แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าท่านทั้งหลายคงจะเริ่มเข้าใจ เรื่องเกี่ยวกับการฝึกฝน การปฏิบัติธรรมอย่างที่เรากระทำกันอยู่นี้ ว่ามันมีอะไร อย่างไร หรือจะเรียกว่ามีรสชาติเป็นอย่างไร แม้ที่สุดแต่เรื่องการตื่นแต่เวลาเช้ามาก ๆ หรือการเดินเวลาเช้ามาก ๆ ซึ่งไม่เคยกระทำ พอไปกระทำเข้าก็จะรู้จัก ยิ่งกว่ารู้จักมันก็จะรู้สึก ว่าเป็นอย่างไร ชีวิตจิตใจเวลาอย่างนี้เป็นอย่างไร ก็จะได้รู้สึกหรือรู้จัก เหมือนกับการเดินเวลาอย่างนี้เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เกิดเดินไกลตั้งกิโลเศษ ๆ เป็นอย่างไร คือมันมากกว่าการเดินที่เรียกว่าเดินจงกลมตามธรรมดาของภิกษุผู้ปฏิบัติ คือตามธรรมดาภิกษุปฏิบัติก็เดิน แต่แม้ภิกษุผู้ไม่ปฏิบัติแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังลงมาเดินในเวลาอย่างนี้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังมาเดินที่เรียกว่าจงกลม จงกลมก็แปลว่าเดินเวลาอย่างนี้ ก็ลงมาเดิน ข้อนี้เป็นความลับของธรรมชาติ
ฝรั่งเขานิยมเดิน ก็เรียก Morning Walk ก็เดินมันก็ได้รับประโยชน์ แต่คนที่ขี้เกียจเห็นแก่นอนก็สั่นหัว ในเรื่องราวก็มีถึงกับว่า พระอรหันต์ตาบอดก็อุตสาห์ลงมาเดินเวลาอย่างนี้ ที่จริงถ้าตาบอดมันก็มืดอยู่ตลอดเวลาเดินเวลาไหนก็ได้ แต่ก็ยังอุตสาห์มาเดินเวลาหัวรุ่งอย่างนี้ นั้นมันต้องมีความลับอะไรบางอย่างที่ว่าเดินเวลาอย่างนี้ มันเกิดอะไรขึ้นที่เป็นที่รู้กันอยู่มาก ๆ ก็ว่าสมาธิหรือปัญญาที่เกิดขึ้นเวลาเดินนั้น เป็นสมาธิหรือปัญญาที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเวลาอื่น
ปัญญาคือความรู้ ความคิดที่เกิดเวลาเดินมันเข้มแข็งหรือมันคมยิ่งกว่าเวลาอื่น ๆ ข้อนี้ท่านไม่เคยรู้เรื่องก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจ ความคิดที่คิดออกมาได้เวลาเดินมันชัดเจน มันถูกต้อง มันลึกซึ้ง ยิ่งกว่าเวลานอนหรือแม้เวลานั่ง แต่คนเราจะเดินตลอดเวลาไม่ได้ จะเดินมากๆ เหมือนกับนั่งก็ทำไม่ได้ ต้องใช้นั่งเป็นหลักใหญ่อยู่ดี สิ่งจะเกิดขึ้นเวลาเดิน ความรู้ที่เกิดขึ้นเวลาเดินนั้นลึกซึ้ง เฉียบแหลมกว่าอื่น โดยเฉพาะเวลานอนใช้ไม่ค่อยจะได้ เจ็บ ๆ ไข้ ๆ ก็ฝันไป คิดออกดีเวลานอน ผุดลุกขึ้นนั่งขึ้นเดิน ความคิดเหล่านั้น กลายเป็นไม่ค่อยจะถูกหรือกลายเป็นผิดไปเสียก็มี เวลาเดินนั่นสำคัญกว่า เพราะมันยากที่จะออก ออกมาได้ ถ้ามันออกมาได้มันก็ลึกซึ้งกว่า
ลองสังเกตดูเถอะว่า เดินน่าจะดี นี่ยังเป็นการบริหาร บริหารร่างกายที่ดี ทำให้สบายดี ทำให้รับประทานอาหารได้อย่างนี้เป็นต้น ขอให้สังเกต ให้เข้าใจ ให้รู้เรื่องเสียแต่บัดนี้ ว่าการเดินนั้นมีประโยชน์อย่างไร ถ้าจะเดินอย่างไม่มีผู้เดินก็ยิ่งสูงขึ้นไป คงได้ประโยชน์ประกอบบางอย่างอยู่ด้วยจบในตัว เช่นว่าเป็นการเดินบริหารร่างกายที่ต้องได้แน่ หรือฝึกหัดความไม่ชอบ ความขี้เกียจหรืออะไรก็ตามได้มากเหมือนกัน แล้วท่านอาจจะคิดอะไรได้อย่างที่ว่ามาแล้วเวลาเดินหรือว่าฝึกสมาธิ ไม่ได้คิดอะไรแต่เป็นการฝึกสมาธิในการเดิน นี่มันก็ยังเป็นสมาธิที่เข้มแข็งกว่าเวลานั่ง จะได้เลือกเอาอย่างไหนก็ได้ทั้งนั้น เป็นการบริหารร่างกายก็ได้ เป็นการฝึกการคิดที่ลึกซึ้งกว่าธรรมดาก็ได้ และก็เป็นการฝึกธรรมะชั้นสูงคือเดิน โดยไม่มีความรู้สึกตัวกูผู้เดินนั้น เป็นธรรมะ ชั้นสูงเรื่อง อนัตตา นั่นแหละคือความลับ
หัวข้อที่จะพูดกันในวันนี้ก็คือเรื่องความลับ ลึกซึ้งบางอย่างของชีวิต หรือจะเรียกว่าปรมัตถธรรมของชีวิตก็ได้ คือพูดกันในแง่ลึกของสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรม เมื่อวานก็ได้พูดแล้วว่าปรมัตถ ปรมัตถแปลว่าความหมายที่ลึกซึ้ง หรือประโยชน์ที่ลึกซึ้ง อะไรที่มันลึกซึ้งกว่าธรรมดา นี่วันนี้เราก็จะพูดกันถึงสิ่งนี้ต่อไป ว่ามันมีความลึกซึ้งอย่างไร
ความลึกซึ้งมันมีอยู่หลายระดับที่น่าหัวเราะก็มี ธรรมะนี้มันลึกซึ้งมันสูงสุด จนคนทั่วไปไม่ชอบก็มี หรือชอบได้แต่บางคนก็มี เด็กเล็กๆ ชอบกินมะม่วงอ่อน มะม่วงดิบจิ้มเกลือ จิ้มกะปิ มากกว่าที่จะชอบกินมะม่วงสุกหรือสุกงอม มะม่วงสุก สุกงอมเอาไว้ให้คนแก่กิน เด็ก ๆ กลับไปชอบกินมะม่วงอ่อน จิ้มพริก จิ้มเกลือ จิ้มกะปิกันไปตามเรื่อง นี่เพราะว่าความรู้สึกมันต่างกัน ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะที่แท้ ที่ลึก ที่สูง ที่มีประโยชน์สูงสุดบางคนไม่เข้าใจ ไม่ประสงค์ ไม่ต้องการ ต้องการธรรมะเบื้องต้นง่าย ๆ ง่าย ๆมองเห็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะที่เอาไปใช้ประกอบเรื่องโลก เรื่องการเป็นอยู่ในโลก ก็มันทำได้เหมือนกัน มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ธรรมะตลอดสายมันมากมายเป็นขั้นตอนหลายขั้น
ถ้าพูดถึงพระอรหันต์ ไม่มีปัญหาเรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย หัวเราะเยาะได้ ก็ตายอย่างปิดสวิตช์ ตายเหมือนเราปิดสวิตซ์ไฟ พระพุทธเจ้าไม่รู้จักโรงพยาบาลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เคยไปโรงพยาบาล จะนิพพานอยู่คืนนี้แล้วกลางวันยังเดินอยู่เป็นโยชน์ อาตมาเคยไปโรงพยาบาล ไปนอนอยู่ที่โรงพยาบาลก็นึกละอาย ละอายพระพุทธเจ้าที่ไม่เคยรู้จักโรงพยาบาล นี่ใครมาชวนไปโรงพยาบาลก็รู้สึกละอายพระพุทธเจ้า ไม่อยากไป ไม่อยากไป แต่มันก็น่าหัว มีเรื่องที่ต้องไป เป็นเด็กเล่นเสียด้วยซ้ำคือไปถอนฟันอย่างนี้เป็นต้น ก็ยังนึกละอายพระพุทธเจ้าทุกคราวที่ไปโรงพยาบาล
นี่เพื่อจะแสดงให้เห็นประโยชน์ลึกซึ้งของธรรมะ ถ้าจัดให้มีธรรมะอย่างถูกต้องได้ทุกขั้นตอนแห่งชีวิตเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ชีวิตก็จะประเสริฐ เรื่องนี้ก็เคยมีมาแล้ว แต่ในอินเดีย แต่ครั้งดึกดำบรรพ์พุทธกาล เกี่ยวข้องกับธรรมะ ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ เด็กครรภ์แก่จะคลอดออกมา คลอดออกมาก็มีระเบียบวิธีเกี่ยวกับธรรมะ แต่มันยังเป็นธรรมะง่าย ๆ ต้น ๆ ตื้น ๆ บางทีก็ดู คนสมัยนี้ก็ดูเป็นไสยศาสตร์ เพราะจัดพิธี ทำพิธีทุกขั้นตอนระหว่างแม่ตั้งครรภ์ แม่ครรภ์แก่ แม่พร้อมที่จะคลอดลูก ทำคลอดอะไรเขามีจัดพิธี เรียกว่าพิธีเต็มที่ มีพระ มีนักบวชมาทำพิธี ก็ต้องมีความรู้อย่างนั้น ถ้าเราไม่ต้องทำพิธี แต่เรามีความรู้ มีการกระทำให้มันถูกต้องก็เป็นคนดี มีความถูกต้องมาแต่เริ่มตั้งครรภ์ กระทั่งครรภ์แก่ กระทั่งคลอด คลอดออกมาแล้วก็ยังมีพิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเด็กโตขึ้นมาแล้วยังได้รับการสั่งสอนให้ถูกต้องให้มีธรรมะ มันต้องดีกว่านี้ ดีกว่าที่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม เอาหล่ะ เป็นอันว่ามันมีความลับอย่างยิ่งอยู่ที่ว่าธรรมนี้ ต้องใช้ ต้องมี ทุกระดับหรือทุกขั้นตอนแห่งชีวิต
ที่มันมีวิวัฒนาการเพื่อให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยๆ ขึ้นไป แต่แล้วมันก็ไม่ได้มี เราก็จะโทษใครก็ไม่ได้ มันยังไม่มีวัฒนธรรมที่ดี ที่สูงสุด ที่จะจัดให้มีธรรมะกันทุกขั้นตอน ท่านทั้งหลายไปพิจารณาเอาเอง จะจัดให้แก่ลูกหลานอย่างไรเท่าที่จะทำให้ได้ ให้มันเกี่ยวกับธรรมะหรือมีความเป็นธรรมะคือมีความถูกต้องทุกขั้นตอนก็จะมีผลดี
ก็อย่าลืมว่าธรรมะสูงสุดก็ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนที่ยังมีจิตใจต่ำ เด็กเล็ก ๆ ชอบกินมะม่วงดิบ ยิ่งกว่ามะม่วงสุกงอม อาตมาก็เคยสังเกตเห็นตัวเองรู้สึกเด็กๆ มีลักษณะอย่างนี้ ธรรมะสูงสุดก็เหมือนมะม่วงสุกงอม แต่ก็ไม่เป็นที่ชอบใจแก่เด็กๆ ถ้าเรายังมีจิตใจคล้ายๆ กับเด็ก ๆ เราก็ไม่ชอบธรรมะที่สูงสุด นี่มันเป็นความลับของธรรมะนั่นเอง หรือว่าของชีวิตคนเรานั่นเอง ควรจะทำความรู้ความเข้าใจกันเสียให้ถูกต้อง สรุปความว่าคนธรรมดาสามัญ ไม่ได้ชอบธรรมะที่แท้จริงและสูงสุดโดยเฉพาะก็คือเรื่องอนัตตา อนัตตา อนัตตามันลึกซึ้งและสูงสุด คนธรรมไม่ชอบ แต่มันก็ทำชอบตาม ๆ กันไป ชอบพูด ชอบอะไร แต่โดยเนื้อแท้มันชอบไม่ได้เพราะว่ามันลึกเกินไป เหมือนกับเด็ก ๆ ชอบกินมะม่วงดิบมากกว่ามะม่วงสุกงอม ดูกันให้ดีในเรื่องนี้ ถ้าว่าพระพุทธศาสนามีธรรมะในชั้นที่เป็นหัวใจ นั่นคือเรื่องอนัตตา
คำนี้ความหมายพิเศษและลึกซึ้งและกำลังเข้าใจผิดกันอยู่ พูดก็พูดผิด เข้าใจก็ผิด ๆ อนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไร สูญเปล่า สูญญตา สูญเปล่า แต่ความลับของคำว่าอนัตตานะมันมี สูงสุดตรงที่ว่าถ้าใครรู้แล้วมันจะไม่มีความทุกข์
อนัตตา มันแปลว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา แต่ก็พูดกันผิดๆ หรือแปลกันผิด ๆ ว่า ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ถ้าอย่างนี้มันเข้าใจผิด มันมีอัตตาแต่มันมิใช่อัตตา ฟังดูมันยาก เรียกว่าอัตตาแต่มันมิใช่อัตตานั่นแหละคืออนัตตา
คนเรามันมีความรู้สึกว่ามีตัวฉัน ตัวฉัน ตันตนมีมาแต่ในท้องด้วยซ้ำไป เป็นเด็ก ๆ ทารกก็มีตัวฉัน โตขึ้นมาก็เป็นตัวฉัน มีตัวฉันขึ้นมาตลอด คือรู้สึกในความรู้สึกตามธรรมชาติ ว่ามีตัวตนหรือตัวฉัน แต่ตัวฉันที่รู้สึกว่าตัวฉัน นั้นมันมิใช่ตัวฉัน ไม่ใช่อัตตา มันก็มีอัตตาซึ่งไม่ใช่อัตตามาตลอดเวลา แต่พอมันไปเข้าใจว่าอัตตาก็ตรงกันข้ามแสดงความผิดใหญ่หลวง ประพฤติต่อสิ่งเหล่านี้ฐานะเป็นอัตตา เป็นตัวตน มันก็ผิดจากธรรมชาติอันลึกซึ้งว่ามันมิใช่อัตตา มันสักว่าเป็นทาสตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ตามกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า ปฏิจสมุปปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ตามที่กล่าวเมื่อวาน มันมีแต่จะเรียก แล้วแต่จะเรียกว่าปฏิจสมุปปบาท ในขอบเขตที่จำกัดหรืออนัตตา อิทัปปัจจยตาก็ได้ ในขอบเขตที่ไม่จำกัด นี่มันเป็นความลับ มันเป็นอนัตตาคือมิใช่อัตตา แต่เราตามความรู้สึกกัน คนที่ไม่มีการศึกษาปล่อยมาตามธรรมชาติ มันก็รู้สึกว่ามีอัตตา มีตัวฉัน
นี่มันจะเอาอย่างความต้องการของฉันเท่านั้นแหละ มันก็เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา มีความเห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดกิเลสได้ทุกชนิด กิเลสประเภทโลภะ ราคะ ก็จะเอา กิเลสประเภท โทษะ โกรธะ จะทำลายหรือจะไม่เอา กิเลสประเภท โมหะ สงสัยเที่ยววิ่งวน สิ่งนั้นอยู่รอบ ๆ ด้วยความโง่ พอเกิดกิเลสแล้วต้องเป็นทุกข์
จงรู้จักความลับข้อนี้โดยแท้จริงโดยธรรมชาติ มันมิใช่อัตตา แต่สัตว์ตามธรรมดาสามัญมันรู้สึกว่ามีอัตตาเป็นความรู้พื้นฐาน เกิดความผิดพลาดต่อไปใหญ่หลวงคือเห็นแก่อัตตาเห็นแก่ตัวตนจนไม่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ความถูกต้อง นั่นคือปัญหา ก็ไม่อาจจะประพฤติให้ถูกต้อง ไม่อาจจะประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงเต็มไปด้วยการเบียดเบียน เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น
นั่นแหละคือความปราศจากธรรมะ เป็นความมืด เป็นอวิชชา เป็นสมบัติของปุถุชน สมบัติของปุถุชนคืออวิชชา คือความโง่ซึ่งต้องมีอัตตาที่เป็นที่หมายมั่น หมายมั่นว่าเป็นตัวตน แล้วก็เห็นแก่ตน ความจริงข้อนี้ลึกซึ้ง ถ้าเข้าใจกันไว้บ้าง ก่อนก็ดีเหมือนกันถ้ามันโงที่สุดตามธรรมดาปุถุชน มันก็ว่ามีอัตตา มีอัตตาคือมีตัวตน มีตัวกู มีของกูมีกันเต็มที่ อย่างนี้เรียกว่ามีอัตตาสุดเหวี่ยง ที่นี้ความเข้าใจผิด มิฉาทิฏฐิ หรือความ ไม่โง่อย่างอื่นตรงกันข้าม ฝ่ายข้างนี้ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องยึดถือหลักเกณฑ์อะไรเลยคือไม่มีอะไรเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า นิรัตตา นิรัตตาแปลว่าไม่มีอัตตาเอาเสียเลย แต่นี้ที่มันถูกต้อง ถูกต้องมันอยู่ตรงกลาง ตรงกลาง ไม่สุดเหวี่ยงทางซ้าย สุดเหวี่ยงทางขวา มันมีอนัตตาที่ไม่ใช่ตน จึงมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา ข้างนี้เรียกอัตตา ข้างนี้เรียกนิรัตตา ตรงกลางเรียกว่าอนัตตา ถ้าเข้าใจ 3 คำนี้ถูกต้อง รับประกันได้จะไม่มีความรู้สึกผิดพลาดในพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้ว่ามันไม่ใช่อัตตา ที่คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นอัตตา เราทั้งหลาย แรก ๆ นี้ก็รู้สึกเป็นว่าอัตตา อัตตา หมายมั่นเป็นอัตตา แต่ความจริงสิ่งนั้นมิใช่อัตตา เป็นอนัตตา คือมิใช่อัตตา มาว่าเอาเองตามความโง่หรืออวิชชา ก็มีปัญหาเกิดเห็นแก่ตัวแล้วเกิดทุกข์ นั่นแหละรู้ความหมายของคำ 3 คำ อัตตา มันมีอัตตาเต็มที่ นิรัตตา มันไม่มีอะไรเลย คือไม่มีอัตตาอะไรเลย แต่ตรงกลาง อยู่ตรงกลางที่เป็นความถูกต้อง มันมีอนัตตาคือมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา ถ้าเรารู้จักสิ่งนี้ดี เราประพฤติต่อสิ่งนี้ให้ถูกต้องในฐานะที่มันเป็นอัตตาแต่ ในทางที่เรารู้สึก รู้สึกว่าเป็นอัตตาแต่มันมิใช่เป็นอัตตา นั่นแหละคือความลับสูงสุดของชีวิตก็ได้ หรือของปรมัตถธรรมแห่งชีวิตก็ได้ ความลับสูงสุดของธรรมะสูงสุด ก็คือว่ามันเป็นอนัตตา แต่ปุถุชนก็รู้สึกว่าเป็นอัตตา อัตตาอยู่ตลอดเวลา
นี้ความลับยังมีอยู่อีกว่าถ้ารู้สึกแต่เพียงว่าเป็นอัตตา อัตตา เท่านี้ยังไม่เท่าไหร่ ยังไม่ร้ายกาจอะไร ถ้ามันเลยไปเช่นถึงกับเห็นแก่อัตตา เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว นี่เพิ่งเกิดทีหลังนี่ตอนร้ายกาจ พอเห็นแก่ตัวก็เกิดกิเลสทุกชนิด แล้วเบียดเบียนทั้งตนเอง เบียดเบียนทั้งผู้อื่น เบียดเบียนหมดเลย นี่โทษของความเห็นแก่ตัว เราจะเห็นให้ถูกต้องก็คือเห็นว่าเป็นอนัตตา ที่เราสำคัญเข้าใจอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นตัวกู เป็นของกู มันไม่ใช่ มันเป็นอนัตตาของธรรมชาติ แต่มาเข้าใจผิดเอาเอง ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่าเป็นอัตตา แปลว่าเป็นตัวกู เป็นของกู ถ้าเป็นแต่เพียงตัวกู มันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ถ้ามันเป็นเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกูอย่างเดียวไม่เห็นความถูกต้อง นั่นแหละมันกัดเจ้าของ คือมันมีแต่ความทุกข์ มีความทุกข์ตลอดไป
สรุปความแล้วนี่คือความลึกซึ้ง ลึกลับ ลึกลับของธรรมะ จะเรียกว่าของชีวิตก็ได้ ของปรมัตถ์ธรรมก็ได้ ท่านจงเข้าใจว่ามันมีสิ่งนี้ มีสิ่งที่เป็นความลึกลับ ลึกซึ้ง ก้นบึ้ง ภาษาชาวบ้านว่าลึกลับอยู่ก้นบึ้ง ไม่รู้ถึง ไม่รู้จัก จะเรียกภาษาธรรมะ ภาษาบาลีก็เรียกว่า ปรมัตถ์ธรรมแห่งชีวิต ธรรมะลึกซึ้งของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี่คือเรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ ว่าปรมัตถ์ธรรมของชีวิต ปรมัตถ์ธรรมคือความจริงของธรรมชาติ ที่จะต้องเอามาใช้ในการดำเนินชีวิต เราไม่รู้ เราไม่รู้เอามาใช้ไม่ถูกต้อง ไม่รู้ ก็เรามาพูดกันตามสมควร พูดกันตามสมควร จนเพียงพอที่จะรู้ จะใช้หัวข้อสำหรับกำหนด สำหรับศึกษา สำหรับพิจารณาว่า มนุษย์ธรรมดา มนุษย์ปุถุชนธรรมดา ไม่มีความรู้เรื่องธรรมะนั้น มันติดอยู่ในอัตตา มันไม่รู้เรื่องอนัตตา เพราะมันติดอยู่ในอัตตา ฟังดูให้ดี ๆ มันไม่รู้เรื่องอนัตตา เพราะเหตุใด เพราะมันติดอยู่ในอัตตา อัตตา ปิดบัง ปิดบังมืดมิดไปหมด รู้จักแต่อัตตา อัตตา หรือตัวตน หรือตัวกู
นี่ก็แถมพกอีกเรื่องหนึ่ง ก็คืออัตนียา ของกู มันมีความรู้สึกว่าตัวตน แล้วมันก็หลีกไม่พ้นที่จะมีเรื่องหนึ่งติดตามเข้ามาคือ ของตน ความรู้สึกเป็นตัวตนมันก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แล้ว มันแถมมีของตนขึ้นมาอีก ถ้ามันเดือด เดือดสุด โง่สุดเหวี่ยงมันก็ว่ามีตัวกู แล้วก็มีของกู พูดธรรมดาสามัญสุภาพ สุภาพก็ว่ามีตัวตน แล้วก็มีของ ๆ ตน ข้อนี้มันหลีกไม่พ้นหลอก คือมันมีตัวตนยืนอยู่เป็นหลัก มีตัวตน ตัวตน ตัวกูยืนอยู่เป็นหลัก ถ้ามีอะไรมาเกี่ยวข้องกับมัน มันก็มีสิ่งหนึ่งคือของตน แล้วชีวิตนี้มันอยู่ไม่ได้โดยปราศจากของตน มันมีชีวิต หรือมีสิ่งต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกับชีวิต มากมายหลายอย่าง หลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่าง นั่นแหละของตน มีตัวตนอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ เพราะมันต้องอยู่ด้วยเหตุปัจจัยสารพัดอย่าง ทั้งหมดนั้นมันก็เป็นของตน ดังนั้นคำว่าตัวตนมันก็มีของตนรวมอยู่ด้วย ขอให้เข้าใจ จะแยกออจากกันให้เห็นชัด ๆ ก็แยกเป็น 2 คำว่าตัวตน และของตน ตัวกู ของกู จะพูดเป็นบาลีก็ว่าอัตตา ตัวตน และก็อัตนียาคือของตน อัตนียาแปลว่าที่เกี่ยวพันกันอยู่กับตัวตน เกี่ยวพันกันอยู่กับอัตตา
แต่พระพุทธเจ้าตัดรวบยอดว่าโลกนี้มันไม่มีทั้งอัตตา ทั้งอัตนียา มันมีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรียกว่าเป็นทาสตามธรรมชาติ แต่จิตใจที่มันโง่เขลามันไม่รู้ มันก็รู้สึกไปในทางว่าเป็นตัวตนด้วย เป็นของตนด้วย ดังนั้นโลกเต็มอัดไปด้วยอัตตาและอัตนียา คือตัวตนและของตน แต่พระพุทธเจ้าตรัสก็ว่าโลกนี้ว่างจากตัวตนและของตน มะยังโลโก สูญโย อัตนีเยตวา โลกนี้ว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน แต่เราไม่รู้สึก ก็มันเต็มอัดอยู่ด้วยตัวตนหรือด้วยของตนทั้งนั้น พอว่างไม่มีอะไรเราก็ไม่ชอบ เพราะเราเข้าใจผิด มันว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน แต่มันก็ไม่ได้ว่างจากชีวิต ไม่ได้ว่างจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งคือธาตุตามธรรมชาติ เป็นอย่างที่ว่าทีแรก มันมีแต่ตัวตน ตัวตน ซึ่งมิใช่ตัวตน โลกนี้มันไม่ได้ว่างจากตัวตน เพราะคนในโลกนี้มันยังโง่ นี่มันยังมีอวิชชา แล้วมันต้องมีอะไร มีอะไร มีอะไร แล้วมันก็ว่าตัวตนเอาเอง ว่าเป็นตัวตนเราเอง นี่คือความลับสุดยอดสูงสุดของธรรมชาติที่เราจะต้องเรียนให้รู้
สรุปความสั้นๆว่า มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน มันก็ยากสิ มันก็ยาก ยากเหลือประมาณที่จะมีตัวตนนี้อย่างไม่ใช่ตัวตน ก็มันรู้สึกว่าเป็นตัวตนมาแต่ แต่ไหน แต่อ้อนแต่ออก แล้วพอคลอดออกมาจากท้องมารดาแล้ว มันก็ยิ่งโง่อย่างนั้นมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนเดี๋ยวนี้ก็เต็มไปด้วยตัวตน ตัวตน ของตน ตัวตน ของตน เป็นความลับที่ซ่อนอยู่ใต้ความลับ ลึกลับ เป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้น นี่เรียกความลับสูงสุด เอ้าจะรู้ จะเรียน จะรู้กันไหม ถ้ามันไม่ต้องการจะเรียน จะรู้ มันก็ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร จะพูดอะไร ถ้าจะเรียน จะรู้ มันก็ต้องหมายมั่นที่จะเรียนให้รู้ คือตั้งจิตพยายามที่จะเรียนให้รู้ ท่านทั้งหลายจะมาศึกษาธรรมะด้วยความรู้สึกอย่างนี้หรือเปล่า นั่นมันก็มีปัญหาอยู่ ท่านมาที่นี่เพื่อเรียนธรรมะ ธรรมะอย่างนี้ มันมาด้วยความรู้สึกอย่างนี้หรือเปล่า คือจะรู้จักตัวตนซึ่งไม่ใช่ตัวตน หรือมาตาม ๆ ตาม ๆ กันมา ด้วยการได้ยินเขาพูดจากันว่ามีประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด และก็ตาม ๆกันมาโดยหวังว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ได้รู้จักปัญหาที่แท้จริงของตนเอง นี่ก็ไม่ใช่พูดเยาะเย้ยอะไร ไม่ใช่ แต่พูดให้รู้จักความจริง จะได้เตรียมตัวให้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่จะมาให้ได้รับประโยชน์ เรียกว่าความลับของชีวิต ความลับของปรมัตถธรรมประจำชีวิต
ความลับนั้นก็คือเราติดอยู่ในความรู้สึกว่าอัตตา ว่าตัวตน ความรู้สึกอันนี้เป็นต้นเหตุ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลสและเกิดความทุกข์ กระแสที่จะเกิดความทุกข์ทั้งหมดนั้นก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา มันก็คือเป็นไปตามกระแสแห่งความโง่ ตัวตน ตัวตนจึงเกิดทุกคราวที่โง่ โง่เมื่อไรก็มีกระแสแห่งความโง่หรืออิทัปปัจจยตา ถ้าไม่คิดนอนหลับเสียก็แล้วไปหรือจิตไม่มีปัญหาไม่มีอะไร ไม่ได้คิดอะไรก็แล้วไป แต่พอมามีการคิดนั่นแหละ มันก็คิดไปตามความโง่ กระแสก็ยืดยาวออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาท ถึง 11-12 หัวข้ออย่างที่เราพูดกันแล้ววันก่อน ความโง่เกิดขึ้นแล้วก็ดำเนินกระแสไปตามความโง่ แล้วก็จบลงด้วยความทุกข์ นั่นคือกระแสอิทัปปัจจยตา เกิดขึ้นแห่งตัวกู เกิดขึ้นแห่งตัวกู คือ ความโง่ครั้งหนึ่ง ๆ แล้วก็เป็นไปตามความโง่เป็นตัวกูตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง มีความทุกข์ มีความทุกข์ มีความทุกข์ เสร็จแล้วมันก็ดับไป ดับไป นี่ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกระแสแห่งความโง่คืออิทัปปัจจยตาแล้วก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่มีอันนี้ก็ไม่มีความทุกข์
ทีนี้มันมีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีสิ้นสุดเพราะความโง่เกิดได้ไม่มีที่สิ้นสุด เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความโง่มันก็มีได้มากไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงมีลักษณะแห่งความโง่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในฝ่ายจิตใจ วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง นี่จะมองกันในแง่ร่างกายก็นิดเดียว เกิดขึ้น แล้วก็แก่ แล้วก็ตายเข้าโลง ก็นิดเดียว ครั้งเดียว รอบเดียว ถ้ามองในแง่ของร่างกาย มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเพียงครั้งเดียวในชาติหนึ่ง แต่ถ้ามองดูในแง่ของจิตใจ แม้เพียงวันเดียวเท่านั้นมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนับไม่ถ้วน ไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง กี่พันครั้งด้วยซ้ำไป ถ้าคนนั้นมันคิดเก่ง กระแสแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา คือการติดอยู่ในอัตตา ติดอยู่ในอัตตา
ถ้ามองอีกทีหนึ่งใช้คำพูดว่ามันติดอยู่ในวัฏฏะ วัฏฏะ
คำว่าวัฏฏะนี้แปลว่าวงกลม มันก็เวียนอยู่ในวงกลมออกมาไม่ได้
วงกลมนั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ เป็นตอนกิเลสเสียตอนหนึ่ง แล้วก็เป็นตอนกรรมคือการกระทำ แล้วถึงตอนวิบากคือผลของการกระทำ
ลองสังเกตดูวันหนึ่ง ในวันหนึ่งเรามีวงกลมนี้กี่วงกลม กิเลสคืออยาก ความอยาก ความต้องการไปตามความโง่ นี่คือความอยาก เราอยากอย่างไรก็ทำอย่างนั้น แล้วก็ทำอย่างนั้น เมื่อมีการกระทำก็มีผลของการกระทำ มีผลของการกระทำเกิดขึ้นแล้ว มันไม่จบเพียงเท่านั้น มันอยากอย่างอื่นต่อไปอีก เช่นว่าอยากหาเงินก็ทำการหาเงิน ได้เงินมาแล้วมันก็ยังอยากต่อไปอีกที่มากกว่านั้น ที่ดีกว่านั้น ที่สูงกว่านั้น นี่เรียกว่าวงกลมแห่งวัฏฏะ กิเลสเป็นเหตุให้มีการกระทำกรรม กรรมเป็นเหตุให้เกิดผลแห่งกรรม ผลแห่งกรรมเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสอย่างอื่นที่แปลกออกไปดีกว่า สูงกว่า จึงวนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก
สรุปเป็นชื่อบาลีก็ฟังกันไม่ค่อยถูก ไปดูเอาเองความรู้สึกตามธรรมดาว่าเกิดความอยาก แล้วเกิดการกระทำตามความอยาก แล้วก็เกิดผลจากการกระทำนั้น เช่นเกิดผลแล้วหาหยุดไม่ อยากอย่างอื่นต่อไปอีก ผลที่เราได้รับมาจากการกระทำ ทำให้เกิดความอยากที่แปลกออกไป สูงออกไป ไกลออกไป แล้วก็ตั้งต้นอยากรอบหลังอีก แล้วก็ทำแล้วก็ได้ผลของการกระทำ แล้วเกิดความอยาก แล้วกระทำ แล้วผลของการกระทำ เป็นวงกลม วงกลม อยู่ตลอดวัน ตลอดวัน อยากจะทำอะไร อยากจะลุกนั่ง อยากจะยืน อยากจะเดิน อยากจะกิน อยากจะทำอะไรก็รู้เอาเอง ว่ามันมีอะไรบ้าง มันมีมากมายเหลือประมาณ ที่จะเป็นที่ให้เกิดความอยาก เป็นที่ตั้งของความอยาก มันก็หมุนเวียนอยู่ที่นี่ อยู่ในวงกลมนี้ ไม่มองก็ไม่เห็น มองไม่เป็นก็ไม่เห็น คนโง่มองไม่เห็น คนมีปัญญาน้อยก็ยังมองไม่ค่อยจะเห็น ถ้ามีปัญญาเพียงพอจึงจะมาเห็น
มาศึกษากันเสียให้ถึงขนาดที่จะมองเห็น ว่าชีวิตนี้มันหมุนอยู่แต่อย่างนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในลักษณะของความอยาก ของการกระทำตามที่ตนอยาก ได้ผลตามที่ตนอยาก แล้วก็อยากใหม่ อยากในขั้นข้อใหม่ รอบใหม่อีกต่อไป นี่เรียกว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด วัฏฏะสงสารนั้น ถ้าเอาทางร่างกายมีนิดเดียว ตาย เข้าโลง ไปเกิดใหม่ ก็พูดอย่างนั้น วัฏฏะสงสารอย่างนั้นมันง่ายเกินไป มันยังโง่เกินไป ไม่น่ากลัว แต่วัฏฏะสงสารที่น่ากลัวคือวันเดียวมันเกิดไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อย กี่พันวง แล้วกว่าจะตาย เดือนหนึ่ง 30 วันเกิดเท่าไหร่ ปีหนึ่ง 300 กว่าวันมันเกิดเท่าไหร่ แล้วมีอายุหลายสิบปี หลายสิบปี มันเกิดเท่าไหร่ นับไม่ไหว นี่แหละวัฏฏะสงสารที่แท้จริงและน่ากลัว ทั้งหมดนั้นเต็มไปด้วยความโง่ว่าตัวกู ตัวกู ตัวกู ของกู ตัวกูของกู ตัวกูของกู นี่เรียกว่าวัฏฏะสงสารแห่งตัวกู แห่งตัวกู ซึ่งมันมิใช่ตัวกู มันว่าเอาเอง มันคิดนึกเอาเอง มันก็คิดนึกได้หลายพันล้าน หลายร้อย หลายหมื่น หลายแสน กรณี กรณี กรณี เป็นกรณี กรณีไป ทุก ๆ ครั้งมีความทุกข์ ทุก ๆ ครั้งเป็นความทุกข์ ก็ติดต่อกันไป เป็นกระแสแห่งความทุกข์ เรื่องหนึ่งหรือรอบหนึ่งก็เรียกว่า ปฏิจสมุปปบาท แต่ครั้งหนึ่ง ก็มี เป็นต่อ ๆ ต่อกันไป ข้อนี้เป็นความสูงสุดที่จะต้องมองให้เห็น ให้เข้าใจว่าความทุกข์ ทุกชนิด ทุกอย่าง มาจากกระแสแห่งความโง่ที่ปรุงแต่งกันเรียกว่าปฏิจสมุปปบาท อย่างที่กล่าวมาแล้ว
ตรงนี้ขอแทรกเรื่องพิเศษสักหน่อย ว่าคำอธิบายในเรื่องปฏิจสมุปปบาทนั้น ในพระบาลีมีอยู่อย่างที่อาตมาเอามากล่าวให้ท่านทั้งหลายฟัง แต่ว่านอกพระไตรปิฎก ยังมีคำอธิบายของพวกอื่นเช่นอธิบายตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์นี้เพิ่งเกิดเมื่อ พ.ศ ตั้ง 1000 แล้ว เขาจะอธิบายเป็นอย่างอื่น อธิบายปฏิจสมุปปบาทรอบหนึ่งเกี่ยวข้องกันหลายชาติ คร่อมกันอยู่หลายๆ ชาติ ก็เป็นคำอธิบายอย่างหนึ่งรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็เอามาสอนกันอยู่เหมือนกัน ดังนั้นคำอธิบายเรื่องปฏิจสมุปปบาท จึงมีอยู่ 2 ชนิด คือชนิดที่คร่อมภพคร่อมชาติ ระหว่างชาตินี้กับชาติโน้นชนิดหนึ่ง แล้วชนิดที่ไม่ต้องคร่อมภพคร่อมชาติ เพียงในชาติเดียวมีนับไม่ถ้วน มีนับไม่ถ้วนนี่ชนิดหนึ่ง นี่ตามพระบาลี อาตมาก็ถือตามพระบาลี อธิบายไปตามพระบาลี ชาติเดียวมีปฏิจสมุปปบาทนับไม่ไหว แต่พวกอื่นเขาอธิบายกันอย่างอื่นคร่อมภพคร่อมชาติก็มี เมื่อมันเกิดมีการอธิบายขัดกันอย่างนี้ หรือค้านกันอย่างนี้ ก็ไม่ต้องเป็นปัญหา ท่านเลือกดูเอาเอง ว่าอธิบายอย่างไหนมันดับทุกข์ได้ ปฏิบัติอย่างไหนมันดับทุกข์ได้ เราก็เอาอย่างนั้นแหละ ถ้าว่ามันดับทุกข์ได้ด้วยกันทั้ง 2 อย่าง ก็เอาทั้ง 2 อย่าง เพราะอธิบาย อธิบายให้มันง่ายๆ ให้มันเหมาะสำหรับคนที่ไม่มีสติปัญญา เป็นสัมมาทิฐิเพียงครึ่งเดียวอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน เป็นคนปัญญาอ่อนก็รับเอาคำอธิบายสำหรับคนปัญญาอ่อน มีปัญญาสูงสุด กล้าแข็ง เข้มแข็ง ก็รับเอาอย่างที่จริงแท้ สูงสุด
นี่เรื่องปฏิจสมุปปบาท กำลังเป็นปัญหาในเมืองไทย ในพม่า ในลังกาก็อธิบายกันอยู่เป็น 2 อย่าง อธิบายอย่างที่คร่อมภพคร่อมชาติ นี่กำลังยึดถือกันมาก ก็เพราะคนธรรมดามันมีอัตตา มันมีตัวตน คำอธิบายคร่อมภพคร่อมชาติ มันก็เลยเหมาะสมกับคนที่ยังมีอัตตา ยังมีตัวตน ถ้าคนต้องการจะหมดอัตตาหรือไม่ยึดอัตตา และอธิบายชนิดที่ไม่มีตัวตน มันก็ไม่ต้องคร่อมภพคร่อมชาติ มีแต่สิ่งอะไรก็ไม่รู้เป็นความโง่ เป็นปรุงแต่งด้วยความโง่ หมุนจี้ไปตามอำนาจความโง่ เป็นรอบ ๆ รอบ ๆ วันหนึ่งไม่รู้กี่รอบ นี่คือปฏิจจสมุปบาทที่อาตมากำลังอธิบายคำตามที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าสามารถก็ไปเปิดดูเอง พระไตรปิฎกอธิบายไว้อย่างไร คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายไว้อย่างไร อย่างไหนเหมาะคือดับทุกข์ได้ ก็เอาอย่างนั้นแหละ จึงต้องพูดว่าอย่างไหนดับทุกข์ได้ คุณก็เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน ถ้าเป็นอย่างคร่อมภพคร่อมชาติมันดับทุกข์ได้ ก็เอาแหละ แต่ที่โดยแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีภพ มีชาติชนิดนั้น ภพชาติคือความโง่แวบหนึ่ง โง่แวบหนึ่ง โง่แวบหนึ่ง เป็นภพหนึ่ง เป็นชาติหนึ่ง วันหนึ่งมีไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น หยุดชาติชนิดนี่เสียความทุกข์ก็หมด ดับ ดับตลอดกาล นี่ความลับของธรรมชาติ
ชีวิตนี้ติดอยู่ในวงกลมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในวงกลมนั้น ๆ ก็แบ่งเป็นกิเลสอยู่ตอนหนึ่ง เป็นกรรมอยู่ตอนหนึ่ง เป็นผลกรรมอยู่ตอนหนึ่งรวมกันเป็นหนึ่ง วงกลม ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่เรียกว่าติดอยู่ในกระแสแห่งอัตตา ตรงไหนน่าพอใจก็ส่วนนั้นก็ถูกสมมติว่าเป็นดี เป็นสุข เป็นสวรรค์ ตรงไหนไม่น่าพอใจเจ็บปวดทรมาน ตรงนั้นก็ถูกสมมติจัดว่าเป็นนรก อ้าวมาถึงคำนี้อีกแล้ว ก็บอกให้ทราบเสียทีว่านรก สวรรค์ มีคนโง่มาถามบ่อย มีจริงไหม มีจริงไหม อาตมาก็ยังถูกตามโดยคนโง่ ต้องบอกว่า ถ้ามันไม่มีคุณเอามาจากไหนพูดหล่ะ มันมาพูดกันมาติดปาก จนมีนรก มีสวรรค์ ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดเขามีนรกสวรรค์พูดจากันอยู่แล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก่อนศาสนาฮินดูบางชนิดจะเกิด เขาก็มีนรกสวรรค์พูดจากันอยู่แล้ว แล้วก็ยุติว่าสวรรค์อยู่สูงสุด บนฟ้า เหนือฟ้า สุดฟ้าไปแล้ว นี่สวรรค์มีเมืองสวรรค์ ใต้ดินลึกเลยบาดาลลงไปแล้ว เลยเมืองบาดาลลงไปแล้วก็มีนรก ก็มีนรกสวรรค์เหมือนกันที่นั่น ก็เชื่อกันมาอย่างนั้น สอนกันมาอย่างนั้น ยึดถือกันมาอย่างนั้น พวกอินเดียหลายพันปีแล้วมาสอนที่เมืองนี้ แผ่นดินไทยนี่ก็สอนกันอย่างนี้ เลยมีสวรรค์ใต้ดิน มีสวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดิน ต่อมามองเห็นดีกว่านั้น จนพระพุทธเจ้าท่านบอกนรกที่อายตนะ สวรรค์ที่อายตนะ ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่นั่น นรกก็อยู่ที่นั่น พอทำถูกไม่มีความทุกข์ มีแต่ความพอใจสงบสุข ก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอทำผิดก็เป็นนรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทำถูกก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องบนสวรรค์ บนฟ้าหรือใต้ดิน แล้วไปถึงกันได้ก็ต่อเมื่อตาย ตายจากโลกนี้ก็ไป นรกหรือสวรรค์ พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำผิดก็เป็นนรก เมื่อทำถูกก็เป็นสวรรค์ แล้วไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ไม่ทันตายมันเป็นนรก เป็นสวรรค์สลับอยู่ที่นี่ตลอดเวลา มันต่างกันกี่มากน้อย เป็นสวรรค์หรือเป็นนรกในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา
ถ้าท่านรู้ท่าน จะมองเห็นว่าบางเวลาเป็นนรก นั่งร้องไห้อยู่ บางเวลาก็เป็นสวรรค์หัวเราะร่ากระโดดโลดเต้นอยู่ นี่นรกสวรรค์ที่แท้จริงมันเป็นอย่างนี้ มันอยู่ที่ตัวชีวิตที่เป็นสวนประกอบของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันอยู่ที่นั่น ปู่ย่าตายายของเราก็ไม่ใช่คนโง่ คือไม่ได้เอาว่าพูดกันมาแต่ครั้งไหน แต่ก็มีปู่ย่าตายายของเราก็พูดว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ สวรรค์ในอก นรกในใจ ไม่ได้อยู่ใต้ดินหรือบนฟ้า มันมีอยู่ในอกในใจ นี่มันก็จริงกว่า จริงกว่าที่จะอยู่บนฟ้าหรืออยู่ใต้ดิน ถ้ามันอยู่บนฟ้าใต้ดิน จะทำอะไรเรา เดี๋ยวนี้มันอยู่ในอกในใจของเรา เหมา เหมาว่าอยู่ในอกในใจก็ยังดีกว่า จะให้ละเอียดชัดเจนเจาะจงลงไป มันก็มีอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นที่ตั้งให้เกิดการกระทำ ผลของการกระทำ มาพูดว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจดีกว่า ถ้าทำผิดก็เกิดความทุกข์เกี่ยวกับทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวกายบ้าง ทางจิตใจเองบ้าง นั่นแหละกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มีนรกมีสวรรค์รวมอยู่ด้วยเสร็จ
ถ้าต้องสวรรค์แท้จริง จงรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งมีระบบปฏิบัติที่ท่านจะฝึกกันเรียนต่อไปในระบบอานาปาณสติภาวนา รู้จริงแล้ว ควบคุมปฏิจจสมุปบาทได้ มันก็จะไม่ต้องมีนรกในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท จะมีแต่ว่าไม่เป็นทุกข์ หรือจะเรียกว่าสวรรค์ก็ได้
ที่แท้จริงมันควรจะดีกว่านรก ดีกว่าสวรรค์คือความว่าง ว่างจากนรกสวรรค์เสียเลยยังดีกว่า นี่มันอะไร อะไรก็มารวมอยู่ที่เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นความลับ ให้มีตัวตน มีตัวกู มีของกูหมุนเวียนอยู่โดยไม่รู้สึก แม้จะต้องเป็นทุกข์หรือเป็นสุขอยู่ก็ไม่รู้สึกในเรื่องที่ว่ามันไม่มีตัวตน มันก็มีตัวตนแสดงบทบาทไป หัวเรา ะร้องไห้ ยินดี ยินร้าย เป็นสุข เป็นทุกข์ นี่คือความลับ ไม่มีการพักผ่อนในกระแสแห่งความทุกข์หรือปฏิจจสมุปบาท ไม่มีการพักผ่อน แต่แล้วคนโง่ก็พอใจในความไม่พักผ่อน
ปุถุชนคนโง่มันหลงไปสนใจพอใจในเรื่องไม่ต้องพักผ่อน หมุนเรื่อยไปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก หมุนอยู่อย่างไม่มีการพักผ่อน คนโง่ คนมีอวิชชามันก็ชอบ ชอบไม่ต้องพักผ่อนและก็ไม่รู้จักการพักผ่อน ก็เกิดอาการที่บอกมาแล้ว ชีวิตนี้มันก็กัดเจ้าของ มันไม่มีการพักผ่อน ชีวิตนี้เป็นการกัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์กัด เดี๋ยวอิจฉาริษยากัด เดี๋ยวความหวงกัด เดี๋ยวความหึงกัด เพราะว่ามันไม่รู้จักการพักผ่อน มันชอบอะไรที่ปรุงแต่งยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เป็นความลับ ความลับของความโง่ ของบุคคลที่มีความโง่เรียกว่า ปุถุชน
ที่มา บรรยายแก่คณะสมาธิภาวนา ครั้ง ๒ ความลับของปรมัตถธรรมแห่งชีวิต