แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีอนุโมทนา ในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปใช้ประกอบในการดำเนินชีวิตของตน ให้มีผลดีที่สุดในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ขอพูดจาตามธรรมเนียมอย่างนี้ ก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบกับพุทธศาสนา นั้นก็ควรจะได้อะไรที่ดีกว่ามีคุณค่ามากกว่าน่ะ ที่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ถ้าจะถือเอาประโยชน์จากการที่ได้พบพระพุทธศาสนาให้มากที่สุดจึงได้ขวนขวายศึกษาธรรมะซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนา จึงขอทำความเข้าใจให้ควรกับเวลาที่นัดมาพูดจากันในเวลาอย่างนี้ เวลา ๕ น. เป็นเวลาพิเศษที่ธรรมชาติจัดไว้แต่คนก็ไม่ค่อยจะสนใจต้อนรับการจัดหรือการมอบหมายในเวลาชนิดนี้ให้ เวลาตื่นนอนใหม่ เวลา ๕ น. ที่ก่อน ๕ น. นี้มันเป็นเวลาพิเศษ คือเวลาที่จิตใจมีกำลังมีความสดชื่นมีความแจ่มใสมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษเพราะได้นอนพักผ่อนมา หรือว่าจะเป็นเวลาที่โลกมันเป็นอย่างนั้น เวลาที่จะให้ความสดชื่นเข้มแข็งเยือกเย็นอย่างนั้น ทุกอย่างมันก็จะตื่นขึ้นมา ดอกไม้ป่าในป่าโดยมากมันก็เริ่มบานแย้มบานออกไปในเวลาอย่างนี้ เรียกว่าเป็นเวลาที่เบิกบาน สัตว์ทั้งหลายก็เริ่มเคลื่อนไหว สดชื่นรื่นเริง แม้ว่าจะยังมืดอยู่ ไก่ก็เริ่มขันตั้งแต่ตีสอง ตีห้านี่ก็ร่าเริงเต็มที่ แล้วที่ยิ่งกว่านั้นเราก็จะเห็นได้จากการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้ามีในเวลาอย่างนี้คือในเวลาหัวรุ่ง ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นมาอย่างเต็มที่ การตรัสรู้ก็คือการที่ออกมาสู่แสงสว่าง และเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะตรัสรู้เวลารุ่งอรุณ จากนี้ถึงนั้น และก็ควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้ายังนอนหลับอยู่เหมือนที่แล้วๆมาก็เท่านั้นแต่ถ้าเอามาใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราวของธรรมชาติก็คงจะได้ประโยชน์มาก จึงขอให้รู้จักใช้เวลาที่สำคัญที่สุดที่ธรรมชาติเขาจัดให้คือเวลาอย่างนี้ อย่าไปหาความสุขจากการนอนเสียเลยเพราะมันให้ผลไม่คุ้ม เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ สลัดความงัวเงียออกไปเสีย คืนความสดชื่นแจ่มใสร่าเริงพร้อมที่จะทำอะไรสักอย่างที่ดีที่สุดในทางจิตใจนั่นก็คือการศึกษาธรรมะ เหมือนว่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตรงตามนี้คือใช้เวลาที่สดชื่นที่สุดให้ได้ศึกษาสิ่งที่มีความลึกหรือสำคัญที่สุด และทีนี้การที่ต้องเดินออกไปหน่อยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รวมอยู่ในบทเรียนที่ศึกษา เมื่อต้องเดิน ก็เดินให้เป็นการศึกษาเสีย นั่นก็ได้ผล ที่เวลาเดินเป็นการศึกษานี่ก็ยังไม่ได้ คงจะยังไม่ได้รับคำอธิบายที่แจ่มแจ้งนัก โดยไม่ต้องกลัว หรือกระทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำให้เป็นหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาในเรื่องที่เกี่ยวกับความจริง ถ้ารู้สึกว่ากูเดินมา มันก็คือคนธรรมดา แล้วจะเหนื่อยบ้างเดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้นอย่างนี้บ้างถ้าหากว่ามันมีตัวกูเดินมา มันก็รู้สึกธรรมดา แต่ถ้าสามารถทำจิตให้รู้สึกไปในทางที่ว่าไม่มีตัวผู้เดิน มีแต่การเดิน นี่คือการเคลื่อนไหวของไอ้สิ่งที่เรียกภาษาวัด ว่ารูปนามรูป ทางกายกับจิตใจเท่านั้นเรียกว่า นามรูป มันเดินมา ตัวกู ไม่มี ไม่ใช่การเดินแห่งตัวกูหรืออัตตา คือบทเรียนของอนัตตาที่ดีที่สุดนั่นคือเดินโดยไม่มีตัวกูเดิน ไอ้ส่วนปลีกย่อยส่วนหนึ่งคือการกระทำโดยไม่ต้องมีการกระทำ ให้ลึกกว่านั้น ที่ฟังยากหรืออาจจะไม่เข้าใจเขาเรียกว่ามีชีวิตโดยไม่ต้องมีตัวกูผู้มีชีวิต หรือมีตัวกูผู้มีชีวิต มีชีวิตโดยไม่ต้องมีตัวกูนั่นแหละคือหัวใจ ถึงที่สุด เดี๋ยวนี้เราก็หัดเบื้องต้นไปได้เล็กๆน้อยๆนะ มีตัวกู ไม่มีตัวกูสำหรับเดิน สำหรับกระทำ หรือสำหรับอะไร มันก็เป็นตัวธรรมชาติล้วนกระทำไป ไม่ว่าการศึกษาหรือการปฏิบัตินี้ ก็เป็นการกระทำของธรรมชาติ ถ้าเป็นการกระทำของตัวตน ของตัวกู มันก็ต่ำลงมา ไม่รู้อะไรให้มากไปกว่าที่รู้อยู่เดิม เรามีตัวตนหรือมีตัวกูโดยธรรมชาติกันอยู่ตลอดเวลาที่เรามาศึกษานี่ก็ตัวกูพามา ความเห็นแก่ตัวกูถึงพามา ก็เรียกว่ายังมีตัวกู พอมาถึงบทเรียนที่ว่าไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูมันดีกว่า มีแต่ร่างกายกับจิตใจล้วนๆเคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจของสติปัญญา สติปัญญา ความรู้ในระดับหนึ่งซึ่งพอสมควรที่จะทำให้รู้ว่าควรทำอะไร ควรทำอย่างไร ร่างกายกับจิตใจจึงมาทำการศึกษา ฝึกฝนปฏิบัติ เพื่อให้หมดความยึดถือว่าตัวกู ตัวกู ผู้มีชีวิตอยู่ หรือผู้กระทำสิ่งใดๆนั่นไง นั้นความลึกซึ้งนี่เป็นหัวใจพุทธศาสนาแม้ว่าจะเดินมาจากที่โล่งก็ค่อยๆกลายเป็นบทเรียนให้หนทางที่เดินมานั้นเป็นห้องเรียน ห้องเรียนยาวเป็นกิโลแล้วเราเดินมา ทำความรู้สึกว่า ไม่มีตัวกูเดิน สติกำหนดแต่ละย่างเท้าที่ก้าวเดิน นามรูปเป็นผู้เคลื่อนไหวมา สติกำหนดอย่างนี้ ทีนี้ก็เรียกว่ากลับไปสู่หัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว แม้แต่เรียกว่าเดินมาอย่างนี้ ขอพยายามให้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ให้มันชัดเจน ให้มันชัดเจน ว่าไม่มีใครเดินมา มีแต่ตัวกูผู้เดิน มีแต่การเดินและการเคลื่อนไหวของนามรูปที่ควบคุมอยู่ด้วยสติปัญญา ก็นับว่าเป็นบทเรียนสูงสุดๆ ตามถนนที่เดินมา ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์ก็จะได้ประโยชน์ถึงอย่างนี้ นี่คือเรื่องที่ขอปรารภเป็นเรื่องแรก สองเรื่อง ใช้โลกเวลา ๕ น.ให้เป็นประโยชน์ที่สุดตามอย่างพระพุทธเจ้า และก็เดินโดยไม่ต้องใช้ตัวผู้เดินนี่คือบทเรียนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแม้จะเป็นระยะเริ่มต้นนี่ก็ยังดี เพราะมันถูกฝึกให้ตรงกับเรื่องราวที่ต้องศึกษา ทำไปให้ได้จนถึงที่สุดจนไม่มีตัวมีตนกันโดยประการทั้งปวง นี่เพียงแต่เริ่มต้นเท่านั้น เดินโดยไม่มีผู้เดิน จะทำเล่นอย่างนี้ มันคงพลาดไปตั้งหลายหนกว่าจะมาถึงที่นี่ มันคือตัวกูผู้เดิน มันรำคาญ มันเหนื่อย มันอะไรก็ไม่รู้ ถ้าสติกำหนดแต่เพียงการเดิน เดิน เดิน เดิน ของนามรูปจนมาถึงปลายทางได้ก็เป็นการดีให้เป็นการตั้งต้นที่ดีมีความถูกต้องมีการตั้งต้นให้มีหวังในการจะประสบความสำเร็จในขั้นสุดท้าย ทีนี้ก็จะพูดเรื่องที่ตั้งใจกับพูดในวันแรก ในวันแรก อาตมาให้หัวข้อว่าปรมัตถ์ธรรมสำหรับดำเนินชีวิต สิ่งที่เรียกว่าปรมัตถ์ธรรมจะเป็นสิ่งสุดท้ายสำหรับดำเนินชีวิตที่เรียกกันว่าปรมัตถ์ธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันในวันแรกให้มันเข้ารูปเข้ารอยจนกว่ามันจะถึงที่สุด คือท่านมาศึกษาปรมัตถ์ธรรมสำหรับดำเนินชีวิต คงจะงงๆอยู่ปรมัตถ์ธรรมคืออะไร ก็ยังไม่รู้แน่ แม้แต่ตัวชีวิต ชีวิตนี่คืออะไรก็ยังไม่รู้แน่ อาจจะรู้อย่างเด็กๆหรือขออภัยคือรู้อย่างสัตว์เดรัจฉานรู้จักชีวิต รู้จักทำนองชีวิต รู้จักเรื่องชีวิตเท่านี้ มันก็เลยไม่รู้จะไปกันทางไหน จุดหมายปลายทางจะไปทางไหน ไม่ทราบรู้แต่ว่าวันๆจะต้องทำอะไร ความรู้เพียงนั้นไม่เรียกว่าปรมัตถ์ธรรม ดังนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคำนี้จนได้ว่าปรมัตถ์ธรรมนั่นมันคืออะไร ตัวชีวิตๆนั่นมันคืออะไร คำว่าปรมัตถะนั้นแปลว่าประโยชน์สูงสุดหรือความหมายที่สูงสุดเรียกว่า ปรมัตถะ แต่ถ้าเป็นคำกลางๆใช้เรียกอะไรก็ได้ก็เรียกว่าสิ่ง...ที่เห็นประโยชน์สูงสุดหรือความรู้ที่มีประโยชน์มีคุณค่าสูงสุด ไม่ใช่ความรู้ตามธรรมดา ที่รู้ได้ตามความรู้สึกของสามัญศัพท์ที่เรียกว่าสัญชาตญาณ จึงรู้เรื่องธรรมมามากขึ้น รู้เรื่องต่อสู้ในชีวิต ให้ชีวิตรอด มันก็เป็นเรื่องกลางถนน ขออภัยใช้คำหยาบไปหน่อย คือคนเดินถนนทุกคนก็รู้ แต่ว่าปรมัตถ์ธรรมมันสูงกว่ามาก นั่นคือมันมีประโยชน์สูงสุดแก่สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ถ้ารู้ได้ง่ายๆตามธรรมดามันก็ไม่ปรมัตถ์ ถ้าปรมัตถ์มันก็เกินกว่าจะรู้ได้ตามธรรม มันก็กลายเป็นความลับของธรรมชาติ ก็ยังมความลับหรือเป็นความลับอยู่จะต้องรู้เรื่องความลับนี้จนได้ ถ้าไม่คิดกันอย่างละเอียดไม่ศึกษากันอย่างละเอียดมันก็ไม่มองเห็นว่าแต่ถ้าพยายามตังใจจะกำหนดศึกษาอยู่อย่างละเอียดมันก็พอจะเริ่มต้นได้ แม้ความรู้ที่เรียกว่าสามัญสำนึกนี้ก็ไม่ใช่เล่น เป็นความรู้ที่สูงสุดที่มีค่า หากแต่ว่ามันไม่ค่อยมีสามัญสำนึกที่สำเร็จประโยชน์อย่างนั้น สามัญสำนึกมันจะมีแต่เรื่องธรรมดาสามัญเรื่องกาม เกียรติยศ ชื่อเสียง สามัญสำนึกมีแต่เพียงเท่านี้ ที่มีสามัญสำนึกที่จะเอาชนะความทุกข์ทั้งปวง ทั้งหมดทั้งสิ้นของชีวิตนั่นเอง ถ้าโชคดี เกิดมามีระบบสติปัญญาที่เรียกว่าไอคิวมันสูง คนนั้นก็มีส่วนที่จะเปิดสามัญสำนึกที่สูงและมีค่ามากกว่าเด็กที่มีไอคิวต่ำ ก็ต้องต้อนรับในสิ่งที่ธรรมชาติให้มาที่จะใช้ให้มันสูงพัฒนาให้มันสูง ความรู้เรื่องนี้อาจทำให้ได้ศึกษาค้นคว้ากันมาแต่ดึกดำบรรพ์นู่น อีกหมื่นปีอีกแสนปีก็บอกไม่ได้ แต่ว่าได้มีมนุษย์ที่เป็นอย่างนี้กันมาแล้วและสอนกันมาตามลำดับ คนเกิดทีหลังก็ได้เปรียบที่ได้ใช้ความรู้ที่เขาคิดค้นมาให้แล้วเราไม่ต้องคิดเราก็เดินต่อคือคิดต่อไป เจอทางที่มันดีกว่า ถึงที่สุดเรียกว่า ศึกษาในความรู้ที่ดีกว่าธรรมชาติ ขึ้นมาตามลำดับๆจนเกิดพระพุทธเจ้า ถ้าแม้ว่าอย่างไรสอนว่าอย่างนั้นเราก็มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนนำมาใช้เป็นประโยชน์ เดี๋ยวนี้ก็มาถึงระยะที่เราจะต้องมีความรู้ชนิดที่เอาตัวรอดได้ ก็คือความรู้ที่เราจะได้ศึกษาพิจารณาทำความเข้าใจแจกแจงกันในการที่มาศึกษาหรือฝึกฝน ทำความมุ่งหมายของการมาสู่สถานที่นี้ ที่เราเรียกว่าไอ้ความรู้ที่มีความหมายหรือมีคุณค่าสูงสุด รู้แล้วสามารถพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดๆตามที่ชีวิตมนุษย์ควรจะได้แล้วก็ไม่เสียทีที่เกิดมา แล้วก็ต่อท้ายด้วยคำว่าเป็นมนุษย์และไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ใครที่สนใจในความรู้เรื่องนี้ก็จะได้รับผลกันอย่างนั้น ความรู้ที่สูงกว่าระดับธรรมดาเราเรียกว่าปรมัตถ์ธรรม เป็นความลับที่ธรรมชาติเก็บไว้ไม่เปิดเผย แต่เราก็จะพยายามศึกษาธรรมชาติ ให้ได้รับความรู้ก่อนนี้ให้กลัวในธรรมชาติ กฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติก็ได้ และผลที่จะเกิดจากหน้าที่ๆสูงสุดอย่างไรก็ได้ก็จะเป็นเรื่องของธรรมชาติและจะเป็นความลับต่อ และเราจะทำให้ได้รู้และเราก็จะใช้ให้สำเร็จประโยช์ในการมีชีวิตและสามารถพัฒนาชีวิตให้ถึงระดับสูงสุดได้ในที่สุดตามสมควรที่จะได้อย่างไร อย่างนี้เรียกว่าปรมัตถธรรมสำหรับดำเนินชีวิต เอ้า พูดมาเป็นวรรคเป็นเวร ยังไม่ได้พูดว่าชีวิตนั้นคืออะไรเลย ขอให้ตั้งใจฟังเป็นเรื่องที่สองว่าชีวิตๆนั่นมันคืออะไร ชีวิตก็คือตัวเองนั่นแหละแต่ก็ยังไม่รู้จักว่าคืออะไร ยังมืดมน ยังเป็นของมืด มืดยิ่งกว่าถ้ำมืด เราไม่รู้จักตัวชีวิตเองว่ามันคืออะไร ตามความรู้สึกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่เราสอนเราเรียนกันแต่เด็กๆ ชีวิตนี่ก็คือยังไม่ตาย ความที่ยังไม่ตาย ความที่ยังเป็นอยู่หรือยังไม่ตายนั่นแหละ ก็เพียงเท่านั้น ไอ้นักวิทยาศาสตร์ นักปราชญ์ที่มีสติปัญญามาก เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาชีวิตกันในแง่ของวัตถุ แต่ไม่ได้ศึกษาในแง่ของวัตถุ เขาก็รู้เรื่องชีวิตกันดี ดีมากๆ แต่ก็รู้ในแง่ของวัตถุนั่นแหละแต่มันแก้ปัญหาของจิตใจไม่ได้ ไอ้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบแต่ว่าชีวิตก็คือความที่เยื้อหุ้ม โปรโตมัส(23.55) ที่มีอยู่ในเซลส์แต่ละเซลส์มันยังสดอยู่ ยังไม่ตายนะ เนื้อหนังคนเราประกอบด้วยเซลส์เป็นล้านๆเซลส์ แต่ละเซลส์ๆก็มีเยื้ออยู่กลางข้างใน เหมือนกับเยื่อวูด(24.16)ที่อยู่ตรงกลางข้างในผลไม้ ใน เยื่อวู้ดที่ยังสดอยู่นั่นแหละคือตัวชีวิต พอเสียไปก็เรียกว่าหมดชีวิต ไอ้เซลส์ตัวนั้นมันก็ตาย ดีแต่ว่ามันไม่ตายพร้อมกัน ถ้ามันตายพร้อมกัน คนก็เรียกว่าตายวูบเดียว ไอ้เยื่อวู้ดนั่นแหละที่เรียกว่าโพรโทพลาสซึม มันยังสดอยู่ ก็คือยังมีชีวิตอยู่ ไอ้ความรู้ทางวัตถุมันเป็นซะอย่างนี้ มันรู้สูงสุด แต่มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุ มันยังแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างดีก็แค่รู้จักว่ากินยาอะไรบ้างเพื่อให้เยื่อวู้ดในเซลส์มันยังสดอยู่เจริญดีมันก็แค่เท่านั้น เรารู้เพียงแค่ทำยา จึงส่งเสริมมันไว้เป็นชีวิตธรรมดา ยังมืด มืดต่อไป ทีนี้เรามาศึกษาชีวิตกันในความหมายที่กว้างไปออกไป ถึงจิตใจ ซึ่งเราอยู่ทางวัตถุและจิตใจคือร่างกายและจิตใจ มันก็พูดได้ว่า มันยังมีชีวิตคือยังไม่ตายน่ะ ร่างกายจิตใจที่ยังมีสิ่งที่เรียกว่าปราณ(25.54) หมายถึงการหายใจหรือลมหายใจก็คือยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็เรียกว่าสิ่งแรกที่รู้จักมันยังหายใจอยู่ พวกเด็กๆก็เข้าใจได้เรื่องอย่างนี้ สูงขึ้นมามันไม่ใช่ตัววัตถุตัวลมหายใจอะไรแต่ชีวิตหมายถึงระบบปฏิบัติอย่างครบถ้วนคือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างครบถ้วนอย่างถูกต้อง ตามธรรมชาติมันก็มีของมัน อย่าลำเอียง ธรรมชาติมันมีระบบ มีการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ธรรมะตามธรรมชาติก็มีอยู่ ชีวิตมันก็รอดอยู่ แต่มันได้ผลเพียงเท่านั้น เดี๋ยวนี้เราจะมองสูงขึ้นมาถึงไอ้ระบบที่เราศึกษา เราศึกษาสูง ปฏิบัติสูง อยู่ในระดับที่สูง ระบบการดำเนินชีวิตมันก็มีความหมายกว้าง กว้างไปออกไป ถึงระบบทั้งหมดของการดำรงชีวิต ในวันนี้เราจะศึกษาเรื่องนี้เพื่อจะพัฒนาให้เกิดผลออกมาสูงสุดหรือเต็มที่ตามที่ไอ้ชีวิต ตามธรรมชาตินั้นมันจะมีให้ได้อย่างไร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องแปลกจะต้องรู้สึกว่าแปลกเพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยใช้ ก็คนจะต้องมาศึกษาเรื่องแปลกเหมือนกับอยู่ในที่มืดและเราจะดิ้นรนออกไปสู่ที่สว่าง มีระบบการต่อสู้ดิ้นรนออกมาสู่ที่สว่างนั่นคือการดำรงชีวิต ดำรงชีวิต มันมีการปฏิบัติ ถ้าปล่อยเฉยๆตามบุญตามกรรมนี่ไม่เรียกว่าการดำรง ถ้าการดำรงหมายถึงต้องมีความรู้ และมีการประพฤติและกระทำอยู่อย่างถูกต้อง สืบต่อชีวิต พัฒนาการเจริญๆๆ จนกว่าจะถึงที่สุด นั้นข้อนี้จะต้องพูดกันสักหน่อยถึงความแน่ใจ จึงจะต้องพูดกันสักหน่อย ถึงการที่ต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ มากสุดสติกำลัง ทีนี้มันก็จะมีปัญหาขึ้นมาสำหรับบางคน ฉันไม่ทำตาม เพราะฉันไม่ได้สัญญาว่าจะเกิดมาเพื่อพัฒนาชีวิต ฉันจะปล่อยตามสบายของฉัน นั่นก็ถูกแล้ว ไม่มีใครว่า ประชาธิปไตยคุณจะเลือกเอาอย่างไรก็ได้ คุณจะไม่ศึกษา จะไม่พัฒนาก็ได้ มีสิทธิที่จะทำ ก็ลองดู คุณจะเอาอย่างนั้นก็ได้ ก็ลองดู มันจะทนไหวไหม ชีวิตที่ไม่มีการศึกษาและพัฒนา มันจะมีผลเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วคุณจะทน...ไหวไหม กระนั้นมันจึงเป็นความเด็ดขาดของความเด็ดขาด เอาสิถ้าคุณไม่พัฒนา คุณก็ต้องรับผลของการกระทำนั้น อาจจะตายเสียในไม่กี่วัน โดยไม่ได้รับผลหรือความดีอะไรในการมีชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาๆ แม้ไม่ได้สัญญาว่าจะพัฒนา แต่เราเกิดมาในโลกนี้ ในขอบเขตอันนี้ อยู่ในวงจำกัดนี้แล้วก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะพัฒนา ดังนั้นเราจึงศึกษาธรรมะในระบบในการพัฒนาชีวิตนี้ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ได้รับ แต่ใครจะถือว่าฉันเกิดมาทำไร่ทำนาหากินไปวันๆ กว่าจะตาย งั้นก็ไม่มีใครว่า แต่ดึกดำบรรพ์เราก็เคยทำกันมาอย่างนั้นแต่แล้วเราทนไม่ได้เราต้องการสิ่งที่ดีกว่าสูงกว่า มันจึงมีความรู้เรื่องการพัฒนาชีวิตกันอย่างไร ถ้าต้องการเพียงแค่รู้จักทำมาหากินก็ทำได้ เพียงแต่รู้จักสืบพันธ์ไว้ไม่ให้สูญพันธ์อย่างนี้มันก็ไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์เดรัจฉานทั่วไป สัตว์เดรัจฉานรู้จักการกิน รู้จักการนอน รู้จักการวิ่งหนีอันตราย และก็รู้จักสืบพันธ์มันก็มีอยู่แค่เท่านั้น มันก็เท่านั้น มันก็ไม่มีอะไรที่น่าพอใจ ทีนี้มันต้องการให้ รู้ เรื่องนี้เราจะทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เราจึงมีการกระทำในอีกด้านหนึ่ง ซีกหนึ่งที่เรียกว่าซีกจิตใจ ในภาษาบาลีมันก็มีคำพูดพูดถึงเรื่องนี้คือการทำนาอมตะ ทำนาอมตะธรรม มันมีชาวนาคนหนึ่งตัดพ้อต่อว่าพระพุทธเจ้า ในทำนองว่าดีแต่กินๆ ไม่ทำไร่ ไม่ทำนา ต่อว่ากันถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าฉันก็เป็นชาวนา ทำนาเต็มที่ ชาวนาก็บอกฉันไม่เชื่อ วัวอยู่ที่ไหนละ ไถนาอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าก็บอกว่าทำนาอย่างอมตะ มีศรัทธาเปนข้าวเปลือก มีความดีเป็นน้ำหล่อเลี้ยง มีกำลังกายเป็นวัว มีปัญญาเป็นคันไถนา มีใจเป็นเชือกผูกดึงวัว ครบหมดทุกอย่างเลย อย่างนี้เรียกว่าทำนาอมตะ ทำนาอย่างนี้เรื่อยๆไป ผลที่ได้มาเป็นอมตะ เป็นธรรมะกินแล้วไม่ตาย ไม่รู้จักตาย นี่เป็นอุปมาที่จะทำให้เข้าใจคำพูดในฝ่ายจิตใจ ที่ต้องมีการพัฒนาจะทำนาค้าขายเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่สน แต่น่าจะรู้จักการทำมากไปมากกว่านั้น นั่นคือทำทางฝ่ายจิตใจ มีความรู้สูงสุดๆจึงมีจิตใจที่ไม่มีความทุกข์เลย ชาวนาเป็นพ่อค้าเป็นคนมีอำนาจวาสนาแต่จิตใจก็ยังมีความทุกข์ จึงเรียกว่าสิ่งมีชีวิตนั่นมันกัดเจ้าของจนกว่าจะรู้เรื่องจิตใจโดยสมบูรณ์ ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องแล้วชีวิตนั้นมันจะไม่กัดเจ้าของ ชีวิตกัดเจ้าของนี่จะต้องพูดกันให้ชัดเจนสักหน่อย เดี๋ยวนี้มาพูดในแง่ที่ว่าถ้าไม่รู้จักพัฒนาแล้วชีวิตนั่นแหละตัวชีวิตนั่นแหละจะกัดเจ้าของหรือกัดตัวเองจึงมีความทุกข์อยู่ทั้งกลางวันกลางคืนดังนั้นมันจะอยู่เฉยๆโดยไม่พัฒนาไม่ได้แล้วจะต้องพัฒนาให้ถูกต้อง พัฒนาให้ชีวิตมันถูกต้อง ในการมีชีวิตนั่นนะ ก็คือรู้จักตัวสิ่งที่ถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่าชีวิตอย่างถูกต้อง พูดเป็นอุปมาข้อแรกก็ชีวิตนี้ยังเป็นถ้ำมืด ยังเป็นความมืด ชีวิตยังเป็นความมืดสำหรับท่านทั้งหลาย คือเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายยังไม่เข้าใจ ชีวิตเป็นความมืดที่มืดยิ่งถ้ำมือ หรือยิ่งกว่าความมืดยามราตรีที่ไม่มีแสง ชีวิตยังเป็นความมืดเป็นถ้ำมืดแก่ท่านทั้งหลายซึ่งท่านทั้งหลายจะต้องศึกษาและทำให้มันมีแสงสว่างขึ้นมา ชีวิตเป็นความมืดเป็นถ้ำมืดมันก็คือเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับสัตว์ ต่อเมื่อได้พัฒนาสติปัญญามากขึ้นๆๆจึงจะค่อยเห็นแสงสว่าง และชีวิตตามธรรมดาสามัญที่เป็นไปเองตามธรรมชาติสามัญ ชีวิตนั้นคือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่ท่านทั้งหลายส่วนมากยังไม่เข้าใจ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ ท่านทั้งหลายยังไม่เข้าใจมันก็เป็นความมืด กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทถ้าเรารู้ จัดการอย่างถูกต้อง เราจึงดับทุกข์ได้สิ้นเชิงเราจึงจะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ และชีวิตก็จะได้รับการควบคุมอย่างถูกต้อง มันก็จะไม่มีความทุกข์ จำชื่อไว้ก่อนก็ได้ถ้ายังไม่เข้าใจ เป็นเรืองที่จะต้องพูดกันต่อๆไปว่ากระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นมันคืออะไร แต่ที่มันจะต้องรู้ไว้ก่อนก็คือชีวิตนั้นมันคือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทที่กำลังเป็นไปๆๆ ตัวชีวิตนั้นมันก็คือสิ่งที่ตกอยู่ภายใต้การปรุงแต่งตามกฏเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาทอยู่ตลอดเวลา ชีวิตไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของการปรุงแต่งตามกฏแห่งปฏิจจสมุปบาทตลอดเวลา ดังนั้นพูดอีกทางหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งก็พูดว่าชีวิตคือสิ่งที่ตกอยู่ใต้กฏเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาทตลอดเวลา ทุกหนทุกแห่ง ตลอดเวลาในที่นี้หมายถึงเนื้อที่ พื้นที่ในทุกหนทุกแห่งตลอดเวลาในชีวิตนี้ เป็นไปภายใต้กฏเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท ถ้าพูดอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องของอภิธรรมหรือเป็นคำพูด พูดให้ชาวบ้านเขาฟัง แต่ถ้าพยายามทำความเข้าใจมันก็พอจะรู้เรื่อง ชีวิตตามธรรมดาสามัญของเรา มันกำลังเป็นไปตามธรรมชาติบังคับของปฏิจสมุบาท ใช้คำไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้เราคิดว่าเราอิสระเราจะทำอะไรก็ได้ เราไม่อยู่ในอำนาจของอะไรนั่นแหละคือความมืดที่ไม่รู้ที่จริงแล้วในร่างกายนี่ ทุกๆปรมาณูของร่างกายก็ตกอยู่ใต้อำนาจปรุงแต่งของปฏิจจสมุปบาท ร่างกายทุกๆปรมาณูหรือว่าทุกๆกลุ่มของปรมาณู ทุกเซลส์ที่ประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ทุกๆจุดทุกๆกลุ่มก็อยู่ใต้อำนาจกฏเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายจิตใจ จะเป็นความคิด ธรรมชาติ สัญชาตญาณ หรือจะเป็นความคิดที่คิดอะไรใหม่ๆตามอำนาจการศึกษา ความคิดก็ดี ตัวความคิดก็ดี จิตที่คิดก็ดี ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของกฏเกณฑ์หรือสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดเลย ทั้งร่างกายทั้งจิตใจ ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของปฏิจจสมุปบาทก็เป็นไปตามนั้นตลอดเวลา คือทำอย่างนี้ เกิดอย่างนี้ คนทำอย่างนี้จะเกิดอย่างนี้ตลอดเวลาที่มนุษย์หรือคนบัญญัติอย่างนี้เรียกว่าดีอย่างนี้เรียกว่าชั่วตามธรรมชาติแท้ๆไม่มีดีไม่มีชั่วมีแต่คนทำอย่างนี้เกิดอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดอย่างนี้แน่นอน คนๆนี้อาจจะชั่ว คนๆนี้อาจจะดี ดีของคนนี้อาจจะชั่วของคนนี้ ดีของคนนี้อาจไม่ใช่ดีของสัตว์เดรัจฉาน ดีของสัตว์เดรัจฉานอาจไม่ใช่ดีของคน คนเราจะคว้าเอาเองตามความรู้สึกของตัว แต่กฏปฏิจจสมุปบาทนี่มีแต่เพียงว่ามันต้องเกิดขึ้น ถ้าเราทำลงไปอย่างนี้ มันต้องเกิดอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ชอบอย่างนี้ ท่านก็อย่าทำให้มันเกิดอย่างนี้ ทำในทางที่ต้องการให้มันเกิด มันก็รอดตัว กฏที่มันตายตัว ทำอย่างนี้ คนจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้นี่แหละกฏของปฏิจจสมุปบาท เรียกให้ง่ายหน่อยก็เรียกว่ากฏแห่งกรรม ถ้าโง่หน่อยก็เรียกว่าพรหมลิขิต พระเจ้าบันดาล อะไรก็ตามใจเถอะ ถ้ามันฉลาดถึงที่สุดแล้วไม่ต้องพูดถึงพระเจ้า ไม่ต้องพูดถึงผีสางเทวดาที่ไหน พูดถึงเรื่องของกฏของปฏิจจสมุปบาทที่มันอยู่ทุกๆปรมาณูของวัตถุ ร่างกายและจิตใจ ที่มันครอบงำชีวิตอยู่ตลอดเวลาทุกหนทุกแห่งคือกฏของเรื่องแห่งปฏิจจสมุปบาท แทนที่จะต้องเข้าใจกันให้ได้ ทีนี้จะได้ควบคุมได้ คือไม่เสริมให้ทำไปในทางที่จะเป็นทุกข์ ให้รู้จักประพฤติธรรมไปในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ ทีนี้ก็ขอพูดเรื่องปฏิจมุปบาทกันสักหน่อยเพราะมันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงเป็นเรื่องยากที่สุดในบรรดาเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้นแต่เราไม่ถือว่ามันยากจนไม่อยากศึกษาแต่เราศึกษาในฐานะมันเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจและยากที่จะควบคุมเราต้องกำจัดความยากนั้นออกไปเสียโดยการศึกษาให้รู้ๆๆๆจนสามารถควบคุม ถ้ายกเป็นเรื่องยากแล้วเลิกกันก็ตามใจนะก็ได้เหมือนกัน ก็ไม่ต้องมาพูดกัน แต่จริงๆแล้วยิ่งยากยิ่งอยากจะรู้อย่างนี้ก็ได้อย่างนี้ก็มาพูดกันแต่ขอยืนยันซ้ำอยู่ว่า เรื่องนี้เนี่ยเป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด เป็นเรื่อที่ลึกซึ้งนี่พระพุทธเจ้าท่านซ่อนเร้นเรื่องนี้ไว้อย่างลึกลับ ก็ดูสิ ทุกคนนี่ไม่มีใครรู้จักปฏิจจสมุปบาท ทั้งที่หายใจเข้าออกตลอดเวลา เราอยู่ใต้อำนาจของปฏิจจสมุปบาท ในกระแสของปฏิจจสมุปบาท และก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าไม่ลึกลับอย่างไร มันยาก แต่ถ้าเรียนพุทธเราต้องผ่าด่านนี้ไปได้ ต้องรู้ความลับในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเราถือกันว่า อวดได้ว่าไม่มีสอนในลัทธิอื่นหรือศาสนาอื่นมีสอนแต่ในพระพุทธศาสนาเรื่องปฏิจจสมุปบาทคือเรื่องของธรรมชาติ ตามที่มันเป็นอยู่อย่างไรและควบคุมสิ่งทั้งปวงอย่าไร สิ่งทั้งปวงคือธรรมชาติและมีโคตรของธรรมชาติมาครอบคลุมสิ่งทั้งปวงในทุกๆแง่ในทุกๆความหมาย เรามาศึกษาสิ่งทั้งปวงในแง่ของความทุกข์กับการดับทุกข์ถ้านอกนั้นก็ไม่เอามาพูดพระพุทธเจ้าก็เอามาดับทุกข์ ท่านก็สอนแต่อย่างนี้ อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี ท่านพูดถึงแต่เรื่องดับทุกข์นะ เรื่องของธรรมชาติ เกี่ยวกับความทุกข์และการดับทุกข์ ก็พยายามตั้งต้นศึกษา ไม่ใช่ศึกษาทั้งหมดจนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ถึงจะศึกษาเฉพาะที่จะดับทุกข์เท่านั้นแหละจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ การดับทุกข์เหล่านั้น เข้าสู่วิธีที่จะทำให้ดับทุกข์คืออริยสัจ ๔ พูดสั้นๆแต่เพียง ๔ เรื่อง ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ หนทางดับทุกข์ และทางที่จะทำให้ดับทุกข์ ถ้าลดให้น้อยก็มีแค่สองเรื่อง ทุกข์กับหนทางดับทุกข์ แต่ถ้าพิจารณากันอย่างละเอียดละออๆมันก็มีมากกว่าสี่เรื่องกลายเป็น ๑๑ หัวข้อ ๑๒ หัวข้อมันก็เลยเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท กลายเป็น ๑๑ แง่ ๑๑ มุมจนถึง ๑๒ นี่แหละเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทท่านทั้งหลายก็จงพยายามฟังให้เข้าใจโดยความหมาย อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่ามันเป็นเรื่องที่ควบคุมชีวิตทุกๆชีวิตทุกหนทุกแห่งทุกเวลา กฏเกณฑ์อันนี้ควบคุมสิ่งที่มีชีวิตทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลา ทีนี้ถ้าจะเอามาบรรยายให้มันเข้าใจง่ายฟังง่ายฟังออกแม้แต่ลูกเด็กๆก็ฟังออกมันก็ไม่มีทางที่จะทำได้คนแก่หัวหงอกแล้วก็ตามใจถ้าไม่รู้เรื่องนี้มันก็ยังเด็กๆอยู่ มันก็เป็นเด็กหัวหงอกอยู่นั่นแหละ มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทได้ งั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายฟังให้ดีๆว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นคืออะไร ตัวหนังสือมันคืออาศัยกันแล้วเกิดขึ้นๆๆมันมีเพียงเท่านั้นแหละ จะพุดกี่ครั้งก็คือมันมีเหตุมีปัจจัยๆ มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันต้องเป็นตามเหตุตามปัจจัยแต่ละอัน ถ้าดูตามแง่ที่ว่ามันอาศัยกันและเกิดขึ้นๆก็ในแง่ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทแปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นถ้ามองในแง่ที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย มีเหตุมีปัจจัยกันไปอย่างนี้ เราเรียกมันว่าอิทัปจยตา ซึ่งเป็นคำที่ไม่ค่อยจะได้ยินส่วนใหญ่ได้ยินแต่คำว่าปฏิจจสมุปบาท มองในแง่ของการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ที่จริงมันมีสิ่งที่ละเอียดไปกว่านั้น มันมีเหตุปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่อย่างนี้อาการอย่างนี้เรียกว่าอิทัปจยตา คำนี้ก็รวมหมดไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีก็ตามทุกสิ่งเป็นไปตามอิทัปจยตา แต่ถ้าเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทมันมักจะหมายถึงสิ่งที่มีชีวิต รู้จักเป็นสุขและเป็นทุกข์ ตัวอย่างเช่นก้อนหิน ถ้าก้อนหินไม่มีชีวิต ไม่มีความสุขทุกข์ แมันก็เป็นไปตามกฏอิทัปจยตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้ามันอาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้นก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทได้ แต่ไม่นิยมเรียก ปฏิจจสมุปบาทนี่จะสงวนไว้สำหรับสิ่งมีชีวิต คือต้องร้จักเป็นสุขรู้จักเป็นทุกข์ แต่ถ้าอิทัปจยตานี่อะไรก็ได้มันรวมไปหมดทั้งจักรวาล นี้ ทั้งดวงดาว ดวงจันทร์ ทั้งจักรวาล ก็เป็นไปตามกฏอิทัปจยตา จะได้เกี่ยวข้องเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต รู้สึกเป็นสุขเป็ทุกข์ เรียกปฏิจจสมุปบาทดีกว่า คำทั้งสองนี้มีความหมายตายตัวอย่างนี้แต่เราพูดกันอย่างผิดๆในเมืองไทย จะลังกาพม่าก็ยังใช้คำพูดนี้ผิดๆ ถ้าจะใช้ให้ถูกต้องตามพระพุทธสุภาษิตก็ต้องแต่งกันว่าปฏิจจสมุปบาทใช้กับสิ่งมีชีวิตที่รู้จักเป็นทุกข์ ถ้าอิทัปจยตาหมายถึงทุกสิ่งต่อให้ไม่มีชีวิตก็ตามจะต้องเป็นไปตามกฏธรรมชาติ เรียกว่ากฏอิทัปจยตา เฉียบขาดเหมือนพระผู้เป็นเจ้านั่นแหละ ยุติธรรมไม่รับสินบนนั่นแหละกฏอิทัปจยตา ก็ทีนี้อิทัปจยตาเก็บไวก่อนมาพูดถึงปฏิจจสมุปบาทเพราะเป็นปัญหาโดยตรงสำหรับสิ่งมีชีวิตที่รู้จักเป็นสุขเป็นทุกข์อาตมาก็บอกแล้วว่าจะพูดกันแบบให้เด็กๆก็ฟังเข้าใจ ถ้าไม่โง่เกินไปนะ มันต้องไม่ใช่เด็กทารกมันต้องรู้จักอะไรสัมผัสชีวิตอะไรในโลกมาพอควรมันก็จะเข้าใจได้ ตั้งต้นโดยการบอกพวกเด็กๆว่าเรามีอายตนะ คำนี้จำคำบาลีดีกว่า คือ อา ยะ ตะ นะ จะแปลเป็นไทยมันยุ่งยากจำคำบาลีดีกว่า อายตนะแปลว่าการติดต่อ หลายสิ่งที่ถูกติดต่อ สิ่งที่ติดต่อก็ได้ การติดต่อก็ได้ น่าจะแปลว่ารู้สึกได้ สัมผัสได้ เรามีอายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่าง พยายามให้ลูกเด็กๆรู้จักทั้งหกอย่าง ห้าอย่างขั้นต้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะยากหน่อย ต้องใช้เวลาอธิบายเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าเรามีอวัยวะทั้ง ๕ ตา หู จมูก ลิ้นกายใจ ใครไม่มี ยกมือ ใครไม่มี! เด็กทุกคนนะจะมีตาหูจมูกลิ้นกายใจ ตาหูจมูกลิ้นกายใจเรียกว่าอายตนะมีอยู่ภายในชีวิตร่างกายในอัตภาพ แต่นี้สิ่งที่จะเข้ามาจากภายนอกคืออายตนะภายนอกคือสิ่งที่จะมากระทบอายตนะภายในคือมีรูปมากระทบตามีเสียมากระทบหูมีกลิ่นมากระทบจมูก มีรสสำหรับจะมากระทบลิ้น มีการสัมผัส รู้สึกทางผิวหนังที่จะมากระทบผิวหนังและก็มีความคิดความรู้สึกที่จะกระทบจิตใจ มี ๕ อย่างข้างต้นที่จะฟังออกง่ายๆ แต่สิ่งที่มากระทบใจนี่จะอธิบายยากหน่อยแต่ก็พออธิบายได้ ก็เด็กๆมันก็ไปคิดไปนึกไปรู้ได้ ก็บอกว่ากายรู้สึกยังไง เราคิดเรารู้สึกยังไงก็ตามรู้ไปน่ะ สิ่งที่คิดเรียใจหรือมโน สิ่งที่คิดก็คือธรรมารมย์ ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส อุตภะ ธรรมารมย์ ข้างนอกมาคู่กับอายตนะข้างในคือตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่สามารถพูดให้เด็กเข้าใจสัมผัสทั้งหมดเหล่านี้ได้ ก็ไม่มีทางเข้าใจปฏิจจสมุปบาท แต่เชื่อว่าคงไม่มีเด็กคนไหน ที่โตพอสมควรแล้ว จะไม่เข้าใจเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจกับสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะชี้ให้เขาเห็นตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน เดี๋ยวรูปมากระทบตา เดี๋ยวเสียงมากระทบหู เดี๋ยวกลิ่นมากระทบจมูก เป็นอยู่อย่างนี้ทั้งวันๆ นี้เรียกว่ารู้เรื่องอายตนะ ข้างในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือรูป รส กลิ่น เสียง ข้างนอก ที่มากระทบธรรมารมย์ พูดจากันจนรู้เรื่องนี้ก่อน เด็กอายุสิบปี ก็สามารถฟังออกและเข้าใจได้ ถ้ามีอายุ ๑๕-๑๖ ปีแล้วก็จะต้องเข้าใจได้แน่นอนว่าเรามีอายตนะอยู่ตามอัตภาพหรือเนื้อตัว สำหรับทำหน้าที่คือเกี่ยวข้องกันสัมผัสซึ่งกันและกันอยู่เป็นประจำ ถ้าเราเกิดมาก็ลืมตาขึ้นก็เห็นอะไรก็เรียกว่ามีตา มีรูปมากระทบตาเด็กๆก็จะฟังออก เรามีหูได้ยินเสียง เสียงมากระทบหู มีกลิ่นมากระทบจมูก มีรสมากระทบลิ้น อะไรๆก็มากระทบผิวหนังให้มันรู้สึกว่าตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องมารดา ได้รับการประคบประหงมถนอมกล่อมเกลี้ยงด้วยสัมผัสทางผิวหนัง ก็ที่เขาจัดให้ดีที่สุด ทารกอ่อนๆนะ เขาก็จับให้ดีที่สุด มีการกระทบทางผิวหนัง ถึงจะรอดอยู่ได้ ทีนี้ก็จับให้ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร จะหนาวจะร้อนก็ให้รู้สึกว่าเรารู้สึกอย่างนี้นะ ความรู้สึกแบบนี้เราเรียกว่าใจรู้สึก ความรู้สึกต่อรูป รส กลิ่น เสียง ธรรมารมย์นี่เรียกว่าใจรู้สึก พูดกันไม่เท่าไหร่ ไม่กี่วันก็ต้องรู้เรื่อง เดี๋ยวนี้ในโรงเรียนไหนมันไม่มีสอน มหาวิทยาลัยไหนมันก็ไม่มีสอน แต่ถ้ามีการสอนให้ลูกเด็กๆมันก็เข้าใจได้เรื่องอายตนะที่เรามีในชีวิตประจำวัน อ้าวทีนี้ต่อไป อาสนะแล้ว มีการกระทบทางอายตนะแล้วก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณ คำนี้ในบาลีแปลว่าวิญญาณ อย่าแปลในภาษาไทยนะ ถ้าแปลมันยุ่งยากลำบากอย่างนั้น ถ้าแปลว่าความรู้สึกทางอายนตนะและก็วิญญาณเมื่อตากระทบรูปมันก็เกิดจักษุวิญญาณคือวิญญาณทางตา คือตาเห็นรูป เมื่อหูมากระทบเสียงก็เกิดวิญญาณทางหู เมื่อจมูก กลิ่นมากระทบจมูกก็วิญญาณทางจมูก เมื่อรสมากระทบลิ้นก็วิญญาณทางลิ้น อะไรมากระทบผิวหนังก็วิญญาณทางกาย อะไรมากระทบใจเราก็เรียกว่าวิญญาณทางใจ เราก็เลยมีวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเกิดขึ้นทุกทีที่มีการกระทบตามคู่ของมัน ต้องกำหนดไว้ให้ดีว่าตามคู่ของมัน ถ้ามันไม่ตามคู่ของมัน มันก็ไม่มีสิ่งไหน เราก็จะไม่มีวิญญาณทางตา ถ้าตากระทบรูป ไม่มีวิญญาณทางหู ถ้าหูกระทบเสียง ตามคู่ของมัน รู้จักวิญญาณที่มีลักษณะอย่างนี้ เป็นวิญญาณทางพุทธศาสนา จะเพื่อไปอธิบายจะเกิดหรือไม่เกิดนั้นเป็นเรื่องของฮินดู เป็นเรื่องของพุทธศาสนา วิญญาณอย่างนั้นมีความหมายหนึ่งอย่าเอาไปเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ในพุทธศาสนานี่วิญญาณเกี่ยวข้องกับอายตนะ เรื่องที่หนึ่งอายตนะภายใน เรื่องที่สองอายตนะภายนอก เรื่องที่สามคือวิญญาณจะเกิดขึ้นทุกทีที่มีคู่มากระทบ วิญญาณเกิดแล้วมาดูอีกทีว่าการทำหน้าที่พร้อมกันอยู่สามอย่างคืออายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ อายตนะภายใน รูปคืออายนตะภายนอก จักษุวิญญาณการเห็นทางตา มาสัมผัสรูปภายนอกอยู่โดยอาศัยตาเป็นเครื่องมือ ก็ได้อยู่สามอย่าง ถ้าสามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่อย่างนี้ เรียกว่าผัสสะ ในสังสารวัฏนี่จะพูดกันอยู่สองอย่างตากระทบรูปเรียกว่าผัสสะ ตามพระบาลีแท้ๆต้องสามอย่าง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก สามอย่างถึงกันอยู่ ทำหน้าที่ร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ นี่เชื่อว่าเด็กเข้าใจได้ ตาเห็นรูปก็มีจักขุวิญญาณ ถ้าทำหน้าที่พร้อมกันสามอย่างก็คือ จักขุวิญญาณรู้เห็นจากสิ่งภายนอกที่มากระทบตา สามอย่างเรียกว่ผัสสะๆ ไม่ยากเกินไปนะ ง่ายพอๆกับท่องสูตรคูณ นี่เป็นเรื่องที่สี่นะ อายนตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ และผัสสะ มีการกระทบอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดผลของการกระทบ ผลของการกระทบเรียกว่าเวทนา อย่าแปลเป็นไทยให้มันยุ่งเลย กระทบเรียกว่าผัสสะ รู้สึกอธิบายได้ว่าเวทนา ความรู้สึกที่จิตใจรู้สึกแก่จิตใจ เวทนานี้เป็นความหมายว่าที่เป็นที่พอใจ ความรู้สึกพอใจ เรียกว่าเป็นสุขหรือเป็นบวก ถ้าไม่พอใจก็เป็นลบ บางทีเราก็ไม่แน่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ ไม่แน่ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ ถ้าเป็นบวกก็ถูกใจก็เรียกว่าสุขเวทนา ถ้าไม่ถูกใจก็เรียกว่าเป็นลบเรียกว่าทุกขเวทนา ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็เรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา แต่ชาวบ้านก็จะเรียกกันง่ายๆก็เรียกว่าอุเบกขา เวทนา บาลีไม่เคยใช้ เวทนานี่ตัวร้ายล่ะ พอมีเวทนามันจะต้องเกิดความอยากหรือความต้องการไปตามอำนาจของเวทนานั้น ตามอำนาจของเวทนานั้นทำให้เกิดความต้องการหรือความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ นี่เรียกว่ามันไม่ได้ต้องการตามสติปัญญาที่ถูกต้อง ของการกระทำความรู้สึกของเวทนา คือถ้ามันเป็นสุข สุขเวทนามันก็คืออยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น ถ้ามันไม่เป็นสุข มันเป็นทุกข์มันก็อยากจะไม่เอาไม่มีอยากจะทำลายอยากจะฆ่า ถ้ามันไม่แน่ว่าจะสุขหรือทุกข์มันก็มีความสงสัยติดตามอยู่ๆ วิ่งตามอยู่รอบๆอยู่ มัวเมา หลงใหลอยู่ ไม่อยากจะทิ้งเพราะสงสัยว่าจะมีคุณค่าดีมีประโยชน์ ทีนี้ความอยากมันก็เกิดขึ้นสามอย่าง ในทางที่จะเอาจะมีก็ได้ ในทางที่ไม่อยากจะเอาจะมีก็ได้ ในทางที่สงสัยว่าอะไรติดตามอยู่ๆก็ได้ ดูจากชีวิตประจำวันสิ ไม่ต้องเด็กๆก็ได้ โตๆอย่างนี้ก็แล้ว ถ้ามันสุขเวทนา มันก็บวกก็จะเอา ถ้ามักทุกข์มันลบก็จะทำลาย อทุกขมสุขมันก็จะสงสัยๆ วิตกกังวล อย่างนี้เรียกว่าตัณหาๆ แปลว่าความอยากความต้องการไปตามอำนาจของเวทนานั้น มันไม่รู้ว่าเป็นเวทนา อย่าไปตามใจเวทนา ความไม่รู้อันนี้เรียกว่าอวิชชานะ อวิชชาคือความโง่ ความต้องการในความโง่นั้นก็เรียกว่าตัณหา พอมีตัณหาความอยากความต้องการ พอมีความอยากรุนแรงๆมันก็โง่ ต่อไปจะเรียกว่ากูอยากกูต้องการกูจะเอาให้ได้ นี่ก็เรียกว่าเกิดอุปาทา ตัณหาคือความอยาก ให้เกิดอุปาทานว่ากูผู้อยาก เอ้า ตัวอย่างง่ายๆเช่นว่า อร่อยในการกินขนม มีเวทนา และก็อยาก อยากตลอดเวลา อยากจะมีกินไม่มีที่สิ้นสุด อยาก พออยากแล้วไอ้ความรู้สึกว่ากูผู้อยากนี่ก็มาทีหลัง ไอ้ตัวผู้อยากนี่ไม่ได้เกิดรอคอยอยู่แต่ก่อน แต่เพิ่งเกิด เมื่อมีการเสวยเวทนาแล้ว อยากจะมี หรือเป็นหรือได้ไปตามเวทนานั้น ตรงนี้ต้องสังเกตให้ดีมันเป็นเงื่อนต่อให้ความโง่ความหลงมันแสดงบทบาท ถ้ามีความอยากถึงจะเกิดความรู้สึกว่าผู้อยาก ต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งมันถึงจะเกิดความรู้สึกว่ามีผู้กระทำ ผู้กระทำนี่เป็นผีหลอกลมๆแล้งๆนะ มันกินแล้วนะถึงจะรู้สึกว่ากูผู้กิน ก่อนนั้นไม่มีกูผู้กินหรอก มันต้องกินเข้าไปแล้วถึงจะมีกูผู้กินอย่างนี้เป็นต้น มันต้องเหม็นหรือหอมแล้วถึงจะรู้สึกว่ากูผู้หอม เหม็นหรือไม่เหม็น สวยหรือไม่สวย รสอร่อยหรือไม่อร่อยมันต้องหลังจากนั้นแล้วมันถึงจะมีผู้ ผู้ได้เห็น ผู้ได้กลิ่น ผู้ได้ยิน ผู้ลิ้มรส ผู้สัมผัสทางผิวหนัง ผู้คิด ผู้นึก เมื่อมีการคิดการนึกถึงจะมีความรู้สึกว่ากูผู้นึก ตอนนี้สำคัญที่สุดก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทไอ้ตัวกู ตัวอัตตาหรือตัวตนนั้นมันเพิ่งมีอยู่ หรือว่าเพิ่งเกิด หลังจากที่มีตัณหา มีความอยากไปตามอำนาจของเวทนาแล้วถึงมีตัวกูผู้อยากที่เรียกว่าอุปาทานไอ้ตัวกูนั้นถ้าพูดธรรมดาสามัญก็คืออัตตา ตัวตน อัตตนิยา(01.10.26) เมื่อตัวตนหรือของตนรู้สึกว่ามีผู้อยากแล้วก็มีความรู้สึกว่าผู้กระทำอันตัวตนหรือผู้อยากผู้กระทำมันมาทีหลัง เหมือนผีหลอก เกิดแล้วก็ดับไป พอสัมผัสแล้วก็หมดไป แล้วก็เกิดอีกแล้วก็ดับไปอยู่อย่างนี้ ตามธรรมดาเรียกว่าอัตตาคือตัวตนอัตตนียาคือของๆตนแต่ถ้ากิเลศมันรุนแรง อุปาทานนี้มันก็รุนแรงเลยเรียกชื่อขึ้นมาอีกอย่างกู ของกู บาลีเรียกอีกอย่าง อหังการ ตัวกู มนังการ (1.11.12) ของกู มันมีความรู้สึกอหังการ มนังการ นามานุสัย คือการสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่าตัวกูบ้าง ของกูบ้าง เรียกว่ารุนแรงและใช้คำหยาบนะ ถ้าปกติก็คือตัวตน ของตน ถ้ารุนแรงก็กู ของกู นี่อุปาทาน พอมีความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อย่างนั้นผู้อย่างนี้ มันตั้งครรภ์ละไอ้ตัวตนหรือว่าอะไรก็ตาม ไอ้ตัวๆๆๆ มันเริ่มก่อแล้ว เรียกว่าภว หรือภพ ภพ ภวะ ให้เด็กๆรู้ว่าภาวะยึดถือก็คือตัวตนอย่างนั้นๆ ไอ้ตัวตนหรือตัวกูที่เป็นผีหลอกนี่มันเริ่มตั้งแล้วเริ่มปฏิสนธิเรียกว่าภพ ภวะ ความมีอยู่แห่งตัวตนเปรียบเหมือนมันมีอยู่และตั้งครรภ์แล้วในท้องแม่ มีภพแล้วมันก็แก่เข้าๆเหมือนกับครรภ์นั่นแหละ ตั้งแล้วมันก็แก่ ไม่เท่าไหร่มันก็คลอด เมื่อภพเป็นไปเต็มที่มันก็เกิดชาติ เป็นตัวกู แสดงบทบามไปตามเรื่องของมันอย่างนั้นอย่างนี้เป็นตัวกู ของกู มีตัวตนที่โง่เขลาที่สุดอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไปรับเอาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องทั้งหมดเช่นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตัวกูของกู ผู้แก่ผู้เจ็บผู้ตาย นี่เป็นความเศร้าโศกอาลัยรำพันแห้งผากในจิตใจมันก็เป็นเรื่องของกูเข้ามา ชาติ ปชาติ (01.12) เป็นตัวกูเข้ามามันก็เลยเป็นทุกข์นะ พบกับสิ่งที่รัก ไม่พบกับสิ่งที่รัก พบกับสิ่งที่ไม่รัก ต้องการอย่างใดแล้วไม่ได้มันก็เกิดขึ้น มันก็เป็นทุกข์นะ สารพัดอย่างที่มันมีอยู่ในโลกใน จักรวาลตามเรื่องตามราวของมัน ไอ้ความโง่ที่เรียกว่าตัวกูนี่ก็เอามาเป็นของกูหมดมันก็เลยเป็นทุกข์ ทุกอย่างทุกประการ เด็กๆจะฟังถูกไหม ข้อแรกให้รู้เรื่องอายตนะใน นอก ที่สองที่สามให้รู้เรื่องวิญญาณ ที่สี่เรื่องผัสสะ ที่ห้าเรื่องเวทนา ที่หกเรื่องตัณหา ที่เจ็ดเรื่องภพ อุปาทาน ที่เจ็ดเรื่องภพ ชาติ อายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติและก็ทุกข์ทั้งหลาย สิบจังหวะ ถ้าอุตริถามอายตนะมาจากไหนก็มาจากการปรุงแต่งของสังขาร สังขารมาจากไหน มาจากอำนาจของอวิชชาทำให้เกิดการปรุงแต่ง นี่ไล่ไปสิบเอ็ด สิบเอ็ดข้อหรือสิบเอ็ดแง่มุม อย่างนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าพ่อมันไม่โง่เกินไปก็คงพูดให้ลูกฟังออกหรือเข้าใจได้ เพราะปฏิจจสมุปบาทนี่คือตัวชีวิต เป็นอยู่ในประจำวันๆๆ ตามปกติธรรมดาสามัญก็คือความโง่ ตามอำนาจของความโง่นี่คือความไม่รู้จริง มันก็เป็นอย่างที่ว่านี้คือเป็นทุกข์ อธิบายก็จะเข้าใจชัดเจนมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอกกระทบกัน มันก็มีวิญญาณเกิดขึ้นด้วยกันเรียกว่าผัสสะ ผัสสะก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดความทุกข์ พยายามพูดให้เข้าใจเรื่องนี้แม้จะเรียกลำบากสักหน่อย จะลูกเด็กๆสักหน่อย จะเพื่อนฝูงก็ตาม จะมีประโยชน์ที่สุดที่ศึกษาเรื่องหัวใจของพระศาสนาในแง่ที่ว่ามันจะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เสร็จไปเรื่องหนึ่ง เกิดความทุกข์ ถ้าจะไม่เกิดความทุกข์จะทำอย่างไร มันก็ต้องทำให้เกิดปัญญา เกิดสติปัญญาขึ้นมาทันเวลาในขณะที่มีผัสสะ ตา รูป วิญญาณทำหน้าที่ผัสสะ วิญญาณหรือสติปัญญาที่จะมาทันมันต้องได้รับการศึกษา ศึกแล้วแล้วถึงจะได้รู้ว่าโอไอ้เวทนา ไอ้ผัสสะเหล่านี้นี่มันเป็นไปตามธรรมชาติ กูไม่ให้ความหมายกับมึง ให้ความหมายว่ามันเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นอย่างใดตามธรรมชาติ ให้ความหมายแต่เพียงมันเป็นเวทนา ผัสสะก็สักว่าธรรมชาติ เวทนาก็สักว่าธรรมชาติ เวทนาก็คือเวทนา เวทนาอย่างนี้ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ เกิดความทุกข์ ถ้ามันมาอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่เกิดทุกข์แต่เกิดความไม่ทุกข์ความไม่มีทุกข์นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องตัวบุคคล ชีวิต บุคคลทั้งเนื้อทั้งตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าโง่ถ้าเป็นไปผิดทางก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่โง่มีสติปัญญาพอก็ไม่เกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้จะไปเอาสติปัญญามาจากไหน มาจากในท้องแม่มันไม่มีมานี่ เพราะคลอดจากท้องแม่มันถุกหลอกให้โง่ หลอกให้หลงรัก หลงกลัว หลงเกลียด เป็นไปตามที่เข้าใจ หรือคนเลี้ยงก็ไม่เข้าใจ คนเลี้ยงทารกก็ดีแต่จะทำให้ทารกสบายใจๆ หลงใหลในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยากที่จะถอน คนเลี้ยงก็มีแต่จะบอกว่านี่แม่ของหนู บ้านของหนู เงินของหนู ตุ๊กตาของหนู เงินของหนู อะไรๆของหนู ไอ้เด็กคนนั้นมันก็มีตัวตน ในท้องก็ไม่มีมา พอออกมาจากท้องก็มีแต่ทำให้โง่ มีตัวตนหมด นั่นแหละคนธรรมดาๆ รวมเราทุกคนๆ ทุกคนอยู่ในกฏเกณฑ์อันนี้เราจึงไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเรื่องปฏิจจสมุปบาท ต้องเป็นไปตามอำนาจของปฏิจจสมุปบาท มีเวทนาก็เกิดตัณหาเกิดอุปาทานเกิดภพเกิดชาติก็เป็นทุกข์จะทำอย่างไรให้คนรู้ปฏิจจสมุปบาททันเวลา มันก็มีการสอน ไม่มีการสอนเด็กๆวัยรุ่นหรือแม้แต่เด็กหนุ่มสาวให้รู้เรื่องนี้ มีแต่จะสอนให้หลงยิ่งๆขึ้นไป หลงในรูป รส กลิ่น เสียง กายและใจ กลิ่น รส อุตภะ ธรรมารมย์ เราก็ได้เป็นทุกข์เต็มที่เต็มอัตราไปเลย มีแต่ปฏิจจสมุปบาทที่ทำให้เกิดความทุกข์ ไม่มีเรื่องที่จะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มีแต่จะควบคุมให้มันเป็นไปในทางที่ไม่ทำให้เกิดทุกข์ นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่ควบคุมให้มันเป็นไปอย่างนั้นนั่นแหละคือตัวชีวิต ตัวชีวิตที่โง่ที่มืดที่พร้อมที่จะเป็นทุกข์เรียกว่าไอ้ชีวิตคือความมืด มืดอยู่ด้วยกระแสปฏิจจสมุปบาทคือไม่รู้ ตามที่เป็นจริงมันก็เป็นทุกข์ ท่านทั้งหลายมาคิดดูเถอะมันสำคัญไหมมันสำคัญอย่างไรเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่มันสำคัญอย่างไร คือเรื่องอะไร ความจริงสูงสุดที่ครอบงำชีวิตอยู่ตลอดเวลา ชีวิตเป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทตลอดเวลา เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางร่างกาย เดี๋ยวทางจิตใจตลอดเวลา บางเวลามันไม่ไปตลอดสายเรียกว่ากระทบแล้วมันเลิกกัน นี่ก็เพราะว่ามันไม่มีส่วนที่สัมผัสความหมายของกลิ่นนั้นๆมันมีแต่เพียงส่วนนอกหรือตื้นส่วนที่เพียงรู้สึกอารมณ์ เช่นว่าตาเห็นรูป ทางวิทยาศาสตร์ก็คือระบบประสาทรับคลื่นแสง มีสีอย่างนั้น มีมิติ มีขนาดอย่างนั้นและมันก็เลิกกัน มันไม่สัมผัส ลึกไปอีกทีหนึ่งว่ามันคืออะไรมันเห็นอย่างนั้นแล้วก็เลิกกันไปเสีย แต่ถ้าจิตไปสัมผัสและรู้ว่ามันมีค่ามีความหมายอย่างไรนี่มันจะเกิดรู้สึกไปว่ามันเป็นรูปของอะไรเพราะฉะนั้นเราเห็นสีแดงนั้น ตอนแรกๆเราไม่รู้หรอกว่าสีแดงนั่นคือดอกไม้ แต่เมื่อวิญญาณไปจับก็บอกว่ามันคือดอกไม้ และเมื่อสัญญา ปัญญา ไปจับก็บอกว่ามันคือดอกกุหลาบ หอมและก็แพง มันก็มีปัญหาเรื่องดอกกุหลาบ เรียกว่ามโนวิญญาณ ถ้ามันสัมผัสจักษุวิญญาณแล้วเลิกกัน มาสัมผัสทางตาตลอดเวลาแต่ไม่เกิดตัณหา อุปาทานเพราะสัมผัสชั้นลึกเราไม่ได้สัมผัส มันสัมผัสแต่เพียงระบบประสาทตามธรรมชาติ ไม่ได้สัมผัสโดยมโนวิญญาณที่ทำให้เกิดความหมายอันที่ตั้งของความยินดียินร้าย ที่ได้หลงรักหรือไม่หลงรัก ถ้ามันรู้สึกเป็นเรื่องหลงรักหรือไม่หลงรัก เป็นไปทั้งหมดมันคงตายหละเพราะมันสัมผัสตลอดเวลา เรื่องที่มันเลิกทิ้งกันไปเสียเพราะสัมผัสภายนอกแล้วมันมากกว่า ที่มาสัมผัสเป็นอะไรลึกซึ้งหลงใหลมันน้อยกว่า ไม่ได้ลึกซึ้งหลงใหล จึงพอจะทนกันได้ ไม่ตาย สัมผัสทางตาเมื่อเห็นเดินมาอย่างนั้นก็รู้ว่ามีสีนั้น มิตินั้น อย่างนั้นๆ กว้าง ยาว สูง ต่ำ เท่านั้นแล้วมันก็เลิกไป เดี๋ยวนี้มโนวิญญาณมาสัมผัสอะไร ก็สัมผัสต่อไปว่าสวยไม่สวยอย่างนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้รับความทุกข์ หรือบางทีก็บอกว่าน่ารักไม่น่ารัก บางทีก็บอกว่าน่าเกลียด บางทีก็บอกว่าเป็นผู้มาดี มาร้าย เป็นผู้ให้ ขโมย เป็นต้น ถ้าอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นความทุกข์ แต่แล้วก็ถือว่าจะเป็นไปจนถึงความทุกข์ ไม่ถึงความทุกข์ ไม่ไปถึง หยุดเสียที่ครึ่งต่างก็ล้วนแต่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทตลอดสายหรือไม่ตลอดสายมันอยู่ที่นี่ ถ้าตลอดสายมันก็เกิดความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ทำให้ดีใจหรือเสียใจ นั่นแหละสิ่งรบกวนหรือปัญหา ถ้ามันหยุดเสียได้ไม่ต้องเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็ไม่มีอะไรและก็สบายกว่าถ้ามันมีการปรุงแต่งจนมีความหมายเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นบวก เป็นลบ แล้วมันไม่มีการพักผ่อน ดีใจด้วยเรื่องนี้ เสียใจด้วยเรื่องนั้น เหน็ดเหนื่อยตลอดวันเพราะว่าเขาไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เขาควบคุมมันไม่ได้ ชีวิตคนธรรมดาจึงเป็นเรื่องไม่พักผ่อนๆ เป็นเรื่องถูกกระชากหัว ลากถูอำนาจไปตามปฏิจจสมุปบาท พูดคำหยาบหน่อยนะมันประหยัดเวลา ลากๆถูๆไปด้วยอำนาจของอวิชชา ความโง่ ในกระแสของปฏิจจสมุปบาท เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องได้ เดี๋ยวรู้สึกว่าได้กำไร เดี๋ยวรู้สึกว่าขาดทุน เดี๋ยวรู้สึกว่าเสียเปรียบ เดี๋ยวรู้สึกว่าได้เปรียบ เดี๋ยวรู้สึกว่ามั่งมี เดี๋ยวรู้สึกว่ายากจน กระทั่งรู้สึกว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นสามี ภรรยา มันไม่มีหยุด มันไม่มีการพักผ่อนเพราะกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทชักจูงไป ถ้าเรารู้ถ้าเราทันมันก็ไม่ถูกมันชักจูงไป ชีวิตก็หยุดหรือเย็น ก็เป็นปกติได้ ดังนันจึงสรุปความว่าปฏิจจสมุปบาทนี่ทำให้ชีวิตหยุดหรือเย็นได้ หัวดื้อไม่ยอมใคร มันก็เพราะปฏิจจสมุปบาทนะ มันปรุงๆๆ ถ้ามันไม่ปรุง มันหยุด ชีวิตก็ไม่เป็นทุกข์ มันยุติ ที่มันไม่หยุดไม่ยอมไม่เย็นมันก็ปรุงมันก็มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ถึงกับต้องพูดกันอีกทีว่าชีวิตนั้นจะกัดเจ้าของ เป็นคำที่ฟังยาก ฟังให้เข้าใจน่ะมีประโยชน์ ถ้าควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ ไอ้ตัวชีวิตนั่นเองมันจะกัดเจ้าของ พอบอกให้ฟังเป็นพิเศษสักหน่อยว่าพวกฝรั่งที่มากันทุกเดือนๆ มันชอบคำๆนี้มาก ชีวิตที่กัดเจ้าของ เพราะมันผ่านมาหมดแล้วไอ้ชีวิตที่กัดเจ้าของ ทุกๆชีวิตเลย ไม่เคยพบชีวิตที่เยือกเย็นและไม่กัดเจ้าของนี่ ก็สนใจศึกษาธรรมะกันมากขึ้นๆ ก็พอใจชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ก็ควรจะพิจารณาดูกันบ้างว่ามันกัดเจ้าของอย่างไร ก็คือตามปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละมันควบคุมไม่ได้ เมื่อเกิดตัณหาความอยากเกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น หลังจากนั้นก็เกิดความรู้สึกที่มันกัดเจ้าของ หลังจากนั้นเกิดเวทนา ควบคุมไม่ได้ก็เกิดความรักขึ้นมา กัดหรือไม่กัด ไอ้ความรักนี่มันกัดหรือไม่กัด ถ้าความรักในเพศตรงกันข้าม ทางกามนั้นมันกัดอย่างที่เห็นกันอยู่แล้ว ความรักที่มันเป็นอุปาทาน ไม่ได้เกี่ยวกับกามมันก็กัดเหมือนกัน เช่น รักพ่อ รักแม่ รักพี่ รักน้อง มันก็เป็นตัณหาที่รบกวนจิตใจ เด็กๆไปโรงเรียนคิดถึงแม่ที่อยู่ในบ้าน กลัวว่าแม่จะตายเสียก็ร้องไห้ เด็กเล็กๆไปโรงเรียน ร้องไห้คิดถึงแม่กลัวแม่จะตาย นี่ไม่ใช่ความรักที่เป็นกิเลศ ตัณหา แต่มันก็เป็นความรัก และก็เป็นเรื่องกิเลศตัณหา ทุกคนเคยมีความรัก ทางเพศก็ดี ไม่ใช่ทางเพศก็ดี แต่ถ้ามีความรักแล้วมันก็มีความเป็นห่วง ความวิตกกังวล ดังที่กล่าวมาแล้วก็เรียกว่าความรัก มันก็กัดเจ้าของ ถ้าตรงกันข้ามเป็นความเกลียด ไอ้ความเกลียดนี่ก็กัดเจ้าของ มันไปเกลียดคนที่ไม่ต้องเกลียด มันเสือกเกินจำเป็น มันเกลียดนั่นเกลียดนู่นเกลียดนี่ มันมีเรื่องที่เกลียดไว้มากมันก็ทรมานจิตใจ ไม่เกลียดอะไรดีกว่า มีความโกรธ ก็มีไฟเกิดขึ้นในจิตใจมันก็กัดเจ้าของ มีความกลัว มีความไม่แน่ใจ มันก็กลัวนั่นกลัวนี่กลัวสารพัดอย่าง มีความตื่นเต้นๆ หยุดอยู่ไม่ได้ ตื่นเต้นในของแปลกใหม่ เห็นของแปลกของใหม่ จิตใจระรัวอยู่ว่าต้องซื้อให้ได้ ต้องพยายามซื้อให้ได้มาหล่อเลี้ยงความตื่นเต้น ได้รับของที่พอใจตื่นเต้นมาในวันแรกๆก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันตื่นเต้น ไอ้ความตื่นเต้นนี่มันเป็นความโง่ ต้องไปดูไอ้สิ่งที่มันเสริมความตื่นเต้น ไปดูกีฬา ไปดูมวย ไปดูของแปลกประหลาด ให้ความตื่นเต้นมันกระตุ้นหัวใจมันไม่ใช่การพักผ่อน ถ้าควบคุมเสียได้ก็จะดี ความรักก็กัดเจ้าของ ความโกรธก็กัดเจ้าของ ความเกลียดก็กัดเจ้าของ ความกลัวก็กัดเจ้าของ วิตกกังวลถึงอนาคตที่ยังไม่มา ความหวังอย่างลมๆแล้งๆ มันกัดเจ้าของ ทางธรรมะไม่ต้องการให้หวังนะ คิดว่าควรทำอย่างไรแล้วก็ทำ ไม่ต้องหวังให้มันกัดหัวใจ อย่าไปเชื่อคำสอนใหม่ๆมาจากเมืองฝรั่งว่าชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ถ้าชีวิตอยู่ด้วยความหวังไม่เท่าไหร่มันก็บ้าหมด แค่คิดให้ออกเสียว่าเราต้องการอะไร ควรจะทำอะไร หยุดความหวังเสียแล้วก็ทำไปตามที่ต้องการ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าชีวิตนี้อยู่ด้วยสติปัญญาไม่ได้อยู่ด้วยความหวัง อย่าสอนให้ลูกเด็กๆอยู่ด้วยความหวังเดี๋ยวก็เป็นโรคนั่นโรคนี่ก็ตายหมด ให้อยู่ด้วยสติปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ถามว่าเราควรจะต้องทำอะไร ควรจะต้องได้อะไรก็ทำไป อย่าให้ความหวังมันมากัดหัวใจ ยิ่งเป็นเรื่องทางกามารมย์นะยิ่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทนไม่ได้ อนาคตมันก็ไม่ต้องหวัง คิดว่าเราจะทำอะไรก็ทำไป อดีตก็อย่าไปอาลัยอาวรณ์ เรื่องมันแล้วไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องความรัก ความโกรธ ถ้ามันเป็นอดีตก็เป็นอดีต อย่าเอามา มันจะกัดหัวใจ เรียกว่าอย่าไปอาลัยอาวรณ์ในอดีต แล้วก็ไม่ อิจฉาริษยา นี่มันเป็นกิเลสตามธรรมชาติ มันอิจฉาริษยา อิจฉาน้องอย่างนี้ น่าสงสาร แม้สัตว์ทั้งหลายมันก็รู้จักอิจฉาริษยานะ ไม่อยากให้ใครมาดีเด่น ไม่อยากให้มานั่งข้างหน้า แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังสังเกตเห็น แต่คนมันมากกว่านะ ริษยาเห็นเขารวยกว่าก็อิจฉาริษยา เห็นเขาสวยกว่าก็อิจฉาริษยา เห็นเขาเก่งกว่าก็อิจฉาริษยา ความอิจฉาริษยามันกัดหัวใจคนนั้นมันไม่ได้กัดหัวใจคนที่ถูกอิจฉาริษยา เพราะโดยมากคนที่ถูกอิจฉาริษยาไม่รู้เรื่อง นอนหลับไม่รู้เรื่องแต่คนที่ไปอิจฉาริษยานั่นแหละกัดตัวเอง เพราะฉะนั้นเลิกเสีย เลิกคำว่าอิจฉาริษยา ทีนี้ก็มาถึงความหวงสิ่งใดที่เราพอใจเป็นที่ตั้งแห่งความรักเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ เป็นที่ตั้งความพอใจก็หวง มันก็กัดเจ้าของ ไม่หวงสบายใจกว่า แต่ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องกามารมย์มันก็หึง แรงกว่าหวงก็นอนไม่หลับ ฆ่ากันตายเพราะความหึงนี่มันมากมายเหลือเกิน มันมีมากกว่านี้มากมายหลายสิบอย่างแต่ยกมาแค่สิบอย่าง ความรักก็กัดเจ้าของ ความเกลียดก็กัดเจ้าของ ความกลัวก็กัดเจ้าของ ความตื่นเต้นๆก็กัดเจ้าของ ความวิตกกังวลถึงอนาคต ความอาลัยอาวรณ์ในอดีตก็กัดเจ้าของ อิจฉาริษยาก็กัดเจ้าของ ความหวงก็กัดเจ้าของ ความหวงก็กัดเจ้าของ สิบอย่างนี้พอเป็นตัวอย่างมันเกินมาแล้ว เห็นตัวอย่างมาพอแล้วที่มันกัดเจ้าของ สุนัขมันยังไม่กัดเจ้าของเลย ถ้ากัดเจ้าของต้องเลวกว่าสุนัข อย่าไปเอากับมัน มีเรื่องโง่และก็เป็นไปตามอำนาจโง่ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายความโง่ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายความทุกข์ มันก็มีผลกัดเจ้าของๆ มีเพียงเท่านี้พอแล้วที่เห็นก็รู้เพียงเท่านี้ แค่เพียงปฏิจจสมุปบาทนี่มันกัดเจ้าของ ก็ควบคุมมันไว้ได้มันก็ไม่เป็นทุกข์ ปล่อยให้มันเป็นทุกข์ ในแง่ไหนไม่ว่าอย่างไรมันก็กัดเจ้าของ ที่นั่นเมื่อนั้นทางนั้นไม่อยากให้มันกัดเจ้าของ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งคือการที่ชิวิตมันกัดเจ้าของ หนักเข้าก็เป็นบ้า หลงทางก็ฆ่าตัวเองตายเพราะความหลง นี่คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาทถ้าเราไม่รู้ก็ให้ผลร้ายอย่างนี้ ถ้าเรารู้ก็ให้ผลตรงกันข้าม ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องกัดเจ้าของ มีแต่ความเยือกเย็นเป็นสุข เป็นเรื่องสงบ เป็นเรื่องสบาย เดี๋ยวนี้ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ เราไม่รู้จักสิ่งนี้คือไม่รู้จักชีวิตเพราะตัวชีวิตนั่นคือตัวกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้กระแสปฏิจจสมุปบาทกือไม่รู้จักตัวชีวิต เมื่อไม่รู้ตัวชีวิตก็ไม่สามารถดำเนินชีวิต ให้ปลอดภัย ให้เยือกเย็นหรือสงบ มีแต่เรื่องกัดเจ้าของ ชีวิตมันกัดเจ้าของ เราไม่รู้เรื่องนี้ เรารู้แต่เรื่องธรรมดาสามัญ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้กันไปจนเรียกว่ามนุษย์ คนกลางถนน มีกิจการงานเที่ยวไปกลางถนน ต่อสู้ ตีนถีบปากกัดไปตามประสาคนเดินถนน ถ้ามีชีวิตสูงกว่านี้ก็ดี มันก็เลื่อนไปเป็นชีวิตพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าก็มีชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้ามีชีวิตที่กัดเจ้าของ มีอัตตาอยู่ ก็แสดงว่าเป็นปถุชนเต็มขั้น ท่านทั้งหลายก็คิดเอาเอง หยั่งเอาเองว่าไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นมันมีคุณค่าอย่างไร ที่มันน่าหัวก็คือมันคือตัวเอง ชีวิตประจำวันตลอดวันนั่นแหละ กระแสแห่งชีวิต ก็คือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันเป็นฝ่ายผิด มันก็เป็นทุกตลอดกาล ถ้ามันเป็นฝ่ายถูกมันก็จะไม่มีความทุกข์เลย มุ่งหมายเพียงเท่านั้น ไม่ได้จะมุ่งหมายจะไปนอนในสวรรค์วิมานอะไร แม้จะนอนในสวรรค์วิมานมันก็ไม่พ้นอำนาจปฏิจจสมุปบาท เทวดาก็ยังหลงในกามารมย์ เทวดาก็ยังทะเลาะกับพวกเทวดา เทวดายังมีปัญหาเรื่องดับทุกข์ไม่ได้ แม้ในสวรรค์แล้วมันก็ยังไม่พ้นอำนาจหรือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นพรหมในพรหมโลกก็ยังไม่พ้น ยังมีตัวตน ยังมีตัวกู ยังกลัวตาย ในคัมภีร์เก่าๆคัมภีร์ใหม่ดูสิอย่างพุทธนี่ถือกันเป็นหลักว่าพวกพรหมนี่กลัวตายที่สุด มนุษย์นี่ยังกลัวตายน้อยกว่าพวกพรหม ทำไมหรือ เพราะพวกเทวดาเขาก็มีความสุข พวกพรหมเขาก็มีความสุขชนิดที่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้ยิ่งกลัวตายเป็นที่สุด พอพูดถึงคำว่าตายหละ พวกพรหมนี่ละกลัวที่สุดรองลงมาก็กลัวรองลงมาตามลำดับ หมายความว่ายึดถือมากก็กลัวตายมาก ยึดถือในชีวิตที่มีความสุขก็กลัวตายมาก มนุษย์ก็เหมือนกัน บางคนก็กลัวตายมาก บางคนก็กลัวตายน้อย แต่บางคนไม่กลัวตายเลยเป็นพวกอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์หมดความรู้สึกว่าตัวตนแล้วก็ไม่กลัวตาย ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่หลง ไม่อะไรทุกอย่าง คือความเป็นพระอรหันต์แล้วก็มีชีวิตสงบเย็น คำว่าเย็นนี่ก็มีความหมายพิเศษคือไม่ร้อน ไม่หนาว ร้อนก็ไม่ไหว หนาวก็ไม่ไหว ไม่ร้อนไม่หนาว เย็นอย่างนี้ ความหมายของนิพพาน เรียกว่ามันไม่เป็นอะไร มันอยู่ตรงกลาง ไม่ได้ไม่เสียไม่ช้าไม่ชนะไม่ขาดทุน ไม่กำไร อยู่เหนือความรู้สึกเหล่านั้นทั้งหมดจะเรียกว่าอะไรก็เรียกว่าเย็นไปก่อน ไม่มีที่อย่างอื่น ถ้านิพพานๆก็แปลว่าเย็น เย็นถึงที่สุด เย็นจริงถึงที่สุด นิพพานคือเย็นโดยสมบูรณ์ ถ้ายังไม่เย็นถึงที่สุด เป็นความเย็นอกเย็นใจในบ้านเรือนอยู่อย่างนี้ เรียกว่านิพพุติ จำคำว่านิพพุติ(1.40.42) คือเย็นแต่ยังไม่ถึงที่สุด ถ้าเย็นถึงที่สุดนี่คือนิพพาน ถ้าไม่มีกระแสปฏิจจสมุปบาทเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตแล้ว ชีวิตก็จะมีความเย็น ไม่ความหมายใดความหมายหนึ่ง ถ้าไม่ถึงที่สุดก็เรียกว่านิพพุติๆ ถ้าถึงที่สุดก็เรียกว่ามีนิพพานๆ เรียกว่าสะอาดก็ได้ เพราะมันไม่มีอะไรรบกวนให้ยุ่งยากลำบาก ว่าสว่างก็ได้คือมันไม่โง่ไม่มืด เรียกว่าสงบก็ได้เพราะมันไม่วุ่นวาย ใครจะมีคำพูดเรียกดีกว่านี้แปลกไปกว่านี้ก็ได้ไม่เป็นอะไร แต่ที่เราใช้กันมากก็คือสะอาด สว่างและก็สงบ เมื่อมันสะอาดก็ไม่มีความสกปรกมารบกวน สว่างก็ไม่มีความมืดมารบกวน สงบก็ไม่มีอะไรมารบกวน เมื่อไม่มีอะไรมารบกวนเรียกว่าอะไรดี เรียกว่าเสรีภาพ อิสระเสรีภาพ สะอาด สว่าง สงบและก็มีเสรีภาพ แต่ทางพุทธศาสนามีคำเรียกว่าวิมุตติ หรือวิโมติ คือหลุดพ้น เป็นอิสระไม่มีอะไรบีบคั้นรบกวน ดังนั้นความเป็นวิมุติหลุดพ้นไม่มีอะไรรบกวนอย่างนั้นแหละเขาเรียกว่าจุดสิ้นสุดของปลายทาง ที่เขาเรียกกันว่ามีธรรมะ คือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทจนควบคุมมันได้ไม่ให้มันเกิดหรือถ้าเกิดก็ให้มันไปในทางที่ถูกต้องหรือวิชชา ไม่มีอวิชชา ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์ มันเป็นผลอย่างนี้ ดังนั้นวิมุติไม่ใช่คำที่ล้อกันเล่น ไม่ใช่เอาไว้หัวเราะกันเล่น มันเป็นคำที่เอาไว้สูงสุดๆจุดสูงสุดที่มนุษย์จะต้องไปให้ถึง ศาสนาไหนก็ตามถ้ามาสังเกตดูมันมีจุดมุ่งหมายที่นั่นทั้งนั้นแต่มันเรียกชื่อต่างๆกัน การตั้งชื่อก็เป็นการโฆษณาเพื่อให้คนพอใจ ยั่วให้คนพอใจ มากกว่าไม่พอใจ เรียกว่าสวรรค์ เรียกว่าพระเป็นเจ้าบ้าง ไปอยู่ที่นั่นแล้วก็หมดปัญหา แต่พุทธศาสนาจะเรียกว่าวิมุติคือหลุดออกไปจากปัญหา จะเรียกว่าว่างจากปัญหา หมดปัญหาก็ได้ จึงพูดว่านิพพานนั้นคือว่างๆๆอย่างที่สุด ไม่มีอะไรมารบกวน ดังนั้นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้สูงสุดก็คือสิ่งนี้ ที่อยู่เหนือปัญหา โดยประการทั้งปวง ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมันก็จะมีปัญหาตลอดเวลา มีสารพัดอย่าง ทางบวกก็เป็นปัญหา ทางลบก็เป็นปัญหา ขอให้เข้าใจดีๆว่า ได้ๆๆ ได้สมปรารถนา มันก็เป็นปัญหาเรื่องได้ ถ้าสุขๆๆ มันก็เป็นปัญหาเรื่องสุข จะกลับเป็นทุกข์ได้ บวกได้ก็กลายเป็นลบได้ ถ้ามันมีสุขมันก็กลายเป็นทุกข์ได้ ถ้ามันยังสุขอยู่มันก็ยังไม่หมดปัญหา ความทุกข์ที่เป็นปัญหาหมดไป ความสุขเข้ามาก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี ไม่สุขไม่ทุกข์เหนือสุขเหนือทุกข์จึงจะหมดปัญหา ถึงเรียกว่าถึงพระนิพพาน ถ้าไปบ้าสุข เมาสุข หลงสุข ติดสุข นั่นก็แย่ แย่กว่าเดิม บ้าบุญ เมาบุญ หลงบุญ ติดบุญนั่นก็แย่ไปกว่าเดิม ไม่บ้าสุข ไม่บ้าทุกข์ ไม่บ้าบาป บุญก็ไม่บ้า ไม่บ้าอะไร ดีใจไม่ยุ่ง เสียใจไม่ยุ่ง ไม่ๆ ไม่ทั้งสองอย่าง ไม่ต้องดีใจ เสียใจ ก็สบาย พักผ่อน จิตอย่างนั้นเรียกว่าจิตมีวิมุตติ คือมีความเยือกเย็นอยู่เป็นนิพพาน มีความสนใจอยู่ในความเยือกเย็นอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้ามันยังรัก เกลียด หลงนั่นก็ไม่ดี บางทีสัตว์เดรัจฉานยังจะดีกว่า สัตว์เดรัจฉานที่มันอยู่ตามธรรมชาติ มันไม่ได้มีความรัก ความเกลียด ความกลัว วิตกกังวลมากเหมือนมนุษย์ มนุษย์มันคิดเก่ง คิดมาก เอามาคิดจนได้รัก ได้เกลียด ได้กลัว ได้วิตกกังวลอยู่ตลอเวลา อย่างนี้มันน่าละอาย จะว่าดีกว่าสัตว์เดรัจฉานสักหน่อยมันก็ไม่ได้แล้ว เพราะสัตว์เดรัจฉานมันยังสงบกว่า ยังพักผ่อน เอาล่ะเป็นอันว่ารู้เรื่องของปฏิจจสมุปบาทก็คือรู้เรื่องของกิเลส ตัณหา จนควบคุมกิเลศ ตัณหาได้มีชีวิตอิสระ มีชีวิตที่ชนะเหนือปัญหาทั้งปวง มีความสะอาด สว่าง สงบเย็น ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ จึงขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายมาศึกษาและมาปฏิบัติเพื่อฝึกฝนเรื่องของจิตใจนั้น ผลที่สุดจุดหมายปลายทางมันอยู่ที่นี่ ความหลุดพ้นและก็อยู่เหนือปัญหาทั้งปวง เมื่อตนเองหมดปัญหาหมดความทุกข์แล้วก็สนุกด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น สนุกพอใจช่วยเหลือผู้อื่นเหมือนกับเล่นกีฬา ขอให้ความปรารถนานี้สำเร็จๆผลด้วยกันจนทุกๆคนเทอญ ขอขอบพระคุณที่อดทนฟังมาสองชั่วโมงเต็มแล้ว ด้วยความอดทน ก็ขอขอบพระคุณ ขอยุติการบรรยายในวันแรกนี้ ด้วยการบอกเพียงว่าปรมัตถธรรมสำหรับดำเนินชีวิตนี้คือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ควบคุมได้ ไม่ให้เกิดปัญหาใดๆขึ้นมาโดยประการทั้งปวงนี้เรียกว่าปรมัตถธรรมสำหรับดำเนินชีวิต ทำให้รู้และปฏิบัติได้ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยกันจนทุกๆคนเทอญ ขอยุติการบรรยาย.