แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันที่แล้วมาเราพูดกันถึงเรื่องธรรมะ หรือคำว่าธรรมะในความหมายทั่วไป เพื่อให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะนั้นดีที่สุด จนสามารถที่จะมีธรรมะ มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ นับตั้งแต่ว่าเราสามารถที่จะเรียน แล้วก็เข้าใจ แล้วก็รู้ แล้วก็ปฏิบัติ จนแจ่มแจ้งประจักษ์ในจิตใจของตนเอง ก็เรียกว่ามีธรรมะ แล้วก็เรียกว่าใช้ธรรมะในชีวิต จนกล่าวได้ว่าอยู่ มีการเป็นอยู่ด้วยธรรมะ คือเป็นวิหารธรรม ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ นี้ก็เรียกว่ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ โดยวงกว้าง โดยทั่วๆ ไป แล้วก็อาจจะเลือกเอาธรรมะข้อใดข้อหนึ่งโดยเฉพาะมาศึกษาและปฏิบัติ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนในวันนี้จะพูดกันถึงเรื่องสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถือเป็นธรรมะสูงสุด หรือจะเรียกว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมะทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จึงขอให้ท่านเตรียมตัวสำหรับจะเรียนเรื่องธรรมะที่สูงสุด เป็นที่รวมแห่งเรื่องทุกเรื่องในพระพุทธศาสนา ก็คือจะเรียนเรื่องพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยหัวใจ และโดยปลีกย่อยทั่วๆ ไป
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาท จึงจะเรียกว่าเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา คือพระองค์ ฉะนั้นขอให้สนใจว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นองค์พระพุทธเจ้า ไอ้คนที่มันอยู่ในอินเดียพร้อมสมัยกับพระพุทธเจ้า ท่านเดินสวนทางกันอยู่ มันก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าหรอก เห็นแต่คนๆ หนึ่ง หรือนักบวชองค์หนึ่ง ผ่านไปเท่านั้นแหละ ต่อเมื่อเห็นสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท จึงจะเห็นพระองค์จริง เห็นธรรมะคือปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้ไปเห็นองค์จริงของพระองค์ คำตรัสที่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา มันควรจะเป็นธรรมดาสามัญทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้พวกเราทั้งหลาย ขออภัยที่จะพูดว่าพวกเราทั้งหลาย บางคนไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ ไม่ได้ยินชื่อของปฏิจจสมุปบาท เพราะไม่เคยได้รับฟัง เค้าไม่เอาไปสอนกันนั่นเอง จึงไม่ได้ยินแม้แต่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วจะเห็นปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร ฉะนั้นขอให้นักศึกษาทั้งหลายจงสนใจเรื่องที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา จนกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทีเดียว และก็ให้เข้าใจเรื่องนี้ไว้เป็นหลัก เพราะว่าทุกเรื่องมันมารวมอยู่ที่เรื่องนี้ ถ้าพูดเรื่องนี้ก็จะสามารถพูดเรื่องทุกเรื่องได้โดยถูกต้อง เป็นที่รวมแห่งหลักธรรมทั้งหลาย จึงขอให้สนใจไว้แต่บัดนี้ ศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้นๆ และใช้ความรู้เรื่องนี้ไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต จนกระทั่งตายอะไรอย่างนี้ ใช้เป็นประโยชน์ได้จนกระทั่งตาย
พระพุทธเจ้าออกผนวช ที่ได้ออกผนวชก็เพราะเรื่องนี้ คือมีปัญหารบกวนจิตใจพระองค์อย่างยิ่งว่า ความทุกข์ ทุกข์นี่มันมาจากไหน อยากจะดับทุกข์ให้ได้ จึงได้ออกบวชเพื่อแสวงหาความรู้อันนี้ เพราะต้องการความรู้เรื่องนี้จึงได้ออกบวช จึงพูดได้ว่าเพราะต้องการจะรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงออกบวช จึงออกบวชแล้วก็เที่ยวศึกษาต่างๆ นานา แต่เรื่องนี้ยังอัดอยู่ในพระทัยว่า ทุกข์มาจากไหนๆๆ เมื่อไปเที่ยวศึกษากับครูบาอาจารย์คนนั้นคนนี้ มันไม่ตอบคำถามนี้ได้ ก็เลยต้องเปลี่ยนครูบาอาจารย์เรื่อย จนกว่าจะมาตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ว่าความรู้ของครูบาอาจารย์เหล่านั้น ไม่ใช่จะไม่เป็นประโยชน์เสียเลย เพราะมันทำให้รู้เรื่องดับทุกข์ขึ้นมาทีละนิดๆๆ ในแง่มุมต่างๆ กัน แต่มันไม่หมดสิ้น เมื่อไม่มีครูบาอาจารย์คนไหนจะสอนเรื่องนี้ได้ จึงไปค้นของพระองค์เอง แล้วก็ได้ตรัสรู้ ในปฐมยามแห่งราตรีตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด ในมัชฌิมยามแห่งราตรีปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ จนได้ตรัสรู้ ตรัสรู้แล้วก็ยังมานั่ง ทรงนั่งทบทวนความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทอยู่ในที่ ที่เรียกว่าเรือนแก้ว เป็นกุฏิเล็กๆ นั่งทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาทอยู่อีกตั้งเจ็ดวัน ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธองค์กี่มากน้อย ทีนี้ก็คิดว่าจะทรงสอน ก็เห็นว่า โอ้ มันยากเกินไปเสียแล้ว สอนไม่ได้ คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสรู้มันเป็นเรื่องลึก จนตรัสว่าเป็นเรื่องลึกที่สุด ซึ่งต่อมาพระอานนท์กราบทูลว่าเป็นเรื่องลึกพอประมาณ ก็ตรัสว่าลึก พระองค์ตรัสว่า เอ้ย อย่าพูดอย่างนั้นๆ มันเป็นเรื่องลึกที่สุดของเรื่องทั้งหลาย มันเป็นเรื่องลึกที่สุดจนคิดว่าจะไม่มีใครเข้าใจ จึงตัดสินพระทัยว่าจะไม่สอน ทีนี้เผอิญทรงฉุกคิดออกไปได้หน่อยหนึ่งว่า มันจะต้องมีคนที่อาจจะเข้าใจได้ แม้จะน้อย น้อยคน ถ้าไม่สอน คนเหล่านี้จะรู้ได้อย่างไร คนน้อยคนที่พอจะรู้ได้ ในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินพระทัยใหม่ว่าจะสอน จะพยายามสอน แล้วก็ได้ทรงพยายามสอน
ถ้าเป็นเรื่องทางตำนานหรือทางนิยาย เขาก็เขียนว่า ท้าวมหาพรหมมาจากพรหมโลกทรงอ้อนวอน อาราธนาขอให้ทรงสอน แล้วพระองค์ก็รับคำว่าจะทรงสอน นี่มันต่างกันกี่มากน้อย ท่านลองคิดดูว่า พรหมมาขอให้สอน กับความคิดของพระองค์เอง ทรงมองเห็นออกไปว่า มันมีคนบางคนที่จะเข้าใจได้ ถ้าไม่สอน คนเหล่านี้ก็จะไม่มีโอกาสรู้ ถ้าไม่มีใครรู้ แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร พระองค์ทรงสอนเรื่องนี้ โดยทรงเชื่อว่ามีคนบางคนที่จะต้องรู้ ทีนี้พวกเรา พวกเราจะว่าอย่างไร อยู่ในพวกคนบางคนที่อาจจะรู้ หรือว่าอยู่ในพวกที่ไม่อาจจะรู้เอาเสียเลย ข้อนี้ก็ต้องรับผิดชอบของตนเองๆ จะอยู่ในพวกไหน ถ้าจะอยู่ในพวกที่รู้ มันก็พยายามที่จะรู้ จะต้องใช้ความพยายามมากหน่อยล่ะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ลึกที่สุด หรือเข้าใจยากที่สุด แต่ถ้ามองในทางที่มีคุณค่า มันก็มีมากที่สุด สูงสุด มันดับทุกข์ได้สิ้นเชิงตลอดเวลา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวาระสุดท้าย คือดับทุกข์สิ้นเชิง นั่นล่ะ จงพิจารณาดูเองว่ามันมีคุณค่าเหมาะสมที่เราจะลงทุนหรือไม่ จะลงทุนด้วยความยากลำบาก จะรู้เรื่องนี้กันมาจนได้ นี่คือเรื่องพระพุทธศาสนา และหัวใจของพระพุทธศาสนา
ส่วนเรื่องทำบุญทำทานทำดีทำอะไรต่างๆ นั้น มันสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านู่น เรื่องนรกสวรรค์ก็สอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่เรื่องเหล่านั้นมันไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง พอไปเกิดในสวรรค์แล้ว มันก็ยังมีความทุกข์แบบคนในเมืองสวรรค์ มันจะสูงขึ้นไปเป็นพรหมโลก มันก็มีตัวตนสำหรับยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตนก็มีความทุกข์ในชั้นระดับสูงเพราะว่ามีตัวตน ไอ้ความดับทุกข์นี่ ความสุขมันมีเป็นชั้นๆ ถ้าถือเอาตามพระพุทธภาษิตก็ว่า อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก คือความไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นสุข นี่ชั้นต่ำสุด ชั้นประถมเลย สุขา วิราคะตา โลเก ปราศจากความกำหนัดยึดมั่น ความกำหนัดในสิ่งที่เป็นที่ตั้งความกำหนัด นี่ก็เป็นความสุข นี่มันก็สูงขึ้นมาเป็นทาน อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ถอนอัสมิมานะเสียได้เป็นความสุขสูงสุด เป็นชั้นๆ อยู่อย่างนี้ ชั้นเด็กเล่นเด็กอมมือก็มี ชั้นกลางขึ้นมาก็มี ชั้นสูงก็มี แต่ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องชั้นสูง คือจะสามารถถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ อัสมิมานะว่าตัวตนๆ ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วยหลักใหญ่ๆ หรือว่าโดยใจความทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ ต่อเมื่อถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้ จึงจะเป็นสุขระดับสูงสุด เพียงแต่ไม่กำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นตั้งความกำหนัดนั้นมันก็เป็นระดับกลาง ส่วนจะไม่เบียดเบียนกันๆ นี่เป็นระดับต่ำ ระดับประถมที่สุด วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องระดับสูงสุด คือระดับจะถอนเสียได้ซึ่งตัวตน โดยอาศัยความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
ทุกคนที่กำลังฟังอยู่ที่นี่ และเข้าใจว่าคงจะได้ยินได้ฟังหรือมีความรู้มาแล้วว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาเรื่องไม่มีตัวตน เป็นเรื่องอนัตตา ถ้าเป็นเรื่องมีตัวตน มีอัตตา ก็เป็นของศาสนาอื่น ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่จงทดสอบตัวเองดูว่าเคยได้ยินอย่างนี้ และถือหลักอย่างนี้หรือเปล่า ว่าถ้าเป็นพุทธศาสนาต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีตัวตนๆ เหนือความมีตัวตน จำไว้จนตลอดชีวิต ถ้ามีสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนก็ยังไม่ใช่ใจความของพระพุทธศาสนา ถือเอาคำว่าอนัตตา อนัตตานี่มาเป็นหลักนะ ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา สิ่งที่จะให้เข้าใจอนัตตา อนัตตาแท้จริงและสมบูรณ์ที่สุดนั้น ไม่มีเรื่องอะไรจะดีไปกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในระดับต่ำๆ สั้นๆ เขาก็สอนกันเหมือนกันแหละว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นอนัตตา สอนกันอย่างนี้ก็มี แต่ถ้าไปรู้ความไม่เที่ยงให้ดีๆ ให้จริงๆ จังๆ มันกลายเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่สมบูรณ์ทีเดียว เราจึงถือว่าจะมีความรู้เรื่องอนัตตานั้น จะต้องรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่ดูๆ กันเพียงว่ามันเป็นธาตุๆ มันเป็นไปตามธรรมชาติ บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของเรา จึงเป็นอนัตตา อย่างนี้ก็ถูกเหมือนกันแหละ ไม่ใช่ไม่ถูก แต่ว่ามันยังต่ำและมันยังน้อย มันยังไม่ละเอียดครบถ้วนบริบูรณ์ จึงจะควรศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงจะรู้เรื่องอนัตตาโดยสมบูรณ์
อนัตตาของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้ได้ด้วยเรื่องปฏิจจสมุปบาท อนัตตาของขันธ์ทั้ง ๕ ก็รู้ได้ด้วยเรื่องปฏิจจสมุปบาท อนัตตาของชีวิตทั้งหลายทั้งปวงจนตลอดสายนั้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท แม้แต่เรื่องอริยสัจ ซึ่งเรียกว่าเป็นเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา ในความหมายหนึ่งมันก็เป็นเรื่องอริยสัจน่ะ เหตุให้เกิดทุกข์ๆ แล้วก็ดับเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วมันก็เป็นการดับทุกข์ นี่คือใจความของเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงขอให้ดูในลักษณะอย่างนี้กันก่อน จึงจะเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยหลักพื้นฐานคือ หลักที่เป็นพื้นฐานนั้นที่มั่นคงและมันมีอยู่ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตนี้ มันก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกระดับมันก็เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นมาหรือจะดับไปตามกฎของปฏิจจสมุปบาท แม้เรื่องที่ไม่มีชีวิต เช่นแผ่นดิน ก้อนหิน ต้นไม้ ต้นไร่ ทั้งจักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ อะไรมันก็เป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ไม่ยกเว้นอะไร ไม่มีเรื่องอะไรที่ยกเว้นไปจากปฏิจจสมุปบาท ในเรื่องพระนิพพาน พระนิพพานไม่ได้อยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าเพราะรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงจะเข้าใจเรื่องพระนิพพาน รู้พระนิพพาน จะปฏิบัติจนบรรลุพระนิพพานได้ก็เพราะความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท สรุปความให้ทีนี้ก็คือว่าไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่ใช่เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือไม่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท แต่นั้นน่ะมันก็มีส่วนที่ยาก ส่วนที่ลึกๆๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่คนธรรมดายังเข้าใจไม่ได้ แต่ถ้าคนๆ นั้นมันไม่ท้อถอย ยังคงหมายมั่นปั้นมือจะรู้ให้ได้ พยายามเรื่อยไป ศึกษาเรื่อยไป สักวันหนึ่งมันก็จะรู้
อาตมาคิดว่าในฐานะที่เป็นเมืองพุทธ เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ก็ควรจะรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทกันให้สมชื่อ ให้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทในระดับต่ำๆ ไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ แล้วก็รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทสูงขึ้นไปๆ จนถึงระดับที่สูงสุด ตอนนี้อยากจะขอพูดกันในเรื่องเกี่ยวกับเด็กก่อน เพราะว่าเป็นจุดตั้งต้น ถ้าลูกเด็กๆ ของเรามีความรู้ที่เป็นจุดตั้งต้นถูกต้อง แล้วมันจะดีมาก มันจะมีผลมาก ที่จะรู้พุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เอามาตั้งแต่ที่หยาบๆ ที่สุดก่อนเช่นว่า จะต้องบอกให้ลูกเด็กๆ มันสังเกตเห็นรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ว่าในโลกนี้มันมีน้ำ มีสิ่งที่เรียกว่าน้ำ แล้วมันก็มีสิ่งที่เรียกว่าดวงอาทิตย์ คือความร้อน เพราะมันมีน้ำ มีดวงอาทิตย์ มันจึงมีการเผาให้น้ำกลายเป็นไอๆ เป็นไอน้ำ และเพราะมีไอน้ำ มันก็ลอยขึ้นไปเป็นเมฆ เมฆมันมีเพราะไอน้ำ ทีนี้เพราะมีเมฆ ได้รับความชื้นหรืออากาศหนาวเพียงพอ มันก็กลายเป็นฝน ฝนมันมาจากเมฆ โดยอาศัยความชื้นหรือความหนาวช่วย เพราะมีฝนมันก็พัดตกลงมา ตกลงมาบนผิวโลก ฝนมันตกลงมาเพราะมันมีน้ำฝน ฝนตกลงมา ทางเดินมันลื่น ถนนมันลื่น เพราะว่าฝนมันตกลงมา มันเป็นเหตุปัจจัยกันอยู่อย่างนี้ เพราะถนนมันลื่น เดินไม่ระมัดระวังลื่นล้มลง ศีรษะแตกเลือดไหล ศีรษะแตกเพราะถนนมันลื่น เนื่องจากฝนตกลงมา กลายเป็นศีรษะแตก แล้วก็ไปหาหมอ หาหมอ หมอก็ต้องทำการรักษาไปตามเรื่อง คิดดูสิ เรื่องที่หมอที่จะต้องทำการรักษาก็เพราะมันมีเหตุมาอย่างนี้ แล้วหมอก็ต้องมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับรักษาโดยหลักปฏิจจสมุปบาทอีกมากมายๆ รู้เรื่องเกี่ยวกับความเจ็บ โรคภัยไข้เจ็บ ความไข้ รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทตามลำดับ แล้วก็รักษาให้หายได้ นี่ล่ะ บอกกับลูกเด็กๆ อย่างนี้ เขาก็พอจะเข้าใจเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุดได้ แต่พ่อมันโง่ พ่อแม่มันเองก็ไม่รู้ แล้วมันก็ไม่ได้สอน มันก็ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องนี้ แล้วจะไปโทษใคร เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันจึงเป็นเรื่องลึกซึ้ง ลึกลับอยู่ ยังไม่เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทก็เพราะเหตุนี้
วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องที่ลึกลับ ลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่สุด มีคุณค่าที่สุด สมควรที่สุด เพื่อจะแก้ปัญหาข้อนี้ว่า เมืองพุทธ เป็นเมืองพุทธ เราก็รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ทีนี้เราก็จะพูดกันถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เกี่ยวกับความทุกข์ตามลำดับไป จะพูดกันในลักษณะที่ลูกเด็กๆ ก็ฟังรู้เรื่องนะ ถ้าลูกเด็กๆ เป็นเด็กๆ ที่สนใจจะฟังจะรู้จะศึกษา ไม่เหมือนลูกเด็กๆ ที่สนใจแต่เรื่องสวยงาม สนุกสนานอะไรต่ออะไร มันไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าเป็นลูกเด็กๆ ที่เป็นนักศึกษา อยากจะรู้เรื่องนี้หรือเรื่องที่ยากลึกที่สุดนี้ มันก็พอจะรู้เรื่อง หรือแม้คนโตๆ ก็จงระวังให้ดี ถ้ายังไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ยังเป็นเด็กอมมือในพระพุทธศาสนา หัวหงอกอย่างอาตมาแล้วนี่ ถ้าไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ยังถือเป็นเด็กอมมือๆ ในพุทธศาสนา เพื่อจะให้พ้นจากความเป็นเด็ก ก็ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่เขาสอนๆ กันนั้น เข้าใจไม่ได้มันก็เท่ากับไม่ได้สอน แล้วมันก็ไม่ได้รู้ ที่เดี๋ยวนี้เราจะสอนกันในลักษณะที่ให้เข้าใจได้ ต้องขอกำหนดให้ดีๆ ท่านคอยกำหนดไว้ให้ดีๆ อย่าทำเล่นกับเรื่องนี้ เดี๋ยวมันก็จะเท่าเดิม โง่เท่าเดิมๆ โง่ดักดานอยู่ตามเดิม แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นต้องเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจๆ แล้วก็ปฏิบัติจนสำเร็จประโยชน์จึงจะได้
ถ้าพูดกันถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ตั้งต้นที่กอขอกอกา หลักของมัน ของเรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะ อะไรเป็นเรื่องกอขอกอกาสำหรับเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันก็คือเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างที่มีอยู่ภายใน แล้วก็คู่กันกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มีอยู่ภายนอก ที่มีอยู่ข้างในเรียกว่าอายตนะภายใน ที่มีอยู่ข้างนอกเรียกว่าอายตนะภายนอก คำว่าอายตนะนั้นแปลว่าสิ่งที่ควรติดต่อ หรือควรรู้สึก รู้จัก และติดต่อ และทำให้เป็นเรื่อง เป็นรูป เป็นความรู้ขึ้นมา ที่เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ พอมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พยายามสอนให้ลูกเด็กๆ รู้จักความหมายของคำว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็จะเท่ากับไม่มีอะไร เราก็จะเป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง ไม่รู้ว่าอะไรมันมีอยู่ในโลก ก้อนหินมันไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในโลก ทีนี้เราสอนลูกเด็กๆ ให้รู้ว่าเรามีตาสำหรับเห็นรูป มีหูสำหรับฟังเสียง มีจมูกสำหรับรู้กลิ่น มีลิ้นสำหรับรู้รส มีผิวหนังผิวกายทั่วไปสำหรับรู้เรื่องโผฏฐัพพะที่มาสัมผัสผิวหนัง แล้วก็มีใจสำหรับรู้เรื่องที่จะเกิดขึ้นในทางใจ เป็นหกอย่างเรียกว่าอายตนะ ๖ ข้างในก็มีอยู่หก ข้างนอกก็มีอยู่หก มันก็จับคู่กันพอดี
รู้เรื่องอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลูกเด็กๆ เขายังไม่เข้าใจ เขาก็จะคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร จะไปรู้ทำไม ไปเล่นอะไร ไปกินอะไรดีกว่า ต้องพยายามให้เขาเกิดความสนใจเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่านี่แหละ เพราะมีไอ้นี่โลกนี้จึงมี เด็กๆ คงจะหูผึ่งกันมาบ้างก็ได้ ก็เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นะ มันจึงมีโลก โลกนี้ทั้งโลก ในโลกนี้มันมีสิ่งที่เราจะรู้สึกได้ รู้จักได้ สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เท่ากับโลกนี้ไม่มีๆ ไม่มีอะไรที่จะรู้สึกต่อโลกนี้สักนิดหนึ่ง หรือสักแขนงหนึ่งก็ไม่มี บอกให้เขาสนใจว่าไอ้โลกมันมีปรากฏแก่เรา เพราะเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เท่ากับก้อนหินก้อนหนึ่ง ท่อนไม้ท่อนหนึ่ง มันจะรู้สึกอะไรได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นนะ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีเรื่องที่จะเข้ามากระทบ ที่เรียกว่าอายตนะภายนอก นั่นแหละคือโลก โลก โลกของแกอย่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนั้นมันโลกอย่างลูกเด็กๆ ความรู้อย่างลูกเด็กๆ เรียนภูมิศาสตร์เรื่องโลก มันก็ดี ดีกว่าไม่เรียน ดีกว่าไม่รู้ แต่มันยังเป็นรู้อย่างต่ำๆ อย่างลูกเด็กๆ ถ้ารู้จริงจะต้องรู้ถึงขนาดที่ว่า ในโลกนี้มันมีรูปที่เราสัมผัสกันทางตามากมายมหาศาล มีเสียงที่สัมผัสกันทางหูมากมายมหาศาล มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีธรรมารมณ์ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ โลกไม่มีความหมายนะ ไอ้โลกของแกก็ไม่มีความหมายหรอก ถ้ามันไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ให้เด็กเขารู้จักโลกโดยกอขอกอกาว่า ฝ่ายข้างในมีหก ฝ่ายข้างนอกมีหก พอถูกกัน มาถึงกัน มาเนื่องกัน มันก็เกิดเรื่องต่างๆ ต่อไป เกิดต่อไปๆ เป็นทอดๆๆๆ เหมือนที่เรามีดวงอาทิตย์ มีไอน้ำ มีฝน มีอะไร มันจึงเกิดเรื่อง นี่ก็เหมือนกันแหละ ให้ฟังให้ดี มันจะมีเรื่องที่สืบทอด เนื่องกัน สืบทอดกันต่อๆๆๆ ไป
เพราะว่ามีตาเป็นต้น อยู่ข้างใน เพราะว่ามีรูป รูปที่จะเห็นได้ด้วยตา มีตาเป็นต้นนี้ อยู่ข้างนอก พอเมื่อใด ไอ้ตากับรูปมันมาถึงกันเข้า ใช้คำว่าปฏิจะ ปฏิจะ มันมาถึงกันเข้า คือตากับรูปมันปฏิจะกัน มันมาถึงกันเข้า มันมาเนื่องกันเข้า มันก็เกิดผลอันใหม่ขึ้นมา คือจักษุวิญญาณๆ วิญญาณไม่ได้เกิดอยู่ก่อน พึ่งจะเกิดต่อเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาถึงกันเข้า จะคุณจะปะติจะรูเปจะ อุปปัชชะติวิญญาณัง ถ้าบาลีเขาว่าอย่างนี้ พอตามาถึงกันเข้ากับรูป จึงเกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ทางหูก็เหมือนกัน เพราะมีเสียงมาเนื่องกันเข้ากับหู หรือหูมันเนื่องกันเข้ากับเสียง มันก็เกิดโสตวิญญาณ วิญญาณทางหู ทีนี้จมูก กลิ่นมาถึงกันเข้า มันก็เกิดฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก รสมาถึงกันเข้ากับลิ้น ก็เกิดชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น สิ่งภายนอกมาสัมผัสผิวหนัง ร่างกาย ก็เกิดกายวิญญาณ รู้สึกทางกาย อารมณ์เกิดแก่จิต จิตรู้สึกอารมณ์นั้น เรียกว่ามโนวิญญาณ วิญญาณทางมโน ให้เค้ารู้จักว่ามันมีวิญญาณ ๖ เพราะมันมีอายตนะ ๖ เป็นคู่กัน ผลก็ออกมา ๖ อีกน่ะ เป็นวิญญาณ ๖ ให้รู้อย่างนี้ เขาก็จะรู้พุทธศาสนาว่า วิญญาณน่ะเพิ่งเกิดเมื่ออายตนะกระทบกัน ถ้าถือวิญญาณเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เกิดอยู่ตลอดไป ไม่รู้จักตาย ร่างกายตาย มันก็ไม่รู้จักตาย วิญญาณอย่างนั้นไม่ใช่วิญญาณในพุทธศาสนา วิญญาณในศาสนาอื่นที่สอนกันอยู่ก่อนพุทธศาสนาในอินเดีย ชาวอินเดียเขามาที่นี่ก่อนพุทธศาสนา เขามาสอนไว้เสร็จแล้ว เรามีความรู้เรื่องวิญญาณซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนาก่อนแล้ว เสร็จแล้ว ตั้งแต่พุทธศาสนายังไม่มา พุทธศาสนามาก็สอนให้รู้ว่า วิญญาณคืออย่างนี้ๆ วิญญาณคือของที่เกิดขึ้นชั่วขณะๆๆ ที่มัน ตากระทบรูปเป็นต้น นี่ความรู้เลื่อนขึ้นมาจนถึงเรื่องวิญญาณแล้วนะ อายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นกอขอกอกาที่จะต้องรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นกอขอกอกาที่จะต้องรู้ พอมันเนื่องกัน กระทบกันแล้ว มันก็เกิดวิญญาณ ๖ มันก็เป็นกอขอกอกา ที่จะต้องรู้ขึ้นมาตามลำดับ รู้มากขึ้นมันจะแจกรูปๆ แจกรูปกะกากิกีไปตามเรื่องของมัน
เดี๋ยวนี้เรามาถึงวิญญาณนะ เรื่องที่สาม เรื่องที่หนึ่งอายตนะภายใน เรื่องที่สองอายตนะภายนอก เรื่องที่สามวิญญาณ มันได้เป็น ๓ อย่างแล้ว ตีนังธัมมานัง สังขะติผัสโส สามอย่างนี้เนื่องกันอยู่ ทำงานด้วยกันอยู่ คือปฏิกันอีกนั่นแหละ ผัสโส เรียกว่าผัสสะๆ มันก็มี ๖ อีกแหละ ก็มันเกิดมาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีผัสสะ ๖ ที่การกระทบ ทั้งอายตนะก็มีอยู่ ๖ ทีนี้พอมีผัสสะกระทบอย่างนี้ มันก็เกิดเวทนา คือรู้สึกขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเวทนา เป็นเวทนา ๖ จะเป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้ เรียกว่าเวทนาทั้งนั้น นี้ก็มาถึงเวทนา ๖ ถ้าว่าเด็กของเราฉลาดอยู่บ้าง ไม่โง่เกินไป มันก็ควรจะจำได้ มันก็ยากพอๆ กับเรียนกอขอกอกา เด็กๆ มันเรียนกอขอกอกา มันก็ไม่ใช่ง่ายนัก แต่เพราะมันชอบ มันสนุก มันอยากเรียน แต่ถ้ามันชอบ มันสนุก มันอยากเรียนธรรมะบ้าง มันก็เรียนได้ พออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ แล้วก็วิญญาณ ๖ แล้วก็ผัสสะ ๖ แล้วก็เวทนา ๖ เวทนาเกิดขึ้นเป็นความรู้สึก ชอบใจก็มี ไม่ชอบใจก็มี นี่กล่าวไม่ได้ว่าชอบใจหรือม่ชอบใจก็มี คือเป็นกลางๆ พอเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว รู้สึกเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดความอยาก ความต้องการ ไปตามความหมายแห่งเวทนานั้น ถ้าเวทนาเป็นที่พอใจ มันก็เกิดความอยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น เป็นเวทนาบวก ถ้าเวทนาไม่ถูกใจ มันก็อยากฆ่า อยากทำลาย นี่เป็นเวทนาลบ ถ้าเวทนานั้นไม่ใช่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ คือไม่ใช่อะไร เป็นกลางๆ มันก็โง่เท่าเดิมๆ เป็นโมหะ มันโง่เท่าเดิม ในแต่ละวันๆ เรามีเวทนามากระทบ ซึ่งให้เกิดความอยาก ซึ่งอยากจะเอา อยากจะได้ ให้เกิดโลภะ ราคะ ถ้าไม่ถูกใจ มันก็ไม่อยากจะเอา ก็เกิดโทสะ โกธะ ถ้ามันไม่มีความหมายเป็นถูกใจหรือไม่ถูกใจ มันก็เป็นโมหะอยู่ตามเดิม นี่เรียกว่าเวทนาให้เกิดตัณหา
ตัณหาคือความอยาก อยากไปตามอำนาจของสิ่งที่มากระทบหรือเวทนานั้น ตอนนี้หมายความว่ามันอยากด้วยความโง่ อยากโดยไม่รู้อะไร อวิชชาเป็นเหตุให้อยาก แต่ถ้ามันเป็นอย่างอื่น เป็นกรณีอื่น คือมันอยากรู้เพราะมันอยากศึกษา อยากจะหาความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไอ้ความอยากอย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เรียกว่าสังกัปปะ สังกัปโป สังกัปปะ ความประสงค์ที่จะรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป มันอยู่เป็นสองอยาก แต่ถ้าเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่จะเกิดทุกข์ แล้วมันก็ต้องเกิดตัณหา คือความอยากอย่างโง่ๆ มันก็มี ๖ อย่าง ตามชื่อของอายตนะอีกเหมือนกัน คือตัณหาที่มาจากเวทนาที่มาทางจักษุ ตัณหาที่มาจากเวทนาที่มาทางหู มาทางจมูก มาทางลิ้น มันก็ตัณหา ๖ อีกน่ะ นี่เรียกว่าความอยากได้เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ความอยากนั้น อยากตามธรรมชาติ อยากโดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ถ้ามันอยากๆๆ รุนแรงเข้า มันก็เกิดออกมาอีกอย่าง คือเป็นผลของความอยาก คือเกิดรู้สึกว่ากูอยาก ทีนี้กูยังไม่เกิดล่ะ ไอ้ความอยาก ความอยากที่เป็นตัณหาจากเวทนานั้นมันรุนแรงๆ มันจะเกิดตัวกูผู้อยาก ตัวตน ผีหลอก เกิดขึ้นมาแล้ว อันนี้คืออนัตตา อนัตตา เราจะเห็นความอยาก ความอยากปรุงแต่งให้เกิดผู้อยาก รู้สึกว่ามีผู้อยากที่เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ถ้าเราใช้ภาษาบาลี ลูกเด็กๆ คงจะรำคาญ ใช้ภาษาไทยตามธรรมดามาเรื่อยๆ เกิดผู้อยาก คือตัวตนผู้อยาก คือตั้งต้นในจิตใจ ได้มีตัวตนเป็นผู้อยาก คล้ายๆ กับว่าตั้งครรภ์ๆ คือตั้งครรภ์ของตัวผู้อยาก ตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้ว นี่มันก็ค่อยๆ ปรุงแต่งมาตามลำดับ นี่เรียกว่าภพ ภวะหรือภพ เหมือนกับครรภ์มันแก่เข้าๆ เพราะว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ครรภ์มันก็แก่เข้า ครรภ์มันแก่เข้าๆ มันก็คลอดก็เรียกว่าชาติ เพราะมีภพจึงมีชาติ พอมีชาติก็หมายถความว่าตัวกู ตัวตน สมบูรณ์ๆ แสดงบทบาทสมบูรณ์ เอานั่น เอานี่ เป็นตัวตน เป็นของตนหมด เอามาเป็นความทุกข์ได้ทั้งหมด เกิดแก่เจ็บตายก็เอามาเป็นของกู สิ่งต่างๆ อะไรต่างๆ ที่มันยุ่งในชีวิตประจำวันก็มาเป็นของกู มันก็เกิดภาระ เกิดปัญหาเต็มไปหมด มีความทุกข์ ความทุกข์ทุกชนิดเกิดมาจากชาติ คือเกิดแห่งตัวกู ชาติมาจากภพ คือการมีครรภ์ มีครรภ์แห่งตัวกู ภพมาจากอุปาทาน คือจุดตั้งครรภ์ อุปาทานมาจากตัณหา คือความอยาก อย่างโง่เขลาๆ ตัณหามาจากเวทนา คือความรู้สึกในอารมณ์บวกลบ เวทนามาจากผัสสะ ผัสสะคือการกระทบ การกระทบมาจากสิ่งทั้งสามทำงานร่วมกัน คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ
พ่อนี่ไม่ใช่ลูกนี่ ทบทวนให้เข้าใจแจ่มแจงชัดเจนสิ ไม่งั้นไม่มีทางรู้ ลองฟังอีกทีว่า มันมีอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมันมีอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอมาถึงกันเข้า มันก็มีวิญญาณ สามประการนี้คือ วิญญาณและอายตนะภายในภายนอกทำงานร่วมกัน ก็เรียกว่าผัสสะๆ คือจำไว้เป็นหลักว่า ผัสสะนั้นมีการกระทบของสามสิ่ง ไม่ใช่สองสิ่ง เพียงแต่ตาเห็นรูปยังไม่เรียกว่าผัสสะ ต้องเกิดวิญญาณขึ้นมา แล้ววิญญาณทำหน้าที่เห็นซึ่งรูปโดยอาศัยตาเป็นที่ตั้ง จักษุวิญญาณอาศัยตาเป็นที่ตั้ง แล้วก็รู้จักรูป รูป ที่เป็นตัวรูปนี่ เขาจึงเรียกว่าผัสสะ ผัสสะมันต้องของสามสิ่ง ที่พูดกันอยู่ตามถนนหรือตามลานวัด มันว่าสองสิ่งก็พอ พอตาเห็นรูปก็เรียกว่าผัสสะแล้ว มันต้องเกิดวิญญาณก่อน แล้ววิญญาณทำงานทำหน้าที่ จึงจะเกิดผัสสะ มีผัสสะก็ต้องมีเวทนา มีกระทบแล้วต้องเกิดเวทนา ความรู้สึก เป็นบวกคือเป็นสุข เป็นลบคือเป็นทุกข์ แล้วก็ไม่บวกไม่ลบคือเป็นอทุกขมสุข เวทนามีอยู่ ๓ ชนิด เรียกเป็นภาษาธรรมะก็ว่า เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข เรียกภาษาคนธรรมดา ก็เป็นบวก เป็นลบ ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ นี่คือเวทนา ทีนี้สิ่งที่เรามีอยู่เป็นประจำวัน และวันละมากๆ ครั้ง ลูกเด็กๆ ก็พอจะมองเห็นถ้าเราอธิบาย ก็แค่อยู่กับเวทนาแล้วดูให้ดี เดี๋ยวเวทนานั้นเดี๋ยวเวทนานี้ตลอดวัน เวทนานี้ระวังให้ดี มันจะเป็นตัวเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป เพราะว่าพอมีเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหาคือความอยาก ตามสมควรแก่เวทนานั้น เวทนาเป็นสุข หรือเป็นบวก หรือน่ารักน่าพอใจ มันเกิดอยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น ถ้าเวทนามันไม่น่ารัก น่าพอใจ คือมันเป็นลบ มันก็เกิดความรู้สึกตรงกันข้าม ไม่อยากเอา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ อยากจะทำลายๆ ถ้าเวทนาไม่ได้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็โง่เท่าเดิม ติดตามอยู่นั่น ติดตามเวทนาอยู่นั่น ไม่รู้จะออกมาอย่างไร นี่ก็เป็นโมหะๆ มีเวทนาให้เกิดความอยากตามสมควรแก่ความหมายหรือคุณค่าของเวทนานั้น เด็กๆ พอจะเข้าใจถ้าพ่อแม่รักลูกจริงๆ พยายามอธิบาย มันพอจะเข้าใจได้ เกิดความอยากเรียกว่าตัณหา ตัณหาด้วยความโง่ ตัณหาอยากด้วยความโง่ ความต้องการ ความอยากด้วยความโง่ จึงจะเรียกว่าตัณหา ถ้าต้องการด้วยสติปัญญหา เช่นอยากรู้ อยากรู้ขึ้นมา อยากเข้าใจขึ้นมา หรือว่าอยากจะควบคุมมันให้ได้ ไอ้ความอยากอย่างนี้ไม่ใช่ความโง่ หรืออยากจะมีในทางที่ถูกต้อง ก็เรียกว่าสังกัปปะ ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าความโลภ
ขออภัยนะต้องพูดตรงๆ หน่อยนะ ตามศาลาวัดน่ะมันสอนกันผิดๆ ว่าถ้ามีความอยากเรียกว่าตัณหา เรียกว่าโลภะทั้งนั้นเลย อย่าไปเชื่อ มันต้องมาจากความโง่จึงจะเรียกว่าตัณหาหรือโลภะ แต่ถ้ามันมาจากความอยากรู้ อยากเห็น อยากจะเข้าใจนี้ ไม่เรียกว่าตัณหาหรือโลภะ เรียกว่าสังกัปปะ คืออยากจะได้เข้ามามีไว้อย่างที่มีประโยชน์ เรียกว่าสังกัปปะ ที่พระเขาให้พรทุกทีที่มาให้ศีลน่ะ สังกัปโป จัตตาโร สังกัปปา ปูเรนตุ จัตตา ปูเรนตุ สังกัปปา สังกัปปา ขอท่านทั้งหลายจงสมบูรณ์เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ หรือเหมือนแก้วมณีโชติ อย่างนี้เรียกว่าสังกัปปะ จำไว้เป็นหลักว่าถ้าอยากด้วยความโง่จึงจะเป็นตัณหาหรือเป็นโลภะ ถ้าอยากด้วยเหตุผล ด้วยความมีความต้องการที่จะรู้ ที่จะเข้าใจ หรือจะควบคุมมัน ก็เรียกว่าสังกัปปะ ในกรณีนี้ยังไม่เกี่ยว กรณีนี้พูดถึงความโง่ของปฏิจจสมุปบาทที่จะเกิดทุกข์ มันก็เกิดตัณหาๆ อยากๆๆ อยากเข้มข้นเข้าๆ เหมือนวัยรุ่นมันบ้า มันคลั่ง มันหลงอะไร คนหนุ่มคนสาวหลงหรือคลั่งอะไร เรียกว่าอยากด้วยตัณหาๆ ในกรณีใดก็ตาม ความอยากเป็นไปอย่างแรงกล้าๆ มันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูขึ้นมาเอง เป็นผู้อยาก ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าอุปาทาน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นว่ากู อุปาทานเป็นไปสูงสุดแล้ว มันเป็นเหตุให้ปากพูดออกมาว่ากู นั่นล่ะอุปาทานสูงสุดล่ะ เป็นอัตตวาทุปาทาน อุปาทานในภายในมันดันให้ปากพูดออกมาว่ากู ของกู นี่อุปาทาน อุปาทานจุดตั้งต้นขึ้นมาแล้วก็เหมือนกับ เปรียบเสมือนหนึ่งการตั้งครรภ์แห่งตัวตน ตั้งครรภ์แห่งตัวกู มันก็ ครรภ์มันก็แก่ขึ้นๆ คือมีอะไรหล่อเลี้ยงอุปาทานเรื่อยๆ มา เรียกว่าภพหรือภวะ มีความเป็นอยู่หรือตั้งต้นแห่งตัวตนแล้ว พอภพถึงที่สุดมันก็เกิดชาติ เป็นตัวตนที่สมบูรณ์ๆ ออกมาแล้ว มันก็แสดงบทบาท เช่นยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงด้วยความเป็นของตนก็เป็นทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายก็เป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ พบกับสิ่งไม่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ต้องการอะไรแล้วไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ มันมากมายอย่างนี้ ความทุกข์ทั้งปวงมาจากชาติ ชาติให้เกิดทุกข์ นี่จบสายของปฏิจจสมุปบาท
ตั้งต้นมาจากอายตนะกอขอกอกา ก็แจกรูปออกมาเป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ สูงขึ้นมาก็ใส่วรรณยุกต์อะไร ออกเสียงมาเป็นกระบิไปเลย เรื่องตัวหนังสือนี่ นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าใครมันเกิดถามขึ้นมาอีกต่อว่า อายตนะทีแรกมาจากไหน นั้นจึงจะตอบว่ามาจากสังขารการปรุงแต่ง อำนาจลึกซึ้งของธรรมชาติเป็นการปรุงแต่ง เรียกว่าสังขาร ถามอีกว่าสังขารมาจากไหน สังขารมาจากอวิชชา คือภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้ มันไม่รู้ มันก็เกิดอำนาจการปรุงแต่ง คือการดิ้นรน อย่างนี้ก็ได้ ยังไม่สอนลูกเด็กๆ น่ะ เพราะมันยังยากเกินไป สอนตั้งต้นเพียงว่ามีอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันมีอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันปฏิจกันเมื่อไร ปฏิจะกันเมื่อไร เกี่ยวเนื่องกันเมื่อไร มันก็เกิดวิญญาณ สามประการนั้นทำงานอยู่ด้วยกันเมื่อไรก็เรียกว่าผัสสะ ผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีเวทนาแล้วก็ต้องเกิดตัณหาไปตามอำนาจของเวทนา มีตัณหาอยากเข้มข้นเข้าก็เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก คือเจ้าของตัณหา แล้วก็เป็นภพ ซึ่งตั้งต้นแห่งการมีตัวกูจนกว่าจะสมบูรณ์ออกมาเป็นชาติ เรียกว่าชาติ มันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ แต่เรามันไม่สนใจๆ มีความสนใจน้อย ไม่สนใจเพราะไม่รู้ว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุดๆ ในบรรดาเรื่องทั้งหลาย แม้ที่ท่านทั้งหลายที่มาที่นี่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนะ แต่มันมาถูกบังคับให้ศึกษาในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เพื่อจะรู้เรื่องทั้งหมดของพระพุทธศาสนา สำหรับที่จะดับทุกข์ได้ นี่ก็คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันก็ดับทุกข์ไม่ได้
ทีนี้ก็สรุปความว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้มันให้ผลอย่างไร มันให้ผลอย่างไร ฟังดูแล้วก็คงจะแยกเอาเองได้นะ มันให้ผลคือทีแรกให้รู้เรื่องอนัตตา อนัตตาๆ อะไรเป็นอัตตาที่ไหน อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา เป็นธรรมชาติปรุงแต่งๆๆ ตามลักษณะของจิตใจ ไม่มีตัวตนอัตตาที่แท้จริงที่ตรงไหน อัตตานี้เป็นความรู้สึกด้วยอวิชชา มันรู้สึกได้โดยสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต มันก็รู้สึกว่ามีตัวกู ตัวกูผู้อยู่ ผู้จะเอา ผู้จะกิน ผู้จะใช้ ผู้จะทำอะไรต่างๆ อัตตาตัวนี้ศัพท์ของมัน ตัวหนังสือของมันแปลว่าผู้กิน มันจะเอาอะไรมากินทางตา ทางหู ทางจมูก อะไรก็ตาม ตัวกูเกิดขึ้นแล้ว มันก็ต้องการจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามประสงค์ของตัวกู แล้วมันจะกิน นี่เรียกว่าอัตตาๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าศึกษาให้ดีอย่างที่ว่ามาแล้ว มันก็จะรู้เรื่องอนัตตาๆ นั่นในความหมายหนึ่งทำให้รู้หัวใจของพระพุทธศาสนาเรื่องอนัตตา คิดให้ดีกว่านั้น มันก็ให้รู้เรื่องความทุกข์ ความทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และพร้อมกันนั้นมันก็ให้ความรู้ว่าจะตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์จะทำอย่างไร ความทุกข์มาจากไหน ก็ดับต้นเหตุแห่งความทุกข์เสีย เรียกว่าทำให้รู้เรื่องดับทุกข์ ทีนี้เราก็ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวันแต่ละวันๆ ให้ได้ อย่าให้มันเกิดทุกข์ ก็เรียกว่าทำปฏิจจสมุปบาท มีประโยคแถมพกว่า โดยอ้อมแถมพกว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะตามจริงของธรรมชาติ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นพระพุทธองค์ เรื่องปฏิจจสมุปบาททำให้รู้จักพระพุทธองค์ เห็นพระพุทธองค์พระองค์จริง จนเดี๋ยวนี้ที่นี่แม้ว่าโดยพระกายจะนิพพานไปแล้วตั้งสองพันกว่าปี แต่พระองค์จริงยังอยู่ๆ พระองค์ธรรมยังอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาท คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เราอาจจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงได้ที่นี่ ตอนนี้ มองกันอย่างนี้ อย่างน้อยก็สามประการนี้ มันเหลือเกินค่าแล้ว เกินค่าที่ลงทุนนะ หนึ่งให้รู้เรื่องอนัตตา สองให้รู้เรื่องดับทุกข์ สามให้รู้เรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่ที่ไหน พอเราเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นธรรมมะ เห็นธรรมะคือพระองค์จริง พระองค์จริงเลยมาอยู่ในใจของเรา พระพุทธเจ้าพระองค์จริงให้อยู่ในใจของเรา นี่มันมีค่าสูงสุด
ร่ายมาอีกทีหนึ่งเพื่อเข้าใจละเอียดว่าเห็นอนัตตาๆ แต่ละเรื่องเป็นอนัตตา ชีวิตนี้เป็นอนัตตา ร่างกายนี้มี ร่างกายกับจิตใจมีรูปและมีนาม ที่เป็นร่างกายก็มีเหตุมีปัจจัยมาตามกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท เกิดมาจากบิดามารดา เติบโตมาด้วยอาหาร ด้วยการบริหารต่างๆ ร่างกายจึงตั้งอยู่ได้ด้วยการบริหารที่ถูกต้อง นั้นก็เป็นปฏิจจสมุปบาท ร่างกายมีอยู่ได้ ทีนี้ก็เรื่องของจิตใจๆ มันเป็นไปตามอย่างที่กล่าวมาแล้ว เป็นอายตนะ เป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา ตัณหา เป็นเรื่องของจิตใจ อนัตตา ทำให้เราเห็นเรื่องอนัตตา เรื่องอนัตตานี้ไปไกลมาก ก็เห็นเป็นอนัตตา อนัตตามันจะเห็นในความหมายอื่นๆ เพิ่มเติม ขอให้ท่านฟังให้ดี ที่เราเห็นว่าไม่เที่ยง มันเปลี่ยนเรื่อย ปฏิจจสมุปบาทมันคือตัวการเปลี่ยน เปลี่ยนเรื่อย เห็นว่ามีการเปลี่ยนเรื่อย แล้วก็เห็นว่าไอ้เปลี่ยนเรื่อยนั้นมันเป็นทุกข์ ต้องอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนเรื่อยก็เป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ มันก็เป็นอนัตตาๆ มันเป็นอนัตตา มันเป็นเช่น มันเป็นอยู่ตามธรรมดาอย่างนั้น เรียกว่าธัมมัฏฐิตะตา ธัมมัฏฐิตะตา ความตั้งอยู่แห่งธรรมดาว่าเป็นเช่นนั้น ก็ดูสิ โอ้ มันมีอะไรบังคับอยู่นี่ คือเห็นธัมมะนิยามะตา ว่ากฎของธรรมชาติ ธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาติบังคับอยู่นี่ มันก็เรียกว่าเห็นธัมมะนิยามะตา เมื่อเห็นธัมมะนิยามะตาก็จะเห็นอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตามีปัจจัยแล้วก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นว่ามันมีปัจจัย มีปัจจัยแล้วมันต้องเป็นไปตามปัจจัย ความที่ต้องเป็นไปตามปัจจัย ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเองนี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เป็นที่รวมของปฏิจจสมุปบาท เราต้องเป็นไปตามปัจจัยเพราะมันมีเหตุมีปัจจัย ร่างกายก็มีเหตุมีปัจจัยก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตใจก็มีเหตุมีปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจยตา เห็นว่ามันไม่มีตัวตนที่ต่อสู้ได้หรือคงที่ถาวรได้ เห็นอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็จะเห็นสุญญตาคือความว่างจากตัวตน หรืออนัตตาที่สมบูรณ์ที่สุด เรียกว่าสุญญตา ว่างจากตัวตน ทีนี้จะมีอะไรก็มีไป มีไปกี่ร้อยอย่างพันอย่าง แต่มันว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ไม่ควรจะเรียกว่าตัวตน เห็นอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าเห็นสุญญตา เห็นสุญญตาแล้วก็จะเห็น สรุปอีกทีหนึ่ง ลึกขึ้นไปอีกว่า โอ้ มันอย่างนี้เองโว้ยๆ เรียกว่าเห็นตถาตา ตถาตา เป็นเช่นนั้นเองๆ ใครเห็นตถาตา คนนั้นก็เป็นตถาคต คือเป็นพระอรหันต์ ก็เห็นตถาตา พอเห็นตถาตาคงที่ มันก็คงที่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรียกว่าอตัมมยตาๆ คงไม่เคยได้ยินนะ ไม่ใช่ดูถูก คนส่วนมากคงไม่เคยได้ยิน เพราะไม่ค่อยมีใครเอามาพูด อตัมมยตาแปลว่าไม่สำเร็จมาจากปัจจัยนั้นๆ คือปัจจัยนั้นๆ ปรุงแต่งไม่ได้ มันไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยนั้นๆ มันเป็นอตัมมยตา คงที่ๆ จิตใจคงที่ ไม่เกิดกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ต่อไป นั่นคือเป็นพระอรหันต์ ผู้ใดเห็นอตัมมยตา ผู้นั้นเรียกว่าอตัมมโย ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ นี่เห็นอนัตตา เราแจกให้ละเอียด ให้พิสดาร ให้ชัดเจน ก็แจกเป็นเก้าตา เก้าตาคงจะจำยากหน่อย แต่ไม่เหลือวิสัย หนึ่งอนิจจตา เห็นความไม่เที่ยง สองทุกขตา เห็นความเป็นทุกข์ สามอนัตตตา เห็นความเป็นอนัตตา สี่เห็นธัมมัฏฐิตะตา เป็นเช่นนั้น ตั้งอยู่เช่นนั้น เห็นธัมมะนิยามะตา เพราะกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ เห็นอิทัปปัจจยตา มีเหตุมีปัจจัยและต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เห็นสุญญตา ว่างจากตัวตน เห็นตถาตา เป็นเช่นนั้นเองๆ เห็นเช่นนั้นเอง แล้วก็คงที่ อะไรปรุงแต่งไม่ได้ อะไรสร้างไม่ได้ นี่ก็เป็นพระอรหันต์ ไอ้เก้าตานี่ไม่ได้มีเรียงไว้ในบาลีเป็นหมวดธรรมหมวดหนึ่งเหมือนหมวดธรรมทั้งหลาย อาตมาไปเก็บมาชนๆๆ ชนกันเข้าได้เป็นเก้าตา มันง่ายแก่การบรรยาย สะดวกแก่การบรรยายหรือการปฏิบัติ จำไว้ให้ดี เก้าตานี่ช่วยได้ในทุกกรณี เป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองไม่ให้เกิดความทุกข์โดยประการใดๆ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตะตา ธัมมะนิยามะตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา ถ้าสนใจ จำไว้ได้เป็นพิเศษ มันเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ นี่เรียกว่าความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาททำให้เข้าใจเรื่องอนัตตา ไม่ใช่ตน ไม่มีตน มันก็ไม่เกิดความทุกข์
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องไม่ให้เกิดความทุกข์ ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้เกิดความทุกข์ๆ นั่นแหละคือดับทุกข์ ฟังให้ดีนะ ภาษามันกำกวมๆ เราพูดกันสะดวกว่าดับทุกข์ๆ แต่ที่จริงไม่ใช่น่ะ ไม่ใช่ดับทุกข์หรอก ดับทุกข์คือทำให้ทุกข์เกิดไม่ได้ ทำให้ทุกข์เกิด ทำให้ทุกข์เกิดได้ นั่นแหละคือดับทุกข์ ไปดับทุกข์มันก็บ้าเลย แต่ทำไม่ให้มันเกิดดีกว่า เหมือนกับไฟ ดับไฟมันสนุกเมื่อไร ทำไม่ให้ไฟเกิดได้นั่นคือดับไฟ ภาษามันกำกวม จึงเข้าใจยาก หรือเข้าใจผิด ถ้าพูดว่าดับทุกข์ ไปเข้าใจว่า โอ้ มันทำให้ความทุกข์เกิดไม่ได้ เพราะมันรู้ต้นเหตุแห่งความทุกข์ๆ มันก็จัดการที่ต้นเหตุ ความทุกข์มันก็เกิดไม่ได้ นี่ก็เป็นคำสำคัญอีกคำหนึ่ง นักศึกษาทั้งหลายจงจำไว้ให้แม่นยำว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล จัดการไปตามเหตุผล ควบคุมไปตามเหตุผล แล้วก็ได้รับผลสมตามปรารถนา ดังนั้นจึงมีการจัดการที่ต้นเหตุไม่ใช่จัดการที่ปลายเหตุ คนโง่มันไปจัดการที่ปลายเหตุ ปล่อยให้ทุกข์เกิดแล้วจึงดับทุกข์ ปล่อยให้ไฟเกิดแล้วจึงดับไฟ ฉิบหายหมดสิ ป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิด ไม่ให้ไฟเกิด นั่นแหละคือดับไฟหรือดับทุกข์ แล้วก็ต้องดับที่ต้นเหตุ อย่าไปดับที่ปลายเหตุ ความผิดพลาดเดี๋ยวนี้ทั้งโลกน่ะมันไปแก้ที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แก้ปัญหาการเมือง การเศรษฐกิจ การอะไร มันก็ไม่ได้ เพราะมัวไปแก้ที่ปลายเหตุ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์โดยแท้จริง มันต้องแก้ที่ต้นเหตุ จำคำพิเศษไว้สักคำ มันดี ว่าถ้าแก้ไขที่ปลายเหตุมันเป็นลูกหมา คำมันหยาบหน่อยนะ ขออภัยนะ ถ้าแก้ไขที่ต้นเหตุ มันเป็นลูกเสือหรือลูกราชสีห์ มัวแก้ไขที่ปลายเหตุมันเป็นลูกหมา หมาน่ะ คุณเอาไม้ไปแหย่ๆ มันกัดปลายไม้เลย มันกัดปลายไม้ที่แหย่ ถ้าคุณเอาไม้ไปแหย่เสือหรือราชสีห์ มันไม่กัดปลายไม้ มันกระโจนไปที่คนถือไม้ ถ้าเป็นลูกเสือหรือราชสีห์ มันกระโจนไปที่คนถือไม้ แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นลูกหมามันก็กัดอยู่ที่ปลายไม้นั่น ถ้ามันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมันเป็นลูกหมา ถ้าแก้ไขที่ต้นเหตุมันเป็นลูกราชสีห์ เป็นลูกเสือ เป็นลูกอะไรที่มันน่ากลัว แล้วมันจะสำเร็จประโยชน์ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล จัดการที่เหตุ แล้วก็ที่ต้นเหตุนั้นเอง จึงเป็นพุทธศาสนา ถ้าเราจะดับทุกข์เราจัดการที่ต้นเหตุ แล้วก็ป้องกันที่ต้นเหตุ ที่ต้นตอนต้นของปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้ปฏิจจสมุปบาทมันก่อขึ้นมาได้ นี่ป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ นั่นแหละคือการดับทุกข์ อย่าหลับตาพูดโง่ๆ ดับทุกข์ๆๆ เลอะเทอะไปหมด บางทีดับไม่สำเร็จตายเลย เหมือนกับดับไฟน่ะ อย่าให้ไฟมันเกิดดีกว่า นั่นแหละคือการดับไฟที่แท้จริง ประโยชน์ของการรู้จักเหตุคือ สามารถควบคุมผลได้ แล้วจงถือหลักนี้เป็นเกณฑ์แม้ว่าในการทำการงานในบ้านในเรือนอะไรก็ตาม ให้จัดการที่ต้นเหตุ ควบคุมต้นเหตุให้ได้ แล้วผลร้ายมันก็จะไม่เกิดขึ้น แต่นี่มันไม่ได้จัดการที่ต้นเหตุ เพราะมันโง่ หรือเพราะมันเผลอเรอ หรืออะไรก็ตาม มันก็ต้องมีความยุ่งยากลำบาก มีปัญหานานาประการ นี่เรียกว่าความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมีประโยชน์ช่วยให้ดับทุกข์ได้ แล้วก็ดับกันที่ต้นเหตุ
ทีนี้ในเรื่องที่สามว่า ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาททำให้รู้จักและมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เป็นพุทธบริษัท พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ แล้วไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่รู้จักแม้แต่พระพุทธเจ้า แล้วก็อ้างเอามาเป็นสรณะ อย่างนี้มันก็คิดดูเถอะว่ามันจะเป็นอย่างไร จะเป็นสรณะได้มันก็ต้องพ้นทุกข์ได้ ถ้าพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ไม่มีสรณะ จะว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ สักล้านหนมันก็ดับทุกข์ไม่ได้ นั้นว่าใช่จะรู้จักสรณะโดยแท้จริง นี้มีเรื่องที่จะต้องรู้อีกเรื่องหนึ่งคือว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธรรมะทีปา ธรรมมะสะระณา อานัญญะสะระณา ธรรมะสะระณา ธรรมะสะระณา อัตตะสะระณา อานัญญะสะระณา ก็จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีตนเป็นสรณะ จงมีธรรมเป็นสรณะ ธรรมะเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย เข้าใจมั้ย ยิ่งคำตรัสของพระพุทธเจ้าตรงๆ อย่างนี้เลย จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย นี่แล้วก็ อัตตะสะระณา ธรรมะสะระณา อานัญญะสะระณา มีธรรมะเป็นสรณะ มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้นะ ให้มีตนเป็นที่พึ่ง ไอ้เด็กหัวดื้อมันไม่เอานี่ มันไปเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มันไม่เอาตนเองเป็นที่พึ่ง ไม่เอาธรรมะเป็นที่พึ่ง มันตะโกนว่า นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง มันไปเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าสอนให้เอาตัวเองเป็นที่พึ่ง เอาธรรมะเป็นที่พึ่ง มันไปเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เอาพระรัตนตรัย เอาอะไรก็ไม่รู้มาเป็นที่พึ่ง ก็หลับตาว่าไปอย่างนั้นเอง มันก็ไม่เกิดที่พึ่ง ขอให้มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ตนเองเป็นที่พึ่ง ถ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ก็เปลี่ยนให้มันเป็นมีตนเองเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติธรรมะตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พอทำอย่างนี้มันกลายเป็นมีตัวเองเป็นที่พึ่งนะ เราพึ่งพระพุทธเจ้า เอาคำสั่งสอนของท่านมาปฏิบัติ ท่านสอนให้พึ่งตัวเอง เราพึ่งพระธรรม เอาพระธรรมมาปฏิบัติ ก็กลายเป็นพึ่งตัวเอง เราพึ่งพระสงฆ์ๆ ก็เอาคำสอนของพระสงฆ์มาปฏิบัติ มันก็กลายเป็นพึ่งตัวเองไปหมด ใจความสำคัญมันอยู่ที่พึ่งตัวเอง ถ้าจะพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ พึ่งสิ่งอื่น มันเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดตั้งต้น ที่จะต้องกลับกลายมาเป็นพึ่งตัวเอง เป็นสรณะแก่ตัวเอง เป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างน่าสนใจที่สุด แต่ถ้าไม่ได้เคยฟัง เคยได้ยิน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกันนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายมีเราเป็นกัลยาณมิตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายมีตถาคต มีเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเกิด สัตว์ทั้งหลายที่มีความแก่เป็นธรรมดา จะพ้นจากความแก่ สัตว์ทั้งหลายที่มีความเจ็บเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความเจ็บ สัตว์ทั้งหลายที่มีความตายเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความตาย นี้หมายความว่ามันพ้นจากอำนาจของกรรม มันเพิกถอนกรรม ไม่ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะว่ามันเอาความรู้เรื่องไม่มีตัวตนเข้ามา เอาความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมาสอนให้ไม่มีตัวตน มันก็ไม่มีกรรม คือไม่มีที่ตั้งแห่งกรรม มันก็ไม่มีกรรม มันก็พ้นจากกรรม พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แต่เราก็เป็นเด็กดื้อๆ ตามเคย มานั่งท่องบ่นว่า สัตว์ทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ แล้วก็เหมือนจะร้องไห้โฮๆ อย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่พ้นความแก่ไปได้ สัตว์ทั้งหลายมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเจ็บไปได้ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นความตายไปได้ มีกรรมเป็นของตัว จะต้องเป็นไปตามกรรมนั้น ไม่มีทางยกเว้น สุดท้ายก็ยังร้องไห้โฮๆ อยู่อย่างนี้ คนมันโง่ มันเอามาท่อนเดียว มันเอามาครึ่งเดียว มานั่งท่องอยู่อย่างนี้ ทำไมไม่เอามาให้หมดอย่างพระพุทธเจ้าว่า ถ้าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำไมไม่เอามา ทำไมเอามาครึ่งเดียวว่ามีแต่ฝ่ายลบ เป็นไปแต่ทุกข์ๆ ไม่ดับทุกข์ ถ้ามีปฏิจจสมุปบาท มีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละมีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ขออภัยอย่าโง่ไปว่า พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว จะเอามาเป็นกัลยาณมิตรได้อย่างไร พูดอย่างนี้มันโง่ที่สุดแหละ ที่พูดว่าพระพุทธเจ้านิพพานตั้งสองพันกว่าปีแล้ว จะเอามาเป็นกัลยาณมิตรได้อย่างไร พระพุทธเจ้ายังอยู่นี่ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นฉัน เอาความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมาดับทุกข์ การมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น มีค่าเท่ากับมีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรคือผู้ที่ช่วยได้จริง ช่วยได้จริง ช่วยได้จริงโดยสมบูรณ์ กัลยาณมิตร พระพุทธเจ้ายังอยู่ในรูปของธรรมะ ธรรมะในที่นี้คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นขอให้เรามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าเผลอสติ มีสติในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไว้ทุกเวลา แล้วพระพุทธเจ้าก็จะอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ต้องกลัว พระพุทธเจ้าจะอยู่กับเราตลอดเวลา ถ้าเรามีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท จัดการแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้โดยกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท
นี่ประโยชน์ของปฏิจจสมุปบาทเพียง ๓ ข้อนี้ มันก็เกินค่าแล้ว ทำให้รู้เรื่องอนัตตา คือหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วก็ช่วยดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้โดยป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ แล้วก็มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับเนื้อกับตัว มีบางคนเขาอยากจะมีพระพุทธเจ้า เขาก็ไปซื้อพระเครื่องมาแขวนคอ พวงเบ้อเร่อ เอาเสื้อปกปิดไว้ข้างในพระเครื่องพวงใหญ่ เค้าซ่อนไว้ แต่บางทีก็เห็นเหมือนกันแหละ นี่เขาเอาพระพุทธรูป เอาพระเครื่องเป็นพระพุทธเจ้ามาคุ้มครองตน ก็ตามใจเขา เขาอยากทำอย่างนั้น ที่จริงมันเป็นเพียงว่าให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่เรามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทองค์เดียวเท่านั้นแหละ แขวนอย่างไม่ต้องแขวน ไม่เห็นว่าแขวนแต่แขวน แต่มี แขวนอยู่ที่คอ คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถ้ามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มันก็มีพระธรรม พระธรรมที่เป็นพระองค์จริง มีพระสงฆ์ที่เป็นพระองค์จริง นี่เรียกว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่ต้องมีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ไม่ต้องมีสิ่งอื่นเป็นสรณะ นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทมีคุณค่าเท่าไร มีประโยชน์เท่าไร เราจึงมีหลักการในการที่จะสอนให้ท่านทั้งหลายได้เรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยหลักวิชา หรือโดยหลักความจริง โดยสัจธรรม โดยความจริง รู้ๆๆ รู้แล้วจะปฏิบัติให้ได้ก็ต้องสอนกันเรื่องอานาปานสติ ถ้าสอนอานาปานสติแล้ว มันก็มีความสามารถที่จะปฏิบัติได้ตามกฎเกณฑ์อันนั้น รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทแล้ว ไม่ใช่ปฏิบัติได้โดยง่าย มันต้องมีความสามารถอะไรมากไปกว่านั้น นี่คือความจำเป็นเรื่องจะต้องปฏิบัติธรรมะ ในเรื่องของการปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะโดยปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็จะเกิดธรรมะนานาอย่าง นานาประการขึ้นมา จนครบถ้วน จนไม่เกิดความทุกข์ จนอยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง
ทีนี้ก็อยากจะให้มองให้ลึก ให้เห็นปฏิจจสมุปบาทในที่ทุกหนทุกแห่ง คล้ายๆ กับว่ามีพระพุทธเจ้ามาประทับยืนคอยสอนอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง คุณดูไปสิ ดูไปที่หมาตัวนี้ มันมีอะไรที่ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาท มันก็เหมือนกับคน มันมีบิดา มารดา มีอาหาร มีการเป็นอยู่ถูกต้องๆๆ มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้ ดูไก่นี่มันก็จะเหมือนกันอีก ดูต้นไม้นี่มันมีความถูกต้องๆ มาตั้งแต่มูลเหตุที่ให้มันเกิดต้นไม้ มันเติบโตขึ้นมาได้ นี่ก็มันเองมีการไหล ไหลไปๆ แห่งกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท คืออนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมธัมมัฏฐิตะตา เป็นต้น ในสัตว์ทุกตัว ในต้นไม้ทุกต้น มันมีอย่างนั้น ทำไมจึงไม่เห็น ทำไมจึงว่าไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าได้ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยสมบูรณ์แล้ว จะเห็นอะไรเป็นปฏิจจสมุปบาทไปหมด ฟังไม่ถูกใช่ไหม ถ้าคุณมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยแท้จริง คุณจะเห็นว่ากระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่ไหลไปมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในใบไม้ ในดอกไม้ ในก้อนหิน ก้อนดิน เม็ดกรวด เม็ดทราย มันมีลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปลี่ยนแปลงไปๆๆ ตามเหตุตามปัจจัยอยู่ตลอดเวลา เหลียวไปทางไหนก็จะเห็นปฏิจจสมุปบาท ถ้าเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิต เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีชีวิต เราเรียกชื่อใหม่ เรียกชื่อว่าอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตามีความหมายกว้าง หมายถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท คำนี้ใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ คือพูดกับคน เป็นเรื่องของคน ถ้าพูดในคำว่าอิทัปปัจจยตา มันหมายถึงทุกสิ่งๆ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ อะไรมาเป็นสากลจักรวาล มาเป็นโลก มาเป็นแผ่นดิน มาเป็นฝน มาเป็นแดด มาเป็นอะไรก็ตาม นี่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา แต่พระพุทธเจ้าท่านมักจะตรัสควบกันเลยเรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท ถ้าเรียกมันให้เต็มยศจะเรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ยาวเฟื้อย อย่างนี้แล้วก็ใช้ได้หมดล่ะ แต่เพื่อศึกษาง่าย เราจะใช้คำว่าปฏิจจสมุปบาทสำหรับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ รู้สึกทุกข์รู้สึกสุขได้ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าพูดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มีก้อนหินดินทราย อะไรที่มันไม่มีชีวิตจิตใจ ก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา หรือคำว่าอิทัปปัจจยตามันครอบคลุมมาถึงปฏิจจสมุปบาทด้วยก็ได้ แต่โดยมากเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท และก็มักจะลืมคำว่าอิทัปปัจจยตา อาตมาได้สังเกตเห็นอยู่เสมอว่า ครูอาจารย์บางคนน่ะ เขาสอนเรื่องอิทัปปัจจยตาแต่เขาเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทไปเสียก็มี เช่นว่าเหตุการณ์อย่างที่กล่าวมาแล้วให้ลูกเด็กๆ ฟังเข้าใจ มีดวงอาทิตย์ มีน้ำ มีไอระเหย เป็นเมฆ เป็นฝน ตกลงมา อย่างนี้ก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา แต่โดยเหตุที่มาถึงเด็กคนนี้มีชีวิต รู้สึกเจ็บปวดเป็นทุกข์ได้ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตาเป็นคำที่กว้างกว่า ใช้ครอบคลุม มีชีวิตก็ได้ ไม่มีชีวิตก็ได้ แต่ให้มันง่ายหน่อย ก็เอามาใช้สำหรับทุกสิ่งแม้ที่ไม่มีชีวิต ปฏิจจสมุปบาทจะใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต จะรู้สึก ความทุกข์ เท่านั้นน่ะ
ในเมื่อเราเป็นคน เราเป็นมนุษย์ เรามีความทุกข์ เราก็จะต้องรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ดูภายนอกก็เต็มไปด้วยอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท แต่นี่ยังไม่มีประโยชน์มากเท่ากับดูภายในๆ ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก อะไรทุกๆ อย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี้ เป็นอัตภาพนี้ที่เป็นส่วนวัตถุ ส่วนร่างกายก็มี ที่เป็นส่วนจิต ส่วนมโนนี้ก็มี มันรวมกันอยู่เรียกว่านามรูปๆ นามรูปนี้เป็นที่ตั้งแห่งปฏิจจสมุปบาท ดูร่างกายจิตใจดีๆ จะเห็นว่ามันเต็มไปด้วยกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แม้แต่การหายใจครั้งหนึ่ง มันก็เป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอะไรเปลี่ยนแปลงทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง และทั้งเบื้องปลาย ขอให้ฉลาดพอจนถึงกับว่า เหลียวไปทางไหนก็เห็นปฏิจจสมุปบาท หรือพูดให้เป็นอุปมามากไปกว่านั้นก็ว่า เหลียวไปทางไหนก็ล้วนแต่สิ่งต่างๆ ร้องตะโกนบอกให้รู้ว่า ปฏิจจสมุปบาทคืออนัตตา หรืออิทัปปัจจยตาก็ตามใจ อาตมาบอกว่าที่นี่ต้นไม้พูดได้ ทุกต้นพูดได้ แต่คนหูหนวกมันไม่ได้ยิน เขาไม่เข้าใจ เขาว่าพูดบ้าๆ บอๆ อะไร ต้นไม้พูดได้ หมายความว่าคุณดูเป็นต้นไม้สิ คุณจะเห็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ต้นไม้มันตะโกนออกมาว่าปฏิจจสมุปบาท มีการเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ อย่ามายึดถือเอาเป็นตัวตนของตน นั่นแหละกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ก้อนหินก็พูดได้ ได้อย่างนี้แหละ ก้อนหินก็พูดได้ เพราะก้อนหินมันก็แสดงลักษณะอาการแห่งกระแสของปฏิจจสมุปบาทอยู่ตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน นี้จะเอาประโยชน์กันได้มากน้อยเท่าไร มันก็แล้วแต่สติปัญญาหรือความสามารถของบุคคลนั้นๆ คนที่มีปัญญามากก็สามารถที่จะเอาประโยชน์ได้มาก น้อยก็ได้น้อย ลูกเด็กๆ ก็ยังได้น้อย แต่เป็นหน้าที่ของบิดามารดา เพียงสอนให้เขารู้เรื่องกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วเขาก็จะได้รับผลไปตั้งแต่เล็กๆ เช่นว่าตุ๊กตาของเขาตกแตก แม่ก็พูดว่าจะซื้อให้ใหม่ อย่างนี้มันสอนอะไร ถ้าแม่เขาพูดว่า โอ้ มันเป็นอย่างนั้นแหละลูกเอ๋ย มันต้องเป็นอย่างนั้นแหละลูกเอ๋ย นี่เขาสอนอะไร คนแก่จะช่วยให้ลูกเด็กๆ เขามีความรู้เรื่องนี้ได้ดีทีเดียว แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ เขามักจะตัดบทให้แล้วๆ ไปเสีย ตุ๊กตาแตกไม่เป็นไร กูซื้อให้ใหม่ มันก็ตัดบทไปได้ แต่ถ้าจะมาสอนมันเป็นอย่างนั้นเองๆ ให้เด็กๆ มันหยุดร้องไห้นี่ มันดีกว่านะๆ คนแก่ๆ ช่วยจำไว้ด้วย เราสามารถจะสอนลูกเด็กๆ ของเราให้เห็นปฏิจจสมุปบาท ความเปลี่ยนแปลง แกโตขึ้นทุกวันๆ เพราะเหตุเพราะปัจจัยมันปรุงแต่งร่างกายจิตใจของแก แกก็โตทางกาย แกก็โตทางจิต ทุกวันๆ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ธรรมชาติของคน ของสัตว์ก็ตาม มันเป็นสัญชาตญาณ มันคอยที่จะรู้สึกไปในทางเป็นตัวตน เป็นตัวกูของกูตามกฎของสัญชาตญาณ มันเป็นอย่างนั้นเอง นั่นก็เป็นไปตามกฎปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ไอ้สัญชาตญาณทั้งหลายมันก็เป็นไปตามกฎปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้เราจะทำให้เกิดญาณที่ถูกต้อง เป็นพาวิตญาณ อย่าให้เป็นไปตามสัญชาตญาณ ถ้าเป็นไปเองตามบุญตามกรรม พาวิตญาณ รู้อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร นี่มันก็จะดี สอนเด็กๆ ให้รู้เรื่องเช่นนั้นเองๆ เขาก็จะมีหลักมีเกณฑ์ว่าจะไม่ต้องยินดียินร้ายกันนัก ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้กันนัก ไม่ต้องทะเยอทะยาน หลงใหล อยากได้อะไรเหมือนใจจะขาด ซึ่งเป็นปัญหาให้แก่บิดามารดามาก นี่เป็นการเตรียมตัวไว้ให้ลูกเด็กๆ โตขึ้นมาพร้อมที่จะเป็นพุทธบริษัทที่ดี ทำให้เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ทุกคนรู้พุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าว่าเขาสอบไล่ตก เราก็จะบอกเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท แกขี้เกียจเรียน แกขี้เกียจทำการบ้าน แกเล่น ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าเรื่องของปฏิจจสมุปบาทมันใช้ได้ ความลับอีกอย่างหนึ่งที่อาตมาจะพูด จะเชื่อไม่เชื่อก็ตามใจนะ เสรีภาพ ว่าธรรมชาติน่ะมันสร้างเด็กๆ มาสำหรับจะไม่เป็นทุกข์ๆ แต่แล้วจะด้วยเหตุอะไร ด้วยความโง่ของใครก็ไม่รู้ มันกลายเป็นความทุกข์ไปเสีย สังเกตเห็นไหมลูกเด็กๆ เขาจะไม่รู้จักเป็นทุกข์หรอก พอใช้ให้เขาทำอะไรมันกลายเป็นสนุกไปเสียหมด ใช้เขาขนของก็สนุก เด็กทารกนะ ใช้ถูพื้นมันก็เล่นสนุกไปกับถูพื้น ใช้ล้างถ้วยล้างจานมันก็เล่นสนุก ใช้ทำอะไรมันก็เป็นเรื่องสนุกไปหมด ข้อนี้ดีมาก คือรู้จักทำให้มันเป็นเรื่องไม่ทุกข์ เคยเป็นเด็กกันมาแล้วทุกคน แม่เขาใช้ทำอะไร ไอ้ลูกเด็กทารกมันสนุกไปหมด แล้วแต่จะใช้ทำอะไร ใช้หยิบของก็สนุก ใช้หยิบฟืนก็สนุก ใช้ไปเอาอะไรที่ไหนมามันก็สนุก แต่ว่าความสนุกเหล่านี้มันค่อยๆ สูญหายไป มันกลายเป็นไม่อยากทำ กลายเป็นขี้เกียจ พอถูกใช้ให้ทำมันก็เป็นทุกข์ นี้มันน่าเสียดาย ทำไมไม่รู้จักรักษาอาการที่ว่าไม่รู้จักทุกข์ รู้จักทำให้เป็นสุขไปเสียหมด ถ้าต้องการอย่างนี้ก็เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันช่วยได้ มีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทไว้เพียงพอ มันจะสามารถรักษาไอ้ความไม่เป็นทุกข์ ความสนุก ความพอใจไปเสีย ได้ทุกเรื่อง เพราะปฏิบัติให้ถูกต้องตามปฏิจจสมุปบาท อย่ามีตัวตน ไปยึดถือในความทุกข์หรือความสุขหรือในสิ่งใดๆ ให้มันว่างจากความยึดถือโดยประการทั้งปวง มันก็จะคงสนุกๆๆ นี้ก็ควรจะมาถึงผู้ใหญ่ ไอ้เด็กทารกมันยังรู้จักทำให้สนุก สุขไปเสียหมด ถ้าผู้ใหญ่ทำไมทำไม่ได้ล่ะ ถ้ามีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท มองเห็นลู่ทางอยู่ว่ามันมีเหตุมีปัจจัยจะเป็นไปอย่างนั้นๆๆๆ มันก็สนุกหรือเป็นสุขไปทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ราว จงทำให้การงานเป็นการปฏิบัติธรรม เหมือนที่เคยพูดมาแล้ว
ทุกชีวิตทุกคนต้องเคลื่อนไหวไปตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท มันกลายเป็นหน้าที่การงาน ชาวนาต้องทำนา ชาวสวนต้องทำสวน พ่อค้าต้องค้าขาย ทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามกฎปฏิจจสมุปบาท มันกลายเป็นการงานไปเสีย แล้วก็เป็นทุกข์ ทีนี้ทำให้การงานนั้นแหละกลายเป็นการปฏิบัติธรรมะเสีย ให้การงานทุกชนิดกลายเป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท แล้วเราก็มีสติให้พอ มีสัมปชัญญะให้พอ มีปัญญาให้พอ มีสมาธิให้พอ การงานมันจะกลายเป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ขบกัดให้เป็นความทุกข์ มันกลายเป็นความสนุกในการปฏิบัติธรรม มีสติให้มาก มีปัญญาให้มาก มีสัมปชัญญะให้มาก มีสมาธิให้มาก มันยิ่งสนุก ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งทำไปยิ่งแสดงบทบาทได้สูงๆๆ มันก็สนุก นี่เพราะมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้เกิดตัวกู ตัวกูที่เป็นตัณหาอุปาทานแล้วเป็นทุกข์ มีแต่เห็นว่าทำอย่างไรจะเกิดผลอย่างไรๆ แล้วก็ทำไปในทางนั้น แล้วเกิดผลเพิ่มขึ้นๆ เป็นการก้าวหน้าในทางธรรมะ เป็นการก้าวหน้าในทางพุทธศาสนา มันก็ใกล้พระนิพพานๆ ยิ่งขึ้นทุกทีๆ จะไปทางพระนิพพาน มันต้องไปให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท ไม่งั้นไม่ใกล้นิพพานหรอก ไปทางไหนก็ไม่รู้ คือมันมีความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาททุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลา ทุกนาที ไปเรื่อยๆ นี่ มันก็จะเป็นไปในทางใกล้พระนิพพานๆ นี่เป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องใหญ่ คือเป็นไปในทางพระนิพพาน แต่เดี๋ยวนี้ยังเป็นไปไม่ได้ ส่วนมากยังต้องอยู่ที่นี่ๆ มันควรจะอยู่กับใครนี่ ควรจะอยู่กับใคร จะอยู่กับเจ้านาย อยู่กับพ่อเม่ก็ได้ แต่มันช่วยดับทุกข์ในใจไม่ได้ จะดับทุกข์ในใจได้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอัตตถาตา หัวเราะเยาะหมด หัวเราะเยาะความเกิดแก่เจ็บตาย หัวเราะการแพ้ การชนะ การได้ การเสีย การขาดทุน กำไร แล้วก็หัวเราะเยาะได้หมด ดีใจก็ไม่มี เสียใจก็ไม่มี นี่ประเสริฐอยู่ที่ตรงนี้ ถ้ายังดีใจ เสียใจ กระหืดกระหอบอยู่ด้วยความดีใจเสียใจนั้น ไม่ดีเท่าไรหรอก สุนัขก็ทำเป็น ฉะนั้นต้องปกติๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เพราะมันเหนื่อยด้วยกันทั้งนั้นแหละ มันโกลาหลวุ่นวายด้วยกันทั้งนั้น ความนสุขก็ยุ่งไปตามแบบความสุข ความทุกข์ก็ยุ่งไปตามแบบความทุกข์ เมืองสวรรค์ก็ยุ่งไปตามแบบชาวสวรรค์ เมืองนรกก็ยุ่งไปตามแบบชาวนรก ไม่ยุ่งสิ ต้องไม่ยุ่ง ต้องเป็นไปเพื่อความถูกต้อง เป็นไปเพื่อความสงบเงียบ เป็นไปเพื่อความสงบเย็น นี่ก็เป็นปกติๆๆ คำนี้ไม่มีใครชอบ ถ้าปกติไม่มีรสชาติ สู้โลดโผน เขียวๆ แดงๆ ไม่ได้ แต่แล้วมันก็ผิดธรรมชาติ ธรรมชาติมันต้องการปกติๆ ปกติไปจนถึงปกติสูงสุดคือพระนิพพาน แต่เราไม่ชอบ เราชอบเขียวๆ แดงๆ สวยๆ งามๆ สนุกสนาน เอร็ดอร่อย นี้มันก็เดินกันคนละทาง แล้วจะมาศึกษาพุทธศาสนาทำไม ในเมื่อพระพุทธศาสนามันสอนให้ปกติ แต่เรายังต้องการให้ความยุ่งความวุ่นอยู่ ไปปรับตัวให้เข้ากับเรื่องราวเสีย ให้ชนะทุกสิ่ง ชนะคือมันทำให้เราเป็นบวกหรือเป็นลบไม่ได้ คือมันทำให้เราหัวเราะก็ไม่ได้ ทำให้เราร้องไห้ก็ไม่ได้นะ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าชนะ แต่ถ้ามันทำให้เราหัวเราะได้ มันก็จูงจมูกเราไปไหนก็ได้ อย่างนี้มันไม่ใช่ชนะ มันแแพ้ ถ้าชนะเราคงที่ ปกติคงที่ เป็นอตัมมยตา ปกติคงที่ อะไรๆ มาทำให้เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ได้ แล้วมันไม่ต้องอาศัยอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น เพราะมันมีความชนะเด็ดขาดอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องเป็นบวก ไม่ต้องเป็นลบ อยู่ที่นี่ยังไม่ไปนิพพานล่ะ แต่อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ไปก่อน คือมีนิพพุติ นิพพุติอย่างที่ว่ากันไปก่อน แล้วก็ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท มันจึงจะเย็น เย็น เย็นไปพลาง ไปศึกษาเล่าเรียนก็เย็น เป็นหนุ่มเป็นสาวก็เย็น เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็เย็น เป็นคนแก่คนเฒ่ามันก็เย็น เย็นตามความหมายแห่งพระนิพพาน ไม่ใช่หนาว ถ้าหนาวไม่ไหว ไม่เอาน่ะ ร้อนก็ไม่ไหว หนาวก็ไม่ไหว เอาเย็น ไม่หนาว ไม่ร้อน คือมันปกติๆ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งมันก็ว่าเป็นความถูกต้องๆๆ จำไว้เถิดถูกต้องน่ะดี
ไอ้ดีมันยุ่ง ไอ้ดีมันยุ่ง ไอ้ชั่วมันยุ่ง ถ้าถูกต้องๆ แล้วมันไม่ยุ่ง ถ้าดีแต่มันบ้าดี เมาดี หลงดี อวดดีๆ ถ้าบุญแต่มันบ้าบุญ เมาบุญ บ้าบุญ เมาบุญ เดี๋ยวก็ตายน่ะ ชั่วมันก็ไม่ไหวๆ มันบาปเกินไป เอาถูกต้องๆๆ ถ้าถูกต้องๆ มันต้องถูกต้องตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ แล้วเป็นอย่างไร ไอ้ชีวิตนี้มันก็ไม่กัดเจ้าของ ถ้าคุณเลี้ยงสุนัขไว้ตัวแล้วมันกัดคุณ คุณจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่คุณเคยเห็นไหมสุนัขตัวไหนกัดเจ้าของ มันยังไม่เคยมี แต่ถ้าชีวิตของคุณทำไมเลี้ยงไม่ดีจนกัดเจ้าของล่ะ ชีวิตนี้มันกัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลอนาคตกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์อดีตกัด เดี๋ยวอิจฉาริษยากัด เดี๋ยวความหวงกัด เดี๋ยวความหึงกัด จนฆ่ากันตายทั้งคู่ นี่ชีวิตมันกัดเจ้าของ มันน่าละอาย มันน่าฆ่า เพราะมันเลวกว่าสุนัข สุนัขมันไม่เคยกัดเจ้าของ ชีวิตที่ไม่มีธรรมะมันกัดเจ้าของ ชีวิตไม่ถูกต้องตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มันยิ่งกัดเจ้าของ มันยิ่งเกิดกิเลสมากๆ เกิดกิเลสแล้วมันสะสมอนุสัยไว้ในสันดานมากๆๆ แล้วมันก็ออกมาเป็นอาสวะ เป็นความทุกข์ทุกอย่างทุกชนิดมาก มันกัดเจ้าของมันอย่างนั้น มีสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ให้เกิดความผิดพลาด ให้มันมีแต่ความถูกต้องๆๆ เพราะว่าถูกต้องนี้มันไม่เป็นบวก มันไม่เป็นลบ อย่าไปพูดผิดๆ ว่าไอ้ความเป็นบวกนั้นคือถูกต้อง เป็นบวกถูกต้อง มันไม่เป็นบวก มันไม่เป็นลบ มันไม่เป็นดี มันไม่เป็นชั่ว นั่นคือเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตา สายแห่งอิทัปปัจจยตาไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีบวกไม่มีลบ ไม่มีอะไรทำนองนั้น มันเป็นตามธรรมชาติอย่างนั้นเอง ก็ไม่ต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับบวกกับลบ จะแพ้จะชนะ จะกำไรจะขาดทุน จะได้เปรียบจะเสียเปรียบ แบบนี้มันไม่มี มันก็อยู่กันด้วยความถูกต้องๆ เป็นปกติๆ มันก็เป็นสันติสุขของแต่ละบุคคล มันก็เป็นสันติภาพของสังคม หรือของส่วนรวม หรือของโลก เรื่องปฏิจจสมุปบาทช่วยได้มาก ช่วยได้ยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างควบคุมชีวิตให้เป็นไปได้ตามนั้นแล้ว มันจึงมีสันติสุขส่วนบุคคลในความหมายแห่งนิพพานมากที่สุด แล้วก็จะมีสันติภาพของสังคม ของหมู่ ของคณะ ของประเทศ หรือทั้งโลกเลย มันจะมีสันติภาพ เพราะว่ามันมีความถูกต้องๆๆ ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่หน้า ไม่หลัง ไม่อะไรไปหมด มันมีแต่ความถูกต้องๆ แล้วมันก็เกิดความพอดี ถูกต้องและพอดีนี่เรียกว่าสัมมาๆๆ สัมมาทิฏฐิ สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว คำว่าสัมมาๆ นี้มันแปลว่าถูกต้องๆ มันไม่เป็นบวก มันไม่เป็นลบหรอก ถ้าบอกว่ามันเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วมันมีแต่ความถูกต้องๆๆ ถูกต้องโดยส่วนเหตุ ถูกต้องโดยส่วนเหตุพอแล้ว ไม่เท่าไรมันก็ถูกต้องโดยส่วนผล มันก็เกิดมาเติมมาอีกสองอย่างคือ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ เป็นสัมมัตตะ ๑๐ โดยเหตุเป็นเพียงอริยมรรคมีองค์ ๘ มันมีเพียง ๘ อย่างที่ท่านรู้ แต่พอท่านปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาได้แล้ว มันก็มีส่วนผลอีกสอง คือ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ แล้วมันก็จบกันเท่านั้นแหละ ทำถูกต้อง ๑๐ ประการนั้นแหละคือตัวพระพุทธศาสนา แต่แล้วมันเป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น เหมือนกับเอาเปรียบในการพูดจา แต่มันเป็นอย่างนั้น มันจะมีความถูกต้อง ก็ถูกต้องโดยกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีความรู้เรื่องกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทแล้วมันถูกต้องไม่ได้ สัมมา สัมมานี้สำคัญมาก คำนี้ช่วยจำไว้ให้ดีๆ ทำอะไรๆ ให้เป็นสัมมา ถ้าไม่เป็นสัมมา มันเป็นไปเพื่อตัวกู เพื่อของกู เพื่อความทุกข์ ถ้าทำเป็นสัมมาๆ แล้วมันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน
ท่านแจงไว้ชัดละเอียดว่า วิเวกะนิฏฐิตัง วิราคะนิฏฐิตัง นิโรธะนิฏฐิตัง โวสสัคคะปะรินามิง มันอาศัยวิเวก คือปลีกตัวออกมาจากความยุ่งเหยิง วิราคะ คลายกำหนัดในสิ่งที่กำหนัดอยู่แล้ว นิโรธะ ดับเสียซึ่งตัณหาอุปาทาน โวสสัคคะปะรินามิง มันน้อมไปเพื่อพระนิพพาน ถ้าประกอบด้วยองค์ ๔ นี้เรียกว่าสัมมาๆ ทำบุญให้ทาน ถ้าไม่ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ มันไม่เป็นไปเพื่อนิพพานน่ะ มันเป็นไปเพื่อสวรรค์วิมานอย่างดีที่สุด แต่ถ้ามันประกอบด้วยวิเวก ด้วยวิราคะ ด้วยนิโรธะ ด้วยโวสสัคคะแล้วก็ เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นธรรมะทั้งหลายทั้งปวงกี่ร้อยกี่อย่างก็ตาม ถ้ายังไม่ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ มันไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ เพื่อวิเวก เพื่อวิเวก เพื่อวิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะแล้ว มันไม่เป็นสัมมาๆ ไม่เป็นสัมมาก็ไม่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน อย่างคนให้ทานอย่างนี้ มันให้ทานตกเบ็ดเขา เอาประโยชน์ เอากำไรเหนือเขาอย่างนี้ ให้ทานอย่างนี้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะมันไม่มีความหมายแห่งสัมมา มีความหมายแห่งสัมมา จำไว้ให้ดีๆ ทำอะไรให้มันเป็นไปเพื่อวิเวก ออกมาเสียจากความยุ่งเหยิง วิราคะ ไม่กำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี นิโรธะ ดับเสียซึ่งตัวกูหรืออุปาทาน โวสสัคคะปะรินามิง น้อมไปเพื่อสละลงๆ ธรรมะที่ไม่ประกอบด้วยองค์ ๔ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ธรรมะที่ประกอบด้วยองค์ ๔ จะเป็นไปเพื่อนิพพาน นี่คือกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท ขอให้ท่านทั้งหลายถือเอาประโยชน์จากความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ได้ แล้วก็จะต้องปฏิบัติให้มันได้โดยมีสติปัญญาสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นเรื่องของอานาปานสติ ดังนั้นท่านจงควรขวนขวายปฏิบัติอานาปานสติให้เต็มที่อีกส่วนหนึ่งด้วย แล้วความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทของท่านจะไม่เป็นหมันเปล่า จะนำไปสู่ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งบรรลุพระนิพพาน นี่คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องของสิ่งทั้งปวงไม่ยกเว้นอะไร มีชิวิตจิตใจ ไม่มีชีวิตจิตใจ รู้สึกหรือไม่รู้สึกตัว ทั้งหมดไม่ยกเว้นอะไร มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท วันนี้เราก็เรียนเรื่องสิ่งทั้งปวงอีกเหมือนกัน ในฐานะที่เป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ดีชั่วบุญบาปสุขทุกข์เหล่านี้เป็นไปตามกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ ระงับเสียได้มันก็เป็นกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ก็มี ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ก็มี เป็นปฏิจจนิโรธๆ อาศัยกันแล้วดับ ถ้าเป็นปฏิจจสมุปบาทอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นๆ ถ้าเป็นปฏิจจนิโรธ อาศัยกันแล้วดับๆๆๆ สิ่งที่ควรดับ คือความทุกข์ นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทมีใจความโดยย่อ โดยเท้าเงื่อนเป็นอย่างนี้ หวังว่าคงจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการศึกษาของท่านทั้งหลาย แล้วให้ดำเนินไปโดยลำดับๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง สมควรแก่เวลาแล้ว ขอขอบคุณทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังด้วยดี ด้วยความอดกลั้นอดทน สองชั่วโมงแล้ว ขอให้ความประสงค์มุ่งหมายในการมาศึกษาธรรมะนี้ประสบความสำเร็จด้วยกัน จงทุกท่านทุกคนเทอญ ขอยุติการบรรยาย