แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จะทำอะไรกัน จะให้ทำอะไรกัน ก็พูดกันมาแล้วไม่ใช่หรือที่ลำปางหรือหลาย ๆ แห่งด้วย ได้ยินว่าพูดกันมา แล้วมีครูอาจารย์ไปทำสาธิตให้ดูด้วย อาจารย์สมทรง แล้วพระเหล่านี้มีหน้าที่ไปสอนตามโรงเรียนอย่างนั้นหรือ
พูดถึงเรื่องการเตรียมตัว การปรับปรุงตัวเตรียมตัวสำหรับจะเป็นผู้สอนศีลธรรมในโรงเรียน เดี๋ยวนี้พระเราก็ยังหลับตามืดตื้ออยู่ว่า ไอ้กระทรวงหรือโรงเรียนเขาต้องการศีลธรรมอะไร ชนิดไหน ที่เขาวุ่นวายกันอยู่นั่นมันเรื่องอะไร นี่เราก็ยิ่งไม่รู้ว่าศีลธรรมอะไร อย่างไร มันต้องให้แน่นอนลงไปว่า กระทรวงเขาต้องการศีลธรรมชนิดไหน
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาจะต้องการอย่างไรในโรงเรียน ถ้าเมื่อจะไปสอน ก็ต้องขอดูหลักสูตรเขาเสียก่อนว่า เขาต้องการให้นักเรียนรู้อะไร แนวไหน สักเท่าไร ไม่อย่างนั้นมันอาจจะผิดความประสงค์ของเขา นี้ก็ ๆ จะต้องเลิกกัน
อย่างที่ผมพูดอยู่เสมอ ทุกคราวที่เขาพาเด็กมาที่นี่ เราก็พูดถึงเรื่อง ให้เด็ก ๆ ทุกคนเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ให้เด็ก ๆ ทุกคนเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ให้เด็ก ๆ ทุกคนมันเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนของมัน ให้มันเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติตั้งแต่เล็ก ๆ ไปทีเดียว ให้มันเป็นพุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้า ๕ ๕ หัวข้อ ๕ ดี ๕ หัวข้อ เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพุทธมามกะที่ดี และทุกข้อน่ะ มันอาจจะแยกออกไปได้เป็นศีลธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเลยก็ได้
เพียงแต่เขาเป็นบุตรที่ดี คือเชื่อฟังบิดามารดาอย่างนี้ มันก็เข้าไปตั้งครึ่งตั้งค่อนแล้ว เรื่องของศีลธรรม ก็บิดามารดาเขาก็สอนล้วนแต่เป็นเรื่องศีลธรรม ต้องการการประพฤติปฏิบัติเพื่อศีลธรรม และยิ่งเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ด้วยแล้ว มันจะหมดเลย ปัญหามันจะหมดเลย
ไอ้เรื่องเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น มัน ๆ ก็มีรากลึกซึ้งมาก คือให้เขารู้สึกว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เพื่อนทุกข์ เพื่อนคือเพื่อน ๆ ทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย คือเพื่อนทุกข์ ถ้ามันรู้สึกเป็นเพื่อนทุกข์ มันก็เบียดเบียนกันไม่ได้ มันจะชกต่อยเพื่อนกันก็ไม่ได้ ทำร้ายใครก็ไม่ได้ ทำร้ายสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตเป็นเพื่อน
ทีนี้การเป็น ๆ พลเมืองที่ดีของประเทศชาตินั้น ๆ กระเดียดไปทางการเมือง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็ยังเจืออยู่ด้วยหลักธรรมทางศาสนา เพราะว่าเรามีประเทศชาติ รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณประเทศชาติ ก็ต้องทำตนให้เป็นไอ้พลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
ข้อสุดท้ายที่ว่า เป็นพุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้า ข้อนี้มันครอบหมดทุกข้อเลย ถ้ามันเป็นพุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้าได้จริง ไอ้ ๔ ข้อนอกนั้นมันไม่เป็นปัญหา เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็สอน ครบถ้วนบริบูรณ์ มารวบรวมได้ว่า มันปฏิบัติตามแล้ว มันก็จะเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีได้ แต่มันยังสูงเกินไป เด็กฟังไม่ค่อยถูกว่า เป็นพุทธมามกะที่ดีนั้นคือเป็นอย่างไร
ดังนั้นจึงมาพูดถึงที่มันต่ำสุด คือว่าเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดากันเสียก่อน แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ มันก็ต้องศึกษากันให้เข้าใจ ให้ละเอียดลออที่สุด ในเรื่องต่าง ๆ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตรนี้
เรา ๆ พูดจนถึงกับให้เด็กเขายอมรับว่า ทั้งหมดของเรานั้นมันได้มาจากบิดามารดา ดังนั้นชีวิตของเราอาจจะเสียสละเพื่อบิดามารดาก็ได้ เป็นความถูกต้องและยุติธรรม เพราะชีวิตได้มาจากบิดามารดา ให้ถือว่าบิดามารดายังเป็นเจ้าของชีวิตของลูกอยู่ ถ้าเด็ก ๆ เสียสละชีวิตเพื่อบิดามารดาได้ มันก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้บิดามารดาร้อนใจ ไม่ต้องการถึงให้เสียสละชีวิตเพื่อบิดามารดา ต้องการเพียงเพื่อจะไม่ทำให้บิดามารดาร้อนใจ ไม่ว่าในลักษณะไหนหมด เพื่อทดแทนพระคุณของบิดามารดา
นี่จะให้เขาเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา มันก็ต้องมีเค้าโครงของการพูดจาอย่างนี้ ถึงในหัวข้อที่ว่า จะเป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี ก็เหมือนกัน กระทั่งพลเมืองที่ดี พุทธมามกะที่ดี เอ่อ, พระเราผู้สอน มันต้อง ๆ รู้จักเรื่องนี้ดี มันต้องเคยเป็นมาก่อนด้วยหรือกำลังเป็นอยู่ด้วย ถ้าพระเณรก็ดื้อหรือเกเรต่อครูบาอาจารย์ ต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ ให้เด็กเห็นอยู่อย่างนี้ มันก็ทำกันไม่ได้ นี้ก็พระเณรก็ยังทะเลาะวิวาทกันอยู่ระหว่างบุคคล ระหว่างนิกายอะไรนี้ ก็ทำให้เด็ก ๆ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนยากเหมือนกัน เพราะเด็ก ๆ เขาเห็นอยู่ว่า แม้แต่พระมันก็ไม่เป็นเพื่อนที่ดีของกันและกัน
มันต้อง ก็ต้องเข้าให้ถึงใจความสำคัญ ของทุกคำทั้ง ๕ คำนี้ คือเรายึดเอา ๕ คำนี้เป็นหลัก บุตรที่ดีของบิดามารดา ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เพื่อนที่ดีของเพื่อน พลเมืองที่ดีของประเทศชาติ พุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้า ผมว่าเพียงเท่านี้มันจะพอ แล้วมันมาเอาข้อ เอา ๆ ศีลธรรมทุกข้อ ร้อยข้อ พันข้ออะไร มาใส่ลงไปได้ใน ๕ หัวข้อนี้ ไอ้เรื่องการบังคับตัวเอง เรื่องความละอายบาป กลัวบาปอะไรนี่ มันมาใส่ลงไปได้ ในหัวข้อเหล่านี้
เมื่อเราต้องการจะเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี มันต้องมีไอ้ธรรมะทั้งหลาย โดยเฉพาะหิริโอตตัปปะนี่ มันต้องละอายต่อการที่เป็นบุตรที่เลว ละอายหรือกลัวต่อการที่จะเป็นบุตรที่เลว เป็นศิษย์ที่เลว เป็นเพื่อนที่เลว เป็นพลเมืองที่เลว พุทธมามกะที่เลว ดังนั้นเด็ก ๆ เขาก็จะต้องมีความละอาย มีหิริ มีโอตตัปปะ
ทีนี้เขาก็จะต้องบังคับตัว คือบังคับความรู้สึกที่เป็นกิเลส ที่เป็นความรู้สึกใฝ่ต่ำ ก็ต้องบังคับตัว การบังคับตัวหรือบังคับความรู้สึกของตัวนั้น เป็นรากฐานของศีลธรรมอันลึกซึ้งสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการบังคับความรู้สึก มันก็ลุอำนาจแก่ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำผิด ทำชั่ว ทำเลวไปหมด เราก็ต้องการไอ้การบังคับความรู้สึก หรือที่เรียกกันว่า บังคับจิต บังคับตัว
ถ้าเกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับผู้อื่น ให้มันเอียงไปหาไอ้ข้อที่ว่า เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องพูดกันจนถึงกับมองเห็นว่า มันเป็นเพื่อนกันจริง ๆ คนกับคนนี้มันเป็นเพื่อน เพื่อนทุกข์ เพราะมีปัญหาที่เป็นความทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะเป็นนักเรียน ก็มีปัญหาเรื่องความยากลำบากในเรื่องการเล่าเรียน เพื่อนของเราก็เป็นอย่างนั้น ก็เลยรักกัน ช่วยกัน ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่ทำลายกัน
นี้มัน ๆ จะมีกี่หัวข้อ ก็ไปค้นหาเอา ไปรวบรวมเอา รวบรวมเอามาจากไอ้หนังสือตำรับตำราที่เกี่ยวกับศีลธรรม ผมเองก็เตรียมตัวสำหรับจะต่อสู้เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรมอยู่เหมือนกัน รู้สึกว่าเป็นงานสำคัญที่สุด และเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่มันคาราคาซังอยู่ ต้องการให้ศีลธรรมกลับมาสู่มนุษย์ ให้โลกนี้มันมีศีลธรรม ก็พยายามอยู่เรื่อยตลอดเวลา
ส่วนที่จะต้องพูด ก็พูดไว้มากมาย บนธรรมาสน์นี้ได้พูดเรื่องศีลธรรม เกี่ยวกับศีลธรรม มาไม่น้อยกว่าห้าหรือหก หกชุดแล้ว ชุดละสิบสองครั้งบ้าง สิบสามครั้งบ้าง นี่พูดมาไม่น้อยกว่าหกชุดแล้ว คุณคิดดู สิบสองหกก็เจ็ดสิบสองครั้ง พูดเรื่องศีลธรรมทั้งนั้น มันไปพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาเรียกว่า อริยศีลธรรม ศีลธรรมกับมนุษยโลก การกลับมาแห่งศีลธรรมต่าง ๆ เหล่านี้
สำหรับการพูดทุกครั้ง กี่สิบครั้งก็ตาม ผมก็พยายามที่จะไม่ให้มันซ้ำกันในการพูดนั้น เพื่อให้เรื่องมันครบถ้วนและจบ ไม่ใช่จะโฆษณาให้ไปซื้อหนังสือ ไม่ใช่ แต่ว่าบอกให้รู้ว่า มันได้พยายามอยู่อย่างนี้ ตลอดเวลาหลายปีมานี้
คือในส่วนที่ต้องพูดจานั่นก็ต้องทำให้สำเร็จ ต้องทำให้สำเร็จในส่วนที่ต้องพูดจา ในส่วนที่ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติให้เขาดู นี้ก็ต้องทำให้สำเร็จ แล้วส่วนสุดท้ายคือมันมีความสุข หรือประสบความสำเร็จและมีความสุขให้เขาดู นี่ก็ต้องทำเหมือนกัน ต้องแสดงอยู่
ไอ้หลักเกณฑ์อันนี้ ผมเคยพูดมาตั้งยี่สิบกว่าปีแล้วว่า เราจะต้องสอนด้วยปาก หรือจะต้องปฏิบัติให้ดูด้วยกาย วาจา ใจ แม้เราจะรับผลของการปฏิบัตินั้นให้ดู คือมีความสุข สงบ เยือกเย็น มีลักษณะแห่งความเป็นสุขให้ดู ๓ อย่างนี้ถือว่าเป็นวิธีการเผยแผ่สั่งสอนอบรมศีลธรรม
นี่พระทุกองค์พูด ๆ พูดถูกต้อง พูดดี พูดน่าฟัง แล้วพระทุกองค์ปฏิบัติให้เห็นตำตาอยู่ว่า เป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้อง แล้วพระทุกองค์ก็มีลักษณะแห่งบุคคลผู้มีความสุข ที่เรียกว่าอินทรีย์ผ่องใส หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มันผ่องใส มันไม่แสดงความหิวกระหายอยู่ในสายตา อยู่ในผิวหน้า อยู่ในสีหน้า อยู่ในการประพฤติกระทำ ว่ามันมีความหิว หิวที่จะได้นั่น หิวที่จะได้นี่ เป็นกิเลส ตัณหา ราคะ ถ้าว่ามีลูกตาแสดงความเป็นคนไม่มีความสุขให้เขาเห็น เขาก็ไม่อยากจะฟังคำพูดของคนชนิดนั้น เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร
ดังนั้นพระเณรที่จะเผยแผ่ธรรมะหรือศาสนานี่ จะต้องมีลักษณะนี้ ที่เรียกกันว่าบุคลิกภาพ บุคลิกลักษณะอะไรก็ตามใจ ให้มันน่าเลื่อมใส กิริยาท่าทางก็น่าเลื่อมใส สีหน้าก็แสดงว่าเป็นผู้มีความสุข มีความสงบสุขเยือกเย็นอยู่ในภายใน อันนี้ดูจะเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากที่สุดที่จะสอนธรรมะสำเร็จ ข้อที่ว่าพูดจาให้ฟังนั้นก็ มันสู้อันนี้ไม่ได้ ข้อที่ว่าปฏิบัติให้ดู มันก็ยังลำบากยุ่งยาก เหงื่อไหลไคลย้อยอะไรอยู่ มันก็สู้อันที่ว่ามีความสุขให้ดูไม่ได้
ดังนั้นขอให้นึกถึงข้อนี้ให้มาก คือว่าให้มีการเป็นอยู่ มีอิริยาบท มีอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงว่าเป็นผู้มีความสุข ดูพระอรหันต์ท่านเผยแผ่พุทธศาสนากันโดยวิธีนี้ทั้งนั้น คือแสดงเป็นผู้ที่ไม่มีความทุกข์เลยอย่างน่าสนใจที่สุดให้คนเห็น แล้วคนก็เข้าไปติดต่อ เข้าไปสนใจ ไปแวดล้อม ไปถาม ไปขอคำแนะนำ แล้วก็ท่านก็พูดง่าย ๆ ตรง ๆ ไม่เยิ่นเย้อพิสดาร เหมือนที่พวกเรากำลังพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้
ดังนั้นขอให้เอามาจากทางปลายก็ได้ คือว่าเป็นผู้มีลักษณะแห่งบุคคลผู้มีความสุขให้ดูอยู่เป็นประจำ นั่นแหละจะเผยแผ่ศีลธรรมได้ดีที่สุด และถัดลงมาก็ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้เห็นอยู่เป็นประจำ และถัดลงมาอีกก็ พูดจาให้เขาฟัง
ทีนี้มาถึงไอ้เรื่องพูดจาให้เขาฟังนี่ มันก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนกัน ไอ้ที่พูด ๆ ๆ แล้วมันก็เลิกกันนั้นน่ะ มันไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะว่าบางทีมันก็พูดอย่างนกแก้วนกขุนทอง บ้าน้ำลายไปเสียก็มีนะ ระวังให้ดี ตามหลักของพระพุทธเจ้า ต้องแสดงธรรมให้มีความไพเราะ ในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และเบื้องปลาย การแสดงธรรมของเราต้องมีความไพเราะ ในเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย
ความหมายของคำทั้ง ๓ นี้ ดูจะยัง ๆ จำกัด ไม่แน่นอน กว้างขวางมาก เอาละ, เป็นอันว่า ให้มันจับใจผู้ฟัง ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ก็แล้วกัน ให้ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอัตถะพยัญชนะ หมายความว่าไอ้คำพูดที่พูดออกไปเป็นพยัญชนะ เป็นตัวหนังสือ เป็นถ้อยคำ มันก็ชัดเจนดี ถูกต้องดี ไม่ยากแก่การจำ อย่างนี้เป็นต้น มันเรียกว่าพยัญชนะมันดี แม้มันมีอัตถะ คือความหมายที่ดี มีค่าอยู่ในความหมายนั้น
ก็ลองคิดดูว่า จะไปสอนกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนอย่างไรให้สำเร็จประโยชน์ คำว่าสำเร็จประโยชน์นั่นก็คือ เขาเข้าใจ สนใจที่จะเข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วก็สนใจที่จะปฏิบัติตามด้วยความพอใจ นี่คือความยากลำบากของการสอนธรรมะหรือสอนศีลธรรม ในขั้นที่ต้องพูดจากันนะ ไม่ ๆ ใช่เรื่องปฏิบัติให้ดูหรือมีความสุขให้ดู
ในขั้นที่เราจะต้องพูดจากันด้วยปากนี่ มันยังต้องพูดให้สำเร็จ ไม่ใช่ไปบอกให้เขาเขียนลงในกระดาษ หรือว่าให้เขาจดไว้ในสมุด ให้เขาท่องจำไว้เป็นเรื่องเหมือนกับนกแก้วนกขุนทอง มันต้องพูดจาชนิดที่เขาเข้าใจ สนใจขึ้นมา เห็นด้วย เห็นจริง แล้วก็อยากจะปฏิบัติตาม จนทนอยู่ไม่ได้ จนต้องปฏิบัติตาม หรือถ้าในบางระดับบางกรณี ทนอยู่ไม่ได้ถึงกับตามไปบวช ไปอยู่ด้วยกันอย่างนี้
สรุปความสั้น ๆ ว่า ในการที่จะไปสอนเด็ก ๆ มันก็ต้องไปสอนให้เขาเกิดความพอใจในศีลธรรม รักที่จะปฏิบัติศีลธรรม แล้วแต่ว่าจะสอนอะไร ข้อไหน ต้องสอนถึงขนาดที่เรียกว่าเขาเข้าใจ พอใจ แน่ใจ ตัดสินใจ ที่จะปฏิบัติตามนั้น
นี่คุณไปคิดเอาเอง เพราะมัน ๆ ๆ มากข้อ ผมก็พูดได้เพียงเป็นตัวอย่างบางข้อ เช่นจะสอนว่า ทุกคน จะต้องยึดหลักว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จะพูดอย่างไร จนเขามองเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แล้วเขาก็อยากจะกระทำลงไปให้ตรงกับความหมายอันนั้น คือช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทนนิ่งอยู่ได้ที่จะทนเห็นผู้อื่นลำบากเดือดร้อน
เช่นว่านักเรียนหลายคนในโรงเรียนของเขา บางคนยากจน ไม่มีอะไรจะกิน ทนหิวอยู่ ทีนี้อีก ๆ ๆ พวกหนึ่ง มันมีอะไรกิน มีเงินมีสตางค์ด้วย มีของกินด้วย ถ้ามันเข้าใจความหมายข้อนี้ มันก็จะสละให้เพื่อนที่ไม่มีอะไรจะกินได้ทันที เราจะต้องชี้ให้เขาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง กระทั่งชี้ให้เห็นว่า ที่ว่าได้บุญได้อย่างไรด้วย จนเด็ก ๆ เขาเปลี่ยนจิตใจใหม่ สมาทานการประพฤติปฏิบัติว่า ถ้ายังไม่ได้ให้เพื่อนกินสักนิดหนึ่งก่อนแล้ว เรายังไม่กิน อย่างนี้เป็นต้น
นี้มันไม่ใช่เรื่องสอนกันแต่ปาก มันเป็นการปฏิวัติจิตใจของเขา ให้เปลี่ยนจากความเห็นแก่ตัว จนเห็นแก่ผู้อื่น จนรักผู้อื่น เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ถ้ามีเงินอยู่บาทหนึ่ง ก็จะให้เพื่อนเสียสักห้าสตางค์ สิบสตางค์ก่อน จึงจะไปซื้อ ไปกิน ไปใช้อะไรของตัวอย่างนี้ มันก็ทำให้ไอ้เด็กที่ยากจนไม่มีอะไรนั้น ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ให้คนละห้าสตางค์ หลาย ๆ คนเข้า เขาก็มีหลาย ๆ ๆ สตางค์ พอที่จะกินจะใช้ได้ ทำให้ทุกคนมันมีกินมีใช้กัน ให้เด็กทุกคนมันมี ๆ สตางค์กินอาหารกลางวัน อย่างนี้เป็นต้นได้
มันคือการเผยแผ่อบรมสั่งสอนศีลธรรมที่สำเร็จประโยชน์ ในข้อที่ว่า สัตว์ทั้งหลายคือเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เราต้องพูดให้เขาเข้าใจ กล้าหาญ พอใจที่จะปฏิบัติตาม เขามีความเชื่อ มีความเห็นแจ้ง เขาทำอย่างนั้นดีแน่ ดีกว่าไม่ทำแน่ แล้วเขาก็ทำ นี่ลองไปคิดดูเถิดว่า เราเข้าไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งนั่น เราจะมีโอกาสกระทำถึงอย่างนี้ไหม
นี้มันหลักศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เราต้องถือว่า ชีวิตทั้งหมดในจักรวาลนี้ เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ลดลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเห็นว่าชีวิตมีแก่ต้นไม้ ต้นไม้ก็มีชีวิต รู้จักเจ็บ รู้จักกลัวเหมือนกันด้วย แล้วก็ไม่ทำอันตรายแม้แก่ต้นไม้ เดี๋ยวนี้เขาพิสูจน์ได้ว่า ต้นไม้ไม่ ๆ เพียงแต่มีชีวิตเฉย ๆ มีความรู้สึกกลัวเจ็บ กลัวตายด้วยเหมือนกัน แต่มันมองด้วยตาไม่เห็น ต้องใช้เครื่องมือ
ดังนั้นเตรียมศึกษาเรื่องราวถ้อยคำที่จะพูดจา พูดให้เขาเกิดศรัทธาให้จนได้ และเชื่อ ให้เชื่อจนได้ เขาก็กล้าที่จะปฏิบัติตาม เขาสนุกสนานในการที่จะปฏิบัติตาม ถ้าทำได้อย่างนั้น นั่นน่ะคือสำเร็จประโยชน์ในการสั่งสอน แก่เด็ก ๆ นักเรียนก็ได้ แก่ประชาชนก็ได้ ต้องทำในความหมายหรือหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน คือให้คนนั้น ๆ เชื่อ เขาพอใจที่จะปฏิบัติตามโดยไม่ต้องเข็นกัน ไม่ต้องเข็นอย่างเข็นครกขึ้นภูเขา ดังนั้นที่เด็กเขาไม่เชื่อ เขาไม่ทำ แล้วครูต้องเฆี่ยนอย่างนี้ มันใช้ไม่ได้ มันไม่สำเร็จประโยชน์แท้ เพราะมันไม่ยอมทำตามโดยจิตใจ มันต้องพูดกันจนเด็ก ๆ เขาสมัครที่จะทำตาม
ทีนี้ไอ้ศีลธรรมที่สำคัญถัดไปอีก เช่นว่าเขาจะต้องบังคับความรู้สึก เราต้องชี้แจงจนให้เขาเห็นว่า บังคับความรู้สึกนี่มันสำคัญอย่างนั้น คือจะมีความถูกต้องเหลืออยู่ จะมีความเป็นมนุษย์ที่ดี จะไม่ทำอะไรผลุนผลันผิดพลาดแล้วต้องเสียใจทีหลัง ไม่ตกเป็นเหยื่อของข้าศึก คือความชั่ว ถ้าเราไม่บังคับความรู้สึก เราก็จะตกไปเป็นเหยื่อของข้าศึก คือความชั่ว เช่นเด็กที่ไม่บังคับความรู้สึก มันก็ไปทำเลว ก็เสียหายหมด การเรียนก็เสียหายหมด อะไรก็เสียหายหมด บางทีจะต้องถึงเจ็บและถึงตาย
การบังคับความรู้สึกนั้น มันเป็นเรื่องธรรมะสูงสุด ไม่ใช่เฉพาะเด็ก แม้ภิกษุสามเณรเรา ก็ต้องบังคับความรู้สึก การละกิเลสเพื่อไปนิพพาน เพื่อถึงนิพพาน ก็ต้องบังคับความรู้สึก บังคับความรู้สึกนี่ก็ใช้กันแต่ต้นจนปลาย ตั้งแต่ลูกเด็ก ๆ จนถึงผู้ที่จะปฏิบัติไปนิพพาน ชี้ให้เห็นความต่างกันระหว่าง การที่บังคับความรู้สึกกับไม่บังคับความรู้สึก
เดี๋ยวนี้ไอ้การทำชั่วทำเลว ที่เรียกว่าอาชญากรรมอันเลวร้าย เต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ไหวแล้ว จะอ่านไม่ไหวอีกแล้ว ความเลวทรามที่เกิดขึ้นในบ้านในเมือง ที่เรียกกันว่าอาชญากรรม ทุกกรณีมันมาจากการไม่บังคับความรู้สึก หยิบขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ แล้วชี้ให้เด็กเห็นว่า เรื่องนี้ก็คือไม่บังคับความรู้สึกอย่างนั้น เรื่องนั้นก็บังคับ เอ่อ, ไม่บังคับความรู้สึกอย่างนั้น
กระทั่งเรื่องเลวร้ายที่สุด เรื่องข่มขืน เรื่องข่มขืนแล้วฆ่า เรื่องฆ่าก่อนข่มขืน นี่ที่เลวร้ายที่สุด เพราะมันไม่มีการบังคับความรู้สึก หรือที่มันจะลักขโมยหรืออะไรก็ตาม มันล้วนแต่ไม่บังคับความรู้สึก มันยากจนเพราะมันขี้เกียจ มันไม่บังคับความรู้สึก ไม่บังคับความขี้เกียจ มันก็ยากจนอย่างนี้ ก็หาทางออกด้วยการเป็นขโมยขึ้น
ถ้าเขียนเป็นรายละเอียดของความรู้สึกที่ต้องบังคับแล้ว มันมีหลายสิบอย่าง ชี้ให้เห็นให้เป็นตัวอย่าง ให้เด็กเขารู้ ๆ จักสังเกตเอาเองว่า ความรู้สึกทุกชนิดน่ะ มันต้องบังคับความรู้สึกนั้นไว้ก่อน จึงจะค่อยกระทำลงไปอย่างนี้ แม้ในการจะทำชั่ว ก็ยิ่งต้องบังคับอย่างรุนแรงหรือบังคับเด็ดขาด เป็นการไม่ทำ แม้ในเรื่องของการทำดี ก็ต้องบังคับความรู้สึกเหมือนกัน เพื่อจะได้พิจารณาดูให้รู้ว่ามันดีแน่ เดี๋ยวมันไม่ดีแน่ผลุนผลันทำไปมันไม่ดีแน่ เมื่ออยากจะทำอะไรที่เขาเห่อๆ ตามๆกันไปว่าดีอย่างนี้ เราก็ต้องบังคับความรู้สึก พิจารณาดูเสียก่อนว่ามันดีแน่
เรื่องการบังคับความรู้สึกเสียก่อนนี้ ไม่มีทางที่จะผิดพลาด ไม่มีทางที่เป็นผลร้าย เพราะมันเป็นวิธีปฏิบัติในพุทธศาสนาของภิกษุ สามเณร หรือนักปฏิบัตินั่นเอง คือว่าต้องมีความรู้สึกที่เป็นสติ สตินี่คือการบังคับความรู้สึก ควบคุมความรู้สึก จัดสรรความรู้สึก แล้วจึงค่อยทำไป คือคิดนึกไป ตัดสินใจอะไรไป
การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นี้ เป็นหลักใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เอาไปให้กับเด็ก ๆ ในนามที่เรียกว่าการบังคับความรู้สึก คือรู้สึกตัวเสียก่อนแต่ที่จะทำอะไร โดยเฉพาะที่จะไปรัก หรือจะไปโกรธ จะไปเกลียด จะไปกลัวก็ตาม ต้องบังคับความรู้สึก มันไม่ต้องไปหลงกระทำอย่างนั้นให้มันเป็นทุกข์ แล้วก็จะพูดกันได้ทุกวัน เรื่องเดียวเท่านั้น คือมันพูดให้ละเอียดลออลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ถ้าเด็ก ๆ เขาบังคับความรู้สึกได้ มันก็ง่ายนิดเดียว ที่จะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เพื่อนที่ดีของเพื่อน พลเมืองดีของประเทศชาติ พุทธมามกะที่ดีของพระศาสนา ที่มันเป็นบุตรเลว ศิษย์เลว เพราะมันไม่บังคับความรู้สึกทั้งนั้น ชี้ตัวอย่างให้ดูให้เห็น บางทีเขาก็เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว
ดังนั้นยึดหลักไอ้ ๕ ดีนั้นไว้ให้เป็นหลัก เพื่อเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพุทธมามกะที่ดี ๕ ดีนี้ไว้เป็นหลัก แล้วจะทำอะไร ทำอย่างไร เพื่อให้มันเกิด ๕ ดีนี้ขึ้นมาได้ และให้มันดี ยิ่งสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปทั้ง ๕ ดี กว่าจะถึงที่สุด แม้แต่การศึกษาเล่าเรียนจะดี ก็เพราะการบังคับความรู้สึก ให้เว้นไอ้ที่ควรเว้น ให้ทำที่ควรทำ
แล้วก็อย่า เอ่อ, ไอ้ศีลธรรมอีกระดับหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง อีกกลุ่มอื่น ยกตัวอย่างมาเช่นว่า ให้เขารู้จักเรื่องทางฝ่ายจิตใจกันเสียบ้าง อย่ารู้แต่เรื่องทางฝ่ายเนื้อหนังหรือวัตถุ ภาษาศาสนาใช้คำว่าเนื้อหนัง คือทางวัตถุ เช่นความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง กับความเอร็ดอร่อยทางจิตทางวิญญาณ
บางทีจะใช้คำว่าความสุข มันจะเข้าใจได้ง่ายกว่าก็ได้ หรือมันจะมีประโยชน์กว่าว่าความสุขทางฝ่ายเนื้อหนัง แก่ความสุขทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง ก็ให้ความสุขทางเนื้อหนัง ความเอร็ดอร่อยทางจิตทางวิญญาณ ก็ให้ความสุขทางจิตทางวิญญาณ ดังนั้นไอ้เรื่องเอร็ดอร่อยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง ก็ให้ความสุขอย่างทางเนื้อหนัง ก็เป็นกามารมณ์ไปอย่างนี้
อย่าให้เขารู้จักแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ให้เขารู้จักไอ้เรื่องทางจิตทางวิญญาณที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ความเอร็ดอร่อยทางจิตทางวิญญาณนั้นมีมา เกิดขึ้นต่อเมื่อเรารู้สึกว่า เราได้ทำความดี ไม่ต้องได้เงิน ได้ของ ได้กิน ได้เล่นอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าทำความดี ว่าเราเป็นคนดี ได้ทำความดีอยู่อย่างนี้ ก็เป็นความเอร็ดอร่อย ทางจิตทางวิญญาณ แล้วก็ให้ความสุขทางจิตทางวิญญาณ ไอ้คำนี้มันพูดยาก ต้องใช้คำว่าทางจิตทางวิญญาณไปก่อน เข้าใจว่าพวกคุณก็คงจะเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร
ถ้าเขารู้จักแต่เรื่องอร่อยหรือความสุขแต่ทางเนื้อหนังแล้ว มันจะลำบาก เขาจะตกเหวของความลำบาก คือเหวของกิเลส แต่ถ้าเขาจิตใจสูงขึ้นมา มาหา มา ๆ รู้จักไอ้ความสุขทางจิตทางวิญญาณ ความเอร็ดอร่อยทางจิตทางวิญญาณ มันก็ไม่ง่ายที่จะตกเหวของความ เอ่อ, ของกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น แล้วความสุขทางจิตทางวิญญาณนี่ มันไม่ต้องลงทุนเป็นเงิน เป็นเรี่ยวแรง หรือเป็นสิ่งของอะไรนัก หรือว่าไม่ต้องลงทุนกันใหม่แล้ว คือมันมีการลงทุนอยู่แล้วในการทำงาน
เมื่อทำหน้าที่ของตัว ให้รู้สึกเป็นสุขพอใจว่า เราได้ทำดี ได้ทำสิ่งที่ควรทำ ได้ทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ นี้พอได้ทำหน้าที่แล้ว ก็มีความรู้สึกยินดี พอใจ เป็นสุข ในการได้ทำหน้าที่ ไม่ต้องรอต่อได้เงินมานะ เพียงแต่ได้ทำเท่านั้นแหละ ก็จะพอใจ ยินดี มีความสุข ถ้ารอต่อได้เงินมา มันก็กลายเป็นเรื่องเนื้อหนังไปอีก เอาเงินมาซื้อหาไอ้ความอร่อยทางเนื้อหนังไปอีก
ดังนั้นความสุขทางวิญญาณไม่ต้องรอ ให้ได้เงินมาหรือต่อเมื่อได้เงินมา เพียงแต่ว่าได้ทำอะไรดี ทำหน้าที่ถูกต้องและประพฤติดี ก็รู้สึกเป็นสุข มีความเอร็ดอร่อยในความสุขชนิดนั้น เช่นได้รับใช้บิดามารดา ทำให้บิดามารดาพอใจ แล้วเด็ก ๆ คนนั้นก็รู้สึกเป็นสุขเต็มที่ในตัวเอง เขาภาคภูมิใจในตัวเอง เคารพตัวเองได้ อย่างนี้เราเรียกว่าความสุขทางจิตทางวิญญาณ
ถ้าทำให้เด็ก ๆ เขารู้จักความสุขชนิดนี้ได้แล้ว ประเสริฐที่สุด เขาจะไม่ลุ่มหลงไอ้เรื่องความสุขทางเนื้อหนัง ทางกามารมณ์มากเกินไป ซึ่งมันเป็นของร้อน แม้มันสุข มันก็ร้อน สุขทางเนื้อหนัง ทางกามารมณ์ แม้จะเรียกกันว่าสุข ๆ มันก็ร้อน ร้อนอย่างลนไฟให้สุก แต่ถ้าความสุขทางวิญญาณ เมื่อรู้สึกว่าได้ทำดีแล้วมันมีความสุข อย่างนี้มันเย็น แล้วเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่รอบด้านนะ พอได้ทำหน้าที่อะไรลงไปเท่านั้น ก็มีความสุข สบายใจ พอใจ นับถือตัวเอง เคารพตัวเอง ไหว้ตัวเองได้แล้วก็ยิ่งเป็นสุข
เคย ๆ เข้าใจคำนี้กันหรือเปล่าว่า พอใจในตัวเองจนไหว้ตัวเองได้ แล้วก็เป็นสุขไม่มีอะไรเท่า พระ เณรเราก็เหมือนกัน ได้ปฏิบัติสิกขาเป็นที่พอใจหรือขนาดยกมือไหว้ตัวเองได้แล้ว มันก็มีอะไรกี่มากน้อย ก็ลองไปคิดดู ถ้ามันไม่มีไอ้ความรู้สึกชนิดนี้มาช่วยแล้ว จิตมันก็เอียงไปหาไอ้ความรู้สึกทางเนื้อหนังหมด ดังนั้นพระเณรเราก็ยังเล่น ยังแสวงหาไอ้ความสุขทางเนื้อทางหนัง อย่างที่ชาวบ้านเขาเอาไปนินทาว่า พระ เณรก็ยังนอนกอดเครื่องวิทยุ กอดทีวีอยู่
มีคนหนึ่งเขาเขียนว่า เขารู้ได้ว่าวันนี้มันมีมวย คือพระเณรไม่ค่อยมาเดินเกลื่อนอยู่ตามถนนหนทาง หายหน้าไปไหนหมดก็ไม่รู้ เพราะวันนั้นมันมีมวย ไปอยู่หน้าทีวีดูมวยกันเสียหมดนี่ มันถึงขนาดอย่างนี้ เขาเขียนอย่างนี้ ลองคิดดู เรียกว่าพระเณรของเราก็ยังตกเป็นทาสของความอร่อยทางเนื้อหนัง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่อย่างนี้ จะไปสอนใครได้ ชาวบ้านเขาก็ไม่นับถือ ถ้าทำอย่างนี้
ดังนั้นเราผู้สอนนี้ต้องรู้จักเสียก่อน ประพฤติด้วยตนเองได้เสียก่อน คือเรารู้จักความสุขทางจิตทางวิญญาณ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน นี้เสียก่อน แล้วก็ไปสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักความสุขทางจิตทางวิญญาณ ถ้าพอใจในเรื่องความสุขทางวิญญาณแล้ว จะค่อย ๆ เกลียดไอ้ความสุขทางกิเลสหรือความสุขทางเนื้อหนังขึ้นมาเอง มันเป็นข้าศึกกันอยู่ในตัว จึงต้องพอกพูนอบรมไอ้ความพอใจในความสุขทางธรรม ที่เรียกกันว่า ธมฺมปีติ สุขํ เสติ มีปีติในธรรมก็รู้สึกเป็นสุข
ถ้าจิตไปชอบอันนั้นเข้าแล้ว มันก็จะเกลียดอีกอันหนึ่งซึ่งสกปรกและร้อน เอ่อ, ความสุขทางวัตถุ ทางเนื้อหนังนั่นมันร้อน อธิบายจนเด็ก ๆ เขารู้จักเปรียบเทียบว่า สุขอันหนึ่งมันร้อนและสุขอันหนึ่งมันเย็น และอันไหนจะเป็นสุขยิ่งกว่ากัน กามารมณ์เป็นสุขร้อน ธรรมะเป็นสุขเย็น ถ้าเขาเกิดเข้าใจอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว มันจะง่ายในการที่จะก้าวหน้าไปในทางของธรรมะหรือศีลธรรม
เปรียบเทียบให้เห็นตัวอย่าง เช่นว่าไอ้ความสุขทางเนื้อหนัง ของอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกรวม ๆ กันว่ากามคุณ มันเป็นความเผาลนตลอดเวลา เด็กๆ ก็พอจะเข้าได้ว่าเป็นความเผาลนตลอดเวลา คือเมื่อยังไม่ได้ กำลังอยากจะได้ มันก็เผาหัวใจเหมือนกับไฟไหม้ ก็อยากจะได้เหมือนหัวใจจะขาด ไอ้เรื่องกามา กามคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ไอ้เรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม ของผู้หญิงต่อผู้ชาย ของผู้ชายต่อผู้หญิง นี่เขาเรียกว่ากามคุณ
เมื่อยังไม่ได้ เมื่อกำลังอยากจะได้ มันก็ร้อนเหมือนกับไฟเผา พอได้มาตามที่ต้องการ มันก็ไม่ใช่จะเย็นหรือหยุดได้ มันยังร้อน คือมันเปลี่ยนไปร้อนในรูปรูปใหม่ เมื่อตะกี้ร้อนเพราะยังไม่ได้ หิวกระหายจะได้ ก็ร้อน ทีนี้พอได้มา ก็รัก ก็หึง ก็หวง ก็วิตกกังวล ก็หวาดระแวงว่า มันจะวิบัติพลัดพราก มันจะนอกใจ มันจะอะไรต่าง ๆ มันก็ร้อนอยู่ตลอดเวลา นี่มันก็เชื่อมกัน เมื่อยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ นี่มันก็ร้อนเพราะอยากจะได้ พอ ๆ ได้มาแล้ว มันก็รัก ก็หึง ก็หวง ก็ระแวง ก็วิตกกังวล ก็ร้อนต่อไปอีกรูปหนึ่ง ไม่มีตอนไหนที่มันจะเย็นได้
ไอ้ส่วนความสุขที่เกี่ยวกับธรรมะ ประพฤติหน้าที่ ประพฤติความดี แม้แต่ว่าเด็ก ๆ เอ่อ, ทำอะไรให้เป็นที่ถูกใจบิดามารดา แล้วมายินดีครึ้มใจอยู่ในใจว่า เราได้ทำดีนี่ นี้มันไม่ร้อน ก่อนทำก็ไม่ร้อน ทำแล้วก็ไม่ร้อน เมื่อยังไม่ได้ทำ ก็อยากจะทำอยู่ ก็ยังไม่ถึงกับร้อนเป็นไฟ ได้มาแล้วก็ไม่ร้อนเป็นไฟ แต่มันเย็น นี่ความสุขประเภทนี้มันเป็นฝ่ายพระนิพพาน ไม่ ๆ ๆ เจือด้วยเหยื่อคือกามคุณ
แม้ว่าเด็ก ๆ ยังจะยังละไม่ได้ ยังทำไม่ได้ ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า มันมีอยู่เป็น ๒ อย่างต่างกันอย่างนี้ แล้วให้ค่อย ๆ รู้จักสังเกตเอาเองว่า อันไหนมันร้อน อันไหนมันเย็น อันไหนมันต้องเสียสตางค์ อันไหนมันไม่ต้องเสียสตางค์เลย ไอ้ความสุขที่เย็นนั้นน่ะกลับไม่ต้องเสียสตางค์เลย ไอ้ความสุขที่ร้อนกลับต้องเสียสตางค์มาก เหน็ด ๆ เหนื่อยมาก ลำบากมาก เสียสละมาก แล้วยังทำไม่ดีไม่งามน่าเกลียดน่าชังอย่างอื่นอีกมาก
นี่ผมเห็นว่า เป็นวิธีสอนศีลธรรมในขั้นที่ต้องพูดจาด้วยคำพูด ถ้าพูด ในเรื่องชั้นพูด นี่ก็พูดให้เห็นแจ้ง เห็นจริง เห็นประจักษ์ จนเกิดความเชื่อ เกิด ๆ ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ที่จะทำอะไรเสียใหม่ให้มันถูกต้อง เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ในการพูดหรือการสอนด้วยปาก
ทบทวนอีกทีหนึ่งก็ได้ว่า เราจะพูดให้เด็ก ๆ เขายอมรับหลักเกณฑ์ที่ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี้จะพูดอย่างไร นี้เราจะพูดให้เด็ก ๆ เขายอมรับ ยอมรับว่าต้องบังคับความรู้สึก คนเราต้องบังคับความรู้สึก เราต้องบังคับความรู้สึก นี่เราจะพูดอย่างไร หรือว่าเราจะพูดให้เด็กเขามองเห็นความสุขที่แท้จริง ที่เยือกเย็นเป็นสุข คือสุขเกิดจากธรรมะ ไม่ใช่ความสุขทางเนื้อหนังนั้นก็มีอยู่ มันต่างกันอย่างไร อันไหนน่าพิสมัย น่าพอใจ จะพูดอย่างไรให้เด็กเขารู้จัก
อย่างน้อยก็ให้รู้จักไว้ทั้ง ๆ ๒ ฝ่ายคู่กันไปก่อน ที่จะให้เขาละไอ้ความสุขทางเนื้อหนังโดยเด็ดขาดนี้ มันคงจะยากลำบากมาก ต้องพูดเก่งมาก ถึงเขาก็จะละได้ ตามธรรมดาจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พยายามพูดให้เห็นว่ามันมีอยู่ ๒ อย่าง ประกวดกันอยู่อย่างนี้ อันหนึ่งเป็นความสุขทางเนื้อหนัง สกปรก เหน็ดเหนื่อย หมดเปลือง อันหนึ่งเป็นความสุขทางธรรมะ เยือกเย็น ไม่น่าเกลียดน่าชัง ไม่หมดไม่เปลือง จะเอาความสุขชนิดไหนกัน
ถ้าเด็กเขาเกิดหันเหมาทางเอาความสุขทางธรรมแล้ว ทีนี้ง่าย ต่อไปนี้จะง่ายมากในการที่จะมีศีลธรรม จะสอนศีลธรรม จะเจริญก้าวหน้าในทางของศีลธรรม เป็นอันว่าเราประสบความสำเร็จในส่วนที่เป็นการพูดจา การสั่งสอนด้วยวาจา ไปรวบรวมมาให้หมดว่า หลักศีลธรรมอะไรบ้างที่ต้องการจะสอนเด็ก ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการก็ดี หรือว่าตามที่เราเห็นว่ามันจะมีประโยชน์แก่มนุษย์ก็ดี พยายามสอนให้สำเร็จประโยชน์ และในที่สุดมันจะเข้ากันได้ มันจะไม่ขัดขวาง
ดังนั้นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะไม่ขัดขวางกันกับไอ้หลักตามหลักธรรมะที่ว่า มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรตามแนวของพระพุทธศาสนา เพียงแต่เราใช้ความระมัดระวังสังเกตสักหน่อย เราก็จะปรับให้มันเข้ากันได้ว่า หลักเกณฑ์ตามหลักทางพระศาสนาในวัดในวาของเรานี่ เอาไปปรับ มันเข้าได้ เข้ากันได้กับความมุ่งหมายและความต้องการเรื่องศีลธรรมของกระทรวง
ผมก็เคยเห็นไอ้หลักสูตรคร่าว ๆ นั้นด้วยเหมือนกัน เห็นแล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่า มีหนทางที่จะประสานให้กลมกลืนกันไปได้ ข้อนี้มันอยู่ที่ความเฉลียวฉลาดของเราเอง ต้องใช้สติปัญญาให้เพียงพอ มันก็ทำให้กลมกลืนกันได้ในระหว่าง ศีลธรรมในโรงเรียนกับศีลธรรมที่มีอยู่เป็นหลักทั่วไปสำหรับศาสนา
พอเราประสบความสำเร็จในเรื่องการพูดจา คือชนะน้ำใจเขาได้ด้วยการพูดจาแล้วก็ ไอ้เรื่องการปฏิบัตินั้นจะไม่ยากแล้ว ก็เขาอยากจะทำเขาเองแล้ว เขาก็มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ทีนี้พอประสบผลขึ้นมาบ้าง เขาก็ยิ่งชอบใจ เพราะมันได้ชิมรสของของแปลกของใหม่ เป็นความสุขเย็นบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง เขาก็อยากจะทำให้มันมากขึ้น นี่เป็นการง่ายแล้วตอนนี้ มันจะลำบากอยู่ที่จุดตั้งต้นที่ว่า ทำอย่างไรจะให้เขาเชื่อ เขามองเห็น และยินดีที่จะปฏิบัติตาม
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึง ข้อธรรมะหรือหลักธรรมะบางข้อ ที่มันพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าไอ้คำพูดที่ใช้พูดนั้นน่ะ มันไม่ถูกต้องหรือมันตลบตะแลง ซึ่งเข้าใจว่าจะต้องประสบกันทั้งนั้น เมื่อต้องการ ๆ จะสอนศีลธรรม คือไอ้หลักเรื่องดีเรื่องชั่วนั่นเอง เขารู้จักกันแต่ผลทางวัตถุหรือทางเนื้อหนัง เขาก็เข้าใจคำว่าดีว่าชั่วผิดไปหมด คือเข้าใจว่า ต้องได้ผลเป็นความสุขทางเนื้อทางหนังจึงจะเรียกว่าดี ถ้าได้ความสุขไอ้ทางธรรม บริสุทธิ์ สะอาด อันนี้เขาว่าไม่ดีหรือเท่ากับไม่ได้อะไร
เขาวางหลักไอ้ความสุขของเขาผิดเสียแล้ว เขาก็มีหลักที่เกี่ยวกับชั่วและดีผิดไปตามด้วย เขาก็ เขาก็ใช้คำพูดไปตามภาษาของเขา คือภาษาคนโง่ จะเรียกว่าภาษาคน ไม่ใช่ภาษาธรรม ภาษาคนมันก็จะต้องพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเขาเรียกว่าภาษาคน คำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พูดตามความรู้สึกอย่างคนไม่รู้อะไร ไม่รู้ ๆ ธรรมะ
ถ้าพูดภาษาธรรมที่ถูกต้อง จะพูด จะพูดว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว โดยไม่ต้องได้ เมื่อไอ้พวกโน้นมันพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันต้องมีการได้ แล้วก็ได้ดีตามความรู้สึกของมัน คือความสุขทางเนื้อหนังมันว่าดี เอ่อ, ส่วนไอ้พวกนี้พูดจริงกว่า ไม่ต้องมีการได้ พอทำดีก็ดีเสร็จ ทำชั่วก็ชั่วเสร็จ ไม่ต้องได้ ขณะจิตนี้เป็นกรรม กระทำลงไปเป็นมโนกรรมตามที่บัญญัติว่าดี พอทำ พอทำมันก็ดีทั้งนั้น พอทำมันก็ดีแล้ว ไม่ต้องได้อะไรอีก นี่คือทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว ไม่ต้องมีได้ แล้วก็ดีจริง ชั่วจริง ทำตามที่เราบัญญัติกันไว้อย่างไร
ไอ้คำว่าดี ว่าชั่วนี้ เป็นเรื่องบัญญัติ ตามที่เป็นที่เข้าใจกันว่า อย่างนี้จะบัญญัติว่าดี อย่างนี้จะบัญญัติว่าชั่ว อันใดบุคคลผู้มีความรู้ บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน มีการบัญญัติอย่างนี้ ซึ่งคนทั่วไปก็ยอมเห็นด้วยว่า อย่างนี้เรียกว่าดี อย่างนี้เรียกว่าชั่ว ทางกายก็มี ทางวาจาก็มี ทางจิตก็มี บัญญัติอย่างนี้ว่าดี บัญญัติอย่างนี้ว่าชั่ว พอไปทำเข้ามันก็ดี ไม่ต้องรอว่าได้ ได้ดีหรือได้ชั่ว พอไปทำเข้ามันก็ดี ไปทำเข้ามันก็ชั่ว
ดังนั้นถ้าเขาเป็นคนมีธรรมะ เมื่อได้ทำดี เขาก็เป็นสุขและมีความพอใจแล้ว และเขาก็ไม่ทำชั่ว เพราะเขาไม่ชอบความชั่ว แต่คนที่มันเป็นทาสของกิเลส ของกามารมณ์ ของเนื้อหนังนั้น มันว่าดี ทำดีได้ดี คือได้ความสุขทางกามารมณ์ เป็นเงิน เป็นทอง เป็นอำนาจวาสนา เป็นปัจจัยอะไรต่าง ๆ ที่จะได้เสวยสุขทางเนื้อหนัง เราจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะพวกนั้นเขามีคำพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ส่วนเรามีคำพูดว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว ไม่ต้องรอได้อะไรอีก คือมันเป็นไปแล้วในขณะที่ทำ เป็นเสร็จแล้วในขณะที่ทำ
พอเราทำความดี เราก็เป็นคนดีเสร็จไปแล้ว พอเราทำความชั่ว เราก็เป็นคนชั่วเสร็จไปแล้ว เขาก็พูดเสียใหม่ว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว ทิ้งไว้ให้พวกที่หนาไปด้วยกิเลส มันก็พูดกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันกระหายด้วยกิเลสที่จะดีตามแบบของมัน หรือถ้าว่าชั่ว ก็ชั่วตามแบบของมัน ส่วนเราก็มีไอ้ความชั่วหรือความดีตามแบบของเรา คือเอาธรรมะเป็นหลัก
นี่ผมก็ยกมาพูดให้ฟังเป็นตัวอย่างว่า ที่จะไปสอนศีลธรรมในหมู่ประชาชนนั้นจะสบปัญหาอย่างนี้ คือเราจะถือว่า ดีเสร็จ ชั่วเสร็จ อยู่ในตัวการกระทำ ส่วนจะได้ผลพลอยได้มา เป็นเงิน เป็นทอง เป็นชื่อเสียง สรรเสริญบ้างหรือไม่นั้น มันไม่แน่ บางทีมันก็ได้ บางทีมันก็ไม่ได้ ทำชั่วตบตาคนมันก็ได้ ได้เงินได้ชื่อเสียงก็ได้ หรือว่าทำดีชนิดที่ตบตาคนมันก็ได้ แต่มันเป็นการได้ที่ไม่จริง หรือมันเป็นผลพลอยได้ไม่ใช่ตัวจริง
ที่มันแน่นอนก็คือว่า ดีจริง ชั่วจริง เสร็จอยู่ในตัวการกระทำ ถ้าโดยมากมันก็ต้องได้ ได้ตามที่ควรจะได้ เช่นว่าคนนี้เป็นคนดี ทำดี อยู่โดยหลักของการทำดี ทำดีก็ดี นี้ก็เป็นที่เคารพนับถือของไอ้คนทั้งหลายเป็นที่ไว้เนื้อไว้ใจ สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปด้วยดี ในเวลาอันไม่นานนัก เขาก็จะเจริญด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญ หรืออะไรต่าง ๆ ได้
นี้เขามักจะแย้งว่า โอ้ย, คนชั่วได้ดี คนดีได้ ๆ ลำบากได้ชั่ว นี้ชอบอ้างกันนักว่า ลูกของฉันทำแต่ความดี ทำไมถูกถอด ทำไมถูก เอ่อ, ทำไมต้องยากจน นี้เป็นต้น นั่นมันโง่กันทั้งฝูง เพราะมันไม่รู้ว่าดีที่ตรงไหน ผลดี ผลชั่ว มันอยู่ที่ตรงไหน จะไปสอนศีลธรรม ก็ศึกษาให้เข้าใจในเรื่องนี้เสียก่อน แล้วก็ไปสอนให้ถูกต้อง นี้เป็นตัวอย่างของปัญหาอันหนึ่ง ซึ่งกำลังทำความยุ่งยากลำบาก เกี่ยวกับการสอนศีลธรรมอยู่ในยุคปัจจุบันนี้
ทีนี้ผมจะพูดให้เห็นหรือยกให้มันเห็นเป็นตัวอย่างว่า ยังมีเรื่องอื่นอีก เรื่องรู้จักทำให้มันเข้าใจกันได้ง่าย ๆ หรือว่ายอมรับเอาได้ง่าย ๆ ที่ยังมีความถูกต้องที่ลึกซึ้งอยู่ในหลักเกณฑ์อันนั้นด้วย เรื่องนี้ผมยกตัวอย่างด้วยอุโบสถศีล เพราะคนเขาไม่ชอบอุโบสถศีล โดยเฉพาะพวกชาวบ้าน ชาวร้านตลาด คนร่ำรวย คนหนุ่มสาวเหล่านี้ เขาไม่ชอบอุโบสถศีล
เราจะให้เขาชอบอุโบสถศีล ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในฐานะเป็นการตามรอยพระอรหันต์ ไปอ่านดูในบทปัจจเวกอุโบสถสูตร เมื่อเราจะทำตามรอยพระอรหันต์วันหนึ่งคืนหนึ่งในบัดนี้ เช่นเว้นในศีลทั้ง ๘ ข้อ นั้นน่ะเป็นการตามรอยพระอรหันต์ เรียกว่าอุโบสถศีล ไอ้คนชาวโลกเขาไม่ชอบ เรามาบอกให้เขาดูใหม่ว่า อุโบสถศีลนั้นน่ะ มันคือ มันการทำให้มันถูกต้อง ให้มีชีวิตวันคืนล่วงไปด้วยความถูกต้อง ไม่เอาส่วนเกิน ไม่เอาส่วนเกิน เพราะว่ากิเลสทั้งหลายมาจากส่วนเกิน
ไอ้ความโลภ มันก็ไปโลภส่วนเกิน มันจึง ๆ ได้โลภ ถ้าไม่ ๆ ๆ ไปต้องการส่วนเกิน มันไม่เรียกว่าความโลภ มันไปต้องการส่วนเกินที่ไม่ควรจะต้องการ ก็เรียกว่าความโลภ เมื่อไม่ได้ตามที่มันต้องการ มันก็โกรธขึ้นมาเป็นโทสะ ตลอดเวลามันก็เป็นโมหะ นี้เรียกว่ากิเลสมันเกิดมาจากส่วนเกิน ดังนั้นเราตัดส่วนเกินออกไปเสีย กิเลสก็ไม่มีทางจะเกิด
สำหรับอุโบสถศีล ก็จะมุ่งไปยังไอ้ ๓ ข้อข้างท้าย ซึ่งมัน ๆ เพิ่มให้กับศีล ๕ หรือว่าไอ้ข้อ ๓ ที่เปลี่ยน กาเม เป็น อพฺรหฺม ดังนั้นจึงถือว่าเป็นส่วนเกิน คนจะบริโภคกามระหว่างเพศไปทุกวัน ๆ ไม่เว้นนี้ มันบ้าและมันเกิน มันจึงเว้นเสียบ้างในบางวัน ถือศีล อพฺรหฺม มันก็เรียกว่าไม่ ๆ เอาส่วนเกิน ไม่ให้มัน ๆ มากไปจนเกิน
หรือว่าอาหารในเวลาที่มันไม่ควรจะกิน เว้นเสีย ไม่กินก็ได้ ไปกินเข้ามันก็เกิน คนที่ไม่ได้ทำงานหนัก อาหารมื้อเย็นมันเกิน ไม่กินดีกว่า หรือว่าอาหารที่มันเกินโดยลักษณะ โดยคุณค่า โดยราคานั้น มันก็เรียกว่าเกิน ก็อย่ากินมันเลย อาหารที่ไม่จำเป็น ก็อย่าไปกินมันเลย เช่นบุหรี่ เช่นเหล้า เช่นน้ำอัดลม น้ำชากาแฟ อะไรก็ตามที่มันเกินนั้น อย่าไปกินมันเลย รวมไว้ในข้อที่ว่า ไม่บริโภคอาหารที่เกิน นี่เป็นศีลอุโบสถ
แล้วก็ไม่บำรุงร่างกายด้วยการกระทำที่มันเกิน นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เหล่านี้เกินทั้งนั้น การกระทำที่เป็นส่วนเกินต่อร่างกาย เว้นกันเสียที ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง ไม่ ๆ ๆ ทำเอง ไม่ดูของคนอื่นทำอะไรก็ตาม ไม่ต้องลูบทาเคลือบของหอม ประดับประดาตกแต่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องของส่วนเกิน แพงเปล่า ๆ อย่าไปทำมันเข้า หรือแม้แต่เสื้อผ้านี่ ไม่ต้องไปหาที่แพง ๆ ไอ้เสื้อธรรมดา ๆ นี้ราคามันถูกกว่า ไม่ต้องไปทำให้มันสวยสดงดงามจนเหมือนกับเสื้อของคนบ้า ไม่ต้องแขวนนั่นแขวนนี่ แต้มนั่นแต้มนี่ให้มีอาการเหมือนกับคนบ้า นี้เรียกว่ามันไม่เอาส่วนเกิน ในอุโบสถศีล ข้อที่ ๗
นี้ข้อสุดท้าย อุจฺจาสยนมหาสยนา ที่นั่ง เอ่อ, ที่นอนสูงใหญ่นี้ เราใช้คำว่า เครื่องใช้ไม้สอยที่มันเกิน สวยเกิน ดีเกิน ใหญ่เกิน แพงเกิน อะไรก็ตาม ให้มาถึงเครื่องใช้ไม้สอย แม้แต่ดินสอจะใช้จะเขียนนี้ ก็ไม่ ๆ ควรจะเป็นดินสอที่แพงเกิน อะไรก็ตาม เครื่องใช้ไม้สอยทั้งหลาย แม้แต่บ้านเรือนก็เหมือนกัน มันไม่ต้องเกิน แม้จะซื้อรถยนต์ขี่ มันก็ต้องไม่ ๆ ต้องเกิน ไม่ต้องแพงเกิน
เดี๋ยวนี้บ้านพออยู่ได้ มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องทำให้แพงกว่านั้น มันยิ่งแพงขึ้นไปมันจน ๆ เดือนร้อน จนวินาศฉิบหายไปก็มี ดังนั้นบ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านเรือนของคุณ อย่าให้มันมีอะไรเกิน นี่คืออุโบสถศีล ก็เว้นเสีย
อย่าไปหลงใหลในความเอร็ดอร่อย อย่าไปหลงกินอาหารเพื่อ ๆ ความอร่อย มันเป็นคนโง่ โง่ไปทุกทาง คือมันเปลืองในทางเศรษฐกิจ มันกินเกินกว่าที่ควรจะกิน มันก็เสียสุขภาพ แล้วมันก็เลวในทางจิตใจ ที่มันจะเกิดกิเลสง่าย อย่าไปหลงความเอร็ดอร่อยในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เดี๋ยวนี้เขาประดิษฐ์ประดอยกันอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้มันกินเกินให้จนได้
บอกให้รู้ว่า น้ำจิ้มถ้วยเล็ก ๆ นั้นน่ะ นั่นอย่าไปทำเล่นกับมัน หรือผงชูรสนี่ อย่าไปทำเล่นกับมัน เพราะมันทำให้กินเกิน ถ้าอย่าไปใส่ของชนิดนั้น อย่าไปจิ้มไอ้ของชนิดนั้น มันไม่กินเกิน มันกินแต่พอที่ร่างกายมันควรจะได้ หรือเพียงแต่ประทังความหิว แต่ถ้าไปจิ้มไปแต้มไปเติมแล้วอร่อย มันกินเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งจิตใจที่เป็นทาสของกิเลส
นี้ไปสอนเด็ก ๆ ให้มันมองเห็นในข้อนี้ว่า ไอ้ส่วนเกินนั้นทำให้เกิดกิเลส ทำให้เสียหายหมดในเรื่องของจิตใจ หรือเสียทางเศรษฐกิจ เงินไม่พอใช้ เดี๋ยวนี้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่พอใช้ ก็เพราะมันไป ใช้ในส่วนเกิน กินเกิน บำรุงบำเรอร่างกายเกิน ใช้เครื่องใช้ไม้สอยเกิน เงินเดือนไม่พอใช้ เพียงแต่เขาหยุดกินเหล้า หยุดสูบบุหรี่เท่านั้นแหละ เงินเดือนจะเริ่มพอใช้ขึ้นมาทันที
เดี๋ยวนี้มันไม่เพียงแต่กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ มันยังมีอื่น ๆ อีกเยอะ ที่จะให้ ๆ ใช้เงินมาก ๆ แล้วเงินเดือนมันก็ไม่พอใช้ มันเดือดร้อน มันก็หาในทางทุจริต มันก็ยิ่งเดือนร้อนหนักขึ้น แล้วมันก็เอะอะโวยวายว่า เงินเดือนไม่พอใช้ ทำความยุ่งยากให้แก่รัฐบาล ให้แก่ประเทศชาติอย่างนี้
ถ้าคนบ้า ๆ เหล่านี้เขาจะถือศีลอุโบสถเสียสักหน่อยเท่านั้น มันจะแก้ปัญหาได้หมด คือไปแก้ปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ ไม่ต้องรบกวนรัฐบาลก็ได้ เขาก็ไม่เอา เพียงแต่หยุดกินเหล้าเสีย หยุดสูบบุหรี่เสีย นี้เขาก็ไม่ยอม เขาอยากจะเป็นทาสของกิเลสต่อไป เงินเดือนก็ไม่พอใช้ สุขภาพก็ไม่ดี จิตใจก็เลวลง ๆ นี่เรียกว่าวินาศของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มันหายไป เพราะจิตใจมันต่ำเสียแล้ว
ดังนั้นชักชวนเขาว่ามาถือศีล ไม่แตะต้องส่วนเกินกันเถิด นี่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ทุกคนถือศีล ไม่แตะต้องส่วนเกิน โดยเฉพาะศีลอุโบสถ พอได้ยินเข้าแล้ว เขาสั่นหัว เป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องของคนที่เงินเดือนไม่พอใช้ คนไหนมีสุขภาพไม่ดี เงินเดือนไม่พอใช้ จิตใจต่ำทรามแล้วก็ ถือศีลไม่แตะต้องส่วนเกิน คือศีลอุโบสถเถิด มันจะแก้ได้หมดเลย
ทีนี้พูดถึงไอ้เรื่องส่วนเกินในความหมายที่ลึกกว่า แม้แต่ศีล ๕ นี่ก็เป็นศีลที่ห้ามไม่ให้แตะต้องส่วนเกินเหมือนกัน หวังว่าคงจะเข้าใจแล้วเรื่องศีลอุโบสถ คือไม่แตะต้องส่วนเกินอย่างไร เข้าใจกันแล้ว ศีลอุโบสถ ๓ ข้อ ทีนี้อยากจะพูดถึงศีล ๕ ห้าข้อที่ว่าไม่แตะต้องส่วนเกินอย่างไร
คือเราอย่าคิดให้มากไปว่า เรามีอำนาจ เรามีกำลัง เรามีอะไร เราจะฆ่าใครก็ได้ เราก็ใช้สิทธินั้นเกินไปจนฆ่าคนอื่นได้ นี้เรียกว่ามันแตะต้องส่วนเกิน จนถึงกับไปฆ่าคนอื่นได้
ทีนี้ก็ทรัพย์สมบัติของเขาเหมือนกัน เมื่อเรามีกำลัง เรามีอำนาจ เราอาจจะเอามาได้ เราก็ใช้สิทธิ ใช้อำนาจ ใช้กำลังนี้ ซึ่งมันเกินไป ไปเอาของผู้อื่นมา ด้วยการปล้นซึ่งหน้าหรือด้วยการขโมยอะไรก็ตาม มัน ๆ เกินไป เกินกว่าที่ควรจะทำ
ไอ้ศีลกาเมข้อนี้ก็เหมือนกัน เราอาจจะล่วงเกินของรักของผู้อื่นได้ เราถือว่าเราทำได้ เราก็ใช้อำนาจ สิทธิ กำลังส่วนเกินนี้ ไปล่วงเกินของรักของผู้อื่น
มุสาวาสก็เหมือนกัน มันเกินไป มันจึงเป็นคำพูดที่ไม่ควรจะพูด มันไปกระทบกระทั่งประโยชน์ของผู้อื่น อย่าไปเอากับมัน
ไอ้สุราเมรัยนี้ มันเกิน ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต มันให้โทษแก่ชีวิต มันเป็นของเกิน อย่าไปเอากับมัน เอามาสำหรับทำให้เสียสติสัมปชัญญะ ก็วินาศกันเท่านั้นเอง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ศีล ๕ หรือศีลอุโบสถ ศีล ๘ ก็ดี มันมีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ ขอให้มองดูให้เห็น แล้วก็ไปบอกป่าวบอกกล่าวแก่กันและกันว่า นี่มันเป็นเรื่องเกินไป เราสมาทานศีลไม่ทำอย่างนั้น ก็คือจะไม่แตะต้องส่วนเกิน ไม่กินเกิน ไม่ใช้สอยเกิน ไม่ประดับประดาตกแต่งเกิน ไม่ ไม่มีอะไรที่เกิน แล้วจะอยู่กันเป็นผาสุก
ในแง่ของทางโลก ๆ เงินเดือนพอใช้ ร่างกายสบายดี ในแง่ของทางธรรมะชั้นสูง ก็คือไม่เกิดกิเลส ถ้าไม่แตะต้องส่วนเกินแล้ว กิเลสไม่เกิดได้ ความโลภเกิดไม่ได้ เมื่อความโลภเกิดไม่ได้ ความโกรธก็เกิดไม่ได้ ความโกรธมันเกิดเมื่อมันไม่ได้อย่างที่มันโลภ แล้วมันก็โง่ไม่ได้ คือไม่มีโมหะ นี่เรียกว่าถือศีลไม่เอาส่วนเกินนี้ เป็นผลดีอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของโลกียะและแง่ของโลกุตตระ
เดี๋ยวนี้ทุกคนกำลังเดือดร้อนอยู่ด้วยเงิน เงินเดือนหรือรายได้ไม่พอใช้ แต่เขาไม่เหลียวมองไปอีกทางหนึ่งว่า นั่นเพราะว่าเขาไปเป็นทาสของส่วนเกิน เขาบูชาส่วนเกิน ไปเป็นทาสของส่วนเกิน เขาจึงมีรายได้ไม่พอใช้ ทีนี้เขาบังคับกิเลสเสียใหม่ ไม่ไปแตะต้องอบายมุข ทำงานแล้ว ก็เป็นสุขพอใจในการที่ได้ทำงาน มีความสุขสบายเหลือประมาณในการที่รู้สึกว่า ได้ทำหน้าที่ที่ดี คือการทำการงาน ไม่ต้องไปกินเหล้าเมายา ไม่ต้องไปเที่ยวเสเพลเลวทรามที่ไหน มันก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงาน แล้วเดี๋ยวเงินมันก็เหลือออกมาจนเหลือใช้ ก็หมดปัญหาไป
นี่ไปสอนศีลธรรมอย่างนี้กันบ้าง ให้มองเห็นว่า ความผิดพลาดในโลกมนุษย์ทั้งโลกเวลานี้ มันผิดอยู่ที่ตรงนี้ ผิดอยู่ที่เอาส่วนเกิน พวกฝ่ายขวามันก็ต้องการส่วนเกิน พวกฝ่ายซ้ายมันก็ต้องการส่วนเกิน ไม่ว่าไอ้ค่ายไหน กลุ่มไหน มันก็ล้วนแต่ต้องการจะเอาส่วนเกินที่มีอยู่ในโลก มันทำสงครามโลกกัน ก็เพราะเพื่อจะเอาส่วนเกินในโลกนี้ ไปไว้เป็นของตัวให้มาก
เราเรียกว่า ไอ้การเอาส่วนเกินกำลังเป็นศัตรูร้ายกาจเลวร้ายที่สุดในโลกปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ ทั่วไปทั้งโลก มีความระส่ำระสาย เป็นความทุกข์ร้อน เป็นวิกฤตการณ์ เพราะว่าคนเหล่านั้น บูชาส่วนเกิน ต้องการส่วนเกิน ศีลธรรมอันใหญ่หลวงของโลกพังทลายหมด เพราะคนมันไปเป็นทาสส่วนเกิน พอหยุดการเป็นทาสส่วนเกินนี้ โลกนี้จะเปลี่ยนทันที จะไม่มีการรบราฆ่าฟัน แต่จะมีความเมตตากรุณา เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันขึ้นมา แบ่งปันกันกิน
นี่ศีลธรรมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ศีลธรรมนี้เป็นเรื่องของโลก เป็นปัญหาของโลก ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกนี้จะวินาศ ถ้าศีลธรรมกลับมา โลกนี้จะมีสันติภาพและสันติสุข ช่วยกันไปเผยแผ่ป่าวประกาศสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างสูง ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ให้เป็นที่เข้าใจกันในหมู่มนุษย์ในโลกเถิด จะได้ชื่อว่าได้ทำหน้าที่คุ้มค่าข้าวสุก เกินค่าข้าวสุก แล้วกลายเป็นปูชนียบุคคล
เดี๋ยวนี้คนพวกหนึ่ง ซึ่งคุณก็คงจะเข้าใจได้ว่า หมายถึงพวกคอมมิวนิสต์ เขาหาว่าพวกพระนี้ เป็นกาฝากสังคม ดีแต่กิน ไม่ผลิต ไม่ชดใช้ เขาว่าอย่างนี้จริงเหรือเปล่า มันเป็นความจริงหรือเปล่า พระเป็นกาฝากสังคม เอาแต่กิน เอาแต่รับ ไม่มีให้ ไม่มีชดใช้ พระได้ทำอะไรให้คุ้มค่าข้าวสุก อาหารดิบ ปัจจัยสี่ที่ไปเอาของคนมา
ถ้าพวกเหล่านั้นเขาเข้าใจเรื่องศีลธรรม เห็นว่าเรื่องศีลธรรมมีค่าสูงสุด แล้วภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ผลิตศีลธรรมให้มีอยู่ในโลก ก็เรียกว่า ภิกษุเหล่านี้ ทำงานคุ้มค่าข้าวสุก เกินค่าข้าวสุก เป็นผู้ผลิตในทางจิตทางวิญญาณ ไม่ควรจะรังเกียจว่าเป็นกาฝากสังคมอีกต่อไป
นี้เรื่องมันมีนิดเดียว ที่มันไม่เข้าใจกันเรื่องทางจิตทางวิญญาณ มันเห็นแต่ทางวัตถุ ทางเนื้อหนังกันเสียหมด คนก็เลยไปนิยมลัทธิชนิดนั้น จนเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยก็เหมือนกัน ปัญหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีความคิดเห็นไปอย่างอื่น ไปในแนวอื่น ห่างไกลไปจากหลักของธรรมะหรือศาสนา แล้วเขายังคิดที่จะใช้การบีบบังคับ ด้วยอำนาจ ด้วยอาวุธ ให้คนทำไปตามลัทธินั้น ๆ ทำลายคนมั่งมีเสีย ยกคนจนขึ้นมาเป็นมาตรฐาน ให้โลกนี้ปกครองโดยคนจนอย่างนี้เป็นต้น มันขัดกับธรรมชาติ
ถ้ามีศีลธรรม จะไม่มีปัญหานี้ ถ้ามีศีลธรรม จะไม่มีการกระทบกระทั่งระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจน มันจะรักใคร่กัน มันจะอยู่ตรงกลาง มันจะอยู่ด้วยกันได้ คนมั่งมีอยู่กับ ร่วมโลกได้กับคนยากจน เพราะเขาอยู่กันอย่างพ่อลูกก็ได้ คนโง่กับคนฉลาดอยู่ร่วมโลกกันได้ ไม่ต้องทำลายคนฉลาดเสีย เขาอยู่กันอย่างเพื่อน อย่างพ่อลูกก็ได้ ถ้าเขามีศีลธรรม คนแข็งแรงกับคนอ่อนแอก็อยู่ร่วมโลกกันได้ ถ้าเขามีศีลธรรม
ทีนี้เมื่อเขาไม่เอาศีลธรรมเป็นหลัก เขาก็หาว่า คนมั่งมีนี้เป็นต้นเหตุของความยุ่งยากลำบากระส่ำระสายในโลกนี้ ดังนั้นยุบคนมั่งมีเสีย เอาคนยากจนขึ้นมาเป็นมาตรฐาน อย่างนี้มันฝืนธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องถืออาวุธ คุมอาวุธ บีบบังคับอยู่ ก็พอจะเป็นไปได้ตามที่เขาต้องการ เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อไรเขาเมื่อยมือขึ้นมา ไม่ได้ถืออาวุธมาคอยคุม ๆ อยู่ มันก็เปลี่ยนแปลงอีก ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันไม่ถูกกับกฎของธรรมชาติ ดังนั้นอยู่ด้วยศีลธรรมกันดีกว่า เราจะอยู่กันได้แม้ระหว่างคนยากจนกับคนมั่งมี
คนมั่งมีอยู่อย่างเศรษฐี เลี้ยงคนยากจนอย่างลูกอย่างหลาน นี่มันก็อยู่กันไปได้ แต่ถ้าไม่มีศีลธรรม คนมั่งมีเขาก็กลายเป็นนายทุน เป็นยักษ์ เป็นมาร เลี้ยงคนจนอย่างลูกจ้าง มันก็ไม่ เอ่อ, สูบเลือดสูบเนื้อของไอ้ลูกจ้างเสียด้วย มันก็อยู่ไม่ได้จริงเหมือนกัน เพราะมันไม่มีศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรม มันอยู่กันอย่างลูกหลาน ถ้าไม่มีศีลธรรม มันอยู่กันอย่างลูกจ้าง เพื่อจะเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ให้แก่คนร่ำรวย
คำว่าลูกหลานกับคำว่าลูกจ้าง มันไม่เหมือนกันนะ มันไกลกันลิบ ถ้ามีศีลธรรม คนรวยก็ทำกับคนจนอย่างลูกหลาน ถ้าไม่มีศีลธรรม คนรวยก็ทำกับคนจนอย่างลูกจ้าง นั่นแหละประโยชน์ของศีลธรรม มันอยู่ที่นั่น มันจะช่วยทำให้โลกนี้ เป็นสุขสงบเย็น ไม่มีปัญหา
ไอ้กฎธรรมชาตินี้ มันไม่ยอมว่าให้มีอะไรโดยส่วนเดียว กฎธรรมชาติมันตายตัว ต้องมีทั้งสองอย่าง คือมีทั้งคนมั่งมีและคนยากจน ทั้งคนฉลาดและทั้งคนโง่ ทั้งคนอ่อนแอและคนแข็งแรง เหมือนกับป่าไม้ที่เรานั่งกันอยู่ที่นี่ คุณก็เห็นได้ว่า มันมีทั้งต้นใหญ่และต้นเล็ก ต้นสูงและต้นเตี้ย มันต้องอยู่กันได้ หรือว่าหญ้าบอน มันก็พลอยอยู่กันไปได้ เมื่อมันอยู่อย่างมีศีลธรรม คือถูกที่ ถูกตำแหน่ง ถูกลักษณะ ถูกฝา ถูกตัว มันแตกต่างกันมาก มันก็อยู่กันได้ เพราะความถูกต้อง นั่นแหละคือศีลธรรม
ศีลธรรมคือความถูกต้อง ตามที่ธรรมชาติมันเรียกร้อง ดังนั้นเรามีศีลธรรม จะทำให้โลกนี้อยู่กันได้เป็นผาสุก ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันโดยที่กรรม มันจัดให้คนเราแตกต่างกัน เป็นคนโง่ เป็นคนฉลาด หรือว่าเป็นอะไรก็ตาม มันกฎธรรมชาติ มัน ๆ ก็ตายตัวเหมือนกัน มันไม่ มัน ๆ ทำให้คนไม่เหมือนกัน ให้ต่างกัน แต่ถ้าเรารู้จักใช้กฎธรรมชาติให้ถูกต้อง มันก็อยู่ด้วยกันได้ทั้งที่มันแตกต่างกัน
ดังนั้นคนจึงต้องมีศีลธรรม เราชี้ให้เห็นข้อนี้ แล้วคนก็จะยินดีที่จะมีศีลธรรม มันก็ง่ายที่จะพูดกันต่อไป ให้มีศีลธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติศีลธรรม นี้มันเป็นเรื่องที่กว้างขวาง ใหญ่โต ลึกซึ้งออกไปทุกที เกินกว่าที่จะสอนเด็ก ๆ แล้ว แต่ถ้าสอนเด็ก ๆ ได้ก็ดี มันก็จะไม่เติบโตขึ้นมาเป็นนักศึกษา ที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลอย่างหัวหมุนอยู่ในเวลานี้
ในโลกนี้ ในปัจจุบันนี้ ยุวชนในระดับนักศึกษานี่ ทำความยุ่งยากลำบากในโลกมาก เพราะเขามีความคิดอุตริวิตถารออกไป ถ้าเราได้ทำให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้องมาตั้งแต่เล็ก เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา มันก็ไม่มีความคิดวิปริต ปัญหามันก็ไม่มี ดังนั้นมนุษย์ก็อยู่กันด้วยความเป็นผาสุกได้ เขามีความถูกต้องในทางศีลธรรม
ดังนั้นช่วยกันชี้แจงให้เข้าใจว่า ศีลธรรม มันมีอะไร ๆ มันมากอย่างนี้ ลึกอยู่อย่างนี้ อยู่เป็นรากฐานที่ลึกซึ้งก้นบึ้งของโลก ของจิตใจของมนุษย์อย่างนี้ มาศึกษากันเสียใหม่ มาแก้ไขปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้มันถูกต้องเท่านั้นเอง แล้วธรรมชาติก็จะอำนวยให้ ๆ อยู่กันอย่างเป็นผาสุก
ผมคิดว่าพอทีแล้วกระมัง ที่จะพูดพอเป็นตัวอย่างให้รู้ว่า ศีลธรรมมันคืออะไร จะสอนกันอย่างไร จะมีวิธีทำให้คนชอบใจศีลธรรมได้อย่างไร มันยังไม่สี่ทุ่ม มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อย ใครจะ ๆ ถามอะไรบ้างก็ได้ ถ้ามีปัญหาอะไรจะถาม ก็ถามได้ ไม่ใช่ว่าผมเก่งจนตอบปัญหาได้หมดนะ ถ้าตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ พยายามจะตอบเท่าที่จะตอบได้
ดังนั้นคุณลองถามมาสิ ถ้าคุณไม่มีปัญหา คุณก็เก่งกว่าผมแหละ ถ้าทั้งหมดนี้ไม่มีปัญหา ก็หมายความว่าเก่งมากแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้ เพราะมันหมดปัญหา เอ้า, เขียนมาสิ เอ้า,
ข้อ ๑ เป็นชู้ทางใจจะผิดศีลหรือไม่ ถ้าผิด ผิดศีลชนิดใด
นี้เอามาแต่ไหน เป็นชู้ทางใจ หมายความว่าคิดล่วงเกินในทางจิตใจ ในลูกในเมียของเขา เรียกว่าเป็นชู้ทางใจใช่ไหม จะผิดศีลข้อไหน ถ้าคุณเรียนมาอย่างไอ้ศีลตามอรรถกถาฎีกาที่เขาพูด ๆ กันแล้ว ไม่ผิดศีลข้อไหน แต่ผมอยากจะแสดงความเสียใจว่า เรามันเรียนกันอย่างนี้ มันจึงใช้ไม่ได้ ควรจะให้ขยายกว้างออกไป ถ้าเอามาคิดอยู่ใน ๆ ใจ ก็ขอให้มันผิดศีลบ้าง ให้ขาด ให้ด่าง ให้ทะลุไป ให้พร้อยไปบ้างก็ ๆ ดีเหมือนกัน
อย่าถือว่าเพียงแต่คิดอยู่ในใจจะไม่ผิดศีลข้อไหนเสียเลย ถูกแล้ว มันยังไม่ผิดศีลกาเมข้อที่ ๓ แต่แล้วถ้าถืออย่างนี้ จะทำให้พุทธบริษัทเลวกว่าพวกคริสเตียน พระเยซูสอนว่า เพียงแต่คิดในใจก็ผิดศีลข้อกาเม มองดูแล้วความคิดล่วงเกินในจิตใจ ในผู้หญิงคนนั้นที่เป็นลูกเป็นเมียเขา คิดเท่านั้นเป็นผิดศีล เพราะว่าพระเยซูประกาศของพระองค์เองว่า จะ ๆ ๆ มาทำให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศีลที่มีอยู่ก่อนพระเยซู ก็ ๆ เหมือนกับศีลที่พวกพุทธเราถือนี่ ต้องไปกระทำล่วงเกินเข้าจริง จึงจะผิดศีล ทีนี้พระเยซูเกิดขึ้น ท่านบอกว่า เราจะมาทำให้มันดีกว่านั้น ให้มันเต็มกว่านั้น จึงบัญญัติใหม่ว่า แม้แต่เพียงคิดในใจก็ผิดศีล นี้ถ้าพุทธบริษัทเรามาถือตามหลักที่ถือ ๆ กันว่า เพียงแต่คิดอยู่ในใจไม่ผิดศีล นี่ผมจะถือว่า พุทธบริษัทเลวกว่าสาวกของพระเยซู คุณไปว่าเอาเองตามใจคุณ
๒ การตั้งศาลพระภูมินั้นมีความหมายอย่างไร เป็นหลักของศาสนาใด
ข้อนี้ไม่ทราบ ไม่ ๆ สามารถจะตอบได้ มีความหมายอย่างไร ผมไม่ได้สนใจ ก็เลยไม่ทราบ เป็นหลักของศาสนาใด ก็ศาสนาที่ถือศาลพระภูมิ มันอาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรมอย่างยิ่งก็ได้ คือว่าคนโบราณนั้นเขามีหลักว่าจะต้องกตัญญู สิ่งไรมีบุญคุณแก่เรา เราต้องกตัญญู ต้องขอบคุณเขา เช่นแม่น้ำนี้ แม่คงคามีบุญคุณ ก็มีพิธีขอบคุณ หรือว่าข้าวเปลือก ข้าวในนามันมีบุญคุณ ก็นับถือข้าวเปลือกเป็นเทพ เป็นเทพยดาไป
นี่เขาคงจะถือว่าแผ่นดินมันมีบุญคุณ ให้เราได้อยู่อาศัย เราก็ควรจะขอบคุณ ยกขึ้นเป็นเทพยดา เป็นพระภูมิ ให้เกียรติยศ สร้างศาลพระภูมิให้อยู่ ถ้าคิดไปในแง่นี้ มันก็เป็นเรื่องศีลธรรม สงเคราะห์ได้ในศาสนาทั่ว ๆ ไปที่นิยมความกตัญญู แต่ผมก็ไปบอกทุกแห่งที่มีศาลพระภูมิว่า คุณเลิกเรียกศาลพระภูมิดีกว่า เรียกศาลพระธรรมเถิด เพราะพระธรรมนั้นน่ะเปรียบเหมือนกับแผ่นดิน เป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิญญาณของสัตว์
พระธรรมเป็นแผ่นดินยิ่งกว่าแผ่นดิน ดังนั้นศาลพระภูมินั้น เรียกศาลพระธรรมเสียดีกว่า บางทีเดิน ๆ เผอิญเดินไปพร้อมกับมีพวกฝรั่งมา กลัวพวกฝรั่งมันจะนินทาดูถูกคนไทย ผมก็ชิงบอกฝรั่งเสียก่อนว่า นั่นเขาเรียกว่าศาลพระธรรมนะ หรือเป็นสัญลักษณ์กตัญญูต่อพระธรรม พระธรรมนั่นแหละคือแผ่นดินที่เรียกว่าพระภูมิ ให้เจตนาที่จะแก้หน้าพวกเรากันบ้าง
ถ้าคุณเห็นด้วย ไปที่ไหนก็ช่วยไปบอกไอ้คนเหล่านั้นว่า เลิกเรียกศาลพระภูมิเถิด เรียกว่าศาลพระธรรม พอเห็นศาลพระธรรมแล้ว ก็ให้นึกถึงพระธรรม ให้ใช้พระธรรมให้เป็นประโยชน์ ก็เหมือนกับแผ่นดินที่เราได้ตั้งอาศัยอยู่บนแผ่นดินอันนั้น แผ่นดินนั้นคือพระธรรม ศีลธรรมก็ได้ ธรรมะทั่วไปก็ได้ มันเหมือนกับแผ่นดิน นี่ผมตอบตามความรู้สึกของผมว่า มันควรจะมีความหมายอย่างนี้ แล้วก็เป็นศาสนาของบุคคล ผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อสิ่งที่มีบุญคุณ
ในอินเดียเขาก็เคยคิดเรื่องนี้กันมาแล้ว เหมือนเขาสมมติเป็นเทพยดาไปหมด ต้นไม้มันก็มีบุญคุณ ก็ให้เรียกเป็นไอ้รุกขเทวดา นับถือ แม่น้ำ ลม แดด ฝน ให้อะไรเกือบทุกอย่าง มันเรียกเป็นเทพยดาผู้มีบุญคุณไปเสียทั้งนั้น กระทั่งดวงอาทิตย์ก็มีบุญคุณ ดวงจันทร์ก็มีบุญคุณ อะไรก็มีบุญคุณ ถืออย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน มันเป็นสัตว์กตัญญู ระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะไม่ทำอะไรอย่างหยาบคาย ล่วงเกินสิ่งต่าง ๆ
เดี๋ยวนี้เรามันเป็นคนอกตัญญู เป็นสัตว์อกตัญญู ทำแม่น้ำลำธารให้สกปรกหมด ทำป่าไม้ให้โล่งเตียนหมด ทำอะไรให้มันฉิบหายไปหมด เพราะมันเป็นคนอกตัญญู ไม่เท่าไรทะเลก็จะสกปรก คอยดูเถิด ทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลนั้น มันจะสกปรกโดยน้ำมือของคนอกตัญญู
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีกไหม
ทำอย่างไรศาสนาจึงจะอยู่รอด ศาสนากำลังจะเป็นอย่างไร จะตายหรือ
ศาสนาที่แท้จริงไม่รู้จักตาย คุณไม่ต้องกลัว แต่ว่าคนที่ถือศาสนานี่ กำลังทำผิดพลาดมาก แล้วจะตาย ศาสนาในฐานะที่เป็นสัจจธรรม มันก็เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่รู้จักตาย สิ่งที่เรียกว่าสัจจะหรือกฎนี้ ไม่รู้จักตาย และใครทำให้ตายไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันไม่มาปรากฎแก่คนโง่ ๆ นี้ก็ได้ แต่มันไม่รู้จักตาย สัจจธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ถ้าเล็งถึงสัจจธรรมเป็นศาสนาแล้ว ไม่รู้จักตาย แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติ ที่อยู่ที่กายวาจาของคนนั้น เมื่อมันไม่ปฏิบัติกันแล้ว มันก็หายไป
ถ้าอยากให้มันมีอยู่ ไม่หายไป ก็ช่วยกันสิ ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะ เผยแผ่ศีลธรรม ให้มีการปฏิบัติถูกต้องทาง กาย วาจา ใจ อยู่ที่เนื้อที่ตัวของคนทั่วไปทั้งโลก ศาสนาก็อยู่ ศาสนาไหนก็ได้ โดยใจความสอนเหมือน ๆ กันทั้งนั้น ให้ทำลายความเห็นแก่ตัว แล้วก็ประพฤติดี ประพฤติถูกต้อง ต่อตนเองและผู้อื่น อยู่กันเป็นผาสุก นี่คือศาสนา ศาสนาไม่รู้จักตาย ไอ้คนนั่นน่ะมันจะตาย ไอ้คนที่มันไม่มีศาสนาต่างหาก ที่มันจะต้องตาย ตายทั้งทางจิตทางวิญญาณก่อน แล้วมันก็ตายทางร่างกายทางเนื้อหนังอีก
อยากจะพูดว่า ให้ช่วยระมัดระวังให้ดี ๆ การพูดจา การจะใช้คำพูดใด ๆ ลงไป เช่นคำพูดว่าศาสนาอย่างนี้เป็นต้น ให้ระวังให้ดี พูดจาให้มีหลักมีเกณฑ์ รู้จักภาษาคน รู้จักภาษาธรรม ถ้ารู้จักภาษาคนแล้วก็ อย่างเดียวแล้วก็คงจะลำบาก ถ้ารู้จักภาษาธรรมก็ไม่ค่อยมีปัญหา
ถ้าเราพูดภาษาคน ก็พูดว่าพระพุทธเจ้า ตายแล้ว นิพพานแล้ว เผาเสร็จแล้ว เหลือแต่กระดูก แต่ถ้าพูดภาษาธรรมนี่ พระพุทธเจ้าไม่รู้จักตาย ยังอยู่และถึงได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท นี่พูดกันโดยภาษาธรรมแล้ว พระพุทธเจ้ามิได้ตาย มิได้นิพพาน มิได้เป็นไปอย่างที่พูดในภาษาคนว่า ตายแล้ว เผาแล้ว ดังนั้นระวังการพูดจาให้ดี การใช้ถ้อยคำให้ดี ให้มีประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
ขอนิมนต์อธิบายเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำอย่างไรจึงจะถูกต้องและได้รับผลครับ
ไม่สามารถจะพูดด้วยเวลาที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่นาที ชักจะง่วงนอนแล้ว เรื่องนี้ต้องพูดกันเป็นวัน ๆ เดือน ๆ การถูกต้องของวิปัสสนากัมมัฏฐานพูดได้อย่างนี้ คือให้เข้าคำว่าวิปัสสนา ปสฺสนา แปลว่าเห็น แปลว่าดูจนเห็น วิ แปลว่าแจ่มแจ้ง วิปัสสนา แปลว่าดูให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เดี๋ยวนี้พวกนักวิปัสสนา ไม่ค่อยดู ไม่ได้ดู มัวแต่คิด มัวแต่ท่องจำ หรือว่ามัวแต่คิด มัวแต่ใช้เหตุผล คิดเก่งแต่ดูไม่เป็น เพราะว่าคนในโลกปัจจุบันนี้ มันนิยมการคิดและการใช้เหตุผล ไม่นิยมการมองลงไปตรง ๆ มันเลยไม่มีวิปัสสนา
ดังนั้นขอให้อาจารย์วิปัสสนาหรือนักวิปัสสนาทั้งหลาย ปรับปรุงคำพูดคำนี้หรือการกระทำที่เกี่ยวกับคำนี้ให้ถูกต้องเสียใหม่ คือให้มันกลายเป็นการดูแล้วเห็น อย่าเรื่อง เอ่อ, อย่าเป็นเรื่องคิดตามเหตุผล มันเขวได้ มันผิดได้ เพราะเหตุผลมันผิดได้ ทีนี้เราไม่ใช้เหตุผล เราใช้การดูลงไปตรง ๆ มันก็ผิดไม่ได้
ทีนี้ดูด้วยอะไร ดูด้วยจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจิต ให้เป็นจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว คือเป็นจิตที่เป็นสมาธิ ดังนั้นมีวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิกันก่อน แบบไหนก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น ผมไม่เห็นว่าแบบไหนมันจะผิด ถ้าเพียงแต่เป็นสมาธิ ไอ้ที่ว่าเป็นมากเป็นน้อยนั้น มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าต้องเป็นสมาธิได้ด้วยกันทุกแบบ
ทีนี้เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ใช้จิตชนิดนั้นดู ๆ ๆ ๆ เท่านั้น อย่าไปทำอะไรให้มากกว่าดู เช่นว่าดูเวทนา ก็เห็นเวทนาเป็นของไม่เที่ยง อย่าไปคิดคำนวณ มันผิด ดูเท่านั้นแหละเรียกว่าเห็นแจ้งแล้ว ก็รู้ว่าเวทนามันไม่เที่ยง ถ้ามันเห็นความไม่เที่ยง มันก็คลายกำหนัด คลายความยึดถือเอง ดูความไม่เที่ยงให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วมันจะมีวิราคะ มีนิโรธเอง นี้ไปคิดนำเสียหมด หลอกตัวเองเสียหมด มันก็เป็นเรื่องที่ไม่จริงไปสักเรื่องหนึ่ง แม้แต่เรื่องไม่เที่ยงมันก็เป็นเรื่องคำนวณว่ามันไม่เที่ยง มันไม่เห็นจริง ๆ ลงไปว่าไม่เที่ยง
ดังนั้นทำจิตให้พร้อมที่จะดูอนิจจัง และดูอนิจจังของทุกสิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้า โดยเฉพาะไอ้เรื่องที่รู้สึกอยู่ในใจ ถ้ามันยึดมั่นอะไร ก็ดูที่สิ่งนั้นแหละ เช่นยึดมั่นในสุขเวทนา ในความเอร็ดอร่อยนี้ ก็ดูที่นั่น เดี๋ยวก็เห็นอนิจจัง ดูเข้าไปอีก เห็นมากขึ้น มันก็จะคลายความยึดถือ คือจะเบื่อหน่ายและคลายกำหนัด มันคลายกำหนัดไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็หมดความยึดถือ มันก็เรียกว่าหลุดพ้น นี่หลักของวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ คือดู ดูด้วยจิตที่ฝึกดีแล้ว คือจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินั้น ต้องบริสุทธิ์ ต้องตั้งมั่น และต้องว่องไวในหน้าที่ของมัน คือเห็นอะไรได้ ดูอะไรได้
เอ้า, นี่ปัญหาที่ตอบไปแล้ว แล้วเอาไว้ฟังให้ดี เขาถามว่า คำว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นี่หมายความว่าอย่างไรครับ
นี้หมายความว่า เป็นความรู้สึกของคนที่รู้จักแต่ความดีทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง เขาทำดีได้ดีมีที่ไหนนี่ ก็ ๆ ดูเถิด ถ้ารู้จักดีก็จะเห็นว่ามันอยู่ที่นั่น ทีนี้ทำชั่วได้ดีมีถมไป นี้ไม่จริง มันบางราย ทำชั่วแล้วเผอิญมันไป ตรงกับเรื่องพลอยได้ทางวัตถุ มันก็รวยเหมือนกัน เขาเป็นคนรวยที่ชั่ว คนชั่วที่รวย
แล้วที่ว่า คนทำชั่ว ค้าขายผิดศีลธรรม ฆ่าสัตว์ ค้าประเวณี ทำไมเขาจึงร่ำรวย ส่วนทำดีมีศีลธรรม ทำไมไม่รวย นี่ผมอธิบายแล้วเมื่อตะกี้
ดูสถานการณ์ทั่วไปแล้วแสดงว่า คนกำลังเสื่อมศีลธรรม จะดึงคนมาสู่ศีลธรรมนี้ได้หรือไม่
นี้มันก็ ๆ รู้กันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ก็คุณว่าจะสอนศีลธรรม นี่ทั้งหมดนี้จะมาอบรมการสอนศีลธรรม ก็เพื่อดึงคนกลับมาหาศีลธรรม มันต้องเชื่อว่าได้สิ มันจึงได้พยายามที่จะมาศึกษาเรื่องสอนศีลธรรม มันต้องได้ ถ้าเราเชื่อหลักอิทัปปัจจยตาในพระพุทธศาสนา มันก็ได้ ทำให้ถูกกฎเกณฑ์ของไอ้กฎอันเฉียบขาดนั้น คือปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตาได้ ไม่มีอะไรอยู่นอกกฎเกณฑ์
นี้ถามว่า โดยมากถือกันว่าตายแล้วเกิด ภพนี้ภพหน้ามีจริงหรือเปล่า ผีและวิญญาณมีหรือไม่มี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายได้รับผลอย่างไร จะมีหลักพูดให้เขาเข้าใจอย่างไร
นี่ถามหลายข้อ โดยมากถือกันว่าตายแล้วเกิด นี่ข้อนี้ว่าถือกันว่าเกิดก็ดี ถ้าส่วนใหญ่ถือว่าตายแล้วเกิด นี้มันก็ดี สำหรับที่จะได้ทำความดีสำหรับเกิดดี ดีกว่าถือว่าตายแล้วสูญ ภพ เอ่อ, ภพนี้ภพหน้ามีจริงหรือเปล่า ภพนี้ภพหน้า คำว่าภพนี่ หมายถึงความมี ความเป็น มีสิ ความเป็นอย่างนี้มันก็มีอยู่ แล้วความเป็นอย่างอื่นมันก็มีอยู่ ก็เรียกว่า ภพนี้ภพหน้า
ที่เห็นได้ทันทีทันควัน ก็คือว่า เป็นคนดี เป็นคนชั่ว มีความคิดอย่างไร ก็เป็นเช่นนั้น คิดอย่างสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาทันทีในร่างมนุษย์นี้ คิดอย่างเทวดา ก็เป็นเทวดาขึ้นมาทันทีในร่างมนุษย์นี้ คิดอย่างสัตว์นรก ก็เป็นสัตว์นรกขึ้นมาทันทีในร่างมนุษย์นี้ ภพที่แท้จริงคือความเป็นอย่างนี้ ที่อื่นจากความเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า ภพอื่นหรือภพหน้า ความเป็นแห่งจิตใจ ภาวะแห่งจิตใจ จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเรื่อย ๆ ไป
ส่วนที่ถามนี้ คงถามไอ้ภพอย่างที่เขาพูดกันในภาษาคนว่า ตายเข้าโลงแล้วไปเกิดภพใหม่ภพหน้า ไอ้นั่นก็ได้ ยอมรับอย่างนั้นก็ได้ ไม่เสียหายอะไร เหมือนกับยอมรับว่าตายแล้วเกิดใหม่ จะได้ทำความดี แต่ผมอยากจะพูดว่า เรายอมรับว่า คำพูดชนิดนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการพูดภาษาคน ไม่ต้องยกเลิก ปล่อยไปได้ ให้ขอให้ถือชนิดสำหรับเป็นภาษาคน จะได้กลัวบาป จะได้กลัวนรก จะได้รักดี จะได้หวังความดีหรือว่ามุ่งหมายสวรรค์ ภพหน้าที่ไกลนักนั้น มันก็ยังไม่ค่อยดีเท่าภพหน้าที่อยู่ใกล้ ๆ ที่เราจะสร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ด้วยการคิดดี ทำดี พูดดี นี้ดีกว่า
พูดภาษาคน พระพุทธเจ้าก็ตรัสเหมือนกัน พูดภาษาธรรมก็ ท่านตรัสมากที่สุด และพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสทั้ง ๒ ภาษา ตรัสว่ามีภพ ภพหน้า มีโลกหน้า มีบุญ มีกุศล มีนรก มีสวรรค์ นี่ท่านก็ตรัสเหมือนกับคนทั่วไป แต่ถ้าท่านจะตรัสอย่างจริง อย่างปรมัตถ์ ท่านก็ไปตรัสว่า มันไม่มีอะไร นอกจากกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา อย่างนี้มี
ดังนั้นถ้าพูดว่าภพนี้ภพหน้า พูดว่านรกสวรรค์มี ก็ให้มันอยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ เอาชนะได้ คือ อย่าไปตกนรกหรือให้มันอยู่กับสวรรค์ พูดภาษาคนก็พูดว่า สวรรค์อยู่ใต้ดินลึกเท่าไรก็ไม่รู้ เอ้ย, นรกอยู่ใต้ดินลึกเท่าไรก็ไม่รู้ สวรรค์อยู่บนฟ้าสูงไปเท่าไรก็ไม่รู้ มันพูดภาษาคน สำหรับจะได้กลัว สำหรับจะได้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเกิดใหม่ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นรก มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ มันก็อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำผิดหรือทำถูก
ปู่ย่าตายายของเราก็เคยรู้เรื่องนี้ดีกว่า ปู่ย่าตายายก็เลยพูดว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นรกไม่ได้อยู่ใต้ดิน สวรรค์ไม่ได้อยู่บนฟ้า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่เขาพูดภาษาธรรม นี่ดีกว่า ฉลาดกว่า ลึกกว่า และเราสามารถที่จะควบคุมได้ เราสามารถที่จะเอาประโยชน์ได้ เมื่อนรก ก็สวรรค์มันอยู่ในใจที่เราจะสร้างได้ ควบคุมได้ โดยระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้ผิดพลาดเป็นนรกขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า มันอยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็ดี นรกก็ดี
ผีและวิญญาณมีหรือไม่อย่างไร
เรื่องผีนี้ มันก็มีอย่างที่เขาพูด มีเท่าที่เขาพูด ผมไม่สนใจเรื่องผี เอ่อ, วิญญาณนั้นมีที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณนี้ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้เกิดความคิดอย่างใหม่ อย่างภพใหม่ วิญญาณตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสรูป เวท เอ่อ, เสียง กลิ่น รส เป็นต้นกันแล้ว มันเกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ วิญญาณนี้มีจริง สร้างภพสร้างชาติได้จริง วันหนึ่งก็สร้างได้มาก ๆ หลาย ๆ ชนิด สร้างภพได้หลาย ๆ อย่าง ต่าง ๆ กัน เป็นคนดี คนชั่ว คนพาล คนบัณฑิต คนรู้ คนไม่รู้อะไร สร้างได้มากมาย วิญญาณมีอยู่จริง
การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายได้รับผลอย่างไร จะมีหลักการพูดให้เขาเข้าใจอย่างไร
นี่มันสำหรับคนที่เขาทนอยู่ไม่ได้ เพราะเขารักคนที่ตายไปแล้ว อย่ามามัวร้องไห้อยู่ ให้รีบทำความดี อุทิศให้แก่ผู้ที่ตาย อธิบายว่า ไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้ ดังนั้นคุณทำอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่ามามัวนั่งร้องไห้อยู่ ถ้าคิดถึงผู้ที่ตายด้วยความรัก ด้วยความอาลัย อดไม่ได้ ก็ทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ไม่มีอื่นดีกว่า พูดให้เขาฟังอย่างนี้ อย่ามามัวนั่งร้องไห้อยู่
คำว่ามีขันธ์ ขันธ์เดียว มีขันธ์ ๔ ขันธ์นั้นเป็นอย่างไร
หลักเกณฑ์อันนี้มีในอรรถกถา ยังไม่เคยพบในพระบาลี เอ่อ, พระไตรปิฎกหรือพระพุทธภาษิต เขาจะจำแนกสัตว์ทั้งหลายในทั่วไปนี้ว่า สัตว์ชนิดหนึ่งมี ๕ ขันธ์ สัตว์ชนิดหนึ่งมี ๔ ขันธ์ ชนิดหนึ่งมี ๑ ขันธ์ เขาอธิบายว่า ๕ ขันธ์ คือมนุษย์นี่มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ทีนี้ไอ้ ๔ ขันธ์ นั่นคือพรหม ที่ไม่มีรูป มีแต่นาม มันจึงมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และไอ้สัตว์ที่มีขันธ์เดียวนั้นน่ะ คือพวกพรหมที่มีแต่รูป ไม่มีนามคือไม่มีจิต นั้นก็มีแต่รูปขันธ์
เขาอธิบายกันไว้อย่างนี้ เพื่อจะให้มันครบหมด ไม่ยกเว้นสัตว์จำพวกไหน เมื่อต้องการจะใช้คำพูดอ้างถึงสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว ก็จะใช้สำนวนนี้ว่า สัตว์ที่มี ๕ ขันธ์ก็ดี ๔ ขันธ์ก็ดี ขันธ์เดียวก็ดี นี่เขาว่าเป็นพวกพรหมนะ อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบนะ เขาก็ต้องอยู่ในพรหมโลก แต่ผมว่าอยู่ใกล้ ๆ นี้ก็ได้ บางคราวเราหลับไป เหลือแต่ขันธ์ร่างกายนี้เหมือนกับขันธ์เดียว บางคราวเราไม่นึกถึงร่างกายหรือรูปขันธ์เลย นึกถึงแต่เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันก็มี ๔ ขันธ์ ทีนี้บางคราวมันครบทั้ง ๕ เรียกเวลานั้นมันมี ๕ ขันธ์
นี้เอาตามภาษาคน ไม่ใช่ภาษาธรรมที่ถูกต้อง ภาษาคน ภาษาเด็กวัด เมื่อนอนกลิ้งอยู่นี่ มันหลับไปสนิทนี้ ไม่มีนาม ไม่มีจิตที่ทำหน้าที่ มันเหลือแต่รูปขันธ์ บางคราวคนมันไม่สนใจกับรูปขันธ์หรือร่างกายเลย สนใจแต่เรื่องนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อนั้นมันมี ๔ ขันธ์ เมื่อใดเมื่อมันอยู่ครบ คิดนึกถึงครบ เกี่ยวข้องกันอยู่ครบ เรียกว่ามันมี ๕ ขันธ์ คือเราจะแสดงบทบาทได้เพียง ๓ แบบนี้
ไม่มีความสำคัญอะไรนักที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ เอ่อ, เกี่ยวกับเราจะพูดถึงวิธีพูด สำนวนพูด ถ้าพูดถึงสัตว์ให้หมด ก็พูดอย่างนี้ ตัวอย่างเช่น ในการสวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล ให้ได้แก่สัตว์ ๕ ขันธ์ สัตว์ ๔ ขันธ์ สัตว์ ๑ ขันธ์ ก็เป็นอันหมด ไม่ ๆ ยกเว้นสัตว์ไหน
พวกที่กินเนื้อสัตว์และไม่กินเนื้อสัตว์ พวกไหนรับผิดชอบศีลธรรมได้มากกว่า รับผิดชอบศีลธรรม
พวกที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เขาอ้างว่า เป็นศีลธรรมกว่า ไม่มีส่วนแห่งความรู้สึกที่จะฆ่าสัตว์มากิน จิตใจบริสุทธิ์กว่า เขาก็อ้างอย่างนั้น แกก็คงจะถูกในแง่ของศีลธรรม ในแง่ของความมีสัตว์ มีบุคคล มีตัวมีตน เกิดการยึดถือโดยส่วนเดียวว่า ไม่กินเนื้อ กินแต่ผัก ตามความหมายในทางภาษาคนสำหรับคนสามัญ ถ้าทำได้ การที่ไม่กินเนื้อสัตว์นี่ มันเป็นไปในทางส่งเสริมศีลธรรมกว่า
แต่เดี๋ยวนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงบัญญัติว่า จงกินผัก อย่ากินเนื้อสัตว์เลย นั้นมันมีเหตุผลอย่างอื่น คือไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นโดยส่วนเดียว แต่ถ้าใครสมัครจะ ๆ ๆ ถือ ท่านก็ไม่ได้ห้ามไว้ที่ไหนเหมือนกัน ถ้าใครจะสมัครถือไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่ผัก ก็ไม่มีบทห้ามไว้ที่ไหน แต่ที่จะให้บังคับว่า ให้ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์ ให้กินแต่ผัก ก็ไม่บังคับ หมายถึงไม่ให้มันยึดถือกันเกินไป
แต่ถ้าใครมีเหตุผลส่วนตัว ก็ถือได้ตามเหตุผลส่วนตัว เพื่อจะป้องกันการหลงในความเอร็ดอร่อยของเนื้อสัตว์ ถึงความคิดมันจะแลบเลยไปถึงคิดฆ่าสัตว์มากินให้อร่อย แม้แต่ฟองไข่อะไรก็ตาม มันก็มี ๆ ผลแก่เขา แต่ถ้าใครทำใจเป็นกลางได้ มันก็ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องที่ว่า ไปร่วมกันฆ่าสัตว์ จึงว่าภิกษุนี้ก็บิณฑบาตได้ตามปกติ แล้วก็ฉันได้ ไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องที่สัตว์มันถูกฆ่าอยู่ตามธรรมดา
กินแต่เนื้อมันก็เป็นยักษ์ใช่ไหม กินแต่ผักมันก็เป็นค่าง คุณรู้จักค่างไหม ในวัดนี้ก็มี กินแต่ผัก ไม่ ๆ กินแมลง ไม่กินเนื้อหรืออะไร นี่ค่าง ดังนั้นกินอาหารที่ถูกต้อง ที่ควร ที่ถูกที่ควร ไม่ต้องเป็นทั้งยักษ์ ไม่ต้องเป็นทั้งค่าง
เมื่อครูบาศรีวิชัยถูกจับมากักตัวอยู่ที่วัดเบญจฯ คนที่คุ้นเคยกับผมคนหนึ่ง คือพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ก็ไป ๆ เยี่ยมครูบาศรีวิชัย แล้วถามครูบาศรีวิชัยว่า ทำไมท่านจึงไม่กินเนื้อ ครูบาศรีวิชัยก็ตอบว่า มันจะเป็นยักษ์ ท่านตอบเท่านั้นพอ คนถามก็ไม่ติดใจจะถามอีก เลิก มันเป็นคำอธิบายอยู่ในตัวแล้ว กินเนื้อ ชอบกินเนื้อ กินแต่เนื้อ มันก็เป็นยักษ์
เอ้า, ไม่มีปัญหาแล้ว ปิดประชุม
ขอแสดงความยินดีในการกระทำของท่านทั้งหลาย ขวนขวายในการประชุม เพื่อหาวิชาความรู้ในการที่จะเผยแผ่ศีลธรรม ประชุมกันที่ลำปางก็ดี มาประชุมกันที่นี่ก็ดี ด้วยเจตนาอันแท้จริง ที่จะทำให้ชีวิตของตนมีประโยชน์แก่โลก ด้วยการทำให้ศีลธรรมกลับมา ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกนี้วินาศแน่ ถ้าศีลธรรมกลับมาทันเวลา ก็จะเป็นโลกที่พอดูได้ น่าอยู่น่าดูกันอีกต่อไป
ดังนั้นผมยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบเจตนาแห่งการกระทำของท่านทั้งหลาย ขออนุโมทนาและขออวยพรให้ท่านทั้งหลาย จงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ที่ตั้งใจจะกระทำให้มีประโยชน์ในคราวนี้ แล้วขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้น อยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
เอาล่ะ, ปิดประชุม ไปนอนได้ ได้ตื่นแต่ดึก พรุ่งนี้จะไปแต่เช้าใช่ไหม ไปตี ๕ ก็นอนหัวค่ำหน่อย สาง ตี ๕ ครึ่งก็สาง นิมนต์เถิดนิมนต์ ถือเป็นการลาเลยนะ ไม่ต้องลำบากตอนตี ๕ ถือเป็นการลาไว้แต่เดี๋ยวนี้ ถึงเวลาไป ก็ไปได้