสูงขึ้นไปเพื่อจะดับกิเลส ทีนี้มนุษย์ยังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ยังมีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องมาก อันนี้ก็ยังต้องการธรรมะเพื่อกำจัดความทุกข์ เหมือนกันกับเราต้อง ต้องทำการทำงานให้หนักให้ยากให้ลำบาก ต้องต่อสู้กันในหมู่มนุษย์นี้ ในหมู่คนนี้ จึงต้องมีธรรมะเสมอกันเพื่อให้รอดพ้นไปได้ ให้ชนะได้
เราอบรมให้เณรสามารถเอาชนะสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาในชีวิตนี้ได้ ในชั้นต้นมันก็เผชิญปัญหาอย่างเป็นมนุษย์แหละ ต่อสู้อาบเหงื่อต่างน้ำ ถ้าสำเร็จประโยชน์ มีเงิน มีทอง มีชื่อเสียง มีอำนาจวาสนาแล้ว ก็ต้องต่อสู้ต่อไป สู้กับกิเลสแต่ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ธรรมะจึงมียาวแหละ ยาว ยาวยืดตลอดสาย คนที่มันยังลำบากเรื่องปากเรื่องท้องก็ใช้แก้ปัญหาได้ คนที่มันไม่ลำบากเรื่องปากเรื่องท้องก็ใช้แก้ปัญหาสูงขึ้นไปได้ นี่แหละคือธรรมะ ทุกคราว ทุกที่ ทุกแห่ง พระพุทธเจ้าตรัสแหละ ท่านจะตรัสอย่างนี้เสมอแหละเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้ง เทวดาและมนุษย์ บาลีว่าอย่านี้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์
เราจะอบรมเณรให้มันมีความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทั้งอย่างชนิดของเทวดาและของมนุษย์แหละ ทั้งของมนุษย์และทั้งของเทวดาแหละ คือทั้งทางต่ำและทางสูง ชีวิตในระดับต่ำก็รู้จักแก้ปัญหา ชีวิตในระดับสูงก็รู้จักแก้ปัญหา ถ้าได้ตามนี้ก็เรียกว่าคุ้มแหละ คุ้มค่า คุ้มกับลงทุน สิ่งของก็คุ้มค่า ครูจะเหน็ดเหนื่อยก็คุ้มค่า ก็ช่วยเหลืออย่างอื่น ๆ มันก็คุ้มค่า หมายความว่าเป็นบุญเป็นกุศลแก่โลกของเรา คือมีประโยชน์แก่โลกพอ เรียกว่าไม่ขาดทุน คุ้มค่าแก่ได้ทำแหละ ถ้าพูดอีกทีก็ต้องพูดว่าเกินค่า เราลงทุนเท่านี้มันได้ผลเกินค่ามากทีเดียว ถ้าทำสำเร็จ แต่เขาพูดกันมากขึ้นว่าคนสมัยนี้ทำอะไร ๆ พอได้ พอได้รายงาน พอได้ได้ชื่อเสียง แค่ได้ชื่อเสียงเท่านั้น คนจะได้แท้จริงอย่างไร ก็ไม่ค่อยจะสนใจ คนสมัยนี้ก็เป็นเสียแบบนั้น พอได้ชื่อเสียงได้เลื่อนยศ ได้อะไรก็ตามใจแหละ พอได้แล้วก็แล้วกัน ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรดูจะไม่ได้สนใจ ทำไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน สมัยก่อน เขาทำอะไร เขาจะทำเอาประโยชน์กันจริง ๆ มันได้ประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อได้รายงาน ได้เลื่อนยศ ได้อะไรแบบนั้น
นี่ผมมองเห็นในส่วนนี้ จึงพูดให้ฟังได้ในส่วนนี้ ส่วนวิธีการอบรมนั้นไม่เคยทำ ไม่เคยจัดบวชเณรไม่เคยทำ ก็เรียกว่า ทำไม่เป็นก็ได้คือไม่เคยทำ แต่รู้เหตุผลที่ควรจะทำ รู้คุณค่าที่ทำสำเร็จ รู้ความที่มีประโยชน์และตรงตามพระพุทธประสงค์จึงพูดให้ฟังเฉพาะในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ที่จะอบรมสามเณรในคราวนี้ อบรมให้มีศีล มีมรรยาท อบรมให้มีสมาธิ อบรมให้มีปัญญา และอบรมให้มีพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ดี ในบาลีจะมีเช่นคำว่า ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต อบรมในข้อบัญญัติ ข้อสิกขาบทอย่างดี อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร ก็ต้องอบรมมรรยาทด้วยนะ มรรยาทเลว กระด้าง อย่างป่าเถื่อนแบบนี้ก็ใช้ไม่ได้ ถึงจะไม่ผิดศีล สิกขาบทไหนโดยตรง แต่ถ้ามรรยาทเลวนี้ใช้ไม่ได้
คนเรานะ ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานทั่ว ๆ ไปที่มนุษย์จะต้องมีก็ใช้ไม่ได้เหมือนกันแหละ มันไม่รู้ระเบียบขนมธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอะไรเสียเลย นี่มันก็ ก็ใช้ไม่ได้นั่นแหละ มันเป็นคนไม่รู้เรื่องนะ ยิ่งใช้ไม่ได้ ถ้าฟังให้มันดี ไอ้ถ้าเณรคนไหนมันยังไม่รู้เรื่อง ช่วยอบรมให้มันรู้เรื่อง ให้มันมีศีล ให้มันมีมรรยาท นี้เป็นเบื้องต้น แล้วจึงค่อยมีสมาธิ ค่อยมีจิตใจเข้มแข็ง มีคุณค่ามาก แล้วจึงอบรมให้มีปัญญา คือความรู้ที่ถูกต้อง มันก็จวนจะจบ มีศีล มีมรรยาท มีพื้นฐานของการเป็นคนถูกต้อง นี่อันที่หนึ่ง อันที่สอง มีจิตดี ไม่ใช่ คุ้มดีคุ้มร้าย ไม่ใช่อ่อนแอ ปัญญาอ่อน โลเล เหลาะแหละ เหลวไหล ไม่ใช่ คือไม่เป็นแบบนั้นแหละ คือ จิตดี จิตเข้มแข็ง จิตมีกำลังจิต มีสรรถภาพของจิต จะทำอะไรได้ดี คนที่จิตดีจะไปทำอะไรมันก็ดีแหละ เราต้องอบรมเขาให้เป็นคนมีจิตดี ในที่สุดอบรมให้เขามีปัญญา คือมีความรู้ดี มีความเชื่อถูกต้อง มีความคิดเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิ มันก็เดินผิดทางแหละ ถึงจะมีจิตดี กำลังจิตดี แต่ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิ มันเดินผิดทาง นั่นยิ่งร้าย ยิ่งร้ายไปกว่าจิตไม่ดีแล้ว (นาทีที่ 29.03, ไม่แน่ใจ) เพราะจิตมันแรง ถ้าเดินผิดมันผิดหนัก
นี่เราก็มีอบรมศีล อบรมมรรยาท อบรมทุกอย่าง ให้ได้เกิดขึ้นประจำวัน มากที่สุดในทางเป็นอยู่ด้วยกันและกันทางสังคม ในหมู่คณะกันนี่ก็อบรมเรียกว่าชั้นศีลนะ คราวนี้อบรมในชั้นสมาธิ ฝึกสมาธิ ในเรื่องนี้มันคง มันทำไม่ได้ในระยะสั้น แต่ก็ทำเท่าที่จะทำได้ เลือกสมาธิแบบที่พอใจ ที่น่าพอใจเอามาให้ฝึก ที่จริงมันก็เป็นสมาธิได้ด้วยกันทุกแบบ ถ้าสังเกตเห็นว่าสมาธิแบบไหน แบบอาจารย์ไหน แบบวัดไหน ก็มันพอจะเป็นสมาธิกันได้ทุกแบบแหละ แต่ว่ามันไปไม่รอด หรือมันไม่ไปไกล หรือมันไม่เหมาะสมก็มี แต่ถ้าให้เป็นสมาธิบ้างก็เป็นกันได้ทุกแบบ เลือกเอาเอง เลือกแบบที่มันจะไปได้ไกล ไปถึงปัญญาได้
คือเมื่อมีสมาธิแล้วก็มีปัญญาได้ ถ้าสมาธินั้นเป็นสมาธิแบบที่ถูกต้อง สมาธิแบบที่ถูกต้องย่อมทำให้เกิดปัญญาได้เองมาก มีปัญญาที่ต้องอบรมต้องศึกษา ต้องได้รับการชี้แจงนั้นก็มี เอามาใคร่ครวญ เอามาคำนวณ เอามาทดสอบ ทดลองปัญญามันก็จะมีมากขึ้น ต้องอบรมปัญญา อบรมความเฉลียวฉลาด ให้ความรู้มันถูกต้อง สอบสวนดูว่าความรู้อะไรของเขามันยังรู้ผิด ยังเชื่อผิด ยังเห็นผิด นี่ช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นอันว่าอบรมกันดีครบทั้งศีล ทั้งสมาธิและปัญญา มีหัวข้อ ๓ หัวข้อก็จริง แต่ข้อปลีกย่อยรายละเอียดมีมาก ให้สังเกตให้ดี ๆ ศีลก็ให้สมบูรณ์รอบด้าน สมาธิก็ให้สมบูรณ์รอบด้าน ปัญญาก็ให้สมบูรณ์รอบด้าน พูดเท่านี้ก็คงจะเข้าใจได้แล้วว่าอาจารย์ต้องไม่โง่ อาจารย์ต้องไม่ประมาท อาจารย์ต้องไม่อวดดี อาจารย์จะต้องทำด้วยความละเอียดลออ ประณีตสุขุม และต้องทำด้วยความอดกลั้นอดทนที่สุดแหละ เพราะถ้าโกรธขึ้นมาแล้วมันหาละเอียดลออสุขุมไม่ได้ อาจารย์ต้องเป็นคนไม่รู้จักโกรธแหละ เพราะถ้าโกรธขึ้นมามันก็มืดหมดแหละ มันมืดหมด ทั้งภายนอกภายในมืดหมด แล้วมันก็จะทำไม่ถูก อดกลั้นต่อคนโง่นั่นแหละลำบากที่สุด
คนโง่จะทำให้เกิดปัญหามาก ให้เกิดโทสะได้มากกว่าคนปัญญา พูดง่าย ๆ ว่าลูกศิษย์ที่โง่แหละมันจะทำความลำบากให้อาจารย์มากกว่าลูกศิษย์ที่มันปัญญา เพราะคนโง่มันต้องทำผิดเสมอ แล้วมันยังอวดดี มันยังกระด้าง มันยังจองหอง มันยังดื้อดึง มันยังหลอกลวง นี่ลูกศิษย์ที่โง่ สร้างปัญหาขึ้นมาเป็นเหตุให้อาจารย์ต้องอดกลั้นอดทนมากกว่าลูกศิษย์ที่มันฉลาด ลูกศิษย์ที่มันฉลาด มันไม่ค่อยทำผิด แล้วมันรักตัวนี่ มันซื่อตรงไง มันก็ไม่ต้องสร้างปัญหาให้อาจารย์เดือดเนื้อร้อนใจมาก ทีนี้เรามันจะต้องยอมรับแหละ ลูกศิษย์โง่ ๆ มันจะทำผิด ทำฤทธิ์ ทำอะไร มันต้องยอมอดทนแหละ ฉะนั้นจึงว่าจะต้องอดทนมาก ฝ่ายครู ฝ่ายอาจารย์นี่จะต้องอดทนมาก ฝ่ายลูกศิษย์มันอดทนคำสั่งสอนมันนิดเดียวแหละ ฝ่ายอาจารย์มันต้องอดทนต่อไอ้ผีบ้าที่อยู่ในใจของลูกศิษย์ ที่มันออกมารังควาญเล่นงานเราตลอดเวลา นั่นต้องอดทนมาก อาจารย์มันไม่ใช่ผีบ้านี่ มันสอนดี ๆ ลูกศิษย์ความอดทนน้อย แต่ที่ลูกศิษย์มันแสดงผีบ้าอะไรของมันออกมานี่ มันเหลือกว่าอาจารย์จะอดทนเหมือนกัน
เอาแหละ เป็นอันว่าการงานของเรานี่ต้องสำเร็จด้วยความอดกลั้นอดทนของครูบาอาจารย์ ของบิดามารดากับบุตรก็เหมือนกัน เหมือนกันเลย ไม่มีผิด เป็นแบบเดียวกัน จึงใช้แทนกันได้แหละ ธรรมะของบิดามารดากับบุตร ของครูบาอาจารย์กับศิษย์ นี่มันใช้แทนกันได้ ต้องรักลูกศิษย์เหมือนกับบิดามารดารักบุตรแหละแล้วก็ได้ ถ้าไม่อดกลั้นอดทนแล้วมันก็แยกกันแหละ มันแตกแยกกันแหละ และล้มละลาย
ทีนี้ถ้ามันเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา จะทำอย่างไร ก็บอกว่านึกถึงพระพุทธเจ้าแหละ จะทำอะไรให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนแหละ ตั้งนะโมเสียก่อนก็ได้ ต่อจะค่อยคิด ค่อยนึก ค่อยตัดสิน ค่อยว่า ค่อยอะไรกัน ตั้งนะโมในใจเสียก่อน ตั้งนะโมคือว่ารวบรวมสติสัมปชัญญะให้มาเสียก่อน ให้มาเป็นสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เสียก่อน จึงค่อยคิด ค่อยพูด ค่อยทำ ค่อยสั่ง ค่อยอะไร มันไม่ได้กินเวลานาน (นาทีที่ 36.41, ไม่แน่ใจ) มากจน จนทำไม่ได้ แต่ขอให้คิดเถอะ ขอให้คิดเท่านั้นแหละ แวบนึงก็ยังดีว่ามันมีเหตุผลอย่างไร มีอะไรอย่างไร มีความเหมาะสมอย่างไร มีความถูกต้องอย่างไร นึกเสียก่อน ต่อค่อยจะพูดจะทำลงไป เท่านั้นมันจะทำผิดหมดแหละ (นาทีที่ 37.08, คิดว่าน่าจะเป็น “มันจะทำถูกหมดแหละ”) ไม่มีอะไรจะเหลือ
ธรรมเนียมว่าเราตั้งนะโมก่อน มันถูกทั้งนั้น ก็มีสติสัมปชัญญะถ้าจะใช้คำอื่นก็ได้ คือมีสติ นับสิบ นับหนึ่งถึงสิบเสียก่อนจึงค่อยคิด ค่อยพูด ค่อยทำ ค่อยตัดสินใจ ค่อยออกคำสั่ง ค่อยลงโทษอะไรก็ตาม เราจะต้องตั้งนะโมเสียก่อน จะตี ลูกศิษย์สักที ก็ต้องตั้งนะโมเสียก่อน คือสำรวมสติสัมปชัญญะให้พร้อมให้ดีเสียก่อนจึงจะลงโทษลูกศิษย์สักทีหนึ่ง อย่าพอโกรธแล้วก็เอา โกรธแล้วก็เอา โกรธแล้วก็เอา แล้วมันก็บ้าเองแหละ อาจารย์นั้นบ้าเองแหละไม่ต้องสงสัย เมื่อเกิดกระทบขึ้นมา อย่าทำไปตามอำนาจของโทสะ ของกิเลส ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าให้ดีเสียก่อน บางทีจะต้องเก็บไว้พูดกันวันหลังก็ได้นะ ถ้าวันนี้แรงเกิน แรงเกิน ก็เก็บไว้พูดกันวันหลังเมื่อมันมีจิตใจดี ก็จะพูดกันรู้เรื่อง บางทีอาจจะต้องเก็บไว้หนึ่งสัปดาห์ก็ได้ บางทีจะต้องเก็บไว้ตั้งเดือนก็ได้ เรื่องอื่น ๆ บางทีจะต้องเก็บไว้ตั้งปีหลายปีแล้วค่อยพูดกันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่เรื่องแบบนี้ไม่น่าถึงนั่น ไม่น่าถึงต้องเก็บไว้ตั้งเดือนถึงปี พอจะเข้าใจกันได้ ตัดสินกันได้ วินิจฉัยกันได้ในเวลาหนึ่งนาที สองนาที สามนาที หรือว่า ไม่ถึงชั่วโมง
หนทางที่ว่ามันจะไม่เกิดกระทบ เกิดขัดแย้งกันนี่มันก็มี ใช้วิธี ใช้อุบายที่จะไม่ไห้เกิดความขัดแย้ง คือ ให้ทำด้วยความระมัดระวัง ให้ทำด้วยความเมตตาปราณี ให้ทำด้วยคิดว่าเราเป็นสมณะ เราเป็นสมณะแล้ว เณรนั้นกำลังจะเป็นสมณะเท่านั้น แต่เขาก็ต้องถือหลักสมณะ สมณะไม่ต้องทะเลาะวิวาทกับสมณะ จะพูดว่า ขบ กัดกัน มันก็จะแรงไป แต่ความจริงมันก็อันนั้นแหละ มันคือ ขบ กัดกัน นั่นแหละ อย่าให้มีดีกว่า ให้ถือภาษิต ใครพูดไว้คราวไหนก็ไม่รู้ อดได้คือพระ อดกลั้นได้นั่นคือพระ บางทีว่า แพ้คือพระไอ้ชนะนั้นคือมาร เราว่าอดกลั้นได้แหละคือพระ อดกลั้นไม่ได้คือไม่ใช่พระ คือหมดความเป็นพระ เพราะอดกลั้นไม่ได้
พอเรานึกถึงข้อนี้มันก็บันดาลโทสะไม่ได้ มันจะไม่บันดาลโทสะ ถ้ามันนึกถึงข้อนี้ได้ ว่าเป็นพระหรือไม่เป็นพระมันอยู่กันแค่ไหน ไม่ใช่ว่าฉลาดเฉลียว ต่อให้แสดงปาฏิหาริย์ได้ ก็ไม่ใช่พระถ้ามันไม่ มีความอดกลั้นอดทน แต่อดกลั้นได้นั่นคือพระ มีวิชาความรู้มาก หรือมีฤทธิ์มีเดชมากถ้ามันไม่อดกลั้นอดทนได้ก็ไม่ใช่พระนะ ขอให้ยึดหลักให้ถูกต้องว่าพระนี้ พระนี้ มันคืออย่างไหนกันแน่
ชาวอินเดียเขาออกเสียงตัว ว เป็น พ ทั้งนั้น วะ-ระ ก็ออกเป็น พะ-ระ เขาเอาคำว่าพระมาให้เรา เพราะเขาออกเสียงตัว ว เป็น เป็นตัว พ ทั้งนั้น ถึงจะปัจจุบันนี้ชาวอินเดียเขาจะออกเสียงตัว ว เป็นตัว พ โดยมาก พระ ก็คือ วร วร ก็คือประเสริฐแหละ ประเสริฐตรงไหนก็ไปคิดดูเอง แต่ว่าสรุปความแล้วไม่เกิดเรื่องแหละประเสริฐ ถ้าเกิดเรื่อง เป็นทำเลวแล้ว ก็ไม่ประเสริฐ ไม่ประเสริฐแหละ คือมันเกิดเรื่องไม่ประเสริฐแหละ มันต้องไม่มีความเลว ไม่มีความชั่ว ไม่เกิดเรื่อง ไม่อะไร จึงเรียกว่ามันประเสริฐ ถ้าเณรมันทะเลาะกัน ควรจะชี้แจงด้วยหลักเกณฑ์อันนี้แหละให้มันเข้าใจ ว่ามันหมดแล้วโว้ย มันหมดความเป็นเณรเป็นพระ หมดความเป็นสามเณระ เตรียมสมณะ สามเณระแปลว่าเตรียมสมณะ คือเตรียมตัวสำหรับเป็นสมณะ หมดแล้วโว้ย ไม่มีอะไรเหลือแล้วโว้ย ถ้าเณรมันทะเลาะกัน ถ้ามันขโมยกัน ยิ่งไปกว่านั้นอีก ถ้ามันฆ่ากัน อะไรมากไปกว่านั้นอีกแล้วก็ ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้วโว้ย
เตรียมความคิด ความนึกไว้แก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาในระหว่างที่มีการอบรม ถ้าเคยทำหน้าที่นี้มาหลาย ๆ หนแล้ว คงจะเคยผ่านปัญหานี้มากและแก้ปัญหาได้ องค์นั้นแหละควรจะเล่าให้เพื่อนฟัง ควรจะเปิดเผยให้เพื่อนฟัง ทำการสัมมนา อภิปรายอะไรให้เพื่อนฟัง องค์ที่เคยผ่านมานานแล้ว เราก็ไม่เคยก็รับเอามาพิจารณาใคร่ครวญ เราก็คงทำได้ดีขึ้น ดีขึ้น แต่สู้ผู้ที่ชำนาญไม่ได้ ผู้ที่ชำนาญ ไม่ว่าอะไร ผู้ที่มีแต่เพียงความรู้นั้นสู้ผู้ที่มีความชำนาญด้วยไม่ได้ เอาแต่รู้ยังไม่เก่งเท่ากับว่ามีความชำนาญด้วย ฉะนั้นจึงหวังไว้ในโอกาสหน้า เราจะชำนาญ จะชำนาญขึ้นด้วย พยายามทำเรื่อย ๆ ไป จนกว่าจะเกิดความชำนาญ แล้วควรจะขอความช่วยเหลือกับผู้ที่มีความชำนาญ อย่าอวดดี อย่าจองหอง กลัวจะเสียเหลี่ยม กลัวเราต้องไปขอความรู้ของคนอื่น ความจริงไปขอความชำนาญ ขอทราบความชำนาญ ถึงจะไปขอความรู้ของคนอื่น ก็มันไม่ใช่จะเสียหายอะไร ทุกคนแหละมันก็ต้องเรียนถ่ายทอดกันมาตามลำดับ ขอตรง ๆ ดีกว่าขโมย เงินทองข้าวของก็ดี ขอตรง ๆ ดีกว่าขโมย ไอ้ความรู้นี้ก็เหมือนกันแหละ ขอดี ขอตรง ๆ ดีกว่าขโมย คอยขโมยความรู้ เพื่อจะให้ใคร ๆ ว่านี้มันรู้เองโว้ย มันไม่ได้มีจากใคร นี่ก็มีนะ
ในพระบาลีก็มี เรื่องยาวมากแหละ ว่าเดียรถีย์ภายนอกหรือเดียรถีย์อื่นปลอมบวชเข้ามาในพรหมจรรย์นี้ ในศาสนานี้ เพื่อขโมย เพื่อขโมยเอาความรู้ไปสั่งสอน ไปเผยแพร่ แล้วจะได้เกียรติยศ ชื่อเสียง ได้ลาภสักการะมาก เหมือนพระพุทธเจ้านี่ อันนี้ก็ยังมี แต่พระพุทธเจ้าจะจับได้ แล้วก็จะสั่งสอนอบรมเปลี่ยนแปลงเสียจน จนหายเป็นขโมย จนเลิกเป็นขโมย ก็ให้เป็นคนถูกต้อง ได้บรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนา ให้ไปสึกก็มีทีนี้ (นาทีที่ 47.26, ไม่แน่ใจ) ทีแรกจะมาเพื่อบวชปลอมเข้ามาเพื่อที่จะขโมยความรู้เอาไว้ใช้สร้างตัวเอง ขอตรง ๆ ดีกว่าขโมย สิ่งของ เงินทอง ข้าวของ อย่ายักยอก อย่าขโมย ขอตรง ๆ หรือว่า ความรู้ก็อย่าขโมยเลย ขอตรง ๆ ดีกว่า มันจะได้ชี้แจงกันละเอียดลออ ได้ผลดีกว่า
เราจึงควรประชุมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ความชำนาญด้วยกันเสมอ สมมุติว่า มีหัวหน้าผู้อบรมอยู่ ๓๐ คนอย่างนี้ ประชุมพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดความชำนาญกันให้บ่อย ๆ เรื่องที่เกิดมาแล้วแต่ก่อน เอามาสอนทำให้รู้ให้เข้าใจเสียหมด ไม่ต้องงัวเงียไม่ต้องคว้า ไม่ต้องงมงาย ถ้าประชุมกันแล้วไอ้คนเก่า ๆ มันจะเล่าเรื่องที่เคยผ่านมาแล้วให้คนใหม่ได้ฟัง คนใหม่ก็จะได้ไม่เสียเวลาทำผิด หรือไม่เสียเวลางุ่มง่าม ถ้าว่าตั้งใจจะบำรุงพระศาสนากันแล้วก็ต้องทำกันแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องการค้า ไม่ใช่เรื่องอิจฉา ริษยา ทำลายเอาเปรียบกัน นี่เรามันทำเพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้าทำเพื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษย์