แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : เมื่อวานผมคุยกับท่านฐิตปัญโญ แล้วท่านใช้คำว่าเวทนาสำหรับมีความรู้สึกเวทนาที่อยู่ในร่างกาย แล้ว ก็รู้สึกว่ามีกลัวคือมีความกลัว แล้วก็คล้ายกับเก็บไว้อยู่ในท้องหรือในบริเวณท้อง/ เวทนาที่เรารู้สึกโดยจิตกับร่างกาย เนื่องกันอย่างไรไหม แล้วเวทนานั้นเนื่องกับกิเลสที่เคยสะสมมาก่อน มันเกี่ยวข้องกันไหมครับ/ อาจารย์พอจะเข้าใจไหม ปัญหานี้//
ท่านพุทธทาส: คำถามไม่ชัด//
คำถาม: ถ้าพูดถึงเรื่องสะสมกิเลส มีหลายคนก็เห็นว่า การสะสมมันเนื่องอยู่กับร่างกาย คล้ายกับว่าสะสมกิเลสอยู่ในร่างกายหรือโดยอาศัยร่างกาย พอบางครั้งสิ่งนี้จะออกมาเป็นเวทนา หรือฝรั่งใช้คำว่า feeling มันจะออกมาเป็น feeling แล้วถ้าเราไม่ฉลาด feeling นี้จะปรุงแต่งเป็นกิเลสอีกต่อไป แต่ถ้าเรามีสติ เราก็จะเข้าใจทั้งเวทนานั้นและทั้งกิเลสที่เป็นเหตุของเวทนานั้น การอธิบายอย่างนี้ อาจารย์รู้สึกมีเหตุผลไหมครับ จะเป็นไปได้กับพุทธศาสนาได้ไหมครับ//
ท่านพุทธทาส: เมื่อจะศึกษาเรื่องเวทนา ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท โดยเหตุประเภทหนึ่ง โดยผลประเภทหนึ่ง เวทนาโดยเหตุก็คือเวทนาที่มันเกิดอยู่เป็นประจำเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เกิดมาจากอายตนะกระทบกันเป็นผัสสะแล้วก็เป็นเวทนา เวทนานี้มีอยู่เป็นประจำที่ต้องควบคุม ก็มีข้อปฏิบัติชัดเจนอยู่พวกหนึ่งสำหรับควบคุมเวทนา อย่างที่สอง มีความหมายกว้างกว่านั้น คือเวทนาที่ให้เกิดตัณหาทุกชนิด นี้หมายถึงเวทนาที่ทำให้เกิดการกระทำ เกิดกรรมเป็นต้นทุกชนิด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ให้มันเกิดมาจากเวทนา ฉะนั้นเวทนาเป็นเหตุให้มนุษย์ทำทุกอย่างๆ ที่มนุษย์จะทำ มนุษย์จะรู้จักทำ เวทนาเป็นต้นเหตุให้มนุษย์กระทำทุกอย่างหรือปรุงแต่งทุกอย่าง แยกออกเป็น ๒ เวทนา เวทนาที่มันครอบงำโลกอยู่ โลกเป็นไปตามอำนาจของเวทนา สัตว์โลกมีความคิดจิตใจ ก็ต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำไปตามอำนาจความต้องการเวทนานั้น มันจึงเกิดกรรมทุกชนิดขึ้นมาในโลก เพราะอำนาจของเวทนา มันจึงรู้จักเวทนามีอำนาจถึงขนาดนี้ ต้องควบคุมให้ได้ มี ๒ อย่าง เวทนาโดยเหตุ เกิดอยู่เป็นประจำทางอายตนะเล็กๆ ทุกวันๆ แล้วก็เวทนาที่ครอบโลก ครอบงำโลก พาโลกไปตามอำนาจของเวทนา ล้วนแต่ต้องควบคุมให้ได้ เอาชนะให้ได้ นี้เรียกว่าถ้ารู้จักเวทนาโดยแท้จริง ต้องรู้โดย ๒ ประเภท คือเวทนาโดยความเป็นเหตุ และเวทนาโดยความเป็นผล สุขเวทนาให้เกิดราคานุสัย ทุกขเวทนาให้เกิดปฏิฆานุสัย อทุกขมสุขเวทนาให้เกิดอวิชชานุสัย มีอนุสัยตลอดเวลา ไม่นิพพานก็เพราะอำนาจของเวทนามันหล่อเลี้ยงเอาไว้ รู้จักเวทนาในลักษณะอย่างนี้ ก็จะควบคุมเวทนาได้ทุกอย่าง//
คำถาม : อาจารย์ครับ อย่างไรเป็นเหตุอย่างไร อันที่สองก็ฟังว่าเป็นเหตุเหมือนกัน//
ท่านพุทธทาส: เวทนาเป็นเหตุให้เกิดตัณหา ตัณหาก็เป็นผลของเวทนา นี่เวทนาในฐานะที่เป็นผล เมื่อจะกล่าวให้ศึกษาง่ายๆ ฟังง่ายๆ จำง่ายๆ ก็ขอให้จำไว้สักประโยคหนึ่งว่า ชีวิตทั้งจักรวาลนั้น ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวทนา คือชีวิตนั้นๆ ต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเป็นกามก็ได้ เป็นรูปก็ได้ เป็นอรูปก็ได้ เวทนาเป็นเหตุให้ดิ้นรนไปตามอำนาจของเวทนา บรรดาชีวิตทั้งหลายดิ้นรนไปตามอำนาจของเวทนา การดิ้นรนนั้นเรียกว่าตัณหา มันก็คือสิ่งเดียวกันนั่นแหละ มันต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เวทนาทางรูป ทางนาม ทางอะไรก็ตาม ไม่มีชีวิตไหนที่ไม่ต้องการเวทนาและก็ไม่ดิ้นรนไปตามอำนาจของเวทนา ขอให้มองเห็นว่า ชีวิตทั้งจักรวาลกำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวทนา ดิ้นรนไปตามอำนาจของเวทนา เรียกว่าเวทนาพาสัตว์เหล่านั้นไปก็ได้ คือทำให้ดิ้นรน พอดิ้นรนก็เรียกว่าตัณหา เรียกว่าตัณหาพาสัตว์ทั้งหลายไปก็ได้ ความหมายเหมือนกันแต่เราเรียกชื่อต่างกัน ชีวิตทั้งหมดตกอยู่ใต้อำนาจของเวทนา ต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เคลื่อนไหวไปตามอำนาจของเวทนา ความดิ้นรนนั้นเรียกว่าตัณหา ฉะนั้นชีวิตทั้งหลายขึ้นอยู่กับเวทนา อยู่ภายใต้อำนาจของเวทนาอย่างน่ากลัว
เวทนาทำให้คนเที่ยวไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล ทั่วภพทุกชนิด ฝรั่งเที่ยวรอบโลกก็เพราะมันต้องการเวทนาอย่างโง่ๆ ไม่รู้สึกว่าอะไรเป็นเวทนา คนโง่คิดว่าเวทนาเป็นนิพพาน นิพพานเป็นเวทนา มันก็ต้องการนิพพาน แม้มันมาบวชอย่างนี้ มันก็ต้องการเวทนาที่เร้นลับชนิดหนึ่ง มันจึงมาบวช แล้วมันก็คิดว่าจะได้เวทนานั้นๆ การเคลื่อนไหวทั้งหมดมันเป็นไปตามอำนาจของเวทนา รู้จักเวทนาตัวร้ายไว้อย่างนี้แหละ ทำบาปก็เพราะเวทนา ทำบุญก็เพราะเวทนา ไม่บุญไม่บาปก็เพราะเวทนา แล้วแต่ว่ามันจะกำลังคิดอย่างไร พอใจในเวทนาชนิดไหน นี่เรียกว่าเวทนาให้เกิดตัณหา แล้วตัณหาก็พาให้เกิดการกระทำ กระทำ กระทำ
เด็กๆ อุตส่าห์เรียนหนังสือ ก็เพราะมันก็ต้องการเวทนา ด้วยความฝันอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียนหนังสือเสร็จแล้วก็ทำงาน ทำงานๆ ก็ต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันสมรส มันก็เพื่อต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นพ่อบ้านแม่เรือนอยากรวยอยากสวยอยากมีอำนาจ ก็เพราะมันต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทั่งมันทำบุญทำกุศลก็ต้องการเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง จนกระทั่งมันไม่รู้ว่าจะต้องการเวทนาชนิดไหน ไม่มีขอบเขตสำหรับอวิชชาในเวทนาของปุถุชน พระอริยเจ้าครอบงำอำนาจของเวทนาเสียได้โดยเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมดอำนาจของเวทนา กำจัดอำนาจของเวทนาเสียได้ก็จะนิพพาน ชนะเวทนาได้นั้นคือนิพพาน
อย่างที่กล่าวแล้วว่าชีวิตทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของเวทนา ชีวิตระดับต้นไม้นี้มันก็ต้องการเวทนา ชีวิตระดับสัตว์เดรัจฉานนี้มันก็ต้องการเวทนา ชีวิตระดับเป็นมนุษย์นี้มันก็ต้องการเวทนา ในชีวิตระดับเทวดา ถ้ามันมีนะ มันก็ต้องการเวทนา ดูสิ สัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่ต่ำที่สุด,มีชีวิตตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงสูงสุด มันก็ต้องการเวทนา เวทนามันครอบงำจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตอยู่ เรียกว่ามันใหญ่โตกี่มากน้อย ชนะเวทนาได้ก็คือชนะทั้งหมดชนะทุกสิ่ง ท่านทั้งหลายก็ได้ยินข้อความนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เข้าใจ เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาก็ให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็ให้เกิดความทุกข์ นี่เราเนื่องกันอยู่กับเวทนาอย่างที่แยกกันไม่ออก ชนะเวทนาได้ ก็ชนะตัณหาได้ ชนะอุปาทานได้ ชนะความทุกข์ได้ จงรู้จักเวทนาในลักษณะอย่างนี้
เวทนานั่นแหละทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว-selfishness ความเห็นแก่ตัวเกิดมาจากเวทนา แล้วก็ได้ทำกรรมทุกชนิดแหละ กุศลกรรม อกุศลกรรม อัพยากตกรรม ทำกรรมทุกชนิด เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำให้ตัวเองลำบากเป็นทุกข์ แล้วก็ทำให้ผู้อื่นลำบากและเป็นทุกข์ มันมาจากเวทนา โง่,โง่ต่อเวทนา ไม่รู้จักเวทนา มันก็หลงใหลไปตามเวทนา มันก็เห็นแก่ตัว ปัญหาในโลกทั้งโลกทั้งจักรวาลนี้มันมาจากความเห็นแก่ตัว เรารบราฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาเศรษฐกิจไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะว่ามันโง่ต่อเวทนา
เวทนาในแง่บวกคือ positive ก็เห็นแก่ตัวชนิดหนึ่ง เวทนาในแง่ลบคือ negative ก็เห็นแก่ตัวอีกชนิดหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้วก็ทำให้เห็นแก่ตัวแม้จะตรงกันข้าม ฉะนั้นเราจึงได้เห็นว่า ผัวรักเมีย แล้วผัวก็ฆ่าเมีย เมียก็ฆ่าผัว พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ แต่แล้วก็มีลูกที่ฆ่าพ่อแม่ มีพ่อแม่ที่ฆ่าลูก ความหลอกหลอนของเวทนาเป็นปัญหาตลอดเวลาของคนที่โง่ต่อเวทนา ไม่รู้จักเวทนา ขอให้พวกเราทั้งหลายทุกคนรู้จักเวทนาเสียให้ดีๆ ให้หมดจดให้ครบถ้วน ก็จะดับทุกข์ได้ เวทนาทำให้เป็นมิตรเป็นเพื่อนกันก็ได้ เวทนาทำให้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็ได้ ขอให้รู้จักเวทนาไว้ให้ดีๆ
นี้คือเวทนาโดยเหตุ-เวทนาโดยผล ที่กล่าวมาแล้ว//
คำถาม : ถามเรื่องระหว่างปฏิจจสมุปบาทกับสติปัฏฐาน ๔/ วงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาทเราสามารถหักมันได้ ถ้าเราทำกายานุปัสสนา จะทำให้ปฏิจจสมุปบาทหักลงอย่างไร ถ้าเราทำเวทนานุปัสสนาจะหักหรือจะตัดกระแสของปฏิจจสมุปบาทตรงไหน แล้วจิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา จะตัดมันที่ไหนครับ//
ท่านพุทธทาส : ถ้าเราสามารถมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ตั้งแต่จุดตั้งต้นเลย ควบคุมอายตนะทั้งหกได้ ควบคุมผัสสะก็ได้ ควบคุมเวทนาก็ได้ ควบคุมตัณหาก็ได้ กระทั่งว่าควบคุมอุปาทาน ขอให้มีสติปัฏฐานโดยแท้จริงเถิด//
คำถาม : แล้วกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะสามารถควบคุมอย่างไร//
ท่านพุทธทาส : สติปัฏฐานมันรวมทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต และทั้งธรรม แต่ที่จะมีประโยชน์มากที่สุดในหมู่มนุษย์นี้ก็คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ควบคุมเวทนาได้ อย่าให้มาเป็นนายของเรา//
คำถาม : อยากจะถามว่า กายานุปัสสนา มันเกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุปปบาทอย่างไร//
ท่านพุทธทาส : ถ้าเรามีกายานุปัสสนา เราควบคุมอายตนะได้ เราควบคุมอายตนะทั้งหกไม่ให้หลอกลวงได้//
คำถาม : แล้วจิตตานุปัสสนา ล่ะครับ//
ท่านพุทธทาส : จิตก็ควบคุมจิตได้ ยิ่งควบคุมเวทนาลึกเข้าไปอีก// ธัมมานุปัสสนา ควบคุมทุกอย่างที่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ก็เท่ากับควบคุมอุปาทานได้ ควบคุมเวทนาหมดสิ้นเชิง ธรรมะหรือธรรมชาติทุกอย่างมันมีเป็นสองแง่ คือแง่บวกและแง่ลบ ถ้าเรามีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ควบคุมได้หมดทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ มันจึงไม่เกิดอุปาทานในลักษณะใดๆ ก็หมดปัญหา//
คำถาม : ฟังแล้วคล้ายกับว่าจะแยกสติปัฏฐาน ๔ ออกจากกันไม่ได้ใช่ไหมครับ ต้องมีทั้งสี่หรือไม่//
ท่านพุทธทาส : ไม่จำเป็นจะต้องไปแยกหรอก ก็ใช้มันให้ถูกตามเรื่องว่าควรใช้สติปัฏฐานอันไหน แต่ว่ามันเนื่องกันอยู่โดยธรรมชาติ สติปัฏฐาน ๔ นี้มันเนื่องกันอยู่โดยธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นสติปัฏฐานด้วยกันทั้งสี่ จำให้ง่ายๆ ที่สุด ก็จำสั้นๆ ว่า สติมันควบคุมเวทนา ซ้อมคำพูดว่า สติมันควบคุมเวทนา เวทนามีกี่อย่างๆ สติมันก็มีครบทุกอย่างสำหรับควบคุมเวทนา สติควบคุมเวทนา ฉะนั้นขอให้มีสติ//
คำถาม : ถามว่า ตัวหลักของคณิตศาสตร์หรือตัวตนของคณิตศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่ตายตัวในธรรมชาติ ที่เราต้องเนื่องอยู่ เนื่องกันอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นสิ่งที่เราจะหลุดพ้นได้//
ท่านพุทธทาส : ตัวตนของคณิตศาสตร์//
คำถาม : ครับ,มันแปลยากครับ มันคล้ายกับว่า สิ่งที่คณิตศาสตร์พูดถึง มีตัวมีตนไหม หรือมันมีแต่เป็นสิ่งในสมองของคน//
ท่านพุทธทาส : คณิตศาสตร์ mathematics นั่นแหละโง่ก็มี คณิตศาสตร์ทำให้เกิดตัวตนโง่ก็มี ลัทธิสางขยะในอินเดียก็เป็นคณิตศาสตร์ พวกสางขยะก็มีตัวตนตามแบบสางขยะ ก็เรียกว่าคณิตศาสตร์โง่ ทำให้มีตัวตนตามแบบเหตุผลของคณิตศาสตร์ ก็ได้เหมือนกัน เราก็ใช้คณิตศาสตร์ที่ฉลาดกำจัดคณิตศาสตร์โง่ ตัวตนก็หมดเหมือนกัน คณิตศาสตร์ที่เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาแล้วไม่รู้ คณิตศาสตร์นี้ก็นำไปสู่มีผลเป็นตัวตนได้โดยเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เดการ์ต(Descartes,Rene)ว่า ฉันคิดได้ ดังนั้นฉันจึงมีตัวตน cogito ergo sum,ฉันคิดได้ ดังนั้นฉันจึงมีตัวตน นี้มันก็แบบคณิตศาสตร์อวิชชา//
คำถาม : จะถามเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ อีกที/ เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ เราจะสามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันสักแค่ไหนครับ หรือจะเป็นสิ่งที่ทำได้เต็มที่ในชีวิตประจำวัน หรือต้องปฏิบัติตามระบบ เช่นอานาปานสติ หรือต้องมีสมาธิระดับไหน ถึงจะปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้เรียบร้อย//
ท่านพุทธทาส : พระพุทธเจ้าท่านตรัสแยกไว้ให้เป็น ๔ อย่าง เพื่อให้มันง่าย ให้มันง่ายแก่การศึกษาและการปฏิบัติ ออกเป็น ๔ อย่าง ตั้งแต่ว่าต่ำคือกาย สูงขึ้นไปเป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม กรณีไหนควรจะจัดการด้วยสติปัฏฐานอันไหนก็ใช้อันนั้น ฉะนั้นทำให้ครบไว้ทั้ง ๔ อย่าง แต่ถ้าเอาเพียงอย่างเดียวก็ว่า มันไม่ใช่ตัวตนเท่านั้นแหละ อย่างเดียวๆ ก็มันไม่ใช่ตัวตน แต่ทีนี้ถ้าเรื่องมันละเอียด ก็ทำให้ออกเป็น ๔ อย่าง เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม มันเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน มีสติระลึกอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่โง่ในขณะแห่งเวทนา ไม่หลงในเวทนาแล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์ ๔ อย่างนี้เพื่อสะดวกแก่การศึกษา เหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราเห็นกันอยู่ง่ายๆ นั้น แยกออกเป็นอย่างๆ แล้วมันก็ศึกษาง่าย จัดการง่าย ควบคุมกันหลายๆ อย่างเข้ามาเป็นอย่างหนึ่ง มันก็สำเร็จประโยชน์ได้ แต่เราต้องรู้จักแยกออกเป็นอย่างๆ ทุกระบบ และทุกระบบมารวมกันเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ นี่ง่ายแก่การศึกษา ง่ายแก่การประดิษฐ์ขึ้นมา ง่ายแก่การใช้สอยการควบคุม ถ้าเรารู้จักแยกเป็นอย่างๆ
มันก็มีความลับอยู่นิดหนึ่ง คือมันช่วยส่งเสริมให้ง่ายเข้า การรู้จักกายานุปัสสนาก็ส่งเสริมให้รู้จักเวทนานุปัสสนาได้ง่ายเข้า รู้จักเวทนานุปัสสนาก็ส่งเสริมให้รู้จักจิตตานุปัสสนาได้ง่ายเข้า รู้จักจิตตานุปัสสนาก็ส่งเสริมให้รู้จักธัมมานุปัสสนาได้ง่ายเข้า นี้มันมีการส่งเสริมอยู่ในตัว ให้เกิดความง่ายในการที่จะศึกษาไปตามลำดับ เราก็ต้องรู้จักถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ด้วย//
คำถาม : อาจารย์ครับ ที่คนนั้นถามเรื่องสติปัฏฐานนี้ จะต้องนั่งสมาธิเป็นแบบแผนเป็นระบบ จำเป็นไหม หรือจะเอาอย่างไรก็ได้//
ท่านพุทธทาส : ถามว่าอย่างไร ถามว่าจะต้องนั่งหรือ//
คำถาม : ครับ, ถ้าจะศึกษาสติปัฏฐาน ๔ ให้ครบบริบูรณ์ จำเป็นที่จะต้องนั่งสมาธิตามระบบระเบียบที่มีอยู่ไหม//
ท่านพุทธทาส : นั้นเขาทำไว้ดีที่สุดแล้ว มันง่าย ถ้าเราจะค้นเอาเองมันก็ได้ แต่ว่าสติปัฏฐานต้องทำทุกอิริยาบถ ทั้งเดิน ทั้งยืน ทั้งนั่ง ทั้งนอน ต้องมีทั้งสี่อิริยาบถ//
คำถาม : ที่อาจารย์ว่าเขาทำไว้ดีที่สุดแล้ว หมายถึงอะไร//
ท่านพุทธทาส : ๔ อย่าง แยกไว้ให้ดีที่สุดแล้ว ก็ใช้ปฏิบัติ ทั้งยืน ทั้งเดิน ทั้งนั่ง ทั้งนอน เราก็มีหลักว่าทุกครั้งที่หายใจ แล้วจะมีปัญหาอะไรอีกล่ะ ทุกครั้งที่หายใจ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทุกครั้งที่หายใจ มีสติปัฏฐาน//
คำถาม : ในกระแสของปฏิจจสมุปบาท สัญญาจะเกี่ยวข้องอย่างไร หรือจะมีบทบาทอย่างไรครับ//
ท่านพุทธทาส : รวมอยู่ที่เวทนา ถ้าไม่ได้ออกชื่อสัญญา สัญญาในปฏิจจสมุปบาท มันก็รวมอยู่ที่เวทนา เพราะมีเวทนาแล้วก็จะสำคัญมั่นหมาย จะรวมอยู่ที่เวทนา มีสัญญา มีสัญญเจตนา แล้วจึงจะมีตัณหา มีอุปาทานต่อไป หลังจากเวทนา จะมีสัญญา มีสัญญเจตนา เมื่อมีเวทนาแล้ว มันจะเกิดสัญญาต่อเวทนานั้นแหละขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แล้วมันจะมีสัญญเจตนาคือเจตนาที่จะทำตามอำนาจของสัญญานั้นต่อไปอีกโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงก็เป็นอันว่ามีรวมอยู่ในคำว่าเวทนา
ถ้าพูดให้ละเอียดต่อไปอีก พอมีเวทนา มันก็จะมีมโนวิญญาณต่อเวทนานั้น มโนวิญญาณ-วิญญาณโดยทางมโนต่อเวทนานั้น มันจึงเกิดมีสัญญา สัญญเจตนาต่อไปอีก แต่เขาไม่ได้พูดถึงวิญญาณที่ตรงนี้กันอีก แต่โดยแท้จริงนั้นมันมี โดยพฤตินัยมันมี แต่เวลาพูดเราก็ไม่ได้พูด หรือพระพุทธเจ้าเองท่านก็ว่าไม่ต้องพูด พูดเวทนาแล้วก็ตัณหาอุปาทานไปเลย เรามีความหวังในเวทนาตามที่เราพอใจอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่รู้สึกตัว เราก็มีความระแวงว่าเราจะผิดหวังอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้สึกตัว เรื่องของเวทนามันมากถึงขนาดนั้น เราหวังในเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งตามความรู้สึกคิดนึกของเรา เป็น sub-conscious อยู่โดยไม่รู้สึกตัว หวังในเวทนาชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่เราชอบเราหวังอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ที่เราหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้,ภวะๆ นั้น มันก็เพื่อต้องการเวทนาที่ยิ่งขึ้นไปนั่นเอง สัตว์ประเภทกามาวจรก็ต้องการเวทนาแบบกามาวจร สัตว์ประเภทรูปาวจรมันก็ต้องการเวทนาแบบรูปาวจร อรูปาวจรก็ต้องการเวทนาแบบอรูปาวจร ต่อเมื่อมันสิ้นสุดแห่งเวทนานั้นมันจึงจะนิพพาน
ระวังให้ดี ที่เรามาบวชๆ กันนี้ กลัวว่ามันจะกลายเป็นต้องการเวทนาชนิดใดชนิดหนึ่งที่ดีกว่ายิ่งขึ้นไป ไม่ได้บวชเพื่อจะกำจัดเวทนา ระวังให้ดี มันจะบวชเพื่อต้องการเวทนา มันจะไม่บวชเพื่อกำจัดเวทนา ระวังให้ดี เราจงพยายามบอกเพื่อนมนุษย์ของเราทุกคนให้พยายามเอาชนะเวทนา,เอาชนะเวทนา อย่าให้เป็นทาสของเวทนา นั่นแหละคือพุทธศาสนาที่ต้องปฏิบัติ