แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการที่ได้มาพูดจากันในวันนี้และเป็นเวลาที่พิเศษที่เป็นเวลา ๕ โมงครึ่งแล้ว เป็นเวลาที่อาจจะทำจิตใจเหมาะสมได้เป็นพิเศษ คือ มีสมาธิ หรือสติ หรือปัญญาได้มากกว่าธรรมดา เพราะยังเป็นเวลาที่มีจิตใจสงบเย็นอยู่ เรียกเป็นภาษาเป็นว่าน้ำชายังไม่ล้นถ้วย ยังไม่ได้คิดนึกอะไรกันมากมาย ยังอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อม การพูดจึงได้ผลดีกว่าเวลาอย่างอื่น อากาศก็กำลังดี ธรรมชาติก็อำนวยให้การพูดจานั้นสำเร็จประโยชน์ยิ่งไปกว่าธรรมดา แม้ดอกไม้ในป่าก็ยังอำนวยให้มีความเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์เป็นส่วนพิเศษทางจิตใจ
อาตมาอยากจะสนองความประสงค์ให้สำเร็จในโอกาสเช่นนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน เตรียมตัวสำหรับฟังเรื่องที่จะกล่าวกันในวันนี้
อาตมาจะพูดปรารภการศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่มันควรจะมี ระบบการศึกษาของเรายังอยู่ในลักษณะที่ว่า ตาบอดคลำช้าง มีว่านักเรียนยังอยู่ในลักษณะที่ยังไม่สำเร็จประโยชน์ตรงตามที่ควรจะมี จะเป็น
การศึกษาของเรายังไม่ตรงจุดหมายเหมือนอย่างของพระพุทธเจ้า วิธีการสั่งสอนหรือเรื่องราวที่สั่งสอนก็ยังไม่ตรงจุดตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำไว้
อาตมาจึงขอถือโอกาสนี้ บรรยายธรรมะในหัวข้อนี้เป็นส่วนใหญ่ให้การศึกษาของเราพ้นจากสภาพคบเด็กสร้างบ้าน ถ้าแก้ปัญหาข้อนี้ไม่สำเร็จระบบการศึกษามันอยู่ในลักษณะคบเด็กสร้างบ้านไม่มีที่สิ้นสุด บางคนเขาก็ต่อไปถึงกับว่าหัวล้านสร้างเมือง คือว่าคบเด็กสร้างบ้านน่ะมันโลเล เหลวไหลไปตามประสาเด็ก หัวล้านสร้างเมืองก็ใจน้อย ฉุนเฉียวไปตามประสาคนโมโหร้าย แล้วการศึกษามันจะสำเร็จได้อย่างไร
สิ่งที่เรียกว่าการศึกษานั้นมีความสำคัญ อาตมาอยากจะขอยืนยันว่า เป็นสิ่งสูงสุดอยู่ที่การศึกษา การศึกษาช่วยให้มีความถูกต้อง ถ้ามีความถูกต้องแล้วมันหมดปัญหา
เดี๋ยวนี้การศึกษามันไม่ได้ประกอบกันอยู่กับความถูกต้อง มันเป็นเพียงความถูกต้องของผู้เห็นแก่ตัวหรือการเห็นแก่ตัว นี้ยังมีส่วนที่ลัดเลี้ยว หรือหลีกเลี่ยงไปในทางที่ยังไม่สมบูรณ์เพราะมันมีความเห็นแก่ตัวเจืออยู่ในการศึกษา นี้จึงต้องแก้ปัญหาข้อนี้ด้วยการให้การศึกษาให้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์เท่าที่ได้สังเกตมา การศึกษาของพระพุทธเจ้าได้รวมเป็นหัวข้อสำคัญสำคัญได้ เพียงคำพูด ๓ หัวข้อ
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนน่าอัศจรรย์หนึ่ง
ทรงสั่งสอนมีเหตุหนึ่ง
ทรงสั่งสอนมีปาฏิหาริย์หนึ่ง
เป็น ๓ หัวข้อ
ถ้าการสั่งสอนยังไม่อัศจรรย์ยังไม่มีเหตุผล ยังไม่มีปาฏิหาริย์ เรียกว่า การศึกษาเหมือนการคบเด็กสร้างบ้านอยู่นั่นแหละ มันไม่มีประโยชน์ทรงจริงหรือสมบูรณ์ตามที่มันควรจะเป็น นี้เราจะพูดกัน ๓ ข้อนี้แหละเป็นส่วนใหญ่ หรือว่าทั้งหมดก็ได้ พูดรวมอยู่ในคำ ในหลักสำคัญ ๓ ประการ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเคยทรงใช้ ได้ประสงค์ ทรงประสงค์จะให้ใช้ว่าการสั่งสอนซึ่งรวมถึงการพูดจา การอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการศึกษานี้ ต้องมีความน่าอัศจรรย์ แล้วก็มีเหตุผล แล้วก็มีปาฏิหาริย์
น่าอัศจรรย์นี้มันก็ทำให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษ
มีเหตุผลนั้น ก็คือ มีเหตุผลแสดงอยู่ในตัว
น่าอัศจรรย์ ก็คือ สำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์
ขอให้ครูบาอาจารย์จำคำ ๓ คำนี้ไว้ว่า น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่ง มีเหตุผลอย่างหนึ่ง มีปาฏิหาริย์อีกอย่างหนึ่ง
เด็กเด็กจะทำให้ครบองค์ประกอบอย่างนี้ได้อย่างไรดูก็ยังจะเป็นปัญหาอยู่มาก เดี๋ยวนี้เราเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์กันแล้ว ก็ควรจะทำให้ได้ตามความประสงค์อันนี้
น่าอัศจรรย์ หมายความ พอเห็นแล้วก็สนใจ สนใจ สนใจ และก็อยากได้ อยากมี รวมทั้งอยากฟังเป็นอย่างยิ่ง มันรู้สึกว่าน่าจะทำตาม ชวนให้ทำตามให้เสื่อมใส อย่างน้อยก็ดูเป็นของแปลก ไม่เคยฟัง ทำให้เกิดปีติปราโมทย์ ในการได้ยินได้ฟัง นี่เรียกว่า น่าอัศจรรย์ รวมใจความอยู่ในข้อที่ว่า ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง สิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับเราในวันนี้ก็น่าอัศจรรย์ เหมือนเด็กเด็กเห็นตุ๊กตาก็สนใจ
ถ้าเด็กเด็กได้ฟัง ได้ยิน ได้ฟัง ไอ้ข้อธรรมะข้อสั่งสอนเหล่านี้ ก็จะสนใจเหมือนกับสนใจในตุ๊กตา หมายถึง เด็กเล็กเล็ก เด็กทารก มันก็ต้องเป็นเด็กทารก แล้วก็เป็นเด็กเล็กเล็ก แล้วก็เป็นเด็กนักเรียนมาตามลำดับ ได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วก็สนใจอย่างเป็นของที่แปลกใหม่ และอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ก็ต้องสร้างความน่าอัศจรรย์นี้ขึ้นมาให้ได้
แล้วก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล ข้อที่ ๒ นี้มีเหตุผล ว่ามันแปลก ว่ามันจริง อยู่ในตัวเหตุผล ตัวเหตุผลที่แสดงออกมาว่ามันจริงอยู่ในตัวมันเอง พิสูจน์ทดลองได้ทุกเวลา ใครอยากจะพิสูจน์ อยากจะทดลองอย่างไร ก็พิสูจน์ทดลองได้เพราะมันมีเหตุผล
ที่มันมีปาฏิหาริย์ คือ ทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้จริง คือ ไม่พูดกันแต่ปาก ไม่เป็นเพียงการบรรยายตัวหนังสือให้ฟังตามตำรับตำราแต่ว่าทำให้สำเร็จตามนั้นได้จริง
เด็กเด็กเหล่านั้นจะเป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กคนใช้ แม้เป็นคนงาน เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นปัญญาชน ก็ทำให้เกิดความสนใจ หรือความน่าอัศจรรย์ได้
คำว่า “อัศจรรย์” อัศจรรย์นี่ แปลว่า ควรแก่การดีดนิ้วมือ
เข้าใจว่าในอินเดียมีประเพณีพอใจอะไรขึ้นมาก็ดีดนิ้ว ดีดนิ้ว ดีดนิ้ว เซ็งแซ่ไปหมด แทนที่จะปรบมือเหมือนอย่างที่เราทำทำกัน เป็นเพียงการดีดนิ้ว ดีดนิ้ว โดยมากเข้าก็เซ็งแซ่ไปเหมือนกันคล้ายคล้ายกับการโห่ร้องด้วยการดีดนิ้วมือ แต่ว่าใครจะปรบมือก็ยังได้เมื่อมันมีความน่าอัศจรรย์
ครูบาอาจารย์จะต้องสร้างความน่าอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นแม้ในคำพูดคำแรก พอพูดออกไปแล้ว เด็กมันรู้สึกว่า โอ้! ไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง รู้สึกขึ้นมาเองว่าแปลกและใหม่ ให้เขามีความน่าอัศจรรย์ถึงกับดีดนิ้วมือได้ ก็ทำให้เรื่องมันง่ายเข้าเพราะมันมีความน่าอัศจรรย์
จึงขอให้ถือเป็นหลักว่า พอเข้ามาในห้องเรียนที่จะสั่งสอนเด็กเด็ก เกิดความรู้สึกน่าอัศจรรย์ หรือ ว่าอัศจรรย์ อัศจรรย์ที่จะได้ยิน ได้ฟัง คำที่แปลกใหม่และก็ได้ฟังจริงจริงด้วย รู้สึกว่าได้ความรู้แปลก ได้ความรู้ใหม่ ที่เป็นความรู้ที่ศึกษาด้วยหนังสือ ด้วยของด้วยบทเรียน ด้วยของด้วยอะไรก็แล้วแต่ มันปลุกความน่าอัศจรรย์ขึ้นมาได้เป็นข้อแรก นี้เราเรียกว่า คำสั่งสอนนี้น่าอัศจรรย์
พระพุทธเจ้ามีคำสั่งสอน มีการสั่งสอน มีสิ่งสั่งสอน มีวิธีสั่งสอน ที่นำมาซึ่งความน่าอัศจรรย์ ต้องพูดได้ แม้แต่เด็กเด็ก เป็นต้นขึ้นมาจนถึงผู้ใหญ่ เป็นการทำให้ง่ายเข้ามากมายทีเดียว เพราะว่ามันอยากจะฟัง มันสนใจจะฟัง มันเลื่อมใสไปตั้งแต่ต้น มันก็อยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นความรู้ สติปัญญา สติสัมปชัญญะ อยู่ตลอดเวลา เพราะว่า มันเรียกความน่าอัศจรรย์มาได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันยังมีน้อยเกินไป ผลที่จะได้รับมันน้อยเกินไป เพราะมันไม่มีความน่าอัศจรรย์ ที่เด็กเด็กมานั่งง่วงน้ำลายไหลอยู่ก็มี ครูก็สอนไปตามที่มีอะไรจะให้สอน แล้วมันจะเอาความน่าอัศจรรย์มาจากไหน
เดี๋ยวนี้เราจะต้องให้เด็กตื่นใจ ตื่นตา ตื่นใจ รู้สึกเหมือนกับจะได้ของดี ของวิเศษ จะได้ขนม จะได้ตุ๊กตา หรือจะได้อะไรอะไรที่มันมากไปกว่านั้น ก็ปลุกความน่าอัศจรรย์ขึ้นมาได้แล้ว
ทีนี้ก็จะพูดถึง ข้อที่ ๒ ว่ามีเหตุผล
ข้อ ๑ มีความน่าอัศจรรย์
ข้อ ๒ มีเหตุผล คำว่า เหตุผลนี้ คือ พิสูจน์ได้ ทดลองได้ ทดสอบก็ได้ ถือเอาตามคำพูดของพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก ที่ว่าสอนอย่างมีเหตุผล มีเหตุผลนี้ ถ้าตามพระบาลีแล้วก็ อยากจะขอให้สนใจในเรื่องที่เรียกว่า กาลามสูตร กาลามสูตร มันมีความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระในการใช้เหตุผลนั้นน่ะ มีอำนาจแหลมคมอย่างยิ่ง แทงทะลุไอ้สิ่งที่เป็นอุปสรรค ทำให้เกิดความสำเร็จประโยชน์ในการใช้เหตุผลนั้นนั้น
ขอได้ทนฟังคำว่า “เหตุผล” ในที่นี้กันสักหน่อยเถอะ ว่าพระพุทธเจ้าเมื่อท่านจะสอนผู้ใด ท่านอาศัยตั้งอยู่ในหลักแห่งความมีเหตุผล ประมวลไว้ได้ กันไว้ได้ ๑๐ ประการ ซึ่งจะได้กล่าวเป็นลำดับไป ท่านสอนผู้มาฟังว่า
อย่าถือเอาตามที่ได้ยินได้ฟังกันมา คือ มันสักแต่ว่าฟัง ฟัง นี้เรียกว่า อย่าถือเอาตามที่ได้ยินได้ฟังกันมา
แล้ว ๒. อย่าถือเอาด้วยเหตุตามที่กระทำกระทำ ตามตาม กันมา
ข้อที่ ๓. ว่าอย่าตื่นไปตามคำกล่าวข่าวลือ
ถ้าว่าฟังตามกันมา แล้วทำตามกันมา แล้วทำตามข่าวเล่าลืออย่างนี้ ๓ อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ยิ่งเป็นเรื่องเด็กเด็กแล้ว ก็ยิ่งล้มเหลวหมด
แต่มันก็คงจะมีผู้แย้งว่าไม่ให้ฟังตามตามกันมา ทำตามตามกันมาแล้วจะทำอย่างไร
ข้อนี้ก็หมายความ ไม่ให้สักแต่ว่าทำตามตามกันมา ฟังตามตามกันมา หรือตามข่าวที่เล่าลือกันอยู่กระฉ่อน จะต้องรู้ว่ามันมีความหมายอย่างไร จะทำให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างไร ในการฟังตามตามกันมา หรือทำตามตามกันมา หรือตามข่าวเล่าลือ
ข้อต่อไปว่า อย่ามัวแต่อ้างตำรา
คำว่า “ตำรา” นั้น ภาษาศาสนา ก็คือ คำว่า “ปิฎก” นั่นเอง
คำว่า ปิฎก ปิฎก แปลว่า ตำรา
อย่ามัวแต่อ้างปิฎก หรือ อ้างตำรา มันก็เหมือนกับเปิดตำราอย่างเดียว แล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเพียงแต่อ่านตำราให้ฟัง
นี้มันก็มีเหตุผลอย่างยิ่งอยู่แล้ว
ไม่ฟังตามตามกันมา
ไม่ทำตามตามกันมา
ไม่ทำตามข่าวลือ หรือ ไม่มัวแต่อ้างตำรา
ทีนี้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป มา ตกฺกเหตุ มานยเหตุ อย่ามัวแต่อ้างเหตุผลตามตรรกะ อย่ามัวแต่อ้างเหตุผลตามแบบนัย
ไอ้แบบตรรกะนั้น ก็คือ แบบที่เรียกกันในภาษาไทยเราในปัจจุบันนี้ว่า Logic ตรรกะนั่นตรงกับคำว่า Logic เป็นเรื่องของเด็กเด็กก็ได้ เป็นเรื่องกลโกงหรือหลอกลวงด้วยคำพูดก็ได้
และก็ไม่ต้องมัวอ้างนัย นัยนี้เขาแปลกันว่า ปรัชญา หรือ Philosophy แต่เราไม่ยินดีที่จะใช้คำว่า ปรัชญา ถ้าใช้คำว่า Philosophy ก็จะพอไปได้ คือ ให้มีเหตุผลในการคิดใคร่ครวญของผู้มีปัญญา
ถ้าตรรกะมันความคิดชั่วแล่นเกินไป อย่าใช้อำนาจของตรรกะ คือ เหตุผล เหตุผลที่มันเป็นเพียงตริตรึกนึกคิด เป็นนัย ก็คือ Philosophy ภาษาอินเดียแท้แท้ Philosophy เขาไม่แปลว่า ปรัชญา เขาแปลว่า ทัศนะ ทัศนะ เป็นทัศนะอย่างหนึ่งหนึ่งเท่านั้น ไอ้สิ่งที่เรามาเรียกกันว่า ปรัชญานั้น เป็นเพียงทัศนะอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เอาตามคำกล่าวที่ออกมาอย่างทื่อทื่อ ไม่เอาตามทัศนะที่คิด คิดกันอย่างค่อนข้างจะแยบคายแต่พอมากมายไม่รู้จบ นี้เป็นเรื่องของ Philosophy ไม่รู้จบ ก็หลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้วิธีตรรกะของเด็กเด็ก
วิธีนัยของผู้มีปัญญาชอบคิด
ที่เป็น Philosophy นั้นมันก็แปลได้ว่า เป็นเรื่องบ้าเรียนเท่านั้นเอง ไม่ใช่ปัญญาอันสูงสุด
ถ้าพูดถึง ปรัชญา หมายถึง ปัญญาอันสูงสุดของนักปราชญ์
แต่ถ้าเป็น Philosophy มันแปลได้แต่เพียงว่าบ้าเรียน เป็นทัศนะหนึ่งหนึ่งตามที่ตนยึดถือไว้อย่างไร นี้ก็ไม่ถือเอาเป็นหลักเกณฑ์อันนี้
ที่ลึกขึ้นไป ยากขึ้นไป ก็ว่า มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าถือเอาการตริตรึกไปตามอาการ ตาม Common sense นี้มันก็ผิวเผินผิวเผินเกินไป
ลึกขึ้นไปก็ มา ทิฏฐิพิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าถือเอาตามที่มันทนต่อการเพ่ง เมื่อเราเพ่งแล้วมันทนต่อการเพ่งเพียงเท่านี้ยังไม่พอ มันทนได้ต่อการเพ่งนั้นมันผิดที่หลัง มันล้มละลายทีหลังได้ อย่าเอา ทนต่อการเพ่งของเรา ก็จะถือเอาอย่างนี้ ยังไม่รับ ยังไม่ยอมรับ
มา ภพฺพรูปตาย ก็ถือเอาเพราะมันน่าเชื่อ เพราะมันน่าเชื่อ เพราะมันมีรูปร่างที่น่าเชื่อมีคำพูดที่น่าเชื่อ มีอะไรที่น่าเชื่อ
แล้วก็ มา สมโณ โน ครูติ อย่าถือเอาเพราะเหตุว่าสมณะผู้พูดนี้เป็นครูของเรา เขาเป็นครูของเรา เราก็ต้องเชื่อ
ไอ้ตอนท้าย ๔ อย่างนี้ ก็ว่า อย่าถือเอาแห่งการวิตก ปริวิตก ไปตามอาการคือ Common sense Common sense นี้เค้านิยมใช้กันมาก แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ระวังให้ดีดี ใช้ Common sense นี้มันมีทางผิดได้เท่ากัน
อย่าถือเอาตามที่ว่ามันทนได้ต่อการเพ่งของเรา เราเพ่งเท่าไหร่มันก็ทนอยู่ได้ เราเพ่งเท่าไหร่มันก็ทนอยู่ได้
และก็ว่า อย่าถือเอาเพราะว่ามันมีความน่าเชื่อ ความน่าเชื่อ
และในที่สุดก็ว่า อย่าถือเอาว่าผู้นี้เป็นครูของเรา
ขอให้ท่านสรุปรวมใจความเหล่านี้ดูว่า เป็นอิสระอย่างไร เป็นอิสระเท่าไหร่ ใครเคยมีคำสอนอย่างนี้ ใครเคยมีประชาธิปไตยในการสอนอย่างนี้ ซึ่งมีหลักอยู่ ๑๐ ประการ ขอทบทวนใหม่สั้นสั้นอีกทีหนึ่งว่า
อย่าถือเอาด้วยเหตุฟังตามตามกันมา
เหตุว่าทำตามตามกันมา
และก็ด้วย เหตุว่าได้ยินข่าวลือ
นี้มันก็ว่า ฟังตามตามกันมา ทำตามตามกันมา และข่าวลือที่มีอยู่กระฉ่อนนี้ ไม่ถือเอาเป็นหลัก จะต้องค้นให้พบความจริง
และก็ ไม่มัวแต่อ้างปิฎก หรือตำรา หรือคัมภีร์ แม้ว่ามันมีอ้างอยู่ในปิฎก ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ความจริงแท้
ในเรื่องของตำรา หรือ ปิฎก หรือ คัมภีร์ กลุ่มหนึ่งก็มีว่า อย่าถือเอาด้วยเหตุผลทาง Logic อย่าถือเอาด้วยเหตุผลทาง Philosophy
ไอ้ Logic นี้มันคิดอย่างหยาบหยาบเหมือนของเด็ก
Philosophy มันก็คิดพิถีพิถันไม่รู้จบ มีผู้อุปมาว่า มันไม่รู้จบ เหมือนกับไอ้ทางรถไฟ มีอยู่ ๒ เส้น ขนานกันไปเรื่อย มันไม่มีทางที่จะบรรจบกัน ถ้าคิดอย่าง Philosophy หรือ ปรัชญา ที่เรียกกันตามว่าปรัชญานี้ หัวเราะเยาะว่ามันไม่รู้จบ มันไม่รู้จบ มันต้องรู้จบ ด้วยทางรถไฟมันต้องมาบรรจบกันได้ ไม่ใช่เป็นทางรถไฟคู่สองเส้นอยู่เรื่อยไป นี้อิสระสักเท่าไหร่ คุณก็ลองคิดดู
ทีนี้ก็ว่า อย่าถือเอาตามความปริวิตก ไปตามเรื่องตามราว คือเรื่องของ Common sense
ก็ อย่าถือเอาว่ามันทนได้ต่อการเพ่ง เรายิ่งเพ่ง มันยิ่งทนเพ่ง ยิ่งพิสูจน์ว่ามันจริงอย่างนั้น
และก็ อย่าถือเอาด้วยเหตุว่ามันน่าเชื่อ ครูคนนี้น่าเชื่อ ทฤษฎีนี้น่าเชื่อ ซึ่งล้วนแต่เป็นความน่าเชื่อ แล้วก็ตัดบทเสียเลยว่า มันเป็นครูของเรา นี้คำบาลีใช้ สมณะนี้เป็นครูของเรา ก็โดยทั่วไป เขาใช้ครูบาอาจารย์ที่เป็นสมณะ คือ เป็นแค่ผู้ที่มีความรู้ เป็นนักบวช เป็นอะไรเหล่านี้ เรียกว่า สมณะ
๑๐ ประการนี้ มีเหตุผลซึ่งฟังดูมันค่อนข้างจะรุ่มร่าม หรือยืดยาว หรือยุ่งยาก แต่มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หรือสนใจได้ หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เขาเรียกกันว่า กาลามธรรม
กาลามสูตร คือ คำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่คนพวกกาลาม ชนพวกหนึ่ง เรียกว่า ชนชาติกาลาม เข้ามาร้องทุกข์กับพระพุทธเจ้าว่า “ข้าพเจ้า (นาทีที่ 29:05) พอนักปราชญ์ศาสดาอะไรมา ผู้สอนมาคนหนึ่ง พวกหนึ่ง ก็พูดอย่างนี้ อีกพวกก็พูดอย่างอื่น อีกพวกก็พูดอย่างอื่น อีกพวกก็พูดอย่างอื่น จนงงไปหมดไม่รู้จะถือเอาคำสั่งสอนของใคร”
พระพุทธเจ้าก็เลยตรัส ตัดบทลงไปว่า
อย่าเชื่อการฟังตามตามกันมา
อย่าเชื่อด้วยการทำตามตามกันมา
อย่าเชื่อด้วยข่าวลือ
อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา
อย่าเชื่อหรืออย่าถือเอาตามเหตุผลทางตรรกะ หรือ Logic
อย่าเชื่อถือเอาด้วยเหตุผลทางนัย นัย คือ วิธีคิด อย่างที่เรียกว่า ทัศนะ ที่เรามักจะเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า Philosophy
และก็อย่าเชื่อหรือถือเอาโดยการตริตรึกไปตามอาการที่เรียกกันว่า Common sense
และก็อย่าถือเอาด้วยความคิดว่า โอ้! นี้มันเพ่งแล้ว มันทนได้ เพ่งแล้วมันทนได้ คือคิดเอาแล้วก็มันทนได้ ก็เลยถือเอาเสียว่า ถ้าอย่างนั้นมันก็ถูกสิ เพราะมันทนได้ มันทนต่อความคิดของเราได้
พวกหนึ่งก็ว่า เพราะว่ามันน่าเชื่อ ดูส่วนไหน ตอนไหน ท่าไหน มันก็น่าเชื่อ ไปเสียหมด
แล้วก็เชื่อว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา คือ ผู้นี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา
ถ้าเอาตามตัวหนังสือเหล่านี้ มันก็จะฟังออกไปในทางว่า ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ จู่จู่ไม่ต้องเชื่ออะไรเอาเสียเลย จนไม่รู้จะเชื่ออะไร ไม่มีอะไรที่จะต้องเชื่อ ไม่เชื่ออะไรเอาเสียเลยนี้ มันก็ มันก็แปลกอยู่ เหมือนกันที่ว่า สอนจนไม่รู้เชื่อเอาอะไร
โดยแท้จริงทรงสั่งสอน คือว่า ให้มันมีความจริงที่มองเห็นได้ ว่าทำขึ้นแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นมา ที่เรียกว่า มีเหตุผล มีเหตุผล มีเหตุผล
ทีแรกขึ้นต้นด้วยความน่าอัศจรรย์ ฟังแล้วปลุกความสนใจอย่างเต็มที่ แล้วก็มีเหตุผล มีเหตุผล ไม่หวั่นไหวด้วยความคิด คือว่า ไม่สูญเสียความคิดนึกที่เป็นหลักหรือเป็นฐาน หรือเหตุผลที่เป็นหลักเป็นฐาน บางคนพอได้ยินอะไรเข้าแล้ว มันซาบซ่านในใจจนถึงกับว่า มันสะดุ้ง ได้ยิน ได้ฟัง คำพูดคำแรกมันก็สะดุ้งแล้ว หรือได้ยินคำพูดแล้วมันก็หวาดเสียวแล้ว หรือว่าหนักเข้ามันก็วิ่งหนีเลย มันทนฟังอยู่ไม่ได้ อาการอย่างนี้ไม่ต้องมี ไม่ต้องมี
ฉมฺภี ในภาษาบาลี ฉมฺภี แปลว่า สะดุ้ง ฟังแล้วสะดุ้ง
อุตฺราสี ฟังแล้วหวาดเสียว หวาดหวั่นวิตกไปตามเรื่อง
ปลายี ฟังแล้วหนีเลย เปิดเลย ไม่รอหน้า
สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องมี ในการพูดจาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่ามันมีเหตุผล มันมีเหตุผลอยู่ที่การพิสูจน์ได้ด้วยตัวมันเอง ว่าทำลงไปอย่างนี้ ผลมันจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้
คำสอนทั่วทั่วไปของพระพุทธเจ้านี้ คำสอนก็เรื่องเหตุผล ทำลงไปอย่างนี้หรือพูดไปอย่างนี้ คิดไปอย่างนี้ มันเกิดผลขึ้นมาอย่างนี้ ก็วินิจฉัยเอาด้วยการที่มันสงบเย็นและมีประโยชน์เป็นความจริงที่สงบเย็นและมีประโยชน์ มันเป็นความจริง ถ้ามันมีเหตุผลเหล่านี้มันเป็นความจริง ให้ผลเป็นความสงบเย็นแก่จิตใจ ไม่ต้องวิ่งหนี ไม่ต้องหวาดเสียว ไม่ต้องสะดุ้ง ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องตื่นตูม แล้วมันก็สำเร็จประโยชน์ จึงใช้คำพูดอีก ๒ คำว่า มันสงบเย็น และเป็นประโยชน์
คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าตามหลักที่กล่าวนี้ฟังแล้วมันสงบเย็นและเป็นประโยชน์ สุขสงบเย็นเฉยเฉยยังไม่พอ ต้องเป็นประโยชน์ด้วย ต้องพิสูจน์ความเป็นประโยชน์ได้ด้วย ถือเอาความเป็นประโยชน์ได้ในตัวประโยชน์นั้นเองไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อ ไม่ต้องฝากไว้กับไสยศาสตร์ ไม่ต้องฝากไว้กับโหราศาสตร์ หรืออะไรทำนองนี้ นี้เรียกว่า มีเหตุผล มีเหตุผล
ขอให้ระลึกถึงคำสอนที่ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ๑๐ ประการ แล้วก็มีความมั่นคง มั่นคง ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว เพราะได้ยินคำสอนชนิดที่ว่าทำให้ไขว้เขวตื่นเต้น หรือหวาดเสียว
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่า มีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ สำเร็จประโยชน์อยู่ในตัวเอง ไม่ต้องสำเร็จประโยชน์มาจากสิ่งภายนอก ซึ่งจะมาช่วยกันกระทำหรืออ้างอิงเพราะว่ามันมีไอ้ความถูกต้อง มันเป็นความถูกต้องอยู่ในตัวมันเอง สำเร็จได้โดยตัวมันเอง คำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี้เป็นหลักอันสุดท้าย ขอย้ำอีกทีว่า
๑. มันมีความน่าอัศจรรย์ แล้ว
๒. มันมีเหตุผล ความเป็นเหตุผล
๓. มันมีปาฏิหาริย์
พอได้ยินคำว่า “ปาฏิหาริย์” คนก็มักจะคิดเถลไถลไปในเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์เรื่องนู้นไปเสีย
ก็ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้านี้มีความหมายแต่เพียงว่ามันสำเร็จประโยชน์ได้ในตัวมันเอง อยู่ในตัวมันเอง โดยตัวมันเอง ไอ้ความรู้ ความคิด อะไรที่มันถูกต้องนั้นมันเป็นประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ พิสูจน์ความเป็นประโยชน์อยู่ในตัวมันเอง ก็เรียกว่า ความถูกต้อง
อาตมาขอให้สนใจในคำว่า “ความถูกต้อง” เอานะ! เดี๋ยวท่านก็จะต้องยอมรับเพราะเห็นอยู่ว่า ไอ้การเศรษฐกิจมันก็ไม่ถูกต้อง การเมืองมันก็ไม่ถูกต้อง การสังคมมันก็ไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกต้อง คือ มันไม่ทำให้เกิดสันติภาพ หรือเกิดความสงบสุขอะไรขึ้นมาได้ เพราะมันมีความไม่ถูกต้อง เพราะมันมีแต่ความเห็นแก่ตัว มันมีแต่วิธีการสำหรับจะเอาเปรียบผู้อื่นด้วยความเห็นแก่ตัว
เรื่องที่ว่ามันมี Supply มี Demand นั่นน่ะมันเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวทั้งชุด ไอ้ Demand ต้องการมันก็เห็นแก่ตัว จะต้องสนองความต้องการ เป็น Supply มันก็เห็นแก่ตัว มันก็เลยไม่ต้องทำอะไรกัน เพราะมันกลายเป็นเรื่อง เสนอ สนอง เสนอ สนอง ไม่มีสันติภาพ ไม่มีความสงบสุข
เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการเสนอที่มีเหตุผล ที่เป็นไปตามหลักธรรมะ ให้สนองตามเหตุผล เพราะฉะนั้นจะสนองกัน เสนอกัน สนองกันสักเท่าไหร่ ก็ไม่สูญเสียสันติภาพ
เดี๋ยวนี้ถ้าทำไปตามที่นักเศรษฐกิจ นักการเมือง นักการสังคม เขาผสมกันแล้วมันสูญเสียสันติภาพไม่มีเหลือ ไม่มีอะไรเหลือ สูญเสียสันติภาพไปอย่างที่ว่าไม่มีอะไรเหลือ นี้ไม่ใช่ความถูกต้อง
แต่แล้วก็ต้องขอยอมรับว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ความถูกต้องนี้มันก็เข้าใจยาก และ อธิบายยากว่ามันถูกต้องอย่างไร ได้แต่พูดรวมรวมกันไปที คล้ายคล้ายว่าฝากกันไว้ทีเหมือนกันล่ะว่า ความถูกต้องมันก็ไม่ประกอบไปด้วยโทษ มันมีแต่ประโยชน์ และมันไม่มีความเห็นแก่ตัว นักเศรษฐกิจก็จอมเห็นแก่ตัว นักการเมืองก็จอมเห็นแก่ตัว นักสังคมก็เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว นี้มันเรียกว่า ไม่มีความถูกต้อง
ไอ้คำว่า “ความถูกต้อง” นี้พระพุทธเจ้าตรัสในภาษาบาลีนี้มันเป็นคำที่แปลกประหลาด ท่านใช้คำว่า สมฺมตฺต ช่วยจำไว้หน่อยว่า สมฺมตฺต สอ-มอ-มอ แล้วก็ ตอ-ตอ สมฺมตฺต
สมฺม คือ คำว่า สัมมา สัมมา สัมมา แปลว่า ถูกต้อง ถูกต้อง
คำว่า ตฺต หรือ ตต แปลว่า ความ
สมฺมตฺต ความถูกต้อง ถ้าท่านไม่เคยได้ยินคำ คำนี้ หรือเหล่านี้ ก็ขอให้เข้าใจเถอะว่า มันเป็นคำที่ทรงบัญญัติและใช้อยู่ในภาษาพระพุทธศาสนา ภาษาบาลี เรียกว่า สมฺมตฺต ประกอบขึ้นด้วยคำว่า สัมมา สัมมา สัมมา สัมมา ซึ่งแปลว่า ถูกต้องนั้นน่ะตั้ง ๑๐ คำ
สัมมาทิฏฐิ ถูกต้องทางความคิดเห็น
สัมมาสังกัปปะ ถูกต้องทางความปรารถนา
สัมมาวาจา ถูกต้องทางการพูดจา
สัมมากัมมันโต ถูกต้องทางการกระทำการงาน
สัมมาอาชีโว ถูกต้องทางอาชีพ
สัมมาวายาโม ถูกต้องทางความพากเพียร
สัมมาสติ ถูกต้องทางสติสัมปชัญญะ
สัมมาสมาธิ ถูกต้องทางสมาธิ
จำคำเป็นหลักไว้คำหนึ่งว่า ถูกต้อง ถูกต้อง แล้วก็แจกออกไปเองว่าทางไหน
ตอนแรกก็มีอยู่ ๘ หนทาง คือ
ทางทิฏฐิ
ทางสังกัปปะ
ทางวาจา
ทางการงาน
ทางการอาชีพ
ทางความพากเพียร
ทางสติสัมปชัญญะ
และก็ทางสมาธิ
ถูกต้อง ๘ ประการนี้ เป็นส่วนเหตุที่จะทำให้เกิดผล และถูกต้องในส่วนผลมีอยู่ ๒ อย่าง คือ สัมมาญาณ คือ วิปัสสนาถูกต้อง ก็สัมมาวิมุตติ วิมุตติ หลุดพ้นถูกต้อง อีกสองนี้รวมเป็น ๑๐
ความถูกต้อง ๑๐ ประการนี้เรียกว่า ความถูกต้อง อย่าหาว่าพระพุทธเจ้าเอาเปรียบ ทำไมพูดไว้มากมายเป็น ๑๐ อย่าง แต่มันต้องเป็นอย่างนั้น มันจึงจะเพียงพอ
ทีนี้ครูบาอาจารย์จำไม่ได้ แม้แต่สัมมาเดียว อาตมาอยากจะท้าทายว่า ครูบาอาจารย์เหล่านี้ไม่เคยได้ยินคำว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ไม่เคยได้ยินแม้แต่ ๘ อย่าง หรือ ๑๐ อย่าง แล้วมันจะรู้เรื่องได้อย่างไรในคำว่า “ความถูกต้อง”
ฉะนั้นขอร้อง ขอวิงวอน ขออ้อนวอน ให้ไปศึกษาถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างลึกซึ้งที่สุด เป็นระเบียบที่สุด มีความหมายที่สุด ท่านนิยมชมชอบที่สุดว่า สัมมัตตะ คือ สัมมา สัมมา สัมมา สัมมา ๑๐ ประการ ใช้ประโยชน์ให้สำเร็จตรงตามคำ ความหมายของคำคำนั้นว่า สัมมา สัมมา มันถูกต้อง
เดี๋ยวนี้มันถูกต้องอะไรที่ไหน ถูกต้องทางประชาธิปไตย ไปถูกต้องทางการเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการเอาเปรียบ มันก็ถูกต้องทางการแสวงหา กามารมณ์ ถูกต้องทางแสวงหาความสุข ซึ่งใช้ท่านใช้คำมันค่อนข้างจะโสกโดกหรือหยาบคายว่า แสวงหากันแต่มิฬหสุข
ช่วยจำ คำว่า มิฬห มิฬห (มอ-อิ-ลอจุฬา-หอ-อะ) มิฬห
มิฬหสุข แปลว่า ความสุขที่เกิดทางท่อปัสสาวะ ความสุขที่เกิดทางท่อปัสสาวะ หญิงหรือชายก็ไม่ต้องรู้แต่ถือว่าเป็นมิฬหสุข มันสนใจกันแต่เรื่องมิฬหสุข ซึ่งใช้สำเร็จประโยชน์ในที่สุด สุดเหวี่ยง ก็คือ ความสุขที่เกิดทางท่อปัสสาวะ จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นอะไรก็มุ่งหมายกันแต่เรื่องความสุข ความสุข ความสุข ซึ่งเป็นคำที่หยาบคาย ถ้าแปลออกมามันก็เป็นคำหยาบคาย คือ ความเอร็ดอร่อย พวกผู้หญิงโสเภณี เขาใช้คำนี้ว่า มาแสวง มา มา มา มา ชวนให้มามาแสวงหา Having a good time Having a good time Having a good time คือว่า ความสุขทางมิฬหสุขทุกรูปแบบ ทุกรูปแบบ แม้แบบที่เป็นกามารมณ์เต็มเหวี่ยงที่สุดมันก็เป็นสุขทางมิฬหสุข แม้ว่าครึ่งครึ่งกลางกลาง แม้แต่ว่าเกิดความเอร็ดอร่อยขึ้นมา อย่างเอายางชนิดหนึ่งมาเคี้ยวให้อร่อย เคี้ยวให้อร่อย เคี้ยวให้อร่อย นี้ก็เป็นกามสุขด้วยเหมือนกัน
ผู้หญิงโบราณที่ใช้ขี้ผึ้งสีปากแล้วเกิดอร่อยสบายด้วยการสีฝีปาก นี้ก็เป็นกามารมณ์ชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่มันปริมาณที่น้อยลงมา เบาบางลงมา แต่ก็ไม่มีใครเคยคิดว่าเป็นกามารมณ์
อาตมาอยากจะเทียบให้เห็นว่า ความรู้สึกอร่อยแม้แต่เมื่อถอนหนวดเกิดความรู้สึกอร่อยขึ้นมา ถอดหนวดเคราหนวดสั้นสั้น ก็เป็นกามารมณ์ด้วยเหมือนกัน ถ้ามันมีรสที่เกิดความอร่อย แม้นิดเดียวนิดหน่อย มันก็เป็นเรื่องทางกามารมณ์ทั้งนั้น อย่างที่ Sigmund Freud เขาเขียนรวมไว้หมดว่ามันเรื่องด้วยกามารมณ์ทั้งนั้น นี้มันนับได้ร้อยอย่างพันอย่าง มีความสนใจจะแสวงหากันแต่มิฬหสุข ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย ทั้งผู้เด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งวัยรุ่น ทั้งวัยหนุ่มสาว ก็ไปดูเอาเองว่า เดี๋ยวนี้มันสนใจอะไรกันในตลาด ในตลาดมันสนใจเรื่องอะไรกัน นี้ขอให้สรุปรวมอยู่คำว่า มิฬหสุข
มันจะมีการศึกษาที่ไหนเพราะมันบูชามิฬหสุข สุขที่เกิดจากท่อปัสสาวะ เป็นสรณะเป็นของสูงสุดเสียแล้ว นักเรียนตัวเล็กเล็กก็ดี นักเรียนวัยรุ่น นักเรียนสูงอายุขึ้นมาก็ดี มันบูชามิฬหสุข เป็นสรณะอยู่ในจิตใจ และมันจะมีการศึกษาได้อย่างไร จะมีการศึกษาที่แท้จริงที่เป็นอิสระได้อย่างไร
ก็ลองเอาไปเปรียบกับกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีเหตุผล มีความเป็นอิสระ และความสุขนั้นมันไกลกันลิบ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของมิฬหสุข นี้มันก็เป็นความตายเกินตาย ตายเกินตายแล้วตั้งแต่ยังเป็น ตั้งแต่ยังไม่ทันตาย เพราะมันมีความหลงใหลในมิฬหสุข และครูบาอาจารย์ยังชักจูง นักเรียน นักศึกษา ผู้เด็กให้สนใจอยู่ในเรื่องมิฬหสุขอย่างนี้ มันจะได้อะไร ถ้าไปเปรียบกับของพระพุทธเจ้าแล้วมันไกลยิ่งกว่าฟ้ากับดิน ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน
เพราะอันหนึ่งเป็นไปในทางมิฬหสุข อีกทางหนึ่งเป็นไปในทางไม่มีมิฬหสุข ไม่มีมิฬหสุข อันหนึ่งมันเป็นไปในทางกามคุณ อันหนึ่งไม่เป็นไปในทางกามคุณ นี้มันต่างกันอย่างนี้
การศึกษามันต่างกันอย่างนี้ การศึกษาของคนพวกนี้ พวกหนึ่งนั้นมีมิฬหสุขเป็นจุดหมาย พวกหนึ่งมันมีวิมุตติสุขเป็นเครื่องหมาย เป็นจุดหมาย มันต่างกันอย่างนี้ มันต่างกันอย่างตรงกันข้าม
และสำหรับคำว่า “ความถูกต้อง” พวกหนึ่งมันมีความถูกต้องเพื่อได้มิฬหสุข พวกหนึ่งมันมีความถูกต้องในการที่จะอยู่เป็นอิสระเหนือมิฬหสุข คือ ไม่มีมิฬหสุขกันเสียเลย
ใช้คำว่า “มิฬหสุข” นั้นมันค่อยสุภาพสักหน่อยเพราะเป็นคำที่ในพระบาลีเคยใช้ และมันก็ไม่เป็นอันตราย มันจะได้รู้จักยับยั้งชั่งใจไว้ว่า พวกครูบาอาจารย์ต้องไม่ก้มหัวให้มิฬหสุข ไม่บูชามิฬหสุข จะต้องรู้จักทำตนให้อยู่เป็นอิสระเหนือมิฬหสุข คือ ความรู้สึกพอใจในทางกาม
นนฺทิราค นนฺทิราค แปลว่า กำหนัดโดยอำนาจแห่งความเพลิน มีความพอใจในมิฬหสุข มันก็มีความรู้สึกกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน คือ มีราคะด้วยอำนาจแห่งความเพลิน เรียกว่า นนฺทิราคสหคตา ประกอบอยู่ด้วย นนฺทิราค ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี มีความเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นนั้น เสยฺยถีทํ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือ ประกอบอยู่ด้วยกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
เพลินในทางกามล้วนล้วน ก็เรียกว่า กามตัณหา
เพลินไปในทางรูปธรรมล้วนล้วน ก็เรียกว่า ภวตัณหา
เพลินในสิ่งที่อันไม่มีรูป รูปธรรมใดใด ก็เรียกว่า วิภวตัณหา
นี้มันต่างกันอยู่กี่มากน้อยไกลกันอยู่กี่มากน้อย อยู่กันละโขงคนฝั่งสมุทร กี่มากน้อยถ้าเราจะมาพูดกันเรื่องนี้ คือ เรื่องการศึกษาตามแบบของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนด้วยอาการ ๓ อย่างนี้ อาการ ๓ อย่างนี้ คือว่า สั่งสอนมีความน่าอัศจรรย์ แล้วก็สั่งสอนมีเหตุผล แล้วก็สั่งสอนมีปาฏิหาริย์
ถ้ามันสามารถครอบงำในสิ่งต่ำต่ำ ต่ำช้า หรือ ชั่วช้าได้ ก็เรียกว่า มีปาฏิหาริย์ มันก็ไม่มีปัญหาอีกต่อไป มันมีแต่ความถูกต้อง มันไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มันมีแต่ปัญหาอะไรอะไรก็เป็นปัญหา เป็นปัญหาจนเกินตัว ปัญหาจนตายไปกับที่แล้วก็ยังไม่หมดปัญหา ตายไปอีกกี่ชาติกี่ชาติมันก็ยังมีปัญหา ยังไม่หมดปัญหา
ถ้ามันถูกต้องมันไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการสังคม อะไรอะไรต่างต่างที่เขารู้กันดีว่า เกิดขึ้นแล้วมันมีอะไรแก่จิตใจ มันมีอะไรแก่จิตใจ มันมีความเป็นทาสทางจิตใจโดยสิ้นเชิง เรียกว่า มันมีปัญหา
สัมมัตตะ แปลว่า ความถูกต้อง กระจายออกไปเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ หรือ ๑๐ ประการ นั้นเรียกว่า สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีปัญหาเหลืออยู่เอาแต่คำว่า ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ตามธรรมดา ธรรมดาสามัญนี้ก็แล้วกัน ว่าถูกต้องแล้วไม่มีปัญหา ถ้ามันยังมีปัญหาอยู่มันยังไม่ใช่ความถูกต้อง ถ้ามันมีความถูกต้อง มันไม่มีปัญหา
ช่วยจำคำนี้ไว้ ถ้ามันถูกต้องมันไม่มีปัญหา เช่นว่า ถูกต้องทางร่างกาย ผายลมหรือตดออกมา มันก็ไม่เหม็น เพราะมันมีความถูกต้องทางร่างกาย จนกระทั่งว่าผายลมออกมามันก็ไม่เหม็น มันก็ถูกต้องในการที่จะไม่ต้องเป็นโรคนั้นโรคนี้ เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดมันก็คือไม่ตาย ไม่ตาย คนจะเห็นว่า โอ๊ย! เกินไปแล้ว ที่ไม่ตาย ไม่ตาย แล้วจะมีประโยชน์อะไร มันก็ต้องให้ความหมายทางจิต ทางวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของพระพุทธเจ้า มันไม่ตาย คือ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่จะต้องตาย มันไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อมันไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนมันก็ไม่ตาย นี้มันก็ยิ่งไปกว่าอะไรอะไรหมด เพราะมันไม่ตาย
ความถูกต้อง คือ ความไม่ตาย ถ้าอะไรถูกต้อง เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องนุ่งห่ม เครื่องยาแก้โรคให้มันถูกต้องไปหมด มันก็ไม่มีตาย ดังนั้นจะอยู่ได้อย่างไรก็ทำใจมันเถอะ มันก็ไม่ตายก็แล้วกัน เพราะมันมีแต่ความถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันไม่มีความถูกต้อง แม้แต่ (นาทีที่ 51:52) มันก็ไม่มีความถูกต้อง มันมีแต่ความผิดพลาดทางกิเลสตัณหา ทางเศรษฐกิจก็อย่างนั้นแหละ ทางการเมืองก็อย่างนั้น ทางสังคมก็อย่างนั้น มันมีแต่จะดื่มด่ำลงไปในเรื่องของกิเลสตัณหา มันก็ไม่มีความถูกต้อง
ดังนั้นขอให้สนใจในความถูกต้อง ยึดถือความถูกต้องคำเดียวเป็นหลัก ไม่ว่าสูงสุดยิ่งกว่าคำสอนใดใดในพระเจ้า พระเป็นเจ้า รวมกันทั้งหมดทั้งหมด มันก็อยู่สูงอยู่ที่ความถูกต้อง อยู่ที่ความถูกต้อง พระพุทธเจ้าล้านล้านองค์ กี่ล้านองค์รวมกันหมด มันอยู่ที่ความถูกต้อง ความถูกต้อง และความถูกต้อง ถูกต้องรวมกันทั้งหมดก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาก็มีสันติภาพ
เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีสันติภาพ มีความไม่ถูกต้อง มีความทุกข์ แม้ทางจิตใจ ทางจิตใจมันก็ยังเป็นทุกข์ได้ แม้ว่าทางกายมันไม่เป็นทุกข์ ถ้าจิตใจเป็นทุกข์มันก็ไม่ใช่ความถูกต้อง
ดังนั้นความไม่ถูกต้อง หรือความเป็นทุกข์มันมีได้ แม้ในทางจิตใจ ถ้าเราทำให้ถูกต้องเสียทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ มันก็ไม่ต้องมีความทุกข์เลย
อาตมาหวังอยู่ว่าจะชี้แจ้งชักจูงสั่งสอนให้มีความรู้ ความเข้าใจในคำว่า “ความถูกต้อง” เพื่อประโยชน์แก่สันติภาพ เพื่อประโยชน์แก่สันติภาพ สันติภาพของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นชาวเป็นฝรั่งก็ดี เป็นคนไทยก็ดี เป็นชาวต่างประเทศชาวไหนก็ดี ถ้ามันมีความถูกต้องแล้วมันจะมีความไม่ตาย มีแต่สันติภาพ สันติสุข
เดี๋ยวนี้มันอยู่กันอย่างทนทุกข์ทรมาน แต่ในความเศร้าหมองน่าเกลียดอย่างยิ่ง คือ ความไม่ถูกต้อง ออกชื่อไปนักมันก็รำคาญแล้ว มิฬหสุข มิฬหสุข สุขที่เกิดทางท่อปัสสาวะนั้น มันมีแต่ความสุขอย่างนั้น มันจะเอาความถูกต้องกันมาแต่ไหน มันไม่มีความถูกต้องเอาซะเลย
ขอให้ถือเอาว่าเป็นความรู้พิเศษก็ได้ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ แล้วอาตมาก็มาสั่งสอนต่อ คือ คำว่า สัมมัตตะ ความถูกต้อง ประกอบอยู่ด้วยคำว่า สัมมา สัมมา สัมมา สัมมา ขออ้อนวอน ขอวิงวอน ท่านทั้งหลายที่เป็นครูบาอาจารย์ และเป็นครูเด็กเด็ก ก็ขอให้ช่วยจำคำว่า สัมมา สัมมา สัมมา อย่างน้อย ๘ คำ หรืออย่างมากก็ ๑๐ คำว่า
สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปโป
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต
สัมมาอาชีโว
สัมมาวายาโม
สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ นี้ ๘ คำ โดยเหตุ และก็ สัมมาญาณ สัมมาวิมุตติ นี้ ๒ คำ โดยผล
เหตุให้เกิดผล เมื่อเหตุ ๘ ประการครบแล้วก็เกิดผลสูงสุด เป็นสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติ คือ หลุดพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง ทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี รู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี มันไม่มีความทุกข์พ้นจากความทุกข์ ก็ดูเอาเองว่าใครมันสอนอย่างนี้บ้าง ใครมันสอนกันอย่างนี้บ้าง ใครมันสอนให้ละมิฬหสุขบ้าง มันมีแต่การสอนให้จมลงไปในมิฬหสุข แม้แต่ครูบาอาจารย์ยังนิยมยังบูชาสิ่งที่เรียกว่า มิฬหสุข พูดอย่างหยาบคายมันก็หยาบคาย แต่ว่าจะพูดอะไรก็ว่า ก็รู้เอาเองว่ามิฬหสุข แปลว่า สุขเกิดทางท่อปัสสาวะ ชักจูงชี้แจงชี้ชวนกันแต่ให้แสวงหาความสุขที่เกิดทางท่อปัสสาวะ มันก็เท่านั้น นี้การศึกษาอย่างนี้มันยิ่งกว่าคบเด็กสร้างบ้านเสียอีก มันเลวร้ายยิ่งกว่าคบเด็กสร้างบ้านเสียอีก การศึกษาที่ชี้ชวนให้หลงใหลในมิฬหสุข
ดังนั้นขอให้สำนึกไว้ ขอให้สำนึกไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ท่านชี้แจงชักจูงแต่ในเรื่องของความถูกต้อง ความถูกต้อง มีความถูกต้องแล้วมันไม่ตาย แล้วมันจะมีมิฬหสุขได้อย่างไร มันอยู่เหนือไอ้สิ่งเหล่านี้โดยประการทั้งปวง
คำว่า ความถูกต้อง คือ ความไม่ตาย ขอให้ช่วยคิดให้สังเกตให้ศึกษาเป็นพิเศษว่ามันจะเอาอะไรมาตายเมื่อมันถูกต้องเสียแล้ว ทางกายก็ถูกต้อง ทางวาจาก็ถูกต้อง ทางใจก็ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้วมันก็ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีการที่จะทำให้ต้องตาย มันถูกต้อง มันแก้ไขได้ถูกต้องทุกอย่างมันก็คือ ไม่ตาย คนก็จะไปคิด โอ๊ย! เหลือวิสัย เหลือความสามารถเหลือวิสัย ไม่สนใจกับไอ้ความถูกต้อง อ้าว! ก็เอาซิก็ได้เหมือนกัน ไม่สนใจในความถูกต้อง มันก็มีแต่ปัญหา ปัญหา ปัญหานั้นไม่มีอะไรหรอก ปัญหานั้นมีแต่การจับตัวยัดเข้าไปใส่ในคุกแห่งมิฬหสุข ในคุกตะรางแห่งมิฬหสุขอย่างไม่รู้จักสร่างซาอย่างนี้ มันไม่มีความถูกต้องอย่างนี้
จงมีความถูกต้อง ทางเศรษฐกิจก็มีความถูกต้อง ทางการเมืองก็มีความถูกต้อง ทางสังคมก็มีความถูกต้อง อย่าเอาความสุขหลอกลวงมาแฝงไว้ มาบังหน้าไว้แล้วก็แสวงหากันตามความพอใจ ซึ่งเป็นมิฬหสุข ถูกต้องทางวัตถุ วัตถุถูกต้องจะมีปัญหาอะไร ถูกต้องทางร่างกาย ร่างกายถูกต้องจะมีปัญหาอะไร แล้วถูกต้องทางเวทนา ทางความรู้สึก ทางจิตใจน้อยน้อย จิตใจภายนอกนี้ก็ถูกต้อง และทางจิตโดยตรงก็ถูกต้อง แล้วก็ทางธรรมะโดยตรงก็ถูกต้อง มันถูกต้องก็ไปเรื่อยไป เรื่อยไป เรื่อยไป จนเป็นความไม่ตาย ว่างอยู่ในความไม่ตาย นี้เป็นความถูกต้องสูงสุด มันนำไปสู่สิ่งสูงสุด คือ ความว่าง ว่างจากความตาย ว่างจากความตาย
สุญญตา แปลว่า ความว่าง มันว่างจากความตาย มันไม่ตาย เพราะมันมีความถูกต้อง ใครสอนหรือพูดถึงความถูกต้องกันในระดับนี้บ้าง ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สอนย้ำแต่คำว่า สัมมัตตะ สัมมัตตะ สัมมัตตะ จะเป็นกี่ร้อยกี่พันกี่ล้านครั้งก็คือ สัมมัตตะ แปลว่า ความถูกต้อง
ไอ้ความถูกต้อง ฉันอุปมาไว้อย่างเพื่อจะฟังง่าย เข้าใจง่าย ที่ว่าสัมมัตตะ ความถูกต้อง สัมมัตตะ ความถูกต้องนี้ กินความถูกต้องเข้าไปแล้ว นี้ขอพูดเป็นอุปมา ถ้ากินเอาความถูกต้อง ความถูกต้องที่แท้จริงเข้าไปแล้ว มันอาเจียนออกมาหมด มันจะอาเจียนความไม่ถูกต้องออกมาหมด กินสัมมัตตะ ความถูกต้องเข้าไปแล้วมันจะ ถ่าย ถ่าย ถ่าย ถ่าย ถ่าย ถ่าย เอาความไม่ถูกต้องออกมาหมด มีสัมมัตตะความถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำอาบศพ น้ำอาบศพให้หมดบาป อาบศพให้หมดบาป ตามคำพูดที่กล่าวกันอยู่ทั่วทั่วไปว่า น้ำล้างบาปน่ะ มีสัมมัตตะ คือ ความถูกต้อง เป็นธรรมะข้อนี้แล้วมันก็เป็นน้ำล้างบาป ล้างบาป ล้างบาป มีสัมมัตตะยิ่งขึ้นไปอีก มันก็ไม่เน่า แม้แต่ศพมันก็ไม่เน่า แม้แต่ศพมันก็ไม่เน่า น้ำล้างบาป นี้สัมมัตตะของพระพุทธเจ้านี้จะเป็นยาสำรอกสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง ปัญหาทั้งปวงให้อาเจียนออกมาเสียให้หมด ให้ถ่ายออกมาเสียให้หมด ให้มันล้างบาป ล้างทีเดียวเสร็จหมด แล้วก็ไม่มีการเน่าอีกต่อไป มันจะเน่าได้อย่างไรถ้ามันไม่มีการตาย ถ้ามันไม่มีการตายมันจะเป็นศพ เป็นของเน่าได้อย่างไร มันจึงไปสูงสุดอยู่ที่ว่าความไม่ตาย ความไม่ตายนี้ คือ สัมมัตตะ สัมมัตตะ
ขอให้สนใจ ให้เข้าใจคำว่า สัมมัตตะ ความถูกต้องเพียงคำเดียว เดี๋ยวนี้การเศรษฐกิจมันก็ไม่สัมมัตตะ การเมืองมันก็ไม่สัมมัตตะ การสังคมมันก็ไม่สัมมัตตะ เพราะมันเป็นทาสของมิฬหสุข แล้วจะเอากันยังไง ถ้าเห็นว่านี้มันเกินไป ไม่ต้องเอาก็ตามใจ ไม่ต้องสนใจก็ตามใจ แต่อาตมาขอยืนยันว่า ธรรมะมีอยู่อย่างนี้ พระธรรมของพระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างนี้ ต่อให้พระพุทธเจ้าเกิดมาล้าน ล้าน ล้าน ล้านองค์ ก็ตรัสอย่างนี้ ก็พูดอย่างนี้ ก็สอนอย่างนี้ นี้คือให้มีความถูกต้อง มีความถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันไม่มี ไม่มีที่ทำยาหยอดตา หาทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ ความถูกต้องมันมีแต่ตัวกู มันมีแต่ของกู
ความถูกต้องของตัวกู คือ ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็ต้องได้เบียดเบียนกันถึงที่สุด เบียดเบียนกันยิ่งกว่าความเบียดเบียนที่เขาออกชื่อกันมา วันก่อนเบียดเบียนอย่างนั้น เบียดเบียนยิ่งไปกว่านั้น เบียดเบียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนก็จริง แต่มันของประชาชนที่มีความเห็นแก่ตัว ประชาชนที่เห็นแก่ตัวที่ไม่มีความถูกต้อง ที่บูชากันแต่มิฬหสุข มันไม่มีความถูกต้อง
เอาล่ะเป็นอันว่า อาตมาพูดวันนี้เพียงแต่คำว่า ความถูกต้อง ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า และมันถูกต้องได้ทุกอย่างทุกประการที่เป็นองค์ประกอบ ของสิ่งที่เราจะแบ่งออกมาได้เป็นสัดสัดส่วนส่วนว่าอะไรกันบ้าง ความถูกต้องของทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ของความปรารถนา ของการพูดจา ของการงาน ของการอาชีพ ของความพยายาม ของความมีสติสัมปชัญญะ ของสมาธินี้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง อะไรจะมีเหลือเป็นปัญหา ดังนั้นจึงมีสันติภาพอย่างเดียว การเศรษฐกิจ การเมือง ก็มีแต่สันติภาพ มิฉะนั้นมันจะมีแต่ ตัวกู มีแต่ของกู ย้ำไอ้ความผิดพลาดมากขึ้นไป มากขึ้นไป จนแตกตายทำลายขันธ์ไปสักเท่าไหร่ เท่าไหร่ มันก็ยังเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะว่ามันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองของความเห็นแก่ตัว ของความเห็นแก่ตัว
ขอให้ท่านสาธุชน ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มองเห็นความหมาย ความจริงของคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ความถูกต้อง ถ้าเป็นภาษาไทย ก็จงรู้ไว้ภาษาบาลีนั้น เรียกว่า สมฺมตฺต สมฺมตฺต
จงเข้าใจความหมายให้เต็มที่ ภาษาบาลีและภาษาไทย สมฺมตฺต แปลว่า ความถูกต้อง ความถูกต้องเป็นภาษาไทยแปลเป็นภาษาบาลีว่า สมฺมตฺต มีความถูกต้อง แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยมีความถูกต้องอย่างดี อย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร ประชาธิปไตยมันไม่มีความถูกต้อง มันก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว มันก็ต้องเบียดเบียน ต้องฆ่าฟันกัน เต็มไปด้วยความไม่ถูกต้อง
ดังนั้นขอให้สนใจศึกษาของตัวเอง และศึกษาเพื่อของลูก ของหลาน ของเด็กเด็ก ของอะไรต่างต่างให้รู้จักความถูกต้อง เป็นความถูกต้องในทุกทุกความหมาย แล้วก็มีแต่สันติสุข สันติภาพ โดยทุกทุกประการ
นี้อาตมาขอแสดงความยินดีในการที่วันนี้เราได้มาพูดกันถึงเรื่อง ความถูกต้อง วันนี้เราได้มาพูดกันถึงเรื่อง ความถูกต้อง พูดกันถึงคำว่า ความถูกต้อง ความถูกต้อง ซึ่งมันถูกต้องแล้วมันไม่มีอะไรตาย ขอย้ำว่าถ้าถูกต้องแล้วมันไม่มีอะไรตาย แม้แต่ตดมันก็ไม่เหม็น แม้เป็นแผลหน่อยมันก็หาย โรคภัยไข้เจ็บหน่อยมันก็หาย หาย หาย มันหายโรคภัยไข้เจ็บไปเสียหมดทุกอย่างแล้วมันจะไม่มีอะไรตาย มันก็ไม่มีอะไรตาย ความถูกต้องมันไปสิ้นสุดอยู่ที่ความไม่มีอะไรตาย ก็มีแต่ความว่างเป็นนิรันดร ความว่างเป็นนิรันดร ว่างจากความทุกข์ ว่างจากเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นนิรันดร เป็นนิรันดร ว่างจากปัญหาเป็นนิรันดร
ขอให้ท่านทั้งหลายได้สนใจในคำคำนี้แล้วประพฤติประโยชน์ให้ตรงตามความมุ่งหมายว่า ทั้งสงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นและเป็นประโยชน์ และขอสนใจ ขอให้สนใจในความหมายของพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ด้วยคำเพียง ๓ คำ ๓ คำ ๓ คำ ๓ คำว่า ความน่าอัศจรรย์ และความมีเหตุผล และก็ความเป็นปาฏิหาริย์
น่าอัศจรรย์ เพราะว่ามันดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
มีเหตุผล ก็คือ มีเหตุผลอยู่ในตัวเอง ที่จะทำให้เป็นได้อย่างนั้น เมื่อทำได้อย่างนั้นก็เกิดผลอย่างนั้นขึ้นมาเป็นปาฏิหาริย์
ช่วยจำคำ ๓ คำว่า ความน่าอัศจรรย์ ความมีเหตุผล ความมีปาฏิหาริย์ อัศจรรย์ เหตุผล ปาฏิหาริย์ อัศจรรย์ เหตุผล ปาฏิหาริย์ อัศจรรย์ เหตุผล ปาฏิหาริย์ เพราะว่าจะเป็นความรู้หมดสิ้นทั้งพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเหลืออยู่ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความถูกต้อง ซึ่งเป็นความสิ้นสุดแห่งปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง
อาตมารู้สึกว่าเหนื่อยแล้ว ไม่ค่อยสบาย และก็ต้องขอยุติการบรรยายในวันนี้ ด้วยการแสดงความยินดี ความยินดี ความยินดีอย่างยิ่ง ของท่านทั้งหลาย ที่ได้มาพูดกันในเรื่องนี้ ในวันนี้และก็ขอให้สำเร็จประโยชน์สมตามความนั้น ด้วยคำพูดเพียง ๓ คำว่า น่าอัศจรรย์ มีเหตุผล มีปาฏิหาริย์ ขอให้ ๓ คำนี้นำไปสู่ความสำเร็จประโยชน์สูงสุดทั้งในส่วนโลกิยะ ทั้งในส่วนโลกุตระ สูงสุดจนไม่มีอะไรจะสูงเท่า จงทุกทุกประการ จงทุกทุกคนเทอญ
ต่อไปนี้ก็ขอไปทำตามหน้าที่ จะไปรับประทานอาหารหรือไปอะไรก็แล้วแต่ อาตมาพูดเพียง ๓ คำ หรือพูดเพียงคำเดียว คำเดียว ความถูกต้อง พูดเพียง ๓ คำ ก็ว่า อัศจรรย์ เหตุผลและปาฏิหาริย์ นี้พูด ๓ คำ ถ้าพูดมากไปกว่านั้น ก็สัมมา สัมมา สัมมา สัมมา ๘ หรือ สัมมา สัมมา ๑๐ จบเรื่องที่จะต้องพูดกันในวันนี้ ขอเชิญ
อัศจรรย์ เหตุผล ปาฏิหาริย์ ๓ คำเท่านั้น ขอ ๓ คำเท่านั้น พวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายช่วยทำความเข้าใจกระแจ่มแจ้งสำหรับคำว่า อัศจรรย์ เหตุผล ปาฏิหาริย์