แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะต้องพยายามนั่งให้เห็นอาตมาด้วย
บัดนี้จะได้พูดถึงวิธีทำสมาธิโดยเฉพาะที่เรียกว่า อานาปานสติ ตามความประสงค์ของนักศึกษาที่ขอร้องครูบาอาจารย์บางคน แต่ว่าก่อนแต่ที่จะแนะวิธีว่าทำสมาธิอย่างไรนั้น ก็อยากจะปรารภถึงเรื่องที่ควรทราบก่อนบางเรื่อง ที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องการทำสมาธิดีขึ้น
ในเรื่องแรกที่สุดก็ควรจะรู้กันเสียว่า ความเป็นสมาธินี่ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มีได้เองตามธรรมชาติหรือโดยสัญชาติญาณด้วยซ้ำไป แต่มันไม่สมบูรณ์ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเมื่อมันต้องการจะทำอะไรจริงจัง ด้วยเจตนานั้นก็มีกำลังใจแรง เป็นสมาธิ ส่งออกไปทางกระแสจิต กระทั่งสายตาที่จะขู่บังคับศัตรูก็มี หรือว่าที่จะทำอะไรให้จริงจังเคร่งเครียดก็มี คนเราก็เหมือนกัน มีสมาธิตามธรรมชาติเมื่อตั้งใจจะทำอะไรให้ดี เช่น จะคิดเลขหรือว่าแม้แต่จะยิงปืน ก็ต้องมีสมาธิตามธรรมชาติ ทีนี้สมาธิตามธรรมชาตินี้ยังไม่สมบูรณ์จึงต้องมีการทำให้สมบูรณ์ตามวิธีที่คนแต่ก่อนเขาค้นพบเป็นลำดับมาอย่างไร นี้ก็ข้อหนึ่ง ที่ควรจะรู้ไว้อย่าได้งมงาย
ทีนี้ก็ต้องรู้ต่อไปว่า สมาธินั้นก็มีทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล ที่ต้องเรียกกันว่า สัมมาสมาธิ ก็มี มิจฉาสมาธิ ก็มี ถ้าเจตนาไม่สุจริต สมาธินั้นก็เป็นอกุศล เช่นทำสมาธิเพื่อให้เกิดฤทธิ์ เกิดกำลัง เกิดอิทธิปาฏิหาริย์อะไรต่างๆ เพื่อจะครอบงำคนอื่น จะเอาประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ นี้ไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ยักษ์มารทั้งหลายก็มีสมาธิชนิดนี้ มันจึงรบกันได้ หรือว่าเหาะกันได้ เราจะพูดถึงกันแต่เรื่องของ สัมมาสมาธิ ที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์ ไม่เป็นโทษ คือไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทีนี้ก็ยังจะรู้ต่อไปว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นก็ยังมีความมุ่งหมายต่างๆ กัน ก็พอจะแยกได้ว่ามุ่งหมายความสุขเร็วๆ คือ ความสุข ความสงบโดยมีจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสแล้วเป็นสุข เหมือนกับนิพพานกันเร็วๆ ชั่วขณะ เป็นการชิม ลองไปก่อน หรือว่าเป็นการชั่วคราวก็ได้ นี้ก็ทำได้โดยสมาธิ
ทีนี้สมาธิ ที่มุ่งหมายแท้จริงนั้น ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำจิต ทำหน้าที่ ที่ยิ่งขึ้นไป ถ้าเป็นเรื่องโลกก็ใช้อย่างโลก เป็นคนมีสมาธิดีก็มีใจคอมั่นคง มีความคิดเก่ง จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าเป็นเรื่องธรรมะก็ใช้เพื่อทำลายกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานโดยตรง ถ้าเราต้องการจะให้มันครอบคลุมทั้งสองอย่างก็ยังพอมีทางที่จะทำได้ สมาธิเช่นอานาปานสติ นี้ จะช่วยเรื่องโลกๆ ก็ได้ นับตั้งแต่ทำให้มีอนามัยดี มีร่างกายสบายดีนี่ก็อย่างหนึ่ง ก็มีสติสัมปชัญญะดี ไม่ค่อยมีความผิดพลาด ตลอดถึงความคิดว่องไว รวดเร็ว จำเก่ง คิดเก่งนั้นก็ได้ ก็มีอาการอันเดียวกันกับที่ว่า บรรพชิตจะต้องทำเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
สำหรับสมาธินั้นควรจะแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ สมาธิพอประมาณ และก็สมาธิสูงสุด สูงที่สุด สมาธิพอประมาณนั้นแหละมีประโยชน์ก็ใช้ได้ทั่วไปแม้ในการบรรลุมรรคผลนิพพาน สมาธิเต็มที่นั้นเป็นไปในทางเรื่องพิเศษ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์หรืออะไรทำนองนี้มากกว่า แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ทุกคน แต่ถ้าเป็นสมาธิชนิดพอประมาณแล้วก็ทำได้ทุกคน ทีนี้ก็ยังมีหลักเกณฑ์อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าใช้สิ่งที่เป็นวัตถุมีตัวมีตนเป็นวัตถุจริงๆ เป็นอารมณ์ แล้วการทำสมาธินั้นจะไปได้ไกล ถึงสมาธิชั้นแน่วแน่เป็นฌาน เป็นอะไรได้ ถ้าใช้นามธรรมเป็นอารมณ์ เช่น เจริญเมตตา กรุณา หรือว่า เจริญพุทธานุสติ เป็นต้นนี่ ก็เป็นสมาธิแต่พอประมาณ ไม่เป็นอย่างที่เรียกว่า แน่วแน่ เป็นอัปปนา หรือเป็นฌาน ส่วนสมาธิที่เรียกว่า อานาปานสติ นั้นครอบคลุมไปได้หมด คือมันตั้งต้นด้วยการมีวัตถุ เขาเรียกว่าวัตถุ เป็นอารมณ์ คือ ลมหายใจก็เรียกว่าวัตถุ ใช้วัตถุนี้เป็นอารมณ์ ก็ทำได้จนเป็นสมาธิแน่วแน่ กระทั่งเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ได้ อานาปานสติในขั้นต่อไป ก็ใช้สมาธิที่ดีแล้วอย่างนี้ ต่อไปอีก ชนิดที่มีนามธรรมเป็นอารมณ์ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น ก็เป็นชั้นที่เขาเรียกกันว่า วิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านเรียกเหมือนกันหมด คือเรียกว่า สมาธิภาวนาเหมือนกันหมด แม้ในการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ก็เรียกว่าสมาธิภาวนา ไม่ได้เรียกว่าวิปัสสนา เหมือนที่เราเรียกๆ กัน ท่านจึงตรัสว่า สมาธิภาวนา มีอยู่ ๔ ชนิด ชนิดที่ทำได้สุขในปัจจุบันทันตาเห็น นี่ก็เรียกว่า สมาธิภาวนา ได้แก่ สมาธิภาวนาประเภทที่ทำให้เกิด ฌาน ทั้ง ๔ ขึ้นมาได้ ทีนี้สมาธิภาวนาที่ทำให้ได้ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น มันก็ต้องเจริญไปแบบหนึ่งต่างหาก ที่เรียกว่า อาโลกสัญญา ซึ่งเราจะไม่พูดกันในทีนี้ มันอยู่นอกความประสงค์ สมาธิอันที่สามนี้ก็เรียกว่า สมาธิภาวนาเพื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี้ต้องเจริญการกำหนดสติ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไปแห่งเวทนา เป็นต้น แห่งเวทนา หรือแห่งสัญญา หรือแห่งวิตก กำหนดอยู่อย่างนี้ก็ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ สมาธิภาวนาสุดท้ายก็ทำให้สิ้นอาสวะ พิจารณาให้รู้แจ้งในส่วนที่เบญจขันธ์ ในเบญจขันธ์ที่มันจะเกิดขึ้นอย่างไร ดับไปอย่างไร เรียกว่าสมาธิภาวนาเหมือนกันหมด ไม่ได้ใช้คำว่า วิปัสสนา นี่เราบัญญัติกันเองว่า ส่วนที่ทำให้สงบเป็นสมาธินั้นเรียกว่า สมถะ ส่วนที่ทำให้รู้แจ้งความจริงของธรรมะ นั้นเรียกว่า วิปัสสนา นี้มารวมกันแล้วก็เรียกว่า สมาธิภาวนาก็ได้
การทำอานาปานสตินั้น สามารถจะทำให้เป็นสมาธิภาวนาได้ถึง สามประการ คือ ประการแรกที่ทำให้ได้รับความสุข ชนิดที่ไม่เจือด้วยอามิส คือไม่เจือด้วยอารมณ์ กามารมณ์ เดี๋ยวนี้ ในเวลานี้ ก็เป็นสมาธิภาวนาอย่างที่สาม คือ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี้ก็นับแต่ตั้งต้นทำอานาปานสติจะมีผลอย่างนี้ ทีนี้อานาปานสติอย่างที่สี่ก็คือให้สิ้นอาสวะ นี้ต้องทำกันไป ทำไปจนจบเรื่องอานาปานสติ จึงจะไปถึงหมวดที่สี่ ที่เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นอนิจจัง เห็นราคะ นิโรธะ ปฏินิสสัคคะ นั้นเป็นเรื่องสิ้น อาสวะ นี้ใจความย่อๆ ที่ควรจะทราบเกี่ยวกับสมาธิมันเป็นอย่างนี้ แล้วก็มีหลายแบบหลายวิธีเท่าที่ได้สำรวจดูแล้วก็เห็นจริง เห็นตรง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า วิธีอานาปานสติ นั้นนะเหมาะสมที่สุดแก่ทุกคน หรือว่าแก่ทุกกรณี กับสถานการณ์อะไรต่างๆ แล้วก็ไม่ลำบากยุ่งยากเหมือนสมาธิบางอย่าง เช่นว่าจะเจริญ อสุภกรรมฐานก็ต้องไปที่ป่าช้าอย่างนี้เป็นต้น อานาปานสตินี้ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีวัตถุที่ใช้เป็นอารมณ์หอบหิ้วไปมาที่นั่นที่นี้ เช่นอยากจะพิจารณากสิณก็ต้องไปหาองค์กสิณมาก็ต้องถือไป จะไปนั่งทำตรงไหน ส่วนอานาปานสตินี้มันหายใจอยู่แล้ว ติดอยู่กับตัวแล้ว นี่เป็นตัวอย่างของความสะดวกเกี่ยวกับการทำสมาธิแบบนี้ และที่ดียิ่งขึ้นไปอีกก็คือว่า เป็นสมาธิที่ไม่ยุ่งยากลำบากแล้วก็ไม่ทำความน่ากลัว น่าหวาดเสียว น่าสะดุ้ง ไม่มีการขยะแขยง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความดีวิเศษของ อานาปานสติ
ทีนี้ก็มาถึงหลักการที่เป็นส่วนวิธีการ คือ การกระทำ ก็รู้เป็นเค้าๆ ว่าจะต้องมีอารมณ์สำหรับกำหนด นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้จักทีแรก จะเรียกว่านิมิตหรือจะเรียกว่าอารมณ์หรือแล้วแต่จะเรียก แต่ตามปกติจะเรียกกันว่า อารมณ์ คือวัตถุที่จะเอามาใช้สำหรับจิตกำหนด ถ้าจะเป็นถึงชั้นอัปปนา เป็นฌาน เป็นอะไรก็จะต้องมีอารมณ์เป็นวัตถุอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว การกำหนดทีแรกกำหนดลงไปที่อารมณ์นั้นโดยตรง เมื่อทำได้ดีแล้ว ก็จะสร้างมโนภาพ หรือภาพติดตาออกมาจากอารมณ์นั้นอีก ทีหนึ่ง นี้มันหมายถึง เอ่อ, มีความเป็นสมาธิสูงขึ้นมา ตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า จะกำหนดดวงไฟ ในชั้นแรกก็กำหนดที่ดวงไฟ ต่อมาก็กำหนดภาพดวงไฟที่ติดอยู่ในตา กระทั่งว่าหลับตาก็ยังเห็น ขั้นแรกต้องลืมตาถึงจะเห็น ลงไปมันก็เป็นอารมณ์ อันดับแรก เรียกว่านิมิตในขณะที่ทำบริกรรม ต่อมา หลับตาก็เห็น เป็นภาพนั้นนะ เป็นภาพที่สร้างขึ้นมา ก็เป็นนิมิตที่เรียกว่าจิตตาหรืออุคคหนิมิต นิมิตที่จับฉวยมาได้ แม้หลับตาก็ยังเห็น ต่อมานิมิตที่เป็นอุคคหนิมิต แม้หลับตาก็ยังเห็น ขยับขยายปรับปรุงได้ตามต้องการ ให้เห็นภาพนั้นอย่างไรก็ได้ เปลี่ยนอย่างไรก็ได้ ก็เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต เป็นนิมิตที่ถึงขนาดแล้ว ที่แสดงว่าจิตใจนี้มีความเหมาะสมที่จะทำให้เกิดอัปปนาแล้ว เราก็รู้เรื่องว่าเราจะต้องทำการกำหนดที่อารมณ์นั้นโดยตรง แล้วกำหนดมโนภาพที่สร้างมาจากอารมณ์นั้น แล้วก็เราควบคุมมโนภาพนั้นได้ตามความปรารถนา นี้เป็นหลักทั่วไป จะเป็นสมาธิชนิดไหน แบบไหน ชื่อไหนก็มีหลักการส่วนใหญ่อย่างนี้ ต่อไปนั้นก็เป็นการทำให้ได้ที่ ให้อันดับแรกที่เรียกว่า ปฐมฌาน คือ การกำหนดอารมณ์ก็มี การรู้สึกต่ออารมณ์ก็มี มีปีติพอใจก็ทำได้สำเร็จ ก็รู้สึกเป็นสุขด้วย แม้ความที่มีจิตเป็นอารมณ์เดียวอยู่ที่สิ่งนั้น ซึ่งเรียกกันว่า วิตก วิจารณ์ ปิติสุข เอกัคคตา ถ้าความรู้สึกเหล่านี้ หรือคุณสมบัติอันนี้มีครบถ้วน ก็เรียกว่า ได้บรรลุปฐมฌาน ในพระบาลีไม่ได้กล่าวรายละเอียดเรื่องนี้ คล้ายๆ กับว่า พอพูดออกมาอย่างนี้ คนเขาก็รู้กันแล้ว คือเขาเคยฝึกกันมาแล้ว ดังนั้นจึงพูดลักษณะย่อๆ เท่านั้นเองของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ดังนั้นรายละเอียด หรือวิธีกระทำโดยรายละเอียด เราก็ต้องมาศึกษาเอา จากที่อื่น จากพระบาลี จากพระอัตคาถา หรือวิธีที่สอนสืบๆ กันมา ถอดออกมาให้เป็นรูปการปฏิบัติ การได้ปฐมฌานนี้ ก็ถือว่าเป็นสมาธิที่เต็มขนาดหรือสมบูรณ์ จะอยู่ในระหว่างกลางที่เรียกว่า พอสมควรก็ได้ แล้วก็ไม่ใช่สมบูรณ์ที่สุด ถ้าสมบูรณ์ที่สุดก็ไปถึงจตุตถฌานที่สี่ เดี๋ยวนี้ก็เป็นเพียงปฐมฌานที่หนึ่ง ถึงแม้ไม่ถึงขนาดปฐมฌานที่หนึ่ง เป็นเพียงเฉียดๆ ก็ยังเรียกว่า สมาธิที่พอประมาณ ได้เหมือนกัน สำหรับคนทั่วไป เพราะฉะนั้นอย่าได้ท้อถอย ถ้าหากว่าไม่สามารถทำได้ถึงพวกฌานเหล่านั้น ก็ทำแต่พอประมาณ สมาธิพอประมาณ คือ ปรับปรุงจิตใจให้มันมีสมาธิมากขึ้นกว่าที่มันจะมีเองตามธรรมชาติ
ทีนี้ก็ควรจะทราบเสียด้วยว่า สมาธินั้นเป็นสิ่งที่มีได้ตามธรรมชาติโดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงมีคนบางคนที่มันมีได้ง่าย หรือมีได้มากตามธรรมชาติ จะเรียกว่ามันเป็นโชคดี หรือเป็นบุญกุศลของเขา ที่มีสมาธิได้เองได้ง่ายตามธรรมชาติ ส่วนบางคนไม่เป็นอย่างนั้น มีกันยาก มีแต่สมาธิตามธรรมชาติเท่านั่นเอง แล้วก็มีน้อย ไม่ค่อยจะพร้อมที่จะทำให้ไกลไปถึงสมบูรณ์ แต่ก็เอาเป็นว่า บางคนก็มีได้ง่ายที่จะทำให้สมบูรณ์ ก็ยกให้คนพวกนั้นที่จะทำให้สมบูรณ์ คนทั่วไปก็เอาแต่พอประมาณ นี่ก็ได้ประโยชน์มากกว่าที่ทำไม่เป็นหรือไม่รู้เรื่องเสียเลย ทีนี้ก็มีคำที่จะต้องทราบอยู่ ๒ คำ คือ คำว่า เพ่ง คำนี้ก็คือคำว่า ฌาน นั่นอีกเหมือนกัน คำว่า ฌาน แปลว่า เพ่ง แต่เรารู้จักคำว่า ฌาน กันแต่ในความหมายเดียว คือเพ่งให้เป็นสมาธิ ส่วนการเพ่งให้รู้แจ้งเป็นปัญญานั้นไม่ค่อยรู้จัก แล้วก็ไม่ค่อยจะเรียกว่า เพ่ง เมื่อดูตามพระบาลีแล้ว ก็ใช้คำว่า เพ่ง หรือ ฌาน นี่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพ่งให้เป็นสมาธิก็เรียกว่า เพ่ง คือ ฌาน จะเพ่งให้เกิดปัญญา เกิดรู้แจ้งก็เรียกว่า เพ่ง คือ ฌาน เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อพูดว่า ฌาน นั้น ในเมืองไทยเราก็มักจะถือเอาด้านแรก ฝ่ายแรก คือ เพ่งให้เป็นสมาธิ แต่ในพระบาลีเขาก็มีชัดเลยว่า เมื่อเพ่งรู้ความจริง สิ่งทั้งปวงอยู่ ก็เรียกว่า เพ่ง บางทีพวกอื่นจะใช้คำนี้ถูกต้องกว่า เช่น คำว่า ฌาน ที่เป็นชื่อของนิกายฌาน ในอินเดีย ก็มาเป็นนิกายซิน หรือเซียงในประเทศจีน แล้วมาเป็นนิกายเซน ที่เรียกกันทั่วโลก คำว่า เซน คำนั้นก็คือคำว่า ฌาน แต่เมื่อไปดูการกระทำอย่างเซนนั้น มันเลยมีครบทั้งอย่างที่เป็นสมาธิ ทั้งอย่างที่เป็นปัญญา แล้วเขาคนกัน หลอมเป็นอันเดียวกัน ไม่แยกเป็นสมาธิ ไม่แยกเป็นปัญญา อย่างนั้นไป พวกเราที่มีการแยก
ทีนี้ก็มาดูที่ระบบอานาปานสติ ตลอดทั้งสาย ทั้งแถว ที่มีอยู่ ๔ หมวดๆ ละ ๔ อย่างเป็น ๑๖ อย่าง ตลอดทั้งแถวเราจะพบทันทีว่า มีทั้งเพ่งอย่างที่เป็นสมาธิ แล้วก็มีเพ่งอย่างที่มันเจือกัน ทั้งที่เป็นสมาธิและปัญญา แล้วมันก็มีการเพ่งชนิดที่เป็นปัญญาสูงสุด จะพูดอย่างนี้ก็ดูยังจะโง่ไปหน่อย เพราะเหตุที่ว่าสมาธิกับปัญญา หรือ ฌานกับปัญญานี้ มันไม่แยกกันได้ แม้ที่เราเรียกว่า เพ่งให้เป็นสมาธิอย่างนั้นนะ มันก็มีปัญญาเจืออยู่ด้วยโดยไม่รู้สึกตัว มันจะมีปัญญาโดยที่ไม่มีสมาธิอยู่ด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือจะมี เพ่งสมาธิโดยที่ไม่มีปัญญาเจืออยู่ด้วยนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อไปเพ่งเล็งถึงความเป็นสมาธิ มันก็เห็นความเป็นสมาธิ ไม่เพ่งกันในส่วนที่เป็นปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ที่มันซ่อนอยู่ มันอุดหนุนอยู่ เป็นปัจจัยอยู่ ดังนั้นแม้การเจริญอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง คือ เรื่องกำหนดลมหายใจนี้ มันก็เพื่อความเป็นสมาธิ มีอาการของสมาธิอยู่เต็มตัว มีปัญญาน้อยๆ ซ่อนอยู่ใต้นั้น คือ มันรู้จักเพ่ง รู้จักกำหนด รู้จักอะไรต่างๆ มันก็เป็นส่วนที่เป็นปัญญา ก็ยังไม่แสดงตัวออกมาที่เรียกว่า อานาปานสติหมวดที่ ๑ นี้เป็นเรื่องสมาธิ
พอมาหมวดที่ ๒ ที่ ๓ นี้ก็แสดงตัวออกมา พร้อมๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ก็เลยมีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาที่เห็นอยู่ พอไปถึงหมวดที่ ๔ มันเป็นเรื่องของ ปัญญา ทำหน้าที่เต็มที่ เรื่องของสมาธิก็ซ่อนอยู่ เหมือนกับซ่อนอยู่ แต่มันก็ทำร่วมกันไปกับปัญญา ขอให้ถือเป็นหลักเอาไว้ว่า สมาธิกับปัญญานี้ไม่ได้แยกกัน เพียงแต่อะไรออกหน้าก็เรียกชื่อตามนั้น ที่เรียกว่า เจโตวิมุตติ ก็เพราะปัญญามันออก ถ้าสมาธิมันออกหน้าที่เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะปัญญามันออกหน้า แต่ที่แท้มันมีด้วยกันทั้งสองอย่าง บางทีก็เรียกว่า สมถยานิกะ มีสมถะเป็นญาน กับ วิปัสสนายานิกะ มีวิปัสสนาเป็นญาน ถ้าไปแยกกันเด็ดขาด ก็เป็นเรื่องโง่เขลา สมถยานิกะก็มีอำนาจสมาธิ หรือจิต เป็นใหญ่ออกหน้า ปัญญามันซ่อนอยู่ ถ้าวิปัสสนายานิกะก็อาศัยกำลังปัญญาออกหน้า สมาธิมันซ่อนอยู่
ทีนี้ถ้าจะถามถึงศีลอยู่ที่ไหน ศีลนี่ยิ่งเป็นเรื่อง เรื่องได้เปรียบ หรือมีกำไรมาก หรือไม่ต้องทำแยกออกไปว่าเป็นศีล เพราะเมื่อมีการสำรวม ระวัง เพ่งให้เป็นสมาธินั้น อันนั้นท่านก็เรียกว่าศีล คือ การบังคับตัวให้ทำการเพ่ง ให้มีการเพ่งๆ รวมไปได้ อันนั้นเรียกว่า ศีล เพราะเหตุฉะนั้นเมื่อมีการลงมือทำอานาปานสติแล้ว ก็จะมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ครบทั้งสามประการ เพียงแต่ว่าในบางขณะ บางตอนนั้น บางอย่างมันออกหน้าให้เห็นชัด บางอย่างมันซ่อนอยู่ แต่มันก็มีอยู่ด้วย นี้เป็นที่ยอมรับกันทั้งในบาลีและในอัตคาถา หรือหนังสือทั้งหลาย เพราะการสร้างจิตสำรวมระวังเพ่งสมาธิ นั้นนะ มันเป็นตัวศีลอยู่ที่การเพ่ง ก็ต้องควบคุม ต้องสำรวม ต้องระวัง ต้องตั้งเจตนาที่จะดึงจิตไว้แต่ที่นี้ ไม่ให้หนีไปไหน ก็เป็นศีล ก็กำหนดลงไปที่อารมณ์ ด้วยจิตสงบหยุดนั้น เป็นสมาธิ ทีนี้กำหนดลงไปที่อารมณ์ เพื่อให้รู้ความจริงทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็น ปัญญา ไม่ต้องไปห่วงว่าจะต้องแยกกันทำ ให้ดีออกมาเป็นชั้นๆ อย่างนั้นมันจะทำไม่ได้ แล้วมันจะไม่ได้ทำด้วยซ้ำไป เพียงแต่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มันก็ทำไม่ได้ซะแล้ว ตั้งใจทำสมาธิ เป็น อานาปานสติ ทีแล้ว มันจะเป็นศีลขึ้นมาทีแล้ว เป็นสมาธิ เป็นปัญญากลมเกลียวกันไป ในเรื่องที่จะปรารภให้เป็นความรู้พื้นฐาน เอ, ล่วงหน้าก่อนมันก็มีอย่างนี้
ทีนี้เป็นอันว่า เราจะทำสมาธิ แบบ อานาปานสติภาวนา โดยเห็นว่าเหมาะกว่าแบบอื่นทั้งหมด หลักของเรื่องนี้ก็มีอยู่ในพระบาลี อานาปานสติสูตร ในสุตันตปิฎก ตอนที่เรียกว่า มัชฌิมนิกาย ไม่ใช่คิดขึ้นเอง ไม่ใช่ตั้งขึ้นเอง ทีนี้คำอธิบายก็มีในสูตรอื่นๆ ว่าทำอย่างไร เขาก็มีละเอียดมากใน สุตันตปิฎก ส่วนที่เรียกว่า พุทธกนิกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ตอนที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทามรรค นี่ ที่อธิบาย อานาปานสติ อย่างละเอียดอยู่ที่นั่น ตลอดทั้งอานิสงส์ของอานาปานสติ ก็มีอยู่ทั่วไปในสูตรทั้งหลาย และในพระปฏิสัมภิทามรรค นี้ ถ้ามันเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดไปกว่านั้นอีก เราก็อาศัยคำอธิบายในหนังสือที่เขาแต่งขึ้นเฉพาะ เช่น หนังสือวิสุทธิมรรค บ้าง ก็เลยได้คำอธิบายที่สมบูรณ์พอสำหรับเรื่องอานาปานสติ ทีนี้ก็เลยแนะการทำอานาปานสติไปตามแนวนั้น คือตามพระบาลีซึ่งกล่าวถึงแล้ว ไปตามอัตคาถา ไปตามหนังสือชั้นหลังๆ ที่อธิบายส่วนปลีกย่อย อย่าลืมว่าในรูปพระพุทธภาษิตนั้นก็มีสั้นมาก เพราะมันคล้ายกับว่ารู้กันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสเอ่ยถึงแต่ชื่อ คือท้าวๆ สั้นๆ
ทีนี้การทำอานาปานสติ ถือเอาตามชื่อนี้ก็คือมีสติ กำหนดธรรมะ หรือว่าความจริงอะไรก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า นี่ ความหมายของคำๆ นี้ กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไม่ใช่สิ่งเดียว มันแล้วแต่ว่า ขั้นไหนจะต้องกำหนดอะไร สิ่งที่ถูกกำหนดเรียกว่า สัจจะ หรือว่า วัตถุ ก็กำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า อานาปานสติ ผู้ทำก็ต้องมีการปรับปรุงบ้าง เช่น ต้องไม่มีเรื่องรบกวนอะไรต่างๆ พอสมควร มีร่างกายที่เหมาะสม แล้วก็เวลาที่มันหมาะสม ความสงบสงัดได้ตามสมควร ต้องมีที่ๆ เลือกได้ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ ถ้าไปยึดมั่นตัวหนังสือแล้วอาจจะเลือกไม่ได้ หาที่ไม่ได้เลยไม่ต้องทำกัน ถ้าหาที่สงบสงัดได้ ก็อยู่ในป่า ก็ดี ถ้าไปอยู่ที่บ้านก็ไปเลือกในมุมที่มันจะหาความสงบได้เท่าไรก็เท่านั้นแหละ ถ้ามันหาไม่ได้ก็อย่าไปรู้ไปชี้กับมัน นั่งลงไปแล้วก็ทำกำหนด อย่าไปใส่ใจกับอะไรหมดมันก็ได้อยู่ดี แม้นั่งอยู่ในรถไฟก็ทำได้ ถ้าคนมันไม่ขี้โกง มันไม่มีจิตใจยึดมั่นถือมั่น อย่างนั้นอย่างนี้ มารยาสาไถย คือเราไม่รู้ไม่ชี้ ก็คิดดูเถอะ นั่งอยู่ในรถไฟที่กำลังวิ่งไป คนโดยสารมากๆ ก็ยังทำได้ ที่ประเทศอินเดีย คนไปนั่งทำอยู่ตามโบราณสถานที่เงียบสงัดอยู่ตามธรรมดา แต่พอถึงเวลาที่คนเข้าไปชมโบราณสถานกันมากๆ มันก็ไม่รู้ไม่ชี้ มันก็หลับตามทำของมันได้ตามความประสงค์ นี้ได้ประจักษ์แก่ใจตัวเองมาแล้วว่า เรื่องสถานที่นี้มันแก้ปัญหาได้ โดยการที่ไม่ไปรู้ไปชี้กับอะไร เป็นอันว่าไม่ต้องมีปัญหาว่าหาสถานที่สงบสงัดไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าหาได้มันก็ดี ในป่า ในถ้ำ ในอะไรออกไป มันง่ายขึ้น แต่เราอาจไม่จะเก่งก็ได้ สู้คนที่ทำได้ทุกหนทุกแห่งไม่ได้
ทีนี้การตระเตรียมนี่ รู้เอาเองก็แล้วกัน มีร่างกายสบายดีพอสมควร ไม่ใช่ว่าจะ จะไม่เจ็บไข้อะไรเลย หรือว่ามันจะ จะอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ทีนี้เนื่องจากว่ามันต้องทำกับลมหายใจนั้นก็ต้องปรับปรุงระบบการหายใจบ้างตามสมควร เช่นอย่างน้อยก็ทำให้ช่องจมูกนั้นมันสะอาด ให้มันโล่ง มันคล่อง วิธีที่ใช้กันทั่วไปก็คือว่า สูดน้ำเข้าไปแล้วก็สั่งออกมา สอง สามหน ก็ดี คล่องจมูกที่เหมาะที่จะทำการหายใจ เพื่อทำสมาธิชนิดนี้ น้ำน้อยๆ ในกลางใจมือ สูดเข้าไปแล้วสั่งออกมา ไม่ใช่ว่าสูดเข้าไปมากๆ เดี๋ยวสำลัก ให้อยู่ที่สงัดแล้วนั่งตัวตรง ที่ระบุไว้ชัด ดำรงสติมั่น เริ่มกำหนดลมหายใจ ทีนี้คำว่า นั่ง และคำว่า ตัวตรง นี่ มันมีเงื่อนไขอยู่บ้าง นั่งก็ต้องนั่งชนิดที่ล้มยาก เขาจึงมีวิธีมาแต่เดิม โบรมโบราณ ก่อนพุทธกาล ที่เรียกว่านั่งสมาธิ หรือนั่งขัดสมาธิ เดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่านั่งขัดสมาธิ ก็คือนั่งเพื่อสมาธิ แต่ถ้าในคำบาลีแท้ๆ เขาว่า นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตวา นั่งคู้ขาเขามาโดยรอบ เช่นว่า ยึดขาเข้าไปแล้วคู้ขา เข้ามานั้น เกิดอาการเรียกว่า ปลฺลงฺกํ อยู่ที่แข้งขานี่ไม่ใช่บัลลังก์ เตียงตั่ง ที่เอามาตั้ง ปลฺลงฺกํ ที่หมายถึง แข้งขา สะโพกของเรามันคือ มันคือรองรับที่ดี ก็เรียกกันว่า นั่งขัดสมาธิ นั้นถูกที่สุด เพราะว่ามันขัดขาเข้าไว้เพื่อความมั่นคงแน่นแฟ้น นั่งขัดขาชนิดที่ล้มยากทำกันมาแต่โบรมโบราณจนชินเป็นนิสัย สำหรับชาวอินเดีย เลยได้ชื่อว่านั่งตามแบบชาวอินเดีย พวกฝรั่ง พวกจีนที่ได้รับวิชานี้ ทีหลังก็เลยต้องใช้คำว่า นั่งตามแบบของชาวอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียเขาก็ทำได้เป็นธรรมดาสามัญอยู่เลย ถ้าเรานั่งอย่างนี้เหมือนที่กำลังนั่งอยู่นี้ไม่มีขาซ้อนกันเลยนี่ มันก็หลวมไป แล้วมันยังออดแอดได้ง่ายนี่ ออดแอดอย่างนี้ได้ง่าย ถ้าเราพับมันอย่างนี้มันก็แข็งขึ้น ก็เรียกว่าดีขึ้นมาครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราพับมันขึ้นมาอย่างนี้อีกที มันก็ยิ่งแน่น มันนอนมันล้มยาก เรียกว่ามันแน่น จึงต้องเรียกว่า ใช้คำว่าขัด ขัด นี่ก็เป็นเทคนิคอันหนึ่ง ที่เรียกว่ามันแน่น แล้วมันล้มได้ยาก แม้ที่เป็นสมาธิ เป็นครึ่งสมาธิ เป็น Sub-construct อะไรนั่นมันก็ล้มไม่ได้โดยธรรมชาติ
นี่คือหนึ่ง คือว่า มันไม่เจ็บ มันไม่มีกระดูกถูกพื้น ถ้าเป็นคนอ้วนหน่อย กล้ามเนื้อทั้งหลายมันก็ไปรองแทน กระดูกไม่ถูกพื้น ตาตุ่มไม่ถูกพื้น เข่าไม่ถูกพื้น กระดูกก้นก็ไม่ถูกพื้น ถ้านั่งอย่างนี้ ก็นั่งได้นาน ถ้าว่าต้องการให้ตัวตรง ก็คือเหยียดกระดูกสันหลังให้มันถึงที่สุด ให้มันตรง ทุกคนที่เคยนั่งคดๆ เป็นนิสัยอยู่ ฝึกกันใหม่ได้ ด้วยการที่เอาเข่านี่ พับลงไปอย่างนี้ แขนมาค้ำบนเข่าอย่างนี้ มันยืด สุดขึ้น มันก็ยืดได้ นี่เป็นการทำให้กระดูกสันหลังตรง หรือตัวตรง เมื่อกระดูกสันหลังตรง มันก็มีผล การหายใจดี เลือดลมดี อะไรต่างๆ ดีกว่าธรรมดา พร้อมที่จะทำสมาธิ นี่ก็ไปหัดกันบ้าง อย่าไปนั่งก้มๆ มัน มันผิดอยู่หลายอย่าง หายใจก็ไม่สะดวก เลือดลมก็ไม่สะดวก กระดูกสันหลังก็ไม่ได้มีประโยชน์ ตามอนามัย
ที่นี้ ก็มีปัญหาที่ชอบถามกันนักว่า จะให้ลืมตาหรือจะให้หลับตา นี่ก็ต้องตอบว่า ถ้าเป็นนักเลงแท้ๆ เขาลืมตาม ไปอินเดีย ก็สอบถามมา พวกโยคีทั้งหลายเขาแนะให้ลืมตา นั่ง นั่งอย่างนี้ แล้วก็ยึดตัวอย่างนี้ ทำเหมือนกับจะดูที่ปลายจมูก ตั้งใจจะดูทั้งที่มันดูไม่เห็น ตั้งใจจะดู ตั้งใจจะดูให้มันเห็น มันก็ไม่เห็นสิ่งอื่น ก็แปลว่าเมื่อลืมตาอยู่ก็ไม่เห็นสิ่งอื่น เพราะมันต้องการจะดูที่ปลายจมูก ประโยชน์ของการลืมตามก็คือ ง่วงนอนยาก แล้วก็ตาไม่ร้อน แต่ถ้าคนอ่อนแอ ไม่ใช่นักเลง เขาก็บอกว่าเขาทำไม่ได้ เขาจะหลับตา ก็ได้ ก็ตามใจ แต่ถ้ามันง่วงนอนง่ายเพราะตามันร้อน ดังนั้นการตั้งต้นด้วยการลืมตานี้ มันเข้มแข็งกว่า มันเป็นนักเลงกว่า ถึงแม้ตามันค่อยหรี่ด้วยมันเอง มันใกล้สมาธิเข้าไป แล้วมันก็หลับของมันเอง นี่ก็เป็นสมาธิโดยสมบูรณ์ นี่การปรับปรุงเกี่ยวกับเนื้วตัว จมูก ตา ไปอยู่ที่สงัด นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ แล้วก็ดำรงสติมั่น แล้วกำหนดอารมณ์ คือลมหายใจนั้น
ทีนี้เรามีลมหายใจที่หายใจออกเข้าอยู่เป็นอารมณ์ ก็ต้องทำอารมณ์นี้ให้มันชัด คือหายใจให้มันเป็นระเบียบ ให้มันแรงพอที่จะกำหนดได้โดยง่าย หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า ให้รู้ว่ามันถูกต้อง หรือมันเรียบร้อย มันสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงกำหนดอยู่ว่า มันเป็นอย่างไร เป็นลำดับไป ทีนี้อุบายที่จะช่วยให้ง่ายเข้า หลังจากที่ได้ลองดูหลายๆ อย่าง หรือว่าเป็นเวลานานพอแล้ว ก็จะวางวิธี ให้มันง่ายที่สุด ไว้เป็นบทเรียน วิ่งตามนี่ ข้อสองก็เฝ้าดู ข้อสามก็สร้างมโนภาพ คิดอย่างนั้น แล้วก็สี่ เอ้อ, บังคับมโนภาพนั้นได้ตามปรารถนา แล้วก็ห้า สอบสวนดูให้มีองค์การครบทั้งห้า หนึ่งเฝ้า หนึ่งวิ่งตาม สองเฝ้าดู สามสร้างมโนภาพตรงนั้น สี่ควบคุมมโนภาพได้ตามปรารถนา ห้ากระทำองค์การทั้งห้า ให้ครบถ้วน
ให้วิ่งตาม และเฝ้าดู นั่นคือทำตามกำหนดลงไปที่อารมณ์ตามธรรมชาติ คือลมหายใจ แล้วขั้นที่สาม ทำมโนภาพให้เกิดขึ้น นี่ก็กลายเป็นนิมิตอันใหม่ ที่ทำให้ติดตาติด เอ่อ, ความรู้สึกได้ โดยที่หลับตาก็มองเห็น แล้วอันที่สี่ ที่เรียกว่า ควบคุมมโนภาพได้ตามปรารถนา นี่คือ อารมณ์ที่เราทำอยู่ในอำนาจของเราได้ ที่เรียกว่า ปฏิภาคะนิมิต ต่อไปนั้น ก็ทำให้พร้อมที่จะเกิดสมาธิ ลงมือด้วยการวิ่งตาม หายใจออกวิ่งตาม ออกไป หายใจเข้า วิ่งตามเข้ามา อะไรที่วิ่งตาม จะใช้คำว่าเราก็ได้ ใช้คำว่าจิตก็ได้ ใช้คำว่าสติก็ได้ ใช้คำว่าเรา นี่สมมุติ ใช้คำว่าจิต มันก็ยังพร่า ถ้าใช้คำว่าสติ ก็คือ ความรู้สึกของจิต ที่มันวิ่งตาม ให้กำหนดง่ายๆ ก็หายใจให้มันหยาบ ทำจังหวะ ออกไป แล้วก็เข้ามา ออกไป แล้วก็เข้ามา จะใช้มือช่วย หรือใช้ ในชั้นแรกให้ฝึกทำกันอย่าง เหมือนกับไล่เรียง ก ข ก กา นี่ ใช้ตัวก้ม ไปบ้างก็ได้ หายใจออกก็หงายมาทางหลังนิดหน่อยก็ได้ แล้วก็หายใจเข้า ให้มันง่ายขึ้น เพื่อให้ลมหายใจมันชัดขึ้น ถ้าคนมันโง่หรือเซ่อเกินไป จะใช้หายใจให้มีเสียงก็ได้ ขออภัย พูดหยาบๆ ถ้าพูดคำหยาบ ก็ตรงๆ หายใจดังฟืดฟาดก็ได้ เพราะคนที่มัน ขี้ง่วง หรือว่ามันเซ่อซ่า มันกำหนดยาก ลมหายใจนี่มันละเอียดเกินไปก็ หายใจให้แรงเข้า หายใจให้มีเสียงเข้า แล้วก็โยกตัวช่วยบ้าง หายใจออก หายใจเข้า ถ้าโง่กว่านั้นอีก ก็ทำมือเป็นจังหวะด้วย หายใจออก หายใจเข้า ก็ทำมือ หายใจออก หายใจเข้า เดี๋ยวมันก็หายโง่ มันก็กำหนดได้
ทีนี้จะใช้อะไรช่วยอื่นๆ อีกก็ได้ ถ้าคนเขาติด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ใช้ พุท-โธ พุท-โธ ตามจังหวะนี่ก็ยังได้ มันได้แต่ในเบื้องต้น ต่อไป มันไม่ต้องทำ ทีนี้ก็ใช้วิธีนับ ก็ได้ ควบคุม ความยาว ความสั้น ด้วยวิธีนับมาก นับน้อย อย่างนี้ เรียกว่าวิ่งตาม หายใจออกกว่าจะสุด นับหนึ่งถึงห้า หายใจเข้ากว่าจะสุด นับหนึ่งถึงห้า ถือว่าพอดี ถ้าจะยืดลมหายใจออกไป ก็นับให้เท่าๆ กัน เอ่อ, หายใจเท่าๆ กัน แต่ว่านับไล่ออกไปเป็นสิบ พยายามให้ยาวเท่า ระยะหายใจให้ยาวเท่า หรือจะนับให้ลดลงมาเพียงสอง เพียงสามนี่ ลมหายใจก็ต้องสั้นเข้า เดี๋ยวก็สังเกตความยาว หรือความสั้นได้ ในขณะที่วิ่งตามลม สติกำหนดลมนี่ ให้รู้จักว่าลมนี่ หายใจเป็นอย่างไร ยาวเท่าไร สั้นเท่าไร รู้ความแตกต่างของลมหายใจยาว ของลมหายใจสั้น ไปในบทเรียนที่หนึ่ง ที่เรียกว่า วิ่งตาม กระทั่งว่า ยังมีการหายใจอยู่นี่ มันจะมีความคิดอะไรเกิดขึ้นมารบกวน เขาก็ไม่เอาทั้งนั้น เขาจะวิ่งตามอย่างเดียว จะวิ่งตามอย่างซื่อสัตย์ จึงต้องสมมุติขึ้นมา คล้ายๆ กับว่า ลมหายใจนี่ก็เหมือนกับวัตถุ ที่วิ่งเข้า วิ่งออก แล้วก็สมมุติว่า จิตตั้งต้น อยู่ที่จงอยจมูกนี่ จุดของจมูก สำหรับการเข้า พอเข้าไปลึกถึงส่วนท้อง จะสมมุติที่สะดือก็ได้ เพระว่าความเคลื่อนไหว หรือความรู้สึก มันหยุดที่นี่ แล้วมันจะออกมาอีก เอาข้างในเป็นตั้งต้น ข้างนอกเป็นปลาย มันก็สลับกัน เข้า-ออก เข้า-ออก ก็รู้ว่าระยะที่เข้าไปสุด หรือออกสุด แล้วมันจะกลับเข้าไปอีก หรือออกมาอีก มันมีช่องว่างอยู่บ้าง ที่จะเปิดโอกาสให้สติมันขาดตอน หรือที่เรียกว่าจิตมันวิ่งหนีไปที่อื่น มันก็ต้องกำหนดให้ชัดไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปสุด ก็สมมุติซิ ว่ามันสุดอยู่ตรงนั้นแล้ว ไปตั้งต้นออกมาอีก ใช้สมมุติ อย่างนี้ช่วย ทีนี้ก็การกำหนด ก็ทำได้ง่ายขึ้น ไม่เปิดโอกาส หรือช่องว่างให้จิต หรือสตินี้มันขาดตอน มันหนีไปเสียที่อื่น ไปคิดอย่างอื่นได้ นี่เรียกว่าใช้วัตถุแท้ๆ คือลมหายใจนี่ เป็นอารมณ์ หายใจให้แรง หายใจให้มีเสียง เห็นพวกสวามีบางคน เขาหายใจเหมือนกับนกหวีด เหมือนกับนกหวีดน้อยๆ เป่าอยู่ มันก็ยิ่งง่าย ได้ยินเสียงหายใจเป็นเหมือนกับนกหวีด นี่เรียกว่า วิ่งตามนะ คำอธิบายย่อๆ มีอย่างนี้ ก็ไปทำให้ได้ ให้มีการวิ่งตาม เข้า-ออก เข้า-ออก ไม่มีช่องว่างให้จิตนี้ไปที่อื่น แล้วพร้อมกันนั้น ก็ให้รู้จักว่า มันต่างกันอย่างไรในการหายใจครั้งหนึ่งๆ แล้วจะพบความต่างกัน บางทีหายใจสั้น บางทีหายใจยาว เพราะอารมณ์เวลานั้น มันก็จะเปลี่ยนได้ แต่ถ้าหายใจที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็สม่ำเสมออยู่ได้เอง แล้วก็เปลี่ยนไปตามอารมณ์ ถ้าอารมณ์โกรธขึ้นมา ก็หายใจสั้นเข้า อารมณ์สบายดี ก็หายใจยาวขึ้น ถ้าโกรธขึ้นมา ลมหายใจมันก็หยาบ ถ้าปกติดี ลมหายใจมันก็ละเอียด แล้วหยาบก็คู่กับยาว เอ้อ,สั้น ละเอียดก็คู่กับยาว โดยวิธีนี้เราสามารถทำความหยาบให้ละเอียดได้ โดยการบังคับสั้น-ยาว นั่นเอง ถ้าเราบังคับให้ยาว มันก็ละเอียดเอง ถ้าหายใจให้มันสั้นเข้า มันก็หยาบเอง ก็แปลว่าเราบังคับ ความหยาบ ความละเอียดได้ ด้วยการบังคับสั้น-ยาวของลม
ทีนี้เราก็บังคับลึกลงไปถึงจิตใจได้ คือถ้าเราบังคับลมได้ มันบังคับกายได้ เพราะกายกับ ร่างกายกับลมหายใจ มันเนื่องกันอยู่ ถ้าลมหายใจหยาบ กายก็ฟุ้ง หรือ หยาบ ถ้าลมหายใจละเอียด กายก็ประณีตหรือระงับ ถ้าเราบังคับลมหายใจให้ประณีตได้ ให้ลมหายใจระงับได้ กายนี้ก็จะสงบลง ระงับลงเหมือนกัน เราก็ได้เคล็ดตอนนี้ ถ้าหายใจยาวเป็นอย่างไร หายใจสั้นเป็นอย่างไร หายใจหยาบเป็นอย่างไร หายใจละเอียดเป็นอย่างไร ต่อไปเราก็ควบคุมได้ ตามความประสงค์ ควบคุมลมหายใจได้ ก็คือควบคุมร่างกายนี้ได้ ควบคุมจิตได้ด้วย เพราะฉะนั้น บทเรียนที่หนึ่งก็วิ่งตาม วิ่งตาม อย่าไปนึกถึงเรื่องอื่น อย่าไปเอ่อ, อย่าไปนึกถึงขั้นต่อไป มันฟุ้งซ่าน เพราะเรากำลังเรียนชั้นแรก ชั้นหนึ่งอนุบาลกัน จะทำจะวิ่งตาม ถึงเวลาก็วิ่งตามๆ จนมันได้ มันจะกินเวลากี่วัน หรือกี่สัปดาห์สุดแท้ เราหัดเป็นคนวิ่งตามให้ได้ดีที่สุด ให้แนบเนียนที่สุด เพียงเท่านี้ก็ได้อานิสงฆ์เหลือหลาย ที่นี้ก็ขอลองตัวนะ จะทำให้รู้จักความสงบ ความระงับ มีลมหายใจถูกต้อง มีอนามัยดี มีสติ เริ่มขึ้นแล้ว คือการที่ หรือความเป็นผู้มีสติที่ดี เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่า ฝึกชั้นแรก วิ่งตามลมหายใจเท่านั้น แล้วก็มีปัญญาเพิ่มขึ้นบ้างนิดหน่อย รู้จักสังเกตุ รู้จักควบคุม รู้จักขยับขยายปรับปรุง ขั้นที่หนึ่งก็มีย่อๆ อย่างนี้ ที่ตามบทเรียนที่หนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงบทเรียนที่สอง ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คือไม่วิ่งตามแล้ว จุดที่เหมาะที่สุดก็คือ ที่ปลายจมูก ที่ลมกระทบ ทั้งเข้า ทั้งออก หรือตลอดเวลานี้ ให้ถือเอาจุดนั้น เป็นจุดที่จะเฝ้าดู ดังนั้นจะต้องหัดสังเกตุ การกระทบของลมนั้น ที่จงอยจมูกนั้น ให้รู้สึกชัดเจน ทำให้ไวต่อความรู้สึกยิ่งขึ้น ก็อยากจะสมมุติว่า ตรงนั้นมันมีแผล เนื้ออ่อน พอลมมาถูกหน่อยก็รู้สึกแสบ รู้สึกสะเทือน นี่ สมมุติอย่างนั้นได้ ได้ผล ถ้ามันไม่รู้สึก ก็หายใจแรง ให้มันได้มีการสังเกตุได้ มันกระทบที่ตรงนั้น ก็เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ต้องวิ่งตามเข้า วิ่งตามออก มันก็ยากขึ้นไป หลายเท่าตัวนะ เพราะมันมีโอกาสให้สติ หรือจิตหนีไปเสีย ก่อนที่จะมาที่จุดนั้น นี่เราก็มีวิธีแก้ในชั้นแรกไม่ให้มันมีโอกาสหนีไป ก็โดยการหายใจให้มันหยาบอยู่อย่างนั้น หายใจให้มันมีเสียงซูด-ซาด ซูด-ซาด ไม่ขาดตอนนี่ แปลว่ากำหนดเป็นที่ เมื่อมันกระทบที่นี่ กว่าจะหายใจเสร็จมันก็มีการกระทบที่ตรงปลายจมูกเมื่อกี้นี่ ตลอดเวลา หายใจเข้าเหมือนกัน ระวังแต่ว่า ระยะหัวเลี้ยงหัวต่อที่เข้าแล้วจะออกนี่ มันจะว่าง เป็นโอกาสที่มันจะหนี ถ้าเราไปนึกถึงทีแรกที่เราไปวิ่งตาม วิ่งตาม วิ่งตาม มันไม่หนีไปได้ เพราะเราทำให้มันติดต่อกัน นี่ก็เขียน เขียนเป็นอย่างนี้ เขียนเส้นกราฟ ไม่มีขาดตอนอย่างนี้ แล้วทีนี้ก็เก่งขึ้นมา ถึงขนาดที่เรียกว่า เฝ้าดูอยู่ที่จุดๆ หนึ่ง บทเรียนที่สอง เฝ้าดู เฝ้าดู เฝ้าดู จนให้มันชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น มันประณีตหรือว่าทำยากขึ้นมาอีกชั้น เพียงแต่ว่าถ้าทำได้ มันก็จะเลื่อนไปขั้นที่มันประณีตกว่านั้น คือขั้นที่สามที่เรียกว่า ทำมโนภาพให้เกิดขึ้นที่นั่น ที่จุดนั้น มโนภาพนี่ ก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นภาพติดตา ไม่ใช่ของจริง สร้างขึ้นด้วยการเห็น ด้วยตา ข้างใน เมื่อเราหลับตาลงไป นั้นแหละ คือมโนภาพ ทีนี้เราอยากจะมีมโนภาพที่จุดนั้น เราจะน้อมจิตไปว่าเราจะมีการเห็นภาพอะไรที่ตรงนั้น มันก็จะเกิดดวง เกิดภาพอะไรขึ้นมา ตามสมควร ถ้าเราจะใช้วิธีลัดบ้าง ภาพอะไรที่มันจะติดตาเรา เช่น ภาพดวงไฟ ที่เราเคยฝึกมาแต่ก่อน เรายืมมาใส่ที่ตรงนั้น ก็ได้ นึกภาพอะไรที่เรามักเห็นเป็นดวง เป็นแสงง่ายๆ สมมุติ เราเรียกว่ามโนภาพ เอามาใส่ที่ตรงนั้น แต่ถึงอย่างไร มันก็สามารถจะตั้งขึ้นได้ ในเมื่อมันเพ่งหนักเข้าๆ จิตเป็นสมาธิมากขึ้น รายละเอียดเกี่ยวกับมโนภาพนี้ คือในหนังสือชั้นหลังๆ เขียนไว้ ระบุไว้ ว่าเป็น เหมือนกับปุย สำลี หรือปุยขนแกะเล็กๆ เกิดขึ้นที่ตรงนั้น หรือหมอกควันขาวๆ เป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นที่ตรงนั้น มันไม่ได้เกิดจริง แต่ว่าตามันเห็น ที่เรามโนภาพ แปลว่าเราจะลืมไปหมด ลืมทุกทิศทุกทาง ตาไม่ลืมก็ได้ ง่ายขึ้น แต่เห็นหลับตา แต่เห็นภาพที่ตรงนั้น เป็นเหมือนกับว่า ก้อนสำลีเล็กๆ หรือว่าก้อน กลุ่มควัน กลุ่มเมฆเล็กๆ นี่ก็ง่ายขึ้น ก็มันอาจแต่สดใสกว่านั้น เหมือนกับว่าเป็นหยดน้ำค้าง อยู่ที่ตรงนั้น หยดน้ำค้างบนใบไม้ เวลาเช้า หรือกระทั่งว่า เหมือนกับใยแมงมุม ที่วาวๆ อยู่กลางแสงแดดที่ตอนเช้า เล็กๆ อยู่ที่ตรงนั้น กระทั่งดวงพระจันทร์เล็กๆ อยู่ที่ตรงนั้น ดวงอาทิตย์เล็กๆ อยู่ตรงนั้น เขียนไว้มาก เราทำได้ง่ายชนิดไหน ก็เอาชนิดนั้นไปก่อน ให้มันแน่วแน่ นิ่งๆ คือมโนภาพนิ่ง อยู่ที่ตรงนั้น นี่ก็ต้องสังเกตุดูว่า มันลำบาก หรือมันยากขึ้น มันต้องควบคุม ต้องปรับปรุงอะไรต่างๆ มาก มันจึงจะรักษาอะไร สิ่งนั้นไว้ได้ ความเป็นสมาธิก็มากขึ้น ความสามารถในการบังคับจิต ควบคุมจิต มันก็มากขึ้นตามตัว นี่ก็สร้างมโนภาพขึ้นที่จุดนั้น เป็นบทเรียนที่สาม ได้สำเร็จ
ทีนี้ก็เลื่อนไปบทเรียนที่สี่ ที่มันยากขึ้นไปอีก คือการน้อมจิตไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สิ่งนั้น สมมุติว่าเราชอบภาพดวงจันทร์เล็กๆ อยู่ที่ตรงนั้น หลังจากที่เราได้เลือกมาหลายอย่างแล้ว ในที่สุดก็เลือกภาพดวงจันทร์เล็กๆ ที่จุดนั้น น้อมจิตไป ก็จะเปลี่ยนแปลง เช่นสีของวงนั้น เช่นขนาดของวงนั้น เปลี่ยนอิริยาบท หมายความว่า มัน มันลอยไป ให้มันกลับมา หรือให้มันลอยไป วนไป วนมา น้อมจิตไปอย่างไร มันจะเห็นภาพเป็นอย่างนั้น จะต้องรู้ไว้ตลอดเวลาว่า นี้เป็นเพียงผลของการอบรมจิต บังคับจิต ไม่ใช่ของจริง ถ้าจะเป็นไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ต้องทำแรงมากจนทำให้ผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียง พลอยเห็นภาพนั้นไปด้วยได้ เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องการอย่างนั้น เอาแต่เพียงว่า เป็นผู้สามารถบังคับจิตได้ ให้เกิดความรู้สึก หรือการเห็นอย่างไรได้ นี่มันก็สามารถสูงขึ้นมาอีก คือมีความเก่งในการบังคับจิตมากขึ้นมาอีก บังคับให้เห็นอย่างไรก็ได้ ให้เปลี่ยนอย่างไรก็ได้ นี่ก็แปลว่า คล่องแคล่วดีหมดแล้ว อยู่ในกำมือแล้ว ในส่วนนี้ ที่เรียกว่า เปลี่ยนแปลงหรือควบคุมมโนภาพนั้นได้ ตามความประสงค์ ก่อนจะมาถึงขั้นนี้ ทุกอย่างมันถูกกระทำ ถูกฝึก ถูกอะไรมาก นี่มันเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ ซึ่งจะไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ฌานได้
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ห้า ที่จะเลื่อนจากขั้นที่สี่ ไปสู่ขั้นที่ห้า คือทำองค์การให้เกิดขึ้น ก็เลือกเอาภาพ มโนภาพที่ดี ที่พอใจ ที่สะอาด ที่เหมาะสมที่สุด นิ่งๆ ที่ออกมานิ่งๆ ไม่เปลี่ยนแปลง กำหนดภาพนิมิตนิ่งๆ ที่ทำความรู้สึกในข้อที่ว่า จิตกำลังกำหนดอารมณ์นั้น ที่เรียกว่าวิตก คือจิตรู้สึกต่ออารมณ์นั้น อย่างทั่วถึง ที่เรียกว่า วิจารณ์ พร้อมกันนั้นเราสบาย แล้วเราพอใจ รู้สึกพอใจ จนมีผลแก่เนื้อแก่ตัวว่า ซาบซ่านไปทั้งตัว อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า ปิติ ถึงอีกความหมายหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ก็มีความรู้สึกว่าเป็นสุขด้วย มีความสุขด้วย ปิติ กับความสุข ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ปิติ คือพอใจ กระทำได้สำเร็จ สุข นี่ รู้สึกเป็นสุข ก็สังเกตุเห็นความรู้สึกที่เป็นปิติ และความรู้สึกที่เป็นสุข แล้วก็รู้สิ่งที่เรียกว่า เอกคตา มียอดอยู่ที่สิ่งๆ เดียว เอกคตา มีมิติหรือยอดสุด อยู่ที่สิ่งๆ เดียว คืออารมณ์นั้น เรียกว่า เอกคตา นับได้เป็นห้าอย่าง คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกคตา ถ้าความสมบูรณ์อย่างนี้มี ก็เรียกว่ามีองค์ประกอบของปฐมฌาน ครบถ้วน เรียกว่าบรรลุปฐมฌาน ทีนี้อาการที่ขณะนั้น ไม่มีนิวรณ์รบกวนเลย ความรู้สึกที่เป็นบาป เป็นอกุศลทั้งหลาย ก็สิ้นไป มีจิตรู้สึกเป็นสุข ปิติ เป็นสุข มีความรู้สึกที่เป็นปิติและเป็นสุข อยู่ เพียงเท่านี้ก็เรียกได้ว่า ทำสมาธิ ภาวนาธิ ที่ได้ความสุขทันใจ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ในชาตินี้ ไปพลาง ไม่ต้องรอกว่าจะตาย ถึงจะได้นิพพานที่ไหนกันก็ไม่รู้ หรือจะได้นิพพานชั่วคราว นิพพานชิมลอง ลิขิต เป็นอย่างนี้ ในขั้นเริ่มแรก นี่ก็เป็นสุข
ก็นับดู บทเรียนทั้งห้า วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพขึ้นที่จุดที่เฝ้าดู ควบคุมมโนภาพได้ตามปรารถนา แล้วก็เอามาใช้สำหรับกำหนดเพื่อให้เกิดองค์การทั้งห้า นี่คือ สมาธิอานาปานสติ ภาวนา งวดที่หนึ่ง ซึ่งระบุไว้ในพระบาลีนั้นว่า หนึ่งก็คือ รู้ลมหายใจยาว สอง รู้ลมหายใจสั้น สาม รู้กายสังขาร รู้จักกาย สังขาร คือรู้จักการที่ลมหายใจนี่ ทั้งยาว ทั้งสั้น มันปรุงแต่งร่างกายนี้เป็นไปตามอำนาจของลมหายใจที่ยาวหรือสั้น มันรู้จักกายสังขาร รู้จักลมหายใจที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งกาย รู้สึกตอนที่ร่างกายมันขึ้นอยู่กับลมหายใจ นี่ ที่เรียกว่า รู้กายสังขาร ขั้นที่สาม ทีนี้ขั้นที่สี่ ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หมายความว่า ทำลมหายใจละเอียดลงๆ จนกระทั่งเป็นสมาธิ อย่างที่ว่า มีเอ่อ, ปฐมฌาน คือการระงับลงแห่งกายสังขาร ถึงขนาดมาตรฐานอันหนึ่งแล้ว ทีแรกแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก และหายใจเข้า แม้ว่ากำหนดลมหายใจยาว ก็กำหนดรู้อยู่ทั้งหายใจออก หายใจเข้า กำหนดลมหายใจสั้น ก็กำหนดอยู่ที่หายใจออก หายใจเข้า รู้ข้อเท็จจริงที่ว่า กายสังขาร คือลมหายใจ ปรุงแต่งกายอยู่ นี่ก็รู้ ความรู้อันนี้อยู่ทุก ทั้งหายใจออก-เข้า คือมันรู้จริง รู้ว่าร่างกายกำเริบไปหน่อยแล้ว ลมหายใจมันหยาบ หรือมันสั้น ร่างกายระงับกว่า เมื่อลมหายใจมันยาว หรือว่ามันละเอียด ไม่ใช่เอาตามตัวหนังสือ ไม่ได้เอาตามการคำนวน ต้องเอาจากความรู้สึก คือรู้สึกอยู่จริง ในเวลานั้น ว่าเมื่อลมหายใจมันยาว กายมันก็ ลมหายใจมันก็ประณีต กายมันก็ ร่างกายก็พลอยประณีต ความร้อนมันลด คือความสั่นไหวแห่งกายมันไม่มี
ตั้งแต่ที่เริ่มวิ่งตาม ทำให้รู้ลมหายใจยาว รู้ลมหายใจสั้น กระทั่งรู้ว่า ลมหายใจนี้ปรุงแต่งกาย กายขึ้นอยู่กับลมหายใจ ทีนี้พอมาถึงขั้นที่ สร้างมโนภาพได้ กำหนดควบคุมมโนภาพได้ ก็เรียกว่าเราควบคุมกายสังขารได้ จนกระทั่งทำขั้นที่สี่ คือทำกายสังขารให้ระงับ นี่ก็คือการบรรลุ ปฐมฌาน
ทั้งหมดที่มีอยู่สี่ขั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น สั่งกาย รู้จักกายสังขารแล้วก็ทำกายสังขารระงับอยู่ ก็เป็นการปฏิบัติได้ ด้วยการปฏิบัติบทเรียนทั้งห้า คือวิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพที่จุดนั้น แล้วก็ควบคุมมโนภาพได้ตามความปรารถนา ทำความรู้สึกที่เป็นองค์การทั้งห้าองค์ ให้เป็นองค์ชัดอยู่ในความรู้สึก มีขัน อาณาปานสติ งวดที่หนึ่ง มีอยู่สี่ขั้น มีวิธีปฏิบัติ ที่ทำให้เป็นเทคนิค หรือให้เป็นเคล็ดที่มันง่าย เป็นบทเรียนห้าข้ออย่างนี้ คือจะหาคำอธิบายอย่างนี้ไม่พบ ในพระบาลี ในอรรถกถา เขาก็อธิบายไว้ยืดยาว ยืดยาด พลิกไปพลิกมา เดี๋ยวนี้ ได้สรุปให้มันสั้นเข้า ก็ทำให้สำเร็จรูป เพื่อให้คนที่ต้องการจะศึกษาได้ง่าย ทำได้ง่าย มันเป็นห้าขั้น ห้าขั้น เอ่อ, ห้าบทเรียน จดไว้ถูกต้องก็ดี คือตามเฝ้าดู สร้ามโนภาพขั้นที่จุดนั้น ควบคุมมโนภาพไปตามปรารถนา มีความรู้สึกในองค์การทั้งห้าองค์ครบถ้วน ปฏิบัติตามหมวดที่หนึ่งได้ คือรู้ลมหายใจยาว รู้ลมหายใจสั้น รู้กายสังขารทั้งปวง ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ นี่ก็มีอยู่เท่านี้ มันพอแล้ว สำหรับผู้ที่จะทำอานาปานสติ
ส่วนหมวดที่สามเรื่องเวทนา หมวดที่สี่เรื่องจิต หมวดที่ห้าเรื่องเอ่อ, หมวดที่สามเรื่องจิต หมวดที่สี่เรื่องธรรมนั้น ยังมีอีกมาก ยังไม่สนใจในเวลานี้ มันจะทำให้ฟุ้งซ่าน ทำกายทำใจในชั้นที่ว่าเป็นสมาธิกันเสียดีกว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ มันมีความเปลี่ยนแปลงมากในร่างกาย มีอนามัยดี มีร่างกายดี มีระบบการหายใจดี มีสติสัมปชัญญะดี มีความสามารถในการที่จะบังคับร่างกายที่มันขึ้นลงได้ดี ไม่ว่ามันจะร้อน มันจะกำเริบ มันจะอะไรต่างๆ มันจะบังคับได้ดี กระทั่งสามารถจะบังคับความตื่นเต้นต่างๆ ได้ แม้กระทำเพียงเท่านี้ ต่อไปข้างหน้ามันยังมีอีกมาก ยังมีประโยชน์ มีอานิสงส์อีกมาก ยังไม่ต้องนึกถึงก็ได้ เอาเพียงเท่านี้ก่อนดีกว่า สำหรับการบรรยายในครั้งแรกในวันนี้
ก็จะทบทวนมาว่า เราจะไปหาที่สงัดตามสมควร เท่าที่จะหาได้ การนั่งให้ตัวตรง แล้วก็ดำรงสติตามที่กำหนด การหายใจออก-เข้า ตามวิธี คือ แนะให้ห้าบทเรียน เป็นการเฝ้าดูตามมโนภาพ ควบคุมมโนภาพ ทำให้มีองค์การทั้งห้าเกิดขึ้น มันก็พอสมควรแก่เวลา พมสมควรแก่การที่จะจำได้ นี้ ไปลองดูขั้นแรกซิ จะกินเวลากี่วัน กี่สัปดาห์ กี่เดือนก็สุดแท้
หมายความว่าอย่างไร ฟังไม่ถูก บอกให้มันชัดหน่อย ถามให้มันชัดหน่อย เอ้อ, เข้ามาตรงนี้ก็ได้ พูดให้มันชัดๆ ก็ได้ ว่า ว่าอย่างไร
คำถาม (นาทีที่ 1.23)
ก็ตรงนั้น เพราะว่ามโนภาพมันสร้างขึ้นที่ตรงนั้น แล้วก็ไม่แนะให้สร้างขึ้นที่อื่น
คำถาม (นาทีที่ 1.23.20)
มันแล้วแต่กำลังทำอยู่ในขั้นไหน ขั้นที่สาม กำหนดมโนภาพ เราเพ่งจะ อยู่แต่ตรงนั้น อย่าไปเป็นห่วงโน่นนี่ มันมีว่า มโนภาพ มันก็เห็นอยู่ในตาข้างใน แล้วลมหายใจก็ยังหายใจอยู่ ไม่ใช่ว่าจะลืมลมหายใจ นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งด้วยเหมือนกัน ลมหายใจที่จะต้องรู้สึกอยู่ตลอดเวลา เข้า-ออก เข้า-ออกนั้น มันก็เป็นเครื่องรับประกันความฝั่นเฟือน ความลืมสติ ความเผลอสติ อะไรต่างๆ คือจะไม่เคลิ้มไป เป็นบ้า เป็นอะไรไป นี่ก็เป็นหลักอันหนึ่งเหมือนกัน จะกำหนดอะไรที่ไหน ในขั้นไหนก็ตามแต่ ลมหายใจนั้นยังคงรู้สึกอยู่เสมอว่าหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจเข้า หรือหายใจออก มันแปลกตรงที่ว่า คล้ายกับว่าจะไม่สามารถบังคับได้ หรือจะกำหนดได้ กำหนดลมเอ้อ, กำหนดมโนภาพก็เห็นอยู่ ส่วนที่เป็นการหายใจออก-เข้านี้ ก็ยังรู้สึกอยู่ มันประณีตอย่างนั้น มันคงจะทำยากบ้าง ก็ไม่ได้แนะให้สร้างมโนภาพที่อื่นนี่ นอกจากที่ปลายจมูก มันก็ต้องกำหนดที่นั่น ในขั้นที่ว่าจะบังคับมโนภาพให้มันเปลี่ยนไป เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนสี เปลี่ยนต่างๆ นั้น นั้นมันขั้นต่างหาก แต่แม้อย่างนั้น ก็ไม่ลืมที่ว่า มันมีการหายใจออก-เข้าอยู่ ออก-เข้าอยู่
แม้กรรมฐานอย่างอื่น สมาธิอย่างอื่น ที่ไม่ใช่อานาปานสติ ก็มีหลักอย่างเดียวกัน คือต้องกำหนดอารมณ์ เอ่อ, คล้ายๆ วัตถุ คล้ายๆ กับมโนภาพ เพราะฉะนั้นต้องถูกตามเรื่องของมัน จึงจะทำไปได้ ไม่เช่นนั้นมันมีอุปสรรคอย่างอื่น ถ้าทำถูกตามเรื่องจะไม่รู้สึกง่วง จะไม่ง่วง หรือว่าจะไม่เจ็บ ไม่ปวด จะไม่อะไรต่างๆ เป็นการพัฒนาจิตให้ดีกว่าที่ธรรมชาติมีให้ ไม่มีปัญหาหรอก
คำถาม (นาทีที่ 1.26.46)
นั้นมันก็เรื่องอำนาจ เขาสงเคราะห์ในปัญหาเกี่ยวกับปิติ ปิติควบคุมไม่ได้ มากเกินไป หรือ ก็อยู่ในพวกเต้น พวก ได้ เหมือนกัน ปิติ คือควบคุมไม่ได้ มันมีอาการต่างๆ แต่มันยังมีอีกแบบที่เขาต้องการอย่างนั้น ที่เขาต้องการ อยากจะทดสอบ จะฝึกตัว ฝึกตัว ให้ลอย เป็นเรื่องอื่น เรื่องแขนงอื่นที่จะฝึกตัวให้ลอย มันจะต้องสร้างปิติ ชนิดที่ทำให้สั่นขึ้นมาก แล้วก็มันสั่นมากขึ้น จนกระดอนจากพื้น จนกระโดดไปนั่น มันเป็นเรื่องไม่อยู่ในจุดนี้ ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้นในชุดนี้ มันก็ต้องควบคุมปิติให้ได้ แล้วก็ตั้งต้นใหม่ให้ได้ ตั้งต้นใหม่จากทีแรกอีก คอยระวังให้ดี มันมีความละเอียดประณีตในทีแรกๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น คือว่าลบ ใหม่ ตั้งต้นใหม่ รายละเอียดอย่างนี้มีอยู่ในหนังสือเล่มใหญ่ สามเล่มนั้น เป็นคำอธิบายจากคัมภีร์คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค อาจจะโคลงเคลง อาจจะตัวสั่น หรืออาจจะ หลายๆ อย่างที่เป็นความรื่นเริง เป็นปฏิกิริยาของ ของระบบประสาท กับสิ่งที่ถูกควบคุม มันก็ต่อต้านพักหนึ่ง ในที่สุดมันก็เรียบร้อยไปได้ จิตนี่มันเป็นของแปลก ไม่ไปแตะต้องเข้า ก็คล้ายๆ กับไม่มีอะไร พอไปแตะต้อง ไปควบคุมเข้า มันจะต่อสู้ แล้วก็จะ จะโลดโผนมาก
คืออย่าไปจริงไปจัง ไปมั่นหมายอะไรนัก มันจะเกิดอุปสรรคอย่างอื่น ในชั้นนี้ให้ถือคล้ายๆกับว่าเป็นศิลปะอันหนึ่ง ที่จะทำเล่นๆ ดูก่อน ถ้ามั่นหมายอะไรนักแล้วมันจะทำไม่ได้ ความหมายมั่นมันมากเกินไป มันเป็นข้าศึกแก่สมาธิ ยิ่งไปอยากดี อยากเด่น อะไรด้วยแล้ว เดี๋ยวมันก็เกิดความวิปริตอย่างอื่นเกิดขึ้น ทำไปก็แล้วกัน เหมือนหัดเตะตระกร้อ ค่อยๆ ทำไป
คำถาม (นาทีที่ 1.30.30)
ถ้าเป็นบ้า ก็หมายความว่า เจตนาผิดมาแต่ทีแรก มันทำให้เกิดในสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ อย่างนี้เป็นบ้า ถ้าเราหมายมั่นแต่เพียงว่าต้องการให้จิตสงบ ก็พบทางที่ ไม่เป็นบ้า พอมันไม่สงบเราก็ปัดออกไป เราไม่ต้องการ เราต้องการความสงบ ตามที่เขาเคยเล่าให้ฟัง หรือไป ในสมัยที่เขาทำกันมากๆ ล้วนแต่มีเจตนาไม่ซื่อ ไม่บริสุทธิ์มาแต่ทีแรก จะหาทางออกได้ จะเอาเปรียบผู้อื่น อย่างนี้ท่าจะเป็นบ้าทุกราย พอเป็นนิมิตที่เรายึดถือ ได้แล้ว เอาแล้ว เช่นอยากจะเหาะได้ มันก็คิดวิปริตแต่ทีแรก เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสงบ ต้องการความสงบต่างหาก ไม่ใช่จะเหาะได้ เขาก็เกิด เอ่อ, ผิดปกติหน่อย เขาก็ว่าเขาสำเร็จแล้ว เขาจะเหาะได้ เรื่องนี้ต้อง ต้อง แน่นอนไปทีแรกว่า เราไม่ต้องการอะไรพิเศษ มหัศจรรย์ นอกจากความสงบ คือว่า จิตที่ฝึกดีสำหรับเพื่อที่จะทำความสงบ จะตัดกิเลส ควบคุมกิเลส
อานาปานสติ ก็มีหลายแบบ นี่แบบตามพระบาลี เดิมแท้ๆ เขารู้จักทำกันมาก่อนพระพุทธเจ้าก็ได้ คือเพียงแต่การควบคุมลมหายใจ ควบคุมหายใจได้ตามปรารถนา เป็นสมาธิบ้าง นี่พระพุทธเจ้าท่านมาเสริม เสริมมันขึ้นไป เป็น อานาปานสติ แบบที่จะหมดกิเลส ระเบียบปฏิบัติอันหนึ่งเขาเรียกชื่อมันว่า ปราณายาม ที่รู้กันทั่วอินเดีย ใช้เป็นรากฐานมาแต่ดึกดำบรรพ์ ปราณายาม แปลว่า บังคับปราณ คือลมหายใจ แม้ระบบอานาปานสตินี้ ก็เป็น ปราณายาม ชนิดหนึ่ง ตอนหนึ่ง ปราณายาม เป็นภาษากลาง ใช้กัยทั่วไปทุกลัทธิ ทุกภาษา ปราณะ อายามะ เขาเรียกกันว่า ปราณายาม
เอ้า, ดึกแล้ว ปิดประชุม กลับที่พักแล้ว