แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันนี้เราจะพูดกันโดยหัวข้อว่า “คุณของพระธรรม” เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมมาพอสมควร วันนี้ก็จะพิจารณากันเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “คุณ” ถ้าจะเรียกให้เต็มที่ จะต้องเรียกว่า “พระคุณ” จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาไทยกันบ้าง เรามีคำว่า “พระ” ใช้ ในเมื่อพวกอื่นเขาไม่มีใช้ ธรรมะเฉยๆ หรือคุณเฉยๆ นี่ภาษาฝรั่งแทบจะไม่มีคำพูดชนิดนี้ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เฉยๆ ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “พระ” ทำไมมันจึงเกิดขึ้นมาในภาษาไทย นิยมใช้ในภาษาไทย นี้ก็จะลองทำความเข้าใจกันแม้กับพวกชาวต่างประเทศ สิ่งที่เติมคำว่า “พระ” เข้ามานี้ ก็หมายความว่าประเสริฐ หรือวิเศษ หรือสูงสุดกว่าธรรมดา ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเรารู้จักคุณค่า หรือความประเสริฐของสิ่งเหล่านั้น ที่พูดออกมาด้วยความรู้สึกนั้นนี่ก็อย่างหนึ่ง หรือว่าเราตั้งใจจะสอนลูกเด็กๆ ที่มันยังไม่รู้เรื่องนี้ ให้มันสนใจ ให้ความสนใจ ให้ความเคารพเป็นพิเศษ ด้วยคำว่า “พระ” และต่อไปมันก็จะรู้จักเต็มที่เหมือนกับที่เรารู้จัก ความหมายข้อนี้ก็เพื่อต้องการให้จริงจัง ให้เกิดความจริงจัง เพราะมีความถือ ยึดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องการความจงรักภักดี ความเชื่อหรือความเคารพให้ถึงที่ ก็รักษาความหมายของคำว่า “พระ” นี้เอาไว้ เราจะพูดว่าพระคุณของพระธรรมนี้มันก็แปลก แปลกที่จะพูดว่าคุณของธรรม คุณของธรรม ถ้าพูดกันอย่างภาษาวิทยาศาสตร์หรือวิชาธรรมดาสามัญทั่วไป มันก็ไม่เอาคำอย่างนี้ เอาแต่คำว่าธรรม เช่นเดียวกับถ้าเราจะพูดอย่างวิทยาศาสตร์ ธรรม ธรรม ก็พูดว่าธรรม ธรรมคือตัวธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ให้รู้ว่าธรรมคือตัวกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้นๆ และธรรมก็คือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎนั้นๆ และธรรมก็คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยสรุปสั้นๆ ก็ว่า ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่จะได้เกิดจากหน้าที่ นี่พูดอย่างนี้มันก็เป็นภาษาธรรมดา ไม่เกี่ยวกับศาสนาคือมีลักษณะเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องการวี่แววร่องรอยแห่งความเคารพศรัทธา หรืออะไรกัน มันก็ได้เหมือนกัน ถ้าเราจะพูดกันอย่างภาษาวิทยาศาสตร์ ก็ไม่เติมคำว่า “พระ” ด้วย แต่เดี๋ยวนี้เราจัดรูป เป็นรูปของสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิเศษสูงสุดคือศาสนา หรือภาษาของศาสนา เราจึงเติมคำว่า “พระ” เข้าไปให้ทุกที่ในที่จะพูดได้หรือยกย่องได้ เกิดเป็นพระธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อะไรขึ้นมา แม้แต่ “คุณ” ก็ยังเรียกว่า “พระคุณ” เราก็จะดูกันถึงพระคุณของพระธรรม ถ้าพูดอย่างธรรมดาก็คุณของธรรม แล้วแต่จะพูด ถ้าหัวใจมันรู้จักสิ่งนั้นตามที่เป็นจริง มันก็ใช้ได้ แต่ถ้าให้เป็นเรื่องจริงจังก็ใช้ภาษาพูดในระบบของพระศาสนานี่ดีกว่า มีผลพิเศษโดยเติมคำว่า “พระ” เข้าไป คำว่า “พระ” นี้แปลว่า มาจากคำว่า “วร” วร พระ แปลว่าประเสริฐ แม้ในภาษาอินเดีย ที่ชาวอินเดียเขาใช้อยู่ ก็ไม่สังเกตเห็นเขามีคำว่า “พระ” พระอย่างนี้ใช้นำหน้า ก็มักจะออกชื่อตรงๆ มา คล้ายๆ กับเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ เอาล่ะ ตามใจใครเขาจะใช้ภาษาระบบไหน เราใช้ระบบพระศาสนาคือประเสริฐ จะเติมคำว่า “พระ” เข้าไปในที่ทุกแห่งที่มันประเสริฐกว่าธรรมดา ในที่สุดแต่คุณของพ่อแม่ เราก็ยังมีคำว่า “พระคุณ” ของบิดา มารดา พระคุณของพระบิดา พระมารดาด้วยซ้ำไป ทำอย่างนี้ก็ลูกเด็กๆ ได้รับผลมากกว่า เดี๋ยวนี้ถ้ายังไม่รู้อะไรถึงที่สุด มันก็ยังเป็นเด็กๆ ในเรื่องนั้นด้วยกันทั้งนั้น เรื่องของพระศาสนามันก็เด็กๆ กันไปก่อน ก่อนจะถึงจุดสุดท้าย หลุดพ้นไปแล้ว หากพระคุณของพระธรรมมีความประเสริฐ ทั้งในคุณ ตัวคุณ และตัวพระธรรมมาจากพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติกันมากมายก็เป็นพระสงฆ์ พวกนักวิทยาศาสตร์หรือนักประวัติศาสตร์เขาก็เรียกพระพุทธเจ้าว่า บุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เท่านั้น เขาไม่ได้ให้ความหมายอะไรมากไปกว่านั้น บุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็รู้วิชาความรู้ชนิดที่จะจะแก้ปัญหาได้ คือคำสั่งสอนของบุคคลนั้น ตามใจก็จะพูดกันเพียง บางทีก็พูดกันกับพวกฝรั่งมันก็พูดกันได้เพียงเท่านี้ จะใส่คำว่า “พระ” ตรงไหนมันก็ฟังไม่ถูก ทีนี้เพื่อให้จะได้รับผลดีชั้นสูง ก็เติมคำว่า “พระ” เข้าไป กระทั่งสูงสุดก็คือพระนิพพาน ทีนี้จะเติมคำให้แทรกเข้าไปก็เป็น “พระ” และ “บรม” หรือ “มหา” อะไรเข้าไป หน้าคำเหล่านั้น สมกับความรู้สึกที่พอใจสูงสุด และทีนี้เราก็มาถึงคำว่า “พระธรรม” เพื่อให้มันจำง่ายครบถ้วน ลึกซึ้งในลักษณะวิทยาศาสตร์ ก็ใช้ความหมาย ๔ คำนั้นดีแล้ว เป็นตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ธรรมชาติในภาษาบาลี ก็เรียกว่า “ธรรม” เฉยๆ ธรรมะเฉยๆ แต่มันหมายถึงธรรมชาติ สิ่งทั้งปวงมีอยู่ตามธรรมชาติ มันก็เรียก “ธรรมชาติให้เกิดธรรม” นี้ กฎที่สูงสุดที่เฉียบขาดที่จริงจัง มีประจำอยู่ในตัวธรรมชาติ มันก็เรียกว่า “พระธรรม” หน้าที่ที่ในทางปฏิบัติเรียกว่า “พระธรรม” ผลที่ได้รับก็เรียกว่า “พระธรรม” และก็ดูเอาเองใน ๔ ความหมาย นี่ความหมายไหนสำคัญที่สุด มันก็มีความสำคัญด้วยกัน แต่ก็มีที่สำคัญที่สุด มันก็พบว่าความหมายที่ ๓ ตัวธรรมชาติก็ควรรู้ ก็กฎของธรรมชาติก็ควรรู้ แต่ว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี่ มันต้องรู้ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน มิฉะนั้น มันก็หมายถึงความตาย หรือมีความทุกข์ลำบากเจียนตาย หรือไม่มีประโยชน์อะไร ธรรม ธรรมะโดยทั่วไป หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ การทำหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่คือ ธรรม พระธรรม ธรรมะ ในความหมายที่ต้องถือไว้เป็นหลักที่สำคัญ มันจะมาก็บอกอย่างนี้มานานแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ยังฟังไม่ค่อยถูก ธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่คือธรรมะ อย่าเอาไปเก็บเสียไกลจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หรือคืออะไร ถ้ามันมาอยู่เป็นประจำวันในการกระทำของคนเรา คำว่าหน้าที่นั้นมันตายตัว ไม่ทำมันก็มีผลของการไม่ทำเกิดขึ้นมาเป็นความทุกข์ ความลำบาก หรือว่าเป็นความตายเลย นี้ทำอยู่โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ โดยเราไม่มีเจตนามันก็มีอยู่ แต่มันไม่พอจึงต้องทำโดยเจตนาอีกส่วนหนึ่ง ร่างกายนี้ทำหน้าที่อยู่หลายอย่างตามธรรมชาติ เช่นการหายใจ การไหลเวียนของโลหิต มันธรรมชาติมันก็ทำ มันก็มีประโยชน์มาก มันไม่ทำเมื่อไร มันก็ตายเมื่อนั้น นึกเพียงเท่านี้มันไม่พอ ก็จะมีหน้าที่ที่ชัดเจนสูงขึ้นมา เพื่อให้ได้รับผลดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับเนี่ย ข้อนี้จะต้องสนใจ หมายความว่าเพียงจะไม่ตายนี่มันจะไม่พอ เพราะธรรมชาติมันก็พอจะช่วยได้ สำหรับไม่ตายจะไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด จึงต้องมีการศึกษา มีการปฏิบัติให้ถูกต้องให้เกิดมีธรรมะชนิดนี้ขึ้นมา แล้วก็ใช้ธรรมะที่มีขึ้นมานี้ให้เป็นประโยชน์ นี้จึงไปรวมอยู่ที่การศึกษาให้รู้เป็นหน้าที่ การปฏิบัติ ตามที่รู้อย่างถูกต้องพอดีมันก็เป็นหน้าที่ แล้วก็มีธรรมะเป็นประจำอยู่ในเนื้อในตัวในตน มันก็เป็นหน้าที่แล้วก็ใช้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับว่าเราจะต้องมีเงินในฝ่ายโลภ ฝ่ายโลกียะฝ่ายเดียว ต้องมีความรู้ที่จะหาเงินอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น แล้วก็ได้เงินมา แล้วก็มีเงินนั้นอยู่ แล้วก็ใช้เงินนั้นตามที่ต้องการที่ถูกที่ควร นี่เรื่องโลกๆ ไอ้เงินมันก็เป็นสรณะ หรือเป็นที่น่าพอใจ แต่ถ้าทางฝ่ายจิตที่ลึกซื้งนี้มันอีกเรื่องหนึ่ง เท่านั้นมันไม่พอ มันต้องมีธรรมะที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เงินมันช่วยไม่ได้ ในชีวิตของมนุษย์นี้มันมีปัญหามากมายชนิดที่เงินก็ช่วยไม่ได้ เพื่อนก็ช่วยไม่ได้ อำนาจ วาสนา บารมีก็ยังช่วยไม่ได้ ต้องมีสิ่งนั้นคือธรรมะ ธรรมะก็จะช่วยได้ จึงมีพระคุณสูงสุด นี่พระคุณของธรรมะ มันอยู่ที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายมาที่นี่ ก็เรียกกันว่ามาศึกษาธรรมะ ฝึกฝนการปฏิบัติธรรมะ แล้วก็ถ้ายิ่งไปกว่านั้นอีก ฝึกฝนการมีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว ไอ้ที่ฝรั่งเรียกว่า retreat retreat นั้นน่ะมันไม่ได้หมายถึงการเรียน หรือการปฏิบัติโดยตรง แต่มันหมายถึงการมาอยู่กับธรรมะในพุทธศาสนาเราก็เรียกกัน ศาสนาอื่นจะเรียกว่าพระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม ระยะเวลาที่เก็บตัวอยู่กับพระธรรมหรือพระเป็นเจ้า ได้รับความสุข ประเสริฐสูงสุด นั้นแหล่ะมันเรียกว่า retreat ล่ะ ทีนี้ก็พลอยเรียกว่า retreat ไปด้วยเมื่อพูดกับฝรั่ง นั้นเราก็เอาแต่ความหมาย เอาแต่ความหมายถูกต้อง มาอยู่ในลักษณะหรือภาวะที่สะอาด สว่าง สงบ บริสุทธิ์ ดุจเย็น เย็นหมายถึงความเย็น ก็คือนั่นมันหมายถึงผลแล้ว หมายถึงผล คนจะมีได้อย่างไรถ้าไม่มีหน้าที่ นั้นมันจึงต้องสังเกตหรือจัดการกันไปตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่คือการปฏิบัติธรรม ธรรมชาติ ธรรมชาติทั่วๆ ไปก็เรียกว่า “สภาวธรรม” จำให้ดีๆ ก็ใช้กันผิดๆ สภาวะก็แปลว่า เป็นเอง มีเอง เป็นอยู่เอง เรียกว่า “สภาวธรรม” คือธรรมชาติทั้งหลาย จะเป็นรูปหรือเป็นนาม หรือจะไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม ก็สุดแท้ มันมีสภาวธรรม คือธรรมชาติอยู่ งั้นในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านั้นมีกฎเกณฑ์ อยู่ในนั้นน่ะ มีอยู่ในตัว กฎของธรรมชาตินี่เราเรียกว่า “สัจธรรม” สัจจะ สัจจะ คือความจริงในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ ก็มีสัจธรรมอยู่ในตัวกฏของธรรมชาติ นี้สัจธรรมมันก็มีอำนาจที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและก็มีหน้าที่ หน้าที่ที่เกิดขึ้น หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติมันก็เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” (อ่านว่า ปะ-ติ-บัด-ติ-ทำ) ปฏิบัติธรรม และจะเรียกโดยหลักของภาษาไทยหรือของภาษาบาลี จะเรียกเป็นภาษาบาลีก็ว่า “ปฏิบัติธรรม” การปฏิบัติแล้วมันก็หมายถึงอันดับสุดท้าย คือผลของการปฏิบัติ ก็เรียกเป็นบาลีว่า “ปฏิเวธธรรม” (อ่านว่า ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ) เวธ (อ่านว่า เว-ทะ) คำนี้แปลว่า แทง แทงทะลุ ปฏิเวธธรรมก็คือว่า จิตที่รู้ถึงผลของการปฏิบัติ ฟังดูแล้วว่าน่ากลัว แทงตลอด คือแทงทะลุ จะโดยเนื้อแท้ก็คือว่าได้ชิมรส ได้ดื่ม ที่พวกฝรั่งเรียกกันว่า experience experience อันนั้นน่ะคือ ปฏิเวธ ปฏิเวธ มันต้องแทงตลอดสิ่งนั้นไป เราจึงมีปฏิเวธธรรม นี่พระธรรมอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ข้อ ๑ เป็นสภาวธรรม ข้อ ๒ เป็นสัจธรรม ข้อ ๓ เป็นปฏิบัติธรรม ข้อ ๔ เป็นปฏิเวธธรรม ครบบริบูรณ์คือพระธรรมหมด จะไปสูงสุดอยู่ที่บรมธรรม คือพระนิพพาน พระนิพพานคือบรมธรรม คือปฏิเวธชั้นสูงสุด ดับทุกข์สิ้นเชิงอย่างไร ทั้งหมดนี่มีคุณทั้งนั้นล่ะ คำว่า “คุณ” นี้ก็เหมือนกัน ภาษาบาลีแท้ๆ คือภาษาอินเดียแท้ๆ มันเป็นกลางๆ มันไม่ได้มองไปในแง่ดีหรือว่าแง่ร้าย เพียงแต่ว่ามันเป็นคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในนั้น เช่น ยาพิษนี้มันก็มีคุณที่ทำลายชีวิต ยาธรรมดามันก็มีคุณในการที่จะรักษาโรค อุจจาระมันก็มีคุณสำหรับสัตว์ที่กินอุจจาระ หรือว่ามันจะมีคุณในการที่จะทำให้แผ่นดินดีเหมาะสำหรับปลูกต้นไม้ก็ได้ คำว่า “คุณ” จึงมีความหมายได้ทั้งทางบวกและทางลบ เป็นสิ่งที่จะมีในทุกสิ่ง ไม่มีอะไรที่ไม่มีคุณ ความชั่วมันก็มีคุณค่าสำหรับเป็นความชั่ว เป็นความวินาศ ความดีมันก็มีคุณสำหรับที่จะเป็นความสงบสุข ภาษาเดิมๆ คือภาษาอินเดียมันเป็นอย่างนี้ พอมาสู่ภาษาไทย ก็เอาแต่เฉพาะในแง่ดี มาเติมคำว่า “พระ” เข้าไปอีก ก็ชั่วไม่ได้ พระคุณ พระคุณของพระธรรม แต่คำเดิมหมายถึง คุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ ญี่ปุ่นก็มีค่าไปตามแบบญี่ปุ่น พระนิพพานก็มีคุณค่าไปตามแบบของพระนิพพาน มันไม่มีอะไรที่มันจะไม่มีคุณในตัวของมัน ทีนี้เรามายึดติดกันในเรื่องทางศาสนาเอาแต่ในส่วนดีคือ กำจัดความทุกข์ได้ เรียกว่าพระคุณ พระคุณของพระธรรม ก็สามารถกำจัดทุกข์ได้ พระธรรม ธรรมในที่นี้ก็หมายถึงในฝ่ายที่ถูกต้องหรือฝ่ายดี จึงจะเรียกว่า “พระคุณ” แต่ถ้าหมายทั้งหมดทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งอะไร ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เรียกว่า “คุณ” เฉยๆ คุณเฉยๆ ก็ได้ พระธรรมที่ไม่ใช่ธรรม ธรรมที่เป็นอธรรมก็เรียกว่า “ธรรม” เป็นอกุศลธรรม มันก็มีคุณไปตามแบบของอกุศลธรรม ดังนั้นเป็นอันตกลงกันว่า เมื่อพูดถึง “พระคุณของพระธรรม” ก็เล็งถึงฝ่ายดีฝ่ายดับทุกข์ได้ หรือจะเลย เลยไปกว่านั้นอีก มันก็เนื้อดี เนื้อดี คนดีมันก็ยิ่งเป็นคุณอันสูงสุดจนแตะต้องไม่ถึง มันก็เรียกว่า "พระคุณพิเศษ" เดี๋ยวนี้พระคุณตามธรรมดาก็เอาว่าเป็นดับทุกข์ได้ นี่ขอให้ใช้ในทุกกรณี นับตั้งแต่ว่าต้องเรียน ต้องปฏิบัติ ต้องทำทุกขั้นตอน ลูกเด็กๆ ของเราจะต้องมีธรรมะ หรือมีพระธรรมใช้ นับตั้งแต่ว่า มันคลอดออกมาแล้วเป็นเด็ก จึงต้องมีธรรมะสำหรับเด็กๆ เด็กทารก พอมันเรียนหนังสือมันก็ต้องมีธรรมะสำหรับให้เรียนหนังสือดี พอเรียนธรรมะเสร็จมันจะต้องปฏิบัติหน้าที่การงานหรืออาชีพ มันก็ต้องมีธรรมะช่วยให้ปฏิบัติได้ดีมีความสุข ดังนั้น ถ้าได้ผลของการปฏิบัติแล้วก็เป็นธรรมะ กิจมันแค่นี้ สูงขึ้นไปอีก นี้มันก็จะต้องรู้จัก อะไร รักษาหรือถนอม หรือว่ามีธรรมะประจำอยู่ตลอดไป ปัญหามันก็หมด สามารถที่จะเอาธรรมะหรือพระธรรมมาใช้ แม้ในเรื่องของโลกๆ เรื่องของโลกๆ มีธรรมะเมื่อเกิดมาเป็นเด็ก มีธรรมะเมื่อศึกษาเล่าเรียน มีธรรมะเมื่อทำหน้าที่การงาน มีธรรมะเมื่อมีผลของการงานมาเก็บมารักษาไว้ มาใช้จนตลอดชีวิต ก็เรียกว่าเกี่ยวกับธรรมะตลอดเวลา จึงขอยุติคำๆ นี้ว่าธรรมะ มีความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ หน้าที่ ความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ ความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ตามกฎนั้น ความหมายที่ ๔ คือผลจากหน้าที่ ไอ้หน้าที่นี้มันสำคัญ ถ้าไม่มีหน้าที่มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา เรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องมันคือหน้าที่แล้วผลมันก็เกิดขึ้นมา เป็นอันว่าจะต้องศึกษาธรรมะ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะ และก็จะมีธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ มันก็มีชีวิตอยู่กับธรรมะนั้นตลอดเวลา ถ้าขึ้นมาถึงขั้นนี้คือมีชีวิตอยู่กับธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิตมันก็ใช้ได้ รับประกันได้แน่นอน ภาษาไทยเรียกว่า “หน้าที่” หน้าที่ แต่ภาษาบาลีเรียกว่า “ธรรมะ” ธรรมะมันเป็นสิ่งเดียวกับหน้าที่ก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอด ธรรมะก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอด คำนี้ธรรมะ ธรรมะนี้มันแปลว่า ทรงไว้ ยกขึ้นไว้ ไม่ให้พลัดตกลงไป ธร นี่แปลว่า ทรงไว้ คำว่า “ธรรมะ” นั้นมาจากคำว่า “ธร” รากศัพท์ว่า ธร ก็ทรงไว้ ก็มันก็ทรงผู้มีธรรมะไว้ไม่ให้พลัดตกลงไป ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ๆ ก็เป็นอย่างนั้น หน้าที่ทั้งหลายมันทรงผู้ปฏิบัติหน้าที่ไว้ไม่ให้พลัดตกลงไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก เราก็มีธรรมะในนามของภาษาไทยว่ามีหน้าที่ หน้าที่ ให้ครบถ้วนให้สมบูรณ์เอามาศึกษาธรรมะ อาตมาก็มาพิจารณาดูแล้ว ว่าเรื่องที่เหมาะสมที่สุดที่จะศึกษาในแง่ของการศึกษา ก็คือเรื่องดับทุกข์ จะดับทุกข์ได้มันก็ต้องรู้การเกิดทุกข์ด้วย เพราะมันจึงจะรู้เหตุแห่งการเกิดทุกข์มันจึงจะดับทุกข์ได้ แล้วก็ศึกษาธรรมะในเรื่องเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ สรุปสูงสุดอยู่ที่เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเรียกสั้นๆ หน่อยก็เรียกว่าเรื่องอริยสัจ เรื่องอริยสัจมีเพียง ๔ ข้อ แต่ว่า ๔ ข้อนั้นก็ขยายออกไปให้เต็มก็จะกลายเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ข้อ ก็เรียกว่าเรื่องดับทุกข์ ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นหลักวิชา ว่าทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไรให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เอ้าทีนี้มันทำไม่ได้ แม้จะรู้แจ่มแจ้งว่าเป็นอย่างนั้นๆ ยังทำไม่ได้ จึงต้องปฏิบัติอีกทีหนึ่ง ก็มีธรรมะในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ นี้เราก็ยึดเอาหรือถือเอาเป็นหลัก ที่อานาปานสติ อานาปานสติ ในที่อื่นอาจจะเรียกว่า “สติปัฏฐาน” สติปัฏฐาน มันเรื่องเดียวกันนั่นแหล่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่ออานาปานสติ ๔ สมบูรณ์แล้วสติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ ถ้าเข้าใจก็เห็นได้เองไม่ต้องมีใครบอก เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรมนั้นเหมือนๆ กัน จะว่ามีพระสูตรที่ชัดเจนให้ปฏิบัติอย่างไรเรียกว่า “อานาปานสติสูตร” ที่เอามาใช้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติ ถ้าจะใช้คำว่า “สติปัฏฐาน ๔” หรือ “มหาสติปัฏฐาน ๔” แต่มันมากเหลือเกิน ถ้าเพียงจะจำก็ไม่ไหว ถ้าพูดถึงเรื่องปฏิบัตินั้นน่ะเอาใจความหรือหัวใจของมหาสติปัฏฐานสูตร มาทำเป็นเรื่องหลักปฏิบัติ ๔ เรื่อง เรื่องอานาปานสติ เมื่อปฏิบัติอานาปานสติได้ มันก็มีธรรมะที่อาจจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดับทุกข์ และสามารถปฏิบัติไปได้ตามกฎเกณฑ์ของเรื่องปฏิจจสมุปบาท ช่วยฟังให้ดีว่าปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จแล้วจะมีธรรมะ เกิดขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติ ทำปฏิจจสมุปบาทได้ถูกต้อง ก็คือดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้หมดจดสิ้นเชิง ดังนั้น จึงเห็นว่าปฏิจจสมุปบาทก็เป็นพระธรรมในส่วนวิชาการ อานาปานสติก็เป็นพระธรรมในส่วนปฏิบัติ ในส่วนของการปฏิบัติ มันก็ครบคือรู้วิชา รู้ปฏิบัติธรรม มันมีทั้งวิชาและทั้งปฏิบัติ เหมือนบทพระพุทธคุณที่ว่า วิชชาจรณสัมปันโน วิชชาคือความรู้ จรณะคือการประพฤติหรือการปฏิบัติ สัมปันโนคือสมบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสูงสุดในเรื่องนั้น ไอ้เราลูกศิษย์ก็ต้องทำตามนั้น ถ้าไม่มีวิชชาเพียงพอ ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เอ้าเดี๋ยวนี้ก็เป็นอันว่ท่านต้องได้รับคำสั่งสอนแนะนำเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาพอสมควร และท่านก็ได้ปฏิบัติหลุดพ้นส่วนอานาปานสติมาพอสมควรแล้ว ถ้ามันไม่มีความผิดพลาดเหลวไหลใดๆ มันก็จะทำให้ ๒ สิ่งนี้พอสมควร มีความรู้พอสมควร มีการปฏิบัติพอสมควร หรือถ้าเต็มเปี่ยมก็ยิ่งดี มันก็เกิดความสำเร็จ คือมีพระธรรมทั้งในส่วนความรู้ และทั้งในส่วนการปฏิบัติขึ้นมาแล้ว มันก็ทำในส่วนปฏิเวธคือผลของการปฏิบัติก็ไม่ไปไหนเสีย เพราะมันมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ทีนี้เราก็มาดูกันอีกที เพื่อความแน่ใจหรือชัดเจน หรือแจ่มแจ้ง คือการพิจารณาดูสิ่งที่ได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติแล้ว ได้รับผลแล้วว่ามันเป็นอย่างไร ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนั้นก็ยืดยาว แต่ว่าสรุปความแล้วก็ว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเกิดมาจากอวิชชา อวิชชาความไม่รู้เรื่องของธรรมชาติ ทำให้เกิดความโง่ ความอยากไปในทางที่เป็นเรื่องของอวิชชา ก็เลยได้ความทุกข์มา ทีนี้เราก็มาปฏิบัติอานาปานสติ เพื่อจะแก้ปัญหานั้น เพื่อจะดับทุกข์อย่างนั้น มันก็ปฏิบัติครบทั้งสี่ ๔ หมวด หมวดที่ ๑ เรียกว่า หมวดกายา ประสบความสำเร็จในการรู้ รู้แจ้งและควบคุมกาย คำว่า “กาย” กายนั้น ภาษาบาลีแท้ๆ มันแปลว่า หมู่ ไม่ได้แปลว่าร่างกาย ร่างกายมีคำอื่นเรียก เรียกด้วยคำอื่น คำว่า “กาย” นี้แปลว่า หมู่ แต่ที่ร่างกายของคนๆ หนึ่งก็ ก็มันมีความเป็นหมู่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ คือดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณหรืออะไรๆ ทุกอย่างมารวมกัน ก็เป็นอัตภาพเป็นร่างกายนี้ ก็เรียกว่า “กาย” ความหมายก็แปลว่า เป็นหมู่ กายในที่นี้แยกเป็นว่า เป็นกายเนื้อคือตัวร่างกาย กายลมคือลมหายใจก็อยู่ในพวกที่เป็นหมู่มารวมกันเข้า ก็เป็นหมู่เป็นกายเนื้อ เป็นกายลม รู้จักมันอย่างชัดแจ้ง อย่างที่ภาษาเด็กๆ เค้าจะพูดว่า รู้จักกำพืดของมันทีเดียว กายเนื้อหนังเป็นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร สัมพันธ์กันอยู่อย่างไร แล้วกายไหนส่งเสริมกายไหน นี้ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อตามที่ตัวเห็นหรือรู้จักอยู่ กายลมมันส่งเสริมกายเนื้อ ไม่มีกายลมกายเนื้อมันก็อยู่ไม่ได้ ถ้ากายลมถูกต้องกายเนื้อมันก็ถูกต้อง กายลมหยาบกายเนื้อมันก็หยาบ กายลมละเอียดกายเนื้อมันก็ละเอียด ถ้ากายลมสงบระงับกายเนื้อมันก็สงบระงับ มันเนื่องกันอยู่อย่างที่ตายตัว ทีนี้เราจะบังคับกายเนื้อโดยตรงมันทำไม่ได้ แต่เราบังคับกายลมได้ตามที่เราต้องการ เราต้องมาจัดการกับกายลมคือลมหายใจ จัดไปตามที่เราต้องการ เมื่อเราทำความสงบให้แก่กายลมได้ กายเนื้อมันก็สงบไปด้วย ทำความสดชื่น เข้มแข็งให้แก่กายลมได้ ไอ้กายเนื้อมันก็พลอยมีกำลัง มีความสดชื่น เข้มแข็งด้วย นี้มันก็หมดปัญหาไปได้ รู้จักกายก็บังคับกาย แล้วก็ใช้มันได้ตามที่เราต้องการ นี่ประโยชน์ของอานาปานสติ ข้อที่ ๑ เรารู้จักกาย จนกระทั่งเป็นนายเหนือกาย ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “กาย” ไม่ทำให้เป็นปัญหาอะไรแก่เราอีกต่อไป เราจะสามารถใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุดตามที่มันจะเป็นให้ได้ แต่เราชอบพูดในลักษณะที่เรียกว่าเดี๋ยวนี้เราควบคุมได้หรือเราชนะที่เราเป็นนายนั้น ที่เราชนะกายเนื้อ เป็นนายของกายเนื้อ โดยทางกายลมหรือเป็นทั้ง ๒ อย่างก็แล้วกัน เรียกว่าชนะกาย สามารถทำประโยชน์ได้ถึงที่สุดในเรื่องที่เกี่ยวกับกาย นี่พระคุณของพระธรรม โดยธรรมชาติมันก็มีคุณค่า เมื่อปฏิบัติฝึกฝนให้ดีแล้วมันก็ยิ่งมีคุณค่า ทีนี้ก็มีกายที่ใช้ประโยชน์ได้ตามที่เราประสงค์ พระคุณของธรรมะ ข้อนี้ข้อต้นข้อ (นาทีที่ 42:18) จึงรู้จักว่ามันทำอย่างไร และก็ได้ประโยชน์อย่างไร มีกายที่สามารถเป็นไปได้ตามที่เราประสงค์ หรือควรจะประสงค์ นี่พระคุณของพระธรรมในส่วนอานาปานสติหมวดที่ ๑ หมวดที่ ๒ คือเวทนา ก็ยากเกินไปแล้ว ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “เวทนา” มันค่อนข้างจะลึกลับและควบคุมมันยาก มันมีอำนาจเหนือเมฆ ทุกๆ ชีวิตมันมีเวทนา มันรู้สึกเวทนาได้ มันก็ปรารถนาเวทนาซึ่งเป็นที่น่าพอใจ แต่ถ้ามันโง่มันก็ไปเอาชนิดที่เป็นโทษเข้ามาด้วยโดยไม่รู้สึกตัว แม้เวทนาตามปกตินี่ถ้าว่าพ่ายแพ้แก่มัน อยู่ใต้อำนาจของมัน มันก็ทำให้เกิดความคิดประเภทที่เป็นอวิชชา เพราะมันอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย สนุกสนานที่น่าพอใจอย่างยิ่งเป็นหลัก พอไปหลงอย่างนั้นเข้ามันก็เกิดตัญหา คือความอยากด้วยความโง่ เพราะต้องการอำนาจของอวิชชา จึงเป็นไปในทางที่เป็นทุกข์ ดังนั้น เวทนาทั้งหลายที่ควบคุมไม่ได้ จึงนำมาซึ่งความทุกข์หรือตัญหาอย่างยิ่ง มันจะต้องเป็นทุกข์ทรมานและมันก็จะเห็นแก่ตัว มันจะแย่งชิงกัน มันจะฆ่ากันตายเพราะความหลงไหลในสิ่งที่เรียกว่า “เวทนา” เด็กๆ ก็หลงไหลไปตามประสาเด็ก วัยรุ่นหรือหนุ่มสาวก็หลงไหลไปตามแบบนั้น แม้เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีความหลงไหลในเวทนา ไปตามแบบของตนของตน ดังนั้น ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็เป็นปัญหา ยุ่งไปหมด นั่นเกี่ยวกับเวทนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสผลหรือปฏิกิริยา ที่เกิดมาจากเวทนาไว้มากมายมหาศาล จนเกือบจะกล่าวได้ว่าความเป็นไปในวัฏฏะ ในวัฏฏสงสารนี่มันเป็นเรื่องของเวทนาทั้งนั้น ชั้นที่เป็นกามารมณ์ก็มี ชั้นที่เป็นรูปก็มี อรูปก็มี สูงสุดเป็นอรูป เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่ก็เป็นเรื่องของเวทนา พอเราควบคุมได้มันก็อยู่ในความถูกต้อง เป็นไปในทางสงบสุข ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็พาไปหากิเลส และก็มีความเห็นแก่ตัว และก็เบียดเบียนผู้อื่น เห็นแก่ตัวมากขึ้นมันก็เบียดเบียนโลก ทำโลกให้วินาศ คุณไม่ควรจะหัวเราะถ้าได้ยินคำพูดว่า “มหาสงครามยิ่งใหญ่ในโลกนี้ มันมีมูลเหตุมาจากเวทนา” เวทนาโง่ของคนใดคนหนึ่ง มหาสงครามครั้งที่ ๑ มหาสงครามครั้งที่ ๒ จะมีครั้งที่ ๓ ที่ ๔ มูลเหตุอันแท้จริงไปรวมอยู่ที่เวทนา โง่ในเวทนา หลงไหลในเวทนาของคนใดคนหนึ่งซึ่งมันมีอำนาจบันดาล อยากพูดในข้อนี้ก็ไปเรียนเอาในส่วนจิต เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ แต่พบความจริงว่ามันมีคนๆ เดียวเท่านั้นนั่นแหล่ะก็พอ ที่มันเป็นทาสของเวทนา มันเป็นบ้าเกี่ยวกับเวทนา มันมีแผนการณ์อย่างนั้นๆ คล้ายๆ ว่ามันจะครองโลกอย่างนั้น จะครองโลกเสียคนเดียวนี่มันก็เป็นเรื่องของเวทนา ถ้าเราควบคุมเวทนาได้ คือมันเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้องที่ควร ไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่เกิด ควบคุมเวทนาอย่างเดียวมันก็ควบคุมจักรวาลเลย ไม่มีอะไรมาทำให้เป็นทุกข์ได้ แม้มันจะทำให้เป็นทุกข์ตามแบบที่เขาเป็นทุกข์กัน ไอ้จิตนี้มันก็ไม่เป็นทุกข์ล่ะ ถ้ามันชนะเวทนาได้ แม้แต่ความตายมันก็หัวเราะเยาะได้ ความเจ็บความตายมันก็หัวเราะเยาะได้ แล้วเวทนาไหนจะมาทำให้เป็นทุกข์ จงพยายามเอาชนะเวทนาตามวิธีที่มีอยู่ เวทนาหยาบมันเป็นปีติ เวทนาละเอียดก็เป็นความสุข ทำให้เกิดตัณหาคือความคิด จิต ความคิดเป็นตัณหา มันเป็นไปตามอำนาจของเวทนา เรียกเวทนาว่า “จิตตสังขาร” เครื่องปรุงแต่งจิต ถ้าเป็นไปในทางปิดก็ปิด ไปหาทางสุข ถ้าเป็นไปในทางถูกก็เป็นไปเพื่อดับทุกข์ นี่เรามารู้จักเวทนาควบคุมได้ มันก็เป็นพระคุณของพระธรรม ในส่วนที่เรียกว่า “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” อย่างนี้เราเป็นนายเหนือเวทนา โลกทั้งโลกไม่สามารถทำอะไรเราได้ ถ้าเราเป็นนายเหนือเวทนาเสียเพียงอย่างเดียว หมวดที่ ๓ เรียกว่า “จิตตา” นี้ก็สำคัญที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างของสิ่งมีชีวิต มันก็สำเร็จหรือรวมอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “จิต” ความสุข ความทุกข์ การกระทำ ผลของการกระทำ มีความเป็นภพเป็นชาติอย่างนั้นอย่างนี้มันก็รวมอยู่ที่สิ่งๆ เดียวคือสิ่งที่เรียกว่า “จิต” คล้ายว่าจิตเป็นสิ่งที่รู้สึกสิ่งเหล่านั้น จึงไปรวมอยู่ที่จิต ความผิดความถูกมันไปรวมอยู่ที่จิต ความสุขความทุกข์มันไปรวมอยู่ที่จิต ถ้าจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “จิต” อย่างถูกต้อง มันก็หมดปัญหาเหล่านั้น เดี๋ยวนี้เราไม่สามารถแม้แต่จะควบคุมจิต อย่าให้มันเป็นไปในทางผิดหรือทางอวิชชามันทำไม่ได้ ก็เลยมาฝึกฝนเรื่องจิต รู้จักจิต แล้วก็ฝึกการควบคุมจิต ให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องจนเรียกว่า เราเป็นนายเหนือจิต เราเป็นนายเหนือจิตก็บังคับได้ตามต้องการ บังคับไม่ให้เป็นทุกข์ ให้มีความสุข มีความพอใจก็ได้ แต่ถ้ามันยุ่งนักก็บังคับให้มันหยุด หรือถ้าว่ามันหยุดไม่ได้ มันไปติดพันอะไรอยู่ ก็บังคับให้มันปล่อย ตามหลักจิตตานุปัสสนา คือรู้จักจิตทุกๆ ชนิด แล้วก็เลือกเอาได้ว่าชนิดนี้ ชนิดอย่างนี้เป็นที่น่าพอใจ คือจิตที่อิสระ ที่สงบ ที่สะอาด ที่สว่าง ฝึกจนบังคับได้ นับตั้งแต่บังคับให้มันปีติปราโมทย์เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราเก่งในการบังคับเรื่องเวทนา ในหมวดเวทนา ก็บังคับจิตได้ ปราโมทย์อย่างไรเท่าใดก็ได้ ให้อยู่ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ได้ บังคับให้ปล่อย ปล่อยสิ่งที่ยึดถืออยู่ด้วยอุปาทานมันก็ได้ มันก็ปล่อยได้ ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นนายเหนือจิต สูงสุดก็คุณของพระธรรมในข้อที่ชนะจิต บังคับจิต เป็นนายเหนือจิตนี่จะแก้ปัญหาได้หมด เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นมันบังคับไม่ได้ อวิชชามันมากพาไปในทางของอวิชชา ก็น่าสงสารที่ไปหลงไหลในสิ่งที่เป็นทุกข์ นึกว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ น่าปรารถนาไปบูชาความทุกข์ หรือเหตุแห่งความทุกข์นั้นก็มี ศึกษาให้รู้แล้วก็ถอนออกมาเป็นอิสระ เมื่อจิตมันมีความถูกต้องหรือมีความเป็นอิสระ รับประกันได้ว่ามันก็ไม่มีปัญหา พระคุณของพระธรรมข้อนี้ลึกซึ้ง หรือค่อนข้างจะทำยากปฏิบัติยาก หมวดสุดท้ายเรียกว่า “ธัมมานุปัสสนา” รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ท่านจงจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ สิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน นี่คือปัญหาทั้งนั้น ไอ้สิ่งที่ชั่วมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยท้าทาย ไอ้สิ่งที่ดีหรือดีที่สุดมันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ถ้าหมดความยึดมั่นด้วยอุปาทาน มันก็เหนือชั่วเหนือดีไปเลย ไม่มีปัญหา มันจึงพูดว่าขี้ฝุ่นเม็ดนึงมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ มันเกิดปัญหาสูงขึ้นมาเป็นเงินเป็นทองเป็นข้าวเป็นของ เป็นอำนาจวาสนาบารมี มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยอุปาทาน กระทั่งพระนิพพานเองก็เป็นที่ตั้ง แห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานของคนโง่ ขออภัยถ้าพูดอย่างนี้ คนโง่ไม่รู้จักพระนิพพานโดยแท้จริง ยังไม่ถึงพระนิพพาน แต่ได้ยินเขาว่าเขาสรรเสริญกันอย่างนั้นๆ ถ้าในความฝันมันก็ยึดมั่นในพระนิพพาน จะเอาพระนิพพานเป็นตัวตน เป็นของตน แล้ว...(นาทีที่ 54.20) จะมีพระนิพพาน จะบรรลุพระนิพพาน เพื่อจะบอกให้รู้ว่าไม่มีสิ่งใดซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทานในฝ่ายรูปธรรม ถ้าให้เลวที่สุด ต่ำที่สุดก็เป็นที่ตั้ง ในฝ่ายนามธรรมก็ต่ำที่สุดจนสูงที่สุดก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ทั้งหมดนั้นเรียกว่าธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวงหรือธรรมชาติทั้งปวงก็ได้ ใช้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ยึดมั่นด้วยอุปาทานได้ทั้งนั้น นี้แหล่ะมารู้ว่าธรรม ใช้คำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ศึกษาจนรู้แจ้งรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ธรรมทั้งปวงเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็น...(นาทีที่ 55.18) เป็นสังขาร เป็นวิสังขาร หรือว่าเป็นสังขต เป็นอสังขต คือหมดทุกอย่างไม่ยกเว้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ด้วยอำนาจของอวิชชา อวิชชามันมีมากอย่าง มันปรับปรุงได้มากอย่างเพราะมันก็มีทางที่จะยึดถือได้ก็มี พอมาเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ธรรมทั้งปวงเหล่านี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็เปลี่ยนไอ้ความยึดมั่นถือมั่น หรือมันคลายความยึดมั่นถือมั่น เห็นให้สมบูรณ์เห็นอนิจจัง เห็นอนิจจตาความไม่เที่ยง ทุกขตาความเป็นทุกข์ อนัตตตาความไม่ใช่ตน ธัมมัติตะตามันเป็นไปตามธรรมชาติ ธัมมะนิยามะตา นี่กฎของธรรมชาติมันบังคับอยู่ อิทัปปัจจยตาเป็นไปตามปัจจัยของมันเอง สุญญตาว่างจากตัวตน ตถาตาเป็นเช่นนั้นๆ มีกฎเกณฑ์เฉพาะของมันและก็เป็นเช่นนั้นๆ เป็นตถาตาเป็นเช่นนั้น จิตก็อิสระไม่ไปยึดมั่นอะไร ค่อยเป็นตัวตน เป็นของตน เป็นอตัมมยตา ถ้าพูดกันให้ละเอียดมันก็เป็นถึง ๙ ตา แต่มันอาจจะมากเกินไป เข้าใจไม่ได้ก็เอาเพียง ๓ ตาก็พอ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างนี้ บรรดาสิ่งทั้งปวงที่ยึดถืออยู่มันเป็นอย่างนี้ คำว่า “อนัตตา” อนัตตานั้นสำคัญมาก สังขตก็อนัตตา อสังขตก็อนัตตา เมื่อเป็นดังนี้แล้วแม้พระนิพพานก็เป็นอนัตตา อย่าเอามาหมายมั่นให้เป็นอัตตา เมื่อเห็นอนัตตาแม้กระทั่งของอสังขตคือพระนิพพานแล้วมันก็หมดแล้ว ความรู้มันก็ถึงที่สุด มันก็คลายความยึดมั่นถือมั่น เรียกว่า “วิราคา” อนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงถึงที่สุด แล้วก็วิราคานุปัสสี คือคลายความกำหนัดนั้นน่ะ คลายความยึดมั่นถือมั่น คลายไป คลายไป คลายไป เดี๋ยวมันก็หมด ถ้ามันคลายไม่หยุดก็เป็นนิโรธานุปัสสี เสร็จแล้วก็จบเรื่องมันจบ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ข้าพเจ้าโยนกลับออกไปหมดแล้ว นี่ความทุกข์ทั้งหลายโยนกลับออกไปหมดแล้ว ไอ้สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นอยู่แต่ก่อนก็คืนกลับออกไปหมดแล้ว เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี พระคุณของพระธรรมมันสูงสุดอยู่ที่ตรงนี้ คือเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและก็ดับความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็หมดปัญหาหมดเรื่อง นี่พระคุณของพระธรรม ถ้าปฏิบัติมาถึงขั้นนี้มันก็จบเรื่องเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่มาถึงขั้นนี้มันก็มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แต่ถ้ามีความตั้งใจจริง เกลียดความทุกข์ เกลียดกลัวความทุกข์โดยแท้จริง ปฏิบัติไม่หยุด มันก็มาถึงนี้ เกลียดกลัวความทุกข์กันเข้าไว้ อย่าไปหลงบูชาสิ่งที่เป็นทุกข์ อย่าไปหลงบูชาสิ่งที่เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา ซึ่งมันสวยสดงดงาม เอร็ดอร่อย ไม่หลงในความเป็นบวก สวยสดงดงามหรือเอร็ดอร่อย แล้วก็ไม่หลงในความเป็นลบ แม้มันจะน่าเกลียดน่ากลัว กูก็ไม่กลัว มันก็หมดปัญหา ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่ตื่นเต้นในอะไร ไม่วิตกกังวลในอนาคต ไม่อาลัยอาวรณ์อดีต ไม่อิจฉาริษยาใครหรือผู้ใด ไม่หวงและไม่หึงอะไร เพราะมันไม่มีตัวสำหรับจะเป็นผู้หวงหรือว่าถูกหวง เรื่องมันก็จบ สรุปสั้นๆ ว่า ชีวิตนี้สงบเย็น ชีวิตนี้สงบเย็นไม่..(นาทีที่ 1.00) พระคุณของพระธรรม สูงสุดอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติอานาปานสติ มันก็ได้ผลอย่างนี้ ระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าคุณศึกษาครบถ้วนแล้วก็จะพบว่า ตั้งต้นที่จุดนี้ ตั้งต้นจุดนี้ คือสติปัฏฐานสี่ คือดูจากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ คงจะเคยดูเคยอะไรกันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยดูไม่เคยสังเกตก็จะแนะให้ดูว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นหนทางวิถีทางไปสู่พระนิพพาน มันตั้งต้นด้วยสติปัฏฐานสี่ ไปเปิดดูก็ได้ หนังสือนวโกวาทหรือหนังสืออะไรก็ตาม ไอ้ ๓๗ อย่างมันตั้งต้นด้วยสติปัฏฐานสี่ แล้วก็สัมมัปปธาน ๔ แล้วก็อิทธิบาท ๔ สามสี่มันสิบสองแล้ว อินทรีย์ ๕ พละ ๕ อีก ๑๐ มันก็เป็น ๒๒ ทีนี้ก็โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ รวมเป็น ๑๕ รวมกันมันก็เป็น ๓๗ แต่ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดก็คือว่ามันตั้งต้นด้วยสติปัฏฐานสี่ การปฏิบัตหรือการศึกษาอะไรมันก็ตั้งต้นที่เรื่องสติปัฏฐานสี่ สติปัฏฐานสี่ แล้วก็สัมมัปปธาน คือความเพียร ๔ และอิทธิบาทเครื่องให้เกิดความสำเร็จ ๔ แล้วอินทรีย์ ๕ พละ ๕ นี้เป็นตัวกำลัง เป็นตัวอำนาจ แล้วก็มีโพชฌงค์ ๗ มีวิถีทางหรือลำดับแห่งการตรัสรู้โดยตรง แล้วก็มีอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยองค์ทั้ง ๘ นี้ปฏิบัติแล้วมันก็ถึงหรือบรรลุพระนิพพาน เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีความเอียงมีความลาดเอียงไปทางนิพพาน เรียกว่ากระแสแห่งพระนิพพาน พอพลัดเข้าไปสู่กระแสนี้ได้มันก็ไปสู่พระนิพพานเหมือนกับว่าแม่น้ำ แม่น้ำทุกๆ สายในโลกนี้มันเอียงไปสู่ทะเล มหาสมุทร นั้นจุดตั้งต้นของการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ดับทุกข์ทั้งปวงมันอยู่ที่เรื่องสติปัฏฐานสี่ เป็นอันบอกแล้วตั้งแต่ต้นว่าถ้าใช้คำว่า “สติปัฏฐานสี่” เอาตามมหาสติปัฏฐานสูตร ก็ปฏิบัติไม่ไหวแล้วสูตรนั้นมันใหญ่เกินไป อาตมาก็เคยศึกษาแล้ว และก็ไม่มีหลักของการปฏิบัติ บอกแต่ชื่อๆๆ ของเขา แต่มันมีอานาปานสติสูตรในคัมภีร์ฝ่ายมัชฌิมนิกาย นี้ไม่ยาว ไม่ยาว สั้นๆ พอดี แตกชัดเจนเป็น ๔ อย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น ชี้กันแต่ในแง่ของการปฏิบัติ เรียกว่าอานาปานสติสูตร นี่เรื่องของการปฏิบัติ ก็จะจัดให้เข้ารูปรู้เรื่องอานาปานสติ หรือสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็มีความเพียร ๔ มีอิทธิบาท ๔ ก็คือธรรม สติปัฏฐานนั้นล่ะสำเร็จ เครื่องที่มีอำนาจบันดาลความสำเร็จ ก็คืออิทธิบาท ปฏิบัติอิทธิบาทสำเร็จแล้วมันก็มีอินทรีย์ มีพละ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา เรียกว่าอินทรีย์ ก็ได้ พละก็ได้ มองดูในลักษณะที่มันเป็นอำนาจใหญ่โตก็เรียกว่า "มนินทรีย์" มองดูในลักษณะที่เป็นพละกำลัง ก็เรียกว่า “พละ” พอมาถึงขั้นนี้แล้วโพชฌงค์ ๗ ก็แน่นอน เป็นไปตามลำดับ เรื่องสติปัฏฐานสี่... (นาทีที่ 1:05:24) เนื้อตัวของพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาของการปฏิบัติ การปฏิบัติครบถ้วนแล้วมันก็มีผลอย่างที่ว่ามาแล้วเมื่อตะกี้นี้ กายาให้ผลอย่างไร เวทนาให้ผลอย่างไร จิตตาให้ผลอย่างไร ธรรมาให้ผลอย่างไร มันจบอยู่ที่หมวดธรรมา นี้คือพระคุณของพระธรรมชนิดที่ปฏิบัติได้ หรือชนิดที่ใช้ปฏิบัติได้ พระธรรมที่เฟื้อมีแต่สำหรับผู้ที่พูดไม่รู้จักจบ อย่าไปสนใจ เอาแต่พระธรรมที่ชัดเจนที่ปฏิบัติได้ ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่มากมายยืดยาวอะไร แล้วก็ได้รับผลแห่งพระธรรม มีพระคุณสูงสุดกันที่ตรงนี้ นี่อาตมาชื้ระบุไปอย่างอานาปานสติ ๔ แล้วก็มีพระคุณอย่างนี้ อย่างนี้ นี้เรียกว่าเฉพาะเจาะจงเป็นอย่าง เป็นอย่าง เป็นอย่าง เป็น ๔ อย่าง ทีนี้ก็อยากจะบอกที่มันจะใช้ในหลักทั่วๆ ไป แม้ในเรื่องโลกๆ เรื่องอยู่บ้านเรือน หรือปฏิบัติอย่างฆราวาสเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุธรรมะสูงสุด ก็จะขอชี้ขอแนะให้เห็นธรรมะที่มีพระคุณ ใช้คำว่าอะไรดี สาระพัดนึกคือใช้ได้ทุกอย่าง เมื่อปฏิบัติอานาปานสติได้ครบถ้วน แล้วมันก็จะสามารถมีธรรมะหลักๆ ธรรมะหลักๆ คือมันก็ไม่ต้องมากมายนัก จะระบุไปที่สติ แล้วก็ปัญญา แล้วก็สัมปชัญญะ แล้วก็สมาธิ เรียงลำดับอย่างนี้เพื่อง่ายแก่การศึกษา ถ้าเรียงลำดับไปตามหนักเบามันก็เรียงอย่างอื่น เรียกว่า สมาธิหรือปัญญา หรือสติ หรือสัมปชัญญะ หรือสติ สัมปชัญญะ แล้วก็สมาธิก็เหมือนกัน นี่อาตมาเรียงว่า สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธินี้ก็เรียงไปตามลำดับหลักเกณฑ์ของการที่เราจะต้องใช้ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ในลักษณะที่ร่วมกัน เรียกว่าสหกรณ์ ใช้ร่วมกันทำหน้าที่รวมกันหรือเนื่องกัน เลยตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ธรรมะ ๔ เกลอ ธรรมะ ๔ เกลอ ใครมีแล้วจะเอาตัวรอด ธรรมะ ๔ เกลอ หมายความว่า พอเรื่องราวมันเกิดขึ้นในทางโลกก็ดี ในทางธรรมก็ดี เป็นเรื่องอันตรายจนฉิบหายก็ดี หรือเป็นเรื่องที่มันยังไม่เจริญก็ดี คือปัญหาก็แล้วกันน่ะ มันจะต้องมีสติระลึกได้ก่อนว่าสิ่งนี้เป็นอะไร สิ่งนี้คืออย่างไร นี่สติระลึกได้ ถึงธรรมะทุกๆ ข้อ จะรู้ว่าธรรมะข้อไหนที่มันจะแก้ปัญหานี้ นี่สติ สติ ระลึกได้โดยไปเอาปัญญามา ถ้าปฏิบัติอานาปานสติ ๔ สำเร็จมีปัญญาเหลือเฟือเยอะแยะหลายอย่าง สติไปเอาปัญญามาข้อหนึ่งที่ตรงกับเรื่องที่มันกำลังเกิด ปัญญาข้อไหน ความรู้ข้อไหน จะแก้ได้หากสติระลึกไปเอาปัญญามา อย่างรวดเร็ว อย่างทันควัน ปัญญานั้นมันมีมากแต่ที่ใช้จริงมันใช้ทีละอย่างๆ เหมือนกับเรามีอาวุธหลายอย่างอยู่ในบ้านในเรือน พอจะใช้จริงๆ ก็ใช้อย่างหนึ่งที่มันตรงกับเรื่อง หรือว่าเรามีหยูกยาในตู้ยาครบทุกอย่าง แต่พอจะใช้จริง ก็ใช้อย่างเดียว นี่สติมันระลึกได้ดี ระลึกได้ถูกต้อง ระลึกได้เก่ง ปัญญามาอย่างหนึ่ง มาเผชิญกับเหตุการณ์ที่มันกำลังเกิดอยู่ เหตุการณ์ที่มันกำลังเกิดอยู่ ปัญญาอย่างเดียวเอามาเผชิญกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ ปัญญานี้ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสัมปชัญญะ (นาทีที่ 1:10:40) “สํ” แปลว่า พร้อม “ป” แปลว่า ครบถ้วน “ญ” แปลว่า รู้ ก็มีคำว่า ปัญญา ปะ-ยา ยา รู้ ปะ ทั่ว นี้มาเติมยะเติม สํ เข้าไป สัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม สัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ ที่มันกำลังมีอยู่อย่างถูกต้อง เรียกว่า สัมปชัญญะ มันก็ต่อสู้กันโดยหลัก หรือโดยกฎเกณฑ์ของธรรมะ ปัญญาเป็นสัมปชัญญะแล้วก็ต่อสู้กับเหตุการณ์นั้นๆ ทีนี้ถ้าว่ากำลังมันไม่พอ ข้าศึกมันมีแรงมากกว่า ก็ใช้เพิ่มกำลังให้แก่สัมปชัญญะด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สมาธิ” สมาธิ สมาธิอินทรีย์ สมาธิพละเป็นกำลังสูงขึ้นไป สัมปชัญญะมีกำลังสูงขึ้นไปก็หมายความว่า ปัญญามันมีกำลังสูงขึ้นไป มันก็ชนะข้าศึกนั้นได้ นี้เรียกว่าใช้ ๔ เกลอธรรมะ ๔ เกลอ แก้ปัญหาได้ทุกชนิด ปัญหาโลกๆ ความอดอยากยากจน มันก็แก้ด้วย ๔ เกลอนี้ ก้าวหน้าสูงขึ้นไปก็ธรรมะ ๔ เกลอนี้ช่วยได้ นี่จะไปสู่ทางฝ่ายธรรมะ โลกุตตระ ไอ้ธรรมะ ๔ เกลอนี้มันก็ช่วยได้ นี่ธรรมะสารพัดนึก พระคุณของธรรมะที่แยกออกมาอยู่ในลักษณะนี้ ใช้ได้สารพัดนึกคือแก้ปัญหาได้ยั่งยืน แม้ที่สุดแต่จะเป็นชาวนา ชาวไร่ ทำนา ก็ลองใช้ไอ้ธรรมะ ๔ เกลอนี้ สติมันระลึกได้ทั่วถึง การทำนามันก็ตั้งต้นถูกต้อง เรื่องข้าว พืช เรื่องแผ่นดิน เรื่องน้ำ เรื่องวัว เรื่องควาย มันก็ถูกต้อง นี่สติมันระลึกถูกต้อง แล้วก็เอาปัญญามาใช้ แล้วก็มีสัมปชัญญะในขณะที่ทำ และในที่สุดมันก็เข้ารูปเข้ารอย สมาธิคือกำลังกายก็ดี กำลังจิตก็ดีมีสมบูรณ์ ไม่ต้องเชื่อก็ได้ พูดอย่างนี้ไม่ต้องเชื่อก็ได้ ขอให้จำไปคิดดู ไปใคร่ครวญดู ว่าไอ้ธรรมะ ๔ เกลอ นี้มันเป็นเกลอได้จริงหรือไม่ มันจะช่วยให้รอดจริงหรือ นี่พระคุณของพระธรรมที่เราจะได้รับหรือมีได้ ไม่เหนือวิสัย ไม่เหลือวิสัย เพราะการปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จ เอ้าอยากจะบอกอีกสักหน่อยหนึ่งว่า แม้ในเรื่องที่มันสูงๆ ไปกว่าธรรมดา มันสูงไปกว่าธรรมดา จะใช้คำว่า “วิมุตติ” ก็ได้ วิมุตติ วิมุตติมันแปลว่า หลุดพ้น มันแปลว่า หลุดพ้น แต่มันก็มีได้หลายๆ ระดับ หลุดพ้นโดยบังเอิญ พบกับอารมณ์ที่ช่วยแก้ให้เกิดความหลุดพ้นเป็นตทังควิมุตติก็มี หลุดพ้นด้วยการทำสมาธิ ขจัดความยึดมั่นหรือกิเลสออกไปชั่วคราวอย่างนี้ก็มี เป็นวิกขัมภนวิมุตติ แล้วทีนี้มันก็ตัดต้นเหตุหมดสิ้นเลย ก็วิมุตติโดยสมบูรณ์อย่างนี้ก็มี ทว่ามันจะใช้หลักอานาปานสติ มันก็เห็นอยู่ชัดๆ ถ้าเราปฏิบัติในขั้นหนึ่ง กายสังขารให้สงบระงับได้ มันก็มีตทังควิมุตติแบบบังเอิญแบบชั่วคราวขึ้นมา หรือถึงกับปฏิบัติควบคุมเวทนาได้ จิตตสังขารระงับไป มันก็เป็นไอ้วิมุตติแบบตทังควิมุตติ คือเอาอำนาจของการสงบกายสงบจิตนั้นน่ะ เป็นตัวตทังคองค์นั้นๆ ที่เผชิญหน้ากันเข้า ท่านลองดูจากวิมุตติหลุดพ้นจากเรื่องรบกวนจิตใจชั่วคราว ก็เจริญกายานุปัสสนาหมวดที่ ๑ ก็ได้ หมวดที่ ๑ ขั้นที่ ๑ ก็ได้ ขั้นที่ ๒ ก็ยังได้ระงับเวทนาไป ขั้นที่ ๓ ก็ได้ คือบังคับจิตได้ ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นวิกขัมภนวิมุตติแรงยิ่งไปกว่านั้นอีก มันก็ขั้นที่ ๔ นี่บังคับกายสังขารได้ ขั้นที่ ๕ บังคับเวทนาได้ ขั้นที่ ๘ บังคับจิตตสังขารได้ มันก็เป็นวิกขัมภน คือการบีบบังคับที่รุนแรงไป ถ้าปฏิบัติไปถึงธัมมานุปัสสนา มันก็เริ่มเป็นสมุจเฉทวิมุตติ เริ่มไปตั้งแต่วิราคานุปัสสี ขั้นที่ ๑๔ นิโรธานุปัสสี ขั้นที่ ๑๕ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ขั้นที่ ๑๖ มีลักษณะแห่งสมุจเฉทวิมุตติ ตามลำดับ นี่คนทั่วไปหรือว่าคนที่เขาเรียนอยู่ เขาจะคัดค้านว่าบ้าแล้ว บ้าแล้ว เพียงนี้เป็นวิมุตติ มันก็เป็นวิมุตติในความหมายที่ถูกต้อง แต่ถ้าให้ถึงที่สุดกันจริงๆ ก็ลองโหวตธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นอนิจจัง เห็นราคะ เห็นนิโรธะ เห็นปฏินิสสัคคะ นั้นน่ะมันก็เป็นสมุจเฉทวิมุตติ ตามลำดับชั้นของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ นี่พระคุณของพระธรรม แม้แต่เรื่องอานาปานสติก็ยังเอามาใช้ หรือขอใช้ หรือแม้แต่จะใช้ชั่วคราว เรียกร้องวิมุตติมาได้ตามที่ต้องการ ขอแต่ว่าให้คนนั้นเป็นคนจริง มีธรรมะจริง ปฏิบัติจริง นี่เรียกว่าอานาปานสติ พระคุณของพระธรรมคืออานาปานสติ ทีนี้ก็อยากจะพูดพระธรรมในชั้นปฏิจสมุปบาทเป็นพิเศษให้ครบถ้วนไปเสียอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่าไอ้ความรู้หรือการปฏิบัติเรื่องอานาปานสติ มันยังไม่ลึกซึ้งคมคายเหมือนกับเรื่องของปฏิจสมุปบาท เรื่องปฏิจสมุปบาทถ้าเข้าใจก็จะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงมีแต่กระแสแห่งปฏิจสมุปบาท ไม่ว่าเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์เรื่องอะไรก็ตาม มันเป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจสมุปบาท ๑๒ ชื่อนั้น และมันจะเป็นอัตตาตรงไหน อวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และความทุกข์ อัตตาที่ตรงไหนได้ แล้วมันก็ไม่ได้มีเข้าโลงออกโลงกันที่ตรงไหน มันปฏิบัติปฏิจสมุปบาทที่แท้จริง มันไม่เกี่ยวกับชาติโน้น ชาตินี้ ชาติไหน แล้วมันไม่เกี่ยวกับว่าเป็นตัวตนดีชั่ว บุญ บาปกันที่ไหน มันเป็นกระแสของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ถ้ามีความรู้เรื่องปฏิจสมุปบาทอย่างถูกต้อง ชัดเจนเพียงพอแล้วมันเลิกอัตตา หมดสิ้นอัตตา หมดสิ้นเป็นอนัตตา เป็นอนัตตา มันไม่ใช่ไม่มีอะไร มันมีแต่ไม่ใช่อัตตา สิ่งทั้งหลายที่รู้สึกคิดนึกหรือกระทำ หรือแม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า ตัวกู ตัวกู ตัวกู มันก็ยังมีอยู่แต่ก็ไม่ใช่อัตตา เป็นอนัตตา มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้สิ่งที่มีชีวิต หรือว่าบุคคลนี้ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนน่ะ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องรู้สึกว่าตัวตน แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นให้เป็นอัตตา และมันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตน ความเห็นแก่ตน มันจะเป็นกิเลสขึ้นมา ปฏิจสมุปบาทช่วยให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตา อนัตตา แล้วมันก็จะไม่มีความรู้สึกว่าเป็นดี เป็นชั่ว เป็นบุญ เป็นบาป เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเองตามเรื่องของมัน ไอ้ที่ว่าเป็นดี เป็นชั่ว เป็นบุญ เป็นบาปนี้ คนมันว่าเอาทีหลัง คนมันชอบใจอย่างไรมันก็เรียกว่าบุญ หรือกุศล ไม่ชอบใจมันก็ว่าบาปหรือชั่ว แต่ปฏิจสมุปบาทมันไม่มีความหมายอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้นความรู้เรื่องปฏิจสมุปบาทถ้าไม่อยู่เหนือบัญญัติทั้งหลายว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์ แต่เป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เรียกว่า ตถาตา ตถามันแปลว่า เช่นนั้น ผู้ใดเห็นตถา มีตถา ผู้นั้นชื่อว่าตถาคต ก็คือเป็นพระอรหันต์ เห็นตถา เห็นแจ้งตามที่เป็นตถา มีความรู้สึกเป็นตถา ก็เรียกว่าเป็นตถาคต คือเป็นพระอรหันต์ คือเป็นพระตถาคต จะว่าพระอรหันต์ก็เห็นตถา เห็นตถา คำว่ากุศลหรือคำว่าอกุศลนี้ มนุษย์บัญญัติตามความรู้สึก น่าพอใจ น่าเลื่อมใสของคนธรรมดา ก็เป็นกุศล ไม่ใช่อย่างนั้นก็เป็นอกุศล แต่พระอรหันต์ไม่มีความหมายแห่งกุศลหรืออกุศล นักวิปัสสนาโดยทั่วๆ ไป ก็หลงมหากุศลทั้งนั้นระวังให้ดี แม้แต่กุศลธรรมดาๆ มันก็ยังปรุงแต่งไปในทางยุ่งฝ่ายดี ยิ่งมหากุศลมันก็ยิ่งปรุงหนักเข้าไปอีก อย่าเอาเลย เรื่องยุ่งเพราะบวก เพราะลบ เพราะกุศล เพราะอกุศล เอาความว่าง ว่างจากกุศล ว่างจากอกุศลแล้วมันก็ปกติ ปกติ ปกตินั้นน่ะ คือพระนิพพาน ความรู้เรื่องปฏิจสมุปบาทช่วยให้เป็นได้อย่างนี้ หมดความเป็นบุรุษบุคคล ไปทบทวนดู ปฏิจสมุปบาท ๑๒ อาการเป็นอย่างนี้ ปรุงอยู่อย่างนี้ ไหลอยู่อย่างนี้ ตรงไหนที่จะเป็นบุรุษ จะเป็นบุคคลขึ้นมา นี่มัน... (นาทีที่ 1:24:00 ) มันไม่อาจจะเป็นบุคคลหรือเป็นบุรุษ แล้วมันก็จะเป็นหญิงเป็นชายได้อย่างไรเล่า มันก็เพิกถอนความเป็นบุรุษความเป็นบุคคล ความเป็นหญิงความเป็นชายก็หมดปัญหา หมดปัญหาเรื่องนั้น มันไม่มีที่ตั้งแห่งอุปาทานเลย เป็นกระแสแห่งปฏิจสมุปบาทไปหมด ไปอุปาทานที่อะไรก็ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ถ้าขืนโง่ไปเอาให้ได้มันก็กัดเอา ยึดถือรูป เวทนา สัญญา เป็นตัวตนมันก็กัดเอา ยึดถือส่วนใดส่วนหนึ่งของปฏิจสมุปบาทเป็นตัวตนมันก็กัดเอา คือมันไม่ใช่ความจริงมันผิดความหมาย พอยึดมั่น ไอ้ความยึดมั่นนั่นล่ะให้ความเจ็บปวด ยึดมั่นในสิ่งใดก็มีความทุกข์ในสิ่งนั้น โง่เขลาต่อสิ่งใดมันก็ไปยึดมั่นในสิ่งนั้น มันก็ถูกสิ่งนั้นแหล่ะกัดเอา คือทำให้เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าไม่มีที่ตั้งแห่งอุปาทานเหลืออยู่ ถ้าท่านมีความรู้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนเรื่องปฏิจสมุปบาท หรือจะเรียกว่าอิทัปปัจจยตาก็ได้เหมือนๆ กัน ในความหมายที่กว้างไม่ยกเว้นอะไรก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าจำกัดอยู่เห็นเพียงแต่ในสิ่งที่มีชีวิต รู้สึกสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นเวชนียะ คือสามารถจะรู้เวทนาได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิจสมุปบาท ถ้าเราพูดกันแต่ในขอบเขตของการกำจัด กำจัดทุกข์ กำจัดทุกข์โดยตรง ของสิ่งที่รู้สึกเป็นทุกข์ ก็เรียกว่าปฏิจสมุปบาท ถ้าปล่อยกว้างทั้งหมดแม้มีชีวิตไม่มีชีวิต เป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว สากลจักรวาลนี้ก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา มันจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มันจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ตาม มันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา มันตกอยู่ใต้กฎอิทัปปัจจยตา หรือว่ามันเป็นตัวอิทัปปัจจยตาเสียเอง มันหมดความยึดถือว่าเป็นบุคคล เป็นสัตว์ มันหมดความยึดถือว่าเป็นดี เป็นชั่ว เป็นบุญ เป็นบาป เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นนรก หรือเป็นสวรรค์ มันไม่มีความยึดถืออย่างนั้น นี่เรียกว่าช่วยให้หลุดพ้น สูงสุดโดยประการทั้งปวง เมื่อมันเป็นเสียเพียงอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่ต้องเรียกว่ามีภพ มีชาติอะไร กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันมีได้สำหรับผู้ที่ยึดถือเป็นตัวตน ชาติมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ชาติอะไรก็ไม่ต้องมี มีแต่กระแสแห่งปฏิจสมุปบาท ถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ถูกต้องก็เป็นทุกข์ นี่พระคุณของพระธรรม เรื่องปฏิจสมุปบาทก็ยกผู้นั้นเสียขึ้นอยู่ สูงสุดเหนือปัญหาใดๆ เหนือปัญหาใดๆ เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือทุกๆ อย่างเลย เพียงแต่เหนือความทุกข์มันไม่พอ เพราะความสุขมันก็กลายเป็นปัญหา เหนือชั่วมันก็ยังไม่พอ เพราะความดีมันก็เป็นตัวปัญหา มันจึงต้องใช้คำว่าเหนือไปทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีความหมายที่เป็นคู่ๆ นั้นแหล่ะสูงสุด แต่เดี๋ยวนี้มันช่วยไม่ได้ เรามันยังเป็นเด็กๆ หัวหงอกแล้วก็ยังเป็นเด็กๆ มันหลงดี หลงชั่ว หลงได้ หลงเสีย หลงนรก หลงสวรรค์ หลงกำไร หลงขาดทุน หลงเสียเปรียบ หลงได้เปรียบ ยุ่งไปหมด มันก็ได้มีความทุกข์ ใช้คำหยาบคายหน่อยก็ว่า สมน้ำหน้ามันแล้ว มันไปยึดมั่นถือมั่นให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นคู่ๆ ขึ้นมา ถึงได้มองเห็นพระคุณของพระธรรม ที่ช่วยยกสัตว์ผู้มีธรรมะ พ้นจากความเป็นสัตว์ พ้นจากความเป็นคน น่ากลัวไหม เลิกเป็นสัตว์ เลิกเป็นคนกันเสียที ก็มีแต่กระแสแห่งปฏิจสมุปบาท ถ้าฟังไม่รู้ ฟังไม่ถูก ก็ไม่ชอบ แล้วก็ว่าบ้าๆ บอๆ พูดอะไรอย่างนี้ มันเลิกเป็นสัตว์ เลิกเป็นคน เลิกเป็นเทวดา เลิกเป็นอะไรกันหมด นี้มันมีอยู่อย่างนี้แหล่ะ ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ พระคุณของพระธรรมโดยเฉพาะเรื่องปฏิจสมุปบาท มันเสาะแสดงให้เห็นว่ามีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งอย่างนั้นๆ ไม่มีความเป็นสัตว์ ไม่มีความเป็นบุคคล เรื่องมันก็ไม่ทุกข์ ไม่มีความทุกข์ พูดให้มันชัดก็ว่ามันมีแต่ นามรูปล้วนๆ มีแต่กายกับใจล้วนๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไร หรืออีกทีหนึ่งก็ว่ามันเป็นเบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร ถ้าถึงขนาดนี้แล้วความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิด มันก็ไม่มีความทุกข์ อยู่ด้วยความรู้อย่างนี้ด้วยจิตใจอย่างนี้ ก็เรียกว่า เหนือทุกข์ พ้นทุกข์ ออกจากทุกข์ โดยประการทั้งปวง นี่คือพระคุณของพระธรรม ถ้ามันสูงสุดจริง มันก็อยู่เหนือทุกสิ่งอย่างนี้ ถ้ามันยังออกมาไม่ได้ มันก็ต้องละชั่วทำดี ละชั่วทำดี ยุ่งอยู่ด้วยความดีกันไปพรางก่อน เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจกันไปพรางก่อน แล้วก็เลือกเอาแต่ที่ดีใจหรือว่าหัวเราะ แต่มันก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน มันก็ต้องเลิกในที่สุด ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจหรือไม่มีความรู้สึกที่เป็นบวกหรือเป็นลบ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล นี่คนทั้งหลายก็เกินไปแล้ว เกินไปแล้ว บ้าแล้ว บ้าแล้ว ฉันไม่ต้องการ ไม่ต้องการก็ไม่ต้องพูด แต่ถ้าให้พูดมันก็พูดอย่างนี้ไม่มีอย่างอื่น เพราะว่ามันเป็นอย่างนี้แล้วมันก็จบสิ้นสุดลงเป็นอย่างนี้ ที่จะเรียกว่าดับหมดก็ได้ มันดับหมด ดับความปรุงแต่งหมด คือมันว่างไปหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นปัญหา นี่จิตที่ถึงความเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตหลุดพ้น หรือว่าจิตบรรลุพระนิพพาน ที่จริงไอ้ความที่มันบรรลุพระนิพพานมันจึงเป็นความสุข พระนิพพานไม่ใช่ตัวสุขตัวทุกข์ แต่จิตที่บรรลุถึงพระนิพพานมันเป็นตัวสุข และเป็นสุขอีกแบบหนึ่ง มันจะสุขแบบชาวบ้านที่มันเป็นสังขาร มันเป็นสุขที่เหนือสังขาร เหนือการปรุงแต่ง ก็ต้องเรียกว่า สุขที่แท้จริง แต่เราไม่อยากจะพูด สุขที่แท้จริงอะไรขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะมายึดถือพระนิพพานเข้าอีก เอาเป็นว่าดับหมดแห่งตัณหา ดับหมดแห่งปัญหา ปัญหาสุข ปัญหาทุกข์ ปัญหานรก ปัญหาสวรรค์ ปัญหาบวก ปัญหาลบ ทุกๆ คู่มันหมด หมดปัญหา จะมีอะไรเหลือ เรื่องมันจบ พระคุณของพระธรรมนำไปสู่จุดสุดท้ายของปัญหา นี้เรียกว่า บรมธรรม บรมธรรม พระนิพพานเป็นบรมธรรม กำจัดปัญหาไม่มีอะไรเหลือ แต่เรามักจะพูดกันว่า กำจัดทุกข์ไม่มีอะไรเหลือ ระวังให้ดี ถ้าสุขเหลืออยู่มันก็เป็นปัญหา มันต้องหมดไป เพราะว่าไอ้ความสุข ความสุขนี้มันก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในตัวความสุขนั้นเอง อันไม่สุข ไม่ทุกข์นั้นแหล่ะ จะเรียกว่าสุขที่แท้จริง สุขอย่างชาวบ้านรู้จัก นี่มันก็สุขที่เป็นสังขาร มันต้องมีไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในความสุขนั้น ถ้าไม่พูดว่าเป็นความสุข ก็จะไม่มีใครสนใจพระนิพพาน พอไปพูดนิพพานเป็นความสุข มันก็อาจจะเป็นความสุขอย่างที่รู้จักอยู่ ดังนั้น จึงไอ้คนที่เขาชอบรำวงคนนั้นก็อยากไปนิพพาน เพราะว่าในนิพพานไม่มีรำวง ไม่เอา ไม่เอา นี่ความเข้าใจผิดมันเป็นได้อย่างนี้ คำว่าสุข คำว่าทุกข์มันหลอกลวงอย่างนี้ ขอให้ใช้คำว่าหมดปัญหาดีกว่า หมดปัญหาถึงจะเรียกว่า เหนือสุข เหนือทุกข์ ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็ท่านพูดภาษาชาวบ้านให้เกิดความสนใจในหมู่คนธรรมดา เป็นสุขชนิดอย่างยิ่งนะ ไม่ใช่สุขตามธรรมดา สุขตามธรรมดามันสุขๆ ทุกข์ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ก็สุขอย่างยิ่งไม่มีความเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยู่เหนือปัญหา ถ้าจะชอบใจให้ถูกต้อง ก็ชอบใจเหนือสุข เหนือทุกข์ ถ้ายังพูดอย่างธรรมดาอยู่ก็ความสุขที่สุด ความสุขสูงสุด นี่พระคุณของพระธรรม จะนำไปสู่ที่ตรงนี้ นี่ความสุขที่แท้จริงสูงสุดก็ได้ อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์โดยประการทั้งปวงก็ได้ ท่านจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ แต่ถ้าให้พูดตามตรง ตามจริง ตามความเป็นของจริงของแท้ ของพระพุทธศาสนาแล้วมันก็มีอย่างนี้ ดังนั้นการที่ท่านมาศึกษา และฝึกปฏิบัติมันก็มีปัญหาว่าจะตรงกับความประสงค์หรือไม่ บางทีจะผิดความประสงค์ หรือไขว้กันอยู่กับความประสงค์ เหมือนกับคนที่เขาชอบรำวงเขาอยากไปนิพพาน ระวังให้ดีและก็เป็นอันว่าอาตมาได้พูดถึงพระคุณของพระธรรม พอให้เข้าใจสิ่งนี้พระคุณของพระธรรม ก็เลยขอพูดไปถึงสิ่งที่เนื่องกันเสียด้วย พระคุณของพระธรรม ก็มีมาถึงเราได้ก็พระคุณของพระพุทธ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม จนเราได้รับพระคุณของพระธรรม แต่โดยการชี้นำของพระพุทธ พระพุทธก็มีพระคุณ มีพระคุณ ชี้ทางให้ได้บรรลุธรรม เอ้า พระสงฆ์มีพระคุณอย่างไร ถ้าไม่มีพระสงฆ์ ไอ้ธรรมะหรือพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีมาจนถึงบัดนี้ ให้เรามานั่งพูดกันอยู่อย่างนี้ มันสูญหายมันสาบสูญไปเสียหมดแล้ว ก็มีพระสงฆ์มาตั้งแต่ครั้นพระพุทธเจ้า สืบพระศาสนา สืบพระศาสนา ในการศึกษาก็ดี ในการปฏิบัติก็ดี ในการได้รับผลของการปฏิบัติก็ดี พระสงฆ์ท่านได้สืบ สืบมาเป็นตัวอย่างยังคงอยู่ มันก็ผนวกเข้าไปด้วยกันเลย พระคุณของพระธรรมก็รวมพระธรรมของพระพุทธ กับพระคุณของพระสงฆ์อยู่แล้วในตัว เลยเรียกว่าพระคุณของพระรัตนตรัย พระรัตนตรัย แก้ว ๓ ประการที่ประเสริฐที่สุด ไม่เหมือนแก้วธรรมดา เป็นเพชรเป็นอะไรก็เถอะ มันยังไม่ประเสริฐ เพราะมันยังตีราคาได้ ยังเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเป็นแก้วคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่เหนือการตีราคา เพราะว่ามันตีไม่ไหว มันก็เลยเรียกว่าหาค่าบ่มิได้ ไม่มีราคาเสียอีก เพราะไม่มีการตีราคา นี่สรุปความว่าพระคุณของพระรัตนตรัยคือของพระธรรมก็ดี หาค่าบ่มิได้อยู่เหนือการตีราคา เป็นอันว่าเราได้มาถึงไอ้สิ่งที่สูงสุดเหนือการตีราคา ก็หมดแหล่ะเรื่องมันก็จบ ทุกเรื่องมันมาจบอยู่ที่ การหมดปัญหาหรือพระนิพพาน ตั้งต้นด้วยเรื่องของความทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ยุ่งยากลำบากสารพัดอย่าง แล้วมันก็จบลงด้วยเรื่องไม่มีทุกข์เหลือ ดับทุกข์สิ้นเชิง ภาวะที่ปราศจากความทุกข์หรือปราศจากปัญหาโดยประการท้้งปวงเป็นสิ่งสูงสุด อย่าเกลียดทุกข์แล้วไปหลงสุข สุขจะกลายเป็นทุกข์ขึ้นมาใหม่ เกลียดทุกข์ก็ไปหลงสุข ไอ้สุขนั้นจะกลายเป็นทุกข์ขึ้นมาใหม่ และก็ทำกันอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปหลงบวก หลงบวกก็กลายเป็นลบขึ้นมา ก็ยุ่งอีก ไม่หลงอะไร ไม่หมายมั่นอะไร ไม่่ยึดถืออะไรนี่หลุดพ้น เป็นเสรีภาพ หลุดพ้น หลุดพ้น หลุดพ้น จากทุกสิ่งที่มันเป็นความผูกพันไว้ในความทุกข์ วิมุตติแปลว่าหลุดพ้น ไปจากสิ่งที่ผูกพันอยู่กับความทุกข์ ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในเรื่องนี้คือมีความรู้เพียงพอ มีการปฏิบัติเพียงพอ แล้วก็หลุดพ้นไปจากความผูกพันอยู่กับกองทุกข์ ก็ต้องพูดได้ว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่มีอะไรที่ดีกว่านั้น เรื่องจบ นี่อาตมาก็พูดกับท่านทั้งหลายในเรื่องปรมัตถธรรม คือธรรมที่ลึกซึ้งกว่าวิสัยธรรมดา มีแล้ว มีแล้ว ก็ขจัดปัญหา ขจัดปัญหา เรื่อยๆ มา จนไม่มีปัญหาอะไรเหลือ จะพูดต่อไปอีก มันก็กลายเป็นเรื่องสังขารขึ้นมาอีก ว่าชีวิตนิรันดร ได้ชีวิตนิรันดร แล้วก็ไปหลงไหลชีวิตนิรันดร มันเป็นที่ดับสิ้นแห่งสิ่งทั้งปวงดีกว่า แต่เพราะว่ามันไม่มีปัญหาอีกต่อไป มันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เจ็บ ไม่อะไรอีกต่อไป ก็จะเรียกว่าชีวิตนิรันดรก็ได้ มันเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อ ให้สนใจ ให้พูดว่าพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือจะได้รับชีวิตนิรันดรตลอดอนันตกาล มันก็เป็นคำโฆษณา ก็ไม่ต้องหลงโฆษณา และก็ไม่ต้องหลงในแง่บวก ในแง่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงอีกต่อไป เรื่องก็จบ ก็ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่ทนฟังมาเกือบสองชั่วโมงแล้ว ขอให้ได้รับผลจากการศึกษา จากการปฏิบัติที่พยายาม จนสุดความสามารถอยู่ทุกวันๆ แล้วก็มันไม่ถึงที่สุดก็ไปปฏิบัติต่อที่บ้านให้ถึงที่สุด เพียงชั่ว ๑๐ วันจะให้จบหมดไม่ได้ แต่จะทำให้รู้เรื่องเพียงพอที่จะเอาไปปฏิบัติต่อที่บ้าน ที่อยู่ที่อาศัย มันก็คงจะจบเข้าสักวันหนึ่ง แล้วก็พูดได้ว่าไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ขอให้มีความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาล ในการที่กำลังดำเนินตนอยู่ในทางของพระธรรม ดำเนินตนอยู่ในทางของพระธรรม แม้ยังไม่ถึงที่สุดก็มีความสุขสวัสดี อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน ขอยุติการบรรยายในวันนี้