แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันนี้อาตมาจะได้พูดโดยหัวข้อว่า สภาวธรรมที่เรียกว่าขันธ์ห้า ก็คือพูดเรื่องขันธ์ห้านั่นเอง ในฐานะที่ขันธ์ห้าก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง นี่ก็เลยเรียกว่าสภาวธรรม ที่เรียกว่าขันธ์ห้า สภาวธรรมแปลว่าสิ่งที่มีอยู่เองเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ "สะ"เอง "ภาวะ"มี "สภาวะ"มีอยู่เอง "สภาวธรรม"สิ่งที่มีอยู่เอง เองก็คือตามธรรมชาติ นั้นก็มีหลายอย่าง หลายชุด หลายชื่อ มีชุดที่เป็นปัญหามากที่สุดนี่ก็คือชุดที่เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า มันก็เป็นสิ่งที่ประหลาด คือน่าหัวอยู่มาก ที่ว่าเรารู้จักขันธ์ห้ากันแต่ชื่อ รู้จักกันแต่ชื่อ แล้วก็พูดกันเป็นทุกคน บางคนก็ท่องได้เป็นบาลี เป็นภาษาไทย แล้วก็ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรหรือเป็นอย่างไร ที่จริงเรื่องขันธ์ห้าเป็นเรื่องสำคัญในหลายแง่หลายมุม โดยธรรมดาโดยปกตินั้นก็เป็นตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือชีวิตประจำวัน เป็นขันธ์ห้า แต่ว่ามันก็มีความสำคัญตรงที่ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ๆก็เพราะว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน เพราะอัตตาๆตัวตนๆกันที่ขันธ์ห้า ถึงที่นั่นมันก็เป็นทุกข์ที่นั่น แล้วก็เป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของธรรมะทั้งหมดที่เรียกว่าทั้งศาสนา นี้ฝ่ายเถรวาสเรานี้ก็สอนเรื่องขันธ์ห้านี้เป็นอนัตตา นี้ฝ่ายมหาญาณนี้มากมายๆพูดไปไกลได้มากมายก็ไปสรุปจบอยู่ที่ว่าขันต์ห้าเป็นอนัตตาอย่างเดียวกันเลย บางคนไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง ไปหยิบเอาเรื่องฝอยเรื่องเปลือกว่าเป็นมหาญาณ โดยชักจะดูหมิ่นหรือรังเกียจ แต่ที่จริงมหาญาณๆที่ถูกต้องนี่มันก็ไปจบที่ขันธ์ห้าที่เป็นอนัตตา ท่านลองไปสังเกตไปอ่านดูสูตรยาวๆที่สำคัญๆของมหาญาณ ไม่ว่าสูตรไหนมันไปจบลงที่ขันต์ห้าเป็นอนัตตา จึงเรียกว่าพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์ในการรู้ว่าขันธ์ห้าเป็นอนัตตา แล้วก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ไม่เกิดกิเลสเพราะความยึดถือนั้น มันก็เลยไม่มีความทุกข์ ในฝ่ายเถรวาสคราวนี้ก็มีบทให้สวดท่อง ท่านทั้งหลายก็คงจะสวดท่องกันได้หลายคน
"ปัญจะขันธา ภราหเว ปัญจะขันธา" ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก คือถือว่าเป็นของหนัก
"ภาราหะโว จะปุคคโล" บุคคลๆที่สำคัญตัวเองว่าบุคคลเป็นผู้แบกของหนัก
"ภาราทานัง ทุกขัง โลเก" แบกของหนักมันเป็นความทุกข์
"ภาระนิกเขปะนัง สุขัง" ไม่แบกโยนทิ้งเสียก็เป็นความสุข
พระอริยเจ้าทิ้งของหนักสิ้นหมดแล้ว ไม่เอากองหนักอันใดมาแบกไว้อีก ก็ปรินิพพานได้เย็นสนิท นี่เป็นหลักเบื้องต้นง่ายๆที่ว่าจะต้องรู้จักว่าชีวิตนี้คือขันธ์ทั้งห้า แล้วจิตใจมันโง่มันไปยึดเอามาเป็นของตน มันก็เกิดความหนักคือความทุกข์ ต่อเมื่อกลัดๆทิ้งออกไปเสียได้ จึงจะไม่มีทุกข์หรือดับเย็นเป็นนิพพาน ทีนี้มันก็เป็นสิ่งที่ว่าต้องรู้จักกันให้ถึงที่สุด คือว่าไม่มีการแบกของหนักอีกต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจรู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ห้าให้มากกว่าที่แล้วมา หรือว่าให้มันถูกตัวจริง ให้ถูกตัวจริง อย่าให้มันเป็นแต่เพียงชื่อ ก็ดูให้เห็นว่ามันคืออะไรเป็นอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ ดับเมื่อไหร่ เป็นทุกข์อย่างไร ถ้าพูดอย่างรวบรัดมันก็เกือบจะพูดได้ว่าไม่ต้องรู้เรื่องอะไรกันนัก รู้เรื่องขันธ์ห้าให้หมดจดให้ครบถ้วนมันก็พอ แต่ทีนี้มันเกี่ยวข้องกันอยู่ชื่อเรียกอย่างอื่นก็มีนะชีวิตนี้ในลักษณะที่เป็นปฏิจจสมุปบาท เกิดอยู่เป็นวงๆๆๆเป็นกระแสไหลอยู่เป็นวงๆๆๆอย่างนั้นก็ได้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทมันก็คือตัวชีวิต ตัวเรื่องทุกข์และเรื่องดับทุกข์เหมือนกัน น่าที่จะดูเพียงว่ามันเป็นธาตุตามธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หกธาตุนี้มันก็เป็นสภาวธรรมได้เหมือนกัน เนี่ยดูเป็นตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คราวนี้มันก็เป็นสภาวธรรมได้เหมือนกัน เท่าที่เราจะดูในลักษณะที่เรียกว่าขันธ์ห้า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นหรือชีวิตเองนั้นเราจะดูอยู่กันในลักษณะที่เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า คำว่า “ขันธ์” นั้นแปลว่าส่วนๆ สิ่งหนึ่งเมื่อแบ่งออกเป็นส่วนๆก็เรียกว่าขันธ์ หนึ่งขันธ์หนึ่ง แต่ว่าชีวิตนี้มันก็เป็นส่วนๆๆที่ท่านจะดูให้เห็นกันทีละส่วน ไม่ใช่ว่ามันเหมือนกับเอาแตงโมมาลูกหนึ่งแล้วผ่าออกเป็นห้าส่วน นี้ไม่ใช่อย่างนั้น ก็มันไม่ได้รวมเกิดพร้อมกันอยู่ในลักษณะอย่างนั้นแล้วแบ่งออกเป็นห้าส่วน นั้นก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยทีละส่วนเป็นตอนเป็นส่วน แล้วก็เนื่องกันไปครบทั้งห้าส่วนก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ห้า “ห้า” นี่ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าใจว่าจะท่องชื่อกันได้ทุกคนแต่ตัวจริงคืออย่างไรคงจะเป็นปัญหา เพราะว่ามันมีความละเอียดลึกลับซับซ้อนกันอยู่ นี้จึงอยากจะพูดต่อมาจากเรื่องที่เข้าใจอยู่แล้วคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เราพูดกันมาแล้ว เมื่อมองกันในแง่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อย่างนั้นมันก็เป็นปฏิจจสมุปบาท จะเอามาทบทวนอีกที เอามาดูกันใหม่ในแง่ที่เป็นขันธ์ห้า เอาล่ะ ก็ขอโอกาสทบทวนอีกทีนึงแล้วก็ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ให้เข้าใจทุกคำที่พูด หรือว่าถ้าเป็นหนังสือก็ทุกตัวอักษร นี่ทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วจะเห็นได้ง่ายว่าเป็นขันธ์ห้าอย่างไร
เรื่องปฏิจจสมุปบาทเท่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้ศึกษากันง่ายๆก็ตั้งต้นที่อายตนะ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน ก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะภายนอก แล้วมีอยู่ เป็นเรื่องที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้ามันอยู่เป็นเพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รสก็เป็นสภาวธรรมที่เรียกว่าอายตนะ แต่ถ้ามาดูตรงที่ว่าพอมันอาศัยกันมันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ถ้าอาศัยรูปเกิดวิญญาณทางตา หูอาศัยเสียงเกิดวิญญาณทางหู จมูกอาศัยกลิ่นเกิดวิญญาณทางจมูก นี่มันเกิดวิญญาณ เมื่อสามอย่างนี้มาทำงานด้วยกันคืออายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ แต่ละอย่างๆหรือแต่ละชุดมันทำงานอยู่ด้วยกันก็เรียกว่าผัสสะๆ นี่ฟังดูในฐานะเป็นเรื่องประจำวัน มีผัสสะแล้วก็ต้องเกิดเวทนา ซึ่งมีลักษณะเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง มีเวทนา จำคำว่าเวทนาไว้ ถ้าเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหาไปตามอำนาจของเวทนา เวทนาสุขให้เกิดตัณหาจะเอา จะมี จะเป็น เวทนาทุกข์ก็เกิดตัณหาจะทำลาย ไม่สุขไม่ทุกข์ก็โง่เท่าเดิม นี่เป็นเวทนาให้เกิดตัณหาๆ เรามีตัณหาคือความอยากแล้วก็โง่ต่อไปจนมีผู้อยากคือตัวฉันที่อยาก ในกรณีที่เห็นรูปก็อยากจะได้รูปอย่างนั้นอย่างนี้ ในกรณีฟังเสียงก็อยากจะฟังเสียงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือในกรณีที่มันไม่ถูกใจก็อยากจะฆ่าอยากจะทำลาย นี่คือตัณหา อยากๆๆเป็นที่สุดแล้วมันก็โง่ออกมาเป็นผู้อยาก ผู้อยากคือฉันก็เป็นผู้อยาก อุปาทานเรียกว่าอุปาทานเป็นตัวตนผู้อยาก มีความรู้สึกเป็นผู้อยากอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตน มันตั้งต้นๆขึ้นมาแล้ว ตั้งต้นขึ้นมาแล้วมันก็เข้มข้นๆเป็นตัวตนๆที่เข้มข้นๆขึ้นมา เหมือนกับว่าครรภ์ตั้งแล้วก็แก่ขึ้นๆนี่ก็เรียกว่าภพ มีภพที่จะไปเป็นกามภพก็ได้ รูปภพก็ได้ เป็นอรูปภพก็ได้แล้วแต่เรื่องของมัน มันก็เป็นภพ นี่ภพๆนี่ถึงที่สุดเข้าก็คลอดเป็นชาติ เป็นตัวกูโดยสมบูรณ์ เป็นไปตามเรื่องของมัน ชาติคือตัวกู แต่ที่มันมีปัญหาก็คือว่าพอมีตัวกูก็เป็นของหนักขึ้นมาโดยความเป็นตัวกู แล้วมันก็ไม่ใช่เป็นตัวกูๆล้วนๆ มันเป็นอะไรๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวกูมันก็เป็นของกู รวมกันทั้งตัวกู รวมกันทั้งของกู มันก็เป็นของหนัก หนักในที่นี้หนักทางจิต หนักทางวิญญาณ เทียบกับได้ว่าหนักทางวัตถุคือแบก หาม ทูนน่ะมันจะหนัก มันยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู เป็นของกูอยู่ มันก็เท่ากับว่าจิตนั่นแหละมันแบกหรือมันหามหรือมันทูนทั้งหมดนั้นไว้เป็นตัวตน เป็นของตน เป็นตัวกู เป็นของกู ที่มันเกิดเรื่องในแต่ละวันๆๆทุกอย่าง ทีนี้มันก็เอาวัตถุๆเป็นของกู ว่าจิตใจนี้เป็นตัวกู มีอะไรเป็นของกูเต็มอยู่ในบ้านในเรือน เป็นทางวัตถุเป็นตัวกูเป็นของกู บางทีมันเอานามธรรมๆไม่ใช่รูปธรรมเช่นความรู้สึกของกู ความสุขของกู ความทุกข์ของกู กระทั่งว่าเกียรติยศชื่อเสียงของกู บุญของกู บาปของกู อำนาจวาสนาของกู ดูให้ดี เอาวัตถุเป็นของกูเช่นเงินทองเป็นต้น เอานามธรรมเป็นของกู ความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ของกู ความสุข ความทุกข์ ดีใจเสียใจ หรืออะไรอื่นๆอีกที่เป็นนามธรรม แล้วมันก็มีเรื่องกับสิ่งเหล่านั้นแหละ ถ้าเป็นไปในทางบวกก็หลงรัก อิจฉาริษยาหึงหวงกันไป ตามแบบของรัก มีเรื่องกี่มากน้อยก็ดูเอาเอง ทุกวันแล้วแต่ละวันทุกวันมีเรื่องอย่างนี้อยู่เป็นตัวชีวิตจิตใจ อยากจะขอพูดอีกทีอย่าเพิ่งรำคาญ ในรูปของปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวชีวิต มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีสิ่งมาพบ มากัน มาเกี่ยวข้องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นคือเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาถึงกันเข้าเมื่อไหร่ก็เกิดวิญญาณความรู้สึก วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อวิญญาณมันทำหน้าที่อยู่กับอายตนะภายนอกภายในอย่างนี้เราเรียกว่าผัสสะๆ ผัสสะคือสามอย่างทำงานด้วยกันอยู่ ก็มีผัสสะแล้วมีผลออกมาเป็นเวทนา เวทนาสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็อาศัยตา อาศัยรูป อาศัยเสียง อาศัยหู ก็เรียกว่าเป็นไปทางหก หกอายตนะ เวทนาเกิดมาจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เรียกว่าเวทนาๆ เวทนานั้นก็มีลักษณะน่ารักน่าพอใจอยู่พวกหนึ่ง ไม่น่ารักไม่น่าพอใจอยู่พวกหนึ่ง แล้วก็ไม่แน่ว่าจะน่ารักหรือไม่น่ารักอีกพวกหนึ่ง เวทนาทั้งสามเกิดอยู่เป็นประจำที่ยังมีชีวิตอยู่ คนยังมีชีวิตอยู่ มีเวทนาแล้วมันก็เกิดความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น แล้วแต่เวทนานั้นมันจะดึงไปจูงไปให้อยากอย่างไร ถ้าเวทนาน่ารักก็อยากจะเอาอยากจะมี ไม่น่ารักก็อยากจะทำลายเสีย ไม่น่ารักก็อยู่ด้วยความสงสัยๆโง่เท่าเดิม นี่เรียกว่าเวทนาให้เกิดตัณหาหรือความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น ฟังดูให้ดีไปตามอำนาจของเวทนานั้น แล้วแต่เวทนานั้นจะเป็นอย่างไร มันก็เกิดตัณหาจะอยากได้ อยากเอา อยากมี จะไม่อยากได้ ไม่อยากเอา ไม่อยากมี อยากจะฆ่าเสียเป็นต้น แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรก็โง่อยู่เท่าเดิม นี่แหละตัณหาๆ มันมากมายสารพัดอย่างเป็นไปได้ทั่วโลก แล้วแต่ว่ามันจะเกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่ พอมีตัณหาๆก็อยากๆด้วยความโง่ ไม่ใช่อยากด้วยความฉลาด อยากด้วยความโง่ ด้วยความอวิชชา มันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก มีแต่ตัวกูผู้อยากขึ้นมา นี่เรียกว่าอุปาทาน เพียงเกิดรู้สึกอยู่ข้างในก็เรียกว่าภพตั้งต้น พอภพแก่ก็แล้วคลอดออกมาก็เป็นชาติ ตัวกูที่แสดงบทบาท แสดงบทบาทอยู่ประจำวันนั่นน่ะ นั่นก็มีอาการของกิเลสครบทุกอย่างแล้วแต่ว่าจะเกิดกิเลสอะไร จะได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เกิดความรัก เกิดความโกรธ เกิดความเกลียด เกิดความกลัว เกิดความตื่นเต้นๆ เกิดความวิตกกังวล เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความอิจฉาริษยา เกิดความหวง เกิดความหึง สิบอย่างนี้มันชัดเจนดี เห็นได้ง่าย จริงๆมีอย่างอื่นอีกมากมายแต่เอามาเพียงสิบอย่างนี้ก็เกินพอแล้ว ต้องดูสิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดอยู่เป็นประจำวัน รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวง หึง เกิดได้อีกทุกอย่าง แง่ดีแง่ร้ายแล้วแต่จะสมมุติมัน อันที่จริงมันเกิดตามธรรมชาติ นี่ถ้าเข้าใจชีวิตหรือความเป็นไปแห่งชีวิตในแง่ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ อาตมาถือว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจแล้ว เข้าใจดีแล้ว นี้จะแบ่งเป็นเก้าตอนสิบตอน หรือสิบสองตอนก็ได้โดยเอาที่เกิดของอายตนะคือนามรูปมีวิญญาณ มีสังขาร มีอวิชชาออก ออกไปในทางโน้นก็ได้ แต่มันไกลมันลิบลับไม่ต้องก็ได้ เอาแค่รู้จักอยู่ตรงนี้คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็วิญญาณๆ แล้วก็ผัสสะๆ เวทนาๆ ตัณหาๆ อุปาทานๆ ภพชาติ ความทุกข์ทั้งปวง เนี่ยตัวชีวิต แต่มันละเอียดหรือมันแจงออกไปมาก แต่มันก็ไม่เหลือวิสัยถ้ามีความตั้งใจจะดีมาก รู้จักปฏิจจสมุปบาทเท่ากับรู้จักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา มีเรื่องปฏิจจสมุปบาทขอย้ำแล้วย้ำเล่าย้ำแล้วย้ำอีกให้มันเข้าใจแจ่มแจ้ง จะสอนลูกเด็กๆก็ได้ ให้ลูกเด็กๆเข้าใจว่าอาการเหล่านี้มันมี
ทีนี้เราก็มาดูกันในอีกรูปแบบๆที่เรียกว่าขันธ์ห้า ขันธ์ทั้งห้า อันแรกคือรูปขันธ์เป็นฝ่ายวัตถุ อีกสี่คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่เป็นฝ่ายจิตหรือฝ่ายนาม ฝ่ายรูปมีรูปขันธ์ ฝ่ายนามมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ลดมาก็เหลือเพียงห้า จึงต้องรู้จักมันให้ถูกๆตัว ถูกตัว ตรงจุด ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ารูปขันธ์มันคืออะไร มันก็คือไอ้ที่เป็นรูปนั่นแหละ ที่มันเป็นรูป แม้เราจะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ได้ นั่นมันเป็นส่วนรูป มันมีร่างกาย เนื้อหนัง ร่างกาย ส่วนที่เป็นร่างกาย แล้วก็มาประกอบกันเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เรียกว่ารูปขันธ์ ส่วนใจเป็นนามขันธ์ นี่ดูตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้จักกันดี ตาทำหน้าที่อย่างไร หูทำหน้าที่อย่างไร จมูกนี้ทำหน้าที่อย่างไร นี้เรียกว่ารูปขันธ์ข้างใน ทีนี้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะเข้ามาจากข้างนอกก็เรียกว่ารูปขันธ์ข้างนอก รูปขันธ์ข้างนอกยังไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่เข้ามาเนื่องกับรูปขันธ์ภายใน ถึงรูปขันธ์ภายในมันก็ไม่มีอะไรทำถ้าว่ามันไม่มีรูปขันธ์ข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีตา หู จมูก ลิ้น กายเฉยๆ มันก็เก้อไม่ได้ทำอะไร พอรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็มีเรื่องขึ้นมาทันที งั้นรูปขันธ์จึงมีทั้งภายในและภายนอก แล้วก็มาถึงกัน มันจึงมีการทำอะไรๆ คือทำหน้าที่ จึงเรียกว่าเกิด ไอ้ทางวัตถุน่ะเกิด เกิดจากท้องแม่ แต่ทางธรรมะอย่างนี้เรียกว่าเกิดๆๆก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ไอ้ตามันอยู่ก็ไม่เรียกว่าเกิดหรอก ที่จริงตาก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ไม่เรียกว่าเกิด พอตาทำหน้าที่ก็เรียกว่าตาเกิด หูก็เหมือนกัน พอทำหน้าที่ก็เรียกว่าหูเกิด จมูก ลิ้น กายน่ะมันเกิดแปลว่ามันทำหน้าที่ เมื่อไม่ทำหน้าที่ก็ถือว่ายังไม่มี มันยังไม่เกิด มันยังไม่มีปัญหา ตาได้รูปก็มาทำหน้าที่การเห็น มันเกิดอย่างนี้ เกิดรูปขันธ์ข้างในคือตา เกิดรูปขันธ์ข้างนอกคือรูปที่มันมาเกี่ยวข้องกับตา ไอ้พวกนี้มันเป็นคู่ๆ ถ้ามันยังไม่จับคู่ มันก็ยังไม่ได้ทำอะไร เมื่อยังไม่ทำอะไร ก็เท่ากับว่ายังไม่เกิด ดังนั้นท่านทั้งหลายจงเข้าใจคำว่าเกิดๆนี่เสียให้ดีๆ ในภาษาชาวบ้านเกิดจนคลอดออกมา แต่ถ้าภาษาธรรมะชั้นละเอียดชั้นลึกอย่างนี้มันหมายความว่าเกิดแปลว่ามันได้ทำหน้าที่ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ตลอดเวลาแต่ยังไม่พูดว่าเกิด จะพูดว่าเกิดๆๆต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ตาทำหน้าที่ก็คือตาเกิด หูทำหน้าที่ก็คือหูเกิด จมูกทำหน้าที่จมูกเกิด ลิ้นทำหน้าที่ลิ้นเกิด กายทำหน้าที่กายเกิด เมื่อใจทำหน้าที่ก็เรียกว่าใจเกิด เดี๋ยวนี้ดูกันแต่ที่เป็นรูปขันธ์ เอาใจเก็บไว้ก่อนยังไม่พูด ตา หู จมูก ลิ้น กายมาดูเถอะ รูปขันธ์ข้างในมีตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปขันธ์ข้างนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้ควรจะรู้จักๆของที่เรามีอยู่ตรงหน้า ของในบ้านในเรือนมีอยู่กี่อย่างเรารู้จัก แต่ของที่มีอยู่ข้างในไปกว่านั้นในชีวิตกลับไม่รู้จัก มันน่าหัวหรือว่าน่าสงสารหรือว่าน่าอะไร นี่ก็รู้จักรูปขันธ์ ถ้ารู้จักลงไปถึงว่ามันเกิดมาจากธาตุอะไร แล้วรู้จักว่ามันเกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ เรียกว่ามันรู้ลึกๆๆลงไป แต่เดี๋ยวนี้เอาแต่เพียงว่ารู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่าทำหน้าที่อย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร ก็เรียกว่ารู้จักรูปขันธ์ ขันธ์ที่หนึ่งแล้ว ทีนี้ก็อย่างที่พูดแล้วว่าอายตนะภายในคือตา หู จมูกเป็นต้น กับอายตนะภายนอกรวมกันเข้า มันก็เกิดวิญญาณ อันนี้ลำดับมันอาจจะสับสนกันอยู่สักหน่อย ถ้าเรียงๆตามคำพูดสำหรับท่องสำหรับจำเราเรียงว่า เราเรียงลำดับว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณมันอยู่สุดโต่ง แต่พฤติการโดยแท้จริงที่นี่ เดี๋ยวนี้มันเกิดวิญญาณ เมื่อรูปขันธ์ภายในภายนอกกระทบกันอย่างบาลีว่าไว้ ตาอาศัยรูปเกิดจักษุวิญญาณ หูอาศัยเสียงเกิดโสตวิญญาณๆเกิดตรงนี้แล้ว พอรูปขันธ์คู่นอกคู่ในทำหน้าที่กันมันก็เกิดวิญญาณตรงนี้แล้ว แต่ทำไมคำนี้ไปไว้สุดโต่งเพราะมันเกิดอีกหลายหนๆ ไม่ใช่เกิดแต่ตรงนี้ นี้เป็นเพียงว่าเกิดในจุดแรก ในระยะแรก เรียกว่าวิญญาณเกิด วิญญาณขันธ์ ส่วนเบื้องต้น ส่วนง่ายๆน่ะเกิดแล้ว ฟังให้ดีนะ อายตนะภายในภายนอกถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณ มันก็สามเรื่องนี้ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ได้เป็นสามอย่าง สามประการนี้ทำงานอยู่ด้วยกัน บาลีเรียกว่าสังคติๆ มาถึงพร้อมกันอยู่ก็เรียกว่าผัสสะๆ ก็ผัสสะก็ดูในแง่ผู้กระทบมันก็เป็นรูปขันธ์ ดูที่กริยาอาการมันก็จะมาในทางเวทนาขันธ์แต่ยังไม่ทัน ไม่ทันจะสมบูรณ์เป็นเวทนาขันธ์ ผัสสะที่เราดูกันในแง่ของผู้กระทบมันก็เป็นรูปขันธ์ เมื่อดูในแง่ผู้ทำการกระทบ รู้จักกระทบแล้วเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเรียกว่าสามประการทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ตาผัสสะตลอดเวลา หูผัสสะตลอดเวลา จมูกผัสสะตลอดเวลา นี่ก็เรียกว่าผัสสะ แล้วแต่ว่าจะมองเป็นรูปขันธ์หรือว่าจะมาอยู่ในเวทนาขันธ์ เป็นแต่เพียงริเริ่มเท่านั้น มันจะเป็นเวทนาขันธ์ขณะที่ริเริ่ม พอมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีเวทนาสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ส่วนเวทนา จงทำความรู้สึกในใจเมื่อเรามีเวทนา เวทนาที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะเวทนาเกิดขึ้นในใจกระทบจิตใจรู้สึกในจิตใจแล้วมันก็เรียกว่าสัญญาๆ คำนี้แปลว่าสำคัญมั่นหมาย แต่มักจะซ้อนกันง่ายๆเพียงว่าจำได้หมายรู้ นั้นมันก็จริงเพราะไอ้ความสำคัญมั่นหมายมันทำไปตามความจำได้หมายรู้ เพราะมันเคยมาแล้ว เช่นว่าเด็กๆมันเคยกินนมมาแล้ว พอมันมีเวทนาเพราะการกินนมหรือกินอะไรอีก มันก็พอจะทำความมั่นหมายได้ว่าเป็นอะไร เป็นรสของอะไร คือเป็นนมหรือเป็นข้าวหรือเป็นขนมหรือเป็นผลไม้ มันทำสัญญาคือความหมายมั่น หมายมั่นลงไปว่าเป็นอะไรต่อสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งความสำคัญมั่นหมาย สำคัญมั่นหมายว่าอร่อยจริง สำคัญมั่นหมายว่าไม่อร่อยหรือไม่ไหว สำคัญมั่นหมายสูงขึ้นไปเช่นว่ากูได้ กูไม่ได้ กระทั่งเมื่อมันเต็มที่แล้ว มันก็สำคัญมั่นหมายในความเป็นหญิง ในความเป็นชาย สำคัญว่าเป็นหญิง สำคัญว่าเป็นชาย ถ้ายังมั่นหมายต่อไปอีกมันก็ว่าเป็นสามี เป็นภรรยา มันเนื่องจากที่มันมีเวทนา ถ้าไม่มีเวทนามันไม่รู้จะสำคัญมั่นหมายลงไปที่อะไร ทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องมันเข้ามาในรูปของเวทนา ถ้าไม่เข้ามาในรูปของเวทนามันก็ไม่อาจจะเกี่ยวข้อง เลยต้องรู้จักให้ชัดลงไปว่าเพราะผัสสะมันเกิดเวทนา เพราะเกิดเวทนาแล้วก็เป็นที่ตั้งของความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรๆๆ หรือแม้แต่จะสำคัญว่าเป็นรูป เป็นเสียง เป็นอะไรก็ได้ ก็เรียกว่าสำคัญมั่นหมายเหมือนกัน สำคัญว่ารูปของอะไร เสียงของอะไร กลิ่นของอะไร รสของอะไร น่ารักหรือไม่น่ารัก น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ สำคัญว่าอร่อย สำคัญว่าไม่อร่อย นี้มากมายมหาศาลที่จะสำคัญมั่นหมายลงไปว่าอะไร แต่มักจะสอน มักจะพูดกันว่าสัญญา ความจำได้หมายรู้ ถูกแล้ว ความจำได้หมายรู้น่ะมันคือเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย เพราะถ้าไม่มีจำได้หมายรู้ สัญญาหรือสำคัญมั่นหมายไม่ถูก เดี๋ยวนี้เด็กเคยรับสัมผัสมาแล้วตั้งแต่ในท้อง พอออกมาก็ยังมีสัมผัสมากออกไปคือมีเวทนาๆมากออกไป ไอ้สิ่งที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความสำคัญมั่นหมายคือสัญญามันก็มากออกไปๆ นับไม่ไหวเหมือนกันไอ้สัญญานี่มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็แจกไปตามอายตนะ สัญญาที่เกิดขึ้นจากสุข จากทุกข์ จากอทุกข์อสุข ที่เกิดจากทุกข์หรือสุขก็ตาม มันก็มาทางอายตนะหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ สำคัญมั่นหมายจนไปถึงต้นเหตุที่เกิดทีแรกคือสัญญาที่เกิดมาจากการสัมผัสทางตา ถ้าเวทนามันเกิดมาจากสัมผัสทางตา ไอ้สัญญาก็เกิดมาจากสัมผัสทางตาตามอำนาจของเวทนานั้น ก็แจงเป็นหก สัญญาในรูป สัญญาในเสียง สัญญาในกลิ่น สัญญาในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ นี้เรียกว่าสัญญา ถ้าเวทนาเฉยๆไม่มีสัญญาไม่มีมั่นหมายอะไรแล้วมันก็เลิกกัน เดี๋ยวนี้ได้ยินเสียงไก่ขันจะมีเวทนาหรือไม่มีเวทนา ถ้ามันไม่รบกวนอะไร ไม่รู้สึกอะไร มันก็เวทนานั้นมันก็ตายด้าน แต่ถ้าเกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ รำคาญหรือพอใจ ไอ้เวทนานั้นก็ให้เกิดสัญญาๆ มันไม่ตายด้าน นี้สัญญามันก็ไปตามจำได้หมายรู้ ท่านก็รู้มันเสียงไก่ๆ บางทีหลับตาเห็นตัวไก่ที่กำลังขันอยู่ก็ได้ มั่นหมายลงไปว่าไก่ เสียงไก่ ตามอำนาจของความจำได้หมายรู้ ไอ้ที่สอนๆกันอยู่ในโรงเรียนก็ดี ในศาลาวัดก็ดี สัญญาจำได้หมายรู้มันน้อยไป มันไม่หมด สัญญาแปลว่าความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร ไอ้หนังสือสัญญาในกระดาษมันเป็นเรื่องสำคัญมั่นหมายแล้วก็ช่วยความจำ เวทนาแล้วจะเกิดสัญญาละเอียดกว่านี้ เวทนาสุขก็เกิดสุขสัญญา สัญญาว่าสุข ถ้าเวทนาทุกข์ก็เกิดทุกขสัญญา สัญญาว่าทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เกิดสัญญาว่าไม่สุขไม่ทุกข์คล้ายกับว่ามันให้ความหมายลงไปที่สิ่งนั้นมันเรียกว่าสัญญา ถ้ามันไม่มีความหมายลึกซึ้งหรือมันเป็นเพียงผิวๆนอกมันก็เลิกกัน ถ้ามันลึกเป็นสัญญามั่นหมายแล้วมันก็จะเกิดสังขารโน่น เสียงไก่นี่ถ้าไม่หมายความว่าอะไรก็เลิกกัน แต่ถ้าคุณมั่นหมายว่าอะไรกินเนื้อไก่ เอ้ามันก็ไปต่อไป สัญญาทำให้เกิดสังขารว่าจะฆ่าไก่กินหรือว่าจะเลี้ยงไก่ดูสวยๆ มันจะเป็นอะไรก็ได้เป็นสังขารคือความคิด เมื่อสัญญามั่นหมายว่าเป็นอย่างไรอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้วมันก็จะเกิดความคิดไปตามอำนาจของสัญญานั้นที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น หรือจะไม่เอา ไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็น มันเกิดความคิด อยากจะเลี้ยงไก่ขึ้นมา อยากจะกินไข่ไก่ขึ้นมา อยากจะเอาไว้ดูเล่นขึ้นมานี้มันก็เป็นความคิดที่ว่าสังขาร สังขารคำนี้แปลว่าปรุงๆ ปรุงในที่นี้คือปรุงในจิตใจคือคามคิด เดี๋ยวนี้เรื่องของเราไม่ได้มีแต่ไก่ที่ขันอยู่นี่ มันมีทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเวทนาอย่างนั้น เวทนาอย่างโน้นสารพัดอย่าง เวทนาแต่ละอย่างๆให้เกิดความสำคัญมั่นหมายเป็นสัญญาๆๆ สัญญาที่เลวร้ายที่สุดก็คือสัญญาว่าตัวกู สัญญามั่นหมายว่าตัวกู สัญญาว่าของกูนั่นแหละมันจะกัดเจ้าของ สัญญาเพียงว่ามันเป็นอะไรๆมันก็ดับไป แต่ถ้าสัญญาว่าเป็นตัวกู ของกูมันก็ไปต่อๆจนถึงกิเลสเป็นความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นกิเลสก็ได้ เป็นสติปัญญาเป็นความรู้ก็ได้ นี้เรียกว่ามันเกิดความคิดแล้วเรียกปรุงแล้ว นี้เรียกว่าสังขาร ปรุงแต่งออกมาเป็นความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ คิดจะได้ คิดจะมี คิดจะเป็น คิดจะเอาก็คิด นี้เรียกว่าสังขาร แล้วมันก็คิดจะทำ โดยมากคิดจะทำกรรม กรรมดีกรรมชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วไปตามนั้นอีกทีนึง ถ้าคิดจะมีก็ไปหามาสิ บ้านเรือนไม่มีก็คิดสร้างขึ้นมาสิ รถยนต์ไม่มีก็คิดซื้อมาสิ สังขารเป็นความคิดเป็นเหตุให้เกิดการกระทำกรรม นี่ความคิดเป็นสังขารทุกชนิด แล้วไปทำให้เกิดการปรุงแต่งๆทุกชนิดมันก็เป็นสังขารต่อไปอีกช้ันหนึ่ง คือปรุงกันไปตามลำดับนี่เรียกว่าสังขาร
เอ้า ทบทวนตั้งแต่ทีแรกว่ารูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส แล้วมันก็เกิดวิญญาณสัมผัสที่ตรงนั้นอีกทีหนึ่งก่อนๆ แล้วมันก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา พอเกิดเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ ไอ้วิญญาณมันสัมผัส มโนวิญญาณมันสัมผัสเวทนาอีกทีหนึ่ง เวทนาให้เกิดสัญญาๆ มโนวิญญาณมันสัมผัสสัญญาอีกทีหนึ่ง แล้วเมื่อวิญญาณมันสัมผัสได้ทุกตอน ตอนที่เป็นเวทนาก็สัมผัส ตอนที่สัญญาก็สัมผัส ตอนเป็นสังขารก็สัมผัสด้วยวิญญาณคือมโนวิญญาณ มโนวิญญาณนี่สัมผัสหลายหน จึงไปเอาไว้หลังสุดเลย สำคัญมากสุดเลยไว้หลังสุด เป็นที่ห้า เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จริงมันเกิดแล้วตั้งแต่รูปขันธ์ จึงมากระทบกัน จงรู้จักว่าวิญญาณๆนี้ทำการสัมผัสหลายหน ที่เราจะเห็นได้ง่ายๆก็เช่นว่า ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณอันดับแรก มันก็เห็นเพียงว่าสีอะไร รูปร่างอย่างไร โดยสีสันเป็นอย่างไร โดยรูปร่างเป็นอย่างไร วิญญาณนี้รู้เพียงเท่านี้ วิญญาณจะเด็กจะเล็กจะแรกมี ก็เห็นว่าสีอะไร รูปร่างอย่างไรแล้ว ไอ้มโนวิญญาณมาสัมผัสอีกทีว่าสีอย่างนั้น รูปร่างอย่างนั้น มันก็ทำให้รู้ว่าเป็นอะไรขึ้นมา เช่นว่านี่ รวมกันหมดนี่เป็นอะไรน่ะ เป็นดอกไม้หรืออันนี้รวมกันหมดอย่างนี้เป็นกองขี้หมาแล้วแต่ว่ามันจะสัมผัสลึกลงไปถึงอะไร ทีนี้มันก็สัมผัสลึกต่อไปว่ามีคุณค่าอย่างไร ประโยชน์อย่างไรโน่นนั้นจะไปเกิดเวทนาลึกลงไป วิญญาณไปสัมผัสตัวนี้ว่าหอม เหม็น ดี ชั่ว จะเอาไปขายได้ จะเอาไปทำอะไรก็ได้ เอาไปทำเป็นยาพิษก็ได้ เอาไปทำเป็นอาหารก็ได้ เนี่ยวิญญาณ ทีหลังมันจะสัมผัสรู้ไปถึงคุณค่า วิญญาณทีแรกรู้เพียงว่ารูปร่างอย่างไร สีสันอย่างไร ลักษณะอย่างไร แต่ถ้าวิญญาณเอามโนวิญญาณมาสัมผัสอีกทีมันรู้ไปถึงคุณค่า อย่างนี้มีคุณค่าอย่างไร ประโยชน์อย่างไรนั่นแหละ มันก็รู้ลึกไปกว่า ไอ้เวทนามันก็รู้ลึกไปกว่า ฟังดูว่าน่าเวียนหัว แต่มันไม่น่าเวียนหัวหรอก อย่าเอาไปปนกันมากเกินไป อายตนะถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณหรือโสตวิญญาณแล้วแต่ห้าขั้นแรก ถ้าวิญญาณทางตาล้วนๆก็รู้แต่ว่าสีอะไร รูปร่างอะไร คือรู้เพียงคลื่นแสง ที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่าคลื่นแสงมากระทบกันเข้ากับระบบประสาททางตา ก็รู้เพียงเท่านั้นน่ะว่าสีอะไร ว่ารูปร่างอย่างไร ถ้าเสียงมากระทบหูก็เกิดคลื่นเสียง คลื่นเสียงถี่อย่างนั้นไม่ได้กำหนดว่าเสียงอะไร แต่มันสัมผัสด้วยมโนวิญญาณอีกทีแล้วมันจึงรู้ว่าเสียงอะไร มันไพเราะหรือไม่ไพเราะ สัมผัสทีแรกก็เพียงสัมผัสโดยระบบทางประสาท รู้ทางลักษณะของภายนอก แต่พอมโนวิญญาณมาสัมผัสมันรู้เรื่องภายในลึกเข้าไป ความหมายของเวทนานั้นก็ลึกๆๆเข้าไปจนเป็นเวทนาที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นสุขเวทนา หลายชั้น สุขเวทนาชั้นง่ายๆชั้นผิวๆก็มี ถ้าลึกเข้าไปมันก็ยิ่งจับจิตจับใจ ลึกไปถึงเวทนาที่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามก็ลึกถึงที่สุด ผูกพันจิตใจถึงที่สุด มีเรื่องร้ายที่สุดก็เพราะเวทนา มีเรื่องดีที่สุดก็เพราะไอ้เวทนา จัดการกับมันให้ดีๆ นั้นก็ควรจะรู้กันแล้วว่าเวทนาทางไหนที่กำลังเป็นปัญหาแก่มนุษย์ จูงจมูกมนุษย์ไปที่ไหนก็ได้ ด้วยเห็นๆกันอยู่ว่าเวทนาทางเพศตรงกันข้ามมันลึกซึ้ง มันละเอียด แม้แต่พวกเทวดาก็ไม่ยกเว้น พวกเทวดาก็บ้าก็หลงในเวทนาเหมือนกัน ก็เวทนามันเกิดลดลงไปๆมันก็ต่ำลงไปได้ อำนาจมันก็ลดลงไป แต่ถ้าว่าสูงสุดก็เป็นอารมณ์ที่รุนแรงๆ ไม่รุนแรงก็ลดลงมาๆเป็นเรื่องเล็กน้อย จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆหรือจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มันก็แล้วแต่รสๆของเวทนาเรียกว่าอัสสาทะๆ ที่ตั้งแห่งความยินดีรักใคร่พอใจหลงใหล นี่เรียกว่าอัสสาทะ เวทนามีหลายชนิด อัสสาทะก็มีหลายชนิด เวทนามีหลายระดับหลายชั้น อัสสาทะมันก็มีหลายชั้น ก็ดูเอาเอง ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว บางทีก็ผิวเผิน บางทีก็ไม่ผิวเผิน บางทีก็มากที่สุด นี้เวทนาๆ ในห้าอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พระพุทธเจ้าทรงระบุเวทนาว่าเป็นตัวปัญหา ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเวทนาแล้วมนุษย์ไม่มีปัญหาอะไร มันมีสิ่งที่เรียกว่าเวทนา มันจูงจมูกคนไปทำอะไรก็ได้ ทำเลวก็ได้ ทำดีก็ได้ แล้วแต่เวทนาที่เขาต้องการ งั้นถ้าควบคุมเวทนาไม่ได้ก็ไปๆๆไม่รู้จักจบ ไปดี ไปชั่ว ไปอะไรไปกันอย่างไม่รู้จักจบถ้าควบคุมเวทนาไม่ได้ ถ้าควบคุมได้มันก็อยู่ในระบอบขอบเขตที่ถูกต้องที่ควรจะมี นั้นการเป็นทาสเป็นบ่าวเป็นทาสของเวทนานั้นน่ะคือตัวปัญหา คนที่อยู่ในโลกนี้ คนธรรมดาใครบ้างที่ไม่เป็นทาสของเวทนา เป็นทาสของเวทนาก็แสวงหาเวทนา ก็เรียกว่าเป็นทาสของตัณหาก็ได้ ตัณหามันดึงไปพาไปแสวงหาไอ้เวทนา จะเรียกว่าเป็นทาสของตัณหาก็ถูก จะเรียกว่าเป็นทาสของเวทนาก็ถูก แต่ดูเหมือนพระพุทธเจ้าท่านประสงค์ให้เน้นหนักที่เวทนา ให้เกิดอะไรได้ทุกอย่าง เกิดดี เกิดชั่ว เกิดบุญ เกิดบาป เกิดสารพัดอย่างถ้าไปหลงใหลในเวทนา จะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีกมันก็เป็นเรื่องหลงในเวทนา ไม่รู้จักสิ้นจักสุด ในชาตินี้มันจะเกิดแล้วเกิดอีกๆเพราะหลงใหลในเวทนาอันไม่มีที่สิ้นสุด จะเรียกผู้ชักจูงไปก็ได้สุภาพหน่อย แต่ที่จริงมันมากมันหยาบคายจนถึงกับเรียกว่าไสหัวมันไปเลย ไสหัวมันให้ไปหาเวทนา เนี่ยถ้าตัณหามันแรงมากมันก็ไสหัวแรงมากไปหาเวทนา ถ้าได้ก็หลงใหลพอใจ ถ้าไม่ได้ก็ขัดใจแล้วมันก็ฆ่ากันตายได้ ในบาลีก็พูดถึงว่าพ่อฆ่าลูกก็ได้ ลูกฆ่าพ่อก็ได้ถ้ามันเวทนาทางเพศๆ เมื่อไม่ได้อย่างใจแล้วมันก็ฆ่าได้แม้แต่ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าเพื่อน ทำเล่นกับเวทนา
เอาล่ะ เป็นอันว่าเราพูดกันครบห้าแล้วนะ ขอทบทวนคำว่าขันธ์ห้าให้มันชัดเจนกว่าที่แล้วมาว่ารูป เวทนา ว่าสัญญา ว่าสังขาร ว่าวิญญาณ มีเนื้อหนังร่างกายเป็นที่ตั้งแห่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับสัมผัสข้างนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้เป็นรูปขันธ์ รูปขันธ์ภายใน รูปขันธ์ภายนอก คู่นี้คู่ภายในภายนอกมาถึงกันเข้าอาศัยกันเข้าเรียกว่าเกิดปฏิจจะๆ อาศัยกันเข้า เมื่อเกิดวิญญาณๆระดับแรก นี่วิญญาณขันธ์ วิญญาณกับอายตนะทำกันอยู่รวมกันอยู่เรียกว่าสัมผัส ถ้าดูที่ตัวสัมผัสก็เป็นรูปขันธ์ ถ้าดูที่ตัวการกระทำก็มาฝ่ายเวทนากัน แต่มันแน่นอนว่ามีผัสสะ ผัสสะแล้วก็มีเวทนา สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ๆ แปลว่าความรู้สึกที่เกิดมาจากการสัมผัสเรียกว่าเวทนา เมื่อเป็นเด็กๆเล็กๆอยู่วัดพูดจากันเรื่องธรรมะ เวทนาขันธ์ๆ เด็กบางคนเขาเสนอขึ้นมาว่าโอ่งหรือไหที่ปากมันเล็กแคบมันลำบากที่ขันจะลงไป อย่างนี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ เป็นเรื่องตลกแต่ก็เป็นคำพูดที่ให้ความหมาย เวทนาขันธ์คือโอ่งปากเล็กๆขันลงไม่ถึง เด็กมันรู้เท่านี้มันก็ว่าไปอย่างนี้ เวทนาขันธ์ไม่ใช่เรื่องเล็กๆอย่างนี้ เรื่องครอบงำจักรวาลเลย สัตว์โลกในโลกไหนก็ตาม เทวโลก มารโลก พรหมโลกติดพันเวทนา อย่าว่ามนุษย์ที่นี้สองสามคน ในโลกนี้มันก็เป็นทาสของเวทนา รู้จักเวทนาให้ดีอย่างนี้ พอเวทนาแล้วมันก็สำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคุณค่าๆของเวทนานั้นว่าจะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างไร ทำเคยผ่านมาแล้วแต่หนหลังมันก็จำได้ๆมากขึ้น แบบนี้ นี้เป็นอย่างไร ข้าวปลาอาหารเป็นอย่างไร ความสุข ความทุกข์ เกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างไร สัญญาๆว่าอะไรเป็นตัวเวทนาอะไร เป็นตัวให้เกิดเวทนา เกิดเวทนาแล้วมันมีรสชาติอย่างไร สำคัญมั่นหมายอย่างนี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ๆ กองหรือหมวดที่ทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย สัญ-ญา “ญา”แปลว่ารู้ “สัญ”แปลว่าทั่วพร้อม “สัญญา”แปลว่ารู้จักทั่วพร้อมก็คือสำคัญมั่นหมาย แล้วก็สำคัญมั่นหมายอยู่ตลอดเวลา ในเงิน ในทอง ในข้าวในของ ในอารมณ์ ในอะไรก็ตาม มีความสัญญา ทำสัญญาว่าได้ ว่าเสีย ว่าแพ้ ว่าชนะ ว่าบุตรภรรยาสามี ว่าแล้วแต่จะสัญญา พอมันสัญญาได้ความหมายเข้ามาอย่างไรมันก็เกิดความคิดไปตามสัญญานั้น ความคิดนี้เรียกว่าสังขาร สัญญาว่าสวยมันก็จะเอา สัญญาว่าดีมันก็จะเอา บางทีสัญญาว่าชั่วมันก็ยังอยากจะเอาเพราะมันเป็นสัญญาที่ผิด นี่ขอให้เข้าใจชัดเจนอย่างนี้ทั้งห้าอย่าง อย่าให้เป็นความลับมืดมิดอยู่ไม่รู้ว่าอะไร เช่นเดียวกับเรารู้จักทุกสิ่งที่มีอยู่ในบ้านของเรา สิ่งของอะไรมีอยู่ในบ้านในเรือนโดยเฉพาะในห้องนอนมันมีอะไรบ้าง เราจงรู้จักขันธ์ทั้งห้ามีอยู่ในตัวอัตภาพๆชีวิตสังขารนี้ สังขารในที่นี้หมายถึงอัตภาพ ในร่างกายในชีวิตนี้มีส่วนห้าส่วนที่ควรระลึกรู้สึกรู้จักควบคุมให้ได้ แล้วท่านก็จะเห็นได้เองว่ามันมีอยู่คราวเดียวพร้อมกันไม่ได้หรอก มันจะต้องมีอายตนะก่อนถึงจะมีวิญญาณ มีวิญญาณมีอายตนะแล้วยังมีผัสสะมีเวทนา มีเวทนาสำหรับทำสัญญามันจึงจะสัญญาได้ สัญญาอย่างไรแล้วมันจึงเป็นสังขารคือคิดนึกไป มันไม่พร้อมแต่ว่ามันเนื่องกันไปๆ เพราะความที่มันเนื่องกันไปยังไม่ขาดตอนมันจึงพูดว่ามันมีห้า มีห้าขันธ์ แต่มันไม่ใช่มีอยู่ในลักษณะที่ว่าแตงโมลูกหนึ่งเอามาผ่าเป็นห้าเสี้ยวมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเพราะมีรูปขันธ์ก็เกิดวิญญาณ การเกิดเวทนา การได้เกิดสัญญา การได้เกิดสังขารขันธ์ ความคิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆไปในทางสร้างสรรค์อันใหม่แล้วก็เป็นสังขารขันธ์หมด มันก็เลยเนื่องไปถึงการกระทำกรรม ทีนี้ก็เป็นเรื่องทางจิตใจ แล้วก็ได้รับผลกรรมก็เป็นเรื่องทางฝ่ายจิตใจ นี่เป็นเรื่องทางฝ่ายที่เป็นนามๆ ถ้าเป็นเรื่องจิตใจก็เป็นเรื่องนาม ถ้าเป็นเรื่องทางกายก็เป็นเรื่องรูป ถ้ามันสัมพันธ์กันอยู่แยกกันไม่ได้มันก็เป็นนามรูป หรือเป็นรูปนามเป็นนามรูป แต่คงจะมองเห็นได้เองว่ามันไม่สามารถจะแยกเป็นส่วนเเดียวได้โดดๆ มันสัมพันธ์กันเสมอ รูปและนาม นามและรูปสัมพันธ์กันเสมอ นี้ถ้าเห็นว่า โอ้ มันห้าอย่างๆนี้ ห้าอย่างๆนี้ นี้จะประเสริฐจะวิเศษ ตัวตนที่ไหนกันน่ะๆ มันเกิดห้าส่วนห้าอย่าง มันปรุงแต่งกันอยู่อย่างนี้ ไอ้ความคิดที่จะเอาอะไรเป็นอัตตาเป็นตัวตนมันก็ไม่มี ถ้ามันโง่ๆมันดูแต่ที่ว่ามันทำอะไรได้มันก็เกิดตัวตนขึ้นมา เอารูปขันธ์ล้วนๆๆๆ เอาร่างกายล้วนๆเป็นตัวตนก็ได้ เพราะตาก็ทำอะไรได้ หูก็ทำอะไรได้ จมูกก็ทำอะไรได้ ก็เลยเอานั้นเป็นตัวตนก็ได้ เอาตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นตัวตนก็ได้ คือเอารูปขันธ์เป็นตัวตน นี่เอารูปเป็นตัวตน แต่ที่จริงไม่ใช่ตัวตน ไอ้รูปขันธ์ก็รูปขันธ์ พอเกิดวิญญาณรู้สึกได้รู้แจ้งได้รู้ความหมายได้ โอ้ อันนี้เป็นตัวตนกว่า เอาวิญญาณเป็นตัวตน หรือเมื่อเกิดเวทนา เวทนาอยู่เต็มจิตเต็มใจมันรู้สึกเวทนาได้ก็เอาเวทนาเป็นตัวตน ให้เวทนาเป็นตัวเองให้รู้สึกได้ด้วยตนเอง อันนี้ก็เอาเวทนาเป็นตัวตน นี้สำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไรก็เอาสัญญาเป็นตัวตน ความคิดนึกจะทำอะไรจะปรุงแต่งอะไรต่อไปก็เอาสังขารเป็นตัวตน นี่คือขันธ์ห้าซึ่งเป็นธรรมชาติแท้ๆล้วนๆตามธรรมชาติของสภาวธรรม อวิชชาความโง่มันยึดถือว่าเป็นตัวตน ยึดถือว่ารูปเป็นตัวตน เวทนาเป็นตัวตน สัญญาเป็นตัวตน สังขารเป็นตัวตน วิญญาณเป็นตัวตน อย่าพยายามกลบเกลื่อนหรือแก้ตัว มองเห็นได้ชัดว่าเราได้โง่ไปอย่างไรดีกว่า เราได้โง่เอารูปเป็นอย่างไร เอาเวทนาเป็นตัวตนอย่างไร สังขาร วิญญาณเป็นตัวตนอย่างไร เห็นให้ชัดเสียดีกว่า มันก็ไม่แก้ตัวเพราะว่ามันจะดับทุกข์ ให้เห็นว่าเป็นตัวตนอย่างไรแล้วก็มารู้เสียใหม่ให้ถูกต้องว่ามันไม่ใช่ตัวตน คนในอินเดียก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็รู้เรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมาแล้ว แต่เขาเอาเป็นตัวตนคือมันรู้ผิดเอาขันธ์ห้าเป็นตัวตน พอพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ท่านรู้ถูก ท่านจึงเริ่มบอกคือบอกปัญจวคีย์พวกที่รับคำสอนชั้นแรกว่ารูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน เป็นความรู้ใหม่ ไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นตัวตน มันไม่เกิดกิเลส มันไม่เกิดความทุกข์ใดๆ ถ้าเอาอะไรเป็นตัวตนมันก็เกิดกิเลส เกิดความทุกข์เพราะเหตุนั้น นี่คือหัวใจๆ หัวใจของธรรมะ หัวใจของศาสนา ถ้าเอาขันธ์ห้าเป็นตัวตนก็เป็นความทุกข์ เอาขันธ์ห้าเป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติของมันอย่าเอามาเป็นตัวกูของกูมันก็ไม่ต้องทุกข์ จงรู้จักขันธ์ทั้งห้าให้ชัดเจนเหมือนกับเรารู้จักทุกส่วนของร่างกาย ทุกสิ่งของพัสฏานทุกอย่างในบ้านเรือน รู้จักให้มันชัดเจนอย่างนั้น รูปขันธ์กับอายตนะมากระทบกัน วิญญาณขันธ์ก็อายตนะภายในภายนอกอาศัยกัน เวทนาขันธ์ก็เมื่อมีผัสสะ สัญญาขันธ์ก็เมื่อมีเวทนาก็มีสัญญา สังขารขันธ์ก็มาจากสัญญาในสิ่งเหล่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักขันธ์ทั้งห้ามาแล้วในลักษณะอย่างนี้ก็ขออนุโมทนาสาธุการว่าท่านเป็นพุทธบริษัท สมควรแก่ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ถ้ารู้จักขันธ์ห้าแต่เพียงชื่อท่องได้ท่องจำกันได้ เอาล้อกันเล่นเสียด้วย ยังไม่เป็นพุทธบริษัท อาตมาสังเกตดูแม้แต่พระเณรบางองค์มันก็ไม่รู้จักขันธ์ห้าตัวจริง แต่มันสวดอยู่ทุกวัน "รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา รูปัง อนัตตา" มันสวดอยู่ทุกวันแต่มันไม่รู้ว่าอะไร มันก็มีอวิชชา มันก็ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า ก็เกิดกิเลสเกิดทุกข์ เรียกโดยอุปมาก็ว่าแบกของหนักอยู่ตลอดเวลา แบกรูปขันธ์เป็นของกู แบกเวทนาขันธ์เป็นของกู แบกสัญญาขันธ์เป็นของกู แบกสังขารขันธ์เป็นของกู แบกของหนัก ไม่เอามาแบกก็ไม่หนัก พอเอามาแบกก็หนัก อะไรนิดก็ตามถ้ามาแบกก็เป็นของหนัก เงินบาทเดียวเอามาแบกก็เป็นของหนักคือยึดถือว่าของกูเป็นของหนัก ถ้าไม่ยึดถือเป็นของกูก็คือไม่แบกก็ไม่หนักคือไม่หนัก เดี๋ยวนี้เงินฝากอยู่ในธนาคารแต่มันก็หนักอยู่บนจิตใจของเจ้าของอยู่ที่บ้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าแบกของหนัก เงินฝากอยู่ในธนาคารแต่มากดทับจิตใจของเจ้าของที่อยู่ที่บ้าน นั่นแหละคำว่าแบกของหนัก คือแบกขันธ์ทั้งห้าขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือระยะใดระยะหนึ่ง ว่าเป็นตัวตนว่าเป็นของตน การหมายมั่นสำคัญผิดมีได้ง่ายแล้วก็มีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่ เรามีสำคัญเป็นตัวฉันเป็นของฉัน กินนมอร่อยก็ฉันอร่อย ไปกินอะไรไม่อร่อยเข้าก็ฉันไม่อร่อยเข้าก็เกิดโทสะ นี่ความหมายมั่นเป็นตัวฉันของฉันมันเป็นสัญชาตญาณๆ เป็นตัวฉันของฉันที่ไหนมันก็หนัก ที่นี้มันไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น มันกลายเป็นเห็นแก่ตัว เห็นว่าตัวๆเป็นตัวนี้ยังไม่เท่าไหร่เป็นของหนัก แต่พอเห็นแก่ตัวทีนี้จะทำชั่ว จะมีกิเลสสารพัดอย่าง รู้สึกว่าเป็นตัวๆอยู่ตลอดชีวิตนี้ยังไม่เท่าไหร่ พอเห็นแก่ตัวก็จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรู้สึกเลวร้ายสารพัดอย่างนาๆประการ เรียกว่าเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่ทำคนให้เป็นทุกข์ทั่วไปทั้งโลกที่เบียดเบียนกันอยู่เพราะเห็นแก่ตัวทั้งนั้น อย่าให้พูดมันมากมายเลย พูดเป็นชั่วโมงก็ไม่จบว่าเห็นแก่ตัวๆเลวร้ายเท่าไร ทำให้ทั้งโลกๆ มนุษโลก เทวโลกยังเห็นแก่ตัวอยู่ ก็ยังมีความทุกข์ ถ้าไม่รู้สึกว่ามีตัวมันก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว พอมีความรู้สึกว่าเป็นตัวๆๆๆๆมันก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละ ความเลวร้ายมันก็เข้ามา ที่มันเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิษฉาริษยา หวงหึงนี่เพราะมันมีความรู้สึกว่าเป็นตัว มันมีตัวก้อน แล้วมันจึงเห็นแก่ตัว มันก็รักตัว มันก็ไม่รักผู้อื่น หรือมันเกลียดคนอื่นเพราะมันมีตัวที่เป็นปฏิปักษ์ ถ้าเอาความเห็นแก่ตัวออกเสียได้ ไม่มีกิเลสก็ไปนิพพานกันหมด ถ้ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ก็มีกิเลสก็อยู่กันที่นี่ อยู่กันในวัฏสงสารก็คือความมีตัวแล้วก็เห็นแก่ตัว พอถามว่าเห็นที่ตรงไหนก็ที่ขันธ์ห้า นั้นจัดการกับขันธ์ห้าให้ดี ให้ชัดเจน ให้แจ่มแจ้ง อย่าเห็นโดยการเป็นตัว งั้นมันจึงไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันจะถูกอะไร ถูกแวดล้อม ไม่ได้สั่งสอนโดยตรงหรอก มันถูกแวดล้อมมาตามธรรมชาติให้เป็นตัวเสียหมดไม่เห็นว่าเป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ ที่ง่ายๆว่าตาเห็นรูป ระบบประสาทตาแล้วก็สัมผัสรูปที่เป็นคลื่นเสียงคลื่นแสง มันก็ไม่พูดว่าตาเห็นรูป แต่มันพูดว่ากูเห็นรูป ที่จริงตา ระบบประสาทตามันเห็นเคลื่นแสงเป็นรูป แต่ไม่ยักพูดว่าตาเห็นรูป พูดว่ากูๆเห็นรูป ท่านเปรียบเทียบกันดู มันต่างกันกี่มากน้อย ถ้าตาเห็นรูปก็จัดการไปตามเรื่องของตา แต่ถ้ากูเห็นรูปมันก็จัดการไปตามเรื่องของกู นี่มันมากนัก ถ้าสวยก็จะเอา ถ้าไม่สวยก็จะทำลาย กูเห็นรูปมันมีฤทธ์เดชมาก แต่ตาเห็นรูปมันนิดเดียว หูเหมือนกัน หูมันได้ยินเสียง แทนที่จะพูดว่าหูได้ยินเสียงก็พูดว่ากูๆได้ยินเสียง มันก็แบ่งแยกเป็นไพเราะหรือไม่ไพเราะแก่กู ก็เกิดตัณหา เกิดต้องการไอ้ความไพเราะ หรือเกิดรำคาญในความไม่ไพเราะ อย่างที่เราโกรธเมื่อหนวกหู กลิ่นก็เหมือนกัน มันควรจะพูดว่าจมูกได้กลิ่น อย่าพูดว่ากูๆได้กลิ่น ถ้ากูได้กลิ่นมันปรุงแต่งไปจนต้องไปซื้อหามา น้ำหอมขวดแพงเท่าไหร่ก็เอาทั้งนั้น ถ้าเป็นเพียงเรื่องของจมูกก็ไม่ต้องๆ ไอ้ลิ้นนี้ร้ายกาจมาก ไอ้ลิ้นได้รสก็ขอให้เป็นลิ้นได้รส อย่าขอให้เป็นกูได้รส มันต่างกันมาก พอลิ้นได้รสไม่อร่อยๆก็ปรุงแต่งได้ เติมได้อะไรได้ รสอร่อยก็เป็นเรื่องของลิ้น ถ้าเป็นเรื่องของกูมันมีปัญหามาก พอไม่อร่อยมันก็โกรธๆ บางทีมันก็เทอาหาร มันก็ไล่แม่ครัว มันไปถึงขนาดนั้นน่ะถ้าว่ากูไม่อร่อย ถ้าลิ้นไม่อร่อยมันก็ง่ายนิดเดียว เติมน้ำตาล เติมน้ำปลา เติมน้ำส้มนิดหน่อยมันก็ได้แล้ว มันก็หมดปัญหาแล้ว แม่ครัวก็ไม่ต้องเดือดร้อน เนี่ยขอให้สังเกตไอ้ตรงนี้ว่าถ้ามันเป็นเรื่องของอายตนะมันก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรนัก เป็นทุกข์ก็เป็นง่ายๆเรียบๆไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความโง่ว่าเป็นตัวกูๆของกูแล้วก็มหาศาล ปัญหามหาศาล ความวุ่นวายใหญ่โตขึ้นมา งั้นท่านจงเริ่มด้วยการเห็นว่าขันธ์ห้าแต่ละขันธ์มันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่องของการปรุงแต่ง เป็นผัสสะ เป็นเวทนา แล้วก็ว่าเป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นขันธ์ทั้งห้าก็ได้ ถ้าเก่งจริงก็เป็นปฏิจจสมุปบาทไปเลย ละเอียดเป็นปฏิจจสมุปบาทไปเลยก็ยิ่งดี ถ้าว่าอย่างต่ำอย่างน้อยที่สุดขอให้เป็นเรื่องของขันธ์ห้า ขันธ์ทั้งห้าแต่ละขันธ์ๆ อย่าเป็นของกูคือไม่มีอัตตาว่าเป็นของกู ไม่มีอัตตนียาว่าของกู สบาย ถ้ามาเอาเป็นตัวกู เป็นของกูก็เท่ากับแบกของหนัก แบกของหนักอยู่ตลอดเวลา แม้นอนหลับมันก็ยังฝัน แบกของหนักในความฝัน ถ้าไม่เอามาเป็นตัวกูมันก็ไม่หนักอยู่ในจิตใจ มันอยู่ไปตามเรื่องตามราวของมัน พอเอามาเป็นตัวกูมันก็มาอยู่ในจิตใจกดทับจิตใจเบียดเบียนจิตใจเป็นความหนักและเป็นความทุกข์ อย่างนั้นพูดให้มันเสียใหม่ง่ายๆ ว่าเรามันเป็นทุกข์กันเพราะความโง่ ไปเอาสภาวธรรมของธรรมชาติมาเป็นของกู มาเป็นตัวกู อย่าเลย ปล่อยให้เป็นสภาวธรรมของธรรมชาติเช่นขันธ์ห้านี่เป็นสภาวธรรมของธรรมชาติ มันมีธรรมชาติอย่างนี้ๆๆอย่างที่ว่ามาแล้วว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่าให้มันหลงมากจนถึงกับเอามาเป็นตัวกู ถ้าว่ามันเป็นธรรมชาติก็เรียกว่าเป็นปัญจขันธ์แต่พอเอามาเป็นตัวกู เปลี่ยนชื่อทันทีเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์ห้าๆแต่ละขันธ์ ถ้ายังไม่ไปยึดถือว่าเป็นตัวตนมันก็เป็นปัญจขันธ์ๆๆตามธรรมชาติปัญจขันธ์ แต่พอเอามาเป็นตัวกู ของกู มันเปลี่ยนชื่อทันทีเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ที่ท่านสวดมนต์อยู่น่ะ สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เสยฺยถีทํ รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขารูปทานกฺขนฺโธ วิญฺญาณูปาทานกฺขนฺโธ มันเป็นอุปาทานขันธ์คือขันธ์ที่มีอุปาทานยึดมั่นว่าตัวกู ถ้าไม่ยึดถือก็เป็นขันธ์ล้วนๆไม่เป็นของหนัก พอยึดถือเอามาเป็นของกูคือแบกมันๆก็เป็นของหนัก พระอรหันต์สลัดออกไปได้ไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นตัวกู ของกู ท่านก็ไม่มีความหนัก แต่ปุถุชนๆเอาอะไรมาเป็นตัวกู ของกูไปจนหมดเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ดีก็ดีของกู ที่ชั่วก็ชั่วของกู อะไรก็ของกูๆมันก็เลยหนัก นั่นน่ะความทุกข์ เราจึงรู้จักเบญขันธ์ว่าเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมธรรมดา มันก็เป็นปัญจขันธ์ไป เข้ามาเป็นของกูก็เป็นปัญจุปาทานขันธ์ ชื่อมันยาวคือขันธ์ที่ยึดถือไว้ด้วยอุปาทาน เป็นของหนัก ขันธ์ล้วนๆไม่มีใครแบก ไม่มีใครยึดมันก็ขันธ์เฉยๆ มันก็ไม่หนัก ท่านทั้งหลายลองคำนวณดูเถอะว่าเรื่องขันธ์ห้ากับไม่รู้เรื่องขันธ์ห้ามันต่างกันกี่มากน้อย ไม่รู้เรื่องขันธ์ห้าปล่อยไปตามธรรมชาติมันก็ยึดมั่นโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะมันถูกอบรมแวดล้อมให้ไปยึดมาโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่อ้อนแต่ออก อะไรน่ะ ตาของกู หูของกู จมูกของกู ลิ้นของกู นี่มันก็เลยยึดถือทีแรกแล้วว่ารูปของกู เวทนาของกู สัญญาของกู สังขารของกู วิญญาณของกู จงดูที่เด็กๆน่ะ มันก็กูเห็น กูได้ยิน กูได้กลิ่น กูได้รส ไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมันก็ถูกแวดล้อมให้เด็กๆนั่นเป็นของกูมากขึ้น เพราะว่าคนเลี้ยงเด็กมันจะพูดปลอบโยนเด็กให้สบายใจ มันก็เลยให้เป็นของกู แม่ของหนู พ่อของหนู บ้านของหนู รถยนต์ของหนู อะไรของหนูๆๆไปหมด มันก็เกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นในจิตใจของเด็กทารกน้อยๆ ก็ได้รับการแวดล้อมประคบประหนมเอาอกเอาใจให้เป็นตัวกูเป็นของกู มันก็โง่ขึ้นมากขึ้นๆ โตแล้ว เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมันก็ยิ่งมีของกูๆๆ ความเจ็บก็ของกู ความเจ็บปวดก็ของกู ความสุขความพอใจก็ของกู มันเลยหนักทั้งขึ้นทั้งล่อง คือได้มาก็หนัก เสียไปก็หนัก ถูกใจก็หนัก ไม่ถูกใจก็หนัก ข้อนี้ท่านต้องสังเกตดูให้ดีๆว่าถ้าดีใจก็วุ่นวายอีกแบบหนึ่ง เสียใจมันก็วุ่นวายไปแบบหนึ่ง ถ้าไม่ ไม่ดีใจไม่เสียใจมันก็ไม่วุ่นวายอะไรเลย แต่นี่มีเรื่องแต่ว่าจะให้ดีใจหรือให้เสียใจ แล้วเราก็ชอบดีใจ ชอบให้ใครๆมาทำให้เราดีใจสบายใจ ให้หาอะไรๆมาขับกล่อมให้มันสบายใจ แล้วมันก็เคลิ้มไปด้วยความสบายใจดีใจ ก็ดูให้ดี ถ้าดีใจๆรุนแรงมันฟุ้งซ่านที่สุด ดีใจจนกินข้าวไม่ลง ดีใจจนนอนไม่หลับ ดูให้เห็นข้อนี้ซิ งั้นอย่าไปหลงกับมันนักเรื่องดีใจ ไอ้เรื่องเสียใจนั้นมันไม่ไหวถูกแล้วๆ เสียใจก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับเหมือนกัน แต่ถ้าดีใจสุดเหวี่ยงมันก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับเหมือนกัน เพราะงั้นนิพพานๆจึงอยู่เหนือความดีใจ เหนือความเสียใจ เหนือความสุข เหนือความทุกข์ เหนือบุญ เหนือบาป เพราะว่าบุญมันก็ยุ่งไปในแบบบุญ บาปมันก็ยุ่งไปตามแบบบาป อย่าเอาทั้งสองอย่างนั่นจึงจะเป็นพระนิพพาน บ้าดี จิตดี เมาดี หลงดีน่ะ สนุกอยู่เมื่อไหร่ บ้าบุญ เมาบุญ หลงบุญ ติดบุญ มันก็สนุกอยู่เมื่อไหร่ล่ะ มันก็ยุ่งเท่ากับชั่วหรือบาป ถ้าอยากมีความสงบสุขเป็นพระนิพพานเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็อย่าไปหลง หลงดี หลงชั่ว หลงบุญ หลงบาป หลงสุข หลงทุกข์ ไม่หลงอะไรทุกๆคู่ ทุกๆคู่ ไม่หลงอะไรที่เป็นของคู่ นั่นแหละจิตว่างอยู่เหนือ เรียกว่าวิมุตหลุดพ้นไปจากสิ่งทั้งปวง ไอ้ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ทุกคู่ทิ้งไว้ในโลกนี้ให้มันอยู่ในโลกนี้ ถ้าเหนือโลกก็อย่าเอา มันก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เหนือโลกมันจึงสบาย ก็เรียกว่าโลกุตระ โล-กุด-ตะ-ระ ทิ้งขันธ์ทั้งห้านี้ไว้เป็นของโลก อยู่ในโลก เหนือโลกไม่มี ที่เหนือโลกนั้นมันไม่มี ถึงจะว่ามีจิตใจไปรู้สึกพระนิพพานที่เหนือโลก มันก็เป็นเรื่องของจิตใจ พระนิพพานจะมาอยู่ในโลก จะเป็นโลกไม่ได้ แต่ว่าจิตใจสัมผัสได้เพราะพระนิพพานนี่ก็เป็นสิ่งที่จิตใจจะสัมผัสได้ เพียงแต่ว่าความดีหรือรสของการที่มีนิพพานคือไม่มีกิเลส คือไม่ยึดถือในขันธ์ห้า งั้นน่ะจิตสัมผัสพระนิพพาน ถ้าจิตยึดถือในขันธ์ห้าว่าถูกปักไว้ที่นี่ จิตอยู่กับขันธ์ห้าไม่ออกไปสัมผัสรู้รสพระนิพพาน มันก็รู้รสแต่อายตนะที่นี่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์มาอยู่ที่นี่ๆเรียกว่ารู้อายตนะในทางวัตถุ ดีกว่านั้นหน่อยก็ไปรู้เรื่องฌานสมาบัติ..ภาษาบาลี..... คือเป็นอายตนะที่เป็นอรูปฌาน อันนี้ก็พอจะรู้ได้ด้วยการทำจิตใจเพียงเท่านี้ แต่ถ้าจะรู้จักอายตนะคือพระนิพพานแล้วต้องทำจิตใจ ฟรี อิสระ หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้หรือว่าหลุดจากสิ่งทั้งปวงในโลก มันจึงจะเป็นโลกุตระได้ ทีนี้ก็พูดให้ชัดเข้ามาเพราะว่าไม่มาหลงอยู่ในขันธ์ห้า ถ้ามาหลงในขันธ์ห้าไม่มีเวลาจะรู้สึกหรือสัมผัสพระนิพพาน สลัดขันธ์ห้าออกไปหมด ไม่มีการยึดถือขันธ์ห้านี่ก็วิมุติ จิตวิมุติออกไปสู่พระนิพพาน รู้รสพระนิพพานคือการที่ไม่ยึดมั่นในขันธ์ห้า วิมุติคือไม่ยึดมั่นในขันธ์ห้า หลุดพ้นไปจากขันธ์ห้า ก็ไปรู้ความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นน่ะความว่างนั่นน่ะคือพระนิพพาน งั้นจึงอยู่เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ ถ้าพอพูดอย่างนี้ไม่มีใครชอบเพราะทุกคนยังชอบสุข ชอบสนุก เล่านิทานหนึ่งนาทีให้ฟังสักเรื่องนึง ผู้หญิงคนหนึ่งเขามา ผู้หญิงสูงอายุน่ะ เขามาบอกว่าต้องการไปนิพพาน ช่วยอธิบายเรื่องนิพพานที อยากจะไปนิพพานเต็มทีแล้ว อาตมาบอกว่าในนิพพานไม่มีรำวงโว้ย บอกเพียงเท่านี้ เขาก็บอกงั้นขอคืนๆไม่ต้องการนิพพาน เพราะเขาชอบรำวง เป็นนักรำวง เป็นแม่บท เป็นตัวหัวหน้ารำวง เขาคิดว่าในพระนิพพานจะมีรำวงอย่างดีอย่างพิเศษอย่างสูงสุดเลิศไปกว่าที่มีที่นี่ เนี่ยความยึดมั่นถือมั่นน่ะมันเป็นอย่างนี้ ถ้ายังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าอยู่มันก็ติดอยู่กับขันธ์ห้า ไปรู้จักพระนิพพานไม่ได้ ท่านจงรู้จักขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ๆ แล้วรู้จักปฏิจจสมุปบาทว่าเป็นอย่างนี้ๆ เอาไปจับกันเข้าดูจะเห็นว่าปฏิจจสมุปบาทตอนไหนที่จะเป็นรูปขันธ์ ตอนไหนเป็นเวทนาขันธ์ ตอนไหนเป็นสัญญาขันธ์ ตอนไหนเป็นสังขารขันธ์ ตอนไหนเป็นวิญญาณขันธ์ ถ้าว่าจำแม่นยำคล่องแคล่วในปฏิจจสมุปบาทก็เห็นได้ทันทีว่าอายตนะนอกในเป็นรูปขันธ์ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอายตนะพบกันก็เป็นวิญญาณขันธ์ แล้วเป็นผัสสะก็เป็นเวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์ด้วยกัน นี้พอเป็นสัญญาขันธ์มั่นหมายนี่มันก็เรื่องกรรมตัณหาเข้าไปในขอบเขตของตัณหา งั้นตั้งแต่ตัณหาตลอดลงไปโน่นว่าเป็นสังขารขันธ์คือการปรุงแต่ง ไอ้อย่างนี้มันสิบอย่าง ไอ้อย่างนี้มันห้าอย่าง ไปดูเถอะมันมีอยู่ครบ ห้าอย่างขยายเป็นสิบเอ็ดสิบสองอย่างก็ได้ สิบเอ็ดสิบสองอย่างร่นให้เหลือห้าอย่างก็ได้ ท่านผู้ใดรู้จักปฏิจจสมุปบาทดี รู้จักขันธ์ห้าดีก็จะรู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เราแยกหรือเราแบ่งให้มันมากหรือมันน้อยตามความสะดวก ถ้าแยกเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทมันก็มากอย่างก็เข้าใจยาก ถ้าแบ่งเพียงห้าก็ง่ายหน่อยเข้าใจได้ง่าย ก็เรียกขันธ์ห้าว่าเป็นมาตรฐานก็ได้ของพุทธบริษัททั่วไปสำหรับศึกษาพุทธศาสนาจนไม่ยึดมั่นขันธ์ห้าว่าเป็นตัวตนเรื่องก็จบ เรื่องมันก็จบ งั้นเดี๋ยวนี้ในขันธ์ห้านั้นมันมีสิ่งยั่ว สิ่งล่อ สิ่งหลอกให้ยึดมั่นถือมั่น ให้หลงรัก หลงพอใจ ถ้าตรงกันข้ามมันก็หลงเกลียด หลงโกรธมันก็สนุกดีเหมือนกันน้า ได้ด่าเขา ได้ตีเขาก็สบายใจเหมือนกัน เนี่ยในโลกนี้นี่มันหลอกอย่างนี้ ถ้าไม่มาหลงในเรื่องอย่างนี้มันก็ไม่ติดในขันธ์ห้า มันก็เป็นวิมุติหลุดพ้นออกไป ท่านจงดูให้ดี ให้เห็นชัดว่ามันติดคุกติดตารางอยู่ในขันธ์ห้า เพราะไม่มียึดมั่นถือมั่นที่ผูกล่ามอะไรไว้ในขันธ์ห้ามันก็หลุดออกไป อวิชชาความโง่เกิดตัณหาความอยากเนี่ยเป็นโซ่เป็นตรวนผูกมัดจิตใจให้หลงติดอยู่ในขันธ์ห้า แล้วก็มีอาการอย่างที่ว่า ช่วยท่องจำไว้เป็นตัวอย่างกันลืม ความรักก็ผูกอีกอย่าง ความโกรธก็ผูกอีกอย่าง ความเกลียดก็อย่าง ความกลัวก็อย่าง ความตื่นเต้นก็อย่าง วิตกกังวลก็อย่าง อาลัยอาวรณ์ก็อย่าง อิจฉาริษยาก็อย่าง หวงหึงก็อย่าง สิบอย่างนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆที่แสดงให้เห็นว่ามันเกิดแก่ทุกคนหรือเกิดทุกวันเพราะว่ามีขันธ์ห้าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เลิกยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าแล้วจะไม่มีสิบอย่างนั้น สิบอย่างที่กัดเจ้าของ ถ้าอยากจะให้ชีวิตนี้มีอิสระ มีเสรีภาพ ไม่ถูกกัดถูกเผา ถูกล่ามถูกครอบงำครอบคลุมอยู่ด้วยสิ่งใดแล้วก็จงละความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าเสีย อย่าไปยึดมั่นถือมั่นขันธ์ทั้งห้าแต่อย่างใดแต่ประการใดก็จะไม่ถูกเบียดเบียนด้วยสิ่งเหล่านั้น ชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของๆ พอไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าแหละมันกัดในลักษณะของรูปๆก็กัด ในลักษณะของเสียงๆก็กัด ในลักษณะของกลิ่นๆก็กัด ในลักษณะของรสๆก็กัด สัมผัสผิวหนังมันก็กัด ความคิดของจิตใจมันก็กัด แล้วจะเป็นพุทธบริษัททำไมกัน ก็เพื่อจะไม่ให้ถูกกัด พุทธะๆแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้คือรู้ความจริง ตื่นคือไม่หลับ เบิกบานคือว่าไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นพุทธะจริงต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะรู้จักขันธ์ห้าจนไม่ยึดมั่นในขันธ์ห้า มันก็เท่ากับผู้รู้แล้วก็ไม่หลับ แล้วก็เบิกบานเหมือนดอกไม้บาน ถ้าเบิกบานโดยธรรมะที่ถูกต้องของสติปัญญานี่มันเบิกบานทางจิตใจคือมันเบิกบานที่ไม่รู้จักโรย เบิกบานของดอกไม้ธรรมดาเดี๋ยวเดียวมันก็โรย ถ้าเบิกบานทางจิตใจด้วยสติปัญญาตามแบบที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้แล้วมันก็บานที่ไม่รู้จักโรยคือการตรัสรู้ การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นความเบิกบานที่ไม่รู้จักโรย ชีวิตได้รับสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าดีที่สุด สูงสุดๆดีกว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบกับพระพุทธศาสนา ได้พบกับพุทธศาสนาแล้วจงได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพียงแต่เข้าใจก็มีประโยชน์อย่างยิ่งแล้ว ถ้าปฏิบัติได้ด้วยก็ยิ่งประเสริฐยิ่งวิเศษ ก็อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง เนี่ยท่านจงมองให้เห็นให้รู้จักว่าความทุกข์มันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตน เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตนมันก็เกิดตัณหา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากเอา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นความอยากก็เป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดเพราะความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง พอไม่ยึดมั่นมันก็ไม่เกิดความทุกข์ อาจจะเกิดความทุกข์ ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดนั่นแหละวิเศษ คำว่าดับทุกข์ๆเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่าทำไม่ให้มันเกิดความทุกข์นั่นคือดับทุกข์ เกิดความทุกข์แล้วไปดับทุกข์มันสนุกอะไร มันเกือบตาย ถ้าดับทุกข์เพราะมันเกิดความทุกข์ก็จะไปดับความทุกข์นี่มันเกือบตาย ทำไม่ให้เกิดความทุกข์ป้องกันไว้ด้วยสติปัญญาไม่ให้เกิดความทุกข์ ดับทุกข์นี่ก็ไม่มีประโยชน์ งั้นช่วยเข้าใจให้ดีว่าดับทุกข์ๆคือทำไม่ให้มันเกิดทุกข์ เห็นง่ายๆว่าเมื่อดับไฟๆ เนี่ย ถ้าไฟเกิดแล้วไปดับมันก็ยุ่งตายไหม้พอง ถ้าทำอย่าให้ไฟมันเกิดนั่นหน่ะมันก็ไม่มีปัญหาเรื่องไฟ มันดับไฟก็จงตัดที่ต้นเหตุอย่าให้ไฟเกิด ดับทุกข์ก็ดับที่ต้นเหตุอย่าให้ทุกข์เกิด พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเรื่องเหตุสิ่งทั้งปวงมาแต่เหตุแล้วก็เป็นไปตามเหตุนี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท มันมาจากเหตุ มันเป็นไปตามเหตุ การที่ต้องเป็นไปตามเหตุนั่นแหละคือความทุกข์ ตัดที่ต้นเหตุนี่ฉลาด ตัดที่ปลายเหตุไม่ฉลาด เขาพูดกันมาแต่ก่อนนานแล้วอาตมาก็จำไม่ได้ว่าใครจะเป็นคนพูดคนแรก แต่ดูเหมือนจะพูดตรงๆกันในฝ่ายเอเชียทั้งฝ่ายยุโรปโน่นว่า ตัดที่ปลายเหตุโง่เหมือนลูกหมา ตัดที่ต้นเหตุฉลาดเหมือนลูกเสือลูกราชสีห์ พูดเพียงเท่านี้ท่านฟังออกไหม ใครเอาไม้ไปแหย่หมาๆมันก็กัดที่ปลายไม่นั่นแหละ กัดอยู่ที่ปลายไม้ แต่ถ้าเอาไม้ไปแหย่ลูกเสือลูกราชสีห์ มันก็กระโจนไปที่คนถือไม้ มันไม่ไปมัวกัดปลายไม้หรอก นั่นน่ะมันจัดการที่ต้นเหตุ มันก็เรียกว่าเป็นลูกเสือลูกราชสีห์คือมันเก่งมันฉลาด แต่มัวกัดที่ปลายเหตุต่อสู้ที่ปลายเหตุมันก็โง่เป็นลูกหมา พุทธบริษัทเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะโง่เป็นลูกหมาไม่ได้ต้องเป็นลูกเสือลูกราชสีห์ ตัดที่ต้นเหตุ กำจัดที่ต้นเหตุ นี่ศึกษาต้นเหตุแห่งความทุกข์คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าแล้วจะเกิดกระแสอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทแล้วมันก็เกิดทุกข์ มันเนื่องกันอย่างนี้ ทำผิดในขันธ์ห้า ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าก็เกิดการปรุงแต่งเป็นปฏิจจสมุปบาทอิทัปปัจจยตามันก็เกิดทุกข์ พอท่านเข้าใจอย่างนี้แล้วมันก็เรื่องเดียวกัน พยายามเข้าใจให้ดีเถอะขันธ์ห้าๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องทั้งหมดของความทุกข์แล้วก็ความดับทุกข์ ขอให้รู้จักขันธ์ห้ายิ่งขึ้นไปๆๆๆ รู้จักเหตุให้เกิดตัณหาคือขันธ์ห้า คือความโง่ความอวิชชาไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า หยุด หยุดยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าแล้วก็ไม่เกิดปฏิจจสมุปบาทแล้วก็ไม่ทุกข์ เพียงแต่รู้เท่านั้นแหละก็ประเสริฐวิเศษเหลือประมาณ นี้ถ้าปฏิบัติได้ก็ยิ่งวิเศษยิ่งขึ้นไปอีก งั้นปฏิบัติอานาปานะสติให้คล่องแคล่วๆ เพื่อจะให้รู้จักขันธ์ห้า ไม่ยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้า แล้วก็จะไม่เผลอสติไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ มันก็ไม่เกิดการยึดมั่นในขันธ์ห้า ไม่เกิดอาการแห่งปฏิจสมุปบาท เราก็ฟรีๆๆๆคือเป็นอิสระ เป็นอิสระจากความทุกข์ โลกนี้ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ ก็เรียกว่าเราอยู่เหนือโลก ความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เราก็อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คือไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะไม่มีตัวคู่ มันมีแต่ขันธ์ห้า ก็เป็นเรื่องของขันธ์ห้าไปสิ อย่ามาเป็นเรื่องของกู เนี่ยผู้ที่มีความรู้อย่างนี้แล้วก็จะไม่ยึดถือว่ามีตัวตนสำหรับจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีแต่สภาวธรรม เป็นไปตามเรื่องของสภาวธรรมไม่รับมาเป็นตัวกู ของกู อย่างนี้เรียกว่าพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะไม่มีตัวกูที่จะรับเอาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฟังดูคล้ายกับเล่นตลกแต่เป็นความจริง ไม่เกิดตัวกูสำหรับที่จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็คงจะไม่ลึกลับเกินไป ตัวกูของกูนี้มันอธิบายยาก มันมากมายมันลึกซึ้ง อย่าเป็นตัวกู อย่าเป็นของกู ไอ้ชีวิตนี้อย่าเป็นตัวกู อย่าเป็นของกู เป็นเพียงขันธ์ห้าเรียกว่าสภาวธรรมของธรรมชาติ เป็นเพียงปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเพียงสภาวธรรมของธรรมชาติ อย่าเป็นตัวกู
ทีนี้เขาก็จะเกิดการถามขึ้นมาว่าแล้วจะเป็นอะไรถ้าไม่เป็นตัวกูของกู ชีวิตนี้เป็นอะไรถ้าไม่เป็นตัวกูของกู ท่านมีคำตอบไหม จะให้เป็นอะไร จะให้เป็นอย่างไรชีวิตนี้ คำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนามันก็ส่อไปในทางที่ให้เราเห็นว่าชีวิตนี้ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เป็นของยืมๆมาจากธรรมชาติๆๆให้ยืมมา คนเฒ่าคนแก่สมัยโบราณเขาก็มีความรู้เรื่องนี้นะ ที่อาตมาเคยได้ยินได้ฟังทันเขาพูดคนเฒ่าคนแก่มีความรู้ธรรมะดีแต่ไม่ได้รู้ดีมากที่สุดก็บอกต่อๆกันมา รับต่อๆกันมา ให้มีหลักว่ายืมมา ชีวิตนี้ยืมมา ยืมมาจากธรรมชาติ ธรรมชาตินี่เราเข้าใจยากว่าคืออะไรแต่ก็มันคือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วมีกฏเกณฑ์อยู่ตามธรรมชาติ ทำให้เกิดหน้าที่ตามธรรมชาติ นั่นน่ะมันเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติให้ยืมมาโดยไม่รู้จักตัวธรรมชาติ เรียกว่าพระเจ้าซะเลยก็ได้ไอ้ธรรมชาติ พระเจ้าให้ยืมมาก็ได้ ธรรมชาติให้ยืมมาก็ได้เหมือนกันแหละ เพราะเราไม่อาจจะรู้จักตัวแท้จริงของพระเจ้าหรือของธรรมชาติแต่รู้ว่าไอ้เนี่ยที่ตั้ง ที่เกิด ที่ปรุงแต่ง ที่ยุ่งยากลำบากทั้งหลาย เอ้า เอาเป็นว่าชีวิตนี้เป็นของยืมมาจากธรรมชาติจะดีไหม ดีกว่าเป็นตัวกู ของกูไหม ถ้าชีวิตนี้เป็นตัวกูของกูมันก็ยึดมั่นถือมั่นแล้วกัดเอาๆๆเจ้าของหน่ะ เอ้า ทีนี้เปลี่ยนไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เป็นของธรรมชาติให้ยืมมา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ทุกๆธาตุธรรมชาติให้ยืมมาประกอบกันเข้าเป็นอัตภาพนี้ เป็นรูปนามนี้ เป็นตัวคนนี้ ให้ยืมมา ไอ้ที่เรียกว่าของยืมน่ะมันต้องส่งคืนเจ้าของ ถ้าไม่ส่งคืนเจ้าของเป็นของปล้นเป็นของขโมย นี่ธรรมชาติให้ยืมมา คนก็เอามาเป็นตัวกู ของกูเสีย อย่างนี้ก็ปล้น กบฎ หลอกลวงเจ้าของสิ เจ้าของมันก็กัดเอาสิ คือธรรมชาติน่ะมันจะกัดเอาให้เป็นทุกข์ ก็คุณเล่นไม่ซื่อขอยืมมาแล้วก็เอาของตัวเสียเอง จึงถือว่าเป็นของยืมมาพัฒนาๆๆให้ได้ผลดีที่สุด ให้จิตใจนี้รู้จักพระนิพพานก่อนแต่ที่ร่างกายนี้จะแตกดับ พัฒนาๆกันอย่างนี้แล้วก็คืนเจ้าของ ไม่คืนมันก็คืนของมันเองคือความตาย เท่ากับว่าคืนเจ้าของ ธรรมชาติให้มาทุกอย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หรือจะเรียกว่านาม รูป ขันธ์ห้า อะไรก็แล้วแต่จะเรียก ธรรมชาติให้ยืมมา ใจดีนะไม่คิดดอกเบี้ย ให้ยืมยังไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าสึกหรอด้วย ให้ยืมมาแต่ผู้ยืมมันโกงมันตระบัติเป็นของกู พอตระบัติเป็นของกูก็ถูกลงโทษเป็นทุกข์ อย่าตระบัติ ให้เป็นของยืมมา รีบพัฒนาๆๆให้สูงสุดจนบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คือปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา ซึ่งมันรวมอยู่หมดทั้งสามอย่างนั้นในอานาปานสติภาวนา ถ้าท่านเจริญอานาปานสติภาวนาก็จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา นั่นน่ะเป็นเครื่องพัฒนาของที่ยืมมา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณได้รับการพัฒนาๆจนหายโง่ จนไม่มีอวิชชา จนได้รับรสของพระนิพพาน นี่ยืมมา พอตายก็คืนเจ้าของ ตลอดเวลานั้นเราไม่โกงว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู เราก็ไม่มีความทุกข์ นี่เรียกว่าเป็นอุบายก็ได้หรือจะเป็นเคล็ดก็แล้วแต่จะเรียก จัดให้ชีวิตนี้เป็นของยืมมันจะดีกว่ามั้ง ดีกว่าจัดให้เป็นตัวกู ของกู ตัวกู ของกูเข้มข้นเด็ดขาดนี่จะกัดเอา เป็นของยืมก็จะปฏิบัติอย่างถูกต้องในลักษณะของยืมมันก็เป็นการคืนเจ้าของโดยอัตโนมัติว่ามีความตายมาถึงเข้า ไม่ต้องกลัวความตายหรอกความตายนี่เป็นเพียงคืนของยืมให้เจ้าของเดิมไม่ต้องกลัวหรอก ก็ไม่มีความทุกข์ นี่ปู่ย่าตายายเขาเคยคิดกันอย่างนี้ เขาเคยสอนกันอย่างนี้ แล้วคำกล่าวในพระคัมภีร์มันก็ส่อความหมายไว้อย่างนี้คือเราบังคับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออากาศ วิญญาณตามความต้องการไม่ได้ เป็นไปตามเรื่องของมัน แต่ว่าเอามาใช้ได้น่ะ เอามาใช้ได้ เอามาปรับปรุงเป็นอัตภาพ เป็นนาม เป็นรูป เป็นชีวิตร่างกายนี้ได้ แล้วก็เก่งมาก ก็พัฒนาได้ถึงที่สุดบรรลุมรรคผลนิพพานโน่น นั่นน่ะได้ของอย่างนี้แล้วเปลือกนอกเพียงร่างกายน่ะจะเอาไปทำไมให้เจ้าของคืนเจ้าของไปก็แล้วกัน ของดีๆที่อยู่ข้างในของเราจิตใจได้รู้ได้รับเสวยหมดแล้ว เปลือกนอกคืนเจ้าของ อย่างนี้ง่ายดี ที่พูดอย่างนี้เพื่อให้มันง่ายขึ้น ถ้าคิดว่าเป็นตัวกูของกูมันต้องเรียนกันมาก ต่อสู้กันมาก แต่ถ้าคิดว่าเป็นของงยืมชั่วคราวดูมันจะง่ายดี ท่านทั้งหลายจงมองให้เห็นขันธ์ห้าๆเป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ จิตใจมาเอาเป็นตัวกูเป็นของกูก็ได้ผลอย่าง ถ้าจิตใจเอามาเป็นเพียงของยืมชั่วคราว ใช้ประโยชน์ชั่วคราวแล้วคืนเจ้าของมันก็เป็นอีกเรื่องนึง อย่างไหนไม่มีความทุกข์ท่านก็คิดดูเอง ตระบัติเอาเป็นของกูทั้งที่เขาให้ยืมมา ในโลกนี้ก็ต้องเป็นทุกข์ เช่นเขายืมเงินยืมของมาใช้แล้วมาตระบัติเป็นของกูไม่คืนเจ้าของมันก็มีเรื่อง แต่ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง ใช้ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด แล้วไปคืนเจ้าของ ก็จะเป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ยืมทั้งผู้ให้ยืม ไม่มีปัญหา นี่จงปฏิบัติต่อขันธ์ทั้งห้าในลักษณะเป็นของยืมมันจะง่ายๆกว่าอย่างอื่นหมด อย่าเอาเป็นตัวกู อย่าเอาเป็นของกู สวดท่องอยู่ตลอดเวลา รูปังอนัตตา เวทนาอนัตตา สัญญาอนัตตา สังขาราอนัตตา วิญญาณังอนัตตา เนี่ยให้มันอนัตตาจริงสิ คือมันไม่ใช่ตัวกูไม่ใช่ของกู เป็นสภาวธรรมของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายกับยืมมาๆ พัฒนาๆโดยการประพฤติปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา ได้รับผลเป็นที่พอใจแล้วก็เลิกกัน งั้นอย่าหมายมั่นยึดมั่นในขันธ์ว่าเป็นตัวกูของกู เพราะว่าแม้แต่ร่างกายชีวิตที่ใช้นี่มันก็เป็นของธรรมชาตินั่นแหละ ถ้าไปยึดมั่นสิ่งใดมันก็จะเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ยึดมั่นว่าเงินของกูมันก็เป็นทุกข์เพราะเงิน ยึดมั่นว่าวัวควายไร่นาของกูมันก็เป็นทุกข์เพราะวัวควายไร่นา แม้แต่จะยึดมั่นถือมั่นว่าภรรยาของกู บุตรของกู มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะยึดมั่นภรรยาหรือลูกหลาน ไม่ยึดมั่นในสิ่งใดก็ไม่มีความทุกข์เลย ถ้ายึดมั่นในสิ่งใดก็เกิดความทุกข์เพราะเหตุนั้น นั้นท่านจึงสอนไม่ให้ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ถ้าไม่เคยได้ยินก็ได้ยินเสีย พระบาลีว่า "สัพเพธรรมานาลัง อภินิเวสายะ" ทวนอีกทีนะ "สัพเพธรรมานาลัง อภินิเวสายะ" แปลว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนว่าของตน ธรรมทั้งปวงไม่ยกเว้นอะไรๆ จะเป็นเหตุ จะเป็นผล หรือจะเป็นการกระทำ หรือเป็นอะไร จึงพูดได้ว่า ตั้งแต่ขี้ปุ่นจนถึงพระนิพพาน ไม่หมายมั่นยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู ปล่อยเป็นธรรมชาติๆ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ อย่าไปยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน ก็มีลักษณะเป็นของยืมอยู่โดยอัตโนมัติ ตามอัตโนมัติ เกิดแล้วมันก็ตาย ในระหว่างที่ยังไม่ตายนั้นน่ะทำให้ชีวิตนี้เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน นี่เป็นกำไรๆๆเหลือที่จะกล่าว แต่อย่าไปยึดถือเป็นกำไรเลย ถือว่าเป็นเช่นนั้นเองๆ ไม่มีความทุกข์ก็แล้วกัน ถ้าไปยึดถือว่ากำไรๆเดี๋ยวมันก็ยึดถือกำไรเข้าอีก แล้วเดี๋ยวกำไรจะกัดเอา กำไรน่ะมันจะตบหน้าเอา อย่าพูดว่าเป็นกำไรๆที่ไหน ธรรมชาติมันอย่างนั้นเอง ทำอย่างนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ ทำอย่างนี้ก็เป็นทุกข์ ก็เลือกเอาทำอย่างที่ไม่เป็นทุกข์ รู้จักขันธ์ห้าทุกๆขันธ์เป็นไปตามธรรมดาอย่างนั้น ไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของตนที่ไหนก็กัดเอาที่นั่น เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ยึดถือมากกัดมาก ยึดถือน้อยกัดน้อย นี่เรียกว่าชีวิตกัดเจ้าของ
จึงขอแสดงความหวังในที่สุดท้ายนี้ว่าท่านทั้งหลายจงมีชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ ต่อไปนี้จงมีชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ ให้ความรู้ความเข้าใจความถูกต้อง คือความสะอาด ความสว่าง ความสงบแก่จิตใจ ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ไม่เท่าไรร่างกายมันก็ดับไปมันก็เลิกกัน เอาล่ะนี่คือเรื่องขันธ์ทั้งห้า ขันธ์ทั้งห้าเป็นสภาวธรรมคือเป็นเองตามธรรมชาติ ก็จัดการให้มันเหมาะ ถูกต้องว่าเป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ อย่ากล้าเอามาเป็นตัวกูเป็นของกูด้วยความโง่ ไม่โง่เสียอย่างเดียวก็ไม่ไปเอามายึดมั่นถือมั่น คือหลักว่าทุกอย่างๆ ธรรมทั้งปวงเป็นรูปก็ดี เป็นนามก็ดี เป็นเหตุก็ดี เป็นผลก็ดี เป็นกรรมก็ดี เป็นผลกรรมก็ดี เป็นการกระทำก็ดี ทั้งหมดนั่นแหละอย่าเอามาเป็นตัวตนหรือว่าของตน เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ มีสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ห้าตั้งอยู่เป็นหลัก เป็นประธาน คือมันเกี่ยวข้องกับชีวิตถึงขนาดที่อยู่เป็นตัวชีวิต ไม่เอาเป็นตัวตนของตน หมดปัญหา นี่คือเรื่องขันธ์ห้าๆ ขอให้รู้จักขันธ์ห้าถึงตัวจริงให้ถึงที่สุด อย่ารู้จักแต่เพียงชื่อเพียงเสียงแล้วก็ท่องๆๆกันจนหนวกหูแต่ไม่รู้จักตัวจริงๆ ไม่ต้องท่องให้หนวกหูก็ได้ รูปเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร วิญญาณเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ยึดมั่นสิ่งใดส่วนใดโดยความเป็นของตน ไม่ยึดมั่นแต่ละขันธ์แล้วก็ไม่ยึดมั่นทุกขันธ์ ไม่ยึดมั่นทั้งนั้นเรื่องก็จบ เนี่ยคือเรื่องขันธ์ห้าสภาวธรรมตามธรรมชาติที่ท่านจะต้องรู้จัก ถ้าเห็นว่ายึดมั่นถือมั่นอยู่ก็รีบปล่อยวาง ปล่อยวางไม่ได้ก็ไปหัดทำอานาปานสติจะเกิดปัญญาถึงขนาดปล่อยวาง เรื่องของเราก็จะจบ ท่านรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ดี แล้วก็ทำอานาปานสติเพื่อควบคุมให้ได้ เพื่อปล่อยวางให้ได้ ก็คุ้มค่าๆที่มา เสียเวลาเสียเงินเสียทองเสียเรี่ยวเสียแรงเหน็ดเหนื่อยเนี่ย มันควรจะได้สิ่งที่คุ้มค่าคือความรู้ที่ดับทุกข์ได้ ความสามารถปฏิบัติดับทุกข์ได้ตลอดชีวิตเลย เอ้า มันหมดเวลาแล้ว มันสองชั่วโมงแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ตั้งใจฟังที่ดีด้วยความอดกลั้นอดทนเป็นเวลาสองชั่วโมงแล้ว ขอให้มันเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่การรู้จักพระนิพพาน ได้รับรสของพระนิพพานด้วยกันจนทุกๆท่าน มีความเย็นอกเย็นใจเป็นนิพพุติก็ได้ เย็นถึงที่สุด ดับทุกข์เป็นพระนิพพานเลยก็ได้ อย่างน้อยก็ให้มีความเย็นที่เป็นความหมายของพระนิพพานอยู่ตลอดทุกธิภาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย