แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมบรรยาย แก่คณะสมาชิกค่ายเจริญธรรมปัญญา จากธรรมสถานและคณะผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา ฉัตรที่สอง (2) วันที่สิบเจ็ด (17) เมษายน สองห้าสามสี่ (2534) เวลา ห้านาฬิกา (5.00 น.) ที่หน้ากุฏิ
ท่านที่เป็นสมาชิกคณะเจริญธรรมปัญญาและท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้อาตมาเห็นว่า ควรจะบรรยายสิ่งซึ่งยังเข้าใจไม่ตรงกันในระหว่างผู้ศึกษาและปฏิบัติทั้งหลาย มันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องเข้าใจกันให้ถึงที่สุด ตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติธรรม แต่มันเป็นเรื่องที่เรียกว่าหลังฉากก็ได้ของการปฏิบัติธรรม เมื่อยังไม่เข้าใจถูกต้องหรือไม่ถูกฝาถูกตัว มันก็อยู่ในสภาพที่น่าสงสารซะมากกว่าที่จะไม่ได้รับผลตามที่ต้องการ ขอท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดีๆ แล้วก็ปรับปรุงส่วนที่มันเกี่ยวกันอยู่กับท่านทั้งหลายเสียให้มันถูกต้อง สิ่งแรกที่จะพูดมันก็คือ เรื่องธรรมะหรือธรรมกับธรรมชาติๆ อาตมารู้สึกว่าโดยมากยังแยกๆ ยังเข้าใจแยกกันอยู่ แล้วก็ที่เป็นหลักธรรมะก็ดีในทางภาษาก็ดีของภาษาบาลีนั้นมันเป็นสิ่งเดียวกัน บางทีก็ใช้คำว่าธรรม บางทีก็ใช้คำว่าธรรมชาติ นี่เราจะต้องรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ถ้าพูดถึงธรรมชาติๆ ก็ควรจะเข้าใจให้ครบถ้วน ทั้งสี่ (4) ความหมายๆ คือ ตัวธรรมชาติเอง ตัวธรรมชาติๆ ความหมายที่แรก ความหมายที่สอง (2) กฎของธรรมชาติ ความหมายที่สาม (3) หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สี่ (4) ผลที่ได้รับจากหน้าที่ เมื่อพูดถึงคำว่าธรรมชาติๆ ตามธรรมชาติ หรือตัวธรรมชาติ นั่น มันมีขอบเขตกว้างขวางมากไกลมาก ไกลไปจนถึงว่าก่อนมีโลกนี้ก่อนมีดวงอาทิตย์ ก่อนมี ดวงจันทร์ก่อนมีอะไรทั้งหมดนี้ไกลไปถึงขนาดนี้ แล้วมันก็กว้างขวางหมดจักรวาลหรือเกินจักรวาล ตัวธรรมชาติตัวสภาวะของธรรมชาติ ไม่เล็งเฉพาะไอ้ตัวเล็กๆ เป็นคนๆ เป็นสัตว์เป็นต้นไม้เป็นส่วนๆ เล็กๆ หมายถึงหมดเลย เรียกว่าตัวธรรมชาติหรือสภาวะธรรมที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ จะเป็นพวกฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็ดี ด้านพลังงานกระทั่งฝ่ายที่เป็นจิตใจ เป็นอะไรก็ดี มันก็เป็นตัวธรรมชาติหมด นี่อันที่สอง (2) กฎของธรรมชาติ นั่นประจำอยู่ในสิ่งเหล่านั้นทุกสิ่งๆๆ บังคับไอ้สิ่งเหล่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๆ ตามเรื่องของกฎ นี่สิ่งนี้จะต้องสนใจให้มากเป็นพิเศษ เมื่อมันมีกฎของธรรมชาติเด็ดขาดขนาดนี้ มันก็เกิดหน้าที่ๆ ที่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายจะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎนั้นๆ มิฉะนั้นมันก็คือตายหรือว่าอยู่เหมือนกับตายแล้ว คือทนทรมานทนทุกข์ นี่เรียกว่าหน้าที่ๆ ความหมายที่สาม (3) ไอ้ความหมายที่สี่ (4) คือผลที่ได้รับเป็นปฏิกิริยา ปรากฏการณ์อะไรต่างๆ นี่เป็นธรรมดาเมื่อมันมีการเป็นไปตามธรรมชาติมันก็มีผลเกิดขึ้นตามสมควร สำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ไม่มีหน้าที่ แต่สิ่งที่มีชีวิตมันก็มีหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้ตาย เพื่อไม่เป็นทุกข์ดังที่กล่าวแล้ว ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ๆ ในความหมายที่สาม (3) คือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือธรรมะ ที่เราจะต้องศึกษาและปฏิบัติเป็นพิเศษ คือที่สุดมากที่สุดที่เราจะทำได้ ส่วนความรู้เรื่องตัวธรรมชาตินั่นก็รู้เรื่องตามสมควรนะ ไอ้ความรู้เรื่องกฎของธรรมชาตินี่ก็รู้มากขึ้นไป แต่ว่าที่จะต้องรู้ถึงที่สุดกันจริงๆ ก็คือเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ไม่ต้องสงสัยในเรื่องผล ปฏิบัติถูกก็ได้ผลตามที่ต้องการปฏิบัติผิดก็ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ในที่นี้มันมีๆ ข้อเท็จจริงที่เราแม้พุทธบริษัทนี้ก็ยังเข้าใจว่าอะไรๆ พระพุทธเจ้าบัญญัติๆ ขึ้นโดยพระองค์เองแล้วก็มาสอน ข้อนี้มันกำกวมสำหรับคำว่า “บัญญัติ” พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดในเรื่องที่เกี่ยวกับ ปฏิจจสมุปบาท กฎของธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติตามธรรมชาตินั่นแหละ แล้วก็ตรัสว่า อภิสัมพุชฌิตวา เป็นต้น คือพระองค์ได้รู้พร้อมเฉพาะอย่างยิ่ง อะเทเสสิ อะทาเสสิ แล้วมาประกาศมาแสดง แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ว่ากฎเหล่านั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งขึ้น ไม่สามารถจัดตั้งขึ้น มันเป็นไปตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ แต่พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ ท่านค้นพบแล้วก็นำมาเปิดเผยแสดงแจกแจง ในส่วนที่เป็นความดับทุกข์ ส่วนที่ไม่เป็นความดับทุกข์มันไม่ต้องก็ได้ อย่างที่ท่านว่า เราสอนท่านทั้งหลายเปรียบเท่ากับใบไม้กำมือหนึ่ง การตรัสรู้นั้นรู้หมดเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า มันมีความลับตรงที่ว่าไอ้ธรรมะนั้น เป็นกฎของธรรมชาติมากมายมหาศาล แต่พระองค์ทรงนำมาสอนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับดับทุกข์ มันจึงตัดเป็นรูปโครงเกี่ยวกับความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ ที่เป็นไปอย่างถูกต้องคือสอดคล้องกันกับกฎของธรรมชาติ ที่นี้มันก็มีปัญหาไอ้ตัวธรรมชาติแท้ๆ นั่นมันไม่มีความหมายเป็นสุขเป็นทุกข์ ที่เกิดความหมายเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมาก็เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึก คือมีเวทนามีความรู้สึก มันก็ได้แก่มนุษย์ เพราะว่าสัตว์มันยังมีความรู้สึกที่ไม่เป็นรูปเป็นร่างเป็นรอย ไม่บัญญัติเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรนัก แต่สำหรับพวกมนุษย์นี่ มันมีความรู้สึกในการพูดจา ในการยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ มันก็มีความว่าสุขหรือทุกข์ นี้เรียกว่ามันเล่นตลกกันอยู่กับธรรมชาติ ตัวธรรมชาติแท้ๆ มันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีแต่ว่า มีสัมพันธ์กันและปรุงแต่งกัน แล้วก็เป็นไปตามนั้น ไม่มีความหมายไม่มีเจตนาที่จะให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แต่มนุษย์ไปเลือกเอาส่วนที่ว่าสบายๆ แก่มนุษย์เป็นสุขที่ไม่สบายทุกข์ยากลำบากว่า เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเล่นตลกกันซะแล้วกับธรรมชาติ มนุษย์โง่เอาตามพอใจของมนุษย์ นี่ขอใช้คำหยาบๆ อย่างนี้ หยาบไป มนุษย์โง่เอาตามความพอใจของมนุษย์บัญญัติสิ่งเหล่านี้ว่าสุข บัญญัติสิ่งเหล่านี้ว่าทุกข์ จนเป็นความรู้สึกธรรมดาสามัญทั่วไปในหมู่มนุษย์ แต่ในเรื่องของธรรมชาติมันไม่มีความหมายที่ว่าสุขหรือทุกข์ ไปสังเกตดูตัวธรรมชาติ มันมีแต่คำว่า ธรรม ประกอบ กระทำ ปรุงแต่งกันอย่างนี้แล้วผลก็ออกมาอย่างนี้ นี่ก็ประกอบกระทำอย่างอื่นต่อไปผลมันก็ออกมาไปตามเหมาะสมของการประกอบหรือกระทำ มันไม่มีสุขมันไม่มีทุกข์ ดังนั้นมันจึงไม่มีคำว่าบุญหรือว่าบาปว่าได้ว่าเสียว่ากำไรว่าขาดทุน ในตัวธรรมชาตินั้นมันไม่มี มันเพิ่งเกิดมีตามความรู้สึกของมนุษย์แล้วพูดออกไปตามความรู้สึก บัญญัติพูดจากันขึ้นในหมู่มนุษย์ตามความรู้สึก มันจึงเกิดสิ่งที่ว่าสุขหรือทุกข์ บุญหรือบาป กระทั่งว่าดีหรือชั่วๆ นี้ซึ่งเป็นความหมายสำคัญ คู่สำคัญที่สุดคือ ดีชั่ว จำไว้เถอะ เพราะมันบ้าดีบ้าชั่วหลงดีหลงชั่วกันไปทั้งนั้นแหละ พอถูกใจมันก็ว่าดี ไม่ถูกใจมันก็ว่าชั่ว ถูกใจมันก็ว่าบุญกุศล ไม่ถูกใจมันก็ว่าบาป หรืออกุศล ทั้งที่ตัวธรรมชาติไม่รู้ไม่ชี้ๆ ในเรื่องความเป็นบาปเป็นบุญ เป็นดีเป็นชั่วเป็นสุขเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวธรรมชาติๆ ไม่รู้ไม่ต้องรู้เป็นเรื่องของมนุษย์ นี่เราจะต้องรู้ความจริงข้อนี้ไว้ก่อนว่านี่เราเรียนศึกษาเรื่องธรรมชาติ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าบัญญัติสอนไว้ให้โดยเฉพาะจำกัดในขอบเขตแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะเป็นทุกข์ ทำอย่างไรจะไม่เป็นทุกข์ ตามที่มนุษย์ทั่วๆ ไปบัญญัติไว้อย่างไรไว้พูดจากันอย่างไร หรือว่าตามที่มนุษย์ในอินเดีย ก่อนสมัยพระองค์ได้บัญญัติพูดกันไว้อย่างไรว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป อะไรเป็นสุขอะไรเป็นทุกข์อะไรเป็นดีอะไรเป็นชั่ว ก็เรียกว่าพระพุทธองค์คอยตรัสพูดไปตามประสาที่ประชาชนพูดกันอยู่ตามความรู้สึก นั่นมันไม่ใช่ธรรมชาติ แล้วเมื่อมันผิดจากเรื่องของธรรมชาติมาโดยพื้นฐานของประชาชนแล้ว พระพุทธองค์ก็ต้องตรัสไปตามพื้นฐานอันนี้สำหรับประชาชนผู้มีความยึดมั่นถือมั่นว่าบุญว่าบาปว่าดีว่าชั่วว่าสุขว่าทุกข์ นี่เรียกว่าโดยธรรมชาติแท้ๆ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือสบาย แล้วก็ไม่มีความหมายที่จะพูดว่าสุขหรือทุกข์โดยธรรมชาติ แต่มันก็ได้พูดขึ้นแล้วโดยมนุษย์ที่มาถึงขีดสูงสุดแห่งวิวัฒนาการ รู้สึกได้เต็มที่คิดนึกได้เต็มที่พูดจาได้เต็มที่ บัญญัติได้เต็มที่ ก็เพิ่งมีขึ้นมาไม่ใช่ของเก่าแก่อะไรเป็นของบัญญัติไปตามมนุษย์ผู้มีความเจริญงอกงามขึ้นมาถึงขนาดนี้ แล้วมันก็มีปัญหาๆ ยุ่งยาก ปัญหายุ่งยากที่ว่ามนุษย์พูดเอาตามความรู้สึกของมนุษย์ ธรรมชาติก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติไม่ได้สมยอมกับมนุษย์ๆ ก็รับผิดชอบเอาเองสิ เมื่อมาบัญญัติสุขอย่างนี้ทุกข์อย่างนี้อะไรอย่างนี้ เขาก็ต้องหาวิธีที่จะให้ได้รับสิ่งที่เขาเรียกกันว่าความสุขหรือความดีหรือบุญหรือกุศล ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นกันอย่างนี้ทุกศาสนาๆ ที่ได้ค่อยๆ เกิดขึ้นมาในโลกตามลำดับๆ ประชาชนเหล่านั้นต้องการสิ่งที่ดีที่สุดคือความสุขหรือบุญหรือกุศล แล้วก็จะต้องแสวงหาพระศาสดาซะก่อน สอนตามความเหมาะสมของมนุษย์ยุคนั้นและถิ่นนั้น เช่น จะสอนในเขตตะวันออกกลาง แก่พวกยิวเป็นศาสนายิวหลายพันปีมาแล้วก็สอนไปตามที่มันเหมาะสม แล้วก็จะมาเป็นยิวชั้นหลังๆ กระทั่งมาเป็นคริสต์ กระทั่งเป็นลูกหลานออกมาเป็นอิสลาม มันก็กระจายตามคำสอนนั้นไปตามลำดับ เป็น science ทางอินเดียก็มีเรื่องที่สอนกันอยู่ก่อนๆ พระเวท สมัยพระเวท และก็สมัยพุทธกาล กระทั่งหลังพุทธกาลก็มีอยู่สายหนึ่ง (1) ทางตะวันออกสุดมันก็มี ในประเทศจีนก็มี เหล่าจื้อ ขงจื้อ ไปชุดหนึ่งสายหนึ่ง ทางซีกตะวันตกสุดโต่งไปก็มีพวกกรีซพวกฝรั่งอะไรพวกก็มีไปตามความรู้สึกของตนเอง หรือรับเอาพวกไหนไปสายไหนไปก็สอนเป็นระบบหนึ่งๆ แต่ขอให้รู้ว่าไอ้ระบบแรกขั้นตอนแรกนั้นมันอาศัยธรรมชาติหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ บังคับให้ต้องรู้สึกว่าอย่างนั้น แล้วก็จะเป็นปัญหาอย่างนั้น แล้วก็ต้องแก้ปัญหานั้นอย่างนั้นนี่เป็นระบบๆ มาอย่างนี้ ถ้าเราจะมองดูแล้วก็พูดกว้างๆ อย่างเอาเปรียบก็พูดว่าล้วนแต่สอนให้ทำดีทั้งนั้นๆ ในเมืองไทยก็พูดกันอย่างนี้ว่าทุกศาสนาสอนให้ทำดี ไม่ค่อยจะพูดว่าทุกศาสนาสอนให้ดับทุกข์ แม้จะพูดว่าสอนให้ดับทุกข์มันก็พูดว่าสอนไปตามที่ศาสดาองค์นั้นบัญญัติ ไม่ได้สอนว่าตามที่พระศาสดาองค์นั้นพบ ตรัสรู้เรื่องของธรรมชาติ นิรันดรอันตระการนั้นละเอามาสอนตามที่เห็นว่าควรจะสอน ดังนั้นธรรมะที่มาสอนเพื่อดับทุกข์นี้มันก็เป็นปริมาณน้อยๆ อย่างที่พระองค์ตรัสว่าเท่ากับใบไม้กำมือหนึ่งเทียบกับใบไม้ทั้งป่าหรือใบไม้ทั้งโลก ลองดู ลองเทียบกันดู เราจะใช้คำว่าความจริงก็ได้ แต่มันก็เป็นความจริงมหาศาลเป็นความจริงไปหมด จึงต้องเลือกเอาเฉพาะความจริงที่ประเสริฐคือดับทุกข์ได้ เอามาพูดกันแต่ความจริงที่ประเสริฐคือดับทุกข์ได้ นี่จำกัดเฉพาะในวงของพระพุทธศาสนาพูดว่าความจริงที่ประเสริฐอันดับทุกข์ได้ที่เรียกว่า “อริยสัจ” ถ้าจะมองดูด้วยความเป็นธรรมหรือยุติธรรมว่าอะไรๆๆๆ เป็นความจริงทั้งนี้แหละ แม้แต่ความเท็จมันก็เป็นความจริงของความเท็จ เป็น ปฏิจจสมุปบาทของความเท็จ มันก็มีความจริงๆ ที่มันจะเป็นความเท็จ มันจริงสำหรับจะเป็นความเท็จ นี่ความจริงตามแบบความเท็จ ความทุกข์ก็มีความจริงตามแบบของความทุกข์ บาปก็มีความจริงตามแบบของบาป นี่มีความจริงที่ไม่เกี่ยวกับบุญกับบาป ไม่บัญญัติว่าบุญว่าบาปอีกเยอะแยะไปหมด งั้นความจริงมีอยู่นิดเดียวที่จะเอามาพูดกันเรื่องความดับทุกข์ ซึ่งเราจะต้องรู้จักกันให้ดีๆ ว่า มันมีขอบเขตเพียงเท่าไร แม้จะเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องโลก เรื่องจักรวาล อะไรก็เรียนเถอะ มันก็จริงทั้งนั้น จริงไปแบบนั้นๆ ก็ยังไม่เกี่ยวกับสุขหรือทุกข์ของธรรมชาติ มันเกี่ยวกับมนุษย์ไปเลือกเอามาใช้ประกอบความรู้ของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแสวงหาสิ่งที่มนุษย์เองต้องการ มนุษย์ไปเลือกเก็บเอามาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่การได้สิ่งที่มนุษย์ต้องการ อันนี้เอามารดน้ำ เอามาสถาปนา เอามาเสกสรรขึ้นเป็นสิ่งสูงสุดๆ ให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์กายสิทธิ์ไปเสียอีก คำว่า ศักดิ์สิทธิ์กายสิทธิ์ นี้มันเกิดขึ้นเพราะความโง่ของมนุษย์ผู้หวาดกลัว อะไรช่วยกำจัดความหวาดกลัวได้ก็เรียกว่า ศักดิ์สิทธิ์กายสิทธิ์ แต่ที่จริงมันเป็นความจริงตามธรรมชาติตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตรงไปตรงมาไม่เข้าใครออกใคร งั้นเราจะต้องรู้จักไอ้ต้นตอทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ที่เรากำลังศึกษาและปฏิบัติกันอยู่ เมื่อมันตั้งต้นมาจากธรรมชาติจากความจริงของธรรมชาติ แล้วก็จากอำนาจแห่งกฎของธรรมชาติ ท่านคงจะมองได้เองทุกคนว่าในตัวของธรรมชาติต้องมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ มันจึงได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๆ ธรรมชาติแม้แต่ปรมาณูเดียว มันก็มีความจริงของมันหรือเป็นกฎเกณฑ์ของมันกำกับอยู่ในความเป็นธรรมชาติแม้แต่ในปรมาณูเดียว ไม่ต้องพูดทั้งจักรวาล นี่เราพูดถึงกฎของธรรมชาติมันมีหมด ครบหมดทั้งในส่วนที่เป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรม กระทั่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการที่จะบัญญัติว่าจะเป็นรูปธรรมและนามธรรม เป็นต้น อาตมา หมายถึง อสังขตธรรม หรือพระนิพพาน ที่บางพวกเขาสอนว่าเป็นนามธรรมให้นิพพานเป็นนามธรรม นิพพานหรือ อสังขตธรรม ควรจะอยู่เหนือการบัญญัติว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม เพราะมันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเหมือนธรรมชาติอื่นๆ นี่เอาว่าเป็นรูปก็ได้เป็นนามก็ได้ เหนือความเป็นรูปก็ได้เหนือความเป็นนามก็ได้ มันอยู่มีโดยมีกฎเกณฑ์ของมันอย่างนั้นๆๆ ทีนี้มันจำเป็นกับมนุษย์เท่าไหร่มนุษย์ก็ต้องรู้เท่านั้น เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ที่ จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ อันนี้เป็นความลับอย่างยิ่งที่ว่าเรา ชีวิตทุกชีวิตจะต้องมีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามที่มนุษย์สอนกันเองก็ได้จนกระทั่งเกิดพระพุทธเจ้าและสอนให้สูงสุดก็ได้ ล้วนแต่สอนให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อย่างทารกคลอดออกมามันก็ได้รับการสั่งสอนให้กินนมให้ทำอะไรไปตามเรื่องที่มันถูกตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติแล้วมันก็รอดอยู่ได้ พอมาถึงเรื่องจิตใจก็ต้องมีครูบาอาจารย์อีกพวกหนึ่ง กระทั่งพระบรมศาสดา บรมครูมาสอนเรื่องสูงสุดทางฝ่ายจิตใจ นี่รวมความว่ามนุษย์คือสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงก็ได้ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติจึงจะรอด นั้นความหมายที่สาม (3) คือ หน้าที่ ๆๆๆ ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นละคือตัวพระธรรม ธรรมะที่ตัวสำคัญยอดสุดของพระธรรมที่เราจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติๆ หน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดหรือเจริญขึ้นไปตามที่ต้องการจนสูงสุด แล้วก็ดับไปในที่สุด งั้นธรรมะในสี่ (4) ความหมายว่าตัวธรรมชาติเองนั้นอย่างหนึ่ง ตัวกฎของธรรมชาตินั้นอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็ตัวผลที่เกิดมาจากหน้าที่ นี่คือธรรมะหรือความหมายของธรรมะ นั้นมันก็ออกจะน่าเศร้าอยู่มากที่ว่าเมืองไทยแท้ๆ เมืองเลิศในของพระพุทธศาสนาในโลกนั้นแหละ ครูในโรงเรียนก็ยังสอนเด็กๆ ว่าธรรมะๆ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ในปทานุกรมก็อาจจะเป็นอย่างนั้น อาตมาไม่ได้เปิดดูขี้เกียจเปิดดู ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่มันพูดเอาเองในขอบเขตที่จำกัดน้อยๆ แล้วก็เอามาพูดในที่ว่าคนก็ไม่รู้ ถ้ารู้ตามจริงที่เป็นในอินเดียคำว่า ธรรมะ มันใช้กับศาสนาไหนก็ได้ คำสอนของศาสนาไหนก็เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น แต่มันมีความจริงตรงกันว่ามันสอนเรื่องหน้าที่ๆ ที่ควรปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามเหตุผลหรือความเชื่อหรืออะไรของลัทธินั้นๆ ลัทธิที่เป็นคู่แข่งขันมาดร้ายกับพระพุทธเจ้าก็มีตั้งกว่าสิบ (10) ลัทธิมั๊ง คำสอนของเขาก็ยังคงเรียกว่าธรรมะๆ ของนิครนถนาฏบุตร ธรรมะของมักขลิโคศาละ ธรรมะของสญชัยเวลัฏฐบุตร นี้มีชื่อเสียงมาก งั้นขอให้เข้าใจกันเสียก่อนว่าลูกเด็กๆ ของเรามันเริ่มเข้าใจผิดมาตั้งแต่ในโรงเรียน มันควรจะสอนกันเสียให้ถูกต้องว่า “ธรรมะๆ” คือหน้าที่ที่จะต้องรู้และปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ถ้าอย่างนี้ใช้ได้หมดตรงกันทั้งทุกๆ ศาสนาในโลก คือตัวหน้าที่ที่จะต้องรู้และปฏิบัติ อาตมาขอร้องให้คุณครูทั้งหลายที่มาที่นี่บ่อยๆ ทั้งเป็นคณะๆ ว่าคุณช่วยสอนเด็กหน่อยเถอะว่า ธรรมะนั้นคือระบบปฏิบัติๆ ไม่ใช่คำสอน ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องๆๆ เรียกว่า แก่ความรอดๆๆ ของทั้งทางกายและทางจิต หรือว่ารอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนๆ ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ทั้งเพื่อตนเองด้วยและเพื่อผู้อื่นด้วย มันยาวหน่อยมันจึงจะครบถ้วนว่าระบบปฏิบัติๆ คือไม่ใช่สิ่งเดียวไม่ใช่ต่อเดียว มันต้องปฏิบัติเป็นระบบครบทั้งระบบ เรียกว่าระบบปฏิบัติ เมื่อถูกต้องๆๆๆ ตามการบัญญัติของธรรมชาติ บัญญัติโดยเฉพาะในที่นี้ก็ของธรรมชาติที่เรียกว่าดับทุกข์ ถ้ามันดับทุกข์ได้ก็เรียกว่าถูกต้อง ถ้าดับทุกข์ไม่ได้เรียกว่าไม่ถูกต้อง จะเอากฎเกณฑ์ทาง logic ทาง Philosophy มาใช้ไม่ได้ ใช้กันไม่ได้เพราะถูกต้องมันมีความหมายอย่างอื่นอีก เป็นเหตุผลอย่างอื่นเอามาใช้เป็นยุติไม่ได้ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติคือมันดับทุกข์ได้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่ให้โทษกับใคร นี่ก็เรียกว่าถูกต้องๆ นี่ถูกต้องเพื่อความรอดเพราะความหมายสุดท้ายมันคือความรอดๆ นั้นมีทั้งทางกายและทางจิต อาศัยซึ่งกันและกัน ความรอดทางจิตอาศัยอยู่บนความรอดทางกาย งั้นต้องมีความรอดทั้งสอง (2) ชนิด ถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต นี่ก็ต้องตลอดเวลาคือทุกขั้นตอนแห่งชีวิตหรือจะทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของโลกทั้งโลกก็ได้เหมือนกัน แต่นี่เอาทุกขั้นตอนแห่งชีวิตของมนุษย์แต่ละคน แม้กระทั่งเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่นข้อนี้ก็สำคัญ อย่าเอาเป็นทิ้งเสียว่าเรื่องของผู้อื่นไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ มีความจำเป็นเด็ดขาดว่าต้องอยู่กันมากๆ อยู่กันคนเดียวก็ตายอยู่ไม่ได้ ความรอดมันก็รอดด้วยกันทั้งสอง (2) ฝ่ายคือทั้งตัวเองและทั้งผู้อื่น คำว่าประโยชน์ๆ นี่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ในที่หลายแห่ง มีใจความว่า ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันแยกกันไม่ได้ เป็นสาม (3) ประโยชน์ อัตตัตถะประโยชน์ ประโยชน์ตน ปรัตถะประโยชน์ ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะ คือทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ๆ ที่เกี่ยวพันกันระหว่างประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นแยกกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เราและประโยชน์ผู้อื่นมันจึงจะรอดกันรอดชีวิตกันอยู่ในโลกได้ นี่เรื่องประโยชน์ๆ ก็ขอให้เข้าใจว่าเรามีหน้าที่ต้องกระทำทั้งสาม (3) ประโยชน์ๆ นี้จะสำเร็จมาได้จากธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต งั้นขอพูดอีกทีหนึ่งช่วยจำให้ดีๆ ว่ามันน่าจะรู้จักให้ครบถ้วนแล้วปฏิบัติให้ครบถ้วน “ธรรมะ” คือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นี่คือธรรมะๆ ใครบัญญัติข้อนี้ๆ อ้าว มาถึงตอนนี้จะถาม..ใครบัญญัติข้อนี้ อ้าว..พระพุทธเจ้าบัญญัติๆ ก็ยังบัญญัติโดยอาศัยหลักเกณฑ์อะไร เอาอำนาจอะไรมาบัญญัติแล้วมีอำนาจอะไรที่ทำให้มันเป็นไปตามนั้น ตามที่ๆ กล่าวนั้น มันก็กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ๆ ถูกต้องต่อกฎของธรรมชาติ พระพุทธองค์จึงเอามาบัญญัติ นี้พอธรรมะๆ เมื่อเอามาใช้อย่างจำกัดรัดกุมเป็นคำพูดสั้นๆ มีความหมายเฉพาะตัวเองแล้วจะแปลว่าอะไร แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นหลักในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะจะแปลว่าอะไร มันแปลไม่ได้ๆ เห็นไหมมันต้องใช้คำเดิมๆ ว่า ธรรมะๆ เมื่อพุทธศาสนาเข้าไปในประเทศอังกฤษใหม่ๆ นักศึกษาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาพยายามจะแปลคำว่าธรรมะๆ นี่เป็นภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ เขาก็ประชุมกันเป็นการใหญ่ช่วยกันคิดช่วยกันนึก มันคำแปลออกมาได้ตั้งยินว่าสามสิบแปด (38) คำ มันหมดปัญญามันยังไม่หมดความหมายของคำว่าธรรมะ เป็นสามสิบแปด (38) คำแล้วยังไม่หมดความหมายของคำว่า ธรรมะ เลยไม่ต้องแปลๆ เลยใช้คำว่าธรรมะ ประเทศไทยเรานี่โชคดีที่เราไม่พยายามจะแปลใช้คำๆ เดิมแล้วไปศึกษาความหมายของคำเดิมๆ นั้นให้ครบถ้วน เราก็จะรู้จักธรรมะโดยถูกต้องๆ ในความหมายรวมเป็นกฎสากลจักรวาลก็ได้ ในความหมายเป็นเรื่องของสังคมหนึ่งก็ได้ เป็นเรื่องส่วนบุคคลคนหนึ่งก็ได้ ให้มันถูกต้อง ถ้าถูกต้องแล้วดับทุกข์ ๆ เอาละที่นี้มันก็จะมาถึงไอ้ตัวปัญหา ข้อเท็จจริงของปัญหานี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ทั้งหมดที่ควรจะรู้ “สัพพัญญู” แปลว่ารู้ทั้งหมดๆ เท่าที่ควรจะรู้ เท่าไรควรจะรู้ก็คือเท่าที่จะดับทุกข์ได้ งั้นเราพอใจที่จะลงความเชื่อลงไปว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู รู้ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ควรจะรู้เพื่อจะดับทุกข์ได้ก็ไม่อาจจะพูดไปถึงว่ารู้ไปทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นเอามาขับรถยนต์ เดี๋ยวนี้ท่านก็ขับได้ ให้พูดจีนพูดฝรั่ง เดี๋ยวนี้ท่านก็ทำได้ อย่างนี้ไม่มีทางๆ เราจะใช้คำว่า ”สัพพัญญู” กันในทางที่รู้ทุกอย่างเท่าที่ควรจะรู้แล้วเราก็เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเราก็ควรจะรู้ทุกอย่างเท่าที่ควรจะรู้ๆ มีอันนี้แหละมันเป็นเหตุให้เราจะต้องรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมะที่เรากำลังศึกษาและปฏิบัติกันอยู่ให้มันถูกต้อง ข้อเท็จจริงที่อันแรก มันก็จะรู้ว่าไอ้กฎเกณฑ์หรือความจริงตามธรรมชาตินั้นมันจะมีอยู่อย่างไรหรือเท่าไหร่นั้น แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ปรับปรุงเอามาสอนไว้อย่างไร แล้วพวกลูกศิษย์ช่วยกันปรับปรุงๆ ต่อไปอีกสักเท่าไหร่ นี่ระวังให้ดีๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร แล้วพวกลูกศิษย์เอามาปรับปรุงกันต่อไปอีกอย่างไร ปรับปรุงต่อๆๆ กันไปอีกให้เหมาะกับบุคคล ให้เหมาะๆ กับสมัย ให้เหมาะกับต่อๆ ไปอีกอย่างไรหรือเท่าไร จนมันลืมจุดหมายจุดประสงค์ดั้งเดิมที่จะดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงตามแบบที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คือประพฤติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติๆ แล้วสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ส่วนนั้นก็ไม่เกิด ก็เกิดแต่สิ่งที่พึงประสงค์ แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติๆ ไม่มีความประสงค์บุญหรือบาปหรือดีหรือชั่ว เราเลือกเอามาจากกฎเกณฑ์หรือการเป็นไปปรุงแต่งตามกฎของธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นประโยชน์แก่เราก็เรียกว่าถูกหรือจริงหรือบุญหรือกุศล สิ่งใดตรงกันข้ามก็เรียกว่าบาปหรือฝ่ายตรงกันข้าม ส่วนที่เป็นนามธรรมที่เป็นต้นเหตุของความถูกต้องก็เรียกว่า “วิชชา หรือโพธิ “ ส่วนที่มันเป็นฝ่ายทุกข์ก็เรียกมันว่า “กิเลสๆ” มันก็เป็นคู่ตรงกันข้ามมาตลอดเวลา กิเลสพาไปหาปัญหายุ่งยากก็เป็นความทุกข์ โพธิก็ไปหาแสงสว่างเพื่อดับทุกข์ งั้นธรรมะมันไม่รู้ว่าธรรมะเองเกิดขึ้นเองมันไม่รู้ โพธิ กิเลสมันไม่รู้ มันเป็นกฎมันอย่างนี้ทำลงไปอย่างนี้ มันจะมีปฏิกิริยาขึ้นมาอย่างนี้ ทำอย่างนี้เป็นปฏิกิริยาขึ้นมาอย่างนี้เท่านี้ มนุษย์ไปเลือกเอาเองอย่างไรจะพอใจก็เลือกเอา หรือจะบัญญัติชื่อว่าอะไรก็บัญญัติขึ้นเองตามความรู้สึกของมนุษย์ งั้นความสุขหรือความทุกข์ บุญหรือบาปก็ถูกบัญญัติขึ้นโดยมนุษย์ ต้องการความสุข ต้องการบุญ ต้องการกุศล ต้องการไอ้ที่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ๆ โง่ ก็ต้องการอย่างโง่ๆ ต้องการผลอย่างต่ำๆ มนุษย์ฉลาดก็ต้องการสูงสุดแท้จริง อยู่กลางๆ ก็มันก็เป็นครึ่งๆ กลางๆ มันจึงมีสิ่งที่เรียกว่าบุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ กระทั่งว่าเป็นนรกเป็นสวรรค์ เป็นอะไรเป็นคู่ๆๆ ขึ้นมาเต็มไปหมดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคู่ตามความรู้สึกของมนุษย์ แต่ธรรมชาติแท้ๆ มันไม่ได้รู้ด้วย ธรรมชาติที่ไม่มีความหมายเป็นคู่ๆ อย่างนั้น มันมีอยู่เป็นหลักๆ ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ๆๆ ที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ๆ มันจะต่ำที่สุดจนกระทั่งสูงสุดเป็นนิพพานเป็นพ้นหมดต่อกัน เรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” คือกฎที่ว่าสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดับไปเพราะหมดเหตุหมดปัจจัย นี้เรียกว่า “กฎ อิทัปปัจจยตา” มีเหตุปัจจัยอย่างไรก็เกิดผลขึ้นมา ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยนั้นๆ มนุษย์ชั้นแรกชุดแรกๆ เขาพูดไปด้วยไม่ได้รู้กฎ อิทัปปัจจยตา พูดไปว่าอะไรมีประโยชน์ถูกใจเกื้อกูลแก่ความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็เรียกว่าบุญ เรียกว่ากุศล กระทั่งเรียกว่าความถูกต้องหรือความจริง เฉพาะๆ กรณีนั้นๆ แต่ตัวธรรมชาติยังคงเดิม ถ้าทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ๆ แกจะไปเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตามใจแก นี่ก็คือธรรมะๆ มันมีอยู่อย่างนี้ ที่นี้เราก็มาพูดกันถึงผลที่ปรารถนาเป็นความดับทุกข์ๆ ที่น่าพอใจ มนุษย์ในชุดแรกในยุคแรกที่ยังมีความโง่เหลืออยู่มาก มันก็ไปบัญญัติไอ้สิ่งที่เรียกว่าบุญนั้น เอาที่มันต้องการที่ประสงค์จะได้ที่ตรงกับความต้องการว่าบุญ แล้วก็บัญญัติที่ไม่พึงประสงค์ว่าบาป แล้วก็รู้กันเพียงเท่านั้น คือหารู้ไม่ว่าทั้งบุญทั้งบาปยังเป็นปัญหาๆ รบกวนความสงบ มันรู้จักแต่บุญและบาป มันไม่รู้จักที่เหนือบุญและเหนือบาปขึ้นไป จนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นในโลก จึงจะให้ความรู้ชนิดที่เหนือบุญเหนือบาป ที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี่ว่า พระนิพพานๆ ก่อนนี้ก็มุ่งหมายกันแต่บุญและบาป ๆๆ ไม่รู้ว่าเหนือบุญและบาปมันมีอยู่แล้วก็เป็นจุดสุดท้ายๆ กันที่นั่น งั้นเขาก็มีสุดท้ายกันอยู่ที่ตรงนี้บุญ เรียกว่า มหาบุญ มหากุศล อะไรก็ไปตามเรื่อง ก็เข้าใจว่าเป็นสุดท้ายเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านก็สอน ว่าโอ้..มันจะจุดจบอยู่ที่เหนือบุญเหนือบาป เมื่อเป็นดังนี้ คำสอนมันก็แบ่งได้เป็นสอง (2) ประเภท คือเรื่อง โลกียธรรม เจริญสูงสุดอยู่ในโลกนี้ แล้วก็ โลตุตรธรรม เจริญสูงสุดเมื่อออกไปนอกโลกและเหนือโลก เดี๋ยวนี้มันเป็นความถูกที่ถูกต้องด้วยกันแหละแต่เป็นสอง (2) ระดับซะแล้ว แล้วก็มีลักษณะตรงกันข้ามเสียด้วย ถ้าอยู่ในโลกก็เรียกว่าบุญ ก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งยุ่งยากไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเรียกว่าเหนือบุญเหนือบาป มันไม่เกี่ยวกับเหตุปัจจัยมันไม่ยุ่งไม่มันอะไร มันสะอาด มันสว่าง มันสงบ มันปกติ มันมีเสรีภาพ ถึงที่สุด นี้เป็นโลกุตตระ ทีนี่ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดเผยธรรมะในประเภทโลกุตตระ คนก็แตกตื่นกันสนใจกัน แล้วมีพวกที่ว่าไม่สามารถจะมีธรรมะในชั้นโลกุตตระ แต่ก็อยากที่จะมี อยากจะรู้แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติ นี่เรียกว่าข้อขัดข้องหรือข้อขัดแย้ง มันได้เกิดขึ้นแล้วในหมู่มนุษย์ๆ ที่ยังไม่มีอุปนิสัยหรือไม่มีอะไรที่เหมาะสมสำหรับโลกุตตระ เขาก็ไปสนใจเรื่องโลกุตตระ แล้วพยายามที่จะเป็นอย่างนั้น ทั้งที่เนื้อตัวยังไม่เหมาะสมยังไม่สมควร ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างไร กำลังจะเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ด้วย แม่ค้าขายผัก คนกวาดถนน มันจะไปเรียนเรื่องพระนิพพาน เรื่องโลกุตตระ มันจะมีผลอย่างไร มันก็หลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะผลที่เขาต้องการนั้นคือทรัพย์สมบัติหรือว่าสิ่งอำนวยความสุขความสะดวกที่จะมีอยู่ในโลกนี้เป็นอำนาจวาสนาเกียรติยศชื่อเสียง ก็ได้หัวใจของเขาประสงค์อยู่ที่นั่นแต่เขาไม่รู้ เขาได้ยินว่าข่าวเล่าลือเรื่องพระนิพพานๆ ดีที่สุดๆ ก็อยากจะมีพระนิพพานจึงมาเรียนเรื่องโลกุตตระ เรื่องอภิธรรมเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องชั้น โลกุตตระ แล้วมันก็เกิดผลอะไรขึ้นมาท่านลองคิดดู มันเกิดความขัดแย้งขวัดแกว่งอยู่ในตัว นี่เรียกว่ามันไม่ถูกฝาถูกตัว เรียกว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ซึ่งกำลังมีอยู่จริง อาตมาจะเล่าเรื่องน่าขันว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเขามาขอให้สอนอธิบายเรื่องนิพพาน แล้วอยากจะบรรลุนิพพานอย่างยิ่ง อาตมารู้แล้วว่าเป็นอย่างไร ความคิดของแกเป็นอย่างไรก็พูดดักคอไปนิดเดียวว่าในนิพพานไม่มีรำวง ในเมืองนิพพานหรือในเรื่องของนิพพานไม่มีรำวง เพียงเท่านี้ก็ขอถอนๆ ทันที ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องการๆ ความรู้เรื่องนิพพาน ไม่ต้องการจะไปเมืองนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น นี่ขอให้กำหนดไว้ได้สักอย่างหนึ่งว่าผู้ที่ยังไม่เหมาะสมโดยประการทั้งปวงที่จะปฏิบัติในชั้นโลกุตตระ แต่ก็ได้ขอมาศึกษาและปฏิบัติกันอยู่บ่อยๆ อยู่ ขออภัยที่จะต้องพูดว่าแม้ในพวกเราที่กำลังมากันหลายๆ คณะมานี้ก็ว่าจะต้องมี มาขอศึกษาความรู้เรื่องโลกุตตระทั้งที่ยังไม่มีความเหมาะสมก็ต้องมีปัญหามันก็มี ข้อแรกก็คือพูดกันไม่รู้เรื่อง พูดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตากันไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง สุญญตา เรื่องตถาตา เรื่องอาตมันตยตา ในที่สุดมันไม่รู้เรื่องมันเป็นอย่างนั้น งั้นขอให้สนใจกันให้ชัดเจนกระจ่างแจ่มแจ้งว่าไอ้ธรรมะมีอยู่เป็นสอง (2) ระดับคือ ระดับโลกียะ ได้รับผลดีสูงสุดๆ สำหรับจะอยู่ในโลก สูงสุดสำหรับจะอยู่ในโลก และอีกประเภทสูงสุดเพื่อจะออกไปเสียจากโลกเหนือโลกโดยประการทั้งปวง แต่แล้วก็น่าหัวๆตรงที่ว่าเขาจะต้องอาศัยกฎของธรรมชาติ เรื่อง อิทัปปัจจยตา ด้วยกันทั้งสองพวก ที่มันจะอยู่ในโลกอย่างวิเศษเป็นเทวดา ยอดเทวดามันก็ต้องอาศัยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ที่ถูกต้อง จะออกไปนอกโลกเหนือโลกโดยประการทั้งปวงมันก็ต้องอาศัยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาที่ถูกต้อง นี่ท่านลองคิดดูว่าเรากำลังมีปัญหาอย่างไรหรือถ้าพูดตรงๆ ก็ต้องพูดว่ากำลังหลอกตัวเองอยู่โดยไม่รู้สึกตัวนี้อย่างไร เมื่อมันไม่มีความถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้วมันจะได้รับผลเป็นอย่างไร เอาละต่อให้เข้าใจกันไว้อย่างนี้ว่ามันมีอยู่สอง (2) ชนิด จะต้องทำให้ถูกฝาถูกตัวด้วยกันทั้งนั้น ข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบแล้วความสัพพัญญู ความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้ามันก็มีมากพอ ท่านก็แก้ปัญหาของท่านได้ ท่านจึงได้บัญญัติความเหมาะสมของแต่ละฝ่ายๆ นี้ไว้อย่างถูกต้อง แล้วพวกเรามันทำกันไม่ถูกต้องมันสับสนมันไปเปลี่ยน แล้วมันยุ่งไปหมด มันดึงกันไปหมดไม่ได้ผลตามที่ต้องการ สิ่งที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติขึ้นเฉพาะแก้ปัญหาข้อนี้ก็คือเรื่อง สัมมาทิฎฐิ อย่างที่มีกล่าวไว้ในพรมจารสูตร เป็นต้นหรือที่อื่นๆก็มี สัมมาทิฎฐิมีอยู่เป็นสอง (2) ชนิด มีอยู่สอง (2) ชั้นหรือสอง (2) ระดับ นี่ ระดับแรก เรียกว่า “สาสวะสัมมาทิฏฐิ” สัมมาทิฎฐิที่ยังมีอาสวะ แล้วชั้นที่สอง (2) เรียกว่า ”อนาสวะสัมมาทิฎฐิ” สัมมาทิฎฐิ เพื่อความไม่มีอาสวะ สัมมาทิฎฐิที่เป็นสาสวะ มีว่าอาสวะก็สำหรับคนที่ยังมีตัวตนตามธรรมชาติตามธรรมดาตามสัณชาตญาณ มันยังมีตัวตนมันละไม่ได้ มันยังละไม่ได้แต่มันก็ต้องมีความเห็นที่ถูกต้องสำหรับดับความทุกข์ของพวกนี้โดยเฉพาะ สัมมาทิฎฐิ ชนิดนี้ก็เรียกว่า “สาสวา” คือยังมีอาสวะ สัมมาทิฎฐิ เพื่อคนที่ยังมีอาสวะ คือเพื่อคนที่ยังยึดถือว่ามีตัวมีตน สัมมาทิฎฐิพวกนี้ก็กล่าวกันในทางมีตัวตนๆ เรียกว่า บิดามี มารดามี นรกมี สวรรค์มี โลกหน้ามี เบื้องหน้ามี บุญมี บาปมี อะไรเป็นๆ เรื่องอย่างนี้ไป ทั้งๆ หมดและครบชุดสำหรับผู้มีตัวตน ยังละตัวตนไม่ได้ ไม่อาจจะเข้าใจเรื่องความไม่มีตัวตน งั้นก็เอาสิ บุญบาปก็เลือกเอาแต่บุญ นรกสวรรค์มันก็เลือกเอาแต่สวรรค์ สุขทุกข์มีก็เลือกเอาแต่สุข การบำเพ็ญบุญก็มีผลบุญก็เลือกเอาที่มีผลบุญ แล้วข้อสุดท้ายคำประโยคสุดท้ายคือว่า สัตว์ที่เป็นอปปาติกะมี ข้อนี้สำคัญมาก เอามาสอนกันอยู่อย่างอื่นซึ่งอาตมาไม่เห็นด้วย พูดไปมันก็เป็นเรื่องอวดดี ท้าทายไปหมด แต่ว่าขอพูดไว้สักหน่อยสาสวาสัมมาทิฎฐิขั้นสุดท้ายที่ว่าสัตว์เป็นโอปปาติกะมี ก็เอาอธิบายไปว่าเรื่องเปรต เรื่องเทวดา เรื่องสัตว์ในโลกอื่นนั้นมันมีแต่อาตมาว่าไม่ใช่ ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านหมายถึงว่าการเกิดโดยจิตใจอย่างนั้นอย่างนี้โดยจิตใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี้มันมี เช่นเกิดเป็นคนดี เกิดเป็นคนชั่วเกิดเป็นคนเลวอย่างสัตว์เดรัจฉาน โง่อย่างลา นี่มันมี การเกิดโดยจิตใจเปลี่ยนแปลงโดยจิตใจ โดยกระทำอย่างนี้มันมี งั้นขอให้ท่านระวังให้ดีอย่าให้มีการเกิดโดยจิตใจอย่างนี้ เพราะว่าสัตว์ประเภทโอปปาติกะนั้นมันมี ขอให้ระวังอย่าให้เกิดโดยโอปปาติกะแล้วเป็นสัตว์ที่ไม่น่าปรารถนา สุดท้ายของสาสวาสัมมาทิฎฐิ จบโดยประโยคนี้คือน่าสนใจตรงที่เป็นพิเศษ ขอให้ท่านสนใจแต่ถ้าไม่สนใจเรื่องนี้จะเกิดเป็นนรกเป็นอะไรที่นี่เดี๋ยวนี้เลยก็ไม่รู้ไม่ทันรู้ตัว เกิดเป็นโจรเกิดเป็นอันธพาล เกิดเป็นผู้เลวร้ายโดยประการทั้งปวง เป็นนรก เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายกันโดยไม่ทันรู้ตัว ก็ไม่รู้ว่าการเกิดโดยโอปปาติกะนี้มันมี ครั้งนี้ไม่ได้ใช้คำว่า ชา-ติ ๆ อย่าเข้าใจผิด เกิด คำนี้ไม่ได้ใช้คำว่า ชา-ติ ใช้คำว่า “อุปะติๆ” เกิดคลุ้งขึ้นมาทางจิตใจ แม้การเกิดของพระพุทธเจ้าก็เกิดโดยวิธีนี้ คือ อุปะติ ส่วน ชา-ติ เกิดจากท้องพระมารดาออกมาเป็นเด็กสิทธัทถะ นั้นมันเกิดโดย ชา-ติ พอถึงวันหนึ่งคืนดีก็เกิดโดย อุปะติ เป็นพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าเกิดโดยจิตใจ ท่านก็บัญญัติว่าสัตว์เป็นโอปปาติกะ มีนี้เป็นข้อถูกต้องสำหรับสาสวาสัมมาทิฏฐิ คือผู้มีตัวตนๆ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมันมีความรู้สึกเป็นตัวตนที่ละไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีคำสอนที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับคนประเภทนี้ ความถูกต้องๆ ก็มีสำหรับคนประเภทนี้ งั้นเป็นเรื่องสัมมาทิฎฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ก็มีสำหรับคนประเภทนี้คือพูดอย่างมีตัวตน เรียกว่าพูดอย่างภาษาคนก็ได้ พอพูดถึงอนาสวะสัมมาทิฎฐิ สัมมาทิฎฐิอย่างไม่มีตัวตน จึงจะพูดเรื่องไม่มีตัวตนๆ เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือนรกเหนือสวรรค์ เป็นนิพพาน ว่างไปเลย ที่นี้ๆ มันก็น่าสงสารตรงที่ว่า กฎเกณฑ์มันเดียวกันนะ จะดีที่สุดอย่างมีตัวตนอยู่ที่นี่ มันก็อาศัยกฏอิทัปปัจจยตา จะไปเหนือโลกก็อาศัยกฏอิทัปปัจจยตา นี้จะเอากันอย่างไร มันก็เกิดคำสอนที่ว่า มีตัวตนนี่ปนกันกับไม่มีตัวตน เกิดคำสอนเรื่องเพื่อคนที่ยังมีตัวตนสำหรับจะอยู่ในโลกนี้ จึงเกิดการอธิบายเรื่องอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุทปบาท อย่างมีตัวตนขึ้น อย่างที่สอนอยู่ในศาลาวัดหรือโรงเรียนนักธรรม โดยวิสุทธิมรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค สอนปฏิจจสมุทปบาทอย่างมีตัวตนขึ้นมา ของพระพุทธเจ้าแล้วไม่เกี่ยวกับตัวตนไม่มีตัวตน แต่อาตมาก็คิดว่า ดีเหมือนกันๆ มันเป็นสาสวาสัมมาทิฎฐิ ปฏิจจสมุทปบาท ที่สอนอย่างวิสุทธิมรรคที่สอนเล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันประเทศไทยนั่นแหละ มันเป็นเพียงสาสวาสัมมาทิฎฐิ ที่มีตัวตนสำหรับผู้มีตัวตนกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงตัวตนคาบเกี่ยวกัน ระหว่างชาติก็ได้ มันก็เป็นเรื่องสาสวาสัมมาทิฎฐิ สำหรับศีลธรรม สำหรับคนที่ยัง..ขออภัย..ยังโง่อยู่ คือยังต้องมีตัวตนอยู่ ถ้ายังต้องมีตัวตนอยู่ก็ยังถือชุดนี้ถือหลักเกณฑ์อันนี้คือคำสอนที่มีตัวตน เป็นสาสวาสัมมาทิฎฐิ แต่ถ้าจะดับทุกข์ไปสู่นิพพานต้องเปลี่ยนเป็น อนาสวะสัมมาทิฎฐิ มันไม่มีตัวตนโดยประการทั้งปวง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่ใช่ตัวตน สัมผัส รูปเสียงกลิ่นรส ก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดวิญญาณๆ ขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดเป็นผัสสะขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดเป็นเวทนาขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดเป็นตัณหาอยากไปตามเวทนาก็ไม่ใช่ตัวตน มันยังไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นว่าเป็นตัวตน ไม่มีภพไม่มีชาติ แล้วก็ไม่มีทุกข์ นี่ ปฏิจจสมุทปบาท ที่ไม่มีสอนลองไปเทียบดูกันอยู่หรือท่องกันอยู่อย่างมีตัวตนจนยุ่งไปหมด มันไม่อธิบายแยกออกไปเสียให้ชัด นี่พูดกันอย่างมีตัวตนโว๊ย เป็นเรื่องสาสวาสัมมาทิฎฐิ โว๊ย.. ควรจะเข้าใจว่าเรื่องปฏิจจสมุทปบาท นี่มันมีทั้งอย่างที่เรียกว่าสำหรับสิ่งมีชีวิตมีความรู้สึก กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตไม่มีความรู้สึก เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่วัตถุเหล่านี้ซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ มันก็เป็นไปตามกฎ อิทัปปัจจยตา แต่ว่าสิ่งที่มีความรู้สึกมีความคิดนึกมีความรู้สึกอย่างมีชีวิตจิตใจมันก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ก็แบ่งกันเอาสิ พวกที่มีความรู้สึกก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่จะดับทุกข์ แต่ถ้ามันเป็นก้อนดินก้อนหินก้อนทรายมันก็ไม่มีหน้าที่ ที่นี้เมื่อมามีหน้าที่ของผู้ของสัตว์ที่มีความรู้สึกคิดนึกมันก็ยังจะต้องแบ่งตัวเองว่า ตัวเองอยู่ในระดับไหน ความมีตัวตนๆ นี้มันติดมาแต่ในท้องๆ และโดยสัณชาตญาณโดยธรรมชาติ มันรู้สึกเป็นตัวตนๆ ขึ้นมา เด็กๆ มันก็เกิดความรู้สึกได้ว่าตัวตนว่าของตน พอมันเห็นรูปมันก็ว่ากูเห็นรูป พอมันได้ยินเสียงก็ว่ากูได้ยินเสียง พอมันได้กลิ่นมันก็ว่ากูๆๆๆ ทั้งนั้น นี่ว่ากูนี่ตัวตน เกิดได้เองตามธรรมชาติ มันจึงเป็นของเฉียบขาดสำคัญสูงสุดอย่างหนึ่ง แก้ไขไม่ได้ในระยะนี้ มันคำสอนแก่คนที่อยู่ในระยะนี้ก็ต้องมีแบบหนึ่ง นี้เมื่อเขาโตขึ้นมาๆ ผ่านโลกมามากเข้าๆ ค่อยๆ รู้สึกว่า อ้าว...ไอ้ตัวตนนี่เป็นเรื่องโง่ พูดเป็นเรื่องเกิดผีหลอก ตามความโง่ที่เกิดขึ้นแล้วจึงค่อยหาทางที่จะหมดตัวตนๆ ก็ศึกษาเรื่องหมดตัวตนว่าตัวตนนี้มันเกิดขึ้นตามไอ้เป็นปฏิกิริยาของการกระทำก็ได้ จะมีการเห็นรูปมันก็เกิดโง่ว่ากูเห็นรูป หรือเกิดเจ็บขึ้นมาๆ ตรงนี้ก็เกิดกูเจ็บ มันต้องมีกูสำหรับเจ็บ แล้วกูทำไมเพิ่งเกิดเมื่อเจ็บ ก่อนเจ็บทำไมไม่มีกูนี่ ขอให้เข้าใจเรื่องนี้ดีๆ ท่านจะเข้าใจเรื่องอนัตตาได้ดี เมื่อกินมันจึงรู้สึกกูกิน ก่อนกินไม่ได้มีความรู้สึกว่ากูกิน พออร่อยเรียกว่ากูอร่อย ก่อนนั้นก็ไม่มีกู พอไม่อร่อยก็กูไม่อร่อยก่อนนั้นก็ไม่มีกู แต่ขอให้สังเกตดูเป็นพิเศษว่า ลิ้นอร่อยกับกูอร่อยหรือไม่อร่อยมันต่างกันมาก ลิ้นไม่อร่อย ลิ้นอร่อยลิ้นไม่อร่อยมันไม่ค่อยมีปฏิกิริยาดุร้ายอะไร แต่พอกูอร่อยหรือกูไม่อร่อยมีปฏิกิริยาอันตรายดุร้ายมาก มันไม่มีกูมันก็ไม่มีปัญหาเหล่านี้ แต่มันเหลือมันยากๆ ที่จะเอาออกไปได้ก็มันมีมาแต่อ้อนแต่ออก เกิดมาจากท้องแม่ก็ว่าแล้วเป็นตัวกูๆทั้งนั้น ถูกสอนให้รู้ว่าตัวหนู บ้านเรือนของหนู แม่ของหนู พ่อของหนู ลูกของหนู อะไรของหนูๆๆๆ มีแต่ผู้ส่งเสริมให้เชื่อมั่นไปทางตัวตนของตน เด็กมันไปชนเสาเจ็บคนเลี้ยงเด็กก็ช่วยตีเสาๆ เด็กมันขอบใจเด็กมันหายร้อง นี่เท่ากับสอนให้มันมีตัวตน ทำไมไม่พูดว่า มันเป็นความไม่รู้เป็นความโง่ของเราไปชนเสามันก็เจ็บ แต่กลับไปช่วยตีเสาๆ ให้มีความตัวตนเข้มข้นขึ้นมา สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มันแวดล้อมไปทางเป็นตัวตน ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เป็นตัวตนๆ เหนียวแน่นเหลือที่จะถอนได้ในบัดนี้ๆ ในปัจจุบันนี้ ดังนั้นระบบคำสอนจึงต้องมีเฉพาะสำหรับคนพวกนี้เป็นความถูกต้องชนิดที่ยังมีอาสวะ ความถูกต้องสำหรับยังมีอาสวะ คือความหลงยึดถือว่าตัวตน มีอวิชชาสวะ ยังมีความยึดถือว่าตัวตน จึงมีคำสอนให้ระบบหนึ่ง มันก็ดีเหมือนกันคือว่าเขาจะไม่ทำบาปไม่ทำชั่ว มาหลงอยู่ในความดี แต่ถ้ามันบ้าดีหลงดีเมาดีแล้วมันก็แย่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่สิ่งสุดท้าย จึงมีคำสอนเรื่องเหนือดีขึ้นไปจึงจะเป็นเรื่องของนิพพาน สิ่งที่เรียกว่า อนาสวะสัมมาทิฎฐิ จึงเกิดมีมาหรือว่าต้องการ คือว่าสัมมาทิฎฐิเรื่องไม่มีตัวตนเกี่ยวกับชุดไม่มีตัวตนเกี่ยวกับชุดที่ไม่มีตัวตนจึงเกิดขึ้นมาเป็นชุดที่สอง (2) เป็นเรื่องอริยสัจ หรือเป็นเรื่อง ปฏิจจสมุทปบาท ที่ถูกต้องแล้วก็ไปสู่ความหมดตัวตนๆ เรียกว่าว่างทุกอย่างทุกประการ นิพพานัง ปรมัง สูญญัง นิพพานัง ว่างๆ เหลือประมาณว่างจากการปรุงแต่งแล้วก็ไม่มีผลของการปรุงแต่งไม่มีบุญไม่มีบาปไม่มีสุขไม่มีทุกข์ไม่มีได้ไม่มีเสียไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ไม่ดีใจไม่เสียใจไม่มีผู้หญิงไม่มีผู้ชายไปหมด ว่างไปถึงขนาดนั้น นี้ขอให้ระวังว่าคนที่ยังไม่มีนิสัยหรืออุปนิสัยถึงขนาดที่จะเข้าใจเรื่องโลกุตตระ แล้วก็มาศึกษาเรื่องโลกุตตระผลจะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ข้อนี้อาตมาระวังตัวจะกลายเป็นผู้ทำบาป คือสอนเรื่องโลกุตตระให้แก่บุคคลประเภทที่ยังต้องอยู่ในโลกียะ ก็สงสารตัวเองที่นั่งเป่าปี่ให้แรดฟัง ไอ้คนที่ยังเป็นโลกียะมันก็ฟังไม่ถูกพูดเท่าไรๆ ก็มีผลเหมือนกับนั่งเป่าปี่ให้เต่าฟัง งั้นจึงต้องระวังๆ จึงขอให้ท่านทั้งหลายปรับปรุงตัวเองให้ดีหรือจัดไว้ให้ถูกต้อง ว่าเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ายังเป็นผู้อยู่ในวิสัยโลกียะ แต่อยากจะศึกษาเรื่องโลกุตตระ ก็เอา พยามยามให้ดีฟังให้ดีศึกษาให้ดีก็เพื่อจะรู้เรื่องโลกุตตระแล้วมันจะดึงจูงออกไปหาเรื่องโลกุตตระได้ ถ้าอย่างนี้ปลอดภัย อาตมาก็ไม่ต้องเป่าปี่ให้แรดฟัง ท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องเป็นแรด ระวังให้ดีๆ ฟังไม่ถูกถ้าฝืนจะฟังไม่ถูกก็จะเป็นแรดไปโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนคนหนึ่งก็นั่งเป่าปี่ให้แรดฟัง ถ้าพระพุทธเจ้ามาเห็นก็ท่านจะตรัสอย่างไร ถ้ามันมีการกระทำอย่างนี้แล้วพระพุทธเจ้าท่านเสด็จมาเห็นเข้า ท่านจะตรัสอย่างไร ทรงตรัสไม่ออกเหมือนกันละ นี่ช่วยกันระวังให้ดีๆ ที่ว่าความไม่ถูกฝาไม่ถูกตัวมันยังมีอยู่ เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาต่อไปอีกว่า คำสั่งสอนเดิมแท้ๆ ที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า มันก็มีคำอธิบายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นๆ เรียกว่า อรรถกถา เรียกว่า ฎีกา เรียกว่าอะไรเพิ่มขึ้นๆ จนเขวไปไม่ทันรู้ๆ ออกไปนอกแนวของพุทธไปซะก็มี ไปหลงบุญหลงบาปบ้าบุญบ้าบาปเสีย หลงชั่วหลงดีเสียก็มี ลืมพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในระดับนี้ ก็เอาไปถึงระดับนั้น มันก็ผิดโดยธรรมชาติหรือโดยอัตโนมัติ เช่น ท่านตรัสเรื่อง อนุปุพพิกถา ว่าทาน ว่าศีล ให้เกิดสวรรค์ ท่านไม่ได้หยุดแค่นั้น ท่านตรัสตามอาทีนพ คือโทษอันเลวร้ายของสวรรค์ที่เต็มไปด้วยกามารมณ์ ท่านตรัสเนกขัมมานิสัง คือการออกเสียจากสวรรค์ ออกจากกามนั้นเป็นการดับทุกข์เป็นการออกมาประพฤติพรหมจรรย์ ๆ โดยเห็นว่าเรื่องสวรรค์นั้นเป็นเรื่องของคนพวกหนึ่งที่เขาสมัครกันอย่างนั้น ที่นี้ออกมาจากสวรรค์มาประพฤติพรหมจรรย์เพื่อดับทุกข์คือพระนิพพาน คำอธิบายตอนหลังเข้ามาเท่าไร มันยิ่งไกลออกไปเพราะว่าผู้อธิบายเป็นผู้ที่ยังมีตัวตน หรือว่าท่านเจตนาจะพูดสำหรับผู้มีตัวตนก็ตามใจ แต่อาตมาเชื่อว่ายังมีผู้อธิบายหรือพระศาสดาที่ยังมีตัวตน ศาสดาเด็กๆ เล็กๆ ที่ยังมีตัวตนไปอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นไม่มีตัวตนมาเป็นมีตัวตนเสีย สอนให้หลงสวรรค์ หลงไอ้สอนบวกความเป็นบวก หลงลาภยศ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ วาสนา บารมี เพราะมีคำเทศน์อยู่บ่อยๆ แม้ทางวิทยุให้รักษาศีล แล้วจะได้รับผลเป็นลาภยศ สรรเสริญ หรืออำนาจวาสนา บารมี เป็นคนรูปสวยเป็นคนอะไรก็ตาม อย่างนี้มันก็ได้แต่ขอให้รู้ว่าอย่างนั้นสำหรับฝ่ายที่มีตัวตน ความถูกต้องในคำอธิบายนี้เป็นสาสวาสัมมาทิฎฐิ ถูกต้องสำหรับจะมีความเป็นอยู่ในโลกอย่างมีอาสาวะหรือมีตัวตน นี่ขอให้สนใจกันถึงขนาดที่เรียกว่า ปริยัติ ที่ปรับปรุงใหม่ ปริยัติ ที่อธิบายกันเสียใหม่ๆ ยังไม่หยุดหย่อนๆ ระวังปริยัติแบบนี้อธิบายกันเสียใหม่อย่างไม่มีหยุดหย่อน ถ้ายุติเท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็ไม่มีปัญหา คือศึกษาไปในทางไม่มีตัวตนๆ แต่มันก็ไม่มีดีชั่วบุญบาป สุขทุกข์ ถ้ามันยังมีดีชั่วบุญบาปสุขทุกข์ ปัญหามันไม่จบ ถ้าอยู่เหนือบุญเหนือบาปเหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือนรกเหนือสวรรค์มันก็หมดปัญหา นี่จงรู้จักตัวเองๆ ว่าเราควรจะรู้อะไร แม้ว่าเราจะสารภาพว่าเรายังอยู่ในชั้นนี้ในชั้นมีตัวตน แต่อยากจะศึกษาเรื่องไม่มีตัวตนบ้างก็ไม่เป็นไร ก็จะเลื่อนชั้นตัวเองอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ไม่เป็นไร ถ้าไม่รู้สึกตัวในข้อนี้ มันก็ยุ่งหมดๆ ความต้องการของจิตใจมันยังต้องการบุญ จะมาศึกษาเรื่องเหนือบุญผลบุญ มันก็เป็นได้สอง (2) แง่ คือ แย่มาก ยุ่งมาก หรือแง่ที่ว่ามันถูกต้องแล้วค่อยๆ ไป ค่อยๆ ไป ค่อยดีขึ้นอย่างนี้ก็ได้ ขอแสดงความหวังให้ท่านสาธุชนทั้งหลายจงรู้จักตัวเอง แม้ว่ายังมีตัวตนเป็นของตนเป็นอะไรอยู่จะต้องยึดถือตามกฎแห่งสาสวะสัมมาทิฎฐิ อยู่ก็ขอให้รู้ว่ามันไม่จบที่ตรงนี้ มันต้องออกไปจนถึงหมดตัวตนเป็นอนาสวะสัมมาทิฎฐิ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยจะมีใครเอามาพูดกันทั้งที่มีอยู่ในพระบาลี สัมมาทิฏฐิ สอง (2) ชนิด สัมมาทิฎฐิสำหรับผู้มีตัวตน ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างผู้มีตัวตน แล้วสัมมาทิฎฐิอย่างที่จะไม่มีตัวตนก็พูดให้ถูกต้องอย่างจะไม่มีตัวตน ที่นี่เราต้องการจะสอนจะพูดกันในระดับที่ว่าจะหมดตัวตนแล้ว เช่นพูดเรื่อง อริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วก็สอนให้ปฏิบัติอานาปานสติ เพื่อให้มีสติปัญญาสัมปชัญญะ มีความรู้ถึงที่สุดของอานาปานสติหมวดสุดท้าย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมถิปตา ธรรมนิยามปตา อิทัปปัจจยตา สูญญตา ตถาตา อาตมันยตา(นาทีที่ 1.13.02) ก็สุดท้าย ในคำสอนหรือปฏิบัติเรื่องอานาปานสติเรื่องเดียว มันมีตั้งต้นตั้งแต่ว่ามีตัวตนจนถึงไม่มีตัวตน เริ่มด้วยการสอนให้รู้จักว่ามันไม่ใช่ตัวตน เป็นไปตามกฎ อิทัปปัจจยา เรื่องกายก็ดี เรื่องเวทนาก็ดี เรื่องจิตก็ดี สอนเรื่องไม่มีตัวตนขึ้นไปตามลำดับ และก็ไปหมดตัวตนในขั้นสุดท้าย นี่เรียกว่าเราสอนกันฝ่ายที่จะไม่มีตัวตนเป็นอนาสวาสัมมาทิฎฐิ ขอให้ผู้ศึกษาปรับปรุงตัวตนให้ถูกต้อง มันก็มีเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่า พวกนี้จะเอาบุญ พวกนี้จะอยู่เหนือบุญ จะเอานิพพาน ถ้ามันเลวมากมันก็เอาชั่วๆ เป็นอันธพาล มันก็จะเอาชั่ว ถ้าดีหน่อยมันก็จะเอาดีเอาบุญ แต่ถ้ามันจะไปสู่ยอดสุดมันก็ต้องเหนือชั่วเหนือดีเหนือบุญ อาตมาอยากจะพูดสักหน่อยแม้ว่ามันจะเสียเวลาบ้างก็ว่าน่าจะพูดคือว่ามนุษย์รู้เรื่องเหนือชั่วเหนือดีเหนือบุญเหนือบาป หรือจะอย่างวิทยาศาสตร์เรียกว่าเหนือบวกเหนือลบ นี้กันมาตั้งหลายพันปี เพราะว่าคัมภีร์ไบเบิลของยิวเดิม ยิวก่อนพระเยซู ยิวพวกเดิมซึ่งเชื่อกันก่อนหกพัน (6,000) ปี หรือ แปดพัน (8,000) ปี ใบแรกๆ มันก็มีพระเจ้าสอนไอ้มนุษย์ที่สร้างขึ้นมา คือพระเจ้าสร้างขึ้นมาว่าอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ good and evil คือ ดีชั่ว อย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้เกิดรู้สึกว่าดีว่าชั่ว ถ้าแกกินแกก็จะตาย พระเจ้าก็ไป อยู่ข้างหลังนี้ผัวเมียคู่นี้มันกินเข้าไป ด้วยอะไรก็ไม่รู้ มันไปแก้ตัวทีหลังว่างูหลอกให้กิน คือมันได้กินเข้าไปมันก็มีความรู้อะไรดีอะไรชั่ว ปัญหามันก็ตั้งต้น เมื่อยังไม่รู้อะไรดีอะไรชั่ว ปัญหามันไม่มี คล้ายๆ กับสัตว์ธรรมดา สัตว์เดรัจฉานอันบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง แต่พอคอยกินกันแล้วมันมีดีมันมีชั่ว เรื่องเขามีเล่าต่อไปว่าวันหลังพระเจ้ามาอีกมาที่นั่นนะที่สวนเอเดน ก็ตะโกนเรียกให้สัตว์ผัวเมียคู่นี้ออกมา เรียกเท่าไรๆ มันก็ไม่ออกมา เมื่อก่อนมันก็เรียกคำเดียวมันก็ออกมา วันนี้ทำไมเรียกเท่าไรๆ มันก็ไม่ออกมา พระเจ้าก็ถามว่า ทำไมไม่ออกมา มันบอกว่าไม่ได้นุ่งผ้า ตอนนี้ไม่มีคำตอบๆ อย่างนั้นเพราะมันไม่มีความรู้เรื่องนุ่งผ้าหรือไม่นุ่งผ้าคือไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีเปลือยหรือไม่เปลือย วันนี้มันเกิดความรู้ขึ้นมาเสียแล้วอย่างนี้ไม่ได้นุ่งผ้า อย่างนี้ใช้ไม่ได้ก็เลยไม่ออกมา พอมันตอบเท่านั้นพระเจ้ารู้ทันทีว่า โอ้ ..ไอ้นี่มันกินต้นไม้กินลูกไม้ที่เราห้ามเข้าไปแล้วมันก็เรียกออกมาทำความเข้าใจกัน ก็แนะให้เอาใบไม้มาเย็บกันเป็นผ้านุ่งไปตามเรื่องที่จะทำได้ในขั้นแรก เมื่อยังไม่รู้ดีไม่รู้ชั่วมันก็ยังไม่รู้เรื่องนุ่งผ้าหรือไม่นุ่งผ้า มันก็ไม่รู้จักอิจฉาริษยา ต่อมาลูกของมนุษย์คู่นี้ลูกในชั้นหลานมันก็มีผลอย่างที่พระเจ้าว่ามันรู้ดีรู้ชั่วแล้วมันก็ตาย คือพี่มันหลอกน้องไปฆ่าเสียในป่าเพราะว่าพ่อมันรักแต่น้อง มันไม่รักพี่ๆ มันก็บ้าดีๆ เมาดี พ่อมันไม่รัก มัวแต่รักน้องก็ฆ่าน้องซะ พ่อจะได้รักกู นี่ความบ้าดีมันเป็นถึงขนาดนี้ งั้นเขาก็รู้กันแล้วคนสมัยเมื่อครั้งกระนู้นพัน (1,000) ปี แปดพัน (8,000) ปี ว่าไอ้บ้าดีบ้าชั่วนี่มันใช้ไม่ได้ อย่าไปจัดมันอย่าไป classify อย่าไป regard อะไรให้มันเป็นชั่วเป็นดี ให้มันเป็นไปตามธรรมดาตามธรรมชาติ เป็นอิทัปปัจจยตาอย่างในพระพุทธศาสนาๆ เราก็สอนอิทัปปัจจยตาไม่บัญญัติตรงไหนว่าชั่วหรือดีเลย คุณไปดูตลอดสาย เรื่องชั่วเรื่องดีมันอยู่นอกๆ เรื่องอิทัปปัจจยตา สามพัน(3,000) กว่าปีได้นี่ ทางฝ่ายตะวันออก เหล่าจื้อก็สอน อย่าไปหลงบวกหลงลบ ใช้คำว่า หยิน กับ หยาง หยินคือดี หยางคือชั่ว อย่าไปหลงหยินหลงหยาง ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าปฏิบัติตามเหล่าจื้อก็ปฏิบัติอย่างเดียวกับไบเบิล อย่าไปหลงดีหลงชั่ว คือปฏิบัติตามพุทธศาสนาอย่าไปหลงดีหลงชั่ว อย่าไปหลงกุศลอย่าไปหลงอกุศล ให้เหนือไว้ นี่หลายพันปีมาแล้วก็รู้จักเรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีผลอะไร ฮินดูก็สอนว่าเหนือบุญเหนือบาปก็ไปอยู่เป็นปรมัตมัน ต้องเหนือดีเหนือชั่วเหมือนกันถึงจะไปสู่เป็นปรมัตมัน นิรันดร แต่เดี๋ยวนี้คุณดูเราบ้าบวกบ้าดีบ้า positive สุดเหวี่ยงจนไม่รู้จะบ้ากันอย่างไร การบ้าดีหลงดีสร้างปัญหาเต็มไปหมด เพราะมันนำมาซึ่งความเห็นแก่ตัว บ้าดีก็เห็นแก่ตัวบ้าชั่วก็เห็นแก่ตัว เหนือดีเหนือชั่วก็ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่ทำผิดร้ายอะไร ถ้ามนุษย์ไม่มีความเห็นแก่ตัว ความผิดทางอาญาก็ไม่เกิด ความผิดทางแพ่งก็ไม่เกิดๆ กฎหมายไม่ต้องใช้เอาไปโยนทิ้งไปเลยเสียก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องมีศาสนาด้วยก็ได้ ถ้ามนุษย์ไม่เห็นแก่ตัว ศาสนามีเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว เมื่อมนุษย์ไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่เกิดกิเลสใดๆ มันก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องมีศาสนาๆ เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นที่มนุษย์มันเห็นแก่ตัวๆ มนุษย์ทนอยู่ไม่ได้ก็ค้นคว้ากันไปตามเรื่องจนพบวิธีแก้ความเห็นแก่ตัว พบมาเป็นศีลธรรม เป็นจริยธรรม หนักเข้าก็เป็นพระศาสนา ทุกศาสนาจึงมุ่งหมายกำจัดความเห็นแก่ตัว ซึ่งมาจากความหลงดีหลงชั่วหลงบุญหลงบาปในภาษาธรรมชาติก็ว่าหลงบวกและหลงลบ นี่แปลว่าเรามาศึกษาครั้งนี้ก็เพื่อจะอยู่เหนือดีเหนือชั่วเหนือบุญเหนือบาปเหนือสุขเหนือทุกข์เหนือบวกเหนือลบ เราทำผิดฝาผิดตัวของเราก็สงสารตัวเองๆ ถ้าเราเตรียมพร้อมที่ว่าเราจมอยู่ในบวกในลบแต่ว่าเราจะขึ้นไปอยู่เหนือบวกเหนือลบมันก็ถูกต้อง ยังจะต้องระมัดระวังให้ถูกต้องที่สุดๆ ปฏิบัติให้ถูกต้องที่สุดมันจึงจะไปที่เหนือบวกเหนือลบได้ นี้ที่ว่าที่มีตัวตนเป็นตัวตนก็จะหมดความรู้สึกว่าตัวตนได้ ข้อนี้อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจถูกต้องโดยพื้นฐาน ถ้าใครยังประสงค์ที่จะมีตัวตนยังมีอยู่ในสวรรค์ในวิมานอะไรก็ตามแต่ก็ปฏิบัติไปในชั้นสาสวาสัมมาทิฎฐิ สัมมาทิฎฐิที่เป็นไปเพื่อบุญเพื่อกุศล เพื่อความสุข กันที่นี้ แต่ถ้าใครเห็นว่าโอ๊ย..ไม่ไหวๆ อยากจะพอกันทีก็อนาสวาสัมมาทิฎฐิ หมดตัวหมดตนเสียมันก็หมดทุกอย่างหมดทุกประการหมดความมีตัวตนมันก็ไม่มีอะไรที่เป็นบวกเป็นลบเป็นดีเป็นชั่วเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นได้เป็นเสียเป็นดีใจเป็นเสียใจ แม้กระทั่งว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย ไปคำนวณดูซิว่ามันหมดไอ้ความยึดมั่นเหล่านี้แล้วมันมีความสงบสุขสักเท่าไร จะเป็นการพักผ่อนอันแท้จริงสักเท่าไร ที่เป็นที่สิ่งที่เป็นที่ตั้งความยึดมั่นมันมีหลายขนาดแล้วก็ลึกซึ้งๆ อย่างที่เรียกว่ายากจะปล่อยวางได้ เขาคงจะรู้กันมาก่อนพระพุทธเจ้าเรื่องกามาวจร ที่เป็นกามๆ กามารมณ์ทั้งหลาย ว่าเป็นรูปาวจร ไม่ใช่กามเหนือกามแต่ยังมีรูปๆ เป็นรูปธรรม แล้วก็อรูปาวจร เหนือรูปขึ้นไปจนไม่มีรูป ไม่ติดในอรูปตัวหนึ่งละมันจึงจะดีที่สุดก็ว่าอย่างนั้น พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็เลิกหมดทั้งกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร อย่าไปเอากับมันๆ เป็นตัวเป็นตน อยู่เหนืออิทธิพลของกาม ของรูป ของอรูป สูงสุดสักเท่าไร แล้วก็มีใครมาสอนให้ดีกว่านี้ มีใครมาสอนให้เหนือไปกว่านี้ มันก็ไม่..ที่นี้เรียกว่าเราดูตัวเองเถิด ว่าเราอยู่ในฐานะไหน มีจุดยืนอยู่ที่ตรงไหน แล้วเราจะก้าวไปข้างหน้านั้นจะไปกันอย่างไร ยังเป็นชนิดที่ว่ามันหลอกตัวเองๆ เป็นคนค่ายสมัครเล่นมันหลอกตัวเองมันใช้ไม่ได้ ถ้าเราจะเห็นความทุกข์ทั้งสอง (2) ฝ่าย ดีก็ยุ่งวุ่นวายไปตามแบบดี ชั่วก็ยุ่งวุ่นวายไปตามแบบชั่ว อยากจะอยู่เหนือชั่วเหนือดีหมดปัญหาเสียทีถูกต้องๆ ศึกษาเรื่องความไม่มีตัวตนเถิดถูกต้อง ไอ้ดีชั่วจะไม่มีที่เกาะไม่มีที่อาศัย บุญบาปจะไม่มีที่เกาะที่อาศัย กุศลมหากุศล อกุศลก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยเพราะมันไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นที่ตั้งอาศัย ขอให้ท่านทั้งหลายให้ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้รู้จักตัวเองๆ งั้นแล้วพยายามทำให้ถูกต้องๆๆ แก่ประโยชน์ที่ตัวเองจะพึงได้รับ รู้จักพระธรรมที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ พระธรรมตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติแท้ๆ แล้วก็รู้จักที่ว่าได้ปรับปรุงให้มันง่ายขึ้นเข้าใจง่ายขึ้น บัญญัติกระทั่งสมมติให้มันง่ายขึ้นสำหรับปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ ขอทำความเข้าใจอีกสักข้อว่าความสุข เรากำลังพอใจในความสุข เรื่องมีเรื่องได้ สิ่งที่เราต้องการ คนชั้นไหนก็ได้ ชั้นพวกกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร มันก็มีความสุขตรงที่ได้สิ่งที่เขาต้องการไม่มีใครตั้งใจจะหาความสุขจากความไม่ต้องการอะไรเลย ถ้าเขาหิวๆ เขาก็หามากินๆๆ แล้วก็มีความสุข แล้วก็หิวอีกกินอีกมีความสุขอีก ไม่มีใครต้องการที่ว่าหยุดความหิวเสีย นี่ถ้าเราเป็นหลักธรรมะอันสูงสุดมันก็หยุดความหิวเสีย คือมันหยุดมีตัวตนหรือว่ามีอวิชชาของตัวตนเสีย นี่เรียกว่าความสุข ตรงกันข้ามที่สัตว์สามัญสัตว์เขามีและเขาต้องได้สิ่งที่เขาต้องการ พระพุทธเจ้าบัญญัติความสุขไว้สาม (3) ขั้นตอน น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ความสุขขั้นตอนที่หนึ่ง (1) คือไม่กระทบกระทั่งกัน คือไม่เบียดเบียนกัน อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก ปาณะภูเต สุสัญญโม สำรวมระวังให้ดีในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตด้วยกันแล้วก็ไม่ๆ กระทบกระทั่งกัน เป็นความสุข ซึ่งมันก็ไม่ใช่ง่ายนัก นี่สูงขึ้นไป สุขา วิราคตา โลเก กามานัง สมติกกโม ก้าวล่วงกามทั้งหลายเสียได้ ไม่มีความกำหนัดยินดีในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดใดๆ นี่มันสูงขึ้นไปที่ไม่เบียดเบียนกันมันก็มีความสุขกันอยู่แค่นั้น ถ้าสูงขึ้นไปอย่าให้มีจิตใจตกไปเป็นทาสของอารมณ์ใดๆ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี นี่มันสูงขึ้นไปเป็นวิราคะๆ อันแรกเป็นเพียง อัพยาปัจฉา หรืออัพยาบาทไม่เบียดเบียน นี้มันสูงขึ้นมาเป็นวิราคะไม่กำหนัดยินดี พออันสุดท้ายที่สาม (3) ตรัสว่า อัสมิมานะ สังสวินาโย เอตังเว ปรมัง สุขัง นำอัสมิมานะออกเสียได้เป็นสุขยิ่ง อัสมิมานะคือความสำคัญว่าฉันมีอยู่ อัสมิ แปลว่าฉันมี ตัวฉันมีอยู่ อัสมิมานะ แปลว่าสำคัญมั่นหมายว่าตัวฉันมีอยู่ เอาอัสมิมานะนี้ออกไปเสียให้หมดไม่มีเหลือก็เรียกว่าสุขอย่างยิ่งแล้วประโยคนี้แถมคำว่า โว๊ย.. เข้าไปด้วย เวเว แปลว่า โว๊ย สอง (2) อย่างแรกไม่มีคำว่า เว พออันสุดท้ายท้าทายๆ อย่างยิ่งยืนยันอย่างยิ่งว่าเอาตัวกู เอาตัวตนออกไปซะได้เป็นสุขอย่างยิ่งแล้วก็มีโว๊ย เป็นคำท้าทาย นี่เราต้องการความสุขชนิดไหน ต้องการความได้สิ่งที่เราต้องการได้อยู่นั้นก็ได้ก็เป็นความสุขโลกียะ แต่ถ้าสูงขึ้นมากว่านั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่านั้นก็เป็นสาม (3) ข้อนี้ อย่าเบียดเบียนโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ทำอะไรไว้โง่เขลาผิดๆ พลาดคนได้รับความลำบากเป็นความทุกข์เพราะสิ่งนั้นก็เรียกว่า เราเบียดเบียนเขาโดยไม่เจตนา อย่าให้มีความเบียดเบียนทั้งโดยเจตนาและโดยไม่เจตนา อย่าประพฤติกระทำสิ่งใดๆ ให้ใครๆ ได้รับความเดือดร้อน มันก็สบายจริง นี่คนมันเห็นแก่ตัวก็เอาแต่ประโยชน์ตัวใครจะเดือดร้อนก็ช่างหัวมัน ความยุ่งยากลำบากมันก็เกิดขึ้น แล้วความเป็นทาสของอารมณ์ ราคะกำหนัดยินดี ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด “รชนียัง” เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ก็คือเป็นทาสของอารมณ์ เรียกให้งอกออกมาอีก ก็เป็นทาสของอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี้เรียกว่าจิตใจฝังแน่นเป็นทาสของอารมณ์หยุดจากความกำหนัดยินดีในอารมณ์เหล่านั้นเสีย สบายกว่าอย่างแรกมาก เดี๋ยวนี้มันเป็นทาสของอารมณ์ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ไม่มีที่สิ้นสุด หามาเพิ่มเติมล่วงหน้าไว้เรื่อยของแปลกของใหม่ซื้อหามาเรื่อยๆ เพราะเป็นทาสของอารมณ์ จนในบ้านในเรือนนั้นเต็มไปด้วยไอ้สิ่งที่ไม่จำเป็น กลับไปบ้านคราวนี้ขอให้สำรวจดูบ้านเรือนของตนว่ามีอะไรที่เกินจำเป็นอยู่บ้างเราก็รู้ว่านั่นแหละคือความเป็นทาสของอารมณ์ ระวังอย่าให้มีเลย อย่าให้มีที่มันเกินจำเป็นเพราะความเป็นทาสทางอายตนะ ซื้อของใหม่เรื่อย สิ่งที่มีอยู่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อย เปลี่ยนรถยนต์เรื่อยเปลี่ยนอะไรเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เป็นทาสของอารมณ์ สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ก็เรียกว่า กาม ความใคร่เองก็เรียกว่า กาม เป็นทาสของกามเรียกว่ามีความกำหนดยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ถ้าไม่มีก็เป็นอิสระ Free ถ้ามันมีก็เป็นไม่เป็นอิสระ มีนายๆ เหนือจิตใจบังคับจิตใจให้ดิ้นรนอยู่เสมอ ไม่ใช่ความสงบสุข ที่นี้ตัวตน อัสมิมานะว่าตัวว่าตน ก็หมดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน ถ้าจะใช้คำที่ยาวกว่านั้นสมบูรณ์กว่านั้นก็มี “อหังการะ มมังการะ มานานุสัย” นี่คำนี้มันยาวไปหน่อย มันก็มีความหมายเดียวกับ อัสมิมานะ แต่มันขยายตัวออกไปหน่อย อัสมิมานะ ว่าเป็นอหังการะ ว่าตัวกู มมังการะ ว่าของกู กำจัดความเคยชินที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกู ออกไปเสียได้ ก็อย่างเดียวกันกำจัดตัวตนออกไปเสียได้ ไม่มีอะไรที่ๆ จะดับทุกข์ยิ่งกว่านี้ ไม่มีอะไรที่จะเสรีภาพยิ่งกว่านี้ ไม่มีอะไรที่จะสะอาด สว่าง สงบ ยิ่งไปกว่านี้ กล้าท้าให้ไปคิดดู อะไรสะอาดกว่านี้ อะไรสงบกว่านี้ อะไรสว่างกว่านี้ อะไรเป็นเสรีภาพกว่านี้ เอาละเดี๋ยวนี้เราเหมือนกับว่าเป็นผู้ตกน้ำก็อยากจะขึ้นจากน้ำ หรือว่าติดคุกอยากจะหลุดจากคุก เจ็บไข้อยากจะหายเจ็บหายไข้ ไม่เป็นอะไร ฟังดูแล้วมันคล้ายๆ กับว่าจะเหลือวิสัย จะไม่เหลือวิสัยถ้าได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธภาษิตเองถ้าว่าเราจะเอามาชนกันดู มันบางทีก็พบอุปสรรค คือความหมายที่ขัดกันเพราะว่าเรามันอยู่กันคนละชั้นคนละภูมิ หรือว่าเมื่อพูดกันในแง่หนึ่งแล้วพูดกันอีกแง่หนึ่ง คำพูดคำนั้นมันก็ขัดกันอย่างนี้ก็มี งั้นเราจะต้องรู้ไว้ระวังไว้ให้ดี เช่นคำว่า ชาติ ชา-ติ ความเกิดขึ้นได้อัตภาพเกิดขึ้นมาในอริยสัจสี่ ตรัสว่าชาติเป็นตัวทุกข์ แต่ในปฏิจจสมุทปบาท ตรัสว่าชาติ เป็นปัจจัยแห่งตัวทุกข์ งั้นคนที่ไม่รู้ก็ว่าโอ้..นี่ทำไมพูดขัดกันอย่างนี้ นี่ขอให้รู้ว่ามันจะชี้ไปที่ตัวทุกข์หรือจะชี้ไปที่ตัวเหตุให้เกิดทุกข์มันก็ชี้ได้ แม้ในสิ่งๆ เดียวกัน ไม่ต้องเข้าใจไปโง่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสผิดเสียแล้วไม่อยู่ในร่องในรอยเสียแล้วอย่างนี้ อย่าเพิ่งอย่างนี้หรือตรัสความระลึกชาติๆ ตามแบบที่สอนกันอยู่ตามศาลาวัด วิชาสาม ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ ก็ได้ ก็เป็นพวกสาสวาสัมมาทิฎฐิ แต่ที่ตรัสไว้เป็นพิเศษในที่บางแห่งซึ่งมีน้อยแห่ง ตรัสว่า เมื่อตัวตนตัวกู อัตวาทุปาทาน ไม่เคี้ยวกิน ไม่ถูกอัตวาทุปาทาน เคี้ยวกิน หรือถูกเคี้ยวกินมากี่ชาติๆ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า พูดกันอย่างไม่มีตัวตนๆ ถ้าพูดกันอย่างมีตัวตนก็จะมีว่า ตายเกิดๆๆๆ กี่ชาติ เป็น บุพเพนิวาสนุสติญาณ ถ้าเรามองอย่างเถรตรงจะเห็นว่าขัดกัน ถ้ามองอย่างไม่เถรตรงมองอย่างความจริงแล้วก็จะพบว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ อย่างนี้พูดไว้สำหรับคนมีตัวตน เป็นสาสวาสัมมาทิฎฐิ สำหรับคนที่ยังโง่อยู่ว่ามีตัวฉัน ถ้าพูดอย่างนี้ ดรรชนียวัค ว่า รู้ว่าอุปาทานเคี้ยวกินเรากี่ครั้งๆๆ ก็หมายความว่าอุปาทานเกิดขึ้นในจิตในใจกี่ครั้งๆ ไม่ต้องมีตัวตน มันก็ไม่ขัดกัน อันหนึ่งพูดว่าไม่ได้มีตัวตายอันหนึ่งพูดว่ามี เกิด ตายแต่มันก็ไม่ขัดกันถ้ามารู้ว่าเกิดตายเป็นเรื่องสมมติ เรื่องบัญญัติสำหรับผู้ที่ยังโง่อยู่ว่ามีตัวตน นี่ขอให้ช่วยสอนกันให้ดีๆ ช่วยเรียนกันให้ดี ๆ อย่าให้มันตีกันยุ่งในระหว่าง สาสวาสัมมาทิฎฐิ กับ อนาสวาสัมมาทิฎฐิ หลักเกณฑ์ที่พูดไว้สำหรับผู้มีตัวตนก็อย่างหนึ่ง ที่พูดไว้สำหรับผู้ไม่มีตัวตนก็อีกอย่างหนึ่ง อย่าเผลอไปเอามาตีกัน ขัดแย้งกันมันไม่มี ขอให้รู้สึกว่าคำตรัสของพระพุทธเจ้าไม่มีการขัดแย้งกันโดยประการใดๆ ถ้ามันเกิดการขัดแย้งก็ยกไว้เป็นความโง่ของเรา ไม่เข้าใจคำตรัสนั้นอย่างถูกต้อง ความขัดแย้งมันก็เกิดขึ้น มันจึงไม่ต้องมีการขัดแย้งกับใคร คณะไหน กระทั่งกับศาสนาไหน ถ้าพูดอย่างนี้ก็ว่าบ้าละ คำสอนมันขัดแย้งกันตลอดเวลา อาตมาจะบอกว่ามันไม่ขัดแย้ง ถ้าศาสนาไหนสอนถูกต้องมันก็สอนเรื่องไม่เห็นแก่ตัวทั้งนั้นละ ไม่ยึดมั่นดีชั่วจนเห็นแก่ตัว ทั้งนั้นๆ พระศาสนาที่แท้จริง นี่เราจะทำตัวเป็นผู้ไม่มีความขัดแย้งกับใครๆ ในโลกๆ ระหว่างศาสนาก็ดี ระหว่างประเทศชาติก็ดี ระหว่างสังคมก็ดี ระหว่างบุคคลก็ดี เราไม่มีการขัดแย้ง เพราะเราเห็นชัดอยู่ว่านั้นเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ของธรรมชาติ มันกำลังถูกปรุงแต่งอย่างนั้น มันก็มีความเห็นอย่างนั้นตามกฏอิทิปปัจจยตา เรามีความรู้อย่างถูกต้องก็มีอย่างนี้ตามกฏอิทัปปัจจยตา ถ้ามาขัดแย้งกันก็เรียกว่าเอาส่วนที่เป็นความโง่มาฟัดกันต่อสู้ด้วยกัน ถ้าศาสนาทุกศาสนาทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ก็สอนเรื่องไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีปัญหาทุกศาสนาจะเข้ากันได้หมด ก็จะช่วยให้โลกนี้มีสันติภาพได้ เดี๋ยวนี้ศาสนาซะเองกลับเห็นแก่ตัวอยากจะทำลายศาสนาอื่น เลิกเถอะไอ้เรื่องอย่างนี้ ช่วยกันไม่เห็นแก่ตัว ๆๆ กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่สร้างมลภาวะ ไม่สร้างอุบัติเหตุ ไม่สร้างยาเสพติด ไม่สร้างโรคภัยไข้เจ็บ ชนิดที่แม้แต่สุนัขก็ไม่เป็น มันก็ไม่มีการเอาเปรียบโกหกหลอกลวงใคร เดี๋ยวนี้มนุษย์มันเห็นแก่ตัวๆๆ โลกเต็มไปด้วยมลภาวะ เต็มไปด้วยการทำลายธรรมชาติ เต็มไปด้วยยาเสพติด เต็มไปด้วยโรคภัยชนิดที่แม้แต่สุนัขมันก็ไม่เป็น คนมันก็เอามาเป็น มันก็เต็มไปด้วยอันธพาล จะเอาประโยชน์ตนโดยไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่น แล้วในที่สุดมันก็เป็นบ้าฆ่าตัวตายก็ได้ด้วยเหตุนั้น นี้เพราะว่ามันถือผิดไปหมดๆ ตั้งแต่ ก.(กอ) ถึง ง.(งอ) มันถือ ผิดไปซะหมด มันไม่รู้ความจริงที่ถูกต้อง มันเอาไอ้กิเลสมาเป็นโพธิ ความเท็จมาเป็นความจริงเพราะมันไม่รู้ความจริง งั้นขอให้เรารู้ความจริงชนิดที่ประเสริฐที่สุดแก้ปัญหาได้ที่ดับทุกข์ได้ คือธรรมะๆ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุไปยังเรื่องอริยสัจ ถ้าขยายโดยพิสดารก็คือเรื่องปฏิจจสมุทปบาท รู้เรื่องเหล่านี้ถูกต้องแล้วก็ดับทุกข์ได้ แก้ปัญหาได้หมดไม่มีเหลือเป็นความทุกข์อยู่แต่ประการใดๆ ดังนั้นขอให้สนใจเรื่องอริยสัจ หรือเรื่อง ปฏิจจสมุทปบาท เอาเป็นเรื่องเดียวกันเป็นเรื่องบอกให้รู้ตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วก็ไปปฏิบัติให้มันถูกต้องแล้วก็ไม่เกิดความโง่ขึ้นในชีวิต ไม่โง่ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทางวิญญาณ ทางผัสสะ ทางเวทนา ทางสัญญา หรือทางตัณหาทางอุปาทาน อะไรก็ตาม ขอร้องให้ได้สอบสวนซักไซร้ ซักฟอก ตัวเอง ให้มีความถูกต้องในความประสงค์ๆ อย่างถูกต้อง แสวงหาอย่างถูกต้อง ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ได้รับผลอย่างถูกต้องแล้วมันจะมีปัญหาอะไร มันก็หมดปัญหา คือไม่มีปัญหาใดๆ เหลืออยู่ Free จากปัญหา พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้คำว่าปัญหานะ อาตมาอุตรินอกคอกเอาเอง เพราะเห็นมันเหมาะสำหรับคนสมัยนี้ พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสแต่เพียงหมดความทุกข์ แต่คนเดี๋ยวนี้มันยังโง่จะเอาความสุขเข้าอีก ความสุขก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก งั้นตัดบทซะเลยทั้งสุขทั้งทุกข์ อย่าไปเอากับมัน นี่เรียกว่าหมดปัญหา ดีกว่ากว้างกว่าชัดกว่าหมดทุกข์ๆ มันไปเอาความสุขมียืนโลกอีกครั้งหนึ่ง หมดปัญหาไม่หลงสุขไม่หลงทุกข์ไม่หลงบุญไม่หลงบาป หรือพูดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ไม่หลงบวกและไม่หลงลบ ถ้ามีความสุขมันจะกลายเป็นความทุกข์เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ความสุขได้มาหยกๆ นี่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น งั้นอย่าไปหลงความสุข ทั้งสุขและทั้งทุกข์มันก็ไม่มีปัญหา ต่อเมื่อเหนือไปทั้งสอง (2) อย่าง เหนือสุขเหนือทุกข์หมดปัญหาอย่างยิ่งหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้คำว่าสิ้นสุดหรือที่สุดแห่งความทุกข์ มุ่งหมายที่นั่น ต่อเมื่อมันหมดตัวกูๆ ความทุกข์ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยเกิดไม่ได้มันก็หมดทุกข์ งั้นอย่าให้มิจฉาทิฎฐิที่ว่าตัวกู มันมาครอบงำ สำรวจตัวเองว่ามีอยู่เท่าใดๆ เพิ่มขึ้นอย่างไร เวลาคลอดจากท้องมารดามีเท่าไร และเพิ่มขึ้นอย่างไรเพิ่มขึ้นเท่าไรจนเต็มไปหมด จนไม่มีที่เก็บ เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวกู แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นว่าของกู ข้อนี้เป็นธรรมชาติช่วยไม่ได้เพราะมันมีตัวกูยืนยงอยู่ พออะไรมาเกี่ยวข้องกับตัวกูมันก็กลายเป็นของกู ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ความทุกข์ก็ของกู ความสุขก็ของกู ความแพ้ก็ของกู ความชนะก็ของกู เพราะมันมีตัวกูยืนอยู่เป็นหลัก มันจะต้องดับเสียซึ่งต้นเหตุคือตัวกู ของกูทั้งหลายมันก็กระจายหมดไปเอง นั่นแหละไม่มีอะไรยึดถือว่าตัวตนหรือของตนก็คือความว่างๆ จากการยึดถือ เพราะไม่ยึดถือจึงว่าง พอยึดถือแม้สักนิดนึงแม้ในความดีก็เป็นความหนักเพราะว่ามันมีการยึดถือ ตามหลักธรรมดาสามัญ มือนี่ถ้าไม่ยึดถืออะไรก็ไม่หนักแม้แต่นิดเดียวพอยึดถือนิดเดียวก็หนัก ชูมือเอาไว้ก็หนักเพราะมือเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือตัวเอง เรียกว่าไม่มีความยึดถือเสียก็แล้วกัน ไม่มีความยึดถือก็ไม่มีของหนัก อย่าไปยึดถือขันธ์ทั้งห้า (5) คือส่วนที่เป็นร่างกายหรือวัตถุก็ไม่ยึดถือ ส่วนที่เป็นความรู้สึกในจิตใจคือ เวทนา ต้องไม่ยึดถือ สัญญามั่นหมายความหมายของเวทนานั้นมันก็ไม่ยึดถือ ความคิดอย่างใดที่เกิดมาจากสัญญานั้นๆ มันก็ไม่ยึดถือ วิญญาที่รู้สึกอะไรต่างๆได้ ก็ไม่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน เรียกว่าไม่ยึดถือในขันธ์ทั้งห้า (5) นี่เป็นหัวใจที่สรุปไว้สั้นๆ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนาที่สรุปไว้สั้นๆ ให้ง่ายสำหรับคนธรรมดาสามัญชนทั่วไป อย่ายึดถือขันธ์ห้า (5) ว่าเป็นตัวตนในทางวัตถุก็ไม่ยึดถือในทางนามธรรมก็ไม่ยึดถือ ในทางวัตถุเรียกสั้นๆ คำเดียวว่ารูป รูปขันธ์ จะเป็นภายในคือตาหูจมูกลิ้นกายใจ จะเป็นภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่ยึดถือว่านั่นเป็นตัวตนๆ ฝ่ายไหนฝ่ายใดไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนว่าเป็นผู้เห็นหรือสิ่งถูกเห็น ว่าเป็นผู้ได้ยินหรือสิ่งถูกได้ยินไม่ๆ ยึดถือ นี้เวทนามันรู้สึกสุขหรือทุกข์ก็อย่าเอาไอ้ความรู้สึกนั้นมาเป็นตัวตน ว่ามีเวทนาเป็นตัวตนสำหรับรู้สึกอย่างนี้ก็อย่าได้ยึดถือ มันเป็นปฏิกิริยาตามอิทัปปัจจยตาเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกเท่านั้นเองเมื่อมีผัสสะ เมื่อมีเวทนาแล้วก็จะมีสัญญาในความหมายของเวทนาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าดีว่าชั่วว่าบุญว่าบาปว่าได้ว่าเสียว่าแพ้ว่าชนะ สัญญาอย่างนั้นก็อย่าไปยึดถือว่าตัวตน สิ่งที่มันรู้สึกอย่างนั้นได้ก็อย่าไปยึดถือว่ามีตัวตนมันเป็นปฏิกิริยาของปฏิจจสมุทปบาทในขั้นนั้น มันเกิดสัญญาขึ้น มีสัญญาหมายมั่นอย่างไรแล้วจะเกิดความคิดที่จะกระทำๆ ไปตามสัญญานั้นเรียกว่า สังขารๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่คิดได้นั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ความคิดนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน วิญญาณๆ นี้มีได้หลายหนเมื่อสัมผัสชั้นแรกสัมผัสโดยตรง ต่อมาสัมผัสความหมาย สัมผัสเวทนา สัมผัสสัญญา สัมผัสอะไรก็ได้ วิญญาณทุกขั้นตอนไม่ใช่ตัวตน ฝากหมดทั้งห้า (5) อย่างว่าไม่ใช่ตัวตนไม่เอามาถือไว้จะเป็นของหนักไม่ถือก็ไม่หนัก ทิ้งไปแล้วก็อย่าไปเอาอันใหม่ขึ้นมาอีก ก็หมดความยึดถือก็ดับๆ ทุกข์สิ้นเชิง จึงมีชีวิตชนิดอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตน แล้วก็นึกถึงเรื่องสี่ (4) เกลอที่พูดมาแล้ว คือศึกษาไว้เป็นปัญญามากพอ มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นสติไปเอามาเป็นสัมปชัญญะเฉพาะหน้าต่อสู้เหตุการณ์ ลองกำลังของสมาธิเพิ่มให้ มันก็ชนะเหตุการณ์ หรืออารมณ์ก็ตามมาที่เข้ากระทบ เรามีชีวิตเป็นธรรมชีวีคือมีธรรมะ หรือเป็นปัญญาชีวีคือมีปัญญา คำเหล่านี้เคยใช้กันมาแล้วในภาษาบาลี ธรรมชีวีมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ปัญญาชีวีมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ชีวิตมาอุเทถัง เหล่านี้เรียกว่าชีวิตประเสริฐ วันนี้ไม่ได้พูดเรื่องธรรมะอะไรเป็นเรื่องหลักปฏิบัติ แต่พูดถึงปัญหาต่างๆที่มันขวางหน้าอยู่ในการศึกษาและการปฏิบัติ มันมีความสับสนระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ มีความสับสนระหว่างธรรมะเดิมแท้ตามกฎของธรรมชาติและธรรมะที่ถูกปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยๆ ขึ้นมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า สอนแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ แต่คนชั้นหลังทนอยู่ไม่ได้จะปล่อยไว้เพียงเท่านั้นไม่ได้ อธิบายเพิ่มเติมๆๆๆ จนเกิดเป็นพระไตรปิฎก แปดหมื่นสี่พัน (84,000) ธรรมขันธ์ พออาตมาพูดอย่างนี้ก็ถูกด่า พวกศาลาวัดเขาก็ถูกด่า เขาก็ด่าอาตมาว่าพูดตำหนิแปดหมื่นสี่พัน (84,000) ธรรมขันธ์ พระพุทธเจ้าไม่เคยรู้คำนี้ไม่เคยใช้คำนี้ คนชั้นหลังทำขึ้นและมากขึ้นๆ คัมภีร์อภิธรรมมันมากมายนั้นมันก็เกิดทีหลัง เมื่อคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาเห็นว่าพวกอื่นเขาอธิบายคำสอนของพระศาสดายืดยาวละเอียดลออเป็นความรู้ที่ทันสมัยเป็น Academic Study อย่างที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย พุทธศาสนาจะมายอมแพ้ซบเซาอยู่อย่างนี้อย่างไรได้ก็บัญญัติสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นเป็นระบบๆๆๆ ทั้งวินัย ทั้งสุตันตะ ทั้งอภิธรรม นี่มันคือปัญหามากจนเราเลือกไม่ไหว แต่ถ้าเราเลือกเอาแต่หัวใจก็เรื่องไม่มีตัวตนๆ ไม่มีที่ตั้งแห่งอะไรไม่มีที่ตั้งแห่งบุญบาปสุขทุกข์ แก่อะไรทุกๆ อย่าง แล้วมันก็ไม่มีกิเลสแล้วมันไม่มีความทุกข์ ที่จริงพูดสองสามคำมันก็จบ แต่ที่จะพูดให้มากก็แปดหมื่นสี่พัน (84,000) เรื่อง พูดกันตลอดปีก็ไม่จบขอให้สรุปแปดหมื่นสี่พัน(84,000) เรื่องมาเหลืออยู่แต่ว่ามันไม่มีตัวตน พอมีตัวตนก็เห็นแก่ตน พอเห็นแก่ตนก็เกิดกิเลสๆ ก็ต้องเกิดทุกข์ ไม่มีตัวตนก็ไม่มีความเห็นแก่ตนๆ ก็ไม่เกิดกิเลสใดๆ ไม่เกิดกิเลสใดๆ มันก็ไม่เกิดมีความทุกข์ใดๆ ให้รู้เรื่องมันก็จบ ความไม่มีทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นก็คือ พระนิพพาน ขอให้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน อย่าปฏิบัติเพื่อลาภสักการะเสียงสรรเสริญเยินยอไม่ค่อยจะคุ้มค่า ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์สิ้นเชิงจะคุ้มค่า เกิดมาทีหนึ่งได้พบกับพระนิพพาน คือความไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวง การพูดจากันวันนี้ไม่มีสาระอะไรนอกจากปรับความเข้าใจๆ ที่มันไขว้เขว ที่มันเกิดโดยตนเองหรือกับผู้อื่นหรือกับพระคัมภีร์หรือกับพระศาสนา หรือกับสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฎฐิ มันยังไขว้เขวกันอยู่ที่ว่ามาแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายจงปรับปรุงให้ลงรูปลงรอยไม่มีความไขว้เขวไม่มีการขัดแย้ง ไม่ต้องเข้าไปถามใครให้เสียเวลา มันแสดงอยู่แล้วในตัวคำพูดที่ว่าอย่างนี้ๆ มันไม่มีความทุกข์ อย่างนี้ๆ มันต้องมีความทุกข์ นี่ถ้ามีตัวตนมันก็ต้องมีความทุกข์ ไม่มีตัวตนก็ไม่มีความทุกข์ เห็นได้เองด้วยกันจนทุกๆ คน แล้วก็เห็นเถอะๆ เห็นได้เองเห็นได้ด้วยตัวเองว่าความคิดความนึกความรู้สึกว่าตัวกูเกิดเมื่อไรมันเป็นความทุกข์เมื่อนั้น ไม่เกิดก็เป็นความปกติสุขไม่ทุกข์ แล้วก็สามารถทำประโยชน์ ถ้าเกิดตัวกูซะแล้วมันก็จะเห็นแก่ตนๆ แล้วก็ไม่ทำประโยชน์ใครทำประโยชน์ตัวเองท่าเดียว ถ้าไม่เห็นแก่ตนก็สงบเย็น ก็ว่างๆ ก็ทำประโยชน์ได้ทั้งหมด จุดหมายปลายทางคือเรียกว่าพระนิพพานคือชีวิตที่สงบเย็นเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ชีวิตเป็นพระนิพพาน แต่พระนิพพานนั่นมาถึงกันเข้ากับชีวิตๆ มีคุณธรรมของพระนิพพาน ชีวิตนี้ก็สงบเย็นและเป็นประโยชน์ จิตก็ไม่ใช่นิพพาน รูปก็ไม่ใช่นิพพาน อะไรๆ ก็ไม่ใช่นิพพาน พระนิพพานก็เป็นพระนิพพานเท่านั้น แต่ว่าสามารถมาถึงมาถูกมากระทบกันเข้ากับจิตหรือชีวิตหรืออรรถภาพหรือนามรูป ถ้าหากว่าเอากิเลสออกไปเสียให้หมดก็จะถึงนิพพานก็จะเข้ามาเอง เดี๋ยวนี้มันมีอวิชชาๆ กั้นเอาไว้ แสงพระนิพพานส่องไม่ถึงจิตๆ เลยไม่มีนิพพาน ฝรั่งคนหนึ่งเขาเขียนภาพล้อสอนก็ด่าไปในตัวว่าพระนิพพานอยู่ที่หลังพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ อย่าไปหาพระพุทธเจ้าที่ไหนเลยไปหาที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็พบมาทุกอย่าง พบพระนิพพาน เดี๋ยวนี้เราไปหาพระพุทธเจ้าที่อินเดีย อาตมาก็เคยไปแล้วก็ไม่พบ แล้วมาพบพระพุทธเจ้าอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของตัวเองเหมือนกัน ค่อยๆ ระบายความโง่ตัวเองให้หมดไป ม่านนั้นบางลงๆ ก็เห็นพระพุทธเจ้าอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของเราไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ได้ มีความโง่ที่ไหนก็เกิดเป็นม่านบังขึ้นมาที่นั่น ม่านนั้นหายไปพระพุทธเจ้าก็แสดงออกมา พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ ไม่เห็นเราก็ไม่เห็นธรรมะแม้จะจับขาจับแข้ง เห็นธรรมะคือเห็นปฏิจจสมุทปบาท ตรัสว่าเห็นธรรมะคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ถ้าเราเห็นปฏิจจสมุปบาท เมื่ออวิชชาออกไปก็เห็นปฏิจจสมุทปบาทหลังม่านแห่งอวิชชา มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ รีบทำลายม่านแห่งอวิชชาหมดอวิชชาพระพุทธเจ้าก็ปรากฏ สมกับที่ตรัสว่า โย ธัมมัง ปัสสติ โสมังปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา โยมังปัสสติ โสธัมมังปัสสติ ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นก็เห็นธรรมะ ขอให้ความจริงอันนี้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในการเห็นพระพุทธเจ้า ดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้าถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ดับทุกข์ได้โดยประการทั้งปวงกันจนทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนเทอญ สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายสองชั่วโมงไม่ทันรู้