แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิก กัลยาณมิตร และท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งที่แล้วมา ....นี่ ไม่ดังเหรอ
(เสียงผู้บรรยายแปล) ครับ ผมยังไม่พูด
การบรรยายครั้งที่แล้วมา เราได้พูดกัน ๓ เรื่อง คือ เรื่องธรรมะ เรื่องศาสนา และเรื่องพุทธ ในวันนี้ก็ รวมทั้ง ๓ เรื่องนั้นเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน เรียกว่าเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อเราพูดถึงเรื่องธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ กฎของปฏิจจสมุปบาท ก็คือเรื่องธรรมชาติอย่างยิ่ง เมื่อเราพูดถึงศาสนา พระพุทธศาสนาเราก็สอนเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติในทุกความหมาย แล้วเมื่อพูดถึง พระพุทธเจ้าก็มีคำตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นฉัน” อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น ๓ เรื่องมันจึงเป็นเรื่องเดียวกันแหละ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
จากคำที่ตรัสว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นฉัน นี่เราจะต้องเข้าใจความหมาย ให้ชัดเจนว่า สิ่งหรือบุคคลที่แสดงปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละ องค์พระพุทธเจ้า แล้วก็ ตัวกฎนั่นเอง ก็คือองค์พระพุทธเจ้า ใน ในฐานะที่เป็นกฎ เราจึงมีพระพุทธเจ้าใน ๒ ความหมาย ถ้าเป็นตัวกฎ พระองค์หนึ่ง เป็นตัวผู้บอกซึ่งกฎ อย่างหนึ่ง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราจะพูดเสียใหม่ก็ได้ว่า เราจะเห็นพระพุทธเจ้า ในทุกสิ่งที่แสดงปฏิจจสมุปบาทแก่เรา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ถ้าสิ่งที่แสดงปฏิจจสมุปบาทมีอยู่ทั่วโลกในที่ทุกหนทุกแห่ง ก็จะกล่าวได้เหมือนกันว่า พระพุทธเจ้า ก็มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ที่พร้อมที่จะแสดงปฏิจจสมุปบาทให้แก่เรา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
พวกเซน เขาก็พูดอย่างหยาบคาย ว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่แม้ในกองขี้หมา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ฟังดูก็น่าสนใจว่า แม้ในกองขี้หมา เราก็อาจจะเห็นอิทัปปัจจยตาเห็นปฏิจจสมุปบาทได้ ในความหมาย หนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เราก็จะโกรธว่าเขาพูดหยาบคายต่อพระพุทธเจ้า
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เรามาทำความเข้าใจกันอย่างกว้างๆ หรือประนีประนอมว่า เราอาจจะเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกแห่ง เราอาจจะเห็นปฏิจจสมุปบาทได้ทุกแห่ง เราจะเห็นธรรมะได้ทุกแห่ง ไม่ยกเว้นที่ไหน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องทุกข์กับความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์เท่านั้น”
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และเรื่องความทุกข์กับดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นั่นมันคือเรื่องของปฏิจจสมุปบาทโดยตรง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และก็เป็นเรื่องพระศาสนา เป็นตัวพระศาสนาด้วย
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และทั้งหมดนั้น เป็นเรื่อง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติด้วย
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ดังนั้นเรื่องธรรมะก็ดี เรื่องศาสนาก็ดี เรื่องพุทธก็ดี เป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้ก็มาดูกันถึงเรื่องที่เรา ไอ้ที่สมมุติว่า เราๆนี่น่ะ เกี่ยวข้องกันกับปฏิจจสมุปบาทอย่างไรกันโดยละเอียด
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราก็ดูทุกๆ ทุกๆอณู ทุกๆส่วน ทุกๆอณูธาตุ Particle ทุกส่วนของเราเนี่ย มันเป็นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ทั้งนั้น ไม่ยกเว้น
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราจึงพูดได้ว่า ร่างกายทั้งหมดนี้ มันก็คือ ปฏิจจสมุปบาท หรือเต็มไปด้วยอาการของปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และเพราะว่ามันเต็มไปด้วย การปรุงแต่งของความทุกข์ หรือที่เรียกว่า สังขาร สัง- ขา-ระ หรือสังขาร แปลว่าการปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง หรือผู้ปรุงแต่ง นี่ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ใน ในร่างกายของเรา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ส่วนที่เป็นไปตามธรรมชาติยังไม่เกี่ยวกับทุกข์ เราก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ส่วนที่เป็นไปเพื่อทุกข์ โดยตรง ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แต่อย่าลืมว่า ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าเราใช้คำ ๒ คำนี้สับสนหรือแทนกันอยู่เสมอ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราจึงพูดได้ว่า มีอิทัปปัจจยตาหรือมีปฏิจจสมุปบาทอยู่ตลอดเวลา ในชีวิตของเรา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ส่วนที่มันงอกขึ้นมาหรือเจริญขึ้นมา มันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของมัน ก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา แต่ส่วนที่มันทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราจึงกล่าวได้ว่า อาการของอิทัปปัจจยตานี่ มีอยู่ทุกขุมขน ทุกขุมขน ทุกเส้นขน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้ก็จะมาดู ค่าหรือความหมาย เอ่อ, ของสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ข้อแรกซึ่งเป็นข้อสำคัญ ว่าเราติดบ่วงอยู่ใน วัฏฏะ วัฏฏะ เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท เรามีกิเลส เราทำ กรรม เรารับผลกรรม เรามีกิเลส เราทำกรรม เรารับผลกรรม อย่างนี้ตลอดเวลา เพราะว่าเราไม่รู้ ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แม้เราจะกล่าวอย่างทั่วๆไป หรือตามแบบฮินดู วัฏฏะ ก็คือเกิดมา แล้วก็ตายเข้าโลง แล้วก็เกิดมาอีก เกิดมาแล้วก็ตายเข้าโลง แล้วก็เกิดมาอีก จะพูดวัฏฏะกันอย่างนี้ก็ได้ มันก็เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และข้อต่อไปว่า เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท จิตนี้มันยุ่ง เหมือนกับด้ายยุ่ง คือด้ายที่ ที่ไม่ ไม่มีการจัดอย่าง เป็นระเบียบน่ะ หรือเป็นเศษด้าย เอามา เอามาจับกลุ่มรวมกันเข้าเป็นกลุ่มด้ายอย่างนี้ มันเรียกว่า ด้ายยุ่ง ยุ่งอย่างมากๆ จิตยุ่งเหมือนกับด้าย ด้ายยุ่ง เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
และท่านเปรียบด้วยคำเปรียบอีก อีกคำหนึ่งก็ว่า จิตยุ่งเหมือน เอ่อ, เซิงหญ้า มุญชะ หญ้าปัพพชะ คือเป็นหญ้า เถาวัลย์ชนิดหนึ่งซึ่งมันยุ่ง จนเหลือที่จะจับว่าตรงไหนเป็นต้นตรงไหนเป็นปลาย ไอ้มุญชะหรือปัพพชะนี่เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ดูว่าหญ้าชนิดหนึ่ง เรียก แถวนี้เรียกว่า หญ้าลิเภา เอาไปสานเป็นเครื่อง ไอ้, เป็นกระเป๋า ดีมาก แพงมาก งามมาก หญ้านี่ ยุ่ง ยุ่ง ยุ่งอย่างที่เรียกว่า ดูว่าตรงไหนต้นตรงไหนปลาย สมมุติเอาทีว่าเหมือนกับหญ้านี้ มุญชะ หรือ ปัพพชะ จิตยุ่งเหมือนหญ้านี้ เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ไอ้หญ้านี้ ก่อนนี้ที่วัดเราก็มีมาก เดี๋ยวนี้เขาเอาไปหมดแล้ว เอาไปใช้ประโยชน์กันหมดแล้ว
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้ก็ดูต่อไป เพราะว่าไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท อืม, ก็ไม่รู้พระพุทธเจ้าองค์นิรันดร ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” น่ะ เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท จึงไม่เห็น พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คือพระองค์นิรันดร นอกประวัติศาสตร์ ไม่ประสูติ ไม่ตรัสรู้ ไม่นิพพาน มีอยู่ตลอดกาล องค์ที่สำคัญมาก เราไม่รู้จักเพราะเราไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวว่า เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ก็ไม่รู้พุทธศาสนา ไม่รู้จักพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องทุกข์ กับเรื่องดับทุกข์ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เรื่องทุกข์กับดับทุกข์นี่ เราเรียกกันอย่างสั้นๆ ถ้าเรียกกันอย่างสั้นๆ เรียกว่าเรื่อง อริยสัจ ถ้าเรียกกัน อย่างเต็มที่ อย่างกว้างขวางเต็มที่ เราก็เรียกว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราอาจจะเรียกได้อย่างถูกต้องว่า เรื่องอริยสัจธรรมดาๆนี่เราเรียกว่า อริยสัจเล็ก เรื่องปฏิจจสมุปบาท นั้น เราเรียกเรื่องว่า อ่า, เรียกว่า อริยสัจใหญ่ เรามีอริยสัจใหญ่และอริยสัจเล็ก แต่ก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องดับทุกข์ด้วยกัน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ถ้าเราพูดถึงกันเพียง ๔ ประเด็น เราเรียกว่าเรื่อง อริยสัจ ๔ แต่ถ้าเรามาพูดกันถึงเรื่อง ขาเกิด ๑๒ ประเด็น ขาดับ ๑๒ ประเด็น เป็น ๒๔ ประเด็นอย่างนี้ เราก็เรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่แท้มันก็เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ละเอียดหรือหยาบ ว่าหยาบๆหรือว่าละเอียดกว่ากันเท่านั้นเอง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
จะพูดอีกอย่างหนึ่งให้กินความกว้างทั่วๆไปว่า เพราะไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทหรือกฎของปฏิจจสมุปบาท เราก็ไม่รู้จักพระเจ้า พระเจ้า พระเป็นเจ้า ที่มีอยู่ในทุกๆปรมาณูของสากลจักรวาล ทุกปรมาณูของสากลจักรวาล มีพระเจ้าองค์นี้สิงสถิตอยู่
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ทั้งหมดนี้คือความหมายและคุณค่าของเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ควรจะศึกษา เพื่อการดับทุกข์ของเราโดยเฉพาะ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ต่อไปนี้ก็จะดูกันที่ ลักษณะ ลักษณะของปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
พระอานนท์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เท่าที่ข้าพระองค์รู้สึก รู้สึกในใจนี่ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่อง ลึกพอประมาณ ไม่ ไม่ลึกซึ้งอะไร ลึกพอประมาณ ยา วะ คำ พี โร (29.27) นี่ มันลึกพอประมาณ พระพุทธเจ้าท่าน โอ้, อย่าพูดอย่างนั้น แกอย่าพูดอย่างนั้น เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ลึกที่สุด ลึกถึงที่สุด ลึกจนไม่รู้จะลึกกันอย่างไร มันมีลักษณะลึกอย่างนี้
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ลึกเหลือประมาณ นี่คือเข้าใจได้ยาก คือละเอียด ละเอียดแล้วก็ซับซ้อน และก็เกี่ยวพันกันกับเรื่องอื่นๆ ลึกเหลือประมาณ แต่ก็ว่า ไม่ใช่จะลึกจนเข้าใจไม่ได้ ลึกเท่าไรก็ยังพอเข้าใจได้ ทุกคนจึงควรพยายามเข้าใจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
มันก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เอง ที่พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ท่านคิดว่าไอ้เรื่องที่ตรัสรู้นี้ มันลึกเกินไป ไม่มีใครเข้าใจได้ สอนก็เหนื่อยเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร แล้วก็คิดว่าจะไม่สอน แต่ประเดี๋ยว ท่านก็คิดได้ว่า โอ้, มันจะมีซักสองสามคน มีคนบางคนที่อาจจะรู้ได้ ถ้าเราไม่สอน คนเหล่านี้ก็จะเสียประโยชน์ไป เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าจะสอน ขอให้พวกเราทุกคนเหล่านี้ อยู่ในจำนวนคนบางคนที่พอจะเข้าใจได้ จะได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทกับเรา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่อาจจะศึกษาได้โดยลำพังการฟังจากผู้อื่น ฟังจากผู้อื่น ปรโตโฆษะ การโฆษณาของผู้อื่น เช่น การอ่านหนังสือ การพูด การ การ แม้แต่ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ก็ยังเรียกว่า ฟังจากผู้อื่น ไม่อาจจะสำเร็จได้โดยการฟังจากผู้อื่นอย่างนี้
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ข้อนี้หมายความว่า ต้องศึกษาจากตัวเอง จากตัวชีวิตเอง จากตัวชีวิตของเราเอง แม้ว่าเราจะต้องฟัง จากผู้อื่นเพราะว่าเราไม่รู้ในทีแรก แล้วก็ต้องเอามาทำให้มันเป็นเรื่องตัวเอง เป็นเรื่องชีวิตของตัวเอง เรียกว่าทำ โยนิโสมนสิการ และก็ทำ ปัญญาวิปัสสนา ให้เกิดขึ้น นี่จึงจะสามารถรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
กล่าวให้ชัดอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องกล่าวว่า เราจะต้องศึกษามันอย่างวิทยาศาสตร์ อย่าศึกษามันอย่าง Philosophy อย่างวิทยาศาสตร์ก็คือ ไม่ต้องมีการคำนวณ ไม่ต้องมี Speculation ในแบบใดๆ เราจะมองลงไป โดยตรง โดยตรงที่ ไอ้, ตัวทุกข์ เอาตัวความทุกข์มาเป็นวัตถุของการศึกษา อย่ามี Hypothesis ใดๆ มาใช้แทน ถ้าอย่างนั้นมันเป็น Philosophy แล้วไม่อาจจะรู้จักปฏิจจสมุปบาทเลย นี่เป็น เป็นหลักการที่ว่า เราจะต้อง ศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างวิทยาศาสตร์ อย่าศึกษาอย่าง Philosophy เป็นต้น ซึ่งคนเขาชอบศึกษากันมาก
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แต่ว่าถ้าใครอยากจะศึกษาปฏิจจสมุปบาท อย่าง Philosophy ก็ได้เหมือนกัน แล้วเขาก็รู้อย่าง Philosophy รู้พุทธศาสนาอย่างเป็น Philosophy มันดับทุกข์ไม่ได้ มันดับทุกข์ไม่ได้ มันป่วยการ มันได้แต่ Philosophy พูดกันไม่รู้จักจบ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แต่ความจริงข้อนี้ มันก็เนื่องเข้ามาในขอบเขตของเรา ที่จะศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างธรรมะ หรือวิทยาศาสตร์ด้วยเหมือนกัน คือตลอดเวลาที่เรายังดับทุกข์ไม่ได้ ยังไม่เห็นจริง โดยเกิดจากว่าดับทุกข์ได้ด้วย เหตุนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็มีลักษณะเป็น Philosophy แก่เราอยู่ไม่น้อย จนกว่าเมื่อใดเราดับทุกข์ได้ ตามวิธีนั้นๆ ปฏิจจสมุปบาทจึงจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับเรา สำหรับพระอรหันต์แล้วก็ ปฏิจจสมุปบาทเป็น วิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัว แต่กับพวกเราปุถุชนนี่ มันก็เป็น Philosophy ไปบ้าง เป็นไปก่อน จนกว่าจะดับทุกข์ได้
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อเราจะสอนปฏิจจสมุปบาทแก่เด็กๆ ก็ได้ แล้วเราจะเห็นได้ว่า ในการสอนนั้นน่ะ เป็นวิธีการอย่าง วิทยาศาสตร์ ซึ่งเราจะลองดู
/เสียงภาษาอังกฤษ/ 42.19
เราบอกให้เขาดู เห็น เข้าใจ ตามลำดับ ลำดับ ว่ามีดวงอาทิตย์ เพราะมีดวงอาทิตย์ น้ำในโลกนี้ก็ระเหย ระเหยขึ้นไป พอน้ำระเหยๆขึ้นไป มันก็มีเมฆ เพราะมีเมฆมากพอ ฝนมันก็ตกลงมา พอฝนตกลงมา ทางเดินของเราก็เปียก พอทางเดินของเราเปียก แกก็ลื่น แกก็หกล้ม แกก็หกล้ม แกก็หัวแตก แกก็หัวเจ็บ เจ็บแผลหัวแตก แกก็ต้องไปหาหมอ หมอก็พยายามรักษากันให้แผลของแกหาย แล้วแกก็หายเจ็บ นี่อาการทั้งหมดนี้ มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ เรียกว่าอาการของปฏิจจสมุปบาท จะสอนได้แม้แก่เด็กเล็กๆ ให้เข้าใจหลักการของปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราอาจจะสอนให้แก่ชาวนา เขาทำนาไม่ดี หรือว่าเนื่องมาจากฝนไม่ตก ไม่มีน้ำจะทำนา ก็ได้ หรือว่า แกทำนาไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ได้ แกก็ไม่ได้ข้าวเปลือก แกก็อดอาหาร ถ้าทำนาถูกต้อง ผลก็ดี แกก็ได้ข้าวเปลือก แกก็ไม่อดอาหาร อย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทง่ายๆของชาวนา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
หรือว่ามองดูกันในพวกเราเอง เป็นพระเป็นเณร เราไม่มีความอดกลั้น อดทน เราไม่มี หิริ ไม่มี โอตตัปปะ ไม่ศึกษาดี ไม่มีความรู้ดี แล้วก็มีแต่จะทำผิด ทำไม่ดี มากขึ้น มากขึ้น ในที่สุดก็ต้องลาสิกขาไป นี่ก็เป็น ปฏิจจสมุปบาท ได้เหมือนกัน และควรระวังอย่างยิ่ง ใกล้ตัวที่สุด
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้ เราก็จะได้พิจารณากันถึงตัวปฏิจจสมุปบาท Formula ของตัวปฏิจจสมุปบาท ว่ามีอยู่อย่างไร
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านรู้สึกว่านั่งอยู่คนเดียว นั่งอยู่องค์เดียว ท่านก็สาธยาย สาธยาย คือกล่าว ปฏิจจสมุปบาท ขึ้นมาว่า...
นาที 49:10 – 49.44 เป็นบทสวดมนต์
...นี่ ท่านว่า ทำนอง เอ่อ, สบายพระทัยที่สุด ใจความว่า เพราะอาศัย อ่า, เพราะตากับรูป มาถึงกันเข้า ก็เกิดจักษุวิญญาณ และเพราะ ๓ ประการนี้ คือ ตา กับ รูป จักษุวิญญาณ ถึงกันอยู่นี่เรียกว่า ผัสสะ มีผัสสะ เป็นปัจจัย ก็เกิดเวทนา มีเวทนาเป็นปัจจัยก็เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยก็เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัย ก็เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยก็เกิดชรามรณะ และกองทุกข์ทั้งปวง นี่เป็นปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสาธยาย ในบางคราวบางโอกาสด้วยพระองค์เอง แก่พระองค์เอง ลำพังพระองค์ องค์เดียว นี่ปฏิจจสมุปบาท ที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด
/เสียงภาษาอังกฤษ/
(แทรกขึ้นว่า) Not in the forest in the กุฏิ…
(เสียงผู้บรรยายแปล) หา เหรอ อ่า…
/เสียงภาษาอังกฤษ/
(แทรกขึ้นว่า) อุปัชชติ วิญญาณัง… บาลีนี้ไม่ต้อง เอาแต่คำแปลนะ… มันยาว
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อท่านสาธยาย Recite ทางตา เรื่องทางตาหมดแล้ว ท่านก็สาธยายเรื่องทางหู ทางหูหมดแล้ว ก็ทางจมูก แล้วก็ทางลิ้น แล้วก็ทางผิวหนัง แล้วก็ทางใจ จนครบทั้ง ๖ หมวดเลย
/เสียงภาษาอังกฤษ/
นี่เผอิญภิกษุองค์หนึ่งแอบอยู่ข้างๆ มาแอบอยู่ข้างๆ พระพุทธเจ้าท่านเหลียวไปเห็น อ้าว, นี่แกอยู่นี่ แกอยู่นี่ เอ้า เอ้า, เอาไปๆๆ นี่เป็น อาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ Starting point of พรหมจรรย์ เอาไปๆๆ ท่องเอาไป จำเอาไป นี่เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธเจ้าท่านมาสาธยายเอง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
มันมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาสาธยาย มา Recite ถ้าเด็กๆ มันท่องสูตรคูณ ท่องสูตรคูณนั่นเพราะมันยังจำไม่ได้ แล้วถ้าคนหนุ่มก็ร้องเพลงเพราะว่ากิเลสมันต้องการ เขาก็ ร้องเพลง พระพุทธเจ้าสาธยายปฏิจจสมุปบาทนี้ด้วยเหตุของอะไร เป็นที่น่าสงสัยและเข้าใจยาก ผมคิดว่า เพราะความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ทรงคุ้นเคยมาก ก่อนตรัสรู้ ก็ค้นแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาท วันตรัสรู้ ตรัสรู้ก็ค้นๆๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาทตลอดคืนแล้วก็ตรัสรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วก็ยังมาพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทบทวนอยู่อีกเป็นอันมาก มันจึงฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของพระองค์ พอมีโอกาสมันก็หลุดมาทางปากของ พระพุทธองค์ เหมือนกับว่าคนหนุ่มเขาร้องเพลงเล่น
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ผมก็เลยตั้งชื่อ ปฏิจจสมุปบาทชุดนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาทฮัมเพลง ฉะนั้นขอให้เราทุกคนนี่ สาธยาย ปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้กันเถิด แทนการร้องเพลง จะเรียกว่าร้องเพลงก็ตามใจ ร้องเพลงเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วก็จะมีประโยชน์มากทีเดียว
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ปฏิจจสมุปบาทนี้ สั้นกว่า น้อยกว่า มีเพียง ๘ หรือ ๙ อาการ แล้วก็ ขึ้นต้นด้วย อายตนะภายใน กระทบอายตนะภายนอก เกิดวิญญาณ เอ่อ, เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ไปจนตลอด มันจึงมีลักษณะสั้นกว่า พอมาถึงปฏิจจสมุปบาทใหญ่เต็มรูป ก็เพิ่มเข้าข้างหน้า ตอนต้นอีก ๒ อาการ มีคำขึ้นต้นว่า อวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญานัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นามะรูปะปัจจะยา สะฬาย…..เรื่อยไป จนตลอดเหมือนกันเลย ผิดขั้นต้นที่เพิ่ม อ่า, อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป เข้ามาเท่านั้นแหละ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ทีนี้เราจะศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทใหญ่ ปฏิจจสมุปบาทสมบูรณ์ เริ่มด้วยอวิชชา อวิชชา ธาตุ อวิชชานี้เป็นธาตุ เป็นธาตุชนิดหนี่งมีอยู่ตามธรรมชาติ อวิชชานี้ เมื่อได้โอกาสก็ทำการปรุง หรือมีอำนาจใน การปรุง อวิชชามีอำนาจในการปรุง ทำหน้าที่ปรุง จึงว่าอวิชชาให้เกิดเป็นสังขาระ สังขาระคือการปรุง อวิชชา สภาพที่ปราศจากความรู้ ทำให้เกิดการปรุง ที่นี้การปรุง การปรุงนี้ก็ไปเอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาติ เอามาปรุงให้กลายเป็นวิญญาณธาตุทางอายตนะ นี่ก็เกิดวิญญาณธาตุทางอายตนะขึ้นมา เพราะการปรุงของ อวิช... อ่า, อวิชชา โดย โดยๆ สังขาระ สั้นๆก็ว่า อวิชชา ให้มีอำนาจการปรุง การปรุงก็ไปเอาวิญญาณธาตุ มาปรุง เป็นวิญญาณธาตุทางอายตนะ คือ เรื่องจิตใจ ระบบจิตใจทั้งหมดขึ้นมา พอมีระบบจิตใจแล้ว มันก็ง่าย ที่จะมีสิ่งที่ เรียกว่า นามรูป คือ จิตใจกับร่างกาย ร่างกายกับจิตใจ ตลอดเวลาที่ยังไม่มีวิญญาณ นี่ระบบจิตใจ ไอ้, ร่างกายก็ไม่มีความหมายอะไร พอได้มา มันก็เกิดเป็นสิ่งสมบูรณ์เป็นร่างกายและจิตใจ เป็นนามรูป ได้นามรูป ขึ้นมา ก็ที่ตั้งของอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ แล้วก็จะมีการปรุงต่อไป เป็น ผัสสะ เป็นเวทนา อย่างเดียวกับ ปฏิจจสมุปบาทอย่างย่อ เข้าใจยาก ตรงที่ว่า เว...เอ่อ, อวิชชา อวิชชาธาตุ ธาตุ ไม่รู้ว่า มีอำนาจการ ปรุงแต่ง ก็ปรุงแต่งวิญญาณธาตุเป็นวิญญาณทางอายตนะ วิญญาณทางอายตนะเกิดขึ้นแล้ว นามรูปก็เกิดขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งอายตนะ ให้อายตนะทำหน้าที่ต่อไปนั้น ก็คือ ผัสสะ เวทนา จนตลอด นี่ อะ, ปฏิจจสมุปบาท ใหญ่ สมบูรณ์น่ะเข้าใจยาก เข้าใจยากตรงนี้ เพิ่มเข้ามา ๔ หัวข้อ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่กล่าวมาข้างต้นว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลึกซึ้งที่สุด เข้าใจยากที่สุด ก็ตรงที่ว่า อวิชชาให้เกิดสังขารอย่างไร สังขารให้เกิดวิญญาณอย่างไร วิญญาณจะให้เกิดนามรูปอย่างไร เกิดนามรูปแล้ว ก็มีอายตนะ นี่ ต่อไปนี้เข้าใจง่าย แล้วก็เหมือนกันกับปฏิจจสมุปบาทสั้น ปฏิ...เอ่อ, ปฏิจจสมุปบาทยาวมันมีอยู่ ๔ ข้อข้างต้นที่มันเข้าใจยาก ที่นี้เราไม่ต้องไปสนใจก็ได้ เอาปฏิจจสมุปบาทสั้น เราก็ยังเห็นได้ชัดว่ามันเต็ม เต็ม เต็มความหมายเหมือนกัน พอตากระทบรูป เกิดจักษุวิญญาณ เมื่อ ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ในขณะแห่งผัสสะมันยังมีอวิชชาอยู่ อวิชชาอยู่ที่ผัสสะ เป็นอวิชชาผัสสะ อ่า, เป็นผัสสะโง่ ผัสสะโง่ อวิชชา อำนาจของอวิชชาก็ทำให้เดินไปจนถึงความทุกข์ อวิชชามันทำหน้าที่มา อ่า, ตั้งแต่แรก แล้วก็ยังมาทำ หน้าที่สำคัญตรงผัสสะ ผัสสะ
ข้ามการถอดเสีียง เพราะมีการตัดต่อเสียงซ้ำ นาทีที่ 1.09.44 – 1.10.27
จึงขอให้ควบคุมให้ดี อย่าให้ผัสสะเป็นอวิชชา เป็นอวิชชาผัสสะ ความทุกข์ก็จะไม่เกิด การปฏิ...เอ่อ, การปฏิบัติ ปฏิจจสมุปบาทก็ต้องมีสติควบคุม อย่าให้อวิชชาเข้ามาเป็นใหญ่ มาควบคุม ไล่อวิชชาออกไปเสีย มันก็ไม่ ไม่ๆ ไม่เกิดความทุกข์ นี่ก็ดูเอาที่สุดแล้ว ที่เราจะศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างสั้น อย่างที่พระพุทธเจ้ามาสาธยาย นี่ เริ่มกันที่ ตา หู เกิดจักษุวิญญาณ ไปเรื่อยจนถึงเกิดทุกข์ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งอย่างยาวและอย่างสั้น
ข้ามการถอดเสีียง เพราะมีการตัดต่อเสียงซ้ำ นาทีที่ 1.11.19 - 1.11.27
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้ก็ยังมีความลับ เกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท นั่นคือข้อที่ว่า ถ้าเราปฏิบัติควบคุม ปฏิ...ปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ ไอ้ความทุกข์ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว ถ้าเราปฏิบัติได้ความทุกข์ไม่เกิด เดี๋ยวนี้เราปฏิบัติ ไม่สำเร็จความทุกข์เกิดแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป
/เสียงภาษาอังกฤษ/
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เอง ตรัสต่อไปว่า ความทุกข์ อ่า, ทำให้เกิดศรัทธา ศรัทธา ความเชื่อว่ามี สิ่งที่จะต้องดับทุกข์ได้ ก็พยายามหาสิ่งนั้นแหละ ข้อนี้ผมรู้สึกว่าเป็นสัญชาตญาณ เป็น Instinct แม้แต่สัตว์ เดรัจฉานนี่ พอเขามีความทุกข์เข้า เขาจะวิ่งๆๆ วิ่งไปหาไอ้ที่ ที่มันจะหยุดความทุกข์ของเขาได้ เป็นสุนัขขี้เรื้อน หรือว่าเป็นสุนัข อ่า, มีแผลด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง มันจะวิ่งๆ ไปหา แมวก็เหมือนกันแหละ เจ็บปวดขึ้นมา จะวิ่งไปหาที่แห่งหนึ่ง หรือคนที่จะช่วย อะไรก็ตาม มันเชื่อว่า มันมีสิ่งที่จะช่วยหยุดความทุกข์นี้ได้ ความเชื่อนี้สำคัญมาก ถ้าความเชื่อนี้ไม่มีแล้ว มันไม่มีการขวนขวายที่จะไปหาสิ่งดับทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความทุกข์ให้เกิดศรัทธา ศรัทธาซึ่งเราต้องมี ซึ่งเราจะต้องมีกันให้ถูกต้องหรือเต็มที่
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อเรามีความเจ็บไข้หรือเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว เรามีความเชื่อว่ามีหมอที่จะช่วยได้ มีโรงพยาบาลที่จะ ช่วยได้ นี้เรามีความแน่ใจ เราจึงไปหาหมอหาโรงพยาบาล เหมือนลูกเด็กๆทารกเล็กๆ พอมีปัญหา เจ็บป่วยขึ้นมา ก็แม่ช่วยได้ วิ่งไปหาแม่ นี้ ศรัทธา ศรัทธาตรงนี้สำคัญมาก ที่วิ่ง ทำให้วิ่งไปหาธรรมะ สิ่งที่จะดับทุกข์ได้ ศรัทธา ทำให้เชื่อในสิ่งที่จะดับทุกข์ได้ แล้วก็วิ่งไปหา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อศรัทธาอย่างนี้มีอยู่ ก็ต้องได้พบกับ สัตบุรุษ สัตบุรุษ พบพระพุทธเจ้า หรือพบสาวกของ พระพุทธเจ้า หรือสัตตะบุรุษใดๆก็ตาม เป็นเหตุให้พบสัตบุรุษ แล้วเราก็นั่งใกล้สัตบุรุษ แล้วก็ฟังธรรมะของ สัตบุรุษ เราก็รู้ธรรมะที่จะดับทุกข์
/เสียงภาษาอังกฤษ/ 1.21.10
แล้วเราก็จะเกิดพอใจ เกิดปีติ ปีติ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
จิตของเราก็จะสงบจากความกลัว เป็น ปัสสัทธิ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เพราะสิ่งเหล่านี้สงบระงับไป ก็เกิดความสุขทางจิตชนิดหนึ่ง ความสุขทางจิตชนิดหนึ่ง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ความสุขชนิดนั้นทำให้เกิดสมาธิ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
สมาธินั้นทำให้เกิดการเห็นแจ้ง Realize สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่เรายึดถือ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
นิพพิทา เบื่อหน่ายในสิ่งที่เคยยึดถือ ก็ทำให้เกิดวิราคะ วิราคะ คือการจางออก จางออก จางออก แห่งความยึดถือ วิราคะ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เมื่อมันจางเรื่อยไป จางเรื่อยไป มันก็หมด หมดนี่เรียกว่า วิมุติ หลุดจากสิ่งที่ยึดถือ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
หลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดถือแล้ว ก็เกิดความรู้ขึ้นมาชนิดหนึ่ง เรียกว่า ขยญาณัง(1.24.56) คือความรู้ว่าความทุกข์สิ้นแล้ว รู้ว่าความทุกข์สิ้นแล้ว
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ขยญาณะ (1.25.25) ก็ทำให้มี ไอ้, สิ่งที่เรียกว่า นิพพาน นิพพานก็ปรากฏ เรื่องก็จบ
/เสียงภาษาอังกฤษ/
นี่ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า ต่อจากความทุกข์มันก็ยังมีอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทอีกรูปแบบหนึ่ง นำไปสู่ศรัทธา ปีติ ปราโมทย์ จนดับทุกข์
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แต่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรียกอาการเหล่านี้ว่าปฏิจจสมุปบาท ท่านตรัสเรียกว่า อุปนิสธรรม คือสิ่งซึ่งอาศัยปฏิจจสมุปบาท หรือจะพูดให้ชัดว่า ปฏิจจสมุปบาทอีกแนวหนึ่ง ซึ่งอาศัยปฏิจจสมุปบาทที่ เกิดทุกข์ เรียกว่าสิ่งที่อาศัยปฏิจจสมุปบาท เราไม่ค่อยรู้จักกัน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
มันแปลกที่ว่าศรัทธาเกิดจากความทุกข์ ความทุกข์มีมากเท่าไร ศรัทธาจะมีมากเท่านั้น ความทุกข์ เข้มแข็ง แก่กล้าเท่าไร ศรัทธาที่จะพ้นทุกข์ ก็จะเข้มแข็งแก่กล้าเท่านั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีและจำไว้ว่า ศรัทธาจะ เกิดจากความทุกข์ คือยากจะพ้นทุกข์ แล้วศรัทธาเชื่อว่ามีสิ่งที่จะดับทุกข์ได้ ฉะนั้นขอให้มีศรัทธา ชนิดนี้ อย่ามีศรัทธาชนิดอื่น
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เราจะประนีประนอมกับศาสนาอื่น เช่นเขาจะมีศรัทธาในพระเจ้า ถ้าศรัทธาไม่ได้เห็นความทุกข์มาก่อน ไม่ได้มีความทุกข์มาก่อน แล้วจะเชื่อว่าจะดับทุกข์ได้ มันก็เป็นศรัทธาสมัครเล่น ศรัทธางมงาย ศรัทธาเด็กๆ มันต้องความทุกข์แสดงอำนาจเต็มที่มาแล้ว อยากจะดับทุกข์เต็มที่ จึงมีศรัทธาในสิ่งที่จะดับทุกข์ เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดมีศรัทธา ๒ แบบ ศรัทธางมงาย กับ ศรัทธาแท้จริง ดูเหมือนความหมายของคำว่า Faith กับความหมาย ของคำว่า Confident มันต่างกันมากในข้อนี้
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ศรัทธาที่มา...มาก่อนปัญญา มาก่อนปัญญา นี่ใช้ไม่ได้ ศรัทธานี้ใช้ไม่ได้ มาก่อนปัญญา มันไม่รู้อะไร ศรัทธาที่มาทีหลังปัญญา มีปัญญา เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว ศรัทธานี้ดีที่สุด มีประโยชน์ที่สุด คือศรัทธาที่มา ทีหลังปัญญา ขอให้เรามีศรัทธาชนิดนี้กันเถิด
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ที่นี้เรามาพูดเรื่องประโยชน์ของความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท กันดีกว่า
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ช่วยให้เรามองเห็น อ่า, ความที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งที่ควรเรียกว่าตัวตน หรือของตน ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว จะเห็นว่าเป็นกระแสๆๆ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีตรงไหน ที่จะเป็นตัวตนหรือเป็นของตนของมันได้ ปฏิจจสมุปบาทช่วยให้เรามองเห็นความไม่มีตัวตน หรือของตน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เอ่อ, ความเชื่อหรือความรู้ว่ามีตัวตนนั้น มันเป็นของศาสนาอื่น ศาสนาอื่นนอกพุทธศาสนา และก็มีอยู่ ก่อนพุทธศาสนาด้วย แล้วความรู้หรือความเชื่อนี้ มันจะแทรกเข้ามา รวมอยู่ในพุทธศาสนาโดยไม่รู้สึกตัว พุทธบริษัทที่ถือว่ามีตัวตนนี่ มันแทรกเข้ามาจากศาสนาอื่น ฉะนั้นเราใช้ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ขับไล่ กลับออกไป ขับไล่ตัวตนนี้ออกไปเสียจากความเชื่อที่ว่าเราจะมีขึ้นมา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
อ่า, ข้อถัดไป ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท อ่า, ทำให้ไม่มี เอ่อ, ตัวสิ่งที่เรียกว่าผู้ ผู้ The One Who ,Who Who ,The One Who ผู้กิน ผู้ได้ ผู้อยาก ผู้ต้องการ ผู้ ผู้ น่ะ ความหมายของคำว่า ผู้ ผู้ นั้นไม่มี ไม่มีแก่ผู้ที่เห็น ปฏิจจสมุปบาท จึงไม่มีผู้อยาก ผู้ได้ ผู้กิน ผู้ อ่า, ยึด ผู้เกิด ผู้ตาย ผู้เกิดผู้ตายนี่ก็ไม่มีไปด้วย
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ข้อต่อไป ปฏิจจสมุปบาท ความรู้ปฏิจจสมุปบาท ช่วยให้เราสามารถอยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลาง In middle path อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลาง ไม่ๆ Extream โน้นหรือนี้ ช่วยให้อยู่ตรงกลาง ช่วยให้ไม่เกิด เอ่อ, ความคิดความเชื่อว่ามีหรือไม่มี พูดว่ามีก็ไม่ได้ จะพูดว่าไม่มี ก็ไม่ได้ พูดว่ามี ทำไมมันไหลเรื่อย พูดว่าไม่มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่ถูก เพราะมันมีสิ่ง ที่ไหลเรื่อย นี่ ปฏิจจสมุปบาทช่วยให้เราอยู่ตรงกลาง ระหว่างความรู้ว่ามี กับความรู้ว่า ไม่มี นี่ ตรงกลางอย่างนี้ แล้วกลางอย่างที่ว่า ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว เหนือดีเหนือชั่ว แล้วก็ว่า ไม่อันนี้ หรืออันนั้น เพราะอันนั้น หรืออันนี้มันก็คือ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ไม่มีเอง หรืออื่น ไม่มีเอง ไม่มี Self หรือ Other ไม่มีเองไม่มีอื่น มันก็อยู่ตรงกลาง กลางๆๆ ทุกชนิดกี่ร้อยชนิด มันก็รู้ได้เพราะมีปฏิจจสมุปบาท ช่วยให้อยู่ตรงกลาง
/เสียงภาษาอังกฤษ/ 1.41.58
ข้อต่อไป ปฏิจจสมุปบาทช่วยให้รู้ธรรมะที่ลึกซึ้ง เราพูดกันทีละอย่างดีกว่า ข้อแรก ช่วยให้รู้อนิจจัง อนิจจัง ความไหลเรื่อย ไหลเรื่อย ความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ถ้าเราเห็นปฏิจจสมุปบาท จะเห็นว่าทุกสิ่งไหลเรื่อย ไหลเรื่อย อย่างที่พวกกรีก เรียกว่า Panta Rhei ทุกสิ่งไหลเรื่อย เห็นปฏิจจสมุปบาทจะเห็นอนิจจัง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ช่วยให้เรารู้หรือเห็น สังขะตัง สังขะตะ สังขะตะ คือมีแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา มีแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง ขึ้นมา ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ ไม่ถูกปรุงแต่ง จะดูอะไรๆ ก็มันจะมองเห็นว่ามันถูกปรุงแต่งขึ้นมา นี้ อ่า, เรียกว่า ช่วยให้เห็น สังขะตัง ยกเว้นพระนิพพานอย่างเดียว ทุกอย่างๆๆ เป็น สังขะตะ สังขะตะ เห็นได้เมื่อเห็น ปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แล้วก็ช่วยให้เห็น วะยะธัมมัง วะยะธัมมัง เสื่อมไปเรื่อย สิ้นไปเรื่อย สิ้นไปเรื่อย เสื่อมไปเรื่อย นี่เรียกว่า วะยะธัมมัง ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไปเรื่อย มันก็สิ้นไปเรื่อย เห็นปฏิจจสมุปบาท ช่วยให้เห็น วะยะธัมมัง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แล้วก็ให้เห็นความรู้สึกของเราที่ว่าคลาย คลายความยึดมั่น คือ วิราคัง วิราคะ น่ะ คลาย คลายความ ยึดมั่น คลายความยึดมั่น ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วมันจะเกิดการคลายความยึดมั่น แล้วเราก็จะเห็น คลายความยึดมั่นของเราเอง
/เสียงภาษาอังกฤษ/
แล้วก็เห็นว่าสิ่งทั้งปวง มีการเกิด การดับ การเกิด การดับ การเกิด การดับเป็นธรรมดา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว มันยังมีอีกมากมาย เอามาพูดให้หมดไม่ไหว เพียงเท่านี้ก็มีประโยชน์พอที่จะ ดับทุกข์แล้ว เห็นอนิจจัง สังคะตัง เป็นต้น
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ประโยชน์ต่อไป อ่า, ของการเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือ ป้องกันไม่ให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ใดๆ ไม่อาจจะเกิด ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาทอยู่ มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ อย่างในบาลีนั้นก็ไม่เกิด แม้แต่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ของชาวบ้านน่ะ สัมมาทิฏฐิที่ยังมี อาสาวะ น่ะ ว่ายังมีบุญมีบาป มีอะไรอย่างนี้ก็จะไม่เกิด มันจะเห็น เหนือบุญเหนือบาป ไปเสีย สัมมาทิฏฐิมี ๒ สัมมาทิฏฐิ ชาวบ้านมีอาสาวะ สัมมาทิฏฐิของพระอรหันต์ ไม่มีอาสาวะ สัมมาทิฏฐิของชาวบ้านนี้ ก็จะไม่เกิดเพราะเห็นสัมมา...อ่า, เพราะเห็นปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ประโยชน์ของการเห็นปฏิจจสมุปบาท ข้อต่อไป ซึ่งน่าขันหรือจะมีอาการน่าขัน หรือว่าน่า น่าหัวเราะ ว่าจะทำให้เกิดมีธรรมกถึก ธรรมกถึก ผู้แสดงธรรมที่ถูกต้อง ถ้าเขาไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว เขาจะแสดงธรรม ผิดหมดเลย ถ้าเขาเห็นปฏิจจสมุปบาทอยู่ การแสดงธรรมของเขาจะถูกต้อง เป็นผู้แสดงธรรมที่ดีในโลก
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ประโยชน์ต่อไปก็คือ ทำให้เรารู้จักว่าชีวิตนี้ ร่างกายนี้ ชีวิตนี้ มันเป็นของใคร คือให้รู้ว่าไม่มีเจ้าของ ชีวิตนี้ ร่างกายนี้ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีเจ้าของ แล้วก็ไม่มีความถูกเป็นเจ้าของ ไม่ถูกเป็นเจ้าของ ไม่ทำให้ถูกเป็น เจ้าของ ของสิ่งใด แล้วมันก็ไม่เป็นเจ้าของ ของสิ่งใด นี่ ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาท มันมีกระแสของปฏิจจสมุปบาท กำกับอยู่ มันจะเป็นของใครไม่ได้ มันจะเป็นของใครไม่ได้ กายนี้จะเป็นของใครไม่ได้ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มันเป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ข้อสุดท้ายที่น่าขบขันที่สุดก็คือว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาท รู้ปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้องแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ผู้ใดไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท ชีวิตนั้นเองมันจะกัดตัวผู้นั้น ชีวิตนั้นจะกัดเจ้าของ ยึดถือสิ่งใด สิ่งนั้นมันกัด ยึดถือสิ่งใดสิ่งนั้นมันกัด เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว มันไม่ยึดถือสิ่งใด ชีวิตนี้ก็ไม่กัด เจ้าของ นี่ มีค่า มีประโยชน์ที่สุด ขอให้สนใจเถิดว่า ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ถ้าเรายังไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท ชีวิตนี้เอง จะกัดเจ้าของ อยู่ตลอดเวลา
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ในที่สุด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็น โสตาปัตติยังคะ โสตาปัตติยังคะ คำยากหน่อย โสตาปัตติยังคะ คือองค์ประกอบที่พร้อมที่จะเป็นโสดาบัน องค์ประกอบ ที่มี ความพร้อม ที่จะเป็นโสดาบัน เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ โสดาบัน แปลว่า ผู้ยืนจดประตูพระนิพพาน ยืนจดประตู พระนิพพาน ยังแต่จะก้าวเข้าไปเท่านั้น การเห็นปฏิจจสมุปบาท ทำให้เป็นโสดาบัน ยืนจดประตูพระนิพพาน พร้อมที่จะก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน นี่ประโยชน์สูงสุดของการเห็นปฏิจจสมุปบาท
/เสียงภาษาอังกฤษ/
เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องทั้งหมดของธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง อาศัยกัน แล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วดับลง เราจะเสียเวลาพูดกันสัปดาห์หนึ่งก็ไม่จบ ผมคิดว่าเดือนก็ไม่จบ ถ้าจะพูดกัน หมดโดยสิ้นเชิง เรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าที่ควรรู้กันก่อน ควรทราบกันก่อน จะสำเร็จประโยชน์กันก่อน ก็อย่างที่พูดมานี้ ขอได้โปรด อ่า, สังเกตแล้วคิดนึกให้ดี เข้าใจให้ดี เห็นแจ้งให้ดี แล้วนำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ได้ด้วยกันจงทุกๆคน
/เสียงภาษาอังกฤษ/
ขอบพระคุณ ขอบพระคุณ ขอบพระคุณในการเป็นผู้ฟังที่ดีถึง ๒ ชั่วโมงแล้ว ขืนพูดต่อไปอีก ปฏิจจสมุปบาทแห่งการปวดเมื่อยมันก็จะเกิด ปฏิจจสมุปบาทแห่งความไม่พอใจมันก็จะเกิด ขอยุติการบรรยาย
/เสียงภาษาอังกฤษ/