แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาภาพขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายในลักษณะอย่างนี้ ก็คือ เพื่อจะศึกษาธรรมะ ฝึกฝน ปฏิบัติธรรมะ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก่สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ให้สำเร็จประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าธรรมดา เจอ(? 1:51)กันโดยมากไม่เข้าใจว่าธรรมะนั้นทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน ก็เพราะไม่รู้จักว่าธรรมะนั้นคืออะไร เมื่อไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร จึงไม่มองเห็นประโยชน์ก็ไม่ต้องการ แล้วก็มักจะถามว่าธรรมะทำไมกัน เรียนทำไมกัน ปฏิบัติทำไมกัน มีธรรมะทำไมกัน จะมีความคิดอย่างนั้น
นี่ต้องถือว่าอย่างไกลจากแค่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องหมายความว่าอยู่เหนือปัญหา มนุษย์นี่เราแปลได้ว่าจิตใจสูงก็ได้ แปลว่าลูกหลานของมนู(? 3:10)ก็ได้ ก็ล้วนแต่แสดงว่าจิตใจสูง คืออยู่เหนือปัญหา เป็นธรรมดาก็ว่าชิวิตไม่เป็นปัญหา มันอยู่เหนือปัญหา
มีมาบ่อย ๆ ที่เรียกว่า เกือบจะเป็นบ้า หรือเป็นบ้าครึ่งหนึ่งก็ได้ หรือเป็นโรคประสาทงอมแงมมาขอความช่วยเหลือว่าเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ช่วยแก้ไขหน่อย มันก็เหลือวิสัยที่จะแก้ไข เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง คือถึงขนาดที่พูดกันไม่รู้เรื่องเสียจะแก้ไขกันอย่างไร ความจริงนั้นเป็นพราะว่าเขาไม่รู้จักธรรมะ ไม่สนใจธรรมะเสียเลย เรื่อย ๆ มาตั้งแต่เกิดมา จนเข้าสู่อาการชนิดนี้ มันก็เรียกว่าเป็นบ้า หรือเป็นสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปตั้งครึ่งหนึ่ง เกินครึ่งหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร แต่ถ้าให้ไปศีกษาธรรมะมันก็ศึกษาไม่ไหวจิตใจชนิดนี้ นี่ละคือโทษของการไม่สนใจธรรมะมาแต่เดิม
ด้วยเหตุใดก็ตามแต่ที่เขาไม่เคยสนใจ ในชีวิตนั้นมันก็ไหลไปกับว่า สูญเสียไป ซึ่งมันจะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะได้รับมันไม่ได้ ที่เราจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าในที่สุดในชีวิตนี้จะต้องสงบเย็น สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์เท่านี้ก็พอแล้ว โดยส่วนตัวมีความสงบเย็นไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน ไม่มีอะไร เว้นเสียจากปัญหา มีชีวิตอยู่อย่างสงบเย็น ก็ความสงบเย็นนั้นเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ รวมถึงตัวเองด้วย ก็ใช้คำว่าแก่โลก...(? 5:50) รวมถึงตัวเองด้วย ใครจะต้องการตัวนี้มันก็คงจะเพิ่มปัญหาเปล่า ๆ เรียกว่า(?)มีแต่จะเป็นบ้าไปเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะต้องการสิ่งบำรุงบำเรอ เมื่อไม่มีที่สิ้นสุด ...(? 6:20)จนไม่รู้จักว่าสงบเย็นนั้นเป็นอะไร คอยเติมฟืนให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ใส่ฟืนใส่ไฟให้แก่กิเลสอยู่เรื่อยนั้นมันก็ไม่มีโอกาสที่จะสงบเย็นจน ....ลงไป (6:35) เมื่อตนเองเป็นเสียอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นประโยชน์แก่ใครไม่ได้ จะต้องมี ...การประพฤติและการกระทำที่ถูกต้อง จุดนี้ผลเป็นว่ามันสงบเย็น มันสงบเย็น ในความสงบเย็นนั้นมันมีความสามารถ ความสามารถบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ใช่ว่าจะต้องไปนั่งหลับตาอยู่ ที่ตรงไหนแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ใช่ความสงบเย็นอย่างนั้น สงบเย็นในที่นี้หมายถึงว่าความรู้สึกคิดนึกที่เป็นความเร่าร้อนนั้นมันไม่มี คือมันมีความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ทุกอย่างทุกประการจนไม่มีอะไรเป็นความเร่าร้อน แต่ก็ไม่ได้อยู่เปล่า คือคล้าย(? 8:10) กับว่าชีวิตเป็นสิ่งที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันต้องเคลื่อนไหว เมื่อมันมีความเข้าใจถูกต้องมาถึงที่สุดแล้วมันก็จะเคลื่อนไหวถูกต้อง ดังนั้นมันจึงเคลื่อนไหวไปในทางที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ ไม่เห็น ไม่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
บางคนโง่มันหลับตาพูดเพื่อใส่ร้ายธรรมะ ใส่ร้ายนิพพาน ว่าทำไมคนเห็นแก่ตัว ไม่พัฒนาไม่เจริญ ไม่สร้างความเจริญ นั่นมันว่าเอาเอง มันว่าเอาเอง ถ้ามันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ ตนเองได้รับความสงบสุข ผู้อื่นก็พลอยได้รับประโยชน์จากเขา นั่นก็โดยเหตุที่รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะ ใช้ธรรมะ ในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง
นี่ขออภัยที่ว่าบางท่านได้เคยมาแล้ว ได้เคยได้ฟังคำปรารภนี้แล้ว แต่อาตมาก็เตรียมจะมาพูดเพราะว่ายังมีผู้ที่ยังไม่เคยฟัง ยังไม่เคยมา มันต้องมีการกล่าว เป็นการชักนำหรือว่าเป็นการเปิดทาง เข้าใจต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่รู้จะเดินไปทางไหน มันคล้ายคนละเมอ ๆ ไม่รู้ทำไปทำไม เพราะตามความเป็นจริงนั้นมันจะเป็นที่สุดที่เรียกว่ามีธรรมะและชีวิตจะเป็นไปในลักษณะที่ถูกต้อง ตั้งแต่ต้นจนปลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย มีจุดที่ถูกต้อง จุดยืนที่ถูกต้อง และเดินไปอย่างถูกต้อง ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต
นี่จึงต้องขอพูดเป็นการประเดิมเรื่องแรก สำหรับมีความถูกต้องแก่จุดตั้งต้น จนกระทั่งเดินไปจนถึงจุดหมายปลายทาง แม้ว่าจะต้องฟังซ้ำ ๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะแม้ว่าอาตมาจะไม่ได้พูดซ้ำ ท่านทั้งหลายก็ไปมองเอาเอง มองซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ ให้มันชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่เสมอว่าชีวิตนี้มันจะไปทางไหนกัน ถ้ามันยังมีอะไรรบกวนจิตใจอยู่ รบกวนสิ่งที่เรียกว่าชีวิตอยู่ก็ตาม มันก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ มันยังไม่มีความถูกต้อง มันยังไม่ได้รับประโยชน์ ถ้ามันตายไปเสียมันก็คงตายเปล่า ไม่ได้รับสิ่งที่ดีทึ่สุดที่ควรจะได้รับในการที่เกิดมา
ชีวิตนี้มันมีหลายความหมาย คำพูดคำนี้มันมีหลายความหมาย ความหมายทางวัตถุโลก ทางโลก ๆ ล้วน ๆ ก็มี ความหมายทางธรรมะ ทางธรรมะนี้ ด้านจิตใจนี้ ไม่ใช่ด้านวัตถุนี้ มันก็มี แต่แล้วมันก็หมายความถึงถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องทางวัตถุ ถูกต้องทางจิตใจ ถูกต้องในการที่มันจะต้องเกี่ยวข้องกัน มันก็มีความถูกต้อง แต่ถูกต้องแต่ในทางวัตถุอย่างเดียวนี่ มันไปไม่รอดหรอก จะเป็นคนก็แต่ด้านวัตถุนี่ก็ไปไม่รอด ยิ่ง ๆ ไปแยกมันจนเป็นส่วนย่อยของวัตถุล่ะก็ยิ่งไม่มีความหมาย ความสดชื่นของสิ่งที่เรียกว่าโปรโตพลาสซึม ซึ่งมีอยู่ในเซลล์ทุก ๆ เซลล์ ยังสดอยู่นี่เรียกว่าชีวิต นี่เรียกว่าชีวิต เรียกว่านิยามของพวกวิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ มันจะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้ามันเป็นเรื่องวัตถุที่แปลกแยกออกไป แปลกแยกออกไปจนอันสุดท้ายแล้วก็ได้ความว่าง เมื่อความสดอยู่ของส่วนใหญ่ ส่วนสำคัญของเซลล์... ชีวิตทางวัตถุ หากจะทำได้มันก็สดอยู่แค่นี้นะ
ในเรื่องจิตใจ จิตใจนั่น มันต้องมีความถูกต้อง ถูกต้อง มิฉะนั้นมันจะมีปัญหามากมายไป จนไม่มีความสงบสุข จิตใจจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ต้องรู้ไปจนหมดสิ้น เพราะมันไม่ต้องรู้ก็ได้ เช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้ ไอ้พวกนักวิทยาศาสตร์มันก็ไม่รู้ว่าไฟฟ้า ไฟฟ้านั่นคืออะไรโดยถึงที่สุด แต่มันก็เอามาใช้สำเร็จประโยชน์ ใช้ให้เป็นประโยชน์มหาศาล ยิ่งคนธรรมดาแล้วยิ่งไม่รู้หรอก ว่าไฟฟ้านั้นคืออะไร แต่ใช้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด และตัวจิตใจนี้ก็เหมือนกันแล้ว ไม่ต้องถึงกับรู้ มันอย่างรู้วัตถุนี้ แต่รู้วิธีนะ วิธีที่จะมีจิตใจอย่างไร บังคับจิตใจอย่างไร ศึกษาอย่างไร จึงอยู่แต่ในความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง และไม่มีปัญหาเลย อย่างนี้ก็พอแล้ว ในที่สุดความถูกต้องทั้งทางร่างกาย ถูกต้องทั้งทางฝ่ายจิตใจ รวมกันเข้าแล้วเป็นชีวิตในความหมายที่สมบูรณ์ แล้วก็หมดปัญหา ทางธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องร่างกายล้วน ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องจิตใจล้วน ๆ มันเป็นของสองอย่างประกอบกันทั้งทางกายกับทางจิต ธรรมะในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องกายล้วน ๆ ไม่ใช่เรื่องจิตล้วน ๆ แต่มันเป็นเรื่องประกอบกันเข้าทั้งสองอย่างแล้วมีความถูกต้อง ก็เลยเรียกว่ามีธรรมะ อย่าไปเรียกว่า วัตถุนิยม อย่าไปเรียกว่า จิตตนิยม มันไม่ถูกหรอก ต้องเรียกธรรมนิยม ธรรมนิยม ระหว่างกายและจิตรวมกันมันถูกต้องเป็นธรรมะ ในการเกี่ยวข้องกันระหว่างกายและจิตอย่างถูกต้องนั้นแล้วจะเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ
และควรจะทราบไว้ด้วยว่า คำว่า ธรรมะ ธรรมะ นี้นะไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ความหมายของมันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไร เรียนให้หมดไม่ได้หรอก มันไม่สามารถจะเรียนหรือมันตายเสียก่อน คือบางทีก็จะไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนที่ไม่มีประโยชน์อะไรก็มี ไม่ต้องเรียนก็มี เราเรียนแต่ที่จำเป็น จำเป็นที่จะดับทุกข์ ดับทุกข์ อันไหนจะช่วยให้ดับทุกข์ได้เรียนเฉพาะสิ่งนั้น ที่ให้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ปุพเพ จาหัง ภิกขเว เอกะระหิจะ สุขันเจวะ ปัญญาเทวิ ทุกขะสัจจะ นิโรธัง (17:22) ฉันว่าอย่างนี้ ทั้งที่ก่อนเมื่อนั้นก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ฉันไม่ได้พูดเรื่องอื่น ทีนี้เรามันจะเป็นคนที่ เข้าใจผิด(? 17:48)มันรู้ก็ปล่อยให้มันรู้ ไปรู้เรื่องที่ไม่ดับทุกข์เสียมากกว่า ไปตั้งปัญหาถามเรื่องที่เกี่ยวกับดับทุกข์ มันมากเกินไป คือเอากันแต่ว่าธรรมะมันจะมีอยู่กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านเรื่องก็ช่างเถอะ เราเอาแต่ส่วนที่จะดับทุกข์เท่านั้น แม้จะเรียกว่าความจริง ความจริง จริง จริง จริงที่สุดของธรรมชาติ ที่ไม่ต้องเรียนก็มี ถ้ามันไม่เกียวกับการดับทุกข์ก็ไม่ต้องเรียน เราจึงเรียนเพียง (? 18:25)ความทุกข์คืออะไร ความทุกข์มาจากอะไร จะดับได้โดยวิธีใด ดับแล้วได้ผลอย่างไรเท่านี้ก็พอแล้ว มันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่อประโยชน์อะไร มันจะสำเร็จลงได้โดยวิธีใด
ใช้ภาษา...(? 18:52)สี่คำพอแล้ว คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ถ้ารู้สี่คำนี้เท่ากับรู้หมดที่ควรจะรู้ ในพระพุทธศาสนาเรียกว่ารู้อริยสัจ คือถ้าเกินนี้มันก็ มันก็เสียเวลา ส่วนที่เกินมันเสียเวลาเปล่า และก็มีคำอีกประโยคหนึ่งที่น่าจะใส่ใจ นั่นคือคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ว่า สิ่งที่ตถาคตตรัสรู้เท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า คือ ทั้ง...(? 19:40 )ทั้งโลก แต่เอามาสอน แสดง เปิดเผยให้แก่มนุษย์ทั้งหลายนี้ เท่ากับใบไม้เพียงกำมือเดียว กำมือเดียว ท่านลองคิดดู มันมีอีกกี่เท่าล่ะ ใบไม้ทั้งป่ากับใบไม้กำมือเดียว ท่านสอนเพียงใบไม้กำมือเดียว รู้ชั่ว(? 20:05) เรื่องดับทุกข์ ดับทุกข์ เพราะฉะนั้นยังไม่ดับ(? 20:10) อย่าไปสนใจอะไรมาก อย่าไปตั้งปัญหาอะไรมาก ท่านจะเป็นคนโง่ ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมาแล้วเราตอบไม่ได้แล้วก็เลิกกัน ยิ่งปัญหาที่เรื่องตายเกิดโดยเฉพาะนั่นแหละมาก ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งต้องตั้งปัญหาว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอย่างไรดีกว่า ปัญหานอกนั้นไม่ต้องสนใจ เพราะว่าถ้าเริ่มทำ สิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว มันก็หมดปัญหาสิ หมดปัญหาของมนุษย์สิดี จะได้ทำสิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว เราจึงรู้เรื่องที่มนุษย์จะต้องทำ
มันก็ไปเข้าคำพูดที่พูดทีแรกสั้น ๆ ว่า ชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์เท่านั้นก็พอ ชีวิตนี้สงบเยือกเย็น สงบเยือกเย็น ไม่อยากเรียกว่านิพพาน เดี๋ยวคนจะเคือง หันหลัง(? 21:19)กันได้อีก เพราะมีคนเกลียดนิพพาน รังเกียจนิพพาน เพราะว่านิพพานนี้ไม่มีประโยชน์ เห็นแก่ตัว เฉย ๆ ไม่ทำอะไร แต่คำว่าเย็น เย็นนี้มันหลีกไม่พ้น มันคือคำว่านิพพานนั่นแหละ ชีวิตเย็นก็คือชีวิตที่มีนิพพานในความหมายระดับใดระดับหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ มันเย็น และมันเป็นประโยชน์ เราจงสนใจแต่ให้เราได้มาซึ่งชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์ในทีสุดท้าย นี่คือสิ่งที่อาจต้องทำความเข้าใจ เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้มีเข็มทิศ ให้ห้อยเข็มทิศก็ได้ ที่ถูกต้อง แล้วเราจะเดินทางไปอย่างถูกต้อง มีความรู้ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มุ่งหมายถูกต้อง ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ถูกต้อง ในที่สุดก็ได้รับผลของความถูกต้อง แล้วเรื่องมันก็จะจบ ถ้ามันไม่มีความถูกต้อง มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าความขัดข้อง ความขัดข้อง ความขัดขวาง การกระทบกระทั่ง มันก็เริ่มความเป็นทุกข์มันทนอยู่ไม่ได้ ธรรมะคือความรู้ที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป
วันนี้จะไม่พูดเรื่องอะไร จะพูดแต่เรื่องไอ้ธรรมะคืออะไร เพื่อมีให้ถูกต้องและใช้ให้ถูกต้อง มันมีอยู่ จะเรียกว่าเป็นประเภท ก็ได้เหมือนกัน ธรรมะประเภทที่ต้องเรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้ รู้ กับธรรมะประเภทที่จะต้องปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ และความรู้จะไม่เป็นหมันก็ปฏิบัติ และก็เป็นความรู้ชนิดที่เป็นผลของการปฏิบัติ ได้รับ ได้รับ ได้รับ ได้รับ และก็มี ที่อยู่ประจำในจิตใจ ก็ใช้มัน ใช้มัน ใช้มัน ใช้มัน ให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาทุกอย่างทุกทาง ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องวัตถุก็เช่นว่า หาเงิน เรียน เรียน เรียน ศึกษาเล่าเรียน เล่าเรียนความรู้ มีความรู้พอแล้วก็ไปทำงาน ทำงาน ทำงาน แล้วก็ได้เงินมา ก็มีเงินใช้ ใช้ ใช้ ใช้ ใช้ ให้เป็นประโยชน์ แต่เงินนั่นมันเป็นเรื่องทางวัตถุ ทำได้แต่ประโยชน์แต่ทางวัตถุ มันไม่ถึงจิตใจ
มันต้องอีกเรื่องเป็นเรื่องที่สองคือเป็นเรื่องทางจิตใจ เรียน เรียน เรียน เข้าใจ แล้วปฏิบัติ ปฏิบัติให้มันมีขึ้นมา มีขึ้นมาแล้วก็ใช้มัน ใช้มัน ใช้มันให้ถูกต้อง มีธรรมะใช้ในชีวิตประจำวัน ถูกต้องตั้งแต่เกิดจนตาย นี่เรียกว่าหมดปัญหา หมดปัญหา มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ หรือจะพูดให้ดีก็มีความถูกต้องแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม มีความถูกต้องของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม นั่นแหละคือ ธรรมะ ธรรมะมันมีคุณสมบัติอยู่ในตัวเองที่จะกำจัดสิ่งไม่พึงปรารถนา นี่เราพูดกันแล้วนะ พูดกันเฉพาะธรรมะที่มันควรปรารถนา เท่าที่เท่ากำมือเดียวนั่นละ แต่ประมาณนั้น(? 25:40 )มันก็มีหน้าที่มีคุณสมบัติ คุณภาพของมันเองที่จะกำจัดเสียซึ่งที่ไม่พึงปรารถนา เป็นการรักษาโรคทางจิตทางวิญญาณ มีคำเดียวมันรักษาโรคทางจิตทางวิญญาณอย่างสุดคุ้ม สุภาพสุขุมที่สุด Gentle Healing ฮีลลิ่ง ฮีลลิ่งรักษาให้อย่างไม่เจ็บปวด เป็นอย่างค่อยเป็นค่อย ๆ ไป อย่างไม่รู้สึก ความหมายนี้ ความหมายของธรรมะมันจะรักษาโรคทางวิญญาณ อย่างสุขุม สุขุม อย่างคือ ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ไม่เอะอะ มีสิ่งนี้อยู่มันก็เกิดโรคทางวิญญาณไม่ได้
เมื่อเรามีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจซึ่งก็ล้วนแต่มีโรค โรคทางร่างกายก็ไปปรึกษาแต่หมอที่ทางร่างกาย ถ้ามันเป็นโรคทางจิต ก็มาหาธรรมะ คือมาหาพระศาสนา มาหาพระพุทธเจ้า พระผู้เป็นนายแพทย์ ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง แต่ทางจิตนี่มันแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ จิตไม่สมประกอบ คือจิตไม่มีสมาธิ ไม่มีอะไรที่ถูกต้องนี่เรียกว่า โรค และจิตโง่ ไม่รู้ที่ควรจะรู้ นี่ก็เรียกว่า โรค แต่ทางจิตมันมี ๒ ขั้นตอน จิตไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีสมาธิ มันก็เป็นโรคเหมือนกัน ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ จนจิตมีสมรรถภาพสูงสุด มีความเป็นสมาธิและก็มีความรู้ทางปัญญา ทางวิปัสสนา รู้ตามที่เป็นจริง คือก็ไม่มีความผิดพลาดอะไรเหลืออยู่ ก็หมดโรคในชั้นสุดท้าย คือโรคทางวิญญาณ โรคความโง่ โรคอวิชชา
มันไม่มีธรรมะ มันก็จะเรียกว่าผิดมาตั้งแต่ทางร่างกาย แล้วผิดไปเรื่องทางจิต ในที่นี้ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำสำคัญอีกคำหนึ่ง คือคำว่า สมาธิ จิตไม่มีสมาธิ ไม่มีสมรรถนะสมบูรณ์ เรียกว่ามันไม่มีสมาธิ จิตไม่มีสมาธิมันก็ทำหน้าที่ทางสติปัญญาไม่ได้ มันจึงมีการอบรมให้เป็นสมาธิกันเสียก่อน ก็จะสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางสติปัญญาได้ เพราะสมาธิ สมาธิก็เป็นคำที่เข้าใจผิดกันอยู่ มันจะเข้าใจว่าไปนั่งหลับตาแล้วก็ทำให้เห็นอะไรแล้วก็ กระทั่งเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างนั้นเป็นต้น อย่างนั้นมันไม่ดับทุกข์หรอก แม้จะเหาะไปในอากาศได้ นิมิตนิรมิตสร้างเป็นอะไรได้มันก็ไม่ดับทุกข์ เพราะมันไม่ดับกิเลส เพียงแต่ว่าสมาธิคำเดียวเนี่ย มันมีความหมาย สามความหมาย คือ จิตสะอาด จิตกำลังไม่มีกิเลส กำลังไม่มีนิวรณ์ จิตกำลังสะอาด คือเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสหรือนิวรณ์ครอบงำ นี่ความหมายหนึ่ง ทีนี้ความหมายที่สอง จิตรวมกำลังกันทั้งหมดทั้งสิ้น จิตที่มีลักษณะซ่านไปรอบตัวเหมือนกับดวงไฟ ดวงอาทิตย์ นี่มันซ่านออกไปรอบตัว นั้นต้องเอามารวมกันรวมกำลังกันให้หมด ไม่ให้มันซ่านมันซ่านไปคนละทิศละทาง นี่เรียกว่าตั้งมั่น เหมือนแสงแดดเมื่อมันกระจายกันอยู่ มันก็มีกำลังน้อย ถ้าเอาเครื่องรวมแสงเช่นแก้ว แก้วรวมแสงมามันก็รวมแสงที่พร่าไป มาสู่จุดเดียว จุดเดียวก็ลุกเป็นไฟขึ้นมาได้ มันมีลักษณะรวมแสง นี่ก็เรียกว่ามันรวมกันแล้วมันตั้งมั่น ตั้งมั่น ตั้่งมั่น แล้วคุณสมบัติจำเป็นที่สาม นั้น เหมาะสม เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ทางจิต ทำหน้าที่ทางจิตนั้น จิตชนิดนี้เหมาะสมที่สุด เรียกว่าสมควรแก่การงาน สมควรแก่การงาน ว่องไวในหน้าที่ เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ ทั่ว ๆ ไปมันเรียกกันว่า Active แอ็กทิฟ แอ็กทิฟเนส มันมีความเป็นแอ็กทิฟ ว่องไวในหน้าที่การงาน สมบูรณ์
เมื่อรวมกันทั้งสามอย่างนี้ จึงจะเรียกว่ามีสมาธิ ไม่ใช่ว่านั่งหลับตาแล้วก็แข็งเป็นต้นไม้ไม่รู้ว่าทำอะไร ข้อที่ ๑ ปริสุทโธ จิตเกลี้ยง จิตสะอาด จิตไม่มีอะไรรบกวน ข้อที่ ๒ สมาหิโต ตั้งมั่น ตั้งมั่น รวมกำลังทั้งหมดเป็นจุดเดียวนี่ตั้งมั่น ทำได้อย่างนี้แล้วมันก็มีความเหมาะสม อ่อนโยน พอที่จะ พร้อมที่จะใช้งาน เรียกว่า กัมมนีโย กัมมนีโย คำนี้แปลว่าสมควรแก่การงาน อะไร ๆ ที่พร้อมที่จะทำหน้าที่ สมควรแก่หน้าที่ก็เรียกว่า กัมมนีโย สามคำจำง่าย ๆ ปริสุทโธ สะอาด สมาหิโต ตั้งมั่น ผนึกอยู่ รวมกำลัง กัมมนีโย สมควรแก่การงาน
ที่ท่านจะมาศึกษามาปฏิบัติสมาธิกันที่นี่ ที่ไหนก็ตามใจ ถ้ามันมีความถูกต้องแล้วมันก็จะมีลักษณะ ๓ ประการนี้ ก็ไปอ่านในหนังสือคู่มืออานาปานสติดูทำจิตให้ตั้งมั่นนั้นเป็นอย่างไร ในหนังสือ(? 33:03) ในเมื่อจิตนี้สะอาด รวมกำลังตั้งมั่น เหมาะสม ว่องไวเหมาะสมทำการงาน ก็ทำเรื่องทางจิตได้ทุกเรื่อง ทุกเรื่อง ทุกเรื่อง ยิ่งมีความรู้ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ได้รับผลอย่างถูกต้อง จิตก็หมดปัญหา กายก็หมดปัญหา ก็เลยเรียกว่าชีวิตนี้มันหมดปัญหา สิ่งที่เรียกว่าชีวิตมันประกอบไปด้วยของสองสิ่ง คือ ฝั่งทางฝ่ายวัตถุเรียกว่ากาย แล้วฝ่ายนามธรรมเรียกว่าจิต ถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต เป็นชีวิตที่ถูกต้อง ถูกต้อง มีชีวิตถูกต้องยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไปในการทำหน้าที่ หน้าที่ มันก็จบแล้ววันหนึ่ง มันก็จบเรื่อง บรรลุผลสุดท้ายที่เรียกว่านิพพาน เย็น หมดความหมายแห่งความร้อน มีแต่ความเย็น แต่ไม่ใช่เย็นอยู่เฉย ๆ เป็นหมันนะ ทำประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ แต่คำว่าเย็นนี้มันเกี่ยวกับภาษา ขอบอกให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ธรรมะนั้นยุ่งยากลำบากในการศึกษานี่มันเกี่ยวกับภาษาทั้งนั้นแหละ เพราะภาษาที่มนุษย์พูดกันอยู่โดยภาษาคนนั่นความหมายไปทิศทางหนึ่ง กรณีของธรรมชาตินั้น ไม่รู้จักพูด มันเป็นภาษาธรรมะ ไม่ค่อยรู้เรื่องภาษาธรรม มันพูดกันแต่ภาษาคน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสูงสุดในภาษาธรรม เรื่องตามธรรมชาติมันก็มีสองภาษาอย่างนี้ ก็คือต้องรู้กันทั้งสองภาษา ภาษาคนเล็งไปถึงสิ่งที่คนธรรมดารู้จัก เป็นเรื่องทางวัตถุ ภาษาธรรมเล็งไปในทางธรรมะที่คนไม่ค่อยได้รู้จักเป็นเรื่องจิตใจ รู้จัก ให้เข้าใจ มันมีทั้งภาษาคนและภาษาธรรมะ
ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่าถ้าเราพูดกันโดยภาษาคน พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เผาแล้วเหลือแต่กระดูกแล้ว แต่ถ้าพูดด้วยภาษาธรรม ภาษาธรรมะ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็นนิรันดร เป็นนิรันดร ไม่ได้ประสูติขึ้นมา ไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้ปรินิพพานอะไร เป็นธรรมะชนิดที่เป็นนิรันดร นิรันดร ตั้งอยู่อย่างนิรันดร อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ ไม่เห็นธรรมะก็คือไม่เห็นเรา ภาษาธรรม มันกลายเป็น(? 36:10)พระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับ อยู่นิรันดร แต่ภาษาคนเราพูดพระพุทธเจ้าคือคน ๆ หนึ่ง เกิดเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ลูกคนนั้น หลานคนนั่น ที่นั่น ที่นี่ สวรรค์แล้ว(? 36:33) นิพพานแล้ว ตายแล้ว เผาแล้ว เหลือแต่กระดูก มันต่างกันอย่างไร
ภาษาคนกับภาษาธรรม ภาษาคนมันก็พูดกันแต่เรื่องที่คนรู้จัก ภาษาธรรมก็พูดแต่เรื่องที่คนธรรมดาไม่รู้จัก ก็ต้องศึกษา ศึกษา ไอ้ชีวิตนี้มันมีทั้งเรื่องที่ควรรู้จัก คนธรรมดารู้จักและไม่รู้จักก็ยังมีที่เรายังต้องเรียน กันทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ความทุกข์ในภาษาคนภาษาวัตถุ แก้ได้ด้วยเงิน ด้วยหมอ โดยตามธรรมดา แต่ถ้าความทุกข์ในทางภาษาธรรม มันแก้ไม่ได้ด้วยเงิน มันแก้ไม่ได้ด้วยหมอตามธรรมดา มันต้องไปหาหมอวิเศษคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายแพทย์รักษาโรคทางจิตทางวิญญาณ หมดโรคทางจิตทางวิญญาณแล้ว หมดโรคในภาษาธรรม เพียงแต่สบายดีหมดโรคในภาษาคน เป็นบ้าก็ได้ และว่าหมดโรคทางภาษาธรรมก็หมดโรคทางจิตทางใจ ทางสติปัญญา เราจึงมีโรค ๓ ประการ พอเป็นเครื่องสังเกตว่า โรคทางกาย รักษาอย่างโรคทางกาย โรคทางจิตคือทางสมาธิรักษาอย่างสมาธิ โรคทางวิญญาณรักษาอย่างสติปัญญาทางวิญญาณ แบ่งให้ชัดจะเป็น ๓ ประการอย่างนี้เสมอ แต่ว่าโรคฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณสองอย่างนั้น รวมกันเป็นเสียอย่างเดียวเรียกว่าโรคทางจิตก็ได้เหมือนกัน ถ้าอย่างนี้มันเหลือแต่สอง เหลือแต่โรคทางกายและโรคทางจิตกันเฉพาะจิตมันก็แยกเป็นสอง อยากจะแยกเป็นสองก็กลายเป็นสาม ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ในทางจิตทางวิญญาณรวมกันเสียเป็นหนึ่งก็เหลือแต่ทางกายและทางจิตมันก็เหลือสอง แล้วแต่เราจะเรียก แล้วแต่เราจะมุ่งหมาย แล้วแต่เราจะพูด
ทีนี้ความหมดโรค ความหมดโรค อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ประโยคนี้กลายเป็นพบในบาลี โอ! มันรู้จักและพูดกันตั้งแต่พระพุทธเจ้าเกิด ก่อนมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกอีก มันรู้จักคำพูดประโยคนี้ แต่ถ้าพูดกันว่า ไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หมอขายยา หมอถอนฟัน หมออะไรก็ไม่รู้ไปร้องตะโกนอย่างนี้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง มาซื้อยา มากินยา มาถอนฟัน มาทำอะไรต่าง ๆ แต่พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านให้ความหมายที่สูงขึ้นไป ว่าโรคโลกนี้มันยังมีโรคทางจิต ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีทางจิต แล้วจึงจะหมดโรคทางจิต จึงจะเป็นความไม่มีโรคโดยสมบูรณ์ ดังนั้นเราจึงมีความไม่มีโรคทางกิเลส ทางกิเลสเพิ่มขึ้น จึงจะเป็น อโรคยา ความไม่มีโรคโดยสมบูรณ์ จึงจะเป็นลาภอย่างยิ่งโดยสมบูรณ์ ที่ได้พบเข้ากับชีวิตที่ไม่มีโรค ไม่มีโรคคือไม่มีกิเลสด้วยประการทั้งปวง ไม่มีกิเลสก็คือนิพพาน และเป็นความเย็น เป็นความเย็น
คือถ้าเขาถามว่า นิพพานคืออะไร ตอบได้ง่าย ๆ อย่างถูกต้องของพุทธบริษัท นิพพานคือการสิ้น ราคะ โทสะ โมหะ หรือการสิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย นิพฺพานํ ...ราคะ ...โทสะ ...โมหะ ( 41:20) นั่นคือนิพพาน ทีนี้มันไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร มันว่าเอาเอง มันเดาเอาเอง แล้วน่าเศร้า หรือมันน่าลำบากใจที่ว่า คำนี้ คำว่านิพพานคำนี้ มันใช้ต่าง ๆ ต่าง ๆ กันตามลัทธิต่าง ๆ ลัทธิที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาเขาก็ใช้คำนี้เหมือนกัน ทั้งที่ศาสนามันก็ไปจบที่นิพพาน นิพพานเหมือนกัน เป็นกันทุกศาสนา แต่มีความหมายเฉพาะตน ๆ ถ้ารวมกัน รวมกันแล้วมันก็ได้ความว่ามันเย็น มันไม่มีความร้อน คำว่านิพพาน นิพพานเกิดขึ้นมาในโลก ก็เพราะว่า มนุษย์ต้องการความเย็น ความเย็น เย็น เย็น เย็นจนไม่มีความร้อนเหลือ ทีนี้มันเกิดมาในโลกใหม่ ๆ มันยังโง่อยู่ มันยังไม่เคยเกิดพระพุทธเจ้า ยังไม่เคยเกิดบุคคลผู้มีปัญญาบริสุทธิ์ มันก็ดูเอาเอง บัญญัติเอาเองว่าเย็นอย่างไร เย็นอย่างไร แต่มันก็ความหมายเดียว ๆ กันแหละ ไม่มีความร้อนหรือคือเย็น จึงมีคนพวกแรก จะเรียกว่าคนฉลาดพวกแรกหรือคนโง่พวกแรกต่อคำว่านิพพานก็ได้ เหมือนกับว่าความสมบูรณ์ทางกามารมณ์เป็นนิพพาน ข้อนี้ปรากฏชัดอยู่ในพระบาลี พรหมชาลสูตรยาวยืดใน.....(? 43:11)อ่านดูก็ได้ กามารมณ์เป็นนิพพาน เพราะว่าได้กามารมณ์มามันหยุดความใคร่ ความกระหายไปพักหนึ่ง มันมีความเย็นเกิดขึ้นในตอนนั้น นี่เอากามารมณ์เป็นนิพพาน
ต่อมามันมีผู้ที่รู้จริงกว่านั้น ว่า โอ! ไม่ไหว ๆ ไม่เอา เอาสมาธิ จิตเป็นสมาธิ กามารมณ์ไม่รบกวน กามารมณ์ไม่รบกวน เป็นสมาธินี้เป็นนิพพาน ตอนนี้พบกันหลายขั้นตอน สมาธิประเภทรูปฌาณทั้ง ๔ ขั้นตอน และสูงขึ้นไปถึงอรูปฌาณก็มี ๔ ขั้นตอน ถือสมาธิเป็นนิพพาน นิพพาน ต่อมาพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น โอย!ไม่พอ ไม่พอ มันไม่ใช่เพียงแต่สมาธิแล้ว ต้องมีปัญญา ปัญญารู้จักความจริง ไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวตน ไม่มีความเป็นตัวตน ซึ่งเป็นของหนัก ไม่ยึดถืออะไรเป็นตัวตนอีกเป็นนิพพาน คือเย็น คำว่าเย็นนี้ก็ดูความหมายให้มันถูกต้อง มันเกี่ยวกับภาษาทำความยุ่งยากลำบาก คือมันไม่ร้อน ถ้าร้อนมันก็ทนไม่ไหว ไม่หนาว หนาวก็ทนไม่ไหวเหมือนกันมันเป็นทุกข์ คือมันไม่ร้อนและมันไม่หนาว นั่นแหละมันคือเย็นที่ถูกต้อง เย็นที่พอดี เราจะแปลคำว่านิพพานแปลว่าเย็น ก็คือระงับลงแห่งความร้อน ไม่ใช่ตาย ไม่ใช่ตาย คำว่านิพพานนั้นไม่ใช่ตาย ไอ้ที่มันเข้าใจว่าตายนี่มันคนโง่พูด และพูดบางพวก นิพพานคือเย็นลงแห่งความร้อน หรือปัญหาก็ได้ เพราะปัญหาเป็นของร้อน ความทุกข์เป็นของร้อน ไอ้ร้อน ๆ เหล่านี้เย็นลง ๆ ใช้คำว่าเย็นนั้นถูกที่สุด เย็นลง ๆ แห่งความร้อน
ในภาษาฝรั่งเรามาศึกษากันคิดว่า คำว่า Healing ฮีลลิ่ง ถูกที่สุด Heal มันหมายถึงไอ้ที่ร้อน ไอ้ที่ฟุ้ง ไอ้ที่ฟูอยู่มันระงับลง ระงับลง Heal ค่อยเย็น เย็นลงแห่งความร้อน จนหมดความร้อนเรียกว่าเย็น ทำไมคำว่านิพพานในทางธรรมะมันจึงเกิดขึ้นล่ะ เพราะมันมีอยู่แล้วในทางโลก โลก โลก โลก ภาษาโลก ภาษาคนนั้นมันมีอยู่แล้ว ถ้าเมื่อไรเย็นเย็นมันก็สบายมันไม่ถูกแผดเผา มนุษย์พูดเป็นอยู่แล้วคำนี้ตั้งแต่มนุษย์เป็นมนุษย์ มนุษย์นั้นพูดเป็น เป็นคน ตั้งแต่เป็นคนแล้วพูดเป็นว่าเย็น เย็น เย็น เพื่อจะดับแห่งความร้อน มนุษย์พูดอยู่แต่ภาษามนุษย์ ภาษาคนแท้ ๆ พูดอยู่ก่อนพุทธกาล ก่อนอะไรหมด ก่อนที่มันจะเกิดภาษาธรรมะ ธรรมะยังไม่รู้เรื่อง มนุษย์ก็มีคำว่าเย็น เย็น เย็นใช้กันอยู่แล้ว เย็น ถ้าถ่านไฟแดง ๆ ในเตาไฟเย็นลงก็เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน ใช้คำว่านิพพานนี้เป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาที่ยังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีศาสนา นิพพานนั้นแปลว่าเย็นหรือดับ หรือดับแห่งไฟ หรือว่าของกินยังร้อนอยู่ แกงข้าว ข้าวแกง กับข้าวข้าวแกงยังร้อนอยู่กินไม่ได้ ก็รอจนกว่าจะนิพพาน ก็ใช้คำว่านิพพานนี่แหละ ต้องนิพพานก่อนถึงจะกินได้ เรียกว่าความร้อน ของร้อนมันเย็น ทำของร้อนให้เย็นก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน ในพระบาลีมีชัดอุปมาเรื่องนิพพาน ช่างทองหลอมทองในเบ้าหลอมเหลวคว้าง(? 47:35)เป็นไฟ ก็เมื่อเขาจะเอามาทำงานต่อไปก็ต้องทำให้มันเย็น เช่นเอาน้ำรดให้ถูกวิธี ก็คำนี้ก็ใช้คำว่านิพพาน คือทำให้มันนิพพาน เป็นคำกิริยาว่านิพพาปริยะ(? 47:55) แปลว่าทำให้มันนิพพาน พอทองเย็นแล้วก็ทำไปตามที่จะต้องทำ ทำของร้อนให้เย็นลงก็เรียกว่า นิพพาน นิพพาน นำไปใช้ต่อลงไปถึงว่าอะไรที่มันเป็นปัญหายุ่งยาก ทำให้หมดปัญหาก็เรียกว่านิพพาน นำไปใช้ถึงกับว่าสัตว์เดรัจฉานมีความดุร้ายเป็นสัตว์ป่าเอามาฝึก ฝึก ฝึก จนหมดความดุร้าย มันก็เป็นความเย็นทางจิตใจอย่างนี้ก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน จับช้างป่ามา วัวป่ามา ควายป่ามา สัตว์ป่าอะไรมามา จับสัตว์ดุร้ายมาฝึก ฝึก ฝึก ฝึกให้เชื่องเหมือนแมว ก็เรียกว่ามันนิพพานในความหมายของสัตว์เดรัจฉาน ก็ใช้คำว่านิพพาน เย็นลงแห่งความร้อน เย็นลงแห่งอันตราย เย็นลงแห่งความเป็นทุกข์เป็นภัย อะไรต่าง ๆ เรียกว่านิพพาน ชาวบ้านเขาพูดกันอยู่ก่อนอย่างนี้ ยังไม่เกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะยังไม่มาปรากฏ
ต่อมามีผู้มองเห็นกิเลสนั้นร้อนกว่าไฟอันไหนหมด เขาจะต้องดับ ก็เลยใช้คำว่าดับนั่นแหละ ดับนิพพานในครัว ขอยืมมาใช้ ดับในทางจิตใจ คำว่านิพพานจึงถูกขอยืมมาใช้ในเรื่องทางธรรมะในทางศาสนา มาดับสิ่งที่ร้อนให้ เย็น เย็น เย็น เย็น แต่ว่าภาษาคนในชาวบ้านได้ถูกขอยืมมาใช้ในภาษาธรรม ทางธรรมะทางศาสนา ดับไฟกิเลส ไฟกิเลสดับลงเป็นความเย็น เป็นที่สุด เราจึงได้ความเย็นสองสิ่งนี้ ถ้าเป็นภาษาคนก็เรื่องวัตถุเย็น ความเย็นภาษาธรรมก็เรื่องกิเลสเย็น กิเลสเย็น ไม่ร้อนทั้งวัตถุคือทั้งทางจิต คือทางกายและทางใจ มันก็สบาย มันก็สงบไป จึงรู้คำว่านิพพาน นิพพานนี้ไม่ได้แปลว่าตาย ไม่ได้เกี่ยวกับความตาย แต่ถ้าใครมันอยากพูดให้เกี่ยวกับความตาย ก็พูดเสียให้ถูกว่าตายของกิเลส(เว้ย) ไม่ใช่ตายของชีวิต ทำให้กิเลสตายก็เรียกว่านิพพานได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความตายของคนจึงจะบรรลุนิพพาน บรรลุนิพพานคือบรรลุความเย็น เย็น เย็น เย็น เพราะว่านิพพานแปลว่าดับเย็น ดับเย็น ไม่ใช่ดับชีวิต ไม่ใช่ดับชีวิต แต่มันต้องมีพวกใดพวกหนึ่งในหลาย ๆ พวกในอินเดียเลยอธิบายเป็นความตายก็ได้ คือว่าคนโง่มันมาแปลความเอาเองทีหลังตามประสาโง่ ๆ มันก็เรียกว่าตาย ตาย พอตายก็หมดปัญหา เรียกว่านิพพานตามแบบของคนโง่ ที่จริงนิพพานมันไม่เกี่ยวกับความตายในความหมายใด ๆ ในบาลีมีอธิบายไว้ชัด แต่คนเรียนมาอธิบายผิด อธิบายผิดก็ผิด
นิพพานธาตุมีอยู่สองอย่าง คือพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ถูกกำจัด ยังรู้สึกอารมณ์ได้ ฉะนั้นท่านยังรู้สึกเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง น่าพอใจบ้างไม่น่าพอใจบ้าง รู้สึกอยู่ตามที่ว่าไอ้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันยังไม่ถูกกำจัด มันยังรู้สึกได้ แต่รู้สึกได้ก็เท่านั้นแหละ มันไม่ได้เกิดกิเลส มันไม่เกิดตัวกูอีกต่อไป พระอรหันต์พวกนี้ยังรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอารมณ์ที่พอใจกันอะไรที่เขาไม่พอใจกัน เรียกว่า (มนาปา มันนาปัง ? 52:10)บ้าง เรียกว่าสุขะทุกขังบ้าง แล้วก็หยุด ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดกิเลสใด ๆ นี่นิพพานอันดับทีแรก เรียกว่า มีอุปาทิเสีย(? 52:20) คือมันยังรู้สึกต่อเวทนา ทีนี้นิพพานความหมายที่สองนิพพานธาตุที่สองจิตอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว เวทนาเย็นสนิทไม่ให้ความหมายเป็นว่าพอใจหรือไม่พอใจ สุขหรือทุกข์ เวทนาไม่อาจจะรู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ ก็หมด ก็หมดปัญหา นี่เรียกว่าเวทนาเย็นสนิท ไม่สามารถจะให้ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในอัตภาพนี้ ในอัตภาพนี้ ตัสสะ วิเทวะ ภิกขเว สัพพะเวทะยิตานิ อะนะหิรันหิตานิ สีติ ภวิสันติ (บาลี 52:57 – 53:07) เวทนาทั้งหลายก็เถอะนะ ถ้าเธอไม่ยินดีแล้ว จะเย็น เย็นแล้วมันก็ไปตามที่มันไม่ยินดี ไม่ได้เกี่ยวกับว่าตาย แต่ก็...(? 53:16)ในอัตภาพนี้ ในชีวิตนี้ เย็น เย็น เย็น ก็ไม่มีความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบ นิพพานพวกแรกคือพระอรหันต์พวกแรกยังรู้สึกว่าเป็นบวกเป็นลบอย่างไร แต่แล้วก็หยุดจบแค่นั้นไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลสเป็นความทุกข์ ในความหมายที่สอง ไม่ คือไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบ มันหยุด มันเย็นสนิท มันเงียบไปเลย นี่นิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะ อันแรกก็ว่ายังรู้สึกว่า สวยไม่สวย หอมไม่หอม เหม็นไม่เหม็น อะไรก็ตามแต่มันหยุดเพียงเท่านั้น ไม่ปรุงเกิดกิเลส ไม่ปรุงให้เกิดตัวกูของกูไม่เกิดขึ้นมา อัตตา อุปาทาน ก็เรียกว่าความหมดกิเลสนั้นอยู่ ความหมดกิเลสนั้นเป็นนิพพาน แต่อวัยวะแห่งความรู้สึกยังรู้สึกอารมณ์อยู่เป็นบวกหรือเป็นลบ แค่นี้ก็วิเศษสุด ๆ แล้ว มันไม่เกิดความทุกข์ พอวิเศษไปกว่านั้นอีก ก็มันไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบด้วยประการทั้งปวง มันก็สนิทยิ่งกว่าสนิท นี่คือนิพพาน
จุดหมายปลายทางสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือนิพพานสองประการนี้ ใครจะไปถึงไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้ามาถึงนิพพานนี้ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ พวกแรกยังมีความรู้สึกต่อบวกและลบ แต่ทำอะไรจิตใจท่านไม่ได้ พวกที่สองไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบเลย มันก็ยิ่งไม่มีอะไรมาทำอะไรแก่จิตใจของท่านได้ เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ อรหันต์ คือถึงที่สุดของสิ่งมีค่าของมนุษย์ในทางจิตใจมันอยู่ที่นั่น เรียกว่าถ้ายังไม่ถึงที่นั่นมันก็ยังมีกิเลส มีราคะหรือโลภะ ก็ร้อนไปตามแบบราคะหรือโลภะ กิเลสประเภทนี้มันจะเอา มันจะเอา เอาเข้ามา กิเลสหมวดที่หนึ่ง พวกที่หนึ่งนี่เรียกว่าโลภะหรือราคะ ก็แล้วแต่จะเรียก เรียกชื่อได้อีกหลายอย่างแต่ทั้งหมดนั้นเป็นกิเลสที่ดึงเข้ามาหาตัว ดึงเข้ามาหาตัว มายึดถือไว้ มากอดรัดไว้ มายึดติด มีอุปาทานอยู่ ....(? 55:55)กิเลสประเภทนี้ก็ได้
ทีนี้กิเลสประเภทที่สอง เรียกว่าพวกโทสะ หรือโกธะก็ได้แล้วแต่จะเรียก มีให้เรียกหลายชื่อแต่รวมความแล้วมันเป็นกิเลสผลักออก ผลักออกไปแล้วจะทำลายเสียด้วยซ้ำไป อันหนึ่ง Push เข้ามาข้างใน อันหนึ่ง Pull ดันออกไปข้างนอก กิเลสประเภทที่สอง
นี่ก็เรียกว่าเป็นกิเลสประเภทที่สาม เป็นความโง่เป็นโมหะ โง่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่าจะดึงเข้าหรือผลักออก ก็เลยวิ่ง วิ่งรอบ ๆ วิ่งอยู่รอบ ๆ วิ่งอยู่รอบ ๆ อารมณ์เหล่านั้น นี่ประเภทโมหะ ก็เลยได้กิเลสสามประเภท ประเภทหนึ่ง ราคะโลภะดึงเข้ามาหาตัว ยินดีรับไว้ยึดถือ ประเภทสองโทสะหรือโกธะผลักออกไป แล้วก็ทำลายเสีย กิเลสประเภทที่สามไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ได้แต่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ว่ามีประโยชน์เป็นตัวกูเป็นของกู วิ่งอยู่รอบ ๆ วิ่งอยู่รอบ ๆ อารมณ์ กิเลสประเภทหนึ่งมันผลัก อีกประเภทหนึ่งมันดูดอารมณ์เข้ามาหาตัว กิเลสอีกพวกหนึ่งมันผลักอารมณ์ออกไปจากตัว กิเลสอีกอันมันทำอะไรไม่ถูกวิ่งอยู่รอบ ๆ มันบ้าทั้งนั้นแหละ มันมีปัญหาทั้งนั้นมันมีราคะ โทสะ โมหะ มีลักษณะเป็นทำให้เกิดทุกข์ เกิดความร้อน ก็เรียกว่า ไฟ ไฟ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ดับไฟเสียมันก็คือนิพพาน คือเย็น
นี่เราจึงรู้ว่าไอ้เรื่องที่เราจะมาศึกษาและปฏิบัติกันนั้น ก็ศึกษาเพื่อที่จะดับไฟ ดับความทุกข์หรือดับไฟ ไฟเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดับเหตุให้เกิดทุกข์คือกิเลส แล้วมันก็เป็นการดับทุกข์ รวมกันหมดก็เรียกว่า ดับทุกข์ ดับทุกข์ เรามาเรียนรู้เรื่องความทุกข์ว่าเป็นอย่างไร เกิดอย่างไร และเราก็ปฏิบัติอย่าให้มันเกิดได้ อย่าให้มันเกิดได้ เรียนกันเรื่องอริยสัจ๔ ก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี รวมแล้วเรียกว่า เรียนให้รู้ว่าความทุกข์เกิดอย่างไร ดับอย่างไร แล้วเราก็ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์๘ ดับทุกข์ เรียกว่าปฏิบัติด้วยอานาปานสติ ปฏิบัติอานาปานสติถึงที่สุดแล้วก็สามารถควบคุมจิต บังคับจิต ใช้จิตให้เกิดปัญญา เกิดวิปัสสนาแล้วก็ดับทุกข์ ท่านจึงต้องเรียนสองชุด ชุดหนึ่งก็เรียนเรื่องความทุกข์ เกิดดับอย่างไร ก็จะให้เรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ารู้ความทุกข์เกิดดับอย่างไรแล้วก็จะเรียนดับมันเสียอย่างไร ก็จะเรียนเรื่องอานาปานสติ ปฏิบัติอานาปานสติ ถ้าสำเร็จแล้วก็สามารถจะมีมรรคมีองค์๘ อริยมรรคมีองค์๘ ดับเองได้ นี่เรียกว่าเราเรียนเรื่องความทุกข์แล้วเราก็ฝีกเรื่องดับทุกข์ เรื่องมันก็มีเท่านั้น โดยใจความสำคัญก็เรียนรู้เรื่องทุกข์ ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้นเสีย ค่อย ๆ อดทน อดทน ศึกษาให้รู้เรื่องความทุกข์ แล้วก็ดับทุกข์
แล้วเรื่องภาษาอีก เดี๋ยวนี้ก็จะขอแนะนำว่าเรื่องภาษามีความยุ่งยากลำบาก เพราะว่าภาษานั้นมันใช้ต่าง ๆ กัน ดับทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ได้ใช้คำนี้ว่า ทุกขนิโรธะ(? 59:48) แปลว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความหมายที่แท้จริงคือทำไม่ให้ทุกข์เกิด ทำไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นโดยประการทั้งปวง นั่นละคือดับทุกข์ ไม่ใช่ว่าเกิดทุกข์แล้วจะไปดับทุกข์ มันทำไม่ให้ทุกข์เกิดนี่ เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์มันไม่เกิด ทุกข์มันไม่เกิด โดยประการทั้งปวง เรียกว่าดับทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์เกิดแล้วจึงไปดับ นั้นมันจะโง่ ถ้าพูดดับไฟ ดับไฟนี่มันหมายถึงทำไม่ให้ไฟเกิด โดยประการทั้งปวง เรียกว่าดับไฟ ดับไฟ ดับไฟ ทุกข์นี่ก็เหมือนกันแหละ ทำไม่ให้มันเกิดโดยประการทั้งปวง เรียกว่าดับทุกข์ ดับทุกข์ ถ้าไฟเกิดแล้วดับนี่มันเท่าไร เดี๋ยวไหม้ตายเลยดับตายก็ดับ มันไม่เกิด มันมีวิธีกระทำไม่ให้มันเกิดโดยประการทั้งปวง อย่างนั้นผู้มีปัญญาตามแบบของพระพุทธเจ้าจึงดับที่เหตุ จัดการที่ต้นเหตุ จัดการที่ต้นเหตุ หมดเหตุแล้วมันเกิดไม่ได้ ความทุกข์เกิดไม่ได้นั่นล่ะคือดับทุกข์ คนโง่มันไปดับที่ปลายเหตุ ไปดับที่ผล คนโง่ในโลกปัจจุบันนี่ โลกปัจจุบันทั้งมนุษย์นี่มันโง่ที่สุด มันไปแก้ที่ปลายเหตุ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ โลกก็ยิ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ นั่นแหละไอ้ชาติโง่ เป็นลูกหมา ไปแก้ที่ปลายเหตุเป็นลูกหมา ถ้าแก้ที่ต้นเหตุเป็นลูกราชสีห์หรือลูกเสือ อุปมานี้เขารู้กันมานานนักหนาแล้วว่า ไอ้ลูกหมานั้นมันกัดที่ปลายเหตุ คุณหลับตามองเห็นภาพแล้วกันว่า มีคนเอาไม้ไปแหย่ แหย่หมา มันจะมัวกัดอยู่ที่ปลายไม้ที่ไปแหย่มัน แต่ถ้าคุณเอาไม้ไปแหย่ลูกเสือ ลูกราชสีห์ มันไม่โง่มันไม่ไปกัดที่ปลายไม้ มันจะกระโจนเข้าไปหาคนแหย่ ไปกัดที่คนที่ถือไม้นั้น มันฉลาด เป็นคนฉลาดก็เป็นลูกเสือ ลูกราชสีห์ คือกัดที่ต้นเหตุ กัดที่ต้นเหตุ ถ้าลูกหมามันมัวกัดที่ปลายเหตุคนไปแหย่ จะเป็นลูกหมาหรือลูกราชสีห์ ก็เลือกเอาเอง ก็เลือกเอาเอง สำหรับพระพุทธเจ้าก็เรียก ชินะสีหะ(? 1:02:28) ราชสีห์ผู้ชนะ มันไม่มาโง่กัดที่ปลายไม้
ถ้าจะสอนเรื่องเหตุ ธรรมทั้งหลายมีเหตุ ถ้าจะดับธรรมทั้งหลายทั้งปวงต้องดับที่เหตุ ดับที่เหตุ นี่เราจงจำไว้สักอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะดับทุกข์จงดับที่เหตุแห่งความทุกข์ แล้วทุกข์ก็ไม่เกิด มิฉะนั้นมันจะโง่เหมือนลูกหมา อย่างดีก็เหมือนกับคนเอาไม้สั้นไปรันขี้ เอาไม้สั้นไปรันขี้มันเลอะเทอะหมด สมน้ำหน้าที่มันโง่ ไม่ต้องรันขึ้ หรือถ้าจะรันขี้จริง ๆ ใช้ไม้ยาว ๆ ดีกว่า มันไม่เลอะเทอะมาถึงตัว จะมีสติปัญญาเพียงพอที่จะตัดต้นเหตุของมัน ว่ามันมาจากความโง่ มาจากความยึดถือว่าตัวตน ยึดถือว่าของตนแล้วมันก็เกิดทุกข์ ก็ดับไอ้ความโง่อันนี้เสีย มันก็ไม่มีเหตุที่จะเกิดทุกข์ เราก็ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างที่เรียกว่าเอาไม้สั้นไปรันขึ้ มันเป็นคำสำหรับด่าคนโง่ มันไม่ตัดที่ต้นเหตุ ไปเผชิญกับสิ่งนั้นโดยตรงแล้วมันก็เลอะเทอะไปหมด นี่จงดับไฟชนิดที่ทำให้ไฟไม่เกิด อย่าปล่อยให้ไฟเกิดแล้วก็จึงดับ มันก็จะโง่เหมือนเอาไม้สั้นไปรันขี้ อย่าให้มันเกิดโดยประการทั้งปวงนั้นคือดับ ดับ ดับ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันก็มีธรรมะอยู่อย่างนี้ มีชีวิตอยู่อย่างนี้ ประกอบอยู่ในธรรมะอยู่อย่างนี้ ความทุกข์ไม่เกิด ความทุกข์ไม่เกิด นี่คือการดับทุกข์ ฉะนั้นขอให้มีความรู้เรื่องนี้ดี ๆ แล้วจัดการมันถูกต้องในชีวิตประจำวัน กิเลสไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด และเราจะต้องรู้ว่าทำอย่างไร ความทุกข์จึงจะไม่เกิด มันก็เรียนรู้เรื่องความทุกข์กันให้ถูกต้อง ถ้ามันไม่มีความรู้ มันก็ทำไปในทางตรงกันข้าม คือมันถูกหลอกโดยอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ให้เกิดความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ถูกหลอก ๆ เข้าไปหลงอารมณ์ เป็นคนโง่ เข้าไปเป็นทาสของอารมณ์ เป็นขี้ข้า เป็นทาสเป็นขี้ข้าของอารมณ์ มันก็ได้ความทุกข์ กิเลสก็เกิดเรื่อยไป กิเลสมันก็เกิดเรื่อยไป จากที่มันกำลังเกิดอยู่ เกิดอยู่ในชีวิตของคนที่มีความโง่ ไม่มีธรรมะ
ขอยกตัวอย่างไว้สังเกตสักอีกหนึ่ง ว่าไฟมันได้เกิดขึ้น ก็เผาลนอย่างไร มีความทุกข์อย่างไร ในชีวิตประจำวันที่คนธรรมดารู้จักดี คนธรรมดารู้จักดีอย่างนี้เราเห็นได้ชัดว่า ไฟในชีวิตประจำวัน ความรัก ข้อแรก ข้อแรกเรียกว่าความรัก ไม่ต้องอธิบายว่าความรักเกิดขึ้นแล้วมันร้อนอย่างไร ไม่ต้องอธิบายแล้ว เพราะเคยผ่านกันมาแล้ว ความรักเกิดขึ้น เป็นความโง่ชนิดหนึ่ง ความรักเกิดขึ้น แล้วมันก็ทำไปตามความรัก ก็หลงทาง หลงทาง แย่งชิงกัน ฆ่าฟันกัน ฆ่าพ่อฆ่าแม่ตัวเองก็ได้ ฆ่าตัวเองก็ได้ เป็นบ้าก็ได้ นี่ละความรัก
ทีนี้ความโกรธ ถ้าไม่ได้ตามที่รัก ที่ต้องการก็โกรธ โกรธก็เป็นไฟ เป็นไฟแบบหนึ่ง ความรักเป็นไฟ เกลียดเป็นเปียก ๆ ความโกรธเป็นไฟแห้ง ๆ ความโง่เป็นไฟมืด ๆ มันเป็นไฟ โกรธ โกรธขึ้นมามันก็เผาคนโกรธ มันไม่ได้เผาไอ้สิ่งที่ถูกโกรธ ความโกรธ เคยโกรธกันมาแล้วไม่ต้องอธิบายว่ามันเผาอย่างไรความโกรธ ทีนี้ถัดมาเป็นความเกลียด เกลียดนั่น เกลียดนี่ ไปเปลี่ยนเป็นความโง่อีกเหมือนกัน เกลียด ก็หาความสงบสุขนี้ไม่ได้ จะต้องทนอยู่กับความเกลียด หนีความเกลียดไม่ได้ มันก็เป็นความทุกข์ ถ้ามันโง่มันต้องเกลียด ถ้ามันไม่โง่มันไม่ต้องเกลียดอะไร มันไม่ต้องไปเกลียดอะไรมันก็สบายดี ทีถัดไปก็เป็นความกลัว สี่คือความกลัว กลัวนั่น กลัวนี่ กลัวอย่างโง่เขลา กลัวอย่างไม่ต้องกลัว ความกลัวก็เป็นทุกข์ ไม่กลัวดีกว่า แม้ว่าสิ่งที่น่ากลัวมันเกิดขึ้น ไม่กลัวดีกว่า จัดการแก้ไขไปให้มันถูกต้องโดยไม่ต้องกลัว ถ้าเราจะต้องวิ่งหนี จะวิ่งหนีเสือวิ่งหนีอะไรที่มันเป็นอันตราย ก็ไม่ต้องกลัว วิ่งโดยไม่ต้องกลัว จะวิ่งได้ดี จะขึ้นต้นไม้ได้ดี ถ้าไปกลัวแล้วมันวิ่งไม่รอด จะขึ้นต้นไม้มันก็ขึ้นไม่ได้ มันมีความกลัว ถ้าไม่กลัวก็วิ่งได้อย่างดี อย่าไปกลัวให้เสียเวลา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องคิด เดี๋ยวนี้กำลังกลัวปรมาณู กำลังกลัวอะไรมันโง่เป็นความทุกข์เปล่า ๆ ไม่กลัว ถ้ากลัวก็เป็นทุกข์
ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อย่างที่ห้านี่ความตื่นเต้น ตื่นเต้น ต้องหาอะไรมาให้มันตื่นเต้น ตื่นเต้น มันต้องไปกินเหล้าให้ตื่นเต้น มันต้องไปดูกีฬาให้ตื่นเต้น ไปดูมวยตื่นเต้น ไปหาความตื่นเต้น ตื่นเต้น คือหาความสงบสุขไม่ได้มันต้องมีความตื่นเต้น นี่ก็เป็นไฟอีกไฟอันเกิดจากความตื่นเต้น ตื่นเต้น ทีนี้มันก็วิตกกังวลอนาคต อนาคตยังไม่มา เอามาคิดเอามาวิตกกังวล มันจะสร้างวิมานในอากาศเรื่อยไป คือวิตกกังวล นอนหลับยากกินข้าวไม่อร่อย คือว่าวิตกกังวลอย่ามีเลย อันถัดไปก็อาลัยอาวรณ์อดีต อดีตที่แล้วมาแล้ว ก็มาอาลัยอาวรณ์ อย่ามีเลย เป็นไฟเป็นความทุกข์ ทีนี้ก็อิจฉาริษยา อิจฉาริษยา มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณอยู่มาก ๆ เรื่องอิจฉาริษยา แต่มันไม่มากเท่าคนโง่ ที่หลับ(? 1:09:41) อิจฉาริษยาตามสัตว์(? 1:09:44)ธรรมดามันนิดเดียว แต่ว่าถ้าเป็นคนโง่มันมีกิเลสมันอิจฉาริษยามาก มันก็เป็นทุกข์อยู่คนเดียว ผู้ที่ถูกอิจฉาริษยายังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่คนที่อิจฉาริษยาเป็นทุกข์เหลือประมาณ เป็นทุกข์เหลือประมาณตั้งแต่วินาทีที่มันริษยาเขา เพราะฉะนั้นคนริษยาจะมีความทุกข์ทันที คนถูกริษยายังไม่รู้เรื่องก็ได้ อย่าไปริษยาให้มันเป็นทุกข์ ทีนี่หวง หวง หวงไปหมด กลัวไปหมด กลัวว่าจะสูญเสียมันก็หวง หวง หวง ในเรื่องสมบัติพัสถานอะไรทั่ว ๆ ไปมันหวง หวง หวง หวง คือห่วงก็ได้ เงินฝากไว้ในธนาคารแล้วแต่มันก็ยังมาอยู่บนหัว เจ้าของที่นอนอยู่ที่บ้านนั่น มันก็หาความสุขไม่ได้ นี่มันหวง คือถ้าเป็นเรื่องเข้มข้น เข้มข้นกว่านั้น เป็นเรื่องทางเพศ ไอ้พวกหึง ที่เผายิ่งกว่าอะไรเสียอีก ความหึงก็คือความหวง แต่ในทางเพศมันเข้มข้นเรียกว่าความหึง ตัวอย่างสิบประการนี้พอแล้ว เกินแล้วก็ได้ เกินที่จะมาศึกษา ถ้าจะพูดให้หมดก็เป็นสิบ ๆ เป็นร้อยเป็นพันละป่วยการ มันมากละ เอาสิบอย่างนี้ ความรักเกิดขึ้นแล้วเผาอย่างไร ความโกรธเกิดขึ้นแล้วเผาอย่างไร ความเกลียดเกิดขึ้นแล้วเผาอย่างไร ความกลัวเกิดขึ้นแล้วเผาอย่างไร ความตื่นเต้น ตื่นเต้น ตื่นเต้น เผาอย่างไร วิตกกังวลในอนาคตเผาอย่างไร อาลัยอาวรณ์ในอดีตมันเผาอย่าไร อิจฉาริษยา...(? 1:11:40) มันเผาอย่างไร แล้วความหวง หวง หวง ช่างหวงไปหมดมันเผาอย่างไร แล้วความหึง หึง มันเผาอย่างไร
สิบอย่างพอแล้วสำหรับเอามาเป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาว่า ไอ้ที่ไม่นิพพาน ไม่นิพพานน่ะคือร้อนมันเผาอย่างไร แต่ถ้าไม่มีไอ้สิบอย่างนี้ มันเย็นเท่าไร แล้วใครไม่มี ใครเกิดขึ้นมาแล้ว ยังโง่อยู่ ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะ ใครบ้างที่มันไม่มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงและหึง มันเป็นมาแล้วทั้งนั้น เอาบทเรียนที่เป็นมาแล้วนั้นแหละมาเป็นบทเรียน เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเป็นบทเรียน มาศึกษาและกำจัดให้หมดไป ให้มันหมดไป ก็ไม่มีไฟ ไม่มีไฟ ชีวิตนี้ก็เย็น เย็น เย็น ใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ ประโยชน์ตัวเองเสร็จแล้ว ก็ใช้ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นคนโง่ มันมีอวิชชา อวิชชา ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ มันโง่อยู่ จะทำอย่างไรได้ มันไม่รู้เรื่องเหล่านี้ มันเอาไฟเหล่านี้เข้ามา ก่อไฟเผาตัวเอง หรือไม่ระวัง ไม่ระวัง ไฟมันเกิดขึ้นเผาตัวเอง มันโง่ถึงขนาดที่ก่อไฟขึ้นมาเผาตัวเองด้วยเรื่องความรัก ด้วยเรื่องความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหรือหึง มันไม่เสียเวลาเปล่าหรอก อาตมาขอร้องว่าไม่เสียเวลาเปล่า ช่วยจำไอ้สิบคำนี้ไว้เถิด มันจะได้คอยขู่ ขู่ไว้ อย่าให้มันเกิดกิเลส เพราะมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวทั้งนั้น ทั้งสิบประการนี้ ถ้ามีความรู้จักมันดี มันก็จะขู่ไม่ให้เกิดกิเลส คือไม่จุดไฟเผาตัวเอง ชีวิตนี้มันก็เย็น ในชีวิตนี้มันก็เย็นเพราะมันไม่มีไฟ
เราเรียกด้วยคำใหม่ ๆ ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ คนโง่มีแต่ชีวิตที่กัดเจ้าของ รู้กันดีแล้วใครโง่ ใครถูกชีวิตกัดเจ้าของจนเหลือแต่กระดูกเท่านั้น เดี๋ยวกระดูกก็จะไม่มีเหลือ ชีวิตมันกัดเจ้าของ อย่าเอากับมันเลย ถ้าเรายังมีอวิชชา มีความโง่ มีตัวกู มีของกู มันก็เกิดกิเลสอย่างที่กล่าวมาแล้วทุกอย่างทุกประการ มันก็กัดเจ้าของ กัดเจ้าของ กัดเจ้าของจนกระดูกก็ไม่เหลือแล้ว พวกฝรั่งที่มาที่นี้ทุกเดือน เขาชอบคำคำนี้มาก ชีวิตที่่ไม่กัดเจ้าของ ทำไมเรียกมันว่าชีวิตใหม่ เพราะมันเป็นของแปลกสำหรับเขา ที่จริงคำนี้ไม่ได้แปลกหรอก เก่าแก่โบรมโบราณก่อนพุทธกาล มีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ แต่เขาเพิ่งจะเห็น เพิ่งจะเข้าใจเดี๋ยวนี้ คือว่าเจริญ ๆ ด้วยการศึกษา ด้วยการงานการอาชีพ มีเงินสมบัติพัสถาน เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนาบารมี ท่วมหัวท่วมหูแล้ว ชีวิตมันยังกัดเจ้าของ
ครั้งหนึ่งเกิดไอ้พวกฮิปปี้ ฮิปปี้ขึ้นมา มันพอใจไม่ถูกเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติพัสถาน วาสนาบารมี กระทั่งกามารมณ์ มันก็พอใจไม่ได้ มันก็ไปหาสิ่งที่ดีกว่านั้น เกิดเป็นลัทธิฮิปปี้ขี้นมา คือปล่อย ปล่อยไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลย เหมือนกับคนบ้า แต่หาไอ้สิ่งที่ดีกว่า กว่าสิ่งนี้ เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติพัสถาน เกียรติยศ ชื่อเสียง ก็เป็นธรรมดาที่อยากจะหาดีกว่านั้น หาดีกว่านั้น ในที่สุดมันก็ไปพบกับความปล่อย ปล่อยตามอารมณ์ มันยิ่งบ้าหนักขี้นไปอีก มันจะไม่นุ่งผ้า มันจะไม่โกนหัว มันจะไม่ตัดผม มันจะไม่ตัดอะไรสักอย่าง เดี๋ยวนี้มันหายบ้าแล้ว พวกฮิปปี้หายไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มีในโลก มันฉลาดขึ้นมาแล้ว อย่างนั้นมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ว่าพวกไอ้ฮิปปี้ทางวิญญาณ ยังไม่รู้จักหมดจักสิ้น มันเลยแก้ปัญหาไม่ตก มันเหลืออยู่เป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ นี่ถ้าเอาธรรมะมา เอาธรรมะมา กวาด กวาดให้หมด กวาดให้หมดไป กวาดความโง่ให้หมดไป ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขี้น นั่นก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นตัวกู ให้เป็นของกู นี่มาหาหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้ว รู้จักว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู จะเอามาเป็นตัวกูไม่ได้ จะเอามาเป็นของกูไม่ได้ แต่ขืนเอามาให้เป็นตัวกูให้เป็นของกูมันก็กัดเจ้าของ กัดเจ้าของ กัดเจ้าของเอาอีก คุณเอาอะไรก็ตามมาเป็นตัวกูมาเป็นของกูมันก็กัดทันทีแหละ คือภายนอกเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสเอามา ก็กัดเจ้าของ ที่เป็นดีกว่านั้นเป็นบุญเป็นกุศลเป็นอะไรก็ตามที่เป็นภายในนี้เอามาเป็นของกูนี่ก็กัดเจ้าของทั้งนั้นแหละ จะเป็นบุญเป็นบาปเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอะไรก็ตามทุก ๆ คู่ เอามาเป็นตัวตนเป็นของตนมันก็กัดเจ้าของ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน สิ่งทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวตนของตน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งบวกหรือเป็นสิ่งลบ อย่าเอากับมันเลย ที่น่ารักน่าพอใจมันก็เป็นบวก มันก็เกิดตัวตนบวกแล้วมันก็กัดไปตามแบบบวก กัดตามแบบบวก เดี๋ยวนี้น่ากลัวมาก ลึกซึ้งมาก ไอ้ที่มันเป็นลบมันก็เป็นตัวตนลบ มันก็กัดไปตามแบบลบ อันนี้ค่อนข้างจะเปิดเผย ไม่ต้องพึ่งอะไร แต่ถ้าเป็นตัวตนแล้วมันกัดเจ้าของทั้งนั้น บวกกัดอย่างบวก ลบกัดอย่างลบ ความรักกัดอย่างความรัก ความโกรธกัดอย่างความโกรธ ความดีใจกัดอย่างดีใจ ความเสียใจกัดอย่างเสียใจ ความได้กัดอย่างความได้ ความสูญเสียกัดอย่างสูญเสีย ถ้าไปยึดเอาเป็นตัวตนหรือของตนมันก็กัดทั้งนั้นแหละ เงินทองข้าวของก็กัด ทรัพย์สมบัติพัสถานก็กัด บุตรภรรยาสามีก็กัด บุญกุศลอะไรก็กัด กัดทั้งนั้นถ้ายืดถือเป็นตัวตนเป็นของตน จงมีให้โดยไม่ยึดถือเป็นตัวตนเป็นของตน อันคำนี้สำคัญมาก จงมี จงมี แต่ไม่ต้องยึดถือเป็นตัวตนของตน และก็ใช้มัน ใช้มันอย่างขี้ข้า เราอย่าไปเป็นขี้ข้าของสิ่งเหล่านั้น ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นขี้ข้าของเรา ใช้มัน ใช้มัน ตามที่ต้องการแล้วมันก็ไม่ได้กัดอะไร ขอให้รู้จักธรรมะ ดำรงชีวิตให้ถูกต้อง ไม่ไปหลงรักยึดถืออะไรเป็นตัวตน แล้วก็กัด กัด กัดตัวเอง หมามันยังไม่กัดเจ้าของเลย ถ้าหมาตัวไหนกัดเจ้าของหมาตัวนั้นใช้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง หมามันยังไม่กัดเจ้าของ แล้วทำไมชีวิตนี้จะต้องกัดเจ้าของเล่า ถ้าชีวิตนี้กัดเจ้าของก็เลวกว่าหมาแล้วอย่าเอากับมันเลย หาชีวิตที่มันไม่กัดเจ้าของดีกว่า ธรรมะช่วยได้ ธรรมะช่วยได้ ธรรมะมาให้ความรู้ให้ความสว่างแจ่มแจ้งว่า ไม่ยึดถือคือไม่หมายมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน แต่มันพูดง่ายแต่ทำยาก พูด ๆ ง่ายไม่ยึดถือเป็นตัวตน แต่เวลาทำ ทำยาก แต่แล้วก็ทำได้ ทำได้
สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วท่านตรัสสิ่งที่ทำได้ ท่านไม่ตรัสสิ่งที่ทำไม่ได้และไม่มีประโยชน์อะไร นี่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งแห่งคำกล่าวของพระพุทธเจ้า ท่านจะตรัสสิ่งที่ทำได้เสมอไป ไม่เหมือนกับครูบาอาจารย์โง่ ๆ สมัยนี้ มันพูดสิ่งที่ทำไม่ได้ก็มี อย่างนี้มันก็ไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านจะต้องตรัสสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ ประการ ใครเป็นครูบาอาจารย์ถ้ามีอยู่ในนี้ ในที่นี้ ใครเป็นผู้สั่งสอนธรรมะ เข้ามานั่งอยู่ที่นี่ ขอได้โปรดทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านจะมีคำตรัสที่ประกอบไปด้วยองค์สามประการ อันแรกท่านจะตรัสออกมาในลักษณะที่ผู้ฟังจะสะดุดใจว่าเป็นของใหม่ แปลกน่าอัศจรรย์ ไม่เคยรู้มาแต่ก่อน นี่ตรัสในลักษณะที่เป็นของแปลกใหม่น่าอัศจรรย์ เป็นเรื่องดับทุกข์ อันนี้ ผู้ฟังรู้สึกแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน ฟังมาแต่ก่อนก็น่าอัศจรรย์ เป็นของแปลกใหม่ แล้วข้อที่สอง ท่านตรัสมีเหตุผลอยู่ในคำตรัสนั้น ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก มันมีเหตุผลอยู่ในคำที่ตรัส พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้นะ กาลามสูตรนั้นไปศึกษา ไม่ต้องเชื่อว่าผู้นี้มันน่าเชื่อ ผู้นี้เป็นครูของเรา หรือมีในพระไตรปิฎก อย่างนี้ไม่ต้องเชื่อตามนั้น มันมีเหตุผลอยู่ที่ตัวคำตรัส ที่ท่านตรัสมีเหตุผล แล้วข้อที่สามท่านตรัสมีปาฏิหาริย์ มีปาฏิหารืย์ คือมีความสามารถที่จะปฏิบัติได้ คือได้แสดงให้เห็นชัดว่าปฏิบัติได้ ปฏิบัติอย่างนั้น ๆ ปฏิบัติได้นี่ ท่านตรัสมีปาฏิหาริย์
ข้อที่หนึ่งตรัสอย่างน่าอัศจรรย์เป็นของแปลกของใหม่ ข้อที่สองท่านก็ตรัสอย่างที่ว่ามีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าผู้พูด อาตมาถูกด่าว่าจ้วงจาบพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เอง เช่นกาลามสูตรไปอ่านดูสิบอย่างนั้น ไม่ต้องเชื่อตามนั้น เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง คำตรัสของพระองค์จะมีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง เช่นว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าเพราะเคยที่กิเลสนั้นมันกัดเอา กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไม่ต้องเชื่อใคร มันมีแสดงอยู่ในตัวกิเลสแล้ว อยู่ในคำตรัสที่ตรัสอยู่แล้ว แล้วก็มีปาฏิหารืย์คือว่ามันมีทางปฏิบัติได้ไม่เหลือวิสัย ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่จะไปสอนธรรมะก็ดี สอนวิชาความรู้ใด ๆ ในโรงเรียนเบื้องต้นก็ดี จงกล่าว คำกล่าว คำพูดที่มันมีปาฏิหาริย์ เดี๋ยวนี้มันไม่มีอย่างนั้น มันเป็นคำพูดโง่ ๆ เป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่มีเหตุผล ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ขอให้กล่าวให้สำเร็จประโยชน์ว่ามันมีความจริงที่น่าสนใจ เป็นมหัศจรรย์มีเหตุผลอยู่ในนั้น มีปาฏิหาริย์ มีทางให้สำเร็จในการปฏิบัติอยู่ในนั้น มันก็ได้ ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าทุกข้อ มีลักษณะอย่างนี้ แต่พวกไอ้คนตาบอดก็มองไม่เห็น ก็กลายเป็นว่าไม่ได้รับประโยชน์อันใด ขอให้ฟังให้เข้าใจจะเห็นว่า ธรรมะนี้น่าอัศจรรย์แปลกใหม่ที่เรายังไม่เคยรู้ เราทำให้มันรู้ มันเป็นของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน แล้วก็จับเหตุผลของมันให้ได้ว่ามันมีเหตุผลอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติมันให้ได้ ว่ามันมีทางสำเร็จแห่งการปฏิบัติอย่างไร ถ้าท่านทั้งหลายยึดหลักอย่างนี้แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะมีประโยชน์ที่สุด ถ้าท่านไม่ยึดถือกฎเกณฑ์สามประการนี้แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยแก่ท่านทั้งหลาย นี่ขอให้สนใจเถอะ
ต้อนรับในของแปลกใหม่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อนมีประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วก็เห็นเหตุผลที่แสดงอยู่ที่นั่น แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ตามวิธีปฏิบัติซึ่งก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยเหมือนกัน เมื่อทำได้อย่างนี้ชีวิตจะไม่กัดเจ้าของ ชีวิตจะไม่กัดเจ้าของ มีแต่ความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง เจริญก้าวหน้าไปสู่ความสงบเย็นเป็นนิพพาน สงบเย็น สงบเย็น อยู่ในกำมือ ไฟคือความร้อนไม่มี ไม่มีความเป็นบวกและเป็นลบ เป็นบวกก็ไฟอย่างบวก เป็นลบก็ไฟอย่างลบ อย่ามีบวกอย่ามีลบ เป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง จะจัดการอย่างไรกับมันก็จัดการไป แต่อย่าให้มันเป็นบวกเผาหัวใจ อย่าให้เป็นลบเผาหัวใจ
จะยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นเรื่องจะกินอาหาร เคี้ยวกินอยู่ อย่าอร่อยให้มันเผาหัวใจ อย่าไม่อร่อยให้มันเผาหัวใจ กินให้ดีที่สุดให้ถูกต้อง ให้มีประโยชน์ก็แล้วกัน ถ้าเกิดไม่อร่อยขึ้นมา มันก็เช่นนั้นเอง จะไปโกรธแค้นทำไม ถ้าอร่อยก็เช่นนั้นเอง อย่าไปหลงไหลให้มัน ให้โง่ ถ้าไปรักไปหลงใหลมันก็เกิดกิเลสประเภทนั้น มันก็เผาไปตามแบบนั้น ไม่พอใจก็เผาไปตามแบบไม่พอใจ หลงใหลก็จ่ายเงินกันไม่รู้จักจบจักสิ้น ถ้าไม่พอใจไปโกรธเข้า ด่าแม่ครัว ตีหม้อตีไห(? 1:27:33) ด่าใส่ไปหมด มันไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อย่าบวกและอย่าลบ ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ เพราะว่าอยู่เหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ ธรรมะช่วยท่านได้ถึงขนาดนี้ ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ มีความปกติถึงที่สุด มีความเป็นบวกก็โง่อย่างบวก มีความเป็นลบก็โง่อย่างลบ ดีใจก็เหนื่อยกระหืดกระหอบอย่างดีใจ เสียใจก็เหนื่อยกระหืดกระหอบอย่างเสียใจ อย่าดีใจอย่าเสียใจนั่นละคือ สบายที่สุด ความเย็นนั้นอยู่ที่ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ นั่นคือนิพพาน อย่าหัวเราะให้มันเหนื่อย อย่าร้องไห้ให้มันเหนื่อย ไม่ต้องหัวเราะไม่ต้องร้องไห้ นั่นละคือนิพพาน ไม่ต้องดีใจไม่ต้องเสียใจให้มันเหนื่อย นั่นละคือนิพพาน เป็นความจริงสูงสุดของธรรมชาติ ซึ่งมันกำหนดมาเพียงว่าจะใช้มันให้ถูกต้อง ใช้มันให้ถูกต้อง อย่าไปหลงบวก อย่าไปหลงลบ
แต่ทีนี้มนุษย์บรมโง่ทั้งโลกมันหลงบวก หลงบวก อะไร ๆ ก็จะเป็น Positive โพสซิทิฟ โพสซิทิฟ มันเป็นบ้าสุดเหวี่ยงในเรื่องบวก มนุษย์กำลังหลงบวก ปัญหามันก็เกิดขึ้นอย่างที่มันกำลังเกิดอยู่ในโลกเพราะมนุษย์มันหลงบวก คือเป็นเรื่องของกิเลสที่หลงบวก แล้วมนุษย์ก็โง่ต่อไปอีกว่า สร้างสิ่งที่เป็นบวกมาล่อกันให้มากขึ้นไป มีโรงงานอุตสาหกรรม มีเครื่องจักรเป็นเครื่องมือสร้างสิ่งที่หลอกให้หลงในความเป็นบวก น่ารักน่าพอใจ น่ารักน่าพอใจออกมาใหม่ ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด มีอยู่แล้วก็ต้องซื้อใหม่ มีอยู่แล้วก็ต้องซื้อใหม่ มีอยู่แล้วก็ต้องซื้อใหม่ มันหลงบวกยิ่ง ๆ ขึ้นไป มันน่าเศร้าโชคมันไม่ดีหรืออะไรที่ว่า มนุษย์กำลังหลงบวกแล้วก็สร้างเหยื่อแห่งความหลงบวก หลงบวก หลงบวกด้วยอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นอย่าไปยินดีกับมันเลย เอาที่ไม่บวกและไม่ลบ เอาที่พอดี ที่ถูกต้อง ถูกต้อง
ขอบอกเป็นในความจริง หรือความลับก็ได้สักหน่อยว่าทุกศาสนา ทุก ๆ ศาสนาแหละต้องการจะสอนข้อนี้ ว่าอย่าไปหลงบวกและหลงลบ ศาสนายิวนี่จะเก่าแก่ที่สุด เป็นหลายพันปี หกหมื่นปี แปดพันปี หรืออะไรก็ไม่รู้ คัมภีร์ไบเบิ้ลได้เกิดขึ้น คือมนุษย์ได้สร้างโลกขึ้น เอ้ย! พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมา สร้างโลกขึ้นมา แล้วพระเจ้าก็บอกไอ้มนุษย์ที่ได้สร้างขึ้นมานั้น แกอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว คือไปแบ่งเป็นดีเป็นชั่ว ไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้จักแบ่งออกเป็นดีเป็นชั่ว อย่าไปกิน กินแล้วแกจะตาย กินแล้วแกจะตาย นี่คำพูดนี้เป็นภาษาธรรมะลึกซึ้ง ถ้าพูดถึงภาษาคนมันก็โง่ ๆ ฟังไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว มันแสดงไว้ด้วยภาษาธรรมะลึกซึ้ง หมายความว่าเมื่อมนุษย์ยังไม่รู้จักแบ่งแยกเป็นดีเป็นชั่ว มันไม่มีปัญหาหรอก พอมนุษย์เกิดมาจากท้องแม่โตพอสมควรรู้จักแยกเป็นนี้ดีนี้เป็นชั่วนี้เป็นบวกเป็นลบ ก็เริ่มมีปัญหามีทุกข์ยากลำบาก นั่นล่ะคือความตาย อันนี้ว่าให้อย่างนี้ก็ได้ เมื่อสร้างโลกขึ้นมาใหม่ ๆ ไม่มีปัญหาอะไร ผ้าก็ไม่ต้องนุ่งอะไรก็ไม่ต้องทำ มันก็ยังไม่มีปัญหา มันจะมีปัญหาขึ้นมาต่อเมื่อมนุษย์รู้จักดี รู้จักชั่ว มันจึงมีปัญหา เรื่องเขาก็เล่าต่อไปว่า ในคัมภีร์ไบเบิ้ลนั้นเล่าต่อไปว่า ไอ้ผัวเมียคู่นั้นที่พระเจ้าห้ามอย่างนั้นแล้วต่อมามันก็กินผลไม้ ต้นไม้ที่พระเจ้าห้ามอย่าให้กิน แล้วมันก็รู้ดีรู้ชั่วขึ้นมา ที่วันแรก ๆ พอพระเจ้ามาที่สวนนั้นก็ตะโกนเรียกไอ้สองคนนั้นมันก็ออกมา ต่อมาพอหลังจากมันกินผลไม้นี้แล้ว มันไม่ออกมา มันซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ พระเจ้ามาเรียกมันก็ไม่ออก พระเจ้าว่าออกมา มันบอกไม่ออก ทำไมไม่ออก ไม่ได้นุ่งผ้ามันว่าอย่างนั้น มันไม่นุ่งผ้า ก่อนนี้มันไม่รู้เรื่องนุ่งผ้า หรือไม่นุ่งผ้า มันก็ออกมาได้อย่างนั้นแหละ พระเจ้าก็รู้ได้ทันทีสิว่า อ้าวไอ้หมอนี่มันกินผลไม้นั่นเข้าไปแล้ว มันจึงรู้ว่านุ่งผ้าหรือไม่นุ่งผ้า ก็ต่อว่า มันก็บอกว่างูหลอกให้กิน ไปซัดโทษ ให้หลอกงูหลอกให้กิน พระเจ้าก็ลงโทษว่า ต่อไปนี้แกไม่มีความสุข แกมันมีบวกมีลบ มี Good and Evil และแกก็ไม่มีความสุข มนุษย์ก็ไม่มีความสุข จริง ๆ มันหลงบวกหลงลบ Good and Evil
ทีลูกของมันไอ้มนุษย์คู่นี้ ลูกของมันพอมันมีลูกออกมา ไอ้พี่ชายมันก็หลอกน้องชายไปฆ่าเสียในป่า พี่ชายมันหลอกเอาน้องชายไปฆ่าเสียในป่า เพราะว่าพ่อมันรักน้องชาย ไม่รักตัวพี่ชาย พี่ชายมันอิจฉาริษยามันก็หลอกน้องชายไปฆ่าเสียในป่านี่ คือความหลงดี บ้าดี เมาดี หลงดี กูพ่อไม่รัก ไปรักน้องมันก็อิจฉาริษยา มันหลอกน้องไปฆ่าเสียในป่า นี่คือที่ว่าไอ้ความที่หลงบวกหลงลบมันเป็นอย่างไร มันก็มีปัญหาเรื่อยมา หลงบวกหลงลบเรื่อยมา มันก็มีเรื่องฆ่าแกงกันมาตลอดเวลาเลย หลงบวกหลงลบ เราไปจัดอันนี้ได้อันนี้ดี อันนี้ชั่ว อันนี้ได้ นี้เสีย นี้แพ้ นี้ชนะ นี้กำไร นี้ขาดทุน นี้ได้เปรียบ นี้เสียเปรียบ กระทั่งว่าหญิงชายเป็นคู่ตรงกันข้ามกันแล้วมันก็มีปัญหา
นี่ต้องถือได้ว่าหลายพันปีมาแล้ว ได้มีคนรู้เรื่องนี้แต่พูดไว้ในภาษาธรรม ภาษาธรรม ที่มันลึกซึ้ง จนคนเดี๋ยวนี้ฟังไม่ถูก เลยเจ้าลัทธินี้ก็ถือนี่คือจุดตั้งต้นของบาป บาป ที่เป็นจุดตั้งต้น ของบาป และก็ตั้งต้นไม่หยุด มันก็มาจนถึงทุกวันนี้ มันก็ยังมีบาปอันนี้อยู่ มนุษย์จึงหลงดีหลงชั่ว หลงบวกหลงลบอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ แล้วมันก็ฆ่ากัน ฆ่ากัน แย่งกัน อิจฉาริษยากัน เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว นั่นมันเป็นอย่างนั้นนะ ไอ้เรื่องบ้าดีบ้าชั่ว หลงดีหลงชั่ว หลงบาปหลงบุญ เมาบุญเมาดีอะไรมันเป็นอย่างนี้ นี่อย่าไปหลงกับมันเลย ที่เป็นบวก Positive ทั้งหลายแหล่ อย่าไปหลงกับมันเลย มันจะโง่ จะเป็น Negative ทั้งหลาย ก็อย่าไปหลงกับมันเลย มันจะโง่เอา นี่คือไม่บวกไม่ลบ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ อยู่ตรงกลาง เหนือเสียเลยดีกว่า ใช้คำว่าอยู่เหนือดีกว่ามันปลอดภัย ถ้าอยู่ตรงกลางยังไปทางนั้นหรือข้างนี้ไม่ทันรู้ก็ได้เพราะมันอยู่ใกล้เกินไป มันอยู่ตรงกลาง ต้องอยู่เหนือดีกว่า เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว เหนือแพ้เหนือชนะ เหนือได้เหนือเสีย เหนือกำไรเหนือขาดทุน เหนือได้เปรียบเหนือเสียเปรียบ เหนือความเป็นหญิงเหนือความเป็นชาย อย่างนี้แล้วมันหมดปัญหาและมันแน่นอน ใช้คำว่าอยู่เหนือ ตามคำพูดในหลักธรรมะ ในพุทธศาสนาก็ได้ว่า เหนือ เหนือโลก เหนือโลก โลกุตระ กุตระนี่เหนือ เหนือ เหนือโลก และเมื่อเหนือโลกแล้วมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาที่เกิดมาจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิด ปัญหาเหล่านั้นไม่ครอบงำได้ มันก็อยู่เหนือปัญหาเหล่านั้น เมื่อเหนือปัญหาเหล่านั้นก็เรียกว่าอยู่เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย ทั้งที่ยังไม่ได้ตาย มันต้องตายมันก็เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย ธรรมะที่ท่านทั้งหลายจะศึกษามันมีอยู่อย่างนี้ ท่านจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ ที่มาศึกษาปฏิบัติกันนี้ในที่สุดมันจะมีความรู้แจ้งชนิดที่ไม่ยึดถือบวกหรือลบ ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ แต่ว่าอยู่เหนือหมด เรียกว่าวิมุตติหลุดพ้น อยู่เหนือโลกุตระ กุตระก็แปลว่าอยู่เหนือ คือเหนือปัญหาด้วยประการทั้งปวง และชีวิตมันก็ไม่กัดเจ้าของ เพราะมันไม่เกิดกิเลส ชีวิตนี้ก็ไม่กัดเจ้าของ นี่คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุมรรคผลนิพพานคือชีวิต จะไม่กัดเจ้าของ จะกัดน้อยลง น้อยลง น้อยลง โดยไม่กัด จนไม่กัด คือเป็นพระอรหันต์ ชีวิตนี้มันไม่กัดเจ้าของ
ขอพูดกระซิบว่า คนไทยอย่าโง่ อย่าอยู่ให้ล้าหลังพวกฝรั่ง เดี๋ยวนี้พวกฝรั่งที่มามันชอบที่สุดเลย ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ คนไทยอย่ามัวโง่ ชอบชีวิตที่กัดเจ้าของ มันจะน่าละอาย ขอให้เข้าถึงชีวิตที่มันไม่กัดเจ้าของด้วยความรัก ด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด ด้วยความกลัว ด้วยความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง สิบอย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นตัวอย่างที่จะเป็นเครื่องวัดได้ดีที่สุด ขอให้ท่านทั้งหลายได้มีความรู้เรื่องนี้ ความจริงของธรรมชาติอย่างนี้ แล้วปฏิบัติให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ให้อยู่เหนืออำนาจของไอ้กิเลสหรือความโง่เหล่านี้ ก็ได้ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ไม่กัดสูงสุดโดยประการทั้งปวงก็คือเป็นพระอรหันต์ คือนิพพาน นิพพานเย็น ไม่มีอะไรร้อน ไม่มีอะไรกัดเจ้าของ การนิพพาน การเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกัน อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง เย็นและไม่กัดเจ้าของโดยประการทั้งปวง จะเอาหรือไม่เอา จะดีหรือไม่ดี จะมีค่าหรือไม่มีค่า ไปคิดเอาเอง แต่ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าท่านมาศึกษาอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มันก็ได้อย่างนี้ จะตรงตามความประสงค์หรือไม่ก็สุดแท้ บางคนอาจเข้ามาทั้งที่ไม่รู้ความประสงค์ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่ประสงค์ก็ไม่ต้อง แต่ถ้าตรงแล้วถูกต้องแล้วก็ปฏิบัติต่อไป ศึกษาต่อไป ปฏิบัติต่อไป จนให้ลอยอยู่เหนือปัญหา ให้ชีวิตนี้มันอยู่เหนือปัญหา ไม่มีการกัดเจ้าของอีกต่อไป เป็นพระเป็นเณรก็ได้ เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ ข้อปฏิบัติมันอย่างเดียวกัน อย่างเดียวกัน เดียวกันชีวิตไม่กัดเจ้าของ
กิเลสมันไม่เกิด ตัวกูมันไม่เกิด ของกูมันไม่เกิด เดี๋ยวนี้มันโง่ มันโง่ เป็นตัวกู เป็นของกู อะไรนิด ๆ หนึ่งก็เป็นของกู อะไรนิด ๆ หนึ่งก็เป็นของกู หารู้ไม่ว่า ที่รู้สึกว่าตัวกูว่าของกูนั้นไม่ใช่ของจริง เป็นผีหลอก เป็นผีของความโง่ มันหลอกให้คิดไปเช่นนั้น และมันจะโง่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนั่นแหละ เพราะมันไม่มีวิชชา มันมีแต่อวิชชา มันไม่รู้ หรือมันรู้ผิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เอากันง่าย ๆ อย่างนี้ คุณมีตา พอตาเห็นรูปโดยระบบประสาทตา ตาเห็นรูป ก็โง่กูเห็นรูป ไอ้บรมโง่ชาติโง่ ตาต่างหากล่ะมันเห็นรูป ระบบประสาทตาต่าง ๆ มันเห็นรูป แต่มนุษย์ว่ากู กู กูเห็นรูป ระบบประสาทหูมันได้ยินเสียง หูมันได้ยินเสียง ก็ว่ากูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ระบบประสาทก็ว่ากูได้กลิ่น ลิ้นระบบลิ้นได้รสก็ว่ากูได้รส ระบบผิวหนังถูกสัมผัสอะไรก็ มันเป็นเรื่องของผิวหนัง ก็ว่ากู กูสัมผัสผิวหนัง จิตคิดอะไรก็ว่ากู กู กูคิดอะไรขึ้นมา มันเป็นกูขึ้นมาด้วยความโง่ นี่เรียกว่าเราโง่กันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มองเห็นชัดว่าระบบประสาทตามธรรมชาติ มันทำอย่างนั้น ทำทางตาก็เห็น ทำทางหูก็ได้ยิน ทำทางจมูกก็ได้กลิ่น แต่ไอ้พวกคนโง่มันว่ากู กูทั้งนั้นแหละ แล้วไปคิดดูสิมันต่างกันกี่มากน้อย ไอ้ตาเห็นรูป กับกูเห็นรูป มันต่างกันมากนะ ไอ้ตาเห็นรูปมันก็รู้ว่าเป็นอะไรอย่างไรก็จัดการไปอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวอะไร แต่ถ้ากู กู เข้ามาเสียแล้ว มาเห็นอยู่แล้วมันก็จะเกิด ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวต่าง ๆ นานา มันต่างกันมากอย่างนี้
พูดเรื่องกินดีกว่า เคี้ยวอร่อยอยู่ในปากนี่อย่างไร แต่ว่าระบบประสาทลิ้นมันรู้อย่างนั้น รสอย่างนั้นมันไม่ยากอะไร แต่ถ้ากูอร่อย หรือกูไม่อร่อย นี่มันต่างกันมากนะ ลิ้นรู้สึกกับกูรู้สึกนี่มันต่างกันมาก ถ้าลิ้นรู้สึกมันก็ทำอะไรใครไม่ได้ แต่กูรู้สึกมันก็เตะแม่ครัวได้ มันต่างกันมากอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวกู ๆ นี่เอาออกไปเสียเถิด อย่าให้มันมีเหลืออยู่สำหรับทำหน้าที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตาเห็นรูปก็ว่าตาเห็นรูปอย่าว่ากูเห็นรูป ถ้าลิ้นมันอร่อยก็ให้อยู่แค่ลิ้นเถิด อย่าให้กูอร่อย แต่ถ้าไม่อร่อยก็อยู่แค่ลิ้นเถอะ ลิ้นมันไม่อร่อย เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง อย่างนี้มันก็เกิดผลอย่างนี้ อย่างนี้มันก็เกิดผลอย่างนี้ตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท มันไม่มีอร่อยหรือไม่อร่อยหรอกโดยแท้จริง มันเป็นระบบประสาทมันรู้สึกอย่างนั้น แต่ทีนี้มันยกให้เป็นเรื่องของกูเสียแล้วมันก็มีกู มีกู อร่อยหรือไม่อร่อยเนี่ย ความเป็นบวกและความเป็นลบมันก็ได้เกิดขึ้นในจิตใจของคนโง่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมาจนเข้าโลง เด็ก ๆ เกิดมายังไม่รู้เรื่องตัวกูของกูอันนี้ไม่มีปัญหา พอเด็ก ๆ โตขึ้นพอสมควรรู้จักอร่อยไม่อร่อย สวยไม่สวย เกิดตัวกูของกู มันก็เริ่มมีปัญหา ถ้ามันมีอายุกี่เดือน กี่ขวบก็ตามแต่ ถ้ามันมีรู้สึกเวทนา อร่อยหรือไม่อร่อย บวกลบแล้วมันก็มีปัญหา แล้วไอ้คนเลี้ยงก็มักจะส่งเสริมไปในทางมีตัวตน ตัวกู เด็กเดินไปชนเสาชนเก้าอี้เจ็บร้องอยู่ แล้วมันก็เตะเก้าอี้ ทีนี้พ่อแม่บางทีคนเลี้ยงเที่ยวไปตีด้วย เที่ยวไปตีเก้าอี้ ไปตีเสา ให้เอาใจเด็ก ให้มันหายร้องด้วย อันนี้เท่ากับสอนเด็กให้มันมีตัวกู อย่าทำเลย บอกว่าลูกเอ๋ยมันเป็นเช่นนี้เองแหละ ก็มึงเอาหัวไปโดนเข้ามันก็เจ็บ ไม่ต้องไปช่วยตี ไม่ต้องไปช่วยอะไร และก็อย่าไปสอนให้ว่านี่สวย นี่ไม่สวย มันอย่างนี้แหละ มันอย่างนี้แหละ ไอ้ที่สวย ๆ ที่อร่อย ๆ นั้นมีไว้สำหรับให้เราโง่ อย่าไปเอากับมันเลย ที่มันไม่สวย ๆ มันก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องอะไร แม้ที่มันสวยมันก็ทำให้เราโง่ อย่าไปเอากับมันเลย ที่อร่อย ๆ มันก็ไม่จำเป็นหรอก เอาที่มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ก็แล้วกัน อย่าพาไปที่ร้านขายแล้วก็มึงเอาอะไรกูซื้อให้ทั้งนั้นแหละ อย่างนี้มันสอนให้ลูกโง่ สอนให้รู้นู่นเป็นอย่างไร นี่เป็นอย่างไร นี่เกิดอะไร นี่เกิดกิเลสชนิดไหน นี่ไม่เกิดกิเลสชนิดไหน สอนกันไปอย่างนี้แต่อ้อนแต่ออก เด็ก ๆ เขาก็จะฉลาด ไม่ยึดถือเป็นตัวกู ไม่ยึดถือเป็นของกู มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
นี่ทั้งหมดนี้เป็นทิวทัศน์ เหมือนกับว่าเป็นทั้งหมด เหมือนกับขึ้นไปบนฟ้าแล้วดูโลกทั้งโลกมันเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติมันให้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ให้ชีวิตนี้มันมีความถูกต้อง อย่าให้มีความโง่ความหลงเหลืออยู่เลย ถ้าจะให้มันง่ายเข้าก็จงถือหลักอย่างที่เขาสอนกันมาว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ของตน เป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ธรรมชาติให้ยืมมา ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ธาตุทั้งหลายธรรมชาติให้ยืมมาเป็นชีวิต เอามาพัฒนา ตามพอใจให้ยืมมา ให้พัฒนาให้เกิดความถูกต้อง พอใจชีวิต สงบเย็นเป็นนิพพาน แล้วคืนเจ้าของ อย่ากล้าคิดว่าเป็นตัวกูเป็นของกูเลย เป็นของธรรมชาติให้ยืมมา ขอบใจธรรมชาติให้ยืมมาพัฒนาตามชอบใจ ธรรมชาติให้ยืมมาไม่คิดดอกเบี้ยนะ ไม่คิดค่าสึกหรอนะ ให้ยืมมา ยืมมา พัฒนาตามชอบใจได้พระนิพพาน แล้วก็เป็นของธรรมชาติไปตามเกิด อย่าเป็นตัวกู อย่าเป็นของกู อย่าเป็นคนขี้ฉ้อ คดโกง ตระบัดเอาของที่ไม่ใช่ตน มาเป็นของตน นี่คือธรรมะจะช่วยได้ ให้เห็นว่าเป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ จิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน มันก็ไม่มีความทุกข์ เรียกสั้น ๆ ว่าชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้ไม่เป็นหมาที่เลวคือกัดเจ้าของ เพราะหมาธรรมดาเขาไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้ต้องไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้ต้องให้ได้รับประโยชน์ เป็นความเยือกเย็น เป็นความสูงสุดของผลที่จะได้รับ คือเป็นพระนิพพาน
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนได้ประสบความสำเร็จในการมาที่นี่เพื่อศึกษาธรรมะ รู้เรื่องธรรมะแล้ว ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ให้ได้รับผลตามที่ตนต้องการ จงทุก ๆ ประการและทุก ๆ คนเทอญ
(ผู้ฟัง...สาธุ)
มาศึกษากันแต่เช้าอย่างนี้จิตใจมันเหมาะสม ตีห้าน่ะเวลาเหมาะสมสำหรับศึกษาธรรมะ อย่าเห็นแก่นอนเลย ตื่นแต่ตีสี่ ตีห้า ศึกษาธรรมะ จิตเหมาะสมที่จะรู้ธรรมะ พอสว่างเสร็จแล้วมันยุ่งไปหมดแล้ว มันจะใส่ความรู้ไม่ลงแล้ว เมื่อจิตยังว่างอยู่ยังใส่ความรู้ลง จงรีบศึกษาเถิด ปฏิบัติธรรมะเถิด ปฏิบัติไม่มีตัวกูของกูตลอดเวลาเลย คือหัดเดินมาจากเซ็นเตอร์มาถึงที่นี่ เดินโดยจิตที่ไม่ยึดถือว่ามีตัวกูผู้เดิน เดินโดยไม่ต้องมีผู้เดินนั่นแหละธรรมะสูงสุด เดินกลับไปก็เหมือนกัน เดินด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าฟุ้งซ่าน อย่าคุยกันเสียเอ็ดตะโร ตั้งสติเดิน เป็นเคลื่อนไหวของอิริยาบถโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน และต่อไปก็จะสูง...(? 1:49:15) กระทำโดยไม่ต้องมีผู้กระทำ ศึกษาธรรมะเสร็จแล้วจะรู้เองล่ะว่ามีการกระทำโดยไม่ต้องมีผู้กระทำ เมื่อไม่มีตัวกูผู้กระทำ ก็ไม่มีตัวกูผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย ผู้ได้ ผู้เสีย ผู้ตกนรก ผู้... ไม่มีทั้งนั้น นี่คือปัญหามันหมด คำพูดนี้เป็นการบอกกรุยทางชี้แนวทางขั้นต้นว่าทางที่จะต้องเดินมันมีอยู่อย่างนี้ และท่านทั้งหลายก็จะได้เดินถูกต้อง และอาตมาก็ขอแสดงความยินดีด้วย อนุโมทนาด้วย ในการที่ท่านทั้งหลายมาเพื่อหาความรู้ที่จะพัฒนาชีวิตให้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง ขอให้สำเร็จประสบตามความมุ่งหมายทุกประการทุกคนเทอญ ขอยุติการบรรยายในวันนี้ สองชั่วโมง ที่พูดนี้มันสองชั่วโมง พูดเรื่องแนวทางที่จะดำเนินชีวิต