แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมขอขอบคุณในการที่เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายมาเยี่ยม และขออนุโมทนาในการที่มาเพื่อการศึกษาบางอย่างบางประการ การที่ได้ทำความเข้าใจกันในทุกเรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจนั่นแหละมีความสำคัญมากสำหรับความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาของเรา เดี๋ยวนี้มีอะไรที่เป็นปัญหามันเพิ่มขึ้นทุกด้าน ปัญหาคือสิ่งที่รบกวน รบกวนความสงบ รบกวนสันติสุข สันติภาพ ผู้อยู่ในโลกปัจจุบันจะต้องสามารถขจัดปัญหาได้มากกว่าที่แล้วๆ มา ดังนั้น ขอให้สนใจในเรื่องที่ว่าอะไรจะแก้ปัญหาอะไรได้ เดี๋ยวนี้ก็มานั่งกันอยู่ในสภาพเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจ และยิ่งกว่านั้นก็คือพอใจ มันก็เป็นธรรมเนียมของที่นี่ไปแล้ว ที่ว่ามา อาคันตุกะมาก็นั่งกลางดิน โดยถือว่าแผ่นดินนั่นมีความหมายมาก และก็มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างบางประการซึ่งเชื่อว่าภิกษุสามเณรทั้งหลายก็เข้าใจอยู่แล้ว ว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้กลางดิน สอนทั่วๆ ไปก็กลางดิน ที่อยู่ของท่านก็พื้นดิน ในที่สุดท่านก็นิพพานกลางดิน มันเป็นชีวิตที่เนื่องด้วยแผ่นดิน เราถือเอาเป็นอุดมคติอันหนึ่งทีเดียวว่าแผ่นดินนี่เป็นที่ให้เกิดอะไรๆ ซึ่งมีค่ามาก มีค่าสูงสุด ไม่มีพระศาสดาแห่งศาสนาไหนที่จะตรัสรู้ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในสถานการศึกษา ล้วนแต่ตรัสรู้ในป่า ในถ้ำ ในเขา หรือกลางพื้นดิน นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะสนใจ ว่าแผ่นดินนั้นมันให้กำเนิดพระศาสดาทั้งหลาย นี่ถ้าเรา อย่างเราจะพูดอย่างฝ่ายพุทธศาสนาเรานี้ ก็ยังจะพูดได้ว่าพระไตรปิฎกนี่เกิดกลางดิน เพราะว่าส่วนใหญ่ ส่วนมากที่สุดนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านั้น เมื่อนั่งกันอยู่กลางดิน ไปเปิดดูที่มา ไม่ใช่ว่าที่ดินในในในในเอ่อในวิหาร ไม่ใช่กลางดิน ในวิหารนั่นก็ด้วย วิหารก็พื้นดินอยู่แล้วใช่ไหม นอกวิหารที่ไหนก็ได้ ที่การเดินทาง กำลังเดินทางอยู่ก็ได้ เรียกว่าแผ่นดินนี่ให้กำเนิดพระไตรปิฎกก็ว่าได้ ดังนั้น ขอให้ถือเอาความหมายคำว่าแผ่นดินนี่ให้เพียงพอ ไม่ได้มานั่งกลางดินอย่างนี้ ลองเอามือประคองดิน ลูบดิน จำความรู้สึกที่เกี่ยวกับดินไว้ดีๆ มันผิดกับที่ว่าจะนั่งบนตึกสูงๆ นั่งเรียนกลางดินนี่จะต้องผิดกันกับเรียนบนอาคารสูงใหญ่ งดงาม และแพง เมื่อมันผิดกันถึงขนาดนั้น ผลที่ได้มันก็ต้องผิดกันบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้นขอให้นึกถึงข้อนี้และพอใจ เป็นอยู่อย่างต่ำ เป็นอยู่อย่างต่ำ ดำเนินชีวิตอย่างต่ำ แล้วจิตใจก็จะไปสูงเอง ลองสังเกตุดูว่าเมื่อเรานั่งกลางดินนี่ มันรู้สึกอีกอย่าง ไปนั่งบนตึกหลายๆ ชั้นมันรู้สึกอีกอย่าง
ทีนี้ธรรมะ ธรรมะ นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติก็ได้ เป็นตัวกฏของธรรมชาติก็ได้ เป็นตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติก็ได้ เป็นผลที่เกิดมาจากการปฎิบัติหน้าที่ก็ได้ คำว่าธรรมะมีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ แต่รวมความแล้วก็คือธรรมชาติ ดังนั้น การอยู่ใกล้ธรรมชาติเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการง่ายที่จะรู้จักหรือเข้าถึงธรรมชาติได้เท่านั้น ลองพยายามสำรวมเป็นอยู่ให้ชีวิตนี้มันเป็นอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด ในการเป็น การอยู่ การนุ่ง การห่ม การ ทุกอย่างที่มันเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ขอให้สนใจใน(การ)ที่จะทำให้เป็นเกลอกับธรรมชาติไว้ให้มากๆ แล้วมันจะรู้จักธรรมชาติได้ง่ายมากกว่า คือ จิตใจมันจะเหมาะสมที่จะรู้จักธรรมชาติได้มากกว่าจิตใจที่อยู่เหินห่างจากธรรมชาติ จึงหวังว่าต่อไปนี้ก็คงจะยินดีเสพคบกับธรรมชาติให้มากขึ้นไปกว่าเดิมด้วยกันทุกคน
ทีนี้เรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะ ธรรมะนี่คืออะไร นี่เข้าใจว่าเคยเรียนกันมาแล้วอย่างนั้นทั้งนั้นแหละ เรียนอย่างนวโกวาทก็มี เรียนอย่างบาลีธรรมบทก็มี ธรรมะคืออะไร ธรรมะคืออะไร แล้วมันสำเร็จประโยชน์เท่าไร ก็ขอให้ลองใคร่ครวญดู ทบทวนดู เปรียบเทียบดู ไอ้คำว่าธรรมะนี่พิเศษมาก แปลเป็นภาษาอื่นใดไม่ได้ มีคนพยายามที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษนี่แปลออกมาตั้ง ๓๐ กว่าคำ มันก็ยังไม่หมดความหมายของคำว่าธรรมะ ก็เลยยอมแพ้ ยอมแพ้ใช้คำว่าธรรมะนั่นแหละเลย คำว่าธรรมะหรือธรรรมิกนี่เข้าไปอยู่ในปทานุกรมของภาษาอังกฤษตั้งนานแล้ว แต่เขาใช้รูปสันสกฤต
ทีนี้ธรรมะคืออะไร นี่เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่าไม่ต้องลบหลู่พระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อตั้งปัญหาขึ้นว่าธรรมะคืออะไร ไอ้ความหมายที่มันเป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็น ประวัติศาสตร์มากที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ถ้ายังไม่เคยสนใจ ไม่เคยฟัง ก็ขอให้เอาไปพิจารณาดู การที่จะพูดว่าธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นนะ มันน้อยไป เพราะว่าก่อนแต่พระพุทธเจ้าเกิดก็มีคนพูดด้วยคำๆ นี้ ใช้คำๆ นี้พูดจากันอยู่แล้ว แล้วในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่น เขาก็มีคำว่า ธรรมะ ธรรมะ นี่ใช้เหมือนกัน ข้อนี้เมื่อใคร่ครวญดูแล้ว มันชวนให้เชื่อว่าเมื่อมนุษย์คนแรกที่เจริญจากความเป็นมนุษย์ป่าเถื่อนนะ อยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ แล้วก็มีคนๆ หนึ่งจะเป็นคนแรก สังเกตุเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำคัญเหลือประมาณ สำคัญทุกอย่าง ทุกแง่ ทุกมุม แล้วก็เรียกชื่อสิ่งนั้นว่าธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ คือมนุษย์คนแรกนั้นเขาได้สังเกตุเห็นว่าทุกคนต้องมีหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ ไม่ทำก็คือตาย มนุษย์หรือคนก็ต้องทำหน้าที่ สัตว์เดรฉานต้องทำหน้าที่ มนุษย์ ไอ้ต้นไม้ ต้นไร่ พฤกษาชาติทั้งหลาย ก็ต้องทำหน้าที่ นี่ธรรมะคือหน้าที่ แม้ในครั้งต่อมาก็ได้ใช้คำนี้ในฐานะหมายถึงระบบหน้าที่ ในศาสนาอื่นลัทธิอื่นเขาก็มีคำว่าธรรมะเป็นระบบ ระบบ แต่ทั้งระบบนั้นหมายถึงหน้าที่ที่จะต้องทำทั้งนั้น แม้ในครั้งพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าของเราก็ทรงใช้คำๆ นี้ในฐานะเป็นหน้าที่ ธรรมะที่ต้องรู้มีหน้าที่ที่ต้องรู้ ธรรมะที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติก็ปฏิบัติ ธรรมะที่จะต้องเสวยผลการปฏิบัติก็ต้องเสวยผลของการปฏิบัติ นี่เรามีระบบหน้าที่แจกแจงไว้ชัดเจนว่าจงทำอย่างนั้น จงทำอย่างนั้น จงทำอย่างนั้น นี่ว่าธรรมะในพระพุทธศาสนา คำประมวลถ้อย ประมวลถ้อยคำ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ที่มาเรียกกันในตอนหลังว่าพระธรรม แต่ถ้าเราอยู่เป็นตัวหนังสือเป็นเสียงพูดนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ ธรรมะนั้นมันหมายถึง ตัวการประพฤติกระทำโดยถูกต้อง นี่เราจะเริ่มเรียนเรื่องธรรมะ และเกี่ยวกับภาษาอื่นๆ ก็ขอให้สนใจไว้ให้เพียงพอ ผมใคร่ครวญมาเป็นสิบๆ ปี ก็พอใจในคำว่า ธรรมะคือระบบของความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโยชน์ตนเองและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น นี่ขอให้ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยจำคำนิยามนี้ไว้ให้ดีๆ จะมีประโยชน์ ไว้สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะนั้นนะ คือ ระบบของความถูกต้อง (ที)นี้ความถูกต้องจะมีได้ต้องมีการปฏิบัติ ดังนั้น มันก็เล็งหาการปฏิบัติอยู่ในตัว ว่าระบบการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกต้องในที่นี้ คือถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ มันจะเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องดีที่สุดอย่างไรนั่นแหละ คือความถูกต้อง และแก่มนุษย์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ว่าวิวัฒนาการเล็กๆ คือตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนกว่าจะเข้าโลง มันก็มีขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ดังนั้น เขาจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ถ้าจะเอาขั้นตอนใหญ่ของโลก ของจักรวาล มันก็เหมือนกันแหละ โลกสมัยที่ยังเป็นป่าเถื่อน หรือยังไม่มีแต่ความรู้อะไรกันหนักหนา แล้วก็ค่อยๆ เจริญขึ้นมาเป็นยุคนั้น ยุคนี้ ยุคโน้น จนกระทั่งยุคปัจจุบันนี้ นี่มันก็คือวิวัฒนาการ ต้องมีการประพฤติกระทำที่ถูกต้องแก่ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ
ทีนี้คำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี่ อย่าไปเอาไอ้ความหมายแบบฝรั่งเลย มันไม่ ไม่ค่อยจะยุติแบบ logic ก็ดี แบบ philosophy ก็ดี ความถูกต้องคืออะไร ความดีคืออะไร พูดกันได้โดยไม่มียุติ เอาถูกต้อง ถูกต้องตามแบบของเราชาวพุทธ ถูกต้องตามแบบของเราชาวพุทธก็คือว่า ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกคนเท่านี้ก็พอแล้ว ความถูกต้องเท่านี้ก็พอแล้ว ความหมายมีเท่านี้พอแล้ว ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด ทีนี้ยังแถมเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ตกผลึกออกนี่ อย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง ไม่ต้องพิสูจน์ ไม่ต้องหาอะไรมายัน มาอะไรกันให้เสียเวลา ถูกต้องแก่มนุษย์ ก็หมายความว่ามนุษย์จะมีแต่ความสงบสุขเพราะความถูกต้องนั้น เมื่อมันมีหลายขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ก็ต้องพูดว่าทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ นี่เกิดมาจากท้องแม่มาเป็นทารก เป็นทารกที่ลุกขึ้นนั่งได้ เดินได้ เป็นเด็ก เป็นเด็กโต เป็นเณร เป็นพระ เป็นอะไรเรื่อยๆ มาทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ มีความถูกต้องแล้วเป็นใช้ได้ และก็ทั้งในแง่ที่เป็นประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ผู้อื่นคือสังคม หมายความว่าถูกต้องแก่ประโยชน์ทั้งโดยปัจเจกชนและโดยสังคมนั่นแหละ ดังนั้น ขอช่วยจำไว้เถอะ คำนิยามนี้จะช่วยได้มากในการที่จะอธิบายให้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างศาสนา ให้รู้ว่าธรรมะ ธรรมะของเรานี่คือระบบแห่งความถูกต้องของการปฎิบัติ ถูกต้องแก่ระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นง่ายกว่า แล้วก็ทุก แก่ความเป็นมนุษย์ ทีหนึ่ง แล้วแก่อะไร(ก็ตาม) แล้วก็ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งในแง่ของบุคคลและในแง่ของสังคม
ในบทนิยามนี้มันมีความหมายเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เต็มตัว โดยไม่ต้องเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระเป็นเจ้า หรืออะไรๆ ทำนองนั้นเข้ามาช่วย นี่ พุทธศาสนาเราไม่เกี่ยวกับพระเจ้าผู้สร้าง (แต่)เกี่ยวกับการกระทำ ของบุคคลนั้นๆ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติถูกต้อง มันก็เกิดผลเป็นความสงบสุขขึ้นมา ก็เป็นการช่วยตัวเองให้รอด การปฏิบัติทั้งหมดนั้นมันคือ คือ ช่วยให้รอด คำว่ารอด รอดอีกคำหนึ่งเป็นคำสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาทุกอย่างเป็นไปเพื่อวิมุติ ความหลุดรอดนั้นถึงแม้ในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาก็เน้นคำนี้กันมากเหมือนกัน แต่เขาอธิบายอย่างอื่นแหละ เพราะ(มัน)เป็นลัทธิอื่น ถ้าเป็นพุทธศาสนามันก็รอดจากความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ ทางวัตถุก็ไม่มีความทุกข์ ทางกายก็ไม่มีความทุกข์ ทางจิตก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาใดๆ ทำให้ลำบาก ก็เลยเรียกว่ารอด รอดครั้งที่ ๑ คือรอดตาย รอดครั้งที่ ๒ คือรอดจากความทุกข์ทั้งมวล ไอ้รอดตายนี่ต้องมาก่อนละ ถ้ามันตายแล้วมันทำอะไรไม่ได้ ต้องมีความถูกต้องเพื่อความรอดตายในการแสวงหาอาหาร ในการกินอาหาร ในการอยู่ ในการเจ็บไข้ได้ป่วย ในการต่อสู้ป้องกันภัยอะไรก็ตามแหละ รอดตายอยู่ได้ นี่รอดทางกาย แต่ยังมีปัญหาทางจิตคือความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส นี่ร้ายไปกว่าความตายเสียอีก ถ้าพูดกันอย่างผู้มีปัญญา ผู้ที่ไม่มีธรรมะมันก็จะต้องทนทุกข์ทรมาน นั่นแหละคือความไม่รอด จมอยู่ในกองทุกข์ จมอยู่ในกิเลส จมอยู่ในความมืด ต้องรอดอันนี้ละก็จะเป็นรอดอันสุดท้าย ซึ่งเล็งถึงการลุถึงสภาวะที่เป็นนิพพาน นิพพาน สิ้นสุดแห่งความทุกข์ คือว่าเย็น เย็น เย็น คำว่า นิพพานนี่ ให้ช่วยจำไว้เถอะ ไอ้รากศัพท์แท้ๆ มัน มันแปลว่า ทำให้เย็น หรือ ให้เย็น เช่นว่าช่างทองหลอมทองเหลวคว้างแล้วก็เอาน้ำรด ให้ทองที่ละลายเหลวคว้างนั่นนะให้เย็นเป็นทองสีดำขึ้นมา บาลี เรียกกริยานี้ว่า นิพพาปายะ (นาทีที่ 24:56) คือทำให้แท่งทองนั้นนะให้นิพพาน คือ(ทำ)ให้มันเย็น ส่วนที่ว่าดับทุกข์ หรือ ไอ้นั่น เป็นความหมายต่อๆ มา คือมันไม่มีไฟ ไม่มีกิเลส มันก็ไม่มีทุกข์ และผลสุดท้ายก็เรียกว่าเย็น เมื่อพระศาสดาจะพูดคำๆ นี้ให้เป็นที่สนใจแก่ประชาชนทั่วไป ท่านก็ต้องพูดคำที่เขาจะชอบที่สุด คือคำว่าเย็น นี่คำว่าเย็น ในความหมายว่าเย็นนี่มากมายโดยไม่ต้องตาย คำว่านิพพานไม่ต้องตาย ไม่เกี่ยวกับความตาย แต่หมายถึงความเย็น นิพพุตา นูน สา มาตา นิพพุโต นูนโส ปิตา (นาทีที่ 25:43) บิดาของเขาก็ดับเย็น มารดาของเขาก็ดับเย็น คือมีชีวิตเย็น นี่เราบวชกันเข้ามา ยังต้องเรียนเรื่องนิพพานอีกมาก และยังต้องพูดจา(กับ)ญาติโยมต่อไปข้างหน้าอีกมาก ขอให้พูดจาให้เกี่ยวกับคำว่านิพพาน นิพพาน นี่อย่า อย่าให้มันเฟ้อ อย่าให้มันเอาใจความไม่ถูก คือบางทีก็ผิดเตลิดเปิดเปิงไป เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นอะไรไป ภาวะแห่งความเย็นนี่เป็นผล การดับแห่งกิเลสเป็นเหตุ ภาวะแห่งความเย็นก็เป็นผล รวมกัน เมื่อดับกิเลสมันก็เย็น ดับกิเลสก็เป็นนิพพาน เย็นก็เป็นนิพพาน แล้วแต่จะมองดูกันที่ตัวเหตุหรือที่ตัวผล ช่วยจำคำพิเศษหรือสำคำ เอ้ย สำคัญ เช่น คำอย่างนี้เป็นต้น ไว้แต่เดี๋ยวนี้ ไว้แต่ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือ แรกเรียนนี่ แรกเรียนนักธรรม แรกเรียนบาลี แรกเรียนอะไรก็ตาม ให้มันมีความหมายที่ถูกต้องยึดถือไว้เป็นหลัก
(27.10) ธรรมะ คือหน้าที่ พูดกันมาก่อนพุทธกาล ตั้งแต่มนุษย์เริ่ม คนแรกเริ่มสังเกตุเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ ในชีวิตทั้งหลายนั่นแหละได้รับ(ความ)สำคัญที่สุด พูดขึ้นสอน ให้รู้กันทั่วๆไป รู้เรื่องหน้าที่ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ทีนี้หน้าที่มันก็คือช่วยให้รอดยังไงล่ะ ถ้าทำหน้าที่มันก็รอด โดยหน้าที่มันช่วยให้รอด ความหมายเดียวกับคำว่าธรรมะ โดยภาษา โดยพยัญชนะ ธรรมะทะระทาส (นาทีที่ 27:45) แปลว่าทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ (27.57-28.07) ให้รู้กันทั่วๆไป รู้เรื่องหน้าที่ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ทีนี้หน้าที่มันก็คือช่วยให้รอดยังไงล่ะ ถ้าทำหน้าที่มันก็รอด โดยหน้าที่มันช่วยให้รอด ความหมายเดียวกับคำว่าธรรมะ โดยภาษา โดยพยัญชนะ ธรรมะทะระทาส (นาทีที่ 28.28) แปลว่าทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ (28.08-28.35)นั่นแหละคือการช่วยให้รอดแหละ นี่ขอให้เรารู้เรื่องที่เป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนา(ของ)เราให้เพียงพอ ให้มีแนวที่ถูกต้อง มันก็จะมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ธรรมะถ้าไม่แปลก็ ก็เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะไปก็แล้วกัน ถ้าแปลให้เป็นกลาง เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์ นั่นก็แปลว่าหน้าที่ ถ้าจะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันก็ขัดกันกับข้อที่ว่าคำนี้ใช้พูดกันอยู่ก่อนที่พระพุทธเจ้าเกิด เราก็เลยรู้ว่าเรื่องธรรมะ นี่มันเป็นเรื่องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติไม่เกี่ยวกับพระเจ้าผู้สร้าง ศาสนาพุทธของเรามันจึงมีลักษณะอาการผิดจากเขาอยู่ที่ตรงนี้ คือ สอนเหตุปัจจัยแห่งวิวัฒนาการ หรือ วิวัฒนาการแห่งเหตุปัจจัยให้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องรู้แล้วดับทุกข์ได้ นี่ ถ้าไปสอนเรื่องมีพระเจ้าผู้สร้างอะไรเป็นต้นแล้ว ก็กลายเป็นเรื่องศาสนาอื่น ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ในพระบาลีก็ยังมีชัดๆ เลย เป็นพระพุทธภาษิตว่า ความสุขหรือความทุกข์ไม่ได้เกิดแต่กรรมเก่า ไม่ได้เกิดจากกรรมเก่าในชาติก่อนหรอก ไม่ ไม่ ไม่ มันเกิดหรือมันเนื่องมาจากอิทัปปัจจยตา ปัจจุบันมีการปรุงแต่งตามกฏ อิทัปปัจจยตา ปัจจุบันอย่างไร อย่างไร มันก็เกิดเป็นทุกข์หรือเป็นสุขขึ้นมา แม้ว่าในกรณีที่เป็นทุกข์ ก็มีการปฏิบัติถูกต้องโดยอิทัปปัจจยตา ปัจจุบันมันก็ดับทุกข์ได้ แล้วข้อต่อไปตรัสว่า สุขทุกข์นี้มิใช่เพราะเหตุแห่งการบันดาลของอิศะวะระ(นาทีที่31:03) ของอิศวร คือพระเจ้า คำว่าอิศะวะระ(นาทีที่31:06) ในบาลีหมายถึงอิศวร อิศวรคือพระเจ้า สุขทุกข์นี้ไม่ ไม่ได้มีมูลเหตุมาแต่อิศะวะระ(นาทีที่31:13) ก็หมายความว่ามันมีเหตุปัจจัยของมันเป็นเรื่องๆ ไป แต่ว่าสุขทุกข์นี้มิได้เกิดเองลอยๆ แต่เกิดเพราะมีเหตุ มีปัจจัยอันเหมาะสมแล้วมันจึงเกิดขึ้น นี่ช่วยสังเกตุดูให้ดี จนพบว่าพุทธศาสนาเรามันมีรากฐานเป็นวิทยาศาสตร์ ปราศจากความงมงายโดยประการทั้งปวง ถ้าพูดกันในแง่ของวิทยาศาสตร์ คือเรื่องของธรรมชาติก็ ก็พูดกันได้ ถ้าพูดถึงเรื่องพระเจ้า(ผู้)สร้างหรือเคราะห์กรรมโชคชะตานี่พูดกันไม่ได้
นี่ตั้งข้อสังเกตุไว้ อย่าพูดให้ผิด ในโลกปัจจุบันนี้ไอ้นัก ไอ้นักวิชาทางศาสนาเขาก็แยกศาสนาในโลกไว้เป็น ๒ ชนิดเท่านั้นแหละ ชนิดที่ ๑ ก็คือ พวกถือว่ามีผู้สร้าง เรียกว่า creationism (32.30) creation การสร้าง creationism ถือว่ามีการสร้างนี้พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่ถืออย่างนี้ ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ แล้วพวกนี้ก็เรียกกันว่า evolutionism evolutionism (32.57) รู้ไว้ว่าพวกเรา พุทธนะมันเป็น evolutionism มันจะเป็น creationism ไม่ได้ (33.00) มันต้องพูดให้ถูกต้องไปกับเรื่องของเรื่องอย่างนี้ตลอดไป รู้จักจัดตัวเองไว้อยู่ในฝ่าย evolutionism ไม่ใช่ creationism และมันก็มีเพียง ๒ พวกเท่านั้น ศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าสร้างนี่มีมากๆ มากกว่าพวก evolutionism คือพุทธศาสนาหรือบางลัทธิอื่นที่มัน มันคล้ายๆ กัน คล้ายๆ กับพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้ตรงเผง แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามีพระเจ้าผู้สร้างก็มีเหมือนกัน เราจงพยายามอธิบายธรรมะหรือศาสนาของเราให้ถูกกับเรื่อง อย่าให้กลายเป็นอะไร มีพระเจ้าผู้สร้าง มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความขลังอะไรซึ่งเป็นความงมงาย แล้ว evolutionism คือเป็นไปตามวิวัฒนาการนั่น นั่นนะ ก็อย่างที่ว่ามาแล้วตั้ง(แต่)ต้น ว่าต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ เราก็เลยรู้มันว่ามีหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ที่ต้องทำให้ถูกต้องแก่ขั้นตอนของวิวัฒนาการ และคำว่าหน้าที่ หน้าที่ (นั่น)แหละคือ คำว่า ธรรมะ หน้าที่มันก็เห็นอยู่ชัดๆ ใครก็เห็นอยู่ชัด หน้าที่คือสิ่งที่ช่วยให้เรารอดยังไงเล่า ดังนั้นพระเจ้าถ้าจะมีฝ่ายนี้ก็คือหน้าที่นั่นแหละคือพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าเทวดาในบนสวรรค์ พระเจ้าช่วยให้รอดคือหน้าที่ ทำหน้าที่แล้วก็ช่วยให้รอด เราถือเอาหน้าที่นั่นแหละเป็นสิ่งสูงสุด แม้ในทางโลกนะ ในทางโลก โลกปัจจุบัน โลกๆ นี้ก็พูดได้ว่าถ้าเพียงแต่ทุกคนทำหน้าที่ของตนเท่านั้นแหละ(จะ)รอดกันหมด บ้านเมืองรอด บุคคลรอด ประเทศชาติรอด รอดกันหมด ไม่ต้องยุ่งยากลำบากอย่างที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เสียดุลการค้าไม่รู้มากมายสักเท่าไร เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ให้ถูกต้องเต็มที่ด้วยกันทุกคน ให้ทุกคนทำหน้าที่ให้เต็มที่ ชาวนาทำนาที่เต็มที่ ชาวสวนทำสวนเต็มที่ คนค้าขายทำการค้าขายเต็มที่ ข้าราชการทำราชการเต็มที่ กรรมกรทั้งหลายทำหน้าที่เต็มที่ แม้ที่สุดแต่คนขอทาน คนขอทาน ก็ขอให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเป็นธรรมะของคนขอทาน มันก็รอดตัวได้ พ้นจากความเป็นคนขอทานได้ นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำและขอให้ทำถูกต้องทั้งหมดเลย จะพูดไปเลยก็ได้ แม้จะแปลกไปบ้างว่า ให้ทำหน้าที่กันทุกชีวิตกระทั่งสัตว์เดรัจฉาน สุนัขและแมวที่เรามีอยู่ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง มันก็มีประโยชน์ หรือว่าไอ้สัตว์ที่จะต้องใช้แรงงานมากไปกว่านั้น เช่น วัว ควาย เป็นต้น ได้ทำหน้าที่เต็มที่ สัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารก็ทำหน้าที่เต็มที่ เลยไม่มีอะไรที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ถ้าทุกคน ทุกชีวิตทำหน้าที่อย่างนี้ เกิดความรอด ความรอดส่วนบุคคล ความรอดของสังคม ความรอดของประเทศชาติ แม้กระทั่งความรอดของโลก นี่ความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ ข้อที่เมื่อเราจะเรียนธรรมะอย่างวิธีใหม่ วิธีที่ปรับปรุงให้ทันสมัย มันก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องทำให้ถูกต้องไปตามกฏเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นอยู่ที่นั้น ในเวลานั้น เดี๋ยวนั้น ตรงกับคำว่าสันทิฏฺฐิโก สันทิฏฺฐิโก เห็นได้ รู้สึกได้อยู่ด้วยตนเองนั่นแหละ คือ วิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนา สรุปรวมอยู่ที่คำว่า สันทิฏฺฐิโก รู้สึกได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น แล้วมันจะกลายเป็นว่าพึ่งตัวเอง อะไรเองเป็นเสร็จหมดไปเลย เชื่อตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง พอใจตัวเอง เป็นสุขได้ด้วยตนเอง นี่มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างนี้
บทสรุปของวิทยาศาสตร์ นั่นคือคำว่า อิทัปปัจจยตา ในพระบาลีมีมากแต่ไม่รู้ว่าเหตุไรไม่ค่อยเอามาพูดกัน เอามาพูดแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นส่วนน้อยส่วนหนึ่งของเรื่องอิทัปปัจจยตา เพราะคำว่า อิทัปปัจจยตา หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ส่วนปฏิจจสมุปบาท(นั้น)หมายเฉพาะสิ่งมีชีวิตจิตใจ รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ได้ แต่ถ้าอิทัปปัจจยตา แล้วจะกินความหมดแม้ทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ อะไรมันก็มีกฎแห่งอิทัปปัจจยตา มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นเพราะเหตุ ดับไปเพราะเหตุ อาการอย่างนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา นั่นละคือหัวใจของพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนามีหัวใจเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีส่วนแห่งไสยศาสตร์ ยึดถือเอาการทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละเป็นหลักใหญ่ อย่าได้บกพร่องในข้อนี้ เราจะต้องเผชิญกับปัญหาในอนาคตก็คือความก้าวหน้าอย่างยิ่งของวิทยาศาสตร์ ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญเท่าไร พุทธศาสนายิ่งได้ความมั่นคงเท่านั้น พุทธศาสนาเรานี่จะได้ความมั่นคงจากความเจริญของวิทยาศาสตร์ ส่วนศาสนาที่ไม่ ที่ต้องพึ่งพระเจ้า (40.15)ต้องมีอะไรชนิดนั้นน่ะ ทำนอง creationism นั้นน่ะ วิทยาศาสตร์เจริญเท่าไรลัทธิอย่างนั้นจะมีแผ่นดินอยู่น้อยลงไป คือจะถูกละทิ้ง ละเลยมากขึ้น มากขึ้น นี่เราพูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าพูดดูถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พูดให้รู้ว่าเป็นโชคดีที่เราได้นับถือพระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์เป็นวิทยาศาสตร์ ต่อไปในอนาคตวิทยาศาสตร์เจริญเท่าไร ก็ยิ่งจะช่วยรับสมอ้างสนับสนุนหลักเกณฑ์ทางพุทธศาสนายิ่งขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นพวกเธอเป็นภิกษุหนุ่มเป็นสามเณรน้อยกำลังตั้งต้นศึกษาวิชาที่จะเผชิญหน้ากับโลกที่เจริญด้วยการศึกษาในอนาคต จงรู้เรื่องนี้ไว้ให้ดีๆ และทำให้สำเร็จประโยชน์ หน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือหน้าที่ ขอให้เรามีหน้าที่ที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาและพอใจ ที่ไหนไม่มีหน้าที่ ที่นั้นไม่มีธรรมะ ที่ไหนไม่มีการทำหน้าที่ ที่นั้นไม่มีธรรมะ แม้ในโบสถ์ เอ้า ในโบสถ์ ถ้าในโบสถ์มีแต่สั่นเซียมซีกับบวงสรวงอ้อนวอนอย่างนี้แล้ว ในโบสถ์นั่นนะไม่มีธรรมะ ไอ้กลางทุ่งนาที่ชาวนากำลังไถนาอยู่ก็จะมีธรรมะ มีการทำหน้าที่ที่ไหน ก็มีธรรมะที่นั่น นี่ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ดังนั้นเธอทั้งหลายจงปฏิบัติหน้าที่ให้สนุก เป็นนักเรียนต้องเรียนนี่ เป็นนักเรียนต้องเรียน เรียนนะคือหน้าที่ จงทำหน้าที่ให้สนุก จะเรียกว่าการงานก็ได้ ทำการงานให้สนุก แล้วก็จะทำได้มาก แล้วก็จะเหนื่อยน้อย แล้วก็จะเป็นที่ประหลาดใจว่าทำไมทำได้มาก ผมก็มีหลักอย่างนี้นะ ผมก็ถือหลักอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ทำงานสนุกเป็นสุขเมื่อทำการงาน แล้วก็ทำๆ บางวันทำตั้ง ๑๘ ชั่วโมงก็มีเมื่อยังหนุ่มๆ อยู่ มีผลงานเหลืออยู่เป็นหลักฐานในตึกแดงหลังนี้ ถ้าสนใจเข้าไปดู งานทั้งหมดนั้นนะคือผมทำคนเดียว น้อยคนจะเชื่อว่าทั้งหมดนั้นทำคนเดียว หนังสือทุกเล่ม มันก็ไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร แต่เพราะเหตุที่เห็นว่าไอ้งานนั่นแหละคือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ หน้าที่คือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ แล้วมันก็ทำเพลิน จนลืม ลืมหยุด เขาทำกันวันละ ๘ ชั่วโมง เราก็ทำวันละ ๑๘ ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อทำมากเข้าๆ มันก็ชำนาญมากขึ้น ก็ทำได้มากขึ้น ดังนั้น มันจึงทำงานได้ทิ้งกันไกล ไป ไปสังเกตุดู เห็นหนังสือทั้งหมด ยกเว้นตู้หนังสือพระไตรปิฎกตู้เดียว นอกนั้นน่ะคืองาน คือเป็นผลงานที่ทำตลอดเวลา ๕๐ ปี ๕๐ ปีของสวนโมกข์ ไม่ใช่ว่าจะอวดเก่ง อวดดีอะไร แต่เพื่อให้เป็นหลักฐานยืนยันแก่พวกเธอเล็กๆ นี่ว่าไอ้งานนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ หน้าที่นั้นทำเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ ถ้าไม่อย่างนั้นผมจะทำอะไรได้มากเท่านี้ไม่ได้
นี่ก็ขอให้เข้าใจตอนนี้ ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ แล้วเป็นสุขด้วย เพราะว่าเมื่อสนุก มันก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข นี้จำไว้ด้วยเลยว่า ความสุขเกิดมาแต่ความพอใจ ไม่อาจจะเกิดมาจากความรู้สึกอย่างอื่น ถ้าความพอใจดี ความสุขก็ดี ถ้าความพอใจชั่วหรือคดโกง เช่น ความพอใจของอันธพาล มันก็เป็นสุขอันธพาลและคดโกง แต่มันก็ยังเป็นความพอใจอยู่นั่นแหละ ดังนั้นจงทำให้สนุกและพอใจในการทำหน้าที่ หน้าที่ มนุษย์ทำหน้าที่ให้ดี ให้มาก ให้สมบูรณ์ ยิ่งกว่าสัตว์ เดี๋ยวนี้มนุษย์มีมันสมองกลับเอาไปใช้ไนทางที่หลบหลีกหน้าที่ เอาเปรียบหน้าที่ คดโกงหน้าที่ แล้วก็โกงมันจริงๆ ด้วย อย่างนี้ไม่ถูก (ทำ)หน้าที่แล้วก็จะต้องพอใจ คือ ธรรมะ ทำด้วยความพอใจ และก็เป็นสุข ถ้าเป็นชาวบ้านทำหน้าที่พอใจและเป็นสุข มันก็ทำได้มาก ทำนาก็ทำได้มาก ทำสวนก็ทำได้มาก ถ้าเป็นกรรมกรก็ทำได้มาก นี่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีและต้องกระทำ นับตั้งแต่คนขอทานขึ้นมาถึงกรรมกร ขึ้นไปถึงคนสามัญทั่วไป จนถึงราชามหากษัตริย์ จนถึงมหาจักพรรดิ์ จนถึงเทวโลกในพรหมโลก ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น ให้รู้จักหน้าที่ของตนแล้วก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ นั่นแหละคือความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ มีการกระทำหน้าที่อยู่อย่างถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น เอาความถูกต้อง ถูกต้อง นี่เป็นอารมณ์กรรมฐาน ใครจะทำกรรมฐานยุบหนอพองหนอก็ได้ ไม่ ไม่มีผิดหรอก แต่อยากจะแนะว่าไอ้กรรมฐานอันหนึ่งที่จะช่วยได้มาก สำหรับพวกเราอย่างกำลังเล่าเรียนอย่างนี้ คือเอาธรรมะเป็นอารมณ์ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ จดจ่ออยู่แต่กับหน้าที่ มีสติทำหน้าที่ดีที่สุดตลอดเวลา ทำหน้าที่นั่นแหละให้เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้าใครมันยังสงสัยกรรมฐานไหนกันโว้ย ก็ว่าธรรมานุสติโว้ย ธรรมะคือความถูกต้องในหน้าที่ มีความถูกต้องเป็นอารมณ์ กรรมฐานนี้มีชื่อว่าธรรมานุสติอย่างเต็มที่เลย นี่จะยักย้ายเป็นพุทธานุสติ สังฆานุสติด้วยก็ได้ เพราะจะมีรวมอยู่ในนั้น(นั่น)แหละ ในความถูกต้อง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีอะไรหมดเสร็จอยู่ในนั้น เรียกว่าทำกรรมฐานมีความถูกต้องเป็นอารมณ์ ก็จะมีผลดีทุกอย่างทุกประการ คือมีความสุข มีความเจริญในทางกาย ในทางใจ มีการกระทำที่เยี่ยงไปทางนิพพานนะ ที่ใกล้ไปทางพระนิพพานที่มากขึ้นๆ ก็เลยหวังว่าเธอทั้งหลายที่เป็นภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย จงได้เข้าใจในถ้อยคำบางคำซึ่งเป็นหลัก หรือ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เช่น คำว่าธรรมะ
ธรรมะ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ให้เกิดความรอด วิมุติ หลุดพ้น เกิดความรอด ซึ่งเป็นวัตถุที่ประสงค์ของคนทุกพวก แล้วก็ทำหน้าที่ด้วยความพอใจ ทำสนุกก็เป็นสุขเมื่อทำหน้าที่ ถ้าประชาชน ชาวไร่ ชาวนา ทุกคนพอใจทำหน้าที่ เป็นสุขอย่างยิ่งเสียในหน้าที่แล้ว เขาก็จะไม่มีอบายมุข หรือพวกข้าราชการทั้งหลาย ถ้าเขามีความสุขเมื่อทำหน้าที่แล้ว เขา(ก็)ไม่ต้องการเงินไปฟุ่มเฟือยอะไรจนต้องโกงเงินหลวง คอร์รัปชั่นจนต้องเดือดร้อน เพราะเขามีความสุข สุข สุขเสียแล้วนี่ แล้วมันจะสุขอะไรที่ไหนได้อีกเล่า เพราะว่านอกนั้นเป็นแต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไปอาบอบนวด ไปสถานอบายมุขทั้งหลายนั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นแต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เธอทั้งหลายอย่าได้ถลำตัวเข้าไปในนั้น อยู่แต่ในความสุขที่แท้จริง เห็นชัดอยู่ว่าเป็นความถูกต้อง ทำแล้วก็พอใจ สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสุขจริง แต่ถ้าไม่ ไม่ทำจริงก็ไม่ ไม่รู้สึกเป็นสุขจริง มันเป็นเรื่องหลอกตัวเองก็ได้ ต้องเป็นคนจริงพอที่จะเข้าถึงความจริงข้อนี้แล้วจะเป็นสุขจริง นี่ถ้าชาวนา ชาวสวน ข้าราชการ กรรมกรอะไรก็ตาม เขาเป็นสุขแท้จริงเสียในการทำหน้าที่ก็ไม่ต้องเอาเงินไปใช้เพื่ออาบอบนวด เป็นต้น เงินมันก็เหลือ ดังนั้น พูดได้เลยว่าไอ้ความสุขที่แท้จริงนั้นจะทำให้เงินเหลือ คือไม่ต้องใช้เงิน พระบาลีเขายังมีอยู่ว่า ลัด ทา มู ทา นิ บุ ติง บุน ชะ มา นา (นาทีที่51:09) ผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ย่อมมีนิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ ได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ ไม่ต้องเสียสตางค์ นี่ขอให้ถือเป็นหลักว่าความสุขถ้าแท้จริงไม่ใช้เงิน มันไม่ใช้เงิน มันไม่รู้จะไปใช้อะไร เงินก็เหลือ เงินมันก็เหลือสิ สำหรับผู้มีธรรมะจริง ปฏิบัติธรรมะจริง เงินมันก็เหลือ ส่วนธรรมะเก๊ของอันธพาลนั้นนะมันต้องการความเพลิดเพลินอันหลอกลวงทางเนื้อ ทางหนัง ทางอะไร จนเงินได้มาเท่าไรก็ไม่พอใช้ แล้วก็ไม่สำนึกได้ ไม่เคยสำนึกได้ ที่ตลาดภูเก็ตหรือตลาดพังงาแถวนั้นนะ มีคนบอกว่าแม่โขง เบียร์ นี่ขาดตลาดอยู่บ่อยๆ คือถ้าวันไหนไอ้กรรมกรมันทำงานได้ผลดี วันนั้นได้เงินมาก มาชวนกันมากินเบียร์ กินแม่โขง กิน จนหมดตลาด สั่งมาไม่ทัน คิดดู ทำไมมันจะต้องทำอย่างนั้นเล่า มันไม่ต้องกินอย่างนั้นก็ได้ แล้วมันจะเป็นสุขได้ นี่ดูเถิดว่าเมื่อไอ้ความเข้าใจผิดหรือมิจฉาทิฐิครอบงำแล้ว มันทำได้ถึงอย่างนั้น มันจะกินเหล้าเมายา บำรุงบำเรอร่างกายให้สุดๆ ที่สุดๆ ที่สุด จน จนเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมา ว่าเหล้าหรือเบียร์นั้นสั่งมาไม่ทันขาย อย่าทำเล่นกับไอ้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง มันจะทำให้เป็นอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่าความเพลิดเพลินแล้วจัดเป็นกิเลสไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ต้องพยายามรู้จักแล้วก็อย่าไปเป็นทาสของมัน ถ้าเพลิดเพลินในทางธรรมะทำงานสนุกอย่างนี้ไม่เป็นไร เป็นความเพลิดเพลินในทางธรรมะ มันได้รับความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องไปเอาเหล้าเอายาอะไรมาช่วยเหลือ
เอาละเป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องราวของมนุษย์เป็นเค้าเงื่อนมาตั้งแต่เบื้องต้นที่สุดจนจะมาถึงเรื่องสูงสุดคือทำหน้าที่มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรี เป็นการเขยิบตัว ใกล้ต่อสภาวะที่เป็นนิพพานนั้นนะยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนี้ขอให้จดจำถ้อยคำเหล่านี้ไปคิด ไปนึก ไปใช้เป็นประโยชน์ ผมก็ไม่ใช่ว่าจะวิเศษดีเด่นมาแต่ แต่ไหน เพียงแต่ว่าได้สังเกตุ ได้สังเกตุ ได้ศึกษา ได้ค้นคว้า ได้รวบรวมมาเป็นเวลาสิบๆ ปี มันก็มีเรื่องพอที่จะพูดให้ฟังได้ และก็มาพูดให้ฟังในวันนี้ด้วยการปฏิสันถารที่ดีที่สุดแล้ว ดูซิผมก็ไม่มีอะไรจะปฏิสันถาร มีแต่ธรรมะนั้นที่จะทำปฏิสันถาร ขอให้รับเอาไป และก็ใคร่ครวญดูด้วยสติปัญญาเห็นชอบตามที่เป็นจริงของตนเอง เมื่อเห็นจริงว่ามันจะดับทุกข์ได้ก็เอาเลย ปฏิบัติกันเต็มที่เลย ถ้าเห็นว่าดับทุกข์ไม่ได้ หรือ ยังไม่เห็นว่าจะดับทุกข์ได้ก็ยังไม่ไปเอา ต้องคิดค้น สอบสวน ทดลองไปก่อน ถ้าเห็นว่าคงจะดับทุกข์ได้ ก็ลองทำดู ยังไม่เชื่อก็ได้ลองทำดู ลองทำดูแล้วดับทุกข์ได้จึงค่อยเชื่อ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน แปลว่าไม่ผิดหลักกาลามสูตรไป จะไม่เชื่องมงายแม้โดยประการใดๆ เอาละขอให้รับทราบความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้และขอบคุณที่มาเยี่ยม และอนุโมทนาที่จะมีการศึกษาตามมี ตามได้ ตามสมควรแก่โอกาส
เอาละก็ขอให้มีธรรมะ อานิสงส์ของธรรมะ อ้างพระคุณของธรรมะ จงมีอำนาจเป็นพลวปัจจัยสูงสุดกว่าปัจจัยทั้งหลาย ทำให้เราขะมักเขม้นในการทำหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ และจงเป็นผู้มีความสุขความเจริญงอกงามในธรรมวินัยแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกันเทอญ